แสดงกระทู้
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15
181  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระภัคุเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:08:12 PM
   พระภคุเกิดในตระกูลศากยวงศ์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติ แล้วเสด็จออกจาก กรุงกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมอันพวนารามของมัลลกษัตริย์ ในเวลานั้นมีศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงโด่งดังออก บวชตามพระบรมศาสดา เป็นอันมาก วันหนึ่งอนุรุทธศากยกุมาร มีความประสงค์จะออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาบ้าง จึงได้มา ชักชวนภคุศากยกุมารให้ออกบวชด้วย เมื่อภคุศากยกุมารมีความพอใจในการที่จะอุปสมบทตามคำชักชวน จึงได้พากันเสด็จออก จากพระนครกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยเจ้าศากยะอีก ๔ พระองค์ คือ ภัททิยะ,อนุรุทธ,อานันทะ,กิมพิละ โกลิยกุมารอีกหนึ่งองค์ คือ เทวทัต รวมทั้งอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาเป็น ๗ พากันเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ทูลขออุปสมบท ในพระธรรมวินัยพระองค์ก็ทรงอนุญาติให้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระภคุศากยะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาทตั้งใจบำเพ็ญความเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็บรรลุ พระอรหัตตผล เป็นพระอเสขบุคคลนับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูปองค์หนึ่ง เมื่อท่านภคุนั้นดำรงเบญจขันธ์ อยู่โดยสมควรแก่กาล แล้วก็ดับขันธปรินิพพาน


182  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระพาหิยทารุจิริยะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:07:16 PM
   ท่านพระพาหิยทารุจิริยะ เป็นบุตรของกุฎุมพี ในแคว้นพาหิยะ เมื่อเติบโตแล้วได้ยึดอาชีพค้าขาย ครั้งหนึ่งได้ไปค้าขายทางจังหวัดสุวรรณภูมิ โดยทางเรือกับผู้คนเป็นจำนวนมาก เรือได้อัปปางลงเสียก่อนที่จะถึงที่ที่ต้องประสงค์ ผู้คนทั้งหมดได้เป็นภักษาแห่งปลาและเต่า เหลืออยู่เพียงพาหิยทารุจิริยะคนเดียว เกาะแผ่นกระดานได้แผ่นหนึ่งพยายามแหวกว่ายไปขึ้นที่ท่าเรือชื่อสุปารกะ ไม่มีผ้านุ่งผ้าห่มเหลือติดตัวอยู่เลย มองไม่เห็นอะไร ๆ ที่พอจะทำเป็นผ้าห่มจึงเอาเปลือกไม้บ้าง ใบไม้บ้าง เย็บติดกันเข้าทำเป็นผ้านุ่งห่ม ถือกระเบื้องเที่ยวไปขอทานเลี้ยงชีพ คนทั้งหลายพอได้เห็นท่านแล้วพากันสำคัญว่าคนนี้คงเป้นพระอรหันต์องค์หนึ่งแน่นอนจึงให้ข้าวต้ม และข้าวสวยเป็นต้นเป็นทาน และนำผ้านุ่งผ้าห่มไปให้เพื่อให้ท่านใช้นุ่งห่ม ท่านมาพิจารณาว่า ถ้าเรานุ่งห่มผ้าเสียแล้ว ลาภสักการะของเราจักเสื่อม จึงห้ามคนทั้งหลายไม่ให้นำผ้านุ่งผ้าห่มมาให้อีกต่อไป แล้วตนก็นุ่งเปลือกไม้ตามเดิม สำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในกาลนั้นเทวดาผู้เคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกันมาแต่ชาติก่อนซึ่งไปเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสได้เล็งเห็นอาการของพาหิยทารุจิริยะ เช่นนั้น จึงได้ลงมาว่ากล่าวเตือนสติ ว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ท่านอย่าได้ทำเช่นนั้น จึงสำนึกตัวได้ว่า ตนไม่ใช่พระอรหันต์ การทำเช่นนี้เป็นการหลอกลวงโลก ไม่เป็นการสมควรเลย

     เมื่อรู้สึกตัวอย่างนั้นแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ได้สดับพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงมีการตักเตือนให้สำเหนียกศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ท่านส่งใจไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมทั้งปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนาได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนากับพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสสั่งให้ไปหาบาตรและจีวร ในขณะที่ท่านกำลังแสวงหาบาตรและจีวรอยู่นั้น บังเอิญมีนางยักษิณีตนหนึ่ง จำแลงเพศเป็นแม่โคนมวิ่งมาอย่างเร็วขวิดท่าน จนปรินิพพานไม่ทันได้อุปสมบท พระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตพร้อมด้วยภิกษุจำนวนมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นร่างกายของท่านพาหิยทารุจิริยะ จึงรับสั่งให้ภิกษุจัดแจงทำฌาปนกิจ แล้วก่อพระสถูปบรรจุอัฐิไว้

     ในกาลต่อมา พระบรมศาสดาได้ทรงยกย่องตั้งท่านไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างที่เป็นขิปปาภิญญา คือ ตรัสรู้เร็วพลัน


