KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน ประวัติของพระอริยสงฆ์ สาวกที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รวมทั้งปฏิปทาในการปฏิบัติประวัติหลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน ละสังขารด้วยอาการสงบ วันพุธที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติหลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน ละสังขารด้วยอาการสงบ วันพุธที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙  (อ่าน 8442 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: เมษายน 06, 2016, 05:20:44 PM »



หลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน “สมณะผู้รื่นเริงในธรรม” ละสังขารด้วยอาการสงบแล้ววันนี้
ณ กุฏิกลางน้ำวัดป่าโสตถิผล อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อเวลา ๑๔.๕๒ น.
ตรงกับวันพระแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ วันพุธที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙ สิริอายุ ๘๔ ปี ๙ เดือน ๑ วัน ๖๔ พรรษา

"..สวรรค์ก็ว่างอยู่ นรกก็ว่างอยู่ นิพพานก็ว่างอยู่ เฮ็ดเอา ทำเอา อยากได้แบบใด๋.." โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน

◎ กราบขอขมาหลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน

มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต
มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต
มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต

ลูกหลานกราบขอขมาหลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี หากเคยประมาทพลาดพลั้ง ด้วยความขาดสติรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งต่อหน้าหรือลับหลัง ทั้งอดีตหรือปัจจุบัน ลูกหลานกราบขอขมา ขอหลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน โปรดอโหสิกรรม และงดโทษล่วงเกินอันนั้น เพื่อความสำรวมระวังในการณ์ต่อไป และธรรมอันใดที่ท่านได้รู้แจ้งแล้ว ขอลูกหลานได้รู้ธรรม เห็นธรรมอันนั้นด้วยเทอญ...สาธุ

หลวงปู่บุญหนา ท่านเป็นพระกัมมัฏฐานที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีศีลวัตร และจริยวัตรที่งดงามรูปหนึ่งแห่งเมืองสกลนคร แม้องค์ท่านจะเข้าสู่วัยชราแล้ว แต่ท่านก็ยังรักษาวัตรปฏิบัตร ออกรับบิณฑบาตทุกวัน อีกทั้งท่านเป็นพระที่อารมณ์ดี มีอารมณ์ขันอยู่ตลอดเวลา ชาวบ้านลูกศิษย์ลูกหา ต่างให้ความเคารพเลื่อมใสศรัทธาในองค์ท่านเป็นอันมาก โดยเฉพาะความเป็นพระสงฆ์ที่มากด้วยเมตตาธรรม หลวงปู่บุญหนา ท่านเป็นหลานแท้ ๆ ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และเป็นศิษย์หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ออกธุดงค์ติดตามไปทุกหนแห่งเท่าที่พระอาจารย์จะพาไป ท่านเคยได้ไปกราบฟังธรรมกับหลวงงปู่มั่น ภูริทัตโต ตั้งแต่ท่านยังเป็นสามเณรน้อยอยู่ ด้วยเพราะหลวงปู่อ่อน พาไป ซึ่งเป็นความประทับใจ และเป็นการปลูกฝังถึงปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์พาดำเนินเป็นแบบอย่างจนมาถึงปัจจุบัน

"หลวงตาบ่มีบุญสิแจกไผดอกเด้อ..คั่นมีกะบ่ให้ไผดอก..สิเก็บเอาไว้เอง..คั่นอยากได้บุญกะปฏิบัติเอาเอง..การเฮ็ดบุญเฮ็ดทานให้หมั่นเฮ็ด..การเฮ็ดบุญเฮ็ดทาน ๑๐ เทื่อ ๑๐๐ เทื่อ..กะบ่เท่าการรักษาศีลเทื่อเดี๋ยว..รักษาศีล ๑๐๐ เทื่อ..กะบ่เท่าการภาวนาแล้วจิตรวมดอก..ซั่นแล้วกะให้เฮ็ดเอ๋า..ปฏิบัติเอ๋ากันเด้อ" โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน

๏ อุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์

เมื่ออายุ ๑๒ ปี ท่านได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดแจ้ง บ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่านเอง ได้ญัตติฝ่ายมหานิกาย ท่านได้ปฏิบัติอุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์นานถึง ๑๒ ปี ตั้งแต่ครั้งสมัยเป็นสามเณร อาทิเช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นหลวงอาได้นำท่านมาอยู่ด้วย และโดยเฉพาะกับ “พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ” ศิษย์สายธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในช่วงที่เป็นสามเณรอยู่กับพระอาจารย์อ่อน เคยไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เป็นประจำ โดยมีพระอาจารย์อ่อนนำพาไป

สาเหตุที่ได้ปฏิบัติอุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์อ่อน ด้วยพระอาจารย์อ่อนเดินธุดงค์มาพำนักหาความสงบวิเวกอยู่ที่บริเวณป่าช้าบ้านหนองโดก (ปัจจุบันคือ วัดป่าโสตถิผล หรือวัดป่าบ้านหนองโดก) ตอนนั้น ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร แต่เป็นฝ่ายมหานิกายได้ ๔ พรรษา พักอยู่วัดแจ้ง บ้านหนองโดก เป็นวัดบ้านของท่านเอง และไม่ไกลจากป่าช้าที่พระอาจารย์อ่อนไปพักอยู่นั้นมากนัก ประกอบด้วยตัวท่านเองมีความเลื่อมใสการปฏิบัติอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสให้ท่านสนใจไปฟังการอบรมภาวนาและอุปัฏฐากใกล้ชิดกับพระอาจารย์อ่อนตั้งแต่นั้น ภายหลังจึงได้เปลี่ยนเป็นสามเณรฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และติดตามพระอาจารย์อ่อนเรื่อยมา

๏ กราบนมัสการพระอาจารย์มั่น

วัดป่าโสตถิผล หรือวัดป่าหนองโดก คือสำนักของพระกัมมัฏฐานตั้งแต่สมัยหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต คือสมัยก่อนเมื่อพระภิกษุ สานุศิษย์จะเข้าไปฟังธรรมกับองค์หลวงปู่มั่น ที่วัดป่าหนองผือนาใน ภิกษุสงฆ์ไม่ได้อยู่ที่สำนักหนองผือ อันเพราะคับแคบไม่เพียงพอรองรับสานุศิษย์ที่ต้องการฟังธรรได้หมด ท่านจึงต้องออกมาอยู่สำนักสงฆ์โดยรอบ และที่วัดป่าโสตถิผล หรือวัดป่าหนองโดกนี้เอง จึงเป็นที่รองรับพระกัมมัฏฐานในยุคนั้น โดยมีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ในยุคนั้น ซึ่งหลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน ยังเป็นเพียงแค่สามเณร เท่านั้นเอง

ท่านเล่าต่อไปว่า ตอนที่ไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ครั้งแรกไปกับพระอาจารย์อ่อน พร้อมกับสามเณรอีกรูปหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) และญาติโยม ๔-๕ คน ออกจากวัดป่าบ้านหนองโดกหลังฉันจังหันเสร็จประมาณ ๓ โมงเช้า โดยเดินมุ่งหน้าสู่เทือกเขาภูพานที่อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านหนองโดก ผ่านไปทางบ้านโคกกะโหล่งหรือบ้านคำแหวปัจจุบัน แล้วปีนเขาขึ้นสู่ถ้ำน้ำหยาด อันเป็นที่พักแห่งหนึ่งของคนเดิน

คณะของท่านก็เดินตามทางนั้นไปเรื่อย ๆ ใช้เวลานานพอสมควร จึงไปถึงที่พักของคนเดินทางอีกแห่ง ตรงนั้นเป็นลำห้วยเล็กๆ อยู่ฟากเขาใกล้บ้านหนองผือ น้ำใสเย็นไหลตลอดแนว ชื่อว่าห้วยหมากกล้วย ถึงช่วงนี้พระอาจารย์อ่อนผู้เป็นหัวหน้า จึงพูดขึ้นอย่างเย็นๆ ว่า “เอาล่ะ ถึงที่นี่แล้ว ให้พักผ่อนเอาแฮงสาก่อน...”

และพระอาจารย์ก็รับผ้าอาบจากสามเณร เอามาพับครึ่งแล้วปูลงบนพลาญ (ลาน) หิน เสร็จแล้วท่านก็นั่งลงขัดสมาธิหลับตา ซึ่งเป็นการพักเหนื่อยตามวิธีของท่าน สำหรับสามเณรพร้อมญาติโยมที่ไปด้วยต่างแยกย้ายหาที่พักเหนื่อย โดยการหามุมสงบทำสมาธิของแต่ละคนไปตามอัธยาศัย จนตะวันบ่ายคล้อยอากาศเริ่มเย็นสบาย จึงพากันออกจากสมาธิแล้วเตรียมเดินทางต่อไป จนกระทั่งถึงวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) เวลาประมาณบ่าย ๓ โมง พอเข้าไปภายในบริเวณวัด รู้สึกว่าภายในวัดร่มรื่นสงบเงียบ เหมือนกับไม่มีพระเณร แต่ลานวัดสะอาด เห็นแล้วพลอยทำให้จิตใจสงบเย็นไปด้วย ดูสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในวัด จัดเก็บเป็นระเบียบเรียบร้อยดีมาก เดินไปอีกหน่อยหนึ่ง เห็นพระเณรกำลังทำกิจวัตรกวาดลานวัดด้วยไม้ตาด

ส่วนพระอาจารย์อ่อน พร้อมคณะ เข้าไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นบนกุฏิ เสร็จแล้วก็กลับที่พัก ปัดกวาดลานวัด ตักน้ำใช้น้ำฉันจากบ่อน้ำ ซึ่งบ่อน้ำนั้นอยู่ท้ายวัด ตักขึ้นเทใส่ปี๊บ ใช้ผ้าขาวกรองที่ปากปี๊บ เมื่อเต็มแล้ว พระเณรผู้ที่จะหาม ๒ รูปใช้ไม้คานหามสอดที่ห่วงปี๊บ ถ้าต้องการหลายปี๊บก็สอดเรียงซ้อนกันมากน้อยตามกำลังสามารถ อย่างมากประมาณ ๔ ถึง ๖ ปี๊บ ในแต่ละเที่ยว เอาไปเทตามโอ่งที่ล้างบาตรที่ล้างเท้าหน้าศาลาหอฉัน และตามกุฏิพระเณร ห้องถาน (ห้องส้วม) จนกระทั่งเต็มหมดทุกที่

เสร็จจากนั้นก็เตรียมรอสรงน้ำพระอาจารย์มั่นบริเวณหน้ากุฏิท่าน ซึ่งมีพระเตรียมน้ำสรงไว้โดยใช้น้ำร้อนผสมพอให้อุ่นๆ เมื่อพระอาจารย์มั่นเข้ามานั่งบนตั่งแล้ว คราวนี้พระเณรทั้งหลายห้อมล้อม เพื่อเข้าไปถูหลังขัดไคลถวายอย่างเปี่ยมล้นด้วยศรัทธา ส่วน สามเณรบุญหนา (หลวงปู่บุญหนา ธมฺมทินโน) มีโอกาสเข้าไปร่วมสรงน้ำท่านพระอาจารย์มั่นในครั้งนี้ด้วย

เนื่องจากสามเณรบุญหนามีรูปร่างเล็ก พอได้แทรกเข้าไปกับพระ ซึ่งส่วนมากมีร่างกายใหญ่โตทั้งนั้น เช่น พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ, พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส, พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร, พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน และอีกหลาย ๆ ท่าน

เมื่อพระอาจารย์มั่นเห็นท่านซึ่งเป็นสามเณรมาใหม่ พระอาจารย์มั่นจึงพูดสำเนียงอีสานขึ้นว่า “เณรมาแต่ไส...” เสียงท่านน่าฟังสดับจับใจมาก บ่งบอกถึงความเมตตา แต่สามเณรบุญหนาไม่ทันตอบ มีพระอาจารย์ทองคำตอบแทนว่า “เณรมากับครูบาอ่อน ข้าน้อย” จากนั้นท่านไม่ได้ว่าอะไรต่อไป จนเสร็จจากการสรงน้ำท่านในวันนั้น ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้นเป็นสิ่งที่ท่านประทับใจมาจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

สำหรับที่เป็นคติธรรมตามที่ได้เข้าสัมผัสวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ครั้งสมัยพระอาจารย์มั่นพำนักจำพรรษาอยู่ที่นั่น ได้สังเกตเห็นว่า แม้พระเณรจะมีเป็นจำนวนมาก การทำกิจวัตร เช่น ตักน้ำใช้ น้ำดื่ม กวาดลานวัด ขัดห้องน้ำห้องส้วม ตลอดทั้งล้างกระโถน กาน้ำ กรองน้ำใส่โอ่งไห และทำการงานอื่นๆ จะไม่ปรากฏเสียงพระเณรพูดคุยกันเลย ถึงจะพูดคุยกันก็เพียงกระซิบกระซาบ เห็นแต่อาการปากขมุบขมิบเท่านั้น คนอื่นไม่ได้ยินด้วย นี่เป็นคติธรรมอันหนึ่ง ให้มีสติระมัดระวังตัวไม่ประมาท

จึงเกิดอุบายธรรมขึ้นมาว่า เรื่องสติเป็นสิ่งสำคัญมาก สติระลึกรู้ในกาย สติระลึกรู้ในวาจาคำพูด สติระลึกรู้ในใจ เมื่อสติรูซักซ้อมอยู่ภายในกาย วาจา และใจแล้ว ทำ พูด คิด ถูกและผิด ก็ระลึกรู้อยู่ ปรับปรุงอยู่อย่างนี้เสมอ

พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้เล่าเรื่องของ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เทศน์แสดงธรรมสั้น ๆ ว่า “กายสุจริตํ วจีสุจริตํ มโนสุจริตํ กายบริสุทธิ์ วาจาบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์ เอวัง...” แล้วท่านก็เดินลงจากธรรมาสน์ไป

หลังจากพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงได้ออกเดินธุดงค์ต่อไปกับพระอาจารย์อ่อน เพื่อหาความสงบวิเวกอยู่ใกล้ละแวกนั้น จนกระทั่งทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) แล้วไปพำนักอยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร สุดท้ายท่านได้มรณภาพลงที่วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

สามเณรบุญหนาได้ติดตามไปกับพระอาจารย์อ่อนโดยตลอด และไปพักอยู่ช่วยงานเตรียมเมรุชั่วคราว เพื่อถวายเพลิงศพพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส จนแล้วเสร็จเรียบร้อยหมดทุกอย่าง จึงออกเที่ยวเดินธุดงค์ต่อไป

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้ปฏิบัติอุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์อื่นๆ อีก อาทิเช่น พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม พระอาจารย์ลี ธัมมธโร พระอาจารย์แหวน สุจิณโณ พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร และพระอาจารย์จาม มหาปุญโญ เป็นต้น

ต่อมาหลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน ได้มาพำนักจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าโสตถิผล บ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร จนมาถึงปี พ.ศ.๒๕๕๘ ท่านได้ตรวจพบอาการอาพาธแพทย์วินิจฉัยว่าท่านอาพาธด้วยโรคมะเร็งในปอด จึงได้ทำการรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยบาลศรีครินทร์ จ.ขอนแก่น และในวันนี้ หลวงปู่บุญหนา ท่านละสังขารด้วยอาการสงบแล้ว ณ กุฏิกลางน้ำวัดป่าโสตถิผล อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อเวลา ๑๔.๕๒ น. ตรงกับวันพระแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ วันพุธที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙ สิริอายุ ๘๔ ปี ๙ เดือน ๑ วัน ๖๔ พรรษา

"..หลวงตาเดินจงกรมอยู่ที่กุฏิมองไปนอกหน้าต่าง ก็เห็นหลังวัดก็เป็นโกฏิที่เก็บกระดูกของญาติโยม ข้างนอกวัดก็เป็นป่าช้าของพวกคริสต์เขา ก็พิจารณาสอนตนเองว่า 'เฒ่าเอ้ย' จะเอายังไง ข้างหน้าก็ตาย ข้างหลังก็ตาย แล้วตัวเราเองจะไม่ตายเรอะ ข้างนอกก็ตาย ข้างในสักวันก็ต้องตาย เร่งพิจารณาเอา.." ปรารภธรรมคำสอนของหลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน

_/\_ _/\_ _/\_
ที่มา : ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน
เพจ พระอริยเจ้า และ http://www.kammatan.com
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: เมษายน 06, 2016, 05:22:50 PM »

ทีมงานเว็บ kammatan.com ขอร่วมไว้อาลัยแด่องค์หลวงปู่
และขออนุโมทนาสาธุในธรรมะที่ถ่ายทอดโดยองค์หลวงปู่ด้วยนะครับผม
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: เมษายน 07, 2016, 09:10:26 AM »

“ บุญหนา เคยเกิดเป็นลูกชายผู้ข้าฯ ”

“บุญหนา บ้านหนองโดก เคยเกิดเป็นลูกชายผู้ข้าฯ เมื่อครั้งยุคสมัยเกิดอยู่เมืองลำพูน เป็นลูกชายเจ้าแม่จามเทวี บุญหนาเป็นหลานต้นครองเมืองลำพูนหริภุญไชยสืบต่อจากผู้ข้าฯ

ในยุคสมัยที่ผู้ข้าฯ เกิดเป็นพันธุละ บุญหนาก็มาเป็นลูกชาย

ชาติที่เกิดเป็นเศรษฐีอยู่น้ำข้อนเมืองงายอำเภอฝาง บุญหนาก็เกิดเป็นลูกชาย

หลายชีวิตหลายภพหลายชาติที่ติดตามไปเกิดอยู่ด้วย บำเพ็ญบารมีทำดีทำชั่วเรื่อยมา

อย่างชีวิตที่เกิดเป็นลูกชายพันธุละเสนาบดี ก็ถูกพระยาปัสเสนธิโกศลหลอกเอาไปฆ่าทิ้งอยู่หุบภูเขา ลูกชาย ๓๒ คน พ่ออีกหนึ่งคนแต่ละคนได้ทหาร คนละ ๑,๐๐๐ พัน

ทั้งหมด ๓๓ พันคน กับ ๓๓ คน ถูกฆ่าตายในซอกห้วยนั้นทั้งม้าด้วย เลือดไหลเป็นทางน้ำ

เหตุเพราะ พวกที่ไม่ชอบใจในพันธุละก็ยุยงใส่โทษหาความใส่หาเรื่องฟ้องร้องแก่พระเจ้าปัสเสน

พระเจ้าปัสเสนเป็นคนหูเบา เขาว่าพันธุละจะปฏิวัติแย่งชิงอำนาจราชบัลลังค์ ก็เชื่อเขา จึงได้ออกอุบายว่าให้ไปปราบกบฏชายแดน แล้วหลอกให้เขาไปติดอยู่ในลำห้วยซอกภูเชา เอากองทหารไปซุ่มอยู่ เขากลิ้งก้อนหินลงมา เขายิงธนูพุ่งหอกลงมาตายกันหมด บุพกรรมความชั่วเพราะทำกันมา

ชีวิตที่มาเกิดอยู่น้ำข้อนเมืองงาย เกิดเป็นเศรษฐีได้ทรัพย์มากมายมหาศาล สร้างวัดได้ ๖ วัด วัดของพระสงฆ์ วัดของภิกขุณี วัดของอุบาสกอุบาสิกา เป็นวัดสมบูรณ์หมดทุกวัด ได้ศาลาธรรม ได้อุโบสถ ได้พระเจดีย์ ได้โรงครัว ได้ห้องสุขา ได้ที่ทางจงกรม ได้กุฏิครบ เสนาสนะครบหมด จ้างคนวัดให้ดูแล สละทรัพย์บำรุงวัดวาอาราม

ชีวิตนี้ ท่านบุญหนา ท่านจำเนียร ท่านเจริญ ถ้ำปากเปียง
โยมอยู่เมืองเชียงใหม่อีกเป็นลูกผู้หญิง ๓ คน
ได้ลูกชาย ๓ คน รวมทั้งหมด ๖ คน
พากันสร้างวัด พ่อกับแม่ได้วัดหนึ่ง
ลูกอีก ๕ คน ได้คนละวัด
คนสุดท้ายลูกสาวหล้า ชีวิตนี้เกิดมาเป็นเจ้าม๊อก ณ เชียงใหม่

ชีวิตนั้นไม่เอาอะไรสักอย่าง แต่งตัว เล่นสนุกสนานเที่ยวเล่นเที่ยวกินไปตามใจชอบ พ่อแม่ชวนไปวัดก็ไม่เอา หาดนตรีมาเล่นให้เพลิดเพลิน พี่ ๆชวนไปสร้างวัดก็ไม่เอา ไม่สนใจ
ตายจากชีวิตนั้นแล้ว ก็เวียนว่ายไปตามกรรม

มาเกิดในชีวิตนี้ก็เล่นแต่พนัน บอกสอนอย่างใดก็ไม่ฟัง เขาเล่นพนันที่ไหนก็ไปที่นั้น ทำบุญให้ทานอะไรก็ไม่ทำ เรียกมาเล่าอะไรให้ฟัง ให้ตั้งใจก็ไม่เอา แต่ความเคารพกราบไหว้มายินดีพอใจกับผู้ข้าฯ ผู้เคยเป็นพ่อก็เคารพกราบไหว้

มาหาเราไม่มีอะไรสักอย่างมาตัวเปล่า มาแล้วก็พูดคุยนั่นนี่ชอบอกชอบใจ แต่ไม่มีอะไรจะให้ทาน ก็ใช่ว่าเราจะอยากได้อะไร แต่ในระหว่างพรรษาดีขึ้นหน่อยเพราะได้มารักษาศีลด้วยในวันพระ แล้วทีนี้พอออกไปอยู่จำพรรษา ขานอกอำเภอห่างไกลออกไปก็ไม่มีใครจะสอนต่อ ก็ไปตามเรื่องตามกรรม

ชีวิตนี้ค้าขายอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ พอได้เงินก็ไปเล่นพนันไปเล่นพนันได้เงินก็ถูกเขาหลอกเอาเงินไป ถูกเขาโกงเงิน ก็มาบ่นมาว่าให้กับอาตมาว่าไม่รู้บาปกรรมอันใด เราก็ว่าบาปกรรมของเจ้าของนั่นหล่ะอย่าไปบ่นทุกข์ อยู่กับโลกอย่าบ่นทุกข์ ไม่อยากทุกข์ก็ให้แก้ไขตนเอง”

“อีกชีวิตหนึ่งที่ท่านบุญหนา ไปเกิดเป็นลูกชาย คือ ชีวิตที่เกิดเป็นนายบัณฑิตอยู่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

เป็นชีวิตของพราหมณ์มหาศาลเรียนจบในพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ ได้ทุกอย่าง เจ้าเมืองลำปางจึงแต่งตั้งให้ตำแหน่งนายธรรมบัณฑิต มีหน้าที่พร่ำสอนชี้แจงแนะนำความรู้ต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรมแต่เฉพาะในวันพระจะสอนธรรมคุณธรรมต่าง ๆ เจ้าเมืองก็มาสนทนาธรรมด้วยสอนในบุญกิริยาวัตถุ

เจ้าเมืองในชีวิตนั้นมาเกิดเป็นท่านอาจารย์แว่น (ธนปาโล)
แม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์เป็นลูกสาว
เจ้าเมืองจึงได้ยกให้นายบัณฑิต มาอยู่ด้วยกัน
ได้ลูกคนหัวปี มาเกิดเป็นบุญหนา
ลูกคนท้ายปีมาเกิดเป็นต๋า(ท่าน) แจ๋ว (ธมฺมธโร)
ได้ลูกสาวคั่นกลาง

ชีวิตนี้เกิดอยู่อำเภอเกาะคา ไปอยู่จำพรรษาอำเภอเกาะคา โยมคนนั้นเขามาดูแลเอาใจใส่ ข้าวของบริขารเครื่องใช้ต่างๆ มาส่งจังหันดูแลทุกอย่างไม่ให้ขาดไม่ให้บกพร่อง

พอตายจากนายธรรมบัณฑิต อาจารย์บุญหนา ก็สืบตำแหน่งต่อจากผู้เป็นพ่อ

ในยุคสมัยนั้นต้องเดินทางไปเรียนพระไตรปิฎกจากเมืองนาลันทา เรียนศิลปวิทยาสาขาต่างๆ เรียนคัมภีร์ของพราหมณ์ แต่ไม่ได้ถือเพศนักบวช นุ่งห่มเหมือนกับพราหมณาจารย์ แปลว่าเป็นอาจารย์ผู้สอนธรรมะให้แก่ผู้คนชาวบ้าน ชาวเมือง ได้ศีล ๘

พอได้ลูก ๓ คน แล้วก็ไม่ร่วมนอนกับเมีย แต่ผู้เป็นเมียก็ยังปรนนิบัติดูแลทุกอย่างในเรือน เป็นเรือนไม่สัก เสาไม้สัก ๑๑๗ ต้น ไม่ใช่วัดแต่เป็นเรือนไม้สักหลังใหญ่ จุผู้คนได้เป็นงวดๆ งวดตอนเช้า งวดตอนบ่าย และงวดตอนกลางคืน

ส่วนลูกชายคนสุดท้องได้ครองราชย์แทนผู้เป็นตา เอาหลานตาขึ้นไปครองเมือง เพราะเจ้าเมืองตนนั้นได้ลูกสาวคนเดียว

นี้หล่ะชีวิตเกิดตายว่ายเวียนไปมาในโลกนี้ ดีบ้างชั่วบ้างวนไปทุกที่ทุกอย่างทุกประการ กว่าที่จะได้สำเร็จหลุดพ้นได้มิใช่ของที่จะได้มาได้ง่ายๆ เสียเมื่อใด ทุกข์แสนทุกข์”

องค์หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ ปรารภถึงหลวงปู่บุญหนา ธมฺมทินฺโน
‪#‎คัดจากธรรมประวัติหลวงปู่จาม‬ มหาปุญโญ : กลับเมืองเหนือเครือคร่าววัยธรรม


ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB: เดิ่นวัด ป่า และ http://www.watpa.com และ http://www.kammatan.com
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: