KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน => ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ เมษายน 13, 2014, 08:06:57 AM



หัวข้อ: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 13, 2014, 08:06:57 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20140413080626_jaokunnor.jpg)

" ที่จะทำอะไรไม่ผิดนั้น
ข้อสำคัญอยู่ที่ สติ
ถ้ามีสติคุ้มครองกาย วาจา ใจ
อยู่ทุกขณะ จะทำอะไรไม่ผิดพลาดเลย
ที่ผิดพลาดเพราะขาดสติ
ชีวิตของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์
ท่านมีสติไพบูลย์อยู่ทุกขณะจิต
ท่านจึงทำอะไรไม่ผิดและถึงซึ่ง
อมตธรรมคือ ธรรมที่ไม่ตาย
เรียกว่า พระนิพพาน "


ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต
วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 03, 2014, 08:03:08 PM
ร่างกาย เป็นรังของโรค ต้องป่วยเจ็บอยู่เสมอ เป็นธรรมดา
เป็นเรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่าเศร้าหมอง ตามการป่วยเจ็บนั้น
ทำใจให้ปลอดโปร่ง และให้นึกเสมอว่า การเจ็บ การตาย ไม่แน่นอน จะมาถึงเมื่อใดก็ได้

อย่าประมาท อย่ารั้งรอต่อการทำความดี ในขณะที่ยังมีโอกาสทำความดี
จะได้ไม่ต้องเสียใจ แม้ความตายจะมาถึง ในวินาทีใดก็ตาม..

ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต(ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ)


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 25, 2014, 10:11:35 PM
ชนะ ความหยาบคาย ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบ
ที่ล่วงทางกาย-วาจาด้วย "ศีล"

ชนะ ความยินดี-ยินร้าย หลงรัก-หลงชัง
ซึ่งเป็นกิเลสอย่างกลาง ที่เกิดในใจได้ด้วย "สมาธิ"

ชนะ ความเข้าใจผิด รู้ผิด เห็นผิด จากความเป็นจริง
ของสังขาร ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดได้ด้วย "ปัญญา"


(พระธรรมคำสอน...ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต ธัมมวิตักโก)


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 01, 2014, 10:08:20 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20141001220753_jaokun_nor.jpg)

" คนเราไม่ได้อะไรง่ายๆ ด้วยการร้องขอ อยากได้อะไรต้องทำถึงจะได้
พรเป็นเพียงกำลังใจให้คนประพฤติ ปฏิบัติเท่านั้น และพุทธศาสนา
ก็ไม่ใช่ศาสนาของการสวดอ้อนวอนร้องขออะไร
พระบรมศาสดาสอนให้เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้น ฉะนั้น ทำดี ดีกว่าพร "

เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต
วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 04, 2014, 09:55:05 PM
"จงแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั่วไปแม้ที่เป็นศัตรู ท่านรักคนที่เขารักท่าน
ที่จริงไม่แปลกอะไรเลย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ที่แปลกและทำได้ยากและ
เป็นผลดีที่สุดนั้นคือต้องรักคนที่เขาเกลียดท่านด้วย"

พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 04, 2014, 09:58:23 PM
ร่างกายเป็นรังของโรค ต้องป่วยเจ็บอยู่เสมอเป็นธรรมดา เป็นเรื่องของการเกิดแก่เจ็บตาย
อย่าเศร้าหมองตามการเจ็บป่วยนั้น ทำใจให้ปรอดโปร่ง และให้นึกเสมอว่าการเจ็บการตายไม่แน่นอน
จะมาถึงเมื่อใดก็ได้อย่าประมาท อย่ารั้งรอต่อการทำความดี ในขณะที่ยังมีโอกาสทำความดี
จะได้ไม่ต้องเสียใจแม้ความตายจะมาถึงในวินาทีใดก็ตาม .....(แล้วท่านเจ้าคุณนรฯก็มักจะกล่าวกลอนนี้เสมอ)
"ถึงกายแพ้แต่ใจเราไม่แพ้
ใจไม่แก่เจ็บตายตามกายหนา
กายนี้มันจะเน่าเราก็ลา
ไปสวรรค์ชั้นฟ้านิพพานเอย..."

ความบางตอนจากหนังสือ ตามรอย ธมฺมวิตกฺโก พระอรหันต์กลางกรุง


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 04, 2014, 10:00:41 PM
ระเบิดสามลูก
คราวหนึ่งมีนักเรียนแพทย์ที่จบจากศิริราช
จะออกไปเป็นแพทย์ฝึกหัดตามโรงพยาบาลต่างๆ
ได้มาขอโอวาทจากท่าน ขอให้ท่านกรุณาให้โอวาทด้วย
เพราะจะออกไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว
ท่านธมมวิตกโกได้ให้โอวาทว่า
"ถ้าจะมาขอโอวาท ก็จะเตือนให้ระวังระเบิดสามลูก
มีชื่อ ราคะ โทสะ และโมหะ
ระเบิดสามลูกนี้ร้ายกาจมาก
เป็นรากเหง้าของความชั่วร้าย
เรื่องโทสะเห็นจะไม่มีใครชอบ
เพราะเป็นของร้อนและเห็นได้ง่าย ว่าเป็นทุกข์
แต่ราคะและโมหะให้ระวังให้มาก
เพราะมาในรูปของไฟเย็น ให้ความสุขได้
มองไม่ค่อยเห็นความทุกข์
และราคะนั้นเมื่อมีโมหะเข้าช่วยจะไปกันใหญ่
เพราะจะพากันหลงรักหลงชัง"
เมื่อท่านให้โอวาทจบ ได้ถามแพทย์ผู้หนึ่งว่าจะไปอยู่ไหน
นายแพทย์ผู้นั้นตอบว่าไปอยู่โรงพยาบาลเชียงใหม่
ท่านธมมวิตกโกบอกว่า "คุณต้องระวังให้มากนะ
เพราะจะเดือดร้อนจากระเบิดสามลูกนี้โดยเฉพาะลูกที่ชื่อราคะ"


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 04, 2014, 10:01:24 PM
ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่ถูกรับรองแล้วว่าเป็นดอกไม้ที่หอมเย็นชื่นใจที่สุดและขาวบริสุทธิ์ที่สุดในบรรดาดอกไม้ทั้งหลาย
ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ก็เช่นเดียวกับการเล่นละคร ขอให้เป็นตัวเอกที่มีชื่อเสียงที่สุดเช่นเดียวหรือลักษณะเดียวกับดอกมะลิ
อย่าเป็นตัวผู้ร้ายที่เลวที่สุด และให้เห็นว่าดอกมะลินี้จะบานเต็มที่เพียง ๒-๓ วัน ก็จะเหี่ยวเฉาไป
ฉะนั้น ขอให้ทำตัวให้ดีที่สุดเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ให้หอมที่สุดเหมือนดอกมะลิที่เริ่มแย้มบานฉะนั้น
"จงเลือกทำแต่กรรมที่ดีๆ!"

ท่านธมฺมวิตกฺโก (ภิกฺขุ พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต)


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 05, 2014, 10:03:15 PM
ด้วยอานุภาพของไตรสิกขา
คือศีล สมาธิ ปัญญา จึงจะชนะข้าศึก
คือกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดได้
ชนะความหยาบคาย ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบ
ที่ล่วงทางกายวาจาได้ด้วย "ศีล"
ชนะความยินดียินร้าย และหลงรักหลงชัง
เป็นกิเลสอย่างกลางที่เกิดในใจได้ด้วย "สมาธิ"
ชนะความเข้าใจ รู้ผิดเห็นผิดจากความเป็นจริงของสังขาร
ซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียดได้ด้วย "ปัญญา"
ผู้ศึกษาปฏิบัติตามไตรสิกขา
คือศีล สมาธิ ปัญญา บริบูรณ์สมบูรณ์แล้ว
ผู้นั้นจึงเป็นผู้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้เป็นแน่นอน
ไม่ต้องสงสัยเลย
ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 05, 2014, 10:08:29 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20141105220550_jaokunnor2.jpg)

"คนเราเมื่อมีลาภก็เสื่อมลาภ
เมื่อมียศก็เสื่อมยศ
เมื่อมีสุขก็มีทุกข์
เมื่อมีสรรเสริญก็มีนินทา
เป็นของคู่กันมาเช่นนี้
จะไปถืออะไรกับปากมนุษย์
ถึงจะดีแสนดีมันก็ติ
ถึงจะชั่วแสนชั่วมันก็ชม
นับประสาอะไร พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศดีกว่ามนุษย์และเทวดา
ยังมีมารผจญ ยังมีคนนินทาติเตียน
ปุถุชนอย่างเราจะหลุดพ้นจากโลกธรรมดังกล่าวแล้วไม่ได้
ต้องคิดเสียว่าเขาจะติก็ช่าง จะชมก็ช่าง
เราไม่ได้ทำอะไรให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจ
ก่อนที่เราจะทำอะไรเราคิดแล้วว่า
ไม่เดือดร้อนแก่ตัวเราแลคนอื่น เราจึงทำ
เขาจะนินทาว่าร้ายอย่างไรก็ช่างเขา
บุญเราทำกรรมเราไม่สร้าง
พยายามสงบกาย สงบวาจา สงบใจ
จะต้องไปกังวลกลัวใครติเตียนทำไม
ไม่เห็นมีประโยชน์ เปลืองความคิดเปล่าๆ"

พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต ตรึก จินตยานนท์


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 05, 2014, 10:09:37 PM
ธรรมะจาก...เต่า
ที่บริเวณกุฏิของท่านธมฺมวิตกฺโก มักจะมีชาวจีนเอาเครื่องไหว้แบบจีนไปไหว้เสมอ
โดยเขานับถือว่าเป็นเซียน แต่ท่านบอกว่าเขาเห็นว่ากุฏิท่านเป็นศาลเจ้า
วันหนึ่งมีชาวจีนเอาธูปเทียนป้ายหนังสือจีนและกระดองเต่าไปวางไว้ที่โคนต้นไม้ข้างกุฏิของท่าน
เมื่อท่านกลับจากโบสถ์มาพบเข้า ท่านได้ชี้ให้ดูและบอกว่าชาวจีนเขายกย่องเต่ามาก
เพราะเต่าเป็นสัตว์ที่อดทน แม้จะเดินช้าก็มั่นคงและไปถึงเสมอ
ถ้าจะเอาเต่าเป็นตัวอย่างในการครองชีวิตก็ต้องอดทนและรอบคอบดำเนินชีวิตให้มั่นคง
ส่วนในแง่ธรรมะจะเอาเต่าเป็นตัวอย่าง ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นตัวอย่าง
เพราะเต่ามีกระดองและอวัยวะที่พ้นจากกระดองคือ 4 ขา หัวและหาง
รวมเป็น 6 เปรียบเหมือน ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจของคน เมื่อเต่าพบอันตราย
จะหดอวัยวะทั้งหมดเข้ากระดองจนกว่าจะปลอดภัย ถ้าคนเราจะเอาตัวอย่างนี้มาประพฤติจะดีไม่น้อย
เช่นเมื่อประสาททั้ง 6 ดังที่กล่าวมากระทบกับอารมณ์ใดก็เอามาพิจารณาด้วยความระมัดระวัง
เช่นเดียวกับเต่าหดอวัยวะเข้ากระดอง ไม่วู่วามตัดสินใจทำอะไรไปโดยไม่ถูกไม่ควร

พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต ตรึก จินตยานนท์


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 05, 2014, 10:10:19 PM
เมื่อถึงความสงบแล้ว ยังไม่จบนะ
ภพยังไม่สิ้น ชาติยังมีอยู่ พรหมจรรย์ไม่จบ
ที่มันไม่จบ ก็เพราะยังมีทุกข์อยู่
ให้เอาตัวสมถะ ตัวสงบนี่ พิจารณาต่อไป ค้นหาเหตุผล
จนกระทั่งจิตไม่ติดในความสงบ
เพราะความสงบก็เป็นสังขารอันหนึ่ง
ก็เป็นสมมุติ ก็เป็นบัญญัติอีก
ที่ติดอยู่นี้ ก็ติดสมมุติติดบัญญัติ
เมื่อติดสมมุติติดบัญญัติ ก็ติดภพติดชาติ
ภพชาติก็คือ ความดีใจในความสงบนั่นแหละ
เมื่อหายความฟุ้งซ่าน ก็ติดความสงบ ก็เป็นภพอีก
เกิดอยู่อย่างนี้ ภพชาติเกิดขึ้นมา ทำไมพระพุทธเจ้าจะไม่รู้

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 15, 2014, 10:25:33 PM
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชสดุดีพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผมเพิ่งได้ทราบข่าวเดี๋ยวนี้เองว่า พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต ได้มรณภาพเสียแล้วที่ วัดเทพศิรินทร์
เมื่อวันที่ 8 ม.ค 14 เมื่อเวลาหลังเพลแล้วเล็กน้อยนามฉายาของท่านคือ ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ
ความจริงพระภิกษุมรณภาพเพียงรูปเดียวเมื่ออายุท่านได้ 74 ปี ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นอะไรนัก
แต่บังเอิญชีวิตของท่าน และการปฏิบัติธรรมของท่านในภิกขุภาวะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ
และเป็นเครื่องชี้ให้เห็นธรรมอันดีที่ควรส่งเสริมบางอย่าง ผมจึงเขียนถึงท่านไว้ในที่นี้

ผมเคยรู้จักเจ้าคุณนรรัตนฯ เมื่อผมยังเป็นเด็กเล็กคิดดูเดี๋ยวนี้ก็เห็นจะห้าสิบกว่าปีมาแล้วตอนนั้นท่านอายุ 20 กว่า
เป็นพระยาและได้สายสะพายแล้วด้วย ท่านรับราชการมหาดเล็กหลวง
และมีตำแหน่งเป็นต้นห้องพระบรรทมพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าที่ของท่านคืออยู่รับใช้
ใกล้ชิดพระองค์ในที่รโหฐาน และเป็นผู้บังคับบัญชามหาดเล็กห้องพระบรรทมคนอื่น ๆ ซึ่งมีอยู่หลายคน
เจ้าคุณนรรัตนฯ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่หอวัง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อเรียนสำเร็จแล้วก็ต้องไปรับราชการในกรมมหาดเล็กเพื่อศึกษาราชการตามระเบียบ ก่อนที่จะไปรับราชการกรมกองอื่นๆ
แต่เจ้าคุณนรรัตนฯ ติดอยู่ที่กรมมหาดเล็กและอยู่ที่ห้องพระบรรทมอยู่จนตลอดรัชกาล ความจำของเด็กๆ
ซึ่งบัดนี้แก่แล้วจะต้องกระจัดกระจาย เป็นธรรมดา ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ผมนึกออกเกี่ยวกับเจ้าคุณนรรัตน ฯ

ครั้งหนึ่งเห็นท่านกำลังติดพระตรากับฉลองพระองค์ ซึ่งสวมไว้กับหุ่นช่างตัดเสื้อ ท่านติดจนเสร็จแล้วท่านก็ถอยออกมา
นั่งดูอยู่นาน ไม่พูดจากับใครอีก ครั้งหนึ่งเห็นท่านนั่งชุนกางเกงจีนเก่า ๆ ของใครอยู่ เสือกเข้าไปถามท่านตามวิสัยของเด็กทะลึ่งว่า
ท่านชุนกางเกงของท่านเองหรือท่านบอกให้ผมลงกราบกางเกงที่ท่านกำลังชุนอยู่นั่น แล้ว บอกว่าเป็นพระสนับเพลาจีนของพระเจ้าอยู่หัว
แล้วท่านก็บ่นอุบอิบอยู่ในคอว่า
“เป็นถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ชอบนุ่งกางเกงขาด ๆ เก่า ๆ หาใหม่ให้ก็ไม่เอา ครั้นจะปล่อยให้นุ่งกางเกงขาด ก็ขายหน้าเขา”
จำได้ว่าเวลาท่านพูดกับเด็ก อย่างผมแล้วท่านใช้วาจาหยาบคายสิ้นดี พูดมึงกูไม่เว้นแต่ละคำแต่ท่านมีทอฟฟี่แจก
 เด็กก็เมียงเข้าไปบ่อย ๆเด็กที่วิ่งอยู่ๆ อยู่ในวังสมัยนั้นมีมาก และบางคน (อย่างผม) ก็เป็นเด็กที่ซุกซนขนาดเหลือขอจริงๆ
ทีเดียว บางครั้งเข้าไปซุกซนใกล้ที่ประทับจนถูกกริ้วต้องพระราชอาญา มีรับสั่งให้เจ้าคุณนรรัตนฯ เอาไปตีเสียให้เข็ด
 เจ้าคุณนรรัตนฯ ก็ลากตัวเข้าไปในห้องซึ่งอยู่ใกล้ที่ประทับ แล้วเอาไม้เรียวซึ่งเตรียมไว้ มาหวดซ้ายป่ายขวาลงไปกับเก้าอี้บ้าง
กระดานบ้างให้มีเสียงดัง เด็กที่ไม่รู้เคล็ดก็อ้าปากค้าง นั่งดูเฉย ท่านก็ชี้หน้าบอกว่า
“ร้องไห้ดัง ๆ นะมึง ไม่ร้อง พ่อตีตายจริง ๆ ด้วยเอ้า”
เด็กก็ร้องจ้าขึ้นมาและก็จะได้ยินพระสุรเสียงดังมาจากที่ประทับทันที

“พอที ข้าสั่งให้ตีสั่งสอนมันเพียงหลาบจำ เอ็งตีลูกเขาอย่างกับตีวัวตีควาย ลูกเขาตายไปข้าจะเอาที่ไหนไปใช้เขา”
เจ้าคุณนรรัตนฯ ก็กระซิบบอกเด็กว่า“ไหมล่ะ!”

เด็กก็พ้นพระราชอาญาเพียงแค่นี้ และความรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาก็จะติดอยู่ในตัวในใจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ไม่มีวันที่จะลืมเลือนได้ ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าคุณนรรัตนฯ
ได้อุปสมบทหน้าพระเพลิง อย่างที่สามัญชนเรียกว่า บวชหน้าไฟและท่านได้ครองสมณเพศ
ตลอดมาจนถึงมรณภาพเป็นเวลา 46 ปีเต็มสี่สิบหกปีแห่งความกตัญญู อันมั่นคงหาที่เปรียบได้ยาก
ความจริงเมื่อเสด็จสวรรคตนั้น เจ้าคุณนรรัตนฯ มีทั้งฐานะ ทั้งทรัพย์ และโอกาสที่จะหาความเจริญในโลกต่อไปอย่างพร้อมมูลในทางชีวิตครอบครัวท่านก็มีคู่หมั้นอยู่แล้วแต่ท่านก็ได้สละสิ่งเหล่านี้ ทั้งหมดออกอุปสมบท
และอยู่ในสมณเพศตลอดชีวิตเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่ง
มีพระคุณแก่ท่านนับว่าเป็นตัวอย่างแห่งความกตัญญูซึ่งควรจะจารึกไว้

เมื่ออยู่ในสมณเพศนั้น เจ้าคุณนรรัตนฯ ฉันอาหารวันละหนเท่านั้นอาหารที่ท่านฉัน มีข้าวสุก มะพร้าว กล้วย เกลือ มะนาว และ ใบฝรั่ง
ท่านลงไปโบสถ์ทำวัตรเช้าและเย็น วันละสองครั้ง ไม่เคยขาด จนมรณภาพดูเหมือนจะขาดอยู่ครั้งหนึ่ง
เมื่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณวรเถระ ขณะที่ท่านยังมีชีวิตและเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์อยู่สั่งให้อยู่ที่กฏิ
เพราะท่านอาพาธท่านเป็นพระที่สงบสงัดจากโลกแล้ว ไม่เคยโด่งดังแม้แต่ธรรมที่ท่านได้แสดงไว้ เมื่อพิมพ์แล้ว
ได้เป็นสมุดเล่มเล็ก ๆ มีความเพียง 22 หน้ากระดาษ และแบ่งออกเป็นเรื่องๆ ได้เพียง 8 บทบทที่ 7 นั้นมีเพียงเท่านี้
แต่ก็ขอให้ท่านอ่านเอาเองเถิดว่า เป็นความจริงเพียงไร และน่าประทับใจเพียงไร


ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB: คุณ​ Supani และ http:/www.kammatan.com


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 08, 2015, 12:58:45 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/index.php?showimage=2280)

วันนี้วันที่ ๘ มกราคมเป็นวันครบรอบ ๔๔ ปี วันคล้ายวันมรณภาพของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ธัมมวิตฺกโก
"พระอริยสงฆ์กลางกรุุง" แห่่งวัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร ปฏิปทาและการปฏิบัติของท่านนั้น
มั่นคงและเด็ดเดี่ยวเป็นยิ่งนัก ท่านเป็น “สมณะ” ที่เคร่งครัดต่อศีลาจารวัตรเป็นอย่างยิ่งเป็นผู้สะอาด
บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด่างพร้อยด้วยประการทั้งปวง ทั้งกายและใจ ทั้งภายในและภายนอก
เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง และปฏิบัติชอบ เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นผู้ควรแก่การเคารพนบไหว้อย่างแท้จริงของสาธุชนทั้งหลาย

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ธัมมวิตฺกโก ท่านเป็นอัจฉริยบุคคล ผู้ทรงไว้ซึ่งความเป็นอัจฉริยภาพอย่างแท้จริง นอกเหนือไปจากการประพฤติปฏิบัติที่มั่นคงเด็ดเดี่ยวสม่ำเสมอ และมีความทรงจำที่แม่นยำอย่างน่ามหัศจรรย์แล้ว ยังมีดวงจิตที่ ทรงพลังอย่างมหาศาลอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากท่านใช้อำนาจจิตต่อสู้ผจญกับอสรพิษ และโรคร้าย โดยมิต้องใช้หยูกยาใด ๆ ดังเช่นคนทั้งหลาย จนปรากฏผลเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง

“หมอ อันความตายและการพลัดพรากจากกันนั้นเป็นธรรมดา และเป็นไปตามธรรมชาติ เขาตายกันนับแต่ครั้งปู่ย่าตายาย แต่โบราณกาลมาตลอด ถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะรู้ว่า การตายไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าสยดสยองอย่างคนส่วนมากคิด คนเราเกิดมาก็ต้องมีสังขารเป็นที่อาศัย สังขารก็มีเวลาอยู่อย่างจำกัด ย่อมจะมีเสื่อมมีทรุดโทรม เป็นไปตามกาลเวลา ความตายไม่ได้เป็นสิ่งที่หายไปไหน หากเป็นเพียงเปลี่ยนจากภพหนึ่งไปเกิดอีกภพหนึ่ง

อุปมาเหมือนหมอกับอาตมา ซึ่งอยู่ในเวลาปัจจุบัน เดี๋ยวนี้กำลังสนทนา เวลาดับผ่านไปทุกวินาที ทุกชั่วโมง และหมอได้ทำแผลให้อาตมา ประเดี๋ยวหมอก็จะต้องกลับไปบ้านและอาตมาก็กลับไปกุฏิ และทุกคนก็พากันกลับไปที่อยู่ของตน นี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องจากกัน

เราได้พลัดพรากกัน แต่เรายังมีชีวิต มีสังขารร่างกาย เมื่อเราไปแล้ว แต่ที่นี่ ที่เราได้มาร่วมสนทนาก็จะว่างเปล่า ไม่มีหมอ ไม่มีอาตมา และไม่มีใคร เพราะต่างแยกกันไป รู้ว่าเรายังมีชีวิตอยู่ทุกคน อาตมาก็อยู่ที่กุฏิหลังจากที่ได้นั่งสนทนากัน แต่เวลานั้นก็ได้ผ่านดับไปตามโมงยาม เวลาไม่กลับมาอีกเป็นอดีต

หมอก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องนึกว่า วันนี้ได้ไปทำแผลให้อาตมา และได้สนทนากันในโบสถ์ที่วัดเทพศิรินทราวาส แต่เวลานั้นได้ผ่านไปเป็นอดีต ไม่กลับมาใหม่ เราก็มีแต่ความทรงจำเหลือไว้เท่านั้น แต่เราก็คิดถึงกันได้ทางใจ

การตายก็เหมือนกัน เป็นการจากไป ไม่ได้สูญไปไหน ยังคงอยู่ หากแต่เปลี่ยนจากสภาวะปัจจุบันนี้ ไปอยู่อีกสภาวะหนึ่ง ซึ่งยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และเราก็ยังสามารถระลึกถึงกันได้ อย่าเข้าใจว่าสูญสิ้นไป ความตายความเกิดนั้นมีอยู่ตลอดเวลา" โอวาทธรรมคำสอนท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ธัมมวิตฺกโก ที่ให้ไว้กับนายแพทย์ไพบูลย์ บุษธำรง เมื่อครั้นเข้าไปทำการตรวจรักษาแผลมะเร็งที่คอ ของท่านเจ้าคุณนรฯ

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ หรืออดีตพระยานรรัตนราชมานิต ท่านมีนามเดิมว่า ตรึก จินตยานนท์ เกิดเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๐ ตรงกับวันเสาร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีระกา
ซึ่งวันนั้นเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
คือ เป็นวันมาฆบูชา ท่านเกิดเมื่อ ๐๗.๔๐ น.
ท่านเล่าว่า เมื่อก่อนที่ท่านจะเกิด
โยมแม่ของท่านได้ออกมาใส่บาตรตามปกติ
พอใส่บาตรพระองค์สุดท้ายเสร็จ
ก็เริ่มเจ็บท้องจึงกลับขึ้นบ้าน

สักครู่ก็คลอดและเป็นการคลอดง่ายมาก
ทั้งที่ท่านเป็นบุตรคนแรกของโยมแม่
ท่านบอกอย่างขำๆ ว่า
“อาตมาไม่ได้ทำให้โยมแม่เจ็บนาน”
ท่านเกิดที่บ้านใกล้วัดโสมนัส

วัยถึงขั้นสมควร เล่าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร หรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน จนสอบได้ชั้นสูงสุด

ข้าราชการพลเรือน
ภายหลังจากที่ท่านได้จบการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ได้รับประกาศนียบัตรวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ในสมัยนั้นแล้ว ท่านได้เข้าร่วมซ้อมรบในฐานะเสือป่า โดยรับหน้าที่เป็นคนส่งข่าว ซึ่งในการซ้อมรบนี้เองได้เปลี่ยนวิถีชีวิต จากความตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองของรัฐ มาเป็นข้าราชสำนักในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังรับราชการเป็นมหาดเล็กห้องบรรทม กระทั่ง ได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็นพระยานรรัตนราชมานิต ซึ่งแปลว่า "คนดีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่องนับถือ" ตลอดระยะเวลา ๑๐ ปี ที่ท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิด

บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล
ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ สุจริต และกตัญญูกตเวที อย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน ดังที่ท่านเคยกล่าวถึงความภักดีต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "ต้องตายแทนกันได้" ความกตัญญูกตเวทีที่ท่านได้แสดงนี้ ได้ประจักษ์ชัดเมื่อท่านได้บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) เป็นอุปัชฌาย์ ท่านดำรงเพศสมณะด้วยความเคร่งครัดต่อศีล เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด่างพร้อยทั้งกาย ใจ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีปฏิปทาที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว เป็นที่ยอมรับ และได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนว่า ท่านเป็นพระแท้ ที่หาได้ยากยิ่ง เป็นตัวอย่างของสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อ พระธรรมวินัย มีความกตัญญูเป็นเลิศ ยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ บอกว่าตามโครงการของท่านนั้น ท่านได้วางไว้ว่าจะ บวชถวายพระราชกุศลเพียงหนึ่งพรรษา แล้วหลังจากนั้นท่านจะแต่งงานแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อเมริกา แล้วจะกลับมารับใช้ชาติต่อไป

เมื่อบวชครบพรรษาแล้ว ท่านกลับไม่คิดลาสิกขา ท่านบอกว่า ท่านได้กัลยาณมิตรในทางธรรมแล้ว คือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอุปัชฌาย์ของท่านเอง

สมเด็จฯ ได้สอนเรื่อง อริยสัจสี่ แก่ท่าน จนท่านเห็นความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุข

จนกล่าวได้ว่า ไม่มีความสุขใดในชีวิตฆราวาสที่จะไม่มีความทุกข์ที่แทรกซ้อนอยู่ในความสุขนั้นและเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตของท่านที่ผ่านมา ท่านก็เห็นได้ชัดเจนว่า ชีวิตเป็นทุกข์แท้จริง และอยากจะใฝ่หาทางพ้นทุกข์

อย่างไรก็ดี ท่านก็บอกว่า ท่านยังไม่ตัดสินใจจะบวชตลอด ชีวิตอยู่นั่นเอง แต่จะบวชไปก่อน การบวชไปก่อนของท่าน นั้นท่านไม่ได้บวชอย่างขอไปที หรือบวชอย่างที่คนตัดสินใจไม่ได้ ว่าจะลาสิกขาหรือไม่

ซึ่งการบวชดังกล่าวมานี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บวชแต่อย่างใด นอกจากจะอยู่ไปวัน หนึ่ง ๆ

แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโก ท่านไม่ได้ปล่อยให้เวลาล่วงไป วันหนึ่ง ๆ อย่างเปล่าประโยชน์

ท่านบวชและเจริญสมาธิอย่างเข้มงวด ในช่วงระยะเวลานี้ เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งใจจะบวชจนตลอดชีวิตเท่านั้น

และจากการปฏิบัติของท่านนี้ ก็เกิดผลให้ท่านสมดังใจทำให้ ท่านตัดสินใจได้ภายหลัง

ท่านบอกว่า ท่านตัดสินใจหลังจากบวชแล้วประมาณ ๖ ปี ขณะนั้นท่านเกิดเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง มีความบันเทิงแต่ในทางธรรมเพียงอย่างเดียว และเห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมือง

จนเล็งเห็นว่าแม้ท่านจะลาสิกขาออกไป ท่านก็ไม่อาจจะไป ใช้ชีวิตดังเดิมได้ ในเมื่อจิตใจของท่านเบื่อหน่ายต่อชีวิตการครองเรือน มองเห็นแต่ความทุกข์ หากลาสิกขาบทไปก็เท่ากับไปใช้ชีวิตอย่างเดิม อีก

