แสดงกระทู้
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 15
106  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : ไผ่ (Bamboo) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:23:06 PM
ไผ่ (Bamboo)

ไม้ไผ่นับว่ามีความสำคัญในพุทธศาสนาอยู่มากเพราะเป็นพระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา เรียกว่า ?เวฬุวนาราม? โดยพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ถวาย ต่อมาพระอรหันต์ จำนวน 1,250 รูป ได้มาเฝ้า พระพุทธเจ้าที่พระเจ้าที่พระอารามนี้ เมื่อวันเพ็ญเดือนสาม พระองค์ได้ถือเอาวันนี้เป็นวันประกาศ หลักสามประการของพระพุทธศาสนา เรียกว่า ?โอวาทปาฏิโมก? ชาวพุทธจึงได้ถือว่าวันนี้เป็น วันสำคัญเรียกว่า ?วันมาฆบูชา? สืบเนื่องกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

ไม้ไผ่มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายชนิด กล่าวกันว่าในโลกนี้มีไม้ไผ่ประมาณ 1,250 ชนิด ส่วนหนึ่งไม้ไผ่จะขึ้น
ได้ดีในประเทศที่มีอากาศร้อน ประเทศไทยและอินเดียก็มีลักษณะทางดินฟ้าอากาศใกล้เคียงกัน ดังนั้น จำนวนและชนิดของไม้ไผ่ในประเทศไทยและอินเดียก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก ในประเทศไทย เท่าที่มีผู้สำรวจแล้วปรากฏว่ามีอยู่ด้วยกัน 40 ชนิด ตามทางสัณนิษฐานแล้ว ?เวฬุวนาราม? ควรจะเป็นที่ราบลุ่ม ใช้เป็นทำเลสำหรับสร้างวัด ไม้ไผ่ที่ขึ้นในที่ราบและมีร่มใบพอจะใช้เป็นที่อาศัยได้ ก็มีอยู่ 2 ? 3 ชนิด เช่น ไม้ไผ่ไร่ (Gigntochloa albociliata Munro) ซึ่งเป็นไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ ขึ้นเป็นกอแน่น ไม่มีหนาม เมื่อถางใต้โคนแล้ว ก็ใช้เป็นที่พักผ่อนได้อย่างสบาย ชนิดต่อไปก็อาจเป็นไม้ไผ่ป่าหรือไผ่หนาม (Bambusa arundinacea  willd.) ก็ขึ้นอยู่ในที่ราบเช่นกัน ชอบขึ้นเป็นกอใหญ่ เป็นกลุ่มติดต่อกันไปเป็นบริเวณกว้าง แต่มีข้อเสียอยู่ที่ว่าเป็นไผ่ ที่มีหนามและมีเรียวซึ่งเต็มไปด้วยหนามออกมานอกกอเกะกะไปหมด ไผ่ป่าแต่ละกอล้วนเป็นกอใหญ่ ๆ ถ้าหากจะริดเรียวไผ่ที่โคนออก ก็จะใช้เป็นที่พำนักได้อย่างดี ซ้ำไผ่ป่ายังทำหน้าที่ป้องกันสัตว์อื่น ๆไม่ให้มารบกวน ด้วย ไผ่อีกชนิดหนึ่งซึ่งควรจะสัณนิษฐานว่าเป็นเวฬุวนารามไว้ด้วยก็คือ ไผ่สีสุก (Bambusa flexuosa Munro) ที่คนไทยนิยมปลูกไว้สำหรับใช้ไม้และใช้หน่อสำหรับรับประทาน เป็นไผ่ที่ชอบขึ้นตามที่ราบ มีกอใหญ่และลำยาว สามารถให้ร่มได้ดี แต่การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของไผ่สีสุกไม่ค่อยดี นอกจากจะมีผู้นำไปปลูกไว้ ส่วนไม้ไผ่อื่น ๆ นั้นก็เป็นไผ่ที่ชอบขึ้นบนลาดเขา ซึ่งไม่ใช่ทำเลที่เหมาะสำหรับสร้างวัดวาอาราม ที่นี้จึงไม่ขอกล่าวถึง


107  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : ฝ้าย (Gossypium barbadense L.) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:22:33 PM
ฝ้าย (Gossypium barbadense L.)

ฝ้าย ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่าเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงส่งสาวกซึ่งเป็นพระอรหันต์ชุดแรก จำนวน 60 องค์ ไปโปรดเวไนยสัตว์แล้ว พระองค์ก็เสด็จสู่อุรุเวลาประเทศ ครั้นถึงไร่ฝ้ายจึงหยุดยังรุกขมูลใต้ต้นฝ้ายต้นหนึ่ง

จากข้อความในพุทธประวัติตอนนี้ทำให้เรานึกถึงภาพได้ว่า ต้นฝ้ายสมัยโบราณนั้นใหญ่โตมโหฬารขนาดเข้า ไปพักพิงอาศัยร่มเงาใต้ต้นได้ ปัจจุบันต้นฝ้ายขนาดนี้ดูจะหายากเสียแล้ว ฝ้ายสมัยใหม่นักวิทยาศาสตร์พยายาม ผสมพันธุ์ให้ลำต้นเล็กมีผลดกเพื่อให้เก็บปุยฝ้ายได้ง่าย แต่ทางภาคเหนือของไทย ที่ปลูกฝ้ายไว้ตามสวนหลังบ้าน ต้นฝ้ายก็ยังสูงพอสมควร

ฝ้าย เป็นพันธุ์ไม้สกุล (Genus) Gossypium ในวงศ์ (Family) ชบา (Malvaceae) เป็นไม้ขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม ถิ่นเดิมอยู่ในแถบทวีปอเมริกาใต้ มีการนำไปปลูกในอาฟริกา เอเชีย และที่อื่น ๆ ที่อยู่ในโซนร้อนทั่ว ๆ ไป เพื่อ ใช้ใยมาทำสิ่งทอ


108  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : ตาล (Borassus flabellifer L.) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:21:59 PM
ตาล (Borassus flabellifer L.)

ตาล หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า ?ตาละ? ตามพุทธประวัติกล่าวว่า ในพรรษาที่สองหลังจากที่พระองค์สำเร็จสัมมา สัมโพธิญาณ ได้เสด็จไปประทับ ณ ลัฏฐิวนุทยาน (ลัฏฐตาล) เพื่อโปรดให้พระเจ้าพิมพิสารราชา แห่งแคว้น มคธรวมทั้งบริวารเข้าเฝ้าแล้วพระเจ้าพิมพิสารได้ทูลเชิญเสด็จให้เข้าประทับในเมืองพร้อมกับถวายพระกระยาหาร เสร็จแล้วได้ถวายเวฬุวนารามแด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก ทั้งนี้พระเจ้าพิมพิสารคงจะทรงเห็นว่า ป่าไม้ไผ่นั้นร่มเย็นดีกว่าป่าตาลเป็นแน่

