หลวงปู่ชา สุภัทโท สนทนาธรรม กับองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตท่านได้พิจารณาถึงธาตุกรรมฐาน พิจารณาดูอาการที่สังขารทั้งมวลเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสลายไปเกิดความสังเวชใจว่า
อันชีวิตย่อมสิ้นสุดลงแค่นี้หรือ จะยากดีมีจนก็พากันดิ้นรนไปหาความตาย ซึ่งเป็นปลายทางของชีวิต
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นสมบัติสากล ที่ทุกคนจะต้องเผชิญ
ครั้งหนึ่งท่านได้เข้ากราบนมัสการหลวงปู่มั่น ได้ปรารภข้อข้องใจถึงธรรมยุติและมหานิกาย หลวงปู่มั่นได้ชี้แจงว่า
การประพฤติปฏิบัตินั้น ถ้าถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง
ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องญัตติเข้ายุตินิกายตามครูบาอาจารย์
ทางมหานิกายก็จำเป็นต้องมีพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่นเดียวกัน
เมื่อได้ฟังโอวาทหลวงปู่มั่นจบลงรู้สึกว่าความเหน็ดเหนื่อยล้าได้หายไปจนหมดสิ้น
จิตหยั่งลงสู่สมาธิด้วยอาการสงบ หมดสงสัยในหนทางประพฤติปฏิบัติ
เกิดความปลาบปลื้มปิติในธรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ได้กำลังใจและความอาจหาญพร้อมที่จะเอาชีวิตเดินพันในการทำความเพียรเพื่อจะบรรลุมรรคผลนิพานให้ได้
คำสอนที่หลวงปู่มั่นเน้นเป็นที่สุดคือเรื่องตัวจิตและอาการต่าง ๆ ของจิต
วันหนึ่งเวลาประมาณสามทุ่มเศษ ๆ ได้มีหมาป่าฝูงหนึ่งวิ่งผ่านมา
ต่างวิ่งกรูกันเข้ามาจะทำอันตราย ท่านรู้สึกตกใจ ตั้งสติ กำหนดจิตอธิษฐานว่า
“ข้ามาที่นี่ได้ได้มาเพื่อเบียดเบียนใคร มาเพื่อต้องการบำเพ็ญคุณงามความดี มุ่งต่อความพ้นทุกข์
ถ้าหากว่าเราเคยได้กระทำกรรมต่อกันมา ก็ขอให้กัดข้าให้ตายไปเสียเถิด เพื่อเป็นการชดใช้กรรมเก่า
แต่ถ้าไม่เคยมีเวรภัย ต่อกันแล้ว ก็ขอให้หลีกไป”
หมาป่าเหล่านั้นทั้งเห่าทั้งขู่คำราม จิตเกิดความรู้สึกกลัวมาก ก็ปรากฏเห็นเป็นหลวงปู่มั่น ตวาดขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า
“ไป๊ พวกสูจะมาทำอะไรเขาอยู่ที่นี่เล่า”
ท่านเงื้อท่อนไม้ขึ้นคล้ายจะตี หมาป่าเหล่านั้นแตกตื่นวิ่งหนีไป ท่านคิดว่าหลวงปู่มั่นมาช่วยจริง ๆ
คราวที่ปัสสาวะเลือดออกเป็นแท่ง ๆ คิดว่าถ้าตายสมควรตายก็ให้ตายเท่านั้นแหละ
จะทำยังไงได้ล่ะถึงกลัวไม่กลัวมันก็ต้องตาย เพราะความตายอยู่ที่เรานี้เอง ตายเพราะการบำเพ็ญภาวนานี่ตายก็เต็มใจตาย
ตายเพราะการทำชั่วนั้นไม่คุ้มค่า ตายอย่างนี้สมควรแล้ว เอ้า! ตายก็ตาย พระนิพพานอยู่ฟากความตายนะ
พิจารณาคนดีอยู่ที่ไหน คนดีอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราดีเสียแล้ว ไปอยู่ที่ไหนมันก็ดี เขาจะนินทา สรรเสริญ จะว่าจะทำอะไร
เราก็ยังดี แม้เขาจะข้ามหัวไป ก็ยังดีอยู่ แต่ถ้าเรายังไม่ดี เขานินทา เราก็โกรธ ถ้าเขาสรรเสริญ เราก็ยินดี ก็หวั่นไหวอยู่อย่างนั้น
เมื่อรู้ว่าคนดีอยู่ที่ไหนแล้ว เราจะมีหลักในการปล่อยวางความคิด เราจะอยู่ที่ไหน เขาจะรังเกียจหรือจะว่าอะไร
ก็ถือว่าไม่ใช่เขาหรือเขาชั่ว เพราะดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา เราย่อมรู้จักตัวเราเองยิ่งกว่าใคร...
ระหว่างที่ท่านเดินธุดงค์คนเดียวแสวงหาความวิเวกเกิดอาพาธหนัก นอนซมพิษไข้อยู่องค์เดียวกลางภูเขา
ไข้ขึ้นสูงมากจนลุกไม่ขึ้น ประกอบกับไม่ได้ฉันอาหารมาหลายวัน ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียราวกับจะสิ้นใจ
ถ้ามีคนพบศพแจ้งข่าวบอกญาติพี่น้องทางบ้านก็จะเป็นภาระ จึงจะจุดไม้ขีดเผาใบสุทธิเพื่อทำลายหลักฐาน
พอได้ยินเสียงอีเก้งมันร้องดังก้องภูเขา เกิดกำลังใจขึ้นมากเพราะอีเก้งมันป่วยเป็น มันไม่มียากิน
หมอรักษาก็ไม่มี แต่ก็ยังมีลูกหลานสืบต่อเผ่าพันธุ์เป็นอันมาก จึงพยายามตะเกียกตะกายไปเอาน้ำในกามาดื่ม
แล้วลุกขึ้นนั่งทำสมาธิจนอาการไข้ทุเลาลงเรื่อย ๆ
การปฏิบัตินี้มันเป็นทุกข์ลำบากแสนสาหัส มันหนัก! เอาชีวิตเข้าแลก เสือจะกินช้างจะเหยียบ
ก็ให้มันตายไปเสียคิดอย่างนี้มันควรตายแล้ว เมื่อเราได้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ก็ไม่ต้องมีอะไรจะต้องกังวลอีกต่อไป
ตายก็เหมือนไม่ตายละทีนี้ เลยเป็นเหตุให้ไม่กลัว เป็นธรรมาวุธ อาวุธคือธรรมะ
อาวุธของเราคือธรรมะอย่างเดียว ปล่อยมันเลย กล้าหาญ ยอมตายเสีย เสี่ยงชีวิต ถ้าคนไม่กลัวตายยอมตายเสียมันกลับไม่ตายนะ
ทีนี้ทุกข์ก็ให้มันเกินทุกข์ มันหมดทุกข์โน่น ให้มันเห็นเรื่องของมัน เห็นความจริง เห็นสัจธรรม
ขณะพักอยู่บนภูลังกา ได้เร่งความเพียรอย่างหนักพักผ่อนเพียงเล็กน้อย
ไม่คำนึงถึงเวลาว่าเป็นกลางวัน หรือกลางคืน คงยืนหยัดต่อไปอย่างต่อเนื่องจิตพิจารณาเรื่องธาตุ และสมมุติบัญญัติอยู่ตลอดเวลา
“จิตมีความรู้สึกเหมือนเป็นคนละโลก ดูอะไรก็เปลี่ยนไปหมด กาน้ำตั้งอยู่มองดูแล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่กาน้ำ กระโถน
บาตรก็เปลี่ยนไปทุกอย่างเปลี่ยนสภาพไปหมดเหมือนหน้ามือกับหลังมือเหมือนแดดจ้าที่มีก้อนเมฆเคลื่อนมาบดบังแสงแดดก็วาบหายไป
ดูแล้วก็ไม่เป็นอะไร เป็นธาตุ เป็นของสมมุติทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายของเราก็ไม่ใช่ของเรา ล้วนแต่ของสมมุติ”
วันหนึ่งขณะที่ท่านเดินจงกรมอยู่เวลาประมาณห้าทุ่มกว่า รู้สึกแปลก ๆ มันแปลกมาแต่ตอนกลางวันแล้ว
รู้สึกว่าไม่คิดมาก มีอาการสบาย ๆ เขามีงานอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อเดินจงกรมเมื่อยแล้ว เลยมานั่งที่กระท่อม
คู้ขาเข้าเกือบไม่ทันอ๊ะ! จิตสงบจริง ๆ เสียงเขาร้องรำอยู่ในหมู่บ้านมิใช่ว่าจะไม่ได้ยิน ยังได้ยินอยู่ แต่จะทำให้ไม่ได้ยินก็ได้
แปลกเหมือนกัน เมื่อไม่เอาใจใส่ก็เงียบไป จะให้ได้ยินก็ได้ ไม่รู้สึกรำคาญ ภายในจิตเหมือนวัตถุสองอย่างตั้งอยู่ไม่ติดกันดูจิตกับอารมณ์ตั้งอยู่คนละส่วนเหมือนกระโถนกับกาน้ำ ก็เลยเข้าใจว่าจิตมีสมาธินี่ ถ้าน้อยไปก็ได้ยินเสียง ถ้าว่างก็เงียบ
ถ้ามันมีเสียงขึ้นก็ดูตัวผู้รู้ ขาดกันคนละส่วน
จึงพิจารณาว่า ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ มันจะใช่ตรงไหนอีก มันเป็นอย่างนี้ ไม่ติดกันเลย ได้พิจารณาอย่างนี้เรื่อย ๆ
จึงเข้าใจว่า อ้อ! อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เรียกว่า สันตติ คือความสืบต่อ ขาด มันเลยเป็นสันติ แต่ก่อนมันเป็นสันติออกมา
จึงนั่งทำความเพียรต่อไป จิตในขณะที่นั่งทำความเพียรคราวนั้นไม่ได้เอาใจใส่ในสิ่งอื่นเลย
ถ้าเราจะหยุดความเพียรก็หยุดได้ตามสบาย เมื่อเราหยุดความเพียร เจ้าเกียจคร้านไหม เจ้าเหนื่อยไหม
เจ้ารำคาญไหม เปล่า ไม่มีตอบได้ว่าไม่มี ของเหล่านี้ไม่มีในจิตใจ
มีแต่ความพอดีหมดทุกอย่างในนั้น ถ้าเราจะหยุดก็หยุดเอาเฉย ๆ นี่แหละ
ต่อมาจึงหยุดพัก หยุดแต่การนั่งเท่านั้น ใจเหมือนเก่ายังไม่หยุด เลยดึงเอาหมอนลูกหนึ่งมาวางไว้
ตั้งใจจะพักผ่อนเมื่อเอนกายลงจิตยังสงบอยู่อย่างเดิม พอศีรษะจะถึงหมอนมีอาการน้อมในใจ ไม่รู้มันน้อมไปไหน
แต่มันน้อมเข้าไปคล้ายกับมีสายไฟอันหนึ่งไปถูกสวิตช์ไฟเข้า ไปดันกับสวิตช์อันนั้น กายก็ระเบิดเสียงดังมาก
ความรู้ที่มีอยู่นั้นละเอียดที่สุด พอมันผ่านตรงจุดนั้นก็หลุดเข้าข้างในโน้น ไปอยู่ข้างในซึ่งไม่มีอะไร
แม้อะไรอะไรทั้งปวงก็ส่งเข้าไปไม่ได้ส่งเข้าไปไม่ถึง ไม่มีอะไรไปถึงหยุดอยู่ข้างในสักพักหนึ่ง
ก็ถอยออกมา คำว่าถอยออกมานี้ไม่ใช่ว่าจะให้มันถอยออกมาหรอก
เราเป็นเพียงผู้ดูเฉย ๆ เราเป็นผู้รู้เท่านั้น อาการเหล่านี้เป็นออกมา ๆ ก็มาถึงปกติจิตธรรมดา
เมื่อเป็นปกติดังเดิมแล้ว คำถามก็มีขึ้นมาว่า นี่มันอะไร? คำตอบเกิดขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้ของเป็นเอง
ไม่ต้องสงสัยมันพูดเท่านี้จิตก็ยอม เมื่อหยุดอยู่พักหนึ่งก็น้อมเข้าไปอีก เราไม่ได้น้อมมันน้อมเอง
พอน้อมเข้าไป ๆ ก็ไปถูกสวิตช์ไฟอย่างเก่า ครั้งที่สองนี้ร่างกายแตกละเอียดหมด หลุดเข้าไปข้างในอีก
เงียบ! ยิ่งเก่งกว่าเก่า ไม่มีอะไรส่งเข้าไปถึง เข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมันพอสมควรแล้วก็ถอยออกมาตามสภาวะของมัน
ในเวลานั้นมันเป็นอัตโนมัติ มิได้แต่งว่าจงเป็นอย่างนั้น จงเป็นอย่างนี้ จงออกอย่างนี้ จงเข้าอย่างนั้นไม่มี
เราเป็นเพียงผู้ทำความรู้ ดูอยู่เฉย ๆ มันก็ถอยออกมาถึงปกติมิได้สงสัย แล้วก็นั่งพิจารณาน้อมเข้าไปอีก
ครั้งที่สามนี้โลกแตกละเอียดหมด ทั้งพื้นปฐพี แผ่นดิน แผ่นหญ้าต้นไม้ ภูเขาเลากา
เป็นอากาศธาตุหมด ไม่มีคน หมดไปเลย ตอนสุดท้ายนี้ไม่มีอะไร
เมื่อเข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมัน ไม่รู้ว่ามันอยู่อย่างไร ดูยาก พูดยาก ของสิ่งนี้ไม่มีอะไรมาเปรียบปานได้เลย
นานที่สุดที่อยู่ในนั้น พอถึงกำหนดเวลาก็ถอนออกมา คำว่าถอนเราก็มิได้ถอนหรอก มันถอนของมันเอง
เราเป็นผู้ดูเท่านั้น ก็เลยออกมาเป็นปกติ สามขณะนี้ใครจะเรียกว่าอะไร ใครรู้ เราจะเรียกอะไรเล่า
ที่เล่ามานี้เรื่องจิตตามธรรมชาติทั้งนั้น อาตมามิได้กล่าวถึงจิต ถึงเจตสิก ไม่ต้องอะไรทั้งนั้น มีศรัทธา ทำเข้าไปจริงๆ
เอาชีวิตเดินพัน เมื่อถึงวาระที่เป็นอย่างนี้ออกมาแล้ว โลกนี้ แผ่นดินนี้มันพลิกไปหมด ความรู้ความเห็นมันแปลกไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
ในระยะนั้นถ้าคนอื่นเห็นอาจจะว่าเราเป็นบ้าจริง ๆ ถ้าผู้ควบคุมสติไม่ดีอาจเป็นบ้าได้นะ
เพราะมันไม่เหมือนเก่าสักอย่างเลย เห็นคนในโลกไม่เหมือนเก่า แต่มันก็เป็นผู้เดียวเท่านั้น
แปลกไปหมดทุกอย่าง ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงนั้น เขาคิดไปทางโน้น แต่เราคิดไปทางนี้
เขาพูดมาทางนี้ เราพูดไปทางโน้น เขาขึ้นทางโน้น เราลงทางนี้ มันต่างกับมนุษย์ไปหมด มันก็เป็นของมันเรื่อย ๆ ไป