
ในหมู่บ้านหนองผือมีบ้านอยู่ ๗๐ หลังคาเรือน มีคุณยายนุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งชื่อ “กั้ง”
อายุราว ๘๐ ปี เป็นนักภาวนาสำคัญคนหนึ่ง ที่หลวงปู่มั่นเมตตาเป็นพิเศษเสมอมาคุณยายอุตส่าห์ตะเกียกตะกายไปศึกษาธรรม
กับท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือเสมอ ดังนี้
“...แกใช้ไม้เท้าเป็นเครื่องพยุงออกไปหาพ่อแม่ครูจารย์มั่น กว่าจะถึงวัดต้องพักเหนื่อยระหว่างทางถึง ๓-๔ ครั้ง
ทั้งเหนื่อยทั้งหอบน่าสงสารมาก บางทีท่านพระอาจารย์มั่นก็ทำท่าดุเอาบ้างว่า
‘โยมจะออกมาทำไม มันเหนื่อยไม่รู้หรือ แม้แต่เด็กเขายังรู้จักเหนื่อย แต่โยมแก่จนอายุ๘๐-๙๐
ปีแล้วทำไมไม่รู้จักเหนื่อยเมื่อยล้า มาให้ลำบากทำไม?’
แกเรียนตอบท่านอย่างอาจหาญตามนิสัยที่ตรงไปตรงมาของแกว่า
‘ก็มันอยากมา มันก็มาซิ’…”
คุณยายแกมีหลานชายคนหนึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น คอยส่งบาตรทุกวันๆ
พอองค์ท่านรับบาตรเสร็จแล้ว ก็จะสะพายบาตรไปส่งที่วัดทุกวันไม่เคยขาด
องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน กล่าวถึงการภาวนาของคุณยายว่า
“คุณยายแกภาวนาดี มีหลักเกณฑ์ทางจิตแล้ว แกยังมีปรจิตตวิชชา
คือสามารถรู้พื้นเพดีชั่วแห่งจิตคนอื่นได้ด้วย และมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลกๆ
ภายนอกด้วย เวลาแกมารับการอบรมกับท่านอาจารย์มั่น แกเล่าความรู้แปลกๆ
ถวายท่านด้วยความอาจหาญมาก ท่านทั้งขบขันทั้งหัวเราะ ทั้งเมตตาว่ายายแก่นี้อาจหาญจริง ไม่กลัวใคร”
คุณยายสามารถรู้เรื่องความคิดจิตใจของใครต่อใครได้ จนบางครั้งหลวงปู่มั่นยังได้ถามคุณยายแบบขบขันว่า
“รู้เรื่องนั้นไหม?”
คุณยายก็ว่า “รู้”
“แล้วเรื่องนี้รู้ไหม?” ก็ว่า “ก็รู้อีก”
หลวงปู่มั่นเลยลองถามว่า
“แล้วรู้ไหม?จิตของพระในวัดหนองผือนี้”
คุณยายว่า “ทำไมจะไม่รู้” แถมพูดแบบขู่เลยว่า “รู้หมดแหละ”
คุณยายเคยเล่าเรื่องภาวนาให้หลวงปู่มั่นฟังอย่าอาจหาญว่า
“มองมาวัดหนองผือแห่งนี้สว่างไสวทั่วหมดเลย มีแต่พระภาวนาดวงเล็กดวงใหญ่เหมือนดาวอยู่เต็มวัด”
เวลาเล่าถวายหลวงปู่มั่น คุณยายจะพูดแบบอาจหาญมากไม่กลัวใคร
แม้พระเณรจำนวนร่วมครึ่งร้อยซึ่งมีท่าน (องค์หลวงตามหาบัว)
รวมอยู่ด้วย จะนั่งฟังอยู่เวลานั้นด้วยก็ตาม คุณยายก็จะพูดได้อย่างสบาย ไม่สนใจว่าใครจะคิดอะไร ดังนี้
“...พวกพระทั้งหลายพากันรีบล้างบาตรแล้วค่อยมาแอบฟังคำพูดของแก
อยู่ทางด้านหลังหอฉัน แกพูดอาจหาญตามหลักความจริง ไม่สะทกสะท้าน‘
เวลาพวกทวยเทพทั้งหลายมากราบพ่อแม่ครูจารย์ที่หนองผือ หลั่งไหลมา เขามา
ทิศทางพระไม่อยู่นะพวกทวยเทพทั้งหลาย เขาเคารพพระมาก คือเขาจะมาทางด้านไม่มีพระ
ถ้าพระมากทางด้านไหน เขาจะไม่มาทางด้านนั้น เขาไม่มาสุ่มสี่
สุ่มห้านะ’
พ่อแม่ครูจารย์บอก กับโยมยายกั้งพูดเข้ากันได้ ท่านบอกว่า
‘ทางด้านนี้พวกเทพมา ใครอย่าไปทำสุ่มสี่สุ่มห้าแถวนั้นนะ นอนก็เหมือนกันหลับครอกๆแครกๆ
ให้พวกเทพเขามาปลงธรรมสังเวชไม่ได้นะ ให้รักษามารยาท’
พ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านพูดก่อน แล้วโยมยายกั้งนี้แกมาพูดแบบเดียวกัน แกรู้จิตคนอื่นแกเห็นจริงๆ
รู้จริงๆ ใครสะอาดผ่องใสขนาดไหน แกเห็น เวลาแกมาเล่านี้ คือแกนิสัยตรงไปตรงมา
พูดไม่กลัวใครเหมือนขวานผ่าซาก รู้อย่างไร พูดอย่างนั้น แกเป็นคนตรงไปตรงมา พวกพระก็สนุกฟัง…
ยายกั้งมาเล่าถวายถึงการล่วงรู้จิตของท่านและพระเณรในวัด รู้สึกน่าฟังมาก
พระเณรทั้งแสดงอาการหวาดๆ บ้าง แสดงอาการอยากฟังแกเล่าบ้าง แกเล่าว่า
‘นับแต่จิตท่านอาจารย์ลงมาถึงจิตเณรความสว่างไสวลดหลั่นกันลงมาเป็นลำดับลำดาเหมือนดาวใหญ่กับหมู่ดาวเล็กๆ
ที่อยู่ด้วยกันฉะนั้น รู้สึกน่าดูและน่าชมเชยมาก ที่มองดูจิตพระเณรมีความสว่างไสวและสง่าผ่าเผย
ไม่เป็นจิตที่อับเฉาเฝ้าทุกข์ที่กลุ้มรุมดวงใจ แม้เป็นจิตพระหนุ่มและสามเณรน้อยๆ
ก็ยังน่าปีติยินดีและน่าเคารพนับถือตามภูมิของแต่ละองค์
ที่อุตส่าห์พยายามชำระขัดเกลาได้ตามฐานะของตน’
บางครั้งแกมาเล่าถวายท่านเรื่องแกขึ้นไปพรหมโลกว่า
‘เห็นแต่พระจำนวนมากมายในพรหมโลก ไม่เห็นมีฆราวาสสลับสับปนกันอยู่บ้างเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?’
ท่านตอบว่า ‘เพราะที่พรหมโลกโดยมาก มีแต่พระที่ท่านบำเพ็ญจิตสำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผลแล้ว
ส่วนฆราวาสมีจำนวนน้อยมากที่บำเพ็ญตนจนได้สำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผล
แล้วไปเกิดและอยู่ในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง ฉะนั้น โยมจึงเห็นแต่พระไม่เห็นฆราวาสสับปนอยู่เลย
อีกประการหนึ่ง ถ้าโยมสงสัยทำไมจึงไม่ถามท่านบ้าง เสียเวลาขึ้นไปถึงแล้ว มาถามอาตมาทำไม?’
แกหัวเราะแล้วเรียนท่านว่า
‘ลืมเรียนถามพระท่าน เวลาลงมาแล้วจึงระลึกได้ก็มาเรียนถามท่าน ต่อไปถ้าไม่ลืม เวลาขึ้นไปอีก
จึงจะเรียนถามพระท่าน’แล้วแกจึงเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า ‘เมื่อ
คืนนี้ ใครกัน มองตรงไหนก็มีแต่หน้าเต็มไป
หมด?’
ท่านก็ตอบให้ด้วยความเมตตาว่า ‘อ๋อ!
นั่นมันท้าวมหาพรหม เขามานมัสการเรา’
ท่านอาจารย์ตอบปัญหายายกั้งมีความหมาย
เป็นสองนัย
นัยหนึ่งตอบตามความจริง นัยสองตอบ
เป็นเชิงแก้ความสงสัยของยายกั้งที่ถาม ต่อมา
ท่านห้ามไม่ให้แกออกรู้สิ่งภายนอกมากไป
เสียเวลาพิจารณาธรรมภายในซึ่งเป็นทางมรรค
ทางผลโดยตรง ยายกั้งก็ปฏิบัติตามท่าน…”
ความรู้ที่พิเศษอีกตอนหนึ่งก็คือที่คุณยาย
ทายใจหลวงปู่มั่นอย่างอาจหาญมาก และไม่กลัว
ว่าท่านจะดุจะว่าอะไรบ้างเลย คุณยายทายว่า
“จิตหลวงพ่อพ้นไปนานแล้ว ฉันทราบ
จิตหลวงพ่อมานานแล้ว จิตหลวงพ่อไม่มีใคร
เสมอ ทั้งในวัดนี้หรือที่อื่นๆ จิตหลวงพ่อประเสริฐ
เลิศโลกแล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปเพื่ออะไร?”
หลวงปู่มั่นจึงตอบทั้งหัวเราะ และเป็น
อุบายสอนคุณยายไปพร้อมว่า“ภาวนาไปจนวันตายไม่มีถอย ใครถอยผู้นั้น
มิใช่ศิษย์ตถาคต”
คุณยายเรียนท่านว่า “ถ้าไปได้ก็พอไป
แต่นี่จิตหลวงพ่อหมดทางไปทางมาแล้ว มีแต่
ความสว่างไสวและความประเสริฐเต็มดวงจิต
อยู่แล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปไหนอีกเล่า ฉันดู
จิตหลวงพ่อสว่างไสวครอบโลกไปหมดแล้ว
อะไรมาผ่านหลวงพ่อก็ทราบหมด ไม่มีอะไร
ปิดบังจิตหลวงพ่อได้เลย
แต่จิตฉันมันยังไม่ประเสริฐอย่างจิต
หลวงพ่อ จึงต้องออกมาเรียนถามเพื่อหลวงพ่อ
ได้ชี้แจงทางเดินให้ถึงความประเสริฐอย่าง
หลวงพ่อด้วยนี้”
ทุกครั้งที่คุณยายมา จะได้รับคำชี้แจง
จากหลวงปู่มั่นทางด้านจิตตภาวนาด้วยดี
ขณะเดียวกันพระเณรต่างองค์ต่างก็มาแอบอยู่
แถวบริเวณข้างๆ ศาลาฉัน ซึ่งเป็นที่ที่คุณยาย
สนทนากับท่าน เพื่อฟังปัญหาธรรมทางจิตตภาวนา
ซึ่งโดยมากเป็นปัญหาที่รู้เห็นขึ้นจากการภาวนา
ล้วนๆ เกี่ยวกับอริยสัจทางภายในบ้าง เกี่ยวกับ
พวกเทพพวกพรหมภายนอกบ้าง ทั้งภายใน
และภายนอก เมื่อคุณยายเล่าถวายจบลง
ถ้าท่านเห็นด้วยท่านก็ส่งเสริมเพื่อเป็นกำลังใจ
ในการพิจารณาธรรมส่วนนั้นให้มากยิ่งขึ้น
ถ้าตอนใดที่ท่านไม่เห็นด้วย ก็อธิบายวิธีแก้ไข
และสั่งสอนให้ละวิธีนั้น ไม่ให้ทำต่อไป
หลวงปู่มั่นเคยชมเชยคุณยายท่านนี้ให้
พระฟังว่า
“แกมีภูมิธรรมสูงที่น่าอนุโมทนา พวกพระเรา
มีหลายองค์ที่ไม่อาจรู้ได้เหมือนคุณยาย”
จากหนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์หน้า ๒๐๓ -๒๐๔