KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน ประวัติของพระอริยสงฆ์ สาวกที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รวมทั้งปฏิปทาในการปฏิบัติ"พระราชญาณกวี" เมธีสงฆ์แห่งหลังสวน พระ ราชญาณกวี (บ.ช.เขมาภิรัต)
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: "พระราชญาณกวี" เมธีสงฆ์แห่งหลังสวน พระ ราชญาณกวี (บ.ช.เขมาภิรัต)  (อ่าน 15977 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: สิงหาคม 06, 2009, 10:50:29 AM »

"พระราชญาณกวี" เมธีสงฆ์แห่งหลังสวน
พระ ราชญาณกวี (บ.ช.เขมาภิรัต) เป็นพระเถระผู้หนักแน่นมั่นคงในหลักพุทธธรรม และเป็นผู้คงแก่เรียน ชอบอ่านหนังสือวันละหลายชั่วโมง หากไม่มีภาระธุระอันใด ไม่มีใครมาหา ก็จะอ่านหนังสือได้ตลอดทั้งวัน



แม้บั้นปลายของชีวิตก็อยู่กับหนังสือ อาพาธก็นอนอ่านหนังสือ มีผลงานด้านวิชาการจำนวนมาก ปรากฏประจำห้องสมุดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ได้รับยกย่องว่าเป็นพระสุปฏิบัติ อุชุปฏิบัติ มีวัตรจริยางดงาม เป็นพระมหาเถระนักปกครองที่ยึดหลักธรรมาธิปไตย

พระราชญาณกวี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดชุมพร และเจ้าอาวาสวัดขันเงิน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ตราบจนลมหายใจสุดท้าย

อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า บุญชวน อินทรเศรณี เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2450 ณ บ้านสะท้อน ต.ท่าทองอุแท อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี

ในช่วงวัยหนุ่ม สามารถสอบไล่ได้ประโยคครูมูล แล้วเข้ารับราชการครูแห่งแรก ขณะอายุได้ 17 ปี ณ โรงเรียนประชาบาลวัดคูขุด ต.บางหมาก อ.เมือง จ.ชุมพร

ก่อนย้ายไปรับตำแหน่งครูใหญ่ในจ.ชุมพร คือ โรงเรียนประชาบาลตำบลปากน้ำ อ.เมือง และโรงเรียนประชาบาลวัดยางค้อ อ.ท่าแซะ ตามลำดับ

พ.ศ.2471 ได้ลาอุปสมบท และจำพรรษา ณ วัดแหลมยาง สามารถสอบนักธรรมตรีได้ พร้อมกับลาออกจากราชการ แล้วเข้าศึกษากัมมัฏฐานกับพระครูพัฒนศีลาจาร วัดแหลมยาง

หลังจากนั้น ได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี จนสามารถสอบนักธรรมชั้นโทและเอก ภายในเวลา 2 ปี ได้เป็นที่ 1 ของมณฑลภูเก็ต พร้อมกับท่องจำพระปาติโมกข์ ภายในเวลา 1 เดือน ณ วัดอุปนันทาราม ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง จ.ระนอง

ณ สถานที่แห่งนี้ ได้พบกับสหายธรรมอีกรูป คือพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ เมื่อครั้งยังเป็นสามเณร

พ.ศ.2479 ไปอยู่จำพรรษาร่วมกับพระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาสภิกขุ) ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี

เป็นที่มาของคำว่า "สามสหายธรรม" นับถือเป็นพี่น้องกัน ยอมให้ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นพี่ใหญ่ พระราชญาณกวี เป็นพี่รอง และหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เป็นน้องเล็ก ยึดปณิธานแห่งชีวิตตรงกัน แล้วแยกกันปฏิบัติศาสนกิจ พร้อมกับเผยแผ่พระธรรมของพระพุทธองค์ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

สามสหายธรรมต่างอุทิศกายใจ ฝากผลงานการประกาศธรรมและค้ำจุนพระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็งไว้ให้ลูกหลานได้กล่าวขวัญด้วยความชื่นชม

โดยเฉพาะ ท่านพุทธทาสภิกขุ และหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ เป็นที่รู้จักแก่พุทธศาสนิกชนผู้สนใจธรรมะอยู่โดยทั่วไปเป็นอย่างดี

สำหรับพระราชญาณกวีนั้น ผู้สนใจธรรมะส่วนหนึ่งรู้จักท่านดี และต่างยอมรับว่า เป็นพระมหาเถระที่อธิบายขยายธรรมได้ละเอียดลึกซึ้ง หนักแน่นด้วยเหตุผล เป็นที่ประจักษ์

ดั่งหนังสือของท่านที่ชื่อว่า "สนทนากับนายเหตุผล" ซึ่งเป็นหนึ่งใน 100 กว่าเรื่องที่ท่านนิพนธ์ไว้

ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัด เป็นพระสงฆ์สายปกครองที่ต้องดูแลพระสงฆ์ในเขตปกครอง ในด้านต่างๆ ให้เป็นไปด้วยดี และท่านตั้งใจแน่วแน่ที่จะตั้งสำนักเรียนบาลี อันเป็นการวางรากฐานการศึกษา และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สำคัญ ให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียน

ถือเป็นผู้สร้างคุณูปการแก่วงการคณะสงฆ์ไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศนานัปการ

พ.ศ.2483 เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนทรายแก้ว (รูปแรก) พ.ศ.2489 เป็นเผยแผ่อำเภอเมืองชุมพร พ.ศ.2496 เป็นเผยแผ่จังหวัดชุมพร พ.ศ.2496 เป็นเจ้าอาวาสวัดอานันทเมตยาราม ประเทศสิงคโปร์

พ.ศ.2501 เป็นผู้ปกครองสงฆ์วัดเชตวัน ประเทศมาเลเซีย

พ.ศ.2507 เป็นเจ้าอาวาสวัดขันเงิน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร

พ.ศ.2508 เป็นเจ้าคณะจังหวัดชุมพร และเป็นพระอุปัชฌาย์ (วิสามัญ)

พระราชญาณกวี เน้นเรื่องการศึกษาของพระภิกษุสามเณร เอาใจใส่คอยสอบถามอยู่เสมอ ทำให้สำนักเรียนบาลีวัดขันเงินที่ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2508 เจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นมั่นคง และมีนักเรียนสอบบาลีสนามหลวงได้คิดเป็นร้อยละ 60 แทบทุกปี

บางปีสอบได้สูงถึงร้อยละ 83 ดังนั้น จึงได้รับยกย่องให้เป็นสำนักเรียนตัวอย่าง และเป็นสำนักเรียนดีเด่น เพราะผลอันเกิดจากการเอาใจใส่อย่างจริงจังนั่นเอง

ปัจจุบัน วัดขันเงิน และวัดสาขาต่างๆ ในนามสำนักเรียนคณะจังหวัดชุมพร มีพระภิกษุสามเณรสอบได้เปรียญธรรมประโยคต่างๆ ได้มากมาย

ทั้งนี้ ไม่นับรวมพระภิกษุสามเณรที่ได้ฐานจากวัดขันเงิน แล้วย้ายไปศึกษาต่อ จนจบเปรียญธรรม 9 ประโยค และปริญญาตรี-เอก อีกหลายร้อยรูป

ด้วยผลงานดังกล่าว คณะสงฆ์และรัฐบาล ได้ยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลดีเด่น สาขาส่งเสริมการศึกษา ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักรและประกาศนียบัตรเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

วันที่ 15 มกราคม 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดขันเงิน เป็น "พระอารามหลวงชั้นตรี" ชนิดสามัญ เป็นรางวัลในบั้นปลายชีวิตการทำงานของท่าน

ความที่สังขารไม่เที่ยงแท้ ท่านได้มรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531 เวลา 18.45 น. ณ โรงพยาบาลชุมพร (ชุมพรเขตอุดมศักดิ์) สิริอายุได้ 80 ปี 5 เดือน 11 วัน

วัดขันเงิน ได้จัดงานอาจริยบูชาชาตกาล 100 ปี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550 เพื่อน้อมรำลึกถึงคุณูปการของพระมหาเถระรูปนี้

ในวันที่ 2 มิถุนายน 2551 นี้ ศิษยานุศิษย์เตรียมการจัดงานครบรอบ 20 ปี แห่งการมรณภาพ เพื่อรวมพลังแห่ง "กตัญญูกตเวทิตาธรรม" และ "สามัคคีธรรม"รำลึกถึงเจ้าคุณอาจารย์

โดยจัดขึ้นที่วัดขันเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร มีนิทรรศการให้ชมฟรี พร้อมกับพิธีสงฆ์ เริ่มเวลา 08.30 น. โดยมีพระเทพญาณโมลี (องอาจ ฐิตธัมโม) เจ้าคณะจังหวัดชุมพรและเจ้าอาวาสวัดขันเงิน รูปปัจจุบัน เป็นประธานฝ่ายบรรพชิต

จึงขอเชิญชวนผู้สนใจไปร่วมงาน และนำอาหารคนละ 1 สาย ไปถวายสลากภัตแด่พระภิกษุสามเณรจำนวน 999 รูป

แม้พระราชญาณกวีจะละสังขารจากไปนานนับสองทศวรรษ แต่ความเป็น "เมธีแห่งคณะสงฆ์ไทย" ยังเกรียงไกร ให้ศิษยานุศิษย์และชาวพุทธทั่วไปได้ระลึกถึงอยู่ตลอดกาล
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: สิงหาคม 06, 2009, 10:55:03 AM »



“สามสหายธรรม” ท่านพุทธทาสภิกขุ-ท่าน บ.ช.เขมาภิรัต-ท่านปัญญานันทภิกขุ 

หลายคนอาจไม่ทราบว่าหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุมี “พี่น้องร่วมสาบาน” ใน “ยุทธจักรแห่งธรรมะ” ที่นำทัพต่อสู้กับ “ฝ่ายอธรรม” หรือ “กิเลส” ซึ่งอยู่ภายในจิตใจมนุษย์ กล่าวคือ ท่านปัญญานันทภิกขุ เป็นท่านน้องเล็ก พระบุญชวน เขมาภิรัต หรือท่าน บ.ช.เขมาภิรัต  (พระราชญาณกวี อดีตเจ้าคณะจังหวัดชุมพร อดีตเจ้าอาวาสวัดขันเงิน ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร) เป็นท่านพี่รอง และ ท่านพุทธทาสภิกขุ คือท่านพี่ใหญ่ อุดมการณ์เพื่อศาสนาของหลวงพ่อจึงไม่แตกต่างจาก “ปราชญ์แห่งแผ่นดิน” อย่างท่านพุทธทาสภิกขุ

พระบุญชวน เขมาภิรัต ชาวพุทธทั่วไปไม่ค่อยมีใครรู้จักเท่าไหร่นัก ท่านเป็นกวีที่แท้จริงที่มหัศจรรย์ยิ่ง เหมาะสมกับสมณศักดิ์ล่าสุดว่า “พระราชญาณกวี” งานเขียนบทกลอนสอนธรรมของท่านได้ลงตีพิมพ์ติดต่อกันในหนังสือ “พุทธจักร” รวมทั้ง งานเขียนแปลบทกวีภาษาอังกฤษเป็นบทกวีไทย ที่มีความไพเราะลึกซึ้งมาก โดยใช้นามปากกาว่า “บ.ช.เขมาภิรัต”

หลวงพ่อพูดถึงหลวงพ่อบุญชวน ว่า “พี่ท่านเป็นคนอารมณ์ร้อน จะทำอะไรต้องให้สำเร็จในบัดเดียวนั้น บางทีค้นคว้าหนังสือเพื่อหาคำตอบบางเรื่อง ก็หมกมุ่นอยู่นั่นแล้ว ไม่ยอมวาง ขยันเกินเหตุ ครั้งหนึ่งมีผู้เอาหนังสือแปลวิชาการภาษาต่างประเทศมาให้ท่านตรวจ ท่านอ่านแล้วขัดใจ ลงทุนแปลให้ใหม่เลย คร่ำเคร่งไม่หลับไม่นอนจนกระทั่งเส้นโลหิตในสมองแตก ต้องเข้าโรงพยาบาลรักษากัน ค่อยยังชั่วแล้ว แต่ก็ไม่ดีขึ้นเหมือนเดิม จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ พี่ท่านมรณภาพเพราะซีเรียสเกินไป แต่ก็ช่วยไม่ได้เพราะเป็นบุคลิกของแต่ละคน”

ทั้งนี้ ท่าน บ.ช.เขมาภิรัต ได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๑



ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก http://xfile.spiceday.com และ http://www.dhammajak.net ครับผม
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: