KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4 => กำลังใจ จากครูบา อาจารย์ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4 => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:26:33 PM



หัวข้อ: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:26:33 PM
สวัสดีญาติธรรม ทุกท่านครับ
กระผมขอใช้พื้นที่กระทู้นี้ รวบรวมบทความธรรม และ ข้ออรรค ข้อธรรม ที่ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ ได้ตอบเอาไว้ ในเว็บ
มาเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจ ได้อ่าน และได้ทำความเข้าใจ และน้อบไปพิจารณา กันนะครับผม

กอล์ฟ kammatan.com @ 8 กพ 2557


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:26:56 PM
คำถาม - สวัสดี ครับอาจารย์ ที่หน้าที่ทำงานผม มีศาลมหาพรหม ทุกๆ คนต้องกราบต้องไหว้ มีผมกับพี่อีกท่านหนึ่งไม่ไหว้ หัวหน้างานสงสัยเลยถามผมกับรุ่นพี่ว่าทำไมคุณถึงไม่ไหว้ พวกคุณไม่ได้นับถือพุทธหรือ? รุ่นพี่ผมตอบว่า นับถือพุทธแต่ที่ไม่ไหว้เพราะไม่รู้ว่าไหว้อะไร ถ้าเป็นพระพุทธรูปก็จะไหว้ ส่วนผมตอบว่า ผมนับถือพระรัตนตรัย เพราะเชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริงเป็นผู้เผยแผ่เพื่อดับทุกข์ได้จริง พระธรรมเป็นของดีจริง และพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีจริง เลยไม่ไหว้สิ่งอื่นเพราะผมรู้สึกในใจว่าพระรัตนตรัยดีจริงๆ หัวหน้าบอกว่าเอาละถ้าไม่เจริญในหน้าที่การงาน หรือเงินเดือนไม่ขึ้นก็อย่าหาว่าไม่เตือนก็แล้วกัน ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

อาจารย์ครับ คำตอบที่หัวหน้าตอบนี้ เราไม่ต้องสนใจก็ได้เพราะสาระไม่มี หรือว่าพวกผมเป็นคนขวางโลก ผมจะแนะนำให้รุ่นพี่ควรทำอย่างไรดีครับ เพราะหัวหน้ามีใจแคบอย่างนี้ ถ้าความเจริญในหน้าที่การงานมันมาจากบุคคลเช่นนี้ผมก็จนปัญญา ช่วยแนะนำด้วยครับ ขอบคุณครับ

คำตอบ - ที่คุณมั่นคงในพระรัตนตรัยนั้นดีแล้ว ขออนุโมทนาด้วย แต่ถ้าคุณจะไหว้พระพรหม ก็ขอให้นึกในใจทุกครั้งที่ไหว้ว่า ไหว้พรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา และทำตนให้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมเหล่านี้ คุณก็จะได้ประโยชน์ทั้งส่วนตัวและประโยชน์ทางสังคม ก็คงให้คำแนะนำได้เพียงเท่านี้ ขอให้คุณพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:28:05 PM
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ
ประทับที่ใต้ต้นโพธิที่ตรัสรู้นั้นเอง
ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท
(สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้น)
มีอวิชชาเป็นปัจจัยสังขารจึงมี เป็นต้น
แล้วทรงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัยในเวลานั้นว่า
“เมื่อใดธรรมทั้งหลาย(สิ่งทั้งหลาย)ปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีความเพียร ผู้เพ่งพินิจอยู่
เมื่อนั้น ความสงสัยทั้งปวง
ของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป
เพราะมารู้ธรรมพร้อมด้วยเหตุ”

อธิบายความ

คำว่า “พราหมณ์” ในพุทธอุทานนี้ หมายถึง
ท่านผู้รู้ ผู้สงบ หมายอย่างสูงถึงพระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลส
เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระขีณาสพ แปลว่า ผู้สิ้นอาสวะแล้ว
คำว่า “พราหมณ์” ความหมายโดยทั่วไปหมายถึง
ผู้ที่เกิดในวรรณะพราหมณ์ในสังคมอินเดียโบราณ
ซึ่งแบ่งประชาชนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ
กษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ ศูทร

ในพระสูตรที่ ๒ และที่ ๓ แห่งโพธิวรรคนี้
ให้ชื่อว่า ทุติยโพธิสูตร และตติยโพธิสูตร
ท่านเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าทรงพิจารณา
ปฏิจจสมุปบาทเหมือนกัน
ต่างกันแต่เพียงพุทธอุทานตอนท้ายเพียงเล็กน้อย คือ

พระสูตรที่ ๒ ว่า “เพราะรู้ความสิ้นไปแห่งเหตุปัจจัย”
พระสูตรที่ ๓ ว่า “ย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้
เหมือนดวงอาทิตย์อุทัยกำจัดความมืดฉะนั้น”
พระสูตรที่ ๑ ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทโดยอนุโลม
คือตามลำดับตั้งแต่อวิชชาเป็นต้นมา
หมายถึง ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด
คือ ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์
พระสูตรที่ ๒ ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาทสายดับ
หมายถึง การดับแห่งทุกข์เพราะอวิชชาดับเป็นต้น
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปฏิจจสมุปบาท
โดยปฏิโลมพระสูตรที่ ๓
ว่าด้วยปฏิจจสมุปบาททั้งอนุโลมและปฏิโลม
คือทั้งสายเกิดและสายดับ
หมายถึง การเกิดแห่งทุกข์และการดับแห่งทุกข์

"พุทธอุทาน"
อ.วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:29:42 PM
บางพวกเห็นว่า ความสุขไม่ดีที่สุด
ยังมีสิ่งอื่นที่ดีกว่าความสุขเช่นปัญญาและคุณธรรมอื่นๆ
ยอมทุกข์เพื่อคุณธรรม ความดี
ดีกว่ามีสุขแต่เสียคุณธรรม เสียความดี

คนกลุ่มนี้เมื่อจะแสวงหาความสุข
ก็มักคำนึงถึงคุณภาพของความสุขด้วย

คำว่า “คุณภาพของความสุข” หมายความว่า
ต้องเป็นความสุขที่มีคุณภาพดี ความสุขที่ไม่มีทุกข์ตามมา
ภายหลัง ตัวอย่างเช่นความสุขจากประสาทสัมผัส
กับความสุขทางใจซึ่งเกิดจากคุณธรรม มีคุณภาพดีกว่า
ถ้าต้องแลกกันก็เลือกเอาความสุขทางใจ

ส่วนพวกแรกจะถือเอาความสุขที่หาง่าย
แม้รู้ว่ามีโทษติดมาด้วยก็ยอมรับโทษนั้น
หรือพยายามโดยประการที่จะเลือกเอาเฉพาะส่วนดี
และทิ้งส่วนที่เสียเป็นโทษเสีย
เหมือนคนจะกินปลา เอาปลามาทั้งตัวซึ่งมีก้างอยู่ด้วย
แล้วเลือกกินเฉพาะส่วนเนื้อ ทิ้งก้างไปเสีย
ต้องกินอย่างระมัดระวังเพื่อมิให้ส่วนที่เป็นโทษติดเข้าไปด้วย


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:30:11 PM
การแผ่เมตตาหรือการอบรมตนให้มีเมตตากรุณานั้น
ตามหลักศาสนาของเรา
ท่านว่ามีอานิสงส์มากกว่าการให้ท่านและการรักษาศีล,

เพราะเหตุไร?
เพราะอยู่ในขั้นภาวนาและเป็นสมถภาวนา
เป็นขั้นที่ ๓ ของบันได ๓ ขั้น คือ ทาน ศีล ภาวนา

การใช้โยนิโสมนสิกาและปัญญาพิจารณา
ให้เห็นไตรลักษณ์ในสิ่งทั้งปวงคือ
เห็นสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตานั้น
มีอานิสงค์สูงกว่าเมตตาภาวนา

เพราะเหตุไร?
เพราะอนิจจสัญญาดังกล่าวนั้นอยู่ในขั้นปัญญา
เป็นขั้นที่ ๓ ของบันได ๓ ขั้น คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ซึ่งอันที่จริงเราก็ปฏิบัติไปพร้อม ๆ กันได้

แต่ทำหน้าที่คนละอย่าง
กล่าวคือ ศีลให้ความสะอาด
สมาธิให้ความสงบมั่นคง
ปัญญาให้ความสว่าง

แม้ทานจะเป็นสิ่งมีอานิงส์น้อยกว่า
เมื่อเทียบกับศีลและภาวนา
หรือเทียบกับสมาธิและปัญญาก็ตาม
แต่เราไม่ควรดูหมิ่นทาน
ควรให้ทานไว้เสมอตามโอกาสตามกำลัง
เพราะท่านก็มีอานิสงส์มากตามฐานะของตน

โดยเฉพาะผู้ที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏด้วยแล้ว
ยิ่งจำเป็น ทานอำนวยผลให้เป็นผู้ไม่ขาดแคลนไม่อดอยาก
เป็นยาเสน่ห์ เป็นเหตุให้ได้ลาภและบริวาร

ส่วนความตระหนี่เป็นยาให้คนเกลียดชัง
เป็นเหตุให้กำพร้าพวกพ้อง

ผู้มีเมตตาประจำใจย่อมไม่ละเลยการให้ทาน
และการรักษาศีล มันเป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องฝืน
เมื่อไม่มีวัตถุสิ่งของจะให้ก็ให้ปิยวาจา ให้กำลังใจ
ให้ความปลอดภัยแก่ผู้อื่น ผู้เข้าใกล้ไม่ต้องระแวง
ว่าภัยจักไปจากเรา

เมื่อเห็นคนที่ทำดี
หรือมีความสามารถพึงชมด้วยความจริงใจ
เป็นการให้กำลังใจแก่เขา
อย่าเป็นคนติเป็นอย่างเดียว ชมใครไม่เป็น
การชมมีผลมากกว่าการติ แต่อย่าทำโดยไม่สุจริตใจ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:31:58 PM
พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าบุคคล ๒ จำพวกหาได้ยาก คือ
๑) บุพการี ผู้ทำอุปการะให้ก่อน คือทำความดีให้ด้วยใจ
เมตตากรุณา หวังความสุขต่อเรา

๒) กตัญญูกตเวทีผู้รู้อุปการะที่ท่านทำให้และตอบแทน

ที่ว่าหาได้ยากนั้นเพราะมีน้อย
ลองคิดดูว่าในจำนวนพลโลกประมาณ ๓-๔ พันล้านคน
เวลานี้มีกี่คนที่ทำอุปการะแก่ลูกด้วยน้ำใจอันงาม
ด้วยความรักและปรารถนาให้ลูกเป็นสุข
ยิ่งคนกตัญญูกตเวทียิ่งหาได้ยากขึ้นไปอีก
ในร้อยคนพันคน จะเจอสักคนหนึ่งกระมัง

ลูกหลานส่วนมากก็จ้องแต่จะแสดงความกตัญญูกตเวที
ต่อพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่มีทรัพย์สมบัติและชื่อเสียง ยศศักดิ์

บางทีเขาอาจกตัญญูต่อทรัพย์สินของท่านดอกกระมัง
ส่วนพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่ไร้ทรัพย์สิน
ไม่ค่อยมีลูกหลานคนใดเอาใจใส่เหลียวแล
คงปล่อยให้ลำบากยากเข็นไปตลอดชีวิต

พอเจ็บป่วยกินอะไรไม่ได้แล้ว
ก็เอาของไปให้กันอย่างล้นหลาม
พอตายก็เศร้าโศกเสียใจ คร่ำครวญรำพัน
อย่างนี้ไม่ถูกต้อง

ลูกต้องมองดูธรรมชาติให้ดีแล้วเอาอย่างธรรมชาติ
เช่นที่ดินซึ่งแตกระแหง เมื่อเราหยดน้ำลงไป
มันดูดซึมเอาไว้หมด เพราะมันกำลังขาดแคลน
และต้องการน้ำอย่างยิ่ง แต่ถ้าลูกเอาน้ำสักถังหนึ่ง
เทลงในแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีความหมายอะไร
ลูกจะทำความดีอะไรขอให้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ
และด้วยเหตุผลบริสุทธิ์ ก็จะได้รับประโยชน์
และได้รับผลอย่างบริสุทธิ์เช่นเดียวกัน


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:34:43 PM
คำถาม - อาจารย์คะ พระพุทธองค์ทรงย่ำยีมารทั้ง ๓ เสียได้ ณ โพธิบัลลังก์ ไม่ทราบว่า มารทั้ง ๓ ได้แก่อะไรบ้างคะ และมีอ้างอิงอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มไหนคะ หนูจะได้ศึกษาอย่างละเอียดค่ะ

คำตอบ - ทราบกันดีว่า มารมี ๕ พวก
มาร มีความหมายว่า เป็นผู้ทำให้ตาย มี ๕ จำพวก คือ

(๑) ขันธมาร ขันธ์นั้นเป็นทุกข์ ทุกข์ทำให้ตายจากความสุข ตายจากความสำราญ

(๒) กิเลสมาร กิเลสนั้นเป็นเครื่องเศร้าหมองและเร่าร้อน ความเศร้าหมอง ทำให้ตายจากความผ่องใส ความเร่าร้อนทำให้ตายจากความสงบระงับ ตายจากความร่มเย็นเป็นสุข

(๓) อภิสังขารมาร สภาพผู้ตกแต่งยิ่ง คือ เกินพอดี ตกแต่งเกินไปก็ทำให้ตายจากอมตธรรม

(๔) มัจจุมาร ตายในขณะที่จะกระทำ หรือกำลังกระทำความดี ถ้ากระทำความดีเสร็จแล้วจึงตายเช่นนี้ ไม่นับ

(๕) เทวบุตตมาร เทวดาที่มีความริษยา กีดขวาง เหนี่ยวรั้ง ให้คงอยู่ในโลกียะ ทำให้ตายจากโลกุตตระ

ถ้าพูดถึงมารทั้งสาม ที่พระพุทธองค์ทรงมีชัยเหนือได้ ก็ได้แก่ กิเลสมาร อภิสังขารมาร และ เทวบุตตมาร ส่วนขันธมาร และมัจจุมาร แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังทรงเอาชนะไม่ได้ครับ

ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมครับว่า เรื่อง “มาร ๕ จำพวก” ไม่ได้มีที่มาในพระไตรปิฎก ครับ

มีที่มาที่สำคัญคือจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ตอนพุทธานุสติครับ

ในพระไตรปิฎก ไม่ได้จัดหมวดหมู่เป็น มาร ๕ จำพวก แต่ได้กล่าวอย่างกระจัดกระจายไปตามพระสูตรต่างๆ เช่น บางสูตรมีแต่ขันธมาร บางสูตรมีแต่มัจจุมาร บางสูตรมีกิเลสมารและเทวปุตตมาร

และในพระไตรปิฎก ไม่มี “อภิสังขารมาร” ครับ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:38:03 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20140208123643_buddha.jpg)

อานนท์ สถานที่อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงเราก็มีอยู่

ขณะนั้นเอง ความปริวิตกถึงนายจุนทะ
ผู้ถวายสูกรมัทวะก็เกิดขึ้น จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า
“อานนท์ เมื่อเรานิพพานแล้ว อาจจะมีผู้กล่าวโทษจุนทะ
ว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพาน
หรือมิฉะนั้นจุนทะอาจจะเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนใจไปเอง
ว่าเพราะเสวยสูกรมัทวะอันตนถวายแล้ว พระตถาคตจึงนิพพาน

ดูก่อนอานนท์ บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก
มีผลไพศาล มีอยู่ ๒ คราวด้วยกัน คือ
เมื่อนางสุชาดาถวายก่อนเราจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง
และอีกครั้งหนึ่งที่จุนทะถวายนี้

ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาแล้ว
ตถาคตก็ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือการดับกิเลสนิพพาน
คือดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่
ถ้าใครจะพึงตำหนิจุนทะ เธอพึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้
แล้วถ้าจุนทะจะถึงเดือดร้อนใจ เธอก็พึงกล่าวปลอบ
ให้เขาคลายวิตกกังวลเรื่องนี้
อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา”

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า
มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ
และมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร
เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ถึงกรุงกุสินารา
เสด็จเข้าสู่สาลวโนทยาน
คืออุทยานซึ่งสะพรึบพรั่งด้วยต้นสาละ

รับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทม
ระหว่างต้นสาละ ซึ่งมีกิ่งโน้มเข้าหากัน
ให้หันพระเศียรทางทิศอุดร

ครั้งนั้น มีบุคคลเป็นอันมากจากทิศต่างๆ
เดินทางมาเพื่อบูชาพระพุทธสรีระเป็นปัจฉิมกาล
แผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา
สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นเหตุนี้แล้ว
จึงตรัสกับพระอานนท์เป็นเชิงปรารภว่า

“อานนท์ พุทธบริษัททั้งสี่
คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ทำสักการบูชาเราด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลาย
อันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียนเป็นต้น
หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่

อานนท์เอยผู้ใดปฏิบัติตามธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง
ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสม ผู้นั้นแล ชื่อว่าสักการะบูชาเรา
ด้วยการบูชาอันยอดเยี่ยม

พระอานนท์ทูลว่า
“พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนนี้ออกพรรษาแล้ว
ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเดินทางมาจากทิศานุทิศ
เพื่อเฝ้าพระองค์ ฟังโอวาทจากพระองค์
บัดนี้พระองค์จะปรินิพพานเสียแล้ว
ภิกษุทั้งหลายจะพึงไป ณ ที่ใด?”

“อานนท์ สถานที่อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงเราก็มีอยู่
คือสถานที่ที่เราประสูติแล้ว คือลุมพินีวันสถาน
สถานที่ที่เราตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก
คืออิสิปตนมิคทายะ แขวงเมืองพาราณสี
สถานที่ที่เราตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
บรรลุความรู้อันประเสริฐ ทำกิเลสให้สิ้นไป
คือโพธิมณฑล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
และสถานที่ที่เราจะนิพพาน ณ บัดนี้
คือป่าไม้สลาะ ณ นครกุสินารา

อานนท์เอย สถานที่ทั้งสี่แห่งนี้เป็นสังเวชนียสถาน
สาราณียสถานสำหรับให้ระลึกถึงเรา
และเดินตามรอยบาทแห่งเรา”

โปรดติดตามอ่าน พระอานนท์ พุทธอนุชา ตอนต่อไป



ขอบพระคุณข้อมูลจาก : FB อาจารย์วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:39:08 PM
รถยนต์คันหนึ่ง จอดนิ่งอยู่ในอู่ขายรถยนต์
คนมาดูบางคนก็ชอบ บางคนก็ไม่ชอบ
ทั้งๆ ที่มันไม่เคยไปทำอะไรให้ใครชอบหรือไม่ชอบมัน
ความชอบหรือไม่ชอบของคนจึงขึ้นอยู่กับความรู้สึกของเขาเอง
รถยนต์จึงมีหลายยี่ห้อเพื่อให้คนเลือกตามอัธยาศัย
มันแตกต่างกันไปทั้งขนาด รูปและเครื่องยนต์

ในคนก็ทำนองเดียวกัน
เมื่อได้พิจารณาเห็นว่าตนได้ทำดี
ตามความถูกต้องและตามความควรแล้ว
ใครจะนินทาว่าร้ายบ้างก็ไม่ควรจะต้องหวั่นไหวไปตาม
ควรพิจารณาการกระทำชอบหรือไม่ชอบของตนเป็นที่ตั้ง
เรื่องนินทาเป็นเรื่องธรรมดาของโลก
เรื่องสรรเสริญก็เหมือนกัน
ในการกระทำอย่างเดียวของเราบางคนชอบก็สรรเสริญ
บางคนไม่ชอบก็นินทาว่าร้าย
บัณฑิตผู้จะทำงานใหญ่ต้องมีใจมั่นคง
ไม่หวั่นไหวง่ายในนินทาสรรเสริญสุขและทุกข์
บางคนได้รับสรรเสริญมากเข้าก็หลงตัว
แล้วยกตนข่มผู้อื่น เห็นผู้อื่นเลวกว่าตนไปหมด,
โชคร้าย, เพราะเขาคนเดียวมองเห็นคนอื่นทั้งหลายเป็นคนเลว ปฏิกิริยาก็จะกลับมาว่า คนทั้งหลายอื่นจะมองเขาเป็นคนเลว
เลวตรงไหน? เลวตรงมองเห็นคนอื่นเป็นคนเลวนั่นเอง

"เหมือนภูเขา"
อ.วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:39:25 PM
บัณฑิตไม่ควรหวั่นไหวในเรื่องสรรเสริญหรือนินทา
ควรควบคุมจิตของตนให้มั่นคง
สำรวจความประพฤติและการกระทำของตน
หากเห็นด้วยปัญญาแล้วว่า
ดำเนินไปในทำนองคลองธรรมอันควรแล้ว
ก็ขอให้ทำความดีต่อไปเถิด
เฉยต่อเสียงสรรเสริญและนินทานั้น
เพื่อมิให้กังวลเกินไป
จะได้ตั้งใจทำความดีเพื่อความดี
เพื่อความถูกต้องเพื่อธรรมต่อไป
ปล่อยให้บางคนสรรเสริญบางคนนินทา
ตามความพอใจและไม่พอใจของเขา
บุญบาปก็เป็นของเขาเอง ไม่ใช่ของเรา

"เหมือนภูเขา"
อ.วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:41:17 PM
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตไม่ว่าด้านดีหรือด้านร้าย
ทำให้เข้าใจโลกและชีวิตดีขึ้น
เข้าใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้น
เป็นการเรียนรู้โลกและเรียนรู้ธรรมไปในตัว
เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างโลกๆ ก็จริง
แต่ถ้าผู้ใดมีกระจกธรรม (ธรรมาทาสะ) ไว้ส่องดูแล้ว
เขาจะเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ลึกซึ้งยิ่งนัก
ความทุกข์ของโลกมีมากสุดจะพรรณนาได้
ขอให้ใช้สายตาอันประกอบด้วยปัญญามองดูให้ทั่วเถิด
จะเห็นเพลิงทุกข์โหมอยู่ทั่วไป
เผาไหม้ทั้งกายและใจของสัตว์ทั้งหลาย
ให้เร่าร้อนกระวนกระวายอยู่
มองไปทางไหนก็เห็นแต่กองทุกข์
อันน่าสะพึงกลัวแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่บ้าง
แสดงตัวอย่างเปิดเผยอยู่บ้าง

"เหมือนภูเขา"
อ.วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 08, 2014, 12:41:52 PM
เรื่องประกอบในหนังสือ "เหมือนภูเขา"
โดย อ. วศิน อินทสระ

ท่านอาจารย์ฮากูอิน

บุตรีคนสวยของเจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่ง
เกิดตั้งครรภ์ขึ้นโดยยังมิได้แต่งงาน
พ่อแม่รู้สึกอับอายขายหน้าเพื่อนบ้านเหลือประมาณ
ความโกรธลูกตัวเองก็ทวีสูงขึ้นพอๆ กับความอับอาย
จึงขู่บังคับให้บุตรีบอกให้ได้ว่าบุตรในท้องเป็นลูกของใคร
เมื่อถูกบังคับหนักเข้า บุตรีไม่อาจอุบนิ่งไว้ต่อไปได้
จึงบอกพ่อแม่ว่า ท่านฮากูอิน เป็นพ่อของเด็กในท้อง

เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงบนศีรษะของพ่อแม่
เพราะท่านฮากูอินเป็นอาจารย์สอนพุทธศาสนานิกายเซ็น
ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้านเป็นอย่างยิ่ง
ท่านสอนธรรมที่ลึกซึ้งแก่ประชาชนตามแนวของนิกายเซ็น
พ่อแม่ของสตรีนั้นก็เคารพนับถือท่านฮากูอินอยู่มิใช่น้อย
แต่พอรู้จากลูกสาวเช่นนั้น
ความเคารพนับถือในอาจารย์ฮากูอินก็ปลาสนาการไปสิ้น
พ่อค้าและภรรยาจึงรีบร้อนไปหาท่านฮากูอินที่สำนัก
ดูหมิ่นท่าน, ด่าท่านอย่างสาดเสียเทเสีย

“ดีแต่สอนผู้อื่นให้ประพฤติดี ตัวเองทำแต่สิ่งที่ชั่วช้าลามก ฯลฯ”
“เรื่องอะไรกัน ?” ท่านฮากูอินถาม,
ไม่มีท่าทางตกใจหรือโกรธขึ้งแต่ประการใด
“ทำเป็นไม่รู้ ก็ลูกสาวฉันท้อง, เขาบอกว่าท้องกับคุณ”
“อ้อ. เขาว่าอย่างนั้นรึ ?” ท่านยังพูดเสียงเรียบเหมือนเดิม
แล้วอยู่ในอาการสงบนิ่ง
เมื่อพ่อค้าและภรรยาได้ด่าท่านจนสะใจแล้วก็จากไป

วันเวลาล่วงไป เสียงนินทาว่าร้าย
ซุบซิบติเตียนท่านฮากูอินก็แผ่กระจายไปทั่วหมู่บ้านนั้น
และหมู่บ้านใกล้เคียง จนกระทั่งเด็กคลอดจากครรภ์มารดา
ตาและยายของเด็กนำไปให้ท่านฮากูอินเลี้ยง
พร้อมด้วยกระแทกกระทั้นว่า “นี่พยานแห่งความชั่วของคุณ”

ท่านอาจารย์รับเด็กไว้เลี้ยงด้วยความสงบ
ทะนุถนอมรักใคร่อย่างบุตรของตน
เสียงนินทาว่าร้ายยิ่งแพร่สะพัดมากขึ้นเพราะเห็นสมจริง
คนที่เคยเคารพนับถือก็สิ้นความเคารพนับถือ
แถมขยะแขยงชิงชังเสียอีก
ส่วนคนที่ไม่เคยเคารพนับถือ
และมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์อยู่แล้วนั้นไม่ต้องพูดถึง
จนกระทั่งเด็กน้อย ผู้ไม่รู้เรื่องอะไร
แต่รักท่านฮากูอินเหลือเกิน อายุครบขวบ
กำลังน่ารัก น่าเอ็นดู
ความเร่าร้อน ซึ่งเผาอกของสตรีผู้เป็นมารดา
อยู่เป็นเวลาเกือบ ๒ ปี แล้วก็ทวีรุนแรงขึ้น
ไฟแห่งบาปอันเกิดจากการใส่ความประทุษร้าย
ต่อท่านผู้ไม่มีภัย ไม่ประทุษร้าย
ได้โหมรุนแรง จนเธอไม่อาจทนได้ต่อไป
จึงเปิดเผยออกมาว่า
พ่อของเด็กที่แท้จริงเป็นหนุ่มลูกจ้างร้านขายปลาในตลาด
เธอละอายเกินไป (ในตอนแรก) ที่จะเปิดเผยว่า
หนุ่มลูกจ้างร้านขายปลาเป็นคนรักของเธอ
แต่ความทุกข์ซึ่งเกิดจากบาป
แห่งการใส่ความท่านผู้สงบมันหนักหน่วงรุนแรง
เหนือความละอาย ความทุกข์มักมีอำนาจเหนือความละอายเสมอ
คราวนี้เหมือนแผ่นดินทรุด หรือเหมือนถูกโยนลงไปในเหว ๒
ตายายเดือดร้อนอย่างหนัก รีบไปหาท่านฮากูอิน
กราบแล้วกราบอีก ขอขมา ให้ท่านยกโทษให้
พร้อมด้วยตำหนิติเตียนลูกสาวไปด้วย
“ลูกสาวของกระผมมันไม่ดีเอง
ตอนนี้มันบอกแล้วว่ามันมีท้องกับลูกจ้างร้านขายปลาในตลาด”
“เขาว่าอย่างนั้นรึ? ” เสียงเรียบเหมือนเดิมจากท่านฮากูอิน
เมื่อเขาขอหลานคืนไป ท่านมอบให้ด้วยอาการสงบ
เหมือนตอนรับเด็กไว้เลี้ยงนั้นแล


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2014, 10:22:07 PM
คนที่ดีแต่เอาหน้า ไม่ทำความดีจริงและไม่มีดีจริง
สักแต่ว่าให้คนอื่นเข้าใจว่าตนเป็นเช่นนั้น
ดีย่อมแตกในไม่ช้า ส่วนคนทำดีจริง มีแต่ดีจริง
แม้จะไม่ออกหน้า ไม่แสดงตนว่า
เป็นผู้ได้ทำความดีเช่นนั้น ๆ แต่คนใกล้ชิดย่อมเห็น

และจะมองเขาด้วยความนิยมยกย่อง
เกียรติคุณที่เขาได้ย่อมยั่งยืน ในทางโลก
คนที่ได้ดี มีตำแหน่งสูงขึ้นเพราะการประจบเจ้านาย
ก็มีเหมือนกัน แต่มักเป็นไปชั่วครู่ชั่วคราว
พอเปลี่ยนเจ้านาย ฐานะของเขาก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย

แต่คนได้ดีเพราะความสามารถของตนเอง
ย่อมได้รับความนิยมยกย่องทุกกาลทุกสมัย
แม้ใครไม่เลี้ยงเขา เขาก็มีความสามารถที่จะเลี้ยงตนได้
ทรัพย์ที่ได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงอันสุจริตนั้น
ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ไม่จืดจางง่าย และไม่มีวิปฏิสาร
(ความเดือดร้อนใจเพราะรู้สึกว่าได้ประกอบกรรมชั่ว)


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 10, 2014, 10:29:52 PM
พระพุทธอุทานเรื่อง “สัจจะและธรรมะ” (ชฏิลสูตร)

ความเบื้องต้น
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่คยาสีสะ
ใกล้แม่น้ำคยาเมืองราชคฤห์
สมัยนั้น มีชฎิลเป็นอันมากลงอาบน้ำในแม่น้ำคยา
ด้วยหวังว่าตนจะบริสุทธิ์สะอาดจากบาปด้วยน้ำนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเรื่องนั้นแล้วทรงเปล่งอุทานว่า
“ความสะอาด(ภายใน)มีไม่ได้ด้วยน้ำ
แต่ยังมีคนเป็นอันมากที่อาบน้ำอยู่
เพื่อความสะอาดนั้น
สัจจะและธรรมะมีในผู้ใด
ผู้นั้นเป็นผู้สะอาดและเป็นพราหมณ์”

อธิบายความ
พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า
ถ้าบุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยน้ำ
ไปสวรรค์ได้ด้วยการอาบน้ำในแม่น้ำ
ที่เขาเข้าใจว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์
กุ้ง หอย ปู ปลา และเต่าในแม่น้ำก็คงจะบริสุทธิ์
และไปสวรรค์กันหมดแล้ว
เพราะแช่อยู่ในแม่น้ำตลอดเวลา

คำว่า “สัจจะ” หมายถึง สัจจวาจา
มีพระพุทธศาสนสุภาษิตหลายแห่งที่กล่าวถึงคุณของสัจจวาจา
เช่นว่า สัจจะเป็นวาจาที่ไม่ตาย
สัจจะเป็นรสดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย
สัตบุรุษทั้งหลายย่อมตั้งอยู่ในสัจจะ
ที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ฯ
สัจจะ หมายถึง สัจจญาณก็ได้
กล่าวคือ ญาณในสัจจะทั้ง ๔ ได้แก่ ญาณในอริยสัจ ๔
คำว่า “ธรรมะ” ในที่นี้ หมายถึง โลกุตตรธรรม ๙
คือ มรรค ๔ ผล ๔ มีโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เป็นต้น
และนิพพาน ๑
ถามว่า โลกียธรรมมีเท่าใด
ตอบว่า นอกจากโลกุตตรธรรม ๙ แล้ว
ก็เป็นโลกียธรรมทั้งหมด
พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้
เมื่อประทับอยู่ที่ภูเขาลูกหนึ่งชื่อ คยาสีสะ
อรรถกถาอธิบายว่าที่ชื่อคยาสีสะนั้น
เพราะมียอดเหมือนหัวช้าง

"พุทธอุทาน"
อ.วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 11, 2014, 08:15:04 PM
การพูดจริง พูดอ่อนหวาน
แต่ถ้าทำให้คนแตกกันก็ไม่ดี
การพูดให้คนแตกสามัคคีกันมีโทษมาก

ผู้มุ่งประโยชน์แก่ส่วนรวม
จึงควรพูดประสานสามัคคี
ทำคนที่กำลังจะแตกกันให้ดีกัน
ทำคนที่แตกกันแล้วให้ประสานกันเข้าใหม่

คนไม่ใช่หินที่แตกแล้วประสานไม่ได้
แต่คนเหมือนดินเหนียว อาจแยกแตกระแหงเพราะขาดน้ำ
พอมีน้ำเพียงพอให้ดินชุ่ม ดินก็รวมเข้ากันได้
น้ำคำอันรู้จักประสานสามัคคี จึงเป็นเสมือนน้ำชโลมดิน
ให้อ่อนลบรอยแยกเสียได้

นอกจากนี้ ควรพูดให้มีประโยชน์ด้วย
คำพูดมีประโยชน์จัดเป็นสำคัญมาก
เป็นองค์คุณที่เป็นแกนกลางของปิยวาจา
ปราศจากประโยชน์เสียแล้ว
แม้จะมีองค์อย่างอื่นครบถ้วน
วาจานั้นก็ด้อยคุณค่าลง


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 12, 2014, 11:49:57 PM
ผู้มีเมตตาประจำใจ
ย่อมไม่ละเลยการให้ทาน
และการรักษาศีล
มันเป็นไปโดยอัตโนมัติไม่ต้องฝืน
เมื่อไม่มีวัตถุสิ่งของจะให้
ก็ให้ปิยวาจา ให้กำลังใจ
ให้ความปลอดภัยแก่ผู้อื่น
ผู้เข้าใกล้ไม่ต้องระแวงว่า
ภัยจักไปจากเรา
เมื่อเห็นคนที่ทำดี
หรือมีความสามารถ
พึงชมด้วยความจริงใจ
เป็นการให้กำลังใจแก่เขา
อย่าเป็นคนติเป็นอย่างเดียว
ชมใครไม่เป็น
การชม มีผลมากกว่าการติ
แต่อย่าทำโดยไม่สุจริตใจ

"อาภรณ์ประดับใจ"
อ.วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 10, 2014, 09:42:45 AM
คำถาม - โดนผู้บังคับบัญชาตำหนิเรื่องงาน โดยใช้ถ้อยคำที่ดูถูกเหยียดหยามเรามาก
รู้สึกหมดกำลังใจ เพราะเป็นคนทำงาน ไม่เคยเหลวไหล แต่ด้วยภาระงานที่มาก
 จึงทำให้เกิดความล่าช้าทำไม่ทันตามกำหนดเวลา นายไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง
และดูเหมือนว่าไม่มีประโยชน์ที่จะอธิบาย เพราะถ้าพูดจะโดนว่าเถียงอีก ตอนนี้รู้สึกแย่
ไม่อยากไปทำงาน จิตใจห่อเหี่ยว ไม่รู้จะเรียกความมุ่งมั่นและกำลังใจกลับมาได้อย่างไร
จะไปเล่าให้เพื่อนฟัง ก็เหมือนเอาเรื่องตัวเองไปขาย เดี๋ยวจะกลายเป็นเรื่องเม้าท์กันทั้งหน่วยงานอีก จะทำอย่างไรดีคะ?

คำตอบ - เมื่อคุณรู้สึกว่าได้ทำถูกต้องและได้ทำเต็มที่แล้ว ก็ควรจะวางเฉยต่อสิ่งรอบตัว
ไม่มีใครจะทำให้ถูกใจคนอื่นไปได้ทั้งหมด สุภาษิตฝรั่งบทหนึ่งบอกว่า

“Only a fool can please everybody.
คนโง่เท่านั้นที่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้”

ขอให้คุณทำไปตามหน้าที่ หมดหน้าที่แล้วก็เป็นอันจบ ไม่ต้องคิดอะไร
เมื่ออัธยาศัยไม่ต้องกันทำอะไรก็ไม่ดีไปหมด เมื่ออัธยาศัยต้องกันทำอะไรก็ดีไปหมด

ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ ราชมานิต แห่งวัดเทพศิรินทราวาส หรือ ธัมมวิตักโกภิกขุ
 ได้ให้คติไว้ว่า “ถ้าเขาไม่ชอบ ดีแสนดีเขาก็ติ ถ้าเขาชอบ ชั่วแสนชั่วเขาก็ชม”

มีสุภาษิตในชาดกบทหนึ่งว่า “ดีสำหรับคนหนึ่ง ไม่ดีสำหรับอีกคนหนึ่ง
เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายจะดีทั้งหมดก็หาไม่ จะชั่วทั้งหมดก็หาไม่”


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 11, 2014, 11:15:24 PM
ความรักที่แท้คือการปลดปล่อย
ไม่ใช่ความยึดถือหรือผูกพันเขา
ไว้กับเราด้วยความเห็นแก่ตัว
เราต้องยอมรับนับถือความแตกต่าง
และความเป็นตัวของตัวเอง
ของผู้อื่นและของเราด้วย
ในกรณีที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน
มีคนจำนวนไม่น้อยมีศักยภาพ
ที่จะทำสิ่งยิ่งใหญ่ได้
แต่ความเห็นแก่ตัวและความยึดมั่นในความรัก
อย่างใจคับแคบมาเป็นอุปสรรคขวางกั้น
ศักยภาพอันนั้นไว้อย่างน่าเสียดาย
ทำให้เขาวนเวียนอยู่ในความโลภ
ความริษยาและความทะนงตน
ซึ่งเป็นกิเลสดึงให้เขาตกต่ำลง
หมดเสน่ห์ในการเกี่ยวข้องกับผู้อื่น
และแม้กับคู่ครองของตนเอง
คนที่ฉลาดย่อมรู้ว่าอะไรคือคุณค่าเทียม
อะไรคือคุณค่าแท้ของชีวิต
เงินทอง ตำแหน่ง ยศศักดิ์...เป็นคุณค่าเทียม
ความดีบุญกุศล ปัญญาและเสรีภาพ...เป็นคุณค่าแท้
เมื่อเป็นเช่นนี้
เราควรใช้เวลาของชีวิตแสวงหาอะไรให้มาก
เราต้องปลูกฝังตนให้ซื่อตรง
และมีสัจจะต่อตนเองก่อน
ผู้เช่นนี้เท่านั้นจึงจะซื่อตรงและมีสัจจะต่อผู้อื่น
รวมทั้งต่ออุดมการณ์ด้วย
"เพื่อเสรีภาพทางจิต"

อ.วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 13, 2014, 07:38:01 PM
ลองดูธรรมชาติของน้ำ

ไม่ว่าเป็นน้ำโคลน น้ำครำ น้ำคลอง น้ำประปา น้ำในหลุมในบ่อ
ถ้าว่าโดยธรรมชาติของมันแล้วบริสุทธิ์เหมือนกัน
ที่มันเศร้าหมองไปเป็นน้ำโคลน น้ำครำ เป็นต้น
ก็เพราะไปปนกับสิ่งเหล่านั้น
โดยที่สุดแม้ในน้ำปัสสาวะถ้ากลั่นเอาน้ำแท้ๆ ออกมา
กรองเอาสิ่งผสมอื่นๆ ออกไปให้หมด
ก็คงได้น้ำบริสุทธิ์เช่นกัน ข้อนี้ฉันใด
จิตก็ฉันนั้น ที่เศร้าหมองไปก็เพราะมีกิเลสจรเข้ามาเจือปน
เมื่อกิเลสไม่เข้ามา จิตก็บริสุทธิ์อยู่ในระดับนั้นๆ
เช่นว่า บริสุทธิ์ในระดับปุถุชน ในระดับผู้ได้ฌาน
ในระดับพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน...
จนถึงชั้นพระอรหันต์ เหมือนน้ำบริสุทธิ์ในระดับนั้นๆ
เหมือนกัน คือในระดับที่พอใช้การได้ในลักษณะนั้นๆ
เช่นสะอาดพอที่จะรดต้นไม้ได้
ที่จะอาบน้ำให้โคให้ควายได้
พอล้างเท้าที่เปื้อนได้ พออาบได้
พอต้มเสียก่อนแล้วดื่มได้
พอดื่มได้โดยไม่ต้องต้มให้เดือด
แต่น้ำเหล่านั้นก็ยังไม่บริสุทธิ์พอที่จะผสมยาฉีดได้
ถ้าจะใช้ผสมยาฉีดต้องเป็นน้ำกลั่นโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์
ความบริสุทธิ์แห่งจิตของปุถุชนธรรมดา
ไม่เท่าของปุถุชนผู้ได้ฌาน
ของผู้ได้ฌานไม่เท่าของพระอริยเจ้าชั้นโสดาบัน
ของพระโสดาบันไม่เท่าของพระสกทาคามี
ของพระสกทาคามีไม่เท่าของพระอนาคามี
ของพระอนาคามีไม่เท่ากับพระอรหันต์
บริสุทธิ์ขึ้นไปโดยลำดับดังนี้
จิตยิ่งบริสุทธิ์มากเท่าใด
บุคคลย่อมมีเสรีภาพมากเท่านั้น
เพราะฉะนั้นเสรีภาพทางใจ
จึงขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของจิตของบุคคลนั้น

"เพื่อเสรีภาพทางจิต"
อ.วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 15, 2014, 09:51:37 PM
นางวิสาขามีสหายที่รักมากอยู่ ๒ คน คือนางสุปปิยา และนางสุปปวสา เมื่อฟังพระธรรมเทศนาจบแล้ว
 เธอทั้งสามมักจะเดินเยี่ยมภิกษุทั้งหลาย ถามถึงสิ่งที่ต้องการและยังขาด
เมื่อภิกษุรูปใดบอกว่าต้องการอะไร นางจะจัดถวายเสมอ นอกจากนี้ยังได้ถวายอาหารสำหรับภิกษุป่วย
และผู้เตรียมจะเดินทางเป็นประจำอีกด้วย
วันหนึ่งนางสุปปิยาเดินเยี่ยมภิกษุอย่างเคยไปถึงกุฏิภิกษุรูปหนึ่งซึ่งป่วยอยู่
เมื่อนางถามถึงความต้องการว่าท่านปรารถนาสิ่งใดบ้าง ภิกษุรูปนั้นบอกว่าอยากได้น้ำเนื้อต้ม
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำข้าวและน้ำเนื้อต้มซึ่งกรองดีแล้ว
ไม่มีเมล็ดข้าวหรือกากเนื้อติดอยู่เพื่อภิกษุอาพาธ เธอสามารถฉันได้แม้ในเวลาวิกาล คือหลังเที่ยงวัน
นางสุปปิยาดีใจเหลือเกินที่จะได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุอาพาธ พระพุทธภาษิตก้องอยู่ในโสตของนางมานานแล้ว
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาจะบำรุงตถาคต ขอให้ผู้นั้นบำรุงภิกษุไข้เถิด”
แต่บังเอิญวันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ นางหาเนื้อไม่ได้เลย จึงเข้าห้องตัดสินใจตัดเนื้อขาของตนด้วยมีดอันคมกริบ
สั่งให้คนใช้จัดการต้ม แล้วขอให้นำน้ำเนื้อต้มนั้นไปถวายภิกษุชื่อโน้นซึ่งอาพาธอยู่ แล้วใช้ผ้าพันแผลที่ขาของตน
นอนซมเป็นไข้เพราะพิษบาดแผลนั้น
สามีของนางสุปปิยากลับมาไม่เห็นภรรยาอย่างเคยจึงถามคนใช้ทราบว่านางป่วยจึงเข้าไปเยี่ยมในห้องนอน
เมื่อทราบเรื่องโดยตลอดแล้ว แทนที่จะโกรธพระและภรรยา กลับแสดงความชื่นชมโสมนัสที่ภรรยาของตนมีศรัทธาแรงกล้าในศาสนา
ถึงกับยอมสละเนื้อขาเพื่อต้มเอาน้ำถวายภิกษุอาพาธ จึงรีบไปสู่วัดเชตวัน
ทูลอาราธนาพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์เพื่อรับภัตตาหารที่บ้านตนในวันรุ่งขึ้น
พระศาสดาทรงรับด้วยอาการดุษณี วันรุ่งขึ้นพระพุทธองค์มีพระสงฆ์เป็นบริวารจำนวนมากเสด็จสู่บ้านของนางสุปปิยา
เมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นนางสุปปิยาจึงถามสุปปิยาอุบาสกผู้สามี
ทราบแล้วจึงรับสั่งให้คนช่วยกันพยุงคลอเคลียนางสุปปิยามาเฝ้า เมื่อนางถวายบังคมพระพุทธเจ้าตรัสว่า
"จงมีความสุขเถิดอุบาสิกา” เท่านั้น แผลใหญ่ที่ขาของนางก็หายสนิท และมีผิวผ่องยิ่งกว่าเดิมเสียอีก
เรื่องนี้เป็นเพราะพุทธานุภาพโดยแท้ พุทธานุภาพเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและเป็นได้จริง
พระจอมมุนีศาสดาแห่งพวกเรานั้นเป็นผู้มีบารมีอันทรงกระทำมาแล้วอย่างมากล้น
เคยตัดศีรษะอันประดับแล้วด้วยมงกุฎที่เพริศพราย เคยควักในตาที่ดำเหมือนตาเนื้อทราย
เคยสละเลือดเนื้อและอวัยวะมากหลายตลอดถึงบุตรภรรยาเพื่อเป็นทานแก่ผู้ต้องการ
จะกล่าวไปใยถึงการสละทรัพย์สมบัติภายนอก มหาบริจาคทั้งหลายที่พระองค์ทรงกระทำมาทั้งหมดนั้น
โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวคืออนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ กล่าวคือความรู้อันเป็นเหตุให้กิเลสสิ้นไป
โดยชอบอันยอดเยี่ยม ไม่มีอะไรเทียมถึง เพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์ของเวไนยนิกรทั้งหลายทั้งทางกายและทางใจ
 ก็ความรู้อันใดเล่าในโลกนี้จะประเสริฐยิ่งไปกว่าความรู้อันเป็นเหตุให้กิเลสสิ้นไป
เพราะเป็นการดับความกระวนกระวายทั้งมวล เหมือนคนหายโรคไม่ต้องกินยา
บุคคลผู้เปี่ยมล้นด้วยบารมีนั้นย่อมเป็นผู้มีวาจาสิทธิ์ พระศาสดาเป็นผู้มีพระบารมีธรรมที่ได้สั่งสมมานานตลอดเวลา
ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อพระองค์มาอยู่ในชาตินี้เป็นปัจฉิมชาติและในปัจฉิมภพแล้ว
 บารมีธรรมทั้งมวลหลั่งไหลมาให้ผลในชาติเดียว ท่านลองคิดดูเถิดจะคณนาได้อย่างไร
 อุปมาเหมือนน้ำซึ่งหลั่งจากยอดเขาและถูกกักไว้ด้วยทำนบอันหนาแน่นจนเต็มเปี่ยมแล้ว
และบังเอิญทำนบนั้นพังลง น้ำมันจะไหลหลากท่วมท้นเพียงใด

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยพระกระยาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว
 จึงทรงอนุโมทนาให้นางสุปปิยาและอุปปิยะอุบาสกสมาทานอาจหาญร่าเริงในกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติ
เพิ่มพูนศรัทธาปสาทะ แล้วก็เสด็จกลับสู่วัดเชตวัน ทรงให้ประชุมสงฆ์และตรัสถามภิกษุอาพาธรูปนั้นว่า
“ดูก่อนภิกษุ เธอขอน้ำเนื้อต้มจากอุบาสิกาสุปปิยาหรือ”
“อย่างนั้น พระเจ้าข้า” พระรูปนั้นตอบ
“เมื่อเธอฉัน เธอพิจารณาหรือเปล่า”
“มิได้พิจารณาเลย พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนภิกษุ เธอได้ฉันเนื้อมนุษย์แล้ว เธอทำสิ่งที่น่าติเตียน”
ตรัสดังนี้แล้วทรงตำหนิภิกษุรูปนั้นอีกเป็นอเนกปริยาย แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
“ภิกษุใดฉันเนื้อโดยมิได้พิจารณา ภิกษุนั้นเป็นอาบัติทุกกฏ ถ้าเนื้อนั้นเป็นเนื้อมนุษย์ เธอต้องอาบัติถุลลัจจัย*ดังนี้”

"นางวิสาขา"
ใน ลีลากรรมของสตรีในสมัยพุทธกาล
อ.วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 29, 2014, 10:24:36 PM
วันหนึ่ง ๆ เราได้มีเศษอาหารให้กับสุนัข
หรือแมวเราก็รู้สึกชื่นใจ แม้เราไม่ได้เลี้ยงมัน
แต่มันก็มาหากินอยู่หน้าบ้าน ข้างบ้าน
พอมีเศษอาหารเหลือ
ก็รวบรวมไปให้มันแล้วดีกว่าทิ้งไปเยอะ ๆ
ทิ้งไปเฉย ๆ ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว
มันก็เป็นสิ่งมีชีวิต มองตามันก็รู้ว่ามันต้องการอะไร
คนที่อยู่ในสังคม ถ้าเป็นคนมีจิตใจอ่อนโยน
เข้าใจผู้อื่นก็จะทำอะไรเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ได้ดี
และคนอื่นเขาก็จะทำให้เรา ถ้าเขาไม่ทำให้เรา
เราก็ยังรู้สึกดีใจว่าเราได้ทำหน้าที่ของเราได้พอสมควรแล้ว
มีชีวิตเพื่อกันและกัน
เมื่อเรารู้สึกว่าเรามีชีวิตเพื่อกันและกัน
ใครก็ได้ที่เขาเป็นคนดี ถ้าทำให้เราไม่เบื่อชีวิต
และทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตไม่น่าเบื่อสักเท่าไหร่
เพราะโดยสภาพของชีวิตมันเป็นสิ่งน่าเบื่ออยู่แล้ว
มีอะไรสารพัดอย่างที่ทำให้น่าเบื่อ
ถ้าเราได้วางชีวิตไว้ให้ดี
หมุนใจให้ตรงต่อความเป็นจริงของชีวิต
จะช่วยเราได้เยอะ ช่วยให้เราชุ่มชื่น
อยู่กับคำแนะนำสั่งสอนของนักปราชญ์บ้าง
อยู่กับการบำเพ็ญประโยชน์บ้าง
เหนื่อยกายหน่อย เหนื่อยสมองหน่อย
แต่ก็มีความปีติชุ่มชื่นใจดีสบายดี
ชีวิตของคนมีประโยชน์
ถึงจะอายุสั้นสักหน่อยมันก็ดีกว่า
ชีวิตที่ไม่มีประโยชน์อยู่ร้อยปี
อันนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้
ดีกว่าชีวิตที่ไม่มีประโยชน์
และถ้ามันไม่มีประโยชน์มันก็ต้องเป็นโทษ
แน่นอน เพราะว่ามันต้องกินต้องใช้
ต้องผลาญทรัพยากร
ของสังคมให้หมดสิ้นไปแต่ละวัน
แล้วคนที่ไม่มีประโยชน์ก็มักจ
ะกินมากใช้มากเสียด้วย มักจะเป็นอย่างนั้น
เพราะว่ามันไม่รู้จะทำอะไร
ก็เลยใช้เวลาผลาญทรัพยากร
ให้หมดไปสิ้นไป และทำให้คนมีประโยชน์
ต้องกินน้อยใช้น้อยลงไปอีก เพราะมันหายาก

"ชีวิตกับครอบครัว"
อ.วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 17, 2015, 11:12:35 AM
๓. อานุภาพของกุศลและอกุศล* ตอนจบ
(*จักกวัตติสูตร เล่ม๑๑ ข้อ๓๓-๕๐)
จากหนังสือพระไตรปิฎกฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว
ข้อคิดในจักกวัตติสูตรนี้พอสรุปได้ดังนี้
๑. อานุภาพของพระเจ้าจักรพรรดินั้นมีขึ้นเป็นขึ้น
เพราะการประพฤติธรรมอันถูกต้องเหมาะสม
พอประพฤติผิดพลาด เช่นพระราชาองค์ที่ ๘ ในเรื่องนี้
ก็เกิดเรื่องยุ่งยากเป็นอันมาก การประพฤติธรรม
ให้ถูกต้องจึงเป็นหัวใจสำคัญของผู้ปกครอง
๒. กุศล อกุศล มีส่วนสัมพันธ์กับอายุของคนโดยส่วนรวม
เมื่ออกุศลมากขึ้น อายุของมนุษย์ก็ลดลง
เมื่อกุศลเจริญขึ้น อายุของมนุษย์ก็มากขึ้น
สิ่งเหล่านี้เป็นกรรมรวมของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน
๓. การช่วยเหลือคนทำผิดเนืองๆ เพื่อเขาจะได้เลิกทำผิด
นั้นมิใช่สิ่งถูกต้องเสมอไป
เพราะคนทั้งหลายจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
ทำความผิดเพื่อได้รับความช่วยเหลือหรือการสงเคราะห์
จนถึงกับถือเป็นคติกัน
แพร่หลายว่า เมื่ออยากได้รับความช่วยเหลือเอาใจใส่
ก็จงทำความผิด คนก็จะพากันทำความผิดมากขึ้น
ทางที่ถูกจึงควรลงโทษผู้ทำผิดและให้รางวัลผู้ทำความดี
ให้เหมาะสมกับความผิดและความดี

อาจารย์วศิน อินทสระ


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 24, 2015, 11:19:34 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20150124112146_10933855_323412884515220_5552512140307475001_n.jpg)

อาจารย์วศิน อินทสระ
ปฏาจารา
(นางผู้กลับใจได้)

ชีวิตนี้มีความต้องพลัดพรากเป็นที่สุด
ดูก่อนน้องหญิง ไม่มีที่พึ่งอันใดประเสริฐ
และมั่นคงเท่าพึ่งตนเอง
เธอจงมีสติคิดพึ่งตนเอง
โดยยึดธรรมเป็นแนวทางเถิด

บางทีความผิดหวัง
และความผิดพลาดในเบื้องต้น
อาจทำให้บุคคลผู้ใฝ่ดี
ประสบความสุขความสำเร็จในเบื้องปลาย
เพราะความผิดหวังเป็นมูลเหตุก็ได้

เปลวเพลิงจากเชิงตะกอน
ลุกโชนอยู่เป็นเวลานานแล้ว
มอดลงเหลือแต่กลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น
เหนือยอดไม้ในบริเวณนั้น
เสียงสะอื้นยังคงมีอยู่เป็นระยะๆ
ความพลัดพรากย่อมมาถึงเข้าสักวันหนึ่ง
จริงทีเดียวสิ่งที่บุคคลเข้าไปยึดถือ
โดยความเป็นเจ้าของ
แล้วจะไม่ก่อทุกข์ให้นั้น ย่อมไม่มี

ปฏาจารา สะอึกสะอื้น
ประหนึ่งจะขาดใจลง
บัดนี้เธอไร้ญาติขาดที่พึ่งแล้วโดยสิ้นเชิง
ความว้าเหว่เคลื่อนเข้าจับหัวใจเธอให้เย็นเยียบ
ความสุขที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิตบ้าง
ก็เป็นเสมือนความฝันที่เลือนลาง
ด้วยความรู้สึกเพียงครึ่งๆกลางๆนั้น
เธอออกวิ่งจากเชิงตะกอนไปอย่างไร้จุดหมาย
จนกระทั่งมาถึงธรรมสภา
แห่งเชตวนารามได้อย่างไร เธอเองก็รู้ไม่ได้

บัดนี้ นางผู้ไร้อาภรณ์
ไม่มีเลยแม้แต่ผ้าเพียงชิ้นน้อยพันกาย
ได้มาปรากฏอยู่เฉพาะพระพักตร์
ของพระจอมมุนีผู้เป็นนาถะของโลก
พระองค์ผู้มีน้ำพระทัยสม่ำเสมอ
และมุ่งหวังประโยชน์สุขแก่คนทั้งปวง
ไม่ว่าจะเป็นขอทานผู้ยากไร้
หรือราชาธิราชผู้ทรงศักดิ์มีรี้พลอันเกรียงไกร
นางหมอบลงและคร่ำครวญอยู่
ท่ามกลางความตะลึงพรึงเพริดของมหาชน

“น้องหญิง” เสียงที่ไพเราะนุ่มนวล
แฝงเมตตาธรรมไว้
แว่วมาจากที่ประทับแห่งจอมศาสดา

“จงมีสติเถิดอย่าคร่ำครวญนักเลย
ชีวิตนี้มีความต้องพลัดพรากเป็นที่สุด
ไม่มีอะไรยั่งยืน ต้องแตกไป สลายไป
พลัดพรากจากไป

ดูก่อนน้องหญิง
ไม่มีที่พึ่งอันใดประเสริฐ
และมั่นคงเท่าพึ่งตนเอง
เธอจงมีสติคิดพึ่งตนเอง
โดยยึดธรรมเป็นแนวทางเถิด”

ด้วยพระพุทธดำรัสเพียงเท่านี้
ปฏาจาราผู้สูญสิ้นแล้วทุกสิ่งทุกอย่าง
กลับมีสติครองตนได้
นางมองดูสรีระที่เปลือยเปล่า
ด้วยความสะเทิ้นอาย
ผู้หวังดีซึ่งประชุมอยู่ ณ ธรรมสภานั้น
รู้อาการแห่งนางแล้ว
จึงโยนผ้าสะไบมาให้นาง
ใช้นุ่งและห่มพอเรียบร้อย
แล้วนั่งคอยฟังพระดำรัสของพระศาสดา

"ปฏาจารา "
ใน
"ลีลากรรมของสตรีสมัยพุทธกาล"


หัวข้อ: Re: ตอบปัญหาธรรม กับ ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 04, 2016, 10:52:31 PM
มงคลที่ ๓๔
การทำพระนิพพานให้แจ้ง
นิพพาน ๒
โดยย่อนิพพานมี ๒ คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสสิ้นแล้ว
ยังมีขันธ์ ๕ เหลืออยู่
๒. อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสสิ้นแล้ว
ไม่มีขันธ์ ๕ เหลืออยู่

มีพระบาลีในสูตรที่ ๗ แห่งวรรคที่ ๒
ในคัมภีร์อิติวุตตกะ (๒๕/๓๕๘) ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย ! นิพพานธาตุ ๒ อย่าง
คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ?
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันต์
สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ของตนครบถ้วนแล้ว
สิ้นกิเลสเครื่องผูกไว้ในภพแล้ว
หลุดไปแล้วเพราะรู้ชอบ
แต่เธอยังเสวยอารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ
และไม่เป็นที่ชอบใจอยู่ ต้องเสวยสุขและทุกข์อยู่
เพราะยังมีอินทรีย์ ๕ อยู่อย่างเดิม
แต่เธอสิ้นราคะ โทสะ และโมหะแล้ว
ภาวะที่เธอสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ
นั่นแลเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
-------------------------
มงคลที่ ๓๔
การทำพระนิพพานให้แจ้ง ตอน ๑
‪#‎สาระสำคัญแห่งมงคล‬ ๓๘
‪#‎เพจอาจารย์วศิน‬ อินทสระ