ตาล เป็นพันธุ์ไม้พวกปาล์มขนาดใหญ่ สกุล (Genus) Borassus ในวงศ์ (Family) Palmae เป็นปาล์มที่ ี่แข็งแรงมากชนิดหนึ่ง และเป็นปาล์มที่แยกเพศกันอยู่คนละต้น ต้นสูงถึง 40 เมตร และโตวัดผ่ากลางประมาณ 60 ซม. ลำต้นเป็นเสี้ยนสีดำแข็งมาก    แต่ไส้กลางลำต้นอ่อน บริเวณโคนต้นจะมีรากเป็นกลุ่มใหญ่ ใบเหมือนพัดขนาดใหญ่ กว้าง 1 ? 1.5 เมตร มีก้านเป็นทางยาว 1 ? 2 เมตร ขอบของทางของก้านทั้งสองข้าง มีหนามเหมือนฟันเลื่อยสีดำแข็ง ๆ และคมมาก โคนก้านแยกออกจากกันคล้ายคีมเหล็กโอบหุ้มลำต้นไว้ ช่อดอกเพศผู้ใหญ่ รวมกันเป็นกลุ่มคล้ายนิ้วมือ เราเรียกว่านิ้วตาลแต่ละนิ้วยาวประมาณ 40 ซม. และโตวัดผ่า กลางประมาณ 1.5 ? 2 ซม. โคนกลุ่มช่อจะมีก้าน ช่อรวมและมีกาบแข็ง ๆ หลายกาบหุ้มโคนก้านช่ออีกทีหนึ่ง ช่อดอกเพศเมียก็คล้าย ๆ กัน แต่นิ้วจะเป็นปุ่มปม ปุ่มปมคือดอกที่ติดนิ้วตาล ดอกหนึ่ง ๆ โตวัดผ่ากลางประมาณ 2 ซม. และมีกาบแข็ง ๆ หุ้ม แต่ละดอก กาบนี้จะเติบโตไปเป็นหัวจุกลูกตาลอีกทีหนึ่ง ผลกลมหรือรูปทรงกระบอกสั้น ๆ โตวัดผ่ากลางประมาณ 15 ซม.   ผลเป็นเส้นใยแข็งเป็นมัน มักมีสีเหลืองแกมดำคล้ำเป็นมันหุ้มห่อเนื้อเยื่อสีเหลืองไว้ภายใน ผลหนึ่ง ๆ จะมีเมล็ดใหญ่แข็ง 1 ? 3 เมล็ด     

ตาล มีประโยชน์ต่อมนุษย์แทบทุกส่วนนับตั้งแต่ใบ ใบอ่อน ใช้ในการจักสานทำของใช ้และของเล่นสำหรับเด็ก ใบแก่ใช้ทำหลังคากันแดดฝน ท้องใบสดของทางก้านใบ ลอกเอามาขวั้นทำเชือกที่เหนียวดีมาก ส่วนที่เหลือ ใช้ทำเชื้อเพลิง ตาลทั้งเพศผู้เพศเมียที่ยังไม่แก่เต็มที่ จะให้น้ำตาลที่เราเอาไปทำน้ำตาลก้อนหรือน้ำตาลปีบ ลูกตาล ถ้าเป็นลูกอ่อน เราจะเอาส่วนที่ติดขั้วจุกและใจกลางของลูกไปใช้เป็นอาหาร ใช ้แทนผัก ลูกใช้ทำขนมที่เรียกว่า ลูกตาลลอยแก้ว พอผลแก่ เนื้อเยื่อสีเหลืองที่หุ้มเมล็ด ใช้ทำเป็นขนมที่เราเรียกว่า ขนมตาล เมล็ดทิ้งไว้จนมีรากงอก ทิ้งไว้พอควรจะมีเนื้อเยื่อข้างใน เรานำมาเชื่อมทำขนมเราเรียกว่าลูกตาลเชื่อม เปลือกที่หุ้มใช้ทำเชื้อไฟ ซึ่งให้ความ ร้อนสูงมาก ลำต้นใช้ทำกระดาน ทำเสาที่ทนแดดทนฝน และการเสียดสีได้ดีมาก ใช้ทำเครื่องใช้ และเครื่องตกแต่ง บ้านที่มีราคาสูงมาก ใช้ทำเรือขุด ที่เรียกว่า เรืออีโปง ใช้ทำท่อระบายน้ำในพื้นที่ทางเกษตร นับว่าทุกส่วนของตาล ให้ประโยชน์แก่มนุษย์เกินค่าทีเดียว

ตาล เป็นพืชดั้งเดิมของทวีปอาฟริกา และขยายแพร่พันธุ์ไปเรื่อย ๆ จนมีทั่วไปในเอเชียเขตร้อนรวมทั้งประเทศไทย   ด้วยชอบขึ้นในที่มีน้ำท่วมถึง   การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะจะปลูกที่ใดก็เอาเมล็ดไปวางไว้ที่นั้นเลย เพราะถ้าย้ายไปปลูกมักจะไม่รอด เพราะรากแรกที่แทงลงดินของต้นตาลนั้นลึกมาก ถ้ารากนั้นขาดก็จะตายทันที ในภาคกลาง นอกจากเราจะทราบว่ามีต้นตาลตัวผู้ต้นตาลตัวเมียแล้ว ในต้นตาลตัวเมียเรายังมีข้อสังเกตุข้อ แตกต่างได้อีกและเราให้ชื่อว่า ตาลไข่บ้าง ตาลหม้อบ้าง ซึ่งทั้งสองชนิดจะเห็นข้อแตกต่างชัดเจนเมื่อเป็นผล ตาลไข่นั้นลูกเล็ก สีเหลืองตลอดผิวผล และมีประเป็นจุด ๆ สีดำทั่วไป เนื้อเยื่อจะมีความชื้นมาก ให้แป้งน้อย ส่วนตาลหม้อลูกใหญ่บางทียาวถึง 30 ซม. และโตวัดผ่ากลางถึง 23 ซม. ผิวผลดำสนิทมีสีเหลืองเล็กน้อย บริเวณก้นผลเท่านั้น เยื่อมีความชื้นน้อยและให้แป้งมาก นอกจากนี้ตาลยังมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไปตามท้องที่เช่น ตะนอด ตาลโตนด ตาลใหญ่ ตาล ทอถู ทะเนา ห้าง และโหนด เป็นต้น



109  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : ต้นปาริฉัตร (Erythrina variegata L.) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:21:21 PM
ต้นปาริฉัตร (Erythrina variegata L.)

ปาริฉัตร หรือทองหลางลาย หรือชาวอินดูเรียกว่า ?มังการา? นี้ ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า พระองค์ได้เสด็จ เหาะไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก แล้วไปนำเอาปาริฉัตรพฤกษชาติกลับมา กับอีกตอนหนึ่งจะเป็นตอนที่พระพุทธ เจ้าชนะมาร หรือตอนปรินิพพานไม่แน่นอน ที่เทวดาทั้งหลายได้ถวายดอกปาริฉัตรเป็นพุทธบูชา กล่าวว่าดอก ปาริฉัตรจะหล่นมาจากฟากฟ้าเกลื่อนพื้นไปหมด

ปาริฉัตรหรือที่เพี้ยนมาเป็นปาริชาติและไทยเรารู้จักในชื่อทองหลางลายหรือทองหลางด่างนี้ เป็นพันธุ์ไม้สกุล (Genus) Erythrina ในวงศ์ถั่ว (Leguminosae - Papilionoiceae)   เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ ตามกิ่งหรือต้นอ่อนมีหนามแข็ง ๆแต่หนาม นี้จะค่อย ๆ หลุดไป เมื่อต้นหรือกิ่งมีอายุมากขึ้น เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง ใบเป็นช่อ ช่อหนึ่งๆ มีใบย่อย3ใบ ใบกลาง จะโตกว่าอีกสองใบด้านข้างดอกสีแดงเข้มออกรวมกัน เป็นช่อยาวประมาณ 30 ? 40 ซม.ฝักยาว15 ?  30 ซม. พบทั่วไปในย่านเอเชียเขตร้อนและอบอุ่นขยายพันธุ์ง่ายจะใช้เมล็ดเพาะหรือตัดกิ่งไปปลูกเลยก็ได้นิยม ปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนกันมาก ชื่อพื้นเมืองของไทยยังเรียกในชื่ออื่น ๆ อีก เช่น ทองบ้าน ทองเผือก เป็นต้น


110  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : ประดู่ลาย ประดู่แข เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:20:50 PM
ประดู่ลาย ประดู่แขก  ( Dalbergia sissoo Roxb.)

ประดู่ลาย ประดู่แขก หรือชาวอินเดีย เรียก ?ลิสโซ? และที่ชาวฮินดูเรียกว่า ?สิสสู? นี้ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้ากลับจากเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโทธนะ พระราชบิดาแล้วก็เสด็จพาพระอานนท์ พระราหุล พร้อมทั้งพระสงฆ์บริวารสู่กรุงราชคฤห์ ประทับยังสีสปาวัน หรือป่าประดู่แขก หรือประดู่ลาย

ประดู่ลายหรือประดู่แขก เป็นพันธุ์ไม้อยู่ในกลุ่มพวกไม้พยุง ชิงชันของไทย คือสกุล (Genus) ชิงชัน (Dalbergia) อยู่ในวงศ์ (Family) ไม้ถั่ว (Leguminosae - Papilionoiceae) เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทา แก่นสีน้ำตาล และมีริ้วสีดำแซม เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง ใบออกเป็นช่อหนึ่ง ๆ มีใบย่อย 3 ? 5 ใบ ใบย่อยรูปมน ? ป้อม หรือมนแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม ใบอ่อน มีขนนุ่ม แต่พอแก่ขนจะหลุดร่วงไป ดอก สีเหลืองอ่อน ๆ ปนขาวออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ เกสรผู้มี 9 อัน รังไข่รูปยาว รี ๆ และจะยาวกว่าหลอดท่อรังไข่ ฝัก รูปบันทัดแคบ ๆ ปลายฝักแหลม แต่ละฝักมีเมล็ด 1 ? 3 เมล็ด

ประดู่ลายหรือประดู่แขกนี้เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของอินเดียและกลุ่มประเทศแถบหิมาลัยนิยมปลูกกันแพร่หลายทั่วไป ในประเทศ ไทยเท่าที่ทราบได้มีการนำเข้ามาปลูกไว้ที่บริเวณที่ทำการป่าไม้เขตลำปาง จังหวัดลำปาง ที่สวนรุกขาติมวกเหล็ก ทั้งสองแห่ง ทราบว่าสามารถให้เมล็ดพันธุ์สำหรับที่จะนำไปเพาะขยายได้แล้ว สำหรับที่สวนพฤกษศาสตร์พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ทราบว่าได้เตรียมกล้าไม้ประดู่ไว้ปลูก บริเวณองค์พระในพุทธมณฑลเช่นกัน

เกี่ยวกับไม้ประดู่นี้ไทยเรารู้จักกันแพร่หลายกันในชื่อประดู่ป่าที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Pterocarpus macrocarpus  Kurz กับประดู่บ้าน ประดู่อินเดีย หรือประดู่ลังสนา ที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Pterocarpus indicus  Willd. ซึ่งอยู่คนละสกุลกับ ประดู่ลายหรือประดู่แขก บางท่านให้ความเห็นว่าพระพุทธเจ้าน่าจะเสด็จ ประทับในป่าประดู่บ้านหรือประดู่อินเดียมาก กว่าเพราะมีร่มเงาดีและชื่อก็บอกว่า India อยู่แล้วแต่ปรากฏ ว่าประดู่บ้านหรือประดู่อินเดียหรืออังสนานี้ กลับเป็นไม้พื้นเดิมของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ชาวมาเลเซียเรียกว่า ไม้สะโน แต่อินเดียไม่ปรากฏว่ามีชื่อพื้นเมืองเรียกไม้ชนิดนี้ สำหรับประดู่ป่านั้นก็เป็นไม้ถิ่นเดิมของพม่า และแถบ ภาคตะวันออกของพม่าไปตลอดคาบสมุทรอินโดจีน ชาวพม่าเรียกว่าประดู่ (Padauk) และก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อ พื้นเมืองของอินเดียเรียกเช่นกัน ฉะนั้น เมื่อสังเกตจากชื่อพื้นเมืองประดู่ลายหรือประดู่แขก ที่ชาวอินเดียเรียกแล้ว จึงน่าสัณนิษฐานว่าพระพุทธเจ้าและบริวารน่าจะเข้าพักในป่าประดู่ลายมากกว่า



111  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : กุ่มบก (Crateva adansonii DC.ssp. trifoliata (Roxb.) Jacob เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:20:13 PM
กุ่มบก (Crateva adansonii DC.ssp. trifoliata (Roxb.) Jacobs )

กุ่มบก หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า ?มารินา? นี้ ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า   พระพุทธเจ้านำผ้าบังสกุลซึ่งห่อศพ นางมณพาสี ในอามกสุสาน (ป่าช้าผีดิบ) ไปทรงซัก เมื่อซักเสร็จแล้วก็มาที่ที่ผ้าบังสกุลดังกล่าว พฤกษเทวา ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ต้นกุ่มบก ได้น้อมกิ่งต้นกุ่มให้ต่ำลง เพื่อให้เป็นที่ตากจีวร

กุ่มบก เป็นพันธุ์ไม้สกุล (Genus) ไม้กุ่ม (Crateva) ในวงศ์ไม้แจง (Capparidaecae) เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ เปลือกสีเทา เรียบ มีรูระบายอากาศสีขาวทั่วไป กิ่งอ่อนเกลี้ยง เนื้อไม้สีขาวปนเหลือง เนื้อละเอียด ใบมี 3 แฉก ปลาย แฉกทู่ ๆ หรือมน ก้านใบยาว 5 ? 10 ซม. แต่ละแฉก รูปไข่เกมรูปหอก และพื้นใบจะย้อยยื่นมากไปแถบหนึ่ง จากเส้น กลางใบ ดอกสีขาวหรือขาวปนเหลือง เวลาบานเต็มที่กว้างประมาณ 5 ซม. กลีบมี 4 กลีบ บอบบางและ หลุดง่าย เกสรมีมากติดเป็นกระจุก อยู่ตรงกลาง ผล รูปไข่ แข็ง โตวัดผ่ากลางประมาณ 5 ซม. ใบอ่อน ใช้รับ ประทานได้ โดยนำมาดองแล้วใช้รับประทานแทนผัก

กุ่มบก เป็นไม้ดั้งเดิมของประเทศในย่านเอเชียและอาฟริกาทั่วไปทั้งในเขตร้อน และอบอุ่น ชอบขึ้นใกล้ ๆ หรือชาย ห้วยหนอง คลองบึง แต่ชอบแสงมาก ปกติไม่ค่อยมีผู้นิยมปลูกกันมากนัก การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะหรือใช้ไหล ที่แตกขึ้นจากรากของต้นใหญ่ก็ได้ในประเทศไทยนอกจากกุ่มบกแล้วกุ่มที่พบกันบ่อย ๆ อีกชนิดหนึ่งคือ กุ่มน้ำ ซึ่งมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า  Crateva religiosa  Forst.f.    ซึ่งจะพบตามชายแม่น้ำลำคลองทั่วไป แตกต่างไปจากกุ่มบก ตรงที่ปลายใบของกุ่มน้ำนั้นเรียว แหลมใบสอบแคบ ๆ

โดยตามปกติกุ่มบกเป็นไม้เตี้ย ๆ กิ่งออกต่ำมากและกิ่งมักจะทอดนอนขนานกับพื้นแบบราวตากผ้า จึงเหมาะ แก่การที่จะแขวนของไว้ในระหว่างพักการเดินทางในป่าเป็นอย่างดี   และเปลือกก็เรียบค่อนข้างออกสีขาว ดูสะอาดตา กับเป็นพันธุ์ไม้ทีชอบแสงแดดมาก ฉะนั้น บริเวณนั้นก็ควรจะเป็นที่โปร่ง มีแดดพอเพียงสำหรับช่วย   ทำให้แห้งได้รวดเร็วอย่างดี

112  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : สะเดาอินเดีย (Azadirachta indica A. Juss.) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:19:42 PM
สะเดาอินเดีย (Azadirachta indica A. Juss.)

สะเดาอินเดีย หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า ?นิมะ? นั้น ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า ในพรรษาที่ 11 พระพุทธเจ้า ได้จำพรรษาภายใต้จิมมันทพฤกษ์ คือไม้สะเดา อันเป็นมุขพิมานของเพรุยักษ์ ใกล้นครเวรัญชา
สะเดาอินเดีย เป็นพันธุ์ไม้สกุล (Genus) Azadirachta ในวงศ์ไม้สะเดา (Meliaceae) เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ และจะออกช่อดอกพร้อมใบอ่อนในเวลาเดียวกัน ลำต้น เปลา ตรง สีเทา แตกเป็นร่องไปตามยาวลำต้น แก่นแข็งสีแดง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบออกเป็นช่อ ช่อหนึ่ง ๆ มีใบย่อย 7 ? 9 คู่ ใบย่อยมักติดเยื้องกันเล็กน้อย ขอบใบหยัก ใบยอดมักม้วนลง ดอกสีขาว ออกเป็นช่อ ตามปลายกิ่งหรือเหนือรอยแผลใบ โคนเกสรเพศผู้มี 10 อัน โคนจะติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ผลกลมรี ๆ ยาวประมาณ 1.5 ? 2 ซม. ผิวบาง ภายในมีเนื้อเยื่อฉ่ำน้ำ ผลแก่สีเหลือง

สะเดาของไทยใบจะโตกว่าสะเดาอินเดียเล็กน้อย ถือเป็นสายพันธุ์หนึ่งของสะเดาอินเดีย มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า ว่า Azadirachta indica  A. Juss. Var. siamensis Valeton   และมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไปตามท้องที่ เช่น กะเดา จะด้ง และสะเลียม เป็นต้น ทั้งสะเดาอินเดีย และสะเดาไทย ต่างก็ชอบขึ้นตามที่ค่อนข้างแห้งแล้งและเป็นพันธุ์ไม้เบิกนำได้ดีนอกจากจะปลูกเพื่อหวังใช้ประโยชน์จาก เนื้อไม้แล้ว ยังใช้ยอดและดอกอ่อนใช้เป็นอาหาร ราก และเปลือกยังใช้เป็นยาสมุนไพรได้ ทางคติอินเดียถือว่า ผู้ใดนอนใต้ต้นสะเดาแล้วโรคภัยไข้เจ็บจะหายไป เพราะสะเดาเวลาคายน้ำออกจะมีสารระเหยบางชนิด เที่เข้าใจว่ามีคุณสมบัติทางยาใช้รักษาโรค ถึงกับมีเรื่องเล่ากันว่า ภรรยาชาวอินเดียที่ไม่ยอมให้สามีออกไป ต่างบ้าน พยายามสั่งสามีว่า เมื่อจะไปให้ได้ก็ไม่ว่า แต่ในระหว่างเดินไปจะพักนอนที่ไหน ขอให้นอนใต้ต้นมะขาม เมื่อนึกจะกลับบ้านก็ขอให้นอนใต้ต้นสะเดา สามีก็เชื่อฟังภรรยาเมื่ออกจากบ้านก็นอนใต้ต้นมะขามเรื่อยไป ต้นมะขามกล่าวกันว่าเป็นต้นไม้ที่ทำให้เกิด ความเจ็บไข้ เมื่อนอนใต้โคนอยู่เรื่อยก็เกิดอาการไม่สบาย ไม่สามารถจะเดินทางต่อไปได้จึงคิดเดินทางกลับบ้าน เมื่อนึกถึงคำภรรยาสั่งไว้ว่าขากลับให้นอนใต้ต้นสะเดา จึงนอนใต้ต้นสะเดาเรื่อยมา ฤทธิ์ทางยาของไม้สะเดา ก็รักษาอาการไข้ของชายคนนั้นให้หายไปทีละน้อย ๆ และหายเด็ดขาดเมื่อกลับมาถึงบ้านพอดีนับว่า หญิงอินเดียมีกุโศลบายดีมาก 

การที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาใต้ต้นสะเดาจะเกี่ยวข้องกับคติดังกล่าวหรือไม่คงไม่มีใครทราบ
แต่คตินี้ก็น่าจะให้ข้อคิดบางอย่างเพราะแพทย์แผนปัจจุบันพยายามสกัดสารพวกอัลคอลอยด์บางอย่างไป ใช้ผสมยา เช่น ทำยาธาตุ ยาแก้ท้องเสีย ฯลฯ ฉะนั้น เวลากลางคืนสะเดาจะคายน้ำรวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ ์ออกมาย่อมจะมีสารระเหยพวกนี้ออกมาด้วย เมื่อสูดเข้าไปเรื่อย ๆ ก็อาจเป็นการบริโภคได้ทางหนึ่ง มะขามมักจะอยู่ตามโคกและตามโคกมักจะมีสัตว์พวกงูพิษซุ่ม คนนอนก็จะต้องคอยระมัดระวัง จะไม่เป็นอันหลับอันนอน ก็ย่อมจะเพลียไม่มีแรงเดินทางต่อ และพาลจะเจ็บป่วยไปด้วย แต่สะเดาชอบขึ้นตาม ที่ราบโล่งบรรดาสัตว์ร้าย เช่น งูไม่ชอบอาศัย คนนอนก็นอนสบายทำให้มีกำลังแข็งแรง คนเราถ้านอนได้เต็มที่ก็สามารถสร้างภูมิต่อสู้กับโรคภัยได้เช่นกันก็เป็นได้
 

113  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : ส้ม (Citrus sp.) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:18:58 PM
ส้ม (Citrus sp.)

ส้ม ตามพระพุทธประวัติก็กล่าวไว้เช่นเดียวกับมะม่วง คือ ในคราวที่พระองค์เสด็จไปเก็บมะม่วงนั้น   ก็ได้ทรงเก็บ ผลส้มมาด้วย แต่ปัญหาว่าเก็บส้มอะไรนั้น รู้สึกจะยุ่งยาก ได้พยายามตรวจสอบว่าส้มป่าของอินเดียมีอะไรบ้าง ก็พอจะมีหลักฐานยืนยันได้ว่า ส้มป่าของอินเดียเท่าที่ทราบมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ ส้มหรือที่ชาวพื้นเมือง เรียกว่า ?นาเรงกี? ซึ่งมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Citrus aurantium L. ชนิดหนึ่งกับอีกชนิดหนึ่ง คือ ส้มมะงั่วหรือ มะนาวควายที่ชาวพื้นเมืองเขาเรียกว่า ?นิมบู? มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Citrus medica L. ทั้งสองชนิดก็มีการ กระจายพันธุ์อยู่ทั่ว ๆ ไปในอินเดียไม่ใช่ไม้พื้นเดิมของไทย แต่ได้มีการนำเข้าปลูกในประเทศไทยในภายหลัง   โดย เฉพาะมะงั่วหรือมะนาวควาย จะปลูกแพร่หลายมาก ถ้าจะวิเคราะห์อีกที พระพุทธเจ้าน่าจะทรงเก็บมะงั่วมากกว่า เพราะมีดอกผลตลอดปี ส่วนอีกชนิดหนึ่งออกปีละครั้งเท่านั้นและอีกประการหนึ่งนิยายแต่เก่าก่อน ก็มีการกล่าวถึง ผลมะงั่วอยู่บ้างเช่นกัน แสดงว่าแพร่หลาย เป็นที่รู้จักกันดีมากกว่า

ส้ม เป็นพันธุ์ไม้ในกลุ่มพวกส้มมะนาว ส้มเขียวหวาน ส้มโอ คือสกุล Citrus และอยู่ในวงศ์ส้มคือ Rutaceaeวงศ์ ์นี้ถ้าเด็ดใบมาขยี้ดมดูจะมีกลิ่นส้มออก หรือถ้าเอาใบส่องดู จะมีรูขาว ๆ เป็นต่อมน้ำมัน อยู่ทั่วผิวใบ   ส้มเป็นไม้ต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลำต้นและกิ่งมีหนามทั่วไป ใบค่อนข้างหนาเนียน ออกสีขาว กลิ่นหอมอ่อน ๆ ออกเป็น กระจุกตามกิ่งเล็ก ๆ ผล ส่วนมากกลม ผลแก่สีเหลือง ที่ใช้รับประทานได้ รสเปรี้ยวบ้างหวานบ้าง

ส้มขยายพันธุ์ได้โดยใช้เมล็ดเพาะหรือตอนกิ่ง ชอบที่ดินค่อนข้างชุ่มชื้น การระบายน้ำดีต้องการแสงมาก



114  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : หว้า (Syzygium cumini (L.) Skeels) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:18:28 PM
หว้า (Syzygium  cumini (L.) Skeels)

ต้นหว้า หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า ?จามาน? หรือ ?จามูน? ในพระพุทธประวัติกล่าวไว้สองตอนด้วยกันคือ ตอนแรก เมื่อพระเจ้าสุทโทธนะ สมเด็จพระราชบิดา เสด็จไปทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญได้นำพระสิทธัตถะกุมาร (พระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา) ไปดูด้วยและให้ประทับอยู่ใต้ต้นหว้าใหญ่ บรรดาพระพี่เลี้ยงนางนมต่างก็ไป ดูพิธีแรกนาขวัญกันหมด พระกุมารจึงลุกนั่งสมาธิกรรมฐาน ก็เป็นเหตุที่น่าอัศจรรย์ว่าแม้ตะวันจะบ่ายก็เป็น เหตุที่น่าอัศจรรย์ว่าแม้ตะวันจะบ่ายคล้อยไปแล้ว   ร่มเงาของไม้หว้านั้นก็ยังไม่ขยับเปลี่ยนทิศทางคงปิดบังให้    ความ ร่มเย็นแก่พระองค์ โดยปรากฏเป็นปริมณฑลตรงอยู่ประดุจเงาของตะวันตอนเที่ยงตรงและอีกตอนหนึ่ง กล่าวว่าตอนที่พระพุทธเจ้าไปอาศัยกัสสปชฏิล พระฤษีได้ทูลนิมนต์ภัตตภิจ พระองค์ตรัสให้ไปก่อนแล้วเสด็จ เหาะไปนำผลหว้าใหญ่ประจำทวีปในป่าหิมพานต์ และไปสู่ที่โรงเพลิงก่อนที่กัสสปชฏิลจะไปถึง

หว้า เป็นพันธุ์ไม้พวก ชมพู่ คือสกุล (Genus) ชมพู่ (Syzygium) ในวงศ์ (Family) ไม้หว้า (Myrtaceae)เป็นไม้ต้นขนาด ใหญ่ ลำต้นค่อนข้างเปลา ตรง เปลือกค่อนข้างเรียบสีเทาอ่อนกิ่งก้านมาก แข็งแรง ปลายกิ่งห้อยย้อยลง ใบดกหนา ทำให้เกิดเป็นพุ่มทรงรูปไข่ แน่นทึบ ใบอ่อนจะแตกสีแดงเรื่อ ๆ ใบแก่หนา ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน รูปใบมนหรือ แกมรูปหอก เกลี้ยง เป็นมัน เส้นแขนงใบละเอียดอ่อนและเรียงขนานกัน ดอกสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ ตามกิ่ง ย่อม ๆ เหนือรอยแผลใบ ผล กลม รี ๆ มีเนื้อเยื่อหุ้ม ผลอ่อนสีเขียว พอเริ่มแก่ออกสีชมพู แต่พอแก่จัดออกสีดำ ใช้รับ ประทานได้ มีรสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ แม่ค้าที่ขายลูกหว้าเขาจะพรมน้ำเกลือเล็กน้อย เพื่อเพิ่มรสชาดให้น่ารับประทาน   ยิ่งขึ้น ผล ยาว 1 ? 2.5 ซม. และโตประมาณ 1 ซม.

หว้า เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของแถบเอเชีย สามารถขึ้นได้ตั้งแต่ป่าดิบใกล้ทะเลขึ้นไปถึงเขาสูงไม่น้อยกว่า 800 เมตร ขึ้นได้ดีในที่ค่อนข้างชื้น ดินอุดมสมบูรณ์ด้วยปุ๋ยธรรมชาติ การขยายพันธุ์ส่วนใหญ่ใช้เมล็ดเพาะ และสัตว์พวกนก และค้างคาว สามารถช่วยในการแพร่พันธุ์ได้อย่างดี โดยนำเมล็ดที่กินเข้าไปถ่ายในที่อื่น ๆ นอกจากนี้ยังใช้ การตอนหรือทาบกิ่งก็ได้ ผลของหว้าจะมีขนาดเล็ก ใหญ่ ไม่แน่นอน แต่มีรายงานจากของอินเดียว่า หว้ามีผลยาว ถึง 3 ซม. พระที่วัดบวรฯ เคยบอกว่า มีหว้าต้นหนึ่งทางด้านคลองที่คั่นโบสถ์ มีผลใหญ่มาก และบอกว่ามีคนนำมา จากประเทศอินเดีย ถ้าเป็นจริงก็เข้าใจว่าคงเป็นหว้าที่มีชื่อเดิมทางพฤกษศาสตร์ว่า Eugenia jambolana Lam. แต่ในภายหลังชื่อนี้กลายเป็นชื่อพ้อง Syzygium  cumini (L.) Skeels ไปเสียแล้ว


115  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : มะม่วง (Mangifera indica L.) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:17:50 PM
มะม่วง (Mangifera   indica  L.)

มะม่วงหรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า ?อะมะ? หรือ ?อะมะริ? นี้ ตามพระพุทธประวัติ กล่าวว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จไป ประทับอยู่ในสวนอัมพวารามของหมดชีวกโกมาลพัตร ซึ่งเป็นป่ามะม่วง มีต้นมะม่วงขึ้นมากมาย  และอีก ตอนหนึ่งในขณะที่พระพุทธเจ้าได้ไปพำนักอยู่กับกัสสปฎิลดาบส พระฤษีตนนั้นก็กราบทูลนิมันต์ภัตกิจ พระองค์ก็ตรัสให้พระฤษีไปก่อน ส่วนพระองค์ได้เสด็จเหาะไปเก็บผลมะม่วง หว้า ฯลฯ แล้วเสด็จไปสู่ดาดึงษ์เทวโลก นำเอาปาริฉัตรพฤกษชาติกลับมา พระองค์ยังเสด็จมาถึงก่อนฤษีตนนั้นเสียอีก

มะม่วง เป็นพันธุ์ไม้สกุล Mangiferaในวงศ์ไม้มะม่วง ( ANACARDIACEAE) นับว่าเป็นวงศ์ที่ประกอบด้วย ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจมากวงศ์หนึ่ง เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10 - 40 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทาหรือสีน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ ถ้าสับเปลือกจะมียางใส ๆ ซึมออกมา ยางนี้เมื่อถูกอากาศนาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีดำ และยางนี้เป็นอันตรายต่อผิวหนังของคนด้วย เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบรูปขอบขนานแกมรูปหอก เนื้อใบหนาเขียวเป็นมัน ดอกเล็กสีเขียวอ่อน ๆ หรือเหลืองอ่อน ๆ รวมกันเป็นช่อใหญ่ ตามปลายกิ่งช่อจะตั้งขึ้น และมีขนประปราย ผลกลมหรือรูปรี ๆ หรือรูปหัวใจ มีเนื้อเยื่อมาก ผลสุกจะเละและผิวมีสีเหลือง ใช้รับประทานได้ มีรสหวาน ผลดิบก็ใช้รับประทานเช่นกันแต่มีรสเปรี้ยว นอกจากจะใช้ผลรับประทานแล้วใบอ่อนยังใช้รับประทาน ได้เช่นกัน เนื้อไม้มีลายสวยเหมาะแก่การทำเครื่องตกแต่งบ้าน ทำพื้น และเครื่องแกะสลักมาก

มะม่วง เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมในแถบเอเชียเขตร้อนทั่วไป ต่อมาได้มีการผสมพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์ให้มะม่วงมีรสชาด ต่างๆ กันออกไป อีกมากมายหลายชนิด ดังจะเห็นได้ง่าย ๆ จากในประเทศเรา แต่ต้นพันธุ์ก็มาจากมะม่วงป่าทั้งนั้น การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดหรือจะติดตา ทาบกิ่ง หรือตอนก็ได้ สะดวกและได้ผลทุกวิธี แต่การใช้เมล็ดพันธุ์มักกลายไปได้

จากพระพุทธประวัติเห็นว่าพระพุทธเจ้าถ้าไม่อาจเหาะเหิรได้แล้วพระองค์ท่านจะต้องเป็นพหูสูตรในการ ้ยังชีพในป่าเป็นอย่างยิ่ง สามารถทรงทราบได้ว่าที่ไหนมีผลไม้อะไรที่ใช้รับประทานได้และรู้จักทางลัด ในการเดินทางได้ดีมาก


116  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : สีเสียด (Acacia catechu Willd.) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:17:15 PM
สีเสียด (Acacia catechu Willd.)

สีเสียด หรือที่ชาวฮินดูเรียก ?แคร? หรือที่ทางการค้าเรียกว่า Catechu tree นี้ ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระองค์สำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญานได้ 8 พรรษา ก็ได้เสด็จไปประทับภูสกภวันคือป่าไม้สีเสียด ใกล้สูงสุมารคีรีในภัคคฎฐี

สีเสียด เป็นพันธุ์ไม้พวกเดียวกันกับชะอม กระถินพิมาน และกระถินณรงค์ คือ สกุล (Genus) Cassia ในวงศ์พวกไม้แดง (Leguminosae - Mimosaceae) เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ลำต้นเปลาตรงเปลือกสีเทาคล้ำ แตกเป็นสะเก็ดบางห้อยย้อยลง ตามกิ่งก้านมีหนามแหลมโค้ง ๆ เป็นคู่ ๆ อยู่ทั่วไป ซึ่งก่อความยากลำบาก แก่คนหรือสัตว์ที่จะผ่านเข้าไปได้ แต่ถ้าต้นสูงใหญ่แล้ว กิ่งจะไปอยู่บริเวณเรือนยอดหมดและโคนต้นมักเตียน เพราะหญ้าหรือวัชพืชต่าง ๆ ไม่ชอบขึ้นใต้โคนต้นสีเสียด ใบเป็นช่อแบบสองชั้น มีก้านช่อร่วมก้านช่อร่วม ก้านหนึ่งจะมีช่อย่อย 10 ? 20 คู่ ใบย่อยละเอียดเรียงกันอยู่แน่นประมาณก้านละ 30 ? 50 คู่ ดอก ออกเป็นช่อแบบก้านธูป ยาว 5 - 10 ซม. เต็มไปด้วยกระจุกดอกเล็ก ๆ สีเหลือง กลิ่นหอมอ่อน ๆ ฝัก แคบ บาง ออกสีน้ำตาลเมื่อแก่จัด และจะแตกออกเมื่อฝักแห้ง เป็นพันธุ์ไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งและทนไฟได้ดี ขึ้นทั่วไปจากอินเดียผ่านมาทางแถบตะวันออกของเอเชีย การขยายพันธุ์ใช้เมล็ด ขึ้นได้ดีในที่แห้งแล้ง และตามเขาหิน นอกจากใช้ไม้สำหรับสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ แล้ว ยังใช้แก่นไปเคี่ยวเอายางไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้หลายอย่าง ใช้น้ำฝาดมาฟอกหนังได้อย่างดี ชื่อพื้นเมืองของไทยเรียกต่าง ๆ กัน เช่น สะเจ สีเสียดแก่น สีเสียดเหนือ เป็นต้น นอกจากนี้ไทยเรายังเรียกไม้อีกชนิดหนึ่งว่า สีเสียด เช่นกัน แต่เรียกชื่อเต็ม ๆ ว่า สีเสียดเปลือก ซึ่งมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Pentace burmanica Kurz ชาวบ้านใช้เปลือกไม้ชนิดนี้มาเคี้ยวแทนหมาก และไม้ชนิดนี้ก็มีทั่ว ๆ ไปในภูมิภาคเอเชียเช่นกัน แต่โดยสภาพแล้ว  ต้นสีเสียดเปลือกมีเรือนยอด ที่ไม่กว้างขวางและร่มรื่นพอที่จะใช้เป็นที่พักพิงได้ จึงน่าตัดปัญหานี้ออกไปได้

อาจจะมีผู้สงสัยว่าทำไมเล่า สีเสียดเต็มไปด้วยหนามที่จะทำอันตรายต่อผู้ที่ผ่านเข้าไปแต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ในป่าธรรมชาติของสีเสียดนั้น จะขึ้นเป็นกลุ่ม และแต่ละต้นต่างก็ต้องแก่งแย่งกัน จึงพยายามเจริญทางสูงแข่งกัน และกิ่งตามลำต้นจะหลุดไปโดยเร็ว คงเหลือแต่พุ่มยอดที่สูงขึ้นไปเท่านั้นทำให้บริเวณข้างล่างเตียน ปราศจากกิ่งหนาม และปกติสีเสียดมีใบเป็นฝอยแน่น ย่อมบดบังแสงและรับเอาน้ำค้างไว้แทบหมด ไม่ค่อยเหลือลอดให้พืชอื่น ๆ ที่ขึ้นอยู่ที่โคนต้น ทำให้พืชอื่น ๆ ค่อย ๆ หดหายไป โคนต้นสีเสียดจึงมักโล่งเตียน ดังเช่นต้นสนทะเลหรือโคนต้นมะขามเช่นกัน จึงเป็นบริเวณที่น่าจะพำนักอาศัยได้อย่างดี


117  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : มะขามป้อม (Phyllanthus emblica L.) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:16:39 PM
มะขามป้อม (Phyllanthus emblica L.)

มะขามป้อม หรือที่ชาวฮินดูเรียกว่า ?อะมะลา? หรือ อะมะลิกา? นี้ ตามพระพุทธประวัติก็กล่าวไว้เช่นเดียวกับมะม่วง คือ ในคราวที่พระองค์เสด็จไปเก็บมะม่วงนั้น ก็ได้ทรงเก็บมะขามป้อมมาด้วย

มะขามป้อม เป็นพันธุ์ไม้อยู่ในกลุ่มพวกมะยม และผักหวาน คือสกุล (Genus) Phyllanthus และอยู่ในวงศ์ (Family) เดียวกับไม้ยางพารา คือ วงศ์ Euphorbiaceae เป็นไม้ต้นขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ผลัดใบ แต่จะผลิใบใหม่ไว เปลือกสีเขียวอ่อนปนเทา กิ่งจะห้อยย้อยลง เรือนพุ่มรูปร่มกาง ใบเป็นช่อ เป็นฝอยคล้ายขนนกออกสีเขียวอ่อน ๆ ช่อใบแต่ละช่อยาว 7 ? 10 ซม. ดอกเล็กสีเขียวอ่อนปนเหลือง ออกติดอยู่ตามกิ่งเล็ก ๆ ดอกเพศผู้และเมียอยู่ต่าง ดอกกัน แต่อยู่ในกิ่งเดียวกัน ผลกลมมีรอยเป็นแนวตามผิวผลตามยาว 6 แนว ผลแก่สีเหลืองอ่อนใส ๆ โตวัดเส้นผ่า ศูนย์กลางประมาณ 1.5 ? 2 ซม. รับประทานได้ รสเปรี้ยว ๆ ฝาด ๆ แก้กระหายน้ำได้ดี และใช้เป็นยาสมุนไพร

มะขามป้อมเป็นพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไปในย่านเอเชียเขตร้อน การแพร่พันธุ์ใช้เมล็ด พวกสัตว์ต่าง ๆ เช่น เก้ง กวาง ชอบกิน และเป็นตัวช่วยในการแพร่พันธุ์ได้อย่างดี ประชาชนนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และใช้ผลรับประทาน ชอบดินที่ระบายน้ำดี เช่น ดินปนทราย และดินลูกรัง ในประเทศไทยมะขามป้อมมีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น ก้นโตด ทำทวด มั่งคู่ และสันยาส่า เป็นต้น มะขามป้อมที่นำมาปลูก พวกเพลี้ยบางชนิด เช่น    เพลี้ยแป้ง ชอบมาเกาะดูดน้ำเลี้ยงกินมาก ถ้าปล่อยไว้เรื่อย ๆ มักจะทำให้ต้นตายได้

มะขามป้อมนอกจากจะใช้ผลรับประทานเพื่อแก้กระหายน้ำแล้ว ผลยังเป็นยาระบายถ่ายพยาธิเส้นด้ายได้ดีมาก โดยต้องรับประทานในปริมาณที่มากพอสมควร เคยจำได้ว่าในสมัยเด็ก ๆ ตอนพักเรียนกลางวันไม่มีอาหาร กลางวันรับประทานก็ไปเก็บลูกมะขามป้อมมานั่งรับประทานจนอิ่ม จึงได้ทราบสรรพคุณด้วยตนเอง


118  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : ต้นจิก (Barringtonia acutangula (L.) Gaertn.) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:15:49 PM
ต้นจิก (Barringtonia acutangula (L.) Gaertn.)

ต้นจิกหรือมุจลินท์นี้ ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์และ ต้นไทร แห่งละ 7 วัน แล้ว จึงเสด็จไปประทับใต้ต้นจิกอีก 7 วัน ในขณะที่ประทับใต้ต้นจิกนี้ ได้มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน อากาศก็เย็นมาก จึงมีพญานาคชื่อมุจลินท์มาขดเป็นวง 7 รอบ ล้อมพระองค์ พร้อมกับแผ่พังพานปรกพระองค์ไว้ ต่อมาเมื่อมีผู้คิดประดิษฐ์พระพุทธรูปขึ้นภายหลัง จึงได้ประดิษฐ์พระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เรียกว่า ?ปางนาคปรก? และเรียกต้นจิกไปตามชื่อของพญานาค คือ มุจลินท์

จิกหรือมุจลินท์เป็นพันธุ์ไม้สกุล (Genus) Barringtonia ในวงศ์ (Family) Lecythidaceae เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบแต่จะผลิใบใหม่ได้รวดเร็ว ใบอ่อนจะออกสีแดงเรื่อ ๆ กิ่งมักคดงอใบติดเวียนกันเป็นกลุ่มตอนปลาย ๆ กิ่ง ใบรูปหอกหรือรูปไข่กลับเนื้อใบเนียนแน่น เลี้ยงกว้าง 5 ? 10 ซม. ยาว 20 ? 30 ซม. ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบ จะกว้างแล้วค่อย ๆ เรียวสอบไปทางโคนก้านใบยาวไม่เกิน 1.5 ซม. ออกดอกสีแดง   แต่ละดอกโตวัดผ่า ศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. ติดรวมกันเป็นพวงยาว ๆ ซึ่งยาวถึง 40 ซม. เกสรผู้จะมีมากมายในแต่ละดอก กลีบดอกสั้น ๆ มี 4 กลีบ หลุดร่วงเร็วมาก หลอดท่อรังไข่ยาวยื่นออกมามาก ผลกลม ยาว ยาวประมาณ 2.5 ซม. มีสันเป็นคลื่นทื่อ ๆ สี่เหลี่ยม ปลายผลจะยังคงปรากฏกลีบรองดอกติดอยู่

จิกมีขึ้นทั่วไปทางภาคตะวันออกและภาคกลางของอินเดีย ตลอดลังกาถึงย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับในประเทศไทยก็มีขึ้นอยู่ทั่วประเทศ ในที่ค่อนข้างราบลุ่มตามชายห้วย หนอง แม่น้ำ  สามารถเป็น    พันธุ์ไม้สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกได้อย่างดี และมีชื่อเรียกต่าง ๆ ไปตามท้องที่ เช่น จิกน้ำ จิกบก กระโนทุ่ง กระโดนน้ำ  ตอง   กระโนสร้อย มุ่ยลาย และลำไพ่ เป็นต้น การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดหรือตอน และจะตัดกระโงจากรากก็ได้ ใบอ่อนรสฝาดเล็กน้อย ใช้รับประทานได้ รากของต้นจิกใช้เป็นสมุนไพร แก้โรคลมต่าง ๆ  ประชาชนนิยม ปลูกไว้ตามชายน้ำ เพื่อกันดินพัง อาศัยร่มเงา ปลูกเป็นไม้ประดับ และใช้รับประทานกันทั่ว ๆ ไป

ในอินเดียมีจิกอีกชนิดหนึ่ง มีชื่อทางพฤกษศาตร์ว่า Barringtonia speciosa J.R.& G. Forst.   ซึ่งมีลักษณกะคล้าย กับต้นจิกที่กล่าวถึงข้างต้นมาก แต่ดอกแทนที่จะมีสีแดงกลับมีสีเหลืองอ่อน ๆ  การที่พระพุทธเจ้าเสด็จ มาประทับใต้ต้นจิก ก็อาจสัณนิษฐานได้ว่า เมื่อทรงประทับอยู่แล้ว   อีกทั้งพระองค์จะเข้าใจการใช้ชีวิต หรือการยังชีพในป่าเป็นอย่างดี คงจะทรงทราบว่าใบจิกใช้เป็นอาหารได้   และอาจจะเก็บเอารากจิก มาเสวยเป็นโอสถแก้ลมอืดแน่นในท้องบ้างก็เป็นได้


119  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : ตะเคียนทอง (Hopea odorata Roxb.) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:15:08 PM
ตะเคียนทอง (Hopea odorata Roxb.)

ตะเคียนทอง ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจะทำยมกปาฏิหารย์ ณ เมืองสาวัตถี ฝ่ายเดียรถีย์ก็จะทำแข่งบ้าง ได้เตรียมกระทำมณฑลมีเสา ซึ่งทำด้วยไม้ตะเคียน หลังคามุงด้วยดอกนิลอุบล และอีกตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า สิริคุตถ์หลอกให้พวกนิครนต์ อาจารย์ของครหพินน์ตกลงในหลุมอุจจาระ ครหพินน์จึงคิดที่จะแก้แค้นเอากับพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอาจารย์ของสิริคุตถ์ โดยทำหลุมไฟ ซึ่งใช้ไม้ตะเคียนเป็นเชื้อเพลิง ทำกระดานกลปิดไว้ที่ปากหลุม แต่พอพระพุทธเจ้าตกไปจริงก็มีดอกบัว มารองรับพระบาท พระพุทธเจ้าจึงมิเป็นอันตรายแต่อย่างใด

ตะเคียน เป็นพันธุ์ไม้สกุล Hopea รวมอยู่ในวงศ์ไม้ยาง (Dipterocarpaceae) เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่แพ้ไม้ยางหรือไม้ยูง ไม้ผลัดใบ ลำต้นเปลาตรง เปลือกจะเรียบ แต่พอต้นใหญ่เปลือกจะแตกเป็นสะเก็ด เรือนยอดแน่นทึบเป็นพุ่มกลมหรือรูปกรวย กิ่งอ่อนเกลี้ยง เนื้อไม้สีน้ำตาลปนเหลือง เนื้อละเอียด ใบรูปไข่แกม รูปหอกเกลี้ยงเป็นมัน ลักษณะคล้ายใบตะเคียนชันตาแมว แต่ในตะเคียนทองมีข้อสังเกตได้ตรง ที่ง่ามแขนงใบที่ติดกับเส้นกลางใบ มักมีตุ่มหูดเกลี้ยง ๆ ติดอยู่เสมอ ดอกเล็ก ๆ สีขาวกลิ่นหอม ออกรวมกัน เป็นช่อโตๆ ตามง่ามใบ ดอกจะเรียงกันเป็นแถวบนก้านแขนงช่อ ช่อจะมีขนเทา ๆ ทั่ว ๆ ไป ทั้งกลีบดอก และกลีบรองกลีบดอก มีอย่างละ 5 กลีบ ผล รูปกระสวยเล็ก ๆ มีปีกยาว 2 ปีก และปีกสั้น 3 ปีก ปีกยาวแต่ละปีกมีเส้นตามยาว 7 เส้น เป็นพันธุ์ไม้ในเขตมรสุมของเอเชีย ชอบขึ้นในที่ราบลุ่มและชุ่มชื้น เช่น ตามชายหนอง คลอง บึง ในบ้านเมืองเรา ตะเคียนสามารถขึ้นได้ทุกภาค จึงมีชื่อเรียกกันไปต่าง ๆ เช่น กะกี้ โกกี้  แคน จะเคียน จูเค้ โซเก ตะเคียน ตะเคียนใหญ่ และไพร เป็นต้น ในช่วงแรกไม่ชอบแดดจัดถ้านำต้นเล็กมาปลูก ในที่โล่ง ไม่มีร่มเงาจะไม่ค่อยเจริญเติบโต การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะ เมล็ดควรจะเก็บจากต้น คือ   สังเกตุพอเห็นปีกเริ่มเป็นสีน้ำตาลก็เก็บได้เลย แล้วรีบนำมาเพาะทันที   หากทิ้งไว้นานเปอร์เซ็นต์การงอก จะน้อยมาก ไม้ตะเคียนนับว่ามีประโยชน์สำหรับสิ่งก่อสร้าง เช่น ทำเรือ ทำเครื่องตกแต่งบ้านและเครื่องมือ เครื่องใช้ในการกสิกรรมมาก เพราะเนื้อไม้สวยทนทานต่อภูมิอากาศได้ดีมาก

เนื่องจากตะเคียนเป็นไม้ใหญ่มีอายุยืนนาน และชอบอยู่ในที่ชุ่มชื้น   จึงทำให้เกิดนิยายเกี่ยวกับผีสางนางไม้ของ ต้นตะเคียนเสมอ บางบ้านที่เอาต้นตะเคียนมาทำเสา พอมีน้ำมันไหลซึมออกมาก็ต้องนำไปเซ่นไหว้บูชา เพื่อลุแก่โทษทันที มิฉะนั้นอำนาจของนางไม้ในต้นตะเคียนจะทำให้เจ้าของและบริวารในบ้านไม่มีความสุข จะเจ็บไข้ได้ป่วย ฯลฯ ต้นที่อยู่ในป่าบางทีก็จะมีผ้าแดงไปคาดไว้ และทุกคนจะหลีกเลี่ยงไม่อยากจะกล้ำกราย เข้าใกล้ทีเดียว ยิ่งต้นใหญ่ ๆ ที่มีอายุมาก ๆ จะไม่เข้าไปตัดโค่น แถมบางทีเวลาผ่านต้องกราบไหว้เสียอีก นับว่าเป็นการสงวนพันธุ์แม่ไม้ได้อย่างดี ไม่น่าที่ความเชื่อถือแบบนี้ในปัจจุบันจะหดหายลงไปเลย



120  ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า / ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน / ต้นไม้ในพุทธประวัติ : ต้นเกด (Manikara hexandra (Roxb.) Dubard) เมื่อ: พฤศจิกายน 21, 2008, 04:14:30 PM
ต้นเกด (Manikara hexandra (Roxb.) Dubard)

ต้นเกด หรือที่ชาวฮินดู เรียกว่า "ครินี" หรือ "ไรนี" นี้ ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับ
อยู่ใต้ต้นจิกเป็นเวลาครบ 7 วันแล้ว ก็เสด็จไปประทับต่อที่ใต้ต้นเกดอีกเป็นเวลา 7 วัน

เกด เป็นพันธุ์ไม้สกุล (Genus) ละมุด (Manikara) ในวงศ์ (Family) ไม้ขนุนนก (Sapotaceae) เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง เปลือกแตกเป็นสะเก็ดสีดำ เนื้อไม้สีน้ำตาลแดง เสี้ยนสน แต่เหนียวและ แข็งมาก กิ่งมักคดงอเป็นข้อศอก เรือนพุ่มเป็นกลุ่มกลม ไม่ผลัดใบ ต้นเล็กจะมีกิ่งลักษณะคล้ายหนาม มีใบติดเวียนกัน กันเป็นกลุ่มตามปลาย ๆ กิ่ง ปลายหนามลำต้นยังเล็กอยู่ ถ้าสับเปลือกดูจะมียางขาวซึมออกมา ใบ รูปไข่กลับ ปลายใบผายกว้าง และมักหยักเว้าเข้าใบจะเรียวสอบมาทางโคนใบ เนื้อใบละเอียดเป็นมันทางด้านบนและ มักเป็นคราบขาวทางด้านล่างเป็นแขนงใบมักขนานกันและค่อนข้างถี่ ดอกออกเป็นกระจุก ๆ ละ 3 ? 5 ดอก ตามง่ามใบของกิ่งแขนง มีสีเหลืองอ่อนกลิ่นหอม ดอกบานจะกว้างประมาณ 0.7 ซม. กลีบดอกเป็นฝอยเล็ก ๆ ก้านดอกยาวประมาณ 1 ซม. ผล กลม โต ประมาณ 1 ? 1.5 ซม. มีเนื้อเยื่อหุ้ม ใช้รับประทานได้ มีรสหวาน

เกด พบขึ้นทั่วไปตามป่าที่มีพื้นเป็นดินทราย และดินปนหิน ในสภาพป่าที่ค่อนข้างแห้งแล้งทั่วไปในภูมิภาคเอเชีย มักเป็นพันธุ์ไม้หลักตามเกาะแก่งต่าง ๆ ที่เป็นเขาหินปูน ในประเทศไทยพบมากตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป และมีมากตามเกาะต่าง ๆ ในอ่าวไทย ชาวประมงนิยมเอาไม้เกดมาทำเรือ โดยใช้เป็นไม้สลักแทนตะปูสำหรับ ติดกระดานกับโครงของเรือ เพราะถ้าใช้ตะปูจะเป็นสนิมง่ายไม่ทนทาน นอกจากนี้ยังนิยมเอาผลแก่มาใช้รับประทาน เป็นของหวาน ซึ่งเป็นที่นิยมมากในการแพร่พันธุ์ ใช้เมล็ดเพาะ ไม่ชอบดินเหนียว และต้องการแสงมาก

จากการที่ต้นเกดชอบขึ้นในที่แห้งแล้ง ดินเป็นทรายไม่ชื้นแฉะ ก็อาจสัณนิษฐานได้ว่าพระพุทธเจ้าประสงค์จะ ทรงย้ายจากถิ่นที่มีความชุ่มชื้น เพราะฝนตกหนักไปสู่ที่ดอน และเกดมักชอบขึ้นเป็นกลุ่มทำให้มีเรือนยอด เป็นที่พอกำบังแดดได้ และเป็นช่วงที่ผลเกดสุก พอจะใช้รับประทานบำบัดความหิวได้



หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 15