183  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระพากุละเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:06:27 PM
   ท่านพระพากุละ เป็นบุตรของมหาเศรษฐี ในพระนครโกสัมพี เหตุที่ท่านได้นามว่า พากุละ เพราะท่านอยู่ในตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งหลาย หรืออีกประการหนึ่ง เพราะท่านเป็นผู้ที่ตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งสองได้เลี้ยงดูรักษา

     มีเรื่องราวปรากฏตามประวัติว่า เมื่อท่านเกิดได้เพียง ๕ วัน มารดาบิดาพร้อมด้วยญาติของท่าน ได้จัดทำงานมงคลโกนผมไฟ และได้ขนานนามท่านด้วย พวกพี่เลี้ยงได้พาท่านไปอาบน้ำชำระร่างกายที่แม่น้ำคงคา ในขณะนั้นปรากฏว่า ได้มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งว่ายมาตามกระแสน้ำ แลเห็นทารกนั้นเข้าสำคัญว่าเป็นอาหารจึงได้ฮุบทารกนั้นกลืนเข้าไปในท้องทราบว่าทารกนั้นเป็นผู้มีบุญญาธิการ เมื่ออยู่ในท้องปลาก็ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ เลย แม้ความลำบากเพียงเล็กน้อยก็ไม่มี นอนสบายเหมือนนอนบนที่นอนธรรมดา แต่ด้วยอำนาจบุญญาธิการของทารกนั้น ทำให้ปลาตัวนั้นเกิดความเดือดร้อนกระวนกระวายเที่ยวแหวกว่ายไปตามกระแสน้ำบังเอิญไปติดข่ายของชาวประมงในพระนครพาราณสี เมื่อชาวประมงนั้นปลดปลาออกจากข่ายปลาตัวนั้นก็ถึงแก่ความตาย เขาจึงได้เอาปลานั้นไปเร่ขาย โดยตั้งราคาไว้ถึงหนึ่งพันกหาปณะ ในพระนครนั้นมีเศรษฐีท่านหนึ่งมีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่หาบุตรธิดาไม่ได้เลย พร้อมด้วยภรรยาได้ซื้อปลานั้นราคาพันกหาปณะ และได้แล่ปลานั้นออก จึงได้พบทารกนั้นนอนอยู่ในท้องปลา เมื่อได้เห็นก็เกิดความรักใคร่ราวกะว่าเป็นบุตรของตน ได้เปล่งอุทานขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า เราได้ลูกในท้องปลาแล้วดังนี้ เศรษฐีและภรรยา ได้เลี้ยงดูทารกนั้นเป็นอย่างดี มิได้มีความรังเกียจเลย ครั้นต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดามารดาเดิมได้ทราบเรื่องราวนั้นเข้า จึงได้ไปยังบ้านของเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีพอแลเห็นทารกนั้นก็จำได้ทันทีว่า เป็นบุตรของตน จึงได้ขอทารกนั้นคืนโดยแสดงเหตุผลตั้งแต่ต้นให้ท่านเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีทราบ แต่ท่านเศรษฐีก็ไม่ยอมคืนให้ เศรษฐีผู้เป็นมารดาบิดา เมื่อเห็นว่าคงจะเป็นการตกลงกันไม่ได้ จึงได้ถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัยชี้ขาด พระองค์จึงได้ทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองช่วยกันรักษาเลี้ยงดูทารกนั้นไว้เป็นคนกลาง เศรษฐีทั้งสองนั้นได้ผลัดเปลี่ยนกันรักษาเลี้ยงดูไว้ในตระกูลของตน ๆ มีกำหนดคนละ ๔ เดือน อาศัยเหตุการณ์ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ ทารกนั้นจึงได้นามว่า พากุละ ตั้งแต่นั้นมา พากุลกุมารก็ได้รับการเลี้ยงดูจากตระกูลเศรษฐีทั้งสองเป็นอย่างดียิ่ง จนเด็กนั้นเจริญวัยขึ้นตามลำดับ เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จไปประกาศพระศาสนาในพระนครพาราณสี พากุลกุมาร พร้อมด้วยบริวารได้พากันไปเข้าเฝ้า เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้วก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท เมื่อได้บรรพชา อุปสมบทแล้ว ได้ฟังพระโอวาทที่พระองค์ทรงสั่งสอนในทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านไม่ประมาท พยายามทำความเพียรเจริญสมณธรรมบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเพียง ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล ท่านเพียรพยายามประกอบกิจในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่า ตั้งแต่อุปสมบทมาในพระพุทธศาสนาประมาณได้ ๖๐ ปี ท่านไม่เคยจำพรรษาในบ้านเกิดเลย และเป็นผู้ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่ต้องทำการพยาบาลรักษาร่างกายด้วยเภสัชต่าง ๆ โดยที่สุด แม้ผลสมอชิ้นหนึ่งท่านก็ไม่เคยฉันตามประวัติของท่านกล่าวว่าการที่ท่านเป็นผู้มีโรคาพาธน้อยนั้น เป็นผลของบุญกุศลที่ท่านสร้างเวจกุฎี และให้ยาบำบัดโรคเป็นทาน

เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างเป็นผู้มีโรคาพาธน้อย

     กิจสำคัญที่ท่านได้ทำไว้ในพุทธศาสนามีปรากฏในตำนานว่า ท่านได้ทำให้อเจลกัสสปปริพาชกผู้เป็นสหายเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเข้ามาอุปสมบท จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตตผล ด้วยการกล่าวแก้ปัญหา พระพากุลเถระดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน ก่อนแต่จะนิพพาน ท่านได้เข้าเตโชสมาบัตินั่งนิพพาน ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ เมื่อท่านนิพพานแล้ว เตโชธาตุก็บังเกิดเป็นไฟไหม้สรีระร่างกายของท่านให้หมดไป ณ ที่นั้นเอง

184  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระโปสาลเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:05:59 PM
   ท่านพระโปสาล เป็นบุตรพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้วได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิต ของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์ ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส ทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศล ออกจากตำแหน่งปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตามลัทธิของพราหมณ์ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะ และเมืองอาฬกะติดต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ โปสาลมาณพได้ออกบวชติดตามไปด้วย และอยู่ในมาณพ 16 คนที่พราหมณ์ พาวรีผูกปัญหาให้ไปทูลพามพระบรมศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ

โปสาลมาณพทูลขอ โอกาสถามปัญหา ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว ได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่สิบสี่ว่า ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงฌาน ของบุคคลผู้มีความกำหนดหมายใจรูปแจ้งชัด (คือ ได้บรรลุรูปฌานแล้ว ) ละรูปารมณ์ทั้งหมดได้แล้ว (คือบรรลุฌานสูงกว่ารูปฌานขึ้นไปแล้ว) เห็นอยู่ทั้งภายในภายนอกว่า ไม่มีอะไรเลย (คือบรรลุอรูปฌาน ที่เรียกอากิญจัญญายตนะ ) บุคคลเช่นนั้นจะควรแนะนำสั่งสอนให้ทำอย่างไรต่อไป ?

พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า พระตถาครเจ้าทรงทราบภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณทั้งหาดจึงทรงทราบบุคคลเช่นนั้น แม้ยังคงอยู่ในโลกนี้ว่า มีอัธยาสัยน้อมไปในอากิญจัญญายตนภพ มีความเพลิดเพลินยินดีเห็นเครื่องประกอบ ลำดับนั้นย่อมพิจารณาเห็นสหชาตธรรม ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น (คือธรรมที่เกิดพร้อมกันกับฌานนั้น) แจ้งชัด โดยลักษณะสามอย่าง (คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัว ) ข้อนี้เป็นฌานอันถ่องแท้ของบุคคลเช่นนั้น ผู้มีพรหมจรรย์ได้ประพฤติหมดแล้ว

พระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหาจบลง โปสาลมาณพได้บรรลุพระอรหัตตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว โปศาลมาณพพร้อมด้วย มาณพสิบห้าคน ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านโปสาลดำรงชนมายุสังขาร อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

185  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระปุณณมันตานีบุตรเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:05:24 PM
    ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์ ชื่อว่า โทณวัตถุ ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ "ปุณณ" เรียกนามตามที่เป็นของนางมันตานีพราหมณี ว่า ปุณณมันตานีบุตร ปุณณมาณพเป็นหลายของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เพราะนางมันตานีพราหมณีผู้เป็นมารดาเป็นน้องสาวของท่าน การที่ปุณณมาณพจะได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เพราะอาศัยพระอัญญาโกณฑัญญะผู้เป็นลุง เป็นผู้ชักนำมาให้บวชในเมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ ท่านได้ไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ให้ปุณณมาณพผู้เป็นหลายชายบวชในพระพุทธศาสนา ครั้นพระปุณณะบวชแล้วไปอยู่ในประเทศชื่อ ชาติภูมิ บำเพ็ญเพียรไม่นามนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

ท่านพระปุณณะตั้งอยู่ในธรรม ๑๐ อย่าง คือ
๑. มักน้อย ๒. สันโดษ ๓. ชอบสงัด ๔. ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ๕. ปรารภความเพียร ๖. บริบูรณ์ด้วยศีล ๗. สมาธิ ๘. ปัญญา ๙. วิมุตติ ๑๐. ความรู้เห็นในวิมุตติ

แม้เมื่อมีบริษัท ท่านก็สั่งสอนให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมสิบประการ ครั้นต่อมาภิกษุที่เป็นบริษัทของท่านลาไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลพรรณนาคุณพระอุปัชฌาย์ของตนว่าตั้งอยู่ในคุณธรรมสิบประการนั้น และสั่งสอนให้บริษัท ตั้งอยู่ในคุณธรรมสิบประกานนั้นด้วย ในเวลานั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ได้ยินภิกษุเหล่านั้นทูลพรรณนาคุณของพระปุณณะ มีความประสงค์อยากจะรู้จักและสนทนาด้วย เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาเมืองสาวัตถีแล้ว ท่านพระปุณณะมาเฝ้า พอหลีกไปจากที่เฝ้าแล้ว พระสารีบุตรทราบข่าว จึงเข้าไปหาสนทนาปราศรัยกันแล้ว ไต่ถามถึงวิสุทธิ ๗ ประการ ท่านพระปุณณะก็วิสัชนาชักอุปมาอุปมัยเปรียบด้วยรถ ๗ ผลัด ในที่สุดแห่งการปุจฉาวิสัชนาวิสุทธิ ๗ ประการนั้น พระเถระทั้งสองก็อนุโมทนาภาษิตของกันและกัน

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรนั้น อาศัยความที่ตนตั้งอยู่ในคุณธรรมเช่นใดแล้ว สอนผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมเช่นนั้นด้วย พระบรมศาสดาจึงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่สมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

186  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระปุณณชิเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:05:00 PM
   พระปุณณชิเถระ ท่านเป็นบุตรของเศรษฐีในเมืองพาราณสี เป็นเพื่อนกับพระยสะ พอทราบข่าวว่ายสกุลบุตรผู้เป็นเพื่อนออกบวชแล้ว จึงคิดว่าธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรออกบวชนั้นจักไม่เลวทรามแน่ คงจะเป็นสิ่งประเสริฐ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้วจึงพร้อมด้วยเพื่อน อีก ๓ คน คือ วิมละ สุพาหุ ควัมปติ ได้เข้าไปหาท่านพระยสะ หลังจากนั้นพระยสะก็พาไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และทูลขอ ให้พระองค์ทรงสั่งสอน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเทศนาสอนด้วย อนุปุพพิกถา และอริสัจ ๔ ในเวลาจบพระธรมเทศนาท่านเหล่านั้น ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงทูลขออุปสมบทกับพระศาสดา พระองค์ทรงประทานอนุญาตให้เป็นภิกษุโดยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา หลังจากได้อุปสมบทแล้วได้ฟังเทศนาปกิณณกกถาเพิ่มเติมก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล ท่านเป็นองค์หนึ่งที่ได้รับพุทธานุญาตให้ ไปประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ได้ช่วยทำกิจหน้าที่เป็นอย่างดี เมื่อดำรงอายุพอสวมควรแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน


187  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระปุณณกะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:04:26 PM
   ท่านพระปุณณกะ เป็นบุตรพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆารวาสวิสัย จึงได้กราบทูลลาออกจากตำแหน่งปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์พาวรี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ปุณณกมาณพได้ออกบวชไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย และรวมอยู่ในศิษย์ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีได้ผูกปัญหาให้ไปทูลถามพระบรมศาสดาที่ปาสณเจดีย์ แคว้นมคธ

     ปุณณกมาณพได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๓ ใจความว่า บัดนี้ มีปัญหามาถึงพระองค์ผู้หาความหวาดหวั่นมิได้ รู้เหตุที่เป็นรากเหง้าของสิ่งทั้งปวง ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามว่า หมู่มนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤๅษี กษัตริย์ พราหมณ์ จำนวนมากอาศัยอะไรจึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา ขอพระองค์ตรัสบอกข้อความนี้แก่ข้าพระองค์

     พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า หมู่มนุษย์เหล่านั้นอยากได้ของที่พวกตนปรารถนา ที่มีชรามาทำให้แปรเปลี่ยน จึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา

     ปุณณกมาณพทูลถามต่อว่า หมู่มนุษย์เหล่านั้น ถ้าไม่ประมาทในยัญของตน จะข้ามพ้นชาติและชราได้หรือไม่

     พระบรมศาสดาตรัสว่า หมู่มนุษย์เหล่านั้น มุ่งลาภทึ่ตนหวังจึงพูดสรรเสริญการบูชายัญ รำพันถึงสิ่งที่ตนปรารถนาก็เพราะอาศัยลาภ เราตถาคตกล่าวว่าผู้บูชายัญเหล่านั้น ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติ ชรา ไปได้

     ปุณณกมาณพจึงทูลถามต่อว่า ถ้าผู้บูชายัญเหล่านั้นข้ามพ้นชาติ ชรา เพราะยัญของตนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นใครเล่าในเทวโลกหรือมนุษยโลกจะข้ามพ้น ชาติ ชรา นั้นได้

     พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ความอยากที่เป็นเหตุดิ้นรน ทะเยอทะยาน ของผู้ใดไม่มีในทุก ๆ ชาติ เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก เราตถาคตกล่าวว่า ผู้นั้นซึ่งมีจิตสงบระงับแล้ว ไม่มีทุจริต ความประพฤติชั่วอันจะทำให้จิตมัวหมอง ดุจควันไฟที่จับเป็นเขม่า ไม่มีกิเลสอะไร ๆ มากระทบ ไม่มีความทะยานอยาก ข้ามพ้นชาติ ชรา ไปได้แล้ว

     ครั้นพระบรมศาสดา ทรงแก้ปัญหาที่ปุณณกมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา ปุณณกมาณพได้สำเร็จพระอรหัตตผล (ก่อนอุปสมบท) เมื่อพระศาสดาทรงพยากรณ์ ปัญหาของมาณพที่เหลือเสร็จสิ้นแล้ว ปุณณกมาณพจึงพร้อมกับเพื่อนทั้งหมดทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยงิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

188  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระปิลินทวัจฉะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:04:02 PM
   พระปิลินทวัจฉะ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ วัจฉโคตร เดิมชื่อ ปิลินทะ ดังนั้นจึงเรียกชื่อรวมเข้ากับโคตรว่า ปิลินทวัจฉะ เมื่อเจริญเติบโตแล้ว เกิดศรัทธาจึงได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ไม่ประมาท ตั้งใจบำเพ็ญความเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ต่อมาไม่ช้าไม่นาน ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นกลันทกนิวาปสถาน* ในกรุงราชคฤห์ ในเวลานั้นท่าน พระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า วสละ ซึ่งแปลว่า เป็นคนถ่อย อันเป็นคำหยาบคาย พวกภิกษุจึงพากันเข้ากราบทูลเนื้อความนั้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งให้เรียกตัวท่านเข้ามาเฝ้าแล้วรับสั่งถามว่า ดูก่อนปิลินทวัจฉะ เราได้ทราบข่าวว่าเธอร้องเรียกพวกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า วสละ เป็นความจริงหรือ ? พระเถระจึงกราบทูลว่า เป็นความจริงพระพุทธเจ้าข้า ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงระลึกถึงบุพเพสันนิวาสของท่านพระปิลินทวัจฉะแล้ว ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากล่าวตำหนิปิลินทวัจฉภิกษุเลย เธอมิได้โกรธแค้นเรียกร้องพวกเธอด้วยวาทะว่า วสละ ดอก ปิลินทวัจฉภิกษุนี้เคยถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์มาแล้ว ๕๐๐ ชาติ เธอก็เคยมีวาทะว่า วสละ มาแล้วสิ้นกาลช้านาน เพราะเหตุนั้น เธอจึงร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะเช่นนั้น ครั้นต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะนั้น ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักใคร่เจริญใจของเทพยดา ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

*กลันทกนิวาปสถาน สถานที่ให้เหยื่อกระแต

189  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระปิณโฑลภารทวาชะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:03:34 PM
    พระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาล ภารทวาชโคตร ในกรุงราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ภารทวาชมาณพ เมื่อเจริญเติบโตแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนในลัทธิของพราหมณ์จบจบไตรเพท มีความชำนาญในวิชาไตรเพทจนได้เป็นคณาจารย์ กล่าวสอนศิลปวิทยาแก่มาณพเป็นจำนวนมากประมาณ ๕๐๐ คน ภารทวาชมาณพนั้นเป็นผู้มีความมักมากในอาหารเที่ยวไปแสวงหาอาหารกับพวกมาณพผู้เป็นศิษย์ในที่ต่าง ๆ คือ ในที่ ๆ ตนควรได้บ้าง ไม่ควรได้บ้าง เหตุนั้นจึงมีนามปรากฏว่า ปิณโฑลภารทวาชมาณพ

     เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวประกาศพระศาสนามาโดยลำดับจนถึงพระนครราชคฤห์ ปิณโฑลภารทวาชมาณพ ได้ทราบข่าวจึงเข้าไปเฝ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดความเลื่อมใสทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

     ต่อมาเมื่อท่านพระปิณโฑลภารทวาชะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาทตั้งใจเจริญสมณธรรมในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้ บรรลุพระอรหัตตผล ตามประวัติท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ ๓ ประการ คือ สตินทรีย์,สมาธินทรีย์, และปัญญินทรีย์ ในวันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตตผลนั้น ท่านถือเอาอาสนะเครื่องลาดไปสู่บริเวณวิหารปูลาดแล้ว บันลือออกซึ่งสีหนาท คือ เปล่งด้วยเสียงอันดังดุจราชสีห์ ด้วยวาจาอันองอาจว่า ยสฺส มคฺค วา ผเล วา กงฺขา อตฺถิ โส มํ ปุจฺฉตุ แปลว่า ผู้ในดมีความสงสัยในมรรค หรือ ผล ผู้นั้นจงถามเราเถิด ไม่ว่าท่านจะไปสู่ที่ประชุมใดก็ตาม แม้แต่ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระบรมศาสดา ท่านก็บันลือสีหนาทเช่นนั้น เพราะเหตุนี้เอง พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่าน ว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บันลือสีหนาท ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน


190  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระปิงคิยะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:03:10 PM
   ท่านพระปิงคิยะ เกิดในสกุลพราหมณ์ ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย ์ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรี มีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ได้ออกบวชเป็นชฏิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะ และอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ปิงคิยมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ปิงคิยมาณพเป็นคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีผูกปัญหาให้ไปทูลถามพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ

ปิงคิยมาณพได้ทูลถามปัญหาเป็นคนสุดท้ายว่า

ปิงคิยมาณพ : ข้าพระองค์ได้ข้าพระองค์เป็นคนแก่แล้ว ไม่มีกำลัง มีผิวพรรณ เหี่ยวย่นแล้ว ดวงตาของข้าพระองค์ก็เห็นไม่ชัดนัก หูก็ฟังไม่ชัด ขอข้าพระองค์อย่าเป็นผู้หลงฉิบหายเสียในระหว่างเลย ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติชราในอัตภาพนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า ?ทูลถามปัญหาถึงสองครั้งแล้ว พระองค์ไม่ทรงแก้ประทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ถ้าทูลถามถึงสามครั้งแล้วพระองค์จะทรงแก้ จึงได้ทูลถามปัญหา เป็นคนที่สิบห้าว่า โลกนี้ก็ดี โลกอื่นก็ดี พรหมโลกกับเทวโลกก็ดีย่อมไม่ทราบความเห็นของพระองค์ เหตุฉะนี้ จึงมีปัญหามาถึงพระองค์ผู้ทรงพระปรีชาเห็นล่วงสามัญชนทั้งปวงอย่างนี้ ข้าพระองค์พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราช (ความตาย) จึงจะไม่แลเห็น คือ จะตามไม่ทัน ?

พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่าท่านเห็นว่า ชนทั้งหลายประมาทแล้ว ย่อมเดือดร้อนเพราะรูปเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละความพอใจในรูปเสีย จะได้ไม่เกิดอีก

ปิงคิยมาณพ : ทิศใหญ่สี่ ทิศน้อยสี่ เป็นสิบทิศทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ ที่พระองค์ไม่เคยเห็น ไม่เคยฟัง ไม่เคยทราบ ไม่ได้รู้แล้ว แม้แต่น้อยหนึ่งมิได้มีในโลก ขอพระองค์ตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติชราในชาตินี้เสีย ?

     พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์อันตัณหาครอบงำ มีความเดือดร้อนเกิดขึ้น อันชราถึงรอบด้านแล้ว เหตุนั้น ท่านจงอย่าประมาท ละตัณหาเสีย จะได้ไม่เกิดอีก

     ครั้นพระบรมศาสดา ทรงแก้ปัญหาจบลงแล้ว ปิงคิยมาณพได้เพียงดวงตาเห็นธรรม คือ ได้บรรลุเพียงโสดาปัตติผล เพราะเวลาฟังปัญหาพยากรณ์ มีจิตฟุ้งซานคิดถึงพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ว่า ลุงของเราหาได้ฟังธรรมเทศนาที่ไพเราะอย่างนี้ไม่ อาศัยโทษที่จิตฟุ้งซ่าน เพราะความรักใคร่ในอาจารย์จึงไม่อาจทำจิตให้สิ้นจากอาสวะได้ ในลำดับนั้น ปิงคิยมาณพพร้อมกับ มาณพสิบห้าคน ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ททรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา

     ท่านพระปิงคิยะได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลลาพระบรมศาสดา กลับไปแจ้งข่าวแก่พราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์แล้ว แสดงธรรมเทศนาแก้ปัญหาสิบหกข้อนั้นให้ฟัง ภายหลังได้สดับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ได้บรรลุพระอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ในพระธรรมวินัย ส่วนพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ได้บรรลุธรรมาภิสมัย เพียงชั้นเสขภูมิ (อนาคามิผล) ท่านพระปิงคิยดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน


191  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระนาลกะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 03:00:09 PM
   ท่านพระนาลกะเป็นลูกของน้องสาวอสิตดาบส หรือ กาฬเทวิลดาบส ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อครั้งพระมหาบุรุษประสูติใหม่ กาฬเทวิลดาบส ไปเยี่ยมเยียน ได้เห็นพระลักษณะของพระมหาบุรุษถูกต้องตามตำราพยากรณ์ของพราหมณ์ว่า พระองค์จะเสด็จออกทรงผนวชแล้วจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก จึงมาแนะนำนาลกะผู้หลานชายให้ออกบวชประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์คอยพระองค์อยู่นาลกะก็กระทำตามคำแนะนำ

     เมื่อพระมหาบุรุษเจ้าเสด็จออกทรงผนวชได้ตรัสรู้แล้ว นาลกะได้ทราบข่าว จึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามปัญหาโมไนยปฏิบัติ พระองค์ก็ทรงพยากรณ์ให้โดยนัยเป็นต้นว่า พึงทำจิตให้เสมอในสัตว์และบุคคลทั้งปวง อย่าโกรธ อย่าโทมนัสขัดเคืองในเมื่อถูกบริภาษ เมื่อเวลาจบพยากรณ์ปัญหา นาลกะเกิดความเลื่อมใส จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ทูลลาพระบรมศาสดาเข้าไปสู่ป่า อุตส่าห์พยายามทำความเพียรในโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ ไม่ทำความสนิทสนมกับชาวบ้าน ไม่ติดในบุคคล และถิ่นที่อยู่ เป็นผู้มักน้อยในที่จะเห็น เป็นผู้มักน้อยในที่จะฟัง เป็นผู้มักน้อยในที่จะถาม ไม่ช้าไม่นานท่านก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล และเป็นธรรมเนียมของผู้บำเพ็ญโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ เป็นอย่างสูง และในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ๆ จะมีพระสาวกผู้บำเพ็ญโมไนยปฏิบัติเพียงองค์เดียวเท่านั้น

     เพราะฉะนั้น ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนาม ว่า โคตมะนี้ พระนาลกะจัดว่าเป็นผู้บำเพ็ญเพียรโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ นับแต่วันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตตผลมา ท่านดำรงอายุสังขารอยู่ได้เพียง ๗ เดือนเท่านั้น ก็ดับขันธปรินิพพาน ด้วยอิริยาบถยืน เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดา

หมายเหตุ โมไนย (อ่านว่า โม-ไน-ยะ) หมายถึงความเป็นมุนี,ความเป็นปราชญ์,คุณธรรมของนักปราชญ์,ธรรมที่ทำให้เป็นมุนี ในเรื่องราวของท่านที่ปรากฏในปกรณ์ต่าง ๆ กล่าวว่าท่านได้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ ด้วย คือ เป็นยอดเยี่ยมกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ประพฤติในโมไนยปฏิบัติ แต่ในเอตทัคคะ บาลีไม่ปรากฏจึงไม่ได้กล่าวไว้ในประวัติของท่าน

192  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระนาคิตะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 02:59:39 PM
    ท่านพระนาคิตะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เป็นบุตรของใคร เกิดในตระกูลไหน เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเมื่อไร อยู่ในสำนักของใคร ที่ไหน ยังหาหลักฐานที่แน่นอนไม่ได้ เรื่องราวของท่านตามที่ปรากฏในปกรณ์นั้น ๆ ก็กล่าวถึงเรื่องตอนที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว และปรากฏว่าท่านก็เคยเป็นผู้อุปัฏฐากพระบรมศาสดาด้วยองค์หนึ่งเหมือนกัน

     พระบรมศาสดา ได้เสด็จเที่ยวไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เมื่อถึงบ้านพราหมณ์ชื่อว่า อิจฉานังคละ ได้ประทับอยู่ในที่นั้น พวกพราหมณ์และคฤหบดี ในหมู่บ้านนั้น พอได้ทราบข่าวว่าพระบรมศาสดาเสด็จมา จึงได้พากันจัดแจงของถวายมีของควรเคี้ยวของควรฉัน เป็นต้น แล้วพากันไปเข้าเฝ้า ส่งเสียงดังอยู่นอกซุ้มประตูสมัยนั้นท่านพระนาคิตะเป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์ เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับเสียงนั้นแล้ว จึงรับสั่งถามท่านพระนาคิตะว่า ดูกรนาคิตะ ชนพวกไหนพาากันส่งเสียงดังอยู่เหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน ท่านออกไปดูแล้วกลับมาทูลว่า พวกพราหมณ์และคฤหบดีพากันถือขาทนียะโภชนียะมา เพื่ออุทิศถวายพระองค์พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ด้วย จึงรับสั่งว่า นาคิตะ ฉันไม่ต้องการสมาคมด้วย เพราะต้องการเพียงความสงัดวิเวก ท่านพระนาคิตะ กราบทูลว่า ขอพระองค์จงรับเถิด บัดนี้เป็นโอกาสอันสมควรที่พระองค์จะทรงรับแล้ว แต่พระองค์ตรัสห้ามเสีย แล้วทรงแสดงอานิสงส์ของภิกษุ ผู้มีความมักน้อย เที่ยวไปอยู่ในป่า ยินดีเสนาสนะอันเงียบสงัด ท่านพระนาคิตะนั้น นับเข้าในจำนวนพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง แต่ท่าน จะได้สำเร็จมรรคผลในครั้งไหนไม่ปรากฏชัด แม้ในเรื่องที่กล่าวมานี้ก็ไม่ได้พูดถึง แต่พึงเข้าใจว่า ท่านได้สำเร็จพระอรหัตตผลในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยกาลอันสมควรแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน


193  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระนันทะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 02:59:14 PM
    พระนันทะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดา ทำให้บรรดาประยูรญาติมีความยินดีร่าเริงใจใคร่จะเห็น ด้วยเหตุนั้น เมื่อพระราชกุมารประสูติแล้ว บรรดาประยูรญาติ จึงได้ถือเอานิมิต นั้นไปถวายพระนามว่า นันทกุมาร

     เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้วเสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด พระราชบิดา และพระนางปชาบดีโคตมี พระน้านาง ประกาศสุจริตธรรม เพื่อให้เกิดความเชื่อ ความเลื่อมใส

     วันหนึ่ง ได้มีการอาวาหมังคลาภิเษก ระหว่างนันทกุมาร และพระนางชนบทกัลยาณี เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยที่พระตำหนัก ของนันทกุมารเสร็จแล้ว ทรงส่งบาตรให้นันทกุมารถือไว้ แล้วตรัสประทานพร เพื่อเป็นมงคลแล้วเสด็จกลับ ส่วนนันทกุมารใน ขณะถือบาตรตามเสด็จไปพลางนึกรำพึงในใจว่า ถ้าพระองค์ทรงรับบาตรในที่แห่งใดก็จะรีบกลับมา แต่ก็ไม่สามารถ จะทูลเตือน พระพุทธองค์ได้ เพราะมีความเคารพในพระองค์ ส่วนพระนางชนบทกัลยาณีที่เตรียมจะเป็นเทวีของนันทกุมาร ได้เห็นอาการอย่างนั้น จึงร้องสั่งว่า ขอพระลูกเจ้าจงรีบเสด็จกลับมา ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงที่ประทับแล้ว จึงตรัสถามนันทกุมารว่า นันทะ ฌะอจักบวช หรือ แม้นันทกุมารไม่สมัครใจจะบวช แต่ก็ไม่สามารถขัดพระหฤทัยได้ เพราะมีความเคารพมาก จึงทูลยอมรับด้วยความจำใจว่า จะบวช ครั้นบวชแล้วหวนระลึ่กถึงแต่คำพูดที่นางชนบทกัลยาณีร้องรับสั่งไว้อยู่เสมอ มีความกระสัน ไม่มีความผาสุกในอันที่จะประพฤติ พรหมจรรย์ต่อไป คิดจะสึกออกมา พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องจึงได้พาเที่ยวจาริกไปในที่ต่าง ๆ เพื่อให้พระนันทะได้พบเห็น หญิงสาวที่มีรูปร่างสวยงามกว่านางชนบทกัลยาณีนั้น แล้วละความรักในรูปของนางชนบทกัลยาณีเสีย และมุ่งหมายอยากได้ รูปหญิงสาวที่สวยงามยิ่งกว่านั้นต่อไป ในที่สุดพระบรมศาสดาต้องเป็นผู้รับประกันว่า ถ้าพระนันทะตั้งใจจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว พระองค์ทรงรับรองที่จะหาหญิงสาวที่สวย ๆ งาม ๆ ให้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระนันทะก็ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อจะได้หญิงสาว ที่สวย ๆ งาม ๆ จนเรื่องนั้นแผ่กระจายไปทั่วพวกภิกษุก็พากันล้อเลียนท่านว่า พระนันทะเป็นลูกจ้าง พระนันทะเกิดความละอายหลีก ไปอยู่แต่เพียงผู้เดียว เกิดความดำริขึ้นในใจว่า ความรักไม่มีที่สิ้นสุด เกิดความสลดใจจนบรรเทาความรักเสียได้ เป็นผู้ไม่ประมาท ตั้งใจบำเพ็ญความเพียรจนได้บรรลุพระอรหัตผล

     เมื่อพระนันทะได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ปรากฎว่าท่านเป็นผู้ที่สำรวมระวังอินทรีย์ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างสำรวมระวังอินทรีย์ ๖ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายด้วยอำนาจของโลกธรรม และเป็นผู้มีความ เกื้อกูลในปฏิภาณ ต่อมาท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

194  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระนันทกะเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 02:58:30 PM
   ท่านพระนันทกะ ถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ ในเมืองสาวัตถี เมื่อเติบใหญ่แล้วได้สดับพระธรรมเทศนาในสำนักของพระบรมศาสดา บังเกิดความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ไม่ประมาท บำเพ็ญเพียร เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ต่อไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา เป็นผู้มีความชำนาญในการระลึกซึ่งปุพเพสันนิวาสขันธสันดาน ที่ท่านและสัตว์อื่นเคยอยู่อาศัยบังเกิดในชาติก่อน ๆ (เป็นผู้ชำนาญในการระลึกชาติหนหลัง) ท่านเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ในการแสดงธรรมแก่บริษัทสี่ให้เป็นที่พอใจ และเข้าใจได้โดยง่ายในตำนานปรากฏว่าท่านแสดงพระธรรมเทศนา ว่าด้วยเรื่องอายตนะ ๖ ประการ แก่นางภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา นางภิกษุณีเหล่านั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล และพากันชื่นชมยินดีในพระธรรมเทศนาของท่าน พระบรมศาสดาทรงทราบ ในวันรุ่งขึ้นรับสั่งให้ไปแสดงธรรมสั่งสอนภิกษุณีอีก ท่านก็ได้ไปแสดงธรรมสั่งสอนนางภิกษุณีตามพระพุทธประสงค์ ยังนางภิกษุณีเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ในอรหัตตผล พร้อมกันทั้ง ๕๐๐ องค์

     เพราะอาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างให้โอวาทแก่นางภิกษุณี ท่านดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

195  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ประวัติของพระพุทธสาวก สมัยพุทธกาล / พระนทีกัสสปเถระ เมื่อ: พฤศจิกายน 06, 2008, 02:58:01 PM
   ท่านพระนทีกัสสปเถระ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร มีพี่ชายชื่ออุรุเวลกัสสปะ มีน้องชายชื่อคยากัสสปะ เมื่อเจริญวัยได้เรียนจบไตรเพทด้วยกันทั้งสามคน มีมาณพเป็นบริวาร ๓๐๐ คน มีสาเหตุการออกบวชเหมือนกับพี่ชาย คืออุรุเวลกัสสปะ สมัยเป็นชฎิลได้ตั้งอาศรมอยู่ที่ลำน้ำอ้อมตอนใต้ ของพี่ชาย จึงได้ชื่อว่า นทีกัสสปะ เมื่อพี่ชายคืออุรุเวลกัสสปะถูกพระศาสดาทรมานจนเลิกละลัทธิเดิมของตน พาบริวารลอยบริขารชฎิล ในแม่น้ำและอุปสมบทแล้ว ก็สำคัญว่าเกิดอันตรายแก่พี่ชายของตน จึงพาบริวารรีบขึ้นไปดู ก็พบพี่ชายพร้อมบริวารถือเพศเป็นภิกษุแล้ว สอบถามจนได้ความว่า พรหมจรรย์นี้ประเสริฐ จึงพากันลอยบริขารเสียในแม่น้ำ พร้อมด้วยบริวารพากันออกไปเฝ้าพระศาสดาทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ก็ปรนะทานอุปสมบทให้ด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา เหมือนอย่างท่านพระอุรุเวลกัสสปะผู้พี่ชาย เมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าแล้วได้เทศนา ชื่อ อาทิตตปริยายสูตร ก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผลพร้อมด้วยบริวาร ท่านได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสมควรแก่หน้าที่ มีการสั่งสอนให้กุลบุตร กุลธิดาเกิดความเลื่อมใสในพระธรรมวินัยเป็นต้น เมื่อท่านดำรงอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
 

หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15