KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 => กำลังใจ จากครูบา อาจารย์ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 10, 2009, 11:30:41 AM



หัวข้อ: การเดินจงกลมของท่านผู้รู้ในลานธรรม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 10, 2009, 11:30:41 AM
หลายๆหัวข้อที่ได้นำเสนอมาส่วนมากจะเป็นเรื่องการดูจิตล้วนๆ ซึ่งบางทีก็มีการประยุกต์ใช้กับการนั่งสมาธิแบบยุบหนอ-พองหนอ หรือ พุทโธ ซึ่งเมื่อเรานั่งสมาธิแล้วก็มาดูว่าจิตแอบหนีไปเที่ยวหรือปล่าว ซึ่งบางท่านจะบอกว่าหลงไปแล้วหรือปล่าว(แล้วแต่สำนวน) มาวันนี้เลยเอาเรื่องการเดินจงกรมมารวบรวมไว้จะได้ครบเดินยืนนั่งนอน แต่ เรื่องนอนยังไม่มีเดี๋ยววันหน้าจะหามาเก็บไว้ดีกว่า...

ก่อนอื่นต้อง เรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่าไม่ได้บังคับหรือเชียร์เรื่องการดูจิต แต่เป็นเพราะชอบเลยเอามารวบรวมไว้อ่านเล่นๆเพื่อ ทำตามไปเรื่อยๆ

..............................................

การดูจิต ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดเสมอไป
เพราะในความเป็นจริง ไม่มีวิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดในโลก
มีแต่ "วิธีปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด" เฉพาะของแต่ละบุคคลเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าถนัดจะเจริญสติปัฏฐาน อย่างใดก่อน ก็ทำไปเถิดครับ
ถ้า ทำถูกแล้ว ในที่สุดก็จะทำสติปัฏฐานหมวดอื่นๆ ได้ด้วย (แฮ่ๆย่อหน้านี้ก็ไปคัดลอกคำพูดของคุณสันตินันท์มาอีกแล้ว เฮ้อคิดเองไม่ค่อยจะเป็นเลยเรา)

..............................................


คุณริมฝั่ง สมาชิกลานธรรมได้รวบรวมกระทู้เก่าๆซึ่งเกี่ยวกับการเดินจงกรมเอาไว้ ผมเห็นว่ามีประโยชน์เลยเอามาเก็บไว้อ่าน ซึ่งในกระทู้มีหลายท่านเข้ามาตอบแต่ได้คัดลอกมาบางกระทู้เท่านั้น ซึ่งเป็นคำตอบของ คุณดังตฤณ คุณสันตินันท์ และคุณ แมวแก่ หากหัวข้อนี้จะพึงมีประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย ขอยกความดีทั้งหมดให้ คุณริมฝั่ง(ผู้รวบรวม) คุณสิทธิ(ผู้ถามปัญหา) คุณสันตินันท์ คุณแมวแก่ และคุณดังตฤณ(ผู้ตอบปัญหา)

เนื้อความ : (สิทธิ)

1. การเดินจงกรม ทำอย่างไรครับ
2. ในชีวิตประจำวัน จะปฏิบัติอย่างไร
3. ถ้าไม่สามารถทำอานาปานสติได้ จะใช้วิธีการเดินจงกรมทดแทนได้หรือเปล่า
4. ถ้าตั้งใจว่าจะเดินจงกรมสัก 30 นาที จะกะเวลาอย่างไร ตั้งนาฬิกาปลุกไว้ดีหรือเปล่า
ขอบคุณครับ

...........................................................................


ความคิดเห็น ของคุณ ดังตฤณ


หลายครั้งได้มีโอกาสดูสหธรรมิกหลายท่านเดินจงกรม
เห็นจุดที่ก่อให้เกิดความเหม่อ ไม่รู้เนื้อรู้ตัวแบบสั่งสมในทุกคน
วันนี้มีโอกาสเฝ้าชมอีกครั้ง
แม้แต่คนที่นึกว่าน่าจะเดินถูกก็ผิดเหมือนคนอื่น
เลยคิดว่าควรตั้งเป็นกระทู้โดยเฉพาะขึ้นมา
น่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนผู้แสวงที่สุดทุกข์ทั้งหลาย


ความผิดประการแรก

หลายคนสร้างภาพนักเดินจงกรมขึ้นมา
แทนที่จะกำหนดใจไว้ ว่าจะเดินเพื่อความรู้ที่เท้า
ผลคือจะเดินแบบแมวย่องขโมยปลาบ้าง
เดินแบบผีดิบกระตุกไปกระตุกมาบ้าง
หรือเดินแบบนักบุญผู้มีจิตใจเปี่ยมด้วยคุณธรรมบ้าง
นั่นเป็นการเดินด้วยจินตนาการในหัวทั้งสิ้น
ขอให้สังเกตว่าเมื่อเกิดความคิดฟุ้ง
ความฟุ้งนั้นจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับภาพนักเดินจงกรมที่สร้างขึ้นมาทันที
เพราะเส้นแบ่งระหว่างจินตนาการกับความคิดฟุ้งซ่านนั้นบางเฉียบ
วิธีแก้คือเดินเหินให้เป็นธรรมชาติ เดินแบบคนดีๆเขาเดินกัน
ต่างจากทั่วไปคือไม่เร่งรีบเหมือนตามโจร
แล้วก็ไม่ช้าเหมือนคนตกงาน
ให้ความสำคัญกับใจ ใจต้องจ่ออยู่กับเท้า


ความผิดประการที่สอง

หลายคนยกและเหยียบแบบเกร็งนิดๆ
ผลคือใจพลอยเกร็งตามกาย นานๆเข้าก็รู้สึกว่าการเดินจงกรมเป็นของหนัก
เป็นภาระไม่สบาย น่าอึดอัด ทำให้อยากเลิกเร็วๆ
แล้วไม่นึกพิศวาสจะกลับมาเดินอีก
บางคนอาจได้ความสงบ แต่ไม่ได้ความสบาย
เพราะใจที่กดอยู่ตลอดนั้น แม้นิ่ง ก็ไม่ใช่แบบรวมดวงหนักแน่น
ไม่ใช่แบบจิตใสใจเบา และยิ่งไม่ใช่แบบที่จะรู้ทั่วพร้อม
(บางจังหวะอาจฟลุกเข้าโฟกัสตั้งมั่น เห็นทั่วเหมือนกัน
แต่จิตจะกระด้าง แห้งแล้ง ด้วยความเกร็งสั่งสม)
วิธีแก้คือปล่อยเท้าสบายๆ เหมือนคนเดินเตะเท้าเล่นตอนยก
และเหมือนคนชอบวางเท้าลงเต็มๆฝ่าเท้า
ใจเย็นสังเกตทุกฝีก้าว อย่าให้หลุดจากความสบายเป็นความเครียดเกร็ง
เดินอย่างนี้แค่สองสามรอบก็จะเป็นอัตโนมัติ ไม่ได้ฝืนอะไร
ถ้าเหยียบลงเต็มฝ่าเท้าสบายๆอย่างต่อเนื่อง
สะท้อนให้เห็นว่าใจลงมาอยู่กับเท้าไม่ขาดระยะ


ความผิดประการที่สาม

ทุกคน (ที่ผมมีโอกาสเฝ้าชมการเดินจงกรมสด)
หมุนตัวกลับแบบเปิดโอกาส หรือสร้างช่องโหว่ให้ความเหม่อมาครอบงำ
กล่าวคือสมมุติว่าเท้าขวาเป็นก้าวเหยียบสุดท้ายของรอบ
ก็จะใช้เท้าขวานั้นเป็นจุดหมุนตัวทันที
และหมุนแบบครึ่งเร็วครึ่งช้า
ผมเห็นว่าด้วยอาการที่ว่านั้น สติของทุกคนหายไป หรืออย่างน้อยเลือนไป
เพราะจังหวะที่คงเส้นคงวามาตลอด ถูกทำให้ขาดสาย หรือชะงักลง
ความเหม่อสั่งสมนี้มีผลเสียหลายอย่าง
ระยะสั้นคือทำให้จิตขาดความต่อเนื่อง ต้องพยายามดึงกลับมาใหม่
ระยะยาวคือทำให้สติไม่เชื่อมกันสนิท
เหมือนเส้นทางยาวที่มีหลุมมีบ่อเป็นพักๆ
วิธีหมุนตัวกลับที่ถูกจึงควรหยุดก่อนหมุนนิดหนึ่งเพื่อตั้งหลักรู้
กล่าวคือสมมุติว่าเท้าขวาเป็นก้าวสุดท้ายที่ถึงจุดหยุด
ต้องให้เท้าซ้ายตามเข้ามาชิดอย่างมีวินัย แล้วพักจังหวะหนึ่ง
(จังหวะใจจะนับเท่ากับก้าวเท้าหนึ่งก้าว)
แล้วหมุนตัวแบบที่ใจจะนับจังหวะเดียวเท่ากับหนึ่งก้าวเช่นกัน
(อาจไม่ต้องดูทะมัดทะแมงถึงขนาดลูกเสือ-เนตรนารีกลับหลังหัน)
พอหันกลับมาต้องตั้งหลักหยุดเพื่อนับในใจเท่ากับหนึ่งจังหวะก้าวด้วย

ความคงเส้นคงวาและจังหวะจะโคนที่สม่ำเสมอนั้น
ถ้าทำได้อย่างต่อเนื่องจะเห็นผลเปลี่ยนแปลงทันตาเห็น
ทดลองดูนะครับ ด้วยความปรารถนาดี.

จากคุณ : ดังตฤณ [ 14 ก.พ. 2543 / 00:25:17 น. ]




หัวข้อ: Re: การเดินจงกลม ของท่านผู้รู้ในลานธ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 10, 2009, 11:30:54 AM
...........................................................................

ความคิดเห็นที่ 2 : (สันตินันท์)

ผมเดินจงกรมเหมือนกับนั่งสมาธิครับ
เพียงแต่ตอนเดิน จะรู้การเคลื่อนไหวของกายกับจิต
(แล้วแต่ว่า ขณะนั้น สติจะจดจ่อลงที่ใด)
ส่วนตอนนั่งและนอน จะรู้ลมหายใจกับจิต

จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่การยืน เดิน นั่ง นอน
แต่อยู่ที่ความต่อเนื่องของสติและสัมปชัญญะ

ระดับความเร็วของการเดิน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีปัญหามาก
บางคนจะพยายามเดินช้า - ช้ามาก - ช้าที่สุด
ก้าวหนึ่งกำหนดได้ 6 - 7 จังหวะ
แต่บางคนก็เดินเร็วเหมือนตามควาย (คุณดังตฤณใช้คำว่าตามโจร
ซึ่งผมเห็นว่า ตามโจรบางทีก็ต้องซุ่ม ต้องย่องย่าง ไม่เร็วเสมอไปหรอก :) )

การเดินเร็วโดยนับจังหวะก้าวไปด้วย หรือบริกรรมไปด้วย
อาจจะมีประโยชน์บ้าง ในตอนที่จิตฟุ้งซ่าน
คือเดินและนับหรือบริกรรมเร็วๆ จิตจะได้ไม่มีเวลาไปคิดเรื่องอื่น

ส่วนการเดินช้า - ช้ามาก - ช้าที่สุด นั้น
เขาว่ากันว่าเพื่อให้กำหนดสติทัน
แต่ผมเดินแบบนั้นไม่เป็น จึงไม่เห็นประโยชน์ของการเดินช้าเพื่อให้สติตามทัน
กลับเห็นว่า เราควรฝึกสติสัมปชัญญะให้ไว ให้ทันการเดินปกติให้ได้
เพื่อจะเจริญสติสัมปชัญญะได้จริงในชีวิตประจำวัน
แต่อันนี้ เป็นเรื่องความถนัดส่วนตัวครับ ใครอยากเดินอย่างไรก็ไม่ว่ากัน
ให้มีสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่องได้จริงๆ ก็แล้วกัน

ถ้าสติไวจริงๆ แค่เอื้อมมือหยิบแก้วน้ำมาดื่มด้วยความเร็วปกติ
หรือก้าวเท้าเดินจงกรมด้วยความเร็วปกติ
ก็จะเห็นรูปเกิดดับต่อเนื่องกันถี่ยิบ ไม่ผิดกับภาพการ์ตูนเลย
นับไม่ทันด้วยซ้ำไปว่า มันกี่สิบกี่ร้อยจังหวะกันแน่
และการไล่นับ ก็จะเป็นภาระอันใหญ่หลวง เข้าขั้นทรมานจิตทีเดียว
เหมือนกับการพยายามนับเม็ดฝนที่ตกลงต่อหน้าเรา

เวลาเดินจงกรมนั้น จุดสำคัญอยู่ตอนที่จะหยุด หมุนตัว และเริ่มก้าวเดินใหม่
อันนี้จริงอย่างที่คุณดังตฤณกล่าวไว้
ยิ่งถ้าอายุมากแบบผม ขืนเดินพรวดพราดไปสุดทางจงกรม
ก็เหวี่ยงเท้าหมุนตัวกลับหลังหันทันที
ถึงสติจะไม่เคลื่อน แต่สังขารร่างกายเคลื่อนแน่นอน
ดีไม่ดีหน้ามืด ล้มคว่ำเอาง่ายๆ
ดังนั้นเดินไปสุดทางจงกรมแล้วหยุดอย่างสบายๆ เสียก่อน
ทำความรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วค่อยหมุนตัวกลับ
จะเห็นรูปกายเกิดดับต่อเนื่องกันถี่ยิบในตอนหมุนตัว
แล้วก็มาหยุดรู้รูปยืนสักหน่อยหนึ่ง พอตั้งมั่นไม่ซวนเซแล้วจึงค่อยเดินต่อไป

งานกรรมฐานเป็นงานละเอียด
ปฏิบัติไปอย่างสบายๆ ประณีต เป็นธรรมชาติธรรมดา
อย่าไปปฏิบัติด้วยแรงจูงใจของกิเลส จนต้องวางมาดเป็นผู้ปฏิบัติ
แต่ถ้ากำลังจงใจ กำลังวางมาด กำลังกดข่มบังคับกายและจิต
ก็ให้คอยรู้เท่าทันไว้
เดี๋ยวมันก็เป็นธรรมดาเองแหละครับ

จากคุณ : สันตินันท์ [ 14 ก.พ. 2543 / 09:21:01 น. ]