KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนาธรรมะที่ถ่ายทอดโดย องค์ในหลวง รัชกาลที่9 ทรงสนธนาธรรมกับพระสงฆ์
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย องค์ในหลวง รัชกาลที่9 ทรงสนธนาธรรมกับพระสงฆ์  (อ่าน 13496 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: พฤศจิกายน 03, 2016, 10:31:56 AM »


หลวงพ่อพระราชพรหมยาน สนทนากับในหลวง

หลวงพ่อสรุปว่า นี่เป็นอันว่าน้ำพระทัยของพระองค์ ไม่ทรงสะเทือนในคำนินทาและสรรเสริญ ก็ทรงอุเบกขาเป็นอย่างยิ่ง
ฉะนั้นถ้าหากว่าวันนี้ อาตมาจะถวายพระพร ให้ทรงอยู่ในด้านของพรหมวิหาร ๔ ก็เห็นว่าจะไม่มีผล เพราะว่าความดี ๔ ประการนี้
พระองค์ทรงมีแล้วเรียบร้อยทุกประการ
ตามที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมมาพุทธเจ้าตรัสว่า “นัตถิ โลเก อนินทิโต” ซึ่งแปลเป็นใจความว่า
“คนไม่ถูกนินทาเลย ไม่มีในโลกนี้”
ฉะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงแม้ว่าจะมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชานิกรของพระองค์เพียงใดก็ตามที
พระราชจริยาวัตรของพระองค์ ก็ย่อมไม่เป็นที่ที่ถูกใจของบุคคลบางพวก บางคณะ อาจจะมีอยู
ในครั้งหนึ่ง อาตมาได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ ได้ปรารภกับพระองค์ถึงภารกิจที่อาตมาทำว่า
“การทำการสงเคราะห์ ปวงชนชาวไทย ตามกำลังที่จะรวบรวมได้ จากบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ ทำการแจกอาหารการบริโภค ยารักษาโรค สร้างโรงเรียนตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ แต่การกระทำแบบนี้ กลับมีคนบางพวกบอกว่า อาตมาเป็นพระการเมือง”

พระองค์ก็ตรัสว่า
“ผมก็ทราบเหมือนกัน เขาว่าหลวงพ่อเป็นพระการเมือง”
แต่พระองค์ก็ทรงถามว่า
“หลวงพ่อมีความรู้สึกยังไง”
ก็เลยถวายพระพรไปว่า
“อาตมาไม่มีความรู้สึกอะไร เพราะถือว่าอาตมาไม่เคยสมัครสภาผู้แทนราษฏร และก็ไม่เคยอยากจะเป็นรัฐมนตรี
เขาจะหาว่าการเมืองหรือการบ้านก็ช่าง ถือว่าเฉย ๆ ถือตามหลักพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า “นินทา ปสังสา”
ขึ้นชื่อว่า นินทาและสรรเสริญ เป็นของธรรมดาของโลก อาตมาไม่หนักใจในคำนินทาและสรรเสริญ เพราะไม่มีความสงสัย”

ต่อนี้พระบาทมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ตรัสว่า
“ผมก็เหมือนกันแหละขอรับ เมื่อก่อนนี้เขาลือว่าผมฆ่าพี่ แต่เวลานี้เขาลือกันว่าผมฆ่าพ่อตา”
ความจริงช่วงหลัง อาตมาไม่ทราบจึงกราบทูลว่า
“การลือที่ว่าฆ่าพ่อตานั้น มีความหมายเป็นยังไง”
พระองค์ก็ตรัสบอกว่า
“เขาลือกันว่าพ่อตาผมเป็นไข้ ผมเอาเหล้ากรอกปาก แล้วเลยพาพ่อตาไปวิ่ง พ่อตาก็เลยตาย”
แล้วจึงได้ทูลถามพระองค์ว่า
“แล้วมหาบพิตร มีความรู้สึกยังไง ในเมื่อคำนินทาปรากฏขึ้น”
พระองค์ก็ตรัสว่า
“เรื่อย ๆ ขอรับ”

ก็หมายความว่า ใครจะว่ายังไงก็ช่าง ความดีหรือความชั่วที่จะมีขึ้นได้อาศัยการกระทำเป็นสำคัญ
แล้วเมื่อเราทำความดีแล้วใครจะว่าชั่ว เราก็ไม่ชั่วไปตาม ถ้าเราทำความชั่ว ใครจะสรรเสริญว่าดี เราก็ไม่ดีไปตาม
นี่เป็นอันว่าน้ำพระทัยของพระองค์ ไม่ทรงสะเทือนในคำนินทาและสรรเสริญ ก็ทรงอุเบกขาเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นถ้าหากว่าวันนี้ (ประมาณปี ๒๕๓๓) อาตมาจะถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงอยู่ในด้านของพรหมวิหาร ๔
ก็เห็นว่าจะไม่มีผล เพราะว่าความดี ๔ ประการนี้ พระองค์ทรงมีแล้วเรียบร้อยทุกประการ

จากหนังสือ ธัมมวิโมกข์ ฉบับพิเศษ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ หน้า ๗๙
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 03, 2016, 10:34:58 AM »



พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว โดย พล.ต.อ.วิสิษฐ์ เดชกุญชร

