พิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระครูปราโมทย์ธรรมธารา หรือหลวงปู่หลอด ปโมทิโต

พิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระครูปราโมทย์ธรรมธารา หรือหลวงปู่หลอด ปโมทิโต
ณ เมรุชั่วคราววัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนานิคม) เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

หลวงปู่หลอด ปโมทิโต ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง องค์ท่านเคยอยู่ศึกษาธรรมกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
บทธรรมที่ท่านจดจำและบันทึกไว้เกี่ยวกับคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่นนั้น น่าศึกษามาก

“..ชีวิตนี้น้อยนัก แม้จะเชื่อหรือไม่เชื่อ กรรมที่กระทำแล้วไม่ว่า กรรมดีหรือ กรรมชั่ว ย่อมให้ผลแก่จิตผู้กระทำทันที
กรรมดีก็จะให้ผลดี กรรมชั่วก็จะให้ผลชั่ว ปัญญายะ ติตตีนัง เสฏฐัง อิ่มด้วยปัญญา ประเสริฐกว่าความอิ่มทั้งหลาย
ปัญญายะติตาตัง ปุริสังตัณหานะกุรุเตวะสัง คนอิ่มด้วยปัญญา ตัณหา เอาไว้ในอำนาจไม่ได้..”
โอวาทธรรมคำสอนของพระครูปราโมทย์ธรรมธารา(หลวงปู่หลอด ปโมทิโต)
วัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนานิคม) เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

หลวงปู่หลอด ปโมทิโต ท่านถือกำเนิด ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๘
ณ บ้านขาม ต.หัวนา อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (ปัจจุบันคือ ต.บ้านขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู)

ท่านอุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๙ ณ วัดธาตุหันเทาว์ และญัตติเป็นพระธรรมยุติ
เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๙ ณ วัดทุ่งสว่าง ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองคาย
โดยมี พระธรรมเจดีย์(หลวงปู่จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์

“อาจริยธรรม”
…ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ หลวงปู่หลอดจำพรรษาอยู่ที่ป่าช้าบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี หลังออกพรรษามีเพื่อนสมณะ
ซึ่งเป็นชาวบ้านเชียง ได้มาชวนไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งท่านเล่าว่า “อาตมาก็คิดหน้าคิดหลังล่ะ
ใครทำผิดอะไร ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านทักท้วง และก็กลัวไม่กล้าไป คิดไปคิดมา ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก ให้ท่านทักท้วงว่าไม่ดี
ไม่ถูกต้องพระธรรมวินัย จะสึกก็สึกไปเลย ดีกว่าจะไปกินข้าวชาวบ้านเขา ไปหาท่านผิดพระวินัยตรงไหนอาบัติหนัก
หรืออาบัติเบา จะได้สำรวมระวังแก้ไขต่อไป” ก็เดินจากอุดร สมัยนั้นออกจากวัดบ้านดงเย็น
เดินทางมุ่งหน้าไปทางอำเภอสว่างแดนดิน สงครามอินโดจีนกำลังจะหยุด จากอำเภอสว่างแดนดิน
ต่อรถยนต์ไปถึงสกลนครเที่ยงคืน ไปพักวัดป่าสุทธาวาสคืนหรือสองคืน พอได้กำลัง แล้วเดินทางต่อไปยังวัดป่าบ้านโคก
ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านอยู่บ้านโคก แต่ก่อนก็อยู่วัดป่าสุทธาวาสเหมือนกัน เขานิมนต์ให้ไปจำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านโคก
(ปัจจุบันคือ วัดป่าวิสุทธิธรรม อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร) พอดีท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ
(ซึ่งท่านเป็นชาวบ้านโคก ได้ไปประกาศศาสนาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี) ท่านเป็นผู้รับผิดชอบด้านการจัดเสนาสนะ ที่พักที่วัดป่าบ้านโคก

พอเกือบสองทุ่ม พระภิกษุสามเณรทุกรูปก็ไปรวมกันที่กุฏิท่านพระอาจารย์มั่น เพื่อรับฟังการอบรมประจำวัน
ขณะนั้นอาตมารู้สึกตื่นเต้นระทึกใจมาก เมื่อพระทุกรูปพร้อมกันแล้ว หัวหน้าคณะต่าง ๆ ก็รายงานตัวแทนลูกคณะ
ต่อท่านพระอาจารย์มั่น หลังจากนั้นก็ถึงขั้นที่ฟังการอบรมสาระ หรือใจความที่ท่านพระอาจารย์มั่น นำมาแสดงคืนนั้นคือ
ช่วงแรก ท่านเล่าประวัติของท่านเองโดยย่อ จากนั้นท่านก็อธิบายพุทธพจน์ที่ว่า…
“เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เตสํ เหตํ ตถาคโต สิ่งทั้งหลายล้วนมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตก็ตรัสบอกเหตุของสิ่งเหล่านั้นไว้”

โดยใจความของพระพุทธพจน์ข้อนี้ ก็คือ ถ้าหมายถึง ที่ตัวคนเราแล้ว เหตุทั้งหลายของคนเราก็ล้วนมาจากใจ
ใจจึงเป็นมหาเหตุ ถ้าใจดี ใจสูง ใจประเสริฐ การทำ การพูด ก็พลอยดี และประเสริฐไปด้วย ดังนั้นจึงควรดูแลอบรมใจให้ดี
เพื่อให้ใจเป็นเหตุแห่งพฤติกรรมที่ดี ถ้าปล่อยปละละเลยจิตใจ ชาตินี้ทั้งชาติก็สิ้นหวัง เอาดีอะไรไม่ได้เลย
เพราะใจมีแต่จะไหลไปในทางที่ต่ำ ชีวิตก็มีแต่จะเสียหายเดือดร้อน ผู้ที่ปฏิบัติธรรม หรือผู้ที่รักตนทั้งหลาย
ถ้าอยากให้ชีวิตก้าวหน้าแล้ว จงคอยดูแลจิตใจของตนให้ดี

หลังจากประชุมเสร็จ หลวงปู่หลอดก็ได้เข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น พร้อมกับได้กราบเรียนท่านถึงจุดประสงค์ที่มา
ซึ่งท่านก็ได้สอบถามข่าวคราวว่า “เป็นอย่างไรบ้าง การออกไปวิเวก จิตใจเป็นอย่างไรบ้างดีไหม? มีอุปสรรคอะไรไหม?
เป็นพระก็มีความลำบาก อย่างนี้ พระพุทธองค์ท่านยิ่งลำบากกว่าหลายเท่า”

“ข้อวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร”

…หลวงปู่หลอด ได้ทบทวนถึงข้อวัตรปฏิบัติ ในยุคที่ได้เข้าไปรับการอบรมกับท่าน พระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านโคก
ว่า “ท่านพระอาจารย์มั่น อบรมพระภิกษุสามเณร ประมาณสองทุ่ม จนถึงเที่ยงคืนทุกวัน วันไหนอาพาธ ท่านก็เว้นไป
ข้อวัตรของท่าน คือ ถือธุดงควัตรฉันหนเดียว ฉันในบาตรตลอด บิณฑบาตไม่ขาด นอกจากอาพาธไปไม่ได้
จากนั้นล้างบาตรเสร็จ ไปถึงกุฏิก็เที่ยงวัน ท่านก็ไปพักผ่อนบ่ายสามโมงก็ออกมา บ่ายห้าโมงสรงน้ำ สองทุ่ม
ขึ้นไปฟังเทศน์อบรมพระเณร มีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ (ในปีนั้นท่านจำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านนามน แต่มาฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่นทุกคืน)

หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งหลวงปู่กงมา เป็นผู้อำนวยความสะดวก ให้กับภิกษุสามเณรที่ไปหา
และเป็นผู้ดูแลจัดวาระ พระองค์ไหนควรปฏิบัติท่านพระอาจารย์ตอนเช้า บ่าย เย็น ท่านจัดวาระ บางทีท่านไม่สบายก็นวด
ส่วนอาตมานั้นท่าน พระอาจารย์มั่นบอกว่า อาตมานี้ รูปธรรม นามธรรม คือไปนวดท่าน ท่านไม่สบายบอกว่า มืออาตมาร้อนเกินไป
ให้องค์อื่นมานวด ให้ไปทำความสะอาดทางอื่น ทางด้านนอก ปัดกวาด เช็ดถู ทำความสะอาดศาลาเพื่อนำบาตรมาวางไว้
เป็นระเบียบเรียบร้อย ปฏิบัติอยู่อย่างนั้นในช่วงที่ท่านพระอาจารย์มั่นมาพักอยู่วัดป่าบ้านโคก ในปี พ.ศ.๒๔๘๗ นั้น
เท่าที่อาตมาจำได้ มีพระเณรที่พักอยู่ร่วมจำพรรษาด้วยกันคือ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
พระอาจารย์เนตร กนฺตสีโล, พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร, พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส, พระอาจารย์มนู,
พระอาจารย์คำดี (น้องชายหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร) พระอาจารย์บุญมา, เณรดี, เณรได

ระหว่างพรรษานี้ หลวงปู่หลอดเล่าว่า “อาตมาเกิดเป็นไข้มาลาเรียกำเริบ ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ให้ฉันยา
ท่านให้ภาวนารักษาตัว ท่านเทศน์ว่า “อย่าไปยึดติด” ที่สุดอาตมาก็หายได้ด้วยกำลังของการภาวนา
”ส่วนญาติโยมชาวบ้านโคกนั้น หลวงปู่หลอดกล่าวว่า “ในวันพระก็มีญาติโยมเข้าไปวัด
แต่ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ค่อยเทศน์ ถึงแม้จะเทศน์ชาวบ้านก็ไม่รู้ นอกจากให้ระลึก “พุทโธ”
ท่านย้ำแต่พระ สอนแต่พระ โยมเอาไว้ก่อน เพราะพระนี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา ท่านสอน จริงๆ จังๆ เล่ยล่ะ”

“โอวาทธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร”
…หลวงปู่หลอด ได้เล่าถึงการได้รับฟังโอวาทธรรม จากท่านพระอาจารย์มั่น ว่า “อาตมาเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น
ในปี พ.๒๔๘๗ นั้น แต่ก่อนยังฟังเทศน์ไม่รู้เรื่อง อายตนะยังไม่รู้ ราคะ โทสะ โมหะ ยังไม่รู้เรื่องเลย มืดแปดด้าน การศึกษาน้อย
ต้องศึกษาก่อน ภาวนาก็ยังไม่เป็น บวชมาตั้ง ๘ ปีแล้ว มันก็จริงนะสิ แต่อาศัยความอดทน ยังไม่รู้อายตนะ
อายตนะ แปลว่า เครื่องต่อ ตาเห็นรูปมันก็ต่อแล้ว ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ภายใน ๖ ภายนอก ๖ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
กายคู่กับสัมผัส ใจคู่กับอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ดี ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งในตอนที่อาตมาไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น
ยังพิจารณาธรรมได้ไม่แตกฉาน เพิ่งเรียนรู้ และเริ่มเข้าใจในเรื่องธรรมะ และความสงบ

ท่านสอนอยู่ ๓ เรื่อง หลักๆ คือ เรื่อง อายตนะ การพิจารณากาย และ อานาปานสติ ท่านให้พิจารณาอานาปานสติกัมมัฏฐานเป็นหลักใหญ่
เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อานาปานสติ เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค หนทางนี้หนทางเดียวคือ
ทางกายนี้ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ก็วนไปวนมา สับไปสับมาอยู่ในนี้ตลอด เพราะเป็นของเก่า
ตาก็ของเก่า หูก็ของเก่า จมูกก็ของเก่า ลิ้นก็ของเก่า กายก็ของเก่า ใจก็ของเก่า
ดูไปดูมา ฟังไปฟังมาทุกวัน ตั้งแต่มีรูปเกิดมา ใช้หกอย่างตลอดเลย

ท่านเทศน์ ย้ำหนักเลย เกี่ยวกับอายตนะ ในหนังสือว่า ไม้ชะงก หกพันง่า กะปอมก่า ขึ้นมื้อละฮ้อย
ก็อายตนะ ๖ กะปอมถ้ามันออกทุกมื้อ ๆ กะปอมนั้นคือ ของปลอม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ของปลอม

นอกจากนั้น ท่านสอนให้พิจารณากายให้มาก เวลามีปัญหาท่านก็อธิบาย พิจารณากาย ทำให้มากๆ ตั้งสติให้มากๆ
เดี๋ยวมันรู้เอง ท่านว่าอย่างนั้น เกสา – ผม โลมา-ขน นะขา-เล็บ ทันตา-ฟัน ตะโจ-หนัง จะทำลายกิเลสตัณหา
ก็เพราะพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่ธรรมดานะ มันไม่ยอมให้พิจารณาหรอก ไอ้กิเลสมันไม่ยอม
พอพิจารณากายมันผลักออกเลยไปเรื่องอื่นโน้น สติมันก็ขาดสิ ปรุงไปแต่เรื่องนั้นเรื่องนี้ พิจารณากายมันไม่ยอม
ตั้งใจพิจารณากาย ความตั้งใจสู้มันไม่ได้ สู้กิเลสไม่ได้ มันเก่งกว่า เกสา-ผม โลมา-ขน นะขา-เล็บ ทันตา-ฟัน ตะโจ-หนัง
ดึงลมหายใจเข้า-ออกพุทโธ กิเลสมันเล่นงานก่อนแล้ว หาเรื่องมาแล้วอารมณ์เก่าๆ น่ะ พวกเราต้องศึกษาทุกอย่าง
ต้องศึกษาไม่ศึกษาไม่รู้ นี้เป็นหลักความจริง อย่างอายตนะ ถ้าไม่มีใครสอนก็ไม่รู้ อายตนะ คืออะไร
อย่างศีล ๕ ขา ๒ แขน ๒ หัว ๑ ก็ ๕ แล้วจากท้องแม่เลย จะเป็นศีลต้องเว้นวิรัติเจตนาเป็นเครื่องเว้นเหมือน ๆ
กับอายตนะ ๖ ในโลกเหมือนกันหมด ราคะ โทสะ ก็เหมือนกัน ฝรั่งมังค่าก็เหมือนกัน อวิชชาเป็นคนตบแต่งให้
ท่านพระอาจารย์มั่นสอนเรื่องธรรมะให้ภาวนาลูกเดียว เดินจงกรม ถูกนิสัย อะไรก็เอา ถูกพุทโธก็เอา
ถูกลมหายใจก็เอา แต่อย่าให้ขาดสติ ขาดสติไม่ได้

หลวงปู่หลอดเล่าว่า ในครั้งที่ไปพบท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านได้รับอุบายธรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
ทำให้สติปัญญาสว่างไสวขึ้นมาก “อาตมาไม่ได้กราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นมากนัก จะถามนิพพานเราก็ไม่ถึงอีก
ท่านพูดมาก็ไม่รู้เรื่องอีก” ท่านบอกว่า “ปฏิบัติให้มากก็แล้วกัน จิตยังไม่สงบ ความสงบเรายังไม่มี พิจารณาอสุภะยังไม่เป็น”
ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเทศน์ทุกคืน เกี่ยวกับกัมมัฏฐาน ๕ ว่า “อสุภะเป็นศัตรูกับราคะ” บางองค์มีนิสัยเร็ว ภาวนาได้ง่าย
บางองค์ก็เล่าถวายท่านพระอาจารย์มั่นฟัง เกิดแสงอย่างนั้น เกิดแสงอย่างนี้ อาตมาไม่เป็น ท่านพระอาจารย์มั่นถามอาตมา
“เป็นไหม? ท่านหลอด” หลวงปู่หลอดกราบเรียนถวาย “ยังไม่มีอะไรเลยขอรับ แจ้งก็ไม่แจ้ง สว่างก็ไม่สว่าง
เย็นก็ไม่เย็น ร้อนก็ไม่ร้อน” ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า “กัมมัฏฐานหัวตอ”