ในเมื่อท่านได้ก้าวออกมาจากชีวิตนั้นแล้ว เป็นอิสระแล้ว จะย้อนกลับไปใช้ชีวิตเช่นนั้นอีกทำไม่เล่า เหมือนก้าวขึ้นมาจากโคลนตมแล้วกลับกระโดดลงไปอีกฉะนั้น

ส่วนที่ท่านบอกว่า เห็นความเป็นอนิจจังของบ้านเมืองจน คิดเบื่อหน่ายนั้นก็คือ เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ ทรงตั้งสมาคมเจ้า และท่านปรีดีพนมยงค์ตั้งสมาคมราษฎร์ขึ้นมา

ท่านจึงพิจารณาเห็นว่าท่านไม่อาจไปใช้ชีวิตฆราวาสได้อีกอย่างแน่นอน

เพราะชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่ต้องต่อสู้ โดยไม่รู้ว่า ต่อสู้ไปทำไม เพื่ออะไร ในเมื่อชีวิตนี้เป็นทุกข์ ควรจะต่อสู้เพื่อให้พ้นทุกข์มิดีกว่าหรือ

การที่ท่านตัดสินใจอย่างนี้ คิดว่าคงจะเป็นผลจากการเจริญสมาธิของท่านนั่นเอง

ท่านเล่าว่าการทำสมาธิ ท่านได้ฝึกทำมาแต่ครั้งยังเป็น ฆราวาส เมื่อท่านบวชท่านได้ฝึกต่อไป

โดยตัดกระดาษเป็นรูปวงกลมติดไว้ข้างฝาห้องแล้วนั่งเพ่ง จนกระทั่งท่านเห็นภาพนี้ชัด ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เป็นภาพที่ติดอยู่ในจิต เป็นภาพนิมิต

และต่อมาท่านได้ขยายภาพนิมิตนี้ในจิต ให้ใหญ่ให้เล็กได้ตามความประสงค์ หรือจะทำให้ภาพวงกลมนี้ มีมากมายหลายภาพจนนับไม่ถ้วนก็ได้

การที่ท่านเลือกรูปวงกลมมาเป็นภาพสำหรับกำหนดจิต แทนที่จะเป็นพระพุทธรูปหรืออย่างอื่น ก็เพราะว่าท่านเห็นรูปวงกลมนี้เหมือนกับสังสารวัฏที่หมุนเวียนอยู่เสมอ

ต่อมาเมื่อท่านเห็นว่า ท่านมีกำลังจิตแรงกล้าพอแล้ว ท่านได้ ทดลองอำนาจกำลังจิตของท่าน โดยเอากะโหลกผีมาตั้งเรียงไว้ 4 หัว ข้างที่นอนของท่าน

เมื่อเตรียมการเสร็จแล้ว ก็รวบรวมอำนาจจิตนั่งสมาธิ อยู่หน้าหัวกะโหลกผีเหล่านั้น โดยเอาหัวกะโหลกผีเป็นจุดกรรมฐาน

เมื่อนั่งใหม่ ๆ ภาพที่เกิดในนิมิต ปรากฏอย่างแปลกประหลาดพิสดาร โดยหัวกะโหลกเหล่านั้นได้หลอกหลอนท่าน ลอยเข้ามาหาบ้าง ห่างไปบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง

แต่ภายหลังเมื่อท่านได้กำหนดอารมณ์ให้ภาพเหล่านี้ผ่านเลยไป แล้วท่านได้เห็นหัวกะโหลกเหล่านั้นในสภาพที่เป็นจริง ไม่มาหลอกหลอนท่านอีกต่อไป ยังความปลาบปลื้มยินดีให้แก่ท่านมากขึ้น

ตลอดชีวิตแห่งการเป็นภิกษุของท่าน จึงอุทิศให้กับการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มากกว่าที่จะสนใจในการเป็นพระธรรมกถึก

อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ใคร่จะทราบถึงคำสอนของท่านบ้างพอสมควร จะขอนำโอวาทบางตอนของท่านมาลงไว้พอเป็นตัวอย่างบ้าง

โอวาทเหล่านี้จะเห็นได้ว่า สำนวนฟังง่าย ๆ ประโยคสั้น ๆ แต่มีข้อความลึกซึ้ง เพราะท่านได้จากประสบการณ์

อย่างที่เรียกว่า “สันทิฎฐิ โก” คือเห็นและรู้ด้วยตนเอง อย่างแท้จริง ไม่ได้ลอกมาจากตำรา เหมือนนกแก้ว

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างโอวาท ในเรื่องการหน่ายกาม

กามฉันทะหรือกามตัณหา เกิดจากความไม่ฉลาด หลงคิด เห็นอารมณ์ต่าง ๆ เป็นที่ถูกใจ และน่ายินดี กามฉันทะนั้น ผู้ปฏิบัติสามารถข่มไว้ได้ด้วยวิธี ทั้ง ๖ ดังต่อไปนี้

๑. เพ่งใจให้เห็นอสุภารมณ์ คืออารมณ์ที่ปฏิกูลน่าเกลียดไม่ งามของสังขารร่างกาย จนทำให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายความใคร่ หายความกำหนัดยินดี

๒. เพ่งพินิจพิจารณาความปฏิกูลของร่างกาย แยกออกเป็น อาการ ๓๒ ที่เรียกว่า กายคตาสติภาวนา มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น

๓. ใช้สติสำรวมอินทรีย์ เฝ้าระวังทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อได้ประ สบพบเห็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ อย่าให้ความรักใคร่กำหนัดยินดียินร้าย เกิดขึ้นภายในจิตใจ

๔. ให้รู้จักประมาณการบริโภคอาหาร อย่าให้อิ่มจนเกินไป จนเป็นเหตุให้เกิดความกำหนัดทางกาย และลุกลามเข้าไปถึงจิตใจ ให้เกิดความเศร้าหมองด้วยฉันทราคะ

๕. ทำการวิสาสะ คบหาสมาคม สนทนาปราศรัย สนิทสนมคุ้นเคย กับกัลยาณมิตร เพื่อนผู้ดีงาม ที่จะชักชวนให้สนทนาไปในทางที่จะให้เสื่อมคลายความรักใคร่กำหนัดยินดี และยินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์

๖. ฝึกฝนตนปฏิบิตในทางที่ถูกต้อง ตรงตามไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ฯลฯ

กามฉันทะหรือกามตัณหานี้ สลัดกำจัดตัดได้อย่างเด็ดขาด ต่อเมื่อเข้าถึงกระแสพระอนาคามีมรรค บรรลุถึงพระอนาคามีผล

ในบั้นปลายของชีวิต ท่านธมฺมวิตกฺโก อาพาธด้วยมะเร็งที่ลำคอ การอาพาธของท่านนี้พูดตามที่บุคคลธรรมดาพึงเห็น

แต่สำหรับท่านธมฺมวิตกฺโกแล้ว ท่านเป็นปกติธรรมดาไม่เคยแสดงอาการใดว่าท่านได้อาพาธ ท่านปกติธรรมดาจนทุกคนที่พบเห็นท่าน คล้ายจะลืมว่าท่านอาพาธ ถ้ามีใครถามถึง ท่านจะเล่าให้ฟังว่า

ตั้งแต่เริ่มเป็น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ มีขนาดเท่าไข่จิ้งจก และโต ต่อมาเรื่อย ๆ จนมีขนาดเท่าลูกพุทรา เท่าไข่เต่า และท่านจะบอกว่าตอนนี้เท่าไข่เป็ดแล้ว

เมื่อถามถึงความเจ็บปวด ท่านจะบอกว่าไม่เจ็บปวดมากนัก จะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผมคิดว่าถ้าเป็นอย่างเราก็คงจะลุกเดินไม่ไหวเพราะความเจ็บปวดแล้ว แต่ท่านธมฺมวิตกฺโกท่านกลับเป็นปกติทุกอย่าง สมมติว่าแผลมะเร็งนี้เกิดขึ้นกับอวัยวะภายใน ไม่มีใครมองเห็นแล้ว ก็จะไม่มีใครรู้ว่าท่านอาพาธเลย

ท่านเล่าว่า เมื่อก่อนจะเป็น ท่านมีความรู้สึกว่าจะเป็นที่ตับ เพราะมีอาการบางอย่างที่นั่น ท่านเล่าว่าเหมือนกับมีอะไรวิ่งกันอยู่เป็นริ้ว ๆ ที่บริเวณนั้น ท่านได้อธิษฐานว่าหากจะป่วยเป็นโรคใดแล้วขอให้ปรากฏออกมา ขอให้เป็นภายนอกเถิดจะได้มองเห็นและเป็นตัวอย่างให้ศึกษา

หลังจากท่านอธิษฐานแล้ว ท่านรู้สึกว่าสิ่งที่วิ่งกันอยู่นั้นได้ย้ายวิ่งมาที่ลำคอและปรากฏเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ ที่แรงอธิษฐานของท่านเป็นไปตามที่ท่านอธิษฐาน เห็นจะเป็นด้วยบุญบารมีที่ท่านบำเพ็ญมา

และท่านจะยกเอาอาการอาพาธของท่านเป็นตัวอย่างสอนคนที่ไปพบท่านว่า ร่างกายเป็นรังของโรค ต้องป่วยเจ็บอยู่เสมอเป็นธรรมดา เป็นเรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่าเศร้าหมองตามการป่วยเจ็บนั้น ทำใจให้ปลอดโปร่ง

และให้นึกเสมอว่า การเจ็บ การตายไม่แน่นอน จะมาถึงเมื่อใดก็ได้ อย่าประมาท อย่ารั้งรอต่อการทำความดี ในขณะที่ยังมีโอกาสทำความดี จะได้ไม่ต้องเสียใจ แม้ความตายจะมาถึงในวินาทีใดก็ตาม

เมื่อท่านธมฺมวิตกฺโกอาพาธ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จไปเยี่ยมอาการของท่านที่พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาสถึงสองครั้ง เป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อท่านธมฺมวิตกฺโก

การเสด็จไปของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแต่ละครั้ง ทรงรับสั่งถามปัญหาธรรมต่าง ๆ กะท่านธมฺมวิตกฺโก ทุกครั้ง ท่านธมฺมวิตกฺโก ได้วิสัชนาถวายในปัญหาธรรมต่าง ๆ อย่างชัดเจนหมดจดทุกปัญหา

จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงสนพระทัยในธรรมนี้ ท่านธมฺมวิตกฺโกได้เคยบอกว่า ขอให้ประชาชนทุกคนยึดถือเป็นตัวอย่างที่ควรสนใจ และศึกษาธรรมเช่นเดียวกับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน

เพราะธรรมจะทำให้ประเทศอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำให้ชนในชาติสามัคคีกลมเกลียวกัน มีความขยันหมั่นเพียรในทางที่ถูกต้อง ไม่แก่งแย่งชิงดี เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน

และในชั้นสูงขึ้นไปของการปฏิบัติธรรม ก็จะทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติไปสู่พระนิพพาน ซึ่งควรจะเป็นความหวังของทุกคน ขอให้ทุกคนอย่าลืมหน้าที่อันนี้ คือหน้าที่ที่จะทำให้ตนเองพ้นทุกข์

การทำให้ตนเองพ้นทุกข์ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่เกิดมา แต่พากันลืมเสีย ไปไขว่คว้าแต่หน้าที่อื่นกันเสียหมด จะทำให้เสียแรงที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่สอนให้ทุกคนพ้นทุกข์ด้วยตนเอง

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ธมฺมวิตฺกโก มรณภาพเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๔ สิริอายุ ๗๔ ปี พรรษา ๔๖

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ เป็นตัวอย่างยืนยันถึงความสุขอันเกิดแต่ความสงบโดยแท้ คนที่ไม่ต้องการอะไรเลยในชีวิต เป็นผู้ประสบความสุขอย่างแท้จริงยิ่งกว่าคนที่ต้องการทุกอย่างในชีวิต

ท่านเป็นตัวอย่างของสงฆ์ ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่มีความอยากใด ๆ ไม่ปรารถนาจะเป็นอาจารย์ของผู้ใด ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ

เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด มีความกตัญญูเป็นเลิศยากจะหาใครมาทัดเทียม

นับแต่นี้ต่อไป แม้จะไม่มีสังขารของท่านธมฺมวิตกฺโก แต่คุณงามความดีของท่านก็จะยังคงอยู่ตลอดไปไม่เสื่อมสลาย

ท่านเคยบอกว่านามฉายาของท่านคือ ธมฺมวิตกฺโก นั้นมี ความหมายถึง การระลึกถึงธรรม หรือ การตรึกถึงธรรม อันเป็นนามเดิมของท่าน

เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ ท่านเคยบอกเสมอว่า “ถ้าคิดถึง อาตมาก็ให้คิดถึง ธมฺมวิตกฺโก เพราะ ธมฺมวิตกฺโก คือ การระลึกถึงธรรม เมื่อคิดถึงเช่นนี้แล้ว ธมฺมวิตกฺโก ก็จะอยู่ข้าง ๆ เสมอ”


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 15, 2015, 08:48:49 AM
"มีแต่เขาไม่อยากจะมาเกิด นี่ทำไมอยากมาเกิดอีก
อย่างอาตมาถ้าใครแช่งให้ไม่รู้จักผุดจักเกิด อาตมาก็จะขอบใจ"

พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 15, 2015, 08:49:43 AM
เนื้อหนังหุ้มโครงกระดูก
ก็นิยมกันว่าสวย รักกันอยู่ด้วยความหลงแท้ๆ
หลงว่าจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ตลอดไป ไม่ได้มองลึกลงไป
ไม่ได้เห็นแก่นแท้ว่ามีแต่กระดูก ไม่น่าอภิรมย์แต่อย่างใด
ทำไมจึงยังหลงใหลมัวเมากันอยู่ได้"
พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กันยายน 25, 2015, 10:47:24 AM
คนเราเมื่อมีลาภ ก็เสื่อมลาภ เมื่อมียศ ก็มีเสื่อมยศ
เมื่อมีสรรเสริญ ก็มีนินทา
เป็นของคู่กันมาเช่นนี้
จะไปถืออะไรกับปากมนุษย์
ถึงจะดีแสนดี ... มันก็ติ
ถึงจะชั่วแสนชั่ว ... มันก็ชม
นับประสาอะไร
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเลิศยิ่งกว่ามนุษย์เทวดา
ยังมีมารผจญ ยังมีคนนินทาติเตียน
ปุถุชนอย่างเราจะรอดพ้นจากโลกะธรรมดังกล่าวแล้วไม่ได้
ต้องคิดเสียว่า
เขาจะติ ... ก็ช่าง
เขาจะชม ... ก็ช่าง
เราไม่ได้ทำอะไรให้เขาเดือดเนื้อร้อนใจ
ก่อนที่เราจะทำอะไร
เราคิดแล้วว่าไม่เดือดร้อนแก่ตัวเราและคนอื่น ... เราจึงทำ
เขาจะนินทา.. ว่าใส่ร้าย อย่างไร ก็ช่างเขา
บุญเราทำ กรรมเราไม่สร้าง
พยายามสงบกาย สงบวาจา สงบใจ
ไยจะต้องไปกังวล กลัวใครจะติเตียนทำไม ... ไม่เห็นมีประโยชน์
เปลืองความคิดเปล่า ๆ
(ธรรมะของท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต)


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 01, 2015, 11:25:24 PM
แนวทางปรับปรุงนิสัยตัวเอง
นิสัยของคนเรานั้น อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้แม้ยากสักหน่อย
คุณสมบัติและนิสัย ที่ควรพูดควรคิดอยู่เสมอนั้นคือ
๑. เราต้องทำใจให้สงบ ไม่ว่าในเวลามีเหตุการณ์ใดๆ
เราจะมีความไว้ใจในตัวเราเองเสมอ
๒. เราต้องข่มความหวาดกลัว
ความตื่นเต้นและความรู้สึกที่เป็นภัยแก่ตัว
๓. เราต้องทำดวงจิตของเราให้ผ่องใสไม่ขุ่นมัว
และเป็นนายตัวเราเองไม่ว่าต่อหน้า ใคร
๔. เราต้องปลูกนิสัยของเราให้ขึ้นสู่ชั้นสูงสุด
เท่าเทียมคนอื่นๆ ที่เขามีนิสัยดีที่สุด
๕. เราต้องทำสิ่งซึ่งถึงเวลาจะต้องทำ
แม้มีสิ่งใดๆ มาขัดขวางก็จะต้องทำให้จงได้
๖. เราจะบังคับตัวและบังคับใจของเรา
ไม่ยอมให้เป็นไปในทางที่จะทำให้เราเดินออกไปนอกทางที่เรามุ่งหมาย
และนอกหลักธรรมในใจเรา
๗. เราต้องพินิจพิเคราะห์ โดยถี่ถ้วน ก่อนที่จะปลงใจยอม
ตามความคิดความเห็น อย่างใด อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแก่เรา
หรือที่มีใครบอกเราหรือที่เราได้อ่านจากหนังสือ
๘. เราต้องมีความมานะ มีจิตตานุภาพ
ที่สามารถ บังคับบุคคลหรือเหตุการณ์ ทั้งหลายได้
ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ)
วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 03, 2015, 01:55:35 PM
โอวาท(บางส่วน)ของท่านเจ้าคุณนรฯ พระอรหันต์กลางกรุง

เรื่องที่ 1
ในวันวิสาขบูชาวันหนึ่ง หลังจากเวียนเทียนเสร็จ ได้มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งเข้าไปกราบท่านธมมวิตกโกขณะที่ท่านเดินอยู่ ท่านได้หยุดและถามว่ามีเรื่องอะไรหรือ หนุ่มสาวคู่นั้นได้เรียนท่านว่ามาขอพรให้เกิดมาพบกันอีก ท่านได้ตอบว่า "มีแต่เขาไม่อยากจะมาเกิด นี่ทำไมอยากมาเกิดอีก อย่างอาตมาถ้าใครแช่งให้ไม่รู้จักผุดจักเกิด อาตมาก็จะขอบใจ เอาละเมื่อมาขอพรก็จะให้ แต่จะบอกว่าคนเราไม่ได้อะไรง่าย ๆ ด้วยการร้องขอ อยากได้อะไรต้องทำถึงจะได้" เรื่องการขอพรนี้มีคนไปขอพรท่านมาก ใครอยากได้อะไรก็ไปขอ จนท่านได้เขียนโอวาทเป็นข้อสุดท้ายลงในหนังสือสันติวรบทของท่านว่า ทำดีดีกว่าขอพร ท่านบอกว่าพรเป็นเพียงกำลังใจให้คนประพฤติปฏิบัติเท่านั้น และพุทธศาสนาก็ไม่ใช่ศาสนาของการสวดอ้อนวอนร้องขออะไร พระบรมศาสดาสอนให้เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้น ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า "ทำดีดีกว่าพร"


เรื่องที่ 2
คราวหนึ่งมีนักเรียนแพทย์ที่จบจากศิริราช จะออกไปเป็นแพทย์ฝึกหัดตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้มาขอโอวาทจากท่านขอให้ท่านกรุณาให้โอวาทด้วย เพราะจะออกไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว ท่านธมมวิตกโกได้ให้โอวาทว่า ถ้าจะมาขอโอวาท ก็จะเตือนให้ระวังระเบิดสามลูก มีชื่อ ราคะ โทสะ และโมหะ ระเบิดสามลูกนี้ร้ายกาจมาก เป็นรากเง่าของความชั่วร้าย เรื่องโทสะเห็นจะไม่มีใครชอบพระเป็นของร้อนและเห็นได้ง่ายว่าเป็นทุกข์ แต่ราคะและโมหะให้ระวังให้มาก เพราะมาในรูปของไฟเย็นให้ความสุขได้มองไม่ค่อยเห็นความทุกข์ และราคะนั้นเมื่อมีโมหะเข้าช่วยจะไปกันใหญ่ เพราะจะพากันหลงรักหลงชัง เมื่อท่านให้โอวาทจบได้ถามแพทย์ผู้หนึ่งว่าจะไปอยู่ไหน นายแพทย์ผู้นั้นตอบว่าไปอยู่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ท่านธมมวิตกโกบอกว่าคุณต้องระวังให้มากนะ เพราะจะเดือดร้อนจากระเบิดสามลูกนี้โดยเฉพาะลูกที่ชื่อราคะ

เรื่องที่ 3
ในกุฏิของท่านธมมวิตกโก นอกจากจะมีหีบศพแล้ว ยังมีโครงกระดูกแขวนอยู่ เป็นโครงกระดูกเต็มตัวร้อยไว้อย่างดี ท่านเคยชี้ให้ดูและบอกว่าเป็นโครงกระดูกผู้หญิง ท่านว่าเป็นคุณหญิงของท่าน ท่านชมว่าดีแท้ ๆ ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาไม่เคยทะเลาะกันเลย ไม่เคยบ่น ไม่เคยทำให้กลุ้มใจ มีแต่ให้ประโยชน์ให้สติ ให้รู้ว่าจะต้องตายเช่นนั้น วันหนึ่งก็จะเหลือแต่โครงกระดูกเช่นนี้ ได้พิจารณาทุกวัน แล้วท่านก็บอกว่าเมื่อมีเนื้อหนังหุ้มโครงกระดูกก็นิยมกันว่าสวย รักกันอยู่ด้วยกันความหลงแท้ ๆ หลงว่าจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ตลอดไปไม่ได้มองลึกลงไป ไม่ได้เห็นแก่นแท้ว่ามีแต่กระดูก ไม่น่าอภิรมย์แต่อย่างใด ทำไมจึงยังหลงไหลมัวเมากันอยู่ได้ แล้วท่านก็จะสรุปว่า "บ่อน้อยเท่ารอยโคหรือจะโผข้ามพ้น เป็นมหาบาเรียนยังเวียนไปหาก้น"

เรื่องที่ 4
ที่บริเวณกุฏิของท่านธมมวิตกโก มักจะมีชาวจีนเอาเครื่องไหว้แบบจีนไปไหว้เสมอ โดยเขานับถือว่าเป็นเซียน แต่ท่านบอกว่าเขาเห็นว่ากุฏิท่านเป็นศาลเจ้า วันหนึ่งมีชาวจีนเอาธูปเทียนป้ายหนังสือจีนและกระดองเต่าไปวางไว้ที่โคนต้นไม้ข้างกุฏิของท่าน เมื่อท่านกลับจากโบสถ์มาพบเข้า ท่านได้ชี้ให้ดูและบอกว่าชาวจีนเขายกย่องเต่ามาก เพราะเต่าเป็นสัตว์ที่อดทน แม้จะเดินช้าก็มั่นคงและไปถึงเสมอ ถ้าจะเอาเต่าเป็นตัวอย่างในการครองชีวิตก็ต้องอดทนและรอบคอบดำเนินชีวิตให้มั่นคง ส่วนในแง่ธรรมะจะเอาเต่าเป็นตัวอย่าง ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นตัวอย่าง เพราะเต่ามีกระดองและอวัยวะที่พ้นจากกระดองคือ 4 ขา หัวและหาง รวมเป็น 6 เปรียบเหมือน ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจของคน เมื่อเต่าพบอันตราย จะหดอวัยวะทั้งหมดเข้ากระดองจนกว่าจะปลอดภัย ถ้าคนเราจะเอาตัวอย่างนี้มาประพฤติจะดีไม่น้อย เช่นเมื่อประสาททั้ง 6 ดังที่กล่าวมากระทบกับอารมณ์ใดก็เอามาพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เช่นเดียวกับเต่าหดอวัยวะเข้ากระดอง ไม่วู่วามตัดสินใจทำอะไรไปโดยไม่ถูกไม่ควร

เรื่องที่ 5
เรื่องบวชไม่สึกของท่านธมมวิตกโกนี้ ท่านบอกวาไม่เพียงแต่พี่สาวของคุณชุบว่าท่านบ้าเพียงคนเดียว แม้แต่คนอื่นก็ว่าท่านบ้าเหมือนกัน ท่านเล่าว่าพระบวชใหม่องค์หนึ่งมาบวชที่วัดเทพศิรินทร์ ขณะที่มาบวชนี้มีคู่หมั้นอยู่แล้ว เมื่อบวชแล้วก็ได้รู้จักกับท่านได้เล่าให้ท่านฟังว่า ก่อนบวชคู่หมั้นได้สั่งไว้ว่าไม่ให้มาหามาคุยกับท่านธมมวิตกโก โดยบอกว่าท่านธมมวิตกโกบ้า บวชแล้วไม่สึก คู่หมั้นของพระรูปนั้นเกรงว่า ถ้าได้รู้จักกับท่านธมมวิตกโกแล้วจะไม่สึกตามไปด้วย จึงได้ห้ามไว้เช่นนั้น เรื่องนี้ท่านธมมวิตกโกบอกว่า คนที่ทำอะไรไม่เหมือนที่โลกนิยมก็จะมีคนว่าบ้า โดยคนที่พูดไม่ได้เข้าใจโดยถ่องแท้ว่า อย่างไรจึงบ้าอย่างไรจึงดี ท่านบอกว่าคนเราที่เกิดมานี้มีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งที่พึงกระทำ คือการทำให้พ้นทุกข์ ถ้าไม่ทำก็เท่ากับว่าไร้ประโยชน์ในการเกิดมา เพราะจะต้องเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่นั่นเอง และคนที่มีความประสงค์จะพ้นทุกข์ และพยายามกระทำเพื่อให้พ้นทุกข์ คนที่ไม่เข้าใจก็ว่าบ้าเหมือนอย่างที่สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) บอกว่า "เมื่อขรัวโตบ้าก็ว่าขรัวโตดี เมื่อขรัวโตดีก็ว่าขรัวโตบ้า

เรื่องที่ 6
ในระหว่างเข้าพรรษาท่านธมมวิตกโกจะเตือนพระภิกษุใหม่เสมอว่า ให้รีบศึกษารีบทำความดีเสียเพราะมีเวลากันคนละไม่มาก ถ้าหากไม่ขวนขวายที่จะศึกษาในทางธรรมแล้ว เมื่อสึกออกไปก็จะยิ่งไม่มีโอกาส หากใกล้จะออกพรรษาท่านก็จะเตือนอีกเช่นกัน แต่มีคราวหนึ่งท่านไม่เตือนเหมือนเคย ท่านกลับเตือนว่าอีก "กี่วัน" จะออกพรรษาแล้ว โดยพูดเป็นจำนวนวันที่เหลือ พระภิกษุบวชใหม่ไปเล่าให้ญาติโยมฟังถึงเรื่องนี้ มีบางคนบอกว่าท่านให้หวยแล้วพากันไปแทงตามตัวเลขที่ท่านพูด ปรากฏว่าในงวดนั้นลอตเตอรี่ออกตรงตามที่ท่านพูด ทำให้เล่าลือกันไปว่าท่านให้หวยแม่น เมื่อท่านทราบเรื่องนี้ท่านบ่นว่า "เหลวไหลกันใหญ่ ต่อไปนี้อาตมาจะพูดอะไรเป็นตัวเลขต้องระวังเสียแล้ว ถ้าเกิดไปแทงไม่ถูก จะพากันเสียเงินโดยใช่เหตุ นี่เคราะห์ดีว่าแทงถูก"

เรื่องที่ 7
มีพระภิกษุบวชใหม่รูปหนึ่ง เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจขวนขวายศึกษาธรรม และพยายามจะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านธมมวิตกโกเห็นอุปนิสัยเช่นนั้น จึงได้ชักชวนให้พระภิกษุรูปนั้นบวชต่อไป การชักชวนของท่านธมมวิตกโกนี้เป็นการชักชวนอย่างจริงจัง พร้อมทั้งแนะแนวปฏิบัติให้อีกด้วย แต่พระภิกษุรูปนั้นก็ยังไม่รับคำ จนกระทั่งออกพรรษา ท่านธมมวิตกโกได้บอกกับพระภิกษุรูปนั้นว่า "คุณมีอุปนิสัยเพราะคุณเรียนธรรมได้ง่าย นี่แสดงว่าคุณบวชแล้วหลายชาติ และคุณก็สึกทุกที ชาตินี้คุณไม่สึกไม่ได้หรือ" พระภิกษุรูปนั้นได้ตอบว่า "ผมยังมีวิจิกิจฉา ยังสงสัยทุกเรื่อง ยังไม่มั่นใจว่า อะไรคืออะไรเป็นที่แน่นอน คิดเอาเองว่าจะสิ้นสงสัยได้ต้องอธิษฐานขอเป็นพระพุทธเจ้าเอง เพราะเท่าที่ทราบมาพระอรหันต์ระลึกชาติเพียงกัปป์เดียวคงไม่สิ้นสงสัย" ท่านธมมวิตกโกบอกว่า "คุณคิดเหมือนคุณเสถียร โพธินันทะ คุณเสถียรบอกกับอาตมาว่าอยากเป็นพระพุทธเจ้า อาตมาเห็นเป็นเรื่องเหลวไหว เกิดมาพบพระพุทธเจ้าแล้ว ได้เรียนธรรมของท่านแล้ว จะอยากไปเป็นพระพุทธเจ้าอีก ต้องทรมานต่อไปอีกด้วยเหตุผลอะไรกัน แล้วที่คุณว่าเป็นพระอรหันต์ไม่สิ้นสงสัยนั้น คุณทราบแล้วหรือว่าพระอรหันต์เป็นอย่างไร เป็นเรื่องรู้ก่อนเกิด เหลวไหล" แล้วท่านธมมวิตกโกได้กล่าวต่อไปว่า "สำหรับอาตมานั้นต้องการให้ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย อาตมาไม่อยากจะเกิดอีก อาตมามั่นใจว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย" แล้วท่านก็พูดเป็นภาษาอังกฤษว่า "This Life is the last" ผมก็ไม่ทราบว่าความหวังของท่านบรรลุผลหรือไม่ และท่านเป็นพระอรหันต์จริงหรือไม่ ใครเล่าจะมีคุณธรรมพอจะไปหยั่งรู้ได้ เพราะผู้นั้นจะต้องเป็นพระอรหันต์เช่นกัน และที่ท่านธมมวิตกโกบอกว่า ต้องการให้เป็นชาติสุดท้ายนั้น ก็มีความหมายได้สองนัย กล่าวคือเป็นชาติสุดท้ายจริง ๆ เพราะต้องนิพพานแน่ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นชาติสุดท้ายของการเกิดเป็นมนุษย์ แล้วไปบังเกิดในภพอื่น ไปนิพพานในภพอื่น ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการเดาเท่านั้น ถ้าพวกเราคือผู้อ่านและผมผู้เขียนเข้าใจว่าท่านเป็นพระอริยบุคคลจริง ๆ จะเป็นพระอริยบุคคลชั้นใดก็ตาม เราท่านทั้งหลายก็ไม่อาจจะหยั่งถึงความเป็นไปหรือความคิดของพระอริยบุคคลได้ คงได้แต่ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ท่านได้สมปรารถนาในเจตนาของท่านอย่างบริบูรณ์

เรื่องที่ 8
ในบั้นปลายของชีวิต ท่านธมมวิตกโกอาพาธด้วยโรคมะเร็งที่ลำคอ การอาพาธของท่านนี้พูดตามที่บุคคลธรรมดาพึงเห็น แต่สำหรับท่านธมมวิตกโกแล้ว ท่านเป็นปกติธรรมดาไม่เคยแสดงอาการใดว่าท่านได้อาพาธ ท่านปกติธรรมดาจนทุกคนที่พบเห็นท่านคล้ายจะลืมว่าท่านอาพาธ ถ้ามีใครถามถึง ท่านจะเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่เริ่มเป็นเมื่อปี พ.ศ. 2509 มีขนาดเท่าไข่จิ้งจก และโตต่อมาเรื่อย ๆ จนมีขนาดเท่าลูกพุทรา เท่าไข่เต่า และท่านจะบอกว่าตอนนี้เท่าไข่เป็ดแล้ว เมื่อถามถึงความเจ็บปวด ท่านจะบอกว่าไม่เจ็บปวดมากนัก จะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ผมคิดว่าถ้าเป็นอย่างไรท่านคงจะลุกเดินไม่ไหวเพราะความเจ็บปวดแล้ว แต่ท่านธมมวิตกโกท่านกลับเป็นปกติทุกอย่าง สมมติว่าถ้าแผลมะเร็งนี้เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในไม่มีใครมองเห็นแล้ว ก็จะไม่มีใครรู้ว่าท่านอาพาธเลย ท่านเล่าว่าเมื่อก่อนจะเป็นท่านมีความรู้สึกว่าจะเป็นที่ตับ เพราะมีอาการบางอย่างที่นั่น ท่านเล่าว่าเหมือนกับมีอะไรวิ่งกันอยู่เป็นริ้ว ๆ ที่บริเวณนั้น ท่านได้อธิษฐานว่าหากจะป่วยเป็นโรคใดแล้วขอให้ปรากฏออกมา ขอให้เป็นภายนอกเถิดจะได้มองเห็น และเป็นตัวอย่างให้ศึกษา หลังจากท่านอธิษฐานแล้ว ท่านรู้สึกว่าสิ่งที่วิ่งกันอยู่นั้นได้ย้ายวิ่งมาที่ลำคอและปรากฏเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่แรงอธิษฐานของท่านเป็นไปตามที่ท่านอธิษฐาน เห็นจะเป็นด้วยบุญบารมีที่ท่านบำเพ็ญมา และท่านจะยกเอาอาการอาพาธของท่านเป็นตัวอย่างสอนคนที่ไปพบท่านว่า ร่างกายเป็นรังของโรคต้องเจ็บป่วยอยู่เสมอเป็นธรรมดา เป็นเรื่องของการเกิดแก่เจ็บตาย อย่าเศร้าหมองตามการป่วยเจ็บนั้น ทำใจให้ปลอดโปร่ง และให้นึกเสมอว่าการเจ็บการตายไม่แน่นอน จะมาถึงเมื่อใดก็ได้อย่าประมาทอย่ารั้งรอต่อการทำความดีในขณะที่ยังมีโอกาสทำความดี จะได้ไม่ต้องเสียใจ แม้ความตายจะมาถึงในวินาทีใดก็ตาม ท่านจะยกคำกลอนในอุทานธรรมมาพูดเสมอว่า
ถึงกายแพ้แต่ใจเราไม่แพ้
ใจไม่แก่เจ็บตายตามกายหนา
กายนี้มันจะเน่าเราก็ลา
ไปสวรรค์ชั้นฟ้านิพพานเอย

เรื่องที่ 9
คราวหนึ่งท่านได้เคยพูดกับนายอธึก สวัสดิมงคล นายกยุวพุทธิกสมาคมชลบุรี ภายหลังจากถวายของให้ท่านอธิษฐานจิตแล้ว เป็นคติน่าฟังมาก
"ทั้งหมดนี่" ท่านกล่าวขึ้น พร้อมกับชี้มือไปยังหีบพระเครื่องต่าง ๆ ที่ท่านอธิษฐานจิตแล้ว "สู้ธรรมะไม่ได้"
แสดงว่าท่านยกย่องการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมของสมเด็จพระบรมศาสดานั้นว่า มีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด สำคัญยิ่งกว่าการมีพระเครื่องไว้ประจำตัว
อีกคราวหนึ่งในปี 2513 หลังจากพิธีสวดอธิษฐานจิตเมื่อวันเสาร์ห้าผ่านไปเพียงเล็กน้อย นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์ ได้นำพระเครื่องพิมพ์นาคปรกเนื้อนวโลหะที่ท่านเจ้าคุณอุดมฯ สร้างเพื่อจำหน่ายหารายได้สมทบทุนสร้างโรงเรียนนวมราชานุสรณ์ นครนายกนั้น ราว 4-5 องค์ไปถวายให้ท่านอธิษฐานจิตซ้ำอีก ก่อนที่ท่านจะยินยอมอธิษฐานจิตให้ ได้ถูกท่านเทศนาสั่งสอนอย่างเจ็บ ๆ อยู่นานร่วม 1 ชั่วโมง
"หมอนี่เรียนมาเสียเปล่า มาหลงงมงายอะไรกับเรื่องพรรค์นี้ !"
ท่านได้ว่ากล่าวสั่งสอน มิให้ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับเรื่องของขลังและอภินิหาร เพราะอภินิหารต่าง ๆ นั้น มิได้ช่วยให้ทุกคนรอดพ้นจากภัยอันตรายได้ทุกครั้งอยู่เสมอไป
ตลอดเวลาที่ท่านเทศนาว่ากล่าวอยู่นานโขนั้น นายแพทย์สุพจน์ ได้โต้แย้งท่านอยู่ไม่หยุดเช่นกัน โดยปกตินั้นท่านชอบคนโต้เถียงท่านด้วยเหตุผลอยู่เหมือนกัน
การที่นายแพทย์สุพจน์โต้เถียงท่านในเรื่องอภินิหารนั้น ก็เป็นด้วยนายแพทย์ผู้นี้ได้เคยเอาพระเครื่องกรุเก่า มาทดลองยิงด้วยปืนพกด้วยมือของตนเองมาหลายครั้งหลายหน จนกระสุนหมดไปหลายกล่อง ปรากฏผลเป็นที่น่าทึ่งมาก โดยใช้วิธีอาราธนาพระไว้ที่ตัวปลาหมอ ในระยะที่ยิงได้แม่นยำอย่างสบาย แล้วก็ระเบิดกระสุนใส่เข้าไป !
ผลของการทดลอง ปรากฏว่าจากการยิงพระนางพญากรุพิษณุโลก ราว 7-8 องค์ ส่วนใหญ่ยิงถูกแต่ไม่เข้า (คงกระพัน) บางองค์ยิงไม่ถูก (แคล้วคลาด) มีอยู่องค์หนึ่งยิงไม่ออก (มหาอุด) และพระปิดทวารของหลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง พิมพ์ใหญ่ชนิดสองหน้า ที่เรียกกันว่าพิมพ์พระประกับนั้น ยิงไม่ออก เป็นยอดมหาอุดจริง ๆ
จากประสบการณ์ดังกล่าวนี้เอง ทำให้นายแพทย์สุพจน์ ศิริรัตน์ เชื่อมั่นในอภินิหารของพระเครื่องเป็นยิ่งนัก และเอาเรื่องนี้มาโต้แย้งกับท่านธมมวิตกโก ที่ท่านกล่าวหาว่ามาหลงงมงายอยู่กับอภินิหารไม่เข้าเรื่อง !
"เรื่องอภินิหาร พระเดชพระคุณว่ามีจริงไหม ?" นายแพทย์สุพจน์ เอ่ยขึ้นตอนหนึ่ง
"จริง" ท่านตอบ จากนั้นท่านกล่าวสืบต่อไปว่า
"หมอเคยเห็นเคยได้ยินข่าวเรื่องโจรผู้ร้ายที่แขวนพระไว้เต็มคอ แต่แล้วก็กลับถูกตำรวจยิงตาย หรือไม่ก็ถูกจับได้ ต้องติดคุกไปบ้างไหม? ถึงแม้จะมีพระอยู่เต็มคอก็ช่วยอะไรไม่ได้ใช่ไหม?"
แล้วท่านกล่าวสำทับในที่สุดว่า "อภินิหารนั้นหนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น"
เมื่อถูกท่านขนาบด้วย "ไม้ตาย" เช่นนี้ ก็ทำเอานายแพทย์สุพจน์ ต้องนิ่งงันสงบปากไม่อาจจะกล่าวโต้แย้งในเรื่องอภินิหารใด ๆ กับท่านได้อีกต่อไป
ตามที่กล่าวมานี้ จะเป็นที่เห็นได้ชัดว่า แม้ท่านธมมวิตกโกจะตั้งใจอธิษฐานจิตและแผ่เมตตาลงในพระเครื่อง ด้วยความเชื่อมั่นว่า มีความศักดิ์สิทธิ์สามารถปกป้องคุ้มครองผู้สักการะบูชาได้ก็จริง แต่ผู้มีพระเครื่องไว้คุ้มครองนั้น ก็จะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา เจ้าของที่มาแห่งองค์พระปฏิมานั้นด้วย

เรื่องที่ 10
เมื่อคุณหมอ ไพบูลย์ ปุษปธำรง ได้ทำแผลให้เป็นที่เรียบร้อย ท่านก็สวดมนต์อุทิศแผ่ส่วนกุศลให้ แล้ววันนั้นท่านได้กล่าวกับหมอว่า " หมอ อันความตายและการพลัดพรากจากกันนั้นเป็นของธรรมดา และเป็นไปตามธรรมชาติ เขาตายกันนับตั้งแต่คราวปู่ย่าตายาย เมื่อครั้งโบราณกาลมาแล้ว ถ้าเราพิจารณาให้ดีก็จะรู้ว่า การตายไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าสยดสยองอย่างที่ทุกวันมีคนส่วนมากคิด คนเราเมื่อเกิดมาก็ต้องอาศัยสังขารเป็นที่อยู่อาศัยปกติธรรมดาสังขารเราก็จะมีเวลาจำกัด ย่อมจะมีการเสื่อมและทรุดโทรมเป็นธรรมดา ฉะนั้นความตายจึงไม่เป็นสิ่งที่เสียหายตรงไหน หากแต่เป็นเพียงเปลี่ยนสภาพจากหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งเท่านั้น อุปมาเหมือนหมอกับอาตมา ซึ่งในปัจจุบันขณะนี้กำลังคุยกันอยู่ แต่เวลาได้ล่วงเลยดับไปทุกวินาที ทุกชั่วโมง และหมอก็ได้ทำแผลให้อาตมาเสร็จ ประเดี๋ยวหมอก็จะต้องกลับไปบ้าน ส่วนอาตมาก็จะต้องกลับกุฎิ และทุกคนในที่นี้ก็จะต้องกลับไปสู่ที่อยู่อาศัยของตน
นี่ก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการพลัดพรากจากกัน ทั้งที่เรายังมีชีวิตอยู่ มีสังขารร่างกาย เมื่อเราได้ลุกจากไปแล้ว สถานที่นั้นก็จะว่างเปล่าปราศจากผู้คนไปชั่วขณะ เพราะเราได้แยกย้ายกันกลับไปสู่ที่พัก เหตุการณ์วันนั้นก็จะเป็นแต่เพียงอดีตเท่านั้น จะมีก็แต่ความทรงจำเท่านั้นแต่จะให้อดีตนั้นย้อนกลับมาใหม่ก็ไม่ได้ ดังนั้นการตายก็เหมือนกัน เป็นแต่เพียงการจากไป มิได้สูญไปไหน หากแต่เปลี่ยนจากสภาวะปัจจุบันไปอยู่อีกสภาวะหนึ่ง ซึ่งอยากที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ และเราก็สามารถที่จะระลึกถึงกันได้ อย่าเข้าใจว่าสูญสิ้นไป ความตายความเกิดนั้นมีอยู่ตลอดเวลา ขออย่าประมาท"

การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ตลอดเวลา 45 พรรษาที่ท่านอุปสมบทอยู่นั้น ท่านได้มีชีวิตอยู่อย่างวิเวกอย่างแท้จริง ทั้ง ๆ ที่ท่านอาศัยอยู่ในใจกลางของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และก็อยู่ในบริเวณที่อึกกระทึกจอแจไม่น้อย ท่านไม่ค่อยได้พูดคุยกับผู้ใดนัก นอกจากว่าจะมีผู้พูดกับท่านก่อน และอันที่จริงก็ไม่ค่อยจะมีใครกล้าพูดกับท่านเท่าใดนัก นอกจากว่าจะเป็นการสนทนาธรรมกัน ซึ่งท่านก็ยินดีจะให้คำตอบและอธิบายอย่างเต็มใจเท่าที่สามารถกระทำได้ ดังนั้น จึงมีหลายคนมักจะตำหนิติเตียนท่านว่าเป็นคนใจแคบ ไม่ช่วยสั่งสอนผู้อื่นบ้าง แต่ก็มีหลายท่านเหมือนกันที่ค้านว่า ความจริงข้อวัตรปฏิบัติของท่านที่ท่านได้กระทำติดต่อกันมาด้วยความสม่ำเสมอ ซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้เด็ดเดี่ยวในทางความเพียรนั้นแหละคือ เทศน์กัณฑ์ใหญ่ทีเดียว และก็เป็นเทศน์ที่ได้ผลดีไม่น้อยกว่าการเทศน์ด้วยคำพูดเหมือนกัน เพราะเป็นการเทศน์ให้เราดูด้วยตา ไม่ใช่ให้เราฟังด้วยหูอย่างเดียว ซึ่งการเทศน์ให้ฟังนั้น บางครั้งก็อาจจะเกิดกว่าภูมิธรรมภายในของผู้เทศน์ไปไม่น้อยก็เป็นได้ ดังนั้น การเทศน์ให้ดูแบบนี้ สำหรับคนที่ใจไม่บอดจึงมีคติสอนใจได้เป็นอย่างดี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 22, 2015, 08:23:15 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20151022081902_jaokoonnor.jpg)

ในภาพคือ พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต(ธมฺมวิตกฺโกภิกขุ) วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร

ภาพนี้เป็นภาพที่ไม่เคยมีการเปิดเผยมาก่อน แสดงให้เห็นสรีรสังขารของท่านเจ้าคุณนรฯขณะกำลังบวมพอง
น้ำเหลืองไหลนอง ขณะรับพระราชทานน้ำสรงศพพระราชทาน"เหตุเพราะกว่าทุกคนจะรู้ว่าท่านเจ้าคุณนรฯมรณภาพ
 ก็ล่วงเลยไปเป็นวันๆ หลังจากที่ท่านไม่ลงทำวัตรทั้งเช้าและเย็น แถมยังตอนนั้น กำลังมีงานฉลองสมณศักดิ์อดีตเจ้าคุณอุดมฯอีกต่างหาก
คนวงในเลยต้องปิดข่าว เพราะกลัวงานฉลองสมณศักดิ์จะล่มกลางคัน เลยเก็บศพท่านเจ้าคุณนรฯไว้เงียบๆ
จนล่วงไปอีกวันหนึ่งโดยไม่มีการฉีดยาใดๆ "อนิจจลักษณะ"และ "อสุภกรรมฐาน"จึงได้สำแดงสภาวะของจริงให้ปรากฏอย่างชัดแจ้ง
สมดังเจตนาของท่านเจ้าคุณ ที่ประสงค์จะเป็น"อาจารย์ใหญ่"ในวาระสุดท้ายให้ผู้มีปัญญาได้น้อมนำไปพิจารณาปลงสังขาร
เพื่อก้าวล่วงจากกามแห่งวัฏฎะสังสาร "ถ้าคิดถึงอาตมาก็ให้คิดถึง ธมฺมวิตกฺโก เพราะ ธมฺมวิตกฺโก คือการระลึกถึงธรรม
เมื่อคิดถึงเช่นนี้แล้ว ธมฺมวิตกฺโก ก็จะอยู่ข้าง ๆ เสมอ ไม่จำเป็นจะต้องมาหาอาตมาเพราะเมื่อมาหาก็มาเห็นแต่สังขาร
ซึ่งวันหนึ่งก็จะเน่าเปื่อยและเสื่อมสิ้นไป จงระลึกถึงธรรมดีกว่า จะมีคุณค่าต่อชีวิตยิ่งขึ้น"

*******ชั่วชีวิตของท่านเจ้าคุณนรรัตน์ฯนั้น ไม่เคยทำการหลบลี้หรือหลีกหนีสัจจธรรม แม้อาพาธเป็นแผลมะเร็งที่น่ากลัว
น่าสยดสยอง ที่ตามปกติ คนหรือพระทั่วๆไปจะปิดจะบังมิให้ใครเห็นเป็นเด็ดขาด เพราะเกรงจะเสียภาพลักษณ์
แต่ท่านเจ้าคุณนรฯกลับกระจกมาส่องเวลาหมอชำระแผลให้ และให้ถ่ายภาพไว้ให้คนได้ศึกษาถึงความที่
"คนเรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา" ไว้อีกด้วยอย่างที่ไม่มีใครกล้าทำ แม้ยามมรณภาพ ท่านก็มิได้อธิษฐานทิ้งร่างให้คนหลงใหลยึดติด
 แต่ปล่อยให้สรีรสังขารเน่าเปื่อยเสื่อมสลายไปตามธรรมชาติ เป็นการเอาตัวของท่านเป็น"ครู"สอนคนรุ่นหลังอย่างชนิด"ถึงลูกถึงคน"
อย่างที่ไม่เคยมีพระเถระองค์ใดทำแบบนี้มาก่อนด้วยเหตุนี้ ท่านเจ้าคุณนรจึงนับเป็น"อาจารย์ใหญ่"ฝ่าย "โลกุตระ"
ที่สามารถสอนอริยสัจจธรรมให้เข้าถึงใจอย่างเป็นรูปธรรมที่หาได้ยากอย่างยิ่งอย่างที่สุดโดยแท้จริง
#บทความ"คัดลอก" รอปรับปรุง..

cr.ร้อยเรื่องราว ไปกับ เจ้าประคุณปราบสุราพินาศ


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส กทม
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 17, 2016, 04:49:35 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20141001220753_jaokun_nor.jpg)

"จงพึ่งตัวเอง...จงเป็นแสงสว่างของตัวเอง...จงเป็นผู้นำตัวเอง..จงรับผิดชอบตัวเอง...จงพิจารณาตัวเอง..จงมีตนเป็นที่พึ่ง"
....จงพึ่งตัวเอง จงเป็นแสงสว่างนำตัวเอง อย่าหวังพึ่งสิ่งภายนอกทุกคนต้องต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคแห่งวิถีชีวิตของตนด้วยตนเอง
พระพุทธเจ้าก็ดี ครูบาอาจารย์ บิดามารดา ญาติ มิตรสหาย ผู้มีไมตรีจิตสนิทสนมรักใคร่ ก็เพียงแต่เป็นผู้เอาใจช่วย เป็นกำลังใจ
เป็นเครื่องกระตุ้นบำรุงขวัญเท่านั้น

....พระธรรมเทศนาองค์พ่อแม่ครู-บาอาจารย์ องค์มหาเสวกตรี พระพระยานรรัตนราชมานิต(ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ) ละสังขาร 8 มกราคม พ.ศ. 2514อายุ74(73 ปี 337 วัน)พรรษา46(อุปสมบท24 มีนาคม พ.ศ. 2468(45 ปี 290 วัน))
วัดเทพศิรินทร์ ถนนกรุงเกษม แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

….กราบนอบน้อมต่อคุณพระศรีรัตนตรัยพร้อมทั้งองค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์เหนือเศียรเกล้าขอรับ
....ขอโอกาสขออโหสิกรรมขออนุญาตที่จะนำภาพและข้อความนี้มาเผยแพร่เพื่อเป็นธรรมทานครับ