KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

พระไตรปิฏก : พระอภิธรรม พระสูตร พระคัมภีร์ => พระอภิธรรมปิฏก => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ มกราคม 14, 2009, 06:09:53 PM



หัวข้อ: ปรมัตถธรรมสังเขป
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 14, 2009, 06:09:53 PM
ปรมัตถธรรมสังเขป
โดย สุจินต์ บริหารวนเขตต์

จิตปรมัตถ์


ขณะที่เห็นสีต่างๆ ทางตานั้น ตาไม่เห็นอะไร ตาเป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้เกิดการเห็น ซึ่งเป็นจิต เมื่อเสียงกระทบหู หูไม่ใช่จิต เพราะเสียงและหูไม่รู้อะไร แต่สภาพธรรมที่ได้ยินเสียง หรือรู้เสียงนั้นเป็นจิต ฉะนั้น จิตปรมัตถ์จึงเป็นสภาพธรรมที่รู้สี รู้เสียง รู้สิ่งต่างๆ ปรมัตถธรรมคือ สภาพธรรมที่มีจริงนี้เป็นอภิธรรม เป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่ประสูติ และตรัสรู้ สภาพธรรมทั้งหลาย ก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่แล้ว [อังคุตตรนิกาย อุปปาทสูตร ข้อ ๕๗๖] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระบรมศาสดา เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมทั้งปวงด้วยพระองค์เองว่า ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และธรรมทั้งปวง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใดทั้งสิ้น

คำว่า อภิ แปลว่ายิ่งใหญ่ อภิธรรม คือ ธรรมที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงเทศนาธรรมทั้งปวงที่ทรงตรัสรู้ พร้องทั้งเหตุปัจจัยของธรรมทั้งปวงนั้น โดยสภาพความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ พระองค์ทรงเคารพธรรมที่ทรงตรัสรู้ [สังยุตตนิกาย คารวสูตรที่ ๒ ข้อ ๕๖๐] พระองค์มิได้ทรงเทศนาว่า ธรรมทั้งปวงอยู่ในอำนาจของพระองค์ แต่ทรงเทศนาว่า แม้พระองค์เองก็ไม่สามารถบันดาลให้ผู้ใดพ้นทุกข์ หรือบรรลุมัคค์ ผล นิพพานได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมเท่านั้น ที่เป็นปัจจัยให้ผู้ปฏิบัติบรรลุมัคค์ ผล นิพพาน และพ้นทุกข์ได้

ปรมัตถธรรม หรืออภิธรรมนั้น มิใช่ธรรมที่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่มีจริง ฉะนั้น ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก จึงเป็นการรู้ความจริงของปรมัตถธรรม ตามสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ

จิตเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้น รู้สี รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รู้สิ่งต่างๆ ตามประเภทของจิตนั้นๆ เช่น จิตที่เกิดขึ้นเห็นสีทางตาเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตที่เกิดขึ้นได้ยินทางหูเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตที่เกิดขึ้นรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหวทางกายเป็นจิตประเภทหนึ่ง จิตคิดนึกที่เกิดขึ้นรู้เรื่องต่างๆ ทางใจเป็นจิตประเภทหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้ตามประเภทของจิต และตามปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้นๆ

ในขณะที่จิตกำลังเห็นสิ่งใดอยู่นั้น ขณะนั้นมิได้มีแต่เฉพาะจิตที่เห็นเท่านั้น หรือมิได้มีแต่เฉพาะสิ่งที่จิตเห็นเท่านั้น แต่ต้องมีทั้งจิตเห็นและสิ่งที่จิตเห็น เมื่อมีสิ่งที่ถูกเห็นขณะใด ก็แสดงว่าขณะนั้นต้องมีสภาพเห็น คือจิตเห็นด้วย แต่ถ้ามุ่งสนใจแต่เฉพาะวัตถุ หรือสิ่งที่ถูกเห็นเท่านั้น ก็จะทำให้ไม่รู้ความจริงว่า สิ่งที่ถูกเห็นนั้นจะปรากฏได้ก็เพราะจิตเกิดขึ้นทำกิจเห็นสิ่งนั้น ในขณะคิดนึกก็เช่นเดียวกัน เมื่อจิตคิดนึกเรื่องใด เรื่องราวนั้นเป็นคำที่จิตกำลังคิดนึกอยู่ขณะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งที่จิตรู้นั้น ภาษาบาลีเรียกว่า อารมฺมณ

คำว่า อารมฺมณ (อารมณ์) หรือ อาลมฺพน ในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น หมายถึงสิ่งที่จิตรู้ ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอารมณ์ของจิตนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง เสียงก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้กลิ่น กลิ่นก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นลิ้มรส รสก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว เย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นคิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ก็เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังคิดนึกขณะนั้น ดังนี้ เป็นต้น เมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์คู่กันไปทุกครั้ง จิตเกิดขึ้นขณะใด จะต้องรู้อารมณ์ขณะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นแล้วไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ หรือจะมีแต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้ โดยไม่มีอารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็ไม่ได้

จิตซึ่งเป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์นั้น มิใช่มีแต่ในพระพุทธศาสนา หรือเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้นนั้นเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่เชื้อชาติใดๆ ทั้งสิ้น การที่บัญญัติว่าเป็นบุคคลนี้เห็น สัตว์นั้นได้ยิน เป็นต้น ก็โดยอาศัยรูปและการจำ ถ้าไม่มีรูปและการจำ ก็ย่อมจะบัญญัติจิตเห็น จิตได้ยินนั้นๆ ว่าเป็นบุคคลนี้เห็น หรือเป็นสัตว์นั้นได้ยินไม่ได้ จิตเป็นปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็นของสัตว์ใด บุคคลใด จิตเห็นที่เกิดขึ้นนั้น ก็จะต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตได้ยินก็จะต้องได้ยินเสียง จิตเห็นจะรู้เสียงไม่ได้ และจิตได้ยินจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ ไม่มีผู้ใดมีอำนาจบังคับบัญชา ให้ปรมัตถธรรมเปลี่ยนลักษณะ และสภาพของปรมัตถธรรมนั้นๆ เป็นอย่างอื่นได้ จิตซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น เมื่อไม่มีปัจจัย จิตก็เกิดไม่ได้ เช่น เมื่อเสียงไม่เกิดขึ้นกระทบหู จิตได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อกลิ่นไม่เกิดขึ้นกระทบจมูก จิตรู้กลิ่นก็เกิดไม่ได้ จิตแต่ละประเภทจะเกิดขึ้นได้ ก็เพราะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้นๆ ฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นจึงต่างกันเป็น ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภท โดยพิเศษ (ซึ่งเรียกว่า ๘๙ ดวงหรือ ๑๒๑ ดวง) และปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทหนึ่งๆ นั้นก็ไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียว แต่ต้องมีหลายปัจจัย เช่น จิตเห็นเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย คือตาซึ่งได้แก่ จักขุปสาท และรูป คือสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นต้น

จิตเป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่รูป ปรมัตถธรรมใดไม่ใช่รูป ปรมัตถธรรมนั้นเป็นนามธรรม จิต เจตสิก นิพพานเป็นนามธรรม รูปเป็นรูปธรรม [ธรรมสังคณีปกรณ์ นิกเขปกัณฑ์ ข้อ ๘๔๔]

 

เจตสิกปรมัตถ์

ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น มีนามปรมัตถ์อีกประเภทหนึ่งเกิดร่วมกับจิต และรู้อารมณ์เดียวกับจิต นามปรมัตถ์นั้นคือเจตสิก เจตสิกได้แก่ ความโกรธ ความรัก ความสุข ความทุกข์ ความตระหนี่ ความริษยา ความเมตตา ความกรุณา เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้เป็นเจตสิกปรมัตถ์ ไม่ใช่จิตปรมัตถ์

ความโกรธ ความรัก ความสุข ความทุกข์ เป็นต้นนั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต ถ้าไม่มีจิต เจตสิกคือ ความโกรธ ความรัก ความทุกข์ เป็นต้นนั้น ก็เกิดไม่ได้ เจตสิกปรมัตถ์มี ๕๒ ประเภทหรือเรียกว่า ๕๒ ดวง เช่น ความโกรธ (โทสะ) ก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง มีลักษณะหยาบกระด้างดุร้าย ความรักก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง คือ โลภเจตสิก มีลักษณะยึดติด ไม่สละและปรารถนาอารมณ์ จะเห็นได้ว่า เจตสิกแต่ละประเภทเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่สภาพธรรมอย่างเดียวกัน นอกจากมีลักษณะต่างกัน กิจของเจตสิกแต่ละอย่างก็ต่างกัน ผลคืออาการที่ปรากฏก็ต่างกัน และเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเจตสิกแต่ละประเภทก็ต่างกัน

จิตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์ เป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์และเกิดร่วมกัน เจตสิกเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และเกิดที่เดียวกับจิต คือ จิตเกิดดับที่ไหน เจตสิกก็เกิดดับที่นั่น จิตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์นั้นไม่แยกกัน คือไม่เกิดดับแต่เพียงปรมัตถ์เดียว จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ส่วนเจตสิกต่างๆ ที่เกิดร่วมกับจิต ก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต แต่มีลักษณะและหน้าที่ในการรู้อารมณ์นั้นต่างกันไปตามลักษณะ และกิจการงานของเจตสิกแต่ละประเภท เพราะเหตุที่จิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้นนั้น มีเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วยมากน้อยต่างๆ กัน และเป็นเจตสิกต่างประเภทกัน จึงทำให้จิตต่างกันเป็น ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท โดยพิเศษ จิตแต่ละประเภทนั้นไม่เหมือนกัน โดยรู้อารมณ์ต่างกันบ้าง โดยทำกิจต่างกันบ้าง โดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างกันบ้าง เช่น จิตบางดวงมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ จิตบางดวงมีเสียงเป็นอารมณ์ จิตบางดวงทำกิจเห็น จิตบางดวงทำกิจได้ยิน เป็นต้น จิตบางดวงมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตบางดวงมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดังนี้เป็นต้น

เมื่อเวไนยสัตว์ฟังพระอภิธรรม ก็พิจารณาสภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏ ด้วยปัญญาที่ได้อบรมสะสมมาแล้วในอดีต จึงรู้ความจริงของปรมัตถธรรมในขณะนั้นได้ ด้วยเหตุนี้ในครั้งพุทธกาล เมื่อพระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมจบลง จึงมีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมาก เพราะท่านเหล่านั้นฟังพระธรรมเข้าใจ และพิจารณารู้ความจริงของสภาพปรมัตถธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เช่น เมื่อพระองค์ทรงเทศนาว่า จักขุวิญญาณ คือจิตที่ทำกิจเห็นนั้นไม่เที่ยง ท่านเหล่านั้นก็มีสติสัมปชัญญะ รู้สภาพลักษณะของจิตในขณะที่กำลังเห็นนั้นได้ถูกต้อง ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะที่กำลังได้ยิน ท่านเหล่านั้นก็มีสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่กำลังได้ยินนั้น เมื่อปัญญารู้แจ้งลักษณะไม่เที่ยง เกิดดับ เป็นทุกข์ ของปรมัตถธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น แล้วก็ละคลายความยินดีเห็นผิด ที่ยึดถือปรมัตถธรรมเหล่านั้นเป็นตัวตน เที่ยง และเป็นสุข ฉะนั้น พึงเข้าใจให้ถูกต้องว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงเทศนาสั่งสอน ซึ่งได้รวบรวมบันทึกไว้เป็นพระไตรปิฎกนั้น เป็นเรื่องความจริงของสภาพธรรมทั้งปวง เมื่อศึกษาและเข้าใจปรมัตถธรรมแล้ว ก็ควรพิจารณาปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อรู้แจ้งลักษณะความจริงของ ปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏนั้น จึงจะละความสงสัยและความไม่รู้ ในสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมได้อย่างแท้จริง

การศึกษาเพื่อให้เข้าใจปรมัตถธรรมนั้น จะต้องพิจารณาถึงเหตุผลจึงจะเข้าใจได้แจ่มแจ้ง เช่น จะต้องรู้ว่าสภาพที่เห็นกับสภาพที่ได้ยินนั้นเหมือนกันหรือไม่ ถ้าเหมือนกัน เหมือนกันอย่างไร ถ้าไม่เหมือน ไม่เหมือนกันอย่างไร สภาพเห็นและสภาพได้ยินเป็นจิตปรมัตถ์ก็จริง แต่ไม่ใช่จิตเดียวกัน เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดต่างกัน จิตเห็นนั้นต้องอาศัยสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาทเป็นปัจจัยจึงจะเกิดได้ ส่วนจิตได้ยินต้องอาศัยเสียงกระทบกับโสตปสาทเป็นปัจจัยจึงจะเกิดได้ จิตเห็นและจิตได้ยินมีกิจต่างกันและเกิดจากปัจจัยต่างกัน

