KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4กำลังใจ จากครูบา อาจารย์ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4อุบาย ในการปฏิบัติวิปัสสนา
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: อุบาย ในการปฏิบัติวิปัสสนา  (อ่าน 7109 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: มีนาคม 04, 2009, 02:39:35 PM »

โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 08:51:34

ผมได้เขียนถึงเรื่อง แนวทางปฏิบัติธรรมโดยสังเขป ไปแล้ว
โดยกล่าวถึงหลักการหรือแนวทางการปฏิบัติ คือ
การเจริญสติสัมปชัญญะ รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏด้วยความเป็นกลาง
(คือเป็นผู้รู้ผู้ดูเฉยๆ ไม่ใช่ผู้โดดเข้าไปแสดงเอง)
เมื่อปฏิบัติไปตามนั้นแล้ว จิตจะวางสิ่งที่ถูกรู้ เข้ามารู้จักจิตใจของตนเอง
แล้วปลดเปลื้องกิเลสตัณหาออกจากจิตใจโดยอัตโนมัติด้วยปัญญาของจิต ต่อไป

หลักการหรือแนวทางแม้จะมีอยู่นิดเดียวก็จริง
แต่ในเวลาที่เราลงมือปฏิบัติ
ผู้ปฏิบัติแต่ละคนจะต้องมีอุบายวิธีในการปฏิบัติ หรืออุบายภาวนา
ที่เหมาะสมกับตนเองในขณะนั้นๆ

อุบายวิธีที่เป็นหลักจริงๆ มีไม่มาก
แต่อุบายพลิกแพลงส่วนปลีกย่อยมีมากมายนับไม่ถ้วน
ขึ้นกับความจำเป็นของแต่ละคน ในแต่ละห้วงเวลาและสถานการณ์
เหมือนดังที่หลวงตามหาบัว ท่านกล่าวบ่อยๆ ว่า
จิตต้องผลิตอาวุธ หรืออุบายปัญญาสดๆ ร้อนๆ
จึงจะต่อสู้กับกิเลสที่ปรับตัวอยู่ตลอดเวลาได้

อุบายวิธีในการปฏิบัติ เกิดได้ด้วยเหตุ 2 ประการคือ
ด้วยกัลยาณมิตร คือการปรึกษาครูบาอาจารย์
หรือเพื่อนผู้ปฏิบัติที่เคยผ่านประสบการณ์ทำนองนั้นมาแล้ว อย่างหนึ่ง
และด้วยโยนิโสมนสิการ คือความใส่ใจโดยแยบคายของเจ้าตัวเอง อีกอย่างหนึ่ง

นักปฏิบัติจำนวนมาก อยากรู้อุบายวิธีให้มากที่สุด
เพื่อว่าจะได้พลิกตำราสู้กับกิเลสตัณหาที่เข้ามาครอบงำจิตได้อย่างทันการ
ความคิดเช่นนี้ ไม่ถูกต้องเลย
เพราะอุบายวิธีของคนหนึ่ง ในสถานการณ์หนึ่ง
จะนำไปใช้กับอีกคนหนึ่ง ในอีกสถานการณ์หนึ่งไม่ได้
แม้กระทั่งอุบายวิธีที่เราเคยใช้มาแล้ว
จะหยิบมาใช้ซ้ำซากก็ไม่ได้
เพราะกิเลสตัณหามีการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง
เหมือนเชื้อโรคที่ดื้อยาได้ในเวลาอันสั้นที่สุด

ดังนั้น การรู้อุบายวิธีปฏิบัติไว้บ้าง เป็นเรื่องประเทืองปัญญาและร่าเริงใจ
แต่การรู้มากเกินไป แล้วใช้ไม่เป็น
ไม่เพียงแต่จะไม่เกิดประโยชน์
หากแต่จะก่อโทษต่อผู้ปฏิบัติอย่างมากด้วย

***********************************

อุบายวิธีปฏิบัติ ที่เป็นหลักจริงๆ ก็คือ

1. การปรับสภาพจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญา


ผู้ที่จะเจริญปัญญา หรือวิปัสสนานั้น จำเป็นต้องมีจิตที่พร้อมเสียก่อน
คือมีสติสัมปชัญญะ มีความเพียรแผดเผากิเลส
มีอารมณ์เครื่องรู้ของจิตอย่างเป็นวิหารธรรม
สามารถขจัดความยินดียินร้ายในจิตออกได้

อุบายพลิกแพลงที่จะใช้ปรับสภาพจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญานั้น
มีตั้งแต่การปรับสภาพจิตในเบื้องต้นก่อนจะเจริญปัญญา
และการปรับแต่งสภาพจิตที่กวัดแกว่งเสียคุณภาพไป
ภายหลังที่ได้เจริญปัญญาไปช่วงหนึ่งแล้ว

อุบายวิธีปฏิบัติใดๆ ก็ได้ จัดเป็นอุบายวิธีที่ดีทั้งนั้น
หากทำให้ผู้ปฏิบัติที่ไม่มีสติ เกิดมีสติ
ไม่มีสัมปชัญญะ เกิดมีสัมปชัญญะ
ไม่มีความเพียรแผดเผากิเลส เกิดมีความเพียรแผดเผากิเลส(เจริญปัญญา)
ไม่มีวิหารธรรม เกิดมีวิหารธรรม
ไม่เป็นกลาง เกิดมีความเป็นกลาง

วิธีมาตรฐานที่สุดในการเตรียมจิตให้พร้อม
ได้แก่การเจริญสัมมาสมาธิจนจิตเป็นธรรมเอก
แต่บางคน หรือบางคราว ไม่สามารถใช้วิธีมาตรฐานได้สำเร็จ
เพราะจิตฟุ้งซ่านดิ้นรนแส่ส่ายมาก
ก็จำเป็นต้องผลิตอุบายวิธีขึ้นมา
เพื่อต่อสู้เอาตัวรอดในระยะเฉพาะหน้าไปก่อน

เช่นบางครั้งไม่สามารถเจริญสติได้ เพราะจิตถูกกามราคะคุกคามหนัก
ผู้ปฏิบัติก็อาจจะเจริญอสุภกรรมฐานบ้าง พิจารณาความตายบ้าง
พิจารณาโทษของกาม และความทุกข์อันเกิดจากจิตถูกกามราคะครอบงำบ้าง

บางคราวเจริญสติไม่ได้เพราะจิตมีความพยาบาทรุนแรงในบุคคลหรือสัตว์
ผู้ปฏิบัติก็อาจจะพิจารณาความตายทั้งของตน
และของผู้ที่เป็นเป้าหมายของความพยาบาท
กระทำเมตตาจิตให้เกิดขึ้น
(อ่านพบในลานธรรมมีผู้แนะนำว่า
เมื่อโกรธก็ให้เตือนตนเองว่า "เมตตาไม่พอ เมตตาไม่พอ"
อย่างนี้ก็เป็นอุบายอันหนึ่งเช่นกัน)
พิจารณาว่า คนและสัตว์ทั้งปวง อาจจะเคยเป็นญาติมิตรของเราบ้่าง
พิจารณาโทษของความพยาบาท
และความทุกข์อันเกิดจากจิตถูกความพยาบาทครอบงำบ้าง

เมื่อจิตถูกความง่วงเหงาหาวนอนครอบงำ
ก็อาจดำเนินตามอุบาย 8 ประการ
ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนท่านพระโมคคัลลานเถระ
หรือครูบาอาจารย์บางท่าน ต่อสู้โดยไปนั่งภาวนาริมเหว เป็นต้น

เมื่อจิตถูกความกลัวครอบงำ เช่นกลัวงูและกลัวผี
ก็อาจพิจารณาความตายให้เห็นเป็นของธรรมดา
พิจารณาขันธ์ ว่าเขาเป็นของตายอยู่ในตัวอยู่แล้ว ไม่ตายวันนี้วันหน้าก็ตาย
พิจารณากรรมและผลของกรรม
คือพิจารณาว่าถ้ามีเวรต่อกัน ก็ขอยอมตายเพื่อชดใช้กันเสียให้หมดสิ้นไป
พิจารณาว่าสัตว์ต่างๆ ไม่เห็นมันจะกลัวผีเลย
แล้วผีก็ไม่หลอกสัตว์ เพราะสัตว์ไม่หลอกตัวเอง เป็นต้น

เมื่อจิตถูกความเกียจคร้านครอบงำ
ก็พิจารณาว่า ชีวิตเป็นของสั้น เป็นต้น

เมื่อจิตเกิดความลังเลสงสัย
ก็พิจารณาว่า ครูบาอาจารย์ก็เดินมาทางนี้ก่อนแล้ว
หรือพิจารณาการปฏิบัติของเราที่ผ่านมา
สามารถลดละกิเลสตัณหามาตามลำดับ
ถ้าปฏิบัติมาผิดๆ ก็คงไม่สามารถลดละกิเลสตัณหามาจนป่านนี้ได้ เป็นต้น

เมื่อจิตเผลอ ลืมตัว บ่อยๆ ก็กำหนดคำบริกรรมให้ถี่ขึ้น

เมื่อจิตเกิดอาการหนัก เพ่งจ้องอย่างรุนแรง
ก็พยายามทำใจให้สบายๆ ลดความตั้งใจในการปฏิบัติลง
หรือแผ่ความรู้สึกตัวให้กว้างขวางไม่มีประมาณ เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงไว้ก็คือ อย่าใช้อุบายการปฏิบัติอย่างพร่ำเพรื่อ
จนลืมหลักการปฏิบัติที่แท้จริง อันได้แก่การรู้ตามความเป็นจริง ไปเสีย
นักปฏิบัติบางคนตามแก้อาการของจิตอยู่ทุกวัน ทั้งวัน
โดยไม่เคยเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เลยก็มี
เช่นพอเริ่มปฏิบัติจิตฟุ้งซ่าน ก็เพ่งให้นิ่ง
พอนิ่งแล้วก็ ก็กลายเป็นการนิ่งเพราะเพ่งอย่างรุนแรงจนอึดอัด
แล้วก็หาอุบายมาแก้ความอึดอัดต่อไปอีก
จนจิตเบาแล้วไปติดอยู่ในความสงบสบาย
ถัดจากนั้นก็หาอุบาย เพื่อจะหลุดออกจากความสงบสบายนั้น เป็นต้น
ที่ยกตัวอย่างมากล่าวนี้ จะเห็นได้ว่า
ไม่มีตรงไหนเลย ที่จะรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง ด้วยความเป็นกลาง

การใช้อุบายตลอดเวลาอย่างนี้เอง
ที่จะทำให้คนเจ้าอุบาย ตายด้วยอุบายของตนเอง
เพราะจะได้แต่แก้อาการของจิต โดยไม่ได้เรียนรู้จิตเสียที

2.การแก้ไขอาการของจิตที่ผิดเพี้ยน

อาการของจิตที่ผิดเพี้ยนนี้ หมายถึง นิมิต วิปัสสนูปกิเลส
นิมิต เกิดในระหว่างการทำสมถะ
ส่วนวิปัสสนูปกิเลส เกิดในระหว่างเจริญวิปัสสนา
อุบายที่จะแก้ไขแม้จะมีหลากหลาย
แต่ก็รวมลงในหลักการอันเดียวกัน
คือการทำให้จิตเคลื่อนจากอารมณ์ที่กำลังยึดถือนั้น

เช่นเมื่อเกิดนิมิต ก็ย้อนมาดูจิตใจตนเอง
เมื่อติดวิปัสสนูปกิเลส ผู้ที่มีความสังเกตก็อาจจะแก้ตนเองได้
แต่ถ้าแก้ไม่ได้ จะให้ผู้อื่นแก้ให้
ก็อาจจะต้องยั่วให้เกิดกิเลสที่แรงๆ เช่นความโกรธ
จะทำให้จิตคลายจากความยึดถือในสิ่งที่ติดอยู่ได้ เป็นต้น

********************************************
 
โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 08:51:34
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 04, 2009, 02:41:58 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: มีนาคม 04, 2009, 02:40:16 PM »

โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 08:51:34


********************************************

ตัวอย่างการใช้อุบายภาวนา

เมื่อไม่นานมานี้ ผมตื่นนอนขึ้นมาเดินจงกรมตอนตีสอง
(พวกเราอย่าตกใจว่าต้องเร่งความเพียรด้วยการตื่นตีสองนะครับ
ขอให้เข้าใจธรรมชาติของคนสูงอายุไว้ว่า
มีปกตินอนเป็นงีบๆ เท่านั้นครับ)
ปรากฏว่าวันนั้นงัวเงีย เพราะก่อนนอนทานยาแก้ไข้หวัดไปหลายขนาน
จิตฟุ้งเลอะเทอะไปเลย เพราะมีโมหะแทรกมากกว่าปกติ
ขณะนั้น ไม่สามารถจะรู้ขันธ์ 5 ตามความเป็นจริงได้
แม้จะเดินจงกรมแบบสมถะ คือเดินบริกรรมพุทโธไปด้วย ก็แก้ไม่ได้
มีอาการง่วงงุนงง แล้วฟุ้งซ่านไปด้วย

ถึงตรงนี้ผมจึงนึกถึงอุบายภาวนาขึ้นมา
โดยการพิจารณาว่า ขันธ์ 5 ที่กำลังย่ำแย่วุ่นวายนี้ เกิดแต่ผลของกรรม(วิบาก)
รูปมีความเจ็บไข้ได้ป่วย แก่ชราคร่ำคร่าลง แล้วแตกตายไปก็เพราะผลของกรรม
นามธรรมทั้งปวง ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือที่กำลังฟุ้งซ่านนี้ ก็เป็นผลของกรรม
 สิ่งที่มากระทบ ทางตา หู .. ใจ นี้ก็เป็นผลของกรรม

จิตที่ปฏิเสธวิบาก คือไม่ยอมรับผลของกรรมนั้นอย่างหนึ่ง
หรือจิตที่หลงใหลพอใจในวิบากที่ได้รับนั้นอีกอย่างหนึ่ง
เป็นจิตที่เจือด้วยกิเลส มีโทสะและราคะ เป็นต้น

เมื่อจิตมีกิเลสแล้ว จิตก็ส่งส่ายไปตามอำนาจกิเลส
ออกไปทำกรรมตามอำนาจของกิเลสอีก แล้วก็ก่อวิบากสะสมเอาไว้ต่อไป

สังสารวัฏ เป็นวงจรของ กิเลส กรรม วิบาก อยู่อย่างนี้เอง

เมื่อจิตพิจารณาเดินปัญญาอย่างนี้แล้ว
สติ สมาธิ ปัญญาก็รวมกำลังกันได้
จิตหลุดพ้นจากโมหะที่ห่อหุ้มจิตอยู่
จิตยกระดับไปอีกระนาบหนึ่ง
เห็นขันธ์ทั้ง 5 เป็นของเกิดดับไปตามเหตุปัจจัยของ กิเลส กรรม วิบาก
ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาให้เป็นไปตามอยาก

นี่เป็นตัวอย่าง การใช้อุบายอย่างหนึ่งครับ

จะใช้อุบายอย่างไรก็ได้
แต่หากอุบายนั้น มาลงที่ไตรลักษณ์ได้ จะยิ่งดีที่สุด
เพราะสามารถเจริญวิปัสสนาต่อไปได้เลยทีเดียว
ดีกว่าอุบายประเภทแก้ปัญหาอันหนึ่ง
เพื่อจะเกิดปัญหาอีกอันหนึ่งให้ต้องแก้อีก
อุบายแบบนั้น ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่ควรใช้เลยครับ
 
โดยคุณ สันตินันท์ วัน ศุกร์ ที่ 14 มกราคม 2543 08:51:34
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: