KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 => ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับธรรมะ ที่พุทธศาสนิกชนควรทราบ เพื่อเข้าใจในสัมมาทิฏฐิ => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 01, 2007, 09:12:14 AM



หัวข้อ: มหาสติปัฏฐานสูตร สำคัญอย่างไร ประกอบด้วยอะไร คืออะไร
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 01, 2007, 09:12:14 AM
มหาสติปัฏฐานสูตร สำคัญอย่างไร

(http://www.kammatan.com/gallary/images/20090421134447_img_2886.jpg)

รู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ ขั้นที่สามของการฝึกมีสติอยู่กับกาย


             แม้ฝึกมีสติอยู่กับกายผ่านอิริยาบถต่างๆ กระทั่งร่างกายปรากฏดุจหุ่นกลที่ถูกเราเฝ้าดูจากเบื้องหลัง ก็ขอให้สังเกตว่าจังหวะที่ขยับเปลี่ยนจากอิริยาบถเดิม หันซ้ายแลขวา กลอกตาหรือยืดตัวไปต่างๆ ก็จะเกิดความรู้สึกว่ากิริยานั้นๆเป็นตัวเราในทันที อิริยาบถเดิมที่ถูกดูอยู่หายไปแล้ว

    ดังนั้นแค่รู้อิริยาบถยังไม่พอ เราต้องรู้ครอบคลุมไปถึงความเคลื่อนไหวปลีกย่อยต่างๆด้วย เพื่อปิดโอกาสการเกิดอุปาทานว่า ตัวเราขยับ แต่ให้ทุกการเคลื่อนไหวเป็นที่ตั้งของการระลึกรู้ว่า ร่างกายขยับ ซึ่งหากทำได้ก็จะนับว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัว (สัมปชัญญะ) ตามพุทธบัญญัติ

    กล่าวอย่างย่นย่อในเบื้องต้น เราจะฝึกทำความรู้สึกตัวด้วยการสังเกตความเคลื่อนไหวปลีกย่อยต่างๆทางกาย ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ดี เพราะเมื่อเริ่มต้นฝึกนั้น นักเจริญสติส่วนใหญ่จะกำหนดเพ่งเล็งไปยังอวัยวะที่กำลังเคลื่อนไหว เช่น เมื่อยื่นมือไปหยิบแก้วน้ำขึ้นมาดื่ม ก็จะตั้งสติอย่างเจาะจงลงไปที่มือหรือแขน จิตจึงรับรู้ได้เพียงในขอบเขตแคบๆแค่มือหรือแขน อันนั้นไม่นับเป็นความรู้สึกตัวที่จะพัฒนาก้าวหน้าขึ้นได้

    ที่เป็นเช่นนั้นเพราะตามธรรมชาติของจิตแล้ว เมื่อเพ่งเล็งสิ่งใดย่อมยึดสิ่งนั้น เพ่งมือก็รู้สึกว่านั่นมือของเรา เพ่งแขนก็รู้สึกว่านั่นแขนของเรา เรากำลังยื่นมือไปหยิบแก้วน้ำขึ้นดื่ม ต่อให้ผสมความคิดลงไปว่ามือไม่ใช่เรา แขนไม่ใช่เรา ใจที่มีอาการ เพ่งยึด อยู่ก็บอกตัวเองว่าใช่อยู่ดี

    หากฝึกมาตามขั้นตอนก็จะไม่พลาด กล่าวคือมีอิริยาบถเป็นหลักตั้งเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยรู้ต่อไปว่าภายในอิริยาบถนั้นๆมีอวัยวะใดเคลื่อนไหว เช่น เมื่อนั่งก็รู้ว่านั่ง แล้วค่อยรู้สึกตัวว่าในท่านั่งนั้นมีการยืดแขนออกไปข้างหน้าเพื่อจับแก้วน้ำ เป็นต้น

    ความเข้าใจตรงนี้มีส่วนสำคัญมาก ถ้าทราบแต่แรกว่ารู้สึกตัวอย่างไรจึงถูกทาง ยิ่งเจริญสติจิตก็จะยิ่งเงียบลงและเปิดกว้างสบายขึ้น เพียงในเวลาไม่กี่วันก็เหมือนมีสติรู้สึกตัวได้เองเรื่อยๆ แต่หากไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด นึกว่าการรู้อิริยาบถและความเคลื่อนไหวต่างๆคือการเพ่งจ้อง ณ ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของกาย ก็อาจต้องเสียเวลาเป็นสิบปีเพื่อย่ำอยู่กับที่ เห็นกายเป็นก้อนอะไรทึบๆ และไม่อาจผ่านเข้าไปรู้สิ่งละเอียดกว่านั้นได้เลย

    หลักการทำความรู้สึกตัวตามสูตรมีดังนี้

    ๑) ทำความรู้สึกตัวในการก้าว


    ในการเดินจงกรมหรือเดินเท้าธรรมดาในระหว่างวัน หากตั้งสติรู้เท้ากระทบไปเรื่อยๆแล้ว ตอนแรกจะรู้แค่เท้ากระทบแปะๆ แต่เมื่อยังระลึกรู้อยู่กับเท้ากระทบไม่ขาดสายกระทั่งสติไม่แวบหายไปไหน นานเข้าเราจะรับรู้ละเอียดขึ้นเอง คือเห็นแข้งขาสลับกันก้าวเดินอย่างสม่ำเสมอ

    อันที่จริงเราไม่ได้ย้ายสติมาจดจ่ออยู่กับการสลับขาย่างก้าว สติของเรายังตั้งไว้ที่เท้ากระทบตามเดิม แต่ความรู้สึกตัวขยายขอบเขตออกไปเองตามธรรมชาติของจิตที่เปิดกว้างขึ้น ไม่เพ่งเล็งคับแคบเหมือนช่วงเริ่มต้น

    ความรู้สึกตัวในการก้าวเดินอาจไม่สม่ำเสมอ แต่ขอให้สังเกตว่ายิ่งความรู้สึกตัวเกิดถี่ขึ้นเท่าใด จิตก็จะไวต่อการรับรู้ความเคลื่อนไหวส่วนอื่นของกายมากขึ้นเท่านั้น จะนับว่าการทำความรู้สึกตัวขณะก้าวเดินเป็นแม่แบบที่ดีก็ได้

    ๒) ทำความรู้สึกตัวในการแลและการเหลียว

    การแลและการเหลียวเกิดขึ้นได้ในทุกอิริยาบถ แม้เดินจงกรมก็ต้องมีช่วงที่เราอยากผินหน้ามองรอบข้าง หากไม่ตั้งใจจะสังเกตไว้ล่วงหน้า ก็มักเผลอแบบเลยตามเลย ปล่อยใจเหม่อตามสายตา แต่ถ้าตั้งใจสังเกตไว้ก่อนก็จะรู้สึกตัว เช่น ทราบว่าขณะเดินหรือยืนนิ่งอยู่นั้น ลูกนัยน์ตากลอกไปแล้ว หรือใบหน้าเหลียวซ้ายแลขวาไปแล้ว อาการรู้สึกตัวเช่นนั้นจะปิดช่องไม่ให้เกิดการเหม่อลอยได้อย่างดี

   ๓) ทำความรู้สึกตัวในการงอและการเหยียด

    การงอและการเหยียดมักเกิดขึ้นในอิริยาบถนั่งและอิริยาบถยืนบ่อยๆ เช่น หยิบของเก็บเข้าที่ ยกมือเกาศีรษะ และยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม เป็นต้น นั่นหมายความว่าถ้าฝึกรู้สึกตัวในการงอและการเหยียดได้ เราก็จะมีโอกาสเจริญสติกันทั้งวันทีเดียว

     ๔) ทำความรู้สึกตัวในการใส่เสื้อผ้า

    การใส่เสื้อผ้ามักเกิดขึ้นในอิริยาบถยืน และมีความเคลื่อนไหวปลีกย่อยมากมาย จึงกลายเป็นแบบฝึกที่มีความซับซ้อนขึ้น แต่ขอเพียงเราจับหลักได้คือไม่ลืมท่ายืน แม้ต้องยืนสองขาบ้าง สลับยืนขาเดียวบ้าง ก็จะสามารถรู้สึกตัวได้ตลอดเวลาจนใส่เสื้อผ้าเสร็จ

     ๕) ทำความรู้สึกตัวในการกิน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม

    การกินและการดื่มมักเกิดขึ้นในอิริยาบถนั่ง และมีความเคลื่อนไหวปลีกย่อยมากมายเช่นกัน ตั้งแต่อ้าปาก หุบปาก ขบเคี้ยว ตลอดจนกลืนล่วงผ่านลำคอลงท้องไป การกลืนแต่ละครั้งก็มีรายละเอียดแตกต่างกัน เช่น อาหารหรือน้ำเป็นก้อนเล็กหรือก้อนใหญ่ เป็นต้น เมื่อรู้ก็จะเห็นความแตกต่างเหล่านั้น แต่ถ้าไม่รู้ก็คล้ายจะเหมือนๆกันไปหมด

    ๖) ทำความรู้สึกตัวในขณะถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ

    การถ่ายของเสียมักเกิดขึ้นในอิริยาบถนั่งหรือยืน ช่วงเข้าส้วมมักเป็นจังหวะที่เราเผลอเหม่อไม่มีอะไรทำกันมากที่สุด เพราะดูเหมือนไม่เหมาะกับการตามรู้วิธีถ่ายของเสียออกจากกาย แต่หากเราต้องการมีสติอยู่กับกายเสมอๆ ก็จำเป็นต้องรู้แม้ขณะแห่งกิจกรรมชนิดนี้ โดยเห็นตั้งแต่ของเสียเริ่มจะออกจากกาย จนกระทั่งล่วงพ้นกายไปทีเดียว เราจะได้รู้ว่าร่างกายมีกล้ามเนื้อภายในจัดการขับถ่ายของเสียโดยให้ความรู้สึกอย่างไร

   ๗) ทำความรู้สึกตัวในขณะหลับและตื่น

    การหลับและตื่นมักเกิดขึ้นในอิริยาบถนอน ขณะใกล้ก้าวลงสู่ความหลับ สติเหมือนจะดับไป ใช้การอะไรไม่ได้ ต่อเมื่อเจริญสติรู้กระทั่งแข็งแรงพอจะรู้แม้จวนเจียนม่อยหลับ จะพบว่าแม้ยามตื่นเราก็ตื่นด้วยความรู้สึกตัวไปด้วย และถ้ารู้สึกตัวยามตื่นได้ทุกวัน เราจะทราบชัดว่าการเจริญสติเริ่มต้นกันได้ตั้งแต่ลืมตาตื่นนอนทีเดียว

     ๘) ทำความรู้สึกตัวในการพูดและนิ่ง

    การพูดคุยมักเกิดขึ้นในอิริยาบถนั่งและยืน ปกติคนเรามีสติอยู่กับเรื่องที่อยากพูดอยากฟัง ซึ่งแตกต่างกันกับความรู้สึกตัวในข้อนี้ เพราะเราจะพูดหรือฟังทั้งรู้ว่ากำลังนั่งหรือยืน หากฝึกได้ก็แปลว่าเรามีโอกาสเจริญสติแม้ทำธุระในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องปลีกตัวจากสังคมเสมอไป

    การฝึกทำความรู้สึกตัวที่ได้ผล จะเหมือนกายใจเริ่มแบ่งแยกจากกัน ตัวหนึ่งแสดงท่าทางกระดุกกระดิก อีกตัวหนึ่งเฝ้าดูเฉยๆโดยไม่รู้สึกว่าอาการกระดุกกระดิกเป็นตัวตน ถึงจุดนั้นเราจะพบว่าความถือมั่นทั้งภายนอกและภายในยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ จิตเริ่มตั้งมั่นแข็งแรงจนอาจเข้าไปรู้เห็นธรรมชาติละเอียดอ่อนที่แต่ก่อนไม่เคยสามารถสัมผัส นับว่าพร้อมกับการเจริญสติขั้นสูงยิ่งๆขึ้นไปไม่จำกัดแล้ว

    เห็นกายโดยความเป็นของสกปรก
    ขั้นที่สี่ของการฝึกมีสติอยู่กับกาย

    ปกติกายจะเป็นตัวแทนของเรา คือถ้ารู้สึกถึงความมีกายเมื่อใด เมื่อนั้นกายก็จะเหนี่ยวนำให้มั่นหมายว่านี่แหละตัวเรา กระทั่งกายปรากฏชัดอย่างที่มันเป็นจริงๆ คือสักแต่มีลมหายใจเข้าออก สักแต่ปรากฏตั้งเป็นอิริยาบถหนึ่งๆ สักแต่มีความเคลื่อนไหวหนึ่งๆ เกิดขึ้นแล้วแปรไปเรื่อยๆ ความมั่นหมายว่ากายเป็นตัวเราจึงค่อยลดระดับลง

    นอกจากนั้น การฝึกสติยังบ่มเพาะกำลังความสามารถที่จะรู้ได้มากขึ้น เราจะรู้สึกว่าแค่ระลึกถึงความเคลื่อนไหวของกายนับเป็นเรื่องเล็กไปเสียแล้ว ภาวะทางกายที่กำลังตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ ยังมีรายละเอียดน่าเรียนรู้น่าติดตามอีกมาก นั่นเองเป็นโอกาสอันดีที่เราจะค้นลึกลงไป เพราะตามธรรมชาติแล้ว ยิ่งรู้จักกายดีขึ้นเท่าไร ใจจะยิ่งถอนออกมาจากความเข้าใจผิดว่ากายเป็นเรามากขึ้นเท่านั้น

(http://www.kammatan.com/gallary/images/20090224165235_1212738155.jpg)


    ความจริงในกายอันใดที่ควรรู้เป็นอันดับแรก ความจริงนั้นได้แก่ กายนี้เป็นของสกปรก นั่นเอง เพราะรู้กายโดยความเป็นนั้นแล้วจิตตีตัวออกห่างจากกายได้อย่างรวดเร็ว

    ก็เมื่อเป็นความจริงที่กายนี้สกปรก แล้วเหตุใดใจเราจึงถูกห่อหุ้มอยู่ด้วยความหลงผิด สำคัญมั่นหมายว่ากายเป็นของสะอาด ของหอม ของน่าใคร่ น่าชื่นชมอภิรมย์เล่า เหตุผลมีอยู่ ๒ ประการใหญ่ๆ ได้แก่

   ๑) ความตรึกนึกทางกาม

    อารมณ์เพศจะทำให้เรามองข้ามข้อรังเกียจเกี่ยวกับกลิ่นจากหน่อเหม็นแนวเหม็นต่างๆ กับทั้งอยากกระโจนเข้าหา ยอมเสียเงินเสียทอง หรือกระทั่งยอมเหนื่อยยากลำบากแทบต้องทิ้งชีวิต เพียงเพื่อให้ได้สัมผัสหน่อเหม็นแนวเหม็นของเพศตรงข้าม นี่คือฤทธิ์ของความกำหนัดยินดี

    ความกำหนัดยินดีใคร่เสพกามมีสาเหตุมาจากความตรึกนึกเป็นสำคัญ ถ้าเพียงหมั่นรู้สติ เฝ้าตามดูกายตามจริง เห็นความเสื่อม เห็นความสกปรกในกายนี้ ไม่ปล่อยให้ความตรึกนึกทางกามกำเริบ ก็เพียงพอจะทำให้จิตใสใจเบา ไม่เมามืดด้วยความรู้สึกทางเพศได้แล้ว

    ๒) การทำความสะอาด


    ทุกวันเราเคยชินกับการชำระล้างร่างกายทุกส่วน กระทั่งเวลาส่วนใหญ่มีตัวแห้งสบายไร้กลิ่น ชินเข้าก็หลงนึกทึกทักว่ากายนี้สะอาดอยู่เอง ไม่ใช่สิ่งเหม็นเน่าน่ารังเกียจแต่อย่างใด

    ช่วงที่กายถึงเวลาสกปรก ก็มักเป็นช่วงที่เราเลือกอาบน้ำสะสางนั่นเอง ดังนั้นขณะอยู่ในห้องน้ำจึงควรพิจารณาดูให้รู้สึกถึงความจริงไปด้วย เพื่อปลุกสติให้ตื่นขึ้นยอมรับสภาพได้ถูกต้องตรงจริงเสียที

    ขณะอาบน้ำ ให้ทำความรู้สึกตัว เมื่อมีสติทราบว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถใด ท่าทางเคลื่อนไหวแบบไหน เราก็จะสามารถรู้สึกถึงกายส่วนที่เกี่ยวข้องได้ ขอให้พิจารณาดังนี้

    ขณะสระผม เส้นผมและหนังศีรษะจะปรากฏให้รู้สึกผ่านฝ่ามือที่ขยี้อยู่ ขณะฟอกสบู่ ผิวหนังจะปรากฏให้รู้สึกผ่านมือที่ลูบถู เพียงใส่ใจพิจารณาประกอบเข้าไปก็จะรู้ว่าเส้นผมและผิวหนังเป็นสิ่งสกปรก เพราะถ้าไม่สกปรกจะต้องทำความสะอาดทำไม แล้วก็เห็นๆอยู่ว่าน้ำที่เคยสะอาดกลับกลายเป็นน้ำดำเมื่อถูกใช้ล้างตัว

    ขณะแปรงฟัน ฟันจะปรากฏให้รู้สึกผ่านมือที่จับแปรง ฟันทำหน้าที่ขบเคี้ยวซากพืชและศพสัตว์มามาก ไม่มีทางที่จะสะอาดอยู่ได้

    ขณะชายโกนหนวดหรือหญิงโกนขนรักแร้ เส้นขนจะปรากฏให้รู้สึกผ่านอุปกรณ์การโกน ขนเป็นสิ่งที่งอกเงยแทงทะลุผ่านผิวหนังสกปรกออกมาเรียงกัน เมื่อโผล่จากผิวหนังสกปรก เส้นขนย่อมมีส่วนแห่งความสกปรก เป็นเรื่องรกที่รบกวนให้เรากำจัดทิ้งร่ำไป

    ขณะตัดเล็บ เล็บจะปรากฏให้รู้สึกผ่านกรรไกรตัดเล็บ เมื่อตัดแล้วจะส่งกลิ่นอ่อนๆ ฟ้องตัวเองว่ามาจากความสกปรก และถูกตัดทิ้งให้กลายเป็นขยะของโลกอีกกองหนึ่ง ทั้งที่เดิมเป็นเสมือนเครื่องประดับของร่างกายแท้ๆ

    การพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนังดังกล่าว เป็นเพียงตัวจุดชนวนให้ เกิดความรู้สึก ว่ากายสกปรก เรายังพิจารณาให้ลึกเข้าไปในกายได้ โดยเริ่มจากอุจจาระปัสสาวะ ซึ่งเราเคยฝึกทำความรู้สึกตัวขณะขับถ่ายพวกมันมาแล้ว

    อุจจาระเป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับว่าน่ารังเกียจ เราสามารถเห็นด้วยตา ได้กลิ่นด้วยจมูกเมื่อมันถูกปลดปล่อยออกมากองข้างนอกกาย ดังนั้นพอทำความรู้สึกตัวขณะขับถ่าย รู้สึกถึงกายในท่านั่ง เราก็อาจเห็นกายเหมือนถุงใส่อึ ที่ต้องปล่อยส่วนเกินให้เล็ดไหลออกมาจากทวารหนักวันละรอบเป็นอย่างน้อย หากไม่มีส้วมมารองรับ กายก็จะสำแดงความเรี่ยราดเลอะเทอะ ส่งกลิ่นฟุ้งกระจายเป็นแน่




ขอบพระคุณข้อมูลดีๆ จากพี่ตุลย์ เว็บ http://www.dungtrin.com/  ครับผม




หัวข้อ: Re: มหาสติปัฏฐานสูตร
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 06, 2009, 04:19:10 PM

พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ 14 ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ 300 หน้า 254-257 มหาสติปัฏฐานสูตร
----------------------------------------------------------------------------------

อานิสงส์การเจริญสติปัฏฐาน ๔


          [ ๓00 ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๗ ปี ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง
          ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่ ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๗ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๖ ปี
          ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๖ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๕ ปี
          ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๕ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๔ ปี
          ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๔ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๓ ปี
          ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๓ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๒ ปี
          ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๒ ปียกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๑ ปี
          ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปีหนึ่งยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๗
          เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๗ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๖
          เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๖ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๕
          เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๕ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๔
          เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๔ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๓
          เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๓ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๒
          เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๒ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด ๑
          เดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๑ เดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด
          กึ่งเดือน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กึ่งเดือนยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ อย่างนั้น ตลอด
          ๗ วัน ผู้นั้น พึงหวังผลทั้ง ๒ ผลอันใดอันหนึ่ง คือ พระอรหัตตผลในปัจจุบันชาตินี้ ๑ หรือเมื่ออุปาทิ ยังเหลืออยู่
          ก็เป็นพระอนาคามี ๑
          ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงเสียซึ่ง
          ความโศกและความร่ำไร เพื่ออัสดงค์ดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง
          ทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ อย่าง ด้วยประการฉะนี้
          คำอันใด ที่กล่าวแล้วอย่างนี้ คำอันนั้น เราอาศัยเอกายนมรรค ( คือ สติปัฏฐาน ๔ ) นี้กล่าวแล้ว ด้วยประการ
          ฉะนี้
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระสูตรนี้จบแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีเพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า
          ด้วยประการฉะนี้แล


จบ มหาสติปัฏฐานสูตร



พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ 14 ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้า 366-367 อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร

----------------------------------------------------------------------------------

อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร
สรุปความ


          ด้วยลำดับคำมีประมาณเพียงเท่านี้ กัมมัฏฐาน ๒๑ คือ อานาปานบรรพ ๑ จตุอิริยาบถบรรพ ๑
          จตุสัมปชัญญบรรพ ๑ ทวัตดึงสาการ ๑ จตุธาตุววัฏฐานะ ๑ สีวถิกา ๙ เวทนานุปัสสนา ๑ จิตตานุปัสสนา ๑
          นีวรณปริคคหะ ๑ ขันธปริคคหะ ๑ อายตนปริคคหะ ๑ โพชฌงค์ปริคคหะ ๑ สัจจะปริคคหะ ๑
          บรรดากัมมัฏฐาน ๒๑ นั้น กัมมัฏฐาน ๑๑ คือ อานาปาน ๑ ทวัตดึงสาการ ๑ วีสถิกา ๙ เป็นอัปปนากัมมัฏฐาน
          ( กัมมัฏฐานที่ทำให้เกิดอัปปนาสมาธิ หรือ ฌานได้ ) ที่เหลือเป็น อุปจารกัมมัฏฐาน ( กัมมัฏฐานที่ทำให้เกิด
          ได้แค่ อุปจารสมาธิ คือไม่ถึงฌาน ) และ ความตั้งมั่น ( เอกัคคตาเจตสิก คือสมาธิ ) ย่อมเกิดในกัมมัฏฐานทั้งหมด

อานิสงส์

          คำว่า โย หิ โกจิ ภิกฺขเว ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใด ผู้หนึ่ง ไม่ว่า ภิกษุหรือภิกษุณี อุบาสก หรือ
          อุบาสิกา ( ที่เป็น ภัพพาคมนบุคคล ) คำว่า เอวํ ภาเวยฺย ความว่า พึงเจริญตามลำดับภาวนาที่กล่าวมา
          แล้วตั้งแต่ต้น คำว่า ปาฏิกงฺขํ ความว่า พึงหวังได้ พึงปราถนาได้ เป็นแน่แท้ คำว่า อญฺญา หมายถึง พระอรหัต
          คำว่า สติ วา อุปาทิเสเสความว่า อุปาทิเสสวิบากขันธ์ ที่กิเลสมีตัณหาเป็นต้นเข้าไปยึดไว้เหลืออยู่ ยังไม่สิ้นไป
          คำว่า อนาคามิตา แปลว่าความเป็นพระอนาคามี พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงแสดง ความที่สั่งสอนเป็นธรรมนำ
          ผู้ปฏิบัติออกจากทุกข์โดย๗ ปี อย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงเวลา ( ปฏิบัติ ) ที่น้อยไปกว่านั้นอีก จึงตรัสว่า ติฏฺฐนฺตุ
          ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๗ ปี จงยกไว้ดังนี้เป็นต้น ก็คำนั้นแม้ทั้งหมด ตรัสโดยเวไนยบุคคลปานกลาง
          แต่ที่ตรัสว่าบุคคลรับคำสั่งสอนเวลาเช้า บรรลุคุณวิเศษเวลาเย็น รับคำสั่งสอนเวลาเย็น บรรลุคุณวิเศษเวลาเช้า ดังนี้
          ทรงหมายถึง บุคคลผู้มีปัญญาเฉียบแหลม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า คำสั่งสอนของเรานำผู้ปฏิบัติออกจาก
          ทุกข์อย่างนี้แล้วเมื่อจะทรงยังเทศนาที่ทรงแสดง ด้วยธรรมอันเป็นยอด คือพระอรหัตให้จบลงในฐานะ ๒๑ ประการ
          จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางดำเนินอันเอก เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะ
          และปริเทวะเพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน นี้คือ สติปัฏฐาน ๔ ด้วยประการ
          ฉะนี้ คำอันใด อันเรากล่าวแล้วอย่างนี้ คำนั้นเราอาศัยทางอันเอกนี้กล่าวแล้ว

ในเวลาจบเทศนา ภิกษุสามหมื่นรูป ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล.
จบ อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร



พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ 79 พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-ปุคคลปัญญัติ
ข้อ 28-29 หน้า 206 อภัพพาคมนบุคคล และ ภัพพาคมนบุคคล

----------------------------------------------------------------------------------

บุคคลที่ควรและไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผล


          [ ๒๘ ] อภัพพาคมนบุคคล บุคคลผู้ไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผลเป็นไฉน ?
          บุคคลที่ประกอบด้วย กัมมาวรณ์ ประกอบด้วยกิเลสาวรณ์ ประกอบด้วยวิปากาวรณ์ ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ
          มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นผู้ไม่ควรหยั่งลงสู่นิยามอันถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า
          อภัพพาคมนบุคคล บุคคลผู้ไม่ควรแก่การบรรลุมรรคผล
          [ ๒๙ ] ภัพพาคมนบุคคล บุคคลผู้ควรแก่การบรรลุมรรคผลเป็นไฉน ?
          บุคคลที่ไม่ประกอบด้วยกัมมาวรณ์ ไม่ประกอบด้วยกิเลสาวรณ์ ไม่ประกอบด้วยวิปากาวรณ์ มีศรัทธา มีฉันทะ
          มีปัญญา ไม่โง่เขลา เป็นผู้ควรหยั่งลงสู่นิยามอันถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า
          ภัพพาคมนบุคคล บุคคลผู้ควรแก่การบรรลุมรรคผล



พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ 79 พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-ปุคคลปัญญัติ
หน้า 207-208 อรรถกถาอภัพพาคมนบุคคล และ ภัพพาคมนบุคคล

----------------------------------------------------------------------------------

อรรถกถาอภัพพาคมนบุคคล และ ภัพพาคมนบุคคล

          วินิจฉัยนิเทศแห่ง อภัพพาคมนบุคคล ผู้ใดไม่ควรเพื่อจะบรรลุสัมมัตตนิยาม ( มรรค ผล และนิพพาน )
          เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า อภัพพาคมนบุคคล
          บทว่า กมฺมาวรเณน แปลว่า ด้วยกรรมอันเป็นเครื่องกั้น ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ อย่าง
          บทว่า กิเลสาวรเณน แปลว่า ด้วยกิเลสเป็นเครื่องกั้น ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิ
          บทว่า วิปากาวรเณน แปลว่า ด้วยวิบากเป็นเครื่องกั้น ได้แก่ ปฏิสนธิด้วยอเหตุกะ และทวิเหตุกะ
          บทว่า อสทฺธา แปลว่า ผู้ไม่มีศรัทธา ได้แก่ เป็นผู้เว้นจากความเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
          บทว่า อจฺฉนทิกา แปลว่า ผู้ไม่มีฉันทะ ได้แก่ ผู้เว้นจากความพอใจ ในกัตตุกัมยตากุศล ( การบำเพ็ญกุศลกรรม )
          เว้นชาวชมพูทวีป ( ชาวชมพูทวีป คือ มนุษย์ในโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ทั้งหมด ไม่ใช่แต่ชาวอินเดียเท่านั้น คำว่า
          ชมพูทวีปคือโลกใบนี้ทั้งหมด ) เสียแล้ว บุคคลเหล่านั้น พึงทราบว่าผู้อยู่ในทวีป ( โลก ) ทั้ง ๓ ( บุพพวิเทหทวีป
          อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป ) นอกจากนี้ ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น มนุษย์ทั้งหลายชื่อว่า เข้าถึงความเป็นผู้ไม่มีฉันทะ
          บทว่าทุปฺปญฺญา แปลว่า มีปัญญาทราม ได้แก่ เว้นจากภวังคปัญญา
          บทว่า อภพฺพา แปลว่า ผู้ไม่ควร ได้แก่ ไม่ได้อุปนิสัยแห่งมรรคและผล
          บทว่า นิยามํ ได้แก่ มรรคนิยาม
          บทว่า โอกฺกมิตุ ํ ความว่า ไม่ควรเพื่อจะก้าวล่วงคือก้าวล่วงไปสู่นิยาม กล่าวคือ สัมมันตะธรรมทั้งหลาย
          ที่เป็นกุศลเพื่อจะตั้งมั่นในมรรคผลนั้นได้
          นิเทศแห่ง อภัพพาคมนบุคคล บัณฑิตพึงทราบจากคำที่กล่าวแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในทุกะนี้
          อย่างนี้ว่า
          " บุคคลใด กระทำปัญจานันตริยกรรม ๑ เป็นผู้นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๑ ผู้ถือปฏิสนธิมาด้วยอเหตุกะและ
          ทวิเหตุกจิต ๑ ผู้ไม่ศรัทธาในพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ๑ ความพอใจเพื่อจะทำกุศลของ
          ผู้ใดไม่มี ๑ ผู้มีภวังคปัญญาไม่บริบูรณ์ ๑ อุปนิสัยมรรคผลของผู้ใดไม่มี ๑ บุคคลเหล่านั้น แม้ทั้งหมดเป็นผู้มี
          ภัพพวิปริตไม่พึงก้าวลงสู่สัมมัตตนิยามธรรม คือ มรรคผลและนิพพาน ดังนี้
          นิเทศแห่ง ภัพพาคมนบุคคล บัณฑิตพึงทราบจากคำที่กล่าวแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในทุกะนี้
          อย่างนี้ว่า
          " บุคคลใด ไม่กระทำปัญจานันตริยกรรม ๑ ไม่เป็นผู้นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๑ ผู้ถือปฏิสนธิมาด้วยติเหตุกจิต ๑
          ผู้ศรัทธาในพระรัตนตรัย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ๑ ความพอใจเพื่อจะทำกุศลของผู้ใดมี ๑ ผู้มีภวังคปัญญา
          บริบูรณ์ ๑ อุปนิสัยมรรคผลของผู้ใดมี ๑ บุคคลเหล่านั้น แม้ทั้งหมดเป็นผู้มีภัพพไม่วิปริตพึงก้าวลงสู่สัมมัตต
          นิยามธรรม คือ มรรคผลและนิพพาน ดังนี้

จบอรรถกถาอภัพพาคมนบุคคล และ ภัพพาคมนบุคคล

          อธิบายบางส่วน
          อเหตุกบุคคล คือบุคคลที่ปฏิสนธิ ด้วย อุเบกขาสันตีรณอกุสลวิบาก ๑ ดวง และ
          อุเบกขาสันตีรณกุสลวิบาก ๑ ดวง ซึ่งเป็นอเหตุกจิต คือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ทั้ง 6 คือ โลภะเหตุ
          ( โลภะเจตสิก ) โทสะเหตุ ( โลภะเจตสิก ) โมหะเหตุ ( โมหะเจตสิก ) และ อโลภะเหตุ ( อโลภะเจตสิก )
          อโทสะเหตุ ( อโทสะเจตสิก ) อโมหะเหตุ ( ปัญญาเจตสิก )
          ทวิเหตุกบุคคล คือบุคคลที่ปฏิสนธิ ด้วย มหาวิบากญาณวิปปยุตต ๔ ดวง ซึ่งเป็นจิตที่ประกอบ
          ด้วยเหตุ 2 คือ อโลภะเหตุ และ อโทสะเหตุ
          ติเหตุกบุคคล คือบุคคลที่ปฏิสนธิ ด้วย มหาวิบากญาณสัมปยุตต ๔ ดวง มหัคคตวิบาก ๙ ดวง ซึ่งเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ 3 คือ อโลภะเหตุ และ อโทสะเหตุ อโมหะเหตุ ( ปัญญาเจตสิก )
          สาเหตุที่ ทำให้เกิดเป็น อเหตุกบุคคล ทวิเหตุกบุคคล หรือ ติเหตุกบุคคล นั้นเพราะขณะทำ
          กุศลกรรมนั้นทำด้วยปัญญาหรือไม่ และเจตนาในการทำเป็นอย่างไรด้วย ดังอธิบายดังนี้ 
          ดังนั้นการทำบุญกุศลนั้นควรจะกระทำด้วยปัญญาพิจารณา ไม่ใช่ทำบุญส่งๆ ไป ใครชักชวนอย่างไรก็เชื่อ
          โดยความงมงาย ซึ่งการทำบุญกุศลที่ไม่มีปัญญาแบบนี้จะได้วิบากจิตที่ไม่มีเหตุมาประกอบ และถ้าวิบากจิต
          ที่ทำกุศลแบบส่งๆทำหน้าที่นำเกิด ก็จะปฏิสนธิเป็น สุคติอเหตุกบุคคล ได้แก่ มนุษย์ผู้ หูหนวก ตาบอด
          เป็นบ้า เป็นใบ้ พิกลพิการต่าง ๆ ๑ ภูมิ และเทวดาบางจำพวกในชั้นจาตุมหาราชิกา ๑ ภูมิ
          ดังนั้นการทำบุญกุศลควรจะประกอบด้วยปัญญาอย่างยิ่ง อย่างมงาย ในการทำบุญกุศลทั้งหลาย ควรทำ
          ความเห็นให้ตรงให้ถูกต้อง ( ทิฏฐุชุกรรม ) ในการทำบุญกุศลแต่ละอย่าง ซึ่งเมื่อทำบุญกุศลประกอบด้วย
          ปัญญา ก็จะได้ผลคือ วิบากจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งถ้าวิบากจิตนั้นทำหน้าที่นำเกิดก็จะปฏิสนธิเป็น ติเหตุกบุคคล
          ติเหตุกบุคคล เท่านั้น สามารถ ทำสมาธิให้ได้ฌาน และบรรลุมรรคผลนิพพาน
          ส่วนใหญ่คนในปัจจุบันเกิดมาเป็น ทวิเหตุกบุคคล จึงไม่สามารถ ทำฌาน และบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้
          ซึ่งไม่สามารถ ทำฌาน แม้แต่ ปฐมฌาน ก็ไม่มีทางเกิดขึ้น และไม่สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้แต่
          ประการใดด้วย เพราะวิบากเป็นเครื่องกั้น เป็นเหตุปัจจัย
          ดังนั้น ทวิเหตุกบุคคล จึงควรสั่งสมบุญกุศลให้มากด้วย มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ ดวง คือมหากุศลจิตที่
          ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก ซึ่งจะให้ผล วิบากจิตคือ มหาวิบากญาณสัมปยุตต ๔ ดวง ซึ่งจะทำให้ปฏิสนธิเป็น
          ติเหตุกบุคคล ในอนาคตชาติได้คือ ด้วยการทำบุญกุศลในบุญกิริยาวัตถุ 10 ที่ประกอบด้วยปัญญาพิจารณา
          และทำความเห็นให้ตรงให้ถูกต้อง ( ทิฏฐุชุกรรม ) ในการบุญกุศลนั้นๆ และควรฝึกฝนการทำสัมมาสมาธิ ใน
          กัมมัฏฐาน 40 วิธีที่มีในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ถึงแม้จะไม่ถึงฌานแต่ก็เป็นการทำจิตให้บริสุทธิ์ชั่วขณะในขั้น
          ขณิกสมาธิ หรือ อุปจารสมาธิซึ่งเป็นการสั่งสมไปได้ในอนาคต รวมถึงควร เจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้มาก เพื่อความ
          บริสุทธิ์ของจิตตลอดไป แม้ว่าจะไม่สามารถบรรลุมรรค ผล นิพพานได้ แต่ก็เป็นการสั่งสมไว้ในชาติต่อไปๆ
          ซึ่งในด้านวิปัสสนานั้นไม่เสื่อมเหมือนสมาธิ ( ฌานสมาธิไม่บำเพ็ญนานๆ หรือเกิดนิวรณ์ธรรมขึ้นมา ก็เสื่อมได้ )
          สั่งสมได้ทุกๆ ชาติไป ชาตินี้เราได้ขั้นนี้ชาติต่อไปถ้ามีโอกาสปฏิบัติ เรามาต่อได้เลย ไม่เสื่อม เหมือนฌานสมาธิ
          และเมื่อไรได้มีโอกาสปฏิสนธิ ด้วย ติเหตุกบุคคล ด้วยผลของกุศลที่เราสั่งสมด้วย มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔
          ดวงที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็จะมีโอกาสที่จะเจริญฌาน และ เจริญสติปัฏฐาน ๔ ให้วิปัสสนาญาณในขั้นต่างๆ เกิดขึ้นได้
          รวมทั้ง บรรลุ มรรคผล นิพพาน ได้ง่ายกว่าที่เราไม่ได้สั่งสมมาในอดีตเลย
          ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม ก็ควรมีความเพียรที่จะเจริญ ในกุศลธรรมทุกอย่าง คือ บุญกิริยาวัตถุ 10
          กัมมัฏฐาน 40 วิธี และ สติปัฏฐาน 4 เป็นต้น ให้มาก อย่าได้ท้อถอย



ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.geocities.com/southbeach/terrace/4587/arnisonksati4.htm