KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน ประวัติของพระอริยสงฆ์ สาวกที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รวมทั้งปฏิปทาในการปฏิบัติประวัติท่านอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติท่านอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม  (อ่าน 9497 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: เมษายน 24, 2016, 09:28:50 AM »



ภูมิหลัง

ผมเกิดเมื่อปี ๒๔๙๘ ที่จังหวัดนครสวรรค์ บิดามารดามีอาชีพเกษตรกร ชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ที่จังหวัดนนทบุรี จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพลศึกษา พลศึกษา เมื่อจบแล้วก็รับราชการ เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่วิทยาลัยพลศึกษา จังหวัดอ่างทอง

ประสบอุบัติเหตุ

พอถึงปีที่ ๓ ของการรับราชการ ผมก็ประสบอุบัติเหตุในขณะที่กำลังสอนว่ายน้ำ ในขณะที่ผมกระโดดพุ่งหลาวลงไปในสระน้ำ เกิดพลาดท่าทำให้ศีรษะกระแทกพื้นที่ก้นสระ และเป็นเหตุทำให้มีอาการชาไปทั้งตัว เป็นอัมพาตช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จากนั้นก็หมดสติ ผมก็จมอยู่ที่ก้นสระน้ำนั้นเอง นักศึกษาเห็นว่าอาจารย์กระโดดน้ำจมหายไป นานผิดปกติ จึงกระโดดลงไปและช่วยชีวิตผมขึ้นมาได้ วันนั้นตรงกับวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๒๒ เวลาประมาณ ๑๘ . ๐๐น .

อายุได้ ๒๔ ปี และก็เหลือเวลาอีกประมาณไม่ถึงเดือนผมก็จะบวชอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ได้แจกการ์ดถึงญาติพี่น้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ถูกความทุกข์บีบคั้นทั้งกายและจิต


ภายหลังจากที่ผมประสบอุบัติเหตุแล้วก็ได้เข้าพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกลางที่กรุงเทพฯ อาการในตอนนั้นยังชาไปทั้งตัว เคลื่อนไหวตัวเองไม่ได้ เป็นอัมพาตแต่ก็ยังพอมีความรู้สึกตัวอยู่บ้าง แพทย์ที่โรงพยาบาลกลางได้ตรวจดูอาการแล้วก็พบว่า กระดูกที่ต้นคอข้อที่ ๕ หักไปถูกประสาทไขสันหลัง ทำให้ ทำให้มีอาการชาไปทั้งตัวเป็นอัมพาต แพทย์ไม่สามารถที่จะรักษาให้หายเป็นปกติดังเดิมได้ และต้องพิการอย่างนี้ไปตลอดชีวิต แพทย์ได้ทำการผ่าตัดเพื่อต่อกระดูกต้นคอที่หัก โดยตัดเอากระดูกที่บริเวณเชิงกรานทางด้านซ้ายมาต่อกระดูกที่หักบริเวณต้นคอ อาการก็ดีขึ้นบ้างเล็กน้อย คือเริ่มเคลื่อนไหวแขนทั้ง ๒ ข้างได้บ้างแต่ยังอ่อนแรง จากนั้นก็ฝึกหัดทำกายภาพบำบัดอยู่ที่โรงพยาบาลทุกวัน ประมาณ ๔ เดือน จึงออกจากโรงพยาบาล

ชีวิตในตอนนั้นผมมีความคิดอยู่เสมอๆ ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวผมทั้งหมดนี้ มิใช่เป็นเรื่องจริงจังอะไรเลย เป็นแต่เพียงว่าเราได้ฝันร้ายไปเองเท่านั้น เป็นเพียงความฝันของเรา เดี๋ยวเราก็ตื่นจากฝันร้าย ผมเองก็ยังไม่เชื่อแน่ว่านี้คือเรื่องที่เป็นจริง ความรู้สึกตอนนั้นไม่ค่อยชัดเจนนัก ซึมๆ เบลอๆ เหมือนคนครึ่งหลับครึ่งตื่น และเมื่อตอนที่กำลังนอนหลับอยู่ก็มักจะฝันไปว่าเรากำลังเที่ยวไปไหนมาไหนได้ตามปกติ มิได้เป็นอะไรเลย แต่เวลาตื่นนอนขึ้นมาก็พบว่าเราเป็นคนพิการที่ไปไหนไม่ได้แล้ว ซึ่งบางครั้งก็ทำให้ผมเองก็รู้สึกงงๆ อยู่เหมือนกันว่า ในขณะที่หลับฝันกับตอนที่ไม่ได้หลับ ตอนไหนเป็นชีวิตที่จริงๆ ของเรา ชีวิตผมเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ รวดเร็วจนปรับตัวไม่ทัน และกว่าผมจะปรับตัวยอมรับกับสภาพความจริงได้ก็นานหลายเดือนเหมือนกัน

ความพิการทางร่างกายที่มีอาการอยู่ในปัจจุบันนี้ มีดังนี้ แขนทั้ง ๒ ข้าง อ่อนแรง นิ้วมือทั้ง ๒ ข้าง ใช้ไม่ได้ ขาทั้ง ๒ ข้างใช้ไม่ได้ ตั้งแต่คอลงไปจนถึงปลายเท้ามีความรู้สึกน้อยและบางทีก็ไม่รู้สึกเลย คือใช้เข็มแทงก็ยังไม่เจ็บ รู้สึกชาไปทั้งตัว ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จะนอนอยู่บนเตียงเสียเป็นส่วนมาก ลงนั่งบนรถเข็ญเป็นบางโอกาส โดยให้ผู้อื่นช่วยยกลงมาและจะนั่งอยู่ได้ไม่นาน เพราะจะทำให้รู้สึกแน่นๆ หายใจไม่ค่อยสะดวก และอาจทำให้เป็นแผลกดทับที่บริเวณก้นกบ และกระดูกสันหลังได้

หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลกลางแล้ว ก็ต้องไปอาศัยพักอยู่ที่วิทยาลัยพลศึกษาอ่างทองเป็นการชั่วคราวก่อน เพราะตอนนั้นผมยังไม่มีบ้าน โดยปกติแล้ว คุณพ่อคุณแม่ มีอาชีพรับจ้างเดินเรืออยู่ในลำน้ำเจ้าพระยา ฉะนั้นผมจึงยังไม่มีบ้านอาศัยอยู่และเนื่องจากผมพิการต้องทำให้คุณแม่มาอยู่ดูแลผม คุณพ่อจึงประกอบอาชีพอยู่ทางเรือแต่เพียงผู้เดียว ก็นับว่าผมยังโชคดีอยู่บ้างเหมือนกัน ที่ยังมีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยเหลืออยู่ มิฉะนั้นผมคงจะต้องลำบากและเป็นทุกข์มากยิ่งกว่านี้อีกหลายเท่านัก ผมอาศัยพักอยู่ที่วิทยาลัยพลศึกษาอ่างทองอยู่ประมาณไม่ถึง ๑๐ วัน คุณแม่ท่านก็ทนเห็นผมต้องอยู่ในสภาพที่พิการอย่างนี้ไม่ได้อีก จึงได้ขวนขวายที่จะเสาะแสวงหาหมอดียาดี และได้พาผมออกตระเวนเที่ยวรักษาไปยังสถานที่ต่างๆ ถ้ามีใครแนะนำว่ามีหมอดียาดีอยู่ที่ไหน คุณแม่ต้องพาผมไปอยู่รักษานั่น ไปอยู่พักกินนอนที่บ้านหมอผู้รักษานั้นเลย อยู่พักรักษากันเป็นเวลานานๆ บางทีนาน ๗ - ๘ เดือนเลยก็มี ไปอยู่พักรักษามาหลายที่หลายแห่ง ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปมาก แต่อาการของผมก็ยังไม่ดีขึ้นเลย และในช่วงนั้นผมก็ต้องลาออกจากราชการ เพราะไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอีกได้ ตอนนั้นผมมีความคิดว่า ถ้าถึงกับต้องลาออกจากงาน ก็หมายถึงผมเป็นผู้ที่หมดอนาคตเสียแล้ว

หาที่พึ่งภายใน


ภายหลัง จากที่ต้องลาออกจากงานราชการไปแล้ว ผมรู้สึกเสียดายมากทำให้ต้องมาหวนคิดคำนึงถึงชีวิตตนเองที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็พบว่าในปัจจุบันนี้เรามีความทุกข์มากเหลือเกิน จิตใจเศร้าหมองมีแต่เรื่องความสูญเสียอยู่ภายในใจ ทำไมเราถึงโชคร้ายถึงขนาดนี้ ชีวิตที่ผ่านมาของเราก็กำลังจะดีอยู่แล้ว เรียนก็เรียนได้สำเร็จ และยังมีอาชีพการงานที่เป็นหลักฐานมั่นคงอีกด้วย และทำไมขณะนี้เราจึงได้ตกต่ำลงมาถึงขนาดนี้ ต้องกลายมาเป็นคนที่พิกลพิการ ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้แต่จะขับถ่ายและอาบน้ำให้แก่ตัวเราเองก็ทำไม่ได้ เราไม่อยากจะอยู่ในสภาพเช่นนี้เลย ต้องนั่งอยู่บนรถเข็น ต้องนอนอยู่แต่บนเตียงตลอดไป ชีวิตอย่างนี้ผมไม่ต้องการ

ผมรู้สึกผิดหวังในชีวิตของผมมาก และผมจะทำอย่างไรต่อไปกับตัวของผมดี มีความทุกข์บีบคั้นทั้งกายทั้งใจ คิดฟุ้งซ่านมากขึ้นทุกวัน และเมื่อเวลาที่คิดมากๆ บางครั้งก็อยากจะเป็นคนบ้า เป็นคนวิกลจริตที่มีสติฟั่นเฟือนไปเสียเลย เพื่อที่จะได้ลืมเรื่องทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นกับตัวเรานั่นเอง ในตอนนั้นจิตใจรู้สึกว้าเหว่เหมือนเราได้เกิดมาอยู่คนเดียวในโลกที่ไม่มีใครเป็นอย่างเรา ต้องการมีที่พึ่งทางด้านจิตใจ ที่พึ่งภายนอกก็มีอยู่แล้ว แต่ยังขาดที่พึ่งภายใน แต่ผมก็ยังอาศัยความอดทนอยู่โดยมิได้แสดงอาการออกมาให้ใครได้รู้ได้เห็น และก็ยังมีความคิดที่จะปลอบใจตัวเองอีกต่อไปว่าให้ทนอีกนิด อดทนต่อไปอีกหน่อย เราคงจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นานนักหรอก อย่างช้าที่สุดคงจะไม่เกิน ๕ ปี ถ้าเราไม่เกิดโรคแทรกซ้อนตาย ก็อาจจะเป็นโรคเส้นประสาทตายเพราะความคิดมากของเราอย่างแน่นอน เป็นการคิดขีดเส้นตายให้กับตัวเองไว้ก่อน แต่ว่าไหนๆเราก็จะตายอีกภายใน ๕ ปีอยู่แล้ว และก่อนที่จะถึงวันนั้น เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเรามีประโยชน์ มีคุณค่า มีสาระแก่นสารให้มากที่สุด ซึ่งสำคัญมากในตอนนี้ เพราะที่ผ่านๆมา ดูเราไม่ค่อยจะมีสาระอะไร แล้วก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่ตลอดกระทั่งญาติพี่น้อง ก็มักจะช่วยให้กำลังใจกับผมเสมอมา ผมถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีมาก และสำคัญมากด้วย เพราะเป็นส่วนที่ช่วยให้ผมไม่มีความกดดันในจิตใจมากขึ้น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมมีสุขภาพจิตที่ดีมาจนกระทั่งทุกวันนี้ นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้ที่จะต้องมีหน้าที่ให้การดูแลคนไข้ต่อไป คือ ผู้ที่คอยดูแลคนไข้ตามหน้าที่ ถ้าเขามีจิตใจที่ดีเช่นประกอบด้วยความเมตตาเป็นต้น คนไข้ก็มักจะมีจิตใจที่ดีตามไปด้วย

เป็นเพราะผมได้ถูกความทุกข์บีบคั้นมากๆ จนหมดหนทางและจนปัญญาของตนเองที่จะคิดแก้ไข จึงอยากได้ที่พึ่งทางใจ คุณพ่อคุณแม่และญาติพี่น้องนั้น พึ่งพาท่านได้แต่ภายนอกเท่านั้น เราอยากจะหาหนทางที่จะดับทุกข์ให้กับตนเอง เป็นเพราะความทุกข์แท้ๆเชียว ทำให้ผมต้องเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงมีความคิดขึ้นมาว่า เมื่อเวลาที่ชีวิตเรามีปัญหา หรือมีความทุกข์เข้าครอบงำ และเมื่อเราหมดหนทางที่จะแก้ไขปัญหาหรือความทุกข์ชนิดนั้นเองได้แล้วก็อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจอะไรลงไปง่ายๆ ควรที่จะไปปรึกษาหารือกับกัลยาณมิตรดูก่อนเพื่อท่านจะได้ชี้แนะวิธีแก้ไขปัญหาหรือวิธีการที่จะดับทุกข์ชนิดนั้นให้กับเรา


ขอบพระคุณข้อมูลจาก : http://www.kanlayanatam.com/ และ http://www.kammatan.com
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 24, 2016, 09:44:19 AM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: เมษายน 24, 2016, 09:29:45 AM »

เริ่มต้นศึกษาธรรมะ

ในระหว่างนั้นคุณพ่อคุณแม่ท่านก็มีความทุกข์ไม่น้อยไปกว่าผมเหมือนกัน เพราะผมเป็นความหวังคนหนึ่งของท่าน และผมก็ทำให้ท่านต้องผิดหวัง ตามธรรมดาแล้วคุณพ่อคุณแม่ทุกๆคนก็อยากจะเห็นลูกของตนมีอนาคตที่สดใส และมีชีวิตที่ดีๆ แต่ผมกลับมีชีวิตที่ตรงกันข้ามกับความต้องการของท่าน ท่านจึงต้องเป็นทุกข์มากและท่านก็แสวงหาความดับทุกข์ให้กับตัวของท่านเองเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคุณพ่อท่านได้แสวงหาความดับทุกข์โดยการไปศึกษาและปฏิบัติธรรมที่วัดหรือสำนักต่างๆ ที่เขามีการอบรมธรรมกัน ไปมาหลายแห่ง และเวลาที่คุณพ่อไปศึกษาหรือปฏิบัติธรรมขากลับมาแต่ละครั้งท่านก็จะนำเอาหนังสือธรรมะและเทปธรรมะมาฝากแม่และผม หรือไม่ก็เล่าถึงวิธีการปฏิบัติธรรมในแต่ละแห่งให้คุณแม่กับผมได้ฟัง จะทำเช่นนี้เป็นประจำทุกครั้งที่คุณพ่อกลับมาจากวัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมนั้นๆ

แรกๆ ผมก็ไม่ค่อยจะสนใจนักเรื่องธรรมะ แต่คุณแม่ท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาในทางนี้อยู่ก่อนแล้ว ท่านจึงสนใจมาก ก่อนนั้นคุณแม่ท่านมักจะคอยแนะนำผมอยู่เสมอๆว่าให้ผมนึกถึงคุณพระเอาไว้ และหายใจเข้าว่า “ พุท ” หายใจออกว่า “ โธ ” คุณพระจะได้ช่วยขจัดปัดเป่าให้เราได้หายจากโรคภัย และคุณแม่ก็จะช่วยสวดมนต์ภาวนาและแผ่เมตตาให้กับผมทุกวัน นี่คือครูกรรมฐานคนแรกของผม คุณแม่ทำให้ผมคิดขึ้นมาได้ว่าไหนๆเราก็ได้เคยตั้งใจที่จะบวชอยู่แล้ว แต่เราพลาดโอกาสที่จะได้บวชไปเสียก่อน เราก็ควรที่จะได้ศึกษาธรรมะโดยวิธีการอ่านจากหนังสือหรือฟังจากเทปที่คุณพ่อได้หามาให้นี่แหละ เพื่อเป็นสาระประโยชน์แก่ชีวิตของเราก่อนที่เราจะตายไป เผื่อว่าจะได้เป็นบุญกุศลติดตามตัวเราไป ก็ยังดีเสียกว่าปล่อยจิตปล่อยใจให้คิดฟุ้งซ่านเตลิดเปิดโปงไปอย่างไม่มีฝั่งมีฝาโดยไม่มีสาระอะไรเลย ทำให้เสียเวลาไปเปล่าๆ คือผมพยายามดึงจิตดึงใจให้มาสนใจในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะนั้นเอง

หลังจากนั้นเป็นต้นมาผมก็อ่านบ้างฟังบ้างทุกๆวัน พอนานวันเข้าก็เกิดความเพลิดเพลินในธรรมะ ทำให้ลืมความทุกข์ไปชั่วขณะในระหว่างที่อ่านหรือฟัง จิตใจก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน และความรู้สึกที่ดีๆได้เกิดขึ้นในใจผมหลายอย่าง จิตใจเป็นบุญเป็นกุศลขึ้น ชักจะเริ่มชอบธรรมะแล้ว ใครพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องธรรมะก็จะตั้งใจฟัง ก็ดีเหมือนกันการอ่านหรือฟังธรรมะนี่ เราเคยได้แต่อ่านหนังสือวิชาการ หรือหนังสือพิมพ์ เป็นต้น บางทีก็ทำให้เรารู้สึกมึนศีรษะหรือมีอาการเครียดไปได้เหมือนกัน พอเรามาได้อ่านหนังสือธรรมะ ได้มารู้เรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะ ทำให้จิตใจของเรามีการปลดปล่อยไม่หนักไม่เครียด และธรรมะจะสอนในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตจริงๆของเรา เรื่องตัวของเรา สอนเกี่ยวกับเรื่องทุกข์และเรื่องการดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ทำให้เราได้เข้าใจในหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา แต่ผมยังไม่คิดที่จะปฏิบัติ เพราะตอนนั้นมีความเข้าใจผิดอยู่ว่า คนพิการอย่างเราคงจะปฏิบัติไม่ได้เพราะมีอิริยาบถนอนเสียเป็นส่วนมาก นั่งสมาธิก็ไม่ได้ และเดินจงกรมก็ไม่ได้ คิดว่าเราคงจะปฏิบัติไม่ได้หรอก

ผมเคยทดลองปฏิบัติมาบ้างเหมือนกัน แต่ก็ทำอย่างไม่ค่อยจริงจังนัก เพราะไม่มีครูบาอาจารย์ คือทำแบบพุทโธ เนื่องจากว่าต้องทำในอิริยาบถเดียวคืออิริยาบถนอนและหลับตาด้วย ทำได้ไม่นานมักจะหลับไป ภายหลังที่บริกรรมว่าพุทโธแล้วจิตเริ่มสงบ จะสงบเป็นบางครั้ง ถ้าบางครั้งจิตไม่ค่อยสงบ มีความคิดมากก็จะรู้สึกเครียด และไม่ค่อยสบายใจ ยังคงเป็นทุกข์อยู่เหมือนเดิม จึงไม่อยากปฏิบัติ เพราะได้แต่ความสงบและก็หลับไหลไป พอตื่นขึ้นมาก็ยังเป็นทุกข์อยู่และก็ไม่ค่อยรู้อะไรเลย สู้การอ่านการฟังไม่ได้ เรายังได้ความรู้เพิ่มขึ้นมาบ้างและมักจะคิดอยู่เสมอๆว่า สภาพเช่นเรา คงจะไม่เหมาะที่จะปฏิบัติกรรมฐานเลย จึงไม่ค่อยชอบปฏิบัติ

ในขณะที่ผมกำลังอ่านหรือฟังด้วยความตั้งใจและคิดตามธรรมะไป บางครั้งก็มีความรู้สึกราวกับว่าเราได้บรรลุธรรมดับทุกข์ได้ในขณะนั้น เพราะในขณะนั้นความทุกข์ในจิตใจไม่เกิดมีขึ้นมาให้เห็นเลย มีแต่ความสุขและเพลิดเพลิน และชอบนำเอาหัวข้อธรรมะต่างๆที่ผมชอบมาขบคิดอยู่เสมอๆ บางครั้งก็มีการจดบันทึกลงในสมุดอีกด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมต้องหัดเขียนหนังสือขึ้นมาอีกประการหนึ่ง นี่ถ้าผมสามารถที่จะบรรลุธรรมและดับทุกข์ได้จริงๆ เพราะเพียงแต่การอ่านหรือการฟัง และการขบคิด โดยมิได้ปฏิบัติตามคำสอนเลย ตอนนั้นผมก็คงจะต้องบรรลุธรรมและดับทุกข์ให้กับตัวเองไปตั้งนานแล้ว แต่ใจของผมก็ยังคิดฟุ้งซ่านอยู่ในเวลาที่มิได้อ่านหรือฟัง ยังมีตัวเราที่เป็นผู้พิการอยู่และเราก็ยังเป็นผู้ทุกข์อยู่เช่นเดิม เพราะเรายังไม่เคยที่จะกำหนดรู้ทุกข์ที่ตัวเราเลย แต่เราก็อยากจะหนีทุกข์ อุปมาเหมือนกับคนที่อยากจะหนีงู แต่ยังไม่รู้จักงูเลย จึงอาจจะหนีไปเหยียบเอางู และถูกงูกัดได้ พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า “ ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ” ฉะนั้นผมจึงคิดที่อยากจะปฏิบัติธรรมแต่ว่าเริ่มต้นยังไม่ถูก

ต้องปฏิบัติธรรมะจึงจะดับทุกข์ได้

ผมกลับมาหวนคิดถึงตัวเองอีกครั้ง ว่าเราก็ยังมีความทุกข์อยู่อีกมากมาย แม้นเราจะอ่านหรือฟังธรรมะมามากถึงขนาดนี้ ๑๖ ปีแล้ว ที่คุณพ่อได้หาหนังสือและเทปมาให้จนเต็มตู้หมดแล้ว และอีกหน่อยก็คงจะเต็มบ้านจนไม่มีที่อยู่นอนกันหละ แต่ความทุกข์ที่มีอยู่ในตัวเราก็ยังไม่หมดไปเสียที คงเป็นเพราะว่าเรายังมิได้เริ่มปฏิบัติธรรมะนั่นเอง ทั้งๆ ที่ในหนังสือเขาก็มักจะชี้แนะให้เราต้องปฏิบัติให้มีขึ้นในตัวเอง เราจะมัวมาอ่านและอยู่อย่างนี้ไม่ได้แล้ว อุปมาเหมือนกับว่าเราได้แต่กางแผนที่อยู่แต่ภายในบ้าน โดยที่มิได้ออกเดินทางเลยเสียที ก็คงจะได้แค่เพียงวนเวียนอยู่แต่ภายในบ้านเท่านั้นเอง ไปไม่ถึงไหน จึงคิดที่จะทำกรรมฐาน แต่เริ่มต้นไม่ถูก ทั้งๆ ที่ได้ศึกษาจนเข้าใจมาบ้างแล้ว ความมั่นใจในตนเองในเรื่องการปฏิบัติไม่ค่อยมีเลย ตอนนั้นอยากจะมีกัลยาณมิตร อยากมีครูบาอาจารย์คอยให้คำปรึกษาแนะนำ อยากเห็นผู้ปฏิบัติกรรมฐาน และอยากเป็นผู้ปฏิบัติเองด้วย แต่ก็นึกอยู่ในใจว่าเราก็คงได้แต่เพียงคิดอยากไว้แค่นั้น สภาพเช่นเราอย่างนี้คงจะเป็นไปไม่ได้หรอก

หลวงพ่อคำเขียน สุวณโณ พระผู้เป็นกัลยาณมิตร

ประมาณปี พ . ศ . ๒๕๒๕ คุณพ่อได้ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ที่วัดสนามใน และท่านได้นำเอาหนังสือและเทปวิธีการปฏิบัติธรรมตามแนวของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ มาให้ผมได้ศึกษา ก็คือการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนั่นเอง แต่เป็นวิธีการปฏิบัติที่ลัดสั้น ไม่มีพิธีรีตรอง และไม่ต้องหลับตา เน้นเรื่องให้มีความรู้สึกตัวอยู่ที่กายเคลื่อนไหว และให้เห็นความคิด ไม่ห้ามความคิด และไม่ตามความคิด และท่านมักจะเชิญชวนให้เราปฏิบัติในเชิงท้าทายว่า ถ้าปฏิบัติอย่างที่ท่านแนะนำแล้ว จะทำให้ความทุกข์ที่มีอยู่ลดน้อยลงไป ผมก็สนใจอยากจะปฏิบัติวิธีนี้บ้าง เรานอนอยู่ก็ปฏิบัติได้ แค่ดูความคิดเท่านั้น เราก็นอนดูได้แล้ว ไม่ต้องเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิก็ได้ ผมจึงทดลองทำดู คือนอนปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลไวๆ ก็เริ่มดูความคิดเลย

แต่เนื่องจากเราไม่มีหลักในการปฏิบัติที่ถูกวิธี สติสัมปชัญญะอะไรก็ยังไม่มีพอ แค่เริ่มต้นก็ผิดเสียแล้ว แทนที่จะไปดูความคิดก็เลยไปช่วยกันคิดและไปตามความคิดตลอดทั้งวันเลย มีแต่ความหลงทั้งนั้น ไม่มีสติเพราะว่าเรายังปฏิบัติไม่ถูกวิธี ก็เห็นว่าคงจะไม่ได้ผลแน่ ถ้าเราปฏิบัติเองโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์คอยช่วยให้คำแนะนำ เราอยากมีครูบาอาจารย์ แต่ใครหนอจะช่วยเราได้เรื่องอย่างนี้

พอดีในช่วงนั้นคุณพ่อได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกกับกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม ซึ่งคุณวุฒิชัย ทวีศักดิ์ศิริผล เป็นประธานกลุ่มอยู่ และมีคุณมณวิภา เกียรติเลิศธรรม เป็นฝ่ายทะเบียน ผมจึงถือโอกาสเขียนจดหมายไปปรึกษากับคุณมนวิภา เกี่ยวกับเรื่องหนังสือ และเทปธรรมะของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภและหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ เพื่อที่จะนำมาศึกษาประกอบการฝึกเจริญสติอยู่ที่บ้าน คุณมณวิภาก็ได้เมตตาให้คำแนะนำ ให้กำลังใจผมเกี่ยวกับเรื่องการฝึกเจริญสติอยู่ที่บ้าน และได้ให้คำแนะนำ เพิ่มเติมในตอนท้ายของจดหมายมาว่า ถ้าหากผมมีข้อสงสัยให้เขียนไปตรวจสอบกับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ วัดภูเขาทอง ต . ท่ามะไฟหวาน อ . แก้งคร้อ จ . ชัยภูมิ โดยบอกที่อยู่ของหลวงพ่อมาให้ผมพร้อมเสร็จ ตอนนั้นผมจึงถือว่าคุณมณวิภา เกียรติเลิศธรรมนี้แหละเป็นผู้ที่ได้ชี้ช่องทางให้ผมได้รู้จักกับหลวงพ่อคำเขียน และก็เป็นผู้ที่แนะนำครูบาอาจารย์ให้กับผม จึงเป็นเหตุให้ผมได้มีครูบาอาจารย์กับเขาบ้างเหมือนกัน

หลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ ผมเคยได้อ่านประวัติท่าน ท่านเป็นพระเถระที่มีเมตตามาก รักพวกเด็กๆ และรักธรรมชาติ โดยเฉพาะต้นไม้เป็นชีวิตจิตใจ การปฏิบัติธรรมกับ หลวงพ่อจะเน้นมากคือให้ปฏิบัติให้มีขึ้นในตนเองมากกว่าการซักถาม ให้ขยันสร้างสติ หลวงพ่อจะบอกให้ทำ และเทคนิคต่างๆในการปฏิบัติที่มีอยู่ในตัวหลวงพ่อนั้น ส่วนมากมาจากประสบการณ์ในการปฏิบัติของหลวงพ่อเอง มิใช่ได้มาจากตำรา หลวงพ่อมักจะชอบทำให้ดูเป็นตัวอย่าง และมีความปกติให้เห็น ซึ่งทำให้ผมสนใจมาก

ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม พ . ศ . ๒๕๓๘ ผมได้เขียนจดหมายไปกราบหลวงพ่อ ขอถวายตัวเป็นลูกศิษย์ และขอคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติธรรมสำหรับผู้พิการ ที่มีแต่อิริยาบถนอนเสียเป็นส่วนมาก แต่ผมก็ไม่ได้หวังว่าหลวงพ่อจะตอบมา พอหลังจากนั้นอีกประมาณ ๑๒ วัน ผมก็ได้รับจดหมายจากหลวงพ่อได้มีเมตตาตอบมามีใจความสรุปได้ดังนี้

หลวงพ่อยินดีที่จะเป็นกัลยาณมิตรให้ และจะไม่นำมาให้หลงทิศหลงทางในการปฏิบัติและแนะนำวิธีการทำกรรมฐานให้ คือ ความรู้สึกตัว ถึงแม้จะนอนอยู่ก็ปฏิบัติได้ โดยให้เรากำหนดรู้กาย พลิกมือเล่นอยู่ให้รู้สึกตัว เวลามันลักคิดไปก็อย่าไปตามความลักคิดนั้น ให้กลับมากำหนดรู้อยู่ที่กาย มีเจตนารู้อยู่ที่กาย ขยันสร้างตัวรู้ให้มากๆ เรียกว่า “ ภาวนา ” และอย่าเข้าไปอยู่ในความสงบ ให้ขยันรู้สึกตัว นี้คือกรรมฐาน ให้อาศัยการกระทำอย่างนี้ไป ถ้ารู้สึกตัวมากความหลงก็จะน้อยลงหรือหมดไป ก็จะเกิดธรรมวิจัยรู้เห็นรูปธรรมนามธรรมไปเอง ให้เราเป็นผู้ดู อย่าเข้าไปอยู่ อะไรที่เกิดขึ้นกับกายกับจิตใจก็ให้ดูรู้แจ้งไป บางทีมันเกิดความสุขก็อย่าไปเอาความสุข ให้สักว่ามันสุขเท่านั้น ตรงกันข้ามบางทีมันทุกข์ก็เห็นสักว่ามันทุกข์เท่านั้น อย่าเข้าไปเป็นผู้ทุกข์ หรือถ้ามันเกิดอาการเบื่ออึดอัดขัดเคืองก็ให้เห็นมัน แล้วรู้ว่ามันเป็นอาการของจิตใจ และอย่าเข้าไปเป็นกับอะไร ให้ปฏิบัติไป แล้วหลวงพ่อก็เขียนให้กำลังใจผมมาด้วย จดหมายจากหลวงคือพระมาโปรด เราเป็นศิษย์ที่มีครูแล้ว ชีวิตเริ่มมีหวังแล้ว

ในตอนนั้นถือว่าเป็นนิมิตหมายทีดีสำหรับตัวผม ทำให้พฤติกรรมต่างเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ดีมาก คือปกติในแต่ละวันผมมักจะนอนคิดฟุ้งซ่านไปในอดีตบ้างอนาคตบ้าง และกำลังมีชีวิตที่เดินอยู่บนหนทางที่เป็นทุกข์ซึ่งเป็นหนทางที่มืดดำ แต่หลวงพ่อเป็นผู้ที่มาเปลี่ยนพฤติกรรมให้ผมเสียใหม่ ทำให้ผมได้อยู่กับปัจจุบัน ที่กายเคลื่อนไหว ที่จิตใจกำลังคิดนึก เป็นกรรมฐาน ที่รู้สึกตัวดูอยู่ ซึ่งเป็นหนทางที่ดับทุกข์ เป็นหนทางสว่างไสว นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของผมเลยทีเดียว หลวงพ่อคำเขียนนี่แหละท่านได้ชี้ทางสว่างให้ผมได้ก้าวเดินไป

เริ่มต้นปฏิบัติกรรมฐาน

ในการฝึกเจริญสติที่บ้าน ทำใหม่ๆอุปสรรคก็มีมากเหมือนกัน ผมต้องมีเจตนาและใส่ใจในการปฏิบัติอย่างมาก เพราะต้องทวนกระแสของจิตใจที่มักจะข้องติดอยู่แต่ในความเคยชินเก่าๆ เดิมๆ คือจะทำอย่างไรที่จะให้สติรู้อยู่ที่กายที่กำลังเคลื่อนไหวในปัจจุบันขณะ และให้รู้สึกตัวอยู่ที่กายให้นานๆด้วย จึงต้องฝืนใจตนเองอย่างมาก อารมณ์ภายนอกที่มารบกวนจิตก็มีมาก บางครั้งผมก็ต้องทำเป็นแกล้งไม่รู้ไม่ชี้ต่ออารมณ์นั้นบ้าง ต้องอาศัยทำตอนที่เงียบๆสักหน่อย คือต้องหามุมที่สงบให้แก่ตัวเรา ถ้ามีเสียงคนพูดคุยกัน เสียงวิทยุโทรทัศน์ หรือมีคนพลุกพล่านจะทำได้ไม่ค่อยดี และที่บ้านของผมจะอยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ คุณพ่อ คุณแม่ และก็ผม พอหลังจากที่รับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว ประมาณ ๘ . ๐๐ น . คุณพ่อกับคุณแม่ ท่านก็จะลงไปทำงานที่ข้างล่างคือในสวน ในเวลานั้นผมจะอยู่บนบ้านคนเดียว ผมก็จะเริ่มทำงานของผมบ้าง เป็นงานทางจิต คือการฝึกเจริญสติ ทำอยู่ในห้องโดยมีเสียงนาฬิกาซึ่งเดินมีเสียงดังติ๊กๆ เป็นจังหวะพร้อมไปกับการพลิกมือเจริญสติเป็นเพื่อน เสียงนาฬิกาก็เป็นประโยชน์ในการเจริญสติได้เหมือนกัน เพราะถ้าในขณะที่เราเจริญสติเคลื่อนไหวมือของเราพร้อมๆไปกับเสียงนาฬิกาที่กำลังเดินเป็นจังหวะอยู่นั้น ถ้าหากว่าเราหลงลืมสติ หรือคิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันกับอารมณ์ของกรรมฐาน เสียงนาฬิกาก็อาจจะช่วงดึงจิตของเราที่กำลังฟุ้งซ่านออกไปให้กลับมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้เหมือนกั้น

การปฏิบัติของผมจะเริ่มต้นจากอิริยาบถนอนหงาย พลิกมือคว่ำและหงายแต่ละครั้งให้มีสติเข้าไปรู้ ทุกครั้งที่มือคว่ำและหงาย เริ่มทำครั้งแรกๆ ทำที่มือขวาเพียงข้างเดียวเท่านั้น เพราะมือข้างซ้ายยังไม่ค่อยแข็งแรง ทำไม่ค่อยถนัด และมือขวาพอทำไปนานๆก็ปวดเมื่อยและอ่อนแรง เพราะต้องทำอยู่ข้างเดียวเป็นระยะเวลานานๆ ก็ต้องฝืนทนทำไปก่อนจนกว่าจะเกิดความเคยชินและความแข็ง . แรงมีมากขึ้น พอตอนจะนอนก็จะรู้สึกปวดมาก บางครั้งไม่รู้จะวางมือลงตรงไหนถึงจะเหมาะ ต้องนอนตั้งมือไว้และหลับไปก็มี ทำใหม่ๆ ความคิดก็มีมาก สติเกิดน้อย มีปีติบ้าง คิดเปรียบเทียบกับตำราบ้าง จิตใจดิ้นรนอยากจะพ้นทุกข์ไวๆ บ้าง ซึ่งล้วนแต่เป็นความคิดที่ดึงจิตให้ออกไปนอกตัวเราทั้งนั้น ทิ้งหลักของกรรมฐานไปเสียแล้ว ทำให้เสียเวลาไปมาก นี่แหละการฝึกทำใหม่ๆ กรรมฐานของผมจะล้มลุกคลุกคลาน และต้องเริ่มตั้งต้นใหม่อยู่เรื่อยๆ

ถึงแม้ว่าจะเป็นในลักษณะนี้ ผมก็ยังไม่คิดที่จะท้อถอย ท้อถอยไม่ได้ ถ้าขืนท้อถอยเราก็ต้องกลับไปเป็นทุกข์เหมือนเดิม ผมก็พยายามทนฝืนทำต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าจะล้มลุกคลุกคลานในการที่จะตั้งสติอยู่ก็ตาม ประมาณ ๗วันแรกแทบจะไม่ได้อะไรเลย ได้แต่ประสบการณ์ มีแต่ความคิดที่มากกว่าสติ

พอวันต่อมาก็เริ่มทำอีก คราวนี้ก่อนจะทำได้นำเอกากรรมฐานของหลวงพ่อมาทบทวนอีกครั้ง หลวงพ่อท่านเน้นให้เราเจตนาดูที่กายเคลื่อนไหวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาเราไปกับความคิด ไม่ยอมกลับมาอยู่ที่กาย ทิ้งหลักคือดูกาย กรรมฐานจึงไม่เป็นกรรมฐาน ดังนั้นจึงตั้งใจทำใหม่ จะไม่สนใจกับความคิดทั้งหมด ตำราหรือครูบาอาจารย์ที่เราได้เคยศึกษามาท่านว่าไว้อย่างไร เราจะวางเอาไว้ตรงนั้นก่อน เราจะมีสติเกาะอยู่ที่กายเคลื่อนไหวเป็นหลักเพียงจุดเดียวเท่านั้น จะไม่สนใจกับความคิด ก็มีบ้างเหมือนกัน คือ ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นทางกาย ความเบื่อเซ็ง ความง่วง ความสงสัย ความคิดที่จุกจิกจู้จี้อยู่ในจิตใจ ก็มีให้เห็นอยู่ แต่ผมก็ทำไว้ในใจอยู่ก่อนแล้วว่า สิ่งเหล่านี้เราต้องทิ้งให้หมด ถ้ามันเกิดขึ้นกับเรา เพราะไม่ใช่ทางดับทุกข์ เราจะไม่เดินไปบนทางนั้น จะไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้น เมื่อเราไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้นจริงๆ พอมันเกิดขึ้นมามันจึงหมดค่าหมดราคาไปเลยสำหรับเรา เราจะตรงมาที่มีสติอยู่ที่กายเคลื่อนไหว นี้คือทางของเรา เอาจุดนี้ไว้ก่อน อย่างอื่นพยายามไม่สนใจ มองข้ามไปก่อน จะทำตามที่หลวงพ่อได้แนะนำไว้

เมื่อสติได้สัมผัสอยู่ที่กายกำลังเคลื่อนไหวไปนานๆ ก็คุ้นเคยกัน แนบแน่นไปด้วยกัน สติมีมากขึ้น ความคิดมีน้อยลง ทำให้เห็นกายที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ชัดเจนขึ้น มิใช่เป็นการมองเห็นด้วยตา แต่เป็นการเห็นโดยที่มีสติเข้าไปรู้สัมผัสลงไปที่กายกำลังเคลื่อนไหวอยู่ ก็จับสติได้ ตัวรู้เกิดขึ้นแล้ว มีประสบการณ์แล้ว มีปัจจุบันแล้ว ทำกรรมฐานเป็นแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ชอบทำกรรมฐาน

ชีวิตที่ผ่านมาในแต่ละวันจึงเพลิดเพลินไปกับการทำกรรมฐาน หรือเจริญสติ ทำใหม่ๆ จะพลิกมือขวาเพียงข้างเดียวเท่านั้น จึงทำให้เมื่อยล้าอ่อนแรง ต่อมาจึงหัดใช้มือข้างซ้ายทำดูบ้าง ครั้งแรกก็ยังทำไม่ค่อยถนัดนัก เพราะมือซ้ายไม่ค่อยแข็งแรง แต่พอทำไปบ่อยๆ เข้าก็ทำให้แขนซ้ายของผมเคลื่อนไหวได้ถนัดและแข็งแรงขึ้นด้วย ซึ่งเป็นการฝึกเจริญสติที่ควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัดไปในตัวเลย คือได้พัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจพร้อมๆกันไปเลย ผมก็พยายามคิดสรรหาอิริยาบถใหม่ๆให้กับตัวเองอยู่เรื่อยๆ เพราะจะทำให้ปฏิบัติได้นานๆ และจะได้ไม่เบื่อเซ็งในการปฏิบัติด้วย ร่างกายส่วนไหนที่ไม่พิการหรือพิการน้อยและพอจะเคลื่อนไหวได้บ้าง ก็จะใช้เป็นเครื่องมือสร้างสติรู้สึกตัว บางครั้งถ้าทำไปนานๆ รู้สึกเมื่อยล้าขึ้นมาบ้าง ก็ต้องอาศัยอิริยาบถเล็กๆน้อยๆ ทำเบาๆ ส่วนมากจะเป็นบริเวณใบหน้าหน้า เพราะปกติดีกว่าส่วนอื่นๆ เช่นบิดหน้าไปมา เอียงซ้ายเอียงขวา ยักคิ้วขยับจมูก - ปาก หรือกระดิกหู เป็นต้น

ผมจะเก็บเกี่ยวเอาสติจากอิริยาบถเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ได้มากในแต่ละวัน เพราะคนพิการมีการเคลื่อนไหวของร่างกายที่จำกัดอยู่มาก และบางครั้งก็ต้องทำให้เร็วๆ และ แรงๆ บ้าง ถ้ารู้สึกง่วง เกิดความคิดมาก หรือ มีอารมณ์ที่รุนแรงมากระทบ เพื่อความชัดเจนของสติ ต้องมีเจตนาเคลื่อนไหวกายขึ้นมาเพื่อให้สติรู้ ขยันสร้างสติอยู่ที่กายให้มากๆ คือให้สติโคจรไปในกายเรา เป็นฐานธรรมฐานแรกเป็นหลักไปก่อน พยายามเริ่มต้นที่จุดนี้จุดเดียวไปก่อน ยังไม่ต้องไปสนใจกับความคิดและเวทนา แต่ถ้าเขาเกิดมีขึ้นมาเราก็รู้ ถ้าจำเป็นจะต้องแก้ไขหรือเกี่ยวข้องเช่นทุกขเวทนาทางกายก็เกี่ยวข้องแก้ไขอย่างมีสติ และรีบกลับมามีสติอยู่กับกายเหมือนเดิม ยังไม่รู้อะไรเลยก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้รู้สึกตัวเป็นทุนเดิมไปก่อน

บางครั้งก็เกิดความสงบบ้างเหมือนกัน สงบนิ่งทำให้เข้าไปติดและเพลินอยู่ ใจสบาย ทำให้ไม่อยากจะรับรู้อะไรเลย ในตอนที่สติขาดหายไป ไม่ได้รู้สึกตัวอยู่ที่กายเคลื่อนไหวแล้ว ทิ้งกายไปติดอยู่ในความสงบแล้ว กายก็ไม่ยอมเคลื่อนไหว เพราะมัวแต่เพลินไปในความสงบนิ่ง พอรู้สึกตัวก็รีบกลับมามีสติอยู่ที่กายต่อไป

ผมจะมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ไม่คิดไปในเรื่องอดีต เรื่องอนาคต จิตใจก็สบายขึ้น ก็เพลิดเพลินไปกับการเจริญสติ ซึ่งมีรสชาติดีกว่าการอ่านและฟังธรรมะเสียอีก เพราะจิตของเราได้เข้าไปสัมผัสกับสภาวะจริงๆ กับรสพระธรรมเลย นี่แหละที่ตรงกับบทสวดมนต์ในพระธรรมคุณที่ว่า “ สันทิฏฐิโก – พระธรรมเป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง ”
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: เมษายน 24, 2016, 09:30:05 AM »

เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิต

บางครั้งพอปฏิบัติไปก็เกิดความสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติ อยากจะเขียนไปซักถามหลวงพ่อ แต่ก็คิดไปว่ากว่าหลวงพ่อจะตอบจดหมายมาถึงเรา ก็คงจะเป็นเวลาหลายวัน ผมจึงมิได้เขียนไปซักถาม แต่พอเราปฏิบัติไป บางทีเราก็ได้คำตอบไปเองเลยก็มีเหมือนกัน ผมฝึกเจริญสติไปได้ประมาณ ๑ เดือน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ คือในขณะที่กำลังเจริญสติอยู่ มีการกำหนดที่แรงเกินไป คือ เข้าไปเคลื่อนไหวด้วยกับกาย ซึ่งทำให้รู้สึกเหนื่อยและตึงเครียดบริเวณศีรษะ กรรมฐานของเราไม่สบายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว จึงตั้งต้นทำใหม่ ให้มีสติที่หยุดดู โดยปล่อยให้กายเคลื่อนไหวไปส่วนเดียว สติหยุดดูอยู่เฉยๆ ก็มีความรู้สึกคล้ายๆกับว่าผมได้ถอนตัวหรือแยกตัวออกมาดูกายที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ ทำให้รู้ว่า จิตหรือสติคือสิ่งเดียวกัน มีหน้าที่รับรู้รับทราบไว้เฉยๆ ส่วนที่เคลื่อนไหวคือกาย โดยที่จิตเป็นผู้ใช้ให้กายเคลื่อนไหว เห็นกายกับจิตแยกกันเป็นคนละส่วนคนละอันกัน กายอยู่ส่วนกาย จิตอยู่ส่วนจิต ทำหน้าที่ต่างกัน และเห็นความพิการติดอยู่ที่กายด้วย พอมาเห็นตรงนี้ว่าที่แท้ความพิการจริงๆ แล้วมีอยู่ที่กายที่เดียวเท่านั้น จิตเพียงทำหน้าที่รับรูรับทราบไว้เฉยๆ เท่านั้น ก็ทำให้ผมรู้สึกเป็นอิสระ เบาสบายขึ้นมาทันทีเลย เหมือนกับเราได้ค้นพบที่ใหม่ของเรา ที่มิใช่กายที่พิการเหมือนดังแต่ก่อนแล้ว แต่ได้ถอนตัวหรือแยกตัวออกมาดู มาอยู่กับสติรู้สึกตัวดูอยู่เฉยๆ เท่านั้น อุปมาเหมือนเมื่อก่อนผมกำลังพยายามที่จะแกะตลับยาหม่องให้ออกจากกัน แต่ก็ยัง แกะไม่ออก อยู่มาวันหนึ่งพอเราจับตลับยาหม่องได้ถนัดมือขึ้น ก็สามารถแกะตลับยาหม่องให้แยกออกจากกันเป็นสองฝาได้ นี่ก็เช่นเดียวกัน พอเรามีสติรู้สึกตัวมากขึ้นก็เห็นแจ้งในลักษณะและธรรมชาติของกายและจิตว่าไม่ใช่ส่วนเดียวกัน และทำหน้าที่ต่างกัน

พอถึงตอนนี้ผมจำเป็นต้องเขียนจดหมายไปกราบเรียนถามหลวงพ่ออีกครั้ง จะต้องอาศัยครูบาอาจารย์แล้ว จะปฏิบัติไปทางผิดหรือจะไปทางถูกก็ตอนช่วงนี้แหละ ผมได้เขียนไปเล่าถึงผลของการปฏิบัติ และถามหลวงพ่อว่าทำถูกขั้นตอนไหม และขั้นตอนต่อไปควรทำอย่างไร หลวงพ่อก็ได้เมตตาตอบจดหมายมาอีกฉบับหนึ่งว่า ผมทำถูกขั้นตอนของการปฏิบัติแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ให้ผมดูรูปธรรมนามธรรม รูปทำนามทำ รูปทุกข์นามทุกข์ รูปโรคนามโรค ตามลำดับไป ดูอาการของรูป อาการของนาม ให้เห็นเป็นเพียงสักว่าธรรมชาติและอาการเท่านั้น และท่านได้เน้นว่า “ ให้เป็นผู้ดู อย่าเข้าไปอยู่ไปเป็น ” และจะทำให้เกิดปัญญาขึ้นเรื่อยๆ แต่จดหมายฉบับนี้กว่าหลวงพ่อจะตอบมาก็ใช้เวลานาน เพราะท่านไปอยู่ต่างประเทศ

ผมก็ยังเจริญสติดูกายเคลื่อนไหวอยู่ต่อไปอีก แต่ก็ยังมีความคิดเกิดขึ้นแอบแฝงคลอเคลียออกมากับสติอยู่เรื่อยๆ มักจะเป็นความคิดประเภทที่ชอบพิจารณาหาเหตุผลในการปฏิบัติ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากตัวสตินั้นเอง ที่จริงแล้วสติกับความคิดและจิตก็คือนามธรรมนั่นเอง ส่วนกายที่กำลังเคลื่อนไหวคือรูปธรรม ยังเห็นความคิดที่เกิดขึ้นมาไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่ถึงจะเป็นความคิดประเภทไหนก็ตาม ก็ทำให้จิตไม่บริสุทธิ์ด้วยกันทั้งนั้น จึงอยากจะแยกความคิดให้ออกจากจิต ให้เหลือแต่จิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ก่อนการปฏิบัติได้คิดไว้ในใจว่า จะมีสติรู้สึกตัวอยู่ตรงกลาง แต่รู้สึกตัวอยู่ที่มือขวาที่กำลังพลิกเคลื่อนไหว คือกายเป็นหลักอยู่เสมอๆ เมื่อความคิดยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ามีความคิดเกิดขึ้นมาก็จะแยกความคิดออกมาทางด้านซ้ายมือ ไม่ว่าจะเป็นความคิดชนิดไหนก็ตาม ดีหรือไม่ดี พอใจหรือไม่พอใจ เป็นต้น ก็จะเห็นและจะทิ้งทุกๆครั้งที่ความคิดเกิดขึ้น และกลับมาดูกายทางด้านขวามือ ให้มีสติอยู่ตรงกลาง ให้เราอยู่กับตัวสติจับตัวนี้ไว้ให้มั่น จะได้ไม่เข้าไปอยู่ในกายและความคิด ทำใหม่ๆ ความคิดมักจะไม่ค่อยเกิดเพราคอยระวังอยู่ แต่พอดูกายไปนานๆ พอความคิดเกิดขึ้นมักจะดูไม่ค่อยทัน เผลอสติก็ทิ้งกายและพลัดหลงไปในความคิด ตามความคิดไป แต่พอมีสติรู้สึกตัวก็ทิ้งความคิด และกลับมาดูกายเหมือนเดิม ทำอยู่อย่างนี้บ่อยๆเข้า ทำให้สติเริ่มเป็นใหญ่ เห็นกายและความคิดชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความคิดพอขยับเขยื้อนตัวเท่านั้น ก็จะถูกทิ้งและกลับมาดูกายได้ทันท่วงทีเลย ทำอย่างนี้จนคล่องตัวและชำนาญ จึงมีผลทำให้สติเด่นเป็นหนึ่ง ตื่นรู้อยู่ตรงกลาง พอถึงตรงนี้ทำให้ทราบว่า เรากำลังเดินอยู่บนทางสายกลางมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางที่ไม่ข้องแวะไปทั้งสองด้าน คือ ไม่เข้าไปในด้านกายที่กำลังเคลื่อนไหว และไม่เข้าไปในด้านความคิดที่พอใจและไม่พอใจ หรือ เป็นสุขและเป็นทุกข์ เราพบทางแล้วซึ่งเป็นหนทางที่จะนำเราออกไปเสียจากความทุกข์ เพียงแต่มีสติรู้สึกตัวอยู่ตรงกลางเท่านั้นเอง อยู่ตรงนี้ นี่เองคือ บังเหียนของชีวิต บังเหียนของธรรมะอยู่ตรงนี้ เรามีที่พึ่งภายในแล้ว เห็นอานิสงส์ของสติมาก และคิดว่าถ้าหากเราพากเพียรที่จะสร้างสติให้มีขึ้นในตัวเรามากๆ สตินี้จะเปรียบเสมือนยานพาหนะ นำเราออกไปจากความทุกข์อย่างแน่นอน

อุปมาดังว่า เรากำลังติดอยู่ในถ้ำที่มืดมิดมานาน และกำลังหาทางออกจากถ้ำนี้อยู่ แต่ยังหาไม่พบ พอดีมองไปเห็นแสงสว่างที่ส่องลอดเข้ามาเป็นลำภายในถ้ำ ไกลๆ ก็ทราบว่านี่ต้องเป็นทางออกไปจากถ้ำนี้อย่างแน่นอน จึงรีบขวนขวายที่จะออกไปจากถ้านี้เสียโดยเร็ว

ผมจะให้ความสำคัญต่อตัวสติมากกว่าสิ่งใด จนคิดอยากจะออกจากบ้าน ไปปฏิบัติในสถานที่เงียบสงัดวิเวก และใกล้ชิดอยู่กับครูบาอาจารย์ก็เพื่อจะได้บรรลุผลโดยเร็ว คือถ้าเขาจะอนุญาตให้ผู้พิการบวชได้ละก็ผมก็คงจะขอบวชไปนานแล้ว ความคิดมักจะเดินไปในทางนั้น ก็เพราะเราได้พบทางออกของเรา เป็นทางรอดของชีวิตที่ไม่มีทุกข์ เริ่มเห็นสาระของชีวิตแล้ว พฤติกรรมต่างๆ ในตัวเราก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ผมก็ยังคงเจริญสติดูกายเคลื่อนไหวอยู่ต่อไปอีกจะไม่ทิ้งหลักเดิม แต่คราวนี้ขยันทำมากขึ้น พยายามทำให้ต่อเนื่องกันในทุกๆอิริยาบถ และทุกสถานการณ์ จะทำทั้งวันเลย ซึ่งถือว่าเป็นแบบฝึกที่ยากขึ้นสำหรับตัวผม เพราะต้องทำอยู่ที่บ้าน แต่ถึงจะยากลำบากขนาดไหนก็ต้องทำเพราะเดิมพันมันสูง คือพ้นทุกข์ได้