"ผู้ที่เคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานหรือพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่เป็นเวลานานๆ เช่น ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรคงจะได้เห็นด้วยความพิศวงทุกคนด้วยกันว่า พระเจ้าอยู่หัวนั้นเมื่อทรงประทับนั่งลงแล้ว จะประทับอยู่ในพระอิริยาบถนั้น ตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนกระทั่งจบ ไม่ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย นอกจากนั้นยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียะกิจอย่างกระฉับกระเฉงต่อเนื่อง ไม่มีอาการที่แสดงว่าทรงเหนื่อยหรือทรงเบื่อเลย ผมเคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร พิธีนั้นยาวประมาณ 4 ชั่วโมง และมีบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาเฝ้าฯรับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นจำนวนหลายพันคนได้เห็นเหตุการณ์เช่นนั้น
แต่ผมได้เห็นมากกว่านั้นคือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับไปถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในตอนค่ำวันนั้น พระเจ้าอยู่หัวยังทรงออกพระกำลังบริหารพระวรกายด้วยการวิ่งในศาลาดุสิตาลัยอีก ในการประกอบพระราชกรณียะกิจอื่นๆ ก็เช่นกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติด้วยพระอาการที่แสดงว่าเอาพระทัยจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียะกิจนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ทรงเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย เช่น ในการทรงดนตรีที่ใครๆ มักจะนึกว่าเป็นการหย่อนพระราชหฤทัย เป็นต้น
ผมเคยเห็นพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงดนตรีตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง โดยทรงนั่งไม่ลุกเลยแม้แต่จะเพื่อเสด็จฯไปสรง ในขณะที่นักดนตรีอื่นๆ ลงกราบแล้วถอยหลังลุกไปเข้าห้องน้ำกันเป็นครั้งคราวทุกคน ในการทรงเรือใบก็เช่นกัน ทรงจดจ่ออยู่กับการบังคับเรืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบ ครั้งหนึ่งเคยเสด็จออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้มาเฝ้าฯอยู่ด้วยความฉงนว่า เพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น แสดงว่าการทรงดนตรีก็ดี ทรงเรือใบก็ดี สำหรับพระเจ้าอยู่หัวเป็นงานอีกชนิดหนึ่งที่จะต้องทำด้วยความจดจ่อและต่อเนื่องไปจนเสร็จเหมือนกัน พระราชกรณียะกิจอื่นๆ นั้น ทั้งน้อยและใหญ่ทรงปฏิบัติแบบเดียวกัน คือ ด้วยการเอาพระราชหฤทัยจดจ่อไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จและไม่ทิ้งขว้าง แบบทำๆ หยุดๆ เพราะฉะนั้นจึงจะเห็นว่าพระราชกรณียะกิจทั้งหลายนั้นสำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วนใหญ่ ผมไปรู้เอาหลังจากการเข้ารับราชการในตำแหน่งนายตำรวจราชสำนักประจำอยู่ไม่นานนักว่า ที่ทรงสามารถจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียะกิจได้เช่นนั้นก็เพราะพระสมาธิ
ผมไม่ทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริฝึกสมาธิตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเริ่มในเดือนตุลาคม พ.ศ.2499 เมื่อทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ( วัดพระแก้ว ) หลังจากทรงผนวชแล้วประทับจำพรรษาอยู่ที่พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอยู่ในสมณะเพศเป็นเวลา 15 วัน
ครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ซึ่งทรงเป็นพระอุปัชฌาจารย์ ทรงเลือกสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ( เมื่อครั้งยังเป็นพระโสภณคณาภรณ์ ) ให้เป็นพระอภิบาล ( พระพี่เลี้ยง ) ของพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทราบกันดีว่าแม้จะทรงมีเวลาน้อย แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และคงจะได้ทรงฝึกเจริญพระกรรมฐานในโอกาสนั้นด้วย
เมื่อผมเข้าเป็นตำรวจพระราชสำนักประจำปี พ.ศ.2513 นั้น ปรากฏว่าการศึกษาและปฏิบัติสมาธิหรือกรรมฐานในราชสำนักกำลังดำเนินอยู่แล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติเป็นประจำ และข้าราชบริพารหลายคนทั้งฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหารก็กำลังเจริญรอยตามพระยุคลบาทอยู่ ด้วยการฝึกสมาธิอย่างขะมักเขม้น ผมไม่ได้ตั้งใจจะฝึกสมาธิแม้ว่าจะเคยศึกษามาก่อน โดยเฉพาะจากหนังสือของอาจารย์พุทธทาสภิกขุ
แต่ระหว่างตามเสด็จโดยรถไฟจากกรุงเทพมหานครไปอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ.2515 เป็นการเดินทางไกลกว่าที่ผมคิด หนังสือเล่มเดียวที่เตรียมไปอ่านฆ่าเวลาบนรถไฟก็อ่านจบเล่มเสียตั้งแต่กลางทาง ขณะนั้นผมเห็นนายทหารราชองครักษ์ประจำที่ถวายหน้าที่รักษาความปลอดภัยร่วมกันสองนาย ใช้เวลาว่างนั่งหลับตาทำสมาธิ จึงลองทำดูบ้าง โดยใช้อานาปานสติ ( กำหนดรู้แต่เพียงว่ากำลังหายใจเข้าและหายใจออก ) อันเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ และท่านพุทธทาสแนะนำ ปรากฏว่าจิตสงบเร็วกว่าที่ผมคาด และเห็นนิมิตเป็นภาพสีสวยๆ งามๆ มากมาย และเป็นเวลาค่อนข้างนานด้วย ตั้งแต่นั้นมาผมก็ติดสมาธิและเป็นอีกผู้หนึ่งที่ปฏิบัติสมาธิมาเป็นประจำจนถึงทุกวันนี้
เมื่อความทราบถึงพระกรรณว่าผมเริ่มปฏิบัติสมาธิ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำด้วยพระองค์เอง ผมจึงได้รู้ว่าพระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัวนั้นก้าวหน้าไปแล้วเป็นอันมาก รับสั่งเล่าเองว่า แม้จะใช้อานาปานสติเป็นอุบายในการทำสมาธิ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงไม่สามารถที่จะกำหนดพระอาสาสะ ( ลมหายใจเข้า ) และพระปัสสาสะ ( ลมหายใจออก ) ได้แต่ลำพังต้องทรงนับกำกับ วิธีนับของพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงทำดังนี้
หายใจเข้าครั้งที่หนึ่งนับหนึ่ง หายใจเข้าครั้งที่สองนับสอง หายใจเข้าครั้งที่สามนับสาม หายใจเข้าครั้งที่สี่นับสี่ หายใจเข้าครั้งที่ห้านับห้า เมื่อถึงห้าแล้วหากจิตยังไม่สงบก็นับถอยหลังจากห้าลงมาหาหนึ่ง แล้วนับจากหนึ่งขึ้นไปหาห้าใหม่ กลับไปกลับมาเช่นนั้น จนกว่าจิตจะสงบ รับสั่งว่าที่เห็นพระองค์ประทับอยู่นิ่งๆ นั้น พระจิตทรงอยู่กับ “ หนึ่งเข้า หนึ่งออก “ ตลอดเวลา
พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเรื่องสมาธิด้วยการรวบรวมและประมวลคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่าน แล้วก็ทรงพระราชทานประมวลคำสอนนั้นแก่ผู้ที่ทรงทราบว่ากำลังปฏิบัติสมาธิอยู่ ครั้งหนึ่งทรงพระกรุณาพระราชทานแถบบันทึกเสียงของสมเด็จพระญาณสังวรฯให้ผม รับสั่งว่าเป็นเทปบันทึกการแสดงธรรมเรื่องฉักกสูตร ( คือพระสูตรว่าด้วยธรรมหมวด 6 รวม 6 ข้อ ซึ่งอธิบายความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวมีตนของสิ่งต่างๆ มีอายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ ผัสสะ เวทนา และตัณหา พระสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ) และทรงแนะนำให้ผมฟังธรรมบทนั้น ผมรับพระราชทานแถบ
บันทึกเสียงม้วนนั้นมาแล้วก็เอาไปใส่เครื่องบันทึกเสียงแล้วเปิดฟัง ฟังไปได้ไม่ทันหมดม้วนก็ปิดแล้วก็เก็บเอาไว้ไม่ได้ฟังอีก
หลังจากนั้นไม่นานนักได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชทานกระแสรับสั่งถามว่า ฟังเทปของสมเด็จฯแล้วหรือยัง เป็นอย่างไร ผมไม่อาจจะกราบบังคมทูลความอันเป็นเท็จได้ ต้องกราบบังคมทูลตามตรงว่า ฟังได้ไม่ทันจบม้วนก็ได้หยุดฟังเสียง
แล้วตรัสถามต่อไปถึงเหตุผลที่ผมไม่ได้ฟังให้จบ และผมก็จำเป็นต้องกราบทูลตรงๆ ว่า สมเด็จฯเทศน์ฟังไม่สนุก พูดขาดเป็นวรรคเป็นห้วงๆ เนื่องจากสมเด็จฯพิถีพิถันในการใช้ถ้อยคำ และประโยคเทศน์ของท่านนั้นถ้าเอามาพิมพ์ก็จะอ่านได้สบายกว่าฟัง พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า ที่ฟังสมเด็จฯเทศน์ไม่รู้เรื่องนั้นก็เพราะคิดไปก่อนใช่หรือไม่ ว่าสมเด็จฯท่านพูดว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ครั้นท่านพูดช้ากว่าที่คิด หรือพูดออกมาแล้วไม่ตรงกับที่คาดหมายจึงเบื่อ เมื่อผมนิ่งไม่กราบบังคมทูลตอบ ทรงแนะนำว่าให้กลับไปทำใหม่ คราวนี้อย่าคิดไปก่อน ว่าสมเด็จฯจะพูดอย่างไร สมเด็จฯหยุดก็ให้หยุดด้วย
ผมกลับมาทำตามพระราชกระแสรับสั่ง เปิดเครื่องบันทึกเสียงฟังเทศน์ของสมเด็จฯจากเครื่องบันทึกเสียงม้วนนั้นใหม่ตั้งแต่ต้นฟังด้วยสมาธิ สมเด็จฯหยุดตรงไหนผมก็หยุดตรงนั้น และไม่คิดไปก่อนว่าสมเด็จฯจะพูดอย่างไร คราวนี้ผมฟังได้จนจบและเห็นว่าจริงดังพระราชดำรัส เทปบันทึกเสียงม้วนนั้นเป็นม้วนที่ดีที่สุดม้วนหนึ่ง
ครั้งหนึ่งหลังจากที่นั่งสมาธิแล้ว ผมได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและกราบบังคมทูลประสบการณ์ที่ได้จากการนั่งสมาธิ ผมกราบบังคมทูลว่า ขณะที่นั่งสมาธิครั้งนั้นรู้สึกว่าตัวเองลอยขึ้นจากพื้นสูงประมาณศอกหนึ่ง ทีแรกก็ไม่รู้สึกอะไร แต่ครั้นหัวเริ่มคล้อยลงไปข้างหน้าทำท่าทางเหมือนจะตีลังกา ผมก็ตกใจและต้องเลิกสมาธิ พระเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์ว่า ถ้าหากสติยังอยู่ยังรู้ตัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ควรเลิก แต่ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพนั้นอีก
ครั้งหนึ่งหลังจากทำสมาธิแล้วผมกราบบังคมทูลว่า พอจิตสงบผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังเลื่อนต่ำลงไปในท่อขนาดใหญ่ คือตัวผมและที่ปลายข้างล่าง ผมแลเห็นแสงสว่างเป็นจุดเล็กๆ แสดงว่าท่อยาวมากกลัวจะหลุดออกจากท่อจึงเลิกทำสมาธิ รับสั่งเช่นเดียวกันว่า หากยังรู้ตัว ( มีสติ ) อยู่ก็ไม่ควรเลิก ถึงหากหลุดออกนอกท่อไปก็ไม่เป็นไร ตราบเท่าที่สติยังอยู่และรู้ว่ากำลังเกิดอะไรกับตน
ต่อมาภายหลังจากการศึกษาคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่าน และโดยเฉพาะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนให้ “ ดำรงสติให้มั่น “ ในเวลาทำสมาธิ
ในส่วนที่เกี่ยวกับพระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสเล่าให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งขณะกำลังทำสมาธิอยู่พระจิตสงบและเกิดนิมิต
ในนิมิตนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเห็นพระกร(แขนท่อนล่าง ) ลอกออกทีละชิ้นๆ ตั้งแต่จากพระตจะ (หนัง) ลงไปถึงพระอัฐิ
( กระดูก )
พระเจ้าอยู่หัวทรงประยุกต์พระสมาธิในการประกอบพระราชกรณียะกิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนักในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่สะทกสะท้านหรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆ อย่างเลื่อนลอยและเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอันเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับพระราชกรณียะกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น
ในฐานะที่เกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศที่มีพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เป็นพระประมุข และในฐานะที่ทุกคนมีหน้าที่ในการทำนุบำรุงเมืองไทยนี้ให้เป็นที่ร่มเย็นของเราและของลูกหลานของเรา จึงสมควรที่เราจะเจริญรอยประพฤติตามพระยุคลบาทด้วยการศึกษาและปฏิบัติสมาธิกันอย่างจริงจัง และนำสมาธิมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา"
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2016, 06:54:52 AM »



พระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมระหว่าง "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" กับ "สมเด็จพระญาณสังวรฯ"

ในหลวง : หนังสือสอนพระพุทธศาสนายากเกินไปแก่สมองเด็ก ... ให้เด็กเล็กๆ จำประวัติมากเกินไป
สมเด็จญาณฯ : กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้จัดหลักสูตร
ในหลวง : อย่างสอนอริยสัจแก่เด็กเล็กๆ เหมือนจะให้เด็กเป็นพระอรหันต์ จะทำให้เด็กเข้าใจได้อย่างไร ... น่าจะสอนบทธรรมง่ายๆ ที่เป็นประโยชน์ในการอบรมเด็กด้วย เช่น ความเพียร และน่าจะจัดเป็นหลักสูตรสูงขึ้นไปโดยลำดับ แทรกพุทธประวัติ นิทานชาดก บทสอนศาสนาคฤหัสถ์ได้ มีจัดไว้ทำนองนี้ ... น่าจะทำแจกหรือมีจำหน่ายถูกๆ ของกระทรวงก็ปล่อยเป็นส่วนของกระทรวง
สมเด็จญาณฯ : จะนำกระแสพระราชดำรินี้ไปจัดทำ แต่การเขียนเรื่องให้เด็กอ่านนั้น...เขียนแล้วคิดว่าง่าย...เด็กเข้าใจ ครั้นไปลองสอนกับเด็ก...คือให้เด็กอ่าน เด็กก็ไม่เข้าใจ
ในหลวง : ถ้าประสงค์จะทดสอบก็ได้ ... เขียนส่งไปให้ทูลกระหม่อม เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตน์ฯ อ่าน ถ้าจะทดสอบอายุน้อยกว่านั้นก็ได้
**********
ในหลวง : การปฏิบัติตนให้เหมาะเป็นการยาก ต้องทำสองอย่างพร้อมๆ กัน อย่างหนึ่งต้องให้มีภาคภูมิ อีกอย่างต้องให้สุภาพ มิให้เป็นหยิ่งหรือที่เรียกกันว่า "เบ่ง" และในสมัยประชาธิปไตยก็ต้องให้เหมาะสม...เข้ากันได้กับประชาชน
สมเด็จญาณฯ : ตามที่ได้ฟัง...ได้ยินแต่เสียงชื่นชมในพระบารมี
ในหลวง : ต้องคอยสังเกตเป็นบทเรียนและแก้ไขเรื่อยมา เมื่อคราวเสด็จภาคอีสาน วันหนึ่งเหนื่อยมาก...หน้าบึ้ง กลับที่พักแล้วก็นึกขึ้นได้ว่า ราษฎรได้มีโอกาสเห็นเราเพียงครั้งเดียว ให้เขาเห็นหน้าบึ้งไม่ดี ต่อจากนั้น ถึงจะเหนื่อยมากก็ต้องพยายามไม่ทำหน้าบึ้ง ต้องทำชื่นบาน
**************
ในหลวง : เมื่อคราวเสด็จทางภาคใต้ วันหนึ่งไม่สบาย แต่ถ้างด...ไม่ไป...ก็จะเสียหาย ... ต้องไป ครั้นไปแล้วกลับมาก็สบายดี ... จะเป็นเพราะกำลังใจใช่ไหม?
สมเด็จญาณฯ : (ทูลรับ แล้วทูลว่า) ฝึกบ่อยๆ กำลังใจจะมากยิ่งขึ้น
ในหลวง : ทำสมาธิอย่างไร?
สมเด็จญาณฯ : คือทำใจให้ตั้งมั่น แน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว จะทำอะไรทุกๆ อย่าง ต้องมีใจเป็นสมาธิ ในทางปฏิบัติจึงต้องใช้สมาธิทั้งนั้น แต่มักมีคนเข้าใจว่า...ทำสมาธิต้องนั่งหลับตา
ในหลวง : นั่งทำพิธี...รู้สึกว่า เวลาปฏิบัติราชกิจต้องสำรวมพระราชหฤทัย เช่น คราวพระราชทานกระบี่นักเรียนนายร้อย เพียงหยิบให้ ถ้าไม่สำรวมใจมีผิด สำรวมใจอยู่ก็ทำไม่ผิด
ในหลวง : ทำสมาธิ...มองเห็นภาพต่างๆ เป็นจริงหรือ?
สมเด็จญาณฯ : โดยมากไม่จริง ... ภาพที่เห็นมักเป็นนิมิต คือ ภาพที่เกิดจากสัญญา หรือที่เรียกว่า "ภาพอุปาทาน" คือ ได้เคยคิดเคยเห็นมาแล้วเก็บไว้ในใจ ครั้นทำสมาธิ ใจแน่วแน่ สิ่งที่เก็บไว้ในใจนั้นก็ปรากฏขึ้นมา เหมือนอย่างที่เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเทวดา ถามว่า เทวดารูปร่างอย่างไร ตามคำตอบก็คล้ายกับเทวดาที่ผนังโบสถ์ แต่ที่เป็นจริงก็มี
ในหลวง : เหมือนอย่างดูของหาย... มองเห็น... มีพระดูได้?
สมเด็จญาณฯ : ถ้ามองเห็น...ถูกต้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น...ก็ต้องรับว่าเป็นจริง เพราะมีข้อพิสูจน์
ในหลวง : "หายตัว" เป็นจริง...หรือเป็นการสะกดจิตไม่ให้เห็น?
สมเด็จญาณฯ : อาจเป็นการสะกดจิต ... แต่การล่องหนทะลุกำแพงออกไป ถ้าเป็นจริงก็จะต้องทำตัวอย่างไรให้เล็ดลอดออกไปได้
ในหลวง : มีในพระพุทธศาสนาหรือเปล่า?
สมเด็จญาณฯ : มีแสดงไว้ แต่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาโดยตรง ... มีแสดงไว้ก่อนในตำรับทางพราหมณ์
ในหลวง : แต่มีแสดงไว้ในพระพุทธศาสนาด้วย?
สมเด็จญาณฯ : (ทูลรับพระราชดำรัส)
ในหลวง : อยู่ในที่นี้แล้วสะกดจิตคนที่อยู่ในที่อื่นได้ไหม?
สมเด็จญาณฯ : เคยพบแต่ที่แสดงไว้ว่าอยู่ในที่เดียวกัน
ในหลวง : พระเครื่องคุ้มกันได้จริงไหม? ... คุ้มกันได้เพราะใจเชื่อมั่นว่ามีพระเครื่องอยู่กับตัวหรืออย่างไร?
สมเด็จญาณฯ : เป็นเครื่องทำให้ใจเชื่อมั่น
ในหลวง : ถ้าใจเชื่อมั่นแล้วก็ไม่จำเป็นหรือ?
สมเด็จญาณฯ : ไม่จำเป็น ... แต่ก็มีเชื่อกันว่า พระเครื่องให้อยู่คงจริง คือ ผู้ที่มีอยู่จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม หรือมิได้คำนึงถึง แต่พระเครื่องก็คงคุ้มกันผู้ที่ไม่เชื่อก็มี
ในหลวง : ก็เชื่อ ... มีคนให้...รับมาไว้ เขาก็ยินดี ... แต่วันนี้ไม่ได้ติดมา
ที่มา : บันทึกส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวัฑฒนมหาเถระ) บันทึกเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕, หนังสือ "ธรรมหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว", บรรณาธิการโดย รศ.สุเชาว์ พลอยชุม
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2016, 10:14:43 AM »

ครั้งหนึ่ง "หลวงปู่ชอบ ฐานสโม" ได้ไปเยี่ยม "หลวงปู่ขาว อนาลโย" ที่วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู

พอดีวันนั้น เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังแจ้งมาที่วัดถ้ำกลองเพลว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปเยี่ยมหลวงปู่ขาวที่วัดในวันนี้
หลวงปู่ชอบได้ยินดังนั้นจึงกราบลาหลวงปู่ขาวกลับวัด แต่หลวงปู่ขาวไม่ยอม
บอกว่าให้อยู่เป็นเพื่อนกันก่อน หลวงปู่ชอบบอกว่า ท่านคุยกับพระเจ้าแผ่นดินไม่เป็น
หลวงปู่ขาวจึงบอกว่า ท่านก็คุยไม่เป็นเหมือนกัน เลยต้องขอให้อยู่เป็นเพื่อนกันก่อน
(หมายเหตุ : ตอนนั้นหลวงปู่ชอบและหลวงปู่ขาวต่างก็ยังไม่เคยพบเจอกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาก่อนเลยทั้งคู่)
ในที่สุด หลวงปู่ชอบจึงจำเป็นต้องอยู่เป็นเพื่อนหลวงปู่ขาวด้วย

วันนั้น หลวงปู่ทั้งสองนั่งรอรับเสด็จอยู่ที่เก้าอี้ในวัด... และนั่งรออยู่อย่างนั้น จนกระทั่งเวลาเย็นก็ยังคงคอยอยู่อย่างนั้น ...
ท้ายที่สุด หลวงปู่ทั้งสองก็เลยถามกันเองว่า
"ทำไมถึงยังไม่มาสักที... รอนานแล้ว?"
"เห็นแต่ทหารพ่อลูกเนาะ!"
พระเณรลูกศิษย์ที่นั่งอยู่ด้วยในที่นั้น เมื่อได้ยินเช่นนั้นก็เลยบอกกับหลวงปู่ทั้งสองว่า
"ก็ทหารสองพ่อลูกนั่นแหละ...ในหลวงกับลูกชายท่าน!"
เมื่อหลวงปู่ทั้งสองรู้ความจริงเข้าเท่านั้นแหละ...ก็ถึงกับหัวร่องอหายทั้งคู่เลยทีเดียว
ลูกศิษย์สงสัยก็เลยถามหลวงปู่ทั้งสองว่า ทำไมถึงไม่รู้ว่า...ทหารสองพ่อลูกนั่นแหละคือพระเจ้าแผ่นดินกับพระโอรส?
หลวงปู่ขาวตอบว่า
"นึกว่าจะมีขบวนแห่นำมา!!"
ส่วนหลวงปู่ชอบตอบว่า
"นึกว่าจะใส่ชฎา!!"
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2016, 10:16:00 AM »



บทพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมจากความทรงจำของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย จากหนังสือ ฐานิยปูชา
ในหลวง : เมื่อสักครู่นี้ นั่งมาในเครื่องบิน มันฉุกคิดขึ้นมาว่าคฤหัสถ์ที่สำเร็จพระอรหันต์แล้ว
ทำไมจึงต้องด่วนนิพพานเสียภายใน 7 วัน พระอรหันต์ท่านก็ปล่อยวางเบญจขันธ์หมดแล้ว จะอยู่ไปจนชั่วอายุขัยไม่ได้หรือ ?
หลวงพ่อพุธ : ขอถวายพระพร พระมหาบพิตร อาตมภาพขอพระราชทานวโรกาสถามปัญหาพระมหาบพิตร
ในหลวง : พระคุณเจ้าจะถามอะไรก็ถาม ถ้าตอบได้ก็จะตอบ ตอบไม่ได้ ก็ต้องโยนคืนให้พระคุณเจ้าเป็นผู้ตอบ

หลวงพ่อพุธ : พระมหาบพิตร แร่ธาตุต่างๆในจักรวาลนี้ ในเมื่อมันมาบรรจบกันเข้า มันเกิดระเบิดหรือสลายตัวมีไหม มหาบพิตร
ในหลวง : มี
หลวงพ่อพุธ : อันนั้นเป็นกฎธรรมชาติของแร่ธาตุใช่ไหม
ในหลวง : ใช่
หลวงพ่อพุธ : ถ้าอย่างนั้น คฤหัสถ์ซึ่งสำเร็จพระอรหันต์แล้วต้องนิพพานภายใน 7 วัน ก็เป็นกฎธรรมชาติของความเป็นพระอรหันต์เป็นเช่นนั้น
คุณธรรมความเป็นพระอรหันต์จะไปสถิตอยู่ในสันดานของคฤหัสถ์นั้นไม่ได้ ต้องนิพพานภายใน 7 วันถ้าไม่อุปสมบท อันนี้คือกฎธรรมชาติ
อาตมาภาพถวายคำตอบอย่างนี้ พอได้ความหรือไม่พระมหาบพิตร
ในหลวง : แจ่มดี
หลวงพ่อพุธ : ขอถวายพระพร ทำไมพระมหาบพิตรจึงรับสั่งถามอาตมภาพอย่างนี้
ในหลวง : กระผมไปทางภาคเหนือ ไปถามครูบาอาจารย์ทางเหนือ ท่านตอบว่า พระอรหันต์ท่านเบื่อหน่ายในเบญจขันธ์
จึงได้ด่วนนิพพานเสียภายใน 7 วัน จึงทำให้สงสัยว่า พระอรหันต์ท่านก็ปล่อยวางหมดแล้ว
ยังจะมีความเบื่อหน่ายด้วยหรือ จึงได้พกเอาปัญหามาถามพระคุณเจ้า
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 04, 2016, 10:17:38 AM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2016, 06:51:23 AM »




ต่อไปนี้เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงปฏิสันถารกับพระอินทรวิชยาจารย์
เจ้าอาวาสวัดคะตึกเชียงมั่น และหลวงพ่อเกษม เขมโก ซึ่งข้าพเจ้า (พระครูปลัดจันทร์ กตปุญโญ)
ได้มีโอกาสช่วยหลวงพ่อถวายพระพรด้วย ข้อความนี้ข้าพเจ้าบันทึกไว้หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้วดังนี้
ในหลวง : หลวงพ่อประจำอยู่ที่วัดนี้หรือ
หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาตมาประจำอยู่ที่สุสานไตรลักษณ์
ในหลวง : อยากไปหาหลวงพ่อเหมือนกัน แต่หาเวลาไม่ค่อยได้ ได้ทราบว่าเข้าพบหลวงพ่อยาก
หลวงพ่อเกษม : พระราชาเสด็จไปป่าช้าเป็นการไม่สะดวก เพราะสถานที่ไม่เรียบร้อย
อาตมาภาพจึงมารอเสด็จที่นี่ ขอถวายพระพร มหาบพิตรสบายดีหรือ
ในหลวง : สบายดี
หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระชนมายุเท่าไร
ในหลวง : ได้ ๕๐ ปี
หลวงพ่อเกษม : อาตมาภาพได้ ๖๗ ปี
ในหลวง : หลวงพ่ออยู่ตามป่ามีความสงบ ย่อมจะมีโอกาสปฏิบัติธรรมได้มากกว่าพระที่วัดในเมือง
ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการปกครองและงานอื่นๆ จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะอยู่ป่าไม่มีภารกิจอย่างอื่น
แต่ก็ขึ้นอยู่กับศีลบริสุทธิ์ด้วย เพราะเมื่อศีลบริสุทธิ์จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน นิวรณ์ไม่ครอบงำก็ปฏิบัติได้
ในหลวง : การปฏิบัติอย่างพระมีเวลามากย่อมจะได้ผลเร็ว ส่วนผู้ที่มีเวลาน้อยมีภารกิจมาก จะปฏิบัติอย่างหลวงพ่อก็ไม่อาจทำได้ แล้วจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร เราจะหั่นแลกช่วงเวลาช่วงเช้าให้สั้นเข้าจะได้ไหม คือ ซอยเวลาออกจากหนึ่งชั่วโมงเป็นครึ่งชั่วโมง จากครึ่งชั่วโมงเป็นสิบนาที หรือห้านาที แต่ให้ได้ผล คือ ได้รับความสุขเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น นั่งรถยนต์จากเชียงใหม่มาลำปางก็สามารถปฏิบัติได้ หรือระหว่างที่มาอยู่ในพิธีนี้มีช่วงที่ว่างอยู่ ก็ปฏิบัติเป็นระยะไป อย่างนี้จะถูกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ อยากจะเรียนถาม

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร จะปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้ ถ้าแบ่งเวลาได้
ในหลวง : ไม่ถึงแบ่งเวลาต่างหากออกมาทีเดียว ก็อาศัยเวลาขณะที่ออกมาทำงานอย่างอื่นอยู่นั้นแหละ
ได้หรือไม่ คือ ใช้สติอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ ทำงานด้วยความรอบคอบให้สติตั้งอยู่ตลอดเวลา
หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปฏิบัติอย่างนั้นถูกแล้ว การที่มหาบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติงานอย่างนี้
ก็เรียกว่าได้ทรงเจริญเมตตาในพรหมวิหารอยู่
ในหลวง : ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น เช่นว่ามาตัดลูกนิมิตนี้ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ด้วยขี้เกียจมาจึงมีกำลังใจมา
และเมื่อได้โอกาสได้เรียนถามพระสงฆ์ว่า การปฏิบัติธรรมเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นตอนๆ อย่างนี้จะได้ผลไหม อุปมาเหมือนช่างทาสีผนังโบสถ์
เขาทาทางนี้ดีแล้วพัก ทาทางโน้นดีแล้วพัก ทำอยู่อย่างนี้ก็เสร็จได้ แต่ต้องใช้เวลาหน่อย จึงอยากเรียนถามว่าปฏิบัติอย่างนี้จะมีผลสำเร็จไหม
หลวงพ่อเกษม : ปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้โดยอาศัยหลัก ๓ อย่าง คือ มีศีลบริสุทธิ์ ทำบุญในชาติปางก่อนไว้มาก มีบาปน้อย ขอถวายพระพร
เจ้าคุณฯ : ได้ตามขั้นของสมาธิ คือ อุปจารสมาธิได้สมาธิเป็นแต่เฉียดๆ ขณิกสมาธิ ได้สมาธิเป็นขณะๆ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ได้สมาธิแน่วแน่ดิ่งลงไปได้นานๆ (อธิบายละเอียดกว่าที่บันทึกนี้)
ในหลวง : ครับ ที่หลวงพ่อว่ามีศีลบริสุทธิ์ ชาติก่อนทำบุญไว้มาก อยากทราบว่าผมเกิดเป็นอะไร
ได้ทำอะไรไว้บ้างจึงได้มาเป็นอย่างนี้ (หลวงพ่อยิ้มและนิ่ง แล้วหันมาทางข้าพเจ้าบอกว่าตอบยาก)
ข้าพเจ้า : ขอถวายพระพร หลวงพ่อไม่อาจจะพยากรณ์ถวายมหาบพิตรได้
เจ้าคุณฯ : หลวงพ่ออาจจะเกรงพระราชหฤทัยมหาบพิตรก็ได้ ขอถวายพระพร
ในหลวง : หลวงพ่อไม่ต้องเกรงใจว่าเป็นพระราชา ขอให้ถือว่าสนทนาธรรมก็แล้วกันยินดีรับฟังมีคนพูดกันว่า ชาติก่อนผมเกิดเป็นนักรบมีบริวารมาก ถ้าเป็นอย่างนั้น ศีล ๕ จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ? การเป็นนักรบนั้นจะต้องได้ฆ่าคนสงสัยอยู่ (หลวงพ่อหันมากระซิบกับข้าพเจ้าว่า เอใครทำนายถวายท่านอย่างนั้นก็ไม่รู้ เราไม่รู้ เราไม่มีอตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ตอบยาก ต้องหลวงพ่อเมืองซิ)
ข้าพเจ้า : ขอถวายพระพร หลวงพ่อยืนยันว่า มหาบพิตรมีศีลบริสุทธิ์และทรงมีบุญมาก
ในหลวง : เรื่องบุญกับกุศลนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง ตามที่รู้ผู้ทำบุญ หรือผู้มีบุญได้ผลแค่เทวดาอยู่สวรรค์ ผู้มีกุศลหรือทำกุศล มีผลให้ได้นิพพาน ถ้าอย่างนั้นที่ว่าพระราชามีบุญมากก็คงได้แค่เป็นเทวดา อยู่บนสวรรค์เท่านั้นไม่ได้นิพพาน ทำไมเราไม่พูดถึงกุศลกันมากๆ บ้าง หลวงพ่อสอนให้คนปฏิบัติธรรมตามแนวปฏิบัติของหลวงพ่อบ้างหรือเปล่า
หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาตมาภาพได้ทราบว่าที่วัดปากน้ำ วัดมหาธาตุ ก็มีสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน มหาบพิตรเคยเสด็จไปบ้างไหม
ในหลวง : ทราบ แต่ไม่เคยไป หลวงพ่อสอนอย่างไร อยากฟังบ้างและอยากได้เป็นแนวปฏิบัติเอาอย่างนี้ ได้ไหม มีเครื่องหรือเปล่า (นายชุมพลกระซิบข้าพเจ้าว่า...มีเทป)
ข้าพเจ้า : ขอถวายพระพร เครื่องเทปของวัดมี
ในหลวง : ขอให้หลวงพ่อสอนตามแนวของหลวงพ่อที่เคยสอน จะสอนอะไรก็ได้
หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มีเป็นประเภทภาษิตคติธรรมต่างๆ
ในหลวง : อะไรก็ได้ ขอให้เป็นคำสอนก็ใช้ได้
หลวงพ่อเกษม : ได้ ขอถวายพระพร
ในหลวง : ขอนมัสการลา (ทรงกราบแล้วเสด็จพระราชดำเนินถึงประตูพระอุโบสถ เสด็จกลับมาที่หลวงพ่ออีก)
แล้วตรัสว่า “หลวงพ่อจำหมอดนัยได้ไหม เคยส่งมาพยาบาลหลวงพ่อที่คราวหลวงพ่ออาพาธมาหลายปีแล้ว ผมจะให้เขานำเครื่องบันทึกมา”
หลวงพ่อเกษม : จำได้ ขอถวายพระพร
(หมายเหตุ : เจ้าคุณฯ หมายถึง เจ้าคุณพระอินทรวิชยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดคะตึกเชียงมั่น)
“สัพเพ ชนา สุชิโต โหนตุ”
หลวงพ่อเกษม เขมโก
(คัดลอกมาจาก : หนังสือหลวงพ่อเกษม เขมโก)


ขอบพระคุณพี่แมว Supani FB: https://www.facebook.com/supanimaew?fref=nf
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #6 เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2016, 06:55:01 AM »



มุมน่ารักของพระป่า!! ...