ขอบคุณความรู้ธรรมจาก : ท่านอาจารย์สุจินต์  บริหารวนเขตต์ http://www.dharma-gateway.com (http://www.dharma-gateway.com)


หัวข้อ: Re: ปรมัตถธรรมสังเขป
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 01, 2009, 12:17:18 AM
ปรมัตถธรรม 4

   สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์, สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด - ultimate realities; abstract realities; realities in the ultimate sense)

1. จิต (สภาพที่คิด, ภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ - consciousness; state of consciousness)

2. เจตสิก (สภาวะที่ประกอบกับจิต, คุณสมบัติและอาการของจิต - mental factors)

3. รูป (สภาวะที่เป็นร่าง พร้อมทั้งคุณและอาการ - matter; corporeality)

4. นิพพาน (สภาวะที่สิ้นกิเลสและทุกข์ทั้งปวง, สภาวะที่ปราศจากตัณหา)

   ดู รายละเอียดแต่ละอย่างใน [356] จิต 89; [355] เจตสิก 52; [38] รูป 38; [27] นิพพาน 2.

   นิยมประมวลสภาวธรรมเข้าเป็น 4 อย่าง เรียกว่า ปรมัตถธรรม 4 จิต เป็นปรมัตถธรรมอย่างที่ 1; ดู [157] ปรมัตถธรรม 4; [216] ขันธ์ 5.
คัมภีร์อภิธรรมรุ่นอรรถกถา ประมวลเรื่องจิตที่แสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎกแล้ว แจงนับสภาพจิตทั้งหลายไว้ว่ามีจำนวน 89 หรือโดยพิสดารมี 121 เรียกว่า จิต 89 หรือ 121
เบื้องต้นนี้ จะประมวลจิตทั้งหมดไว้เป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ ก่อน เพื่อสะดวกในการศึกษากำหนดจดจำและทบทวนต่อไป ในที่นี้ พึงทราบวิธีจำแนกประเภท 2 แบบ เปรียบเทียบกัน ดังนี้ *
----------------------------------------------
* ท่านเรียบเรียงเป็นคาถาสรุปความไว้ ดังนี้

  ทฺวาทสากุสลาเนว กุสลาเนกวีสติ
  ฉตฺตึเสว วิปากานิ กฺริยาจิตฺตานิ วีสติ ฯ
  จตุปญฺญาสธา กาเม รูเป ปณฺณรสีริเย
  จิตฺตานิ ทฺวาทสารูเป อฏฺฐธานุตฺตเร ตถา ฯ
  อิตฺถเมกูนนวุติปฺ ปเภทํ ปน มานสํ
  เอกวีสสตํ วาถ วิภชนฺติ วิจกฺขณา ฯ

  ก. โดยชาติประเภท
1. อกุศลจิต 12
- โลภมูลจิต 8
- โทสมูลจิต 2
- โมหมูลจิต 2
2. กุศลจิต 21 (37)
- มหากุศลจิต 8
- รูปาวจรกุศลจิต 5
- อรูปาวจรกุศลจิต 4
- โลกุตตรกุศลจิต 4 (20)
3. วิปากจิต 36 (52)
- อกุศลวิบากจิต 7
- กุศลวิบากอเหตุกจิต 8
- มหาวิบากจิต 8
- รูปาวจรวิบากจิต 5
- อรูปาวจรวิบากจิต 4
- โลกุตตรวิบากจิต 4 (20)
4. กิริยาจิต 20
- อเหตุกกิริยาจิต 3
- มหากิริยาจิต 8
- รูปาวจรกิริยาจิต 5
- อรูปาวจรกิริยาจิต 4

  ข. โดยภูมิประเภท
1. กามาวจรจิต 54
1) อกุศลจิต 12
- โลภมูลจิต 8
- โทสมูลจิต 2
- โมหมูลจิต 2
2) อเหตุกจิต 18
- อกุศลวิบากจิต 7
- กุศลวิบากอเหตุกจิต 8
- อเหตุกกิริยาจิต 3
3) กามาวจรโสภณจิต 24
- มหากุศลจิต 8
- มหาวิบากจิต 8
- มหากิริยาจิต 8

  2. รูปาวจรจิต 15
1) รูปาวจรกุศลจิต 5
2) รูปาวจรวิบากจิต 5
3) รูปาวจรกิริยาจิต 5
3. อรูปาวจรจิต 12
1) อรูปาวจรกุศลจิต 4
2) อรูปาวจรวิบากจิต 4
3) อรูปาวจรกิริยาจิต 4

  4. โลกุตตรจิต 8 (x ฌาน 5 = 40)
1) โลกุตตรกุศลจิต 4 (20)
2) โลกุตตรวิบากจิต 4 (20)

หมายเหตุ : ตัวเลขในวงเล็บ ( ) หมายถึงจำนวนอย่างพิสดาร เมื่อนับจิตเป็น 121 (พึงสังเกตว่าจำนวนจะเพิ่มเฉพาะ โลกุตตรจิต อย่างเดียว คือ โลกุตตรจิต อย่างย่อมี 8 อย่างพิสดารจำแนกออกไปตามฌานทั้ง 5 เป็น 40)

  ต่อไปจะแสดง จิต 89 [122] ตามแบบภูมิประเภท (แบบชาติประเภทพึงกำหนดเอาจากแบบภูมิประเภทนี้ ตามหัวข้อที่แสดงไว้แล้ว)

  1. กามาวจรจิต 54 (จิตที่เป็นไปในกามภูมิ ? consciousness of the Sense-Sphere)
1) อกุศลจิต 12 (จิตอันเป็นอกุศล ? immoral consciousness) อกุศลจิตมีแต่ที่เป็นกามาวจรนี้เท่านั้น คือ
โลภมูลจิต 8 (จิตมีโลภะเป็นมูล ? consc rooted in greed)
1. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
2. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
3. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
4. โสมนสฺสสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
5. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
6. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
7. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
8. อุเปกฺขาสหคตํ ทิฏฺฐิคตวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

1. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีการชักนำ
2. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ มีการชักนำ
3. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีการชักนำ
4. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ มีการชักนำ
5. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีการชักนำ
6. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ มีการชักนำ
7. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ ไม่มีการชักนำ
8. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ มีการชักนำ

1. One consc, acc by joy, asso with wrong view, unprompted.*
* consc = consciousness; acc = accompanied; asso = associated; diss = dissociated; indif = indiffernce.

2. One consc, acc by joy, asso with wrong view, prompted.
3. One consc, acc by joy, disso from wrong view, unprompted.
4. One consc, acc by joy, disso from wrong view, prompted.
5. One consc, acc by indif, asso with wrong view, unprompted.
6. One consc, acc by indif, asso with wrong view, prompted.
7. One consc, acc by indif, disso from wrong view, unprompted.
8. One consc, acc by indif, disso from wrong view, prompted.

  โทสมูลจิต 2๑ (จิตมีโทสะเป็นมูล ? consc rooted in hatred)
๑ เรียก ปฏิฆสัมปยุตตจิต ก็ได้.

1. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
2. โทมนสฺสสหคตํ ปฏิฆสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

1. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโทมนัสสเวทนา ประกอบด้วยปฏิฆะ ไม่มีการชักนำ
2. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโทมนัสสเวทนา ประกอบด้วยปฏิฆะ มีการชักนำ

1. One consc, acc by grief, asso with resentment, unprompted.
2. One consc, acc by grief, asso with resentment, prompted.

  โมหมูลจิต หรือ โมมูหจิต 2 (จิตมีโมหะเป็นมูล ? consc rooted in delusion)
1. อุเปกฺขาสหคตํ วิจิกิจฺฉาสมฺปยุตฺตํ
2. อุเปกฺขาสหคตํ อุทฺธจฺจสมฺปยุตฺตํ

1. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยวิจิกิจฉา
2. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยอุทธัจจะ

1. One consc, acc by indif, asso with uncertainty.
2. One consc, acc by indif, asso with restlessness.

  2) อเหตุกจิต 18 (จิตอันไม่มีสัมปยุตตเหตุ คือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ 6 ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ? rootless consc)
อกุศลวิบากจิต 7 (จิตที่เป็นผลของอกุศล ? rootless resultant-of-immorality consc)
1. อุเปกฺขาสหคตํ จกฺขุวิญฺญาณํ
2. อุเปกฺขาสหคตํ โสตวิญฺญาณํ
3. อุเปกฺขาสหคตํ ฆานวิญฺญาณํ
4. อุเปกฺขาสหคตํ ชิวฺหาวิญฺญาณํ
5. ทุกฺขสหคตํ กายวิญฺญาณํ
6. อุเปกฺขาสหคตํ สมฺปฏิจฺฉนฺนํ
7. อุเปกฺขาสหคตํ สนฺตีรณํ

1. จักขุวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
2. โสตวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
3. ฆานวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
4. ชิวหาวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
5. กายวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยทุกขเวทนา
6. สัมปฏิจฉันนจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
7. สันตีรณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

1. Eye-consc, acc by indif.
2. Ear-consc, acc by indif.
3. Nose-consc, acc by indif.
4. Tongue-consc, acc by indif.
5. Body-consc, acc by pain.
6. Receiving-consc, acc by indif.
7. Investigating-consc, acc by indif.

  กุศลวิบากอเหตุกจิต 8 (จิตที่เป็นผลของกุศล ไม่มีสัมปยุตตเหตุ ? rootless resultant-of-morality consc)
1. อุเปกฺขาสหคตํ จกฺขุวิญฺญาณํ
2. อุเปกฺขาสหคตํ โสตวิญฺญาณํ
3. อุเปกฺขาสหคตํ ฆานวิญฺญาณํ
4. อุเปกฺขาสหคตํ ชิวฺหาวิญฺญาณํ
5. สุขสหคตํ กายวิญฺญาณํ
6. อุเปกฺขาสหคตํ สมฺปฏิจฺฉนฺนํ
7. โสมนสฺสสหคตํ สนฺตีรณํ
8. อุเปกฺขาสหคตํ สนฺตีรณํ

1. จักขุวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
2. โสตวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
3. ฆานวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
4. ชิวหาวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
5. กายวิญญาณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยสุขเวทนา
6. สัมปฏิจฉันนจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
7. สันตีรณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา
8. สันตีรณจิต ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา

1. Eye-consc, acc by indif.
2. Ear-consc, acc by indif.
3. Nose-consc, acc by indif.
4. Tongue-consc, acc by indif.
5. Body-consc, acc by pleasure.
6. Receiving-consc, acc by indif.
7. Investigating-consc acc by joy.
8. Investigating-consc, acc by indif.

  อเหตุกกริยาจิต 3 (จิตที่เป็นเพียงกิริยา ไม่มีสัมปยุตตเหตุ ? rootless functional consc)
1. อุเปกฺขาสหคตํ ปญฺจทฺวาราวชฺชนํ
2. อุเปกฺขาสหคตํ มโนทฺวาราวชฺชนํ
3. โสมนสฺสสหคตํ หสิตุปฺปาทจิตฺตํ

1. ปัญจทวาราวัชชนจิต๑ ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
2. มโนทวาราวัชชนจิต๒ ที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา
3. หสิตุปปาทจิต๓ ที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา
----------------------------------------------
๑ จิตที่รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทวารทั้ง 5
๒ จิตที่รำพึงถึงอารมณ์อันมาถึงคลองในมโนทวาร = โวฏฐัพพนะ
๓ จิตที่ทำให้เกิดการแย้มยิ้มของพระอรหันต์

1. Five-sense-door adverting consc, acc by indif.
2. Mind-door adverting consc, acc by indif.
3. Smile-producing consc, acc by joy.

  3) กามาวจรโสภณจิต 24 (จิตดีงามที่เป็นไปในกามภูมิ ? Sense-Sphere beautiful consc)
มหากุศลจิต หรือ สเหตุกกามาวจรกุศลจิต 8 (จิตที่เป็นกุศลยิ่งใหญ่ หรือ กุศลจิตที่เป็นไปในกามภูมิ มีสัมปยุตตเหตุ ? moral consc)
1. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
2. โสมนสฺสสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
3. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
4. โสมนสฺสสหคตํ ญาณวิปฺยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
5. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
6. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณสมฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ
7. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ อสงฺขาริกํ
8. อุเปกฺขาสหคตํ ญาณวิปฺปยุตฺตํ สสงฺขาริกํ

1. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ
2. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา มีการชักนำ
3. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ
4. จิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีการชักนำ
5. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ
6. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ประกอบด้วยปัญญา มีการชักนำ
7. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีการชักนำ
8. จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีการชักนำ

1. One consc, acc by joy, asso with knowledge, unprompted.
2. One consc, acc by joy, asso with knowledge, prompted.
3. One consc, acc by joy, diss from knowledge, unprompted.
4. One consc, acc by joy, diss from knowledge, prompted.
5. One consc, acc by indif, asso with knowledge, unprompted.
6. One consc, acc by indif, asso with knowledge, prompted.
7. One consc, acc by indif, diss from knowledge, unprompted.
8. One consc, acc by indif, diss from knowledge, prompted.

  มหาวิบากจิต หรือ สเหตุกกามาวจรวิบากจิต 8 (จิตอันเป็นผลของมหากุศล หรือวิบากจิตที่เป็นไปในกามภูมิ มีสัมปยุตตเหตุ ? resultant consc)
(เหมือนกับมหากุศลจิตทุกข้อ)

  มหากิริยาจิต หรือ สเหตุกกามาวจรกริยาจิต 8 (จิตอันเป็นกริยาอย่างที่ทำมหากุศล แต่ไม่มีวิบาก ได้แก่การกระทำมหากุศลของพระอรหันต์ หรือกิริยาจิตในกามภูมิ มีสัมปยุตตเหตุ ? functional consc)
(เหมือนกับมหากุศลจิตทุกข้อ)

2. รูปาวจรจิต 5 (จิตอันเป็นไปในภูมิ ? Form-Sphere consciousness)
1) รูปาวจรกุศลจิต 5 (กุศลจิตที่เป็นไปในภูมิ ได้แก่จิตของผู้เข้าถึงรูปฌาน ? Form-Sphere moral consc)
1. วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชุฌานกุสลจิตฺตํ
2. วิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ทุติยชฺฌานกุสลจิตฺตํ
3. ปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ตติยชฺฌานกุสลจิตฺตํ
4. สุเขกคฺคตาสหิตํ จตุตฺถชฺฌานกุสลจิตฺตํ
5. อุเปกฺเขกคฺคตาสหิตํ ปญฺจมชฺฌานกุสลจิตฺตํ

1. ปฐมฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
2. ทุติยฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
3. ตติยฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย ปีติ สุข เอกัคคตา
4. จตุตถฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย สุข เอกัคคตา
5. ปัญจมฌานกุศลจิต ที่ประกอบด้วย อุเบกขา เอกัคคตา

1. First Jhana consc with initial application, sustained application, rapture, happiness and one-pointedness.
2. Second Jhana consc with sustained application, rapture, happiness and one-pointedness.
3. Third Jhana consc with rapture, happiness and one-pointedness.
4. Fourth Jhana consc with happiness and one-pointedness.
5. Fifth Jhana consc with equanimity and one-pointedness.

 2) รูปาวจรวิบากจิต 5 (วิบากจิตที่เป็นไปในรูปภูมิ คือ จิตที่เป็นผลของรูปาวจรกุศล ? Form-Sphere resultant consc)
(เหมือนกับรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น วิปากจิตฺตํ)

 3) รูปาวจรกิริยาจิต 5 (กิริยาจิตที่เป็นไปในรูปภูมิ คือ จิตของพระอรหันต์ผู้กระทำรูปาวจรกุศล ? Form-Sphere resultant consc)
(เหมือนกับรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น กฺริยาจิตฺตํ)

3. อรูปาวจรจิต 12 (จิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ ? Formless-Sphere consc)
1) อรูปาวจรกุศลจิต 4 (กุศลจิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ ได้แก่ จิตของผู้เข้าถึงอรูปฌาน ? Formless-Sphere moral consc)
1. อากาสานญฺจายตนกุสลจิตฺตํ
2. วิญฺญาณญฺจายตนกุสลจิตฺตํ
3. อากิญฺจญฺญายตนกุสลจิตฺตํ
4. เนวสญฺญานาสญฺญายตนกุสลจิตฺตํ

1. กุศลจิตประกอบด้วยอากาสานัญจายตนฌาน
2. กุศลจิตประกอบด้วยวิญญาณัญจายตนฌาน
3. กุศลจิตประกอบด้วยอากิญจัญญายตนฌาน
4. กุศลจิตประกอบด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

1. Moral Jhana consc dwelling on the infinity of space.
2. Moral Jhana consc dwelling on the infinity of consciousness.
3. Moral Jhana consc dwelling on nothingness.
4. Moral Jhana consc wherein perception neither is nor is not.

 2) อรูปาวจรวิบากจิต (วิบากจิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ คือ จิตที่เป็นผลของอรูปาวจรกุศล ? Formless-Sphere resultant consc)
(เหมือนกับอรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น วิปากจิตฺตํ)

 3) อรูปาวจรกิริยาจิต (กิริยาจิตที่เป็นไปในอรูปภูมิ คือ จิตของพระอรหันต์ ผู้กระทำอรูปาวจรกุศล ? Formless-Sphere functional consc)
(เหมือนกับอรูปาวจรกุศลจิตทุกข้อ เปลี่ยนแต่คำท้ายเป็น กฺริยาจิตฺตํ)

 4. โลกุตตรจิต 8 หรือ 40 (จิตที่เป็นโลกุตตระ ? supermundane consc)
1) โลกุตตรกุศลจิต 4 หรือ 20 (กุศลจิตที่เป็นโลกุตตระ คือ กุศลจิตที่ทำให้ข้ามพ้นอยู่เหนือโลก ? moral supermundane consc)
1. โสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ
2. สกทาคามิมคฺคจิตฺตํ
3. อนาคามิมคฺคจิตฺตํ
4. อรหตฺตมคฺคจิตฺตํ

1. จิตที่ประกอบด้วยโสตาปัตติมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงกระแสอันไหลไปสู่นิพพานธาตุ
2. จิตที่ประกอบด้วยสกทาคามิมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงความเป็นพระสกทาคามี
3. จิตที่ประกอบด้วยอนาคามิมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงความเป็นพระอนาคามี
4. จิตที่ประกอบด้วยอรหัตตมัคคญาณ คือ กุศลจิตที่เป็นทางให้ถึงความเป็นพระอรหันต์

1. Consc belonging to the Path of Stream-Entry.
2. Consc belonging to the Path of Once-Returning.
3. Consc belonging to the Path of Non-Returning.
4. Consc belonging to the Path of Arahantship.

  อย่างพิสดาร ให้แจกมัคคจิต 4 นี้ ด้วยฌาน 5 ตามลำดับ ก็จะได้จำนวน 20 ตามตัวอย่างดังนี้
วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานโสตาปตฺติมคฺคจิตฺตํ ฯลฯ

2) โลกุตตรวิบากจิต 4 หรือ 20 (วิบากจิตที่เป็นโลกุตตระ คือ จิตที่เป็นผลของโลกุตตรกุศล ? resultant supermundane consc)
1. โสตาปตฺติผลจิตฺตํ
2. สกทาคามิผลจิตฺตํ
3. อนาคามิผลจิตฺตํ
4. อรหตฺตผลจิตฺตํ

1. จิตที่ประกอบด้วยโสตาปัตติผลญาณ
2. จิตที่ประกอบด้วยสกทาคามิผลญาณ
3. จิตที่ประกอบด้วยอนาคามิผลญาณ
4. จิตที่ประกอบด้วยอรหัตตผลญาณ

1. Consc belonging to the Fruition of Stream-Entry.
2. Consc belonging to the Fruition of Once-Returning.
3. Consc belonging to the Fruition of Non-Returning.
4. Consc belonging to the Fruition of Arahantship.

  อย่างพิสดาร ให้แจกผลจิต 4 นี้ ด้วยฌาน 5 ตามลำดับ ก็จะได้จำนวน 20 ตามตัวอย่างดังนี้
วิตกฺกวิจารปีติสุเขกคฺคตาสหิตํ ปฐมชฺฌานโสตาปตฺติผลจิตฺตํ ฯลฯ

ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.watnai.org/ (http://www.watnai.org/)