KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับรวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Galleryวีดิโอ เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม และสื่อธรรมะ หลักการปฏิบัติต่างๆพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน [MV]
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน [MV]  (อ่าน 25685 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: พฤษภาคม 09, 2012, 04:42:12 PM »

<a href="http://www.youtube.com/watch?v=Dn--rtoepJA&amp;feature=related" target="_blank" class="new_win">http://www.youtube.com/watch?v=Dn--rtoepJA&amp;feature=related</a>



พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน [MV]
อนุโมทนาสาธุ _/\_ _/\_ _/\_
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 09, 2012, 04:58:43 PM โดย golfreeze » บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 09, 2012, 05:22:46 PM »




"พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน"



      พุทธโอวาทก่อนปรินิพพานนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานแก่พระอานนท์ ผู้เป็นพระอุปัฏฐากและพระภิกษุคราที่ทรงปรงพระชนมายุสังขารออกเดินทางด้วยพระบาทเปล่า จากปาวาลเจดีย์ไปยังกรุงกุสินาราสถานที่ปรินิพพานตลอดพระชนมชีพ พระพุทธเจ้าหาได้ทรงท้อแท้หรือเหน็ดเหนื่อยต่อการเผยแพร่ธรรมไม่ยังทรงประกาศพระธรรมอันประเสริฐที่ทรงค้นพบด้วยพระองค์เอง แก่พุทธบริษัท 4ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ คราเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงปาวาลเจดีย์ ได้ประทับอยู่ใต้ต้นไม้ที่มีเงาครึ้มต้นหนึ่ง โดยมีพระอานนท์หมอบลงที่พระบาทมูลแล้วทูลว่า

      “ ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ขอพระองค์อาศัยความกรุณาแก่ข้าและหมู่สัตว์จงดำรงพระชนมชีพต่อไปอีกเถิดอย่าเพิ่งด่วนปรินิพพานเลย ”กราบทูลเท่านี้แล้วพระอานนท์ก็ไม่ทูลอะไรต่อไปอีกเพราะโศกาดูรท่วมท้นหทัย“

      อานนท์เอ๋ย ” พระศาสดาตรัสพร้อมทอดทัศนาการไปเบื้องหน้าอย่างสุดไกลลีลาอันเด็ดเดี่ยวฉายออกมาทางพระเนตรและพระพักตร์ “เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจตถาคตจะต้องปรินิพพานในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ อีกสามเดือนข้างหน้านี้ อานนท์เราได้แสดงนิมิตโอภาสอย่างแจ่มแจ้งแก่เธอพอเป็นนัยมาไม่น้อยกว่า 16 ครั้งแล้วว่าคนอย่างเรานี้มีอิทธิบาทภาวนาที่ได้อบรมมาด้วยดีถ้าประสงค์จะอยู่ถึงหนึ่งกัปป์หรือมากกว่านั้นก็พออยู่ได้ แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ได้ทูลอะไรเราเลยเราตั้งใจไว้ว่าในคราวก่อนๆนั้นถ้าเธอทูลให้เราอยู่ต่อไปเราจะห้ามเสียสองครั้งพอเธอทูลครั้งที่สามเราจะรับอาราธนาของเธอแต่บัดนี้ช้าเสียแล้ว เรามิอาจกลับใจได้อีก”

      “ อานนท์เอ๋ย ” บัดนี้สังขารอันเป็นเหมือนเกวียนชำรุดนี้เราได้สละแล้วเรื่องที่จะดึงกลับมาอีกครั้งหนึ่งนั้นไม่ใช่วิสัยแห่งตถาคต....บุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พึงใจเป็นธรรมดาหลีกเลี่ยงไม่ได้ อานนท์เอ๋ย ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุดสิ่งทั้งหลายมีความแตกดับไปสลายไปเป็นธรรมดาจะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นนั้นเป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปเคลื่อนไปสู่จุดสลายตัวทุกขณะ ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศีลเป็นพื้นฐานที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ประหนึ่งแผ่นดินเป็นสิ่งที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลาย เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์มหาสิงขรและสัตว์จตุบททวิบาทนานาชนิด บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบายมีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาดเช็ดถูเรียบร้อย ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ศีลนี้เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ คือ ความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้นเป็นสมาธิที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบ เหมือนเรือนที่มีฝาผนังมีประตูหน้าต่างปิดเปิดเรียบร้อย มีหลังคาป้องกันลม แดดและฝน ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ ฝนตกก็ไม่เปียกแดดออกก็ไม่ร้อนฉันใด บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิก็ฉันนั้น ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวายเมื่อลม แดดและฝนกล่าวคือโลกธรรมแผดเผา กระพือพัดซัดสาดเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่าสมาธิอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญญาในการฟาดฟันย่ำยี และเชือดเฉือนกิเลสอาสวะให้เบาบางและหมดสิ้นไป ”

      “ อันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสอยู่โดยปกติ แต่เศร้าหมองไปเพราะคลุกเคล้าด้วยกิเลสนานาชนิด ศีลสมาธิและปัญญา เป็นเครื่องฟอกจิตให้ขาวสะอาดดังเดิม จิตที่ฟอกด้วยศีล สมาธิและปัญญาย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์ 8 ประเสริฐที่สุด บรรดาบททั้งหลายบท 4 คืออริยสัจประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะ คือ การปราศจากความกำหนัดยินดี ประเสริฐที่สุดบรรดาสัตว์สองเท้า พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด มรรคมีองค์ 8นี่แลเป็นไปเพื่อทัศนะอันบริสุทธิ์ หาใช่ทางอื่นไม่ เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมรรคมีองค์ 8 นี้อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามมิได้ เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติเพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไปตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น เมื่อปฏิบัติดังนี้พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร"

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฐิ คือความยึดมั่นเรื่องของตนเสีย ด้วยประการฉะนี้เธอจะเบาสบายคลายทุกข์คลายกังวลไม่มีความสุขใดยิ่งกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบ ความสุขชนิดนี้สามารถหาได้ด้วยตัวเรานี้เองตราบใดที่มนุษย์ยังวิ่งวุ่นแสวงหาความสุขจากที่อื่น เขาจะไม่พบความสุขที่แท้จริงเลยมนุษย์ได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆขึ้นไว้เพื่อให้ตัวเองวิ่งตามแต่ก็ตามไม่เคยทันการแสวงหาความสุขโดยปล่อยใจให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ปรารถนานั้นเป็นการลงทุนที่มีผลไม่คุ้มเหนื่อยเหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึงใหญ่เพื่อต้องการปลาเล็ก ๆ เพียงตัวเดียวมนุษย์ส่วนใหญ่มัววุ่นวายอยู่กับเรื่องกาม เรื่องกินและเรื่องเกียรติ จนลืมนึกถึงสิ่งหนึ่งซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้ทุกเวลา สิ่งนั้นคือดวงจิตที่ผ่องแผ่ว เรื่องกามเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรนเรื่องกินเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา เรื่องเกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้ภาระที่ต้องแบกเกียรติเป็นเรื่องที่ใหญ่ยิ่งของมนุษย์ผู้หลงตนว่าเจริญแล้วในหมู่ชนที่เพ่งแต่ความเจริญทางด้านวัตถุนั้น จิตใจของเขาเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลาไม่เคยประสบความสงบเย็นเลย เขายินดีที่จะมอบตัวให้จมอยู่ในคาวของโลกอย่างหลับหูหลับตาเขาพากันบ่นว่าหนักและเหน็ดเหนื่อย พร้อมๆกันนั้นเขาได้แบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนแห่งชีวิตอย่างไม่รู้จักวาง”

      “ ภายในอาคารมหึมาประดุจปราสาทแห่งกษัตริย์ มีลมพัดเย็นสบายแต่สถานที่เหล่านั้นมักบรรจุไปด้วยคนที่มีจิตใจเร่าร้อนเป็นไฟอยู่เป็นอันมากภาวะอย่างนั้นจะมีความสุขสู้ผู้มีใจสงบที่อยู่โคนไม้ได้อย่างไร ”

      “ ความสุขนั้นอยู่ที่ความรู้สึกทางใจเป็นสำคัญ อย่างพวกเธออยู่ที่นี่มีแต่ความพอใจแม้กระท่อมจะมุงด้วยใบไม้ ก็มีความสุขกว่าอยู่ในพระราชฐานอันโอ่อ่าแน่นอนทีเดียวคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนี้มิใช่คนใหญ่คนโต แต่เป็นคนที่รู้สึกว่าชีวิตของตนมีความสุขสงบเยือกเย็น ปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภและยศนั้นเป็นเหยื่อของโลกที่น้อยคนนักจะสละละวางได้ จึงแย่งลาภและยศกันอยู่เสมอเหมือนปลาที่แย่งเหยื่อกันกิน แต่หารู้ไม่ว่าเหยื่อนั้นมีเบ็ดเกี่ยวอยู่ด้วยหรือเหมือนไก่ที่แย่งไส้เดือนกัน จิกตีกัน ทำลายกันจนพินาศกันทั้งสองฝ่าย น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนักถ้ามนุษย์ในโลกนี้ลดความโลภลง มีการเผื่อแผ่เจือจานโอบอ้อมอารี ถ้าเขาลดโทสะลง มีความเห็นอกเห็นใจกันมีเมตตากรุณาต่อกัน และลดโมหะลง ไม่หลงงมงาย ใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหาและดำเนินชีวิตโลกนี้จะน่าอยู่อีกมาก แต่ช่างเขาเถิดหน้าที่โดยตรงและเร่งด่วนของเธอ คือ ลดความโลภความโกรธและความหลงของเธอเองให้น้อยลง แล้วจะประสบความสุขเยือกเย็นขึ้นมาก เหมือนคนลดไข้ได้มากเท่าใดความสบายกายก็มีมากขึ้นเท่านั้น ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ยิ่งเจริญก็ดูเหมือนจะมีเสรีภาพน้อยลงทั้งทางกายและทางใจดูแล้วความสะดวกสบายและเสรีภาพของมนุษย์ยังสู้สัตว์เดรัจฉานบางประเภทไม่ได้ที่มันมีเสรีภาพที่จะทำอะไรตามใจชอบอยู่เสมอ ดูอย่างเช่น ฝูงวิหกนกกา มนุษย์เราเจริญกว่าสัตว์ตามที่มนุษย์เราเองชอบพูดกันแต่ดูเหมือนพวกเราจะมีความสุขน้อยกว่าสัตว์ ภาระใหญ่จะที่ต้องแบกไว้ คือ เรื่องกาม เรื่องกินและเรื่องเกียรติ สัตว์เดรัจฉานตัดไปได้อย่างหนึ่งคือเรื่องเกียรติ คงเหลือแต่เรื่องกามและเรื่องกินนักพรตอย่างพวกเธอนี้ตัดไปได้อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องกาม คงเหลือแต่เรื่องกินอย่างเดียวแต่การกินอย่างนักพรตกับการกินของผู้บริโภคกามก็ดูเหมือนจะบริโภคแตกต่างกันอยู่ผู้บริโภคกามและยังหนาแน่นอยู่ด้วยโลกียวิสัย บริโภคเพื่อยุกามให้กำเริบจะต้องกินให้มีเกียรติกินให้สมเกียรติ มิได้กินเพียงเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้อย่างสมณะความจริงร่างกายคนเราไม่ได้ต้องการอาหารอะไรมากนัก เมื่อหิวก็ต้องการอาหารบำบัดความหิวเท่านั้นแต่เมื่อมีเกียรติเข้ามาบวกด้วย จึงกลายเป็นเรื่องกินอย่างเกียรติยศ และแล้วก็มีภาระตามมาอย่างหนักหน่วงคนจำนวนมากเบื่อเรื่องนี้แต่จำเป็นต้องทำ เหมือนโคหรือควายซึ่งเหนื่อยหน่ายต่อแอกและไถแต่จำใจต้องลากมันไป อนิจจา ”

------------------------------------------

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เครื่องจองจำที่ทำด้วยเชือก เหล็กหรือโซ่ตรวนใดๆเราไม่กล่าวว่าเป็นเครื่องจองจำที่แข็งแรงทนทานเลย แต่เครื่องจองจำ คือ บุตรภรรยาและทรัพย์สมบัตินี่แลตรึงมัดรัดผูกสัตว์ให้ติดอยู่ในภพอันไม่มีที่สิ้นสุด เครื่องผูกที่ผูกหย่อนๆคือ บุตร ภรรยาและทรัพย์สมบัตินี่เอง รูป เสียง กลิ่น รสและโผฏฐัพพะเป็นเหยื่อของโลกเมื่อบุคคลยังติดอยู่ในรูปเป็นต้นนั้น เขาจะพ้นจากโลกมิได้เลย ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กลิ่นดอกไม้กลิ่นจันทน์ไม่สามารถหอมหวนทวนลมได้แต่กลิ่นแห่งเกียรติคุณความดีงามของสัตบุรุษนั้นแล สามารถจะหอมไปได้ทั้งตามลมและทวนลมคนดีย่อมมีเกียรติคุณฟุ้งขจรไปได้ทั่วทุกทิศ กลิ่นจันทน์แดง กลิ่นอุบล กลิ่นดอกมะลิจัดว่าเป็นดอกไม้กลิ่นหอม แต่ยังสู้กลิ่นศีลไม่ได้ กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่ากลิ่นทั้งมวลถ้าภิกษุหวังจะให้เป็นที่รักที่เคารพ เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีแล้วพึงเป็นผู้ทำตนให้สมบูรณ์ด้วยศีลเถิด ”

      “ สัตว์โลกเมื่อเกิดมาย่อมนำความทุกข์ติดตัวมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออกความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติของจิตเป็นสิ่งดิ้นรนกลับกลอกง่าย บางคราวปรากฏเหมือนช้างตกมันพวกเธอจงเอาสติเป็นขอเหนียวรั้งช้าง คือจิตที่ดิ้นรนนี้ให้อยู่ในอำนาจบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดและควรแก่การสรรเสริญนั้นคือผู้ที่สามารถเอาชนะตนของตนเองไว้ในอำนาจได้สามารถเอาชนะตนเองได้ ผู้ชนะตนได้ชื่อว่าเป็นยอดนักรบในสงคราม เธอทั้งหลายจงเป็นยอดนักรบในสงครามเถิดอย่าเป็นผู้แพ้เลย ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้สูงกว่าก็เพราะความกลัวอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้เสมอกันเพราะเห็นว่าพอสู้กันได้แต่ผู้ใดอดทนต่อคำล่วงเกินของผู้ซึ่งด้อยกว่าตนได้ เราเรียกความอดทนนั้นว่าสูงสุด ผู้มีความอดทน มีเมตตาย่อมเป็นผู้มีลาภ มียศ อยู่เป็นสุข เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อลืมตาขึ้นดูโลกเป็นครั้งแรกเราก็ร้องไห้พร้อมกำมือไว้แน่นเป็นสัญลักษณ์ว่าเกิดมาเพื่อจะหน่วงเหนี่ยวยึดถือ แต่เมื่อจะหลับตาลาโลกนั้นทุกคนแบมือออกเหมือนจะเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังสำนึกและเป็นพยานว่าเขามิได้เอาอะไรไปด้วยเลย ”

      “ เมื่อหัวใจยึดไว้ด้วยความรัก หัวใจนั้นจะสร้างความหวังขึ้นอย่างเจิดจ้า แต่ทุกครั้งที่เราหวังความผิดหวังก็จะรอเราอยู่ ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาว่าไม้จันทน์แม้จะแห้งก็ไม่ทิ้งกลิ่น อัศวินก้าวลงสู่สนามก็ไม่ทิ้งลีลาอ้อยแม้เข้าสู่เครื่องยนต์แล้วก็ไม่ทิ้งรสหวาน บัณฑิตแม้ประสบความทุกข์ก็ไม่ทิ้งธรรม ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตระหนี่ลาภเป็นความโง่เขลา เหมือนชาวนาที่ตระหนี่ไม่ยอมหว่านพันธุ์ข้าวลงในนาข้าวเปลือกที่หว่านลงแล้วหนึ่งเมล็ดย่อมให้ผลหนึ่งรวงฉันใด ทานที่บุคคลทำแล้วก็ฉันนั้นย่อมมีผลมากผลไพศาล คนดีมีทรัพย์แล้วย่อมบำรุงมารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ให้เป็นสุขบำรุงสมณะพรหมาจารย์ให้เป็นสุข เปรียบเสมือนสระโบกขรณีอันอยู่ไม่ไกลจากบ้านหรือนิคม มีท่าลงเรียบร้อยสะอาดเยือกเย็น น่ารื่นรมย์ มหาชนย่อมได้อาศัย นำไปอาบดื่มและใช้สอยตามต้องการโภคทรัพย์ของคนดีย่อมเป็นดังนี้ หาอยู่โดยเปล่าประโยชน์ไม่ ”

      “ การเสียสละนั้น คือการได้มาซึ่งผลอันเลิศในบั้นปลาย ผู้ไม่ยอมเสียสละอะไรย่อมไม่ได้อะไร จงดูเถิดมนุษย์ทั้งหลายรดน้ำต้นไม้ที่โคนแต่ต้นไม้นั้นย่อมให้ผลที่ปลาย ”

      “ บุคคลไม่ควรประมาทว่าบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผลหยาดน้ำที่ไหลลงทีละหยดยังทำให้แม่น้ำเต็มได้ฉันใด การสั่งสมบุญหรือบาปเพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้นผู้สั่งสมบุญย่อมเปี่ยมล้นไปด้วยบุญ ผู้สั่งสมบาปย่อมเพียบแปล้ไปด้วยบาป ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันร่างกายนี้สะสมแต่ของสกปรกโสโครก มีสิ่งปฏิกูลไหลออกจากทวารทั้งเก้ามีช่องหูช่องจมูก เป็นต้น เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็กสัตว์น้อย เป็นป่าช้าแห่งซากสัตว์นานาชนิด เป็นรังแห่งโรคเป็นที่เก็บโรค อุปมาเหมือนถุงหนังซึ่งบรรจุเอาสิ่งโสโครกต่างๆเข้าไว้แล้วซึมออกมาเสมอๆเจ้าของกายจึงต้องชำระล้าง ขัดถูวันละหลายๆครั้ง เมื่อเว้นจากการชำระล้างแม้เพียงวันเดียวหรือสองวันกลิ่นเหม็นก็ปรากฏเป็นที่น่ารังเกียจ เป็นของน่าขยะแขยง ”

      “ ดูกรอานนท์ บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาล คือ เมื่อนางสุชาดาถวายเราก่อนตรัสรู้ครั้งหนึ่งและอีกครั้งหนึ่งที่จุนทะถวายนี้ ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาแล้วตถาคตก็ถึงซึ่งกิเลสนิพพานครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรนายช่างทอง แล้วเราก็นิพพานด้วยขันธ-นิพพาน คือ ดับขันธ์อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่ ถ้าใครๆจะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ถ้าจุนทะพึงจะเดือดร้อนใจ เธอพึงกล่าวปลอบให้เขาหายกังวลใจเสียอาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา ”

      “ อานนท์เอ๋ย พึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าธรรมวินัยอันใดที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้วขอให้ธรรมวินัยอันนั้นจงเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเราต่อไป ”

      “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่าสิ่งทั้งปวงมีเสื่อมและสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด ”

      ย่างเข้าปัจฉิมยาม ณ ใต้ต้นสาละคู่แห่งกุสินารานครมีพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงปรินิพพานอยู่ในที่นั้นและพรั่งพร้อมด้วยพุทธบริษัทเนืองแน่นเป็นปริมณฑลทอดไกลสุดสายตา พระธรรมที่พระองค์ทรงพร่ำสอนมาตลอดพระชนมชีพว่าสัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็นที่สุดนั้น เป็นสัจธรรมที่ไม่ยกเว้นแม้แต่พระองค์เอง
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3605


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 16, 2012, 09:51:44 AM »

ผมชอบมากเลยครับ ขอบคุณครับ

ผมก็อ่านแล้วปิติเหมือนกันครับ เลยได้พิมพ์แจกเหมือนกัน
เตือนสติให้รีบปฏิบัติภาวนา ได้ดีเหมือนกัน
สาธุครับผม
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ขายโรงงานสมุทรสาคร
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: