KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาลพระสารีบุตรเถระ
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: พระสารีบุตรเถระ  (อ่าน 18352 ครั้ง)
samarn
Global Moderator
กัลยาณมิตร ลำดับที่ 2
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 7
กระทู้: 215


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:28:40 PM »

    ท่านพระสารีบุตรเถระ เดิมชื่อว่า อุปติสสะ บิดาชื่อว่าวังคันตะพราหมณ์ มารดาชื่อว่านางสารีพราหมณี บิดาเป็นนายบ้านตำบลนาลกะหรือนาลันทา เพราะเป็นบุตรของนางสารีจึงได้นามว่า สารีบุตร ท่านเกิดในตำบลบ้านนาลกะหรือนาลันทา ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์ เมื่อท่านเข้ามาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว เพื่อนสพรหมจารี (ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ในที่นี้หมายเอาภิกษุ) พากันเรียกท่านว่า พระสารีบุตร ทั้งนั้น ตระกูลพราหมณ์ของบิดาอุปติสสมาณพ เป็นตระกูลที่ร่ำรวย สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สมบัติและบริวาร เมื่ออุปติสสมาณพเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ มีปัญญาเฉียบแหลมเล่าเรียนได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว และได้เป็นเพื่อน ที่ชอบพอรักใคร่กันกับโกลิตมาณพ โมคคัลลานโคตร ผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และเป็นบุตรแห่งตระกูลที่ร่ำรวยเหมือนกัน เพราะว่าตระกูลทั้งสองนั้นเป็นเพื่อนกัน มีการติดต่อผูกพันกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

     อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพ ได้ไปเที่ยวดูเขาเล่นมหรสพในกรุงราชคฤห์ด้วยกันเป็นประจำ ขณะกำลังชมดูอยู่นั้นก็เกิดความร่าเริงในเวลาถึงบทสนุก เกิดความสลดใจ ในเวลาถึงบทเศร้า ถึงตอนชอบใจก็ให้รางวัลนักแสดงด้วย วันหนึ่งมาณพ ๒ สหายนั้นชวนกันไปดูมหรสพเหมือนวันก่อน ๆ แต่ว่าไม่เกิดความสนุกสนานร่าเริงอะไรเลย คนที่กำลังแสดงอยู่นั้นอีกไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็จะต้องตายกันไปหมด เมื่อมีความคิดตรงกันอย่างนั้น จึงได้พากันไปบวชเป็นลูกศิษย์ในสำนักของสัญชัยปริพาชก และได้เรียนความรู้จากอาจารย์จนหมดสิ้น จนอาจารย์ได้ให้ช่วยสั่งสอน ศิษย์คนอื่นในสำนักนั้นด้วย แต่สองสหายนั้นยังไม่พอใจกับความรู้เพียงนั้น จึงได้ตกลงทำกติกานัดหมายกันว่าจะออกแสวงหาโมกขธรรม คือธรรมเครื่องหลุดพ้น จากกิเลสต่าง ๆ อันได้แก่พระนิพพานอีกต่อไป และถ้าใครพบโมกขธรรมก่อนขอให้กลับมาบอกแก่กัน

     สมัยนั้น พระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว และได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนมหาชนยังสถานที่ต่าง ๆ เมื่อเสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์และประทับอยู่ ที่พระมหาเวฬุวันมหาวิหาร วันหนึ่งท่านพระอัสสชิผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ ผู้ที่พระบรมศาสดาทรงส่งออกไปประกาศพระศาสนา ได้กลับมาเฝ้า ในตอนเช้าท่านก็ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ อุปติสสปริพาชกเดินไปพบท่านในระหว่างทางก็เกิดความเลื่อมใส ในจริยาวัตรของท่าน และได้ถามถึงครูอาจารย์พร้อมกับขอร้องให้แสดงธรรมให้ฟังด้วย ท่านพระอัสสชิได้แสดงธรรมมีใจความย่อ ๆ ว่า "ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุและความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้" อุปติสสปริพาชก ได้ฟังแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมคือบรรลุโสดาบัน แล้วกลับไปบอกข่าวเพื่อนโกลิตะ และแสดงธรรมให้ฟังตามที่ได้ฟังมาจนโกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรม เหมือนกัน จึงชวนกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา ครั้นไปลาอาจารย์สัญชัยแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอนุญาต ให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ทั้งสองคน ครั้นบวชแล้วภิกษุทั้งหลายพากันเรียกท่านว่า สารีบุตร และ โมคคัลลานะ

     หลังจาก ได้อุปสมบทแล้ว พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่เหมาะแก่อุปนิสัยของพุทธบริษัท พวกภิกษุที่ร่วมฟังธรรมนั้นได้บรรลุพระอรหัตก่อน พระโมคคัลลานะอุปสมบทแล้ว ๗ วัน จึงได้สำเร็จพระอรหันต์ ฝ่ายพระสารีบุตรอุปสมบทแล้ว ๑๕ วัน จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ด้วยการฟังเทศนาชื่อว่า เวทนาปริคคหสูตร ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแก่ปริพาชกชื่อว่า ทีฆนขะะ ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฎ เมืองราชคฤห์ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระสารีบุตรอุปสมบทได้ ๑๕ วันแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่ถ้ำสุรขาตา เขาคิชฌกูฎ เมืองราชคฤห์ ปริพาชกคนหนึ่งชื่อ ทีฆนขอัคคิเวสนโคตร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลความเห็นของตนว่า "ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด" พระบรมศาสดาจึงตรัสตอบว่า "ดูก่อนอัคคิเวสนะ ถ้าอย่างนั้นความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านต้องไม่ชอบใจความเห็นอย่างนั้น" ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงแสดงทิฏฐิ ๓ อย่าง ให้ปริพาชกนั้นเห็นว่าเป็นโทษ และแนวทางละทิฏฐิ ๓ อย่างนั้น ลำดับนั้นทรงแสดงอุบายเครื่องไม่ยึดมั่นอีกต่อไป ขณะนั้นพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) ของพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชก แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตามพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้น จากอาสวะ ไม่ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอุปทาน ส่วนทีฆนขปริพาชกได้เพียงดวงตาเห็นธรรม หมดสิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา แล้วทูลแสดงตยเป็นอุบาสก

     ท่านพระสารีบุตร เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการประกาศ พระศาสนา พร้อมกับได้รับตำแหน่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุ้งหลายในทางมีปัญญามาก" สามารถแสดงพระธรรมจักรและอริยสัจ ๔ ได้กว้างขวางพิสดารเหมือนกับพระพุทธเจ้า

     ท่านพระสารีบุตร ยังมีคุณความดีอีกหลายประการที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง ในที่นี้จะขอกล่าวไว้เฉพาะที่สำคัญ ดังนี้
     ๑. ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีความอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต ด้วยกัน มีตัวอย่าง เช่น เมื่อครั้งพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ พวกภิกษุพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกับทูลลาจะไปชนบท พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตรก่อนเผื่อว่าท่านพระสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอนในการไปและการประพฤติปฏิบัติตัวในชนบทนั้น จะได้อยู่กันอย่างสำราญ ไม่มีความเดือดร้อนเสียหายอะไรขึ้น
     ๒. ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็น เป็นคู่กับพระโมคคัลลานะ คือเป็นอัครสาวกฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ตามที่ตรัสตอนหนึ่งว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะเธอเป็นคนมีปัญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรชิตทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วน้น สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น" เพราะเหตุนี้เองจึงมีคำยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย
     ๓. มีคำเรียกเพื่อยกย่องว่าพระสารีบุตร อีกอย่างหนึ่งว่า "พระธรรมเสนาบดี" ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า "พระธรรมราชา"
     ๔. พระสารีบุตรมีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน มีตัวอย่าง คือ พระยมกะมีความคิดเห็นว่าพระขีณาสพตายแล้วดับสูญ พวกภิกษุคัดค้านว่า เห็นอย่างนั้นผิด พระยมกะไม่เชื่อ แต่พวกภิกษุไม่อาจเปลื้องเธอจากความเห็นนั้นได้ จึงเชิญพระสารีบุตรไปช่วยชี้แจงแสดงให้ฟัง เธอจึงหายความสงสัยนั้น
     ๕. พระสารีบุตรเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ตัวอย่าง เช่น ท่านได้ฟังเทศนาจากพระอัสสชิจนได้บรรลุพระโสดาบันแล้วมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมา ท่านนับถือพระอัสสชิ ว่าเป็นอาจารย์ ทำการเคารพกราบไหว้อยู่เสมอ พอทราบว่าพระอัสสชิอยู่ทางทิศใด ท่านก็จะทำการยกมือไหว้และนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น อีกเรื่องหนึ่งท่นเป็นผู้ช่วยเหลือให้ราธพราหมณ์ผู้ต้องการจะอุปสมบทในพระธรรมวินัย แต่ไม่มีพระรูปใดยอมบวชให้ จนในที่สุดพระสารีบุตรระลึกถึงอุปการคุณที่ราธพราหมณ์ถวายข้าว ๑ ทัพพี ในสมัยที่เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ จึงช่วยเหลือให้ได้บวชตามความประสงค์

     อนึ่ง ท่านพระสารีบุตร นับได้ว่าเป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ ธรรมภาษิตของท่านจึงมีปรากฏอยู่มากมาย เช่น สังคีติสูตร เป็นต้น ยกเว้นพระพุทธภาษิตแล้ว ภาษิตของพระสารีบุตรมีมากกว่าของพระสาวกรูปอื่น ๆ

