วันที่ ๓๐ ตุลาคมเป็นวันคล้ายวันมรณภาพปีที่ ๓๓ ของพระราชวุฒาจารย์(หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

559000011098602

วันที่ ๓๐ ตุลาคมเป็นวันคล้ายวันมรณภาพปีที่ ๓๓ ของพระราชวุฒาจารย์(หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
“พระอริยเจ้าผู้มีความสามารถเป็นเลิศในการสอนธรรม” แห่งวัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
พระเดชพระคุณหลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระสุปฏิปันโน ผู้มีโวหารธรรมอันแหลมคม
เป็นพี่ชายใหญ่ในสายกัมมัฏฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านมีอุปนิสัยเยือกเย็น
เป็นพระพูดน้อย รักสงบ จิตใจฝักใฝ่ในความวิเวก

เมื่อบวชแล้วท่านและเพื่อนสหธรรมิกคือหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม ได้ออกธุดงค์ติดตามขอฟังโอวาทธรรม จากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ยังสถานที่ต่าง ๆ เมื่อได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียว จากหลวงปู่มั่น ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง
จึงได้เลิกศึกษาพระปริยัติแล้วออกธุดงค์ตามท่านพระอาจารย์มั่น ไปยังที่ต่าง ๆ หลายแห่ง
จึงนับได้ว่าหลวงปู่เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นในสมัยแรก ท่านได้ปรารภความเพียร อย่างอุกฤษฏ์แรงกล้าจนแสงแห่งพระธรรมบังเกิดขึ้น

หลวงปู่มั่น ได้กล่าวยกย่องว่า “..ถูกต้องดีแล้ว เอาตัวรอดได้แล้ว นับว่าไม่ถอยหลังอีกแล้ว ขอให้ดำเนินตามปฏิปทานี้ต่อไป”
และยังได้กล่าวสรรเสริญให้ปรากฏต่อศิษย์ทั้งหลายว่า “..ท่านดูลย์..นี้เป็นผู้มีความสามารถอย่างยิ่ง
สามารถมีสานุศิษย์และผู้ติดตามมาประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก”

559000011098612

หลวงปู่ดูลย์ ท่านถือกำเนิด ตรงกับวันอังคารที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๑ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด
ณ บ้านปราสาท ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ชีวิตของหลวงปู่ดุลย์ เมื่อแรกรุ่นเจริญวัยนั้น
ก็ถูกำหนดให้อยู่ในเกฏเกณฑ์ของสังคมสมัยนั้นแม้ท่านจะเป็นลูกคนที่สอง แต่ก็เป็นบุตรชายคนโต
ดังนั้นท่านจึงต้องมีภารกิจมากกว่าเป็นธรรมดา โดยต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน งานในบ้าน
เช่น ตักน้ำ ตำข้าว หุงหาอาหาร และเลี้ยงดูน้อง ๆ ซึ่งมีหลายคน งานนอกบ้าน
เช่น ช่วยแบ่งเบาภาระ ของบิดาในการดูแลบำรุงเรือกสวนไร่นาแล้วเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เป็นต้น

◎ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
แม้ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใคร ๆ ก็ต้องรู้สึกว่าน่าเพลิดเพลินและน่าลุ่มหลงอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะอยู่ในวัยกำลังงามแล้ว
ยังเป็นนักแสดงที่มีผู้นิยมชมชอบมากอีกด้วย ถึงกระนั้นหลวงปู่ดุลย์ ก็มิได้หลงไหลในสิ่งเหล่านั้นเลย ตรงกันข้ามท่านกลับมีอุปนิสัยโน้มเอียงไปทางเนกขัมมะ คือ อยากออกบวช จึงพยายามขออนุญาตจากบิดามารดา และท่านผู้มีพระคุณที่มีเมตตาชุบเลี้ยงแต่ก็ถูกท่านเหล่านั้นคัดค้านเรื่อยมา โดยเฉพาะฝ่ายบิดามารดา ไม่อยากให้บวช เนื่องจากขาดกำลังทางบ้าน ไม่มีใครช่วยเป็นกำลังสำคัญในครอบครัว
ทั้งท่านก็เป็นบุตรชายคนโตด้วย

แต่ในที่สุด บิดามารดา ก็ไม่อาจขัดขวางความตั้งใจจริงของท่านได้ ต้องอนุญาตให้บวชได้ตามความปรารถนาที่แน่วแน่ไม่คลอนแคลนของท่าน พร้อมกับมีเสียงสำทับจากบิดาว่าเมื่อบวชแล้วต้องไม่สึกหรืออยางน้อยต้องอยู่จนได้เป็นเจ้าอาวาส ทั้งนี้เนื่องจากปู่ของท่านเคยบวชและได้เป็นเจ้าอาวาสมาแล้ว และคงเป็นเพราะเหตุนี้ด้วยกระมัง ท่านจึงมีอุปนิสัย รักบุญ เกรงกลัวบาป มิได้เพลิดเพลินคึกคะนองไปในวัยหนุ่ม เหมือนบุคคลอื่น

ครั้นเมื่อได้รับอนุญาตจากบิดามารดาเรียบร้อยแล้วอย่างนี้ ท่านจึงได้ละฆราวาสวิสัย ย่างเข้าสู่ความเป็นสมณะ ท่านอุปสมบท ตรงกับปี พ.ศ.๒๔๕๓ ณ วัดจุมพลสุทธาวาส จ.สุรินทร์ ในกาลต่อมา นับว่าเป็นโชคของท่านก็ว่าได้ ท่านมีโอกาสได้คุ้นเคยกับ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ท่านรับราชการครู ทั้งที่ยังเป็นพระสงฆ์อยู่ในขณะนั้นที่วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลฯ ท่านอาจารย์สิงห์ได้ชอบอัธยาศัยไมตรีของหลวงปู่ดุลย์ และเห็นปฏิปทาในการศึกษาเล่าเรียน พร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติกิจในพระศาสนาของท่าน ว่าเป็นไปด้วยความตั้งใจจริง ท่านอาจารย์สิงห์จึงได้ช่วยเหลือท่านในการขอญัตติ จนกระทั่งประสบผลสำเร็จ

559000011098610

ท่านญัตติเป็นพระธรรมยุต เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๑ ณ วัดสุทัศนาราม จ.อุบลราชธานี โดยมีพระมหารัตน์ รัฏฐปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์
จากการที่ได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมและพิจารณาข้อธรรมะเหล่านั้นจนแตกฉานช่ำชองพอสมควรแล้ว ก็เห็นว่า การเรียนปริยัติธรรมอย่างเดียวนั้น เป็นแต่เพียงการจำหัวข้อธรรมะได้เท่านั้น ส่วนการปฏิบัติให้ได้ผลและได้รู้รสพระธรรมอย่างซาบซึ้งนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก จึงบังเกิดความเบื่อหน่าย และท้อถอยในการเรียนพระปริยัติธรรมและมีความสนใจโน้มเอียงไปในทางปฏิบัติธรรม ทางธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างแน่วแน่
นับว่าเป็นบุญลาภของหลวงปู่ดุลย์อย่างประเสริฐ ที่ในพรรษานั้นเองท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ พระปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายอารัญญวาสี ได้เดินทางกลับจากธุดงค์กัมมัฏฐาน มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี ข่าวที่พระอาจารย์มั่นมาจำพรรษา ที่วัดบูรพานั้นเลื่องลือไปทุกทิศทาง ทำให้ภิกษุสามเณร บรรดาศิษย์ และประชาชนแตกตื่นฟื้นตัวพากันไปฟังพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น

หลวงปู่ดุลย์กับอาจารย์สิงห์ ๒ สหายก็ไม่เคยล้าหลังเพื่อในเรื่องเช่นนี้ พากันไปฟังธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นกันเป็นประจำ ไม่ขาดแม้สักครั้งเดียว นอกจากได้ฟังธรรมะแปลกๆ ที่สมบูรณ์ด้วยอรรถพยัญชนะ มีความหมายลึกซึ้งและรัดกุมกว้างขวาง ยังได้มีโอกาสเฝ้าสังเกตปฏิปทาของท่านพระอาจารย์มั่น ที่งดงามน่าเลื่อมใสทุดอิริยาบถอีกด้วย ทำให้เกิดความซาบซึ้งถึงใจคำพูดแต่ละคำมีวินัยแปลกดี ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน จึงเพิ่มความสนใจใคร่ประพฤติปฏิบัติทางธุดงค์กัมมัฏฐานมากยิ่งขึ้นทุกทีฯ
ครั้นออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์มั่นได้ออกธุดงค์อีก ภิกษุ ๒ รูป คือ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโมกับหลวงปู่ดุลย์ จึงตัดสินใจสละทิ้งการสอนการเรียน ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นไปทุกแห่ง จนตลอดฤดูกาลนอกพรรษานั้น
ตามธรรมเนียมธุดงค์กัมมัฏฐานของพระอาจารย์มั่นมีอยู่ว่า เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา ไม่ให้จำพรรษารวมกันมากเกินไป ให้แยกกันไปจำพรรษาตามสถานที่อันวิเวก ไม่ว่าจะเป็นวัด เป็นป่า เป็นถ้ำ เป็นเขา โคนไม้ ป่าช้า ลอมฟาง เรือนว่าง หรืออะไรตามอัธยาศัย ของแต่ละบุคคล แต่ละคณะ

เมื่อออกพรรษาแล้ว หากทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นอยู่ ณ ที่ใด พระสงฆ์ก็พากันไปจากทุกทิศทุกทางมุ่งไปยัง ณ ที่นั้นเพื่อเรียนพระกัมมัฏฐานและเล่าแจ้งถึงผลการประพฤติปฏิบัติที่ผ่านมา เมื่อมีอันใดผิด พระอาจารย์จักได้ช่วยแนะนำแก้ไข อันใดถูกต้องดีแล้วท่านจักได้แนะนำข้อกัมมัฏฐานยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ดังนั้น เมื่อจวนจะถึงกาลเข้าปุริมพรรษา คือ พรรษาแรกแห่งการธุดงค์ของท่าน คณะหลวงปู่ดุลย์ จึงพากันแยกจากท่านพระอาจารย์มั่น เดินธุดงค์ผ่านไปทางอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้นถึงป่าท่าคันโท ก็สมมติทำเป็นสำนักวัดป่า เข้าพรรษาด้วยกัน ๕ รูป คือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ,ท่านพระอาจารย์บุญ ,ท่านพระอาจารย์สีทา ,ท่านพระอาจารย์หนู ,ท่านพระอาจารย์ดุลย์ อตุโล
ทุกท่านปฏิบัติตามปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฎ์แรงกล้า ปฏิบัติตามคำอบรมสั่งสอน ของท่านปรมาจารย์อย่างสุดขีด ครั้งนั้น บริเวณแห่งนั้นเป็นสถานที่ทุรกันดาร เกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์ป่าที่ดุร้าย ไข้ป่าก็ชุกชุมมาก ยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้

ดังนั้นยังไม่ทันถึงครึ่งพรรษาก็ปรากฏว่า อาพาธเป็นไข้ป่ากันหมด ยกเว้นท่านอาจารย์หนูองค์เดียว ต่างก็ได้ช่วยรับใช้พยาบาลกันตามมีตามเกิด หยูกยาที่จะนำมาเยียวยารักษากันก็ไม่มีความป่วยไข้เล่าก็ไม่ยอมลดละ จนกระทั่งองค์หนึ่ง ถึงแก่มรณภาพลงในกลางพรรษานั้น ต่อหน้าต่อตาเพื่อนสหธรรมิกอย่างน่าเวทนา

สำหรับหลวงปู่ดุลย์ ครั้นได้สำเหนียกรู้ว่า มฤตยูกำลังคุกคามอย่างแรงทั้งหยูกยาที่จะนำมารักษาพยาบาลก็ไม่มี จึงตัดเตือนตนว่า “ถึงอย่างไร ตัวเราจักไม่พ้นเงื้อมมือของความตายในพรรษานี้เป็นแน่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้นเราจักตาย ก็จงตายในสมาธิภาวนาเถิด” จึงปรารภความเพียรอย่างเอาเป็นเอาตาย ตั้งสติให้สมบูรณ์พยายามดำรงจิตให้อยู่ในสมาธิอย่างมั่นคงทุกอริยาบถ พร้อมทั้งพิจารณาความตาย คือ มีมรณัสสติกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์ไปด้วย โดยไม่ย่อท้อพรั่นพรึงต่อมรณภัยที่กำลังคุกคามจะมาถึงตัวในไม่ช้านี้เลย

ณ ป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์นี้เอง การปฏิบัติทางจิตที่หลวงปู่ดุลย์พากเพียรบำเพ็ญอยู่อย่างไม่ลดละ ก็ได้บังเกิดผลอย่างเต็มภาคภูมิ กล่าวคือ ขณะที่นั่งภาวนาอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนดึกมากนั้น จิตก็ค่อย ๆ หยั่งลงสู่ความสงบ และให้บังเกิดนิมิตขึ้นมา คือ เป็นพระพุทธรูปปรากฏขึ้นที่ตัวของท่าน ประหนึ่งว่าตัวของท่านเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ท่านพยายามพิจารณารูปนิมิตต่อไปอีก แม้ขณะที่ออกจากที่บำเพ็ญสมาธิภาวนาแล้วและขณะออกเดินไปสู่ละแวกบ้านป่า เพื่อบิณฑบาต ก็เป็นปรากฏอยู่เช่นนั้น

วันต่อมาอีกก่อนที่รูปนิมิตจะหายไป ขณะที่เดินกลับจากบิณฑบาต ท่านได้พิจารณาดูตนเองก็ได้ปรากฏเห็นชัดว่า เป็นโครงกระดุกทุกส่วนสัด วันนั้นจึงเกิดความรู้สึกไม่อยากฉันอาหารจึงอาศัยความเอิบอิ่มใจของสมาธิจิตกระทำความเพียรต่อไป เช่น เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้างตลอดวันตลอดคืน และแล้วในขณะนั้นเองแสงแห่งพระธรรมก็บังเกิดขึ้น ปรากฏแก่จิตของท่าน

559000011098611

รู้ชัดว่าอะไรคือจิต อะไรคือกิเลส จิตปรุงกิเลสหรือกิเลสปรุงจิต และเข้าใจสภาพเดิมของจิตที่แท้จริงได้จนรู้กิเลสส่วนไหนละได้แล้ว
ส่วนไหนยังละไม่ได้ ดังนี้

๑. บำเพ็ยเพียรภาวนาเป็นปกติไม่ขาดสาย ไม่เคยขาดตกบกพร่อง กลางคืนจะพักผ่อนเพียง ๒ ชั่วโมงเท่านั้น
๒. ฉันมื้อเดียวตลอดมา เว้นแต่เมื่อมีกิจนิมนต์จึงฉัน ๒ มื้อ
๓. มีความเป็นอยู่ง่าย เมื่อขาดไม่ดิ้นรนแสวงหา เมื่อมีไม่สั่งสม
เป็นอยู่ตามมีตามเกิดเจริญด้วยยถาลาภสันโดษ (คือสันโดษ ได้อย่างไร บริโภคอย่างนั้น)
๔. มีสัจจะ พูดอย่างไรต้องทำอย่างนั้น มีความตั้งใจจริง จะทำอะไรแล้วต้องทำจนสำเร็จ
๕. สัลลหุกวุตติ เป็นผู้มีความประพฤติเบากาย เบาใจ คือ เป็นผู้คล่องแคล่วว่องไว
เดินตัวตรงและเร็ว แม้เวลาตื่นนอนพอรู้สึกตัวท่านจะลุกขึ้นทันที เหมือนคนที่พร้อมอยู่ตลอดเวลา
๖. นิยมการทำตัวง่ายๆ สบายๆ ไม่มีพิธีรีตอง มักตำหนิผู้ที่เจ้าบทบาท มากเกินควร
๗. การปฏิสันถาร ท่านปฏิบัติเป็นเยี่ยมตลอดมา

หลวงปู่ดุลย์ เป็นผู้มีอุปนิสัยเยือกเย็น พูดน้อย สงบ อยู่เป็นนิตย์ มีวรรณผ่องใส ท่านรักความสงบจิตใจใฝ่ในความวิเวกมาก
จะเห็นได้ว่าท่านชอบสวดมนต์บท “อรญฺเญ รุกขมูเลวา สุญฺญาคาเรวา ภิกฺขโว … ” มาก

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ณ วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ สิริอายุ ๙๕ ปี ๒๖ วัน
พรรษา ๖๕ แม้ว่า หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ได้สละทิ้งร่างกายไปแล้ว แต่เมตตาธรรมที่ท่านได้ประสาทไว้แก่สานุศิษย์ทั้งหลาย
ยังเหลืออยู่ คุณธรรมดังกล่าวยังคงประทับอยู่ในจิตใจของทุกๆ คนไม่ลืมเลือน

“..ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งใน ขันธ์๕ แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท
หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกริยาจิต มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่ บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง มหาสุญตา ว่างมหาศาล..”
โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล


เรียบเรียงโดย http://www.kammatan.com ขอบพระคุณข้อมูลจาก : ท่องถิ่นธรรม พระกัมฐาน ด้วยนะครับ

Comments

comments