เรื่องของพระสารีบุตร ถามตอบปัญหาพราหมณ์ข้าราชการผู้กระทำการโกงกิน ทุจริตต่อแผ่นดิน และประชาชน
ในสมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ ท่านพระสารีบุตรได้เที่ยวจาริกไปในทักขิณาคีรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ที่กรุงราชคฤห์ได้ออกไปหาท่านพระสารีบุตร ที่ทักขิณาคีรีชนบท ท่านพระสารีบุตรจึงได้ถามถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ ทราบว่าเป็นสุขสบายดี จึงได้ถามถึงธนัญชานีพราหมณ์ที่อยู่ใกล้ประตูตัณฑุลปาละ ในกรุงราชคฤห์ พระอาคันตุกะรูปนั้นก็บอกว่า ธนัญชานีพราหมณ์สบายดี แต่ภรรยาของเขาซึ่งเป็นหญิงมีศรัทธาตายเสียแล้ว เขาได้ภรรยาใหม่เป็นหญิงไม่มีศรัทธา เขาอาศัยพระราชาเที่ยวปล้นพวกพราหมณ์และคหบดี อาศัยพวกพราหมณ์และคหบดีปล้นพระราชา
นั่นก็คือ เมื่อพระราชารับสั่งให้เขาไปเอาข้าวกล้าบางส่วนมาจากคนทั้งหลาย โดยไม่ให้เบียดเบียนคนเหล่านั้นให้เดือดร้อน แต่ธนัญชานีพราหมณ์ผู้เป็นดั่งข้าราชการทำงานให้พระราชากลับไปรีดนาทาเร้นเอาข้าวกล้ามาเสียทั้งหมด แม้คนเหล่านั้นจะอ้อนวอนขอร้องว่า ถ้าเอาข้าวกล้าไปหมด พวกเขาย่อมเดือดร้อนเพราะไม่มีข้าวกล้าจะทำนา แต่พราหมณ์ก็ไม่ฟัง อ้างว่าเป็นคำสั่งของพระราชา เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงกล่าวว่าธนัญชานีพราหมณ์อาศัยพระราชาปล้นพราหมณ์และคหบดี
ครั้นพราหมณ์ได้ข้าวกล้ามาทั้งหมดแล้ว แทนที่จะนำไปถวายพระราชาทั้งหมด กลับยักยอกเก็บไว้ที่บ้านของตนเป็นจำนวนมาก นำไปถวายพระราชาแต่น้อย
พระราชาตรัสถามว่า “ท่านไปเบียดเบียนพวกพราหมณ์หรือคหบดีหรือเปล่า”
พราหมณ์ก็ทูลว่า “ข้าพระองค์มิได้เบียดเบียนคนเหล่านั้น แต่ในขณะนี้ข้าวกล้ามีน้อย ข้าพระองค์จึงเอามาแต่น้อย”
เพราะเหตุที่พราหมณ์อ้างดังนี้ ภิกษุรูปนั้นจึงกล่าวว่า “ธนัญชานีอาศัยพราหมณ์และคหบดีปล้นพระราชา คือโกงพระราชา” ท่านพระสารีบุตรฟังคำเล่าเช่นนั้นแล้วก็กล่าวว่า “ธนัญชานีพราหมณ์เป็นผู้ประมาทเสียแล้ว เราควรจะไปหา คือไปเตือนธนัญชานีพราหมณ์” ด้วยเหตุนี้ เมื่อท่านพระสารีบุตรอยู่ที่ทักขิณาคีรีชนบทพอสมควรแล้วก็ได้กลับไปพักที่พระวิหารเวฬุวัน กรุงราชคฤห์
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์แล้ว กลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้วได้ไปหาธนัญชานีพราหมณ์ถึงที่อยู่ ในขณะที่เขากำลังให้คนรีดนมโคอยู่ เขาเห็นท่านพระสารีบุตรเดินมาแต่ไกล ก็ร้องนิมนต์ให้ดื่มน้ำนมสด แต่ท่านพระสารีบุตรปฏิเสธว่า อาตมาฉันเรียบร้อยมาแล้ว อาตมาจะไปพักที่โคนต้นไม้โน้น ท่านพึงตามเราไปที่นั่น
ธนัญชานีพราหมณ์จึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร นั่ง ณ ที่ควร
เมื่อท่านพระสารีบุตรถามว่า “ท่านยังเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่หรือ”
ธนัญชานีตอบว่า “ที่ไหนได้ท่านพระสารีบุตร ข้าพเจ้าเป็นผู้ประมาท เพราะต้องเลี้ยงดูมารดาบิดา บุตรภรรยา ข้าทาสบริวาร ต้องทำกิจการงานสำหรับมิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต ตลอดจนแขกผู้จรมา ทำบุญอุทิศให้บุพเปตชน บวงสรวงเทวดา ทำราชการให้หลวง แม้กายนี้ก็ต้องให้อิ่มหนำ ต้องให้เจริญ”
ท่านพระสารีบุตรฟังแล้วกล่าวว่า “ท่านเข้าใจว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะกรรมนั้น เขาจะขอร้องอ้อนวอนว่า เราประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา นายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเราไปลงนรกเลย หรือมารดาบิดาจะขอร้องนายนิรยบาลว่า บุตรของเราประพฤติไม่ชอบธรรม เพราะเหตุแห่งเราทั้งสอง ขอนายนิรยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปลงนรกเลย นายนิรยบาลจะฟังคำขอร้องของเขาหรือไม่”
ธนัญชานีพราหมณ์กล่าวว่า “แม้ผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมายประการใด นายนิรยบาลก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้”
จากนั้น ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไปทีละอย่างๆ ว่า “ถ้าหากว่า บุคคลนั้นประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรภรรยา ข้าทาสกรรมกรคนรับใช้ เพราะเหตุแห่งมิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต เพราะเหตุแห่งแขกผู้จรมา เพราะเหตุแห่งบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เพราะเหตุแห่งเทวดา เพราะเหตุแห่งราชการของพระราชา เพราะเหตุแห่งการบำรุงร่างกายของตนให้อิ่มหนำให้เจริญ บุคคลนั้นจะพึงขอร้องนายนิรยบาลไม่ให้ฉุดเขาลงนรกได้หรือไม่”
พราหมณ์ตอบว่า “ไม่ได้ แม้เขาจำคร่ำครวญอย่างไร นายนิรยบาลก็ต้องฉุดคร่าเขาลงนรกจนได้”
ท่านพระสารีบุตรฟังดังนั้นแล้ว จึงถามว่า “บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา กับประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรมอย่างไหนจะดีกว่ากัน ประเสริฐกว่ากัน”
ธนัญชานีพราหมณ์ก็ตอบว่า “ผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม ประพฤติผิดธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ไม่ประเสริฐเลย ส่วนผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรมเพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ประเสริฐกว่า”
ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า “การงานอย่างอื่นที่ชอบธรรม ซึ่งคนทั้งหลายอาจเลี้ยงดูมารดาบิดาได้ ไม่ต้องทำกรรมลามกเป็นบุญเป็นกุศลมีอยู่”
กรรมที่ชอบธรรมเป็นบุญเป็นกุศลนั้นก็คือ กรรมที่สุจริตทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓ รวมเป็น ๑๐ ซึ่งก็คือประพฤติแต่กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่นเอง คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น ไม่มีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ส่วนการเลี้ยงชีพที่ผิดศีลธรรมก็ได้แก่เลี้ยงชีพด้วยอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการอันตรงกันข้ามกับกุศลกรรมบถ ๑๐ ที่กล่าวแล้วมีการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น จนถึงมิจฉาทิฏฐิ การเลี้ยงชีพในทางที่ผิดนั้นเป็นเหตุให้ตกนรก
ก็กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้แหละที่ท่านพระสารีบุตรบอกพราหมณ์ว่า “เป็นกรรมที่ชอบธรรมควรประพฤติ คือควรกระทำเพื่อเลี้ยงดูมารดาบิดาเป็นต้น”
ธนัญชานีพราหมณ์ฟังแล้วก็ชื่นชมอนุโมทนา กราบลาท่านพระสารีบุตรแล้วกลับไป
ต่อมา ธนัญชานีพราหมณ์ป่วยเป็นไข้หนัก ได้สั่งบุรุษคนหนึ่งไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแทน แล้วสั่งให้ไปนิมนต์ท่านพระสารีบุตรมาที่บ้านด้วยว่าเขาป่วยหนัก ไม่สามารถจะไปหาท่านพระสารีบุตรเองได้
ท่านพระสารีบุตรก็ได้มาตามคำนิมนต์นั้น เมื่อมาถึงถามพราหมณ์ว่า “ยังพออดทนต่อทุกขเวทนาได้หรือไม่”
พราหมณ์ตอบว่า “ข้าแต่พระสารีบุตร ข้าพเจ้าทนไม่ไหว ทุกขเวทนากล้านัก ไม่ทุเลาลงเลย ชีวิตของข้าพเจ้าเห็นจะเป็นไปไม่ได้ ลมเสียดแทงศีรษะกล้านัก ดุจบุรุษมีกำลังเอาเหล็กแหลมคมกดศีรษะ เวทนาในศีรษะของข้าพเจ้าทุกข์เหลือทน เหมือนนายโคฆาตเอามีดสำหรับเชือดเนื้อโคมาเชือดท้องข้าพเจ้าฉะนั้น ในกายของข้าพเจ้าร้อนเหลือเกิน ดุจบุรุษมีกำลังมากสองคนช่วยกันจับบุรุษมีกำลังน้อยกว่าคนละแขน รมย่างไว้บนถ่านเพลิงฉะนั้น ข้าพเจ้าทนไม่ไหว ทุกขเวทนากล้านัก ทวีขึ้นไม่ลดลงเลย”
ท่านพระสารีบุตรถามว่า “นรกกับกำเนิดสัตว์เดรัจฉานไหนจะดีกว่ากัน”
พราหมณ์ตอบว่า “กำเนิดสัตว์เดรัจฉานดีกว่า”
ท่านพระสารีบุตรก็ถามต่อไปว่า “กำเนิดสัตว์เดรัจฉานกับปิตติวิสัยไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “ปิตติวิสัยดีกว่า” (ปิตติวิสัย คือ ภูมิเปรตผู้ถูกทรมานด้วยความหิวโหยอยู่เสมอ)
ท่านพระสารีบุตรถามต่อไปว่า “ปิตติวิสัยกับมนุษย์ไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “มนุษย์ดีกว่า”
ท่านพระสารีบุตรถามอีกว่า “มนุษย์กับเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาไหนจะดีกว่ากัน” พราหมณ์ตอบว่า “เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาดีกว่า”
ท่านพระสารีบุตรก็ถามว่า “เทวดาชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับจนถึงปรนิมมิตวสวดีว่า เทวดาชั้นปรนิมมิตรสวดีกับพรหมโลกไหนจะดีกว่ากัน”
พราหมณ์ย้อนถามว่า “ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่าพรหมโลกหรือ”
ท่านพระสารีบุตรได้ฟังพราหมณ์ถามเช่นนั้น ก็คิดว่าพราหมณ์นี้น้อมใจไปในพรหมโลก เพราะฉะนั้นเราจะแสดงทางไปพรหมโลกแก่เขา เมื่อท่านคิดดังนี้จึงบอกให้พราหมณ์ตั้งใจฟัง เราจะแสดงทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม ด้วยการแสดงการเจริญพรหมวิหารสี่คือ “เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา”
โดยแสดงว่า ภิกษุในธรรมวินัยมีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวา และตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกหมู่เหล่าเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั่วหน้า ในที่ทุกสถานด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์เป็นมหัคคตะ หาประมาณมิได้ (มหัคคตะ หรือ มหัคคตา หมายถึงสภาวะอันยิ่งใหญ่ของคนเราที่สามารถข่มกิเลสได้) ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้อนี้เป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม แล้วก็แสดงการเจริญกรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยทำนองเดียวกันว่า ล้วนเป็นทางเพื่อความเป็นสหายของพรหม
เมื่อท่านพระสารีบุตรแสดงทางไปพรหมโลกแก่ธนัญชานีพราหมณ์อย่างนี้แล้ว ธนัญชานีพราหมณ์ได้กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้าตามคำของข้าพเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานีพราหมณ์ป่วย ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก ขอถวายบังคมพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า”
ท่านพระสารีบุตรก็นำความนั้นมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าตามคำของพราหมณ์ และเมื่อธนัญชานีพราหมณ์ทำกาละแล้ว ก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกชั้นต่ำ
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่าสารีบุตรได้ประดิษฐานพราหมณ์ไว้ในพรหมโลกชั้นต่ำ ในเมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งไปกว่านี้ยังมีอยู่ นั่นคือการแสดงอริยสัจสี่ อันจะทำให้พราหมณ์ได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก แต่การไปสู่พรหมโลกทั้งที่ยังเป็นปุถุชนนั้น ยังจะต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดชดใช้กรรมอีก ไม่อาจล่วงทุกข์ทั้งปวงได้
ท่านพระสารีบุตรก็ทูลให้ทราบว่าที่ท่านมิได้แสดงอริยสัจสี่นั้น เป็นเพราะท่านเห็นว่าพวกพราหมณ์มักน้อมใจไปพรหมโลก จึงได้แสดงทางเพื่อไปพรหมโลก
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ธนัญชานีพราหมณ์ทำกาละไปเกิดในพรหมโลกแล้ว”
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป เมื่อท่านพระสารีบุตรจะแสดงธรรม แม้แต่คาถาเดียว ท่านก็มิได้แสดงธรรมที่นอกไปจากอริยสัจสี่ ทั้งนี้เพราะท่านมีปัญญามาก ฟังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนั้น ท่านก็เข้าใจและทำตาม
สรุปว่า การประพฤติชั่ว การประพฤติไม่ชอบธรรมเพื่อมารดาบิดาหรือบุตรภรรยาเป็นต้น เป็นเหตุนำไปนรก จึงไม่ควรกระทำ เพราะสัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม ใครทำกรรมชั่วก็ต้องรับผลชั่วโดยไม่มีข้ออ้างใดๆ เพราะถึงจะอ้าง นายนิรยบาลก็ไม่ยอม โดยเฉพาะข้าราชการ นักการเมือง อาศัยตัวบทกฎหมายประพฤติมิชอบ ทำการทุจริต โกงกิน กินบ้านกินเมืองเพียงเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ครอบครัว พวกพ้อง เมื่อกระทำกาละจากโลกนี้แล้ว หากแม้นจะได้รับความเมตตาจากพระสาวกอรหันต์มาโปรดให้ไปสวรรค์ หรือพรหมโลก แต่กรรมชั่วก็ไม่ได้มลายหายไป เมื่อสิ้นผลแห่งกรรมดีเมื่อไหร่ ก็ย่อมตกลงไปสู่อบายภูมิ มีทุคติเป็นที่ไปชดใช้กรรมอยู่
ที่มาอ้างอิงเรื่อง “ธนัญชานิสูตร” จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อ ๖๗๒