     พระสารีบุตรนั้น นิพพานก่อนพระบรมศาสดา ก่อนแต่จะนิพพานท่านพิจารณาเห็นว่า สมควรที่จะนิพพานในห้องที่ตนเองคลอดจากท้องมารดา เมื่อคิดเช่นนั้นจึงเข้าไปกราบทูลสมเด็จพระบรมศาสดา แล้วเดินทางไปกับพระจุนทะผู้น้องชายพร้อมด้วยบริวาร เมื่อไปถึงบ้านเดิมแล้ว ก็เกิด ปักขันทิกาพาธ คือ โรคท้องร่วง ขึ้นในคืนนั้น ในเวลาที่ท่านกำลังอาพาธอยู่นั้น ก็ได้เทศนาโปรดมารดาจนได้บรรลุโสดาปัตติผล พอเวลาใกล้รุ่งของคืนเพ็ญเดือน ๑๒ ท่านก็ดับขันธปรินิพพาน พอรุ่งขึ้นพระจุนทะผู้น้องชายก็ได้ร่วมกับญาติทำฌาปนกิจสรีระของท่าน แล้วเก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระบรมศาสดา ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในเมืองสาวัตถี พระพุทธองค์โปรดให้ก่อเจดีย์ บรรจุอัฐิธาตุของพระเถระไว้ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น

 
บันทึกการเข้า
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: กันยายน 18, 2013, 09:55:58 PM »



เรื่องของพระสารีบุตร ถามตอบปัญหาพราหมณ์ข้าราชการผู้กระทำการโกงกิน ทุจริตต่อแผ่นดิน และประชาชน

ในสมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ท่านพระสารีบุตรได้เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคีรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ที่กรุงราชคฤห์ได้ออกไปหาท่านพระสารีบุตร ที่ทักขิณาคีรีชนบท ท่านพระสารีบุตรจึงได้ถามถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ ทราบว่าเป็นสุขสบายดี จึงได้ถามถึงธนัญชานีพราหมณ์ที่อยู่ใกล้ประตูตัณฑุลปาละ ในกรุงราชคฤห์ พระอาคันตุกะรูปนั้นก็บอกว่า ธนัญชานีพราหมณ์สบายดี แต่ภรรยาของเขาซึ่งเป็นหญิงมีศรัทธาตายเสียแล้ว เขาได้ภรรยาใหม่เป็นหญิงไม่มีศรัทธา เขาอาศัยพระราชาเที่ยวปล้นพวกพราหมณ์และคหบดี อาศัยพวกพราหมณ์และคหบดีปล้นพระราชา

นั่นก็คือ เมื่อพระราชารับสั่งให้เขาไปเอาข้าวกล้าบางส่วนมาจากคนทั้งหลาย โดยไม่ให้เบียดเบียนคนเหล่านั้นให้เดือดร้อน แต่ธนัญชานีพราหมณ์ผู้เป็นดั่งข้าราชการทำงานให้พระราชากลับไปรีดนาทาเร้นเอาข้าวกล้ามาเสียทั้งหมด แม้คนเหล่านั้นจะอ้อนวอนขอร้องว่า ถ้าเอาข้าวกล้าไปหมด พวกเขาย่อมเดือดร้อนเพราะไม่มีข้าวกล้าจะทำนา แต่พราหมณ์ก็ไม่ฟัง อ้างว่าเป็นคำสั่งของพระราชา เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงกล่าวว่าธนัญชานีพราหมณ์อาศัยพระราชาปล้นพราหมณ์และคหบดี

ครั้นพราหมณ์ได้ข้าวกล้ามาทั้งหมดแล้ว แทนที่จะนำไปถวายพระราชาทั้งหมด กลับยักยอกเก็บไว้ที่บ้านของตนเป็นจำนวนมาก นำไปถวายพระราชาแต่น้อย
พระราชาตรัสถามว่า “ท่านไปเบียดเบียนพวกพราหมณ์หรือคหบดีหรือเปล่า”
พราหมณ์ก็ทูลว่า “ข้าพระองค์มิได้เบียดเบียนคนเหล่านั้น แต่ในขณะนี้ข้าวกล้ามีน้อย ข้าพระองค์จึงเอามาแต่น้อย”
เพราะเหตุที่พราหมณ์อ้างดังนี้ ภิกษุรูปนั้นจึงกล่าวว่า “ธนัญชานีอาศัยพราหมณ์และคหบดีปล้นพระราชา คือโกงพระราชา” ท่านพระสารีบุตรฟังคำเล่าเช่นนั้นแล้วก็กล่าวว่า “ธนัญชานีพราหมณ์เป็นผู้ประมาทเสียแล้ว เราควรจะไปหา คือไปเตือนธนัญชานีพราหมณ์” ด้วยเหตุนี้ เมื่อท่านพระสารีบุตรอยู่ที่ทักขิณาคีรีชนบทพอสมควรแล้วก็ได้กลับไปพักที่พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์

ครั้นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์แล้ว กลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้วได้ไปหาธนัญชานีพราหมณ์ถึงที่อยู่ ในขณะที่เขากำลังให้คนรีดนมโคอยู่ เขาเห็นท่านพระสารีบุตรเดินมาแต่ไกล ก็ร้องนิมนต์ให้ดื่มน้ำนมสด แต่ท่านพระสารีบุตรปฏิเสธว่า อาตมาฉันเรียบร้อยมาแล้ว อาตมาจะไปพักที่โคนต้นไม้โน้น ท่านพึงตามเราไปที่นั่น
ธนัญชานีพราหมณ์จึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร นั่ง ณ ที่ควร

เมื่อท่านพระสารีบุตรถามว่า “ท่านยังเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่หรือ”
ธนัญชานีตอบว่า “ที่ไหนได้ท่านพระสารีบุตร ข้าพเจ้าเป็นผู้ประมาท เพราะต้องเลี้ยงดูมารดาบิดา บุตรภรรยา ข้าทาสบริวาร ต้องทำกิจการงานสำหรับมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต ตลอดจนแขกผู้จรมา ทำบุญอุทิศให้บุพเปตชน บวงสรวงเทวดา ทำราชการให้หลวง แม้กายนี้ก็ต้องให้อิ่มหนำ ต้องให้เจริญ”

ท่านพระสารีบุตรฟังแล้วกล่าวว่า “ท่านเข้าใจว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะกรรมนั้น เขาจะขอร้องอ้อนวอนว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา นายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเราไปลงนรกเลย หรือมารดาบิดาจะขอร้องนายนิรยบาลว่า บุตรของเราประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งสอง ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปลงนรกเลย นายนิรยบาลจะฟังคำขอร้องของเขาหรือไม่”
ธนัญชานีพราหมณ์กล่าวว่า “แม้ผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมายประการใด นายนิรยบาลก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”

จากนั้น ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไปทีละอย่างๆ ว่า “ถ้าหากว่า บุคคลนั้นประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรภรรยา ข้าทาสกรรมกรคนรับใช้ เพราะเหตุแห่งมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต เพราะเหตุแห่งแขกผู้จรมา เพราะเหตุแห่งบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เพราะเหตุแห่งเทวดา เพราะเหตุแห่งราชการของพระราชา เพราะเหตุแห่งการบำรุงร่างกายของตนให้อิ่มหนำให้เจริญ บุคคลนั้นจะพึงขอร้องนายนิรยบาลไม่ให้ฉุดเขาลงนรกได้หรือไม่”
พราหมณ์ตอบว่า “ไม่ได้ แม้เขาจำคร่ำครวญอย่างไร นายนิรยบาลก็ต้องฉุดคร่าเขาลงนรกจนได้”

ท่านพระสารีบุตรฟังดังนั้นแล้ว จึงถามว่า “บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา กับประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรมอย่างไหนจะดีกว่ากัน ประเสริฐกว่ากัน”
ธนัญชานีพราหมณ์ก็ตอบว่า “ผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ไม่ประเสริฐเลย ส่วนผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ประเสริฐกว่า”
ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า “การงานอย่างอื่นที่ชอบธรรม ซึ่งคนทั้งหลายอาจเลี้ยงดูมารดาบิดาได้ ไม่ต้องทำกรรมลามกเป็นบุญเป็นกุศลมีอยู่”

กรรมที่ชอบธรรมเป็นบุญเป็นกุศลนั้นก็คือ กรรมที่สุจริตทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ รวมเป็น ๑๐ ซึ่งก็คือประพฤติแต่กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่นเอง คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น ไม่มีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ส่วนการเลี้ยงชีพที่ผิดศีลธรรมก็ได้แก่เลี้ยงชีพด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการอันตรงกันข้ามกับกุศลกรรมบถ ๑๐ ที่กล่าวแล้วมีการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น จนถึงมิจฉาทิฏฐิ การเลี้ยงชีพในทางที่ผิดนั้นเป็นเหตุให้ตกนรก
ก็กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้แหละที่ท่านพระสารีบุตรบอกพราหมณ์ว่า “เป็นกรรมที่ชอบธรรมควรประพฤติ คือควรกระทำเพื่อเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นต้น”
ธนัญชานีพราหมณ์ฟังแล้วก็ชื่นชมอนุโมทนา กราบลาท่านพระสารีบุตรแล้วกลับไป

ต่อมา ธนัญชานีพราหมณ์ป่วยเป็นไข้หนัก ได้สั่งบุรุษคนหนึ่งไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแทน แล้วสั่งให้ไปนิมนต์ท่านพระสารีบุตรมาที่บ้านด้วยว่าเขาป่วยหนัก ไม่สามารถจะไปหาท่านพระสารีบุตรเองได้

ท่านพระสารีบุตรก็ได้มาตามคำนิมนต์นั้น เมื่อมาถึงถามพราหมณ์ว่า “ยังพออดทนต่อทุกขเวทนาได้หรือไม่”
พราหมณ์ตอบว่า “ข้าแต่พระสารีบุตร ข้าพเจ้าทนไม่ไหว ทุกขเวทนากล้านัก ไม่ทุเลาลงเลย ชีวิตของข้าพเจ้าเห็นจะเป็นไปไม่ได้ ลมเสียดแทงศีรษะกล้านัก ดุจบุรุษมีกำลังเอาเหล็กแหลมคมกดศีรษะ เวทนาในศีรษะของข้าพเจ้าทุกข์เหลือทน เหมือนนายโคฆาตเอามีดสำหรับเชือดเนื้อโคมาเชือดท้องข้าพเจ้าฉะนั้น ในกายของข้าพเจ้าร้อนเหลือเกิน ดุจบุรุษมีกำลังมากสองคนช่วยกันจับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าคนละแขน รมย่างไว้บนถ่านเพลิงฉะนั้น ข้าพเจ้าทนไม่ไหว ทุกขเวทนากล้านัก ทวีขึ้นไม่ลดลงเลย”
ท่านพระสารีบุตรถามว่า “นรกกับกำเนิดสัตว์เดรัจฉานไหนจะดีกว่ากัน”
พราหมณ์ตอบว่า “กำเนิดสัตว์เดรัจฉานดีกว่า”
ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไปว่า “กำเนิดสัตว์เดรัจฉานกับปิตติวิสัยไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “ปิตติวิสัยดีกว่า” (ปิตติวิสัย คือ ภูมิเปรตผู้ถูกทรมานด้วยความหิวโหยอยู่เสมอ)
ท่านพระสารีบุตรถามต่อไปว่า “ปิตติวิสัยกับมนุษย์ไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “มนุษย์ดีกว่า”
ท่านพระสารีบุตรถามอีกว่า “มนุษย์กับเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาดีกว่า”
ท่านพระสารีบุตรก็ถามว่า “เทวดาชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับจนถึงปรนิมมิตวสวดีว่า เทวดาชั้นปรนิมมิตรสวดีกับพรหมโลกไหนจะดีกว่ากัน”
พราหมณ์ย้อนถามว่า “ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่าพรหมโลกหรือ”

ท่านพระสารีบุตรได้ฟังพราหมณ์ถามเช่นนั้น ก็คิดว่าพราหมณ์นี้น้อมใจไปในพรหมโลก เพราะฉะนั้นเราจะแสดงทางไปพรหมโลกแก่เขา เมื่อท่านคิดดังนี้จึงบอกให้พราหมณ์ตั้งใจฟัง เราจะแสดงทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม ด้วยการแสดงการเจริญพรหมวิหารสี่คือ “เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา”

โดยแสดงว่า ภิกษุในธรรมวินัยมีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวา และตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกหมู่เหล่าเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถานด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ (มหัคคตะ หรือ มหัคคตา หมายถึงสภาวะอันยิ่งใหญ่ของคนเราที่สามารถข่มกิเลสได้) ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้อนี้เป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม แล้วก็แสดงการเจริญกรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยทำนองเดียวกันว่า ล้วนเป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม


เมื่อท่านพระสารีบุตรแสดงทางไปพรหมโลกแก่ธนัญชานีพราหมณ์อย่างนี้แล้ว ธนัญชานีพราหมณ์ได้กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าตามคำของข้าพเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานีพราหมณ์ป่วย ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า”
ท่านพระสารีบุตรก็นำความนั้นมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าตามคำของพราหมณ์ และเมื่อธนัญชานีพราหมณ์ทำกาละแล้ว ก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นต่ำ

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่าสารีบุตรได้ประดิษฐานพราหมณ์ไว้ในพรหมโลกชั้นต่ำ ในเมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งไปกว่านี้ยังมีอยู่ นั่นคือการแสดงอริยสัจสี่ อันจะทำให้พราหมณ์ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก แต่การไปสู่พรหมโลกทั้งที่ยังเป็นปุถุชนนั้น ยังจะต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดชดใช้กรรมอีก ไม่อาจล่วงทุกข์ทั้งปวงได้
ท่านพระสารีบุตรก็ทูลให้ทราบว่าที่ท่านมิได้แสดงอริยสัจสี่นั้น เป็นเพราะท่านเห็นว่าพวกพราหมณ์มักน้อมใจไปพรหมโลก จึงได้แสดงทางเพื่อไปพรหมโลก
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ธนัญชานีพราหมณ์ทำกาละไปเกิดในพรหมโลกแล้ว”

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป เมื่อท่านพระสารีบุตรจะแสดงธรรม แม้แต่คาถาเดียว ท่านก็มิได้แสดงธรรมที่นอกไปจากอริยสัจสี่ ทั้งนี้เพราะท่านมีปัญญามาก ฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนั้น ท่านก็เข้าใจและทำตาม

สรุปว่า การประพฤติชั่ว การประพฤติไม่ชอบธรรมเพื่อมารดาบิดาหรือบุตรภรรยาเป็นต้น เป็นเหตุนำไปนรก จึงไม่ควรกระทำ เพราะสัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมชั่วก็ต้องรับผลชั่วโดยไม่มีข้ออ้างใดๆ เพราะถึงจะอ้าง นายนิรยบาลก็ไม่ยอม โดยเฉพาะข้าราชการ นักการเมือง อาศัยตัวบทกฎหมายประพฤติมิชอบ ทำการทุจริต โกงกิน กินบ้านกินเมืองเพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ครอบครัว พวกพ้อง เมื่อกระทำกาละจากโลกนี้แล้ว หากแม้นจะได้รับความเมตตาจากพระสาวกอรหันต์มาโปรดให้ไปสวรรค์ หรือพรหมโลก แต่กรรมชั่วก็ไม่ได้มลายหายไป เมื่อสิ้นผลแห่งกรรมดีเมื่อไหร่ ก็ย่อมตกลงไปสู่อบายภูมิ มีทุคติเป็นที่ไปชดใช้กรรมอยู่

ที่มาอ้างอิงเรื่อง “ธนัญชานิสูตร” จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๖๗๒
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 18, 2013, 09:59:03 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: กันยายน 18, 2013, 09:58:26 PM »

ขอบคุณข้อมูลจาก : facebook ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
AVATAR
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 29
กระทู้: 966


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: กันยายน 19, 2013, 12:01:09 AM »


อนุโมทนาครับน้องกอล์ฟ
บันทึกการเข้า

เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เพื่อพากันหลุดพ้นออกจากวัฏฏสงสารนี้
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 14, 2013, 08:40:54 PM »



๒,๕๕๗ ปีรำลึก ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ วันคล้ายวันนิพพานพระธรรมเสนาบดีพระสารีบุตรเถระเจ้า
 พระอัครสาวกสังโฆปูชา (อ่านว่า : พระ-อัก-คะ-ระ-สา-วะ-กะ-สัง-โค-ปู-ชา)

ในวันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ นอกจากจะเป็นวันลอยกระทงแล้ว ยังตรงกับวันคล้ายวันนิพพานของพระธรรมเสนาบดีพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา เอตทัคคะผู้เลิศทางมีปัญญามาก ครบ ๒,๕๕๗ ปี (ท่านนิพพานก่อนพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พรรษา) จึงขอน้อมนำพระธรรมคำสอนของพระสารีบุตร มาเผยแพร่ให้พิจารณาเป็นมรณานุสติ และสังฆานุสติครับ

"..ความเป็นความตายเราไม่ยินดี
เราจักละทิ้งร่างกายนี้ไปอย่างผู้มีสติสัมปชัญญะ

ความเป็นความตายเราไม่ยินดี
เรารอแต่ให้ถึงเวลา คล้ายลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงาน

ความตายนี้มีแน่ ไม่ว่าเวลาแก่ก็เวลาหนุ่ม
แต่ที่จะไม่ตาย ไม่มีหรอก.."

บั้นปลายชีวิตของพระสารีบุตรเถระเจ้า องค์ท่านมีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งถึงระยะปัจฉิมโพธิกาล (ระยะเวลาใกล้สิ้นยุคพุทธกาล) หลักฐานบางแห่งว่า ทั้ง ๒ ท่านนิพพานก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๑ ปี คือนิพพาน ในปีที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๗๙ พรรษา

พระสารีบุตรเถระเจ้า ได้เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่บ้านของท่านเอง ด้วยโรคปักขันทิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด) ดังมีเรื่องเล่าว่า

วันหนึ่ง ท่านเข้าผลสมาบัติอยู่ในที่พักกลางวันของท่านในวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ออกจากผลสมาบัติแล้วพิจารณาเห็นว่าพระอัครสาวกย่อมนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ดังนั้นท่านจึงได้ตรวจดูอายุสังขารของตนเองและเห็นว่าจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีก ๗ วันเท่านั้น ท่านได้พิจารณาต่อไปถึงสถานที่ที่จะไปนิพพาน ก็เห็นว่าควรจะไปนิพพานที่บ้านเกิด ทั้งนี้เพื่อจะได้โปรดโยมมารดาซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ให้ได้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเห็นด้วยว่าโยมมารดามีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้เมื่อได้ฟังธรรมที่ท่านแสดง

เมื่อปลงใจได้ดังนั้นแล้ว ท่านจึงแจ้งพระจุนทะผู้เป็นน้องชายให้ทราบ และบอกพระจุนทะให้แจ้งแก่บรรดาศิษย์ของท่านให้ทราบด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วท่านได้เก็บกวาดเสนาสนะ แล้วออกมายืนอยู่ที่หน้าเสนาสนะนั้น ท่านมองดูทุกสิ่งทุกอย่างเป็นครั้งสุดท้าย แล้วพาพระจุนทะและพระบริวาร ๕๐๐ รูปเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

“ข้าแต่พระบรมศาสดา” ท่านกราบทูล หลังจากกราบถวายบังคมแล้ว “อายุของข้า พระองค์ใกล้สิ้นแล้ว ข้าพระองค์ขอกราบพระบาทเป็นครั้งสุดท้าย เพราะนับจากนี้ไปอีก ๗ วัน ข้าพระองค์จะได้ทอดทิ้งร่างกาย ขอได้ทรงพระกรุณาอนุญาตให้ข้าพระองค์นิพพานด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า”

“สารีบุตร เธอจักไปนิพพานที่ไหน” พระพุทธเจ้าตรัสถาม

“ที่บ้านเกิด พระพุทธเจ้าข้า”

“สารีบุตร” พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพร้อมทั้งอนุญาต แล้วตรัสต่อไปว่า

“ต่อนี้ไปภิกษุทั้งหลายจะไม่ได้เห็นพระสาวกเช่นเธออีกแล้ว ขอเธอได้ช่วยอนุเคราะห์แสดงธรรมให้ภิกษุทั้งหลายฟังก่อนเถิด”

ท่านเข้าใจถึงพุทธประสงค์ได้ดี จึงลุกขึ้นถวายบังคมรับพระพุทธดำรัส แต่ก่อนที่จะแสดงธรรม ท่านได้เหาะขึ้นไปสูงได้ชั่วลำตาล ๑ แล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ได้เหาะกลับขึ้นไปอีกแล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าอีก ท่านทำอยู่อย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง กล่าวคือ ท่านเหาะขึ้นไปสูงสุดถึง ๗ ชั่วลำตาล และในแต่ละชั่วลำตาลนั้นท่านได้เหาะกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าทุกครั้ง ขณะที่เหาะอยู่สูงถึง ๗ ชั่วลำตาลนั้นท่านได้แสดงฤทธิ์ต่างๆ มากกว่าร้อยแล้วจึงแสดงธรรม

ขณะที่แสดงธรรมอยู่นั้นท่านได้แสดงฤทธิ์ด้วย โดยบางครั้งทำให้คนเห็นตัวท่าน แต่บางครั้งก็ทำให้ไม่เห็น คงให้ได้ยินแต่เสียง หรือให้เห็นเพียงครึ่งตัว เสียงของท่านบางครั้งก็ได้ยินจากข้างบน บางครั้งก็ได้ยินจากเบื้องล่าง ท่านยังปรากฏกายให้เห็นเป็นรูปต่างๆ บางครั้งเป็นรูปพระจันทร์ บางครั้งเป็นรูปพระอาทิตย์ บางครั้งเป็นรูปภูเขา บางครั้งเป็นรูปมหาสมุทร บางครั้งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ บางครั้งเป็นท้าวเวสสุวรรณ บางครั้งเป็นพระอินทร์ บางครั้งเป็นท้าวมหาพรหม ครั้นแสดงฤทธิ์และแสดงธรรมถวายตามพุทธประสงค์แล้ว ท่านก็ได้เหาะกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วเข้าไปประคองพระบาท พลางกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระบรมศาสดา ข้าพระองค์สู้สร้างบารมีมาช้านานนับได้ ๑ อสงไขยกับ ๑๐๐.๐๐๐ กัป ก็ด้วยตั้งใจจะได้ถวายบังคมพระบรมบาท”

จากนั้นท่านได้กราบถวายบังคมลา พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาส่งหน้าพระคันธกุฎี และตรัสบอกพระสาวกทั้งหลายในที่นั้นให้ไปส่งท่าน ครั้นถึงซุ้มประตูเชตวันมหาวิหาร ท่านบอกพระที่ตามมาส่งท่านให้กลับ พร้อมทั้งกล่าวสอนไม่ให้ประมาท

ท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเดินทางอยู่ ๗ วันก็ถึงอุปติสสคามบ้านเกิดของท่าน ที่เมืองนาลันทา แคว้นมคธ ท่านพร้อมด้วยคณะได้ยืนพักเหนื่อยอยู่ที่โคนต้นไทรใกล้ทางเข้าบ้านของท่าน และได้พบกับอุปเรวตะผู้เป็นหลานชาย จึงได้แจ้งความประสงค์ที่จะมาพักที่บ้านกับโยมมารดาให้หลานชายทราบ

ฝ่ายนางสารีโยมมารดาเมื่อได้ทราบว่า พระลูกชายพาพระบริวารมาเยี่ยม ก็รู้สึกดีใจเป็นกำลัง จึงสั่งคนงานในบ้านให้จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ จัดที่พักและตามประทีปไว้พร้อมสรรพ และเมื่อได้ทราบว่าท่านประสงค์จะพักในห้องที่ท่านเกิด นางสารีก็จัดให้ตามประสงค์ แต่ในขณะเดียวกันก็สงสัยอยู่ว่า ทำไมพระลูกชายจึงได้พาพระบริวารมามากมายเพียงนี้ หรือว่ามาเพื่อจะสึก เมื่อท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเข้าพักในสถานที่ที่โยมมารดาให้คนจัดให้ตามประสงค์แล้ว

ตกดึกคืนนั้นเองท่านได้เกิดป่วยเป็นโรคปักขันธิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด) อย่างปัจจุบันทันด่วน ท่านได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส พระจุนทะและพระบริวารได้ช่วยกันพยาบาลอย่างใกล้ชิด ฝ่ายโยมมารดาเห็นว่าท่านอาพาธหนัก จึงมาเฝ้าดูอาการด้วยความเป็นห่วง

ขณะนั้น เทวดาองค์สำคัญๆ ต่างมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านตามลำดับ คือ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักข์ ท้าววิรุฬหก และท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสุยามา ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นยามา ท้าวดุสิต ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวสุนิมมิตะ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นนิมมานรดี และท้าวปรนิมมิตวสวัดดี ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี รวมทั้งท้าวมหาพรหมแห่งพรหมโลก ชั้นสุทธาวาสก็ได้มาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วย เทวดาและท้าวมหาพรหมนั้นแต่ละองค์ล้วนมีรัศมีเปล่งปลั่งงดงาม ต่างพากันมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วยความเป็นห่วงและด้วยความเคารพอย่างยิ่ง

นางสารีเห็นเหตุการณ์นั้นตลอด เมื่ออาการของพระเถระค่อยบรรเทาลง นางได้เข้าไปหาและสนทนาด้วย โดยได้ถามถึงเทวดาองค์สำคัญๆ ที่มาเยี่ยมซึ่งนางไม่ทราบว่าเป็นใคร ท่านได้บอกให้โยมมารดา ได้ทราบตามลำดับจนกระทั่งถึงท้าวมหาพรหม

“อุปติสสะ” โยมมารดาเรียกชื่อเดิมของท่านด้วยความอัศจรรย์ใจ “นี่ลูกของแม่ใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ”

“ใช่... โยมแม่” ท่านตอบรับ

ทันใดนั้น โยมมารดาก็เกิดปีติอย่างใหญ่หลวง สีหน้าเอิบอิ่ม เมื่อได้ทราบว่าพระลูกชายยิ่งใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมที่ตนเคารพ

“อุปติสสะลูกชายของเรายิ่งใหญ่ขนาดนี้ แล้วพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาของลูกชายเราเล่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน”

นางสารีคิดไปถึงพระพุทธเจ้า พระเถระสังเกตดูโยมมารดาตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าจิตใจเริ่มอ่อนโยน เหมาะจะรับน้ำย้อมคือคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้ จึงเริ่มแสดงธรรมโปรด โดยพรรณนาถึงพระพุทธคุณนานาประการ อาทิว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โยมมารดาฟังแล้วเลื่อมใสยิ่งนัก และเมื่อจบพระธรรมเทศนา นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

พระเถระได้ตอบแทนพระคุณโยมมารดาด้วยการตอบแทนที่ล้ำค่า คือให้พ้นจากความเห็นผิดที่มีมานานเสียได้
 ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ ส่วนโยมมารดารู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาที่ไม่ได้สัมผัสอมตธรรม จึงพูดกับท่านเป็นเชิงต่อว่า ว่า

“ลูกรัก ทำไมจึงเพิ่งมาให้อมตธรรมนี้แก่แม่เล่า”

หลังจากโยมมารดาได้ลากลับเข้าไปที่พักผ่อนแล้ว ท่านได้บอกพระจุนทะให้นิมนต์พระบริวารมาประชุมพร้อมกัน
ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้สว่าง ท่านดูอิดโรยเต็มที แต่ถึงกระนั้นก็พยายามยันกายลุกขึ้นนั่ง โดยพระจุนทะคอยประคองอยู่ตลอดเวลา

“ท่านทั้งหลาย” พระเถระเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงแหบพร่า

“ผมกับท่านอยู่ด้วยกันมานานถึง ๔๔ ปี หากกายกรรมและวจีกรรมของผมอันใดไม่เป็นที่พอใจ ขอได้อภัยให้ผมด้วย”

“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ” พระบริวารกล่าวตอบ “พวกกระผมติดตามท่านมานาน ยังมองไม่เห็นกายกรรมและวจีกรรมอันใดของท่านที่ไม่เหมาะสมเลย แต่พวกกระผมสิจะต้องขอให้ท่านได้โปรดยกโทษในกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่สมควร”

ท่านกับพระบริวารต่างกล่าวคำขอขมากันและกันแล้ว แสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้าแล้ว เช้าวันนั้นเบญจขันธ์อันอ่อนล้าของ พระเถระก็ดับลงอย่างสนิท ท่านนิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในห้องที่ท่านเกิด เทวดาและมนุษย์ได้พร้อมใจกันฌาปนกิจศพของท่านอย่างสมเกียรติ พระจุนทะนำผ้าขาวมาห่ออัฐิของท่านแล้วนำไปพร้อมทั้งบาตรและจีวร เพื่อมอบให้พระอานนท์นำไปถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงรับอัฐิของท่านแล้วโปรดให้สร้างสถูปบรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเชตวันมหาวิหาร เพื่อให้พุทธบริษัทได้สักการะต่อไป

*** *** ***

ภาพวาดโดยศิลปินแห่งชาติ อาจารย์จักรพันธ์ โปษยกฤต ขออนุญาตยืม และขออนุโมทนาบุญมา ณ โอกาสนี้ครับ . . . ส า ธุ
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: