แสดงกระทู้
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 242
16  ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน / ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา / Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดยหลวงปู่ท่อน ญาณธโร วัดศรีอภัยวัน จ.เลย เมื่อ: เมษายน 10, 2018, 08:32:29 PM


ปัจฉิมวาระของหลวงปู่ท่อน
.
จากบันทึกของพระธนู ฐานวฑฺฒโน คิลานุปฏฺฐาก และสทฺธิวิหาริกฺ รุ่นสุดท้าย
.
ต่อไปนี้ข้าพเจ้าขอบันทึกความทรงจำอันเกิดขึ้นมีขึ้น ในเหตุการณ์อันสูญเสียพ่อแม่ครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพแห่งวงการพระกรรมฐาน ดังนี้
เช้าวันเสาร์ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ วันนั้นเป็นวันธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา หลังจากข้าพเจ้าได้ฉันภัตตาหารเสร็จ ก็ได้เดินเข้าไปยังห้องที่หลวงปู่พักรักษาอาการอาพาธ ในโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ซึ่งเป็นกิจวัตรยามเช้าปกติธรรมดาเหมือนเช่นทุกวัน
พอถึงเวลา ๙ นาฬิกา หมอได้มาอาราธนานิมนต์หลวงปู่ เพื่อไปทำการเอ็กซเรย์สมอง เสร็จแล้วก็ได้นำท่านกลับขึ้นมาพักยังห้องพักดังเดิม ตามด้วยบรรดาพยาบาลได้ขอตรวจคลื่นสมองท่านภายในห้องด้วยเครื่องมือทางการเเพทย์ ในเวลานั้น สังเกตดูสีหน้าของท่านดูซีดเผือดกว่าปกติ ไม่มีน้ำมีนวลให้ปรากฏเห็นเช่นเคย คาดว่าท่านคงเหนื่อยล้า หลังจากที่คณะพยาบาลได้ตรวจคลื่นสมองเสร็จแล้ว ได้แจ้งว่า ขั้นตอนต่อไป จะได้อาราธนาท่านไปทำการฟอกไต และฟอกเลือด โดยอาราธนาท่านลงไปชั่งน้ำหนักที่ ชั้น ๘ เพราะว่าตาชั่งจะมีมาตรฐานกว่าเครื่องที่เคยนำมาชั่งที่เตียง ทีเเรกข้าพเจ้าคิดว่าจะไม่ติดตามลงไป แต่ข้าพเจ้าก็เกิดสังหรณ์ใจอย่างบอกไม่ถูก จึงต้องตามลงไปด้วย
ขณะที่นำท่านลงไปชั่งน้ำหนักที่ชั้น ๘ นั้น ข้าพเจ้าสังเกตเห็นอาการของท่านดูไม่ค่อยดีนักเพราะ ท่านจะนิ่งสงบ จนเป็นที่ผิดสังเกต เมื่อชั่งน้ำหนักเสร็จ ผลน้ำหนักท่านชั่งได้ ๖๒ กิโลกรัม ซึ่งแตกต่างจากวันที่ทางพยาบาลมาดำเนินการชั่งให้ที่เตียงห้องท่านพักซึ่งมีน้ำหนักเพียง ๕๘ กิโลกรัม อย่างไรก็ดี มันคงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะน้ำหนักอาจจะไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยของเครื่องชั่งแต่ละเครื่อง
เมื่อท่านชั่งน้ำหนักที่ชั้น ๘ เสร็จแล้ว ก็ได้นำท่านกลับมายังห้องโดยขึ้นทางลิฟ ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่า ทำไมวันนี้หลวงปู่ถึงได้ซีดและใบหน้าก็นิ่งเฉย ไม่มีการขยับเหมือนดังวันก่อนมา สีสันวรรณะก็เหลืองกว่าทุกวัน ข้าพเจ้ายังได้พูดคุยกับผู้ช่วยพยาบาลถึงข้อสังเกตนั้น เมื่อนำองค์ท่านขึ้นกลับมายังห้องพักที่ชั้น ๑๓ แล้ว คณะพยาบาลกำลังดำเนินการจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อทำการฟอกเลือดและไตของหลวงปู่ในเวลาอันใกล้
ข้าพเจ้าเกิดความกังวลอยู่ จึงได้เดินไปเดินมาระหว่างที่นั่งกับเตียงของหลวงปู่ ในขณะที่ข้าพเจ้าเดินไป โดยปกติแล้วข้าพเจ้าจะเอามือของข้าพเจ้าไปจับไปคลำ บริเวณมือและเท้าของท่านเสมอ แต่การจับท่านครั้งนี้มันช่างแตกต่าจากแต่ก่อนเก่ามากเหลือเกิน เพราะบริเวณมือขององค์ท่าน มีสีเหลืองซีด และเริ่มเขียวคล้ำตามเล็บมือขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าเกิดความตกใจ จึงได้เอามือไปจับหาจุดชีพจรของหลวงปู่ ปรากฎว่าคลำหาอย่างไรก็ไม่พบการเต้นของชีพจรเลย ข้าพเจ้าจึงได้ให้ผู้ช่วยพยาบาล ได้ทำการใช้เครื่องมือวัดชีพจรและความดัน ผลปรากฎว่า ชีพจรและความดันของท่านไม่มีเลย เขาจึงต้องรีบเรียกระดมแพทย์และพยาบาลมาช่วยกันปั้มหัวใจของหลวงปู่เป็นการด่วน ซึ่งเวลาในตอนนั้นก็เป็นเวลาประมาณ ๑๐ โมงเช้า จะค่อนๆ ไป ๑๑ โมงเช้า การช่วยเหลือของคณะแพทย์พยาบาลได้พยายามยึ้อชีพจรและความดันของหลวงปู่กลับมาทำงานเป็นผลสำเร็จ
(ข้าพเจ้าจะขอเล่าบรรยายถึงเหตุการณ์ในขณะที่คณะแพทย์และพยาบาลได้ทำการ CPR ต่อหลวงปู่ ข้าพเจ้าได้เห็นการทำงานของคณะแพทย์พยาบาล ทำให้ข้าพเจ้าตั้งอกตั้งใจ มองอย่างไม่จืด ไม่จางเลย ไม่ว่าจะเป็นหมอเล็กหมอใหญ่ต่างก็มีความร่วมมือสามัคคีช่วยกันอย่างคล่องแคล่ว ยิ่งดูยิ่งเกิดความปีติขึ้นมาในใจ คือดูแล้ว การทำงานในตอนนั้นไม่มีใครจะมาถือตัวถือตนว่าเป็นหมอระดับครูหรือหมอระดับเชี่ยวชาญ ต่างคนต่างก็ให้โอกาสกันได้แสดงความสามมารถอย่างเต็มที่ จนสามารถฟื้นชีพจรของหลวงปู่กลับมาทำงานอีกครั้ง ซึ่งก็ใช้เวลาร่วมชั่วโมงเลยทีเดียว)
จะขอเล่าต่อไปในขณะที่ชีพจรองค์หลวงปู่กลับมาทำงานอีกครั้ง ทางแพทย์ได้นำท่านย้ายลงมาพักอยู่ที่ห้อง ๗๑๐ ภายในห้อง ICU แพทย์ก็ได้ทำการถวายยาเพื่อช่วยกระตุ้นความดัน และกระตุ้นระบบต่างๆ ให้สามารถทำงานได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อสรรพสิ่งตั้งอยู่บนกองของอนิจจัง กองทุกขัง และกองอนัตตา เมื่อมีเกิด ก็มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาของคู่กัน สมดังพุทธพจน์ของสมเด็จพระบรมศาสดา เป็นเช่นนี้มา แม้แต่ตัวของข้าพเจ้าเองก็ไม่สามารถคาดคะเนเดาได้
ท่านทั้งหลายขอจงรู้ไว้ว่า เมื่อถึงเวลา ธาตุขันธ์ก็จะแตกสลาย ถึงจะเอาของดีของวิเศษที่ไหนเพื่อมารักษา ก็ไม่สามารถจะเก่งก้าวข้ามกฏของไตรลักษณ์นั้นไปได้ อาการของหลวงปู่ก็เช่นกัน ท่านได้อ่อนลงไปตามลำดับ อุปมาเปรียบเหมือนกับไฟตะเกียงที่มีน้ำมันเลี้ยงไส้เพื่อให้ไฟลุกเกิดแสงสว่าง ในเมื่อน้ำมันที่เลี้ยงไส้ตะเกียงได้ค่อยๆ หมดลงย่อมทำให้แสงของตะเกียงดับลงไปในที่สุด
ในขณะนั้นเป็นเวลา ๑๖ นาฬิกา ๔๕ นาที เส้นกราฟที่วัดชีพจรความดันและหัวใจ ได้ค่อยๆ ลดลงมาถึงที่ ๐ เป็นอันว่าหลวงปู่พระราชญาณวิสุทธิโสภณ หรือหลวงปู่ท่อน ญาณธโร ได้ละสังขารลงแล้วอย่างสงบและงดงาม ยังความโศกเศร้าอาลัยแก่พระเณรอุปัฏฐาก ที่ดูแลท่าน และบรรดาเหล่าลูกศิษย์ที่มาเฝ้ารออยู่ที่หน้าห้อง ICU บรรยากาศในวันนั้นช่างมีบรรยากาศมืดครึ้ม และอากาศก็หนาวเย็นลงมาอย่างเห็นได้ชัด แตกต่างจากวันก่อนๆ ที่ผ่านมา เปรียบเป็นสัญาณแจ้งไว้ว่าจะมีการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่มายังบรรดาเหล่าชาวพุทธที่เคารพเเละศรัทธาในองค์ท่าน
.
***หากเหตุการณ์ที่ข้าพเจ้าได้บันทึกความทรงจำที่ได้บรรยายไปแล้วนี้ ขาดตกบกพร่องไปประการใดประการหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ขออภัยกับท่านทั้งหลายไว้ด้วย ที่ข้าพเจ้าได้เขียนบรรยายมานี้ก็ไม่ได้มีเจตนาว่าจะอวดตนอวดกิเลสของข้าพเจ้าแต่ประการใดดอก แต่ข้าพเจ้ามีความทรงจำซึ่งอยู่ภายใต้กฎของกองอนิจจัง ข้าพเจ้าจึงนำมาบันทึกไว้ บางทีท่านทั้งหลายที่มีความสนใจอยากจะทราบถึงเหตุการณ์ในวันที่สูญเสีย หลวงปู่ท่อน ญาณธโร ก็จะได้ศึกษาเพื่อเกิดความรู้ความเข้าใจ ได้ดังตามที่ข้าพเจ้าจะพอจดจำได้นี้

ฐานวฑฺฒโนภิกฺขุ

ภาพหลวงปู่อร่าม ชินวังโส ดูองค์หลวงปู่ท่อน ญาณธโร
ขอบพระคุณภาพจาก คุณพัชรินทร์ จั่นทอง
เพจ:ต้นโพธิ์
17  พระไตรปิฏก : พระอภิธรรม พระสูตร พระคัมภีร์ / แนะนำ หนังสือธรรมะ / พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้ โดย  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป .อ. ปยุตฺโต) เมื่อ: กุมภาพันธ์ 19, 2018, 02:42:51 PM
พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้ โดย  พระพรหมคุณาภรณ์ (ป .อ. ปยุตฺโต)
ทางทีมงาน Download มาจากลิ้งของเว็บของวัดญาณเวศกวัน และร่วมเผยแพร่อีกทางผ่านเว็บ kammatan
ตามลิ้งด้านล่าง เพื่อให้พระพุทธศานิกชนได้ดาวโหลดไปอ่านกันอีกทางหนึ่งครับผม

http://www.kammatan.com/docs/the_pali_canon_what_a_buddhist_must_know_thai-eng.pdf
18  ภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 / แนะนำ สถานที่ปฏิบัติภาวนาธรรม ที่สัปปายะ ในประเทศไทย / แนะนำ 48 แหล่งสถานที่ปฏิบัติธรรมใน ประเทศไทย ที่กระจายตามจังหวัดต่างๆ เมื่อ: ธันวาคม 20, 2017, 02:13:40 PM
แนะนำ 48 แหล่งสถานที่ปฏิบัติธรรมใน ประเทศไทย ที่กระจายตามจังหวัดต่างๆ

๑. วัดธรรมมงคล
๑๓๒ ถ.สุขุมวิท ซอย ๑๐๑ ตรอกปุณณวิถี ๒๐
แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ ๑๐๒๖๐
โทร. ๐๒-๓๑๑-๑๓๘๗, ๐๒-๓๓๒-๔๑๔๕, ๐๒-๗๔๑-๗๘๒๒

วิปัสสนาจารย์ พระเทพเจติยาจารย์ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)
แนวการปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภาวนา “พุทโธ”

สถานที่ปฏิบัติมีหลายแห่ง คือ
(๑) ศาลาปฏิบัติธรรม เป็นห้องมุ้งลวด
(๒) ถ้ำวิปัสสนา (จำลอง)
(๓) ศูนย์สมาธิวิริยานุภาพ มี ๘๐ ห้องพัก ทุกห้องมีเครื่องปรับอากาศ
(๔) ห้องสำหรับทำสมาธิ
(๕) สถานปฏิบัติธรรม จ.เชียงราย
(๖) สำนักสงฆ์น้ำตกแม่กลาง

๒. วัดอัมพวัน
๕๓ หมู่ที่ ๔ ถ.เอเชีย กม. ๑๓๐ บ้านอัมพวัน
ต.พรหมบุรี อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ๑๖๑๖๐
โทร. (๐๓๖) ๕๙๙-๓๘๑, (๐๓๖) ๕๙๙-๑๗๕
วิปัสสนาจารย์ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
แนวการปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ บริกรรม “ยุบหนอ พองหนอ”

๓. ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย
ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
๕๘/๘ ถ.เพชรเกษม ๕๔ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ๑๐๑๖๐
โทร. ๐๒-๔๑๓-๑๗๐๖, ๐๒-๘๐๕-๐๗๙๐-๔
วิปัสสนาจารย์ คุณแม่สิริ กรินชัย
แนวการปฏิบัติ แนวสติปัฏฐาน ๔ เจริญสติอย่างต่อเนื่อง
ตามแนวพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
สถานที่เป็นตึกทันใหม่ทันสมัยหลายหลัง โดยทั่วไปการอบรมใช้เวลา ๘ วัน ๗ คืน

๔. สวนโมกขพลาราม
๖๘ หมู่ ๑ ต.เลเม็ด อ ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ๘๔๑๑๐
โทร. ๐๗๗-๔๓๑-๕๙๖-๗, ๐๗๗-๔๓๑-๖๖๑-๒
วิปัสสนาจารย์ ท่านพุทธทาสภิกขุ
แนวการปฏิบัติ อานาปานสติภาวนา

๕. วัดป่าสุนันทวนาราม
๑๑๐ หมู่ที่ ๘ บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ๗๑๑๕๐
วิปัสสนาจารย์ พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
แนวการปฏิบัติ อานาปานสติภาวนา
เปิดอบรม “อานาปานสติภาวนา” แก่ผู้สนใจ ครั้งละ ๙ วัน
เปิดรับครั้งละ ๑๐๐-๑๕๐ คน เป็นการปฏิบัติที่เคร่งครัด กินอาหารวันละ ๑ มื้อ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิมายา โคตมี คุณดารณี บุญช่วย
โทร. ๐๒-๓๒๑-๖๓๒๐, ๐๒-๖๗๖-๓๔๕๓, ๐๒-๖๗๖-๔๓๒๓

๖. วัดภูหล่น
๙ บ้านภูหล่น ต.สงยาง อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๕๐
ปฐมวิปัสสนาจารย์ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
(วัดภูหล่น เป็นสถานที่หลวงปู่มั่นออกธุดงค์ครั้งแรกกับหลวงปู่เสาร์)
วัดนี้ค่อนข้างจะห่างจากตัวเมือง บรรยากาศดีมาก เย็นสบาย และเงียบสงบ
มีสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนเขาไม่สูงนัก สามารถกางกลดอยู่ได้
มีโบสถ์บนเขาและมีกุฏิโดยรอบ บ้างก็ซ่อนอยู่ตามซอกเขา
ที่นี่เหมาะกับผู้เคยปฏิบัติธรรมมาแล้ว ต้องการมาปฏิบัติขั้นอุกฤษฎ์

๗. วัดถ้ำขาม
บ้านคำข่า หมู่ที่ ๔ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ๔๗๑๓๐
วิปัสสนาจารย์ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดมีเนื้อที่ ๘๔๐ ไร่ พื้นที่จรดเขตอุทยานป่าแนวเทือกเขาภูพาน วัดอยู่บนเขาสูง
แต่ก็มีบันไดขึ้นลงสะดวก มีลิงป่า และไก่ป่า
ที่พัก มีที่พักเป็นกุฏิ (กุฏิละ ๑ คน) หรือพักรวมบนศาลาก็ได้
เหมาะสำหรับผู้ต้องการมาปฏิบัติขั้นอุกฤษฎ์

๘. วัดมเหยงคณ์
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ๑๓๐๐๐
โทรศัพท์ ๐๓๕-๒๔๒-๘๙๒, ๐๓๕-๒๔๔-๓๓๕
วิปัสสนาจารย์ พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)
แนวปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ กำหนดรู้ รูป-นาม

๙. สำนักปฏิบัติแสงธรรมส่องชีวิต
หมู่ ๑ สี่แยกหินกอง ต.โคกแย้ อ.หนองแค จ.สระบุรี ๑๘๒๓๐
โทร. (๐๓๖) ๓๗๙-๔๒๘, (๐๓๖) ๓๐๕-๒๓๙
วิปัสสนาจารย์ พระอาจารย์สมชาติ ธมฺมโชโต
แนวปฏิบัติ เน้นให้ผู้ฝึกมีสติรู้ในอิริยาบท
ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันสำคัญทางศาสนา
จะมีการจัดอบรมฝึกวิปัสสนากรรมฐาน บวชชีพราหมณ์ เนกขัมมะ

๑๐. วัดสนามใน
๒๗ หมู่ ๔ ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ๑๑๑๓๐
โทร. ๐๒-๔๒๙-๒๑๑๙, ๐๒-๘๘๓-๗๒๕๑
แนวปฏิบัติ เน้นการเจริญสติรู้การเคลื่อนไหวของกาย ตามหลักสติปัฏฐาน ๔
วิธีที่เป็นที่นิยมคือวิธีสร้างจังหวะ เป็นวิธีสร้างสติแบบนั่งทำสมาธิแต่ไม่ต้องหลับตา

๑๑. วัดป่านานาชาติ
หมู่ที่ ๗ บ้านบุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ๓๔๓๑๐
(สาขา ๑๑๙ ของวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)
วิปัสสนาจารย์ พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ

เป็นวัดป่าที่มีต้นไม้ใหญ่มาก มียุงและแมลงต่างๆ มาก
คนที่แพ้ยุงก็ควรหายากันยุงไปด้วย อากาศเย็นสบาย ทานอาหารวันละ ๑ มื้อ
การไป ให้เขียนจดหมายไปขออนุญาตจากเจ้าอาวาส แล้วจึงเดินทางไปอยู่

๑๒. วัดปทุมวนาราม
ถ.พระราม ๑ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐
โทร. ๐๒-๒๕๑-๒๓๑๕, ๐๒-๒๕๒-๕๔๖๕
วิปัสสนาจารย์ พระราชพิพัฒนาทร (หลวงพ่อถาวร จิตฺตถาวโร)
แนวปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภาวนา “พุทโธ”

นั่งปฏิบัติในศาลาพระราชศรัทธา มีอาสนะและผ้าคลุมตักให้หยิบใช้ได้
บริเวณโดยรอบมีการปลูกแต่งด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย ร่มรื่นสวยงาม
กำหนดการปฏิบัติธรรมที่ศาลาฯ ประจำวันจันทร์-ศุกร์ วันละ ๓ เวลา
เช้า ๗.๐๐-๘.๐๐ น. กลางวัน ๑๒.๐๐-๑๓.๐๐ น. เย็น ๑๗.๐๐-๒๐.๐๐ น.

๑๓. วัดปากน้ำภาษีเจริญ
๘ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ๑๐๑๖๐
โทร. ๐๒-๔๖๗-๒๑๖๖
วิปัสสนาจารย์ พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร)
แนวปฏิบัติ ตามแนวธรรมกาย ใช้คำบริกรรม “สัมมาอรหัง”
สถานที่ปฏิบัติ (๑) หอเจริญวิปัสสนาฯ ชั้น ๒ เป็นห้องแอร์ปูพรม
(๒) หอสังเวชนีย์มงคลเทพนิมิต (๓) ตึกบวรเทพมุนี

๑๔. วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์
๓ ท่าพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
วิปัสสนาจารย์ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)
แนวปฏิบัติ ตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ใช้คำบริกรรม “ยุบหนอ พองหนอ”
สถานที่ปฏิบัติ คณะ ๕ สำนักงานกลาง กองการวิปัสสนาธุระ
เปิดทุกวัน สอนเดินจงกรมและนั่งสมาธิ
เช้า ๐๗.๐๐-๑๐.๐๐ น. กลางวัน ๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. เย็น ๑๘.๐๐-๑๙.๐๐ น.

๑๕. วัดอินทรวิหาร
อาคารปฏิบัติธรรม “เฉลิมพระเกียรติ” วัดอินทรวิหาร
แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
โทร. ๐๒-๖๒๘-๕๕๕๐-๒
วิปัสสนาจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
แนวการปฏิบัติ แนวหลักสูตรของคุณแม่สิริ กรินชัย ๘ วัน ๗ คืน หรือ ๔ วัน ๓ คืน
เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมขยายผล จากผู้ปฏิบัติธรรมกับคุณแม่สิริ กรินชัย
เป็นอาคารทันสมัย ๕ ชั้น จุได้ประมาณ ๕๐๐ คน

๑๖. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธมณฑล
ถ.พุทธมณฑลสาย ๔ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ๗๓๑๗๐
โทร. ๐๒-๔๔๑-๙๐๐๙, ๐๒-๔๔๑-๙๐๑๒
แนวปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ กำหนดรู้อารมณ์ บริกรรม “ยุบหนอ พองหนอ”
สถานที่ปฏิบัติ ชั้น ๒ ของหอประชุม มีเครื่องปรับอากาศ ห้องนอน
มีเครื่องนอน เช่น หมอน มุ้ง ผ้าห่มให้พร้อมหรือนำไปเองก็ได้ ทานอาหาร ๒ มื้อ

๑๗. ศูนย์วิปัสสนายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย
เฉลิมพระเกียรติ ศูนย์ที่ ๒ จังหวัดปทุมธานี
๑๙ หมู่ที่ ๑๖ ต.คลองสาม อ.คลองสาม จ.ปทุมธานี ๑๒๑๒๐
โทร. ๐๒-๙๘๖-๖๔๐๓-๕ โทรสาร ๐๒-๙๘๖-๖๔๐๓-๔ ต่อ ๑๑๑
เป็นสาขาของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย เพชรเกษม ๕๔
วิปัสสนาจารย์ คุณแม่สิริ กรินชัย
แนวการปฏิบัติ แนวสติปัฏฐาน ๔ เจริญสติอย่างต่อเนื่อง
ตามแนวพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
สถานที่ร่มรื่น สงบเย็น สัปปายะดีมาก โดยทั่วไปการอบรมใช้เวลา ๘ วัน ๗ คืน

๑๘. วัดอโศการาม
๑๓๖ หมู่ที่ ๒ กม. ๓๑ ถ.สุขุมวิท (สายเก่า) ซ.สุขาภิบาล ๕๘
ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ๑๐๒๘๐
โทร. ๐๒-๓๘๙-๒๒๙๙, ๐๒-๗๐๓-๘๔๐๕
วิปัสสนาจารย์ หลวงพ่อลี ธมฺมธโร
บริเวณกว้างขวาง มีสระน้ำใหญ่ในบริเวณวัด
กุฏิพระ แม่ชี และที่พักแยกเป็นสัดส่วนเรียงรายรอบวัดเป็นร้อยๆ หลัง
ส่วนมากอยู่ติดริมทะเลซึ่งเป็นป่าชายเลน

๑๙. วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร
บ้านห้วยใหญ่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ๒๐๑๕๐
โทร. (๐๓๘) ๒๓๗-๕๐๖, ๒๓๗-๖๔๒, ๒๓๗-๙๑๒
วิปัสสนาจารย์ พระจุลนายก (พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต)
สถานที่ปฏิบัติ เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้น มีอาคาร ญส. ๗๒ ชาย และ ญส. ๗๒ หญิง
ชั้นละ ๑๐ ห้อง มีห้องน้ำในตัว เรือนปฏิบัติธรรมมี ๑๗ หลัง

๒๐. สำนักวิปัสสนากรรมฐานวิเวกอาศรม
ซ.ประชานุกูล ๗ ถ.ชลบุรี-บ้านบึง ต.บ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี ๒๐๐๐๐
โทร. (๐๓๘) ๒๘๓-๗๖๖, (๐๓๘) ๒๘๓-๓๔๐
วิปัสสนาจารย์ พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภมหาเถระ
แนวปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ ใช้คำบริกรรม “ยุบหนอ พองหนอ”
มีเรือนพักปฏิบัติธรรมทั้งหญิงชายแยกเป็นสัดส่วนอยู่จำนวนมาก
การอยู่ปฏิบัติให้พักคนเดียว เน้นการเก็บอารมณ์ ไม่พูดคุยกัน อย่างเคร่งครัด
การรับประทานอาหารจะมีปิ่นโตส่งถึงห้อง ๒ มื้อ
ทุกวันจะมีการสอบอารมณ์กรรมฐานโดยพระอาจารย์
ค่าน้ำไฟ อาหาร วันละ ๕๐ บาท หรือเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท ห้ามอยู่เกิน ๙๐ วัน

๒๑. วัดภัททันตะอาสภาราม
สำนักวิปัสสนาสมมิตร-ปราณี
๑๑๘/๑ หมู่ที่ ๑ บ้านหนองปรือ ต.หนองไผ่แก้ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ๒๐๒๒๐
โทร. ๐๓๘-๒๙๒-๓๖๑, ๐๘๑-๗๑๓-๐๗๖๔, ๐๘๑-๙๒๑-๑๑๐๑
เป็นสถานที่ซึ่งมีผู้บริจาคเพื่อขยับขยายมาจากสำนักวิปัสสนากรรมฐานวิเวกอาศรม
แนวปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ ใช้คำบริกรรม “ยุบหนอ พองหนอ”
สถานที่ล้อมรอบด้วยทุ่งและธรรมชาติ มีกุฏิสงฆ์สร้างในแบบธรรมชาติมุงจาก
อาคารปฏิบัติธรรมขนาดกลางและอุโบสถ ยังรับผู้ปฏิบัติธรรมได้ไม่มากนัก

๒๒. วัดเขาสุกิม
๑๒ ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ๒๒๑๒๐
โทร. ๐๘-๙๙๓๑-๕๕๔๔, ๐๘-๑๔๕๖-๘๓๘๔
วิปัสสนาจารย์ หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย
แนวปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ใช้คำบริกรรม “พุทโธ”
วัดตั้งอยู่สูงขึ้นไปบนเชิงเขา กว้างขวางกว่า ๓,๒๘๐ ไร่
มีทางบันได และรถรางขึ้นไปบนวัด บริเวณร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย
มีศาลาที่พักที่สะดวกสบาย เป็นห้องมุ้งลวด มีเตียง ที่นอนหมอนให้ หรือพักที่กุฏิว่างต่างๆ

๒๓. วัดจันทาราม (วัดท่าซุง)
๖๐ หมู่ที่ ๑ บ้านท่าซุง ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี ๖๑๐๐๐
โทร. (๐๕๖) ๕๑๑-๓๖๖, (๐๕๖) ๕๑๑-๓๙๑
วิปัสสนาจารย์ พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
แนวปฏิบัติ มโนมยิทธิ บริกรรม “นะ มะ พะ ธะ” และสอนอนุสติ บริกรรม “พุทโธ”

๒๔. วัดถ้ำผาปล่อง
ต.บ้านถ้ำ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๗๐
วิปัสสนาจารย์ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
สำนักสงฆ์แห่งนี้อยู่บนดอย ทางขึ้นลงเทปูนเป็นบันไดเดินได้สะดวกแต่ค่อนข้างสูง
หลวงปู่เคยเล่าไว้ว่าที่ถ้ำผาปล่อง และถ้ำเชียงดาวนี้ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ให้สำรวมระวัง รักษาความสงบ ไม่ร้องรำทำเพลง เล่นตลกคะนอง
เพราะเคยมีพระอรหันต์ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ากกุสันโธ
พระอรหันต์สมัยพระพุทธเจ้าโกนาคม พระอรหันต์สมัยพระกัสสโป
และพระอรหันต์สมัยพระพุทธโคดม มาบำเพ็ญเพียรและละสังขารอยู่หลายองค์
การนั่งภาวนาที่นี่จะทำเหมือนสมัยที่หลวงปู่ยังอยู่ คือ
ท่านจะให้ทุกคนที่ไปภาวนานั่งสมาธิเพชรฟังเทศน์ ด้วยเหตุผลว่า
”การนั่งสมาธิเพชรนั้นเป็นการฝึกฝนคนเราให้เกิดความตั้งใจมั่น”

๒๕. วัดป่าสาลวัน
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ๓๐๐๐๐
โทร. (๐๔๔) ๒๕๔-๔๐๒, ๐๘-๑๙๖๗-๑๔๓๕
วิปัสสนาจารย์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
แนวปฏิบัติ แนวหลวงปู่เสาร์-หลวงปู่มั่น ภาวนา “พุทโธ”
วันที่ ๑-๕ ของทุกเดือน จะมีการอบรมการปฏิบัติแก่อุบาสกอุบาสิกา
ที่ใต้ศาลา และบนวิหารชั้น ๒ โดยจะมีพระให้การอบรม

๒๖. วัดแดนสงบอาสภาราม
๙๙ ซอย ๑๙ ถ.มิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ๓๐๐๐๐
โทร. (๐๔๔) ๒๑๔-๑๓๔, (๐๔๔) ๒๑๔-๘๖๙-๗๐
วิปัสสนาจารย์ พระครูภาวนาวิสิฐ
แนวปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ อานาปานสติภาวนา

๒๗. วัดป่าวะภูแก้ว
หมู่ที่ ๑๑ บ้านวะภูแก้ว ต.มะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ๓๐๑๗๐
โทร. (๐๔๔) ๒๔๙-๐๔๕
เป็นวัดสาขาของวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
วิปัสสนาจารย์ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
แนวปฏิบัติ แนวหลวงปู่เสาร์-หลวงปู่มั่น ภาวนา “พุทโธ”
วัดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ มีต้นไม้ใหญ่น้อยมาก สถานที่เงียบสงบ สวยงาม
มีอาคารอบรมขนาดใหญ่ สำหรับผู้มาทำสมาธิเป็นหมู่คณะ

๒๘. วัดหนองป่าพง
๔๖ หมู่ ๑๐ บ้านพงสว่าง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ อุบลราชธานี ๓๔๑๙๐
โทร. (๐๔๕) ๓๒๒-๗๒๙
วิปัสสนาจารย์ หลวงพ่อชา สุภัทโท
แนวปฏิบัติ เน้นให้มีสติสม่ำเสมอ ฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ

๒๙. ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน
๖ หมู่ที่ ๒๕ บ้านเนินทาง ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ๔๐๐๐๐
โทร. (๐๔๓) ๒๓๗-๗๘๖, (๐๔๓) ๑๒๗-๗๙๐
เป็นสถานปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสาขาของวัดอัมพวัน
วิปัสสนาจารย์ พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
แนวปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ เช่นเดียวกับวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี

๓๐. วัดป่าวิเวกธรรมวิทยาราม (วัดป่าเหล่างา)
ซ.ศรีจันทร์ ๑๓ ถ.ศรีจันทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ๔๐๐๐๐
โทร. (๐๔๓) ๒๒๒-๐๔๒
วิปัสสนาจารย์ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม และหลวงปู่บุญเพ็ง กปฺปโก
แนวปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภาวนา “พุทโธ”

๓๑. วัดถ้ำผาบิ้ง
บ้านนาแก ต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย ๔๒๑๓๐
วิปัสสนาจารย์ หลวงปู่หลุย จันทสาโร
เมื่อไปถึงจะพบศาลาสร้างด้วยไม้ที่โปร่งสะอาดน่านั่งสมาธิ มีกุฏิหลายหลัง
มีถ้ำอยู่ไม่สูงจากเชิงเขา มีบันได้ขึ้นสะดวก เป็นที่สงบวิเวกมาก
เหมาะแก่การปฏิบัติอย่างอุกฤษฎ์ พระในสายพระอาจารย์มั่นมักมากจำพรรษา
และปฏิบัติธรรมที่นี่ เพราะเป็นที่สัปปายะ บรรยากาศเงียบสงบ ห่างไกลจากตัวเมือง

๓๒. วัดถ้ำกองเพล
ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ๓๙๐๐๐
โทร. (๐๔๒) ๓๑๒-๓๗๗
วิปัสสนาจารย์ หลวงปู่ขาว อนาลโย
แนวปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภาวนา “พุทโธ”
เป็นวัดป่ากว้างขวาง พร้อมศาลาปฏิบัติธรรมสร้างภายในถ้ำ
ทางไปถ้ำสะดวกอยู่ริมถนน รถเข้าถึงปากถ้ำได้ ไม่ต้องปีน
บางกุฏิก็ซ่อนอยู่ตามเหลือบผาต่างๆ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม
เมื่อไปถึงให้ติดต่อศาลาประชาสัมพันธ์เพื่อขออนุญาตก่อน ปฏิบัติธรรมอย่างเข้ม

๓๓. วัดป่าบ้านตาด
บ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ๔๑๐๐๐
วิปัสสนาจารย์ หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
แนวปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภาวนา “พุทโธ”
ในวัดมีกุฏิที่พักหลายกุฏิ มักจะมีลูกศิษย์มาอยู่ปฏิบัติกันมาก
แต่ผู้มาปฏิบัติที่นี่ต้องกินน้อย นอนน้อย ปฏิบัติมาก
กลางคืนมักจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ จนดึก หรือโต้รุ่งก็มี
ไม่ใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืน ผู้ปฏิบัติจึงควรจำไฟฉายหรือเทียนติดตัวไปด้วย
เพื่อใช้ส่องทางเดิน ทางจงกรม ซึ่งมักจะเป็นทางดิน
และอาจมีสัตว์ เช่น งู อยู่บ้าง ต้องเจริญเมตตาไม่เบียดเบียนต่อกัน

๓๔. วัดหินหมากเป้ง
หมู่ที่ ๔ บ้านไทยเจริญ ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ๔๓๑๓๐
โทร. (๐๔๒) ๔๒๑-๔๐๙
วิปัสสนาจารย์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
แนวปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภาวนา “พุทโธ”
ในวัดมีกุฏิเรือนรับรองอยู่มาก บริเวณกว้างขวาง ประกอบด้วยป่าโปร่ง ป่าไผ่
ทะเลสาบใหญ่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ร่มรื่น สงบเย็น เหมาะแก่การอยู่ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง

๓๕. วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก)
บ้านนาคำแคน ต.นาสะแบง อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย ๔๓๒๑๐
วิปัสสนาจารย์ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
แนวปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภาวนา “พุทโธ”
วัดตั้งอยู่บนภูทอก ทางขึ้นค่อนข้างชัน
สร้างด้วยความอัศจรรย์และด้วยจิตที่เด็ดเดี่ยวของพระเณร
ท่านพระอาจารย์จวนได้ทำทางขึ้นเป็นขั้นบันไดและทางเดินด้วยไม้รอบภูจนถึงยอด
บริเวณหน้าผา ท่านใช้ไม้ ๒ ลำมัดให้แน่นยื่นออกไป ๔ เมตร
เอาเชือกบังสุกุลผูกปลายไม้ที่ยื่นออกไป ตรึงใส่เสาที่ปักไว้ แล้วไปนั่งที่ปลายไม้นั้น
เพื่อตอกหินเจาะหลุมที่หน้าผา ปรากฏว่า ถ้าให้ฆราวาสไปนั่งปลายไม้ครั้งใด
ก็ไม่สามารถควบคุมสติสมาธิได้ เพราะมองไปข้างบ่างก็เกิดความหวั่นไหว
จนไม่สามารถตอกหินได้สำเร็จ ผู้สร้างจึงเป็นพระและเณร สิ่งปลูกสร้างนี้มี ๗ ชั้น
มีกุฏิที่พักเชิงเขาที่ชั้น ๒ หรือจะพักกุฏิว่างรอบเขาก็ได้ (ต้องขออนุญาตก่อน)
เหมาะกับผู้ปฏิบัติที่ฝึกมาดีพอสมควร มีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้
เนื่องจากเปลี่ยวและสูงอยู่บนภูเขา แต่บรรยากาศเย็นสบาย เงียบสงบ

๓๖. วัดดอยธรรมเจดีย์
หมู่ที่ ๓ บ้านนาสีนวล ต.ตองโขบ อ.ศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ๔๗๒๘๐
วิปัสสนาจารย์ หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ
แนวปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภาวนา “พุทโธ”
ปกติจะปฏิบัติที่ศาลา ส่วนที่พักมีกุฏิและอาคารซึ่งสะอาดทันสมัย

๓๗. วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม (วัดถ้ำพวง)
ถนนรพช. หมู่ที่ ๑ ต.ปทุมวาปี อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ๔๗๑๙๐
โทร. (๐๔๒) ๗๒๒-๐๐๒
วิปัสสนาจารย์ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
แนวปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภาวนา “พุทโธ”
ที่นี่มีหลายถ้ำ มีถ้ำหนึ่งชื่อถ้ำพวง ซึ่งพระอาจารย์มั่นเคยเล่าให้ฟังว่า
เป็นถ้ำที่ศักดิ์สิทธิ์มาก เคยมีพระอรหันต์ชื่อ พระนรสีห์ มานิพพานที่นี่

๓๘. วัดป่าสุทธาวาส
๑๓๙๖ หมู่ที่ ๑๐ บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร ๔๗๐๐๐
โทร. (๐๔๒) ๗๓๓-๐๔๑, (๐๔๒) ๗๑๑-๕๗๓
วิปัสสนาจารย์ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
แนวปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภาวนา “พุทโธ”
มีอาคารเป็นตึกปูน ๓ ชั้นหลังใหญ่ จุคนได้หลายร้อยคน เย็นสบาย

๓๙. วัดคำประมง
๒๐ หมู่ที่ ๔ บ้านคำประมง ต.สว่าง อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร ๔๗๑๓๐
โทร. ๐๘-๑๖๐๑-๖๙๖๐, ๐๘-๑๓๒๒-๗๑๐๗
วิปัสสนาจารย์ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
เนื่องจากเป็นวัดที่มีพระจำพรรษาอยู่น้อยในฤดูนอกพรรษา จึงเงียบสงบ
มีเจ้าหน้าที่ตัดหญ้า ปลูกดอกไม้สวยงามอย่างดี
มีพระพุทธรูปปางต่างๆ และสิ่งก่อสร้างสวยงาม มีสระน้ำทะเลสาบใหญ่
ฝูงปลามากมาย มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมและให้อาหารปลาอยู่เสมอ

๔๐. สำนักปฏิบัติธรรมศิริธรรม (ถ้ำชี)
เขากิ่ว ต.ไร้ส้ม อ.เมือง จ.เพชรบุรี ๗๖๐๐๐
โทร. (๐๓๒) ๔๒๘-๕๒๒
วิปัสสนาจารย์ หลวงพ่อกนฺตสิริ (กนฺตสิริ ภิกฺขุ)
แนวปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ และอานาปานสติ
เขากิ่วเป็นภูเขาเตี้ยๆ มีต้นไม้หนาแน่นมาก อยู่ใกล้เมือง เดินทางสะดวก
บนเขามีลิงอยู่บ้าง แต่ไม่ทำร้ายคน บนสำนักฯ มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
ศาลา ถ้ำชี ซึ่งใช้เป็นอุโบสถ กุฏิที่พัก ห้องน้ำ-ส้วม พอสะดวกสบายแก่การปฏิบัติ
ที่นี่เน้นการปฏิบัติเคร่งครัด กินน้อย พูดน้อย นอนน้อย ปฏิบัติมาก

๔๑. เสถียรธรรมสถาน
๒๔/๕ ซ.วัชรพล (รามอินทรา ๕๕) แขวงจระเข้บัว เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ ๑๐๒๓๐
โทร. ๐๒-๕๑๐-๖๖๙๗, ๐๒-๕๑๐-๔๗๕๖
วิปัสสนาจารย์ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
แนวปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ และอานาปานสติภาวนา
ชุมชนแห่งการเรียนรู้ โอเอซิสธรรมกลางกรุง เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่ร่มรื่น
สงบเงียบ สงบเย็น ตั้งอยู่ใจกลางของกรุงเทพมหานคร สาธุชนทุกท่านสามารถ
เข้าไปปฏิบัติธรรมได้ ถือได้ว่าเป็นธรรมสถานแห่งการฝึกฝนเรียนรู้ที่เหมาะ
อย่างยิ่งสำหรับแม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นผู้หญิง

๔๒. บ้านซอยสายลม
๙ ถ.พหลโยธิน ซอย ๘ ซอยสายลม (ระหว่างตึกชินวัตร ๑ และตึกพหลโยธินเพส)
แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
วิปัสสนาจารย์ พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
แนวปฏิบัติ มโนมยิทธิ บริกรรม “นะ มะ พะ ธะ” และสอนอนุสติ บริกรรม “พุทโธ”

๔๓. วัดพิชยญาติการาม
๖๘๕ ถ.ประชาธิปก แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กทม. ๑๐๖๐๐
โทร. ๐๒-๘๖๑-๔๓๑๙, ๐๒-๔๓๘-๔๔๔๒
วิปัสสนาจารย์ พระธรรมโมลี (สมศักดิ์ อุปสโม) และแม่ชีทศพร ชัยประคอง
แนวปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ อานาปานสติภาวนา
มีการปฏิบัติธรรม อบรมกรรมฐาน และดูกฎแห่งกรรม ทุกวันเสาร์-อาทิตย์

๔๔. วัดผาณิตาราม
ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดผาณิตาราม อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ๒๔๐๐๐
โทร. (๐๓๘) ๕๐๒-๐๐๐, (๐๓๘) ๕๐๒-๐๘๗-๘
วิปัสสนาจารย์ คุณแม่สิริ กรินชัย
แนวการปฏิบัติ แนวสติปัฏฐาน ๔ เจริญสติอย่างต่อเนื่อง
ตามแนวพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
มีการจัดอบรมวิปัสสนากรรมฐานสำหรับเยาวชน และบุคคลทั่วไป
สถานที่ร่มรื่น สงบเย็น สัปปายะดีมาก ที่พักสะอาด สะดวก ปลอดภัยดีมาก
และที่ปฏิบัติมีเครื่องปรับอากาศ โดยทั่วไปการอบรมใช้เวลา ๘ วัน ๗ คืน

๔๕. วัดเขาวง (ถ้ำนารายณ์)
๖๒/๑ หมู่ที่ ๕ บ้านเขาวง ต.เขาวง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ๑๘๑๒๐
โทร. (๐๓๖) ๒๓๖-๕๐๐-๕, ๐๘-๖๑๓๓-๖๘๘๙, ๐๘-๔๓๑๐-๙๔๔๒
วิปัสสนาจารย์ พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
แนวปฏิบัติ มโนมยิทธิ บริกรรม “นะ มะ พะ ธะ” และสอนอนุสติ บริกรรม “พุทโธ”
รับผู้เข้าพักปฏิบัติธรรมตลอดทั้งปี ตามระเบียบและจารีตของสำนัก

๔๖. วัดสังฆทาน
๑๐๐/๑ หมู่ที่ ๓ บ้านบางไผ่น้อย ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี ๑๑๐๐๐
โทร. ๐๒-๔๔๗-๐๗๙๙, ๐๒-๔๔๗-๐๘๐๐
วิปัสสนาจารย์ หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก และหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ
แนวปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ อานาปานสติภาวนา
มีการจัดบวชเนกขัมมปฏิบัติทุกวัน ทั้งบวชคนเดียวและบวชหมู่

๔๗. ศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางอาจารย์โกเอ็นก้า
ประเทศไทยมีศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า รวมทั้งหมด ๕ ศูนย์
อยู่ในความดูแลของสำนักงานมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน ในพระสังฆราชูปถัมภ์

(๑) ศูนย์วิปัสสนาธรรมกมลา
กม. ๑๖๖+๙๐๐ ทางหลวงหมายเลข ๓๓ (สุวรรณศร)
๒๐๐ บ้านเนินผาสุก ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ๒๕๐๐๐
โทร. ๐-๓๗๔๐-๓๕๑๖

(๒) ศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา
กม. ๔๙+๔๐๐ ทางหลวงหมายเลข ๑๒ (พิษณุโลก-หล่มสัก)
๑๓๘ แยกเข้าบ้านห้วยพลู ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ๖๕๒๒๐
โทร. ๐๕๕-๒๖๘-๐๔๙, ๐๘-๑๖๐๕-๕๕๗๖

(๓) ศูนย์วิปัสสนาธรรมสุวรรณา
๑๑๒ หมู่ที่ ๑ ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ๔๐๒๔๐
โทร. ๐๘-๖๗๑๓-๕๖๑๗

(๔) ศูนย์วิปัสสนาธรรมกาญจนา
๒๐/๖ หมู่ที่ ๒ บ้านวังขยาย ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ๗๑๒๔๐
โทร. ๐-๓๔๕๓-๑๒๐๙, ๐๘-๑๕๐๖-๐๓๘๙

(๕) ศูนย์วิปัสสนาธรรมธานี
๔๒/๖๖๐ หมู่บ้านเค.ซี. การ์เด้นโฮม ถ.นิมิตใหม่
แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ๑๐๕๑๐
โทร. ๐๒-๙๙๓-๒๗๑๑, ๐๒-๙๙๓-๒๗๐๐

วิปัสสนาจารย์ ท่านอาจารย์สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า (S.N. Goenka)
แนวปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ และอานาปานสติภาวนา
มีการจัดการอบรมวิปัสสนา (หลักสูตรสติปัฏฐาน) หลักสูตร ๑๐ วัน
สำหรับพระภิกษุ สามเณร และฆาราวาสทั่วไป รวมทั้งเด็กและเยาวชน
เริ่มต้นในเย็นวันแรก และสิ้นสุดในตอนเช้าของวันสุดท้าย ตลอดทั้งปี

๔๘. มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
๕๔๙/๙๔ ซ.ยิ่งอำนวย (จรัญสนิทวงศ์ ๓๗) ถ.จรัญสนิทวงศ์
แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐
โทร. ๐๒-๔๑๒-๒๗๕๒
วิปัสสนาจารย์ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
แนวปฏิบัติ แนวพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ภาวนา “พุทโธ”
มีการจัดกิจกรรมทุกเดือน ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม นั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม
และปฏิบัติจิตภาวนา นำพาโดยครูบาอาจารย์พระวิปัสสนาจารย์สายหลวงปู่มั่น
ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐-๑๑.๓๐ น. ซึ่งในแต่ละครั้งนั้นจะมีพระภิกษุมาหลายองค์

ขอบพระคุณจาก FB: Thee Bhikkhu และ http://www.kammatan.com
19  ภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 / แนะนำ สถานที่ปฏิบัติภาวนาธรรม ที่สัปปายะ ในประเทศไทย / ครบรอบ100 ปีชาตกาล พระโพธิญาณเถร(หลวงปู่ชา สุภัทโท)งานอาจริยบูชาหลวงปู่ชา มค2561 เมื่อ: ธันวาคม 07, 2017, 08:49:39 AM
ครบรอบ 100 ปี ชาตกาล พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) งานอาจริยบูชาหลวงปู่ชา สุภัทโท 12-17  มกราคม 2561
100Year of Ajahn-Cha at NongPraPong Temple Ubonratchatani

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ => https://ubon.town/2017/12/07/nongprapong-100y…ajahncha-jan2018/

งานปฏิบัติธรรมประจำปี 2561 หรืองานอาจริยบูชาหลวงปู่ชา สุภัทโท
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กำหนดการปีนี้ คือ วันที่ 12 -17 มกราคม 2561

**** เนื่องจากน้ำแล้ง เพราะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก อาจไม่สะดวกจึง ลดจำนวนวันลง ****
เป็นการปฏิบัติธรรมถือศีลแปด แต่ละปีที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมหลายพันถึงหลายหมื่นคน
เป็นวัดแบบป่าเนื้อที่หลายร้อยไร่จึงเพียงพอต่อการรองรับคนจำนวนมาก
!!!ท่านสามารถเดินทางไปเข้าร่วมงานได้เลย จะมากี่วันก็ได้ โดยปฏิบัติตามดังนี้ คือ !!!
กรุณาเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆที่จำเป็นมาเอง คือกลดหรือเต็นท์
(พระภิกษุสามเณรควรต้องเป็นกลดเท่านั้น เป็นไปได้ให้ใช้จีวรสีแก่นหรือสีบวรเพื่อความกลมกลืน
กับพระสายหนองป่าพงที่ย้อมจีวรด้วยแก่นขนุน ) ไฟฉาย หมอน ผ้าห่ม ผ้าปูนั่ง
เครื่องใช้ส่วนตัวเช่นแปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ขวดน้ำประจำตัว ภาชนะใส่อาหาร ช้อน ฯลฯ
เตรียมชุดขาวมาเปลี่ยนด้วยและควรเตรียมมาพอกับจำนวนวันที่อยู่ เพื่อไม่ต้องยุ่งยากในการหาซักผ้า
ตากผ้าและผู้เป็นโรคประจำตัวควรติดยามาด้วย งดนำเครื่องประดับและของมีค่าติดตัว
ในระหว่างเข้าร่วมปฏิบัติธรรมงดสูบบุหรี่ แต่ละปีจะมีพระอาจารย์จากวัดต่างๆเมตตามาแสดงธรรมเทศนานับร้อยรูป
ในวันที่ ๑๖ มกราคม อันเป็นวันมรณภาพของหลวงพ่อชา จะถือเนสัชชิก
จะมีพระอาจารย์จากวัดต่างๆเวียนกันมาแสดงธรรมให้ฟังตลอดคืนนับสิบๆรูป

ระเบียบปฏิบัติของผู้ที่จะร่วมงานปฏิบัติธรรมประจำปี ณ วัดหนองป่าพง
• ห้ามซื้อขายภายในบริเวณเขตวัด
• ห้ามเรี่ยไรเงินภายในบริเวณเขตวัด หากประสงค์จะบริจาค ขอเชิญที่โรงครัวกลาง
• หน่วยงานที่จะจัดทำโรงทานให้ลงทะเบียนที่จุดประสานงานหน้าพิพิธภัณฑ์
• หน่วยงานที่จะจัดทำโรงทานควรจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์มาเอง
• โรงทานหยุดปรุงอาหารตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น และบริการแจกทานจนเสร็จห้ามเกิน ๑๙.๐๐ น
• โรงทานทุกโรงทานติดแผ่นป้ายชื่อโรงทานรวมทั้งวัดสาขาขนาดไม่เกิน ๑ x ๒ เมตร
• โรงทานเมื่อแจกทานเสร็จแล้วควรรักษาความสะอาดภายในโรงทานให้เรียบร้อยและเก็บขยะออกไป
ภายนอกวัดด้วย
• ผู้เข้าปฏิบัติธรรมให้ลงทะเบียนที่กองอำนวยการหลังพิพิธภัณฑ์
• แม่ชีที่มาปฏิบัติธรรมให้ไปลงทะเบียนที่สำนักชีเท่านั้น
• อุบาสก (ผู้ชาย) สวมกางเกงขายาวสีขาวและเสื้อสีขาว อุบาสิกา (ผู้หญิง) สวมเสื้อสีขาวและผ้าถุงสีขาว
• ผู้มาปฏิบัติธรรมรับประทานอาหารเช้าหลังเวลา ๐๖.๓๐ น และควรงดรับอาหารหลังเวลา ๑๒.๐๐ น
• งดใช้โฟมใส่อาหารแจกทานควรใช้ใบตองหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้
_____________
กำหนดการงานปฏิบัติธรรมประจำปี
ระหว่าง ๑๒ – ๑๗ มกราคม ๒๕๖๑ (กำหนดการเฉพาะปีนี้) ณ วัดหนองป่าพง ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
**** เนื่องจากน้ำแล้ง เพราะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก อาจไม่สะดวกจึง ลดจำนวนวันลง ****

+++ วันที่ ๑๔ มกราคม +++
เวลา ๐๙.๐๐ น ลงทะเบียน
จัดที่พักตามจุดที่คณะกรรมการจัดให้ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้ใฝ่ต่อการปฏิบัติธรรม
เวลา ๑๔.๐๐ น ดูแลปัดกวาดบริเวณที่พักให้สะอาดเรียบร้อย สรงนํ้า อาบนํ้า
เวลา ๑๖.๐๐ น ฉันนํ้าปานะ เดินจงกรม
เวลา ๑๙.๐๐ น สัญญาณระฆัง รวมนั่งสมาธิ ทำวัตรเย็น
เวลา ๒๑.๐๐ น สมาทานศีล๘ ฟังพระธรรมเทศนา
เวลา ๒๒.๐๐ น พักผ่อน



+++ วันที่ ๑๕ มกราคม +++
เวลา ๐๓.๐๐ น สัญญาณระฆัง ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ
เวลา ๐๕.๐๐ น ภิกษุ สามเณร จัดโรงฉัน
เวลา ๐๕.๓๐ น ภิกษุ สามเณร ออกรับบิณฑบาต
เวลา ๐๖.๐๐ น อุบาสก อุบาสิกาเดินจงกรม
เวลา๐๘.๐๐ น รวมกันที่ธรรมศาลา ฟังพระธรรมเทศนา กล่าวถวายสังฆทาน พระภิกษุ สามเณรรับและฉันภัตตาหาร
เวลา ๑๐.๐๐ น ล้างบาตร รวมกันฉันที่โรงฉันฟังโอวาท กราบพระ เลิกพร้อมกัน กลับที่พัก เดินจงกรม
เวลา ๑๒.๐๐ น พักผ่อน
เวลา ๑๓.๐๐ น สัญญาณระฆัง พระภิกษุ สามเณรนั่งสมาธิ รวมกันที่อุโบสถ อุบาสก /อุบาสิกา รวมนั่งสมาธิที่ธรรมศาลา
เวลา ๑๔.๐๐ น ฟังพระธรรมเทศนา (ตามมติที่ประชุมแยกอบรมพระเณร กับอุบาสก อุบาสิกา ต่างหากจากกัน)
เวลา ๑๕.๐๐ น ฉันนํ้าปานะที่โรงฉัน ทำกิจส่วนตัว
เวลา ๑๖.๐๐ น รวมกันเดินจงกรม
เวลา ๑๙.๐๐ น ทำวัตรเย็น
เวลา ๒๐.๐๐ น นั่งสมาธิภาวนา
เวลา๒๑ .๐๐ น ฟังพระธรรมเทศนา
เวลา ๒๒.๐๐ น พักผ่อน

 

+++ วันที่ ๑๖ มกราคม +++
เวลา ๐๓.๐๐ น สัญญาณระฆัง ทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ
เวลา ๐๕.๐๐ น ภิกษุ สามเณร จัดโรงฉัน
เวลา ๐๕.๓๐ น ภิกษุ สามเณร ออกรับบิณฑบาต
เวลา ๐๖.๐๐ น อุบาสก อุบาสิกาเดินจงกรม
เวลา๐๘.๐๐ น รวมกันที่ธรรมศาลา ฟังพระธรรมเทศนา กล่าวถวายสังฆทาน พระภิกษุ สามเณรรับและฉันภัตตาหาร
เวลา ๑๐.๐๐ น ล้างบาตร รวมกันฉันที่โรงฉันฟังโอวาท กราบพระเลิกพร้อมกัน กลับที่พัก เดินจงกรม
เวลา ๑๒.๐๐ น พักผ่อน
เวลา ๑๓.๐๐ น สัญญาณระฆัง พระภิกษุ สามเณรนั่งสมาธิ รวมกันที่อุโบสถ อุบาสก /อุบาสิกา รวมนั่งสมาธิที่ธรรมศาลา
เวลา ๑๔.๐๐ น ฟังพระธรรมเทศนา
(ตามมติที่ประชุมแยกอบรมพระเณร กับอุบาสก อุบาสิกา ต่างหาก)
เวลา ๑๕.๐๐ น จัดแถวพระภิกษุ สามเณรและอุบาสก อุบาสิกาพร้อมด้วยดอกไม้ ธูปเทียนจากธรรมศาลาสู่ลานเจดีย์พระโพธิญาณเณรทำประทักษิณรอบเจดีย์ ๓ รอบ เสร็จ ฉันนํ้าปานะที่โรงฉัน
เวลา ๑๗.๐๐ น พักผ่อนตามอัธยาศัย
เวลา ๑๙.๐๐ น สัญญาณระฆัง ทำวัตรเย็น
เวลา ๒๐.๐๐ น นั่งสมาธิภาวนาร่วมกัน
เวลา๒๑ .๐๐ น ฟังพระธรรมเทศนาตลอดคืน(ให้ถือเนสัชชิกในวันนี้)

+++ วันที่ ๑๗ มกราคม +++
เวลา ๐๕.๓๐ น ภิกษุ สามเณร ออกรับบิณฑบาต
เวลา๐๘.๐๐ น ทำพิธีเครื่องสักการะแด่พระมหาเถระ กล่าวถวายสังฆทาน พระภิกษุ สามเณรรับและฉันภัตตาหาร
เวลา๐๙.๐๐ น ล้างบาตร เก็บบริขาร ฟังโอวาทที่โรงฉัน กราบพระเลิกพร้อมกันแยกย้ายกลับอาวาสตามปกติ



เรียบเรียงโดยทีมงาน https://ubon.town ร่วมสืบสานงานอาจริยบูชาองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลวงปู่ชา สุภัทโท
20  ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน / ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา / Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู เมื่อ: พฤศจิกายน 23, 2017, 08:22:27 AM


"พึ่งร่างกาย กายก็แตก พึ่งน้ำในกาย น้ำก็สลาย พึ่งไฟในกาย ไฟก็กระจาย
กายทั้งร่างมีแต่เรื่องแตกกระจาย แล้วจะพึ่งอะไร? พึ่งบ้าน บ้านก็จะพัง พึ่งสมบัติเงินทอง ก็ล้วนแต่สิ่งจะพังทลาย
ยังเพลินเมามัว มั่วสุมอยู่หรือ? มนุษย์เราตัวฉลาดแท้ๆ ไม่สมควรกับความเป็นดังที่กล่าวมา
ความดีมีอยู่ แสวงหาซิมนุษย์ทั้งหลาย ท่านหาความดีได้ ทำไมเราหาไม่ได้? เวลาไพล่ไปหาความเลวทรามต่ำช้า ทำไมหาได้?
สิ่งเหล่านั้นมันวิเศษวิโสอะไร? ถ้ามันพาคนให้วิเศษ มนุษย์พากันวิเศษเลิศโลกไปนานแล้ว
ไม่จมปลักดังที่เห็นกันอยู่นี้เลย จึงไม่ควรเพลิดเพลิน ไม่ควรมัวเมา ไม่เข้าเรื่องอยู่เปล่าๆ อะไรดี มีสาระ รีบแสวงหา"
หลวงปู่ขาว อนาลโย
21  ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน / ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา / Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย เมื่อ: กันยายน 21, 2017, 11:49:52 AM
"พิจารณาการตาย ให้สะกิดใจว่าเราจะต้องตายง่าย อายุไม่ยืนนาน บอกตนเองมาเรื่อยๆ
เร่งความเพียรมากๆก่อนตาย เพื่อให้ชำนิชำนาญเพื่อเข้าจิตสู้การตาย ข้อนี้สำคัญมากกว่าอย่างอื่น"
หลวงปู่หลุย จันทสาโร
22  ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน / ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา / Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย เมื่อ: กันยายน 21, 2017, 11:48:37 AM
ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของที่ไม่เนิ่นช้านะ เร็วที่สุด เร็วที่สุดทีเดียว
เป็นของที่ไม่เนิ่นช้าทีเดียว อย่าให้จิตเป็นอนาถานะ มีที่พึ่งนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เป็นของใหญ่นะ
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
23  ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน / ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา / Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย เมื่อ: กันยายน 21, 2017, 11:48:19 AM
จิตติดที่ไหน ย่อม ไปเกิด ณ ที่นั้น จิตติดเรือนก็อาจจะมาเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแกได้
แม้แต่พระภิกษุติดจีวรยังไปเกิดเป็นเล็น น่าหวาดกลัวนัก แล้วกิเลสมีร้อยแปดประตู
พุทโธมีประตูเดียว เพราะฉะนั้นให้ฝึกหัดปฏิบัติให้คุ้นเคย วาระที่เราจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติ จะเข้าจิตได้ทันหรือเปล่า
หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร
24  ห้องนั่งเล่น คุยกันสบายๆตามประสาชาวกรรมฐาน / คุยกันสบายๆ ตามประสาชาวกรรมฐาน.คอม / Re: คุยกันสบาย...สบายครับ เมื่อ: กันยายน 05, 2017, 09:52:23 PM
อนุโมทนาสาธุ ครับพี่ต่าย

วันนี้วันพระใหญ่ 5 กย 2560
สวดมนต์ไหว้พระ เจริญสติ นั่งสมาธิ เดินจงกลม เอาบุญมาแบ่งครับผม : )
25  กิจกรรมที่ช่วยเหลือทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา แหล่งทำบุญ หรือ การช่วยเหลือสังคม จากทาง Kammatan.com / งานกฐิน สร้างวัด ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างพระพุทธรูป บริจาคโลหิต เพื่อการกุศล ช่วยเหลือ / งานกฐินวันถ้ำผาแดง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น หลวงตาศิริ ในรอบปี พ.ศ. 2560 เมื่อ: กันยายน 05, 2017, 09:46:38 PM
งานกฐินวันถ้ำผาแดง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น หลวงตาศิริ ในรอบปี พ.ศ. 2560
ปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560



26  ภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 / กำลังใจ จากครูบา อาจารย์ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 / Re: ความรู้ที่เกิดจากการฟังและปฏิบัติ เมื่อ: กันยายน 05, 2017, 09:43:18 PM
ใบประกาศต่างๆ ในโลก เมื่อตายไปแล้ว ก็จะขาด จะหายไป ครั้นเมื่อเกิดมาใหม่ก็ต้องดิ้นรนแสวงหากันใหม่
บางทีได้มาแล้ว เพิ่มอัตตาตัวตนด้วยซ้ำ กิเลสตัวกูเก่งมันเกิดขึ้นแล้วมองไม่ทัน ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อการละ และการวางตัวตนเลย...

แต่ในทางธรรมแล้ว เมื่อมีมรรคมีผลเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้ลดละกิเลสลง ตามลำดับขั้น ละอัตตาตัวตนลงได้ตามสติปัญญา (ในทางพุทธศาสนา)
ถึงแม้ว่าตายไปแล้ว ได้ไปเกิดในภพภูมิใหม่ คุณธรรมเหล่านั้นก็จะติดตามไปทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะเข้าถึงนิพพาน : )

5 กย 2560
วันพระใหญ่
27  ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน / ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา / Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย พระอาจารย์หลวงปู่คำดี ปภาโส เมื่อ: สิงหาคม 22, 2017, 10:56:33 AM
บางคนภาวนาไม่อยากเห็นภาพต่างๆ เช่น นรก สวรรค์ เทวดา เป็นต้น
การที่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรแปลก
ที่ว่าไม่แปลกก็เพราะว่า เมื่อเราเห็นแล้ว กิเลสของเราก็ยังอยู่เหมือนเดิม
บางคนแถมยังทำให้เกิดกิเลสเพิ่มมากขึ้นอีกเสียด้วย
คือถือว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ ที่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้
เลยไม่ยอมกราบไหว้ใครทั้งสิ้น จนกลายเป็น สัคคาวรณ์ มัคคาวรณ์
ปิดกั้นทางมรรค ทางผล ทางนิพพาน ไปโดยปริยาย
เป็นความเห็นที่ผิดจากหลักศาสนา
พวกเราท่านพากันฝึกหัดสติลูบๆ คลำๆ กันอยู่อย่างไรเล่า
จึงมิรู้ช่องแนวทางพ้นทุกข์เสียที
ด้วยเหตุนี้ ขอให้พากันยึดหลักสติปัฏฐาน ๔
เป็นหลักฝึกสติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
นี่แหละ บรรดาสิ่งสมมุติที่เราไปยึดถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของเรานั้น
ก็จะได้เพียงชีวิตหนึ่งๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา หรือสมบัติต่างๆ
เมื่อเราตายไปแล้ว เราจะยึดถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเราอีกไม่ได้
เราจะเอาสิ่งต่างๆ เหล่านั้นติดตามไปสวรรค์ นรก หรือที่ไหนๆ ก็ไม่ได้
ตรงกับคำว่า “สมบัติของโลก ก็ต้องอยู่ในโลก”
หนังสือ คติธรรมของหลวงปู่คำดี ปภาโส
28  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีข้อเกี่ยวกับการหาทรัพย์ เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2017, 08:21:04 AM
ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นมีข้อเกี่ยวกับการหาทรัพย์

อุฏฐานสัมปทา ขยันหาทรัพย์ อย่ามัวรีรอ
งานสุจริตนั้นมีเกีรติพอ
อย่ารั้งรอ รีบทำกันไวไว

อารักขสัมปทา รู้จักหาอย่างเดียวยังไม่ได้
ต้องรู้จักรักษาไว้
อย่าปล่อยให้ทรัพย์นั้นวอดวาย

กัลยาณมิตตตา การคบหากับมิตรสหาย
คบเพื่อนดีก็จักสบาย
คบเพื่อนร้าย ต้องวุ่นวายตรอมตรม

สมชีวิตา เลี้ยงชีวาให้พอเหมาะพอสม
ไม่มีหนี้ ชีวินก็รื่นรมย์
มีคุณค่าน่านิยม น่าชื่นชมทำตาม
29  ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน / ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา / Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช สวนสันติธรรม ชลบุรี เมื่อ: กรกฎาคม 24, 2017, 09:31:37 AM


“โลกนี้ร้อน

อยู่ ๆ ก็เอาเรือรบมาขู่กันไปขู่กันมา

เอาจรวดมายิงกัน อะไรอย่างนี้ วุ่นวาย

เราทำมาหากิน ก็ไม่รู้ว่า

จะถูกกระทบกระเทือนอะไรเมื่อไหร่

โลกเป็นอย่างนี้แหละ

ถ้าเราไม่มีที่พักทางใจของเราเลย

ชีวิตก็จะมีแต่ความเครียด

ฉะนั้น หาที่พักในใจของเราให้เจอ

ฝึกเอา พุทโธไป หายใจไปก็ได้

แล้วคอยรู้ทันใจ จิตฟุ้งซ่านก็รู้

จิตเป็นอย่างไร ก็คอยรู้ไปเรื่อย

ทำกรรมฐานแล้วก็คอยรู้ทันจิตใจของตัวเองไป

จิตใจจะมีความสุขมากขึ้น ๆ นะ

โลกจะเข้ามาถึงใจเราได้น้อยลงเรื่อย ๆ

ถึงมันเอาจรวดมายิงใส่บ้านเรา

ถึงตัวเราแตกเละเทะไปหมด

แต่ใจเรายังสงบสุข ยังมีความสุขนะ

ปัญหาทั้งหลายกระทบเข้าได้แค่ร่างกาย

แต่กระทบเข้ามาไม่ถึงใจจิตที่ฝึกดีแล้ว

ใจจิตที่ฝึกดีแล้วนำความสุขมาให้

ทุกวันฝึกจิตฝึกใจของเรานะ

พุทโธไป หายใจไป แล้วรู้ทันจิตไปเรื่อย ๆ

ทำได้อย่างนี้ จะรู้สึกว่าโลกห่างออกไปเรื่อย ๆ

ความทุกข์ของโลกเข้ามาถึงใจเราได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ

เข้ามาก็อ่อนแรงแล้ว เพราะมันวิ่งมาไกล กว่าจะมาถึง

ฉะนั้นเราจะทุกข์ไม่มาก ทุกข์ไม่นาน

ทุกข์ไม่บ่อยอย่างที่คนอื่นเขาเป็นกัน

สิ่งเหล่านี้นะ อ้อนวอนขอไม่ได้ ต้องทำเอาเอง

อยากได้ของดีของวิเศษก็ต้องลงมือปฏิบัติเอา ”
.
.

พระธรรมเทศนา
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
วันสงกรานต์ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๐
30  ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน / ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา / Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย พระอาจารย์ ชยสาโร ภิกขุ เมื่อ: มิถุนายน 01, 2017, 06:52:43 AM
การเจริญมรณานุสติมีอานิสงส์มาก
ถ้าเราตระหนักชัดในความไม่แน่นอนของชีวิตนี้แล้ว ไม่มีทางที่เราจะไปทะเลาะกับใคร
หรือจะไปอิจฉาใคร หรือเบียดเบียนใคร
เพราะอะไร เพราะเวลาไม่พอ
วันนี้อาจเป็นวันสุดท้ายของชีวิตเรา หรือเขา
เราควรใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ รักษาใจให้เป็นบุญ
ชีวิตเรามีค่า เพราะมันมีจำกัด
ยิ่งสำนึกถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ยิ่งสำนึกในค่าของมัน
ทำให้เราระมัดระวังในสิ่งที่เราทำ และถ้อยคำที่เราพูดมากขึ้น
เพราะต้องการให้มันเหมาะสม ให้มันสมค่ากับชีวิตของตน
พระอาจารย์ชยสาโร
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 242