KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

รวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Gallery => บทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ => ข้อความที่เริ่มโดย: AVATAR ที่ พฤศจิกายน 26, 2010, 09:29:13 PM



หัวข้อ: กัป, อสงไขย, อันตรกัป, และ มหากัป..หน่วยนับเวลาในพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: AVATAR ที่ พฤศจิกายน 26, 2010, 09:29:13 PM
เรื่องของหน่วยนับเวลาในพุทธศาสนา กัป,อสงไขย, อันตรกัป, และ มหากัป

พอเอาไว้ดูเปรียบเทียบกันไว้นะครับ...แบบ รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม (Nice to know) ครับ


1 อสงไขยปี เท่ากับ 1 x 10 ยกกำลัง 140 ปี ( 1 ตามด้วยศูนย์อีก 140 ตัว )

1 รอบอสงไขย เท่ากับ 1 อันตรกัป
ใช้วิธีนับอายุลดลงจาก 1x10^140 ปี ลดลง 1 ปี ในทุก 100 ปีต่ำลงมาจนเหลืออายุขัย 10 ปี แล้ว เพิ่มขึ้นไปใหม่จนเท่าเดิมคือ 1x10^140 ปี
(^ = ยกกำลัง)

64 อันตรกัป เป็น 1 อสงไขยกัป


4 อสงไขยกัป   เท่ากับ  1 มหากัป


1 มหากัป มี 256 อันตรกัป (256 รอบอสงไขย )

1 กัป เท่ากับ 3.3 x 10^24 ปี
1 กัป ไม่เท่ากับ 1 อันตรกัป



เรื่องของ กัป  จากพระไตรปิฏก ประมาณคำว่า 1 กัป ได้ดังนี้
สมมุติมีกล่องใบหนึ่ง กว้าง 1 โยชน์ ยาว 1 โยชน์ และ สูง 1 โยชน์ ในเวลา 100 ปี ให้เอาเมล็ดผักกาด 1 เมล็ด ใส่ลงไปในกล่องนั้น ทำอย่างนี้จนเมล็ดผักกาดนั้นเต็มเสมอเรียบปากกล่อง นั้นละจึงเท่ากับ 1 กัป
วิเคราะห์คำนวณ 1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร
ดังนั้นกล่องใบนี้มีปริมาตร = 16X16X16 = 4096 ลูกบาศก์กิโลเมตร
ประมาณว่า เมล็ดผักกาด มีขนาด 0.5 มิลลิเมตร
1 กิโลเมตรเทียบเป็นมิลลิเมตรได้ดังนี้ 10X100X1000 = 1,000,000 มิลลิเมตร
จะได้ 1 กิโลเมตรใช้เมล็ดผักกาดเรียงกัน = (1,000,000)/0.5 = 2,000,00เมล็ด
ดังนั้น 16 กิโลเมตรใช้เมล็ดผักกาดเรียงกัน = 16 X 2,000,000 = 32,000,000 เมล็ด
ถ้าเป็นปริมาตร คือ กว้างxยาวxสูง ต้องใช้เมล็ดผักกาดทั้งหมด คือ
32,000,000 X 32,000,000 X 32,000,000 = 32,768,000,000,000,000,000,000เมล็ด
ใน 100 ปี ใส่เมล็ดผักเพียง 1 เมล็ด ดังนั้นต้องใช้เวลาทั้งหมดคือ
32,768,000,000,000,000,000,000 X 100 = 3,276,800,000,000,000,000,000,000   ปี

จึงได้เวลา 1 กัป ประมาณ สามล้านสองแสนเจ็ดหมื่นหกพันแปดร้อยล้านล้านล้าน ปีประมาณ 3.3 X 10^24 ปี





หลังจากที่เห็นดังนี้แล้ว หน่วยนับเวลาที่ใหญ่ที่สุด...นานที่สุด คือ มหากัป ครับ

ที่พูดว่า พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีมามากตั้ง ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป นั่น เศษไม่ใช่มหากัปครับ แต่เป็น อสงไขยต่างหากที่เป็นเศษ เพราะอสงไขยเป็นหน่วยที่เล็กกว่ามหากัป

และอีกอย่างหนึ่งพระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีมายิ่งใหญ่เป็นแสนมหากัปเหมือนกัน แต่แตกต่างกันเพียง อสงไขยเท่านั้น

พระพุทธเจ้าแบบปัญญาธิกะ บำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยกับอีกแสนมหากัป

พระพุทธเจ้าแบบศรัทธาธิกะ บำเพ็ญบารมี ๘ อสงไขยกับอีกแสนมหากัป

พระพุทธเจ้าแบบวิริยะธิกะ บำเพ็ญบารมี ๑๖ อสงไขยกับอีกแสนมหากัป

ซึ่งจะทำให้ใน ๑ มหากัปมีพระพุทธเจ้าได้มากที่สุด ๕ พระองค์ ไม่ขัดแย้งกับพระไตรปิฎก

แต่ถ้าใช้หน่วยมหากัปเป็นเศษ ใน ๑ มหากัป จะมีพระพุทธเจ้าได้พระองค์เดียว ซึ่งขัดแย้งกับ  ๑ มหากัปมีพระพุทธเจ้าได้มากที่สุด ๕ พระองค์

และอีกอย่างจำนวนอสงไขยต้องเป็นอสงไขยปี เพราะถ้าเป็นอสงไขยกัป ๔ อสงไขยกัปเท่ากับ ๑ มหากัป
เช่น พระพุทธเจ้าที่บำเพ็ญบารมีแบบ ปัญญาธิกะ จะต้องเรียกว่า บำเพ็ญบารมี หนึ่งแสนหนึ่งมหากัป ซึ่งไม่น่าจะถูก


เมื่อเราดูมาถึงตรงนี้แล้ว จึงควรพูดว่า พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมีมามากตั้ง ๔ อสงไขยกับอีกแสนมหากัป จึงจะใกล้เคียงและถูกต้องมากกว่าครับ



หัวข้อ: Re: กัป, อสงไขย, อันตรกัป, และ มหากัป..หน่วยนับเวลาในพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: the suffering ที่ ธันวาคม 09, 2010, 11:50:57 PM
แฮ่  แฮ่

จำไม่ไหว

และสมองข้อมูลเต็มแล้ว

แต่จิตอาจจำได้ ;D


หัวข้อ: Re: กัป, อสงไขย, อันตรกัป, และ มหากัป..หน่วยนับเวลาในพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: AVATAR ที่ ธันวาคม 14, 2010, 08:34:57 PM
จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์
สัญญา คือความจำได้หมายรู้

พูดในทางศาสนาก็ต้องใช้ สัญญา จำและเก็บเป็นข้อมูลเอาไว้หมายรู้ ซึ่งไม่มีข้อจำกัดและไม่มีวันเต็ม

พูดในทางการแพทย์สมองมีหน้าที่จำ คิด วิเคราะห์ ประมวลผล สั่งการ แต่ก็ไม่มีวันที่ข้อมูลที่บันทึกไว้จะเต็มสมอง...





หัวข้อ: Re: กัป, อสงไขย, อันตรกัป, และ มหากัป..หน่วยนับเวลาในพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: the suffering ที่ ธันวาคม 14, 2010, 10:52:16 PM
จิต คือ ธัมมารมณ์ ฮับ

+ด้วย เจตสิก (ที่ประกอบด้วย สัญญาขันธ์) ด้วย กระมั๊ง ;D


หัวข้อ: Re: กัป, อสงไขย, อันตรกัป, และ มหากัป..หน่วยนับเวลาในพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: AVATAR ที่ ธันวาคม 15, 2010, 06:51:44 PM

ปรมัตธรรม ๔ อย่าง
๑.จิต ได้แก่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์
๒.เจตสิก ได้แก่ สภาวธรรมที่ประกอบจิต ซึ่งได้แก่เวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ สัญญา คือความจำได้หมายรู้
สังขารคือความปรุงแต่งทางใจต่างๆ เช่น ศรัทธา วิริยะ สมาธิ ปัญญา โลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน ลังเลสงสัยฯเป็นต้น
๓.รูปได้แก่ธรรมชาติที่ถูกทำลายได้ด้วยความร้อนและความเย็น เป็นต้น
๔.นิพพาน ได้แก่สันติ คือสงบจากกิเลสและสงบจากขันธ์

 


หัวข้อ: Re: กัป, อสงไขย, อันตรกัป, และ มหากัป..หน่วยนับเวลาในพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 12, 2011, 02:32:52 PM
ขอบคุณครับพี่ต่าย

ถ้าพี่ว่างๆ ก็เอาความรู้ จาก พระไตรปิฏก มาแชร์น้องๆ อีกนะครับ

ยังมีน้องๆ ตั้งตารอคอยอยู่ อิอิ

อย่างน้อยก็ผมละ หนึ่งคน



หัวข้อ: Re: กัป, อสงไขย, อันตรกัป, และ มหากัป..หน่วยนับเวลาในพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: AVATAR ที่ มกราคม 13, 2013, 08:49:51 PM
การนับกาลเวลาต่าง ๆ


ความหมาย ของ อสงไขย , กัป , มหากัป


( ๑ อันตรกัป เท่ากับระยะเวลาที่อายุของมนุษย์ ไขลงจากอสงไขยปีจนถึง ๑๐ ปี แล้ว
ไขขึ้นจาก ๑๐ ปี จนถึงอสงไขยปีอีก ครบ ๑ คู่ เรียกว่า ๑ อันตรกัป )
อสงไขยปีเท่ากับเลข ๑ ตามด้วยเลขศูนย์ ๑๔๐ ตัว

อสงไขยกัปนี้ มีอยู่ 4 อสงไขยกัป ด้วยกัน โดยแบ่งเป็นตอนๆ ดังนี้ คือ
1. สังวัฏฏอสงไขยกัป เป็นอสงไขยกัป ที่ปรากฏในตอนที่โลกถูกทำลาย ซึ่งได้แก่คำว่า สงวฏฏตีต สงวัฏโฏ คือ กัปที่กำลังพินาศอยู่
2. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป เป็นอสงไขยกัป ที่ปรากฏในตอนที่โลกถูกทำลายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้แก่คำว่า สงวฏโฏ หุตวา ติฏฐตีติ สงวฏฏฐยี คือ กับที่มีแต่ความพินาศตั้งอยู่
3. วิวัฏฏอสงไขยกัป เป็นอสงไขยกัป ที่ปรากฏในตอนที่โลกกำลังจะเริ่มพัฒนาเข้าสู่สภาวะปกติซึ่งได้แก่คำว่า วิวฏฏตีติ วิวฏโฏ คือกัปที่กำลังเริ่มเจริญขึ้น
4. วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป เป็นอสงไขยกัป ที่ปรากฏในตอนที่โลกเจริญขึ้น พัฒนาเรียบร้อยเป็นปกติตามเดิมแล้ว ซึ่งได้แก่คำว่า วิวฏโฏ หุตวา ติฏฐตีติ วิวฏฏฐายี คือกัปที่เจริญขึ้น พร้อมแล้วทุกอย่างตั้งอยู่ตามปกติ
ทีนี้มีข้อควรทราบไว้คือ สัตว์โลกทั้งหลายเช่นมนุษย์และเดียรฉาน เป็นต้น จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ก็เฉพาะตอน อสงไขยกัปสุดท้าย คือ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัปนี้เท่านั้น ส่วนในตอน 3 อสงไขยกัปข้างต้น จะไม่มีสิ่งที่มีชีวิตอาศัยอยู่ในโลกนี้เลย

มหากัป เป็นอย่างไร

เมื่อนับจำนวนทั้ง 4 อสงไขยรวมกัน เราจะเรียกว่า 1 มหากัป คือ
1. สังวัฏฏอสงไขยกัป นานถึง 64 อันตรกัป
2. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป นานถึง 64 อันตรกัป
3. วิวัฏฏอสงไขยกัป นานถึง 64 อันตรกัป
4. วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป นานถึง 64 อันตรกัป

รวม 4 อสงไขยกัป ก็เป็น 256 อันตรกัป ซึ่งจะเท่ากับ 1มหากัป
** ( อสงไขยปี กับ อสงไขยกัป จะต่างกันตามที่กล่าว ) **

ส่วนคำว่า " กัป " หมายถึงเวลาที่ยาวนานนับประมาณไม่ได้ เปรียบเหมือน
มีภูเขาแท่งศิลาทึบ กว้าง ยาว สูง อย่างละ ๑ โยชน์ ( ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร )
ครบร้อยทิพย์ปี มีเทวดาเอาผ้าทิพย์ที่บางเบาราวกับควันไฟมาลูบภูเขานี้ ๑ ครั้ง
เมื่อใดภูเขาสึกกร่อนจนเรียบเสมอพื้นดิน เรียกว่า ๑ กัป


คำว่า " กัป " กับ " มหากัป " ต่างกันดังที่กล่าว


ในมหากัปหนึ่งๆจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้น ๑ พระองค์
๒ พระองค์ ๓ พระองค์บ้าง แต่ไม่เกิน ๕ พระองค์ มหากัปที่ไม่
มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นเลยก็มีเรียกว่า สุญกัป


มหากัปของเรานี้จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้น ๕ พระองค์
เรียกว่า ภัทรกัป ซึ่งเป็นกัปที่เจริญที่สุด


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นแล้วคือ

๑. สมเด็จพระกกุสันธะพุทธเจ้า
๒. สมเด็จพระโกนาคมนะพุทธเจ้า
๓. สมเด็จพระกัสสปะพุทธเจ้า
๔. สมเด็จพระสมณโคดมพุทธเจ้า
และจักเสด็จอบัติตรัสเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นองค์สุดท้าย
ในภัทรกัปนี้ ทรงพระนามว่า
๕.สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า


ตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่เรียกว่า กัปไขยลง คือทุก ๑๐๐ ปี อายุมนุษย์จะลด
ลง ๑ ปี อายุของพวกเราจะลดลงเรื่อยจนไปถึง ๑๐ ปี แล้วสูงขึ้นเรื่อยๆ
ใหม่ จนกระทั่งอายุมนุษย์มีกำหนด ๘ หมื่นปี สตรีมี่อายุ ๕๐๐ ปี จึงมี
ครอบครัว

เวลานั้นมีความทุกข์เรื่องโรคภัยไข้เจ็บอยู่เพียง ๓ อย่าง คือ ความหิว
ความง่วง และความแก่ ผู้คนยังทำความดีเพิ่มขึ้น อายุยิ่งทวีตาม จนกระ
ทั่งอายุอสงไขยปี

ในสมัยมนุษย์มีอายุอสงไขยปี มองเห็นความแก่ความตายได้ยาก ความ
เจ็บไม่มี เลยทำให้เกิดความประมาท ทิฎฐิมานะก็เกิดอีก เวียนเป็นวัฎฎ
จักรของมนุษย์ในยุคต้นกัปใหม่ เมื่อมีกิเลสเกิด อายุมนุษย์ก็เริ่มลดลงกระ
ทั่งเหลือ ๘ หมื่นปี เมื่อนั้นพระศรีอริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จ
มาอุบัติขึ้นในโลก อันเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ องค์สุดท้ายใน
ภัทรกัปนี้

.......ช่วงระยะเวลาระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งไปยัง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งเรียกว่า หนึ่งพุทธธันดร

แต่ทีนี้เวลาบอกว่า พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญเพียร สั่งสมบารมี เป็น 4 อสงไขยกับหนึ่งแสนมหากัป นั้น คำว่า อสงไขยในที่นี้ หมายถึง การนับจำนวนของมหากัป เป็นอสงไขย กับ อีกหนึ่ง แสน มหากัป
หมายเหตุ คำว่ากัปและกัลนั้น ต่างก็มีความหมายเหมือนกัน แตกต่างกันที่ คำหนึ่งเป็น ภาษาบาลี อีกคำหนึ่งเป็น ภาษาสันสกฤต แต่ไม่แน่ใจว่าคำใดเป็นบาลี คำใดเป็นภาษาสันสกฤต
แหล่งข้อมูล จากหนังสือชื่อ ศาสตร์ว่าด้วยการเป็นพระพุทธเจ้า (มุนีนาถทีปนี) สำนักพิมพ์ คณะสังคมผาสุก ผู้แต่ง พระเทพมุนี (วิลาส ญาณวโร) ISBN: 974-7437-92-9
ในเรื่องของมหากัป นั้น มีการแบ่งมหากัป ออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ประเภทที่ มีพระพุทธเจ้าลงมาตรัสรู้ เรียกว่า อสุญกัป
2. ประเภทที่ไม่มี พระพุทธเจ้าลงมาตรัสรู้ สุญกัป
อสุญกัป คือ กัปที่ไม่สูญจากพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังรวมถึง การที่จะมีพระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระอริยบุคคล และพระจักรพรรดิ จะได้มาอุบัติในมหากัปดังกล่าวนี้ด้วย
ในทางตรงกันข้าม สุญกัปคือ กัปที่ไม่มีบุคคลผู้วิเศษเหล่านี้เลย
หากพูดถึงเรื่องอสุญกัปแล้ว ไม่กล่าวถึงเรื่องต่อไปนี้คงจะไม่ครบถ้วนกระบวนความนะครับ
ในบรรดาอสุญกัปนั้น คือกัปที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ยังมีชื่อเรียกตามจำนวนสมเด็จพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสรู้อีก ดังต่อไปนี้
1. สารกัป อสุญกัปใดที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพียง 1 พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกว่า สารกัป
2. มัณณฑกัป อสุญกัปใดที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพียง 2 พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกว่า มัณฑกัป
3. วรกัป อสุญกัปใดที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพียง 3 พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกว่า วรกัป
4. สารมัณฑกัป อสุญกัปใดที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้เพียง 4 พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกว่า สารมัณฑกัป
5. ภัทรกัป อสุญกัปใดที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกว่า ภัทรกัป
ในกัป ประเภทสุดท้ายนี้ เป็นกัปที่ประเสริฐที่สุด คือมี พระพุทธเจ้าเสด็จมาตรัส มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ เหล่าสัตว์โลก คือ มนุษย์และเทวดาอินทร์ พรหม ผู้ที่มีจิตเป็นกุศลโสภณ ปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ ประกอบไปด้วยบุญวาสนาบารมี ย่อมสามารถที่จะกระทำอาสวะกิเลส ให้สูญสิ้นไปจากขันธสัน-ดาน แห่งตนโดยชุกชุม เป็นกัปที่หาได้โดยยากยิ่ง นานแสนนาน จึงจักปรากฏมีในโลกเรานี้สักครั้งหนึ่ง ท่านจึงขนานนามอสุญกัปนี้ว่า ภัทรกัป = กัปที่เจริญที่สุด


คราวนี้ก็สงสัยว่าพระโพธิสัตว์ท่านบำเพ็ญปรมัตถบารมีในช่วง ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัปสุดท้ายนี่นับกันยังไง เขาไม่นับกันเป็นตัวเลขแล้ว เพราะนับไม่ได้อย่างที่บอก แต่เขาใช้วิธีนับเป็นช่วงแทน ในช่วง ๔ อสงไขยกับเศษแสนมหากัปสุดท้ายนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสุญอสงไขย คือแต่ละกัปที่ผ่านไปนี่ไม่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติเลย
ย้อนกลับไปอสงไขยที่ ๕ ก่อนโน้นเป็นอสุญอสงไขย เรียกว่า สัพพผาละอสงไขย มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๒,๐๐๐ พระองค์ เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว กัปก็สูญสิ้นไป แล้วก็เกิดสุญกัปจำนวนหนึ่ง
.....จากนั้นก็มีสารมัณฑกัปหนึ่ง มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๔ พระองค์ คือ พระตัณหังกร พระเมทังกร พระสรณังกร และพระทีปังกร กัปนี้เขาเรียกว่ากัปแทรก เป็นกัปต้นของอสงไขยที่ ๔ ย้อนหลังไปครับ เพราะพอสิ้นกัปนี้ไปแล้ว ก็เกิดเป็นสุญกัปจำนวนเท่ากับ ๑ ๒ ๓ ....... จนถึง ๑ ตามด้วย ๐ อีก ๑๔๐ ตัว แล้วก็ยังต่อไปอีกแบบนับไม่ได้ นี่แหละครับเรียกว่าอสงไขย อสงไขยนี้ชื่อว่าเสละอสงไขย แล้วเสละอสงไขยสิ้นสุดกันตรงไหน สิ้นสุดอสงไขยนี้ตรงที่มีกัปหนึ่งมาคั่นอยู่ เรียกว่า สารกัป มีพระพุทธเจ้าอุบัติ ๑ พระองค์ คือ พระโกณฑัญญะ
เมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว กัปก็สูญสิ้นไป แล้วก็เกิดสุญกัปจำนวนมาก จำนวนเท่ากับ ๑ ๒ ๓ ....... จนถึง ๑ ตามด้วย ๐ อีก ๑๔๐ ตัว แล้วก็ยังต่อไปอีกแบบนับไม่ได้ นี่เป็นอีกอสงไขยหนึ่ง อสงไขยนี้ชื่อว่าภาสะอสงไขย แล้วภาสะอสงไขยสิ้นสุดกันตรงไหน สิ้นสุดตรงมีสารมัณฑกัปหนึ่งมาแทรกอยู่ มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติอีก ๔ พระองค์ คงพอเข้าใจคำว่าอสงไขย ถ้าถามว่า แต่ละอสงไขยนี่มันยาวนานเท่ากันไหม ไม่เท่ากัน เพราะมันเป็นเพียงอุปมา ไม่สามารถบอกระยะเวลาจริงๆ ได้ อสงไขยหนึ่งอาจจะนานกว่าอีกอสงไขยหนึ่งเป็น ๒ เท่าก็ได้ แต่ที่แน่ๆ คือนานจริงๆ


หัวข้อ: Re: กัป, อสงไขย, อันตรกัป, และ มหากัป..หน่วยนับเวลาในพุทธศาสนา
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 16, 2013, 02:15:37 PM
ขอบคุณมากครับพี่ต่าย