ท่านพระอาจารย์มั่น เทศนาต่อไปว่า พระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ของพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่เสด็จปรินิพพานผ่านไปแล้ว
จนประมาณกาลไม่ได้ก็ดี หรือประมาณกาลได้ก็ดี พระองค์กับสาวกท่านที่เสด็จผ่านไปไม่กี่พันปีก็ดี ล้วนอุบัติขึ้น เป็นพระพุทธเจ้า
และเป็นพระอรหันต์ จากกัมมัฏฐานทั้งหลาย มีกัมมัฏฐาน ๕ เป็นต้น ไม่มีแม้พระองค์เดียวที่ผ่านการตรัสรู้ธรรม
โดยมิได้ผ่านกัมมัฏฐานเลย ต้องมีกัมมัฏฐานเป็นเครื่องซักฟอก เป็นเครื่องถ่ายถอนความคิด ความเห็น ความเป็นต่างๆ
อันเป็นพื้นเพของจิต ที่มีเชื้อวัฏฏะจมอยู่ภายในให้กระจายหายสูญไปโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นกัมมัฏฐานจึงเป็นธรรมพิเศษ
ในวงพระศาสนาตลอดมา และตลอดไป ท่านที่สมัครใจเป็นพระธุดงคกัมมัฏฐาน
จำต้องเป็นผู้มีความอดทนต่อสิ่งขัดขวางต้านทานต่างๆ ที่เคย ฝังกาย ฝังใจจนเป็นนิสัยมานาน

ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านอบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอถึงเรื่องกัมมัฏฐาน ๕ และธุดงค์ ๑๓
เพราะท่านถือว่ามีความสำคัญมาก จะเรียกว่าเป็นเส้นชีวิตของพระธุดงคกัมมัฏฐานก็ได้
ใครที่เข้าไปรับการฝึกฝนอบรมกับท่าน ท่านจะต้องสอน “กัมมัฏฐาน” และ “ธุดงควัตร” เสมอ
ถ้าเป็นหน้าแล้งท่านมักจะสอนให้ไปอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้เสมอ “ผู้ปฏิบัติต้องเป็นคน กล้าหาญ อดทนคือ
ทนต่อแดด ต่อฝน ทนต่อความหิวโหย ทนต่อความทุกข์ทรมานต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งทางกาย วาจา ใจ”
ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวอบรมเป็นประจำทุกวัน จนถึงเที่ยงคืนจึงเลิก

หลวงปู่หลอดจำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านโคก ตลอดพรรษา ปี พ.ศ ๒๔๘๗
หลังออกพรรษาแล้วได้กราบลาท่านพระอาจารย์มั่น ออกเดินธุดงค์วิเวกบนเทือกเขาภูพาน พร้อมกับหลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส
เพราะธรรมเนียมปฏิบัติกัมมัฏฐาน กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น หลังจากอยู่อบรมธรรมกับองค์ท่านแล้ว
ก็ต้องปลีกวิเวกออกธุดงค์เพื่อฝึกฝนตนเองในป่าในเขา ซึ่งท่านพระอาจารย์มั่นได้กล่าวอบรมก่อนไปว่า
“ไม่เคยมีใครบรรลุธรรม ด้วยการอยู่ไป กินไป นอนไปตามใจชอบ โดยไม่มีการฝึกจิตทรมานใจ”
ใครจะไปวิเวกก็ไปได้ ให้พระองค์อื่นได้เข้ามา ออกพรรษาแล้วพระจะมามากมายเหลือเกิน พระรุ่นเก่าเอาไว้ ๓ องค์ก็พอ”

หลวงปู่หลอด ปโมทิโต ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
กรุงเทพมหานคร สิริอายุ ๙๓ ปี ๗ เดือน พรรษา ๗๒

น้อมส่งพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่หลอด ปโมทิโต สู่นิพพาน

◎ กราบขอขมาหลวงปู่หลอด ปโมทิโต
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัส สะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต
มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต
มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต


ชอบพระคุณข้อมูลจาก FB: https://www.facebook.com/thindham/ และ http://www.kammatan.com

Comments

comments