แนวทางเจริญวิปัสสนา
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
.
.
.
ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ภาค ๒
ปาวารณาสูตร ที่ ๗
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ ปุพพาราม
ปราสาท ของวิสาขามิคารมาตา เขตพระนครสาวัตถี
พระองค์ประทับอยู่กับพระภิกษุสงฆ์ ประมาณ ๕๐๐ รูป
ภิกษุ ล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
พระองค์ประทับในที่แจ้ง
เพื่อปวารณา ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ.
พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
"ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
บัดนี้ เราขอปวารณา เธอทั้งหลาย
เธอทั้งหลาย จะไม่ติเตียนกรรมไรๆ
ที่เป็นไป ทางกาย หรือ ทางวาจาของเราบ้างหรือ.?"
ท่านพระสารีบุตร กราทูลว่า
"พระองค์เป็นศาสดา และสาวก ก็ประพฤติปฏิบัติตามพระองค์
เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย
ที่สาวกทั้งหลาย จะติเตียน พระผู้มีพระภาคได้
เพราะพระองค์ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า."
จากนั้น ท่านพระสารีบุตร กราบทูลถามว่า
"พระผู้มีพระภาค จะไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ
ที่เป็นไป ทางกาย หรือ ทางวาจา
ของภิกษุ ทั้งหลายเหล่านี้บ้างหรือ.?
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ
ที่เป็นไปทางกาย หรือ ทางวาจาของบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูป เหล่านั้น
เพราะบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูป เหล่านี้.....................
ภิกษุ ๖๐ รูป............เป็นผู้ได้ วิชชา ๓.
ภิกษุ ๖๐ รูป..........เป็นผู้ได้ อภิญญา ๖.
ภิกษุ ๖๐ รูป...เป็นผู้ได้ อุภโตภาควิมุตติ.
ภิกษุที่เหลือ..........เป็นผู้ได้ ปัญญาวิมุตติ.
นี่แสดงให้เห็นว่า
การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ในสำนักของพระผู้มีพระภาคนั้น
แล้วแต่ อัธยาศัย ว่า ท่านผู้ใด
ได้เคยเจริญความสงบ ถึงขั้นที่จะได้ วิชชา ๓
หรือ ถึงขั้นที่จะได้ อภิญญา ๖ สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆได้
หรือ สามารถที่จะได้อุภโตภาควิมุตติ
คือ เมื่อจิตสงบบรรลุฌานแล้ว ก็บรรลุอรหัตตผล
แต่ผู้ที่เป็นปัญญาวิมุตติ
คือ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุเป็นพระอริยบุคคล
โดยไม่บรรลุความสงบถึงขั้นฌานจิตนั้น มีมากกว่า.
พระสูตรนี้แสดงให้เห็นว่า
เหตุใด พระผู้มีพระภาค จึงมิได้ทรงวางกฏเกณฑ์
ในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน.
และด้วยเหตุนี้ ในพระไตรปิฎก
จึงไม่มีสำนักปฏิบัติเลย ในครั้งพุทธกาล
มีแต่อารามของสงฆ์ เท่านั้น.
คำว่า "สำนัก" แปลว่า ที่อยู่.
คฤหัสถ์ มีบ้านเรือน เป็นที่อยู่
และสามารถอบรมเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ตามปกติ
เพื่อละคลาย ความเห็นผิด ที่ยึดถือ นามและรูป ว่า เป็นตัวตน.
บรรพชิต ก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน
รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวันของท่าน ตามปกติ.
เพราะปัญญา จะต้องรู้ลักษณะของนามและรูป
จนกว่าจะละคลายความเห็นผิด
ที่เคยยึดถือนามและรูปว่าเป็นตัวตน ได้เป็นสมุจเฉท.
.
.
.
........................... ขออนุโมทนา ............................
ขอบคุณข้อมูลจาก ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ :
http://www.dhammahome.com