KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับรวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Galleryบทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะอาหารใจ พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: อาหารใจ พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)  (อ่าน 5835 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: เมษายน 08, 2011, 06:25:46 PM »



อาหารใจ  พระราชชัยกวี (ภิกขุ พุทธทาส อินทปัญโญ)

สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี


              ความอิ่มเอิบด้วยอารมณ์ ทางรู้ เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั้น เป็นอาหารฝ่ายโลก ส่วนความอิ่มเอิบด้วยปีติปราโมทย์ อันเกิดจาก ความที่ใจสงบ จากอารมณ์รบกวนนั้น เป็นอาหารฝ่ายธรรม อุดมคติของชีวิต คือ ความถึงที่สุดแห่งอารยธรรม ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม ถ้ามีเพียงอย่างเดียวชีวิตนั้น ก็มีความเป็นมนุษย์เพียงครึ่งเดียว หรือซีกเดียว การหาความสำราญให้แก่กายของเรา ได้ไม่สู้ยากนัก แต่หาความสำราญให้แก่ใจนั้น...ยากเหลือเกิน ความสำราญฝ่ายกายนั้นเห็นได้ง่าย รู้จักง่าย ความสำราญฝ่ายใจนั้นตรงกันข้ามทุกอย่าง แม้อย่างนั้นก็ไม่มีใครเชื่อเช่นนี้กี่คนนักเพราะเขาเชื่อว่า เมื่อกายสำราญแล้ว...ใจก็สำราญเอง ไม่มีความสำราญที่ไหนอีก

              พวกที่นิยมความสำราญกาย ในทางโลกกล่าวว่า “ใจอยู่ในกาย” แต่พวกที่นิยมความสำราญในทางธรรมกล่าวว่า “กายอยู่ในใจ” พวกแรกรู้จักโลกเพียงซีกเดียว พวกหลัง อยู่ในโลกนานพอจนรู้โลกทั้งสองซีก ขณะเมื่อพวกที่สำราญกาย กำลังปรนเปรอให้เหยื่อ แก่ความหิวของเขา อย่างเต็มที่อยู่นั้น พวกที่ชอบสำราญใจ กำลังเอาชนะความหิวของเขาได้ ด้วยการบังคับอินทรีย์ จนมันดับสนิท สงบเย็น อยู่ภายใต้อำนาจของเขาเอง

             พวกแรก เข้าใจเอาคุณภาพของการให้ “สิ่งสนองความอยาก” แก่ความหิวของตน ว่าเป็นความสำราญ พวกหลัง เอาคุณภาพของการที่ยิ่งไม่ต้องให้ “สิ่งสนองความอยาก” เท่าใดยิ่งดี ว่าเป็นความสำราญ พวกหนึ่งยิ่งแพ้ตัณหามากเท่าใดยิ่งดี อีกพวกหนึ่ง ยิ่งชนะตัณหามากเท่าใดยิ่งดี พวกที่ชอบสำราญกาย ย่อมพ่ายแพ้ตัณหาอยู่เองแล้ว โดยไม่รู้สึกตัว เขาทำเอง และชักชวนลูกหลาน ให้หาความสำราญกายอย่างเดียว เพราะไม่รู้จักสิ่งอื่นนอกจากนั้น

             พวกที่ตั้งหน้าแต่จะหาอะไรมาให้ได้ ตามที่ตนอยากนั้น ครั้นได้เครื่องสำราญกายมา ใจก็ยังไม่สงบสุข เพราะมันยังอยากได้ ของแปลก ของใหม่อยู่เสมอไป คือได้เพียงความสำราญกายชั่วแล่น เหมือนกินข้าวมื้อหนึ่ง ก็สงบความหิวไปได้ชั่วมื้อหนึ่ง พวกที่หลงความสำราญกาย เมื่อมีหม่นหมองใจเกิดขึ้น ก็มีแต่ซัดเอาว่า ตนเป็นคนมีกรรม หรือโชคร้าย ไม่เหมือนคนอื่นเขา ก็น้อยใจโชคตัวเองอย่างหาที่เปรียบมิได้ เมื่อยังไม่แสวงหาโชคโดยทางใด ก็ไม่ได้เสียแล้ว ก็เหมาเห็นไปว่า ในโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม มีความดุร้าย คนที่ปล่อยตัวให้ใจหม่นหมองไป เพราะมัวเมาวัตถุ ในที่สุดก็ต้องมอบตัวให้แก่ธรรมชาติฝ่ายต่ำ ประกอบกรรมชนิดที่ โลกไม่พึงปรารถนา ต่อสู้สิ่งที่ตนเรียกว่าโชคชะตาไปเรื่อย ๆ อย่างดีที่สุดที่คนพวกนี้จะทำได้ ก็เพียงแต่ เป็นผู้ทนระทมทุกข์อยู่ ด้วยการแช่งด่าโชคชะตาของตนเองเท่านั้น

