KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 => กำลังใจ จากครูบา อาจารย์ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:24:11 PM



หัวข้อ: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:24:11 PM
โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 26 มกราคม 2544 14:43:27

สืบเนื่องมาจากเมื่อสองวันก่อน ได้ไปพบครู
จึงได้รู้ว่า มีสิ่งผิดพลาดที่สำคัญประการหนึ่งคือ
มีความพยายามที่จะรู้ตัวให้ต่อเนื่องให้ยาวนานที่สุด
จึงมีความผิดพลาดมากอยู่พอสมควร คือ
โดยความเข้าใจว่า รู้อย่างต่อเนื่องนั้น
คือการรู้ติดต่อกันให้นานที่สุด แต่ปรากฏว่า ไม่ถูก
: )
ดังนั้นเพื่อความเข้าใจในการปฏิบัติที่ถูกต้องมากขึ้น
จึงขอเรียนถามเรื่องนี้อีกครั้งคือทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง
ขอบพระคุณครับ

โดยคุณ ธีรชัย วัน ศุกร์ ที่ 26 มกราคม 2544 14:43:27


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:24:40 PM
ความเห็นที่ 1 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 26 มกราคม 2544 14:55:01

ขอตอบสั้นๆ ก่อนนะครับ วันนี้มีภาระมาก
แล้วจะมาขยายความให้ทีหลังนะครับ

ถ้าอยากรู้ตัวให้ต่อเนื่อง ให้(รู้ว่า)เผลอ บ่อยๆ ครับ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน ศุกร์ ที่ 26 มกราคม 2544 14:55:01


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:25:06 PM
ความเห็นที่ 5 โดยคุณ อี๊ด วัน อาทิตย์ ที่ 28 มกราคม 2544 17:51:53

วันนี้มีโอกาสไปศาลาแต่เช้า
ได้เจอคุณอาสมใจ
ก็ได้รู้ว่ายังมีข้อผิดพลาดอยู่มากทีเดียว
ส่วนมาก เผลอแล้วไม่รู้ว่าตัวเองเผลอ

ตอนนี้ก็ต้องหาจุดพกพร่องให้มากเท่าที่จะทำได้
เพราะไปอยู่ต่างจังหวัดแล้วโอกาสพบคุณอาอาคงน้อยเต็มที่
(แต่เดือนหน้าคงมีโอกาสไปศาลาได้อีกครั้ง)

คุณอามีอะไรเสริม(แบบถึงลูกถึงคน)ก็ได้เต็มที่นะครับ
ผมว่า..ผมกลัวการเกิดใหม่มากกว่ากลัวตาย
(กลัวจะตกขนวนรถไฟ แล้วต้องรออีกนานแสนนานกว่าจะมีโอกาสเจอผู้อีกครับ)
ขอบพระคุณครับ

โดยคุณ อี๊ด วัน อาทิตย์ ที่ 28 มกราคม 2544 17:51:53


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:25:38 PM
ความเห็นที่ 6 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 08:19:22

เมื่อวานที่คุณอี๊ดถามเรื่องการปฏิบัติกับผมที่ศาลาลุงชิน
พอคุยกันครู่หนึ่งคุณอี๊ดก็จะปลีกตัวออกไป
เพราะเกรงใจว่ากินเวลาของคนอื่นมาก แต่ผมไม่ยอมให้ไปนั้น
เพราะคุณอี๊ดยังเจริญสติไม่สมบูรณ์ คือส่งจิตออกไปรู้อารมณ์ตรงหน้า
พอเกิดแสงสว่างเนื่องจากกำลังของสมถะ
ก็หยุดจิตอยู่ท่ามกลางความสว่างนั้น
เพราะคิดว่า นี่เป็นการปฏิบัติธรรม เนื่องจากรู้อารมณ์ชัดเจน
ตรงนั้นเป็นกุศลจิตก็จริงครับ แต่เป็นจิตชนิดที่มีญาณวิปยุต ไม่มีปัญญาจริง
เป็นทางดำเนินไปสู่พรหมโลกนั่นเอง

ผู้ปฏิบัติที่เล่นฌาน ไปติดอย่างนี้กันมากครับ
กระทั่งวิชชา "ธรรม" ก็เป็นอาการเดียวกันนี้
คือจิตส่งออกไปจาก รู้ ไม่มีเอโกทิภาวะหรือธรรมเอก
แล้วหลงไปอยู่กับแสงสว่าง หรือดวงนิมิต
จุดที่พลาดก็คือ ในขณะนั้นไม่ทราบว่า ตนเองส่งจิตออกไปแล้ว
(ส่งใน ไม่ใช่ส่งนอก)
เมื่อส่งจิต แต่ไม่รู้ทัน นั่นก็คือหลงครับ
ในตอนท้าย คุณอี๊ดแก้ไขได้แล้ว เข้าใจจิตตนเองได้แล้ว
ขอให้มีสติ รู้ ตื่น เบิกบานเรื่อยไปนะครับ
เพราะสติ สมาธิ ปัญญา จะสมบูรณ์ได้ในจุดนั้น

อีกคนหนึ่งที่เมื่อวานนี้ผมยังเป็นห่วงอยู่ คือคุณสุกิจครับ
จิตยังไม่สามารถรู้ปรมัตถธรรมได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง
คือยังสับสนอยู่น่ะครับ อย่าเพิ่งท้อใจนะครับ
ไหนๆ ก็ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการศึกษาธรรมมานานแล้ว
อดทนทำความเข้าใจกับการมีสติรู้ปรมัตถธรรมอีกสักหน่อยนะครับ
ตรงนี้เป็นเรื่องที่ทำจริงยากมาก
กว่าแต่ละคนจะเข้าใจจริงก็ต้องใช้เวลากันทั้งนั้น
มีคนหนึ่งที่คุณสุกิจคุ้นชื่อดี คือหมอ Lee
กว่าจะพอตั้งตัวได้ก็ใช้เวลาหลายเดือนอย่างทุลักทุเล คือผิดแล้วผิดอีก
ดังนั้น ขอให้อดทนในช่วงนี้หน่อยนะครับ
ถ้าจับหลักได้ เข้าใจสภาวะของจิตและรูปนามได้ชัดเจนเมื่อใด
ต่อไปการปฏิบัติก็เป็นเรื่องง่ายครับ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 08:19:22


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:26:08 PM
ความเห็นที่ 7 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 09:17:56

สำหรับเรื่องที่ผมคุยกับคุณเก๋นั้น มาถึงวันนี้ผมลืมหมดแล้วครับ
เพราะทั้งคุณเก๋ ทั้งผม ขี้ลืมพอๆ กัน
คลับคล้ายว่าคุยกันหลายประเด็นอยู่เหมือนกัน

สำหรับเรื่องการทำความรู้ตัวให้ต่อเนื่องนั้น
ขอเรียนว่าอย่าไปทำครับ
เพราะผู้ปฏิบัติจะไปผิดพลาดตรงจุดนี้กันมาก
คือเมื่อรู้ตัวขึ้นแล้ว ก็พยายาม จงใจ จะรู้ตัวให้ต่อเนื่องยาวนาน
โดยไม่รู้ตัวว่า กำลังพยายาม กำลังจงใจ
อันเป็นการสร้างภพขึ้นด้วยความหลงผิด

การปฏิบัติวิปัสสนานั้น เราต้องทำเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง
จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายรับสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง และใจคิดนึกปรุงแต่ง
ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกคราว
ที่มีการกระทบระหว่างอายตนะภายนอกภายใน
สติที่เราใช้ จะเป็นสติที่ระลึกรู้อารมณ์ที่มากระทบในขณะนั้นเป็นคราวๆ ไป
สมาธิที่ใช้ก็คือขณิกสมาธิ หรือสัมมาสมาธิที่จิตตั้งมั่นเป็นขณะๆ ไป
(จุดนี้ผู้ปฏิบัติตามสำนักต่างๆ ผิดกันมากครับ กระทั่งในสำนักอภิธรรม
คือจิตไม่มีความตั้งมั่นจริง แต่ถลำเข้าไปรู้อารมณ์ เหมือนคนตกน้ำ
หรือหลงเข้าไปในจอภาพในใจที่ตั้งอยู่ตรงหน้า
ซึ่งสภาวะนั้นเหมือนกับจะรู้อารมณ์ที่เกิดดับชัดเจน
แต่ความจริงยังไม่ใช่ของจริงครับ
ปัญญาจะไม่เกิดในสภาวะจิตที่ขาดความตั้งมั่นดังกล่าวนี้)
ปัญญาที่ใช้ก็มีลักษณะเป็นวิปัสสนาปัญญา คือรู้ความเกิดดับของรูปนามไป
การปฏิบัตินั้น จึงต้องทำให้ถูกเป็นขณะๆ ไป
ไม่ต้องคิดหรือพยายามทำให้ถูกต่อเนื่อง อันเป็นการกังวลถึงอนาคต

อนึ่ง แม้สมาธิที่ใช้เจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน จะเป็นขณิกสมาธิก็ตาม
แต่ผู้ใดที่ได้อัปปนาสมาธิ หรืออุปจารสมาธิ จะได้เปรียบพอสมควร
ในการที่จิตจะตั้งมั่น รู้ หรือเจริญวิปัสสนาเป็นขณะๆ ต่อเนื่องกันยาวๆ ได้
ในขณะที่ผู้ที่ขาดสมาธิละเอียดสนับสนุน
มักจะรู้ได้วับเดียว แล้วเผลอไปยาวๆ ก่อนจะรู้ว่าเผลออีกวับหนึ่ง

ทางแก้จุดอ่อนนี้ จะใช้การทำสมาธิบ้างก็ได้ แต่ทำสักวันละเล็กน้อย
ไม่ต้องเอาเป็นเอาตายกับการทำสมาธิ
ขอเพียงเริ่มรู้แล้วว่า การรู้ หรือการเจริญสติสัมปชัญญะที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
แล้วเจริญสติปัฏฐาน มีกาย เวทนา จิต ธรรม ที่ถนัด
เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของจิตไป
ความรู้ตัวก็จะเร็วขึ้น เผลอสั้นลง
ในที่สุดก็สามารถรู้ตัวถี่ยิบ จน "รู้ตัวต่อเนื่อง" ได้เอง

เมื่อสามารถรู้ตัวได้ ก็จะเริ่มรู้เท่าทันจิตตนเองละเอียดลึกซึ้งเป็นลำดับๆ ไป
เช่น (1) เริ่มรู้ว่า จิตกำลังติดยึดอารมณ์บางสิ่ง ซึ่งอาจจะทราบ หรือไม่ทราบชื่อก็ได้
หรือรู้จิตที่ประณีตยิ่งขึ้น คือ (2) จิตที่คลายออกจากความยึดถืออารมณ์
มีสภาพต่างคนต่างอยู่กับกิเลส เหมือนลิ้นงูที่อยู่ในปากงู ไม่กระทบกระทั่งกัน
ถัดจากนั้นก็จะเริ่มเห็นว่า (3) บางคราวจิตก็ยังแลบ หรือส่งออกไปยินดียินร้ายกับอารณ์
ไม่ใช่รู้อารมณ์ด้วยความเป็นกลางเสมอไป

เมื่อรู้ความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นได้ชำนาญแล้ว
จิตก็กลับสู่ความเป็นกลางอีก คราวนี้เป็นกลางที่ประณีตกว่าทีแรกมาก
ถึงขั้นนี้จึงจะ (4) มองกิเลสชนิดสังโยชน์ออก
หรือมองเจตนา หรือความจงใจ หรือความพอใจ(อภิชชา) ที่จะปฏิบัติธรรมออก
คราวนี้จิตจึงจะ (5) ถึงความเป็นกลางอย่างแท้จริง เป็นจิตสักว่ารู้ โดยไม่ได้จงใจ

เพราะ รู้สักว่ารู้ ปราศจากความยินดีจงใจที่จะรู้
ปราศจากการประคับประคองสติ
เป็นจิตที่เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง
จิตก็มาถึงจุดที่จ่ออยู่กับประตูแห่งการเกิดมรรคผล
ซึ่งเขาจะเกิดเอง ไม่มีใครทำให้เกิดได้

ผมเขียนตอบกระทู้นี้ แบบจำเรื่องเก่าไม่ได้เลยว่าคุยอะไรกับคุณเก๋ไว้
เพียงแต่นึกธรรมอะไรได้ในขณะนี้ ก็เขียนไปตามนั้นเท่านั้นเอง
คุณเก๋อ่านแล้วไม่คุ้นเลย ก็อย่าว่าอะไรเลยนะครับ
เพราะคุณเก่เองก็ฟังผมพูด พร้อมกับที่ผมพูด
แล้วก็จำไม่ได้เหมือนๆ กันน่ันเอง

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 09:17:56


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:26:37 PM
ความเห็นที่ 8 โดยคุณ อี๊ด วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 09:21:24

ขอบพระคุณครับ
ช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ คุณอาแนะนำตักเตือนได้เต็มที่นะครับ
ผมเองรู้สึกว่า จังหวะโอกาสเปิดให้แล้ว
ทั้งร่างกาย เวลา สถานที่ คำแนะนำครูบาอาจารย์
จะหาภพชาติที่สมบรูณ์ค่อนข้างพร้อมทุกด้านอย่างนี้ได้ยาก

จังหวะอย่างนี้คงหาได้ยาก
ยิ่งได้พบผู้รู้แล้ว แต่เอาดีไม่ได้ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย
ผมคิดว่าตอนนี้ ก็เหมือนแท่งเหล็กทั้งแท่ง
ถ้าจะทำมีดก็ต้องผ่านการเผาการทุบ จึงจะได้มีดที่มีคุณภาพ
ถ้าครูอาจารย์มีอะไรจะทุบจะเผาก็เต็มที่นะครับ

ผมเคยอ่านประวัติหลวงปู่เทสก์ตอนไปหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่
ต้องผ่านความยากลำบากในป่ากว่าจะพบหลวงปู่มั่นเพื่อให้
หลวงปู่มั่นแก้ภาวนาให้…(ไม่รู้ท่านติดอะไร?)

ผมเองมานั้งทบทวนจังหวะชีวิตตัวเองว่า..มีพร้อมขนาดนี้
แต่ยังเอาดีไม่ได้ ก็น่าจะเอาหัวชนภูเขาให้มันรู้แล้วรู้ลอดไป….*-*

โดยคุณ อี๊ด วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 09:21:24


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:27:09 PM
ความเห็นที่ 10 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 09:43:11

ขอแถมอีกหน่อยครับ
คือพอผู้ปฏิบัติ นึกถึงการปฏิบัติธรรม
ก็เกิดความรู้สึกว่า จะต้องทำอะไรบางอย่าง หรือหลายอย่าง
จึงจะสมกับที่เรียกว่า "การปฏิบัติ" ธรรม
แล้วสิ่งที่กระทำทั้งหมดนั้น ก็คือการทำสมถะล้วนๆ
ในขณะที่การเจริญวิปัสสนานั้น ไม่มีการกระทำใดๆ เลย
นอกจากรู้อารมณ์ตัวจริงทั้งปวงไปด้วยจิตที่เป็นกลางเท่านั้น

การรู้ตามความเป็นจริง คือสิ่งที่พวกเราไม่คุ้นเคย
เพราะเราเคยชินกับ "การทำอะไรบางอย่าง" มากกว่าการ รู้
วิปัสสนาซึ่งเป็นเรื่องง่าย จึงกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยากไปเลย

ดังนั้น ก่อนที่จะเจริญสติ หรือทำวิปัสสนา
เราจะต้อง รู้ หรือเจริญสติ ให้เป็นเสียก่อน
ถ้ายังไม่ทราบว่า รู้ หรือการมีสติสัมปชัญญะที่ถูกต้องเป็นอย่างไร
แล้วไปลงมือเจริญสติเข้า ก็อดที่จะเจริญสติอย่างผิดๆ ไม่ได้
เข้าลักษณะ ยิ่งทำ ก็ยิ่งผิด คือยิ่งเพ่งจ้องหนักขึ้นทุกทีๆ

*****************************

เมื่อวานที่ศาลาลุงชิน
บางคนถามผมว่า ปรมัตถ์เป็นเรื่องเข้าใจยาก นึกอย่างไรก็ไม่เข้าใจเลย
ถ้าเป็นผู้ชาย ผมก็จะเอาเล็บจิกเข้าให้ที่แขนทีหนึ่ง
แล้วบอกว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั่นแหละ คือปรมัตถธรรมตัวหนึ่ง
ซึ่งมีบัญญัติเรียกว่า "ความเจ็บ" เป็นทุกขเวทนาทางกายอย่างหนึ่ง
จะเป็นแขก ฝรั่ง จีน ไทย ถูกจิกเข้าไปก็รู้สึกอย่างเดียวกันน่ันเอง

และถ้าสังเกตให้ดี ก็จะเห็นว่า มันเกิดจากผัสสะคือการกระทบทางกาย
มีความรู้สึกแรง(เจ็บมาก)ในชั้นแรก แล้วเบาลง เป็นการแสดงอนิจจัง
และดับหายไปในชั้นหลัง เป็นการแสดงทุกขัง
การที่มันเกิด(เจ็บ) ขึ้นก็ดี ตั้งอยู่ชั่วขณะก็ดี ดับไปก็ดี
ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่เป็นไปตามใจอยาก เป็นการแสดงอนัตตา

ความทุกข์ทางกาย กับความทุกข์ทางใจ ก็ไม่ต่างกันนัก
คือถ้ามันเจ็บหรือมันทุกข์ข้ึนในใจ ก็รู้มันอย่างเดียวกันนี้เอง
หรือนิวรณ์ กิเลส ตัณหา และกุศลใดๆ เกิดขึ้น
ก็ให้รู้ไปที่ตัวสภาวะหรือปรมัตถ์ของมันตรงๆ เลย
มันเป็นความรู้สึกจริงๆ เกิดขึ้นกับใครก็รู้สึกอย่างเดียวกันน่ันแหละ
ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสมมุติบัญญัติที่ว่า
นี่ทุกข์ นี่ราคะ นี่โทสะ นี่ตัณหา นี่เมตตา ฯลฯ

ถ้าจะพูดกันอย่างหยาบๆ ก็กล่าวได้ว่า
แม้แต่สัตว์ ก็รู้อารมณ์ปรมัตถ์เช่นกัน
คือรู้รูปอันเป็นปรมัตถ์ด้วยจักขุวิญญาณ
รู้เสียงอันเป็นปรมัตถ์ด้วยโสตวิญญาณ ฯลฯ
แต่สัตว์ขาดสติปัญญา จึงไม่ญาณจะจำแนกอารมณ์ปรมัตถ์ออกได้
เป็นแต่รู้ไปตามกลไกธรรมชาติธรรมดาเท่านั้น
เราเองทุกคน ก็รู้อารมณ์ปรมัตถ์อยู่แล้วทั้งวัน
แต่เราพากันไปหลงความคิด หรือหลงบัญญัติ
จนมองข้ามการรู้ปรมัตถ์ไปเท่านั้นเอง
ดังนั้น อย่ากังวลว่า เราจะรู้อารมณ์ปรมัตถ์ไม่ได้เลยครับ
เมื่อจิตไม่มีโมหะ หรือมีอโมหะ ก็จะสามารถรู้ปรมัตถ์ได้ครับ
ที่พวกเราพูดถึงรู้ รู้ รู้ นั้น
ก็คือการทำความรู้จักกับโมหะ จนจิตมีอโมหะ สามารถรู้โดยไม่หลง

ธรรมทั้งภาคปริยัติ และภาคปฏิบัติ
ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกันหรอกครับ
แต่อาจจะพูดด้วยถ้อยคำที่ต่างกันบ้างเท่านั้น

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 09:43:11


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:27:40 PM
ความเห็นที่ 11 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 09:54:48

เพิ่งเห็นที่คุณอี๊ดเขียนครับ
ตอนนี้คุณอี๊ดไม่ได้ติดอะไรครับ เพราะที่ติดอยู่แก้ออกได้แล้ว
หน้าที่เดียวตอนนี้ก็คือ การทำ(สติสัมปชัญญะ)ให้มาก เจริญให้มาก เท่านั้นเองครับ
เพราะจิตที่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
เป็นจิตที่พร้อมแล้วสำหรับการเจริญวิปัสสนา

หลวงปู่เทสก์ท่านไปเชียงใหม่นั้น ท่านไม่ได้ติดอะไรหรอกครับ
ก่อนหน้านั้น ท่านติดสมาธิอยู่สิบกว่าปี
เมื่อแก้ได้แล้วที่วัดป่าสาลวัน แต่ท่านอาจารย์สิงห์ไม่เข้าใจการปฏิบัติของท่าน
ท่านจึงออกไปตามหาหลวงปู่มั่นที่เชียงใหม่ แล้วอยู่ปฏิบัติที่น่ันครับ
เพราะท่านอาจารย์มั่นเป็นครูบาอาจารย์ที่เข้าใจการปฏิบัติของศิษย์เป็นอย่างดีครับ

หลักปฏิบัติที่เป็นแก่นสารสำคัญของหลวงปู่มั่นก็คือ
ให้มีสติสัมปชัญญะ ศึกษาอยู่ในกายในใจตนเอง
ไม่ส่งจิตออกนอกเที่ยวรู้เที่ยวเห็น อันเป็นความฟุ้งซ่าน
หรือปล่อยจิตให้ชุ่มแช่อยู่กับสมาธิ จนไม่สนใจจะเจริญวิปัสสนาปัญญา

ท่านสอนว่า การทำสมาธิมากไปก็เป็นเหตุให้เนิ่นช้า
การเจริญปัญญา(อย่างเดียว) มากไปก็เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่าน
สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือการมีสติสัมปชัญญะอยู่ในชีวิตประจำวันนี่เอง

เวลานี้ เราไม่ค่อยได้ยินธรรมเหล่านี้
ส่วนมากได้ยินกันเพียงผิวๆ ว่าให้พุทโธ กันไป
พอจิตสงบแล้วให้คิดพิจารณากาย
ซึ่งทั้งหมดนั้น เป็นอุบายปฏิบัติในเบื้องต้น
เพื่อจะเข้ามาสู่ความมีสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวันนี่เอง

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 09:54:48


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:28:10 PM
ความเห็นที่ 13 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 10:54:27

ผมได้เห็นข้อความของคุณ nonborn ที่ลานธรรม
บรรยายถึงความรู้ตัวได้น่าฟังดีครับ เลยลอกมาให้อ่านกัน

"ความรู้ตัว" คำสั้นๆง่ายๆเพียงเท่านี้
         นึกไม่ถึงว่าจะเป็นความรู้สึกที่ไม่อาจ
         บรรยายได้ด้วยคำพูดใดๆได้โดยง่าย 
         เป็นความรู้สึกที่เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ
         เป็นกลาง ปราศจากความจงใจ
         และการปรุงแต่งใดๆ
         แต่แฝงไว้ด้วยความเบิกบานน้อยๆ
         ความรู้ตัวนี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วอึดใจ
         แล้วกลับมาปกคลุมต่อไปด้วย
         ความหลง ความเผลอ เพ่ง และความคิด
         สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือรู้ตัวให้บ่อยขึ้น ถี่ขึ้น
         ตามแต่กำลังของสติที่จะทำได้ในชีวิตประจำวัน"

ธรรมของจริงที่ปรากฏกับจิตใจ บรรยายเป็นคำพูดได้ยากจริงๆ
ที่คุณ nonborn อธิบายออกมาได้ นับว่าเก่งเชียวครับ

วันแรกที่ผมกลับจากการไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่ดูลย์
ผมมีความรู้ตัวได้แว่บเดียวเท่านั้น ก็ถูกโมหะเข้าครอบงำอีก
ทำไปอีกหลายวัน ก็ทำได้อีกทีหนึ่ง ยาวกว่าเดิมนิดหน่อย
อีกไม่กี่วันต่อมาก็ทำได้อีก และตั้งมั่นได้นานกว่าเดิม
สรุปแล้ว ยิ่งฝึกก็ยิ่งเกิดขึ้นง่าย และทรงอยู่ได้นานขึ้นครับ
เป็นอย่างนี้กันเป็นส่วนมากแหละครับ ผมเองก็เป็นมาก่อนแล้วเช่นกัน

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 10:54:27


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:28:37 PM
ความเห็นที่ 15 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 11:18:11

ฝากข่าวถึง คุณณรงค์ ด้วยครับ
ที่คุณณรงค์ปฏิบัติอยู่ตอนนี้ ดีแล้วนะครับ
เป็นการรู้ไปอย่างซื่อๆ ตรงๆ ไม่ประดิษฐ์ประดอยปฏิบัติให้เกิดภาระส่วนเกินกับจิตใจ
ให้ทำไปง่ายๆ อย่างที่เคยทำนี่แหละครับ
แล้วก็ไม่ต้องสนใจเข้ากลุ่มเข้าพวก ไม่ต้องสนใจว่าใครเขาจะปฏิบัติอย่างไร
จิตจะสุขทุกข์ มีกุศลอกุศลอะไร ก็รู้เรื่อยๆ ไปตามธรรมดาๆ นี่แหละครับ
อย่าไปสนใจพลิกแพลงหรือหาอุบายปฏิบัติใดๆ นะครับ
ทำไปซื่อๆ ตรงๆ นี่แหละครับ ดีที่สุดแล้ว

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 11:18:11


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:29:05 PM
ความเห็นที่ 16 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 11:24:40

" เมื่อวานที่ศาลาลุงชิน บางคนถามผมว่า ปรมัตถ์เป็นเรื่องเข้าใจยาก นึกอย่างไรก็ไม่เข้าใจเลย ถ้าเป็นผู้ชาย ผมก็จะเอาเล็บจิกเข้าให้ที่แขนทีหนึ่ง แล้วบอกว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั่นแหละ คือปรมัตถธรรมตัวหนึ่ง"

ขออนุญาติขยายความนะครับ ตามความเข้าใจของผมครับ คือ

ปกติ แล้วจิตจะรู้ปรมัตถธรรมอยู่แล้ว ไม่ว่าบุคคลนั้นจะปฎิบัติหรือไม่ปฎิบัติ จะมีสติหรือไม่มีสติก็ตาม แต่ความแตกต่างจะมีอยู่ว่า หลังจากที่จิตรู้ปรมัตถธรรมแล้วจิตมี "พฤติ" อย่างไรต่อไป

กับบุคคล ธรรมดาบางคน เมื่อถูกหยิกแล้วก็เกิดความไม่พอใจทันที และอาจคิดต่อไปได้ว่า "เอ๊ะ! มาหยิกชั้นทำไม" และอาจจะมีปฎิกริยาอื่นๆตามมาอีก เช่น ลุกเดินหนี หรือ ด่า แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละท่าน

กับบุคลลที่ฝึกสติ หรือ ดูจิต ที่ชำนาญแล้ว เมื่อถูกหยิกแล้ว และมีสติเป็นเครื่องระลึกอยู่ ก็จะเห็น "ความเจ็บ"นั้น พลุ่งขึ้น และค่อยๆจางหายไปตามระยะเวลา จนดับหายไปเป็นที่สุด

กับบุคคลที่ฝึกสติ แต่ยังไม่ชำนาญมากนัก เมื่อถูกหยิกแล้ว จิตอาจจะปรุงแต่งความรู้สึกไม่พอใจขึ้นก่อน เป็นความโมโห หรือหงุดหงิด หรือปรุงแต่งกายให้ชักมือชักแขนกลับด้วย จากนั้นเมื่อสติตามมาทัน ก็อาจจะดูที่ความเจ็บที่ปรากฎ และค่อยๆจ่างหาย และดับไปที่สุด หรืออาจจะดูที่ความไม่พอใจที่ปรากฎ และอาจจะดบแว่บหายไปในทันที หรือเกือบจะในทันที ก็ได้

ผมคงจะอธิบายความได้เท่านี้ครับ ผิดถูกอย่างไร ขอครูช่วยตรวจสอบให้อีกทีครับ (ผมจะได้รู้ด้วยว่าผมถูก/ผิดอย่างไรครับ)

โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 11:24:40


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:29:38 PM
ความเห็นที่ 18 โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 11:28:20

ตกหล่นไปหน่อยครับ

กับบุคลลที่ฝึกสติ หรือ ดูจิต ที่ชำนาญแล้ว เมื่อถูกหยิกแล้ว และมีสติเป็นเครื่องระลึกอยู่ จิตผู้รู้จะแยกจากอารมณ์คือความเจ็บ และเห็น"ความเจ็บ"นั้น พลุ่งขึ้น และค่อยๆจางหายไปตามระยะเวลา จนดับหายไปเป็นที่สุด


โดยคุณ พัลวัน วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 11:28:20


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:30:10 PM
ความเห็นที่ 19 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 11:28:45

อีกหน่อยครับ คือผมนึกไม่ออกว่าคุณ nonborn คือใคร
แต่ที่ว่า "สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือรู้ตัวให้บ่อยขึ้น ถี่ขึ้น
ตามแต่กำลังของสติที่จะทำได้ในชีวิตประจำวัน" นั้น

อยากให้ปรับการปฏิบัตินิดหนึ่งครับ
คือแทนที่จะพยายามรู้ตัวให้บ่อยขึ้น
ขอให้พยายามรู้ว่าหลง เผลอ เพ่ง คิด ให้ไวขึ้นก็พอแล้วครับ
เพราะทันทีที่รู้ตัวว่าเผลอ หรือเพ่ง
ขณะนั้นรู้ตัวเรียบร้อยแล้วครับ
ถ้าไปพยายามรู้ตัว เดี๋ยวจะเผลอไปสร้างความรู้ตัว(ปลอมๆ) ขึ้นมาครับ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 11:28:45


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:30:45 PM
ความเห็นที่ 20 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 13:38:15

ที่คุณพัลวันกล่าวว่า "ปกติแล้วจิตจะรู้ปรมัตถธรรมอยู่แล้ว
ไม่ว่าบุคคลนั้นจะปฎิบัติหรือไม่ปฎิบัติ"
ตรงนี้รวบรัดไปหน่อยครับ ความจริงจิตบางดวงเท่านั้นที่รู้อารมณ์ปรมัตถ์
บางดวงก็รู้อารมณ์ที่เป็นบัญญัติ

ผู้ไม่ได้ปฏิบัตินั้น เมื่อรู้อารมณ์อันเป็นปรมัตถ์แล้ว
(เช่นรูปที่ปรากฏให้รู้ด้วยจักขุวิญญาณ ฯลฯ)
ไม่มีสติ สมาธิ ปัญญา ที่จะเจริญวิปัสสนาได้
คือไม่มีสติระลึกรู้ธรรมที่กำลังปรากฏ (เช่นความรู้สึกเจ็บเมื่อถูกหยิก)
ไม่มีสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต
คือแทนที่จิตจะตั้งมั่นรู้อารมณ์ด้วยความเป็นกลาง กลับหลงไปทางอื่น
และไม่มีปัญญาเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของความรู้สึกเจ็บนั้น

ผู้ไม่ได้ปฏิบัติ พอเจ็บก็เกิดรู้สึกว่าเราเจ็บ
เอ็งทำให้เราเจ็บ แล้วเราก็โกรธต้องเล่นงานเอ็ง เป็นต้น
คือไม่เห็นสภาพปรมัตถธรรม ซึ่งไม่มีตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา
เห็นแต่สภาพธรรมที่สัญญาหมายมั่นว่าเป็นตัวตน บุคคล สัตว์ เรา เขา

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 13:38:15


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:31:32 PM
ความเห็นที่ 24 โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 20:26:37

สาธุครับ
_/\_

ที่จำได้แม่นๆก็คือเรื่องนี้แหละครับ เพราะผิดแบบจงใจ และถูกแบบไม่จงใจ
เลยต้องขอให้ครูช่วยย้ำตรงจุดนี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะมีแนวโน้มว่าน่า
จะผิดอีกหากไม่ย้ำให้ขึ้นใจกันอีกทีน่ะครับ
สำหรับเรื่องอื่นๆนั้นก็แบบเดียวกับครูแหละครับ แหะๆ
คลับคล้ายคลับคลาเหมือนกัน : )
วันนั้นคุณนิพไปด้วย จำอะไรได้ช่วยบอกทีนะครับ

บอกเคล็ดนิดนึงสำหรับคนที่จะไปหาครูแล้วไม่แน่ใจว่าจะกำหนดสติอย่างไร
จึงจะเรียกว่า กำหนดถูก ก็กำหนดสติแบบธรรมดาๆนี่เลยแหละครับ
แบบที่ใช้กับการทำงาน, เดินเล่น,ฯลฯ แล้วพลิกนิดเดียวตรงที่ ทันที่ที่กำหนด
มันจะเกิดความอยาก,ความไม่อยาก ให้ละตรงนี้เลย ทิ้งไปเลย
เรียกว่าธรรมดามากที่สุดเลยครับไม่ต้องคิดว่าตอนนี้จะทำอย่างไรต่อหน้าครู
เอาแค่ตอนที่เดินเข้าไป ก็มีสติรู้ว่าเดิน, นั่งก็รู้ว่านั่ง พอครูมาถ้าเกร็งจัด
ก็ขอตัวไปเข้าห้องน้ำล้างหน้าล้างตาแล้วกำหนดใหม่เอามันแค่นี้พอแล้วครับ
แล้วดูว่าผิดหรือถูกอย่างไร

จุดที่ผิดและจำได้ในขณะนี้คือเรื่อง
1. สมถะ-วิปัสนา
2. เจริญสติแบบถูกต้อง(ตามกระทู้นี้)
3. ฟุ้งในธรรม(เรื่องนี้สุดยอดแล้วครับ คือรนหาที่เอง : ) )

แรกๆปฏิบัติกำหนดสติ รู้ไปเรื่อยๆ รู้ไปรู้มาก็เริ่มคิดว่า เอนี่กำลังปฏิบัติวิปัสนา
อยู่ล่ะมั๊ง ก็ไม่ได้ทำสมาธิอยู่นี่ เจริญสติแบบนี้น่าจะเป็นวิปัสนา
จนได้เห็นครูเขียนกระทู้(หรือครูบอกผมไม่แน่ใจ)ว่า จิตคน(ชื่อ)นั้น"พร้อม"ที่จะปฏิบัติ
วิปัสนา ตอนนั้นก็เริ่มเอะใจว่า เองั้นแล้วที่ผ่านมาเราปฏิบัติอะไรอยู่หว่า
คิดอยู่พักนึง ก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร แต่ก็ยังเข้าข้างตัวเองอยู่นั่นแหละว่า
กำลังวิปัสนาด้วยกลัวว่าจะไม่มีปัญญา,กลัวไม่ได้เห็นธรรม
จนได้ปฏิบัติแบบถูกแต่ไม่รู้ว่าตอนนั้นปฏิบัติถูกคือ รู้อยู่
แต่ไม่สนใจว่านี่กำลังปฏิบัติธรรม ก็ปกติธรรมดามากๆ
และถัดมาได้เห็นสภาพของจิตที่ไม่มีกิเลสอยู่
ตอนนั้นแหละแจ่มแจ้งเลยว่า อ้อออ ถ้ามันไม่มีสภาพนี้อยู่ จะอย่างไรมัน
ก็เป็นสมถะหรือไม่ก็ผิดไปเลยเพราะจิตไม่มีความพร้อม คือยังไม่
สะอาดพอที่จะใส่อะไรดีๆเข้าไปได้ ยังเจือด้วยความคิด
ยังเจือด้วยความอยาก(ที่บางทีก็มองไม่ออก)
เมื่อจิตไม่มีความพร้อม วิปัสสนาไม่ได้ เนื่องจากผ้ามันยังสกปรกอยู่
ยังย้อมไม่ได้ต้องซักให้สะอาดก่อนจึงจะเป็นวิปัสนา
แล้วจึงกลายเป็นปัญญาในที่สุด

และหลังจากนั้น ยิ่งน่าเขกกะโหลกตัวเองเข้าไปใหญ่ ก็เพราะการปฏิบัติ
ไม่ว่าจะฟังมาจากครูบาอาจารย์ที่ใหน ท่านก็บอกว่า
"ปฏิบัติไปเถอะ ไม่ต้องไปสงสัยมัน"  ก็ยังไม่วายที่จะ
คิดโน่นคิดนี่ให้เสียเวลาไปเยอะเลยครับตอนนี้ก็สรุปว่า "ทำไปเถอะ"
แค่นี้แหละครับ
ขอบพระคุณครับ

โดยคุณ ธีรชัย วัน จันทร์ ที่ 29 มกราคม 2544 20:26:37


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:32:03 PM
ความเห็นที่ 26 โดยคุณ อี๊ด วัน อังคาร ที่ 30 มกราคม 2544 00:31:10

ผมเจอเหตุการณ์บางอย่างน่าสนใจทีเดียว

ผมเดินจงกรมอยู่
พยายามดูรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกาย
และไม่ให้จมลงไปในความคิดตัวเอง

พอเดินจงกรมได้สักพักใหญ่ๆ
มันเหมือนกับมีผู้รู้เทียมปรากฏจัดขึ้นในความรู้สึก
เราก็สังเกตไปเรื่อยๆ (เหมือนมันมาล่อลวง)
สักพักมันก็พลิกหายไป
กลายเป็นรับรู้ธรรมดาๆ ไปในการเดิน เคลื่อนไหวร่างกาย นึกคิด

กลับมาค้นอ่านกระทู้ดูจิต(47)ที่คุณอาเขียนไว้ว่า

เมื่อรู้ความยินดียินร้ายด้วยจิตที่เป็นกลางแล้ว
ความยินดียินร้ายจะดับไป เหมือนกับอารมณ์อื่นๆ นั่นเอง
กระทั่งความเป็น "กลาง" จอมปลอม ก็จะถูกทำลายไป
จิตก็จะเข้าถึงธรรมชาติรู้ที่เป็นกลาง
ก็ให้ผู้ปฏิบัติ รู้อยู่ที่ จิต หรือธรรมชาติรู้ที่เป็นกลางนั่นเอง


ทำให้ผมพอจะเข้าใจขึ้นมาบ้างแล้ว
เมื่อก่อนเราถูกหลอกด้วยผู้รู้เทียมนี้เอง
แถมยังเฝ้ารักษามันอีก(กลัวมันจะหายไป)
แล้วพยายามจะหามรรคผลบนผู้รู้เทียม
มันเลยได้แต่ของเทียมๆ

(มาเปิดnetเขียนกันสดๆ เข้าใจถูกผิดอย่างไรรบกวนคุณอาชี้แนะด้วยครับ)

โดยคุณ อี๊ด วัน อังคาร ที่ 30 มกราคม 2544 00:31:10


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:32:58 PM
ความเห็นที่ 29 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 30 มกราคม 2544 11:02:36

คุณอี๊ด ครับ
จิตที่ใช้เจริญวิปัสสนานั้น ได้แก่ จิตที่เป็นปกติธรรมดาที่สุดของมนุษย์นี้เองครับ
(ภูมิของมนุษย์ จึงเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าท่านมาตรัสรู้กัน เพราะเหมาะสมมาก)
ดังนั้น เมื่อจะทำวิปัสสนา ก็ให้รู้อารมณ์ของจริง ไปด้วยจิตที่เป็นปกติธรรมดานี่เอง
ไม่ต้องไปดัดแปลงจิตให้ เงียบ ขรึม ซึม นิ่ง ดิ่ง สว่าง ฯลฯ

แต่คนทั้งหลายนั้น มี จิตผิดปกติ ป่วยไข้ไปด้วยอำนาจของกิเลสอยู่เสมอๆ
ไม่มี จิตปกติ ที่จะเจริญวิปัสสนาได้จริงๆ
ดังนั้นในขั้นต้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องรักษาพยาบาลจิตที่ป่วยไข้ ให้เป็นจิตปกติเสียก่อน

เชื้อโรคร้ายที่ทำให้จิตป่วยไข้ มีอยู่ 5 ตัวด้วยกัน คือนิวรณ์ 5
ได้แก่ ความพึงใจในความสุขอย่างโลกๆ ความพยาบาทขุ่นเคืองใจ
ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ และความลังเลสงสัย
ถ้าสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในจิตใจ ก็ให้ผู้ปฏิบัติรู้ตรงเข้าไปที่นิวรณ์เหล่านี้เลย
เช่นเมื่อเกิดความลังเลสงสัยว่า เอ เราจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องนะ
แทนที่จะไปคิด หรือถามหาคำตอบ (ซึ่งจะหาไม่ได้)
ก็ให้ผู้ปฏิบัติมีสติระลึกรู้ตรงเข้าไปที่ความรู้สึกลังเลสงสัย เลยทีเดียว
(ไม่ใช่ไปดูเรื่องที่สงสัยนะครับ ให้รู้เข้าไปที่ตรงความรู้สึกสงสัย
ซึ่งเราทำคนรู้ได้อยู่แล้วตามธรรมชาติ
เหมือนอย่างที่เรารู้ว่า เราโกรธ เรารัก เราสบายใจ เราไม่สบายใจ นั่นเอง)

ทันทีที่จิตรู้ทันว่า กำลังสงสัยอยู่นั่นเอง
จิตก็เข้าถึงความเป็นปกติแล้ว คือเปลี่ยนจากผู้สงสัย เป็นผู้รู้ความสงสัย

จิตปกติธรรมดาของมนุษย์ อันเป็นจิตที่สุขภาพดีนั้น
เป็นเพียงจิตปกติ เป็นธรรมชาติธรรมดาที่สุด
มันจะทำหน้าที่รู้อารมณ์ทั้งปวงด้วยความเป็นกลาง
ไม่หลง ทั้งหลงแบบเผลอ หรือหลงเพ่ง
ไม่หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
และไม่จมลงไปในโลกของความคิดและจินตนาการ
เป็นจิตที่มีความรู้ ตื่น และเบิกบานน้อยๆ
(เหมือนที่คุณ nonborn กล่าวไว้นั่นเอง)

ทันทีที่รู้ว่าเผลอ ทันทีที่รู้ว่าเพ่ง ทันทีที่รู้ว่าโกรธ ทันทีที่รู้ว่ารัก
ทันทีที่รู้ว่าสุข ทันทีที่รู้ว่าทุกข์ ทันทีที่รู้ว่าจงใจปฏิบัติ ฯลฯ
ตรงนั้นแหละ จิตจะเป็นจิตปกติธรรมดาที่สุดแล้ว
แต่ถัดจากนั้น ผู้ปฏิบัติก็จะก้าวไปสู่ความหลงผิดรอบใหม่
โดยเกิดความตั้งใจที่จะรักษาจิตที่รู้ตัว หรือรักษาความรู้ตัวเอาไว้นานๆ
นับว่าผู้ปฏิบัติพลาดเสียแล้ว
คือพลาดจาก การรู้ สภาวธรรมที่กำลังปรากฏในปัจจุบันด้วยจิตที่ปกติที่สุด
ไปสู่ การคิด เตรียมการเพื่อให้ความรู้ตัวต่อเนื่อง อันเป็นเรื่องของอนาคต

ที่คุณอี๊ดปฏิบัติอยู่เดิมนั้น จะส่งจิตออกไปกำหนดรู้ตรงหน้า
จนเกิดความสว่างแล้วอยู่กับความสว่างนั้น
ตรงนี้เป็นการไม่รู้ทันจิตหลายซับหลายซ้อนครับ
ชั้นแรกสุดก็คือ เมื่อเกิดความตั้งใจ/จงใจ/ปรารถนา จะปฏิบัติ แล้วไม่รู้ทัน
ขั้นที่ 2 จิตเกิดพฤติกรรมไปตามแรงตั้งใจ/จงใจ/ปรารถนา นั้น
โดยจิตทะยานออกไปด้วยตัณหา ไปสร้างภพของนักปฏิบัติชั้นดีขึ้นมา
คือไปสร้างความสว่าง แล้วเพลินอยู่กับความสว่างนั้น
โดยคิดว่า นี่แหละคือการปฏิบัติ

ในภาวะนั้น ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่า เรารู้ตัวชัดเจน อะไรเกิดขึ้นก็รู้ชัดเจน
โดยไม่ทราบว่า นั่นคือ การรู้ปลอมๆ
ที่เราสร้างขึ้นมาด้วยความไม่รู้เท่าทันตั้งหลายซับหลายซ้อน
จิตผู้รู้ปลอมๆ นั้น จะถูกย้อมด้วยราคะบ้าง โมหะบ้าง
บางทีก็เป็นการรู้ตัวแบบเครียดๆ ตึงๆ
ไม่ใช่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แต่อย่างใด

เมื่อใดที่เราคุ้นเคยกับจิตที่เป็นปกติแล้ว หรือที่ผมเรียกว่ารู้ตัวเป็นแล้ว
เมื่อนั้นแหละ ผู้ปฏิบัติจึงจะพร้อมที่จะเจริญสติปัฏฐาน
คือให้มีปกติ มีสติระลึกรู้สภาพธรรมอันใดอันหนึ่งที่จิตถนัด
เช่นการไหวกาย การรู้พองยุบ การเปลี่ยนอิริยาบถ
การรู้ความสุข ความทุกข์ทางกาย หรือทางใจ
การรู้อกุศลธรรม และกุศลธรรม
การรู้พฤติกรรมของจิตใจในการก่อทุกข์ตามหลักอริยสัจจ์ ฯลฯ

ขณะที่เจริญสติปัฏฐานอยู่นั้น บางคราวมีสภาวธรรมที่รุนแรงแปลกปลอมขึ้นมา
สติก็จะระลึกรู้สภาพธรรมนั้น ด้วยจิตที่คงความเป็นปกติธรรมดาอย่างเดิมนั่นเอง
ไม่ใช่หลีกเลี่ยงการรู้สภาพธรรมที่จิตไปรู้เข้า
ด้วยการบังคับให้จิตรู้เฉพาะสภาพธรรม อันเป็นวิหารธรรมที่เราถนัดนั้นอย่างเดียว

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน อังคาร ที่ 30 มกราคม 2544 11:02:36


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 03, 2009, 04:34:01 PM
ความเห็นที่ 41 โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 31 มกราคม 2544 08:47:13

เรื่องการจงใจสร้างความรู้ตัว หรือสร้างจิตผู้รู้เทียมขึ้นมานั้น
เป็นเรื่องใหญ่มากครับ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติผิดพลาดกันมาก
ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะรู้อารมณ์ปรมัตถ์ ด้วยจิตที่เป็นกลาง หรือจิตปกติ ได้
เช่นเมื่อตาเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ จิตก็หลงไปตามความคิดนึกปรุงแต่ง
แทนที่จะรู้รูป ตามที่รูปปรากฏ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว
เช่นทรงสอนว่า จิตมีราคะก็รู้ว่ามีราคะ จิตไม่มีราคะก็รู้ว่าไม่มีราคะ
นี่แหละที่ท่านสอนให้รู้เข้าไปตรงๆ เลย และรู้แบบสักว่ารู้
แต่แทนที่ผู้ปฏิบัติจะรู้ตรงๆ ที่อารมณ์ของจริงที่กำลังปรากฏ
และรู้สักว่ารู้ ตามที่ท่านสอน
กลับไปพลิกแพลงการรู้ขึ้นมาหลายรูปแบบ
เช่นไปสร้างอารมณ์ขึ้นมาก่อน (เช่นแสงสว่าง) แล้วจึงรู้อารมณ์นั้น
อารมณ์นั้นจึงไม่ใช่ของจริง แต่เป็นของปลอมที่สร้างขึ้นมา
และขณะที่รู้ ก็ไม่ใช่รู้แบบสักว่ารู้ หรือรู้ไปด้วยจิตปกติธรรมดา
แต่ไปสร้างคุณภาพการรู้ขึ้นมาใหม่ คือทำผู้รู้ปลอมๆ เทียมๆ ขึ้นมา
สรุปได้ว่า อารมณ์ก็ผิด วิธีรู้อารมณ์ก็ผิดอีก
จึงไม่ได้ทำวิปัสสนากันเสียที

กรณีคุณหมอธุลีนั้น ไม่ใช่ว่าปฏิบัติไม่ดีนะครับ
เพียงแต่ดีอยู่ตรงนี้มานานแล้ว จึงต้องกระตุ้นให้เดินปัญญาเล็กน้อย
คือให้หันมาเฉลียวใจว่า จิตยังติดบางสิ่งบางอย่างอยู่
ซึ่งการติดนี้ ติดกันทุกคน จนกว่าจะบรรลุพระอรหันต์ครับ
เพียงแต่ถ้าไม่รู้ทันว่าติด ก็ก้าวต่อไปไม่ได้
ถ้าปัญญารู้ทันถึงจุดไหน ก็ปล่อยวางในจุดนั้นลงได้

มีเพื่อนคนหนึ่งเมล์มาบอกผมว่า
พวกเราบางคนคิดจะปฏิบัติด้วยการหยุดอยู่กับจิตผู้รู้
เพราะว่าได้พบจิตผู้รู้แล้ว
ผมฝากให้สังเกตจิตใจอย่างละเอียดนะครับ
เพราะผู้รู้อันนั้น ยังเป็นผู้รู้เทียมที่สร้างขึ้นมาด้วยสมถะ
ไม่ใช่จิตผู้รู้ที่เป็นปกติ เป็นธรรมชาติธรรมดาแต่อย่างใด
และผู้ที่จะปฏิบัติด้วยการหยุดพฤติกรรมของจิต(ด้วยปัญญา) แล้วรู้อยู่ที่รู้ นั้น
ต้องเป็นพระอนาคามีแล้วครับ
นอกนั้นจิตยังเคลื่อน ยังฝัน ยังมีพฤติกรรม ยังปรุงแต่งออกไปภายนอกทั้งสิ้น
หากนึกๆ ให้หยุดเอาตามใจชอบ จะกลายเป็นการจอดรถในที่ห้ามจอดนั่นเอง
สิ่งที่ควรทำขณะนี้ก็คือ การหัดรู้ตัวให้เป็น รู้ว่าอันใดจิต อันใดอารมณ์
รู้เท่าทันพฤติกรรมของจิต ที่มันหลงไปบ้าง มันเพ่งไปบ้าง
เมื่อสามารถรู้ทันพฤติกรรมของจิตได้แล้ว
จึงจะเริ่มรู้ปรมัตถ์ในฝ่ายนามธรรมได้
แล้วจึงมีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ด้วยจิตที่เป็นกลางๆ คือเป็นปกติธรรมดาของมนุษย์
เป็นจิตที่ไม่ถูกนิวรณ์ครอบงำนั่นเอง

สำหรับกระต่ายนั้น ที่ผ่านมา ผมดุเอาแรงๆ เสมอมา
เพราะการปฏิบัติเต็มไปด้วยความปรุงแต่ง ไม่เป็นธรรมชาติธรรมดา
ไม่ใช่การรู้ไปอย่างซื่อๆ ตรงๆ
แต่ไปพยายามปรุงแต่งการปฏิบัติขึ้นมา แล้วต้องการให้ครูอาจารย์ชมเชย
ถ้าผมไปชมเข้าอีกคนหนึ่ง ชาตินี้ก็จะปรุงแต่งเรื่อยไป เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี
เมื่อวันอาทิตย์นี้ได้เจอกระต่าย ก็เห็นว่าเริ่มรู้ตัวได้เป็นธรรมชาติมากขึ้นแล้ว
จึงต้องชมเสียหน่อยว่าดีขึ้น แต่ก็ยังต้องศึกษาต่อไปอีกครับ
ยังไม่เป็นธรรมชาติเต็มที่หรอกครับ

โดยคุณ ปราโมทย์ วัน พุธ ที่ 31 มกราคม 2544 08:47:13


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: the suffering ที่ ธันวาคม 04, 2010, 08:20:21 PM
จึ๋ย อะไรกันนักหนา

ทำสบาย ๆ  หลังจากผ่านความเพียรอย่างหนักมาแล้ว ;D


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: cleansuiplus ที่ เมษายน 11, 2011, 01:57:37 PM
ขอบคุณสำหรับเนื้อหาที่ดีๆสำหรับผมนะครับ


หัวข้อ: Re: คำถามเรื่อง ทำอย่างไรจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง (อ่านดีมากปิติ+ทบทวนการปฏิบัติ)
เริ่มหัวข้อโดย: noina ที่ พฤษภาคม 28, 2012, 09:33:48 PM
ไม่ยากสำหรับเรื่องนี้คือ ทำบ่อยๆ หมายถึงนั่งสมาธิประจำค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตก็จะสงบแล้วก็จะรู้ตัวได้ต่อเนื่องไปเอง ง่วงก็นอน หิวก็กิน นั่งสมาธิก็เลือกเอาเวลาที่เราตื่นตัว ปกติเวลาเช้าสงบจริงแต่กับเราจะง่วงเราก็เลยชอบนั่งตอนก่อนนอน ตอนเย็น บางทีก็ต้องอาศัยความมุ่งมั่นความตั้งใจจริงที่อยากจะฝืนทำเช่น เราจะต้องนั่งให้ได้สัก 1 ชม. เราก็ทนนั่งมันไปให้ได้สัก 1 ชม. มันจะเจ็บมันจะง่วงก็ปล่อยให้เจ็บปล่อยให้ง่วงไปมันจะสักเท่าไหร่เชียว แ
แต่ในระหว่างนั่งก็อาศัยกรรมฐานมาช่วยหลายอย่างก็ได้ หายใจเข้าลึกๆ ห้อง หายใจออกยาวๆ ซอ อันนี้ก็ดีช่วยให้จิตสงบภาวนา ห้องซออาจหายไป สักพักก็เปลี่ยนไปพิจารณากายไปทั่วๆ จากบนลงล่างจากล่างขึ้นบนแบบท่านโกเอ็นกาก็ได้รู้ความจริงทั้งทางโลกได้ด้วยตนเองคือจะเข้าใจสัจจะธรรมพื้นฐานจริงถ้าคงอยู่ก็คงไว้ ถ้าเบื่อก็พองยุบแล้วเพิ่มด้วยนั่งถูกแบบการฝึกของวัดพระธาตุจอมทองเชียงใหม่ เบื่ออีกก็ระลึกถึงพระพุทธรูปที่เราชอบหรือสงสัยในความเป็นไปชีวิตของเราก็พิจารณาไป อะไรก็ได้ที่เราเคยเรียนรู้เคยฝึกมา