KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนาสติรักษาจิต โดยหลวงปู่เทสก์
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: สติรักษาจิต โดยหลวงปู่เทสก์  (อ่าน 10645 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2009, 08:33:23 PM »

             

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

แสดง  ณ  วัดหินหมากเป้ง   อ.ศรีเชียงใหม่  จ.หนองคาย

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๕๒๓

จากหนังสือ  เทสกานุสรณ์  หน้า ๑๕๙




              ตั้งใจ กำหนดจิตให้ดี  เราปฏิบัติภาวนาต้องอาศัยสติเป็นของสำคัญ  ระลึกถึงจิตอยู่เสมอๆ  กำหนดไว้ที่จิต    ครั้นเห็นจิตของตนแล้ว  กำหนดจิตของตนไว้จึงจะรู้เรื่องในการเทศน์  จิตเท่านั้นแหละที่เราจะต้องรักษา  นอกจากจิตแล้วไม่มีอะไรหรอก  อวัยวะทั้งหมดทุกชิ้นส่วนของร่างกายนี้  มีจิตเป็นใหญ่    จิตนี้แหละพาวิ่งพาว่อนพาท่องเที่ยวไปมา  พาให้เดือดร้อนเป็นทุกข์  ก็เพราะจิตนั่นแหละ   ถ้าเรารักษาสำรวมจิต  เห็นว่าเป็นทุกข์เดือดร้อนวุ่นวายแล้วก็หยุดเสีย  มันก็ได้ความสุขเท่านั้นเอง

         ที่เราไม่รู้จักเรื่องจิต  เราไม่มีสติรักษา  มันจึงส่งส่ายหาเรื่องทุกข์ต่างๆ  จนกระทั่งมันทุกข์แล้วจึงค่อยรู้เรื่อง  มันสุขแล้วจึงค่อยรู้เรื่องของจิต  ในเวลาที่มันส่งส่ายอยู่นั้นไม่รู้เรื่องของมันเลย  จึงว่าจิตอันเดียวเท่านั้นที่ต้องรักษา    การภาวนาทั้งหมดก็มารวมที่จิตนี้แห่งเดียว  รักษาอันเดียวเท่านั้นแหละ  ให้รักษาจริงๆจังๆ    ใน เวลานี้เราจะนั่งสมาธิหรือฟังเทศน์  เราจะสำรวมจิตให้อยู่ในขอบข่ายของสติ  สติเป็นคนคุม  เมื่ออยู่ในขอบข่ายของสติแล้วก็หมดเรื่องกัน

         สติ คือ ผู้ระลึกถึงจิตอยู่เสมอๆ  นั่นเรียกว่าสติความระลึกได้    จิต คือ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ส่งส่าย,   อาการเป็นอย่างนั้นเรียกว่าสติ    ถ้าไม่มีจิตมันก็ไม่มีสติ  ถ้าไม่มีสติมันก็ไม่มีจิต  แท้ที่จริงก็อันเดียวกันนั่นแหละ  แต่มันเป็นอาการ(ของจิต)คนละอย่างกัน(เจตสิก ๕๒)  หน้าที่คนละอันกัน

         สติเหมือนกับพี่เลี้อง  จิตเหมือนกับลูกอ่อน  ควบคุมรักษากันอยู่ตลอดเวลา  ลูกอ่อนที่มันซุกซน  พี่เลี้องต้องระวังอย่างเข้มแข็ง  ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะหลุดพลัดโผไปตกถูกของแข็ง  หรือตกไปในที่ลุ่มทำให้เจ็บได้    ถึงอย่างไรก็ต้องรักษาสติตัวเดียวเท่านั้นแหละ  พี่เลี้องต้องรักษาอยู่ตลอดเวลา    กว่าจะพ้นอันตรายได้  มันใช้เวลาหน่อย  เลี้ยงเด็กมันก็หลายปีกว่าจะเติบโตขึ้นมาได้  ถึงเติบโตขึ้นมาแล้วก็ต้องระมัดระวังสิ่งอื่น เช่นมันซุกซน วิ่งเล่นอะไรต่างๆ ต้องระมัดระวัง  แต่จำเป็นเพราะมันยังเป็นเด็กอยู่    ระวังจนใหญ่โตเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้น  ก็ยังต้องระวังอยู่ตลอดเวลา  เมื่อทำชั่วประพฤติผิด  สติตัวนี้ใช้อยู่ตลอดเวลา  ใช้ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเติบโต  ใช้ตั้งแต่สติผู้คิดผู้นึกทีแรกโน่น  ตลอดจนมันส่งส่ายไปสารพัดทุกเรื่องทุกอย่าง  สติต้องรักษาอยู่ตลอดเวลา  ส่วนเด็กนั้นเรียกว่าเป็นของมีตนมีตัว มันของยากหน่อย  แต่เมื่อเราคุมอยู่แล้ว จิตกลายเป็น(เหมือน - webmaster)ของมีตัว ปรากฎเห็นชัดเลย  จิตอยู่หรือจิตไม่อยู่  จิตวิ่งว่อนเที่ยวไปในที่ต่างๆ  เห็นชัดเลยทีเดียว  เป็นตัวเป็นตนแท้ทีเดียว

         ครั้น เรารักษาจิตได้แล้ว  ควบคุมจิตได้แล้ว  สติตัวนั้นตั้งมั่นแล้วมันจะรวมเข้ามาเป็นใจ  คือตรงกลางๆนั่นแหละ  ไม่มีสถานที่หรอก  กลางตรงไหน ก็อันนั้นเป็นใจ ตรงนั้นแหละ  ไม่ใช่อยู่นอกอยู่ใน ข้างบนข้างล่าง   ใจเป็นกลางๆ อยู่ตรงไหนก็นั่นแหละ  ตัวใจตรงนั้นแหละ  หัดสติควบ คุมจิตให้เข้าถึงกลางอยู่เสมอๆ  มันค่อยมีพลังสามารถที่จะคิดค้นในสิ่งต่างๆ  สามารถที่จะระงับดับทุกข์ทั้งปวง  มันเดือดร้อน จะได้ทิ้งได้  เดี๋ยวนี้เราไม่เข้าถึงตรงกลาง จึงละทุกข์ไม่ได้    สิ่งที่ทุกข์ ก็เดือดร้อนวุ่นวาย  สิ่งที่เป็นสุข ก็เพลิดเพลินลุ่มหลง  ไม่เป็นกลางลงไปได้สักที

         ถ้า ถึงตรงกลางแล้วนั้น   มันเป็นทุกข์ก็รู้จักทุกข์  ก็ปล่อยวางทุกข์ได้   มันสุขสบายก็ไม่หลงเพลิดเพลินมัวเมา    มันก็เป็นกลางอยู่อย่างนั้น  มันไม่สุขไม่เดือดร้อนวุ่นวาย  ไม่เป็นทุกข์  สติตัวหนึ่ง  จิตตัวหนึ่ง  สติควบคุมจิต    เมื่อควบคุมได้แล้วมันเข้ามาเป็นใจตัวเดียว   ตัวใจเป็นของสำคัญที่สุด  จิตมันออกจากใจ  ถ้าไม่มีใจมันก็ไม่มีจิต  จิตอันใดใจอันนั้น  ใจอันใดจิตอันนั้น  ท่านก็เทศนาอยู่  แต่จิตก็หมายความถึงอันเดียวกันนั่นแหละ

         แต่ ทำไมท่านจึงเรียกว่าใจ  ทำไมจึงเรียกว่าจิต   อธิบายให้ฟังว่าใจคือตรงกลางไม่มีส่งส่าย  ไม่มีคิดไปหาบาปอกุศล  ไม่คิดถึงบุญ  หรืออะไรทั้งหมด  ใจที่ตรงกลางๆนั่นแหละ  ไม่มีอะไรหรอก  ไม่คิด  ไม่นึก  ไม่ปรุง  ไม่แต่ง  แล้วก็ไม่เกิดปัญญา    ตรงนั้นไว้เสียก่อน  ให้มันอยู่ตรงกลางเสียก่อน  ปัญญาเกิดหรือไม่เกิดก็ช่างมัน    ที่จะถึงตรงกลางได้มันใช้ปัญญาไม่ใช่น้อย  คิดค้นต่างๆทุกอย่างทุกเรื่อง  คิดค้นมาพอแรงแล้ว ตัวปัญญาใช้มามากแล้ว  คราวนี้เมื่อใช้มันหมดทางไม่มีที่ไปแล้ว  มันจึงเข้ามาเป็นกลาง  ตัวกลางๆนั้น  แต่คนไม่เข้าใจว่ามีปัญญา    แท้ที่จริงปัญญาใช้มามากแล้ว  เข้าถึงตรงกลางแล้วก็เฉยอยู่นั้น

         เรา อยากจะรู้จักตรงกลางคืออะไร  หัดอย่างนี้ก็ได้  ทดสอบทดลองดู  กลั้นลมหายใจสักพักหนึ่ง  ไม่มีอะไรหรอก  มีเฉยๆ รู้เฉยๆ ไม่คิดไม่นึก  แต่รู้สึกว่ามันไม่คิดไม่นึก  ไม่ส่งส่ายไปมาหน้าหลัง  ไม่คิดถึงเป็นบาปเป็นบุญอะไรทั้งหมด  ผู้รู้สึกว่าเฉยๆนั่นแหละ  ตัวนั้นแหละตัวกลางตัวใจ (webmaster- ภาวะนี้เกิดจากมีสติ ในการกลั้นลมหายใจอันทำงานอยู่ตลอดเวลาและจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตให้ คงอยู่  จิตจึงต้องมีสติที่ตั้งมั่นแน่วแน่ในการระงับลมนั้น  จึงไม่ส่งส่ายไปปรุง ไปแต่ง  ตั้งมั่นอยู่ในการระงับลมนั้นเป็นเอก)  แต่มันได้ชั่วขณะเดียวในเมื่อเรากลั้นลมหายใจ พอจับตัวมันได้ว่า  ตัวใจมันตัวนี้  คราวนี้มันส่งออกไป  ถ้า มันส่งส่ายเป็นจิต  คิดนึก  สติควบคุมดูแลรักษา  ต้องชำระสะสางสิ่งที่เป็นบาป  ละอกุศล  ปล่อยวางลงไป  สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลอันนั้นก็ทิ้งวาง ปล่อยวางลงไป ไม่เอา   บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา  มันถึงเข้าถึงกลางได้  เอาบุญก็ไม่เข้าถึงกลาง เอาบาปก็ไม่เข้าถึงกลาง  เมื่อละทั้งสองอย่างแล้วจึงเป็นกลางได้   นั่นแหละใช้ปัญญาอุบายมากมาย  จนกระทั่งมาเป็นใจ

         ธรรมดา จิตกับใจนี้มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่  เข้ามาเป็นใจพักหนึ่งแล้วมันก็อยู่ไม่นาน  มันก็ออกไปอีก  วิ่งว่อนไปตามเรื่องของมัน  แต่เราตั้งสติกำหนดรู้ใจรู้จิตของมัน เรื่องมันวิ่งว่อนไปด้วยประการต่างๆ  มันซุกซน  รู้เรื่องของมัน    คำว่ารู้นั้น หมายความว่า  ละทิ้งในสิ่งที่มันไม่ดี  เมื่อละไปหมดแล้ว  มันก็กลับมาช่องกลางนั้นอีก  การหัดสมาธิภาวนา  ถ้าหัดอย่างนี้ได้บ่อยๆเสมอๆ  ไม่เตลิดเปิดเปิงหลงไปตามจิต  ไม่มีสถานี  ไม่หยุด ไม่หย่อน อันนั้นใช้ไม่ได้   พิจารณาจนหมดเรื่องแล้ว  ถ้ามันถูก มันกลับมาอีกหรอก มาเป็นใจ    ถ้าไม่ถูกก็เลยเตลิดเปิดเปิงไปใหญ่โตมโหฬาร

         ถึงอย่างไรก็ขอให้ทำให้เข้าใจถึงใจอยู่เสมอๆ  ความสงบที่เข้าถึงใจที่เป็นหนึ่งนั้นเป็นการดีมาก   ถึงไม่ได้ปัญญาก็เอาเถอะ  เอาเพียงเท่านี้ก็เอาเสียก่อน  เอาที่ความสงบนั่นแหละ  ให้มั่นคงถาวรแล้วมันถึงเกิดเองหรอก  อย่ากลัวเลย  กลัวว่าจิตจะไม่คิดไม่นึก ไม่ปรุงไม่แต่ง  มันคิดมันนึกมันปรุงมันแต่ง  ก็รู้เท่ารู้เรื่องมันอยู่ถ้าหากมันเข้าถึงใจแล้ว  นี่การภาวนาต้องหัดอย่างนี้  หัดพิจารณาอานาปานสติก็ดี  มรณานุสติก็ดี  พุทโธ อะไรต่างๆหมด  ก็เพื่อให้เข้าถึงใจ  เพื่อให้คุมสติได้    ถ้าหากว่าคุมใจไม่ได้  คุมใจไม่อยู่  อะไรก็เอาเถิด ไม่เป็นผลประโยชน์อะไรเลย

         ตัว ของเราทั้งหมดมีจิตอันเดียวเป็นของสำคัญอยู่ในตัวของเรา  คนมากมายหมดทั้งโลกนี้ก็จิตตัวเดียว  จิตคนละดวงๆเท่านั้นแหละ  มันวุ่นวายอยู่นี่แหละ  แต่ละคนๆ รักษาจิตของเราไว้ได้แล้ว  มันจะวุ่นอะไร  มันก็สงบหมดเท่านั้น  ต่างคนต่างรักษาใจของตน    ต่างคนมีสติรักษาใจเท่านั้นก็เป็นพอ    ที่ มันยุ่งมันวุ่นก็เพราะเหตุที่ไม่รู้ใจของตน  รักษาใจของตนไว้ไม่ได้  มีโลภโมโทสันสารพัดทุกอย่าง  วุ่นวี่วุ่นวายเกิดแต่ใจนี่ทั้งนั้น   แล้วใจมันได้อะไรล่ะ   โลภมันได้อะไรไปใส่ใจ  โลภมันไปกองอยู่ที่ใจมันได้อะไร  โทสะเอาไปไว้ที่ไหนล่ะ  ไปไว้ที่ใจมีไหมล่ะ    โมหะ ความหลงไปไว้ที่ใจมีไหม   ใจไม่เห็นมียุ้งมีฉางใส่  ใจไม่เห็นมีตนมีตัว  มัน ได้อะไร  มีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย    ผู้ที่ว่าได้ว่าดีนั้น มันดีตรงไหน  โลภโมโทสันได้มาแล้วว่าดีนั้น   โกรธ  โลภ หลง  คนนั้นคนนี้    เห็นตนว่าวิเศษวิโส  ว่าตนดี  มันดีอะไร  วิเศษอะไร  มีแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย

         อย่าง ว่า เราได้ของเขามาอย่างนี้  เราโลภอยากได้ของเขา  ได้มามันมีอะไรในที่นั้น   ได้มาอยู่มากิน  ได้มาบริโภคใช้สอย  ใช้อะไรก็ตัวนี้ละใช้  มันใหญ่มันโตมันอ้วนมันพีขึ้นไหมล่ะตัวนี้  มันก็ไม่เห็นมีอะไร  มีแต่แก่เฒ่าชำรุดทรุดโทรมไปทุกวัน   อย่างว่า โทสะ มานะ ทิฏฐิเกิดขึ้นมา  ถือตนถือตัว  ถือเราถือเขา    มานะทิฏฐิเกิดขึ้นมาไม่ยอม  กระด้างถือตัว  มันได้อะไรกัน  ไม่เห็นมีอะไร    ตัวมันพองขึ้นโตขึ้นไหม  ตัวนั้นมันดีวิเศษขึ้นกว่าเก่าหรือ   มันเป็นคนสดคนสวยขึ้นกว่าแต่เก่าหรือ  หรือว่าเป็นอะไรไม่เห็นสดสวยอะไร  มีแต่หน้าบึ้งหน้าเบี้ยวหน้ายักษ์หน้ามาร  อยู่ดีๆจะไม่ดีกว่าหรือ    โมหะความลุ่มหลงก็เช่นกัน  มันจะเกิดความโลภ ความหลง  ก็โมหะมาก่อน   มีโมหะแล้วเกิด  โลภ  โกรธ  หลงขึ้นมา    ให้ พิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว  มันหมดเรื่องกัน  จะไปเกิดโมหะ  โทสะ  มานะทิฏฐิไม่มีเลย   เป็นของว่างเปล่าหมดทุกสิ่งทุกอย่าง   เราอยู่เฉยๆจะไม่ดีกว่าหรือ   ทำให้เข้าถึงใจตัวกลางตัวนั้น  จะเบิกบาน  สุขภาพก็ดี  แล้วก็ไม่มีเวรภัย  ไปไหนก็ไม่คับแคบ  ไม่รกโลกของเขา   คนโท สะ  มานะทิฏฐิจะไปไหนมันรกหมด  ไม่ยอมตนยอมตัวไปอยู่ที่ไหนมันคับบ้านคับเมืองหมด  ให้พิจารณาอย่างนี้แหละ  ครั้นถ้าพิจารณาอย่างนี้ถูกทางแล้ว  มันจะรวมเข้าเป็นใจ  เอาละ  พิจารณาเท่านั้นละ

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.nkgen.com/tess801.htm
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: