แสดงกระทู้
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 15
166  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระเมตตคูเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:19:12 PM
    ท่านพระเมตตคู เป็นบุตรของพราหมณ์ ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้วได้ไปมอบตัวเป็นศิษย์พราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยา ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีออกบวชเป็นชฏิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนเมืองอัสสกะ และเมืองอาฬกะต่อกัน เมตตคูมาณพออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย และนับเข้าในมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์ พาวรีได้ผูกปัญหาให้ไปทูลถามพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์แคว้นมคธ

     เมตตคูมาณพได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๔ ว่า
ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถาม ทราบมาว่า พระองค์ถึงที่สุดจบไตรเพท มีจิตอันอบรมดีแล้ว ทุกข์ในโลกหลายประการล้วนมีเหตุมาจากอะไร ?

     พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า เธอถามเราถึงเหตุเกิดแห่งทุกข์ เราตถาคตจะบอกให้แก่เธอตามที่รู้เห็น ทุกในโลกนี้มีอุปธิ คือ กรรม และกิเลสเป็นเหตุ ทุกข์ทั้งมวลล้วนเกิดมาจากอุปธิ ผู้ใดเป็นคนเขลาไม่รู้แล้วกระทำอุปธินั้นให้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมประสบทุกข์ บ่อย ๆ เหตุนั้นเมื่อรู้จักเหตุว่า อุปธิเป็นตัวให้เกิดเหตุแล้ว อย่ากระทำให้อุปธินั้นเกิดขึ้น

     เช้าวันรุ่งขึ้น เมตตคูมาณพ : ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามปัญหาข้อต่อไปว่า ทำอย่างไร ผู้มีปัญญาจึงจะข้ามพ้นห้วงทะเลใหญ่ คือ ชาติ ชรา และโสกปริเทวะได้ ขอพระองค์ทรงแก้ปัญหาข้อนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทราบธรรมนั้นแล้ว ?

     พระบรมศาสดา : เราตถาคตจักแสดงธรรมที่จะพึงเห็นแจ้งด้วยตนเอง อัตภาพ คือ ร่างกายนี้ ไม่ต้องไปพิศวงตามคำของคนอื่นที่พูดอย่างนั้น อย่างนี้ เมื่อได้ทราบแล้วจะเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามความอยากอันทำให้ติดอยู่ในโลกได้

     เมตตคูมาณพ : ข้าพระองค์ยินดีธรรมที่สูงสุดนั้นเป็นอย่างยิ่ง ?

     พระบรมศาสดา : เธอรู้อย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้องบน (คือ อนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คือ อดีต) ในส่วนท่ามกลาง (คือ ปัจจุบัน) จงบรรเทาความเพลิดเพลินความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณของเธอจะไม่ตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติไม่ประมาทเมื่อได้ทราบแล้ว ละความถือมั่นว่า "เป็นของเรา" เสียได้ เธอจะละทุกข์ คือ ชาติ ชรา และโสกปริเทวะในโลกนี้ได้

     เมตตคูมาณพ : ข้าพระพุทธเจ้า ชอบพระวาจาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ธรรมอันไม่มีอุปธิพระองค์แสดงชอบแล้ว พระองค์คงจะละทุกข์ได้แน่แล้ว แม้ท่านผู้รู้ที่พระองค์ทรงสั่งสอนอยู่เป็นประจำ คงจะละทุกข์นั้นได้ด้วยเป็นแน่ เหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้มาถวายบังคมพระองค์ ด้วยความตั้งใจจะให้ทรงสั่งสอนข้าพระพุทธเจ้าเป็นประจำเหมือนอย่างนั้นบ้าง ?

     พระบรมศาสดา : เธอรู้ว่าผู้ใดเป็นพราหมณ์ ถึงที่สุดจบไตรเพท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแลข้ามพ้นเหตุแห่งทุกข์ดุจห้วงทะเลใหญ่นี้ได้แน่แล้ว ครั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว ถึงที่สุดจบไตรเพทในศาสนานี้ ละธรรมที่เป็นเหตุติดข้องอยู่ในภพน้อยภพใหญ่เสียได้แล้ว เป็นคนมีความอยากสิ้นแล้ว ไม่มีกิเลสอันจะมากระทบจิต หาความทะเยอทะยานอยากมิได้ เราตถาคต กล่าวว่า ผู้นั้นแล ข้ามพ้นชาติชราได้แล้ว

     ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา เมตตคูมาณพก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล (ก่อนอุปสมบท) เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้วเมตตคูมาณพพร้อมด้วยเพื่อนมาณพอีก ๑๕ คนทูลขออุปสมบทกับพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้มาณเหล่านั้นเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านดำรง ชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

167  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระเมฆิยเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:18:09 PM
   ท่านพระเมฆิยะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เป็นบุตรใคร เกิดในตระกูลไหน เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเมื่อไร อยู่ในสำนักของใคร ที่ไหน ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอน เรื่องราวของท่านที่ปรากฏในปกรณ์นั้น ๆ ก็กล่าวถึงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทมาแล้วเท่านั้น ตามประวัตินั้น ปรากฏว่าท่านได้เคยเป็นผู้อุปัฏฐากพระบรมศาสดาด้วยองค์หนึ่ง ซึ่งมีปรากฏในเรื่องอุทานหน้า ๑๐๔ มีข้อความว่า ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพตในกรุงจาลิกามีท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐาก วันหนึ่งท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลลาพระองค์เข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม

     เมื่อได้รับพระบรมพุทธานุญาตแล้ว เวลารุ่งเช้าได้เข้าไปบิณฑบาตในบ้านนั้น เมื่อเวลากลับจากบิณฑบาตเนมาตามริมฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬาได้เห็นสวนมะม่วงมีอากาศร่มเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ใคร่จะกลับมาทำความเพียรที่สวนนั้น ครั้นกลับมาแล้วจึงเข้าไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาค พระองค์ตรัสห้ามว่า ดูกรเมฆิยะ เธอจงรอก่อน ดังนี้ ถึง ๓ ครั้ง ท่านพระเมฆิยะไม่เชื่อฟัง กราบทูลลาแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระองค์แล้วหลีกไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่สวนมะม่วงนั้น

     ในการบำเพ็ญเพียรของท่าน ก็หาได้สำเร็จมรรคผลตามความประสงค์ไม่ เพราะท่านถูกวิตก ๓ เข้าครอบงำ จึงกลับมาเฝ้ากราบทูลเนื้อความนั้นให้พระองค์ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสสอนวิธีระงับวิตก ๓ ประการนั้น โดยอเนกปริยาย ชั้นต้น ตรัสสอนให้ตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการ คือ
     ๑. เป็นผู้มีกัลยาณมิตร
     ๒. เป็นผู้มีศีลสำรวมในพระปาติโมกข์
     ๓. เป็นผู้พูดวาจาเป็นสุภาษิต (วาจาที่ขัดเกลา คือ พูด แล้วไม่นำมาซึ่งโทษมีแต่จะนำมาซึ่งประโยชน์โดยส่วนเดียว)
     ๔. เป็นผู้มีความเพียรความบากบั่น
     ๕. เป็นผู้มีปัญญา
และพระองค์ตรัสให้บำเพ็ญธรรมอีก ๔ ประการ คือ
อสุภะ เพื่อจะได้ละซึ่งราคะ ๑
เมตตา เพื่อจะได้ละพยาบาท ๑
อานาปานสติ เพื่อจะได้ตัดเสียซึ่งวิตก ๑
อนิจจสัญญา เพื่อจะได้ถอนอัสมิมานะเสียได้เด็ดขาด ๑

     ท่านพระเมฆิยะตั้งอยู่ในโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพียรพยายามบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ซึ่งนับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ในจำนวน ๘๐ องค์ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยกาลอันสมควรแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

168  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระมหาโสภิตเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:17:45 PM
    ท่านพระโสภิตะ ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ ในเมืองสาวัตถี มีนามว่า โสภิตมาณพ เมื่อเติบโตได้ไปศึกษาอักษรสมัยในลัทธิพราหมณ์อยู่มาวันหนึ่งได้ไปสู่สำนักพระบรมศาสดา สดับธรรมีกถา ที่พระองค์ทรงแสดง เกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย ครั้นได้อุปสมบทแล้วไม่ประมาท ทำความเพียรบำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐานไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เป็นพระมหาขีณาสพผู้ประเสริฐ และเป็นผู้มีปกติสั่งสมวสี* ๕ ประการ ชำนาญการเป็นพิเศษในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ หมายถึง ญาณเป็นเครื่องระลึกชาติได้ในอดีต

     เพราะอาศัยคุณข้อนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างระลึกซึ่งปุพเพสันนิวาส ท่านพระโสภิตเถระ ครั้นดำรงชนมายุอยู่โดยสมควรแก่กาล สมัยแล้วก็ได้ดับขันธปรินิพพาน.

*วสี : ความคล่องแแคล่ว,ความชำนาญมี ๕ อย่าง คือ
     ๑. อาวัชชนวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการนึก ตรวจองค์ฌานที่ตนได้ออกมาแล้ว
     ๒. สมาปัชชนวสี ความชำนาญคล่องแแคล่วในการที่เข้าฌานได้รวดเร็วทันที
     ๓. อธิษฐานวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการที่จะรักษาไว้มิให้ฌานจิตนั้นตกภวังค์
     ๔. วุฏฐานวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการจะออกจากฌานเมื่อใดก็ได้ตามต้องการ
     ๕. ปัจจเวกขณวสี ความชำนาญคล่องแคล่วในการพิจารณาทบทวนองค์ฌาน

169  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระมหาโมคคัลลานเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:17:20 PM


    ท่านมหาโมคคัลลานะ เป็นบุตรพราหมณ์ผู้เป็นนายบ้านชื่อว่า โกลิตะ มารดาชื่อนางโมคคัลลี แต่เดิมชื่อว่า โกลิตะ ตามโคตรแห่งบิดา และถูกเรียกชื่อเพราะ เป็นบุตรนางโมคคัลลีว่า โมคคัลลานะ พอเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว พวกภิกษุเรียกกันว่า พระโมคคัลลานะ ทั้งนั้นท่านเกิดใน โกลิตคามไม่ห่างจากเมืองราชคฤห์ สมัยเป็นเด็กได้เป็นสหายที่รักใคร่กันกับอุปติสสมาณพ ผู้มีอายุคราวเดียวกัน และตระกูลของทั้งสองนั้นมั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารเท่า ๆ กัน มีความคุ้นเคยสนิทสนมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อโกลิตมาณพเจริญวัยขึ้นก็ได้ำปศึกษาเล่าเรียนศิลปะด้วยกันกับอุปติสสมาณพ แม้จะไปเที่ยวหรือไปทำธุระอะไรก็มักจะไปด้วยกันอยู่เสมอ จนกระทั่งเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาก็บวชพร้อมกัน ต่างกันแต่ว่าได้ดวงตาเห็นธรรมครั้งแรกนั้นไม่พร้อมกัน เรื่องราวต่าง ๆ ก่อนอุปสมบทคล้าย ๆ กับพระสารีบุตรตามที่ได้บรรยายมาก่อนหน้านี้

หลังจากอุปสมบทแล้ว ๗ วัน ได้ไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงมคธ เกิดความอ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ทรงสั่งสอน และแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วง ๘ ประการ คือ
     ๑. โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไร ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ เธอควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มาก จะละความง่วงนั้นได้
     ๒. หากยังละไม่ได้ เธอควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้ฟังและได้เรียนมาแล้วด้วยใจของเธอเอง จะละความง่วงได้
     ๓. หากยังละไม่ได้ เธอควรสาธยายธรรมตามที่ตนได้ฟังและได้เรียนมาโดยพิสดาร จะละความง่วงได้
     ๔. หากยังละไม่ได้ เธอควรยอนหูทั้งสองข้างและลูบด้วยฝ่ามือ จะละความง่วงได้
     ๕. หากยังละไม่ได้ เธอควรลุกข้นยืน ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ จะละความง่วงได้
     ๖. หากยังละไม่ได้ เธอควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในใจ ให้เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีจิตใจแจ่มใสไม่มีอะไรห่อหุ้ม ทำจิตอันมรแสงสว่างให้เกิด จะละความง่วงได้
     ๗. หากยังละไม่ได้ เธอควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายว่าจะเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอก จะละความง่วงได้
     ๘. หากยังละไม่ได้ เธอควรสำเร็จสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ตั้งใจว่าจะลุกขึ้น พอเธอตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้น ด้วยการตั้งใจว่าจะไม่ประกอบสุขในการนอน จะไม่ประกอบสุขในการเอนหลัง จะไม่ประกอบสุขในการเคลิ้มหลับ

     ครั้นตรัสสอนอุบาย สำหรับระงับความง่วงอย่างนี้แล้ว ทรงสั่งสอนให้สำเหนียกอย่างนี้ว่า "เราจักไม่ชูงวง (คือการถือตัว) เข้าไปสู้ตระกูล จักไม่พูดคำที่เป็นเหตุให้คนเถียงกัน เข้าใจผิดต่อกัน และตรัสสอนให้ยินดีด้วยที่นั่งที่นอนอันเงียบสงัด และควรเป็นอยู่ตามลำพังสมณวิสัยไ เมื่อตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า "โดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วนเกษมจากโยคะธรรม เป็นพรหมจารีบุคคลยิ่งกว่าผู้อื่น มีที่สุดกว่าผู้อื่น ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายไ พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า "โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไดเสดับแล้วว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เธอทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันวิเศษ ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้ เธอได้ประสบเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี เธอพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วปัญญาเป็นเครื่องหน่าย เป็นเครื่องดับ เป็นเครื่องสละ คืนในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่น ถือมั่น สิ่งอะไร ๆ ในโลกไม่มีความสะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้ด้วยตนเอง และทราบชัดว่า ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะทำอย่างนี้อีกมิได้มี ว่าโดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แหละ ภิกษุได้ชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา" ท่านพระโมคคัลลานะได้ปฏิบัติตามโอวาท ที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น

     ครั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว พระโมคคัลลานะได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามที่พระองค์ทรงดำริให้สำเร็จเพราะท่านเป็นผู้มีฤทธิ์มาก จึงได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์" และทรงยกย่องว่าเป็นคู่พระอัครสาวก คู่กันกับพระสารีบุตรในการอุปการะภิกษุผู้เข้ามาบวชในพระธรรมวินัย ดังกล่าวในประวัติพระสารีบุตรว่า สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ยังบุตรให้เกิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบน ที่สูงกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้าย พระธรรมเทศนา ของพระโมคคัลลานะไม่ค่อยจะมีที่เป็นโอวาทให้แก่ภิกษุสงฆ์มีเพียงแต่อนุมานสูตร ซึ่งว่าด้วยธรรมินทำให้คนเป็นผู้ว่ายากหรือง่าย ในมัฌิมนิกายกล่าวว่า ท่านพระโมคคัลลานะเข้าใจในนวกรรมคือการก่อสร้าง เพราะฉนั้นเมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างบุพพาราม ในเมืองสาวัตถี พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านเป็นนวกัมมาธิฏฐายี คือผู้ควบคุมการก่อสร้าง

     ท่านพระโมคคัลลานะ ปรินิพพานก่อนพระบรมศาสดา มีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อท่านพำนักอยู่ ณ ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ พวกเดียรถีย์ปรึกษากันว่า บรรดาลาภสักการะ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่พระบรมศาสดาในครั้งนั้น ก็เพราะอาศัยพระโมคคัลลานะ เพราะสามารถนำข่าวในสวรรค์และนรกมาแจ้งแก่มนุษย์ ชักนำให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใส ถ้าพวกเรากำจัดพระโมคคัลลานะเสียได้แล้ว ลัทธิของพวกเราก็จะเจริญรุ่งเรืองขึ้น ลาภสักการะต่าง ๆ ก็จะมาหาพวกเราหมด เมื่อปรึกษากันดังนั้นแล้วจึงจ้างโจรผู้ร้ายให้ลอบฆ่าพระโมคคัลลานะ เมื่อโจรมาท่านพระโมคคัลลานะทราบเหตุนั้นจึงหนีไปเสียสองครั้ง ครั้งที่สามท่านพิจารณาเห็นว่ากรรมตามทันจึงไม่หนี พวกโจรผู้ร้ายจึงได้ทุบตีจนร่างกายแหลกเหลว ก็สำคัญว่าตายแล้ว จึงนำร่างท่าน ไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้แห่งหนึ่งแล้วพากันหนีไป ท่านพระโมคคัลลานะยังไม่มรณะ เยียวยาอัตภาพให้หายด้วยกำลังฌานแล้วเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา แล้วทูลลากลับปรินิพพาน ณ ที่เกิดเหตุ ในวันเดือนดับ เดือน ๑๒ หลังพระสารีบุตร ๑๕ วัน สมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จไปทำฌาปนกิจแล้วรับสั่งให้นำอัฐิธาตุ มาก่อเจดีย์บรรจุไว้ ณ ที่ใกล้ประตูวัดเวฬุวัน
170  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระมหาปันถกเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:16:24 PM
    ท่านพระมหาปันถก เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ปันถก เพราะเกิดในระหว่างทาง มีน้องชายชื่อ ปันถก เพราะเกิดในระหว่างทางเหมือนกัน ท่านเป็นพี่ชาย มีคำว่า มหา ข้างหน้า จึงเป็นมหาปันถก ผู้เป็นน้องชาย เติมคำว่า จูฬ ข้างหน้า จึงเป็นจูฬปันถก มีเรื่องเล่าว่า ในเมืองราชคฤห์ มีธิดาของเศรษฐีคนหนึ่ง เมื่อเจริญวัยเป็นสาวแล้ว บิดามารดาป้องกันรักษาอย่างเข้มงวด ให้อยู่บนปราสาทชั้นที่เจ็ด แต่ธิดานั้นเป็นคนโลเลมีนิสัยไม่แน่นอนในผู้ชาย จึงได้เสียกับคนรับใช้ของตน ต่อมากลัวคนอื่นจะรู้จึงชวนกันหนีออกจาก ปราสาทไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอื่นที่คนไม่รู้จักตน ภายหลังภรรยาตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์แก่ใกล้จะคลอดจึงตกลงกับสามีว่าจะไปคลอดที่บ้านเดิม ส่วนสามีกลัวบิดามารดาลงโทษ แต่ขัดภรรยาไม่ได้ จึงอาสาว่าจะพาไป แต่แกล้งทำเป็นผัดวันประกันพรุ่งว่า พรุ่งนี้ก่อนค่อยไป จนล่วงไปหลายวัน ภรรยาเห็นเช่นนั้นจึงรู้ถึงความประสงค์ของสามี อยู่มาวันหนึ่งเมื่อสามีออกไปทำงานนอกบ้านจึงสั่งคนผู้คุ้นเคยกันอยู่ในบ้านใกล้เคียงกัน ให้บอกเรื่องที่ตนไม่อยู่แก่สามีหนีออกจากเรือนเดินไปตามหนทาง พอถึงระหว่างทางก็คลอดบุตรเป็นชาย ส่วนสามีเมื่อกลับบ้านไม่เห็น ภรรยาสืบถามทราบว่าหนีกลับไปบ้านเดิมจึงออกติดตามไปทันในระหว่างทาง แล้วพากันกลับมาอยู่ที่บ้านนั้นอีก และได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า ปันถก กาลต่อมาก็คลอดบุตรโดยทำนองนั้นอีก จึงตั้งชื่อว่า จูฬปันถก เพราะเกิดทีหลัง ตั้งชื่อบุตรคนแรกว่า มหาปันถก เพราะเกิดก่อน เมื่อมหาปันถกเติบโตแล้ว ไปเล่นกับเด็กเพื่อนบ้านด้วยกันได้ยินเด็กพวกนั้นเรียก ปู่ ย่า ตา ยาย ส่วนตนไม่มีคนเช่นนั้นจะเรียก จึงไปถามมารดาว่า แม่ครับ เด็ก ๆ พวกอื่นเรียกคนสูงอายุว่า ตาบ้าง ยายบ้าง ก็ญาติของเราในที่นี้ไม่มีบ้างหรือ ? มารดาของท่านตอบว่า ลูกเอ๋ย ญาติของเจ้าในที่นี้ไม่มีหรอก แต่ตาของลูกชื่อว่า ธนเศรษฐี อยู่ในเมืองราชคฤห์ ในที่นั้นญาติของเรามีมากมาย ท่านจึงถามต่อไปว่า ก็แล้วทำไมแม่ไม่ไปอยู่ในเมืองราชคฤห์นั้น ฝ่ายมารดาไม่บอกความจริงแก่ลูก ลูกจึงรบเร้า ถามอยู่บ่อย ๆ จนเกิดความรำคาญ ปรึกษากับสามีว่า พวกลูกของเรารบเร้าเหลือเกิน ขึ้นชื่อว่าบิดามารดาเห็นลูกแล้ว จะฆ่าจะแกงเชียวหรือ อย่ากระนั้นเลย เราจะพาลูกทั้งสองไปเมืองราชคฤห์ เมื่อถึงแล้วพักอาศัยที่ศาลาหนังหนึ่งใกล้ประตูเมือง ให้คนไปบอกธนเศรษฐีผู้เป็นบิดา พอบิดารู้ว่าลูกสาวพาหลายชายสองคนมาเยี่ยม ธนเศรษฐีมี ความแค้นยังไม่หายจึงบอกกับคนที่มาส่งข่าวว่า สองผัวเมียอย่ามาให้ฉันเห็นหน้าเลย ถ้าต้องการอะไรก็จงถือเอาไปเลี้ยงชีวิตเถิด แต่จงส่งหลายทั้งสองมาให้ฉัน ฉันจะเลี้ยงดูเอง สองสามีภรรยาก็ถือเอาทรัพย์พอแก่ความต้องการแล้วก็กลับไปอยู่ที่เดิมส่วนเด็กทั้งสองก็อยู่ที่บ้านของธนเศรษฐีผู้เป็นตาจนเจริญวัยขึ้น มหาปันถก เมื่อเจริญวัยได้ไปฟังเทศน์กับตาในสำนักของพระศาสดา ที่พระเวฬุวันมหาวิหารเป็นประจำ ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดศรัทธา เลื่อมใคร่จะบวชจึงบอกตา ตาก็อนุญาติให้บวช พระศาสดาจึงตรัสรับสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้จัดการบรรพชาเป็นสามเณร เมื่ออาจุครบ ๒๐ ปีแล้ว ก็อุปสมบทเป็นภิกษุ เล่าเรียนพระพุทธวจนะได้มาก เป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนา กรรมฐานไม่นานก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์.

     เมื่อท่านพระมหาปันถกสำเร็จกิจแห่งพรหมจรรย์แล้ว จึงคิดว่า สมควรจะรับภารธุระสงฆ์ จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา กราบทูลอาสาจะรับหน้าที่เป็นภัตตุเทศก์* พระองค์ก็ทรงอนุมัติแล้ว ประทานตำแหน่งนั้นให้แก่ท่าน ท่านได้ทำงานในหน้าที่นั้นเรียบร้อยเป็นอย่างดี อนึ่ง ท่านพระมหาปันถกนั้นเป็นผู้อันพระศาสดาทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เจริญภาวนา เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน.

*ภัตตุเทศก์ เจ้าหน้าที่จัดแจงภัต

171  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระมหาปรันตปเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:15:55 PM
   ท่านพระมหาปรันตปะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาในสำนักของใคร ณ ที่ไหน เมื่อบวชแล้วได้ทำอะไรบ้าง ยังไม่พบที่มาแห่งประวัติของท่านเลย แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งมีชื่อคล้ายคลึงกันกับท่าน คือ พระเจ้าปรันตปะ ผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอุเทนในพระนครโกสัมพี ซึ่งมาในอรรถกถาธรรมบทภาค ๒ เรื่องพระนางสามาวดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา จะเข้าใจว่าท่านพระมหาปรันตปะนั้นได้แก่พระเจ้าปรันตปะก็คงจะเป็นไปไม่ได้เลย

     เพราะฉะนั้น ในเรื่องของพระมหาปรันตปะนี้ ขอให้เข้าใจไว้เพียงว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตตผล เป็นพระอเสขบุคคล นับเนื่องในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง เมื่อท่านดำรงอายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน


172  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระมหามามเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:15:27 PM
    พระมหามามเถระ เกิดในสกุลพราหมณ์ กรุงกบิลพัสดุ์ พราหมณ์ผู้เป็นบิดาเล่าให้ฟังว่า พระมหาบุรุษมีลักษณะถูกต้องตาม ตำรา ลักษณพยากรณ์ ศาสตร์ เพราะเคยเห็นพระองค์ในครั้งที่ได้รับเชิญเลี้ยงโภชนาหารในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะ จึงเกิดความ เลื่อม ใสจึงพร้อมด้วยพราหมณ์อีก ๔ คน มีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ออกเป็นฤาษีตามเสด็จคอยอุปัฏฐากพระองค์ ต่อมาเห็นพระองค์ ทรงเลิก การบำเพ็ญทุกกรกิริยาด้วยคิดว่าพระองค์จะไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษจึงเกิดความเบื่อหน่าย พากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิ ปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ครั้นพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปตรัสเทศนาชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร และ ปกิณณกเทศนาครบวาระที่สาม ในเวลาจบเทศนาจึงได้ดวงตาเห็นธรรม

     ท่านได้รับ การบรรพชาอุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่อมาได้รับฟังพระธรรมเทศนาชื่อว่า อานัตตลักขณสูตร จึงได้สำเร็จ เป็นพระอรหันต์ เมื่อพระองค์ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา ในตอนปฐมโพธิกาล ท่านเป็นองค์หนึ่งที่อยู่ในจำนวนนั้นที่ช่วย เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ สั่งสอนกุลบุตรให้เกิดความเชื่อและความเสื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านดำรงอายุสังขารอยู่พอสมควร ก็ดับขันธปรินิพพาน


173  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระมหาโกฏฐิตเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:15:00 PM
    พระมหาโกฏฐิตะ เป็นบุตรของอัสสลายนมหาพราหมณ์กับนางจันทวดีพราหมณี ในนครสาวัตถี ซึ่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เมื่อเจริญเติบโตแล้ว ได้ศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพท

     สมัยหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวประกาศพระศาสนาตามชนบทต่าง ๆ ได้ทรงทรมานอัสสลายนมหาพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของท่านให้ละทิฏฐิมานะ ยอมตนเป็นอุบาสกแล้ว โกฏฐิตมาณพผู้เป็นบุตรเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา วันหนึ่ง ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยจึงได้ออกบวชในพระพุทธศาสนา มีท่านพระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาโมคคัลลานะเป็นพระอาจารย์ ตามประวัติท่านกล่าวว่า เมื่อเวลาปลงผมท่านได้พิจารณาในวิปัสสนากรรมฐาน พอผลัดผ้าสาฎกสำหรับนุ่งห่มของคฤหัสถ์ออกก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิชชา ๘ และวิโมกข์ ๓

     พระมหาโกฏฐิตะนั้น เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ไม่ว่าจะเข้าไปหาพระเถระผู้ใหญ่ก็ดี เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาก็ดี มักถามปัญหาในปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ เป็นประจำ ต่อมาพระบรมศาสดาทรงทำมหาเวทัลลสูตรให้เป็นต้นเหตุแล้วทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ทั้ง ๔ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน


174  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระมหากัสสปะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:14:28 PM
   ท่านพระมหากัสสปะ เป็นบุตรกปิลพราหมณ์ กัสสปโคตร ในบ้านมหาติฏฐะ จังหวัดมคธรัฐ มีชื่อว่า ปิปผลิ เรียกตามโคตรว่ากัสสปะ พออายุครบ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวาหมงคล (แต่งงาน) กับนางภัททกาปิลานี อายุ ๑๖ ปี เป็นบุตรีพราหมณ์โกสิยโคตร เมืองสาคละ จังหวัด มคธรัฐ พราหมณ์ผู้เป็นบิดา พร้อมกับนางพราหมณีผู้มารดา ก็ปรึกษากันหาภรรยาให้แก่บุตรของตน จึงมอบสิ่งของมีเงินและทอง เป็นต้นให้แก่พราหมณ์ ๘ คน แล้วส่งไปเพื่อให้แสวงหาหญิงที่มีลักษณะดีงาม มีฐานะเสมอกันกับสกุลของตน พราหมณ์ทั้งแปดคน รับสิ่งของทองหมั้นแล้วก็เที่ยวแสวงหาไปจนกระทั่งถึงเมืองสาคละ

     ในพระนครนั้น มีธิดาของพราหมณ์โกสิยโคตรคนหนึ่ง ชื่อว่า ภัททกาปิลานี อายุ ๑๖ ปี รูปร่างสะสวยงดงามสมกับเป็นผู้มีบุญ พราหมณ์เหล่านั้นครั้นได้เห็นแล้ว จึงเข้าไปสู่ขอกับบิดามารดาของนาง เมื่อตกลงกันแล้วจึงมอบสิ่งของทองหมั้น กำหนดวันอาวาหมงคล และส่งข่าวให้กปิลพราหมณ์ได้ทราบ ส่วนปิปผลิมาณพเมื่อได้ทราบดังนั้น ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะแต่งงานเลย จึงเข้าไปในห้องเขียน จดหมายบอกความประสงค์ของตนให้นางทราบ "นางผู้เจริญ จงได้สามีที่มีชาติและโคตร โภคสมบัติเสมอกับนาง อยู่ครอบครองเรือน เป็นสุขเถิด ฉันจักออกบวช ต่อไปภายหลังนางจะได้ไม่ต้อง้ดือดร้อน" ครั้นเขียนเสร็จแล้ว มอบให้คนใช้นำไปส่ง แม้นางภัททกาปิลานี ก็มีความประสงค์เช่นเดียวกัน จึงได้เขียนจดหมายเช่นนั้นให้คนใช้นำมา คนถือจดหมายทั้งสอง มาพบกันระหว่างทาง ต่างไต่ถามความ ประสงค์ของกันและกันแล้วจึงฉีกจดหมายออกอ่าน แล้วทิ้งจดหมายฉบับนั้นเสียในป่า เขียนจดหมายมีเนื้อความ แสดงความรักซึ่งกัน และกันขึ้นมาใหม่แล้วนำไปให้คนทั้งสอง

     ครั้นกาลต่อมา การอาวาหมงคลเป็นการสำเร็จเรียบร้อย โดยคนทั้งสองไม่ได้มีความประสงค์ สักแต่ว่าอยู่ร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้ถูก ต้องกันเลย แม้จะขึ้นสู่เตียงนอนก็ไม่ได้ขึ้นทางเดียวกัน ปิปผลิมาณพขึ้นข้างขวา นางภัททกาปิลานีขึ้นข้างซ้าย เมื่อเวลานอนตั้งพวง ดอกไม้สองพวงไว้กลางที่นอน เพราะกลัวร่างกายจะถูกต้องกัน ถึงกลางวันก็ไม่ได้มีการหัวเราะยิ้มหัวต่อกันเลย เพราะฉะนั้นจึง ไม่มีบุตรหรือธิดาด้วยกัน สกุงของสามีภรรยาคู่นี้มั่มีมาก มีการงานเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์มาก มีคนงานและพาหนะสำหรับใช้งานก็มาก ครั้นต่อมาบิดามารดาเสียชีวิต ปิปผลิมาณพได้ครองสมบัติ ดูแลการงาน สืบทอดจากบิดามารดา สามีและภรรยาต่างก็มีความเห็นร่วม กันว่า ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาปเพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี จึงมีใจเบื่อหน่าย พร้อมใจกันจะออกบวช ได้แสวงหาผ้ากาสายะ ถือเพศเป็นบรรพชิต ออกบวชมุ่งหมายเป็นพระอรหันต์ในโลก สะพายบาตรลงจากปราสาทหลีกหนีไป ปิปผลิเดินหน้า นางภัททกาปิลานี เดินหลัง พอถึงทางแยกแห่งหนึ่งจึงแยกจากกัน ปิปผลิเดินไปทางขวา ส่วนนางภัททกาปิลานีเดินไปทางซ้าย จนบรรลุถึงสำนักของ นางภิกษุณี ภายหลังได้บวชเป็นนางภิกษุณี และได้บรรลุพระอรหัตตผล ส่วนปิปผลิเดินทางไปพบสมเด็จพระบรมศาสดา ซึ่งประทับ อยู่ที่ใต้ร่มไทร ซึ่งเรียกว่า พหุปุตตนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทาต่อกัน มีความเลื่อมใสเปล่งวาจาประกาศว่า พระศาสดาเป็นครูของตน ตนเป็นสาวกของพระศาสดา

พระศาสดา ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ด้วยการประทานโอวาท ๓ ข้อว่า
     ๑. กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงใจไว้ในภิกษุที่เป็นผู้เฒ่าและปานกลางอย่างดีที่สุด
     ๒. เราจักฟังธรรมซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักตั้งใจฟังธรรมนั้นแล้วพิจารณาเนื้อความ
     ๓. เราจักไม่ละสติ ที่เป็นไปในกาย คือพิจารณาเอาร่างกายเป็นอารมณ์


     ครั้นประทานโอวาท แก่พระมหากัสสปะอย่างนี้แล้วเสด็จหลีกหนีไป ท่านพระกัสสปะได้ฟังพุทธโอวาทแล้ว ก็เริ่มบำเพ็ญเพียร ในวันที่ ๘ นับจากวันที่อุปสมบทมา ก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล ตามปกติท่านพระมหากัสสปะนั้นถือธุดงค์ ๓ ข้อ คือ ถือทรงผ้าบังสุกุล จีวรเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และถืออยู่ป่าเป็นวัตร ด้วยเหตุนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงธุดงค์" อานิสงส์แห่งการถือธุดงค์ของท่านมีปรากฏดังนี้ คืทอ สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน ทรงรับสั่ง ให้ท่านเลิกการธุดงค์ ท่านไม่ยอมเลิก แล้วแสดงคุณแห่งการถือธุดงค์ ๒ ประการ คือ
     ๑. เป็นการอยู่เป็นสุขในบัดนี้
     ๒. เพื่ออนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลัง จักได้ถือเป็นทิฏฐานุคติ คือ ปฏิบัติตาม

     พระบรมศาสดา ก็ประทานสาธุการว่า ดีละ ดีละ เธอปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนส่วนมาก เธอจงทรงผ้าบังสุกุลจีวร เธอจงเที่ยว บิณฑบาต เธอจงอยู่ในป่าเถิด ทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้มักน้อนสันโดษ ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า พระมกากัสสปะ นอกจากนี้ท่านยัง มีคุณความดีมีพระบรมศาสดาทรงยกย่องหลายสถาน เช่น
     ๑. ทรงรับผ้าสังฆาฏิของท่านไปทรง (ห่ม) ประทานผ้าสังฆาฎิของพระองค์ให้แก่ท่าน ตรัสว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วย พระองค์ และทรงสรรเสริญว่า เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเป็นตัวอย่าง
     ๒. กัสสปะเข้าไปในตระกูล ชักกายและใจห่าง ประพฤติตนเหมือนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคย ไม่คะนองกาย วาจา ใจในตระกูล เป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในตระกูลเหล่านั้น เพิกเฉยแล้วตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญก็จงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีใจฉันใด ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น
     ๓. กัสสปะมีจิตประกอบไปด้วยเมตตากรุณา ในเวลาแสดงธรรมแก่ผู้อื่น
     ๔. ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติชอบ โดยยกเอาท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง

     ท่านพระมหากัสสปะ นั้นดีแต่ในการปฏิบัติ หาพอใจในการสั่งสอนภิกษุสหธรรมิกไม่ ธรรมเทศนาอันเป็นอนุสาสนีของท่านจึงไม่มี คงมีแต่ธรรมภาษิตเนื่องมาจากธัมมสากัจฉา (การสนทนากันในเรื่องธรรมะ) กับเพื่อนสาวกบ้าง กล่าวทบทวนพระพุทธดำรัสบ้าง ในขณะพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ ดูท่านจะไม่เด่นนัก เป็นเพียงพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่งเท่านั้น มาปรากฏเป็นพระสาวก สำคัญเมื่อพระบรมศาสดาทรงปรินิพพานแล้ว คือ ในเวลานั้นท่านเป็นพระสังฆเถระ พอถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วได้ ๗ วัน ท่านประชุมสงฆ์เล่าถึงการที่ภิกษุชื่อว่า สุภัททะ ผู้บวชเมื่อแก่ กล่าวคำมิดีมิชอบต่อพระธรรมวินัยในคราวเมื่อเดินทางจากปาวานคร ปรึกษาหารือในทางที่จะทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยตั้งไว้เป็นแบบฉบับ พระสงฆ์ก็ยินยอมเห็นพร้อมด้วย ท่านจึงเลือกภิกษุผู้ทำสังคายนาได้ ๕๐๐ องค์

     การทำสังคายนาในครั้งนั้น ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้พระอุบาลี และพระอานนท์เป็นกำลังสำคัญในการวิสัชนาพระวินัย พระธรรม (พระสูตร และพระอภิธรรม) ตามลำดับ ได้พระเจ้าอชาตศัตร ูเป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่ ๘ เดือนจึงสำเร็จ เรียกว่า ปฐมสังคายนา เมื่อท่านทำสังคายนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้อยู่ที่พระเวฬุวนาราม ในกรุวราชคฤห์ ไม่ประมาท ปฏิบัติธรรมเป็นนิตย์ ดำรงชนมายุสังขาร ประมาณได้ ๑๒๐ ปี ท่านก็ปรินิพพาน ณ ระหว่างกลาง กุกกุฏสัมปาตบรรพตทั้ง ๓ ลูก ในกรุงราชคฤห์

175  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระมหากัปปินะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:13:55 PM
    ท่านพระมหากัปปินะ เป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ ในเมืองกุกุฏวดี เมื่อพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ได้เสวยราชย์สืบราชสันตติวงศ์สืบต่อมา มีพระอัครมเหสีพระนามว่า อโนชาเทวี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ในเมืองสาคละ แคว้นมัททรัฐ พระเจ้ามหากัปปินะนั้น ทรงมีม้าเป็นราชพาหนะถึง ๕ ตัว คือ ๑. ม้า ชื่อว่าพละ ๒. ชื่อว่า พลวาหนะ ๓. ชื่อว่า ปุปผะ ๔. ชื่อว่า ปุปผวาหนะ ๕. ชื่อว่า สุปัตตะ เมื่อทรงม้าตัวใด ม้าที่ยังเหลือ อีก ๔ ตัว ก็จะพระราชทานแก่พวกอำมาตย์ เพื่อให้ไปสืบหาข่าว

     อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์ทรงม้า ชื่อว่า สุปัตตะ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และเหล่าอำมาตย์ข้าราชบริพาร ได้เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงพบกับพวกพ่อค้าประมาณ ๕๐๐ คน ซึ่งเดินทางมาจากเมืองสาวัตถี ตรัสถามทราบว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลกพระองค์ทรงมีความปีติโสมนัสบังเกิดศรัทธาแก่กล้าถึงขนาด ทรงลืมพระองค์ไป ได้พระราชทานรางวัลให้พวกพ่อค้าเหล่านั้นประมาณสามแสน ให้ไปรับเอากับพระอัครมเหสี และพระองค์ได้ทรงพระอักษร (เขียนหนังสือ) มอบราชสมบัติให้แก่พระอัครมเหสีฝากไว้ด้วยแล้วพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และอำมาตย์ราชบริพารประมาณหนึ่งพันเด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา ในระหว่างทางเสด็จไปนั้น ได้ทรงพบแม่น้ำ ๓ สาย คือ แม่น้ำชื่อ อารวปัจฉา ๑ แม่น้ำชื่อนีลวาหนา ๑ แม่น้ำชื่อ จันทภาคา ๑ ตามลำดับ ในแม่น้ำเหล่านั้น ไม่มีเรือแพสำหรับให้ข้ามไป ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเจ้ามหากัปปินะพบแม่น้ำสายที่ ๑ ได้ทรงระลึกถึงพระพุทธคุณ พบแม่น้ำสายที่ ๒ ได้ทรงระลึกถึงพระธรรมคุณ พบแม่น้ำสายที่ ๓ ได้ทรงระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย แม่น้ำเหล่านั้นกลับกลายเป็นน้ำแข็ง ม้าเดินข้ามไปได้โดยสะดวก ส่วนพระบรมศาสดา ทรงทราบว่า พระเจ้ามหากัปปินะทรงสละราชสมบัติ พร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จมา มีพระราชประสงค์จะออกบรรพชาอุปสมบทมุ่งเฉพาะพระองค์ (พระบรมศาสดา) จึงได้เสด็จออกไปรับระยะทางประมาณ ๑๒๐ โยชน์ ประทับอยู่ใต้ร่มไทร ใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ทรงเปล่งรัศมีให้ปรากฏ พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จถึงที่นั้นแล้ว เสด็จลงจากหลังม้าพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปเฝ้าตามแสงสว่างแห่งรัศมี ถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้วประทับนั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา ในที่สุดแห่งเทศนา พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยข้าราชบริพารได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุด้วย เอหิภิกขุอุปสัมปทา

     ฝ่ายนางอโนชาเทวี ผู้เป็นอัครมเหสี ได้ทรงทราบเนื้อความในพระราชสาส์นจากพ่อค้า ก็ทรงบังเกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ประทานรางวัลให้พวกพ่อค้าอีกประมาณ ๙ แสน รวมเป็น ๑๒ แสน (หนึ่งล้านสองแสน) ได้ทรงสละราชสมบัติ พร้อมด้วยข้าราชบริพาร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาดุจในหนหลัง พระองค์ก็ทรงแสดงอนุปุพพิกถา ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาพระนางอโนชาเทวีพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบท ต่อมาได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของนางภิกษุณี ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมกับบริวารทั้งหลาย ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะพร้อมทั้งบริวาร ได้สดับพระธรรมเทศนา ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระราชเทวีนั้น ครั้นส่งจิตไปตามแนวพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

     พระบรมศาสดาทรงพาภิกษุพันรูปนั้นเสด็จกลับพระเชตวัน ท่านพระมหากัปปินะ ครั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เที่ยวเปล่งอุทานอยู่บ่อย ๆ ว่า อโห สุขํ อโห สุขํ แปลว่า สุขหนอ สุขหนอ ภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วพากกันสำคัญว่า ท่านเปล่งอุทาน เช่นนั้น เพราะปรารภความสุขในราชสมบัติของตน จึงกราบทูลความนั้นแด่พระบรมศาสดา พระองค์ทรงรับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า ตรัสถามทราบความจริงแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหากัปปินะบุตรเรา มิได้เปล่งอุทานปรารภสุขในกาม หรือสุขในราชสมบัติ เธอเกิดปีติในธรรม จึงเปล่งอุทานปรารภอมตมหานิพพาน ส่วนท่านพระมหากัปปินะเพียรพยายามเจริญสมณธรรมบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ต่อไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล คราวแรก ๆ ท่านไม่กล้าสั่งสอนใคร เพระยังไม่ได้รับพระบรมพุทธานุญาต ต่อมาภายหลัง ท่านได้รับพระบรมพุทธานุญาตแล้ว จึงได้เป็นผู้สั่งสอนบริวารพันรูปของท่านให้สำเร็จพระอรหัตตผล

     พระบรมศาสดา ทรงปรารภความสามารถของท่านในเรื่องนี้ขึ้นเป็นต้นเหตุจึงได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างให้โอวาทแก่ภิกษุบริษัท ท่านพระมหกัปปินะนั้น ดำรงชนมายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ได้ดับขันธปรินิพพาน

176  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระมหากัจจายนะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:13:15 PM
    ท่านพระมหากัจจายนะ เป็นบุตรของพราหมณ์ ชื่อว่า กัญจนะ กัจจานโคตร หรือกัจจายนโคตร ปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้วเรียนจบไตรเพท เมื่อบิดาเสียชีวิตแล้ว ได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา

     ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จเที่ยวสั่งสอนประชาชนอยู่ ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้น เป็นธรรมที่แท้จริง ยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม มีพระประสงค์จะทูลเชิญสมเด็จพระบรมศาสดาไปประกาศพระศาสนา ยังกรุงอุชเชนี จึงตรัสสั่งกัจจายนปุโรหิตซึ่งเป็นผู้มีความรู้เรียนจบไตรเพทไปทูลเชิญเสด็จ กัจจายนปุโรหิตทูลลาจะบวชด้วย ครั้นได้รับ พระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกจากกรุงอุชเชนีพร้อมด้วยบริวารทั้ง ๗ คน ครั้นมาถึงที่ประทับพระบรมศาสดาแล้ว พากันเข้าไปเฝ้า พระพุทธองค์ ตรัสเทศนาสั่งสอน ในเวลาจบเทศนาทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมกัน แล้วจึงทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ครั้นได้อุปสมบทแล้วจึงทูลเชิญอาราธนาพระบรมศาสดาเสด็จไปยังกรุงอุชเชนี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระบรมศาสดา ทรงรับสั่งว่าเธอไปเองเถิด เมื่อเธอไปแล้วพระเจ้าจัณฑปัชโชตจักทรงเลื่อมใส ท่านพระมหากัจจายนะพร้อมด้วยบริวารทั้งเจ็ดองค์กราบถวายบังคมลา สมเด็จพระบรมศาสดากลับไปสู่กรุงอุชเชนี ประกาศพระพุทธศฤาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวพระนครเลื่อมใสแล้วจึงกลับมาสู่สำนักของพระบรมศาสดา

     ท่านพระมหากัจจายนะ เป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำย่อให้พิสดาร เช่นในครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อมีใจความว่า "ผู้มีปัญญาไม่ควรตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรจะมุ่งหมายสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะว่าสิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละเสียแล้ว สิ่งใดยังมาไม่ถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่ได้ไม่ถึง ผู้ใดเห็นแจ้งธรรมที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้าในที่นั้น ๆ ในกาลนั้น ๆ ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ครั้รู้ธรรมนั้นแล้ว พึงให้ธรรมนั้นเจริญเนือง ๆ ความเพียรควรทำเสียในวันนี้แล ใครเล่าจะพึงรู้ว่าความตายจักมีต่อพรุ่งนี้ เพราะว่าความผิดเพี้ยนต่อมัจจุราชที่มีเสนาใหญ่ไม่มีเลย ผู้รู้ที่เป็นคนสงบระงับ ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาท อย่างนี้ชื่อว่าผู้มีราตรีเดียวเจริญ" ครั้นตรัสอย่างนี้แล้วเสด็จลุกเข้าสู่วิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายไม่ได้โอกาสที่จะทูลถามเนื้อความที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้เข้าใจกว้างขวาง เห็นความสามารถของท่านพระมหากัจจายนะจึงได้อาราธนาขอให้ท่านอธฤบายให้ฟัง ท่านก็อธิบายให้ฟังโดยพิสดารว่า "ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อ ตามความพิสดารว่า เมื่อบุคคลคิดว่าในกาลล่วงแล้ว ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับสิ่งที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย ใจกับอารมณ์ที่เกิดกับใจของเรามีแล้วอย่างนั้น ความกำหนัดพอใจในสิ่งเหล่านั้นก็ผูกพันวิญญาณ เพราะวิญญาณอันความกำหนัดพอใจผูกพันแล้ว ผู้นั้นก็เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่ตามคิดถึงเรื่องที่ล่วงแล้ว บุคคลตั้งจิตไว้เพื่อหมายจะได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วว่า ในกาลไกลข้างหน้า นัยน์ตากับรูป เป็นต้น ของเราจักเป็นอย่างนี้ เพราะความตั้งจิตอย่างนั้นเป็นปัจจัยผู้นั้นก็เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ที่เพลิดเพลินในสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่ามุ่งหมายสิ่งที่ยังมาไม่ถึง บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะหมายได้สิ่งที่ตนยังไม่ได้แล้วอย่างนั้น ก็ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ ผู้ไม่เพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่มุ่งหมายสิ่งที่ยังมาไม่ถึงแล้ว นัยน์ตากับรูปอย่างละ ๒ อันใดเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถ้าว่าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ผูกพันวิญญาณได้แล้ว บุคคลก็เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ๆ ผู้เพลิดเพลินกับสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถ้าความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้น ๆ ไม่ผูกพันวิญญาณได้ บุคคลก็ไมาเพลิดเพลินสิ่งนั้น ๆ อย่างนี้ชื่อว่าไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ท่านผู้มีอายุเราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อตามความพิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ก็จงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลถามเนื้อความนั้นเถิด พระองค์ทรงเล่าอย่างไร ก็จงจำไว้อย่างนั้นเถิด" ภิกษุเหล่านั้นลาท่านพระมหากัจจายนะกลับมา แล้วเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญพระมหากัจจายนะว่า" ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเฮถามเนื้อความนั้นกับเรา แม้เราก็คงแก้เหมือนอย่างที่กัจจายนะแก้แล้วอย่างนั้น เนื่อความแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่อนั้นเป็นอย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงจำไว้เถิดไ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายเนื้อความโดยย่อให้พิสดาร"

     ท่านพระมหากัจจายนะ ได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติบางข้อซึ่งขัดต่อภูมิประเทศ เช่นเมื่อท่านพำนักอยู่ ณ ภูเขาชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท อุบาสกผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านคนหนึ่ง ชื่อว่า โสณกุฏิกัณณะมีความประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัย แต่ก็ได้เพียงบรรพชา (บวชเป็นสามเณร) เท่านั้น โดยล่วงไปสามปีแล้วจึงได้อุปสมบท เพราะในอวันตีทักขิณาปถชนบทหาภิกษุสงฆ์เป็นคณปูรกะ (๑๐ รูปขึ้นไป) ไม่ได้ เมื่อโสณกุฏิกัณณกะได้อุปสมบทแล้วมีความปรารถนาจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงไปลาท่านพระมหากัจจายนะผู้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านก็อนุญาต และสั่งให้ไปถวายบังคมพระบาทพระบรมศาสดาด้วยเศียรเกล้าตามคำขอของท่าน แล้วให้กราบทูลขอให้พระองค์ ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติซึ่งขัดต่ออวันตีทักขิณาปถชนบท ๕ ข้อ คือ
     ๑. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีภิกษุน้อย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูป ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบท ด้วยสงฆ์มีพระวินัยธรเป็นที่ ๕ (ด้วยสงฆ์ ๕ รูป)"
     ๒. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีพื้นที่ขรุขระไม่สม่ำเสมอ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตรองเท้าเป็นชั้น ๆ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าเป็นชั้น ๆ ในปัจจันตชนบท"
     ๓. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท พวกมนุษย์ต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอาบน้ำเป็นนิตย์ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ในปัจจันตชนบท" (ในมัชฌิมประเทศ คือในเมือง ๑๕ วันภิกษุอาบน้ำได้ครั้งหนึ่ง)
     ๔. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีเครื่องลาด (ที่ปูนั่ง) ที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น บริบูรณ์ดีเหมือนมัชฌิมชนบท ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วย หนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะ เป็นต้น"
     ๕. ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีภิกษุน้อย มนุษย์ทั้งหลายย่อมถวายจีวรแก่ภิกษุผู้จาริกไปภายนอกสีมาด้วยคำว่า พวกข้าพเจ้าถวายจีวรผืนนี้แก่ภิกษุชื่อนี้ เมื่อพวกเธอกลับมาแล้ว พวกภิกษุในวัดแจ้งความให้พวกเธอทราบ พวกเธอรังเกียจไม่ยินดีรับ ด้วยเข้าใจว่าผ้าผืนนั้นเป็นนิสสัคคียะ (ผิดวินัยจำต้องสละ เพราะล่วงเวลา ๑๐ วันแล้ว) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงตรัสบอกการปฏิบัติในจีวรเช่นนั้น ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อให้ภิกษุยินดีรับจีวรที่ทายกถวาย ลับหลังนั้นได้ ผ้ายังไม่ถึงมือตราบใด จะนับว่าเธอเป็ฤนผู้มีสิทธิ์ในผ้านั้นเต็มที่ยังไม่ได้ตราบนั้น"

     ท่านพระมหากัจจายนะนั้นเป็นผู้มีรูปงาม มีผิวเหลืองดุจทอง มีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า บุตรเศรษฐีมีชื่อว่า โสเรยยะ ในโสเรยยนคร เห็นท่านแล้วนึกในใจว่า ถ้าเราได้ภรรยาที่มีรูปร่างงดงามอย่างท่านพระมหากัจจายนะจักเป็นที่พอใจยิ่ง ด้วยอำนาจอกุศลจิตเพียงเท่านี้เพศชายแห่งโสเรยยเศรษฐีบุตรนั้นกลับเป็นเพศสตรี ได้รับความอับอายเป็นอย่างยิ่งจึงหนีไปอยู่เมืองอื่นจนกระทั่งได้สามีมีบุตรด้วยกันสองคน ภายหลังได้ไปขอขมาให้ท่านพระมหากัจจายนะยกโทษแล้วเพศจึงกลับเป็นบุรุษอีกตามเดิม

     ตามความในมธุรสูตร ท่านอยู่มาถึงภายหลังแต่การปรินิพพาน แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังมีใจความว่า ครั้งหนึ่งพระมหากัจจายนอยู่ที่คุนธาวัน แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชธานีอวันตีบุตรเสด็จไปหา ได้ตรัสถามว่า "พวกพราหมณ์ถือว่าพวกเขาเป็นผู้ประเสริฐ บริสุทธิ์ เกิดจากพรหม ท่านเข้าใจว่าอย่างไร" พระมหากัจจายนะทูลตอบว่า "นั้นเป็นแต่คำอ้างของเขา" ท่านชักอุทาหรณ์มาแสดงเป็นข้อ ๆ ที่วรรณะ ๔ เหล่านั้นไม่ต่างอะไรกัน ดังนี้
     ๑. ในวรรณะ ๔ เหล่า วรรณะเหล่าใดเป็นผู้มั่งคั่ง วรรณะเดียวกันและวรรณะอื่นย่อมเข้าเป็นสาวกของวรรณะนั้น
     ๒. วรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เบื้องหน้าแต่มรณะ วรรณะนั้นย่อมเข้าสู่อบายเสมอกันหมด ไม่มีพิเศษ
     ๓. วรรณะใดประพฤติกุศลกรรมบถ เบื้องหน้าแต่มรณะ วรรณะนั้นย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เหมือนกันหมด
     ๔. วรรณะใดทำโจรกรรม ปรทาริกกรรม (การประพฤติล่วงเมียคนอื่น) วรรณะนั้นต้องรับอาญาเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น
     ๕. วรรณใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับความนับถือ ได้รับบำรุงและรับคุ้มครองรักษาเสมอกันหมด

     ครั้นพระเจ้ามธุรราชได้สดับแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส แสดงพระองค์เป็นอุบาสก ถึงพระเถรเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ พระมหากัจจายนะทูลห้ามว่า อย่าถึงตัวของอาตมภาพเป็นสรณะเลย จงถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสรณะของอาตมภาพเป็นสรณะเถิด พระเจ้ามธุรราชตรัสถามว่า เดี๋ยวนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหน ท่านทูลให้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว พระเจ้ามธุรราชตรัสว่า ถ้าพระองค์ทรงทราบพระผู้ทีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่ใด แม้จะไกลักเพียงใดก็ตาม พระองค์จักเสด็จไปเฝ้าให้จงได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานเสียแล้ว ข้าพระองค์ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานแล้ว กับพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าท่านพระมหากัจจายนะ อยู่มาถึงภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ท่านดำรงชนมายุสังขารโดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

177  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระภัทราวุธเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:12:40 PM
    ท่านพระภัทราวุธ เป็นบุตรพราหมณ์ ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้วได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้นต่ามาพราหมณ์พาวรี มีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ได้ออกบวชเป็นชฏิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะ และอาฬกะต่อกัน ภัทราวุธมาณพได้ติดตามออกบวชด้วยนับเข้าเป็นคนหนึ่งในจำนวนมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีผูกปัญหาให้ไปทูลถามพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ

ภัทราวุธมาณพได้ทูลขอโอกาสถามปัญหา ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้วได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบสองว่า

     คนที่อยู่ตามชนบทต่าง ๆ อยากจะฟังพระวาจาของพระองค์พร้อมกันมาแล้วจากชนบทนั้น ๆ ได้ฟังพระวาจาของพระองค์แล้วจะกลับไปจากที่นี้ ขอพระองค์จงทรงแก้ปัญหาเพื่อชนเหล่านั้นเถิด

     พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า หมู่ชนนั้นควรจะนำตัณหา ที่เป็นเหตุถือมั่นในส่วนเบื้องบน เบื้องต่ำ และท่ามกลาง ออกให้หมดสิ้นเพราะเขาถือมั่นสิ่งใด ๆ ในโลก มารย่อมติดตามเขาได้เพราะสิ่งนั้น ๆ เหตุนั้นภิกษุเมื่อรู้อยู่ เห็นหมู่สัตว์ผู้ติดอยู่ในวัฏฏะอันเป็นที่ตั้งแห่งมารนี้ว่าติดอยู่ เพราะความถือมั่นดังนี้ พึงเป็นคนมีสติไม่ถือมั่นกังวลในโลกทั้งปวง

     พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาจบลง ภัทราวุธมาณพ ได้บรรลุพระอรหัตตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว ภัทราวุธมาณพพร้อมด้วยมาณพสิบห้าคน ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระภัทราวุธดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

178  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระนันทกะเถระ 2 เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:12:00 PM
พระนันทกะ เป็นบุตรของพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยพอจะศึกษาเล่าเรียนได้แล้ว ก็ไปศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์อยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ต่อมาพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ออกไปบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งน้ำโคธาวารี ที่พรมแดนเมืองอัสสกะ และเมืองอาฬกะติดต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ นันทกมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นอีก ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย และอยู่ในมาณพ ๑๖ คนที่พราหมณ์พาวรีได้ผูกปัญหา ให้ไปทูลถามพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ ท่านได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่เจ็ด

นันทกะ : ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีมีอยู่ในโลก ข้อนี้เป็นอย่างไร เขาเรียกคนที่ถึงพร้อมด้วยฌาน หรือถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิต ว่า เป็นมุนี ?

พระบรมศาสดา : ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวคนว่า เป็นมุนี ด้วยได้เห็น ด้วยได้สดับ หรือด้วยได้รู้มา เรากล่าวว่า คนใดทำตนให้ปราศจากกองกิเลส เป็นคนหากิเลสมิได้ ไม่มีความกังวลทะยานอยาก คนผู้นั้นแล ชื่อว่า มุนี

นันทกะ : สมณพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยได้เห็น ด้วยได้ฟัง ด้วยศีลและพรต และด้วยวิธีเป็นอันมาก สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติในวิธีเหล่านั้น ตามที่ตนเห็นว่า เป็นเครื่องบริสุทธิ์ ข้ามพ้นชาติชราได้มีอยู่บ้าง หรือไม่ ข้าพระองค์ทูลถาม ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ?

พระบรมศาสดา : สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ถึงประพฤติอย่างนั้น เรากล่าวว่า พ้นชาติชราไม่ได้แล้ว

นันทกะ : ถ้าพระองค์ตรัสว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น พ้นชาติชราไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลก หรือในมนุษยโลกจะข้ามพ้นชาติชราได้ ?

พระบรมศาสดา : เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์อันชาติชราครอบงำแล้วหมดทุกคน แต่เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดในโลกนี้ ละอารมณ์ที่ตนได้เห็น ได้ฟัง ได้รู้และศีลพรตกับวิธีเป็นอันมากเสียทั้งหมด ละอารมณ์ที่ตนได้เห็น ได้ฟัง ได้รู้และศีลพรตกับวิธีเป็นอันมากเสียทั้งหมด กำหนดรู้ตัณหาว่าเป็นโทษควรละแล้วเป็นผู้หาอาสวะมิได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล ข้ามพ้นชาติชราได้

ในเมื่อจบเทศนาพยากรณ์ นันทกมาณพได้บรรลุพระอรหัตตผล เมื่อพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหามาณพนอกนี้เสร็จแล้ว นันทกมาณพพร้อมด้วยมาณพอีกสิบห้าคนทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระนันทกะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยกาลอันสมควรแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน


179  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระภัททิยะเถระ 2 เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:11:10 PM
    พระภัททิยะ เป็นพระโอรสของพระนางศากยกัญญา พระนามว่า กาฬีโคธาราชเทวี ในกรุงกบิลพัสดุ์ พระนามว่า ภัททิยราชกุมาร เมื่อเจริญเติบโตแล้วได้เสวยราชสมบัติสืบศากยวงศ์ ครั้นต่อมาถูกอนุรุทธกุมาร ผู้เป็นพระสหายมาชักชวนให้ออกบวช ครั้งแรก ภัททิยราชกุมารไม่เต็มใจจะออกบวชด้วย ในที่สุดก็จำเป็นต้องยอมบวช จึงได้ทูลลาพระมารดา เพื่อสละราชสมบัติเสด็จออก ไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่นุปิยนิคมแคว้นมัลละพร้อมด้วยพระราชกุมาร ๕ พระองค์ คือ อนุรุทธะ,อานันทะ,ภคุ,กิมพิละ, และเทวทัต รวมทั้งอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาเข้าด้วยจึงเป็น ๖ ได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย

     ครั้นพระภัททิยะได้อุปสมบทแล้วเป็นผู้ไม่ประมาทตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ภายในพรรษาที่บวช นั่นเอง เมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้วไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใด จะเป็นป่าช้า หรือร่มไม้ก็ดี หรือแม้กระทั่งที่ว่างจากเรือนแห่งอื่น ๆ ก็ดี มักเปล่งอุทานในที่นั้น ๆ เสมอว่า สุขหนอ ๆ ภิกษุทั้งหลายได้ยินได้ฟังเช่นนั้นแล้ว จึงได้นำความนั้นไปกราบทูลพระบรมศาสดาว่า ท่านพระภัททิยะอุทานอย่างนี้ คงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ มัวนึกถึงราชสมบัติเป็นแน่ พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้หา พระภัททิยะ มาแล้วตรัสถามว่า ภัททิยะ ได้ทราบว่า เธอเปล่งอุทานอย่างนั้นจริง หรือ ? จริงพระเจ้าข้า เธอมีความคิดเห็นอย่างไร จึงได้เปล่งอุทาน เช่นนั้น ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า เมื่อก่อนข้าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องจัดการรักษาป้องกันทั้งภายในและภายนอกวัง ทั้งภายในเมือง และนอกเมือง จนตลอดทั่วอาณาเขต ข้าพระองค์ แม้มีการอารักขาอย่างนี้ ก็ยังต้องหวาดสะดุ้ง กลัวภัยอยู่เป็นนิตย์ บัดนี้ ข้าพระองค์ถึงจะอยู่ในป่า หรือใต้ร่มไม้ หรือแม้จะอยู่ในที่ว่างจากเรือนแห่งอื่น ๆ ก็ไม่รู้สึกหวาดกลัว หรือสะดุ้ง มีขนไม่ลุกชูชัน เพราะความกลัวเป็นปกติ อาศัยอาหารที่ผู้อื่น ให้เลี้ยงชีวิต มีใจดุจมฤคเป็นอยู่ ข้าพระองค์มีความคิดเห็นอย่างนี้จึงเปล่งอุทาน อย่างนั้น พระบรมศาสดาทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทาน ชมเชยในเวลานั้น

     ท่านพระภัททิยะนั้น เป็นผู้เกิดในตระกูลสูง ทั้งท่านก็ได้เป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ยังสละราชสมบัติออกบวช ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เกิดในตระกูลสูง ต่อมาครั้นท่านดำรงชนมายุ สังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

180  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระภัททิยะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:09:37 PM
   พระภัททิยะ มีชาติภูมิอยู่ในเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นบุตรของพราหมณ์คนหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ ๑๐๘ ที่ได้รับเชิญเลี้ยงโภชนาหารในการทำนาย พระลักษณะของพระมหาบุรุษ

     ในสมัย ที่ท่านยังเป็นหนุ่ม ได้ยินบิดาเล่าให้ฟังว่า พระมหาบุรุษมีพระลักษณะถูกต้องตามมหาบุรุษลักษณพยากรณ์ศาสตร์ จึงเกิด ความเคารพและเลื่อมใสในพระองค์เป็นยิ่งนัก เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวช ท่านพร้อมด้วยพราหมณ์ทั้ง ๔ คน ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้าตกลงร่วมกันว่า การบรรชาของพระมหาบุรุษจักไม่เลวทรามหรือเสื่อมเสียจากประโยชน์เป็นแน่แท้ คงอำนวยประโยชน์ให้แก่คนอื่นด้วย ครั้นปรึกษากันเป็นที่เข้าใจแล้วจึงพากันออกบวชเป็นฤาษีติดตามคอยอุปัฏฐากทุกเช้าค่ำ ด้วยคาดหวังว่าถ้าพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วจักนำธรรมะมาสั่งสอนพวกตนให้บรรลุตามบ้าง ครั้นเห็นพระองค์ทรงละการบำเพ็ญ ทุกรกิริยา จึงเกิดความเบื่อหน่ายในการคอยอุปัฏฐากทุกเช้าค่ำด้วยคิดว่า พระองค์กลายมาเป็นคนมักมากในกามคุณ คลายจาก ความเพียรเสียแล้ว คงจะไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอันหนึ่งอันใดแน่ จึงพากันหลีกหนีไปอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวง เมืองพาราณสี เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วเสด็จไปโปรดแสดงพระธรรมเทศนาชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เป็นปฐมเทศนา แต่ไม่สำเร็จมรรคผลอะไร ต่อมาได้ฟังปกิณณกเทศนา ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท ในพระธรรมวินัย

     ท่านบวชด้วย วิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่ออินทรีย์แก่กล้าแบ้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาชื่อว่า อานัตตลักขณสูตร เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านก็หลุดพ้นจากกิเลศ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วย ประกาศพระศาสนา เมื่อดำรงอายุสังขารพอสมควรก็ได้ดับขันธปรินิพพาน

หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 15