เมื่อหลวงพ่อจวน "ผิดคิว" นึกว่า พล.ต.อ.วสิษฐ เป็น "ในหลวง"!!
พระป่ากรรมฐานมักจะมีเรื่องราวขำขันเกี่ยวกับตัวท่านเองอยู่เสมอ เนื่องจากท่านใช้ชีวิตทั้งชีวิตหมดไปกับการต่อสู้กับกิเลสในใจของตนเอง
ซึ่งการต่อสู้กับกิเลสนี้จะให้ได้ผลดีก็ต้องต่อสู้อยู่ในป่าเขาถิ่นทุรกันดาร เพราะจะได้มีอุบายธรรมสำหรับทรมานกิเลสได้ดีกว่า
การคลุกคลีอยู่กับความวุ่นวายในเมือง ด้วยเหตุที่อยู่แต่ในป่าในเขานี่เอง ท่านจึงไม่ได้รู้เรื่องราวทางโลกเลย ...
และนั่นก็เป็นที่มาของเรื่องที่จะเล่าดังต่อไปนี้
ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านนาต้อง
ซึ่งอ่างเก็บน้ำแห่งนี้อยู่ใกล้กับภูทอกหรือวัดเจติยาคิรีวิหารภูทอก อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย
ซึ่งเป็นวัดหลวงที่ "หลวงพ่อจวน กุลเชฏโฐ" สร้างและจำพรรษาอยู่
ตามหมายกำหนดการของสำนักพระราชวังนั้นยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าในหลวงจะเสด็จมาที่วัดภูทอกด้วยหรือไม่
แต่ทางเจ้าหน้าที่ของจังหวัดก็เตรียมนิมนต์เชิญหลวงพ่อจวนไปนั่งในปะรำพิธีรับเสด็จด้วย ซึ่งในเรื่องนี้หลวงพ่อเห็นว่าไม่เหมาะสม
เพราะท่านทราบมาว่าในหลวงจะเสด็จมาทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำเป็นการเฉพาะ การที่ท่านจะไปนั่งอยู่ในที่เช่นนั้นอาจเกิดการเข้าใจผิดได้
ท่านจึงบอกกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ทางจังหวัดได้ส่งมานิมนต์ท่านว่า
"พระเจ้าอยู่หัวท่านไม่ทราบเรื่อง ถ้าเสด็จมา...ผ่านไป...ไม่ทราบว่าพระอะไร มานั่งทำไม อาตมาก็เสีย
พระวินัยก็มี...ไม่ให้ประจบพระราชา ท่านก็จะเสียว่าไม่เคารพพระ ... ไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น"
แต่รองผู้ว่าราชการจังหวัดก็ยืนยันกับหลวงพ่อจวนว่า
"เรื่องนี้ทางกรุงเทพฯ แจ้งยืนยันมาแล้วครับหลวงพ่อ...ว่าทรงมีพระราชประสงค์จะขอพบกับหลวงพ่อ
แต่เหตุที่ไม่สามารถเสด็จมาที่วัดภูทอกได้เพราะต้องเสด็จไปทอดพระเนตรโครงการชลประทานอีกถึงสองตำบล
เมื่อตะกี้นี้ยังมีวิทยุมาแจ้งว่า...ยังทรงถามเรื่องเครื่องไทยทานที่จะถวายหลวงพ่อว่าเรียบร้อยดีไหม?"
หลวงพ่อจวนได้ฟังคำยืนยันจากรองผู้ว่าฯ ก็สบายใจขึ้นที่ไม่ผิดพระวินัย แต่สิ่งที่หลวงพ่อพูดต่อไปก็ทำให้ทุกคนในที่นั้นต่างหัวเราะกันถ้วนหน้า ...
"แต่ว่า...อาตมาจะทราบได้อย่างไรล่ะ...ว่าคนไหนคือ ‘ในหลวง’? "
เมื่อเห็นทุกคนขำกันอย่างนั้นแล้ว หลวงพ่อจวนก็อายเล็กน้อยก่อนจะรำพึงว่า
"ก็มันไม่ทราบจริงๆ"
รองผู้ว่าฯ จึงรับปากกับหลวงพ่อจวนว่า... เอาไว้ถึงเวลาใกล้ๆ จะเสด็จ จะมากระซิบบอกหลวงพ่อเอง
"... แต่หลวงพ่อก็จำง่ายๆ ว่า คนที่ใส่เครื่องแบบเต็มยศ ในมือถือวิทยุสื่อสาร แล้วเดินนำหน้าสุด คนนั้นนั่นแหละคือ...ในหลวง!!"

เมื่อถึงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จจริงๆ หลวงพ่อจวนก็นั่งเป็นพระประธานในปะรำพิธี แต่ทั้งๆ
ที่มีการตระเตรียมเตี๊ยมกับเจ้าหน้าที่ของจังหวัดเป็นอย่างดี ก็มีรายการ "ผิดคิว" เกิดขึ้นจนได้ ...
นั่นก็คือ ในขณะรับเสด็จ รองผู้ว่าฯ คนนั้นดันไปวุ่นวายอยู่กับการรับเสด็จ จนลืมบทที่จะต้องมากระซิบบอกหลวงพ่อจวนให้รู้ว่าคนไหนคือ
"ในหลวง"!!
ในงานตอนนั้น ถ้าใครสังเกตดีๆ จะเห็นว่า หลวงพ่อจวนท่านสะดุ้งโหยง...เมื่อในหลวงทรงกราบนมัสการท่านแทบตัก!! ...
และทรงมีพระราชปฏิสันถารสนทนาธรรมกับท่านอยู่เป็นเวลานาน
ต่อมาหลังจากผ่านพ้นการรับเสด็จไปแล้ว ลูกศิษย์ที่สังเกตเห็นหลวงพ่อจวนสะดุ้งโหยงตอนในหลวงทรงกราบนมัสการก็มาถามกับท่านในเรื่องนี้
ท่านจึงเล่าให้ฟังว่า
"ก็รองผู้ว่าฯ ไม่ได้มาบอกเราเลยว่าคนไหนคือในหลวง เราก็สังเกตตามที่รู้มาว่า ในหลวงคือคนที่แต่งเครื่องแบบ
ในมือถือวิทยุสื่อสาร เดินนำหน้าสุด เราก็มองตามคนคนนั้นไป...เห็นคนคนนั้นเดินผ่านเราไปเลย...
ก็เลยประหลาดใจเมื่อมีคนมากราบที่หน้าตัก!!"
ความจริงแล้ว คนที่แต่งเครื่องแบบเต็มยศ มือถือวิทยุสื่อสาร เดินนำหน้าสุด นั้นก็คือ "พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร"!!
เมื่อลูกศิษย์ได้ฟังคำตอบจากหลวงพ่อจวนก็ขำกันใหญ่ ... ท่านจึงพูดอย่างอารมณ์ดีว่า
"ก็เรานึกว่า...ท่านจะแต่งเครื่องแบบ"!!!
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: