วันนี้เป็นวันพืชมงคล ในวันพืชมงคลของประเทศไทยเรานี้ ได้สืบประเพณีนี้มาจากประเทศอินเดีย
แต่จะเข้ามาในยุคสมัยใด ยังไม่มีปรากฏ วันพืชมงคลได้แบ่งเป็นพิธีหลัก อยู่ ๒ พิธี คือ
๑.พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทางพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ
มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี และ
๒.พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ที่มีมาแต่โบราณก่อนพุทธกาล
ที่มีหลักฐานปรากฏในพุทธประวัติ สมัยที่พระสิทธัตถะราชกุมาร ยังทรงพระเยาว์อยู่ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญก็ได้มีมาก่อนแล้ว
ตามขนบธรรมเนียมของเหล่าศากยวงศ์สมัยนั้น ทุก ๆ ปีจะมีพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อความอุดมสมบูรณ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร
มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว
ในสมัยพุทธกาลกษัตริย์มีอาชีพทำนา แม้พระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงเป็นชาวนา อาชีพหนึ่งของตระกูลศากยวงศ์
ซึ่งเป็นตระกูลของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็คือ การทำนา พระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงพระนามว่า สุทโธทนะ (สุทธ+โอทน =ข้าวอันบริสุทธิ์) พระราชวงศ์ท่านอื่น ๆ มีพระนามเกี่ยวเนื่องด้วยข้าวเป็นส่วนมาก เช่น โทโตทนะ อมิตโตทนะ สุกโกทนะ ฆนิโตทนะ เป็นต้น
ถึงแม้ว่า กษัตริย์ เป็นนักรบ เป็นผู้ปกครองประเทศ แต่ต้องทำอาชีพอื่นไปด้วย การให้ความสำคัญต่ออาชีพทำนา จึงมีความหมายต่อราชตระกูลของเจ้าชายสิทธัตถะไม่น้อย เช่น เมื่อพระสิทธัตถราชกุมารทรงเจริญพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระราชบิดาได้พาไปทอดพระเนตรพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญด้วย ครั้นถึงวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จเข้าสู่สถานที่มณฑลพิธีกระทำการแรกนาขวัญ โปรดให้พระราชกุมารเสด็จไป โดยมีพระพี่เลี้ยงนางนมทั้งหลายคอยเฝ้าปรนนิบัติ ครั้นพิธีแรกนาขวัญเริ่มขึ้น พวกพี่เลี้ยงนางนมต่างพากันออกไปดูพิธีแรกนาขวัญกันหมด
เหตุการณ์สำคัญในอดีตที่ได้เกิดขึ้นในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ก็คือ พระสิทธัตถะราชกุมารเสด็จไปประทับอยู่ใต้ร่มต้นหว้าลำพังพระองค์เดียว พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นกบตัวหนึ่งอยู่ใต้ร่มหว้า กำลังกินแมลงอยู่ จากนั้นก็มีงูตัวหนึ่ง เลื้อยมากินกบตัวนั้น ขณะที่งูกำลังคาบกบคาปากอยู่นั้น ทันใดนั้นก็มีเหยี่ยวบินลงมาโฉบเจ้างูตัวนั้นไปอีกทอดหนึ่ง พระราชกุมารได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์โดยลำดับสัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างประทังชีวิตด้วยการที่สัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็กเป็นวัฏจักร เมื่อพระราชกุมารได้ทอดพระเนตรเห็นกฎไตรลักษณ์ดังนั้น พระองค์จึงได้นำเหตุการณ์ดังกล่าว ยกขึ้นมาพิจารณา
พระองค์ประทับนั่งสมาธิเจริญอานาปานสติกรรมฐานเกิดความสงบสงัดจนได้ “บรรลุปฐมฌาน” พอเวลาบ่าย เงาต้นไม้ทั้งหลายเบี่ยงเบนไปตามแสงตะวันทั้งหมด แต่เงาของต้นหว้า ต้นนั้นยังคงอยู่เหมือนเดิม เสมือนหนึ่งเป็นเวลาเที่ยงวัน มิได้เอนไปตามแสงตะวันดังต้นไม้อื่น ๆ ปรากฏเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นความมหัศจรรย์เช่นนั้น จึงยกพระหัตถ์นมัสการพระราชกุมารของตนเอง ซึ่งเป็นหนที่ ๒ แล้ว ที่พระเจ้าสุทโธทนะทำเช่นนี้ ครั้งแรกเมื่อสมัยที่พระราชกุมาร ยังเป็นทารกน้อยทรงขึ้นไปประทับบนเศียรของอสิตดาบส ผู้ซึ่งบำเพ็ญพรตจนสำเร็จฌานสมาบัติ ๘ ในป่าหินมพานต์ ที่เดินทางมากรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อทำนายพุทธลักษณะแล้วพยากรณ์พระโพธิสัตว์ ว่าพระราชกุมาร ต่อไปจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระสัพพัญญูผู้รู้แจ้งโลก
ภายหลังที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้เปลี่ยนจากการทำนาทางโลกมาเป็นการทำนาทางธรรม มีปรากฎในกสิสูตร สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พราหมณสังยุตต์ (๑๕/๖๗๑/๒๐๙) ความว่า... “ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและปฎัก เรามีกายคุ้มครองแล้ว มีวาจาคุ้มครองแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วในการบริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้า (คือวาจาสับปรับ)ด้วยคำสัตย์ โสรัจจะของเราเป็นเครื่องให้แล้วเสร็จงาน ความเพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวังนำไปถึงความเกษมจากโยคะ ไปไม่ถอยหลัง ยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก เราทำนาอย่างนี้ นาที่เราทำนั้นย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลทำนาอย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้”
ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาจึงมักจะมีพิธีแรกนาเพื่อบ่งบอกถึงการเริ่มต้นในการทำนาของประชาชนในชาติ พระพุทธศาสนาเข้ามาเจริญรุ่งเรืองในแผ่นดินที่มีข้าวและพืชพรรณสมบูรณ์ จนมีคำสรรเสริญพระอริยสงฆ์ว่า... “เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นใดยิ่งกว่า”
ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB: ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน และขอบพระคุณรูปภาพจาก
ภาพวาดประกอบโดย ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ขออนุญาต และขออนุโมทนาบุญมา ณ โอกาสนี้ครับ...สาธุ