KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธรรมะ ที่พุทธศาสนิกชนควรทราบ เพื่อเข้าใจในสัมมาทิฏฐิบทธรรมนำชีวิต : พัฒนาชีวิตด้วยคุณธรรม (3) ต่อ
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: บทธรรมนำชีวิต : พัฒนาชีวิตด้วยคุณธรรม (3) ต่อ  (อ่าน 11438 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: เมษายน 08, 2009, 06:25:56 PM »

                               โลกนี้ไม่รู้ตัว บางทีเราอยู่กันไปเราก็แสวงหาแต่อามิส แสวงหาแต่วัตถุเสพจนกระทั่งเรานึกว่าความสุขของเราอยู่ที่อามิสเหล่านั้นเท่านั้น ในที่สุดเราก็สูญเสียอิสรภาพ คือความสุขของเราขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ขาดมันเราก็อยู่ไม่ได้ มนุษย์สมัยนี้มีความโน้มเอียงอย่างนี้เสียด้วย ยิ่งระบบผลประโยชน์ระบบบริโภคนิยมเข้ามา ก็ยิ่งผลักดันและหล่อหลอมชีวิตจิตใจคนให้เป็นไปในทำนองอย่างนั้น จนกระทั่งคนหมดความสามารถที่จะมีความสุขด้วยตนเองโดยปราศจากอามิสวัตถุที่จะเสพ ถ้าอย่างนี้ก็หมายความว่า ชีวิตและความสุขของคนนั้นเป็นทาสของวัตถุ ขึ้นต่อวัตถุโดยสิ้นเชิง เมื่อขึ้นต่อวัตถุตัวเองก็ขาดอิสรภาพ เมื่อไม่มีอิสรภาพ ไม่มีความสุขด้วยตัวเอง ความสุขก็ต้องขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ความสุขอยู่ข้างนอกตัวเองก็ต้องดิ้นรนแสวงหา ในใจของตัวเองก็ไม่มีความสุขเพราะได้แต่คิดดิ้นรนทะยานหาความสุข และเมื่อต่างคนต่างดิ้นรนอย่างเดียวกันก็ต้องมีการขัดแย้งกัน ต้องทะเลาะวิวาท สงครามก็เกิดขึ้น

                                รวมความว่า เพราะความยึดติดในโลกามิสจึงทำให้เสียสันติทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนไม่สามารถเข้าถึงสันติที่ลึกซึ้งสูงขึ้นไป ฉะนั้น ถ้าเราจะหวังสันติก็ต้องตัดโลกามิสให้ได้ หรือ ไม่ยึดติดหลงไปขึ้นอยู่กับมัน แต่มนุษย์จำนวนมากจะหลงติดอามิสจนกระทั่งในที่สุดเขาจะฝากชีวิตและความสุขไว้กับโลกามิสนั้น

                                อันคนเรานี้พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาแล้วเราก็สามารถมีความสุขด้วยตัวเองมากขึ้น และข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนานี่ก็สอนให้เราพัฒนาโอกาสและความสามารถในการที่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นด้วย มนุษย์นั้นตอนแรกเราอยู่โดยพึ่งพาวัตถุมากหน่อย ความสุขของเราขึ้นต่อวัตถุมากหน่อย แต่เมื่อพัฒนาตนต่อไป ชีวิตของเราดีขึ้นประเสริฐขึ้น ชีวิตและความสุขของเราก็ขึ้นต่อวัตถุน้อยลง ซึ่งสวนกระแสตรงข้ามกับปัจจุบัน

                                ในระบบปัจจุบัน โดยเฉพาะในระบบแข่งขัน ตอนแรกเราเกิดมาในโลกนี้ชีวิตของเรามีความสุขขึ้นต่อวัตถุน้อย เรายังมีจิตใจที่มีความสุขด้วยตนเองได้ แต่ต่อมาอยู่นานเข้า ความสุขในตัวเองหมดไป มีแต่ความสุขที่ไปฝากไว้กับตัววัตถุภายนอก ปราศจากวัตถุภายนอกไม่มีความสุขเลย ดิ้นรนไปต่างๆนานา ดังเช่นชีวิตของคนยุคปัจจุบันนี้ แม้แต่สิ่งเดียวกันในสมัยหนึ่งเป็นของง่ายๆก็อยู่ได้ ต่อมาดิ้นรนต้องให้สิ่งของนั้นฟุ่มเฟือยหรูหรามากขึ้นจึงมีความสุข ต่อมาก็ยิ่งต้องหะรูหะราขึ้นไปๆอีก มีราคามากกว่านั้น สิ่งที่เคยหรูหราฟู่ฟ่าขนาดเดิมนั้นไม่ทำให้มีความสุขเสียแล้ว ถ้าต้องมีสิ่งเดิมๆนั้นก็กลับกลายเป็นความทุกข์เสียด้วย ฉะนั้นชีวิตจึงต้องขึ้นต่อวัตถุมากๆขึ้นไป เมื่อเป็นอย่างนี้สันติภาพทั้งภายใน ภายนอกไม่มีแน่

                                เพราะฉะนั้นคนเรานี้จึงต้องพัฒนาในทางที่ว่า ยิ่งอยู่ไปในโลก ความสุขจะต้องเป็นสิ่งที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเองมากขึ้น ความสุขของเราต้องขึ้นต่อวัตถุให้น้อยลง

                                พระพุทธศาสนาท่านเตือนอยู่เสมอ สำหรับชาวบ้านท่านก็ให้หลักในการพัฒนาตัวเองและพัฒนาความสุขได้ ตัวอย่างคือศีล ๕ คือไม่ละเมิดต่อกัน ใครจะหาผลประโยชน์หาวัตถุมาเสพก็หาไป แต่อย่าละเมิดศีล ๕ ข้อนี้ขอไว้เป็นกรอบ เอาแค่นี้ก็พออยู่กันได้ แต่ก็ยังไม่มีความสุขที่แท้จริงหรอก เพราะว่าความสุขของเรายังต้องขึ้นต่อวัตถุภายนอก

                                แต่ถ้าว่าไม่มีกรอบ ศีล ๕ ข้อนี้แล้วเราก็จะอยู่กันไม่ได้เลย จะเดือดร้อน คนที่มีกำลังมีโอกาสมากก็เอามากที่สุด เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะให้พออยู่กันได้ทางพระพุทธศาสนาเราจึงบอกให้มีศีล ๕ เป็นกรอบไว้ก่อน แต่ถ้าต้องการจะมีความสุขแท้จริงท่านจะต้องพัฒนาจิตใจ ต้องทำตัวให้เป็นอิสระจากวัตถุให้มากขึ้น ถึงตอนนี้พระพุทธองค์ก็ให้ศีล ๘ มาต่อ มาช่วยฝึก หรืออย่างน้อยมากันตัวไว้ไม่ให้สูญเสียอิสรภาพ ศีล ๘ คือศีลที่มาช่วยฝึกมนุษย์ให้ไม่ต้องสูญเสียอิสรภาพไปขึ้นอยู่กับวัตถุมากเกินไป หรือพอให้มีทางเขยิบพัฒนาความสุขที่เป็นอิสระได้มากขึ้น

                                ต่อจากศีล ๕ ข้อที่ ๖ เพิ่มเข้ามาคือ  วิกาลโภชนา เวรมณี แปลว่า เว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล  แต่ก่อนนั้นความสุขของเราไปฝากไว้กับวัตถุเริ่มด้วยอาหารก่อน คนเรานี่จะหาความสุขก็มองไปที่อาหารการกิน เที่ยวหาอาหารอร่อยๆเสพรสมัน ตอนนี้ท่านบอกว่า อย่าเอาความสุขไปฝากไว้กับวัตถุมากเกินไป ลองไม่ต้องกินตามใจลิ้นดูสันหน่อย และลองกินอาหารตามคุณค่าที่แท้จริง เพื่อให้อยู่สบายมีสุขภาพดี ลองไม่กินตามอร่อยลิ้น กินอย่างมีขอบเขตแค่กาลโภชนะ หลังเที่ยงแล้วเราไม่กินเราจะอยู่ได้ไหม จะมีความสุขได้ไหม ชีวิตจะอยู่ดีมีสุขได้ไหมโดยไม่ต้องไปกินตามใจลิ้น ลองดูเถอะ นี่เป็นกรอบป้องกันเพื่อไม่ให้เราเอาชีวิตเอาความสุขไปขึ้นกับวัตถุมากเกินไป นี่หนึ่งคือเรื่องของอาหาร

                                สอง นอกจากการกินให้อร่อยลิ้นแล้ว เราก็ยังมีการเสพทางตา ทางหู ทางกายสัมผัส เพราะฉะนั้นศีล ๘ ข้อที่เจ็ด จึงบอกว่า  นัจจะคีตะวาทิตะ ... คือ เรื่องการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี เรื่องเสียงไพเราะ เรื่องดูการละเล่นต่างๆ  แต่ก่อนนี้เราอยู่นานไปในโลกเรายิ่งพยายามหรือทะยานหาความสุขในสิ่งเหล่านี้มากขึ้น มากขึ้นจนหลงระเริงหรือหมกมุ่นมัวเมา ทีนี้เราลองเป็นอิสระจากมันบ้าง ลองอยู่ง่ายๆไม่ต้องขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ดูบ้างว่าเราจะอยู่ดีมีสุขได้ไหมโดยไม่ต้องยุ่งกับสิ่งเหล่านี้

                                แม้แต่ที่นอน ฟูกอย่างดีที่ให้กายสัมผัสที่สบายนุ่มนวล ซึ่งบางทีหรูหราจนไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการนอนเลยสักนิด เป็นเพียงความหรูหราฟู่ฟ่าที่ประดับตกแต่งจนเกินเลยเถิดไป ศีล ๘ ข้อสุดท้ายจึงบอกว่า อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา เวรมณี  งดเว้นจากการนอกที่นอนสูงตั่ง ฟูกเตียง ลองนอนง่ายๆนอนพื้น นอนเสื่อดูซิ ว่าจะอยู่ได้ไหม เราจะมีความสุขได้ไหม โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับที่นอนอย่างนั้น

                                ศีล ๘ นี้เรียกอีกอย่างว่าอุโบสถศีล ส่วนใหญ่จะถือกันทุกวันพระ คือประมาณ ๗ วันต่อครั้ง ในวันหนึ่งกับอีกคืนหนึ่ง อย่างน้อยขอวันเดียว ว่าในวันนี้ให้เตือนตัวเองว่าเราจะอยู่ดีมีสุขได้โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านั้นมากเกินไป

                                คนเรานั้นมีช่องทางได้ความสุขอีกเยอะแยะนอกเหนือจากการเสพอามิส ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อคุณแม่ของเรานี้ ไม่ได้มีความสุขเฉพาะจากการเสพอามิสหรอก แต่ท่านมีความสุขอีกอย่างหนึ่งโดยเฉพาะคุณแม่นี่มีความสุขพิเศษที่คนอื่นไม่ค่อยมี คือความสุขที่ได้จากการให้

                                คนทั่วไปจะมีความสุขจากการได้ คือคนทั่วไปมีชีวิตที่หวังความสุขจากการเสพอามิส จึงมีความสุขจากการได้ การเอา ต้องได้ ต้องเอา จึงจะมีความสุข จนกระทั่งลืมไปว่า ที่จริงยังมีหนทางหาความสุขอีกแบบหนึ่งที่ปราณีตกว่า เช่น คุณแม่เมื่อให้แก่ลูกก็มีความสุขใช่ไหม พอให้แก่ลูกแล้วนี่ ลูกยิ้มย่องผ่องใส พ่อแม่สบายมีความสุขยิ่งกว่าลูก หรือมีความสุขอย่างยิ่ง เพราะอะไรน่ะหรือ เพราะการเป็นพ่อเป็นแม่ทำให้ได้พัฒนาจิตใจขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งอย่างไรล่ะ คือมีความรักมีเมตตาต่อลูก รักลูก รักลูกคืออะไร คืออยากให้ลูกมีความสุข ความอยากให้ลูกมีความสุขก็ทำให้กลายเป็นความสุขไป เพราะการให้เป็นวิธีการที่จะทำให้ลูกมีความสุข เมื่อคนเราพัฒนาจิตใจขึ้นมา หมดความตระหนี่ไม่มีความหวงแหน เมื่อให้ก็มีแต่ความสุขทั้งนั้น ฉะนั้นทำให้การให้กลายเป็นความสุข

                                พอการให้กลายเป็นความสุข ชีวิตของตัวเองก็ดีขึ้น เพราะมีช่องทางหาความสุขทั้งจากการให้และการได้ และโลกก็จะมีสันติสุข คนอยู่อย่างเกื้อกูลกัน ตอนนี้ความสุขของเขาก็กลายเป็นความสุขของเรา  สุขของเรากลายเป็นของเขา  แต่ก่อนนี้เรามีความสุขแบบแย่งชิง ถ้าเราได้เขาก็เสีย  ถ้าเราสุขเขาก็ทุกข์  เพราฉะนั้นฝ่ายหนึ่งสุขฝ่ายหนึ่งทุกข์ แต่เมื่อมีเมตตาคุณธรรมในใจเป็นตัวสมาน  มีกรุณาเป็นตัวเชื่อมโยง  ก็เปลี่ยนการให้เป็นความสุขทันที และสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นก็มีความสุขร่วมกัน ไม่แย่งชิงกันอีกต่อไป นี่เป็นตัวอย่างของการพัฒนามนุษย์

                                คนที่พัฒนามากขึ้น และมีความสามารถในการมีความสุขมากขึ้น ก็ยิ่งขึ้นอยู่กับโลกามิสน้อยลง เขาจึงตัดโลกามิส (คือตัดความยึดติดหรือขึ้นต่อโลกามิส) ได้ง่ายขึ้น เมื่อตัดโลกามิสได้ดีขึ้น นอกจากช่องทางที่จะมีความสุขจะเพิ่มขึ้นแล้ว การปฏิบัติต่อโลกามิสของเขาก็จะพัฒนาเปลี่ยนไปด้วย คือชีวิตของเขาอาศัยโลกามิสน้อย ไม่ต้องขึ้นต่อโลกามิส โลกามิสก็ไม่จำเป็นสำหรับความสุขของเขา เขาไม่เห็นในแง่ที่จะเป็นเครื่องบำรุงบำเรอความสุขของตัวเองแล้ว เขาก็เลยเปลี่ยนความหมายของโลกามิสเสียใหม่ แต่ก่อนนี้โลกามิสโดยเฉพาะทรัพย์และอำนาจ หรือทรัพย์สมบัติ ยศศักดิ์ บริวาร เคยเป็นเครื่องบำรุงบำเรอหรือเครื่องมือหาความสุขให้แก่ตัวเอง พอถึงตอนนี้ ทรัพย์และอำนาจที่เป็นโลกามิสนั้นก็เปลี่ยนความหมายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมโอกาสให้สามารถสร้างสรรค์ความดีงาม บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่โลกและสังคมได้มากมายกว้างขวางยิ่งขึ้น

                                คนมีความคิดดีๆ แต่ไม่มีทรัพย์ ยศ บริวาร ก็ทำอะไรไม่ได้มาก ความคิดดีๆ และคุณค่าของเขาก็มีผลจำกัดในวงแคบ แต่ถ้าเขามีทรัพย์ ยศ บริวาร ความคิดดีๆของเขานั้น ก็ออกผลเป็นประโยชน์มากมายกว้างขวาง

                                ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นต้นแบบที่ดีก็คือ พระเจ้าอโศกมหาราช แต่ก่อนนั้น พระเจ้าอโศกมุ่งแต่แสวงหาโภคะและอำนาจเพื่อความสุขสำราญและความยิ่งใหญ่ของพระองค์เอง ทรัพย์และอำนาจนั้นก็เป็นโทษภัยแก่สังคม แต่ต่อมาเมื่อทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาปฏิบัติธรรมแล้ว ทรัพย์และอำนาจนั้นก็หมดความหมายที่จะเป็นเครื่องบำรุงความสุขอีกต่อไป แต่พระเจ้าอโศกก็ไม่ได้ทิ้งหรือละเลยทรัพย์และยศ แต่ทรงเปลี่ยนความหมายของมันใหม่ โดยทรงใช้มันเป็นเครื่องสร้างสรรค์ความดีงามและประโยชน์สุขแก่ประชาชน ดังที่ทรงให้จารึกความไว้ในศิลาจารึกตอนหนึ่งว่า ยศอำนาจของพระองค์จะมีความหมายก็ต่อเมื่อมันได้ช่วยให้ประชาชนประพฤติธรรม...

                                ในที่สุดแล้วทุกข์ของมนุษย์นี้มาจากกฎธรรมชาติ เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตใจของเราถูกครอบงำด้วยความผันแปรของสิ่งทั้งหลายไปตามกฎธรรมชาตินั้น ทุกข์ในธรรมชาติจึงพลอยทำให้เราทุกข์ไปด้วย แต่เมื่อเรามีปัญญารู้เท่าทันในขั้นสุดท้ายแล้วเราก็มองเห็นได้ว่า มันเป็นของธรรมดา เราไปแก้ไม่ได้ ก็ปล่อยให้มันเป็นของมันอย่างนั้นต่อไป ใจเราไม่พลอยทุกข์ไปด้วยถึงตอนนี้เราก็จะเป็นอิสระพ้นจากความทุกข์ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันมีความสุขอยู่ข้างในตลอดไป

                ท่านสาธุชนทั้งหลาย การภาวนาทั้ง ๔ ประการที่นำเสนอมาข้างต้น เป็นทฤษฎีปฏิบัติของพระพุทธศาสนาที่พุทธบริษัททั้งหลายนำไปปฏิบัติได้โดยมิต้องขออนุญาตใคร ไม่ต้องลงทุนซื้อหา ไม่ต้องเลือกกาลเวลา ไม่ต้องแสวงหารอบโลก เพียงเราตั้งมั่นแล้วปฏิบัตินั่นแหละคือความสงบสุข เมื่อนำทฤษฎีการปฏิบัตินี้ไปทดลองใช้หรือประสบการณ์ตรงแล้วได้ผลอย่างไร แจ้งให้อาตมาทราบด้วยหรือจะขยายผลแนะนำให้บุคคลที่ท่านว่าได้ร่วมภาวนาก็จะเป็นกุศลยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.lanna.mbu.ac.th/artilces/budh_life3.4.asp



หนังสืออ้างอิง
    ๑. เอกสารวิชาการ, หลักการบริหารและการจัดการวัดในยุคโลกาภิวัตน์. (กรุงเทพฯ: โดยความร่วมมือระหว่าง กรมการศาสนาสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ลัมูลนิธิซิเมนต์ไทย), ๒๕๓๙.
    ๒. วศิน  อินทสระ, พระพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน. (กรุงเทพฯ : บริษัท อีเอ็นซี  ปริ้นท์แมน จำกัด), ๒๕๔๘.
    ๓. สุชีพ  ปุญญานุภาพ, สารัตถะแห่งศาสนธรรม. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย), ๒๕๔๓.
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: