แสดงกระทู้
หน้า: [1] 2 3
1  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / "ละ" อันหนึ่ง อันหนึ่งงอกงาม เมื่อ: กรกฎาคม 06, 2012, 01:51:29 AM


      เราเชื่อในหลักธรรมคำสอนพระพุทธเจ้า เรื่องบาปเรื่องบุญ เรื่องสุขเรื่องทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมเหล่านี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เป็นความจริงอยู่ตลอดกาล
      
      แต่จิตใจของเราเท่านั้นยังไม่ได้รับการอบรมให้ยอมรับความจริงอันนี้ จึงยังหลงอยู่ จำเป็นจะต้องอบรมต่อไปอีก จนกว่าจิตของเรายอมรับทำตามได้ รู้ตามได้ เห็นตามได้ ละตามได้ พ้นตามได้ จนกว่าจะพ้นจาก ทุกข์จริงๆ ในสิ่งที่เราไม่ต้องการ
      
      คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มีผู้นำมาใช้โดยศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส ด้วยความตั้งใจ ความเสียสละใน สิ่งที่ควรเสียสละ ตัดในสิ่งที่ควรตัด เมื่อตัดบางสิ่งบางอย่างแล้ว บางสิ่งบางอย่างมันเกิดขึ้นได้ มันมีขึ้นได้ แต่ถ้าไม่ตัดบางอย่างที่เราต้องการ ความสงบก็ไม่บังเกิด
      
      เพราะฉะนั้นพอตัดอันหนึ่ง ทิ้งอันหนึ่งไปแล้ว ความสงบเกิดขึ้นแทน ความสุขเกิดขึ้นแทน เราควรเอาความสุข ควรเอาความสงบ ควรเอาการงานภาระของเราให้น้อยลง ให้เบาบางลง
      
      เพราะฉะนั้น คำว่า “ละ” ไม่ใช่ว่าละแล้วไม่ได้อะไร ถ้าละแล้วสูญเปล่า พระพุทธเจ้าก็ไม่สอนให้ละ แต่เราละอันหนึ่งแล้ว อันหนึ่งงอกงาม
      
      เราเห็นสิ่งหนึ่งไม่ดี แต่สิ่งหนึ่งมันดีผ่องใส เช่น เห็นกายในกาย ที่พระพุทธเจ้าท่านให้เห็นตามความเป็นจริง ก็เพื่อกำจัดสิ่งที่หลอกลวง สิ่งที่ไม่จริง ที่มีอยู่ในจิตใจ ที่เคยหลงมาก่อน เพราะความจริงเท่านั้น ทำให้เรายึดมั่นได้ เป็นที่พึ่งได้ กำจัดภัยได้ เพราะความรู้จริงเห็นจริงตามสภาวะธาตุสภาวะธรรม ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง ที่ทำให้เราและสัตว์ทั้งหลายเข้าใจผิด สำคัญผิด ยึดถือไปผิด เลยได้รับทุกข์จากความรู้ผิด เข้าใจผิด มาเป็นเวลายาวนาน ไม่ใช่เฉพาะปีนี้ หรือไม่ใช่เฉพาะแต่ชาตินี้ หลายชาติหลายภพมาแล้ว หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่เมื่อเราไม่รู้จักแล้ว ก็นึกว่าไม่มีอะไร
      
      พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงรู้เห็นตลอดเวลา เพราะพระปัญญาของพระองค์ละเอียดอ่อน ของลึกลับขนาดไหน พระองค์ก็เห็นได้ จิตใจของเรา ฝึกฝนยังไม่พอ จึงรับยังไม่ได้ รู้ไม่ได้ แม้สิ่งเหล่านั้นมีอยู่ บาปมีอยู่ บุญมีอยู่ นรกมีอยู่ สวรรค์มีอยู่ แต่ก็ยังสงสัย เพราะไม่ประจักษ์ในใจของเราเอง
      
      เมื่อตราบใด เราพยายามทำใจของเราให้มีญาณเป็นเครื่องรู้เครื่องเห็นขึ้นมาแล้ว เราก็จะสิ้นสงสัยทันที เมื่อเราไม่สงสัยแล้ว กำลังใจในการปฏิบัติ ก็เพิ่มขึ้นทันที
      
      ความสงสัยเป็นตัวอุปสรรคอย่างสำคัญมาก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ตัดความสงสัยเสียได้ จึงเป็นผู้ที่เข้าเขตแดนอริยะ แก้ความสงสัยก็ด้วยการปฏิบัติจิตภาวนา สร้างสติสร้างปัญญาในสมาธิให้เกิดขึ้น ปรากฏในจิตใจของเรา เมื่อมันชัดในจิตใจแล้ว ความสงสัยก็เลิกไปเอง หมดไปเอง
      
      สิ่งใดที่ว่าละยากๆ ถ้าจิตมันเข้าไปถึง เข้าไปรู้ไปเห็น แล้ว เมื่อเราต้องการละ มันก็ละ ต้องการบำเพ็ญ มันก็บำเพ็ญให้เรา เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามอบรมจิตของเรานี้แหละ ให้รู้เห็นธรรมะที่ละเอียดไปตามลำดับ ที่ไม่สามารถที่จะไปเห็นด้วยตาธรรมดา ไม่สามารถสัมผัสได้ในจิตธรรมดา แต่สัมผัสได้ในจิตที่ได้อบรมละเอียดในองค์สมาธิ จึงจะสัมผัสได้ จึงจะรู้ได้
      
      เพราะฉะนั้น พยายามรวบรวมจิตของเรา ให้มีอารมณ์อันเดียว มีจิตดวงเดียว มีธรรมอันเดียว ให้จิตเข้าสู่ความสงบความละเอียดไปตามลำดับ ตัดความวุ่นวาย ยุ่งเหยิงภาระภายนอก ไม่ให้มีอยู่ในจิตในใจ ปล่อยวาง ให้หมด สละให้หมด สละด้วยสติด้วยปัญญาอันชอบ สละด้วยความเห็นชอบ ไม่ต้องไปแก้ไขภายนอก คือสละใน จิตนั้นเอง ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องไปทำอะไรกับภายนอก เพราะวัตถุภายนอกนั้น เขาไม่เป็นมูลแห่งสุขและแห่ง ทุกข์ ส่วนมูลที่ให้เกิดสุขเกิดทุกข์ มันเป็นเรื่องของจิต
      
      เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นอะไรที่เราจะไปตัดสิ่งภายนอก จะไปแก้สิ่งภายนอก ด้วยกายด้วยวาจา แต่มาแก้จิตใจของเรา ด้วยสติปัญญาอันชอบ อันถูกต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงพาปฏิบัติพากระทำ เดินตามพระองค์ เชื่อตามพระองค์ ส่วนไหนที่เรารู้แล้วว่าไม่ดี ที่พระพุทธเจ้าท่านให้ละ เราก็อบรมจิตใจของเราให้เห็นชอบตาม ให้ละได้ตาม ให้ปล่อยวางตาม
      
      สมาธิ...ควรทำจิตให้สงบ เราก็เห็นตามชอบตามสงบตาม
      
      ควรอยู่ในความวิเวก เราก็กำหนดจิตให้เกิดความวิเวก มีความปีติมีความสุขในธรรม เพราะอาศัยความวิเวก มีอารมณ์อันเดียว ที่ท่านยกย่องว่าผู้มีอารมณ์อันเดียว มีสติบริสุทธิ์ มีความสุข
      
      อันนี้เป็นเรื่องจิตกับความคิดดำริอันชอบภายในเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับสิ่งอื่นเลย โดยเฉพาะจิตเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เรื่องเฉพาะจิตอันนี้แหละ ถ้าสติเข้าไปรักษาให้เป็นปัจจุบัน รู้อันมั่นคง ไม่วอกแวก ไม่ริบหรี่ เหมือนกับไฟเทียนที่ไม่มีลมพัด มันก็เที่ยง ถ้ามีลมพัดมา วิบๆแวบๆ อ่านหนังสือก็ไม่ออก รู้อะไรก็ไม่ชัด จิตที่มัน ไม่เที่ยงนี้แหละ ที่ขึ้นๆ ลงๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ความรู้ที่เรารู้ ให้มันตั้ง เหมือนกับหลักหินที่มันตั้ง ลมพัดจากทิศต่างๆ ไม่กระเทือนไม่หวั่นไหว
      
      เราปฏิบัติจิตอบรมจิตให้มีสมาธิ ให้ตั้งอย่างนั้นแหละ อย่าให้มันหลวม อย่าให้มันโยกเยกๆ ให้มันตั้งมั่น โดยสติเป็นผู้ระลึกสัมปชัญญะเป็นผู้รู้ สติระลึกเตือนคำบริกรรม กำกับให้มันทำงาน ไม่ให้เผลอ ไม่ให้ปล่อยทอดธุระ ละไปเอาอันอื่นมาแทน เอาเฉพาะจำกัดที่เรา มอบงานให้ทำ แม้นานเท่าไรเราก็ทำ ยอมรับทำอยู่อันเดียว เพื่อให้เกิดฐานอันมั่นคงก่อน สำหรับผู้ที่ยังไม่มั่นคง ยังไม่รู้ไม่เห็นก็ตาม ให้เห็นความมั่นคงเกิดขึ้น ในจิตใจก่อน ให้เห็นอันนี้ก่อน เป็นประตูแรก เป็นขั้นแรก ของมรรคของการปฏิบัติ เพื่อออกจากทุกข์อย่างแท้จริง
      
      ได้ยินได้ฟังแล้ว ตั้งใจปฏิบัติ อธิบายย่อๆ เท่านี้แหละ

 ยิงฟันยิ้ม
2  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / พิจารณา "อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา" เพื่อถอนทุกข์ เมื่อ: มิถุนายน 30, 2012, 07:47:39 PM


      การพิจารณาธรรมะ ไม่จำเป็นจะต้องพิจารณาให้กว้างขวางมากมาย สำหรับผู้ต้องการความสงบสุขและความสว่างไสว ความเฉลียวฉลาด
      
      พิจารณาไตรลักษณ์ที่กายกับใจ
      
      การถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกภายในใจ กายของเรา ใจของเรานี้ เป็นสิ่งที่สมบูรณ์แล้ว สำหรับเป็นสถานที่พิจารณา แต่การที่จะพิจารณาไปเกี่ยวกับสิ่งภายนอก เพื่อเทียบเข้ามากับเรื่องภายในนั้น เป็นธรรมอันสมควรแก่ท่านผู้ปฏิบัติเหมือนกัน
      
      ปัญญาขั้นต้น หากเราไม่สามารถให้เป็นปัญญาขึ้นมาทีเดียว ก็กรุณาพิจารณาเอาสัญญา(ความจำได้หมายรู้) เป็นเครื่องคาดหมายไว้ แล้วไตร่ตรองไปตามสภาพความจริงของเขา
      
      เราจะแยกออกไปทางข้างนอกถึงสัตว์ ถึงบุคคล ถึงต้นไม้ภูเขา หรือสภาพทั่วๆ ไปที่ได้เห็นด้วยตา ได้ยินด้วย หู แล้วเทียบเคียงกันกับตัวของเรา จะมีอะไรเป็นหลักยืนตัวไว้ สำหรับสภาพทั้งหลายเหล่านั้นกับตัวของเรา จะต้องปรากฏเรื่องของไตรลักษณ์เป็นหลักประจำโลกทั่วๆ ไป ไม่มีชิ้นใดส่วนใดที่จะเหลือจากหลักของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ไปได้เลย
      
      เพราะฉะนั้น หลักของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงเป็นธรรมรับรองหรือเป็นทางเดินอันราบรื่นของปัญญาผู้ใคร่จะพินิจพิจารณาตาม
      
      มองดูสภาพใดชิ้นใดจะเห็นเป็นเรื่องของไตรลักษณ์เต็มอยู่ในชิ้นนั้นสิ่งนั้นไม่มีบกพร่อง เมื่อน้อมเข้ามาถึงกายถึงใจของเราก็ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกี่ยวกับเราโดยเฉพาะ
      
      นับแต่วันที่เราอุบัติขึ้นมาถึงบัดนี้ มีความแปรสภาพ ประจำตนมาตลอดสาย ไม่ปรากฏว่าได้หยุดพักระหว่างทางในชั่ววินาทีหนึ่งเลย เรื่องสภาพเหล่านี้จะต้องดำเนิน หรือหมุนตัวไปตามหลักของธรรมชาติอย่างนั้นตลอดมา
      
      เป็นแต่เพียงว่าเราไม่สามารถจะทราบสิ่งเหล่านี้ด้วยปัญญาของเรา จึงไม่เห็นตามความจริงของหลักไตรลักษณ์ แล้วก็เป็นเหตุให้ใจของเราฝืนหลักไตรลักษณ์ แล้วนำทุกข์มาเผาผลาญตนเองให้ได้รับความเดือดร้อน
      
      ถ้าพิจารณาให้เห็นตามหลักของไตรลักษณ์จริงๆ แล้ว เพียงมองลงไปที่กายที่ใจของเรานี้ ก็จะเห็นเรื่องของไตรลักษณ์ประกาศตัวอยู่ทั้งวันทั้งคืน ยืน เดิน นั่ง นอน
      
      การพิจารณาไตรลักษณ์ เป็นเรื่องถอดถอน
      
      การยึดมั่นถือมั่นจนกลายเป็นภูเขาทั้งลูก ทับถมจิตใจให้ได้รับความเดือดร้อนวุ่นวาย หาความสงบสบายใจไม่ได้ ก็เนื่องจากสัญญาความสำคัญมั่นหมาย ยกสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเป็นตน โดยไม่ทราบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภูเขาทั้งลูกนั่นเอง ใจจึงหาเวลาจะขยับขยายตัวออกจากความทุกข์ความร้อนภายในใจไม่ได้ เนื่องจากตัวได้นำสิ่งเหล่านี้แบกไว้บนบ่า คือ บนดวงใจเสมอ
      
      การพิจารณาเรื่องของไตรลักษณ์ จึงไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย และไม่ใช่เป็นของเล่นด้วย แต่เป็นเรื่องจะถอดถอนความถือว่าตนว่าตัวที่เรียกว่าอัตตา ให้เห็นชัดตามหลักธรรมชาติว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอนัตตาโดยแท้จริง ไม่ควรจะนำตนเข้าไปเคลือบแฝงกับอาการเหล่านี้แม้อาการเดียว
      
      สิ่งที่ทำให้เราได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน ความลำบากภายในจิตในใจ ทำไมเราจึงไม่ชิน ทุกข์เกิดขณะไหน เราก็เดือดร้อนบ่นกันทั่วโลกทั่วสังสาร ถ้าหากว่าเป็นผู้เคยชินต่อทุกข์มาแล้ว โลกนี้ได้เคยผ่านความทุกข์มาเป็นเวลานาน คงไม่มีใครจะบ่นกันว่าทุกข์ว่าเดือดร้อน แต่นี้ไปที่ไหนบ่นกันทั่วดินแดน ก็เพราะความไม่ชินกับทุกข์นั่นเอง
      
      เรื่องของทุกข์เป็นเรื่องของทุกข์ต่างหาก เพราะได้เคยชินและได้ผ่านมาเป็นเวลานาน ไม่ควรจะตื่นเต้นกับเรื่องความทุกข์ความลำบากเหล่านี้ ทุกข์ก็ให้เขาเป็นไปตามเรื่องของทุกข์ เพราะชินกับเขามาแล้ว พอทนกันได้แล้วไม่ต้องบ่นกัน
      
      แต่นี่ไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏขึ้นมานิดก็ต้องทำใจให้กระเพื่อมให้เกิดความเดือดร้อนมากยิ่งกว่านั้น จนหาที่ปลงที่วางไม่ได้ รับประทานไม่ได้นอนไม่หลับ ถึงกับต้องรับประทานยาระงับประสาท รับประทานยาระงับมากเท่าไร ก็ยิ่งขนทุกข์เข้ามามากเท่านั้น บางทีถึงกับตัดสินตัวเองไปในทางที่ผิด โดยกินยาฆ่าตัวตายบ้าง เพื่อหวังครองสุขในชาติหน้า แต่ไม่ทราบความหมายว่า ทุกข์ในชาติหน้านั้น จะอยู่ในที่เช่นไร และใครเป็นผู้จะหลุดออกจากทุกข์ในชาติหน้านั้น
      
      เพราะชาติหน้ากับชาตินี้ ก็คือเรื่องของใจเป็นผู้ได้รับทุกข์ เมื่อไปชาติหน้า หากใจดวงนี้ยังเป็นทุกข์อยู่แล้ว เราจะหวังครองสุขมาแต่ที่ไหน
      
      เพราะไม่มีทุกข์ที่ไหนปรากฏตัวขึ้นมาเฉยๆ และไม่มีสุขที่ไหนเพิ่งจะปรากฏตัวขึ้นมาเป็นสมบัติอันล้ำค่าแก่บุคคลผู้ต้องการ แล้วจะได้เข้าครอบครองเสียทีเดียว โดยไม่ต้องบำเพ็ญเหตุเพื่อความสุขอันนั้นขึ้นมา
      
      ที่เราจะพิจารณาถึงเรื่องหลักความจริงที่ท่านสอนไว้นี้ ก็เพื่อจะถอนเหตุที่จะทำให้เกิดความทุกข์ ความลำบาก ได้แก่ ความยึดมั่นถือมั่นสำคัญผิดภายในตัวของเราออก ด้วยอำนาจของปัญญา ตรองไปตามทางสายไตรลักษณ์ที่เดินไปเช่นนั้น ให้เห็นจริงตามหลักของไตรลักษณ์จริงๆ
      
      ส่วนใดที่เห็นว่าเป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำความสนิทติดใจกับสิ่งนั้น เราก็จะได้ทำความรู้สึกตัวของเราและหาทางออก ก็มีนัยเช่นเดียวกันกับเรื่อง อนิจจัง เรื่อง อนัตตา
      
      มีชิ้นไหนบ้างที่จะถือเป็นเราเป็นของเราได้ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ นี้เป็นสมบัติของใคร ไม่ปรากฏว่าเป็นสมบัติของใคร ซึ่งควรจะเรียกว่าเป็นอนัตตาได้ แม้จะมาอาศัยเป็นสภาพร่างกาย ก็อาศัยกันชั่วระยะกาลเท่านั้นตามกรรมนิยม ความแปรสภาพแห่งธาตุขันธ์อันนี้ก็แปรไปอยู่ตามเรื่องของเขา ทั้งๆที่เราก็เป็นเจ้าของอยู่ เขาไม่ได้ฟังเสียงเราเลย หน้าที่ของเขาก็แปรตามสภาพ หน้าที่ของเขาก็แสดงความทุกข์ไปตามหลักความจริงของเขา
      
      เรื่องธรรมะ อนัตตา ที่ว่าไม่ใช่ใครนั้น ใครจะเสกสรร ปั้นยอว่าเป็นของใครก็ตาม เขาก็คือเรื่องของเขาอยู่นั้นเอง ไม่ได้เป็นอื่นไปจากความเป็นเช่นนั้น พอที่จะเสกสรร ปั้นยอกันให้ได้รับความหนักหน่วงถ่วงจิตใจของตนและเสียประโยชน์ไปเปล่า โดยไม่ได้รับประโยชน์จากอะไรจากความเสกสรรปั้นยอนั่นเลย นี่การพิจารณาปัญญา พิจารณาอย่างนี้
      
      เราดูใกล้ๆ ดูในอวัยวะของเรานี้ ชิ้นไหนบ้างที่ว่าจะเป็นตัวจริงๆ ดูชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปถึงชิ้นใหญ่ ดูชิ้นไหนก็สักแต่ว่าเป็นชิ้นนั้นๆ อยู่เท่านั้น แม้ในขณะที่ครองกันอยู่เช่นนี้ นี่เป็นปัญญาขั้นหนึ่งที่เราจะได้เรียนรอบรู้เรื่องของขันธ์ คือ รูปขันธ์ของเราที่อยู่ด้วยกัน

      ทรัพย์สมบัติอยู่ในบ้านของเรามีมากมีน้อย เรายังรู้จักว่าทรัพย์สมบัติประเภทไหนมีคุณค่ามาก มีคุณค่าน้อย และมีจำนวนเท่าไร ควรจะทำประโยชน์จากสมบัตินั้นๆ อย่างไรบ้างตามหน้าที่ของเขา
      
      สมบัติภายในตัวของเรา ได้แก่ ร่างกาย เราก็ควรจะพิจารณาตามหลักธรรมให้ทราบชัดว่า ส่วนไหนเป็นอย่างไร เป็นต้น ปัญญาก็จะได้มีทางเดินออกจากความเป็นชิ้นเป็นอันที่เรียกว่าอัตตา ความหายกังวลก็จะมีกำลังเพิ่มขึ้นมา

 ยิ้มกว้างๆ
3  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / "อสุภนิมิต" นิมิตแห่งซากศพ เมื่อ: มิถุนายน 27, 2012, 09:31:42 AM


      ถ้าในขณะทำสมาธิแล้วจิตรวมวูบลงไป เกิดเห็นร่างกายเป็นซากศพที่มีสภาพเหมือนกับว่าเพิ่งขุดขึ้นมาจากหลุมศพ แต่จริงๆ แล้วร่างกายเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อถอนจิตออกมาก็จะเห็นเป็นตัวตนธรรมดา อาการที่เราเห็นเป็นซากศพเช่นนี้ ท่านเรียกว่า “อสุภนิมิต”ถ้าเราเคยได้ยินครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนในเรื่องของอสุภนิมิตแล้ว เราก็ทำความรู้เท่าทัน
      
      อสุภนิมิตนี้ถ้าเกิดบ่อยๆ จะเป็นการดีมาก ท่านอาจารย์ใหญ่ (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) ท่านนิยมมาก ถ้าพระเณรองค์ใดได้อสุภนิมิต เห็นร่างกายเน่าเปื่อยเป็นซากศพแล้ว ท่านว่าผู้นั้นสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ง่าย
      
      อสุภนิมิตนี้ไม่ใช่เป็นของร้าย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเราอดกลัวไม่ได้ ก็ให้เราลืมตาเสียตั้งสติให้มั่น ขออย่างเดียวอย่าลุกขึ้นวิ่งหนี
      
      ถ้าเราเคยได้ยินได้ฟังคำแนะนำอย่างนี้แล้ว เมื่อเวลาที่เกิดอสุภนิมิตก็จะระลึกได้อยู่หรอก แต่ถ้าเราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เมื่อเวลาที่เกิดอสุภนิมิตขึ้นก็จะเกิดความกลัว ถ้าเราลุกวิ่งหนีก็จะทำให้เราเสียสติได้ การลุกขึ้นวิ่งหนีนี้ขอห้ามโดยเด็ดขาด
      
      การที่เกิดอสุภนิมิตนี้เรียกว่า “มีพระธรรมมาแสดงให้เราได้รู้ได้เห็น ว่าร่างกายของเราเป็นอย่างนี้ ย่อมมีความเจริญในเบื้องต้น มีความชราในเบื้องกลาง และมีการแตกสลายไปในที่สุด”
      
      เมื่อเวลาเกิดอสุภนิมิตขึ้น ถ้าเราสามารถทนได้นับว่าเป็นการดีมาก เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณามาก สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นนิมิตในตัวเรา แต่บางครั้งก็เป็นนิมิตภายนอก เช่น บางครั้งเกิดเห็นพระพุทธเจ้าหรือบรรดาครูบาอาจารย์มาปรากฏให้เห็น หรือเห็นพวกวัตถุ เช่น โบสถ์ วิหาร หรือสิ่งต่างๆ นิมิตภายนอกนี้เรียกว่า “อุคคหนิมิต”
      
      เรื่องของนิมิตเป็นเรื่องที่สำคัญ ในบางครั้งก็มาทำท่าแลบลิ้นปลิ้นตา ก็อย่าไปเข้าใจว่าเป็นเปรตเป็นผี ที่จริงแล้วเป็นเพราะว่าสังขารภายในมันฉายออกไปเพื่อหลอกใจของเราเอง มันฉายออกไปจากใจนี่แหละ อันนี้พูดเตือนสติไว้
      
      การทำสมาธิภาวนานี้ ถ้าบุคคลใดเกิดนิมิตมาก ก็อย่าได้ไปเกิดความกลัวจนกระทั่งเลิกปฏิบัติ ขอให้ปฏิบัติต่อไปโดยให้สติตั้งมั่นกำหนดรู้ อย่างที่แนะนำมาแล้ว เมื่อเราทำต่อไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดอานิสงส์ คือถ้าเป็นคนนิสัยดุร้ายก็จะเป็นคนใจดี ถ้าเป็นคนโกรธง่ายก็จะค่อยๆ เบาบางลง ถ้าเป็นคนปัญญาทึบเมื่อทำจิตสงบได้แล้วก็จะเป็นคนที่ฟังอะไรรู้เรื่องเข้าใจ ในเหตุผล ถ้าเป็นคนที่ฉลาดอยู่แล้วก็จะเพิ่มพูนปัญญาให้มากขึ้นไปอีก ท่านจึงว่ามีอานิสงส์มาก
      
      ขณะที่เราเกิดเห็นนิมิตขึ้นมา ถ้าเราแก้ความกลัวในนิมิตได้ ต่อไปก็จะสบาย เมื่อเราเกิดความกลัวขึ้น เราอย่าไปยึดถือสิ่งที่เราเห็นในนิมิตเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา ให้กำหนดรู้ว่าเป็นมาร ซึ่งพระพุทธเจ้าเรียกว่า “ขันธมาร” หรือ “กิเลสมาร”
      
      เรื่องของนิมิตนี้จะเกิดหรือไม่เกิดไม่สำคัญ เพราะว่าที่เราทำสมาธิภาวนา ก็เพื่อมุ่งให้เกิดความสงบภายในจิตใจเท่านั้น ถ้าผู้ปฏิบัติทำจิตใจของตนให้สงบเป็นอารมณ์เดียวได้ พอเท่านั้น ไม่มีนิมิตเกิดขึ้นไม่เป็นไร
      
      การเรียนบำเพ็ญสมถะจึงจำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ เราจึงต้องรู้ไว้ว่าที่แห่งไหนมีครูบาอาจารย์อยู่บ้าง เพื่อว่าในอนาคตเราจะออกปฏิบัติ จะได้รู้ไว้ ถ้าเป็นวิปลาสแล้วจะไม่ยอมแก้ไขอะไรง่ายๆ กลับมาหาครูบาอาจารย์ที่เคยทรมานกันนั่นแหละ ถึงว่าจะอยู่ห่างไกลก็จำเป็นต้องไป เพราะเป็นเรื่องของการปฏิบัติ เมื่อจิตใจเป็นอย่างใดมีข้อสงสัยอย่างใด จะได้ไปศึกษากับท่านเสียก่อนที่จะผิด
      
      เมื่อทำสมาธิจนถึงขั้นได้ฌานแล้ว บางครั้งก็จะได้ถึงขั้นอภิญญาซึ่งเป็นความรู้พิเศษ ผู้ที่ปฏิบัติเกิดนิมิตมากๆ มักจะได้อภิญญา เมื่อเหตุการณ์ใดๆ ที่จะเกิดขึ้น ท่านมักจะรู้ล่วงหน้าก่อนเสมอ เช่นจะรู้ล่วงหน้าว่าวันนี้จะมีผู้มาหา เป็นต้น
      
      อภิญญาเกิดจากฌานสมาธิ อภิญญานี้ไม่แน่นอนมักจะเสื่อมได้ หรืออาจจะเป็นวิปลาส จะพูดไม่ตรงต่อธรรมวินัย เมื่อผู้ได้อภิญญาแล้วไม่รู้ทันก็จะเกิดความหลงได้
      
      หลวงปู่มั่นท่านจะหลบหลีกหมู่ (เพื่อน)ไปธุดงค์องค์เดียว หรือสองสามองค์เป็นอย่างมาก บรรดาหมู่คณะ หรือผู้ปฏิบัติเกิดความรู้ต่างๆ หรือมีปัญหาที่จะต้องกราบเรียนถาม ก็จะต้องออกตามหาท่านเอง ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายที่จะตามท่านพบเสียด้วย
      
      บุคคลที่ปัญญาแก่กล้า ไตรลักษณ์จะเกิดในปฐมฌาน หรือทุติยฌาน ส่วนบุคคลมีปัญญาขนาดกลางไตรลักษณ์ จะเกิดเมื่อสำเร็จฌาน ๔ แล้ว บุคคลใดที่สำเร็จฌาน ๔ ก็มักจะไม่เกิดความกำหนัด หรือที่เรียกว่า “จิตตกกระแสธรรม” มันจะเป็นของมันเอง เรียกว่าเป็นผลของฌานสมาธิก็ได้
      
      ถึงแม้ว่าบุคคลใดจะทำสมาธิได้ดี จะได้รับความสุขขนาดไหนก็ตาม หรือจะได้อภิญญาเพียงใดก็ตาม ถ้าไตรลักษณญาณไม่เกิดขึ้นแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ยังผิด ยังอยู่ในวงเขตที่ผิด ไตรลักษณ์ (อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา) นี้จะเป็นเครื่องตัดสินถูกหรือผิด จะเป็นสัมมาสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ
      
      เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ (รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ) ธาตุ ๔ (ดิน, น้ำ, ลม, ไฟ) เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว จนเกิดญาณความรู้พิเศษ เมื่อเกิดความรู้พิเศษแล้ว วิปัสนูปกิเลสหรือวิปลาสก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อสิ่งใดหรือความรู้ใดเกิดขึ้นก็จะเอาไตรลักษณ์ (อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา)เป็นเครื่องตัดสิน
      
      การพิจารณาให้ถือเอารู้รูปกายตามความเป็นจริง รู้เวทนาตามความเป็นจริง รู้จิตตามความเป็นจริง ให้ยึดถือความรู้นี้เป็นหลัก ความรู้อย่างอื่นไม่สำคัญ ถึงจะเกิดอภิญญารู้ในเหตุผลต่างๆ ครั้งแรกๆ ก็อาจเป็นจริง แต่ถ้าเรายึดถือในสิ่งเหล่านี้ต่อไป ก็จะกลายเป็นเรื่องหลอกลวงเรา ท่านจึงห้ามไม่ให้เอาสิ่งนิมิตเป็นเรื่องสำคัญ
      
      ขอให้พวกท่านจงทำกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถปฏิบัติได้เหมือนกัน เมื่อตั้งใจทำแล้ว จะไร้ผลเสียเลยก็ไม่มี อย่างต่ำก็เป็นการเพิ่มบุญวาสนาบารมีของเราให้แก่กล้าขึ้น

 ยิ้มกว้างๆ
4  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / กรรมที่ทุบหัวปลา เมื่อ: มิถุนายน 24, 2012, 01:22:45 PM


      หลายคนทำกรรมชั่วโดยที่ไม่รู้เลยว่า กรรมที่กำลังกระทำอยู่นั้นมันจะส่งผลร้ายแรงต่อตนเองอย่างไร จึงมักกระทำสิ่งต่างๆ ตามอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ไม่ค่อยนึกถึงเหตุและผล หรือไม่ค่อยนึกถึงกฎแห่งกรรม ถึงแม้ว่าหลายคนจะรู้ว่าหากทำความชั่วแล้วได้ชั่วก็ตาม แต่กิเลสที่ครอบงำใจอยู่อย่างแน่นหนา ทำให้คนเหล่านั้นยังกล้าทำความชั่วอยู่นั่นเอง ดังเช่นเรื่องราวของแม่ค้าขายปลา ที่ประสบกับผลของกรรมที่ได้กระทำไว้ เรื่องมีอยู่ว่า
      
      ณ ตลาดเล็กๆ แห่งหนึ่งในตัวอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว มีแม่ค้าอยู่คนหนึ่งชื่อว่า “จันทร์เพ็ญ” เธอขายปลาสดอยู่ในตลาดแห่งนี้มานานหลายปีแล้ว ปลาที่นำมาขายก็มีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นปลาช่อน ปลาดุก ปลาตะเพียน และอีกมากมาย
      
      ก่อนหน้านั้นจันทร์เพ็ญมีอาชีพทำไร่ทำนา บางปีก็มีกำไรนิดหน่อย บางปีก็ขาดทุน แต่โอกาสที่จะได้กำไรมากนั้นแทบไม่มีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เธอตัดสินใจหันไปหาอาชีพค้าขาย ซึ่งคิดว่าน่าจะทำให้ฐานะในครอบครัวดีขึ้น
      
      เมื่อพอมีเงินลงทุนนิดหน่อย เธอก็มองหาว่าจะค้าขายอะไร ตอนนั้นมีคนแนะนำว่า น่าจะไปซื้อปลามาขาย ซึ่งดูแล้วคิดว่าจะมีกำไรดี และก็ลงทุนไม่มากนัก ทำให้จันทร์เพ็ญตัดสินใจที่จะค้าขายปลาสดทันที
      
      เธอจึงไปจับจองที่ในตลาดและไปรับปลาสดมาขาย กำไรจากการขายปลานับว่าดีพอสมควร พอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ จันทร์เพ็ญจึงรู้สึกพอใจกับอาชีพนี้ เพราะมันช่วยเปลี่ยนชีวิตของเธอไปมากเลยทีเดียว เพียงไม่กี่ปีก็ทำให้เธอมีเงินเป็นกอบเป็นกำ มากกว่าการทำนาหลายๆปีที่ผ่านมา
      
      การขายปลาสดนี้ บางครั้งลูกค้าก็ซื้อตัวเป็นๆกลับบ้านไปเลย แต่บางครั้งก็ต้องให้แม่ค้าทุบหัวปลาให้ด้วย ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าคนที่มาซื้อกลัวบาปหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่ส่วนใหญ่ลูกค้ามักจะให้เธอทุบหัวปลาแทบทุกครั้ง ซึ่งเธอก็ทำให้ เพราะมันคืออาชีพของเธอ หลายครั้งที่หญิงสาวคิดว่าตนเองคงไม่บาปหรอก แต่คนที่สั่งให้ฆ่าน่าจะบาปมากกว่า แต่ก็มีบางครั้งเหมือนกันที่เธอรู้สึกว่าการคิดเช่นนั้นเป็นเหมือนการปลอบใจตัวเองเพราะความจริงในใจลึกๆ เธอก็ยังกลัวบาป
      
      การทุบหัวปลานั้น หากเป็นปลาตัวเล็กๆ ก็ยังไม่ค่อยน่ากลัว แต่หากเป็นปลาตัวใหญ่ๆ เช่น ปลาช่อนตัวโตๆ ก็น่าหวาดเสียวอยู่เหมือนกัน จันทร์เพ็ญต้องใช้ไม้ค้อนขนาดใหญ่ทุบหัวมันอย่างแรง จนเลือดกระเด็นกระดอนมาใส่ตัวเธอ แต่ละวันจึงมีเลือดปลาติดอยู่ตามเสื้อ และตามร่างกายเต็มไปหมด!!
      
      แรกๆที่ทุบหัวปลา จันทร์เพ็ญรู้สึกใจหายอยู่เหมือนกัน แต่พอทำไปนานๆก็เกิดความเคยชิน กลายเป็นเรื่องปกติ จิตใจที่เคยหวาดหวั่นกับอำนาจของกฎแห่งกรรม ก็ไม่รู้สึกกลัวอีกต่อไป
      
      แต่ละวันปลาที่ถูกฆ่านั้นมีจำนวนไม่น้อยทีเดียว ทั้งตัวใหญ่ตัวเล็ก นอกจากจะฆ่าปลาเหล่านั้นให้ลูกค้าแล้ว บางครั้งเธอก็ฆ่าเพื่อทำอาหารกินเองบ้าง หากวันไหนปลาที่นำไปขายเหลือมาก เธอก็จะขังไว้แล้วนำไปขายในวันรุ่งขึ้น
      
      ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จันทร์เพ็ญยังคงยึดอาชีพเป็นแม่ค้าปลา เธอไม่เห็นว่า กรรมมันจะส่งผลไม่ดีอย่างไร ในทางตรงกันข้ามมันกลับทำให้เธอมีอยู่มีกิน สะดวกสบายมากกว่าตอนที่ทำนาเสียอีก เธอจึงคิดว่าเป็นอาชีพที่ดี เพราะไม่ได้ไปขโมยใคร ไม่ได้คดโกงใคร ไม่ได้หลอกลวงใคร เป็นอาชีพที่บริสุทธิ์
      
      แต่เธอหารู้ไม่ว่า อาชีพแบบนี้ถึงจะเป็นอาชีพที่บริสุทธิ์แต่ก็มีกรรมชั่วแฝงอยู่ เพราะต้องฆ่าชีวิตอื่น ซึ่งทุกชีวิตก็ล้วนแต่รักสุขเกลียดทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น และกรรมชั่วแบบนี้ถึงแม้จะไม่มีใครเอาผิดได้ หรือไม่มีใคร ทำโทษได้ แต่กฎแห่งกรรมจะเป็นตัวทำงานของมันเอง
      
      การให้ผลของกรรมชั่วนั้น สามารถเกิดขึ้นได้หลายทาง และมักจะเกิดขึ้นในเวลาที่เราไม่ได้ตั้งตัว กรณีของจันทร์เพ็ญก็เช่นเดียวกัน
      
      เย็นวันหนึ่งหลังจากที่ขายปลาเสร็จ เธอก็ขับรถปิ๊กอัพกลับบ้านเหมือนปกติ แต่วันนั้นฝนตกหนักมาก ทำให้ถนนลื่น แต่จันทร์เพ็ญมิได้ชะลอความเร็ว เพราะเห็นว่าเริ่มค่ำมืดแล้ว ดังนั้น เมื่อถึงทางโค้งจึงทำให้รถของเธอเสียหลัก และพลิกคว่ำอย่างไม่คาดคิด ศีรษะของเธอไปกระแทกกับเหล็กอย่างแรง จนกะโหลกยุบ และมีแผลเล็กน้อยที่ศีรษะหลายจุด แต่นับว่าเคราะห์ดีที่เธอยังไม่เสียชีวิต!!
      
      จันทร์เพ็ญรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลหลายเดือนกว่าจะกลับมาค้าขายได้ตามปกติ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่า การที่รถของเธอพลิกคว่ำแล้วศีรษะได้รับบาดเจ็บเช่นนั้นจะเป็นผลจากการทุบศีรษะปลา เธอคิดว่าเป็นอุบัติเหตุธรรมดาเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวอะไรกับการฆ่าปลาเลยแม้แต่น้อย
      
      หลังจากที่เธอเริ่มค้าขายต่อราว 3-4 เดือน ระหว่างนั้นอาการก็ยังไม่หายดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันกฎแห่งกรรมก็เริ่มทำหน้าที่ต่อไป ด้วยเรื่องเก่าๆ ซึ่งเธอเอง ลืมไปแล้วว่าเคยมีเรื่องบาดหมางกับใครไว้บ้าง แต่เรื่องนั้นมันก็ผุดขึ้นมาซ้ำเติมชีวิตเธออีก
      
      วันหนึ่งระหว่างที่จันทร์เพ็ญกำลังเตรียมข้าวของจะไปค้าขายที่ตลาด จู่ๆ ก็มีผู้ชายคนหนึ่งแอบมาด้อมๆ มองๆ อยู่ที่บ้านของเธอ เมื่อเธอเห็นก็เลยตะโกนถามไป แต่ชายคนนั้นไม่ตอบ เธอจึงด่าออกไปอย่างเสียๆหายๆ แต่เสียงด่าของเธอไม่ได้ทำให้ผู้ชายคนนั้นกลัวแต่อย่างใด ตรงกันข้าม มันกลับถือไม้ค้อนขนาดใหญ่วิ่งเข้ามาหาจันทร์เพ็ญอย่างรวดเร็ว จนเธอไม่ทันระวังตัว จะวิ่งหนีก็ไม่ทันเสียแล้ว ชายหนุ่มใช้ไม้ค้อนกระหน่ำลงไปที่หัวของเธอย่างแรง 2-3 ครั้ง ทำให้เธอทรุดลงทันที!! แล้วมันก็วิ่งหนีไป
      
      เมื่อครอบครัวของเธอมาเห็นเหตุการณ์ก็ตกใจมาก จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที แต่ก็นับเป็นโชคดีอีกครั้งที่เธอยังไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่ทว่าศีรษะของเธอได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก ทำให้เธอปวดศีรษะอยู่ตลอดเวลา ยากที่หมอจะเยียวยาให้หายขาดเป็นปกติได้
      
      มาถึงตอนนี้เธอจึงคิดได้ว่า สาเหตุที่ทำให้เธอเป็นเช่นนี้ต้องเป็นเพราะกรรมที่เธอทุบหัวปลาอยู่ทุกวันแน่นอน เพราะเหตุการณ์ทั้งสองครั้งที่เธอได้ประสบกับตัวเองนั้น ล้วนแต่เป็นที่ศีรษะ เธอจึงเชื่อว่า กฎแห่งกรรมมีจริงอย่างแน่นอน

 ยิ้มกว้างๆ
5  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / 7 หลักธรรม บ่งชี้ความเป็นคนดีที่แท้จริง เมื่อ: มิถุนายน 22, 2012, 04:17:04 AM


      คำว่า สัปปุริสธรรม แปลว่า ธรรมของสัตบุรุษธรรม ที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ ธรรมที่เป็นข้อปฏิบัติของคนดี คำว่า สัตบุรุษ หมายถึง คนที่มีความประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ คือมีพฤติกรรมถูกต้องตามทำนองคลองธรรมหรือเรียบร้อยดีไม่มีโทษ เป็นผู้มีจิตสงบระงับจากบาปอกุศลธรรม ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้ได้รับความเดือดร้อน
      
      ในที่นี้มีกุศลธรรม 7 ประการเป็นเครื่องพิสูจน์ให้ทราบได้ชัดว่า เมื่อมีประจำในจิตสันดานของบุคคลใด บุคคลนั้นไม่ว่าจะเป็นสตรีหรือบุรุษ ย่อมได้รับการขนานชื่อว่า สัตบุรุษ
      
      กุศลธรรม 7 ประการนี้เรียกว่า สัปปุริสธรรม 7 มีอธิบายดังนี้
      
      1. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ หมายถึง ความเป็นผู้รู้หลัก คือความเป็นผู้รู้จักว่าสิ่งนี้เป็นเหตุของสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นเหตุของสิ่งนี้ เช่นรู้ว่า เมื่อคนเราขาดอิทธิบาท 4 ในการประกอบอาชีพทำมาหากิน หรือในการทำกิจต่างๆ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
      
      กล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ความเป็นผู้รู้หลักการและกฎเกณฑ์ของสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิต ในการปฏิบัติหน้าที่และดำเนินกิจการต่างๆ โดยรู้เข้าใจสิ่งที่ตนจะต้องประพฤติปฏิบัติตามเหตุผล เช่น ชาวพุทธรู้ว่าหลักธรรมเพื่อการสร้างตนให้มีหลักฐานมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือหลักการแสวงหาทรัพย์ในทางที่ชอบคืออะไร มีอะไรบ้าง ผู้นำประเทศทราบถึงหลักการปกครองประเทศที่ดีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่มุ่งหมายหรือต้องการนั้นๆ เป็นต้น ตลอดจนชั้นสูงสุดคือรู้เท่าทันกฎธรรมดาหรือหลักความจริงของธรรมชาติเพื่อปฏิบัติต่อโลกและชีวิตได้อย่างถูกต้อง มีจิตเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ
      
      2. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักว่า ผลอันนี้เกิดจากเหตุอันนี้ เช่น เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพทำมาหากินในทางสุจริต การศึกษาเล่าเรียน หรือในการทำกิจต่างๆ ก็รู้ว่าเป็นเพราะขาดหลักอิทธิบาท 4 กล่าวคือ ไม่มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ในการประกอบอาชีพนั้น ในการศึกษาเล่าเรียนนั้น หรือในการทำงานนั้น เป็นต้น
      
      กล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ความเป็นผู้รู้จักอรรถคือ ความหมายหรือความมุ่งหมายของหลักการที่ตนต้องปฏิบัติ โดยมีความเข้าใจประโยชน์ที่ประสงค์หรือวัตถุ ประสงค์ของกิจการที่ตนทำ รู้ว่าสิ่งที่ตนทำอยู่อย่างนั้นๆ ดำเนินชีวิตอย่างนั้นเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร หรือควรจะได้บรรลุผลอะไร รวมถึงรู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่อง จากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือพุทธศาสนสุภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร การที่ตนกระทำอยู่อย่างนั้นมีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้าง ดังนี้เป็นต้น ตลอดจนถึงขั้นสูงสุดคือรู้ความหมายของคติธรรมดา และประโยชน์ที่เป็นจุดหมายแท้จริงของชีวิต
      
      3. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตน หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ความสามารถ ความถนัดและคุณธรรม เป็นต้น ของตนว่ามีสภาพอย่างไร แล้วประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมและทำการต่างๆ ให้สอดคล้องถูกจุดที่จะสัมฤทธิ์ผล ตลอดจนพร้อมแก้ไขปรับปรุงตนให้เจริญงอกงามถึงความสมบูรณ์อันยิ่งขึ้น
      
      กล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ความสามารถมองตนเองออก ว่าตนเองเป็นใคร มีฐานะและภาวะอย่างไร กำลังต้องการอะไร เมื่อมองออกแล้วก็พยายามปรับตนเองให้เป็นอย่างที่ตนเป็นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม พยายามวางตนให้เหมาะสมกับฐานะและภาวะของตนและใช้กำลังความรู้ความสามารถของตนพัฒนาตนเองให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการในทางที่ชอบ รวมถึงความรู้จักหยุดยั้งความต้องการอันเกินขอบเขตกำลังความรู้ความสามารถของตน และหยุดยั้งการแสวงหาอันเกินกำลังหรือในทางที่มิชอบธรรม อันจะทำให้ตนเดือดร้อนในภายหลัง
      
      4. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณ หมายถึง ความรู้จักพอดีในสิ่งต่างๆ เช่น รู้จักประมาณในการบริโภคและการใช้จ่ายทรัพย์ รู้จักความพอเหมาะในการพูด การปฏิบัติกิจและทำการต่างๆ ตลอดจนการพักผ่อนนอนหลับและการสนุกสนานรื่นเริงทั้งหลาย ทำการงานทุกอย่างด้วยความเข้าใจวัตถุประสงค์เพื่อผลดีแท้จริงที่ พึงต้องการ โดยมิใช่เพียงเพื่อเห็นแก่ความพอใจ ชอบใจ หรือเอาแต่ใจของตน แต่ทำตามความพอดีแห่งเหตุปัจจัย หรือองค์ประกอบทั้งหลายที่จะลงตัวให้เกิดผลดีงามตามที่มองเห็นด้วยปัญญา
      
      ความรู้จักประมาณในสิ่งต่างๆ ดังกล่าวนั้นต้องเป็นไปใน 3 ขณะ คือ ในขณะแสวงหา ในขณะรับ และในขณะบริโภคใช้สอย
      
      โดยความรู้จักประมาณในขณะแสวงหาย่อมเป็นเหตุให้ประกอบอาชีพโดยทางที่ชอบธรรมไม่ใฝ่สูง ทะเยอทะยานจนเกินประมาณ อันจะก่อให้เกิดการแสวงหาในทางทุจริตต่อมา
      
      ความรู้จักประมาณในขณะรับย่อมเป็นที่ยินดีและเลื่อมใสของบุคคลผู้ให้ และไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนในภายหลัง ทั้งเป็นที่สรรเสริญของบุคคลผู้อื่นด้วย
      
      ส่วนความรู้จักประมาณในขณะบริโภคใช้สอย โดยการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วบริโภคอาหารหรือใช้สอยพัสดุสิ่งของต่างๆ ให้พอเหมาะพอควร ไม่ให้มากนัก ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ก็จักเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ เช่น เมื่อบริโภคอาหารพอเหมาะพอดี ก็จะก่อเกิดความมีสุขภาพ ดีแก่ร่างกาย และเมื่อร่างกายปราศจากโรคแล้ว หากต้องการฝึกอบรมจิตให้เป็นสมาธิหรือให้เกิดปัญญา ก็ทำได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
      
      5. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาล หมายถึง การรู้จักเวลาอันเหมาะสมและระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจกระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น หรือการรู้จักกาลเวลาในอันที่จะประกอบกิจนั้นๆ เป็นต้นว่า ตนมีหน้าที่การงานจะพึงทำหลายอย่างด้วยกัน จะเป็นกิจการทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม จะต้องแบ่งเวลาให้เหมาะแก่กิจที่จะต้องทำนั้นๆ การงานจึงจะดำเนินไปโดยเป็นระเบียบเรียบร้อยดี ไม่ยุ่งยิ่งยุ่งเหยิง คั่งค้างอากูล ตลอดจนรู้จักกะเวลาและวางแผนการใช้เวลาอย่างได้ผล
      
      6. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักถิ่น รู้จักที่ชุมนุม รู้จักสังคม คือรู้จักว่า ชุมชนหรือสังคมนั้นเป็นอย่างไร จะต้องปฏิบัติอย่างไร จึงจะเหมาะกับสังคมนั้นเพื่อให้สามารถเข้ากับชุมชนนั้น โดยไม่เก้อเขินหรือประหม่า เช่น เมื่อไปร่วมพิธีงานศพจะต้องแต่งกาย จะพูดและจะทำอย่างไร เมื่อเข้าวัดไปในพิธีทำบุญต่างๆ จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จึงจะเหมาะสม จะวางตัวอย่างไรเมื่อพูดคุยกับพระสงฆ์ เป็นต้น
      
      กล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ความรู้การอันควรประพฤติปฏิบัติในถิ่นที่ชุมนุมและต่อชุมชนนั้นว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหาควรทำกิริยาอย่างนี้ ควรต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ มีระเบียบวินัยอย่างนี้ มีวัฒนธรรมประเพณีอย่างนี้ มีความต้องการอย่างนี้ ควรเกี่ยวข้อง ควรสงเคราะห์ อนุเคราะห์ ควรรับใช้ ควรบำเพ็ญประโยชน์อย่างนี้ๆ เป็นต้น
      
      7. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบบุคคล หมายถึง ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือรู้จักและเข้าใจความแตกต่างแห่งบุคคลว่าโดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้จักที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ว่าควรคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร จึงจะได้ผลดี เป็นต้น
      
      กล่าวอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ความสามารถอ่านคนออก โดยรู้จักบุคคลแต่ละคนว่ามีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร มีความสามารถในด้านใด มีคุณภาพเป็นอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร ใครควรคบหรือไม่ควรคบอย่างไร เป็นต้น เมื่อรู้จักลักษณะนิสัยของบุคคลนั้นๆ เป็นอย่างไรแล้ว ก็สามารถที่จะปฏิบัติต่อเขาได้อย่างถูกต้อง
      
      สัปปุริสธรรมทั้ง 7 ข้อนี้ สรุปเป็นคำจำกัดให้กำหนดง่ายๆ ว่า รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้สังคม รู้บุคคล เป็นกุศลธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นคนดี โดยไม่ขึ้นอยู่กับชาติกำเนิด ฐานะ ความเป็นอยู่ หรือความมีการศึกษาสูง บุคคลใดเป็นผู้รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักความพอดี รู้จักเวลา รู้จักชุมชนหรือสังคม และรู้จักเลือกคบคน บุคคลนั้นก็สามารถที่จะเป็นคนดี เป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ หรือเรียกว่า เป็นคนเต็มคน คนดีที่แท้ ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกที่ดีมีคุณค่าอย่างแท้จริงของมนุษยชาติ

 ยิ้มกว้างๆ
6  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / กรรมที่ส่งผลทำให้ "ตาบอด" เมื่อ: มิถุนายน 21, 2012, 04:40:49 AM


      กรรมที่เรากระทำไว้ ไม่ว่าจะนานสักเท่าไหร่ก็ตาม เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ย่อมแสดงผลออกมาอยู่นั่นเอง การกระทำกรรมชั่วจึงเหมือนกับเป็นการวางกับดักให้กับตนเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่กำลังแห่งกรรมดีแผ่วเบาลง กรรมชั่วก็ย่อมให้ผลร้ายอยู่นั่นเอง
      
      ต่อไปนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผู้กระทำกรรมชั่วไว้ในอดีต และในวันหนึ่งมันก็แสดงผลออกมาให้เห็นโดยที่เขายังไม่ทันตั้งตัว

      ณ หมู่บ้านหนองกก อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อ “บุญนา” เป็นคนขยันขันแข็งและเอาจริงเอาจังในการทำงาน ครอบครัวของบุญนาทำอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ทำนา หน้าที่ของบุญนาคือการไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนาและเลี้ยงควาย ตามประสาลูกชาวนา
      
      การที่เขาเป็นคนขยัน นับว่าเป็นที่ภาคภูมิใจของผู้เป็นพ่ออย่างมาก พ่อจึงพยายามสอนบุญนาให้รู้จักทำงานต่างๆ เช่น การไถนา ซึ่งในสมัยก่อนนั้น การไถนาจะต้องใช้ควายเทียมคันไถจริงๆ ไม่ได้ใช้รถอย่างปัจจุบัน บุญนาได้ฝึกฝนวิชาชีพนี้กับพ่อตั้งแต่เขายังไม่จบชั้นป.6 ด้วยซ้ำไป
      
      ในช่วงเวลานั้นบุญนาบอกว่า การทำนาแบบนั้นก็สนุกดี ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความยากลำบากแต่ประการใด เพราะคนอื่นๆ ในละแวกนั้นก็ทำกันอย่างนั้นทุกคน
      
      เมื่อบุญนาได้ฝึกวิชาชีพจนชำนาญแล้ว พ่อก็ปล่อยให้บุญนาไปไถนาเองคนเดียว ซึ่งนับว่าเบาแรงพ่อไปได้เยอะ วันหนึ่งพ่อใช้ให้บุญนาไปไถนาตามปกติ แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็มักจะเกิดขึ้นเสมอ
      
      วันนั้นอากาศร้อนจัดมาก บุญนาไถนาตั้งแต่รุ่งเช้าจนสาย หิวข้าวก็หิว ทำให้เขารู้สึกหงุดหงิดมาก เท่านั้นยังไม่พอ ควายก็พลอยสร้างเหตุให้เขาต้องอารมณ์เสียด้วย
      
      เพราะระหว่างนั้นเอง ควายที่ต้องลากไถอยู่หลายชั่วโมง มันคงหมดแรง และเหนื่อยจากอากาศที่ร้อนจัด จึงทิ้งตัวลงนอนเอาดื้อๆทั้งๆที่ยังเทียมคันไถอยู่ บุญนาเห็นสภาพเช่นนั้นก็พยายามใช้เชือกตีให้มันลุกขึ้นลากไถต่อไป แต่ตีอย่างไรมันก็ไม่ยอมลุก เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจึงเริ่มโกรธหนักขึ้นเรื่อยๆ หาก้อนดินขว้างปาใส่มัน แต่มันก็ยังนอนเฉย ทั้งๆที่ก็คงเจ็บไม่เบา เพราะทุกครั้งที่บุญนาตีมันด้วยเชือกนั้น เขาฟาดมันอย่างเต็มแรง แต่มันคงจะไปต่อไม่ไหวจริงๆ
      
      สภาพของควายที่หมดแรงเช่นนี้ แทนที่บุญนาจะรู้สึกสงสารมัน เห็นอกเห็นใจมัน แต่ไม่เลย เขากลับคิดว่า มันยั่วโมโห ไม่ยอมทำตามที่เขาต้องการ จนเขาไม่รู้จะทำอย่างไรจึงจะทำให้มันลุกขึ้นได้ พยายามลากมันจนสุดแรงก็แล้ว พยายามตีมันก็แล้ว แต่มันก็ยังนอนเฉยไม่ยอมลุกขึ้น
      
      บังเอิญบุญนาเหลือบมองไปเห็นค้อนขนาดใหญ่วางอยู่แถวนั้น เขาจึงไปหยิบมาและฟาดมันอย่างเต็มแรง คราวนี้มันคงทนเจ็บไม่ไหวจริงๆ จึงลุกขึ้นยืน บุญนาจึงปลดไถที่เทียมตัวของมันออก แล้วก็จูงมันไปที่หลัก
      
      เมื่อมาถึงหลักที่เคยล่ามมันไว้ประจำ เขาจับมันผูกกับหลัก แต่ไม่ได้ทิ้งให้เชือกยาวเพื่อปล่อยให้มันกินหญ้าได้สะดวกเหมือนเดิม เขากลับผูกมันให้เหลือเชือกสั้นไม่ถึงศอก จนจมูกมันแทบติดอยู่กับหลัก
      
      หลังจากที่ผูกมันไว้แน่นหนาและรู้ว่ามันไปไหนไม่รอดแล้ว บุญนาก็ใช้กำปั้นของตนเองชกไปที่ตาของควายตัวนั้นเต็มแรง เขาชกไปสี่ห้าครั้ง ด้วยไฟโทสะที่ลุกโพลงอยู่ในใจ
      
      เจ้าทุยมันคงเจ็บมาก จึงพยายามส่ายหัวหลบ ขณะที่น้ำตาของมันก็ไหลพรากๆ ด้วยความเจ็บปวด น้ำตาควาย กลายเป็นความสะใจของบุญนาซึ่งคิดว่าตนคือผู้ชนะ แต่เขาก็ยังไม่พอใจ ไม่รู้ว่าตอนนั้นอะไรมาดลใจให้เขาเป็นเช่นนั้น เขากำหมัดแน่นแล้วชกเปรี้ยงลงไปที่ตาของ มันอีกหลายครั้ง กะว่าจะทุบให้ตามันแตกคามือไปเลย!!
      
      กว่าที่ความโกรธของบุญนาจะเบาบางลงไป ควายก็แทบเอาชีวิตไม่รอด พอเขาชกจนหมดแรงและรู้สึกเจ็บมือแล้ว ความโกรธเกลียดที่มีอยู่ในใจจึงค่อยๆ ลดลง เขาเดินหนีเข้าบ้านไป โดยไม่สนใจมันเลย ปล่อยให้จมูกของมันติดอยู่กับหลักอย่างนั้นครึ่งค่อนวันเต็มๆ โดยที่มันไม่สามารถเดินไปกินหญ้าได้เลย ช่างเป็นการลงโทษที่โหดร้ายทารุณมาก
      
      จนกระทั่งถึงเวลาเย็น บุญนาซึ่งนอนพักอยู่ในบ้าน จึงนึกถึงควายตัวนั้นขึ้นมาได้ ความเมตตาสงสารค่อยคืน สู่หัวใจของบุญนา เขาเริ่มรู้สึกว่า ที่ตนเองทำไปนั้นมันเกินกว่าเหตุ จึงรีบออกไปที่ทุ่งนาและปล่อยควายให้มันกินหญ้าตามปกติ
      
      วันเวลาผ่านไปจนกระทั่งบุญนาเรียนจบมัธยม และได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี จนกระทั่งจบสมตามที่พ่อปรารถนา บุญนาได้สอบบรรจุเป็นครู และได้ไปสอนที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งไกลจากบ้านเกิดของเขามากทีเดียว
      
      ระหว่างที่เขามาเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนในจังหวัดสระแก้วนี้เอง ผลกรรมที่เคยทำไว้ก็ตามมาทันโดยที่เขาไม่รู้ตัว โดยจู่ๆวันหนึ่งบุญนาก็รู้สึกว่าปวดตาขึ้นมาอย่างหนัก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร ทั้งๆที่ไม่ได้ไปโดนอะไรแม้แต่น้อย และอาการปวดนั้นก็หนักหนาสาหัสมาก แทบจะเรียกได้ว่า อยากจะควักลูกตาออกมาเลย
      
      บุญนารีบไปหาหมอที่โรงพยาบาล เมื่อหมอตรวจเช็คแล้ว ก็บอกว่าปกติดี ไม่ได้เป็นอะไร แต่พอตกกลางคืนก็รู้สึกปวดขึ้นมาอีกโดยไม่มีสาเหตุ เป็นอยู่แบบนี้หลายครั้ง ทั้งๆที่เขาก็ไปหาหมอตลอด แต่หมอก็ไม่เคยเจอโรคอะไรเลยแม้แต่ครั้งเดียว และบอกว่าปกติดีทุกครั้ง
      
      เมื่ออาการปวดตาเป็นอยู่บ่อยครั้ง ในใจของบุญนาก็ค่อยๆคิดถึงควายตัวนั้น หวนนึกถึงภาพที่เขาเคยทำกับมันไว้ ทุกครั้งที่เขาปวดตามาก อยากจะเกา อยากจะบีบนวด เหมือนปวดที่อื่นก็ทำไม่ได้ ต้องนอนปิดหน้า น้ำตาไหลอยู่ตลอด ด้วยความเจ็บปวดทรมาน จนกระทั่งตาของเขาค่อยๆ มืดมัวลงเรื่อยๆ จนแทบมองอะไรไม่ค่อยเห็น
      
      นี่คือผลแห่งกรรมที่ให้ผลทันทีในชาตินี้ เราทั้งหลายพึงระวังอย่างยิ่งในการกระทำกรรมต่างๆ อย่าปล่อยให้กรรมชั่วมาทำให้ตนเองต้องทุกข์ทรมานอย่างบุญนา
      
      ปัจจุบันบุญนาพอมองเห็นบ้าง แต่ก็มักจะเป็นภาพลางๆ เขาพยายามทำบุญกุศลอุทิศไปให้กับควายตัวนั้น ซึ่งมันได้ตายจากไปแล้ว เขาคิดว่ากรรมดีน่าจะช่วยทำให้เขามีความสุขได้บ้าง และไม่หลงผิดไปทำชั่วอย่างที่เขาได้เคยกระทำผิดพลาดมาแล้ว

 ยิ้มกว้างๆ
7  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / อานิสงส์ ของการเดินจงกรม เมื่อ: มิถุนายน 18, 2012, 03:46:02 AM


      ผู้ปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา สามารถรักษาศีลให้สำรวมดีแล้ว การทำสมาธิภาวนาก็เป็นไปได้ง่าย
      
      แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สำรวมรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว การทำสมาธิภาวนาก็จะเป็นไปได้ยาก ทำไมท่านจึงพูดไว้เช่นนั้น? ก็เพราะว่าเรารักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นการปราบกิเลสอย่างหยาบได้แล้ว ดังนั้น เมื่อเราทำสมาธิควบคู่กันไป ก็สามารถเป็นไปได้ง่าย
      
      สำหรับการทำสมาธินั้น เราจะกำหนด “พุทโธ” เป็นอารมณ์ หรือเรียกว่าเอา “พุทโธ” เป็นเป้าหมายก็ได้ หรือว่าจะ “กำหนดลมหายใจเข้า-ออก” เป็นอารมณ์หรือเป้าหมายก็ได้ เป็นต้น อันนี้แล้วแต่ว่าเราจะชอบอย่างไหนหรือถูกจริตกับสิ่งใด
      
      เมื่อเรากำหนดสติของเราตั้งมั่นอยู่ที่ไหน จิตของเราก็ให้อยู่ที่นั่น เพราะสติเป็นเครื่องผูกเป็นเครื่องครอบงำเป็นเครื่องบังคับ
      
      นอกจาก “สติและความรู้” แล้ว ไม่มีสิ่งไหนในโลกที่จะสามารถบังคับจิตให้สงบลงได้ เมื่อเราต้องการบำเพ็ญสมถะเราต้องเจริญสติให้มากๆ
      
      การฝึกหัดทำสมาธิภาวนานี้ ในตอนแรกๆ จะทำได้ยาก มักจะมีอาการปวดเมื่อยตามแข้งตามขาหรือตามเอวตามหลัง ในตอนแรกๆ นี้จะต้องอาศัยความอดทนและต้องอาศัยความฝืนอยู่มากพอสมควร แต่เมื่อกระทำไปประมาณ ๒-๓ อาทิตย์ ก็จะรู้สึกเคยชิน อาการปวดเมื่อยต่างๆ ก็จะค่อยๆ หายไป
      
      เมื่อเรารู้สึกปวดเมื่อยแล้ว ท่านจึงแนะนำให้เปลี่ยนอิริยาบถ จากนั่งสมาธิไปเป็นการเดินจงกรม ซึ่งการกำหนดใจในขณะเดินจงกรมนั้นก็เหมือนกับเรากำหนดเวลาที่เรานั่งสมาธินั่นเอง เพียงแต่ต่างจากการนั่งเป็นการเดินเท่านั้น
      
      อานิสงส์ของการเดินจงกรม ๕ อย่าง
      ๑. ทนต่อการเดินทาง คือเดินทางได้ไกล
      ๒. ทนต่อการทำความเพียร คือทำความเพียรได้มาก
      ๓. อาหารที่บริโภคเข้าไปแล้วย่อมจะย่อยได้ง่าย
      ๔. อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นเวลาเดินจงกรมจะไม่เสื่อมง่าย
      ๕. การเดินจงกรมนั้นจิตก็สามารถที่จะรวมได้
      และเป็นการบริหารร่างกายให้แข็งแรง โรคที่จะมาเบียดเบียนก็น้อยลง

      
      ในบางครั้งเมื่อเราทำสมาธิได้แล้ว เมื่อจิตเริ่มรวมจะเกิดอาการต่างๆ เช่น มีความรู้สึกว่าเบามือทั้งสองข้าง ซาบซ่านตามร่างกาย ขนลุกขนพองคล้ายกับพบสิ่งที่น่ากลัว มีอาการตัวเบาหวิว เป็นต้น
      
      บางคนเมื่อรู้ว่าจิตเริ่มจะรวม จึงคอยดูว่าจิตจะรวมอย่างไร จิตก็รวมไม่ได้ สมาธิก็ไม่เกิด อันนี้เป็นการกระทำที่ผิด
      
      เมื่อเรารู้ว่าจิตของเรากำลังจะรวม ให้เรากำหนดผู้รู้ นิ่งอยู่ สติกับใจอย่าให้เคลื่อนจากกัน อย่าให้สติเคลื่อนไหวไปกับอาการใดๆ เมื่อสติไม่เคลื่อนไหวไปกับอาการใดๆ แล้วจิตก็รวมเอง บางครั้งก็รวมสนิทเลย เปรียบเหมือนเอาไม้ปักลงไปในน้ำที่ไหลเชี่ยว ปักให้นิ่งไว้อย่าให้เคลื่อนไปตามน้ำ อย่าให้จิตเคลื่อนจากผู้รู้
      
      ผู้ที่สามารถทำจิตรวมได้แล้วก็ให้กำหนดจิตตามเดิม กำหนดอย่างไรที่ให้จิตรวมกันได้ก็กำหนดอย่างนั้น ถ้าจิตรวมสนิทก็อย่าเพิ่งออกจากสมาธิเสียทีเดียว
      
      ก่อนออกจากสมาธิก็ให้พิจารณาเสียก่อน เราจะได้ทราบว่าเราบริกรรมอย่างใด ตั้งสติอย่างใด ละวางอารมณ์ สัญญาอย่างใด จิตของเราจึงรวมได้เช่นนี้ ถ้าเราสามารถพิจารณาถึงกรรมวิธีต่างๆ ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติในครั้งต่อไป
      
      ขอย้ำอีกครั้ง กำหนดให้แน่วแน่นิ่งอยู่กับผู้รู้ สติกับผู้รู้อย่าให้เคลื่อนไปตามอาการใดๆ จิตก็จะรวมได้เพราะสติอย่างเดียวเท่านั้น (ถ้าขาดสติก็นั่งหลับ, เกิดอาการฟุ้งซ่าน, จิตไม่รวม เป็นต้น)
      
      พูดตามปริยัติ “สติ” แปลว่าความระลึกได้ในกิจที่ได้กระทำ แม้คำพูดทั้งในอดีตและปัจจุบัน
      
      ในทางปฏิบัติ “สติ” แปลว่าระลึกอยู่ที่ใจ ไม่ให้รู้ไปตามสิ่งอื่น ถึงจะมีสัญญาอะไรก็ไม่ให้เคลื่อนไหวไปตามอาการนั้น กำหนดรู้นิ่งไว้อย่างนั้น ระลึกอยู่ที่ใจ
      
      ใจก็หมายถึงผู้รู้ เมื่อสติกับใจบังคับกันแนบนิ่งดีแล้ว จิตก็จะรวมสนิท เมื่อเรานั่งกำหนดแล้ว ขณะที่เราเบาเนื้อ เบากาย ก็ให้เรานิ่งไว้อยู่กับผู้รู้ คำบริกรรมต่างๆ ก็ให้เลิกบริกรรม ให้เอาแต่สตินิ่งไว้ ให้ระลึกแต่ผู้รู้เท่านั้น
      
      ตามธรรมดาสติมักจะส่งไปภายนอก ชอบเล่นอารมณ์ สังขารที่ปรุงแต่ง ไม่ว่าจะคิดดี คิดร้าย คิดไม่ดี ไม่ร้าย เราจะต้องพยายามฝึกหัดละวางอารมณ์เหล่านี้ อย่าให้จิตส่งออกไปภายนอก ให้สติอยู่ที่ผู้รู้เท่านั้น
      
      เมื่อเรานั่งสมาธิภาวนา เรากำหนดคำบริกรรมใดๆ ก็ตาม ถ้าเราเผลอจากคำบริกรรมนั้น เมื่อเรารู้สึกว่าเราเผลอไปรับรู้อารมณ์ภายนอก ก็ให้รีบกลับมาบริกรรมอย่างเดิมตามที่เราเคยปฏิบัติมา

 ยิ้มกว้างๆ
8  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / นำธรรมะมาช่วยให้ทำงานด้วยใจสบาย เมื่อ: มิถุนายน 12, 2012, 09:44:46 AM


      คนเราที่ยังทำงานในหน้าที่ บางคนก็ทำงานหนักเกินไป บางคนก็ทำงานน้อยเกินไป อันนี้ก็เรียกว่า ฝ่ายหนึ่งตึง อีกฝ่ายหนึ่งหย่อนยานเต็มที ไม่เดินทางสายกลาง ไม่พอเหมาะพอดี
      
      การทำที่พอเหมาะพอดีนั้นอยู่ตรงไหน อยู่ที่ไม่ต้องมีความหนักใจเพราะงาน ทำงานอย่าให้มันหนักอกหนักใจ ทำให้รู้สึกว่าเป็นงานเบาๆ งานง่ายๆ เสร็จงานแล้วก็ไม่ต้องมานั่งหนักอกหนักใจ อย่างนี้ทำงานแล้วใจสบาย
      
      แต่ถ้าเราทำงานอย่างชนิดที่เรียกว่าทุ่มตัวมากเกินไป เคร่งเครียดมากเกินไปในงานจนไม่มีเวลาจะพักผ่อน แม้ถึงเวลาพักผ่อนแล้วก็ไม่ได้พักผ่อน จิตมันไปครุ่นคิดอยู่แต่ในเรื่องนั้นตลอดเวลา นั่งก็เป็นงาน ยืนก็เป็นงาน เดินก็เป็นงาน หายใจเข้าหายใจออกเป็นงานทั้งนั้น อย่างนี้เรียกว่า ตึงไปหน่อย มันดีได้ทำงาน แต่ว่ามันตึงไปหน่อย
      
      ทีนี้เมื่อตึงอย่างนั้นมันเกิดความเคร่งเครียดทางสมอง เกิดความเคร่งเครียดทางประสาทร่างกาย เป็นเหตุให้เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน และอาจจะเป็นเหตุให้เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะว่าไม่มีการหยุดพักเสียเลย อย่างนี้ก็ไม่ได้เหมือนกัน มันต้องมีเวลาพักผ่อน เปลื้องตนออกจากงาน เรียกว่ารู้ปลดเปลื้องภาระ รู้จักพักใจ ทำใจให้ว่างจากภาระกังวลเสียบ้าง
      
      อันนี้จะช่วยให้ร่างกายเป็นปกติขึ้น ทำให้จิตใจของเรามีสภาพเป็นปกติขึ้นด้วย ไม่ต้องทานยาอะไรมากเกินไป ยานั้นช่วยได้เพียงเล็กน้อย แต่การทำใจของเราให้สงบในบางครั้งบางคราว เป็นเรื่องที่ช่วยได้มากกว่า ในเรื่องอย่างนี้ก็ต้องหัดปล่อยวาง คือหัดปล่อยหัดวางเสียบ้าง อย่าแบกอยู่ตลอดเวลา
      
      คนเราถ้าถืออะไรแล้วถืออยู่ตลอดเวลามันหนัก แม้ของนั้นจะเบา เช่นว่าเขาให้เราถือนุ่นไว้สักห่อหนึ่ง แต่ถ้าถืออยู่ตลอดเวลามันก็หนัก นุ่นมันหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะ ถือไม่รู้จักวาง แต่ถ้าเราวางเสียได้มันก็เบาใจ อันนี้เป็นเคล็ดลับสำคัญ ในการดำเนินชีวิตเกี่ยวกับการงาน คือให้รู้จักหยุดงาน แล้วก็ให้รู้จักทำงาน เวลาทำงานก็ทำไปตามหน้าที่ของเรา จะคิดนึกตรึกตรองจะแก้ปัญหาอะไร ก็คิดไปในเวลานั้น เวลานั้นเป็นเวลาของงาน เป็นเวลาที่จะคิดจะค้นจะวางแผนที่จะต้องทำงานต่อไป
      
      ครั้นเมื่อหมดเวลาชั่วโมงของงานแล้ว เราลุกขึ้นจากโต๊ะทำงาน กลับบ้านอย่าเอางานมาด้วย เพราะว่ามันพ้นเวลางานแล้ว เราต้องเลิกงาน เวลาออกจากสำนักงาน ก็ต้องบอกตัวเองว่า เลิกกันทีสำหรับวันนี้ หมดงานแล้วพรุ่งนี้ค่อยมาต่อกันใหม่ต่อไป แล้วเราก็กลับบ้าน
      
      กลับบ้านด้วยจิตใจที่เบาไม่หนัก ไม่ใช่กลับบ้านจากสำนักงานนั่งในรถยนต์ก็คิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าขับรถด้วยตนเองแล้วอันตรายที่สุด คนใดที่ไม่รู้จักปล่อยวางขับรถด้วยตนเอง อันตราย... อันตรายตรงไหน เพื่อนจะชนเราบ้างเราจะชนเพื่อนบ้าง เพราะใจมันไปคิดเรื่องอื่น แต่ว่ามือนี่อยูที่พวงมาลัย ใจกับมือมันคนละเรื่อง
      
      เรากระซิบกับตัวเองว่าพอแล้ว เท่านี้พอแล้ว หยุดคิดเสียบ้าง ไปทำเรื่องอื่นบ้างเถอะ อย่างนี้แหละพูดบ่อยๆ ถ้าเราพูดกับตัวเราบ่อยๆ อย่างนี้เขาเรียกว่า แนะนำตนเองหรืออีกอย่างหนึ่งเขาเรียกว่า ปลุกเสกตนเอง ปลุกเสก ตัวเองให้เป็นอะไรก็ได้ พูดบ่อยๆ คิดบ่อยๆ ในเรื่องใดเราก็เป็นไปตามเรื่องนั้น
      
      เราอย่าคิดในทางเสื่อม อย่าคิดในทางสร้างโรคภัยไข้เจ็บแก่ตนเอง แต่ต้องคิดไปในทางที่ว่าเราสบาย เรามีความสดชื่น เรามีความร่าเริงมีความแจ่มใส มองโลกในแง่สดชื่นรื่นเริง อย่ามองไปในแง่วุ่นวายใจ หรืออย่ามองไปในแง่ที่ว่าอะไรๆ ก็เป็นปัญหาไปเสียทั้งนั้น มันจะเกิดความเคร่งเครียดเกินไป
      
      กลับไปบ้านก็พักผ่อนเสียมั่ง ทำเรื่องส่วนตัวไปเสียบ้าง หาความเพลิดเพลิน เช่น เราเป็นคนมีครอบครัวมีลูกมีเต้าก็เรียกลูกมานั่งคุยกัน ชวนลูกให้ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ปลูกต้นไม้บ้าง รดน้ำต้นไม้บ้าง ทำงานให้เพลิดเพลิน นั่งเล่นกันในสนาม จิตใจมันว่างร่าเริงแจ่มใส ไม่ต้องไปหมกมุ่นเรื่องงานเรื่องการอะไรมากเกินไป คือว่ามันต้องรู้จักปิด
      
      จิตใจของเรานี่ต้องปิดเสียบ้าง เปิดมากไปก็ไม่ได้ เหมือนประตูบ้าน เวลานอนก็ต้องปิด ปิดกันขโมยเข้ามา หน้าต่างต้องปิด ถ้าไม่ปิดต้องใส่โครงเหล็กให้แข็งแรง จิตใจเรานี่ก็เหมือนกันต้องปิดเสียบ้าง อะไรที่มันหนักก็ต้องปิดไว้ก่อนไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดเวลานี้ เวลาใดจะคิดก็เอาไปคิด เวลาใดหยุดคิดก็ทำเรื่องอื่นต่อ ถ้าอย่างนี้แล้วไม่มีอาการเครียด จิตใจจะเป็นปกติ รู้จักทำงานเป็นเวลา
      
      เวลาจะนอนนี้อย่างหนึ่ง บางคนนอนยาก นอนไม่หลับ นอนแล้วจะคิด ทางที่ดีเราจะนอนนี้ต้องสวดมนต์ไหว้พระ อย่าถือเป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องไหว้พระสวดมนต์ เป็นเรื่องฝึกจิต เป็นเรื่องที่ให้เกิดความสงบใจ แล้วจะได้ นอนหลับเป็นปกติ ปลดเปลื้องอารมณ์ได้ สวดมนต์เสร็จ แล้วก็ทำจิตใจให้สงบ ปล่อยว่างจากอารมณ์ต่างๆ เสีย
      
      ครั้นเมื่อจิตสงบแล้วเราก็ไปนอน เวลานอนนี่ก็อย่าคิดอะไร ถ้ามีความคิดอะไรขึ้นมาในใจ ต้องขับไล่มันออกไป บอกตัวเองว่า ฉันจะนอน ไม่ใช่เวลาคิด อย่าคิดมากนะ นอนให้หลับนะ แล้วก็นอนให้ร่างกายปกติ นอนหงายก็ได้ นอนหงายทอดมือไปตามปกติ หายใจแรงๆ หน่อย หายใจเข้าให้เต็มท้อง ท้องมันก็พองขึ้น หายใจออกท้องมันก็ยุบลงไป แล้วก็กำหนดว่าหายใจเข้า-หายใจออก ประเดี๋ยวเดียวมันก็หลับไปเลย
      
      แต่ถ้ารู้ว่าก่อนนอนมันหลับยาก ก็ทานอะไรเสียนิดหน่อยให้กระเพาะมันได้ทำงาน แต่อย่าทานของหนักเกินไป ให้ทานกล้วยน้ำละว้าสักสองผลน้ำสักหนึ่งแก้วก็พอ กล้วยน้ำละว้าน่ะโปรตีนวิตามินมันเยอะ
      
      รุ่งเช้าเวลาไปถึงที่ทำงานก็บอกตัวเองว่า เอาละทีนี้ทำงานแล้วนะ คิดนึกวางแผนในเรื่องงานเรื่องการไว้ให้เต็มที่ทำงานไปเป็นปกติ
      
      งานมีอุปสรรคอย่าเป็นทุกข์ อย่าร้อนอกร้อนใจ ทุกอย่างต้องมีการขัดข้อง ต้องมีอุปสรรค เราก็ต้องคิดว่ามัน เรื่องธรรมดา อุปสรรคเป็นเครื่องทดลองสติปัญญาของเรา เราไม่กลัว เรายิ้มรับกับมัน แล้วเราก็คิดค้นหาวิธีแก้ไขต่อไป ด้วยจิตใจที่ร่าเริงเบิกบาน
      
      มองอะไรด้วยความจริงอยู่ตลอดเวลา รู้เท่ารู้ทันต่อสิ่งทั้งหลายที่เข้ามากระทบอารมณ์ อันนี้แหละที่จะทำให้จิตใจเราสบายเรื่อยขึ้นเป็นปกติ

 ยิ้มกว้างๆ
9  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / ข่มขืนใครไว้ ต้องได้รับกรรม เมื่อ: มิถุนายน 07, 2012, 08:48:49 AM


      การมักมากในกามเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของสังคม หากไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ขาดสติ ก็อาจทำสิ่งที่ผิดพลาดได้ง่ายๆ และเมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะแก้ไขได้
      
      คนโดยส่วนใหญ่มักไม่คิดพิจารณาให้ดีก่อนที่จะทำอะไรลงไป แต่เมื่อเห็นผลที่เป็นความทุกข์ความเดือดร้อนเกิดขึ้นกับตนเองแล้ว จึงมานั่งเสียใจภายหลัง กรณีต่อไปนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของชีวิต เรื่องมีอยู่ว่า
      
      ในสังคมที่วุ่นวายกลางเมืองหลวงของไทย “ไกรยุทธ” ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ได้เดินทางจากต่างจังหวัดมาค้าขายอยู่ในกรุงเทพกว่า 10 ปีแล้ว นับจากวันที่เริ่มเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงจนถึงวันนี้ ชีวิตเขาดีขึ้นกว่าเดิมมาก มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย และจากการที่เขาเริ่มมีเงินมีทองนี่เอง ทำให้เขามักลืมตัวเอง เอาเงินไปใช้ในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อยู่เป็นประจำ
      
      ในช่วงที่เขายากจนนั้น ไกรยุทธมีความขยันหมั่นเพียรในการสร้างตัว แต่นิสัยเสียของเขาคือ ชอบเที่ยว ชอบดื่มสุรายาเมา สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตของเขาต้องผกผันอยู่เสมอ และก็บั่นทอนความดีที่อยู่ในตัวของเขาให้น้อยลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อได้ไปคบกับเพื่อนที่ไม่ดีเพิ่มมากขึ้น
      
      หลังจากค้าขายมาตลอดทั้งอาทิตย์ ไกรยุทธก็มักจะชดเชยความเหนื่อยล้าด้วยการออกไปเที่ยวคลับเที่ยวบาร์ กินเหล้ากับเพื่อนฝูง เพื่อผ่อนคลาย แต่ก็หารู้ไม่ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยชดเชยความเหนื่อย ตรงกันข้ามกลับเป็นการตอกย้ำความเหนื่อยยากลงไปอย่างแยบยล
      
      วันหนึ่งเขาออกไปเที่ยวเช่นเคย และได้ดื่มเหล้าอย่างหนัก เพราะช่วงนั้นเป็นวันหยุดยาว เขาคิดว่าจะกินให้หนำใจ สมกับที่แสนจะเหน็ดเหนื่อย เพราะการทุ่มเทแสวงหาเงินทองมา ก็เพื่อความสุขเหล่านี้แหละ เขาหารู้ไม่ว่ามันยังมีความสุขประเภทอื่นๆ อีกมากมาย แต่ในความคิดของเขา ความสุขที่จับต้องได้ง่ายที่สุดคือการกินและเที่ยวนั่นเอง เมื่อเขาเมาหนักแล้วก็กลับบ้าน
      
      ระหว่างที่ใกล้จะถึงบ้าน บังเอิญได้เจอเด็กสาวคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเขาเท่าไหร่นัก และจากการที่เขาเมาหนักจนขาดสติ ทำให้ความคิดชั่วเกิดขึ้นในใจของเขาทันที เขาคิดอยากจะข่มขืนเด็กคนนี้เหลือเกิน ในเวลานั้นเขาไม่เคยคิดเลยว่า ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร คิดเพียงแค่ต้องการความสนุกชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
      
      เมื่อคิดแล้วเขาก็ตรงดิ่งไปที่เด็กสาวคนนั้นทันที ขณะที่เด็กหญิงไม่ทันระมัดระวังตัว เพราะคิดว่าเป็นแค่คนเมาธรรมดาๆ แต่เมื่อไกรยุทธเข้าถึงตัว เขารวบตัวเด็กสาวไว้ แล้วลากไปที่เปลี่ยวริมทาง แม้ว่าเธอจะพยายามดิ้นรนและร้องตะโกนให้คนช่วย แต่ก็ถูกไกรยุทธใช้มืออุดปาก แล้วชกเข้าที่ลำตัว จนเธอไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ในที่สุดก็ถูกไกรยุทธข่มขืนจนได้
      
      หลังจากถูกข่มขืน เด็กสาวร้องไห้ด้วยความตกใจและเสียใจ ไกรยุทธจึงกลัวว่าหากเธอไปแจ้งความ เขาก็จะถูกจับ ชายหนุ่มจึงขู่ตะคอกไปว่าห้ามบอกใครเด็ดขาด หากไม่เชื่อ จะฆ่าให้ตาย ทำให้เด็กสาวเกิดความหวาดกลัวอย่างหนัก แล้วเขาก็ปล่อยเด็กสาวไป เธอเดินกลับบ้านด้วยน้ำตานองหน้า ในหัวใจเต็มไปด้วยความรู้สึกเจ็บช้ำเสียใจ แต่ก็ไม่ได้บอกเรื่องที่เกิดขึ้นกับใคร
      
      วันเวลาผ่านไปเธอก็เริ่มตั้งท้อง เมื่อพ่อแม่ญาติพี่น้องรู้เข้า จึงเค้นถามว่าใครเป็นพ่อเด็ก ในที่สุดเธอก็ยอมเปิดเผยความจริงว่าเธอโดนข่มขืน ญาติพี่น้องจึงเข้าแจ้งความกับตำรวจ ซึ่งพยายามติดตามหาตัวไกรยุทธ เพราะหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่นาน เขาก็ได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่อื่น โดยโกหกลูกเมียว่าหนีเจ้าหนี้ ที่พยายามจะตามฆ่า
      
      ไกรยุทธยังคงประกอบอาชีพค้าขายเลี้ยงลูกเมียต่อไป เขามีลูกสาวเพียงคนเดียวที่เป็นดั่งแก้วตาดวงใจ ซึ่งตอนนี้โตเป็นสาวสวยแล้ว
      
      ในที่สุดกรรมที่เขาทำ ก็ให้ผลจนได้ วันหนึ่งตำรวจตามสืบได้ว่าเขาอยู่ที่ไหน และเข้าจับกุมทันที ในข้อหาพรากผู้เยาว์ จนต้องติดคุกหลายปี และเท่านั้นยังไม่พอ ระหว่างที่อยู่ในคุก เขาก็ได้รู้ข่าวเกี่ยวกับลูกสาวซึ่งทำให้เขาปวดร้าวใจอย่างแสนสาหัส
      
      เพราะหลังจากที่ไกรยุทธติดคุกแล้ว ภรรยาและลูกสาวแสนสวยก็อยู่กันตามลำพัง วันหนึ่งมีกลุ่มนักเลงที่อยู่แถวนั้นผ่านมาเห็นลูกสาวของเขา ก็เอ่ยปากแซวตามประสาของคนหนุ่มเห็นสาวสวย แต่เธอไม่เล่นด้วย นักเลงกลุ่มนั้นก็ไม่เลิกตอแย เพราะรู้ว่าบ้านนี้อยู่กันเพียงสองแม่ลูกเท่านั้น
      
      วันหนึ่งระหว่างที่พวกเขาตั้งวงกินเหล้าอยู่ปากซอย ก็เห็นลูกสาวของไกรยุทธเดินผ่านมา เธอกลับจากซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า เมื่อพวกนี้เห็นจึงแซวทักทายเหมือนเช่นเคย แต่วันนี้เด็กสาวรู้สึกโมโห จึงด่าตอบโต้กลับไป พวกนักเลงรู้สึกไม่พอใจ จึงเดินตามหาเรื่องเธอไปตลอดทาง
      
      ตอนแรกเธอก็ไม่คิดว่าจะมีอะไร แต่เมื่อทำอย่างไรพวกนั้นก็ไม่ยอมเลิกตอแย เธอจึงพยายามเร่งฝีเท้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น นักเลงกลุ่มนี้ร่วมกันจับเธอไปรุมข่มขืนจนหนำใจ แล้วจึงปล่อยกลับบ้าน
      
      สาวน้อยเดินร้องไห้มาตลอดทาง สภาพจิตใจของเธอย่ำแย่ ทั้งเสียใจและปวดร้าว เพราะในชีวิตของลูกผู้หญิง คงไม่มีอะไรที่จะโหดร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว
      
      แต่ผู้ที่ทุกข์หนักยิ่งกว่าเธอก็คือพ่อแม่ โดยเฉพาะไกรยุทธผู้เป็นพ่อ เมื่อได้ยินว่าลูกสาวสุดรักถูกรุมข่มขืนจากพวกนักเลง เขารู้สึกเจ็บปวดและคับแค้นใจยิ่งนัก คิดอยากจะออกจากคุกไปฆ่าพวกมันให้ตายทั้งหมด แต่ก็ทำไม่ได้ ทำได้เพียงนั่งร้องไห้คร่ำครวญราวกับคนเสียสติ!!
      
      เมื่อเขารู้สึกตัวพร้อมกับสติที่กลับคืนมา เขาจึงหวนทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด การที่ลูกเขาโดนกระทำอย่างนั้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะกรรมที่เขาเคยก่อไว้นั่นเอง ผลกรรมที่เขาโดนจับติดคุกอาจเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย แต่การที่ลูกของตนถูกข่มขืนนั้น มันเป็นผลกรรมที่หนักหนาสาหัสสำหรับผู้เป็นพ่อ
      
      ตอนนี้เขาได้รู้แล้วว่า ความทุกข์ของพ่อแม่ที่ลูกโดนข่มขืนนั้นเป็นอย่างไร
10  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / โรงงานผลิตทุกข์ เมื่อ: เมษายน 10, 2012, 09:11:20 PM


ตามหลักธรรมแล้ว ทุกข์ไม่ว่าทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ ถ้าไม่มีสาเหตุทำให้เกิด แต่แสดงตัวขึ้นมาเฉยๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เช่น กายจะปรากฏทุกข์ขึ้นมา ต้องมีสาเหตุที่ทำให้เป็นส่วนบกพร่องของกายปรากฏขึ้นมา ทุกข์จำต้องปรากฏขึ้นมาตามจุดบกพร่องนั้นๆ แม้ทุกข์ทางใจก็จำต้องแสดงขึ้นมาตามจุดบกพร่องของใจ ที่เรียกว่าความเลินเล่อเผลอสติ นี่เป็นจุดบกพร่องของใจที่ยังทุกข์ให้เกิดขึ้นได้
      
      เมื่อสุขทุกข์เกิดขึ้นตามสาเหตุดีชั่วเป็นหลักประกันอยู่แล้ว การตำหนิติชมในผล คือสุขทุกข์ จึงไม่มีผลดีอะไรเกิดขึ้น นอกจากจะเป็นเรื่องส่งเสริมสมุทัยให้ทำการสั่งสมทุกข์เพิ่มขึ้นอีกเท่านั้น
      
      ฉะนั้น เพื่อดับทุกข์ให้ถูกต้องตามมรรคปฏิปทา ผู้รับทราบทุกข์ที่เกิดขึ้นจึงควรจับทุกข์ขึ้นเป็นเป้าหมาย แล้วพิจารณาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์โดยรอบคอบด้วยปัญญา เช่น วันนี้เราไม่สบายใจ เพราะคิดถึงเรื่องอะไรจึงเป็นสาเหตุให้เกิดความไม่สบาย ไม่สบายใจกับสิ่งใดหรือกับผู้ใด เกิดขึ้นที่ไหน ขณะนี้ความไม่สบายตั้งอยู่ที่ไหน ตั้งอยู่กับอะไร ความไม่สบายนี้เป็นใครหรือเป็นของใคร ท่านว่าความไม่สบายเป็นต้นนี้เป็นของจริงอันประเสริฐ มิได้เป็นใครและเป็นของใครทั้งนั้น
      
      การใช้ปัญญาตามขุดค้นเข้าไป ก็จะพบต้นเหตุอย่างชัดเจนว่า โรงงานผลิตทุกข์ คือ ใจที่ไม่มีสติไม่มีปัญญารักษาตน ปล่อยให้ความคิดปรุงอันเป็นฝ่ายสมุทัยสั่งสมทุกข์ขึ้นมา โดยไม่มีการต้านทานขัดขวาง ใจจึงได้รับความทุกข์อย่างไม่มีใครช่วยได้ ทุกข์มีสาเหตุเกิดขึ้นได้ดังที่กล่าวมานี้แล
      
      ฉะนั้น ผู้พิจารณาเพื่อดับทุกข์โดยชอบธรรม จึงควรใช้ปัญญาจดจ้องเข้าไปในจุดที่แสดงอาการกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา จุดนั้นเป็นที่เกิดขึ้นแห่งทุกข์และสมุทัยทั้งมวล และเป็นโรงงานใหญ่โตและแข็งแรงมั่นคงมาก ต้องทดสอบดูให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่เช่นนั้นจิตจะไปทำความสำคัญว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเราและเป็นของเราขึ้นมา ความสุขทุกข์ก็จะกลายเป็นเรา เป็นของเราขึ้นมาตามๆ กัน คำว่า “เรา” กับความคิดดี คิดชั่ว และสุขทุกข์ ก็จะเชื่อมเข้าเป็นอันเดียวกันจนหาทางแก้ไขไม่ได้
      
      ฉะนั้น จงคอยสังเกตด้วยสติปัญญา ตามลำดับที่ความคิดดีหรือชั่วเกิดขึ้นภายในใจ ทั้งขณะตั้งอยู่และดับไป พร้อมทั้งการทราบต้นเหตุที่เกิดขึ้นของสิ่งเหล่านั้น ไปในระยะเดียวกัน เช่น ความดีใจเสียใจ เป็นต้น เกิดขึ้น จงจับจุดนี้แล้วขุดค้นหาสาเหตุที่เกิดขึ้น เรื่องความสุขความทุกข์ที่เป็นผลซึ่งออกมาจากจุดเดียวกันก็จะดับไป แล้วเปลี่ยนสภาพขึ้นมาใหม่ ให้จิตตามรู้กันตามลำดับของเรื่องที่ยังไม่จบสิ้นลงโดยสิ้นเชิง ยังจะได้คติที่สำคัญๆ จากการพิจารณาในเวลานั้นด้วย
      
      วิธีดำเนินจิตต้องถือความสัมผัสและความกระเพื่อมของจิตเป็นเป้าหมายของการพิจารณา จิตจะแสดงตัวขึ้นมาอย่างไร เช่นแสดงเป็นความเสียใจและเศร้าหมองขึ้นมา อย่าตื่นเต้นตกใจไปตามอาการที่แสดงนั้นๆ จงพิจารณาให้รู้โดยทั่วถึง ตามหลักสติปัญญาของผู้ต้องการ ทราบต้นเหตุแห่งเรื่องทั้งปวง ไม่ให้มีจุดบกพร่องต่อการพิจารณา ความเสียใจและเศร้าหมองเป็นสาเหตุมาจากสมุทัย ความดีใจและผ่องใสเป็นสาเหตุมาจากมรรค คือข้อปฏิบัติทั้งสองประเภทนี้ จงถือเป็นทางเดินของสติปัญญาต่อไป อย่าไปยึดเอาความเศร้าหมองและความผ่องใส จะกลายเป็นเราขึ้นมาในระยะที่ไปยึดเขา เรากับเขาจะแก้กันไม่ตก เพราะความผ่องใสเราก็เสียดายและรักสงวน ส่วนความเศร้าหมองเราก็เกลียดชัง ความเกลียดชังก็เป็นเรื่องของเรา แม้เราไม่ชอบความเศร้าหมอง แต่เรากลับชอบความเกลียดชัง จึงถือความเกลียด ชังขึ้นมาเป็นตัวโดยไม่รู้สึก กิเลสกับเราจึงมีโอกาสคละเคล้ากันได้อย่างนี้
      
      เรื่องมารยาของใจที่มีกิเลส มันแสดงอาการหลอกลวงเราได้ร้อยแปดพันประการ เพื่อการดำเนินไปด้วยความสะดวกและราบรื่น จงถือเอาเรื่องดี เรื่องชั่ว และความเศร้าหมองผ่องใส เป็นต้น เป็นทางเดินของสติปัญญา จิตจะแสดงอาการอย่างใดขึ้นมา จงทราบ และทำ ความเข้าใจกับสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาทันที อย่าไปทำความเข้า ใจเอาเองว่า สิ่งที่ปรากฏขึ้นมานั้น เป็นสิ่งที่ควรไว้วางใจ และควรถือเป็นหลักยึดของใจ จะกลายเป็นความพลั้งเผลอและหลงยึดเอาสิ่งนั้น แล้วกลายเป็นสมมติจุดหนึ่งขึ้นมาให้เป็นเครื่องกดถ่วงใจโดยไม่รู้สึก เมื่อสิ่งที่เห็นว่าเป็นสิ่งถูกกับใจสลายตัวลงไป และสิ่งที่ไม่ชอบใจเข้ามากีดขวาง ใจก็จะแสดงความเสียใจขึ้นมา นั่นเป็นเรื่องเสริมสมุทัย ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก
      
      ดังนั้นเพื่อความรอบคอบต่อทางดำเนินของตน จงทำความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้นด้วยดี ว่าเมื่อยังมีอารมณ์ดี ชั่ว และสุข ทุกข์ ปรากฏในวงปฏิบัติของจิต ก็แสดงว่าทางเดินของเรายังมีอยู่ ยังไม่ถึงที่สุดซึ่งควรจะหยุดการเดิน และจำต้องเดินตามสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏขึ้นมาเฉพาะหน้าไม่ว่าดีว่าชั่ว และไม่ว่าจิตจะแสดงอาการใดๆ ออกมา ต้องตามรู้ตามเห็นด้วยการพิจารณา และถือจุดหรืออาการ นั้นๆ เป็นทางเดินของสติปัญญา โดยพิจารณาให้ถี่ถ้วน อย่าได้นอนใจกับสิ่งใดๆ เมื่อสิ่งที่กล่าวมายังปรากฏอยู่กับ ใจมากน้อย ให้ถือว่าสิ่งที่ปรากฏนี้แล กำลังเป็นทางเดินของจิตและสติปัญญาอยู่เวลานี้ เรายังมีทางเดินต่อไปอีก ยังไม่สิ้นสุดทางเดินของเรา จนกว่าสติปัญญาจะรู้รอบคอบ และสิ่งทั้งหลายที่เคยปรากฏกับใจ ก็สลายตัวลงไปพร้อม ทั้งรากฐานของมันที่เป็นจุดของสมมติอันสำคัญ
      
      เมื่อทุกสิ่งที่เคยเป็นข้าศึกของใจสลายตัวลงไปโดยสิ้นเชิงแล้ว นั่นแลการเดินทางของจิต มีสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร เป็นเพื่อนสอง ย่อมยุติลงเพียงเท่านั้น นั่นเชื่อว่าหมดทางเดินจริงๆ การหมดทางเดินจากสมมติ ดี ชั่ว นั่นแล ท่านเรียกว่า วิมุตติ เราจะไปหาวิมุตติที่ไหนกัน นอจากจะทำลายสมมติออกจากใจหมดแล้ว ก็เป็นวิมุตติขึ้นมาเท่านั้น ไม่มีที่ไหนเป็นวิมุตติตามความคาดหมายของใจ ซึ่งเป็นเจ้าอารมณ์
      
      คำว่า วิมุตติ กับนิพพาน นั่นเป็นไวพจน์ของกันและกัน คือใช้แทนกันได้ เช่นเดียวกับการกินกับการรับประทาน ซึ่งเป็นความหมายอันเดียวกัน พูดเพียงคำใดคำหนึ่ง โลกก็รู้ทั่วถึงกัน จิตที่เป็นวิมุตติของท่านผู้หลุดพ้นเพราะกำลังความเพียร จะย้อนกลับเห็นคุณค่าของความเพียรที่พาตะเกียกตะกายและล้มลุกคลุกคลานจนถึงแดน เกษมในปัจจุบันอย่างเต็มที่ และเห็นโทษแห่งความเกียจคร้าน และความโง่เขลา ที่พาให้ซบเซาเหงาหงอย เพราะความบีบบังคับของกิเลสบาปธรรมซึ่งเป็นเจ้าครองใจ ไม่มีเวลาปลดแอกพอให้อยู่สบายสักเวลาหนึ่งเช่นเดียวกัน
      
      นี่แล การดำเนินตามแบบ พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นสรณะ ย่อมมีจุดจบที่เป็นที่หวัง ดังที่อธิบายมา


โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
11  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / ผลกรรมของนักพนัน เมื่อ: เมษายน 02, 2012, 12:46:51 PM


การพนันเป็นอบายมุขที่จะนำไปสู่ความเสื่อมของชีวิต แต่คนจำนวนไม่น้อยที่ยังหลงใหลหมกมุ่นอยู่กับมันอย่างไม่ลืมหูลืมตา นั่นก็เป็นเพราะความโลภที่มากเกินเหตุ ไม่อยากลงแรงกระทำอะไรมาก ชอบลงทุนน้อยแต่ได้กำไรมาก แต่ในขณะเดียวกันความเสี่ยงก็มากตามมาด้วย

      คนที่เล่นการพนันส่วนใหญ่จึงมักจะเสียมากกว่าได้ ซ้ำร้ายบางคนต้องกู้หนี้ยืมสิน บางคนต้องกลายเป็นคนลักขโมย เป็นคนขี้โกหกหลอกลวงตามมา ในที่สุดชีวิตก็จมอยู่กับวังวนแห่งความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีต่อไปนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เห็นอำนาจของกฎแห่งกรรมที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา เรื่องมีอยู่ว่า
      
      มีชายคนหนึ่งชื่อ “สิทธิกร” เป็นคนกรุงเทพฯ ฐานะครอบครัวนับว่าดีพอสมควร มีกินมีใช้ไม่เคยอดอยาก แต่ก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไป ที่มักจะไม่ค่อยพอใจกับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ เป็นอยู่ จึงดิ้นรนขวานขวายหาสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา สิทธิกรก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้
      
      การอยากร่ำรวยเพิ่มมากขึ้น เป็นเรื่องปกติของปุถุชนคนธรรมดาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า วิธีการแสวงหาให้ได้สิ่งที่ตนต้องการนั้น มันควรอยู่แต่ในทางที่ถูกต้องดีงามเท่านั้น หากแสวงหาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องไม่ดีไม่งามแทน ที่จะได้ก็อาจจะกลับเสียมากกว่า หรือได้มาแล้ว ก็ต้องทุกข์ใจในภายหลัง
      
      สิทธิกรมีเงินอยู่หลายแสนบาท แต่ไม่พอใจกับความเป็นอยู่ของตัวเอง เขาต้องการจะมีเงินมากขึ้น จึงคิดหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองร่ำรวยกว่าเดิม เขาได้ไปปรึกษากับหลายคนว่าจะลงทุนอะไรดี จึงจะได้กำไรมากที่สุด แต่สุดท้ายก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลงทุนอะไร
      
      อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนของสิทธิกร ชื่อ “สมหมาย” บังเอิญได้มาเจอกัน สมหมายนั้นเป็นนักพนันตัวยงอยู่แล้ว เมื่อได้พบเจอกับสิทธิกร จึงชักชวนให้สิทธิกรไปเล่นการพนันกับเขา โดยอ้างถึงความเป็นไปได้ที่จะได้กำไรมากที่สุด เพราะเชื่อมั่นว่าตนเองมีความเชี่ยวชาญใน การพนัน และการพนันนั้นจะสามารถทำให้เงินที่มีอยู่ไม่กี่แสนบาทนั้น กลายเป็นเงินหลายล้านขึ้นมาในทันที
      
      พอสิทธิกรได้ยินเช่นนั้น ดวงตาจึงลุกโพลงขึ้นมาทันที ไฟแห่งความโลภที่มีอยู่ในจิตใจได้ลุกโหมขึ้นมาอย่างหนัก เมื่อความโลภมาบดบังดวงตา ปัญญาก็ย่อมไม่เกิดขึ้น สิทธิกรไม่เคยคิดถึงผลเสียที่จะตามมาแต่ประการใดเลย คิดเพียงอย่างเดียวว่า ในเวลาไม่นานนี้ตนเองจะต้องร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีอย่างแน่นอน
      
      สมหมายได้พาสิทธิกรไปที่บ่อนการพนัน และแนะนำวิธีการเล่นต่างๆ ตอนแรกๆเขาก็ไม่กล้าเล่นอะไรมาก แค่ลองดูนิดๆหน่อยๆเท่านั้นเอง ซึ่งก็ได้บ้างเสียบ้างเป็นธรรมดา แต่เมื่อเล่นไปเล่นมาสิทธิกรก็เริ่มจะมีความมั่นใจมากขึ้น และใจใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
      
      สิทธิกรเล่นการพนันอย่างนั้นต่อเนื่องกันเรื่อยมา จนกระทั่งติดและกลายเป็นนิสัย วันไหนไม่ได้เข้าบ่อนพนัน ก็จะรู้สึกอึดอัดขึ้นมาทันที นิสัยนักพนันนี้เป็นกรรมที่เขาสร้างขึ้นมาเอง เป็นการสั่งสมอุปนิสัยที่ไม่ดีให้กับตนเอง แต่เขาไม่เคยรู้สึกเลยว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่ดีอย่างไร เพราะมันทำให้เขาได้เงินมาอย่างง่ายดาย
      
      พอสิทธิกรเริ่มหน้ามืดตามัวอยู่กับการพนันแล้ว ไม่ว่าอะไรก็ใจกล้าได้ทั้งนั้น ไม่นานเขาก็เสียการพนันจนหมดตัว จึงไปหยิบยืมเงินจากเพื่อนมาอีกสองแสน เพื่อจะกลับมาเอาทุนคืนให้ได้ แต่ก็เหมือนบาปซ้ำกรรมซัด ที่ยิ่งอยาก จะได้มากก็ยิ่งเสียมาก พอเอาทุนคืนไม่ได้ ก็ต้องดิ้นรนแสวงหามาให้ได้ เขาจึงเอาโฉนดบ้านไปจำนอง เพื่อเอาเงินมาเล่นการพนัน แต่สุดท้ายเขาก็หมดตัว ไม่เหลืออะไร อยู่ในมือแม้แต่บาทเดียว
      
      เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากเช่นนั้น ความเครียดก็เกิดขึ้นทันที เมื่อกลับถึงบ้านก็ทะเลาะเบาะแว้งกับภรรยา ซึ่งในที่สุดทั้งสองก็ต้องแยกทางกัน และบ้านก็ถูกยึดไป สิทธิกรจึงกลายเป็นคนไม่มีบ้านอยู่ จะไปพึ่งพาเพื่อนคนไหนก็ไม่ได้ ชีวิตของเขาในช่วงนี้จึงดำมืด ไม่เห็นทางออก ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย หนี้เพื่อนก็ยังใช้ไม่หมด ข้าวก็ไม่มีจะกิน ครอบครัวที่เคยอยู่กันอย่างอบอุ่น ก็ตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด
      
      เมื่อความวุ่นวายเข้ามาในชีวิต จิตใจก็ไม่สงบ การแก้ปัญหาจึงเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น เขาคิดวางแผนที่จะไปปล้นร้านทองหลายครั้งแต่ยังไม่กล้า ได้แต่พยายามคิดหาวิธีทางต่างๆ ที่จะให้ได้เงินมาแบบง่ายดาย แต่เมื่อเขาไม่เคยสั่งสมกรรมดีไว้ ความคิดชั่วต่างๆก็เข้ามาในสมองทันที นั่นก็คือเขาต้องขโมยเงิน เพราะไม่มีทางอื่นที่จะได้เงินง่ายและรวดเร็วอย่างนี้อีกแล้ว
      
      สิทธิกรวางแผนที่จะขโมยเงินในบ้านหลังหนึ่งที่ดูแล้วน่าจะร่ำรวย เมื่อสบโอกาสเหมาะที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ เขาจึงได้แอบลงมืองัดบ้านและขโมยข้าวของเงินทองมากมาย แต่เหมือนว่าโชคจะไม่เข้าข้าง เพราะขณะที่เขากำลังย่องออกมานั้น บังเอิญเจ้าของบ้านกลับมาเห็นพอดี จึงคว้าไม้ไล่ตี พร้อมกับตะโกนให้คนช่วยจับขโมยด้วย
      
      สิทธิกรถูกรุมจับและถูกเจ้าของบ้านทุบตีแบบไม่ยั้ง เพราะความโกรธที่ถูกขโมยทรัพย์สิน สิทธิกรได้แต่ร้องขอชีวิตและใช้แขนรับท่อนไม้ที่กระหน่ำลงมาอย่างหนัก จนกระทั่งแขนของเขาหัก เจ้าของบ้านตีจนหมดแรงจึงเลิก และจับเขาส่งตำรวจ
      
      สิทธิกรได้พบกับความทุกข์อีกครั้งเมื่อต้องตกอยู่ในสภาพที่บาดเจ็บ แขนหัก และติดคุก แต่ก็นับว่าโชคดีที่ยังไม่ตาย ในระหว่างที่อยู่ในคุกนั้นเขามีโอกาสได้ฟังธรรม จากอนุสาสนาจารย์บ้าง จากพระที่เข้าไปแสดงธรรมในคุกบ้าง ทำให้เขาได้สติกลับคืนมา พร้อมกับระลึกถึงกรรม ต่างๆ ที่เขาได้เคยกระทำไว้ ซึ่งทำให้เขารู้ว่า สิ่งที่เขาได้รับทั้งหมดนั้น ล้วนแต่เป็นกรรมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเขาเองทั้งสิ้น หากเขาไม่โลภจนเกินเหตุ ชีวิตก็คงไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
      
      ความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มีมากจนเกินไปมักจะบดบังปัญญาของเรา ไม่ให้มองเห็นความผิดชอบชั่วดีทั้งหลาย หากรู้จักวิธีที่จะควบคุมกิเลสเหล่านั้นให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี ก็จะไม่ทำให้ชีวิตของเราเดือดร้อน หรือว่าหากจะให้ดีก็ต้องพยายามกำจัดมันให้น้อยลง จนกระทั่งไม่เหลืออยู่เลย แต่สำหรับคนธรรมดาสามัญทั่วไปแล้ว การจะกระทำได้อย่างนั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เพียงควบคุมไม่ให้มันมากจนเกินไปก็นับว่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิตมากแล้ว

ยิ้ม
12  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / สันโดษ มักน้อย ก็รวยได้ เมื่อ: มีนาคม 27, 2012, 07:45:43 AM


มีบางท่านมาถามว่า ได้พบในหนังสือบางฉบับ แสดงเป็นเชิงไม่อยากให้พระเทศน์สอนประชาชนเกี่ยวกับความสันโดษและความมักน้อย เพราะสมัยนี้เป็นสมัยที่กำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจของบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้า การสอนธรรมทั้งสองข้อนี้ จะเป็นการขัดแย้ง หรือเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของบ้านเมือง ท่านจะเห็นว่าเป็นอย่างไร?
      
      ในข้อนี้ สำคัญอยู่กับผู้ที่ตีความหมายในธรรม แล้วนำมาชี้แจงให้คนฟังคนอ่าน ถ้าตีความหมายว่า ธรรมทั้งสองบทนี้สอนให้เกียจคร้านอ่อนแอ สอนให้คนกินน้อยใช้น้อย ที่อยู่อาศัยก็ทำให้คับแคบ ไม่เพียงพอกับการหลับนอน เครื่องใช้สอยทุกอย่างก็ทำให้น้อย ไม่พอกินพอยู่พออาศัย ทำอะไรก็ให้ทำแบบอดๆอยากๆ แม้รับประทานก็ไม่ให้อิ่มและเพียงพอกับธาตุขันธ์ที่ต้องการ ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็กลัวคนจะลำบากและอดตายกันหมดทั้งประเทศ ก็จำต้องบอกให้ทราบ เพราะปกติของคนก็ขี้เกียจอยู่ด้วย การบอกเพื่อให้คนมีความขยันหมั่นเพียร จึงไม่เป็นทางผิด
      
      ความจริง ความมักน้อยกับความสันโดษ เป็นธรรมคู่เคียงของโลกตลอดมา และเป็นธรรมจำเป็นทั้งนักบวชและคฤหัสถ์ ที่จะนำไปใช้ให้เหมาะกับเพศและฐานะของตนเท่าที่จะเห็นควร เพราะความหมายของธรรมก็บ่งชัดอยู่แล้วว่า จงเป็นผู้มักน้อยในสิ่งที่ควรมักน้อย เช่น คู่สามีภรรยา มีเพียงผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้นเป็นที่เหมาะสมและงามยิ่งแล้ว ไม่พะรุงพะรัง หามบาปหามกรรม เพราะมีเมียมากเรื่องมาก เวลาตายไปคนข้างหลังจะไม่ยุ่ง ยากในการแบ่งปันมรดก ยกให้เมียโทนคนเดียวเก็บไว้ เลี้ยงลูก เขาจะได้เห็นบุญคุณของพ่อที่ล่วงลับไป ทั้งต่างฝ่ายต่างถือว่าเป็นคู่ครองของกันและกัน ไม่ประพฤตินอก ใจซึ่งผิดจากหลักความมักน้อย ต่างก็ไว้วางใจกันได้ในทาง อารมณ์ นี้คือบ่อแห่งความสุขในครอบครัว
      
      ความสันโดษคือความพอดี เช่นน้ำที่เต็มแก้วแล้ว จัดว่าพอดีแล้ว จะเทน้ำลงเพิ่มอีกก็ผิดความพอดี ไม่เป็นประโยชน์อะไร คนที่ตั้งอยู่ในความพอดี คือคนที่รู้จักเราและรู้จักท่าน รู้จักของเราและรู้จักของท่าน เห็นใจเราและเห็นใจท่าน ซึ่งมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน จะเป็นคนมีหรือคนจน คนโง่หรือคนฉลาด ก็รู้จักฐานะของกันและกัน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่เหยียดหยาม ไม่กล้ำกราย ไม่ล่วงล้ำ ไม่เห็นแก่ได้
      
      สมบัติของท่านมีมากหรือมีน้อย ไม่ล่วงล้ำเขตแดนโดยเห็นว่าพอเอาได้ เห็นว่าเขามีอำนาจน้อยพอจะเคี้ยวกลืนได้ เห็นว่าเขาโง่พอตบตากินได้ เห็นว่าเขามีพวกน้อยพอข่มขู่เอาได้ เห็นว่าเขาเผลอพอหยิบฉวยเอาได้ เห็นว่าเขานอนหลับพอขโมยเอาได้ เห็นว่าเขามีช่องโหว่พอคดโกงได้ เห็นว่าเขาไม่มีอาวุธพอปล้นจี้เอาได้ เห็นว่ามีแต่ผู้หญิงเฝ้ารักษาสมบัติพอขู่เข็ญเอาได้
      
      ผู้มีธรรมสันโดษในใจแล้วทำไม่ลง ปลงจิตไม่ตกเพื่อจะทำ เพราะความเห็นใจกันและสงสาร เนื่องจากคิดดูใจเรากับใจท่านผู้อื่นแล้ว มีความรู้สึกอันเดียวกัน เรามีสมบัติน้อยมาก เรารักและสงวนของเรา ไม่อยากให้ใครมาล่วงล้ำ มีความยินดีที่จะแสวงหาสมบัติด้วยความชอบ ธรรม หาได้มากเท่าไหร่ก็เป็นที่เย็นใจ เพราะการแสวงหาสมบัติด้วยความชอบธรรม จะได้มามากมายเท่าไหร่ ไม่เป็นการขัดแย้งต่อธรรมสันโดษ เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้คนมีความขยันหมั่นเพียรในทางที่ชอบ แต่มิได้สอนให้ขยันในการเบียดเบียนกันและทำลายกัน และถือเอาสมบัติเขามาเป็นของตน
      
      ดังนั้น ความมักน้อยและสันโดษ จึงมิได้เป็นข้าศึกแก่ การงานของโลกทุกประเภท ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเจริญ
      
      พระองค์ยังกลับสรรเสริญคนมีความขยันและอดทนในการงานที่ชอบอีกด้วย สมกับปฏิปทาที่สอนไว้ทุกบททุกบาท เพื่อการรื้อฟื้นโลกและธรรมให้เจริญด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่มีปฏิปทาขี้เกียจแฝงอยู่ในวงธรรมของพระพุทธเจ้าเลย
      
      ธรรมสันโดษ คือ ความยินดีในสมบัติที่มีอยู่ของตน จะมีน้อยมากเท่าไหร่ก็ให้ยินดีในของที่ตนมีอยู่ ถ้าเรามีความขยันและฉลาดสามารถพอ จะทำการเพาะปลูกหรือจะปลูกสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆขึ้นทั่วประเทศ ก็จะเป็นที่นิยมยินดีของคนจนๆเป็นอันมาก เผื่อเขาจะได้อาศัยพึ่งร่มเงาแห่งบารมีของเรา ทั้งจะเป็นที่เบาใจของรัฐบาล ซึ่งกำลังเป็นห่วงพี่น้องชาวไทยเรา กลัวจะไม่มีที่อยู่อาศัย เครื่องอุปโภคบริโภคเพียงพอกับความเป็นอยู่ในครอบครัว ทั้งจะเป็นที่เทิดทูนศาสนธรรมในบทว่า
      
      “อุฏฐานสมฺปทา” ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ว่าเป็นประโยชน์แก่โลกจริง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจะไม่เป็นโมฆะอยู่เปล่าๆ โดยไม่มีผู้สนใจและปฏิบัติตามจนเกิดผล
      
      ธรรมข้อที่สองว่า “อารกฺขสมฺปทา” ถึงพร้อมด้วยการ เก็บรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความชอบธรรม ไม่จับจ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่มีขอบเขต การจับจ่ายควรถือความจำเป็น เป็นประมาณ ทรัพย์จะมีสถานที่จอดแวะบ้าง ไม่ไหลผ่านมือไปเสียทีเดียว ธรรมคือ มตฺตญญุตา ความรู้จักประมาณในการเก็บรักษา และการจับจ่ายที่เป็นฝาปิดและเปิดทรัพย์ในคราวจำเป็นที่ควรปิดและควรเปิด แม้แต่บ้านเรือนก็ยังมีประตูเปิดปิด ที่เก็บทรัพย์ ก็ควรจะมีบ้าง ถึงคราวจำเป็น เช่น เจ็บไข้ เป็นต้น ทรัพย์ก็จะมีทางช่วยเปลื้องทุกข์ได้เท่าที่ควร
      
      ข้อที่สาม “สมชีวิตา” การเลี้ยงและรักษาตัวให้เป็นไปพอประมาณ อย่าให้ถึงกับฟุ่มเฟือยหรือฝืดเคืองจนเกินไป ทั้งๆที่ทรัพย์เครื่องแก้ขัดจนมีอยู่ แต่อย่าให้กลายไปว่า ทรัพย์เป็นเครื่องเสริมคนให้เสีย และเสริมคนให้ขี้เหนียวจนเข้ากับใครไม่ได้ เหม็นฟุ้งไปหมดด้วยกลิ่นของความตระหนี่ถี่เหนียว และส่งกลิ่นฟุ้งไปไกลด้วย ทั้งตามลมและทวนลมจนหาที่หลบซ่อนจมูกไม่ได้เลย
      
      ข้อที่สี่ “กัลยาณมิตตตา” ความมีมิตรสหายที่ดีงาม การคบมิตรเป็นสิ่งสำคัญมาก ควรเลือกเฟ้นด้วยดี แม้อาหารในถ้วยในจานซึ่งเป็นสิ่งสำเร็จรูปมาเรียบร้อยแล้ว ผู้รับประทานยังต้องเลือกเฟ้นทุกครั้ง เพราะในอาหารย่อมมีทั้งกระดูกทั้งก้าง ซึ่งเป็นภัยต่อร่างกายปะปนอยู่ และอาหารบางชนิดยังแสลงต่อโรค จำต้องสังเกตด้วยดี ไม่เช่นนั้นอาจเป็นภัยต่อร่างกาย
      
      บาปมิตรยิ่งเป็นภัยอย่างร้ายแรง ถ้าคบด้วยความสะเพร่า ไม่ใช้ความสังเกตและเลือกเฟ้น ถ้าเป็นกัลยาณมิตร ก็เป็นคุณอย่างมากมาย พึ่งได้ทั้งคราวเป็นคราวตาย ไม่ยอม ทอดทิ้ง สุขก็สุขด้วย ทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อมีกิจจำเป็น ก็ช่วยเหลือได้เต็มไม้เต็มมือ ไม่กลัวความสิ้นเปลืองใดๆทั้งสิ้น ขอแต่เพื่อนผู้จำเป็นหรือจนมุม รอดพ้นออกมาได้ จึงจะเป็นที่พอใจ นี่คือเพื่อนผู้พึ่งเป็นพึ่งตายจริงๆ ควรคบตลอดกาล เพื่อนที่ดีเราชอบคบ แต่เราไม่ดีเพื่อนก็รังเกียจเหมือนกัน ต้องมองดูตัวบ้าง เพื่อจะได้เป็นเพื่อนที่ดีของเขา เขาพลีชีพเพื่อเราฉัน ใด เราต้องพลีชีพเพื่อเขาฉันนั้น

โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
13  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / ความเป็นมนุษย์ เป็นลาภอันสูงสุดในชาตินี้ เมื่อ: มีนาคม 19, 2012, 09:59:14 AM


สิ่งที่แก้ตัวไม่ได้ในปัจจุบันได้แก่การเกิด คือการเกิดมาแล้วจะเป็นสัตว์หรือเป็นมนุษย์ย่อมแก้ไขไม่ได้ ในชาติหนึ่งๆ เหมือนสอบ ไล่ชั้นนั้นๆ เมื่อสอบตกในขณะนั้นแล้ว จะขอสอบแก้ตัวใหม่ย่อมไม่ได้ ต้องเรียนต่อไปอีกจนมีภูมิความรู้ควรจะสอบและโอกาสอำนวยแล้ว จึงจะสอบได้อีก ถ้าสอบได้ก็เลื่อนชั้นขึ้นไป
      
      เราเกิดมาเป็นมนุษย์และสัตว์ จะถูกหรือผิดก็เกิดมาแล้ว เป็นสัตว์ประเภทใดก็เป็นเต็มที่ เป็นคนชั้นไหนก็เป็นคนเต็มที่ ถ้าขาดตกบกพร่อง อวัยวะส่วนใดขาดเต็มที่ จะแก้ไขรูปร่างและส่วนบกพร่องของอวัยวะให้สมบูรณ์ก็แก้ไขไม่ได้ ถ้าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอวัยวะก็เป็นเต็มที่ สิ่งเหล่านี้ถ้าส่วนใดบกพร่อง ย่อมแก้ไขลำบาก ไม่เหมือนเครื่องอะไหล่ ของเครื่องจักรเครื่องยนต์ ซึ่งมีขนาดพอหาซื้อได้ ในห้างร้านต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้มีไว้เป็นสินค้าทั่วๆไป ไม่เหมือนอวัยวะ ของคนและสัตว์ซึ่งเป็นอวัยวะที่จำเป็นและเป็นสิ่งจำเพาะ แม้จะมีสำรองอยู่บ้างก็เป็นสิ่งปลอมแปลง ไม่เหมือนธรรมชาติดั้งเดิมแท้ และใช้ก็ไม่ดีและมั่นคงเหมือนอวัยวะเดิม
      
      เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ประมาทในคุณค่าแห่งการเกิดของตน กำเนิดที่ต่ำเช่นสัตว์มีมากเหลือประมาณ ไปที่ไหนเจอแต่สัตว์ ในน้ำก็มี บนบกก็มี บนต้นไม้ ชายเขา ใต้ดิน บนอากาศ มีเกลื่อนไปหมด เพราะกำเนิดต่ำ สัตว์เกิดได้ง่าย แต่มนุษย์เราเกิดยากกว่าสัตว์ ฉะนั้น ความเป็นมนุษย์จึงเป็นลาภอันสูงสุดในชาตินี้
      
      คำว่า “มนุษย์สมบัติ” จึงหมายเอาอวัยวะที่สมบูรณ์ประจำชาติของมนุษย์ไม่บกพร่องส่วนต่างๆ ของร่างกายและวิกลจริต ส่วนสมบัติตามมาทีหลังนั้นเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากมนุษย์สมบัติอันแท้จริง ไม่เป็นของจำเป็นยิ่งกว่าความมีอวัยวะอันสมบูรณ์ เป็นต้น อวัยวะสมบัตินี้เป็นสมบัติก้นถุงแท้ คือเป็นทุนที่จะให้บำเพ็ญประโยชน์ในทางโลกและทางธรรมได้ตามความปรารถนา ทั้งเป็นเครื่องมืออันดีเยี่ยมในการสร้างโลกและสร้างธรรม เพื่อสวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติ เพราะเป็นศูนย์กลางแห่งภพชาติทั้งมวล สามารถสร้างตัวให้ดีเด่นได้ทั้งทางโลก ทางธรรม ผู้ทำตัวให้ต่ำลงไป จนเป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เนื่องจากการดัดแปลงตัวเองไปในทางผิด โดยมีความคิดผิดเป็นเจ้าเรือน ผู้จะทำตัวให้ดีและเด่นขึ้นเป็นลำดับ จำต้องดัดแปลงตัวเองให้ถูกทาง ผลย่อมเป็นความสุขความเจริญคืบหน้าตามลำดับแห่งเหตุที่ทำไว้ดีแล้ว ไม่ว่าวันนี้วันหน้า ชาตินี้ชาติหน้า ความสุขความเจริญต้องอาศัยผลที่เราทำจากคนคนเดียวนี้แล เป็นเครื่องตามสนองในภพนั้นๆ
      
      ด้วยเหตุนี้ ความเป็นมนุษย์จึงอยู่ในความนิยมของโลก ว่าเป็นภพชาติที่สูงและเป็นที่รวมแห่งความดีทั้งปวงไว้ด้วย เช่น พระศาสนา เครื่องหล่อหลอมมนุษย์ให้เป็นคนดีก็รวมอยู่ที่นี่ แม้พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาที่เยี่ยมด้วยเหตุผลก็มีอยู่กับมนุษย์เรา พระพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้ในแดนแห่งมนุษย์เรานี้ พระสาวกเกิดเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์แล้ว จึงสามารถปฏิบัติธรรมจนได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ฉะนั้น ความเป็นมนุษย์จึงเป็นผู้มีภาชนะอันดีสำหรับรับรอง ทั้งกองสมบัติเงินทองของมีค่าในโลก ทั้งโลกุตรภูมิสมบัติ จึงควรภาคภูมิใจในบุญวาสนาของตนที่พบพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่บริสุทธิ์ทั้งเหตุทั้งผล
      
      การกล่าวทั้งนี้มิได้ตำหนิศาสนาใดๆ ว่าไม่ดี เพราะศาสนาใดก็ดีด้วยกัน เนื่องจากไม่ได้สอนคนให้ชั่ว แต่ความดีนั้นมีสูงต่ำต่างกัน คุณภาพของศาสนาจึงต่างกัน พระพุทธศาสนานี้สามารถสอนคนให้เป็นคนดีเยี่ยมได้ ทั้งความประพฤติและความรู้ความเห็นภายในใจ จนกลายเป็นใจวิเศษและอัศจรรย์เหนือใจสามัญธรรมดา เพราะการอบรมจากธรรมของจริงอย่างประเสริฐ คือพระพุทธศาสนา
      
      ฉะนั้น จึงควรเห็นคุณค่าในตัวเราและชีวิตจิตใจซึ่งครองตัวอยู่ขณะนี้ พยายามอบรมดัดแปลงวิถีทางเดินของชีวิตและจิตใจให้เป็นไปด้วยความสม่ำเสมอและราบรื่น ทั้งทางโลกและทางธรรม จะมีความสุขกายสุขใจ อยู่ในโลกนี้ก็เห็นประจักษ์ใจ ถ้ามีธรรมเครื่องดัดแปลงให้ถูกทางจะไปโลกหน้าก็คือใจดวงกำลังดัดแปลงอยู่ ณ บัด นี้ จะเป็นผู้พาไป ไม่มีสิ่งใดจะไปโลกหน้าได้ นอกจากจิตดวงเดียวซึ่งเป็นของละเอียดยิ่งนี้เท่านั้น
      
      เราทุกท่านต่างก็เป็นนายช่างผู้ฝึกฝนอบรมตนอย่างไรจะเป็นที่มั่นใจ โปรดกระทำลงไปจนสุดความสามารถในขณะมีชีวิตอยู่ ถ้าชีวิตหาไม่แล้วจะสุดวิสัย เพราะร่างกายแตกสลาย ต้องหมดทางเดินทันทีที่ชีวิตสิ้นสุดลง การบำเพ็ญความดีทุกประเภทเป็นต้นว่าเคยบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาก็ทำต่อไปอีกไม่ได้ ทำให้ขาดไปเสียทุกอย่าง
      
      เราจึงไม่ควรเห็นสิ่งใดว่าเป็นของมีคุณค่ายิ่งกว่าใจ ซึ่งกำลังรับผิดชอบในสมบัติทุกสิ่งอยู่เวลานี้ แม้เราจะเสาะแสวงหาสิ่งใดมาเพื่อบำบัดร่างกายและจิตใจให้มีความสุขเท่าที่ควรจะเป็นได้ แต่เราอย่าลืมตัวถึงกับได้ผิดพลาดไปกับสิ่งนั้นๆ จนถอนตัวไม่ขึ้น เพราะอำนาจความอยากเป็นเจ้าของเรือนใจ ถ้าได้รับการอบรมอยู่เสมอ อย่างไรก็ไม่ตกต่ำและถอยหลังมาสู่ความทุกข์และความต่ำทรามต่างๆ ที่ไม่พึงปรารถนา จะก้าวไปทีละเล็กละน้อย และก้าวไปเสมอจนถึงจุดประสงค์จนได้
      
      ผู้มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทรัพย์ภายนอกและทรัพย์ภายใน คือคุณสมบัติของใจ ท่านเจริญรุ่งเรืองได้เพราะการฝึกฝนดัดแปลง อย่าเข้าใจว่าเป็นไปจากเหตุอื่นใดทั้งสิ้น เพราะกายวาจาใจเป็นสิ่งอบรมดัดแปลงได้ด้วยกัน ไม่เช่นนั้น จะหาคนดีคนฉลาดไม่ได้ในโลกมนุษย์เรา และจะไม่ผิดอะไรกับสัตว์ที่มิได้ฝึกหัดดัดแปลงเลย สิ่งที่จะทำให้คนดีคนชั่วได้จึงขึ้นอยู่กับการฝึกหัดดัดแปลงตัวเอง ตามใจชอบ ผลก็กลายเป็นคนดีคนชั่ว และสุขทุกข์ขึ้นมาเป็นเงาตามตัว
      
      ฉะนั้น การไม่ปล่อยตัว คือให้อยู่ในกรอบของการสังเกตสอดรู้ของตัวเสมอ นั่นแลเป็นทางเจริญก้าวหน้า ผู้ชอบความเจริญก้าวหน้าจงเป็นผู้สงวนตน
      
      อนึ่ง ธรรมเครื่องขัดเกลามนุษย์และสัตว์ให้เป็นคนดีและสัตว์ดีตามฐานะของตนนั้น มีอยู่กับทุกคน ไม่ว่านักบวชและฆราวาสหญิงชาย ขึ้นอยู่กับความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ความดีความชั่วขึ้นอยู่กับตัวผู้ชอบทำ ทำที่ไหนก็ได้ ไม่นิยมว่าในบ้านนอกบ้าน ในวัดนอกวัด ในน้ำ บนบก เพราะต้นเหตุความดีและชั่ว มันอยู่กับตัวของผู้ทำ ไม่ได้อยู่ที่อื่นใดทั้งนั้น

โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว)
14  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / กฎแห่งกรรม : แทงปลาจึงถูกเหล็กแทง เมื่อ: มีนาคม 14, 2012, 06:09:24 PM


กรรมเป็นของเฉพาะตน ผู้ใดทำกรรมไว้ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้นตามเหตุปัจจัยที่ตนเองเป็นผู้กระทำ ผู้ฉลาดจึงรู้จักเลือกทำแต่สิ่งที่ดีที่จะช่วยให้ตนเองประสบแต่ความสุขความเจริญ ส่วนผู้ที่มืดบอด ย่อมหลงทำกรรมชั่วต่างๆ มากมาย ในที่สุดก็ย่อมพบกับความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อไปนี้ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งของคนที่เคยมืดบอดจนทำให้เขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด
      
      ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ มีครอบครัวอยู่ครอบครัวหนึ่ง มีลูกชายชื่อว่า “แสง” เขาเป็นลูกคนเดียว จึงได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากครอบครัว พ่อพยายามถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ที่ตนมีอยู่ให้แก่ลูกอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการจักสาน ทำไร่ ไถนา รวมไปถึงการจับปลาล่าสัตว์ต่างๆ ด้วย ซึ่งเป็นอาชีพที่ตัวเองถนัด
      
      พ่อของแสงไม่เคยคิดหรอกว่า สิ่งที่เขาถ่ายทอดให้แก่ลูกนั้น บางอย่างเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ แต่บางอย่างมันจะกลายเป็นพิษเป็นภัยต่อลูกชายของตัวเอง
      
      ความจริงการทำกรรมต่างๆ นั้น อาจจะให้ผลไม่เหมือนกัน คือ บางคนทำแล้วให้ผลเร็ว บางคนทำแล้วให้ผลช้า นั่นก็เพราะกรรมเก่าที่แต่ละคนทำไว้ไม่เหมือนกัน บางคนที่ทำกรรมดีไว้มาก หากในปัจจุบันทำกรรมชั่ว แต่ว่ายังไม่เป็นกรรมชั่วที่หนักมาก ก็อาจจะยังไม่ได้รับผลของกรรมชั่วในปัจจุบันก็เป็นได้ แต่สำหรับบางคนที่ทำกรรมดีมาน้อย กรรมชั่วที่ทำก็จะให้ผลเร็วมากขึ้น เป็นต้น
      
      ในกรณีพ่อของแสง และตัวของแสงก็เช่นเดียวกัน พ่อก็เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาหลายปี แต่ยังไม่ได้รับผลกรรมที่ทำมากนัก อาจเป็นเพราะเขาเคยทำกรรมดีไว้มาก กรรมชั่วจึงยังตามมาสนองไม่ทันนั่นเอง แต่หากวันหนึ่งวันใด ความดีลดน้อยลง กรรมชั่วย่อมตามสนองอย่างแน่นอน
      
      พ่อของแสงได้พยายามถ่ายทอดวิชาการจับสัตว์ด้วยวิธีการต่างๆ ให้กับลูกชาย กระทั่ง 2-3 ปีผ่านไป แสงก็ได้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจับสัตว์ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นปลา หนู สัตว์ใหญ่สัตว์เล็กทั้งหลาย
      
      คืนวันหนึ่งในช่วงฤดูฝน เกิดฝนตกหนักมาก เวลาเช่นนี้หากเป็นคนในเมืองก็คงนอนหลับพักผ่อนที่บ้านอย่างสบายใจ แต่สำหรับชาว ไร่ชาวนาแล้ว ฝนตกเป็นช่วงเวลาที่ต้องออกหากิน จับปลา จับกบ ฯลฯ และอาวุธสำคัญที่ต้องนำติดตัวไปก็คือ “ฉมวก” ซึ่งเป็นเครื่องมือแทงปลา มีด้ามยาว ที่ปลายข้างหนึ่งมีเหล็กแหลมๆอันเดียว หรือเป็นเหล็กแหลมสามง่าม หรือห้าง่าม ไว้สำหรับพุ่งเสียบปลา
      
      แสงสามารถใช้ฉมวกได้อย่างชำนาญ เขาใช้ฉมวกแทงปลาได้อย่างไม่พลาดเลยสักตัวเดียว ในคืนวันที่แสงออกไปหาปลา เขาเจอปลาช่อนมากมาย เขารู้สึกสนุกกับการใช้ฉมวกแทงปลา และแทงได้เยอะมาก ปลาที่ถูกแทงนั้นมีรอยฉมวกแทงทะลุท้องทุกตัว !!
      
      เมื่อกลับบ้าน คนที่บ้านก็ดีใจที่แสงสามารถหาปลามาได้มากมาย แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งที่เขาทำลงไปนั้น มันเป็นกรรมที่จะสะท้อนกลับมาหาตัวเขาเอง เพราะปลาจำนวนมากเหล่านั้นมันคงทุกข์ทรมานที่ถูกฉมวกแทงทะลุตั้งแต่หลังถึงท้อง และกว่าจะตายก็คงทรมานไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนั้น มันก็คงจะอาฆาตแค้นแสงไม่น้อย
      
      แต่แสงก็ไม่ได้เชื่อเรื่องของเวรกรรม เพราะเขาเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมามากมาย หากเวรกรรมมีจริง ทำไมเขาจึงไม่เคยเป็นอะไรเลย โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มี อุบัติเหตุต่างๆ ก็ไม่เคยพบ เมื่อเป็นเช่นนี้เขาจึงเกิดความประมาท ไม่สั่งสมบุญกุศลอะไรไว้เลย
      
      วันหนึ่งกฎแห่งกรรมก็ตามมาทัน... ในช่วงฤดูร้อนที่มะม่วงกำลังออกผลเต็มต้น ที่บ้านของแสงมีมะม่วงอยู่หลายต้น แสงอยากจะกินมะม่วง แต่ต้นมันสูงเหลือเกิน เขาจึงต้องปีนขึ้นไปเก็บบนต้นมะม่วง
      
      เมื่อขึ้นไปสูงแล้ว เขาเพิ่งนึกได้ว่า ลืมเอาถุงหรือตะกร้าขึ้นไปใส่มะม่วงด้วย เขาจึงใช้เสื้อของตัวเองเป็น ที่ใส่มะม่วง โดยใช้ปากคาบชายเสื้อด้านล่างขึ้นมาให้เป็นเหมือนถุง แล้วเก็บมะม่วงใส่ลงไป คิดว่าได้สัก 10-20 ลูกแล้วจะลงมา
      
      แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ช่วงที่กำลังเก็บมะม่วงอย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น เท้าของเขาก็เหยียบกิ่งไม้พลาด ขณะที่มือก็กำลังคว้าเด็ดลูกมะม่วง ความที่กลัวมะม่วงในเสื้อจะหล่น เขาจึงพยายามเหนี่ยวกิ่งไม้เพื่อพยุงตัว แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถประคองตัวอยู่ได้
      
      แสงพลัดตกจากต้นมะม่วง ร่างของเขาลอยละลิ่วลงมาเสียบกับรั้วเหล็กด้านล่าง เหล็กแหลมเสียบจากท้องทะลุไปข้างหลัง เลือดสดๆไหลทะลักออกมาไม่หยุด!! สภาพของเขาตอนนี้ไม่ต่างอะไรกับปลาที่เขาเคยใช้ฉมวกแทง แสงรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก พยายามตะโกนร้องให้คนช่วยจนหมดแรง แต่ก็ไม่มีใครได้ยิน
      
      แสงต้องทนทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้นเกือบ 30 นาที จึงมีคนเดินผ่านมาเห็น และเรียกให้คนอื่นๆมาช่วย แต่กว่าจะนำเหล็กที่เสียบออกได้ก็ทุลักทุเลทีเดียว และในระหว่างที่ผู้คนกำลังช่วยตัดเหล็กที่เสียบท้องของแสงอยู่นั้น ในจิตใต้สำนึกของเขาก็แวบขึ้นมาถึงกรรมเก่าที่ตัวเองเคยทำไว้ เขานึกถึงปลาจำนวนมากมายที่เขาเคยใช้ฉมวกแทงมันจนทะลุ เขาคิดอยู่ในใจเสมอว่า ที่เขาต้องมาโดนเสียบอยู่แบบนี้ จะต้องเป็นเพราะกรรมที่เขาทำไว้อย่างแน่นอน
      
      โชคดีที่แสงยังไม่ถึงคราวตาย เขารอดชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม แผลที่อยู่ที่ท้องของเขายังคอยเตือนเขาอยู่เสมอว่า หากทำกรรมใดไว้ กรรมนั้นก็ย่อมตามสนองผู้กระทำนั่นเอง
      
      ทุกวันนี้แสงพยายามลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตให้น้อยลง และทำบุญสุนทานไปให้กับเจ้ากรรมนายเวรที่เขาเคย กระทำไว้ในอดีตให้มากขึ้น
      
      นี่แหละคืออำนาจของกรรมที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จงหมั่นทำกรรมดีไว้ให้มากๆ อย่างน้อยที่สุดกรรมชั่วที่เคยทำไว้ในอดีต ก็จะให้ผลเบาบางลง เหมือนกับน้ำขุ่นที่อยู่ในแก้ว หากเติมน้ำดีลงไปมากๆ น้ำนั้นก็ย่อมกลายเป็นน้ำที่ใสสะอาดขึ้นมาได้ แต่จะให้ใสร้อยเปอร์เซ็นคงเป็นไปไม่ได้ กรรมชั่วที่ทำไว้ในอดีตก็เช่นเดียวกัน

ยิ้มกว้างๆ
15  รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery / บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ / อนุสาสนีปาฏิหาริย์ พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเป็นอัศจรรย์ เมื่อ: กุมภาพันธ์ 29, 2012, 12:54:57 PM
พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเป็นอัศจรรย์ ซึ่งเรียกว่า อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริงเป็นอัศจรรย์ ได้แก่ คำสอนที่จูงใจผู้ฟังให้นิยมคล้อยตามได้โดยสามารถชี้แจงแยกแยะหัวข้อธรรมให้พิสดารด้วยอุปมาอุปมัยที่ผู้ฟังเข้าใจง่ายและเห็นจริงดุจหงายของคว่ำอยู่ ทำให้ผู้ที่ได้ฟังคำสั่งสอนแล้วได้แสดงตนเป็นสาวก และรับคำสอน ไปปฏิบัติตามจนได้บรรลุประโยชน์โภคผลตามสมควรแห่งการปฏิบัติของแต่ละบุคคล
      


      หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนามีปรากฏเป็นข้อมูลบริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่ในคัมภีร์พระบาลีไตรปิฎกและอรรถกถาฎีกา ซึ่งเป็นคัมภีร์ภาษาบาลีอันถือว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา โดยพระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉาน แล้วทรงจำนำมาประยุกต์ประดิษฐ์ถ้อยคำไทยร่วมสมัยเหมาะกับสถานการณ์เพื่อประกาศเผยแผ่เทศนาอบรมสั่งสอนให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าใจโดยง่าย และพิจารณาเลือกสรรน้อมนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันของตน จึงมีศรัทธาประชาชนได้รวบรวมคำสอนเหล่านั้นไว้นำไปจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือธรรมะเผยแพร่แก่ประชาชนผู้สนใจทั่วไป มีทั้งจัดพิมพ์เป็นธรรมบรรณาการในโอกาสต่างๆบ้าง จัดพิมพ์เพื่อการพาณิชย์บ้าง
      
      ปัจจุบันเป็นยุคข่าวสารข้อมูล หลักคำสอนสำคัญทางพระพุทธศาสนาได้รับการนำไปเผยแผ่อย่างกว้างขวางแพร่หลายในสื่อวัสดุต่างๆ มีทั้งรูแปบบเป็นแถบบันทึก เสียง (เทป/ซีดี.) รูปแบบเป็นภาพประกอบเสียง (วีดีโอ./วีซีดี./ดีวีดี.) รวมถึงการเผยแผ่ทางเครือข่ายเชื่อมโยงที่กว้างไกล (เว็บไซต์ของอินเตอร์เน็ต)
      
      ดังนั้น พุทธศาสนิกชนผู้สนใจที่จะศึกษาหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาว่ามีความอัศจรรย์อย่างไร ก็สามารถศึกษาได้จากแหล่งความรู้อ้างอิงหรือสื่อวัสดุต่างๆ
      
      ในที่นี้ได้นำคุณลักษณะด้านคำสอนแห่งพระพุทธศาสนาตามนัยที่ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ได้ประมวลไว้ มาเสนอให้เห็นประจักษ์ ดังนี้
      
      ๐ พระพุทธศาสนาสอนว่า การอยู่ในอำนาจผู้อื่นเป็นทุกข์ จึงสอนให้มีอิสรภาพทั้งภายนอกและภายในอิสรภาพภายในคือไม่เป็นทาสของกิเลส หรือถ้ายังละกิเลสไม่ได้ ก็อย่าถึงกับปล่อยให้กิเลสบังคับมากเกินไป
      
      ๐ พระพุทธศาสนาสอนให้พยายามพึ่งตนเอง ไม่ให้มัวคิดแต่จะพึ่งผู้อื่น สอนให้มีความอดทนต่อสู้กับความยากลำบากและอุปสรรคทั้งหลาย ไม่เป็นคนอ่อนแอ พอพบอุปสรรคก็วางมือทิ้ง ถือว่าความอดทนจะนำประโยชน์ และความสุขมาให้ สอนให้มีความขยันหมั่นเพียรไม่เกียจคร้าน ยิ่งสำหรับคฤหัสถ์ การตั้งเนื้อตั้งตัวได้ต้องมีความขยั่นหมั่นเพียร
      
      ๐ สอนให้ทำความดีเพราะเห็นแก่ความดี ไม่ใช่ทำด้วยความโลภ คือ อยากได้สิ่งตอบแทน หรือทำด้วยความหลง คือไม่รู้ความจริง บางครั้งก็นึกว่าดีแต่กลายเป็นทำชั่ว
      
      ๐ สอนเน้นในเรื่องความเป็นผู้กตัญญูรู้คุณผู้อื่น และกตเวทีตอบแทนพระคุณท่าน และสรรเสริญว่าใครมีคุณข้อนี้ชื่อว่าเป็นคนดีและประพฤติสิ่งเป็นสวัสดิมงคล
      
      ๐ สอนให้มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สอนให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร และในขณะเดียวกัน ก็ให้พยายามทำตนอย่าให้มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น ให้รู้จักผูกไมตรีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน จึงเท่ากับสอนให้แก้ความชั่วด้วยความดี ให้ระงับเวรด้วยการไม่จองเวร ให้ระงับความโกรธด้วยความไม่โกรธ ใหม่ๆ อาจทำได้ยาก แต่ถ้าลองฝึกหัดทำดูบ้าง จะได้รับความเย็นใจ สงบร้อน หมดเวรหมดภัย
      
      ๐ สอนว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หว่านพืชเช่นใดก็ได้ผลเช่นนั้น จึงเท่ากับสอนให้หว่านแต่พืชที่ดี คือพยายามทำแต่กรรมดี พยายามละเว้นความชั่วทั้งปวง
      
      ๐ สอนให้ประกอบเหตุ คือลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมาย ไม่ใช่ให้คิดได้ดีอย่างลอยๆ โดยคอยพึ่งโชคชะตาหรืออำนาจลึกลับใดๆ จึงเท่ากับสอนให้ลงมือปฏิบัติ เพื่อจะได้รู้แจ้งผลดีด้วยตนเอง ไม่ต้องเดาว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตราบใดที่ยังเดาอยู่ ตราบนั้นยังไม่ชื่อว่ารู้ความจริง
      
      ๐ สอนมิให้เชื่ออะไรอย่างงมงายไร้เหตุผล ให้ใช้ปัญญากำกับความเชื่ออยู่เสมอ สอนให้รู้จักพิสูจน์ความจริงด้วยการทดลอง การปฏิบัติ และการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
      
      ๐ สอนยิ่งกว่าเทศบาลและรัฐบาล คือ เทศบาลปกครองเฉพาะท้องถิ่น ส่วนรัฐบาลก็ปกครองเฉพาะประเทศ แต่พระพุทธศาสนาสอนให้มีโลกบาลธรรม คือธรรมอันปกครองโลก ได้แก่ หิริ ความละอายแก่ใจ ต่อการทำบาป ทำชั่ว ประพฤติทุจริตทุกชนิดทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวหวาดหวั่นต่อผลของบาปทุจริตที่จะกระทำลงไปนั้น
      
      ๐ สอนให้มีสติกับปัญญาคู่กัน คือ ให้มีความเฉลียวคู่กับความฉลาด ไม่ใช่เฉลียวอย่างเดียวหรือฉลาดอย่างเดียว จึงสอนให้มีสติกับสัมปชัญญะ อันเป็นตัวปัญญาคู่กันและถือว่าเป็นธรรมมีอุปการะมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
      
      ๐ สอนให้บุคคลมีความเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ เช่น สอนให้เคารพในการศึกษา ให้มีการสดับตรับฟังมาก ให้คบหาผู้รู้หรือคนดีและสนใจฟังคำแนะนำของท่าน โดยเฉพาะได้สอนว่าไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในคุณความดี สรรเสริญแต่ความเจริญก้าวหน้าในคุณความดี
      
      ๐ สอนให้รู้จักเสียสละเป็นชั้นๆ ให้สละสุขเล็กน้อยเพื่อสุขอันสมบูรณ์ ให้สละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ให้สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต และให้สละชีวิตเพื่อรักษาธรรม เป็นการสอนให้ยกจิตใจให้สูงขึ้นในที่สุด จึงเท่ากับสอนให้ยอมเสียน้อย เพื่อไม่ให้เสียมาก
      
      เพราะฉะนั้น เมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้น อันจะต้องเสียสละบ้างก็ควรพิจารณา และสอนให้เอื้อเฟื้อแผื่อแผ่ทั้งทางวัตถุและทางน้ำใจ เพื่อจะได้อยู่อย่างผาสุกร่วมกัน ในสังคม สอนมิให้ปลูกศัตรูหรือมองเห็นใครต่อใครเป็นศัตรู โดยเฉพาะไม่สอนให้เกลียดชังคนที่นับถือศาสนาอื่น จึงนับว่าเป็นศาสนาที่มีใจกว้าง
      
      ๐ สอนให้รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้าง ไม่ให้เป็นคนดื้อว่ายากสอนยาก คนที่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่นย่อมมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดบกพร่องของตนเองอยู่เสมอ
      
      ๐ สอนมิให้ใช้วิธีอ้อนวอนบวงสรวงเพื่อให้สำเร็จผล แต่สอนให้ลงมือทำเพื่อให้เกิดผลที่มุ่งหมายนั้นให้ถูกทาง
      
      ๐ สอนให้รักษากายวาจาให้เรียบร้อยด้วยศีล ให้รักษาจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่านด้วยสมาธิ และให้รักษาทิฏฐิคือความคิดมิให้ผิด แต่ให้ไปตรงทางด้วยปัญญา ฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา จึงเป็นข้อปฏิบัติตามลำดับต่ำสูงทางพระพุทธศาสนา จึงเท่ากับสอนว่า เมื่อมีศีล คือรักษากาย วาจาให้เรียบร้อยได้ ย่อมเป็นอุปการะให้สมาธิเกิดได้เร็ว สมาธิคือการที่ใจตั้งมั่นไม่ฟุ้งซ่าน เมื่อมีสมาธิก็ช่วยให้เกิดปัญญาได้สะดวกขึ้น
      
      พระพุทธศาสนาสอนว่า ถ้าไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไรดี เพราะข้อปฏิบัติมากเหลือเกิน ก็สอนให้ปฏิบัติเพียงอย่างเดียว คือให้รักษาคุ้มครองจิตให้เป็นไปถูกทาง เสร็จแล้วจะเป็นอันคุ้มครองกาย วาจา และอื่นๆ ไปในตัว
      
      ๐ สอนให้มองโลกโดยรู้เท่าทันความจริงที่ว่า สรรพสิ่งมีความไม่เที่ยงแท้ถาวรคงทนอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่ตัวตนที่พึงยึดติดยึดถือ เพื่อจะได้มีความปลอดโปร่งโล่งใจ ไม่ยึดมั่นจนเกินไป ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้โดยง่าย
      
      ๐ สอนให้ถือธรรม คือความถูกความตรงเป็นใหญ่ ไม่ให้ถือตนเป็นใหญ่ หรือถือโลกเป็นใหญ่ พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ถือบุคคลเป็นสำคัญ แต่ถือธรรมหรือความถูกตรงเป็น สำคัญ
      
      ๐ สอนปรมัตถ์คือประโยชน์อย่างยิ่ง คือให้รู้จักความ จริงที่เป็นแก่น ไม่หลงติดอยู่ในความสมมติต่างๆ เช่น ลาภยศ เป็นต้น แต่ในการเกี่ยวข้องกับสังคม ก็สอนให้รู้จักรับรองสมมติทางกายและวาจาตามสมควร เช่น เมื่อเข้าประชุมชน ก็ให้ทำตนให้เข้าได้กับประชุมชนนั้นๆ ให้ใช้ถ้อยคำให้ถูกตามสมมติบัญญัติ ไม่ใช่เมื่อถือว่าไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแล้ว ก็เลยเข้ากับใครไม่ได้ การที่พระพุทธศาสนายั่งยืนมาได้ ก็เพราะถึงคราวรับรองสมมติบัญญัติ ก็รับรองตามสมควร ถึงคราวสอนใจให้รู้เท่าสมมติบัญญัติ ก็สอนใจมิให้ติดมิให้หลงจนเป็นเหตุมัวเมางมงาย
      
      ๐ สอนให้ดับทุกข์ โดยรู้จักว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นต้นเหตุ และการดับทุกข์ ได้แก่ ดับเหตุของทุกข์ รวมทั้งให้รู้จักข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงความดับทุกข์ด้วย จึงชื่อว่าสอนเรื่องดับทุกข์ได้อย่างมีเหตุมีผล ซึ่งควรจะได้ศึกษาและปฏิบัติตาม
      
      ๐ สอนรวบยอดให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท คือ สอนไม่ให้ลืมตนทะนงตน หรือ ขาดความระมัดระวัง ถือว่าความประมาทเป็นทางแห่งความตาย และความไม่ประมาท เป็นทางแห่งความไม่ตาย จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
      
      ๐ พระพุทธศาสนามิได้สอนให้ย่ำยีหรือซ้ำเติมคนที่ทำอะไรผิดไปแล้ว ควรจะช่วยกันให้กำลังใจในการกลับตัวของเขา ไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยาม พระพุทธเจ้าเองก็เคยทรงเล่าเรื่องความผิดของพระองค์ในสมัยยังทรงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ อันแสดงว่าตราบใดยังมีกิเลส ตราบนั้นก็อาจทำชั่วทำผิดได้ แต่ข้อสำคัญ ถ้ารู้ว่าอะไรผิดอะไรชอบแล้วจะต้องพยายามกลับตัวให้ดีขึ้นเสมอ
      
      พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่สอนให้เห็นอกเห็นใจผู้อื่น สำหรับผู้ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่นจะเพราะชาติสกุล เพราะทรัพย์ หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม ไม่ชื่อว่าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา
      
      ๐ พระพุทธศาสนาสอนทางสายกลางระหว่างการทรมานตัวเองให้เดือดร้อน กับการปล่อยตัวให้เหลิงเกินไป และสอนทางสายกลางระหว่างความเห็นที่ว่าเที่ยงกับความเห็นที่ว่าขาดสูญ การสอนทางสายกลางนี้ย่อมเป็นประโยชน์ในที่ทุกสถาน อะไรก็ตามมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป ย่อมไม่ดี

ยิ้มกว้างๆ
หน้า: [1] 2 3