ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
.
.
.
ข้อความบางตอนจากหนังสือ พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา
เรียบเรียง โดย คุณสุรีย์ และ เรือโท วิเชียร มีผลกิจ
จัดพิมพ์และเผยแพร่ โดย คณะสหายธรรม
.
.
.
สมัยนั้น เมืองกุสินารา ดารดาษไปด้วยดอกมณฑารพ
โดยถ่องแถว ประมาณแค่เข่า
ครั้งนั้น พวกเทวดา และ พวกเจ้ามัลละ แห่งกรุงกุสินารา
ได้กระทำการสักการะบูชาพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ด้วยการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดอกไม้ของหอม
ทั้งที่เป็นทิพย์ และ ทั้งที่เป็นของมนุษย์
แล้วได้อัญเชิญพระบรมศพ ไปทางทิศอุดร ออกไปทางทวาร ทิศบูรพา
แล้ววางพระสรีระ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า บนจิตกาธาน
ณ มกุฏพันธนเจดีย์.
สมัยนั้น ท่านพระมหากัสสปะเถระ
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป
เดินทางจาก เมืองปาวา มาสู่ กรุงกุสินารา
ท่านพระมหากัสสปะเถระ แวะพัก ณ ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง.
ขณะนั้น...อาชีวกคนหนึ่ง
ถือดอกมณฑารพ จากเมืองกุสินารา เดินทางไปสู่เมืองปาวา
ท่านพระมหากัสสปะเถระ ได้เห็นอาชีวกนั้นมาแต่ไกล.........
จึงถามอาชีวกนั้นว่า
"ดูก่อน ผู้มีอายุ ท่านได้ทราบข่าวพระศาสดาของเราบ้างหรือไม่.?"
อาชีวกตอบว่า
"เราทราบอยู่...พระสมณโคดม ปรินิพพานได้ ๗ วัน...เข้าวันนี้
ก็ดอกมณฑารพที่เราถือนี้...เรานำมาจากที่นั้น"
ในอรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร กล่าวว่า
อาชีวก เอาไม้เสียบดอกมณฑารพ ถือมาดังร่ม
เมื่อท่านพระมหากัสสปะเห็นแล้ว คิดว่า...ดอกมณฑารพนั้นจะปรากฏในถิ่นมนุษย์
ก็ต่อเมื่อ พระสัพพัญญูโพธิสัตว์เสด็จลงสู่ครรภ์ ของพระมารดา เป็นต้น
แต่ในวันนี้ พระศาสดาของเรา มิได้เสด็จลงสู่พระครรภ์
ทั้งวันนี้ พระองค์ก็มิได้ตรัสรู้ มิได้ประกาศพระธรรมจักร มิได้แสดงยมกปาฏิหารย์
มิได้เสด็จลงจากเทวโลก มิได้ทรงปลงอายุสังขาร
แต่พระศาสดาของเราทรงพระชรา
คงอาจจักเสด็จปรินิพพานเป็นแน่.
พวกภิกษุที่ยังไม่สิ้นราคะ ทราบความนั้นแล้ว เสียใจรำพันอยู่
ส่วนภิกษุผู้ปราศจากราคะแล้ว มีสติสัมปชัญญะพิจารณาอยู่ว่า
สังขารทั้งหลาย...ไม่เที่ยงหนอ.
บรรพชิตผู้บวชเมื่อแก่ ชื่อ สุภัททะ นั่งอยู่ในบริษัทนั้น
ได้กล่าวกับพวกภิกษุว่า
"พวกท่านอย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลย เราพ้นดีแล้ว ด้วยว่าพระมหาสมณะนั้น
เบียดเบียนพวกเราอยู่ว่า...สิ่งนี้ควรแก่เธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่เธอ
ก็บัดนี้ พวกเราปรารถนาสิ่งใด....ก็จักกระทำสิ่งนั้น."
ท่านพระมหากัสสปะเถระ ได้ฟังเช่นนั้น...คิดว่า
พระศาสดาปรินิพพานเพียง ๗ วัน
ก็มีเหตุที่จะทำให้สงฆ์ล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติเสียแล้ว
จึงดำริให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย เพื่อรวบรวมให้เป็นหมวดหมู่
สำหรับเหล่าสงฆ์จะได้ประพฤติปฏิบัติตาม.
ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า
"ดูก่อน อานนท์ ธรรมวินัยใดอันเราแสดงแล้ว
บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย
ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแก่เธอทั้งหลาย
เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว."
จากนั้น ท่านพระมหากัสสปะเถระ เตือนภิกษุทั้งหลายว่า
"พระผู้มีพระภาค ตรัสสอนไว้ก่อนแล้ว มิใช่หรือ ว่า
ความพลัดพรากจากบุคคล อันเป็นที่รักที่ชอบทั้งหมด ต้องมี
สิ่งใดเกิดแล้วมีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว
ย่อมมีความทำลายไป เป็นธรรมดา
ความปรารถนา ว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย
มิใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้."
ครั้นท่านพระมหากัสสปะเถระ
และภิกษุสงฆ์เดินทางมาถึง มกุฏพันธนเจดีย์
ได้เข้าไปยังจิตกาธานของพระผู้มีพระภาคเจ้า
แล้วครองจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลี กระทำประทักษิณ จิตกาธาน ๓ รอบ
ถวายบังคม ทางด้านพระบาทของพระศาสดา ด้วยเศียรเกล้า
แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้น ก็ถวายบังคมพร้อมกัน....เมื่อถวายบังคมแล้ว
จิตกาธานของพระศาสดา ก็โพลงขึ้นเอง ด้วยอานุภาพของเทวดา.ฯ
พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถูกเพลิงไหม้หมดแล้ว
ท่อน้ำ หลั่งตกลงมาจากอากาศ และ พลุ่งขึ้นจากดิน
ดับจิตกาธาน ของพระศาสดา
เหลือแต่ พระบรมสารีริกธาตุ ฯ
หากมีคำถามว่า.......เหตุใด.?
พระพุทธองค์ จึงมีพระประสงค์ที่จะเสด็จมาปรินิพพานยังเมืองกุสินารา
ทั้งที่จะต้องเดินทางจากที่ ที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และ แสดงปฐมเทศนา
มาเป็นระยะทางทีแสนไกล...เช่นนี้
เหตุผลโดยย่อ
ที่แสดงไว้ในอรรถกถา มี ๓ ข้อ คือ
๑. เพื่อแสดง มหาสุทัสสนสูตร
เพื่อชนเป็นอันมาก เมื่อฟังธรรมของตถาคตแล้ว
จักสำคัญ กุศล ว่า ควรกระทำ.
๒. เพื่อทรงโปรด ปัจฉิมสาวก คือ สุภัททปริพาชก
ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน.
๓. เพื่อ โทณพราหมณ์ จักระงับการวิวาท
และทำหน้าที่ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ฯ
.
.
.
ในสมัยแห่งการเสด็จปรินิพพาน
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ สาลวัน ใกล้เมืองกุสินารา.
ท่านพระอานนท์ทูลขอร้อง ว่า
"ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่าเสด็จปรินิพพาน
ในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมือง เช่นนี้เลย
เมืองใหญ่ เช่น ราชคฤห์ สาวัตถี โกสัมพี พาราณสี
เหล่ากษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล
ที่มีความเลื่อมใสในพระตถาคต มีอยู่มาก
ท่านเหล่านั้น จักกระทำสักการะบูชาสรีระ ของพระตถาคตเจ้า.
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
" อานนท์ กุสินารา
แต่ปางก่อน เป็นราชธานี มีนามว่า กุสาวดี
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ เป็นกษัตริย์ ได้รับมุรธาภิเษก
ทรงเป็นพระราชาโดยธรรม
เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นพระเจ้าจักพรรดิ
กุสาวดี เป็นเมืองมั่งคั่ง รู่งเรือง มีชนมาก มีภิกษาหาได้ง่าย
กุสาวดีราชธานี ไม่เคยเงียบจากเสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ
เสียงกลอง เสียงขับร้อง ฯลฯ ทั้งกลางวัน และ กลางคืน."
พระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าถึงอานิสงค์แห่งทาน
ที่พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงได้รับ ในครั้งนั้นว่า
ทุกสิ่งเป็นของเลิศ ที่ไหลมาจากกุศลธรรมอันงาม ที่ทรงบำเพ็ญมาช้านาน
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงถวายทาน ในสมณะทั้งหลาย ด้วยสมณบริขาร
อุปถัมภ์พราหมณ์ ทั้งหลาย ด้วยพราหมบริขาร
ทรงดำริ จัดหาความสุข แก่ชาวนครของพระองค์
โดยให้ทาน แก่มหาชนทั้งหลาย ด้วยเครื่องอุปโภค บริโภค
และวัตถุที่ต้องการทั้งปวงของชนเหล่านั้น ผู้ใดปรารถนาสิ่งใดก็รับเอาไป
การงานอย่างอื่น ของชาวนครทั้งหลาย ไม่มี
ชาวชมพูทวีป บริโภคทานของพระราชา เท่านั้น
พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ทรงปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ทรงประพฤติพรหมจรรย์
ทรงเจริญพรหมวิหาร ๔ หลังจากเสด็จสวรรคต ได้เสด็จเข้าถึงพรหมโลก.
พระพุทธองค์ทรงสอนท่านพระอานนท์อีกว่า
" อานนท์ เธอจงดูเถิด
สังขารทั้งเหล่านั้นล่วงไป ดับไป แปรไปหมดแล้ว
อานนท์ สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงอย่างนี้
ไม่ยั่งยืน อย่างนี้ ไม่น่ายินดี อย่างนี้
อานนท์ ข้อนี้ ควรจะเบื่อหน่าย ในสังขารทั้งปวง
เพราะเมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณ รู้ว่า
ชาติสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว."
เมื่อได้พรรณนา ความรุ่งเรืองของเมืองกุสาวดี ให้ท่านพระอานนท์ฟัง
เพื่อแสดงเหตุผล ที่พระองค์เสด็จมาปรินิพพานที่เมืองกุสินารานี้แล้ว.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
"อานนท์ พระเจ้ามหาสุทัสสนะ ในสมัยนั้น
คือ เราตถาคต ในปัจจุบัน
เราย่อมรู้ ที่ทอดทิ้งร่างกาย
อานนท์ เราไม่เห็นสถานที่ใดในโลก
ทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
ในหมู่สัตว์ ทั้งสมณพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดา และ มนุษย์
ที่ตถาคตจะทอดทิ้งร่างกาย เป็นครั้งสุดท้าย
นอกจากสถานที่นี้."
(ความโดยละเอียดอยู่ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสุทัสสนสูตร ข้อ ๑๘๕)
.
.
.
กุสินารา
จึงเป็นสถานที่ สิ้นสุดการเดินทาง
สิ้นสุดพระโอวาท สิ้นสุดพระพุทธกิจ สิ้นสุดพระชนม์ชีพ สิ้นสุดภพชาติ
ของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ของเรา พระองค์นี้.
.
.
.
.......................... ขออนุโมทนา .........................
ขออุทิศกุศลแด่สรรพสัตว์
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก บ้านธรรมะ ครับ :
http://www.dhammahome.com