             ในสโมสรหรือสมาคม ของพวกที่แสวงกันแต่ความชำราญทางกาย ซึ่งกำลังร่าเริงกันอยู่นั้น พวกเทพยดาย่อมรู้ดีว่า เป็นการเล่นละครย้อมสีหน้าก็มี หลงละเมอทำ ๆ ไป ทั้งที่ตัวเองหลอกตัวเองให้เห็นว่าเก๋ ว่าสุขก็มาก บางคน ต้องร้องไห้ และหัวเราะ สลับกันทุกวัน ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง จิตใจฟูขึ้นและเหี่ยวห่อลง ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามที่กระเป๋าพองขึ้นหรือยุบลง หรือตามแต่จะได้เหยื่อที่ถูกใจ และไม่ถูกใจ ใจของพวกนี้ ยังเหลืออยู่นิดเดียวเสมอ เท่าที่เขารู้สึก จึงทำให้เขาเข้าใจว่า “ใจอยู่ในกาย” คือแล้วแต่กายหรือสำคัญอยู่ที่กาย เพราะต้อง ต่อเมื่อเขาได้รับความสำราญกายเต็มที่แล้วต่างหาก ใจของเขาจึงจะเป็นอย่างที่เขาถือว่า “เป็นสุข” แม้บางคราว คนพวกนี้จะเอ่ยถึงความสำราญใจกันบ้าน ก็เพียงการหลงตู่เอาความสำราญฝ่ายกายขึ้นมาทดแทนเท่านั้น

             คำว่า “สำราญใจ” ของเขา เป็นคนละอย่างจากความสำราญในฝ่ายใจอันแท้จริง จะสำราญได้อย่างไร ในเมื่อถูกทำให้พองขึ้น ยุบลง พองขึ้น ยุบลง อยู่เสมอ ความพองขึ้นก็ตาม ยุบลงก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งทรมานใจให้เหน็ดเหนื่อยเท่ากัน เพียงแต่เป็นรูปร่างที่ต่างกันเท่านั้น สำหรับผู้นิยมทางฝ่ายสำราญกายนั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ และหาความเพลิดเพลิน ทำใจให้พองเบ่งเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกสบประมาท และหาความเพลินมิได้ ทำให้ใจยุบเหี่ยว แต่ทั้งสองอย่างนี้ทำความหวั่นไหวโยกโคลง หนักอกหนักใจให้แก่จิตใจเท่ากัน เมื่อเขาได้สมอยาก เขาก็ได้ความหวั่นไหว เมื่อไม่ได้ ก็ได้ความหวั่นไหว เมื่อมืดมนหนักเข้าก็แน่ใจลงไม่เสียว่า ความอร่อย หรือขณะที่อร่อยนั้นแหละ เป็น “นิพพาน” ของชีวิต แต่ที่จริง เขาผู้นั้นยังไม่ได้ถอยห่างออกมาจากกองทุกข์แม้แต่นิดเดียว มันเป็นเพียงความสำคัญผิดที่จะมัดตรึงตัวเอง ให้ติดจมอยู่กับบ่อโคลนนั่นตลอดเวลาเท่านั้น ผู้ที่มีดวงตาแห่งปัญญา จงพิจารณาสืบไปเถิดว่า ความสำราญทางฝ่ายโลก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าฝ่ายกาย หรือวัตถุนั้น คือ อะไร? เมื่อได้หมกมุ่นมัวแต่จะแสวงอาหารให้แก่กายท่าเดียวแล้วจะเป็นอย่างๆ? ถ้ารู้จักความสุขเฉพาะในด้านนี้ด้านเดียว มันเป็นการรู้จักโลกเพียงซีกเดียวอย่างไร

             คนที่รู้จักโลกดีแล้วนั้น ย่อมบูชาความสำราญทางธรรมหรือการฝ่ายใจอันแท้จริงเป็นสำคัญ และถือเอาส่วนกาย หรือวัตถุ เป็นเพียงเครื่องอำนวยความสะดวก ในฐานะเป็นคนรับใช้ สำหรับคอยรับใช้ในการแสวงหาความสำราญในฝ่ายจิตเท่านั้น ผู้ที่รู้จักโลกดีทั้งสองด้าน ย่อมมีอุดมคติว่า “กายอยู่ในใจ” คือแล้วแต่ใจ กายเป็นของนิดเดียว และยังจำต้องอาศัยใจซึ่งทรงอำนาจสิทธ์ขาด ทั้งมีคุณภาพที่สูงสุดอยู่ทุก ๆ ประการ และทุก ๆ เวลา แสวงหาอาหารให้ดวงใจดีกว่า ความเจริญงอกงามทางฝ่ายใจนั้น ยังไปได้ไกล อีกมากมายนัก กว่าจะถึงพระนิพพานเมื่อไรนั่นแหละจึงจะหมดขีดขึ้นของทางไป และเมื่อลุถึงแล้ว ก็ยังเป็นอุดมสันติสุข อยู่ตลอดอนันตกาลอีกด้วย

             ไม่มีใครเคยทำให้เกิดความอิ่มความพอ ในเรื่องทางโลกีย์วิสัยได้เลย แม่ในอดีต ในปัจจุบัน และอนาคต เพราะว่าทางฝ่ายนี้ต้องการ “ความไม่รู้จักพอ” นั้นเอง เป็นเชื้อเพลงอันสำคัญแห่งความสำราญ ถ้าพอเสียเมื่อใดก็หมดความสำราญ ใครจะขวนขวายอย่างไร ก็ไม่อาจได้ผลสูงไปกว่า “การสยบซบซึมอยู่ท่ามกลางกองเพลิงแห่งการถูกปลุกเร้าของตัณหา” ซึ่งเมื่อใดม่อยหรี่ลง ก็จำต้องหาเชื้อเพลิง มาเพิ่มให้ใหม่อีก และไม่มีเวลาที่จะรู้จักอิ่มรู้จักพอ การแสวงหาอาหารทางฝ่ายใจ เพื่อดวงใจนั้นเป็นสิ่งที่มีค่า น่าทำกว่า เป็นศิลปะกว่า เป็นอุดมคติที่สูงกว่า ทำยากหรือน่าสรรเสริญกว่า หอมหวนกว่า เยือกเย็นกว่า ฯลฯ กว่าการแสวงหาทางกาย เพื่อกายโดยทุก ๆ ปริยาย

บันทึกแห่งกำลังใจ

             นักวัตถุนิยม เห็นกายเป็นใหญ่ ย่อมเสียสละได้ทุกอย่าง เพื่อให้กายหรือโลกของตนอิ่มหมีพีมัน ส่วนนักจิตนิยม เห็นแก่จิตเป็นใหญ่ ย่อมเสียสละได้ทุกอย่างเหมือนกัน เพื่อแลกเอาความสงบเยือกเย็นของจิต ผู้แสวงหาความสำราญทางกายนั้น การแสวงของเขา จำเป็นอยู่เองที่จะต้องกระทบกับผู้อื่น เพราะความสำราญกายนี้ เป็นของต้องเนื่องด้วยการเสียสละของผู้อื่น หรือการสนับสนุนของสิ่งอื่น ที่แวดล้อมอยู่โดยรอบ เมื่อมีความเห็นแก่ตัวอยู่ ก็ต้องมีการกระทบกันเป็นธรรมดา การสงคราม ก็มีการปะทะของคนหลายคน ที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นแก่ตัว เพื่อความสำราญทางโลกียวิสัยนั้นเอง

             สงครามโลกนั้นก็เป็นเพียงความเห็นแก่ตัว ของคนหลายชาติรวมกันเท่านั้น ไม่ต่างอะไรกันเลย การแสวงหาความสุขทางฝ่ายจิตนั้น จะไม่กระทบกระทั่งใครเลยแม้แต่น้อย เพราะเหตุว่า มีอะไร ๆให้แสวงหาอยู่ในตนผู้เดียวเสร็จ ไม่ต้องเนื่องด้วยผู้อื่น และมีแต่จะเสียสละให้ผู้อื่น การกระทบกระทั่งระหว่างบุคคล หรือแม้การกระทบกระทั่งระหว่างส่วนรวม ซึ่งเรียกว่าสงครามก็ตาม ไม่สามารถเกิดจากผู้แสวงหาความสุขทางจิต เช่นเดียวกับที่ไฟไม่สามารถเกิดจากความเย็น การแสวงหาอาหารทางฝ่ายกาย ง่ายหรือตื้นเป็นต้นเหตุแห่งสงครามการแสวงหาอาหารทางฝ่ายใจ ยากหรือลึก และเป็นต้นเหตุแห่งสันติภาพ แต่กระนั้น มนุษย์ในโลกนี้ ส่วนมากก็ปล่อยตนไปตามสัญชาตญาณ หรือธรรมดาฝ่ายต่ำมากเกินไปจนเห็นมีแต่ผู้ถือลัทธิวัตถุนิยมกันเกลื่อนโลก ยิ่งนานวันเข้าเพียงใด วิธีแสงหาอาหารทางใจก็ยิ่งลบเลือนหายไปจากความทรงจำ และการเอาใจใส่ของมนุษย์มากขึ้นเพียงนั้น ในที่สุด ก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในมันสมองของมนุษย์ นอกจากความเป็นทาสกามหรือความเห็นแก่ตัวนั่นแหละคือสมัยที่ไฟประลัยกัลป์จะล้างโลก ผู้แสวงหาความสุขทางใจในโลกนี้มีอยู่เพียงไม่กี่คนก็ตาม ก็เป็นเหมือนลูกตุ้มที่ค่อยถ่วงโลก มิให้หมุนไปถึงยุคมิคสัญญี พินาศด้วย ไฟประลัยกัลป์เร็วเกินไปเพียงนั้น พวกแสวงหาสุขทางฝ่ายจิต ควรจะพูดกับผู้อื่นได้โดยชอบธรรมว่า “เรายอมรับว่า เป็นลูกตุ้มจริง แต่ว่าเป็นลูกตุ้มที่ถ่วง มิให้พวกท่าน วิ่งเข้าไปสู่กองไฟเร็วเกินไป ถ้าพวกข้าพเจ้า เป็นอย่างท่านไปเสียด้วย เชื่อแน่ว่าโลก คงจะแตกดับ เร็วกว่าที่พวกข้าพเจ้าจะแยกเป็นอยู่เช่นนี้”

             พระพุทธองค์ ทรงเป็นนายกแห่งสมาคมผู้แสวงสุขทางใจเพียงพระองค์เดียวและสมัยเดียว ก็ชื่อว่าเป็นโลกนาถ ที่พึ่งของโลก หลายสมัย เพราะว่าเป็นอิทธิพลแห่งธรรมะ ที่พระองค์ทรงเปิดเผยไว้ในโลก ได้ถ่วงโลกไว้มิให้หมุนไปหาความแตกดับ จนแม้ที่สุด แต่คนที่ไม่เคยได้ยินชื่อของพระองค์ ก็ยังพลอยมีส่วนได้รับผลนั้นด้วย

             เมื่อโลกละทิ้งการแสวงหาอาหารทางใจ มารับเอาแต่อาหารทางกายมากขึ้นเช่นทุกวันนี้ พระพุทธองค์ก็ทรงช่วยอะไรไม่ได้ เพราะโลกเป็นฝ่ายที่ทิ้งหลักการของพระองค์เสียเอง ตราบใดที่พุทธบริษัททุกคน ยังภักดีต่อการแสวงหาความสุขทางใจกันอยู่ นับว่า ตระกูลของพระองค์ยังไม่ขาดทายาทเสียทีเดียว และจะยังเป็นเหมือนลูกตุ้มน้อย ๆที่เหลืออยู่เพื่อความปลอดภัยของตัวมันเอง และเพื่อโลกด้วย แม้ขณะที่พวกอื่นเขาอาจกำลังจงเกลียดจงชังพวกนี้อยู่ พุทธบริษัทต้องถือว่ากายอยู่ในใจ อาหารใจสำคัญยิ่งกว่า อาหารทางกาย และยังคงภักดีต่อลัทธิแสวงสุขทางใจอยู่เสมอ การเป็นพุทธบริษัทต่อปากหรือพิธีนั้น ไม่ทำให้เป็นพุทธบริษัทได้เลย พุทธบริษัทที่แท้ จะกลายเป็นนักวัตถุนิยม หรือลัทธิหลงชาติ เพราะเห็นแก้วัตถุไปไม่ได้ พุทธบริษัทที่รี ๆ ขวาง ๆ นั้น ยิ่งร้ายไปกว่า ผู้ที่ไม่ได้เป็นพุทธบริษัท เมื่อเกิดมิคสัญญี พุทธบริษัทที่แท้จริงเท่านั้น ที่จะเป็นผู้เหลืออยู่ แม้นี้ก็เป็นอานิสงส์ แห่งการนิยมอาหารทางใจ โลกกับธรรม จะเป็นอันเดียวกันไม่ได้ โดยที่โลกเป็นฝ่ายวัตถุนิยม ธรรมเป็นฝ่ายนิยม “ความเป็นอิสระเหนือวัตถุ” และความเป็น อิสระเหนือวัตถุนี้เอง คือ..อาหารของดวงใจ การต้องการอาหารทางฝ่ายโลก ใจต้องการอาหารฝ่ายธรรม ผู้ที่เห็นว่าใจเป็นใหญ่ หรือเป็นสิ่งที่อิงอาศัยของกายย่อมแสวงหาอาหารให้กาย เพียงสักว่าให้มันเป็นอยู่ได้เท่านั้น

             เวลานอกนั้นใช้เพื่อการแสวงหาอาหารให้แก้ใจอย่างเดียว อันความเป็นอิสระเหนือวัตถุนั้น เห็นได้ยาก ตรงที่ตามธรรมดา ก็ไม่มีใครนึกว่า ตนได้ตกเป็นทาสของวัตถุแต่อย่างใด ใคร ๆ ก็กำลังหาวัตถุมากินมาใช้ มาประดับเกียรติยศของตน และบำเรอคนที่ตนรัก และถือว่าทำอย่างนั้นตนได้เป็นนาย มีอิสระเหนือวัตถุแล้ว ส่วนความหม่นหมองใจที่เกิดขึ้น มากมายหลายประการนั้น หามีใครคิดไม่ว่า นั้นเป็นอิทธิพลของวัตถุ ที่มันกำลังครอบงำย่ำยีตนเล่นตามความพอใจของมัน ดวงใจได้เสียความสงบเย็น ที่ควรจะได้ไปจนหมด ก็เพราะความโง่เง่าของของเจ้าของเอง ที่ไปหลงบูชาวัตถุจนทำให้กลายเป็นของมีพิษขึ้นมา ดวงใจที่สงบเย็นแท้จริง ก็ไม่อาจฟักตัว เจริญงอกงามขึ้นมา เพราะขาดการบำรุงด้วยอาหาร โดยที่เจ้าของไม่เคยคิดว่า มันจะต้องการอาหารเป็นพิเศษยิ่งกว่ากาย

              เมื่อใดขาดอาหารใจ  แม้แต่ที่เป็นเบื้องต้นเสียเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมไม่งอกงามพอที่จะแจ่มใส ส่องแสงให้ผู้นั้นมองเห็น และถือเอาอุดมคติ แห่งความสุขทางใจ ได้ชีวิตเป็นของมือมนต้องร้องไห้ ทั้งที่ไม่รู้ว่ามีอะไรมาทำเอาเด็ก ๆ ที่เกิดมา ไม่อาจสำนึกได้เองในปริยายเช่นว่านี้ การศึกษาธรรมะเท่านั้นจะช่วยได้ในเบื้องต้น การศึกษาจนรู้ธรรมะทางฝ่ายหลักวิชา เป็นอาหารของดวงใจในขั้นแรก

             ขั้นกลางคือการย่อยวิชาหลักนั้น ๆ ออกด้วยมันสมองของตนเอง ครั้นได้ความโปร่งใจความเยือกเย็นอะไรมา นั่นเป็นอาหารขั้นปลาย เมื่อได้ส่งเสริมให้เจริญ จนสามารถทำพระนิพพานให้ปรากฏ จึงจะนับว่าถึงที่สุด

             ปริยัติธรรมในส่วนหลักวิชานั้น ช่วยสะกิดใจให้รู้สึกในเบื้องต้นว่า เรามีกายสองซีก คือ ซีกรูปกายและธรรมกาย

             รูปกาย..เจริญได้ด้วยการมีบิดามารดา เป็นแดนเกิดเติบโตขึ้นได้ด้วยปัจจัย เช่น ข้าวปลาอาหาร ส่วนธรรมกายนั้น มีกายวาจาใจ ที่สุจริตผ่องใส เป็นที่ตั้ง ที่ปรากฏ มีผลของความสุจริต อิสระ เป็นอาหารที่จะบำรุงให้เติบโตสืบไป ปริยัติธรรม ยังทำให้เรารู้สึก สืบไปเป็นลำดับว่า ถ้าบำรุงกันแต่รูปกายอย่างเดียว มันก็อ้วนพีแต่ซีกเดียว อีกซีกหนึ่ง ซึ่งเป็นซีกใจจะยังคงเหี่ยวแห้งอยู่ ผลที่ได้คือ ร่างกายที่สมบูรณ์  แต่ใจเต็มไปด้วยความหม่นหมอง และผ่ายผอม

             คนเราเมื่อยังเด็ก ความหม่นหมองมิปรากฏนักเพราะผู้เลี้ยงดูให้ และกายก็ยังมิได้ขยายตัวเต็มที่ จนสามารถรับความรู้สึกสุดขีด ได้ทุกอินทรีย์ (คือเต็มที่ทั้ง ทางตา ทางหู ฯลฯ ทางใจ) ครั้นเมื่อกายเจริญเต็มที่เข้า ความหม่นหมองก็เกิดมากขึ้น เพราะขาดดุลยภาพ กล่าวคือ ทางรูปกายโตใหญ่ขึ้น แต่ทางธรรม ไม่เจริญให้เสมอคู่เคียงกัน

             โดยสรุปปริยัติธรรมช่วยให้เราทราบว่า เราจะต้องประพฤติธรรม เพื่อฝ่ายธรรมกายของเรา มิฉะนั้น เราจะตายด้านไปซีกหนึ่ง ปฏิบัติ คือ ตัว การปฏิบัติ นั้นได้แก่การบังคับอินทรีย์เพื่อเอาชนะอินทรีย์ ชนะได้เท่าใด ความเยือกเย็นพร้อมทั้งความรู้แจ้ง ก็เกิดขึ้นเท่านั้น ความเยือกเย็นเกิดจากความอินทรีย์สงบลง ความเห็นแจ้งความจริง ในตัวเองปรากฏ เพราะไม่ถูกม่านแห่งความกลัดกลุ้ม ทางอินทรย์ปิดบัง เช่นแต่ก่อน

             วิธีเอาชนะอินทรีย์ ตามหลักแห่งพุทธศาสนาได้แก่ การบังคับตัวเองให้งดเว้นจากสิ่งชั่ว ให้ทำแต่สิ่งที่ดีเข้าแทน และต่อจากนั้น พยายามหาวิธีชำระจิต ให้เป็นอิสระจากต้นเหตุแห่งความหม่นหมอง ทั้งที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ๆ และที่ไม่ง่าย คือที่เคยชินอยู่ในสันดาน อันเป็นเหมือนเชื้อที่ก่อเกิดของกิเลสได้ทุกเวลา

             กล่าวอีกอย่างหนึ่ง วิธีเอาชนะอินทรีย์ ได้แก่การบังคับกายและวาจา ให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า “ศีล” บังคับจิตให้อยู่ในอำนาจ เรียกว่า “สมาธิ” และใช้จิตที่อยู่ในอำนาจแล้ว ให้เข้าถึงความจริงที่ยากที่ลึก จนปรากฏแจ่มแจ้งเรียกว่า “ปัญญา” กล่าวคือ ปัญญาชนิดที่ สามารถควบคุมอินทรีย์ ให้เป็นไปแต่ในทางถูกอย่างเดียว

             การบังคับหรือควบคุมอินทรีย์ ทำให้ดวงใจได้รับความสะบักสะบอมน้อยลง วัตถุหรืออารมณ์ทั้งหลาย มีพิษสงน้อยเข้าหรือหมดไป เพราะค่าที่เราสามารถบังคับตัวเอง ไว้ในภาวะที่จะไม่หลงใหลไปตาม ทั้งในทางชอบและทางชัง เมื่อเราได้รับความพักผ่อนผาสุก เนื่องจาก การบังคับอินทรีย์ของเราเช่นนี้แล้ว เชื่อว่าเราได้รับอาหารของดวงใจ ในส่วนการปฏิบัติ อันเป็นอุปกรณ์ให้ได้รับอาหารชั้นสูงสืบไป

             ปฏิเวธธรรม หรือธรรมในส่วนการรู้แจ้งแทงตลอด ในสิ่งที่เคยหลงใหล ไม่รู้เท่าทันมาก่อน เป็นความรู้ชนิดที่จะตัดรากเหง้า ความหม่นหมองของดวงใจ เสียโดยประการทั้งปวง เช่น ความสงสัย ความเข้าใจผิด แล้วทำความโปร่งใจ เยือกเย็นใจ ให้เกิดขึ้น ในระดับสูงสุด

             ปริยัติธรรม..เป็นเพียงการรู้อย่างคาดคะเนด้วยเหตุผลล่วงหน้าไปก่อน
             ส่วนปฏิเวธธรรม..เป็นผลที่ปรากฏแก่ใจ สมจริง ตามที่เรียนรู้ทางหลักวิชา
             ส่วนการปฏิบัติ..เป็นการแทงตลอดม่านอวิชชา คือ ความโง่หลง ซึ่งข้อนี้เป็นของเฉพาะตัวอย่างยิ่ง

             เมื่อใจได้อาหารเป็นลำดับมา จนลุถึงพระนิพพาน คือการดับกิเลสสิ้นเชิงแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นใจที่มีรสของพระนิพพานเป็นอาหาร เมื่อเราอาบน้ำ เราได้รับความเย็นของน้ำ หรือรู้สึกเย็นเพราะน้ำ เมื่อใจจุดลุถึงพระนิพพาน มันย่อมเยือกเย็น เพราะความเย็นของ พระนิพพานนั่นเอง ความเยือกเย็นอันนี้ เป็นยอดอาหารชั้นพิเศษของดวงใจ อาหารของดวงใจมีหลายชั้น มีรสชาติต่าง ๆ กัน

              เพราะฉะนั้นในยุคหนึ่ง ๆ ย่อมจะมีผู้แสวงและกำลังเสพอยู่ในขึ้นต่าง ๆ เป็นธรรมดา ดังเราจะเห็นได้แม้ในโลกนี้ว่า บางคนหาได้ตกโลกเต็มที่ หรือจมมิดเหมือนบางคนไม่ ถ้าจะสมมติภาพขึ้นริมฝั่งทะเล จะเห็นว่า...บางพวกตกน้ำจมมิดอยู่ บางพวกชูศีรษะร่อนขึ้นเหนือน้ำได้ มองดูรอบ ๆ สังเกตหาฝั่งบกอยู่ บางพวกมองเห็นฝั่งแล้ว บางพวกกำลังว่ายน้ำมุ่งหน้าเข้าหาฝั่ง บางพวกใกล้ฝั่งเข้ามามากแล้ว บางพวกถึงที่ตื้นยืนถึง เดินตะคุ่ม ๆ เข้ามาแล้ว บางพวกเดินท่องน้ำเพียงแต่เข่าเข้ามาแล้ว บางพวกนั่งพักอย่างสบาย หรือเที่ยวไปอย่างอิสระบนบก เราเองจะอยู่ในจำพวกไหน ? ย่อมไม่มีใครรู้ได้เท่าตัวเราเอง ตลอดเวลา ที่พวกมนุษย์ยังคงได้รับรสจากพุทธวจนะอยู่เพียงใด คงจะมีสักพวกหนึ่ง โดยเฉพาะ ก็คือพวกที่มีอาหารกายสมบูรณ์ จนอึดอัด เพราะความซ้ำซาก และหมดทางไปในเบื้องสูงเข้าแล้ว เขาจักเกิดมีความสนใจในคุณภาพอันสูงสุดของโลกุตตราหาร หยิบเอาลัทธิ “มโนนิยม” ขึ้นมาพิจารณาดูบ้างเป็นแน่เพราะยังมีทางไปได้สูงอีกมากนัก
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: