KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4กำลังใจ จากครูบา อาจารย์ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4อานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติสมาธิ
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: อานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติสมาธิ  (อ่าน 10138 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: มีนาคม 04, 2009, 05:11:59 PM »

โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 11:03:10

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๙    พระสุตตันตปิฎก   เล่ม ๑๑  สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
อานาปานสังยุต   เอกธรรมวรรคที่ ๑

                          สูตรที่ ๔  ผลสูตรที่ ๑

                ผลานิสงส์เจริญอานาปานสติ ๒ ประการ
     [๑๓๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
      [๑๓๑๒] ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผล
มาก มีอานิสงส์มาก? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า (พึง
ขยายเนื้อความให้พิสดารตลอดถึง ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหาย
ใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า) ดูกรภิกษุทั้ง-
หลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์
มาก.
      [๑๓๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
อย่างนี้ พึงหวังได้ผล ๒ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง คืออรหัตผลในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีความ
ถือมั่นอยู่ เป็นพระอนาคามี.
                          จบ สูตรที่ ๔

โดยสรุปในทางวิปัสสนาอานาปานสติเป็นเครื่องมือปฏิบัติทำให้สิ้นอาสวะ

                            ทีปสูตร
                อานิสงส์แห่งการเจริญอานาปานสติสมาธิ
      [๑๓๒๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก
แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
      [๑๓๒๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มาก
แล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี
อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก
มีสติหายใจเข้า (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารตลอดถึง ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณา
โดยความเห็นสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืน
หายใจเข้า) ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่าง
นี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
      [๑๓๒๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ครั้งเราเป็นโพธิสัตว์ยัง
มิได้ตรัสรู้ ก็ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้โดยมาก กายไม่ลำบาก
จักษุไม่ลำบาก และจิตของเราย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.

อานาปานสติไม่ได้อาศัยนิมิต ไม่ต้องเพ่งกสิน กายจึงไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำบาก
เหมือนกัมมัฏฐานอื่นๆ

      [๑๓๓๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า แม้กายของเรา
ไม่พึงลำบาก จักษุของเราไม่พึงลำบาก และจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือ
มั่น ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงสละ
ความระลึกและความดำริของเราที่อาศัยเรือนนั้นเสีย ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละ
ให้ดี.
     [๑๓๓๒] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าปฏิกูล
อยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๓๓] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญในสิ่งปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูล
อยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๓๔] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญทั้งในสิ่งไม่ปฏิกูลและใน
สิ่งปฏิกูลว่าปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๓๕] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเป็นผู้มีความสำคัญทั้งในสิ่งปฏิกูลและในสิ่ง
ไม่ปฏิกูลว่าไม่ปฏิกูลอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๓๖] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงเว้นสิ่งไม่ปฏิกูลและสิ่งปฏิกูลทั้งสองนั้นเสีย
แล้ววางเฉย มีสติสัมปชัญญะอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๓๗] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงสงัดจากกาม สงัดจากกุศลธรรม บรรลุ
ปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละ
ให้ดี.
      [๑๓๓๘] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตใน
ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแก่
สมาธิอยู่ ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๓๙] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุข
ด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้
เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๔๐] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุจตุถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะ
ละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ก็พึง
มนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๔๑] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า
อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่
มนสิการถึงนานัตตสัญญา ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๔๒] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌานด้วยมนสิการว่า
วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปาน-
สติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๔๓] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า
ไม่มีอะไรน้อยหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปาน-
สติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๔๔] ... ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะ
ล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.
      [๑๓๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละ ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุ
สัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการ
อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี.

โดยสรุปคือเราสามารถใช้อานาปานสติเป็นเครื่องมือในฝ่ายสมถะภาวนาได้
จนสุดสิ้นอรูปฌาณ

      [๑๓๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้
มากแล้วอย่างนี้แล ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี
ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี
ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง
ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอ
เสวยทุกขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็ไม่
พัวพันเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น เมื่อเธอเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามี
กายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัด
ว่า เวทนาทั้งหมดในโลกนี้แหละ อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น เพราะสิ้นชีวิต
เบื้องหน้าแต่กายแตก.
      [๑๓๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันจะพึงลุกโพลงได้ ก็เพราะ
อาศัยน้ำมันและไส้ เพราะหมดน้ำมันและไส้ ประทีปน้ำมันไม่มีเชื้อ พึงดับไป ฉันใด ภิกษุก็
ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อ
เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งหมด
ในโลกนี้แหละ อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น เพราะสิ้นชีวิตเบื้องหน้าแต่กายแตก.
                          จบ สูตรที่ ๘

โดยคุณ มะขามป้อม วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 11:03:10
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 21, 2009, 10:59:41 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: มีนาคม 04, 2009, 05:12:43 PM »

ความเห็นที่ 8 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 19 มกราคม 2543 14:04:08

.
เรื่องอานาปานสตินี้ แม้ คุณมะขามป้อม จะอุตส่าห์ยกพระไตรปิฎกมาแสดง
ว่าผู้ปฏิบัติสามารถบรรลุพระอรหัตผล หรือพระอนาคามีได้ในชาตินี้
แต่ผู้ที่เรียนตำรามากๆ บางท่าน ก็ยังยืนกรานว่า
อานาปานสติ เป็นเพียงสมถกรรมฐานเท่านั้น
ความเชื่อเช่นนี้ เป็นไปตามคำสอนของอาจารย์รุ่นหลังบางท่าน
ซึ่งส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่ยกย่องตำราอภิธัมมัตถสังคหะ กัน

ครั้นผมไปอ่าน อภิธัมมัตถสังคหะ จริงๆ กลับพบว่า
ตำราท่านยอมรับว่า อานาปานสติเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา
ซึ่งต่างจากความเห็นของผู้ที่เชื่อตำรา ที่นำมาแสดงกันเสียอีก

อานาปานสติ ในอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ 9
สรุปย่อสาระสำคัญได้ดังนี้ (คัดลอกมาจากโฮมเพจของ ผู้คัดลอก)

การเจริญอานาปาณสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
ซึ่งดู ๆ ก็ไม่น่าจะยากเย็นอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้สะดวกสบายนัก
เพราะอาจเผลอตัว ไม่มีความรู้สึกตัว คือขาดสติสัมปชัญญะได้ง่าย
จริงอยู่การเจริญภาวนาไม่ว่าจะอาศัยกัมมัฏฐานใดๆ
จะต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา
ขาดสติสัมปชัญญะ คือ เผลอตัวเมื่อใดเมื่อนั้นก็ขาดจากการเจริญภาวนา
จะเรียกว่าเป็นการเจริญภาวนาหาได้ไม่

โดยเฉพาะการกำหนดลมหายใจนี้
ลมหายใจยิ่งละเอียดสุขุมมากเท่าใด ก็ยิ่งเผลอตัวได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น
เผลอตัวได้ง่ายกว่ากัมมัฏฐานอย่างอื่น
เหตุนี้ในวิสุทธิมัคคจึงกล่าวว่า
การเจริญอานาปาณสตินี้ เหมาะสมแก่ผู้ที่มีปัญญากล้า และเฉียบแหลม
หาควรแก่ผู้ที่มีปัญญาน้อยไม่

สถานที่ที่จะเจริญอานาปาณสติกัมมัฏฐานนั้น
ถ้าเลือกได้สถานที่ดังจะกล่าวต่อไปนี้ก็จะเป็นที่สะดวกดีมาก คือ
ก. เสนาสนะในป่าที่สงัด เหมาะแก่ฤดูร้อน
เหมาะแก่ผู้ที่มีโมหจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่ เสมหะ
ข. เสนาสนะที่อยู่โคนต้นไม้ หมายถึงใต้ร่มไม้ใหญ่ที่เงียบเชียบ
เหมาะแก่ฤดูหนาว เหมาะแก่ผู้ที่มีโทสจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่น้ำดี
ค. เสนาสนะที่เป็นเรือนว่าง ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย อยู่ในที่วิเวก
เหมาะแก่ฤดูฝน เหมาะแก่ผู้ที่มีราคจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่ธาตุ

การกำหนดลมหายใจนี้ จำแนกไว้เป็น ๔ หมวด
แต่ละหมวดก็มี ๔ นัย จึงรวมเป็น ๑๖ นัยด้วยกัน

หมวดที่ ๑
ก. กำหนดให้รู้ว่าขณะนั้น หายใจออกยาวและเข้ายาว
ข. กำหนดให้รู้ว่าขณะนั้น หายใจออกสั้นและเข้าสั้น
ค. กำหนดให้รู้ในกองลมทั้งปวงในเวลาหายใจออกและเข้า
คือให้รู้ว่าเบื้องต้น ของลมหายใจออกนั้นอยู่เหนือสะดือ
เบื้องกลางอยู่ที่หน้าอก เบื้องปลายอยู่ที่ช่องจมูก
และเบื้องต้นของลมหายใจเข้านั้นอยู่ที่ช่องจมูก
เบื้องกลางอยู่ที่หน้าอก เบื้องปลายอยู่ที่เหนือสะดือ
จะรู้ได้ต่อเมื่อตั้งใจกำหนดอย่างแน่แน่ว
ง. ให้รู้ในกายสังขาร คือ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าที่สงบ
คือการหายใจนั้นแผ่ว เบา ละเอียด ยิ่งขึ้นทุกที
ถ้าไม่ตั้งใจกำหนดอย่างจริงจังก็จะเผลอไม่รู้สึกตัว

หมวดที่ ๒
ก. กำหนดให้รู้แจ้ง ปีติในเวลาหายใจออกและเข้า
หมายความว่า กำหนดตามหมวดที่ ๑ จนได้ฌานแล้ว มีวสีภาวะทั้ง ๕ แล้ว
ก็ให้ยกองค์ฌาน คือ ปีตินั้นเพ่งโดยวิปัสสนาภาวนา
จนเห็นปีติในลักษณะ ๓ คือ ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ที่ให้เพ่ง ปีติ เพราะผู้ที่ได้ฌานต้น ๆ นั้น
ปีติ มักจะปรากฏเด่นชัดกว่าองค์ฌานอื่น
ข. กำหนดให้รู้แจ้ง สุขเวทนา ในเวลาหายใจออกและเข้า
มีความหมายว่า ผู้ที่ได้ทุติยฌาน ตติยฌาน หรือ จตุตถฌานนั้น
ความสุขในองค์ฌานย่อมปรากฏชัด
จึงกำหนดให้รู้แจ้ง สุขเวทนา ในเวลาหายใจออกและเข้าได้สะดวก
ค. กำหนดให้แจ้งใน จิตตสังขาร คือ เวทนา สัญญา ในเวลาหายใจออกและเข้า
ง. กำหนดให้แจ้งในการยังจิตตสังขารให้สงบ ในเวลาหายใจออกและเข้า
ซึ่งผู้ที่ได้ฌานใด ๆ ก็สามารถกำหนดรู้ได้

หมวดที่ ๓
ก. กำหนดให้แจ้งในจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า
คือให้รู้จิตที่เป็นไปด้วยรูปฌานทั้ง ๕
ข. กำหนดให้แจ้งในความบันเทิงของจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า
หมายถึง ปีติ ที่ประกอบด้วยฌานนั้น ๆ
ค. กำหนดให้แจ้งในจิตที่เป็นสมาธิ ในเวลาหายใจออกและเข้า
หมายทั้ง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ
ง. กำหนดให้แจ้งในความพ้นของจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า
หมายถึงความพ้นทั้ง ๒ อย่าง คือพ้นด้วยสมาธิ ก็พ้นจากนิวรณ์ ๕
หรือพ้นจาก วิตก วิจาร ปีติตามลำดับขององค์ฌาน
ถ้าพ้นด้วยวิปัสสนาก็พ้นจากวิปัลลาสธรรม มีนิจจสัญญา เป็นต้น

หมวดที่ ๔
ก. กำหนดตามเห็นอนิจจัง ในเวลาหายใจออกและเข้า
หมายถึงตามเห็นความไม่เที่ยงในรูปขันธ์ ในเวทนาขันธ์
ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ และในวิญญาณขันธ์
ข. กำหนดตามเห็นวิราคะ ในเวลาหายใจออกและเข้า
หมายถึงพ้นจากราคะด้วยอำนาจของวิปัสสนา หรือด้วยมัคคจิต ๔
ความพ้นทั้ง ๒ นี้เรียกว่า วิราคานุปัสสนา
ค. กำหนดตามเห็นความดับ ในเวลาหายใจออกและเข้า
หมายถึงความดับของทุกข์ สมุทัย หรือความดับของ วยะ ขยะ
คือ ความดับสิ้นไปของสังขารนั้น
ง. กำหนดตามเห็น ความสละในการยึดมั่น ในเวลาหายใจออกและเข้า
หมายถึง ละการยึดถือด้วยอุปาทาน มีอัตตวาทุปาทาน เป็นต้น
ด้วยอำนาจของวิปัสสนา

ในอานาปาณสติ ๑๖ นัยนี้ตั้งแต่หมวดที่ ๑ ถึง ๓ รวม ๑๒ นัยนั้น
กล่าวรวมทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย
ส่วนในหมวดที่ ๔ นั้น กล่าวเฉพาะวิปัสสนาอย่างเดียว

หมวดที่ ๑ สงเคราะห์ด้วยปฐมฌาน และสงเคราะห์ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หมวดที่ ๒ สงเคราะห์ด้วยปฐมฌานถึงจตุตถฌาน
และสงเคราะห์ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หมวดที่ ๓ สงเคราะห์ด้วยฌานทั้ง ๕ และสงเคราะห์ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
หมวดที่ ๔ กล่าวเฉพาะ วิปัสสนา

อานาปาณสตินี้ เป็นกัมมัฏฐานที่สามารถเจริญสมถภาวนา
ให้ถึงได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌาน
(ตรงจุดนี้จะเห็นได้ว่า ตำรานี้ต่างจากพระไตรปิฎกที่ คุณมะขามป้อม ยกมาแสดง)

จึงนำมาฝากให้พวกเราอ่านกันครับ เป็นความรู้ดีเหมือนกัน
.
โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 19 มกราคม 2543 14:04:08
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: