KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับรวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Galleryบทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะชีวิตคือการท้าทาย พระอาจารย์ ชยสาโร ภิกขุ
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตคือการท้าทาย พระอาจารย์ ชยสาโร ภิกขุ  (อ่าน 10011 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: พฤษภาคม 03, 2010, 05:44:08 PM »

ชีวิตคือการท้าทาย
พระอาจารย์ ชยสาโร  ภิกขุ




         คำว่า “ในโลกที่เป็นจริง” เป็นสำนวนที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่าเรารู้จักโลกที่เป็นจริงนั้นจริงหรือ  การประพฤติปฏิบัติไม่ใช่ความพยายามที่จะหนีจากโลกที่เป็นจริงแบบหลับหูหลับ ตาอย่างที่เคยมีการกล่าวหา ตรงกันข้าม  เป็นวิธีการเดียวที่สามารถนำเราไปสู่โลกที่เป็นจริงได้  โดยธรรมดาแล้ว มนุษย์เราไม่รู้จักโลกนี้เลย และไม่สนใจที่จะรู้จัก    เราชอบอยู่ในโลกส่วนตัวที่เราสร้างขึ้นมาด้วยอวิชชาและตัณหาเสียมากกว่า  ไม่ได้อยู่กับสิ่งที่มีจริงเป็นจริงอยู่ในปัจจุบันแล้วยิ่งให้ความสำคัญกับ สิ่งที่ล่วงลับไปแล้ว  ผ่านไปแล้วมากเท่าไร  ก็ยิ่งยากที่จะอยู่ในโลกที่เป็นจริงมากเท่านั้น
 
        ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม คือผู้ไม่กล้าแสวงหาโลกที่เป็นจริง  เป็นการขาดความรับผิดชอบต่อชีวิตคน  คือการไม่พยายามที่จะเข้าถึงแก่นสารของชีวิต  หรือสิ่งที่สูงสุดที่เราควรจะได้จากการเกิดเป็นมนุษย์  แต่กลับหนีจากตนเองอยู่เรื่อย  ด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา   อันเป็นกุศลบ้าง  อกุศลบ้าง
 
       นักปฏิบัติคือนักรบ คือผู้ที่มองชีวิตเป็นการท้าทาย  เป็นผู้ที่พร้อมที่จะอยู่กับความจริงอยู่เสมอ  ไม่ว่าความจริงนั้นน่าปรารถนา  หรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม  เพราะอะไร  ก็เพราะรักความจริง   การยอมอยู่กับความจริง ทำให้เราได้สละของเก๊ออกจากชีวิต  เราจึงควรพากเพียรด้วยความจริงใจที่จะถึงความจริง  เพื่อให้ชีวิตเป็นจริงอยู่ในโลกที่เป็นจริง  เพื่อให้พ้นจากภาวะชีวิตที่ไร้แก่นสาร   ที่ว้าเหว่ ว่างเปล่าหรืออ้างว้าง   นี่คือวิวัฒนาการที่แท้ของมนุษย์   วิวัฒนาการจากการไม่มีแก่นสารสาระไปสู่สาระแก่นสาร  และความประเสริฐของมนุษย์อยู่ตรงนี้เอง  เป็นทางไปสู่ชีวิตที่มีศักดิ์ศรี

          ทุกวันนี้เราชอบใช้คำว่า “ศักดิ์ศรี ” ไม่ถูก  คือพูดไปพูดมามันกลายเป็นเรื่องของอัตตาตัวตนเสีย  เช่น  เมื่อเราพูดว่าการกระทำอย่างนี้ หรือเหตุการณ์นี้  ทำให้เสียศักดิ์ศรี เรามักจะหมายถึงการเสียหน้า แต่ศักดิ์ศรีของเราไม่ได้อยู่ที่หน้า  หากอยู่ที่ใจ  ถ้าเราไม่อยากเสียศักดิ์ศรี  ก็ต้องป้องกันจิตใจของเรา ด้วยอำนาจของศีล  สมาธิ และปัญญา  

          การสำคัญมั่นหมายในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและดับไปในจิตใจ  เป็นความเคยชินของมนุษย์ปุถุชน  และทำให้ชีวิตสับสนวุ่นวายเป็นธรรมดา  จนกระทั่งเรามักหลงว่าความไม่สงบเป็นเรื่องปกติ  การมาร่วมงานปฏิบัติธรรมอย่างนี้  การมาฝึกนั่งสมาธิภาวนา  ก็เพื่อเปิดเผยความผิดปกติของตนเอง  เราเคยชินกับการเป็นอย่างนี้มานานแล้ว จึงไม่ค่อยรู้สึกตัว    การปฏิบัติธรรมคือการเผชิญหน้ากับความจริงแต่จะให้ทุกคนนั่งสมาธิคงยาก  เราจึงต้องมีพระสงฆ์  สถาบันสงฆ์  หรือสถาบันนักบวชไว้ในสังคม เพื่อเป็นแหล่งของความปกติ   เพื่อสะท้อนให้ผู้ที่ไม่ปกติทั้งหลายได้เห็นหรือได้สำนึกในความไม่ปกติของ ตน  เพื่อว่าเห็นแล้วอาจจะมีฉันทะ  ความพอใจ  ความตั้งใจ ที่จะเพียรพ้นจากภาวะนั้น

        ฉะนั้น   จุดเริ่มต้นของการแสวงหาแก่นสารของชีวิต หรือแสวงหาชีวิตที่สมบูรณ์  เกิดจากการยอมรับว่า ชีวิตของเรายังไม่สมบูรณ์   ยังไม่เป็นอิสระ  เรายังไม่เป็นตัวของตนเอง  เมื่อเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายที่จะเป็นหุ่นให้กิเลสเชิดนั่นแหละ  คือจุดที่เราเริ่มสนใจในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง



        จุดนี้เป็นจุดวิกฤติ  เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต  คือจุดที่ความรู้สึกที่ไม่เคยมีมาก่อนเกิดขึ้นอยู่ในใจ  ว่าการที่เราจะเพลิดเพลิน  หรือฝากความหวังในชีวิตไว้กับสิ่งที่มีความเกิด  แก่ เจ็บ  ตาย เป็นธรรมดา  ไม่เหมาะสม   เป็นการเสียศักดิ์ศรี  และเป็นการทำลายประโยชน์สุขที่ควรจะได้จากการเกิดเป็นมนุษย์

        ญาติโยม  เป็นผู้มีบุญทุกคน   เพราะอะไร   เพราะได้เกิดเป็นมนุษย์  เป็นคนไทย  เป็นชาวพุทธ  เพราะมีศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติ  นี่คือทุนเดิม  แต่เมื่อเริ่มมาปฏิบัติแล้ว  ก็ขอให้เอาจริงเอาจังหน่อย  เพราะว่าโอกาสอย่างนี้หายาก  ตั้งแต่เรามาปฏิบัติธรรมที่นี่   ก็ให้สังเกตเห็นว่าในแต่ละวันหรือแต่ละชั่วโมง  จิตใจของเราอยู่ในโลกที่เป็นจริงสักกี่เปอร์เซ็นต์  จิตใจกล้าที่จะอยู่ในโลกที่เป็นจริง  พอใจที่จะอยู่กับตนเองอย่างแท้จริงมากน้อยสักแค่ไหน  เรื่องการปฏิบัติพูดไม่ยาก  อ่านหนังสือแล้วรู้สึกง่าย ๆ  ฟังเทศน์ ฟังธรรม  ก็ไม่น่าจะยาก  เทศน์ให้เพื่อนฟังก็ยิ่งง่าย  แต่การที่จะทำจริง ๆ นั้น ยากมาก  แล้วสิ่งใดที่ยากมักจะชวนให้เราเสียกำลังใจ  ใครที่รู้สึกท้อถอยกับความยากลำบาก  จึงควรฝึกให้เห็นว่าเป็นเรื่องสนุก   ตรงที่มันยากนั่นแหละมันสนุก  สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ สนุกไหม  มันซ้ำซากใช่ไหม  จำเจ  มันก็แค่นั้นแหละ  สิ่งที่ยากลำบากเป็นการท้าทาย  นั่นแหละเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแก่เรา  แล้วที่มันยาก  ไม่ใช่ว่ายากแต่เราคนเดียว  ยากทุกคน  อาตมาก็ยาก  ครูบาอาจารย์ของอาตมาก็ยาก  ที่มันง่ายๆ  ราบรื่น  ไม่มีปัญหาอะไรขัดข้องเลย  เกือบจะไม่มี   และถ้าราบรื่นมาก  ต่อไปอาจจะเป็นอาจารย์ที่สอนคนอื่นไม่ค่อยเป็น  เพราะว่าไม่เคยมีประสบการณ์กับปัญหาที่ลูกศิษย์ ลูกหากำลังเผชิญกันอยู่  ฉะนั้น   เมื่อเจอปัญหาที่เหนียวแน่น ๆ ก็ควรปลอบใจตนเองได้ว่า เป็นประสบการณ์ที่ดี  ที่มีประโยชน์  ผ่านพ้นไปแล้วเราจะได้มีความรู้สึกที่ดี  แบ่งปันให้แก่เพื่อนมนุษย์  เขาจะได้ไม่ต้องปฏิบัติยากมากเหมือนเรา


ขอบพระคุณข้อมูลจากลานธรรม ครับผม http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/007987.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 03, 2010, 05:49:20 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 03, 2010, 05:50:47 PM »

          วิธีปฏิบัติถึงจะมีมากมาย  ไม่มีวิธีใดที่จะเลี่ยงอุปสรรคได้  ดังนั้น ถ้าเราปฏิบัติแล้วเจอนิวรณ์  ก็อย่าไปสงสัย  ว่าเป็นเพราะเทคนิคที่เราใช้ไม่ถูกจริตนิสัย  หรือเพราะเราเป็นคนบุญน้อยวาสนาน้อยหรือว่าดวงไม่ดี ฯลฯ   แต่ให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาในเบื้องต้นของการปฏิบัติ  เป็นสิ่งที่ต้องเจอทุกคน  ไม่ว่าใช้อารมณ์กรรมฐานหรือเทคนิคใดก็ตาม  ปุถุชนเราต้องเจอแน่  แต่เราจะปฏิบัติต่อมันอย่างไร  นั่นแหละคือเรื่องสำคัญ  หากไม่ฉลาด   นิวรณ์ก็จะครอบงำจิต  แต่ถ้าใช้ปัญญา   อาจกลายเป็นปุ๋ยของต้นไม้แห่งคุณธรรมที่เรากำลังปลูกอยู่
        
           สิ่งที่นักปฏิบัติต้องระวังอยู่เสมอคือการปฏิบัติด้วยตัณหา  โดยเฉพาะภวตัณหา  กับวิภวตัณหา  จะเด่นขึ้นมาตอนนี้   ภวตัณหานั้นคือความอยากมี  อยากเป็น  อยากให้จิตสงบ  อยากให้มันเป็นอย่างที่เราวาดภาพเอาไว้หรือคาดหวังเอาไว้  อยากเป็นเหมือนอย่างที่เพื่อนเขาเป็นหรือที่อาจารย์ท่านเป็น    วิภวตัณหาคือ  ไม่อยากให้มันเป็นอย่างนี้  ไม่อยากที่จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอ่างนี้  รู้สึกหงุดหงิดรำคาญ  น้อยใจ และพยายามบังคับไม่ให้เป็นอย่างนี้   ถ้าปฏิบัติโดยบังคับจิตใจด้วยแรงตัณหา  แทนที่จิตจะสงบ   จะกลับฟุ้งซ่านมากขึ้น   เหมือนเด็กเกเรถูกพ่อแม่ดุแล้วซนมากขึ้น  ฉะนั้น  ท่าทีที่ถูกต้องต่อนิวรณ์ที่เกิดขึ้นก็เหมือนท่าทีของแม่บ้านต่อพวกขายของ ที่มาเคาะประตู  แม่บ้านใจดีจะตอบด้วยความสุภาพอ่อนโยนว่า   ขอบคุณแต่ไม่ต้องการ  ไม่ต้องไปด่าเขา  พ่อค้าทำตามหน้าที่ของเขา  จะไปทะเลาะวิวาทกับเขาหรือพยายามไล่เขาตะพึดก็ไม่เหมาะ   เพียงแต่ตอบด้วยความสุภาพว่า ไม่ขาดอะไร  ไม่ต้องการก็หมดเรื่อง  นิวรณ์ต่าง ๆ มารบกวน  เราไม่ต้องไปยุ่งกับมันมาก  ไม่ต้องไปทะเลาะกับมัน  สักแต่ว่าตอบด้วยท่าทีสุภาพอ่อนโยน  แต่แฝงด้วยความเด็ดขาดว่า ไม่ต้องการ  นิวรณ์จะหนีไปเอง  “บ้านนี้ไม่เอาจริง ๆ เสียเวลาเปล่า ๆ ไปเถิด”



               อย่างไรก็ตาม   การกำจัดนิวรณ์จะได้ผลเร็วเมื่อใช้ปัญญาพิจารณา  จะเห็นว่านิวรณ์เป็นของไร้ค่า  เป็นของทิ้ง  เราจะมัวคิดปรุงแต่งเรื่องเหลวไหลทั้งวัน  ทั้งเดือน ทั้งปี ทั้งชาติ ทั้งกัปทั้งกัลป์  แล้วเราจะได้กำไรอะไร  ไม่ได้อะไรเลย เป็นกำไรชีวิตของเราอย่างแท้จริง   นี่เป็นคำถามที่ต้องซักตนเองบ่อย ๆ   ส่วนมากคนเราจะมองว่าการได้เห็นรูปที่สวยงาม  ได้ยินเสียงที่ไพเราะ  ได้กลิ่นที่หอมหวน  ได้รสที่อร่อย  ได้สัมผัสที่นุ่มนวล  นั่นแหละเป็นกำไรชีวิต  แต่สมมุติว่าเดี๋ยวนี้ เราเกิดไม่สบาย  มีทุกขเวทนา  เจ็บปวดอย่างรุนแรง  ความสุขที่เราเคยได้จากรูป เสียง กลิ่น รส  สัมผัส  มันช่วยเราได้ไหม  ในขณะนี้  ความสุขทั้งหลายทั้งปวงที่เราเคยได้จากสิ่งเหล่านี้  ก็ไม่มีความหมายเสียเลย  เหลือแต่สัญญา  เหลือแต่ความจำ  และเมื่อทุกขเวทนาครอบงำจิตใจ  ความจำที่หวานชื่นนั้นก็หายไปเลย  ฉะนั้นให้มองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นแค่มายา
        
               ชีวิตที่เป็นจริง  โลกที่เป็นจริงมีไว้สำหรับผู้ที่ได้ฝึกให้อยู่กับปัจจุบันเท่านั้น  ชีวิตจะมีชีวาสำหรับผู้ที่รู้จักอยู่ในปัจจุบัน  ผู้ที่ไม่รู้จักปัจจุบัน  ไม่เคยลิ้มรสชีวิตที่ปราศจากนิวรณ์  ผู้นั้นไม่มีทางที่จะรู้ถึงความหมายอันลึกซึ้งของคำว่า สดชื่น  เบิกบาน  เพราะฉะนั้น  การกล่าวหาศาสนาพุทธว่ามองโลกในแง่ร้าย   หรือมองชีวิตในแง่ร้ายนั้น  จึงเป็นคำกล่าวหาที่ตลก  เพราะว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มองโลกในแง่ดี   ดีกว่าศาสนาอื่นทั้งหมดด้วยซ้ำไป  เพราะถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ  เพราะสามารถเข้าถึงความอิสระได้  โดยไม่ต้องอ้อนวอนพระเจ้าหรือทวยเทพที่ไหน  มาดลบันดาลให้เรามีความสุข  ชาวพุทธเราไม่เชื่อว่า ชีวิตเป็นไปตามดวง  เป็นไปตามพรหมลิขิต  แต่มั่นใจว่า ชีวิตของเราเป็นไปตามอำนาจของการกระทำด้วยกาย  วาจา  ใจ เท่านั้น

               การประพฤติปฏิบัติธรรม จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ ที่สมบูรณ์  เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์แล้ว เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้   จำเป็นต้องมีการกระทำด้วยกาย  วาจา  ใจ  ตลอดเวลา   การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา  ท่านเรียกว่า “กรรม”  และกรรมย่อมมีผลอยู่เสมอ  กรรมดีมีผลดี  กรรมชั่วมีผลชั่ว  เป็นหลักง่าย ๆ แต่ทำไม เราชอบลืมหลักนี้อยู่เรื่อย ๆ  ถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรม เช่นอ้างว่าไม่มีเวลา  ไม่ใช่ว่าเราไม่ปฏิบัติอะไรเลย   เพราะการปฏิบัติคือการกระทำ  หยุดไม่ได้  ไม่ปฏิบัติธรรมก็ย่อมปฏิบัติสิ่งที่ไม่ใช่ธรรม คือสิ่งที่เป็นอธรรม  การสร้างกรรมมีอยู่ทุกคนยกเว้น พระอรหันต์  จะยอมรับในกฎแห่งกรรม  หรือไม่ยอมรับก็ตาม  มันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น  ฉะนั้น  ผู้ฉลาดจะต้องสนใจการสร้างกรรมของตนเอง  และพยายามกำกับการสร้างกรรมของตนนั้นให้เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์  เพราะฉะนั้น  การปฏิบัติจึงไม่ใช่การนั่งสมาธิ  หรือเดินจงกรม อย่างเดียว   แต่การปฏิบัติอยู่ที่การพยายามอยู่กับตนเองในปัจจุบัน  ความพยายามที่จะทำหน้าที่ของตนโดยไม่เป็นทุกข์ และไม่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้คนอื่น  ทั้งผู้ที่เกิดแล้วและยังไม่เกิด   ตัวอย่างของการสร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้แก่คนที่ยังไม่เกิด คือการทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว   ซึ่งจะมีผลทำให้คนที่ยังไม่เกิดคือลูกของเรา หลานของเรา  เหลน โหลน ที่ยังไม่เกิด ต้องทุกข์ทรมาน ซึ่งเป็นความโหดเหี้ยมที่เรามักจะมองข้าม
      
             การฝึกปฏิบัติควรมองชีวิตเป็นการท้าทาย ว่าทำอย่างไรจะได้ทำหน้าที่ของเราโดยไม่เป็นทุกข์  ทำอย่างไร จึงจะไม่ให้การทำหน้าที่ของเราเสียความสมดุลของจิต  ทำอย่างไร จึงจะอยู่ด้วยสติปัญญา  ท่ามกลางคนที่ไม่มีสติ  ไม่มีปัญญา  ทำอย่างไร เราจึงจะดำรงชีวิตอย่างไม่เห็นแก่ตัว  ท่ามกลางสังคมที่เห็นแก่ตัว   ทำอย่างไร เราจึงจะได้เข้าถึงความเป็นปกติ  ท่ามกลางสังคมที่พอใจและยินดีในความไม่ปกติ  ชีวิตคือการท้าทาย  ชีวิตที่มีการท้าทาย เป็นชีวิตทีสนุก  มีรสชาติ  เป็นชีวิตที่มีชีวา   เพราะฉะนั้น คนที่วิ่งตามอารมณ์อยู่ตลอดเวลา  วิ่งไปหาความสุขนอกตัวอย่างกระเสือกกระสน ดิ้นรน  คนอย่างนี้มีชีวิตที่ถูกคุกคามด้วยความรู้สึกซ้ำซากจำเจ อยู่ตลอดเวลา  แล้วใจที่สุด  เขาได้อะไร  เขาได้รูป เสียง กลิ่น รส  สัมผัส  ก็วกวนอยู่ในสิ่งเหล่านี้  จะเลิศ  ประเสริฐศรีสักเท่าไร   ก็ไม่พ้นจากความเป็นรูป  ไม่พ้นจากความเป็นเสียง  ไม่พ้นความเป็นกลิ่น  มันก็แค่นั้นเอง  เราะไปวิ่งกระโดดโลดเต้นอะไรกับมันนักหนา


ขอบพระคุณข้อมูลจากลานธรรม ครับผม http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/007987.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 03, 2010, 05:55:00 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: พฤษภาคม 03, 2010, 05:52:39 PM »

                ถ้าเราได้ฝึกปฏิบัติ  จิตใจจะเกิดความสันโดษมักน้อย  พอใจอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง และจะเลิกเสพติดรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส  อย่างหลงใหล  จะเข้ามาอยู่ในความสงบ  ซึ่งจะทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่เราเคยมองว่าเป็นความสุขอันสูงสุดในชีวิต  แท้ที่จริง แล้ว มันเป็นความสุขที่หยาบ  เป็นความสุขที่ร้อน  เมื่อเรามีความสุขภายใน อิ่มแล้ว   เราก็ไม่ยอมฝากความหวังในความสุขไว้กับสิ่งที่ทรยศทั้งหลาย คือรูป เสียง กลิ่น  รส  สัมผัส  เราจะแสวงหา เสพเสวยสิ่งเหล่านั้น อย่างเป็นอิสระ   อย่างเป็นตัวของตนเอง  กลายเป็นงานอดิเรก  ไม่ใช่งานหลักของชีวิต  ความเป็นอิสระนั้น   ไม่ใช่อิสระในการบริโภค  เช่นอยากจะซื้อของญี่ปุ่นก็ซื้อได้  อยากจะซื้อของยุโรปก็ซื้อได้  อยากจะซื้อของไทยก็ซื้อได้   อย่างนั้นไม่ใช่ความเป็นอิสระที่พระพุทธองค์ทรงมุ่งหวัง  ความเป็นอิสระในความหมายของพุทธศาสนาคือซื้อก็ได้  ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร   สามารถทำสิ่งที่ถูกต้องทั้ง ๆที่บางครั้ง บางคราวไม่ถูกใจ  บูชาและเทิดทูนความถูกต้องและมีความรู้สึกอันละเอียดอ่อนต่อความเหมาะสมอยู่ เป็นที่พึ่งทางใจ  นี่แหละผลที่เกิดจากการฝึกสติ  จากการเจริญสมาธิภาวนา
       
               หากจิตใจของเราไม่เคยได้ชิมรสของสมาธิ ก็ยากที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า “กิเลส”  ฟังท่านอธิบายว่ากิเลสคือความเศร้าหมอง  ก็สักแต่ว่าฟัง  แต่เราไม่เห็น  เราไม่เป็น  แต่เมื่อเราเห็นกิเลสตามความเป็นจริงว่า เป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองแท้ ๆ  ความละอายต่อบาป  ความเกรงกลัวต่อบาป  ความเบื่อหน่าย ในความยึดมั่นถือมั่น  ในการหมายมั่นปั้นมือ  จะเริ่มเกิดขึ้นเอง  ที่จริง แล้ว แนวทางปฏิบัติก็ตรงไปตรงมา  แต่พวกเราก็ยังคดยังเคี้ยวอยู่  ยังไม่ยอม  การปฏิบัติคือการยอม  ต้องยอม  ต้องยอมรับความจริง   ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็เพราะเราไม่ยอมรับความจริง   ถ้าหากเรายอมแล้ว  มันจะสงบทันที    การปฏิบัติไม่ใช่เป็นสิ่งที่สลับซับซ้อน  ไม่ต้องสะสมข้อมูลมาก  เอาแต่เพียงหลักการง่าย ๆ แล้วก็ทำตาม นี่ก็พอแล้ว  ยุคนี้ที่เขาเรียกกันว่า ยุคข่าวสารข้อมูล  คนในยุคนี้เกิดมีปัญหาในการปฏิบัติ  มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะขาดข้อมูลบางอย่าง คือสงสัยว่า  น่าจะมีเคล็ดลับอะไรสักอย่าง  หรือคำสอนพิเศษสักอย่างหนึ่งที่เรายังไม่ได้อ่าน  ยังไม่ได้ฟัง  ที่อาจารย์ยังไม่ได้ บอก  ซึ่งถ้าเราได้รู้จักคำสอนข้อนั้นแล้ว  ปัญหาของเราก็คงจะดับไป  คือมองสมุทัย  มองเหตุให้เกิดทุกข์ว่า  คืออยู่ที่การขาดข้อมูล  ในบางกรณี  เป็นไปได้เหมือนกัน  แต่โดยทั่วไปเป็นความคิดผิด  ข้อมูลนั้น เพียงพอแล้ว  ไม่ต้องมากเท่าไรหรอก  ปัญหาคือ ที่มีแล้วเรายังไม่ได้ย่อย  ยังไม่ได้ทำให้เป็นของเราอย่างแท้จริง   บางทีอาจเป็นเพราะว่าคำสอนยังขังอยู่ในสมอง  เส้นทางจากสมองไปสู่หัวใจมันยังอุดตันอยู่  การปล่อยวางความสงสัยและลงมือภาวนาจึงเหมือนการชำระเส้นทางระหว่างสมองกับ หัวใจให้เปิดถึงกัน  เสร็จแล้วสิ่งที่เราเคยเรียนมา “เข้าใจ” จริง  ซึ่งเป็นการนำเอาสิ่งที่เป็นภาษา  ไปสู่แดนที่เหนือภาษา คือบางสิ่งบางอย่างคิดเท่าไรก็มองไม่เห็น  รู้เรื่องแต่ยังไม่รู้ถึงเนื้อแท้ของมัน  ยังไม่ทะลุปรุโปร่ง  เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็ยังเป็นทุกข์อยู่  ฉะนั้น ต้องฝึกให้ถึงขึ้นที่ปล่อยวางความยึดติดได้

            นิวรณ์ทั้งหลายเหมือนน้ำมูก   คือเป็นอาการของโรค   เป็นของสกปรก  ไม่มีประโยชน์ ใครเคยเสียดายน้ำมุกไหม  สั่งมันออกไปแล้วใครเคยคิดที่จะเก็บน้ำมูกอีกครั้งหนึ่งบ้างไหม  น่าเกลียดใช่ไหม  แต่ทำไมกิเลสซึ่งน่าเกลียดกว่าน้ำมูกตั้งเยอะ  เราหวงแหนเหลือเกิน  ไม่ยอมไล่ออกไปสักที   ครูบาอาจารย์ เห็นความไม่เอาไหนของเรา ท่านจึงสอนให้เรากล้าตายก่อนตาย  ต้องตายจากอดีต  ตายจากอนาคต  ตายจากความคิดเหลวไหล
       
            คนที่ศึกษาทางโลกมาก  มักเอาความคิดหรือความเห็นเป็นที่พึ่ง   น่าสังเกตว่า หลาย คนที่เรียนหนังสือเก่ง  การแต่งตัวก็ไม่ค่อยสนใจ  เรื่องอาหารการกินก็ไม่ค่อยสนใจ แต่เวลาไปไหนจะต้องมีหนังสือติดไปด้วย  ขาดไม่ได้  เอาหนังสือเป็นที่พึ่ง  เอาการอ่านหนังสือเป็นที่พึ่ง  เอาจินตนาการเป็นที่พึ่ง   ถึงจะอยู่คนเดียวก็ไม่ได้อยู่กับตนเอง   จะให้อยู่กับตนเองอย่างแท้จริง หรือให้เผชิญอยู่กับโลกที่เป็นจริงก็ยังไม่กล้า  ยังไม่ยอมตายก่อนตาย
       
             นักปฏิบัติต้องกล้าตาย  ตายจากกิเลส  ตายจากสัญญาเก่า ตายจากความรู้เก่า จึงจะได้ เกิดเป็นคนใหม่ ต้องเกิดใหม่ แล้วเราจะกล้าไหม  มันก็น่ากลัว แต่ถ้าไม่กล้าจะไม่เจอของใหม่  ชีวิตจะไม่มีวันสดชื่น  แต่ถ้ากล้าอยู่ในโลกที่เป็นจริง  จิตจะแช่มชื่น เบิกบาน  พระพุทธองค์จึงตรัสว่า ภาวะจิตของผู้ที่ตายจากของเก่าแล้ว  ตายจากสิ่งไร้แก่นสารสาระแล้ว คือความรู้  ความตื่น  ความเบิกบาน   และเป็นสิทธิ์ของมนุษย์ทุกคนที่จะเข้าถึงภาวะนี้  ขออย่านอนหลับทับสิทธิ์นี้ไว้  ขอให้ตั้งใจเข้าถึงให้ได้  ขอให้ฉวยโอกาสที่ได้เกิดเป็นมนุษย์    ที่ได้เกิดเป็นชาวพุทธ  และได้เกิดเป็นคนไทย   สมมุติว่าเราเกิดเป็นชาวอิรัก อิหร่าน  โอกาสที่จะได้มานั่งฟังเทศน์ฟังธรรม หรือนั่งสมาธิ คงไม่มีเลย   แต่เรามีบุญที่ได้เกิดในประเทศนี้
       
               คำสอนทางพระพุทธศาสนา  เปรียบเหมือนยารักษาโรค  ท่านค้นคว้าหายาแล้ววางไว้ต่อหน้าเราด้วยพระมหากรุณาธิคุณ  แต่ท่านบังคับให้เราทานยานั้นไม่ได้   นั่นเป็นหน้าที่ของเราต่างหาก  เสียดายว่าพวกเราชอบประมาทแทนที่จะทานยา กลับอ้างว่ายังไม่ป่วย  เอาไว้ให้แก่ก่อนจึงค่อยทาน หรือมัวแต่อ่านฉลาก   และท่องจำสรรพคุณของยาและส่วนประกอบ  บางคนเอาขวดยาไปแขวนคอก็ยังมี  ที่จริงแล้ว  ยาเป็นสิ่งที่ต้องทาน เพื่อรักษาโรค  เรามีโรคคือกิเลสทุกคน  ยาก็มีเรียบร้อยแล้ว ทำไมเราไม่ยอมทาน  ให้เตือนสติตนเองอย่างนี้เสมอ
 
             ขอให้พวกเราอดทนให้มาก   ความอดทนนี่แหละเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง  มาเข้ากรรมฐานอยู่ที่นี่แล้วได้แต่ความอดทนอย่างเดียวก็ไม่ขาดทุน  ได้กำไรมหาศาล  แต่คงจะได้มากกว่านั่นอยู่หรอก  อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นตนเองมากขึ้น  รู้จักธรรมชาติของตัวเราได้มากขึ้น     เมื่อเรารู้จักธรรมชาติของตนเอง  เราก็ย่อมรู้จักธรรมชาติของคนอื่นไปด้วย   เพราะจิตใจของคนเราคล้ายกันหมด  ความเข้าใจธรรมชาติคือปัญญา

             ปัญญาที่รู้ความจริงย่อมทำให้เกิดความกรุณาเป็น ธรรมดา   ปัญญาและความกรุณาแยกออกจากกันไม่ได้  เมื่อเราเห็นความทุกข์ว่าเกิดขึ้นจากกิเลสและทรมานจิตใจอย่างไร  เราก็สงสารตนเอง อยากพ้นจากความทุกข์  เมื่อเห็นคนอื่นเป็นทุกข์ เพราะกิเลส   เหมือนกับเรา   ก็ไม่โกรธเขา  เห็นใจ  สงสาร  อยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์เหมือนกัน  ท่านจึงอุปมาว่า  ปัญญาและความสงสารเป็นเหมือนปีกสองปีกของนกอินทรีย์  ฉะนั้น  ชีวิตของผู้มีปัญญาย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ และความสุขของมวลมนุษย์โดยแท้
       
             สุดท้ายนี้ ขอเตือนญาติโยมว่า  เมื่อเรามีศรัทธาหันมาสนใจทางนี้แล้ว อย่าไปหวังว่า คนอื่นจะต้องอนุโมทนาหรือสนับสนุน  เดี๋ยวจะเสียใจ  น้อยใจ  เพราะคนสมัยนี้ไม่ค่อยเข้าใจ  เสียสละเวลามาขัดเกลากิเลส  หาความสงบด้วยการนั่งสมาธิ   หรือเดินจงกรม อย่างอุกฤษฏ์  บางคนยังถือว่าเป็นการเห็นแก่ตัว  เอาแต่ตัวรอด  ไม่สนใจสังคม  อาตมาเคยฟังแล้ว  รู้สึกทั้งเศร้า  ทั้งขำ  อดนึกอยู่ในใจไม่ได้ว่า  แหม  เมืองไทยเป็นพุทธตั้งพันสองร้อยปีแล้ว แต่แค่นี้คนไม่เข้าใจ ความจริงที่ทุกคนพิสูจน์ได้ก็คือปัญญาเกิดแล้ว   เข้าใจในเรื่องกิเลส  เรื่องความทุกข์แล้ว  ความหวังดีต่อเพื่อนมนุษย์  ความอยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์ จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ   เพราะฉะนั้น  การช่วยตนเองก็คือการช่วยคนอื่น   ช่วยคนอื่นก็คือช่วยตนเอง  ประโยชน์ตนประโยชน์ท่านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและแยกออกจากกันไม่ได้  ประโยชน์อันแท้จริงของเราและประโยชน์อันแท้จริงของคนรอบข้างและสังคม  ประสานกลมกลืนกันหมด  ถ้าไม่ปฏิบัติธรรม  อะไรเป็นประโยชน์  อะไรไม่เป็นประโยชน์   เรามองไม่เห็นชัด  เพราะไม่รู้เท่าทันกิเลส ที่แทรกซึมเข้ามาในจิตใจ  การปฏิบัติก็เพื่อความดับทุกข์   ทุกข์อยู่ที่ไหน  เราก็พยายามดับตรงนั้น  เป็นชาวพุทธคือเป็นผู้ยินดีในการดับทุกข์  แต่เรายอมรับว่า  การสำเร็จผลในการช่วยเหลือคนอื่นอย่างแท้จริงขึ้นอยู่กับการพัฒนาตนเองด้วย ศีล  สมาธิ  ปัญญา



ขอบพระคุณข้อมูลจาก ลานธรรม ครับผม http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/007987.htm
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: