KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับกระทู้เมื่อเร็วๆ นี้
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
 31 
 เมื่อ: สิงหาคม 08, 2019, 12:59:40 AM 
เริ่มโดย AVATAR - กระทู้ล่าสุด โดย the suffering
สวัสดี ครับ
 ยิงฟันยิ้ม

 32 
 เมื่อ: กรกฎาคม 08, 2019, 12:59:43 PM 
เริ่มโดย AVATAR - กระทู้ล่าสุด โดย AVATAR
มงคลพระชันษา 92 ปี สมเด็จพระสังฆราช
 
วันพุธที่ 26 มิถุนายน 2562 เป็นวันคล้ายวันประสูติของ
 "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร)"
ประมุขคณะสงฆ์ไทย ครบรอบ 92 ปี
นับเป็นมงคลวโรกาสที่นำมาซึ่งความปลาบปลื้มยินดีอีกครั้ง
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ลำดับที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560
ตลอดเวลาที่ทรงดำรงตำแหน่งนี้ พระองค์ทรงมีคุณูปการอันทรงคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจและพระศาสนกิจได้ครบถ้วน ปกครองคณะสงฆ์ด้วยความมั่นคงในพระธรรมวินัย
มีนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ ประสูติเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2470 ที่ ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี
วัยเยาว์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ทรงเข้าพิธีบรรพชาเมื่อปี พ.ศ.2480 ที่วัดสัตตนารถปริวัตร อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
ย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยความมุ่งมั่น
พ.ศ.2486 สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค พ.ศ.2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
กระทั่งปี พ.ศ.2490 ย้ายมาอยู่จำพรรษา ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) และให้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2491 ที่พัทธสีมาวัดราชบพิธฯ
มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ทรงมุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ พ.ศ.2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค
พ.ศ.2509 ทรงเข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี
พระองค์สร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์อย่างมากมาย อาทิ งานด้านการศึกษา เป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่ พระภิกษุ-สามเณร เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหากุฏราชวิทยาลัย เป็นต้น
งานปกครองคณะสงฆ์ ท่านดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ กรรมการมหาเถรสมาคม, กรรมการคณะธรรมยุต, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต), แม่กองงาน พระธรรมทูต
พ.ศ.2552 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ
วันที่ 5 ธ.ค.2552 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่ "สมเด็จพระมหามุนีวงศ์"
วันอาทิตย์ที่ 12 ก.พ.2560 เวลา 17.00 น. ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เนื่องในมงคลสมัยที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 92 ปี วันที่ 26 มิ.ย.2562
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์การบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชันษา 92 ปี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
เวลา 09.30 น. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระวิหาร
- ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธประทีปวโรทัยและพระพุทธ อังคีรสน้อย ประธานพระวิหาร
- ทรงจุดเครื่องทองน้อยบูชา พระอัฐิ อัฐิพระบูรพการีและ พระบูรพาจารย์
- พระราชาคณะ 10 รูปสวดมาติกา
- พระสงฆ์สดับปกรณ์ อุทิศพระบูรพการีและพระบูรพาจารย์
- พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา / ทรงกรวดน้ำ
เวลา 10.00 น. สมเด็จพระราชาคณะ-พระราชาคณะอีก 16 รูปขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์
- เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล / ประธานสงฆ์ให้ศีล
- เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร
- พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ฉลองพระชนมายุ
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์
- ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ประมาณ 250 รูป
- ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และฉันเพล
- พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา / ทรงกรวดน้ำ
เวลา 12.00 น. พิธีถวายผ้าป่าสมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนามหาเถระ) อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
เวลา 16.00 น. คณะสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถวาย เพื่อเป็น สวัสดิมงคล เสร็จพิธี

 33 
 เมื่อ: พฤษภาคม 04, 2019, 03:29:01 PM 
เริ่มโดย AVATAR - กระทู้ล่าสุด โดย AVATAR
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐

วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม 2562 เป็นวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง เข้าทางประตูวิเศษไชยศรี ประตูพิมานไชยศรี

เวลา 09.58 น. รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่พระทวารเทเวศรรักษา เสด็จเข้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไปยังพระที่นั่งบุษบกมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร รัชกาลที่ 1-9 ที่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลา แล้วทรงกราบ

จากนั้นเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณทางพระทวารเทวราชมเหศวร (มหาดเล็กเชิญพระแสงดาบคาบค่ายตามเสด็จ ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร และดุริยางค์) เสด็จฯไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัยหน้าพระแท่นมณฑล แล้วทรงกราบ ทรงรับการถวายความเคารพจากผู้มาเข้าเฝ้าฯ แล้วประทับพระราชอาสน์

จากนั้นทรงศีล สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก นำคณะสงฆ์ถวายศีล ขณะเดียวกันโหรหลวงบูชาฤกษ์ที่ศาลจตุโลกบาลทั้ง 4 และศาลพระอินทร์ที่มณฑปพระกระยาสนาน

เมื่อสมเด็จพระสังฆราชถวายศีลจบ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าหอพระสุราลัยพิมาน ทรงเปลื้องฉลองพระองค์ ทรงเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลเสด็จ

จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากหอพระสุราลัยพิมานโดยริ้วขบวนพราหมณ์นำไปยังมณฑปพระกระยาสนาน แล้วเสด็จไปยังเครื่องสังเวยกลางหาว ทรงจุดธูปเงิน เทียนทอง สังเวยเทวดากลางหาว แล้วเสด็จขึ้นมณฑปพระกระยาสนาน พันตำรวจโท ปัญญา สุดาทิพย์ ถอดฉลองพระบาทถวาย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ แปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา แล้วทรงเหยียบใบอ้อ

 

สรงพระมุรธาภิเษก

เวลาพระฤกษ์ 10.09-12.00 น. พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวังถวายบังคม 3 ครั้ง ขึ้นมณฑปพระกระยาสนาน เปิดพระครอบพระมุรธาภิเษกรัชกาลที่ 1 ถวาย แล้วลงจากมณฑปพระกระยาสนาน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวักน้ำพระพุทธมนต์อันเจือด้วยน้ำเบญจสุทธคงคาและน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 4 สระเมืองสุพรรณ จากพระครอบพระมุรธาภิเษก รัชกาลที่ 1 สรงพระนลาฏ (หน้าผาก)

เวลา 10.26 น. พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาตไขสหัสธาราอันเจือด้วยน้ำเบญจสุทธคงคาและน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 4 สระเมืองสุพรรณ แล้วถวายบังคม 3 ครั้ง ขณะนั้นโหรหลวงลั่นฆ้องชัย พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พรามหณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร และดุริยางค์ ทหารกองเกียรติยศถวายความเคารพ วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทหารปืนใหญ่ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค กระบอกละ 10 นัด (ตามกำลังวันเสาร์) ที่สนามหญ้าศาลาสหทัยสมาคม ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 101 นัด

ณ ขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสรงมุรธาภิเษกจากสหัสธารานั้น ถือว่าเป็นวินาทีที่เปลี่ยนพระราชสถานะเป็น พระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ตามราชประเพณี หลังจากนั้นการออกพระนาม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนเป็น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

เมื่อสรงสหัสธาราแล้ว สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระอนุวงศ์ และพราหมณ์ ถวายน้ำพระพุทธมนต์ และน้ำเทพมนตร์ ตามลำดับ

-สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยพระครอบพระกริ่ง รัชกาลที่ 4 ที่พระปฎษฎางค์ (แผ่นหลัง) และถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยพระครอบยันต์เดิม รัชกาลที่ 4 ที่พระหัตถ์

-พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ ทูลเกล้า ฯ ถวายน้ำอภิเษกที่พระหัตถ์ด้วยพระเต้าเบญจคัพย์ รัชกาลที่ 5

-พลตรี หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ทูลเกล้า ฯ ถวายน้ำเทพมนตร์ด้วยพระเต้านวเคราะห์ รัชกาลที่ 4 ทรงวักน้ำและทรงแตะที่พระนลาฏ

-พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ ทูลเกล้า ฯ ถวายน้ำเทพมนตร์ที่พระหัตถ์ด้วยพระเต้าเบญจคัพย์ รัชกาลที่ 1

-พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ ทูลเกล้า ฯ ถวายพระมหาสังข์เพชรใหญ่ ทรงรับและทรงสรงน้ำเทพมนตร์เหนือเส้นพระเจ้า

-พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ ทูลเกล้า ฯ ถวายพระมหาสังข์เพชรน้อย ทรงรับและทรงสรงน้ำเทพมนตร์เหนือเส้นพระเจ้า

-พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ ทูลเกล้า ฯ ถวายน้ำเทพมนตร์ด้วยพระมหาสังข์พิธีพราหมณ์ที่พระหัตถ์ ทรงรับใบมะตูมทรงทัด แล้วทูลเกล้า ฯ ถวายน้ำเทพมนตร์ด้วยพระมหาสังข์ทอง พระมหาสังข์นาก พระมหาสังข์เงิน พระมหาสังข์งา พระมหาสังข์สัมฤทธิ์ พระครอบเฟือง (สัมฤทธิ์) แล้วทูลเกล้า ฯ ถวายแหวนใบกระถินทรงสวม ที่พระอนามิกาขวา (นิ้วนาง)

-หม่อมเจ้าฑิฆัมพร ยุคล ทูลเกล้า ฯ ถวายพระเต้าน้ำอภิเษกต่าง ๆ ทรงรับพระเต้ารดพระองค์ที่พระอังสา (บ่าไหล่) ซ้ายและขวา เว้นแต่พระเต้าเทวบิฐ รัชกาลที่ 4 ทรงรดที่พระชงฆ์ (แข้ง) และพระบาท  (เท้า)

– พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง ทูลเกล้า ฯ ถวายพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ ทรงรับและทรงสรงน้ำเทพมนตร์เหนือเส้นพระเจ้า

เสร็จพิธีสรงพระมุรธาภิเษกแล้ว มหาดเล็กสอดฉลองพระบาทถวาย และถวายฉลองพระองค์คลุม หลังจากสรงมุรธาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับน้ำอภิเษก ทรงรับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง เป็นลำดับถัดไป

 

ทรงรับน้ำอภิเษก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นหอพระสุราลัยพิมาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงฉลองพระองค์ครุยสายสะพาย นพรัตน์ราชวราภรณ์ สายสร้อยจุลจอมเกล้า ผู้ที่จะทูลเกล้าฯถวายน้ำอภิเษกเข้าไปยืนประจำที่รอบพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากหอพระสุราลัยพิมานเข้าพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้พระบวรเศวตฉัตร แปรพระพักตร์สู่บูรพาทิศเป็นปฐม

– ทิศบูรพา (ตะวันออก) พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์  กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล  และทูลเกล้า ฯ  ถวายน้ำอภิเษกด้วยถ้วยศิลาจารึกพุทธคาถาเป็นทิศแรกแล้ว พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ ทูลเกล้า ฯ ถวายน้ำเทพมนตร์ด้วยพระครอบเฟือง (สัมฤทธิ์) เสร็จแล้ว ทูลเกล้า ฯ ถวายน้ำเทพมนตร์ด้วยพระมหาสังข์ประจำทิศที่พระหัตถ์ทุกทิศตามลำดับ หลังผู้ถวายน้ำอภิเษก

– ทิศอาคเนย์ (ตะวันออกเฉียงใต้) หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล

– ทิศทักษิณ (ใต้) พลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล

– ทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

– ทิศประจิม  (ตะวันตก) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

– ทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

– ทิศอุดร (เหนือ) นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา

– ทิศอีสาน (ตะวันออกเฉียงเหนือ) นายจรัส สุวรรณเวลา ราชบัณฑิต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรที่ประทับทรงรับน้ำอภิเษกนั้นไปตามทิศ แล้วประทับทิศบูรพาอีกครั้ง เพื่อทรงรับน้ำอภิเษกและน้ำเทพมนตร์แทนทิศกลาง

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล และทูลเกล้า ฯ ถวายน้ำอภิเษกสำหรับทิศกลาง

พระราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ ทูลเกล้าฯถวายพระครอบเฟืองสมฤทธิ์ บรรจุน้ำเทพมนต์ ทรงจุ่มพระหัตถ์ขวาลงในน้ำพระครอบเฟืองสัมฤทธิ์ แล้วทรงลูบที่พระนลาฏ และทูลเกล้าฯถวายน้ำเทพมนตร์ด้วยพระมหาสังข์พิธีพราหมณ์ที่พระหัตถ์ขวา แล้วทรงลูบพระเศียร

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง เป็นลำดับถัดไป..

 34 
 เมื่อ: มีนาคม 16, 2019, 01:41:29 PM 
เริ่มโดย golfreeze - กระทู้ล่าสุด โดย golfreeze
ต้นศรีมหาโพธิ์ต้นไม้ที่ตรัสรู้ชื่อเดิมว่าต้นไม้อะไร

          พระศรีมหาโพธิ์ ก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ไม่ได้เรียกว่าต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่เรียกโดยชื่อตามภาษาพื้นเมือง ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นภาษาชาวบ้าน เรียกว่า "ต้นปีบปัน" อีกอย่างหนึ่งเป็นภาษาหนังสือเรียกว่า "ต้นอัสสัตถะ" หรือ "อัสสัตถพฤกษ์" เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว จึงเรียกว่า "โพธิ์" แปลว่า ต้นไม้เป็นที่อาศัยตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ต่อมาเพิ่มคำนำหน้าขึ้นอีกเป็น มหาโพธิ์บ้าง พระศรีมหาโพธิ์บ้าง และว่าเป็นต้นไม้สหชาติของพระพุทธเจ้า คือ เกิดพร้อมกันในวันที่พระพุทธเจ้าสมัยที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะประสูติ

ความรู้เกี่ยวกับต้นโพธิ์
.................................

ต้นโพธิ์นี้แต่เดิมชื่อ ต้น อัสสัตถะพฤกษ์ (อัสะ แปลว่า ม้า /สัตถะ แปลว่า ประโยชน์) เป็นต้นไม้เพื่อเลี้ยงม้า

…..“ใบโพธิ์” “ต้นโพธิ์” เป็นสัญญลักษณ์ ทางพระุพุทธศาสนามาช้านาน ด้วยพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธ...ดูเพิ่มเติม
ความรู้เกี่ยวกับต้นโพธิ์

ต้นโพธิ์นี้แต่เดิมชื่อ ต้น อัสสัตถะพฤกษ์ (ัอัสะ แปลว่า ม้า /สัตถะ แปลว่า ประโยชน์) เป็นต้นไม้เพื่อเลี้ยงม้า

…..“ใบโพธิ์” “ต้นโพธิ์” เป็นสัญญลักษณ์ ทางพระุพุทธศาสนามาช้านาน ด้วยพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ชื่อเดิม คือ ต้นปีปปัน (Pipal) หรืออัสสัตถพฤกษ์ .....ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาว่าต้นโพธิ์เปรียบได้กับพุทธอุเทสิกเจดีย์อย่างหนึ่ง

ต้นโพธิ์เป็นหนึ่งในสหชาติทั้ง 7 =เกิดพร้อมกันกับพระพุทธองค์ คือ
1 พระนางยโสธราพิมพา
2 พระอานนท์
3 กาฬุทายีอำมาตย์
4 นายฉันนะ
5 ม้ากัณฑกะ
6 ต้นพระศรีมหาโพธิ์
7ขุมทองทั้ง 4 (สังขนิธี,เอลนิธี,อุบลนิธี,บุณฑริกนิธี )

ทำให้พันธ์ต้นโพธิ์กลายเป็นพันธ์ไม้ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวพุทธเสมอมานับแต่สมัยพุทธกาล ต้นโพธิ์ในพระพุทธประวัติสองต้นคือต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ และ ต้นอานันทโพธิ์

 35 
 เมื่อ: มีนาคม 14, 2019, 10:20:25 PM 
เริ่มโดย golfreeze - กระทู้ล่าสุด โดย golfreeze
• #ชีวประวัติและปฏิปทาหลวงปู่บุญฤทธิ์_ปัณฑิโต •
• #ตอนที่๓ #บรรพชาอุปสมบท
ก็เป็นอันเข้าบรรพชาอุปสมบทในปีพ.ศ. ๒๔๘๙ ที่วัดศรีเมือง จ.หนองคาย ซึ่งเป็นวัดเจ้าคณะจังหวัดฝ่ายธรรมยุต วัดศรีเมืองนี้อยู่ริมแม่น้ำโขง โดยมีท่านพระครูฯ ซึ่งต่อมาท่านเป็น พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) เจ้าคณะภาคเป็นพระอุปัชฌาย์

ทีนี้ผู้กํากับตํารวจซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ก็เอารถยนต์ตํารวจ ไปส่งให้ที่วัดอรุณรังษี ก็ไปประจําอยู่ วัดป่าอรุณรังษีกับท่านพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน ทันที

ในเดือนแรกๆ ดูลําบากอยู่ทีเดียว และต้องฉันมื้อเดียว เวลาไปบิณฑบาตก็ต้องเดินไกลมาก ท่านพระอาจารย์กู่ ท่านก็ผ่อนผันให้ฉันกาแฟ นม กล้วย ได้บ้างตอนเพลก็พออยู่ได้ แล้วท่านอาจารย์ ก็บอกว่า “ภาวนาเสียบ้างซี” แล้วท่านก็ไม่ได้สอน

ทีนี้ดังที่เล่าแล้วว่าวัดป่าอรุณรังษีนอยู่หลังคุก แล้วเป็นวัดเผาผี บรรยากาศน่ากลัว ไม่มีไฟฟ้าใช้ พอท่านอาจารย์เตือนให้ภาวนา หลวงปู่ก็นึกว่าเราอ่านตําราวิสุทธิมรรคตั้งแต่สมัยเป็นฆราวาส ก็ดูช่างยุ่งยากจริง กสิณ ๑๐ ต้องจัดพิธีรีตองให้ถูกต้องตามตํารา ก็บังเอิญคือกุฏิอาตมานี้ เป็นกุฏิที่ไม่เคยเห็นที่ไหนเหมือนหลังนั้นอีกเลย เป็นกุฏิไม้ ๒ ชั้นเล็กๆ กําลังดี

ใต้ถุนสูง ชั้นบนมีระเบียงรอบ ระเบียงไม้นี้กว้างสักเมตรกว่าๆ พอดีนั่งขัดสมาธิได้สบายๆ พอดีๆ ปีกชายคาก็สั้นมาก เห็นท้องฟ้าสบาย น่ากลัวเทวดาจะจัดไว้ให้กระมัง กุฏิแบบจนๆ แต่ภาวนาได้ผลมาก อาตมาก็นั่งขัดสมาธิที่ระเบียงนี้หันหน้าไปทางป่าไผ่ที่หนาทึบ คืนนั้นพอดีเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง ค่อยๆ โผล่ขึ้นหลังกอไผ่ บรรยากาศของวัดป่าที่มีเผาผีสุดจะวังเวง และพระจันทร์ก็ทอแสงนวลเหนือกอไผ่พอดี ชายคากุฏิก็ไม่บังดวงจันทร์ ทุกอย่างเป็นมุมที่พอดี ก็เลยเกิดคิดเอาเองว่า “จะเพ่งพระจันทร์”

• #กสิณนิมิตภาวนา
ก็จ้องดูพระจันทร์ไม่ยอมหลับตาเด็ดขาด นานเท่าใดก็แล้วแต่ แม้น้ำตาจะไหลจะแสบตาแค่ไหนก็จะไม่ยอมหลับตา เพ่งพระจันทร์แล้วก็มองดูเงามืดของกอไผ่ รวมกําลังใจเพ่งเข้าไป เพ่งเข้าไปในราว ๕ วันเท่านั้น วงกสิณก็เกิด รู้ได้ยังไง บุญช่วย (แบบภาษาสเปนที่เม็กซิโกเขาว่า Dios me ayuda เทวดาช่วยที) เมื่อมองดูพระจันทร์แล้ว ก็มองดูเงามืดที่กอไผ่ ปรากฏดวงสว่างคงที่ แล้วพร้อมกันนั้นจิตใจที่ไม่เคยนิ่งเลยแต่ก่อน ก็เกิดนิ่งพร้อมกันทันที นิ่งอยู่พร้อมกับนิมิต บังคับให้สว่าง บังคับให้ดับ ให้เกิดได้ทุกที่ ให้ปรากฏขึ้นตรงไหนก็ได้ ทําเมื่อใดก็ได้ เป็นอันใช้ได้ เป็นกสิณนิมิตภาวนา ก็ไปกราบเรียนท่านอาจารย์อีกตอนกลางคืน ท่านว่า “ดูข้างในกาย เธอซิ” จ้องลงไปในตัวก็เกิดเป็นแสงสว่างจ้านวลราวกับแสงไฟฉายกระบอกใหม่ ปรากฏขึ้นภายใน ทันทีนั้นก็เกิดปีติสุขอย่างมากขึ้นพร้อมกัน

ท่านอาจารย์กู่บอกว่า “ดูเส้นผมซิ” หลับตามองเกิดแสงสว่างนวลแบบนีออน เห็นนิมิตเส้นผมทันที ขนาดใหญ่ราวสายไฟฟ้า ท่านอาจารย์แนะให้ใช้แสงตรวจดูในเส้นผม ก็เกิดเป็นอัตโนมัติเลย นึกขึ้นได้เองว่า อย่างนี้เองที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพุทธญาณส่องแสงสว่างเหนือโลก (ดัง Super Computer, internet) ทรงต้องการรู้อะไรก็กดปุ่มจิตสมาธิ อภิญญา เหมือนกดปุ่มเพ่งจิต พรึ่บ ภาพคําตอบก็ปรากฏทันที อดีต ปัจจุบัน อนาคต สถานที่ บุคคล ในจักรวาล (Cosmo) นอกจักรวาลนี้ไม่มีขอบเขต โยคีผู้มีฤทธิ์สมัยก่อนหรือสมัยเดียวกับพระพุทธองค์ ก็สามารถเห็นได้ แต่มีขอบเขตจํากัดมากกว่า (ไม่มีที่เปรียบได้กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ความจํากัดเพราะจิตยังมืด หัวของความมืด อวิชชา คือนึกว่าตน (I, my, ego, self) เป็นขันธ์ ๕ หลงเป็นโลกภพ หลงไม่ดับสูญ ด้วยอริยมรรค ๘ สติปัฏฐาน รวมเกิดเป็นโลกุตตรธรรม ธรรมพ้นโลกหลง ตั้งแต่ขั้นพระโสดาบันขึ้นไป จิตจึงสว่างพ้นหลง ถึงพุทธธรรมได้ ลงกสิณนี้เมื่อเกิดในกายได้แล้ว กําหนดจิตเมื่อไรก็เห็นทันทีพร้อมปีติสุข ไม่ว่านั่ง นอน ยืน เดิน หรือแม้นั่งอยู่ในหมู่คน ที่ชุมชน ไม่ต้องปิดตาดู นัยน์ตาเปิดธรรมดา เหมือนไม่ใช่ภาวนา แต่ก็เห็นดวงสว่างมาก ในอกมีปีติทั่วทั้งกายและใจพร้อมกัน ก็มีประโยชน์ตอนขึ้นรถไฟคนแน่นๆ ไปไหนลําบาก ก็นั่งมองคนเป็นธรรมดาๆ ก็เพ่งให้เห็นวงกสิณก็เกิดปีติสุขพร้อมกันไป ก็เลยไม่ต้องไปห้องสุขาอีกด้วย คือเริ่มจากกสิณพระจันทร์นี่ วงกสิณสามารถเข้าออกเหมือนว่าขยับแสงไฟ จะให้เกิดจะให้ดับไปอยู่ไหนก็ได้ ท่านอาจารย์ก็ต่อให้อีก ต่อมาก็พิจารณาอะไรก็ได้

• #ออกธุดงค์
เมื่อได้กสิณแล้วก็คิดว่าเราสบายแล้ว เที่ยวธุดงค์ไปดีกว่า จะไปนานหรือไม่ นานก็ไม่เป็นไร ตอนนั้นอายุราว ๓๑ ปี ถ้าอย่างไรก็หางานทําใหม่ได้ คิดแล้วก็เลยไปกราบลาท่านอาจารย์ และเขียนจดหมายลาท่านข้าหลวง คือ คุณปกรณ์ อังศุสิงห์ ว่าขอลาออกจากราชการ แม้ท่านจะอนุญาตหรือไม่ก็ตาม ก็ลงมากรุงเทพฯ พักวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน พักกับท่านเจ้าคุณอริยคุณาธาร (มหาเส็ง ปุสฺโส) ต่อมาท่านสึกไปอยู่เขาสวนกวาง แล้วต่อมาก็ไปพักวัดเจ้าคณะธรรมยุต คือช่วงนั้นเป็นพรรษาที่ ๑

ในช่วงที่บวชใหม่ๆ นั้น อาตมาก็ศึกษาพระไตรปิฎก ตั้งใจศึกษาอย่างยิ่ง อ่าน อ่าน แล้วก็ย่อ ย่อ ทําย่อเก็บไว้ๆ เอาไว้กันพระต้ม แล้วถ้าท่านเทศน์ถูกผิดเราจะได้รู้

ที่อุบลราชธานี ที่วัดใหญ่นี่มีเรื่องให้คิดดีอยู่เรื่องหนึ่ง คือมีคนเขาได้ว่านกันงูกัดมา เขาว่าดีนัก พากันดีใจ เย็นวันนั้นมันมากัดคนในวัดเลย นี่ ของดีมากถ้ามี มันก็เกิดมีของไม่ดีมาเกิดพร้อมกัน ที่มีของดีมันก็มาลองดี สู้ไม่มีเสียเลยดีกว่าหมดเรื่อง มีโรงพยาบาลสวยหรูทันสมัย น่าดู มีแต่คนป่วยที่เข้าไปไม่สบายด้วยนะ นี่แหละโลกสมัยใหม่ สวยงามเทคโนโลยี แต่แสงสว่างจิต ศีลธรรมประจําจิต ไม่มี ทุกข์เพราะโง่

• #ภาวนาทิ้งทวน
ต่อมาไปพักที่วัดเจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดโคราชแล้ว ไปจําพรรษา พ.ศ.๒๔๘๐ ที่วัดสุปัฏนาราม กับท่านเจ้าคณะธรรมยุต อุบลราชธานี มีเจ้าคุณธรรมปิฎกเป็นเจ้าอาวาส บังเอิญท่านเจ้าคุณออกตรวจการเดินทางไปด้วย พบวัดป่าลุมพกเปิดใหม่ (วัดป่าประชาอุทิศ) เมืองคําเขื่อนแก้ว (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดยโสธร) เป็นเมืองขอมโบราณ อยู่ไกลไปทางเหนือราว ๙๐ กิโลเมตร เป็นวัดป่าสร้างใหม่ มีอาจารย์ครูบานิด พรรษา ๕ เป็นผู้ก่อตั้ง อาตมาก็เลยชอบใจ ตั้งใจพักที่นี่ คือที่วัดนี้มีพระไม่มาก ๓-๔ องค์ การจัดวางผังขอวัดดีมาก แผนผังดี ตัดถนนเป็นตาหมากรุก มีกุฏิอยู่ ตามมุมจะมองไม่เห็นกัน มีต้นไม้ครึ้มร่มเย็นดี เป็นที่สัปปายะก็เลยตอนนั้นมาอยู่วัดนี้ อาตมาไม่ทิ้งภาวนา แต่ดวงกสิณใกล้จะดับแล้ว มันสว่างนิดๆ เท่านั้น

ก็เลยคิดว่าจะสึกแล้ว ก็เลยคิดจะอยู่ที่วัดป่าลุมพุก (วัดป่าประชาอุทิศ) นี้ ภาวนาครั้ง สุดท้ายแล้วสึก
ก็นึกว่า ไหนๆ เราจะสึกแล้ว เราจะสร้างพระเจดีย์ แต่เจดีย์ของเราไม่สร้างด้วยอิฐด้วยปูนอะไร เจดีย์ของเราจะสร้างด้วยการภาวนาถวายพระพุทธเจ้า จึงได้ภาวนาอย่างเต็มที่เลย แบบที่เรียกว่า “#ภาวนาทิ้งทวน”

ก็คิดเอาเองอีก วิธีนี้คือ ไม่เพ่งกสิณมาก แต่มาฝึกสติปัฏฐาน โดยเดินจงกรม ๕ ก้าวแรก เราจะเดินสติในกาย ให้สติรู้อยู่กับขากับเท้า ไม่มีคิดเรื่องอื่น กว่าจะได้ ๕ ก้าวเกือบแย่ ถ้าระหว่างนั้นเกิดแว็บไปคิดอะไรอื่น ก็เอาใหม่ ต้องนับหนึ่งใหม่ ภาวนานี้ส่วนใหญ่คิดเอาเอง ใช้วิธี (method) กัดปากเอาแล้วกํามือ เอาเล็บจิกมือไปพร้อมๆ ให้เจ็บมากๆ ทําแบบนี้ นี่ นี่ (ท่านเมตตาทําท่าให้ดู) ยืดแขนกํามือ กดเล็บจิกลงไปให้เจ็บ เจ็บจนคิดอื่นไม่ได้ รู้อยู่ที่เจ็บนั่นแหละ ก่อนให้จิตอยู่กับเจ็บ รู้อยู่ที่เจ็บ ให้มันเกาะอยู่ที่กาย เอาจนได้ ๕ ก้าว ก็เพิ่มขึ้นวันละ ๑ ก้าว หลักประจํามีว่า สติอยู่กับขา ระหว่างนั้นถ้าแว็บก็นับ ๑ ใหม่ ไม่ว่าจะได้ไปแล้วกี่ก้าว เล่นเอา เหงื่อตก ที่นี้สมมุติว่าวันนี้จะเดิน ๒๐ ก้าว พอเดินไปก้าวที่ ๑๙ แล้ว เอ๊ ทางกรุงเทพฯ เป็นไงน้า อิตาหลวงพิบูล (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) แกเป็นยังไงน้า เอ้าต้องเริ่มใหม่

ยิ่งทําได้เป็นเที่ยวก็ยิ่งยากขึ้น ถ้า ๕ เที่ยวก็ยากขึ้นไปอีก ถ้ากําหนดว่าวันนี้จะเดิน ๒๐ เที่ยว พอ ๑๕ เที่ยวก็ เอ้ นายควง (นายควง อภัยวงศ์) เป็นไงบ้างน้า (หลวงปู่ชอบคิดการเมือง) เอ้า เอาใหม่อีก เริ่มต้นใหม่ ที่นี่ วันนั้นคงได้ในราว ๑๕-๓๐ เที่ยว
ก็เกิดบังเอิญเย็นวันนั้นสรงน้ำตอนเย็นตามแบบบ้านนอกไทยๆ ก็ตักน้ำจากโอ่งขึ้นอาบ กําลังอาบอยู่ เกิดแสงสว่างเรื่องๆ เป็นแบบแสงรุ้ง เกิด พรึ่บ รอบกาย ภายนอกสว่าง รอบเหมือนกระด้ง เหมือนแบบที่เขาเขียนรัศมีรอบๆ นั่นแหละ ตอนนั้นเฉยๆ ไม่มีปีติสุขใด ๆ การเคลื่อนไหวกายก็ปกติ ก็สรงน้ำไป แสงสว่างรอบเหมือนกระด้งก็คงมีอยู่อย่างนั้น สรงน้ำเสร็จ เดินกลับกุฏิ แสงสว่างรอบก็มีอยู่อย่างนั้น ก็เลยนั่งอยู่ในกุฏิ วงสว่างยังคงเดิม คิดได้ว่า นี่เป็นสมาธิ คือ สมาธิเจริญปัญญา ปัญญาเกิดจากสมาธิ ก็เลยดูจิตนิ่ง เฉยๆ ไม่ต้องไปคิดอะไร คือตอนนี้ปริยัติก็ให้ผลเหมือนกัน นี่เป็นลักษณะจิต สมาธิ ปัญญา เกิดจากสมาธิภาวนา จิตนิ่ง พร้อมนิมิต ก็นั่งดูนิมิตเฉยๆ #ดูวงสว่างนั้น_ไม่ต้องคิดถามตอบอะไร_ไม่ไปอยากรู้อะไร แล้วก็เกิดมีเสียงคน ๒ คน คนเขาโต้กัน ถามตอบปัญหาธรรมกัน เรื่อง ขันธ์ ๕ มีจริงหรือเปล่า เสียงนั้นดังว่า “ขันธ์ ๕ มีจริงรึเปล่า ถ้ามีจริงก็วิ่งออกมาให้ดูเหมือนหนู ๕ ตัวซิ”

เสียงโต้กันสักพัก ก็รู้ขึ้นว่าจิตนี่เองมันมืด อวิชชา สังขารา จิตมันหลง ก็รู้ปฏิจจสมุปบาท ตอนต้น รู้ประจักษ์แจ้งในใจตนเอง ว่า จิตเท่านั้นเองมืด เหมือนคนที่ถูกเอาผ้าดํามาปิดหัว ปิดตาแน่น ไขว่คว้าอากาศไปมา หมุนไปมา นึกเอา หวังเอา คาดคะเนเอาว่าข้างนอก เป็นอย่างไร คือการทํางานของจิตอวิชชาของสัตว์โลกทั้งหมด ตั้งแต่ยอดพรหมลงไปสู่ก้นนรก ไม่เพียงคน จิตที่ยังไม่สว่าง ไม่ถึงโลกุตตรธรรม มรรคผล ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป เป็นจิตปุถุชน เป็นจิตสังขาร (อารมณ์ โลภหลง ภาพหลง) ตามปฏิจจสมุปบาท อวิชชาปัจจยา สงขารา สายกําเนิด โลภ หลง (line of causality) หรือพระอภิธรรมที่พระสวดตามงานศพนั่นแหละ

สรุป วันนี้รู้ปฏิจจสมุปบาทตอนต้น #ความคิดจะสึกหายไปหมดสิ้น ก็เลยออกจากวัดป่าลุมพุก (ซึ่งอยู่ห่างจากอําเภอเมืองอุบลราชธานี ไปประมาณ ๙๐ กิโลเมตร) ไปหาท่านพ่อลี (ท่านพระอาจารย์ลี ธัมมธโร ศิษย์รุ่นที่ ๒ ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และเป็นผู้ก่อตั้ง วัดอโศการาม) ตอนนั้นราวปี พ.ศ.๒๔๙๑ ยังอยู่ในพรรษา ๑ ช่วงนั้นท่านพระอาจารย์เทสก์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ยังอยู่ที่วัดเขาน้อย จันทบุรี เช่นกัน ต่อมาท่านเดินทางไปอยู่ปักษ์ใต้ พังงา ภูเก็ต

ก็ไปขออยู่กับท่านพระอาจารย์ลี ที่วัดคลองกุ้ง จันทบุรี ไปอยู่ ๑ พรรษา ก็เกิดบังเอิญมีคนที่เคยภาวนากับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาส (สมัย ร.๖ ภาวนามาตั้ง ๔๐ ปี) เป็นมารดาของคุณปกรณ์ อังศุสิงห์ อยู่บางกะแจะ จันทบุรี ใช้ให้คนมานิมนต์ ท่านหลวงพ่อลีไปเทศน์เรื่อง อริยสัจ ๔ ที่บ้าน ผู้นิมนต์กําลังนิมนต์อยู่ ท่านพระอาจารย์ลี ท่านอยู่บนกุฏิไม้ชั้นบนสูง ก็พอดีเราเดินผ่านหน้ากุฏิท่าน ตอนนั้นท่านร้องส่งเสียงดังลงมาสั่งทันทีว่า “บุญฤทธิ์ไปเทศน์เรื่องอริยสัจ ๔ ที” เท่านั้นเอง แล้วท่านก็ไม่ได้แนะได้สอนอะไร

พูดเรื่องการไปแสดงธรรมเทศนานี้ โยมแม่ของคุณปกรณ์ อังศุสิงห์ ซึ่งภาวนามา ๔๐ ปีแล้ว และเป็นลูกศิษย์พระใหญ่ๆ อย่างเป็นศิษย์ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ นี้ เวลานิมนต์พระไปเทศน์ โยมจะตั้งหัวข้อให้เลย พระก็ต้องเทศน์ตามหัวข้อนี้แหละ

ทีนี้วันนั้นก็อย่างที่เล่าว่า พอเดินผ่านกุฏิท่านอาจารย์ ท่านก็ตะโกนสั่งให้เราไปเทศน์แทน ก็รีบไปค้นหนังสือ ก็ไม่เห็นค่อยมีอะไร คืนวันนี้คือปกติที่วัดป่านี่ไหว้พระสวดมนต์แล้วก็มีภาวนา อีกราว ๔๕ นาที พอคืนนั้นเขาเลิกภาวนากันแล้ว อาตมาก็อยู่ภาวนาต่อ คราวนี้ต้องอาศัยของเก่า ก็คิดเอาเอง รวบรวมกําลังเพ่งไปเป็นวงกลม #คืออาศัยของเก่า “#วงกสิณแสงสว่าง” เป็นพื้นฐานปัญญา คือเพ่งจิตสมาธิ #ฝึกให้เกิดวงสว่าง_แล้วรวมพลังจิต_กําลังใจกายเพ่งมุ่ง_ตรงไปจุดเดียว_ที่ตรงใจกลางวงสว่างนั้น_พรึ่บ นิมิตกสิณก็ปรากฏเป็นภาพทันที เป็นภาพขาวดําเหมือนภาพยนตร์แบบทีวี เห็นเป็นภาพคนพายเรือจ้างแบบไทย พายออกไปในทะเลตอนค่ำ คนนั้นพายไปก็มองดูคลื่นในทะเล ก็เกิดสงสัยคลื่นเป็นยังไง ก็เอามือจุ่มลงไป ลุ่มน้ำทะเลดูทันที ก็เกิดความรู้ทันที น้ำไม่ใช่คลื่น คลื่นก็ไม่ใช่น้ำ พิสูจน์โดดลงไปในน้ำ ตัวกลายเป็นธาตุน้ำไปหมด มหาสมุทรตัวแท้คือธาตุน้ำ อยู่เสมอ จุ่มลงก็เปียก ส่วนคลื่นเป็นอาการ (movement dynamic is not H2O Constant (Chemical) temporal is not untemporal, relativity is not absolute.) คือมันจริง แค่โง่ แค่กิเลส แค่สังขาร (ไม่ใช่จริงแท้ พุทธธรรม วิสังขาร) เป็นอวิชชาปัจจยา สังขารา ปฏิจจสมุปบาท เป็น line of causality ที่พระท่านสวดงานศพ ที่พระพุทธองค์ทรงกล่าว ว่า อวิชชาโง่ เป็นเหตุ ทุกข์ หลง เป็นเหตุ รู้แจ้งเมื่อโดดจากเรือลงไปในน้ำ ตัวละลายกลายเป็นธาตุน้ำไปหมด กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธาตุน้ำมหาสมุทร หมดสงสัยธรรมธาตุ สังขารก็ดี วิสังขารก็ดี อาการ ไม่ใช่อาการธรรมดาอยู่อย่างนั้นเอง พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า “พระองค์จะทรงปรากฏหรือไม่ก็ตาม อริยสัจ ๔ นิพพานธรรม สังขาร วิสังขารธรรม ก็เป็นอยู่อย่างนั้น”

ตกลงก็เลยได้ไปเทศน์ให้โยมฟัง (พวกพระเทศน์ แบบโวหารตามคัมภีร์เขาไม่เอา) โยมชอบใจมาก เพราะอาตมาเทศน์อยู่นาน พอเทศน์เสร็จโยมก็บอกว่า “เอ้า ใครอยากซักถามเพื่อนก็มาถามชิ” เรียกคนโน้นคนนี้มา ช่วยซักถามต่อ แต่ไม่มีคนถาม ก็พอรอดตัวไปได้ดี

• #พระป่าประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
ปีนั้น พ.ศ.๒๔๙๑ พอออกพรรษา ท่านพระอาจารย์ลี ท่านก็ไปจําพรรษาต่อที่เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย (พ.ศ.๒๔๙๒) แล้วไปอยู่วัดโรงธรรมสามัคคี ที่สันกําแพง ก็ได้มีโอกาสบังเอิญในงานประจําปี ปีนั้นเป็นวันวิสาขบูชา ที่วัดเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ มีพระป่ามาประชุมกันมากมายร่วม ๑๐๐ องค์โดยท่านไม่ได้นัดหมายกัน เขาจัดรับพระนั่งที่ใต้ถุนกุฏิเจ้าอาวาส มีโต๊ะนั่งสี่เหลี่ยมตัวหนึ่ง ทําให้หลวงปู่ได้มีโอกาส ได้พบพระป่าผู้ใหญ่หลายรูป

หลวงปู่ได้โอกาสนั่งใกล้พระอาจารย์แหวน (หลวงปู่แหวน สุจิณโณ) วัดป่าห้วยน้ำริน ตอนนั้น ท่านยังไม่ชรามาก ยังแข็งแรง จากหลวงปู่แหวนก็มี หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม วัดป่าแม่ริม จ.เชียงใหม่ ท่านนั่งอยู่ทางขวา และมีท่านอาจารย์อีกองค์หนึ่ง องค์ดําๆ รูปองค์เล็กๆ นั่งตรงข้าม ท่านนั่งสงบ ไม่พูดจา ไม่หัวเราะอะไร นั่งนิ่งเงียบ (แท้จริงคือหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ซึ่งตอนนั้นหลวงปู่บุญฤทธิ์ยังไม่รู้จักท่านมาก่อน) อาตมาก็นึกว่าในใจ “พระบ้านนอก” ในคืนวันวิสาขบูชานั้นเอง เมื่อพระและชาวบ้านประชุมกันในศาลาใหญ่ วัดเจดีย์หลวง จึงได้รู้ว่าท่านคือ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ศิษย์องค์สําคัญของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต คืนนั้นพระอาจารย์มากมายหลายองค์ถูกนิมนต์ขึ้นเทศน์ ก็มีการนิมนต์หลวงปู่ชอบ นิมนต์สองครั้ง ท่านนั่งนิ่งเฉย อาตมาก็ได้นึกว่า “ท่านไปอยู่ป่าอยู่เขา กับกะเหรี่ยงทําไมนะ” โดยไม่รู้ตัวเลย หลวงปู่ไม่รู้ตัวเลยว่าอีกไม่กี่วันที่จะถึงวันเข้าพรรษา หลวงปู่ก็จะได้ไปอยู่กับองค์หลวงปู่ชอบที่วัดป่าบ้านยางผาแด่น วัดป่าที่องค์หลวงปู่ชอบท่านไปตั้งขึ้น อยู่บนภูเขาสูง กลางดงป่าใหญ่ แสนจะทุรกันดาร ไม่มีทางรถไปถึง มีแต่จะต้องบุกป่าฝ่าหนาม ปีนเขาขึ้นไปเท่านั้น

ก็ตามเคยคือบังเอิญท่านพ่อลี (พระอาจารย์ลี ธัมมธโร) กลับมาจากอินเดียแล้ว สมเด็จวัดบรมนิวาส (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสโส อ้วน) ผู้มีพรรษาแก่กว่าพระอาจารย์มั่น (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) ได้นิมนต์ให้ท่านพ่อลีอยู่จําพรรษาที่วัดบรมนิวาส เพื่อสอนภาวนาองค์ท่านโดยเฉพาะ เพราะในตอนนั้นสมเด็จชราภาพมากแล้วกว่า ๘๐ พรรษา หลวงปู่ก็ลงไปเยี่ยมนมัสการท่านพ่อลี และพักอยู่ที่วัดบรมนิวาส พักที่กุฏิท่านปลัด (ผู้เคยเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น) อาตมาก็เลยถามท่านว่า “เคยได้ยินชื่อหรือเคยรู้จักท่านอาจารย์ชอบไหม”

ท่านปลัดตอบทันทีว่า “โอ ท่านองค์นี้เป็นศิษย์องค์สําคัญมากของหลวงปู่มั่น #ท่านเป็นผู้มีอภิญญามาก” เพราะคํานี้คําเดียว “#มีอภิญญามาก” ที่บังเอิญทําให้หลวงปู่ตัดสินใจกลับเชียงใหม่ทันที “แต่อาตมานี่ คนชอบดูถูกว่าพระกรุงเทพฯ” ท่านพระอาจารย์ลีถามโยมที่ห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “บุญฤทธิ์ ถ้าขึ้นเขากะเหรี่ยงนี้ใช้เวลากี่วัน” โยมตอบ “สัก ๒ วันครับ” ท่านว่า “โอ้ เราเดินครึ่งวันขาเดียว แต่เอาจริงๆ ก็ ๒ วัน”

จากวัดบรมนิวาส อาตมาก็รีบกลับวัดดวงแข หัวลําโพง กลับไปวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ตอนนั้นใกล้เข้าพรรษาแล้ว ก็รีบไปลาท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาส เรียนว่าจะไปจําพรรษากับ พระอาจารย์ชอบ ท่านเจ้าอาวาสก็ห้ามว่า “บุญฤทธิ์ ประเดี๋ยวก็หามออกมาหรอก”

อาตมาไม่เชื่อใครหรอก ตอนนั้นรีบลา ออกเดินทาง ก็ไปตอนแรกไปพักอยู่วัดแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

คัดลอกจากหนังสือชีวประวัติ พระบุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ; หน้า ๙๐ – ๙๙ ขออนุญาตพิมพ์เผยแผ่เป็นธรรมทานครับ . . . ส า ธุ
แอดมินท่องถิ่นธรรมจะทยอยพิมพ์ให้อ่านจนถึงวันงานพระราชทานเพลิงฯนะครับ

• • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •
#ร่วมบุญโรงทานงานหลวงปู่บุญฤทธิ์โดยศิษย์หลวงปู่ชอบ
• ขอเชิญร่วมบุญโรงทานถวายในงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต โรงทานในนามศิษย์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม , โรงทานในนามศิษย์หลวงปู่ท่อน ญาณธโร , โรงทานในนามศิษย์หลวงปู่สมศรี อัตตสิริ วัดเวฬุวนาราม โรงทานวัดป่ากกโพธิ์วังกำ และโรงทานวัดป่าท่าสวย (ศิษย์สายเมืองเลย)
#ท่านผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบุญได้ที่บัญชี
ธนาคารไทยพานิชย์ ชื่อบัญชี พระอำนวย พร้อมเพ็ง เลขที่บัญชี 528-2-45156-4
สอบถามเพิ่มเติมที่ ท่านพระอาจารย์อำนวย เจ้าอาวาสวัดป่าท่าสวย โทร. 088-540-1839

#ร่วมบุญโรงทานในนามศิษย์หลวงปู่ชอบ_ฐานสโม และ #โรงทานวัดป่าสายเมืองเลย จัดทำโดย วัดป่าท่าสวย จ.เลย , วัดป่ากกโพธิ์ จ.เลย และศิษย์พระกัมมัฏฐานสายเมืองเลย นำโดยพระครูสิทธิจริยาภรณ์ ท่านพระอาจารย์อำนวย กันตจาโร ซึ่งจัดทำภัตตาหารถวายพ่อแม่ครูอาจารย์ คณะสงฆ์ ที่มาร่วมงานฯ ระยะเวลา 5 วัน ตลอดถึงหมู่สงฆ์ที่มาช่วยเก็บงานจนแล้วเสร็จ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 ถึงวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2562 อีกทั้งยังแจกจ่ายกาแฟสด ,เครื่องดื่ม และอาหารแก่ญาติโยมผู้มาร่วมงานฯ อีกด้วย

ขออนุโมทนาบุญกับผู้มีกุศลเจตนาบุญทุกๆ ท่านครับ...สาธุครับผม

#การบอกบุญเฉพาะในส่วนทำโรงทานไม่ใช่ทำบุญในงานพระราชทานเพลิงฯนะครับ
#แชร์บอกบุญต่อกันได้เลยนะครับ_สาธุ

=== ขอบพระคุณข้อมูลจาก : FB เฉลิมชัย จารุพัฒนเดช

 36 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2019, 02:49:13 PM 
เริ่มโดย AVATAR - กระทู้ล่าสุด โดย AVATAR
คำว่า บุญ กับคำว่า กุศล
พวกเราชาวพุทธคงได้ยินหรือได้ฟังกันบ่อยๆนะครับ
เราลองมาดูความหมายที่แท้จริงของ 2 คำนี้กันครับ

บุญ กับ กุศล

เมื่อใดมีการพิจารณากันให้ละเอียดถี่ถ้วน เมื่อนั้นจะพบความแตกต่างระหว่าง สิ่งที่เรียกกันว่า "บุญ" กับ สิ่งที่เรียกว่า "กุศล" บ้างไม่มากก็น้อย
แล้วแต่ความสามารถในการพินิจพิจารณา แต่ว่าโดยเนื้อแท้แล้ว บุญ กับ กุศล ควรจะเป็น คนละอย่าง หรือ เรียกได้ว่า ตรงกันข้าม ตามความหมายของรูปศัพท์แห่งคำสองคำนี้ทีเดียว

คำว่า บุญ มีความหมายว่า ทำให้ฟู หรือ พองขึ้น บวมขึ้น นูนขึ้น,

ส่วนคำว่า กุศล นั้น แปลว่า แผ้วถาง ให้ราบเตียนไป โดยความหมายเช่นนี้ เราย่อมเห็นได้ว่า เป็นของคนละอย่างหรือเดินคนละทาง

บุญ เป็นสิ่งที่ทำให้ฟูใจพอใจชอบใจ เช่น ทำบุญให้ทานหรือรักษาศีลก็ตาม แล้วก็ฟูใจ อิ่มเอิบ หรือ แม้ที่สุดแต่รู้สึกว่า ตัวได้ทำสิ่งที่ทำยาก ในกรณีที่ทำบุญเอาหน้า เอาเกียรติ อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่า ได้บุญ เหมือนกันแม้จะเป็น บุญชนิดที่ไม่สู้จะแพ้ หรือแม้ในกรณีที่ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
เพื่อเอาบุญกันจริงๆ ก็ยังอดฟูใจไม่ได้ว่า ตนจะได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์
มีความปรารถนาอย่างนั้น อย่างนี้ ในภพนั้น ภพนี้ อันเป็น ภวตัณหา นำไปสู่การเกิดในภพใหม่ เพื่อเป็น อย่างนั้น อย่างนี้ ตามแต่ ตนจะปรารถนา ไม่ออกไปจาก การเวียนว่ายตายเกิด ในวัฎสงสาร ได้ แม้จะไปเกิดในโลกที่เป็นสุคติ

อย่างไรก็ตาม ฉะนั้น ความหมายของคำว่า บุญ จึงหมายถึง สิ่งที่ทำให้ฟูใจและเวียนไปเพื่อความเกิดอีก ไม่มีวันที่สิ้นสุดลงได้

ส่วนกุศลนั้น เป็นสิ่งที่ ทำหน้าที่ แผ้วถาง สิ่งกีดขวาง ผูกรัด หรือ รกรุงรัง ไม่ข้องแวะ กับความฟูใจ หรือ พอใจ เช่นนั้น แต่มีความมุ่งหมายจะกำจัดเสียซึ่งสิ่งต่างๆ อันเป็นเหตุให้พัวพัน อยู่ในกิเลสตัณหา อันเป็น เครื่องนำให้ เกิดแล้วเกิดอีก และมีจุดมุ่งหมาย กวาดล้างสิ่งเหล่านั้นออกไปจากตัว

ในเมื่อบุญต้องการโอบรัด เข้ามาหาตัว ให้มีเป็น ของของตัว มากขึ้น ในเมื่อฝ่ายที่ถือข้างบุญยึดถืออะไรเอาไว้มากๆ และพอใจ ดีใจนั้น
ฝ่ายที่ถือข้างกุศล ก็เห็นว่า การทำอย่างนั้น
เป็นความโง่เขลา ขนาดเข้าไป กอดรัดงูเห่า ทีเดียว ฝ่ายข้างกุศล หรือ ที่เรียกว่า ฉลาด นั้นต้องการจะปล่อยวางหรือผ่านพ้นไป ทั้งช่วยผู้อื่น ให้ปล่อยวาง หรือ ผ่านพ้นไปด้วยกัน ฝ่ายข้างกุศล จึงถือว่าฝ่ายข้างบุญนั้น ยังเป็นความมืดบอดอยู่

แต่ว่า บุญ กับ กุศล สองอย่างนี้ ทั้งที่มี เจตนารมณ์ แตกต่างกัน ก็ยังมี การกระทำทางภายนอกอย่างเดียวกัน ซึ่งทำให้เราหลงใหลในคำสองนี้อย่างฟั่นเฝือ เพื่อจะให้
เข้าใจกันง่ายๆ เราต้องพิจารณา ดูที่ตัวอย่างต่างๆ ที่เรา กระทำกัน อยู่จริงๆ คือ
ในการให้ทาน ถ้าให้เพราะจะเอาหน้าเอาเกียรติ หรือ เอาของตอบแทน เป็นกำไร หรือ เพื่อผูกมิตร หาพวกพ้อง หรือ แม้ที่สุดแต่ เพื่อให้บังเกิดในสวรรค์ อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทานเอาบุญหรือได้บุญ แต่ถ้าให้ทาน อย่างเดียวกันนั่นเอง แต่ต้องการ
เพื่อขูดความขี้เหนียว ของตัว ขูดความเห็นแก่ตัว หรือให้เพื่อค้ำจุนศาสนา เอาไว้ เพราะเห็นว่า ศาสนาเป็น เครื่องขูดทุกข์ ของโลก หรือ ให้เพราะ เมตตาล้วนๆ
โดยบริสุทธิ์ใจ หรืออำนาจเหตุผล อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่ง ปัญญาเป็นผู้ชี้ขาดว่า ให้ไปเสีย มีประโยชน์มากกว่าเอาไว้อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทานเอากุศล หรือได้กุศล

ซึ่งมันแตกต่างๆ ไปคนละทิศ ละทางกับการให้ทานเอาบุญ เราจะเห็นได้กันสืบไป
อีกว่า การให้ทานเอาบุญนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการฟุ่มเฟือยขึ้นในสังคม ฝ่ายผู้รับทาน
จนกลายเป็นผลร้ายขึ้น ในวงพระศาสนาเอง หรือในวงสังคมรูปอื่นๆ เช่น มีคนขอทานในประเทศมากเกินไป เป็นต้น การให้ทาน ถูกนักคิดพากันวิพากษ์วิจารณ์ในแง่เสื่อมเสีย ก็ได้แก่ การให้ทานเอาบุญนี้เอง

ส่วนการให้ทานเอากุศลนั้นอยู่สูง
พ้นการที่ถูกเหยียดอย่างนี้ เพราะว่ามีปัญญาหรือเหตุผลเข้าควบคุม แม้ว่าอยากจะให้ทาน เพื่อขูดเกลา ความขี้เหนียว ในจิตใจ ของเขา ก็ยังมีปัญญา รู้จักเหตุผลว่าควรให้ ไปในรูปไหน มิใช่เป็นการให้ไปในรูปละโมบบุญหรือเมาบุญ เพราะว่ากุศลไม่ได้เป็นสิ่งที่หวานเหมือนกับบุญ จึงไม่มีใครเมา และไม่ทำให้เกิดการเหลือเฟือผิดความสมดุลขึ้นในวงสังคมได้เลย นี่

เราพอจะเห็นได้ว่า ให้ทานเอาบุญ กับ ให้ทานเอากุศลนั่น ผิดกันเป็นคนละอันอย่างไร

ในการรักษาศีล ก็เป็นทำนองเดียวกันอีก รักษาศีลเอาบุญ คือรักษาไปทั้งที่ไม่รู้จักความมุ่งหมายของศีล เป็นแต่ยึดถือในรูปร่างของการรักษาศีล แล้วรักษาเพื่ออวด เพื่อนฝูง หรือ เพื่อแลกเอาสวรรค์ ตามที่ นักพรรณนาอานิสงส์ เขาพรรณนากันไว้หรือ ทำอย่างละเมอไปตามความนิยมของคนที่มีอายุล่วงมาถึงวัยนั้นวัยนี้ เป็นต้น
ยิ่งเคร่งเท่าใด ยิ่งส่อความเห็นแก่ตัว และความยกตัว มากขึ้น เท่านั้น ยิ่งมีความยุ่งยากในครอบครัว หรือวงสังคม เกิดขึ้นใหม่ๆ แปลกๆ เพราะ ความเคร่งครัดในศีลของบุคคลประเภทนี้อย่างนี้ เรียกว่ารักษาศีลเอาบุญ

ส่วนบุคคลอีกประเภทหนึ่ง รักษาศีลเพียงเพื่อให้เกิดการบังคับตัวเอง สำหรับจะเป็นทางให้เกิดความบริสุทธิ์ และความสงบสุขแก่ตัวเองและเพื่อนมนุษย์เพื่อใจสงบ สำหรับเกิดปัญญาชั้นสูง นี้เรียกว่า รักษาศีลเอากุศล รักษามีจำนวน เท่ากันลักษณะเดียวกัน ในวัดเดียวกัน แต่กลับเดินไป คนละทิศละทาง

อย่างนี้เป็นเครื่องชี้ ให้เห็นภาวะแห่งความแตกต่าง ระหว่างคำว่า บุญ กับคำว่า กุศล คำว่า กุศลนั้น ทำอย่างไรเสียก็ไม่มีทางตกหล่ม จมปลักได้เลย ไม่เหมือนกับคำว่า บุญ และกินเข้าไป มากเท่าไร
ก็ไม่มีเมา ไม่เกิดโทษ ไม่เป็นพิษ ในขณะที่ คำว่า บุญ แปลว่า เครื่องฟูใจนั้น คำว่ากุศล แปลว่า ความฉลาดหรือเครื่องทำให้ฉลาด และ ปลอดภัย ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในการเจริญสมาธิ ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือ สมาธิเอาบุญ ก็ได้ เอากุศลก็ได้
สมาธิเพื่อดูนั่นดูนี่ ติดต่อกับ คนโน้นคนนี้ ที่โลกอื่น ตามที่ ตนกระหาย จะทำให้เก่งกว่าคนอื่น หรือ สมาธิ เพื่อการไปเกิด ในภพนั้น ภพนี้ อย่างนี้เรียกว่าสมาธิเอาบุญ หรือ ได้บุญ เพราะทำใจให้ฟู ให้พอง ตามความหมายของมันนั่นเอง ซึ่งเป็นของที่ปรากฏว่า ทำอันตราย แก่เจ้าของ ถึงกับต้อง รับการรักษา
เป็นพิเศษ หรือ รักษาไม่หาย จนตลอดชีวิต ก็มีอยู่ไม่น้อย เพราะว่า สมาธิเช่นนี้มีตัณหาและทิฎฐิเป็นสมุฎฐาน แม้จะได้ผลอย่างดีที่สุดก็เพียงได้เกิดในวัฏสงสารตามที่ตนปรารถนาเท่านั้น ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน

ส่วนสมาธิ ที่มีความมุ่งหมาย
เพื่อการบังคับใจตัวเอง ให้อยู่ในอำนาจ เพื่อกวาดล้าง กิเลส อันกลุ้มรุมจิตให้ราบเตียน ข่มขี่มิจฉาทิฎฐิ อันจรมา ในปริมณฑลของจิต ทำจิตให้ผ่องใส เป็นทางเกิดของวิปัสสนาปัญญา อันดิ่งไปยังนิพพาน เช่นนี้เรียกว่า สมาธิได้กุศล
ไม่ทำอันตรายใคร ไม่ต้องหาหมอรักษา ไม่หลงวนเวียน ในวัฎสงสาร จึงตรงกันข้าม จากสมาธิเอาบุญ

ครั้นมาถึงปัญญา นี้ไม่มีแยกเป็นสองฝ่าย คือไม่มีปัญญาเอาบุญ เพราะตัวปัญญานั้น เป็นตัวกุศล เสียเองแล้ว เป็นกุศลฝ่ายเดียว นำออกจากทุกข์อย่างเดียว แม้ยังจะต้องเกิดในโลกอีก เพราะยังไม่แก่ถึงขนาด ก็มีความรู้สึกตัว เดินออกนอกวัฎสงสาร มีทิศทางดิ่งไปยังนิพพานเสมอ ไม่วนเวียน
จนติดหล่ม จมเลน โดยความไม่รู้สึกตัว ถ้ายังไม่ถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่เรียกว่าปัญญาในกองธรรม หรือ ธรรมขันธ์ ของพุทธศาสนา ดังเช่น ปัญญาในทางอาชีพหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นต้น

ตามตัวอย่าง ที่เป็นอยู่ในเรื่องจริง ที่เกี่ยวกับ การกระทำ ของพวกเราเอง
ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำให้เราเห็นได้ว่า การที่เราเผลอหรือถึงกับหลงเอาบุญ กับ กุศล มาปนเป เป็นอันเดียวกันนั้น ได้ทำให้เกิด ความสับสนอลเวงเพียงไร และทำให้คว้าไม่ถูกตัวสิ่งที่เราต้องการ จนเกิดความยุ่งยากสับสนอลหม่าน ในวงพวกพุทธบริษัทเองเพียงไร ถ้าเรายังขืนทำสุ่มสี่สุ่มห้า เอา
ของสองอย่างนี้ เป็นของอันเดียวกัน อย่างที่ เรียกกัน พล่อยๆ ติดปากชาวบ้านว่า

"บุญกุศลๆ" เช่นนี้อยู่สืบไปแล้ว เราก็จะไม่สามารถ แก้ปัญหา ต่างๆ อันเกี่ยวกับการทำบุญกุศลนี้ ให้ลุล่วงไปด้วยความดี จนตลอดกัลปาวสาน ก็ได้

ถ้ากล่าวให้ชัดๆ สั้นๆ บุญเป็นเครื่องหุ้มห่อ กีดกั้นบาป ไม่ให้งอกงาม หรือปรากฏ หมดอำนาจบุญเมื่อใด บาปก็จะโผล่ออกมา และงอกงามสืบไปอีก

ส่วนกุศลนั้น เป็นเครื่องตัด รากเหง้าของบาป อยู่เรื่อยไป จนมันเหี่ยวแห้ง สูญสิ้นไม่มีเหลือ

ความต่างกันอย่างยิ่งย่อมมีอยู่ ดังกล่าวนี้

คนปรารถนาบุญ จงได้บุญ คนปรารถนากุศล ก็จงได้กุศล
และปลอดภัย ตามความปรารถนา แล้วแต่ใคร จะมองเห็น
และจะสมัครใจ จะปรารถนาอย่างไร ได้เช่นนี้

เมื่อใดจึงจะชื่อว่า พวกเรารู้จัก บุญกุศล กันจริงๆ รู้ทิศทางแห่งการก้าวหน้าและทิศทางที่วกเวียน ว่าเป็นของที่ไม่อาจจะเอามาเป็นอันเดียวกันได้เลย แม้จะเรียกว่า "ทางๆ" เหมือนกัน ทั้งสองฝ่าย

วัดธารน้ำไหล

๒๕ มิ.ย. ๒๔๙๓

 37 
 เมื่อ: ธันวาคม 12, 2018, 11:30:20 AM 
เริ่มโดย golfreeze - กระทู้ล่าสุด โดย golfreeze
คติธรรมคำสอน แห่งพระบูรพาจารย์ สายวัดป่ากรรมฐาน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่มั่นผู้มีลักษณะพิเศษของ "มหาบุรุษ"
เพราะหลวงปู่มั่น ท่านเคยปรารถนาพุทธภูมิ
(เรื่องเล่า หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
(บันทึกโดย หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ)

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตเป็นผู้มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร
ตั้งแต่วันบรรพชาอุปสมบท จนกระทั่งวาระสุดท้ายเรียกว่าครบบริบูรณ์ เหมือนกับว่า เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ผล คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ อันนี้เป็นผลของความมักน้อย สันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร ท่านพระอาจารย์มั่น ทำได้สม่ำเสมอ ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งชีวิต จนกระทั่งบั้นปลายชีวิต

ธุดงควัตรของท่าน คือบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ฉันในบาตรเป็นวัตร ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ผู้ที่จะไปถวาย ถ้าเป็นจีวรสักผืนหนึ่ง ผ้าสบง ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เรียกว่าผ้าก็แล้วกัน ถ้าจะถวายท่าน เขามักจะไปวางไว้ที่บันไดบ้าง วางใกล้ๆ กุฏิของท่านบ้าง วางตรงทางเดินไปห้องน้ำบ้าง ท่านเห็นก็บังสุกุลเอา บางผืนก็ใช้ บางผืนก็ไม่ได้ใช้ ผู้ไม่รู้อัธยาศัยไปถวายกับมือ ท่านจะไม่ใช้

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระนักปฏิบัติ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม ในยุค ๒,๐๐๐ ปี เป็นสาวกที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบ ด้วยลักษณะภายนอกและภายใน เพราะเหตุนั้นชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์เกียรติคุณของท่าน จึงขจรขจายถึงทุกวันนี้ แทนที่จะเป็น ๖๐ ปีแล้วก็เลือนหายไป กลับเพิ่มขึ้นๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพราะบุคลิกของท่านนั้น เป็นบุคลิกที่สมบูรณ์แบบ ในความรู้สึกของผู้เล่า ท่านพระอาจารย์มั่น เป็นบุคคลน่าอัศจรรย์ในยุคนี้

ขอให้ท่านสังเกตดูในรูปภาพ คิ้ว คาง หู ตา จมูก มือ และเท้า ตลอดชีวิตของท่านนั้น ท่านเดินทางข้ามเขาไปไม่รู้กี่ลูก จนเท้าพอง ไม่ใช่เท้าแดงหรือเท้าเหลือง

คิ้ว ท่านมีไฝตรงระหว่างคิ้ว ลักษณะคล้ายกับพระอุณาโลมของพระพุทธเจ้า ไฝอันนี้เป็นจุดดำเล็กๆ ไม่ได้นูนขึ้นมา มีขนอ่อน ๓ เส้น ไม่ยาวมาก และโค้งหักเป็นตัวอักษร ก เป็นเส้นละเอียดอ่อนมากถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็น ขณะท่านปลงผมจะปลงขนนี้ออกด้วย แต่จะขึ้นใหม่ในลักษณะเดิมอีก

ใบหูของท่านมีลักษณะหูยาน จมูกโด่ง แววตาของท่านก็เหมือนแววตาไก่ป่า บางคนอาจไม่เคยเห็นไก่ป่า คือ เป็นวงแหวนในตาดำ มือของท่านนิ้วชี้จะยาวกว่า แล้วไล่ลงมาจนถึงนิ้วก้อย นิ้วเท้าก็เหมือนกัน

หลวงปู่หล้าท่านก็เคยเล่าว่า เวลาล้างเท้าหลวงปู่มั่น เห็น ฝ่าเท้าของท่านเป็นลายก้นหอย ๒ อัน และมีรอยอยู่กลางฝ่าเท้า เหมือนกากบาทเวลาท่านเดินไปไหน ท่านเดินก่อน สานุศิษย์จะไม่เหยียบรอยท่าน พอท่านเดินผ่านไปแล้ว ชาวบ้านจะไปมองดู จะเห็นเป็นลายตารางปรากฏอยู่ทั้งสองฝ่าเท้า

รอยนิ้วเท้าก็เป็นก้นหอยเหมือนกัน จะเรียกก้นหอยหรือวงจักรก็ได้ มีอันใหญ่กับอันเล็ก ๒ อัน เป็นลักษณะพิเศษของท่าน (หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร วัดป่านาสีดา อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้เล่าเสริมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ขณะหลวงปู่จันทร์โสมพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น ได้ถวายการนวดหลวงปู่มั่น เมื่อท่านหลับแล้ว หลวงปู่ได้พลิกดูฝ่ามือของหลวงปู่มั่น พบว่า มีเส้นกากบาทเต็มฝ่ามือทั้งสองข้าง และมือท่านก็นิ่มมาก)
บุคคลทุกระดับ เมื่อเข้าไปถึงท่านแล้ว ท่านจะเป็นกันเองมาก คุยสนุกสนานเหมือนคนรู้จักกันมานาน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลที่มักจะเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ ท่านจะไม่ค่อยเป็นกันเองเท่าไหร่ ถามคำไหนได้คำนั้น ถ้าไม่ถามท่านก็นั่งเฉย

ท่านพระอาจารย์มั่นเคยพูดว่า
"ผู้ที่จะมาศึกษาธรรมะกับเรา จะเป็นญาติโยมก็ดี หรือเป็นพระสงฆ์ก็ดี ขอให้เก็บหอกเก็บดาบไว้ที่บ้านเสียก่อน อย่านำมาที่นี่ อยากมาปฏิบัติ มาฟังเทศน์ฟังธรรม ถ้านำหอกนำดาบมา จะไม่ได้ฟังเทศน์ของพระแก่องค์นี้"

แม้กระทั่งเด็กที่ไม่รู้เดียงสา ป.๒-๓-๔ ท่านก็ทำเป็นเพื่อนได้ ในความรู้สึกของผู้เล่าผู้อยู่ใกล้ชิด เวลาท่านอยู่กับเด็ก กิริยาของท่านก็เข้ากับเด็กได้ดี เพราะฉะนั้นความโดดเด่นของท่าน ใครเข้าไปแล้วกลับออกมาก็อยากเข้าไปอีก ใครได้ฟังเทศน์ฟังธรรมแล้ว กลับออกมาก็อยากฟังอีก

อันนี้คืออานิสงส์ที่ท่านตั้งปณิธานว่า ข้าพระองค์ขอปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเหมือนอย่างพระองค์ หลังจากที่ได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศนาจนจบ จึงได้ตั้งปณิธานเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า คือ องค์สมณโคดมนี้
(ขณะนั้นท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเสนาบดีแห่งแคว้นกุรุ - ภิเนษกรมณ์)

หลังจากนั้นก็เวียนว่ายตายเกิดจนชาติปัจจุบันมาเป็นท่านพระอาจารย์มั่น
ทีนี้ทำไมท่านจึงละความปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพิจารณาแล้ว รู้สึกว่าตัวเรานี้ปรารถนาพุทธภูมิจึงมาสร้างบารมี ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิ เขาคิดอยู่ในใจเหมือนกับเรานับไม่ถ้วน ผู้ที่ออกปากแล้วเหมือนกับเราก็นับไม่ถ้วน ผู้ที่ได้รับพระพุทธพยากรณ์แล้วก็นับไม่ถ้วน และผู้ที่จะมาตรัสรู้ข้างหน้ามีอีกหลายองค์ เช่น พระศรีอริยเมตไตรย พระเจ้าปเสนทิโกศล กว่าจะถึงวาระของเรา มันจะอีกนานเท่าไหร่ เราขอรวบรัดตัดตอนให้สิ้นกิเลสในภพนี้เสียเลย ท่านพิจารณาเช่นนี้ จึงได้ละความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า

ให้เสียงภาษาไทยโดย ฟ้าทะลายโจร
ประเภท : พุทธศาสนสุภาษิต, ธรรมคำสอน
หมวดหมู่ : พระสายป่า ธรรมยุติ, กรรมฐาน

พุทโธ ธัมโม สังโฆ
ทานศีลเนกขัมมะปัญญาวิริยะขันติสัจจะอธิษฐ­านเมตตาอุเบกขา

วิดีโอที่ข้าพเจ้าได้ทำขึ้นนี้ จัดทำเพื่อการกุศล เพื่อเผยแพร่ พระธรรมคำสั่งสอน มิได้มีเจตนาจะลบหลู่หรือดูหมิ่นแต่ประการ­ใด ถ้าหากผิดพลาดพลั้งประการใดก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
สามารถติดตามและรับข่าวสาร ได้ที่
Facebook page : https://www.facebook.com/DharmaXP

 38 
 เมื่อ: พฤศจิกายน 12, 2018, 04:39:22 PM 
เริ่มโดย AVATAR - กระทู้ล่าสุด โดย AVATAR
อนุโมทนาครับน้องกอล์ฟ

สาธุ

 39 
 เมื่อ: พฤศจิกายน 09, 2018, 02:47:04 PM 
เริ่มโดย AVATAR - กระทู้ล่าสุด โดย golfreeze
มีทำบุญกฐินที่สวนสันติธรรม กับที่ มูลนิธิหลวงปู่มั่น ไปนะครับ ในเดือน พย 2561 นี้ เอาบุญมาแบ่งนะครับพี่ต่าย : )

 40 
 เมื่อ: พฤศจิกายน 09, 2018, 02:46:31 PM 
เริ่มโดย AVATAR - กระทู้ล่าสุด โดย golfreeze
เป็นธรรมะที่ซาบซ่านจริงๆ ครับพี่ต่าย
อนุโมทนาสาธุครับผม

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10