การปฏิบัติจะเริ่มตั้งแต่ลืมตาตื่นนอนตอนตี ๔ ก็เริ่มรู้สึกตัวทันที เจตนาใส่ใจที่จะเติมสติลงไปในการกระทำทุกๆอย่างจนตลอดทั้งวัน บางครั้งก็หลงลืมสติไปบ้างเหมือนกัน แต่ก็พยายามที่จะกลับมารู้สึกตัวที่กายจิตอยู่เรื่อย โดยเฉพาะในตอนที่พูดคุยมักจะหลงลืมสติไปมาก จึงไม่อยากจะพูดคุยกับใครๆ เพราะจะทำให้เสียอารมณ์ปัจจุบันไป แต่มักจะชอบคุยกับตัวเอง คือ คอยสอนตัวเอง การปฏิบัติในแต่ละวันก็มี เช่น การพลิกตัว พับผ้าห่ม แปรงฟัน ดื่มน้ำ รับประทานอาหาร เช็ดตัว ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เข็นรถไปมา เป็นต้น ให้พยายามมีสติเข้าไปรู้ให้ต่อเนื่องกันในทุกอิริยาบถ เพราะผมทราบดีว่าปัญญาที่แท้จริงนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีสติรู้สึกตัวที่ต่อเนื่องกันในทุกๆอิริยาบถ ซึ่งเป็นปัญญาที่ได้จากการภาวนา มิใช่ปัญญาที่ได้จากการคิดนึกหาเหตุผลประกอบ

ผมจะทำไปจนกว่าจะถึงเวลาประมาณ ๓ ทุ่มแล้วจึงนอนหลับไป แต่ตอนกลางวันจะไม่หลับ ไม่ค่อยสนใจกับสิ่งภายนอก ไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ฟังวิทยุ ถ้าจะฟังก็ฟังแต่ธรรมะ ไม่อ่านหนังสืออื่น นอกจากหนังสือธรรมะ อ่านและฟังธรรมะบ้าง เป็นบางโอกาส สิ่งนี้เป็นเพื่อนที่ดีมากในยามที่ห่างไกลครูบาอาจารย์ และเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศให้กับตัวเองด้วย พูดคุยเท่าที่จำเป็น ไม่พูดคุยในสิ่งที่ไร้สาระ เพราะเป็นเหตุทำให้จิตเราต้องฟุ้งซ่านไปในเรื่องราวต่างๆไม่หลงเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ไร้สาระอีกเช่นกัน เช่นในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส การคิดนึก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่จะดึงจิตของเราให้เดินออกนอกเส้นทาง ทำให้เนิ่นช้าเสียเวลาชีวิตเรา สู้อุตส่าห์ขยันสร้างสติขึ้นมาจนมีมากๆจะดีกว่าถ้าเรามามัวหลงเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนว่า เรากำลังปล่อยให้โจรเข้ามาปล้นสติของเราเสียแล้ว ผมต้องคอยสอนตัวเองอยู่เสมอๆ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น นอกตัวหรือในตัวก็พยายามที่จะกลับเข้ามาหาความรู้สึกตัวก่อนเสมอจะมาอยู่จุดนี้

เห็นอาการของกายและจิต

ผมจะปฏิบัติอยู่อย่างนี้ทุกๆวัน เป็นการสะสมสติให้มีมากขึ้นอย่างระมัดระวังที่สุด ทำให้สติรู้สึกตัวเด่นและจะตื่นรู้ไวต่อการสัมผัสกับสิ่งต่างๆที่มากระทบ แต่ไม่ไหลตามไปกับสิ่งนั้น คือรู้อยู่เฉยๆ โดยเฉพาะอาการของกายและจิตที่แสดงออกมาให้สติเห็นเรามีเจตนาใส่ใจเฝ้าดูกายและจิตอยู่ ก็ย่อมเห็นอาการต่างๆของกายและจิตได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนโดยเฉพาะอาการของกาย ซึ่งไม่ใช่กายแต่อาศัยกายเกิด อยู่คนละส่วนกับกาย เช่นทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากกายเราก็เรียกว่า “ อาการ ” ซึ่งมันซ่อนเร้นอยู่ภายในกายของเรา ตั้งแต่เราเกิดมาจนอายุได้ ๔๐ กว่าปี เรายังไม่เคยได้ดูกายของเราอย่างจริงจังสักที ได้อาศัยกายก้อนนี้อยู่มาตั้งนาน แต่พอเจตนาดูเข้าก็เห็นว่ามีแต่ทุกข์ มีแต่โรค และความปฏิกูลไม่สะอาด ได้เห็นธรรมชาติของกาย เป็นกระบวนการของการแก้ทุกข์ไปตลอดสายตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องคอยแก้ทุกข์ที่กำลังบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เราก็ช่วยแก้ไขไปตามอาการโดยมีจิตใจปกติไม่ต้องเป็นทุกข์ไปกับกายด้วย และส่วนของทุกข์กายที่เราแก้ไขไม่ได้ ก็เพียงกำหนดรู้ไว้เฉยๆ และยิ่งผู้ที่มีร่างกายที่พิการดังเช่นผมนี้ มีอิริยาบถที่ไม่สม่ำเสมอกัน ก็ยิ่งเห็นอาการของกายที่แสดงออกมาเป็นสภาวะของทุกข์ได้มากมาย เหมือนกับว่าเป็นทุกข์ซ้อนทุกข์ไปเลย

คุณหมอและคุณพยาบาล ท่านเคยเตือนผมเอาไว้ว่า อย่าอยู่ในอิริยาบถนอนหงายนานเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดเป็นแผลกดทับได้ คือที่บริเวณหลังและก้น ต้องเปลี่ยนอิริยาบถมานอนตะแคงบ้าง ผมก็เพียงแค่เปลี่ยนอิริยาบถที่กำลังนอนหงายอยู่ไปสู่ท่าตะแคง พอนอนตะแคงแล้วก็เปลี่ยนเป็นมานอนหงายบ้าง ก็เปลี่ยนได้แค่นี้ นั่งก็ไม่อยู่ ถ้าจะนั่งต้องให้ผู้อื่นคอยช่วยเหลือและนั่งได้เฉพาะบนรถเข็นคนพิการเท่านั้น จะยืน จะเดิน ก็ทำไม่ได้ การที่มีอิริยาบถจำกัดอยู่แค่นี้ก็ย่อมจะเห็นอาการของกายในด้านของทุกขเวทนาแสดงออกมาได้ชัดเจนมาก และจะเห็นทุกข์ในกายที่เขาแสดงออกมาให้ชัดเจนขึ้นไปอีก ก็คือตอนที่ผมไม่สามารที่จะแก้ไขทุกข์ให้กับตนเองได้ ต้องรอเวลาให้ผู้อื่นมาช่วยแก้ไขให้ ตอนนี้จะทำให้เห็นทุกข์ชัดมาก และในขณะที่ กำลังฝึกเจริญสติเคลื่อนไหวกายอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม พอทำอยู่สักครู่ก็จะเห็นกายถูกทุกขเวทนาบีบคั้นออกมาให้เราเห็น เช่นอาการปวดเมื่อย หรืออ่อนล้า ที่อิริยาบถนั้นๆ จำเป็นจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงหาอิริยาบถใหม่ เพื่อแก้ทุกข์ให้อิริยาบถเก่าให้หายไป และจะต้องคอยแก้ไขเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้เรื่อยๆไป จนกว่าเราจะตายไป

จะเห็นได้ว่ากายได้แสดงความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา คือไม่อยู่ในอำนาจของใคร ให้เราได้เห็นอยู่เป็นระจำ พอตื่นขึ้นมาเราก็ต้องเริ่มแก้ทุกข์ให้กายกันเลย เช่น ต้องดื่มน้ำ ต้องแปรงฟัน ล้างหน้า ต้องทานข้าว ต้องขับถ่าย ต้องอาบน้ำ ต้องเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ จะต้องทำอยู่อย่างนี้เรื่อยไปจนกระทั่งนอนหลับไป สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ถูกความทุกข์บีบคั้นให้เราต้องแก้ไขทั้งนั้น ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่สามารถแก้ไขให้กับตัวเราเองได้ ก็ต้องให้ผู้อื่นช่วยแก้ไขให้ และกายผมก็มีความผิดปกติมาก เซลประสาทที่รับความรู้สึก ต่างๆ ภายในร่างกายถูกกระทบกระเทือนมาก ทำให้รู้สึกชาไปทั้งตัว เป็นอัมพาต คุณหมอก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขให้เราได้ ความทุกข์อย่างนี้เราก็เพียงแต่กำหนดรู้เอาไว้เท่านั้น ไม่ต้องแก้ไขอะไรเพราะแก้ไขไม่ได้ และเป็นเพราะกายมีการเคลื่อนไหวได้น้อย จึงเป็นเหตุให้เกิดโรคต่างๆ แทรกซ้อนได้มาก เช่น โรคกระเพาะ ลำไส้ โรคเกี่ยวกับการขับถ่าย การไหลเวียนของโลหิต โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เป็นต้น

อาการของกายพอเรากำหนดรู้ความจริงแล้ว ก็จะเห็นว่ามีไตรลักษณ์อยู่เต็มเนื้อเต็มตัวไปหมด ไม่คงทนถาวรอะไร ต้องแตดสลายไปในไม่ช้า และเราก็ไม่ต้องการให้กายของเราต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ แต่กายจะไม่เป็นไปตามใจของใคร หากเป็นไปตามกฎของธรรมชาติอย่างนั้นเอง พอเราได้เห็นกายแสดงอาการของทุกข์และโรคต่างๆ ให้เห็นบ่อยๆ และจำเจอยู่ทุกวันเวลา ก็ทำให้เกิดญาณปัญญาเห็นแจ้งในลักษณะและธรรมชาติของกายเรา และยิ่งแสดงความพิการออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนอย่างนี้ด้วยแล้ว ก็ทำให้รู้สึกยิ่งเบื่อหน่ายในกายนี้มากขึ้น จนไม่อยากที่จะเข้าไปอยู่ไปเป็นกับกาย ไม่อยากเข้าไปข้องติดด้วย จึงได้ถอนตัวออกมาอยู่กับสติรู้สึกตัว มาเป็นผู้เห็นกายพิการ แต่มิได้เข้าไปเป็นผู้พิการกับกายด้วย แค่นี้เราก็ปลอดภัยและเป็นอิสระจากอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกายได้ นี่เป็นทางออกของเรา คือทางสายกลาง มาอยู่กับสติรู้สึกตัว ดูอยู่

ส่วนอาการของจิตก็มีมาก ซึ่งละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่ากายไปอีก แต่สติก็รู้ - เห็น - เข้าใจในอาการของจิต เช่น ความพอใจ ความไม่พอใจ ความสงสัย ความง่วง หรือความคิด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้มิใช่จิต แต่เป็นเพียงอาการอาศัยจิตเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันก็ทำให้เราหลงไปกับอาการของจิตได้ง่ายๆ เหมือนกัน โดยเฉพาะความคิดนี่สำคัญมาก ซึ่งมักจะเป็นคู่ปรับกับผู้ปฏิบัติเจริญสติเสียจริงๆ โดยเฉพาะความคิดที่มิได้ตั้งใจคิดผุดขึ้นมาในจิตเอง เช่นความฟุ้งซ่านไปในเรื่องอดีตอนาคต ความคิดชนิดนี้เปรียบเสมือนแขกหน้าเก่าๆ เดิมๆ ที่มักจะคอยมาหลอกลวงจิตของเราอยู่เรื่อยๆ แต่จะมาบอกบ่อยๆ ถ้าเรารู้ไม่เท่าทัน แต่ก่อนเราเคยหลงตามไปกับความคิดชนิดนี้ มักจะมาชักชวนให้เราไปร่วมรู้ร่วมคิดกับเขา พยายามดึงจิตของเราให้ไปเดินร่วมทางด้วย พอเราตามไปทีไร ก็ทำให้จิตของเราต้องดิ้นรนเหน็ดเหนื่อย กระวนกระวาย และไม่ปกติ ทำให้จิตต้องเป็นภพเป็นชาติไปกับเรื่องที่คิด โดยเฉพาะผู้ที่มีร่างกายที่พิการไปไหนไม่ได้ ต้องนั่งอยู่บนเตียงเฉยๆ ด้วยแล้วแต่จิตไปไหนได้ จึงทำให้ต้องคิดฟุ้งซ่านเสียดายอดีตและกังวลอนาคต คิดจนปวดศีรษะ เกือบจะเป็นโรคประสาทเพราะคิดมากอยู่แล้ว ต้องเป็นทุกข์เพราะเจ้าความคิดนี้มานาน แต่พอมาฝึกเจริญสติ ได้มาสัมผัสกับตัวสติเข้าจริงๆ มีสติรู้สึกตัวมากขึ้น ก็ทำให้เราเห็นทุกข์ เห็นโทษภัยในความคิดชนิดที่มิได้ตั้งใจคิด

หน้าที่ของเราไม่ต้องไปแก้ไขอะไรเลยกับความคิดชนิดนี้ เห็นแล้วก็ละทันที เพราะเป็นตัวสมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เข็ดหลาบแล้ว ต้องมีสติคอยระวังเรื่องของความคิด พยายามให้รู้เท่าทัน และในขณะที่กำลังฝึกเจริญสติดูกายอยู่ ให้ทำไปสักพักหนึ่ง ก็มักจะเกิดความคิดผุดขึ้นมาให้เราเห็นอยู่เสมอๆ โดยที่เรามิได้เจตนาที่จะคิดเลย แต่พอเราเห็นแล้วก็มิได้สนใจหรือให้ความสำคัญต่อความคิดนั้น แต่ทิ้งความคิดแล้วกลับมาดูกายเคลื่อนไหว ความคิดนั้นก็ดับไป ความคิดนี่ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะทนอยู่ในสภาพเดิมของเขาไม่ได้และไม่อยู่ในอำนาจของใคร สติได้เห็นแล้วว่ามันไม่มีตัวตนอยู่จริงหรอก เป็นมายา และเป็นเพียงอาการของจิตที่เกิดจากการปรุงแต่งของธรรมชาติเป็นครั้งคราวไปเท่านั้น มิได้เข้าไปเป็นผู้คิด แต่ถอนจิตออกมาอยู่กับความรู้สึกตัวอยู่ พอเรามิได้สนใจหรือมิได้ให้ความสำคัญต่อความคิดนั้น ก็ทำให้ความคิดนั้นหมดราคาไปเหมือนกัน ครั้นพอเรามาเห็นอาการของจิตบ่อยๆเข้า ทำให้เกิดประสบการณ์มากขึ้นจึงไม่ไปกับอาการต่างๆของจิต ทิ้งและกลับมาอยู่กับสติรู้สึกตัวซึ่งเป็นที่อยู่ที่ปลอดภัยของจิตเรา ซึ่งเป็นทางสายกลางของจิตที่กำลังดำเนินอยู่บนหนทางนี้อยู่ โดยกลับมาดูกายเคลื่อนไหว นี่คือหลักเดิมของเรา จะไม่ทิ้งหลักเดิม คือดูกาย เป็นทางเดินออกจากอาการของจิตผ่านได้ ประสบการณ์ในการปฏิบัติมีมากขึ้น พอกพูนกำลังสติขึ้นเรื่อยๆ

จากผู้ทุกข์มาเป็นผู้เห็นทุกข์

สติเมื่อได้สัมผัสและคลุกคลีไปกับอาการของกายและจิตบ่อยๆ เป็นผลทำให้สติมีกำลังแก่กล้าขึ้น เริ่มเป็นใหญ่อยู่เหนืออาการต่างๆ ของกายจิตเหล่านั้นขึ้นมาบ้าง คือเห็นแล้วเฉยได้ ไม่เป็นปัญหากับจิต ไม่ต้องเป็นภาระหรือมาถ่วงจิตถ่วงใจเหมือนดังแต่ก่อน คล้ายๆกับว่าจะเคยชินและเชื่องต่อกัน จะต่างฝายต่างอยู่คนละส่วนกัน ไม่รบกวนกัน คืออาการเขาก็เกิดขึ้นอยู่ตามธรรมดาของเขาอย่างนั้น และเราก็มีหน้าที่ดูอยู่แต่ของเราต่างฝ่ายต่างก็ทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งไม่เหมือนกับตอนปฏิบัติใหม่ๆ สติยังมีไม่มากพอ การปฏิบัติยังไม่คล่องไม่ชำนาญ ประสบการณ์ยังมีไม่มากการปฏิบัติต้องคอยหลบหลีก ระวัง คอยปรับปรุงแก้ไขไปตามอาการเท่าที่เราจะทำได้ มาบัดนี้พอมีความรู้สึกตัวมากขึ้นและมีประสบการณ์มากขึ้น ก็ไม่ต้องทำอย่างนั้น คือคอยรู้สึกตัวดูอยู่อย่างเดียว พอเกิดอะไรขึ้นมาทางกาย จิต หรือ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้น ก็เปลี่ยนกลับเข้ามาอยู่กับความรู้สึกตัวดูอยู่ได้ทันที ดูสบายๆใจเป็นปกติ เป็นอิสระต่อสิ่งนั้นๆ คล้ายกับว่า ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มากระทบกระทั่งเรานั้น เขามาอยู่แต่เฉพาะภายนอนก เข้ามาไม่ถึงจิตเรา จิตเราก็ตั้งมั่น สงบนิ่งเป็นหนึ่งเป็นปกติดูอยู่แต่ภายในเฉยๆ ซึ่งเป็นที่อยู่ใหม่ของชีวิตจิตใจเราและถ้ายิ่งทำให้มากๆ ทำบ่อยๆ ทำจนชำนิชำนาญอยู่เนืองๆแล้ว เหมือนกับว่าเราไดสร้างและต่อเติมที่อยู่ของเราให้กว้างใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ เราจะได้อาศัยนั่งเล่น นอนเล่นอย่างสบายเลย เป็นที่พึ่งภายใน เป็นอริยทรัพย์ที่ไม่รู้จักหมด อุปมาแล้วเหมือนกันกับตลับลูกปืนเครื่องยนต์จะมี ๒ วง วงนอกกับวงใน และเราจับวงในเอาไว้ ส่วนวงนอกเขาก็จะหมุนไปได้รอบๆ แต่วงในเขาก็ยังหยุดนิ่งอยู่โดยมิได้หมุนไปตามวงนอกด้วยเลย ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของหลวงพ่อคำเขียน ซึ่งมักจะกล่าวย้ำไว้เสมอๆ เวลาท่านสอนธรรมะว่า “ ให้เป็นผู้ดู อย่าเข้าไปเป็น “ ยิ่งทำให้เราได้หลัก มั่นใจว่าการปฏิบัติของเราไม่ผิดทางและพ้นทุกข์ได้อย่างแน่นอน

ได้เคยสังเกตเห็นจิตใจของเราในขณะที่กำลังความรู้สึกตัวดูกายหรือจิตในปัจจุบันนั้นแล้ว ความทุกข์จะไม่เกิดขึ้น จิตจะอยู่ในสภาวะที่เป็นปกติ สบายๆ และเป็นอิสระดี จะเป็นเช่นนี้ทุกๆครั้งเมื่อมีความรู้สึก ก่อนนั้นได้เคยฟังครูบาอาจารย์สอนว่า “ ความทุกข์เกิดขึ้นที่ไหน ความไม่มีทุกข์ก็อยู่ที่นั่น ” ผมฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจอยู่นั่นเอง ก็เรากำลังเป็นทุกข์อยู่นี่ จะดับทุกข์ได้ทันทีที่นี่เดี๋ยวนี้ได้อย่างไรกัน จะเป็นไปได้หรือ ผมก็ยังสงสัยอยู่ แต่พอปฏิบัติมาถึงขณะนี้ทำให้ได้คำตอบกับตัวเองว่า ความทุกข์เกิดขึ้นกับเราเพราะเราเข้าไปเป็นผู้ทุกข์ และความดับทุกข์จะเกิดมีได้ทันที ถ้าเราเปลี่ยนออกมาเป็นผู้เห็นทุกข์ คือออกมาเป็นผู้ดู ไม่ได้เข้าไปเป็น ทำให้ตอบตัวเองได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นจุดยืนที่ไม่มีทุกข์ของเราคือเป็นผู้ดู ตั้งแต่นี้ต่อไปเราจะต้องเพียรสร้างสภาวะของผู้ดูให้แข็งแกร่งมั่นคง เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับเราก็พร้อมที่จะตั้งหลักดูได้ทันทีเลย พอมาถึงตอนนี้ธรรมะข้อใดที่เคยได้อ่านได้ฟังมาและยังติดค้างอยู่ในใจ ก็เริ่มจะเข้าใจแจ่มชัดขึ้นมาเรื่อยๆ ผมก็ยังปฏิบัติต่อไป คิดว่าจะสนใจและขวนขวายอยู่แต่ในเรื่องนี้ จะทำให้เป็นอาชีพ คนทั่วไปเขามีอาชีพกัน แต่เราเหมือนคนที่กำลังตกงานอยู่ เราจะเอาการเจริญสตินี่แหละเป็นอาชีพของเรา จะทุ่มเทชีวิตจิตใจลงสู่จุดนี้จุเดียว ทำสิ่งนี้เป็นสิ่งสุดท้าย จะทำให้สุดฝีมือ ไม่มีอะไรที่เราจะต้องทำอีกแล้ว ชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้จะอุทิศให้ สจะทำให้พ้นทุกข์ไปเสียก่อนที่เราจะตาย

ความลี้ลับถูกเปิดเผย

ปฏิบัติไปญาณปัญญาก็เกิดตามมา ทำให้เกิดการเห็นแจ้งในบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและจิตเรา การเห็นแจ้งมิใช่ไปเห็นสีเห็นแสงอะไรนอกตัวเราที่ไหนหรอก แต่เป็นปัญญาที่เกิดจากการที่เราได้เฝ้าดูอยู่เห็นอยู่ในกายจิตของเราเท่านั้น เห็นว่าธรรมชาติของกายก็มีลักษณะของเขาอย่างหนึ่ง ธรรมชาติของจิตหรือความนึกคิดก็มีลักษณะของเขาอย่างหนึ่ง และธรรมชาติของสติรู้สึกตัวก็เป็นของเขาอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งแต่ละอย่างจะมีลักษณะและธรรมชาติที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะความรู้สึกตัว มิใช่ความคิด และก็มิใช่กาย แต่ต้องอาศัยกาย ความรู้สึกตัวจะแยกตัวออกมาเป็นอิสระ จะเป็นปัญญาที่เห็นแจ้งวนเวียนอยู่ในเฉพาะ ๓ เรื่องนี้แหละ คือ กาย จิตหรือความคิด และความรู้สึกตัว เห็นว่ากายจิตไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตนอย่างไร โดยความรู้สึกตัวเป็นผู้เห็นแจ้ง กายจิตเป็นธรรมชาติที่ซ่อนเร้นความลี้ลับในลักษณะของธรรมชาติเอาไว้ แต่ความรู้สึกตัวเป็นผู้ที่เปิดเผย ขุดคุ้ย ลักษณะธรรมชาติที่ซ่อนไว้ในกายจิตออกมาให้ได้รู้ได้เห็น คือไตรลักษณ์นั่นเอง เป็นการศึกษาชีวิต โดยเอากายจิตเป็นตำรา เอาความรู้สึกตัวเป็นผู้ที่ศึกษา

การศึกษาชีวิตต้องศึกษาลงไปที่กายจิตของเรา ที่ยังเป็นๆอยู่นี้ มิใช่จากในหนังสือ หรือจากใจตำราที่ไหน จะทำให้ไม่พบของจริง ถ้าได้ศึกษาลงไปที่กายจิตของเราเอง จะทำให้เห็นตัวเองและรู้จักตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปได้ ไถ่ถอนความเคยชินเก่าๆ เดิมๆ ในบางสิ่งบางอย่างออก เอาความเคยชินใหม่ใส่แทน เช่นความเคยชินเก่าๆ เดิมๆ ชอบที่จะกระทำ พูด คิดไปตามอารมณ์หรือความคิด ให้อารมณ์และความคิดนำไป ซึ่งบางครั้งมานึกเสียใจว่าเราไม่น่าจะทำอย่างนั้นหรือพูดอย่างนั้นลงไปเลย แต่ได้กระทำหรือพูดออกไปแล้ว ทำให้เกิดการผิดพลาดในชีวิตบ่อยๆ ซึ่งเป็นชีวิตที่ไม่ค่อยชัดเจน ได้เปลี่ยนมาเป็นผู้ที่มีความรู้สึกตัวก่อนที่จะกระทำ พูด คิด มีเจตนาที่จะคิด เป็นการคิดด้วยปัญญา ไม่ใช่คิดฟุ้งซ่าน เป็นความคิดสร้างสรรค์ จับเอาความคิดมาใช้ จะทำให้คิดอย่างเป็นระเบียบ ถ้าจะหยุดคิดก็หยุดได้ ไม่ต้องนอนหลับ เพราะความคิดเหมือนเมื่อก่อน ได้เปลี่ยนมาเป็นผู้ใช้ชีวิตบ้าง มิใช่ชีวิตใช้เรา ไม่ปล่อยให้ชะตาชีวิตมาเป็นใหญ่และมีอำนาจอยู่เหนือเรา ให้เอาความรู้สึกตัวเป็นผู้กำหนดชีวิต และเป็นผู้ลิขิตชีวิตเสียเอง ฉะนั้นเราจึงเป็นอิสระ ความผิดพลาดในการดำเนินชีวิตจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น เป็นชีวิตที่ชัดเจน ถือว่าเป็นการเปลี่ยนชีวิตใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนทางจิตมิใช่ทางกาย ทางกายเปลี่ยนไม่ได้แล้ว คุณหมอท่านก็ไม่สามารถเปลี่ยนร่างกายที่พิการของผมให้หายเป็นปกติได้ แต่ว่าทางจิตนั้นเปลี่ยนได้ เปลี่ยนได้อย่างไร
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: เมษายน 24, 2016, 09:30:41 AM »

จิตลาออกจากความพิการ

เมื่อตอนที่ผมเริ่มฝึกเจริญสติใหม่ๆ ทำอยู่ประมาณ ๑ เดือน พอมีสติรู้สึกตัวมากขึ้นทำให้จิตเห็นแจ้งในเรื่องของกายจิตว่าอะไรเป็นอะไร คือเห็นกายเป็นกาย และเห็นจิตเป็นจิต กายมิใช่จิต และจิตก็มิใช่กาย แยกเป็นคนละส่วนละอันกัน แต่ต้องอาศัยอยู่ด้วยกันโดยมีลักษณะธรรมชาติและหน้าที่ต่างกัน ดังนั้นจิตจึงได้ขอลาออกจากความพิการทางร่างกายตั้งแต่บัดนั้นมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ ลาออกมาอยู่กับความรู้สึกตัวดูอยู่ จิตจึงเป็นอิสระจากอาการของกาย โดยปล่อยให้ร่างกายพิการอยู่แต่ฝ่ายเดียว แต่จิตทำหน้าที่เป็นผู้เห็นและรับรู้รับทราบไว้เฉยๆ เท่านั้น ไม่ต้องแบกภาระหรือเป็นผู้พิการเอาไว้ด้วย ปล่อยให้ความพิการติดอยู่กับกายไปจนกระทั่งตายเน่าเข้าโลงไปด้วยกันเลย นี่ถ้าจิตเห็นแจ้งแล้วก็มีสิทธิที่จะขอลาออกได้เหมือนกัน ผมจึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนชีวิตใหม่ คือเปลี่ยนจากจิตที่พิการมาเป็นจิตที่ไม่เป็นทุกข์ เป็นการเปลี่ยนทางจิตที่มิใช่ทางกาย โดยมีความรู้สึกตัวเป็นผู้ที่เปลี่ยนชีวิตใหม่ให้กับผมนั่นเอง

ผมได้ฝึกเจริญสติมาจนถึงบัดนี้ก็ล่วงเข้าปีที่ ๕ แล้ว การปฏิบัติก็คล่องตัวและสติก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามควรแก่การปฏิบัติ เคยตั้งใจไว้ว่าจะทำให้ต่อเนื่องกันในทุกอิริยาบถตลอดทั้งวัน แต่ก็ยังไม่สมดังใจที่ตั้งเอาไว้ บางวันบางเวลาก็ขาดช่วงไปบ้าง เพราะไปกับอารมณ์บ้างหรือถูกความคิดพาไปบ้าง ทำให้ทราบถึงผลการปฏิบัติของตนเองว่ายังหลงลืมสติอยู่อีกมาก จะต้องขยันสร้างสติให้มากขึ้นไปอีก แม้ว่าบางครั้งจะหลงลืมสติไปแต่ก็ยังกลับมารู้สึกตัวได้ไวกว่าเมื่อก่อน คือ เมื่อตอนที่ฝึกใหม่ๆ เวลาใดที่หลงลืมสติไป พอระลึกได้ก็จะรู้สึกเสียใจและคิดตำหนิเพ่งโทษตัวเองไปตั้งนาน ตรงนี้แหละทำให้เกิดความคิดซ้อนความคิด เป็นการเสียเวลาไปตั้งนาน แต่พอมาบัดนี้ถ้าหลงลืมสติไปตามอารมณ์ต่างๆหรือความคิดเมื่อใด ครั้นมีสติระลึกได้ก็จะรีบทิ้งอารมณ์หรือความคิดเหล่านั้น และกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวได้ทันทีเลย โดยไม่ต้องไปเสียเวลากับความคิดเสียใจหรือเพ่งโทษ จนเป็นคิดซ้อนคิด ถือว่าแล้วก็แล้วกันไป ผมจะตั้งต้น มีสติรู้สึกตัวใหม่อยู่เรื่อยๆ จนเกิดความเคยชินเป็นอุปนิสัย

ก็ดีเหมือนกันการที่เราพยายามที่จะตั้งต้นมีสติรู้สึกตัวใหม่อยู่อย่างนี้ เหมือนกันได้เปลี่ยนอิริยาบถให้กับจิตหรือสติเราใหม่ไปในตัวด้วย เพื่อให้สติชัดเจนขึ้น หรือคล้ายๆกับการเปลี่ยนเลนส์แว่นตาใหม่ ย่อมจะมองเห็นได้ชัดเจนใสแจ๋วกว่าเลนส์เก่าอย่างแน่นอน

ชีวิตในแต่ละวันที่ผ่านพ้นไป มีเหตุการณ์หลายสิ่งหลายอย่างที่จะมาสู่ชีวิตผม มีทั้งสิ่งนอกตัวในตัว ถ้าจำเป็นที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยสติที่รู้สึกตัวต่อสิ่งต่างๆ ตามหน้าที่ แต่ถ้าไม่จำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้อง ก็พยายามหลีกเลี่ยงเสีย โดยเฉพาะเรื่องไร้สาระที่เป็นต้นเหตุให้หลงลืมสติเสียความรู้สึกตัวไป และถ้าไม่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ด้วยละก็ จะพยายามมองผ่านไม่ค่อยสนใจ จะมีหน้าที่เพียงตั้งหลักรู้สึกตัวดูอยู่เป็นปัจจุบันที่ไม่เอาจริงเอาจังอะไรไปกับเรื่องภายนอก ถ้าเกิดมีอารมณ์ต่างๆ เข้ามากระทบหรือมาทำให้รักหรือให้เกลียด นี่แหละเขามาให้เราศึกษาแล้ว จะจับเอามาเป็นฐานที่ตั้งของสติ มาเป็นอารมณ์ให้เราได้เจริญสติมาให้ประสบการณ์ มาสอนธรรมะให้ หรือมาแจกปัญญาให้กับเรานั้นเอง เราก็มีหน้าที่ศึกษาและตรวจสอบจิตใจว่าเป็นอย่างไร ถ้ากระทบอารมณ์แล้วจิตของเรายังเป็นปกติอยู่ ก็สอบผ่าน แต่ถ้าจิตของเรายังหวั่นไหว คือไปรักหรือเกลียดต่อสิ่งนั้นก็ถือว่ายังสอบไม่ผ่านต่อสิ่งนั้น เป็นการวัดผลให้ตนเอง

ประโยชน์จากความพิการ

ความพิการ ครั้งแรกผมเข้าใจว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการฝึกเจริญสติ แต่พอปฏิบัติไปก็ทำให้เข้าใจดีว่า ความพิการมิได้เป็นอุปสรรค ต่อการฝึกเจริญสติเลย แต่กลับเป็นแรงกระตุ้นเตือนให้เราต้องกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติเพื่อให้จิตได้พ้นไปเสียจากภาวะของความเป็นผู้ที่พิการโดยเร็ว และความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับผม ก็เป็นเสมือนใบเบิกทางที่สำคัญในการนำพาชีวิตผมต้องเข้ามาปฏิบัติธรรมะ ถ้าไม่มีความทุกข์ผมก็คงไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกับธรรมะ ธรรมะจะไม่จำเป็นสำหรับผมเลย ถ้าไม่มีความทุกข์ นี่เพราะมีความทุกข์จึงเกิดศรัทธาที่จะปฏิบัติธรรมะ เพื่อให้ตนได้พ้นไปเสียจากความทุกข์ และความทุกข์ก็เป็นฐานธรรมฐานหนึ่ง เป็นฐานที่ตั้งของสติที่สำคัญด้วย นี่ก็นับว่าเป็นส่วนที่ดีของความทุกข์

ในขณะเจริญสติถ้าเกิดความทุกข์ไม่ว่าจะเป็นในด้านกายหรือจิตขึ้นมาเมื่อใด ก็จะศึกษาถึงลักษณะของความทุกข์ชนิดนั้นทันที ว่ามีลักษณะและธรรมชาติเป็นอย่างไร เกิดขึ้นที่ไหนและใครเป็นผู้ทุกข์ ถ้าเราเข้าไปเป็นผู้ทุกข์ เราก็สอบตก แต่ถ้าเรามีสติถอนตัวออกมาเป็นผู้เห็นทุกข์ เราก็สอบผ่าน ที่จริงแล้วการเห็นทุกข์ก็คือการเห็นธรรม การเห็นธรรมก็คือการเห็นทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ ทุกข์เป็นสิ่งควรกำหนดรู้ ” นี่ก็ถือว่าความทุกข์มาเพื่อแจกปัญญาให้กับเรา

ไม่ไปรบกวนความคิด

เจ้าความคิดก็เช่นเดียวกันเมื่อก่อนปฏิบัติและเมื่อเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ก็เคยสร้างปัญหาให้กับผมมากเหมือนกันเคยเป็นทุกข์เพราะความคิดมาแล้ว ความคิดคือฐานธรรมฐานหนึ่ง เป็นฐานที่ตั้งของสติ ความคิดเป็นอาการของจิต ไม่ใช่ตัวจิต จิตก็ส่วนจิต และความคิดก็ส่วนความคิด แยกเป็นคนละสิ่งละอันกัน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่อาศัยกันเกิดขึ้นมา เพราะโดยปกติแล้ว จิตมิได้คิดอยู่ก่อน มีความรู้สึกตัวเป็นปกติอยู่ก่อน ความคิดเปรียบเสมือนแขกที่เพิ่งจรมาทีหลังและมาสู่จิตเป็นครั้งคราว และจะผ่านออกไปจากจิต เราเพียงแต่มาทำความรู้สึกตัวอยู่ที่กายเคลื่อนไหวเท่านั้น

การปฏิบัติอยู่อย่างนี้เป็นการรักษาจิต เพื่อมิให้ถูกความคิดครอบงำได้ เช่นเดียวกันกับที่ผมกำลังนั่งเล่นอยู่บนรถเข็นคนพิการคันนี้ ถ้าผู้ใดเดินผ่านมาแล้วเห็นผมกำลังนั่งอยู่ก่อน เขาก็จะเดินผ่านไป โดยที่ไม่เข้ามานั่งซ้อนเรา เพราะเขาเห็นว่ามีคนนั่งอยู่ก่อนแล้ว หรือถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งจะมานั่งซ้อนเรา เราก็สามารถที่จะยกมือห้ามหรือทักท้วงเอาไว้ จิตเราก็เหมือนกัน เรามีสติรู้สึกตัวรักษาอยู่ก่อนแล้ว ความคิดก็ไม่สามารถเข้ามาครอบงำจิตได้ แต่ถ้าเราเผลอสติปล่อยให้ความคิดเข้าครอบงำจิตได้เมื่อใด ความรู้สึกตัวก็จะทำหน้าที่พลิกจิตให้ออกจากความคิดกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวเหมือนเดิม แค่นี้จิตก็ไม่แปดเปื้อน เป็นอิสระสบาย

เวลาทำความเพียรอยู่ ก็มักจะโทษว่าถูกความคิดเข้ามารบกวนอยู่เสมอๆ แต่แท้ที่จริงแล้วถ้าพิจารณาดูให้ดีๆ ใครรบกวนใครกันแน่ เราต่างหากที่เป็นผู้ไปรบกวนเจ้าความคิดเขา เพราะความคิดเขาก็เกิดขึ้นมาตามสายธารของธรรมชาติธรรมดาอย่างนั้นเอง คนที่ไม่มีความคิดเลยคือคนที่ตายแล้ว เราก็เพียงแต่รู้สึกตัวอยู่ที่กายเคลื่อนไหวของเราอยู่ โดยที่ไม่ต้องไปสนใจอะไรกับความคิด ให้ทำเหมือนกับว่า เรากำลังขับขี่รถอยู่บนถนน แต่อยู่คนละเลนกันกับความคิด โดยที่ไม่ล้ำเส้นกัน การที่เราไปห้ามความคิด หรือตามความคิดไปนั้นก็เท่ากับว่าเราได้ไปรบกวนเขาแล้ว และไปรบกวนเขาทั้งขึ้นทั้งล่องเลย จึงทำให้เราต้องเป็นทุกข์ ถือเสียว่าเป็นการชดใช้หนี้กรรมของเราเอง ถ้าความคิดเกิดขึ้นมามากๆ ก็ยิ่งดี เราจะได้จำเอามาเป็นฐานที่ตั้งของสติหรือเป็นอารมณ์กรรมฐานเสียเลย เราจะได้ศึกษาและได้รู้จักลักษณะธรรมชาติของความคิด แต่ถ้าเราเข้าไปอยู่ในความคิด หรือตามความคิดไป เราก็สอบตก ถ้าเราเห็นความคิด ออกมาอยู่กับความรู้สึกตัวดูอยู่ เราก็สอบผ่าน เจ้าความคิดมาก็เพื่อแจกปัญญาให้เราอีกเหมือนกัน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ก็เพราะเห็นความคิด มิใช่ตรัสรู้ได้เพราะเห็นความสงบ หรือเห็นสีเห็นแสง

ความสงบในขณะปฏิบัติมักจะทำให้เราหลงติดอยู่ ทำให้เราเกียจคร้านไม่อยากเจริญสติ ทำให้ปัญญาไม่เกิด คือไม่ค่อยรู้อะไรเลยและจะดับทุกข์ไม่ได้ พอไม่สงบเมื่อใด ก็จะทำให้เกิดทุกข์เพราะความสงบก็ไม่เที่ยง พุทธศาสนาสอนไปไกลกว่าความสงบเสียอีก สอนให้เรารู้เท่าทันความสงบ ไม่ให้หลงติดอยู่แม้แต่ความสงบ แต่ให้อยู่เหนือความสงบ นั่นคือนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เพราะเห็นความคิด คือที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ท่านทรงประทับนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ใต้ต้นโพธิ์ ได้มีเจ้าตัณหามาในลักษณะของความคิด เพื่อจะมาสร้างบ้านเรือนภายในจิตของพระองค์ท่าน แต่ท่านทรงเห็นและทรงรู้จักหน้าตาของเจ้าตัณหานั้น จึงเป็นเหตุให้ท่านได้ตรัสรู้

ธรรมะมีอยู่ในทุกสิ่ง

เหตุการณ์ทั้งหลายที่เคยเกิดขึ้นกับตัวผม ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ก็ดี หรือความคิดก็ดี ล้วนแต่มาให้ศึกษาทั้งนั้น มาเป็นอารมณ์ให้ปฏิบัติ มาสอนธรรมะและมาแจกปัญญาให้กับผม มาเพื่อทดสอบจิตใจ เราก็มีหน้าที่สอบให้ผ่าน และบางครั้งก็สอบตกบ้างเหมือนกัน แต่ไม่เป็นไร ทำให้จิตมีประสบการณ์ และเป็นการฝึกจิตฝึกใจให้แข็งแกร่งไปด้วยการที่ผมได้สอบผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง นานวันเข้าก็มีผลทำให้ความรู้สึกตัวเจริญงอกงามขึ้นมา เป็นเงาตามตัว สรุปแล้วผมก็ต้องมาลงตรงที่ความรู้สึกตัวอีกนั่นแหละเพราะว่าผมได้สอนตัวเองและก็ได้ปฏิบัติกับตนเองอยู่เช่นนี้อย่างเสมอมา

- ความรู้สึกตัว ทำให้จิตของผมเป็นอิสระจากกายโดยไม่ต้องแบกภาระทางกายมากเกินไป

- ความรู้สึกตัว ช่วยสกัดกั้นความคิดมิให้เข้าครอบงำจิตจนทำให้จิต ต้องแปดเปื้อนและเสียความเป็นปกติไป

- ความรู้สึกตัว เปรียบเสมือนหน่วยกวาดล้างมลทินและความเศร้าหมองภายในจิตใจและทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส

- ความรู้สึกตัว ช่วยจัดสรรชีวิตของผมให้ดีขึ้นทุกวันสมดังพุทธภาษิตที่กล่าวเอาไว้ว่า “ คนมีสติย่อมดีขึ้นทุกวัน ” ก็ดีขึ้นจริงๆ เป็นสันทิฏฐิโก และปัจจัตตัง ของผู้ที่ปฏิบัติเอง ความรู้สึกตัวเป็นสุดยอดของธรรมะทั้งหลายทั้งปวง นี่แหละคือที่พึ่งภายในอันประเสริฐ และเป็นหลักชีวิตของผม คือความรู้สึกตัว

ถึงแม้ว่าผมจะเป็นผู้ที่โชคไม่ดีถึงขนาดที่ร่างกายต้องพิการจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ก็ยังพอจะมี

ส่วนที่โชคดีเหลืออยู่บ้าง คือได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา อยู่ในท่ามกลางคุณพ่อคุณแม่และญาติพี่น้องของผมซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีมาก และก็โชคดีขึ้นไปอีกที่ได้มาพบวิธีปฏิบัติธรรม ตามแนวของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ได้หลวงพ่อคำเขียน สุวณโณ เป็นครูอาจารย์แนะวิธีการปฏิบัติธรรม คือการเจริญสติและผมก็ได้ปฏิบัติตามจนได้รับผลของการปฏิบัติเป็นที่น่าพึงพอใจ คือได้พบหนทางดับทุกข์ให้กับตนเอง ทำให้ความทุกข์ที่มีอยู่ได้ลดน้อยลงไปมาก บุคคลที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นผู้ที่มีอุปการคุณกับผมมากเหลือประมาณ ผมไม่มีอะไรที่จะตอบแทนพระคุณท่านได้นอกเสียจากปฏิบัติบูชา และจะพยายามปฏิบัติไปจนให้จิตได้สัมผัสกับคุณธรรมที่เป็นเบื้องสูงในทางพุทธศาสนา จนดับทุกข์ให้กับตนเองได้อย่างสิ้นเชิง และต่อจากนั้นเพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของครูบาอาจารย์ ผมจะช่วยให้คำแนะนำแก่ผู้ที่กำลังปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์ ให้ความทุกข์ของเขาได้ลดลง หรือหมดสิ้นไปเลย และผมยินดีที่จะช่วยเป็นกัลยาณมิตรให้แก่เพื่อนผู้มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ทุกๆท่านด้วย

อุปสรรคในการปฏิบัติ

ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ พ . ศ . ๒๕๓๘ จนถึง พ . ศ . ๒๕๔๑ ประมาณ ๓ ปี มีอุปสรรคในการปฏิบัติพอสรุปได้ดังนี้

๑ . อิริยาบถ ในเรื่องอิริยาบถในการปฏิบัติของผมที่มีร่างกายพิการ ก็มีปัญหาบ้างเหมือนกันแต่ก็ยังพอที่จะปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามควาามสามารถ เพราะอวัยวะบางส่วนที่ยังพอใช้ได้ก็ช่วยในการฝึกเจริญสติได้ก็มีบ้างเหมือนกัน อิริยาบถใหญ่ๆ เช่น ยืน เดิน หรือนั่ง เป็นต้น พวกนี้จะทำไม่ได้ ส่วนมากจะทำในอิริยาบถนอนเสียเป็นส่วนมาก คือ นอนหงายพลิกมือคว่ำหงายไปมา พอทำไปนานๆ ก็เกิดความเมื่อยล้า ก็ต้องสรรหาอิริยาบถใหม่ๆ เบาๆ อย่างอื่นทำต่อไป บางครั้งทำให้ท่าเดิมนานๆ สติก็ไม่ค่อยชัดเจน ต้องหาอิริยาบถใหม่อีก เพื่อให้สติชัดเจนขึ้น และบางครั้งก็ เกิดความง่วงหรือความคิดฟุ้งซ่าน เข้ามาครอบงำจิตมากๆ เราต้องการที่จะแยกจิตให้ออกจากอารมณ์นั้น ให้มันขาดออกจากกันไปเลย แต่ก็ไม่มีอิริยาบถใดๆ ทำได้ นอกเสียจากตัวตะแคงไปทางซ้ายบ้างขวาบ้างเท่านั้น บางครั้งก็ไม่สามารถที่จะพรากจิตให้ออกจากอารมณ์เหล่านั้นเด็ดขาดไปได้และบางครั้งก็ต้องทำให้ไวๆ หรือแรงๆเพื่อเป็นการปลุกตัวสติให้ตื่นขึ้นมากๆ ถึงจะผ่านพ้นอารมณ์เหล่านั้นไปได้ เพราะการเคลื่อนไหวของเรามีได้น้อยและมีอิริยาบถจำกัด ก็ต้องคิดแก้ไขดัดแปลงไป เพื่อให้เหมาะกับสภาพการณ์ เท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อการฝึกเจริญสติ

๒. ทุกขเวทนาทางกาย ผู้พิการทางด้านร่างกายมักจะมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นมากเหมือนกันจนกลายเป็นโรคประจำตัวไปเลยก็มี เช่น อาการชาตามร่างกาย อาการปวดท้อง ท้องอืด จุก เสียด แน่น หรือ เมื่อมีอากาศร้อนก็จะรู้สึกร้อนมาก จนต้องใช้น้ำลูบตามตัว เป็นต้น ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคในการฝึกเจริญสติบ้างเหมือนกัน เพราะเมื่อมีอาการทุกขเวทนาทางกายเขากำเริบขึ้นมา ถึงจะทานยาแล้วหรือช่วยแกไขแล้ว แต่อาการเหล่านั้นก็ยังไม่ทุเลาลงไป และการฝึกเจริญสติในตอนนั้น แทนที่จะเป็นเจริญสติเพียงอย่างเดียวกลับกลายเป็นการฝึกเจริญขันติไปด้วย หรือบางครั้งก็ต้องรอคอยจนกว่าอาการนั้นทุเลาลง หรือหายไปจึงจะเริ่มฝึกเจริญสติต่อไปได้อีก

๓. อารมณ์ต่างๆที่เกิดมาจากภายนอกที่เข้ามารบกวนจิต การฝึกปฏิบัติอยู่ที่บ้านอารมณ์ภายนอกก็มีมาก เช่น รูป เสียง เป็นต้น มักจะเข้ามารบกวนจิตอยู่เสมอๆ ต้องคอยต่อสู้กับอารมณ์ต่างๆ ทำให้สติไม่ค่อยชัดเจน และหลงลืมสติไปกับอารมณ์ได้ง่าย ซึ่งบางครั้งก็ต้องทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับอารมณ์นั้นเสียบ้าง และบางครั้งก็มีคนมาเยี่ยม มาพูดคุยกับเรา เราก็จำเป็นต้องพูดคุยกับเขาตามหน้าที่ ทำให้ต้องหยุดชะงักในการปฏิบัติการทำจึงไม่ต่อเนื่องกัน เพราะการที่จะต้องพูดคุยกัน เป็นเหตุทำให้เสียอารมณ์ปัจจุบันไป จึงไม่เกื้อกูลต่อการฝึกเจริญสติ นี่คืออุปสรรค บางทีก็ต้องเสียเวลารอคอยโอกาสที่ปลอดคนหรืออยู่คนเดียว เพื่อให้มีบรรยากาศที่สงบเงียบ จะทำให้การฝึกเป็นไปด้วยดี บางทีสิ่งแวดล้อมไม่เป็นใจ เราก็จำเป็นจะต้องสร้างสิ่งแวดล้อมขึ้นมาให้กับตัวเอง โดยพยายามหามุมสงบที่พอจะมีอยู่ภายในบ้านเพื่อการฝึกเจริญสติของเรา แต่พอปฏิบัติไปนานๆ ก็ทำให้เกิดประสบการณ์และสติแก่กล้าขึ้น เป็นใหญ่อยู่เหนืออารมณ์ต่างๆ มาจากภายนอกที่จะเข้ามารบกวนจิตเรา จึงทำให้เราได้ผ่านพ้นจากอุปสรรคข้อนี้ไปได้

๔. ความคิด อุปสรรคที่เกิดมาจากความคิดที่ว่านี้ไม่ใช่ความคิดที่เป็นอกุศล แต่เป็นความคิดที่เป็นกุศล ซึ่งเป็นเรื่องสร้างสรรค์เพื่อให้การปฏิบัติได้บรรลุผล คือ พ้นทุกข์ได้เร็วขึ้น เช่น อยากจะออกไปเสียจากบ้านเรือนเพื่อไปปฏิบัติอยู่ในที่เงียบ สงบ สงัดวิเวก ไปอยู่ใกล้ชิดครูบาอาจารย์ อยากจะได้เห็นตัวอย่างของการปฏิบัติและอยากจะมีกัลยาณมิตรที่ฝึกเจริญสติอยู่ด้วยกัน อยากจะได้สิ่งแวดล้อมและได้สัมผัส หรือได้พบเห็นกับผู้ที่ใช้ชีวิตประจำวันในการทำงานอยู่ด้วยการเจริญสติตลอดทั้งวัน และอยากได้พบเห็นหรือสมาคมกับผู้ที่มีจิตปกติ เป็นต้น นี่คือความคิดที่ประกอบไปด้วยความอยาก จึงเป็นเหตุให้จิตต้องดิ้นรน สรุปแล้วก็จะมารวมอยู่ที่ “ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ ” ถึงแม้ว่าจะเป็นความคิดที่ดี หรือความคิดสร้างสรรค์อะไรก็ตาม ความคิดก็คืออาการของจิต มิใช่ตัวจิต แต่เป็นตัวสังขารที่เกิดขึ้นปรุงแต่งตามธรรมชาติ พอเรารู้เท่าทันแล้ว ก็ทำให้ผ่านพ้นจากอุปสรรคข้อนี้ไปได้

๕. ความง่วง อุปสรรคในเรื่องของความง่วงนี้ มักจะเป็นสิ่งควบคู่ไปกับผู้ปฏิบัติโดยทั่วหน้ากัน โดยเฉพาะผมแล้ว เพราะตอนทำใหม่ๆ ต้องทำอยู่ในอิริยาบถเดียวคือนอน ซึ่งเป็นอิริยาบถที่เกื้อกูลต่อความง่วงมาก และครูบาอาจารย์มักจะให้คำแนะนำได้ว่า ถ้าเราเกิดความง่วงให้เปลี่ยนอิริยาบถ ไปเดินบ้าง ล้างหน้าหรืออาบน้ำบ้าง แต่สำหรับผมทำได้แต่เพียง พลิกตะแคงซ้ายขวา ซึ่งเป็นอิริยาบถน้อยๆ บางทีก็ไม่หายง่วง ก็จำเป็นต้องมาใช้เทคนิคของตนเองบ้าง เพื่อให้เหมาะกับสภาพของเรา เช่น อมน้ำไว้ในปากในขณะที่ง่วง ทำให้หายใจไม่ค่อยสะดวกในขณะปฏิบัติ แต่ก็ทำให้ความง่วงหายไปได้เหมือนกัน ที่จริงแล้วความง่วงเป็นอาการของจิต มิใช่จิต ซึ่งแยกเป็นคนละส่วนกัน ต้องจับหลักนี้เอาไว้ก่อน ความง่วงมิใช่เรา เพราะโดยปกติแล้วเราก็มิได้ง่วงอยู่ก่อน เรากำลังรู้สึกตัวอยู่ที่กายเคลื่อนไหวอยู่ก่อน แต่เจ้าความง่วงซึ่งเกิดขึ้นทีหลังและจะมาครอบงำจิตเรา ทำงั้นได้ไง เราไม่ยอมหรอก ต้องเติมสติให้หนักแน่นกว่าเดิมโดยการละความรู้สึกตัวจากที่กายเคลื่อนไหว และมากำหนดรู้อยู่ที่หน้าผาก ในระหว่างคิ้ว พร้อมทั้งเบิกตาโพลง เพื่อเป็นการเติมสติให้มาก และความง่วงก็จะค่อยออกไป เพราะความง่วงกลัวความแข็งกล้าของสตินั่นเอง พอความง่วงหายไปแล้ว เราก็กลับมารู้สึกตัวอยู่ที่กายเคลื่อนไหวต่อไปเหมือนเดิม

อุปสรรคทั้ง ๕ ข้อที่ผมได้กล่าวมานี้ มิใช่ว่าจะขวงกั้นการฝึกเจริญสติเสมอไป เรายังมีวิธีแก้ไขให้ผ่านพ้นไปได้ เป็นเพียงอุปสรรคในช่วงการปฏิบัติใหม่ๆเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นกับผมในช่วงฝึกปฏิบัติใน ๓ ปีแรก แต่เดี๋ยวนี้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นกับผมเมื่อใด ถือว่าเป็นบทเรียนหรือแบบฝึกหัด และเป็นอุปกรณ์ที่มาทำให้เราได้สร้างสติ เราจะได้มีสติมากๆ เป็นประสบการณ์ของเรา และอุปสรรคเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง เป็นเพียงมายาที่คอยหลอกลวงเรา ผลสุดท้ายเราก็ต้องทิ้งทั้งหมด กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวดีกว่า จริงกว่า และเป็นปัจจุบันยิ่งกว่า ใส่คะแนนตรงนี้ให้มาก ให้ความสำคัญกับความรู้สึกตัวเอาไว้ สิ่งอื่นก็หมดราคาไป ทำให้เราได้ผ่านพ้นไปเสียจากอุปสรรคทั้งปวง การปฏิบัติของเราก็จะบรรลุผลในที่สุด .


ขอขอบพระคุณ ที่มา : http://www.dharma-gateway.com/ubasok/kumpol-thong-03.htm และ http://www.kammatan.com
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: