
ระยะนั้นเป็นพรรษาที่ ๑๖ ในชีวิตการบวชของท่านและเป็นปีที่ ๙ แห่งการออกปฏิบัติกรรมฐาน
บนเขาลูกนี้ของคืนเดือนดับแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล ตรงกับวันจันทร์ที่๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓
ด้วยความอดทนพากเพียรพยายามติดต่อสืบเนื่องตลอดมานับแต่เริ่มออกปฏิบัติอย่างเต็มเหนี่ยวรวมเวลาถึง ๙ ปีเต็ม คืนแห่งความสำเร็จระหว่างกิเลสกับธรรมภายในใจของท่านก็สามารถตัดสินกันลงได้ในเวลา ๕ ทุ่มตรง ดังนี
“…ก็พิจารณาจิตอันเดียว ไม่ได้กว้างขวางอะไร เพราะสิ่งต่างๆ ที่เป็นส่วนหยาบมันรู้หมด รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั่วโลกธาตุมันรู้หมดเข้าใจหมดและปล่อยวางหมดแล้ว มันไม่สนใจพิจารณาแม้แต่รูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ยังไม่ยอมสนใจพิจารณาเลยมันสนใจอยู่เฉพาะความรู้ที่เด่นดวงกับเวทนาส่วนละเอียดภายในจิตเท่านั้น สติปัญญาสัมผัสสัมพันธ์อยู่กับอันนี้ พิจารณาไปพิจารณามา แต่ก็พึงทราบว่าจุดที่ว่านี้มันยังเป็นสมมุติมันจะสง่าผ่าเผยขนาดไหนก็สง่าผ่าเผยอยู่ในวงสมมุติ จะสว่างกระจ่างแจ้งขนาดไหนก็สว่างกระจ่างแจ้งอยู่ในวงสมมุติ เพราะอวิชชายังมีอยู่ในนั้นอวิชชา นั้นแลคือ ตัวสมมุติ จุดแห่งความเด่นดวงนั้นก็แสดงอาการลุ่มๆ ดอนๆตามขั้นแห่งความละเอียดของจิตให้เราเห็นจนได้ บางทีก็มีลักษณะเศร้าหมองบ้างผ่องใสบ้าง ทุกข์บ้างสุขบ้าง ตามขั้นละเอียดของจิตภูมินี้ให้ปรากฏพอจับพิรุธได้อยู่นั่นแล
สติปัญญาขั้นนี้เป็นองครักษ์รักษาจิตดวงนี้อย่างเข้มงวด
กวดขัน แทนที่มันจะจ่อกระบอกปืนคือสติปัญญาเข้ามาที่นี่ มันไม่จ่อ มันส่งไปที่อวิชชาหลอกไปโน้นจนได้
อวิชชานี้แหลมคมมาก ไม่มีอะไรแหลมคมมากยิ่งกว่าอวิชชาซึ่งเป็นจุดสุดท้ายว่า ความโลภมันก็หยาบๆ
พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย แต่โลกยังพอใจกันโลภ คิดดูซิ
ความโกรธก็หยาบๆ โลกยังพอใจโกรธ ความหลง ความรัก ความชัง ความเกลียด ความโกรธอะไร เป็นขอหยาบๆ พอเข้าใจและเห็นโทษได้ง่าย โลกยังพอใจกัน อันนี้ไม่ใช่สิ่งเหล่านั้น มันเลยมาหมปล่อยมาได้หมด แต่ทำไมมันยังมาติดความสว่างไสว ความอัศจรรย์อันนี้ ทีนี้ อันนี้เมื่อมันมีอยู่ภายในนี้ มันจะแสดงความอับเฉาขึ้นมานิดๆ แสดงความทุกข์ขึ้นมานิดๆ ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน ไม่คงเส้นคงวาให้จับได้ด้วยสติปัญญาที่จดจ่อต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลาไม่ลดละความพยายามอยากรู้อยากเห็นความเป็นต่างๆ ของจิตดวงนี้ สุดท้ายก็หนีไม่พ้น ต้องรู้กันจนได้ว่า จิตดวงนี้ไม่เป็นที่แน่ใจตายใจได้ จึงเกิดความรำพึงขึ้นมาว่า
‘จิตดวงเดียวนี้ ทำไมจึงเป็นไปได้หลายอย่างนักนะ เดี๋ยวเป็นความเศร้าหมอง
เดี๋ยวเป็นความผ่องใส เดี๋ยวเป็นสุข เดี๋ยวเป็นทุกข์ไม่คงที่ดีงามอยู่ได้ตลอดไปทำไจิตละเอียดถึงขนาดนี้แล้ว
จึงยังแสดงอาการต่างๆ อยู่ได้’
พอสติปัญญาเริ่มหันความสนใจเข้ามาพิจารณาจิตดวงนี้ ความรู้ชนิดหนึ่งที่ไม่คาดไม่ฝันก็ผุดขึ้นมาภายในใจว่า
‘ความเศร้าหมองก็ดี ความผ่องใสก็ดีความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี เหล่านี้เป็นสมมุติทั้งสิ้น และเป็นอนัตตาทั้งมวลนะ’
เท่านั้นแล สติปัญญาก็หยั่งทราบจิตที่ถูก อวิชชาครอบงำอยู่นั้นว่า เป็นสมมุติที่ควรปล่อยวางโดยถ่ายเดียว
ไม่ควรยึดถือเอาไว้หลังจากความรู้ที่ผุดขึ้นบอกเตือนสติปัญญาผู้ทำหน้าที่ตรวจตราอยู่ขณะนั้นผ่านไปครู่เดียว
จิตและสติปัญญาเป็นราวกับว่าต่างวางตัวเป็นอุเบกขามัธยัสถ์ ไม่กระเพื่อมตัวทำหน้าที่ใดๆ ในขณะนั้นจิตเป็นกลางๆ
ไม่จดจ่อกับอะไร ไม่เผลอส่งใจไปไหน ปัญญาก็ไม่ทำงาน สติก็รู้อยู่ธรรมดาของตนไม่จดจ่อกับสิ่งใด
ขณะจิต สติ ปัญญา ทั้งสามเป็นอุเบกขามัธยัสถ์นั้นแล เป็นขณะที่โลกธาตุภายในจิตอันมีอวิชชาเป็นผู้เรืองอำนาจได้กระเทือน
และขาดสะบั้นบรรลัยลงจากบัลลังก์คือใจ กลายเป็น วิสุทธิจิต ขึ้นมาแทนที่ ในขณะเดียวกัน
กับอวิชชาขาดสะบั้นหั่นแหลกแตกกระจายหายซากลงไปด้วยอำนาจสติปัญญาที่เกรียงไกรขณะที่ฟ้าดินถล่มโลกธาตุหวั่นไหว(โลกธาตุภายใน) แสดงมหัศจรรย์บั้นสุดท้ายปลายแดนระหว่างสมมุติกับวิมุตติตัดสินความบนศาล
สถิตยุติธรรม โดยวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผู้ตัดสินคู่ความ โดยฝ่ายมัชฌิมาปฏิปทา
มรรคอริยสัจเป็นฝ่ายชนะโดยสิ้นเชิง ฝ่ายสมุทัยอริยสัจเป็นฝ่ายแพ้น็อคแบบหามลงเปล ไม่มีทางฟื้นตัวตลอดอนันตกาลสิ้นสุดลงแล้ว
เจ้าตัวเกิดความอัศจรรย์ล้นโลก อุทานออกมาว่า
‘โอ้โหๆ .. อัศจรรย์หนอๆ แต่ก่อนธรรมนี้อยู่ที่ไหนๆ มาบัดนี้ธรรมแท้ ธรรมอัศจรรย์เกินคาดเกินโลก
มาเป็นอยู่ที่จิตและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจิตได้อย่างไร..
และแต่ก่อนพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์สาวกอยู่ที่ไหน?
มาบัดนี้องค์สรณะที่แสนอัศจรรย์มาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิตดวงนี้ได้อย่างไร..
โอ้โห! ธรรมะแท้ พุทธะแท้ สังฆะแท้เป็นอย่างนี้ละหรือ’...”
จากหนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์หน้า ๒๕๙