หัวข้อ: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.คำชะอี จ.มุกดาหาร เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 27, 2013, 01:41:25 PM (http://www.kammatan.com/gallary/images/20150407124926_luangpu_jam.jpg)
14 รูปใครรูปตน "ตื่นเต้นอะไรกับเป็นตาย" วันหนึ่งองค์หลวงปู่มีอาการไข้หวัดลงคอ จึงได้จัดยาแก้ไข้แก้ไอแก้อักเสบเข้าถวาย องค์ท่านไม่รับยาทุกขนาน แต่ปรารถว่า "ตามเรื่องของมันเถิดรูปกายไอ่เฒ่า กินได้ก็ตายเป็น ไม่กินก็ตายเป็น อย่าสาละวนกับมัน" (เขียนตอบ) " อยากให้หลวงปู่หายจากไข้จากไอ" ท่านว่า "ใครว่า! ความเจ็บป่วยมันจะหายจากรูปนี้หรือเป็นแต่พอบรรเทาเท่านั้น พออยู่ได้เท่านั้นไม่ต้องการหลอก ยานั้นเก็บไว้เสีย" อีกหนึ่งชั่วโมงให้หลังจัดยาถวายอีก (ไม่รับ) แล้วอีกหนึ่งชั่วโมงถัดไปก็จัดยาถวายอีก (ไม่รับ) "โอ๊ะ.....! ตุ๊หนุ่มตนนี้ ก๊อกแก๊กก็จะให้กินยา ก๊อกแก๊กก็จะให้กินยา มาขู่เข็ญคนเฒ่าไม่เข้าเรื่องเอะอะก็จะเอาแต่ใจตนเอง อย่างนั้นอย่างนี้ก็จะเอาแต่ใจ ธรรมดาภิกษุไม่ควรตามใจตนเอง ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของจิต แต่ควรทำจิตให้อยู่ในอำนาจของตนดีกว่า ผู้ข้าฯแก่เฒ่าแล้วนี้ ไม่ต้องการบำรุงบำเรอมันหรอกร่างกายนี้ ปล่อยมันไว้ตามเรื่องของมันเถ๊อะ" (เขียนตอบ) "หลวงปู่ไม่สบาย ลูกศิษย์ก็หนักใจไปด้วย อยากให้หลวงปู่แข็งแรงตามวัย" "อย่ามาเป็นทุกข์กับผู้ข้าฯนี้เน้อรูปใครรูปมัน พิจารณาให้ดี" จากหนังสือ รสละมุน อุ่นละไม หน้า36-37 หลวงปู่จาม มหาปุญโญ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 07, 2015, 12:48:04 PM บุพกรรมทำให้กลัวช้าง
“ ไปธุดงค์กับท่านอาจารย์ชอบ (ฐานสโม) ได้ความดีกว่าไปกับองค์อื่น ไปกับท่านอาจารย์น้อย (สุภโร) ก็ได้ความดี ไปกับท่านอาจารย์ตื้อ เปรตผีไม่กล้ามาใกล้ เทวดาเบื้องต่ำก็กลัวหนีไปเสียไกล ท่านอาจารย์ชอบ (ฐานสโม) เคยเป็นลูกศิษย์พระมหากัสสปะเถระ ท่านอาจารย์น้อย (สุภโร) เคยเป็นลูกศิษย์พระอนุรุทธ ท่านอาจารย์ตื้อ (อจลธมฺโม) เคยเป็นลูกศิษย์พระองคุลิมาล” “เมื่อออกพรรษาแล้วก็จะนัดหมายกันว่าจะออกธุดงค์กันช่วงใด บางทีก็นัดพบปะกันบ้านนั้นบ้านนี้ ไม่รบกวนกัน ไม่อ่อนแอท้อแท้ ตายเป็นตาย เพราะสละแล้วชีวิตนี้สมัยเป็นหนุ่มน้อย ไม่นึกคิดอะไรหรอกมุ่งแต่ธรรมะที่จะพาให้หลุดพ้น ทุกข์ยากลำบากอย่างใดก็ไม่ย้านไม่บ่นว่า ป่าดงพงไพรหมู่บ้านบิณฑบาตไกลแสนไกลก็ดั้นด้นไปเพื่อให้ได้ที่สัปปายะเหมาะแก่การเจริญภาวนา กลัวทุกข์กลัวยากกลัวผีกลัวป่า ไม่เคยมีมาหรอก เสือไม่กลัว แต่กลัวที่สุดคือกลัวช้างป่า ช้างบ้านที่เขาเลี้ยงลากซุงพอสู้ทนได้ แต่ช้างป่านี้ต้องหนีให้ไกล เรื่องกลัวช้างทำอย่างใดก็ไม่หายกลัว มาจนอายุแก่เฒ่าแล้วนี้เห็นก็ยังกลัวอยู่ คราวหนึ่งอยู่บ้านยางแดงใกล้บ้านป่าแต้งก่อนที่ท่านอาจารย์ขาวจะลงมาอยู่อีสานเดินไปลัดไป ตามทางช้างท่านอาจารย์ขาวเพิ่นก็เดินไปก่อน ผ่านช้างฝูงนั้นไปได้สบาย ช้างป่าฝูงนั้น ๗ ตัว มันได้ยินเสียงคนเดินมันก็หยุดนิ่งเฉยอยู่ ทีแรกก็ไม่รู้จักว่าช้างมันยืนอยู่นึกว่าเป็นก้อนหินตั้งอยู่ พอไปอยู่กลางฝูงจึงรู้จักเพราะมันปล่อยลมหายใจฟืดออกมา ถ้าไปคนเดียวคงจังงังกระด้างตายคาที่เป็นแน่ แต่นี่ท่านอาจารย์ขาว (อนาลโย) เพิ่นร้องบอก.. “มาเถอะอ้ายน้องเราไม่ทำอะไรให้หรอก” คราวนั้นแหละท่านอาจารย์ขาว เพิ่นได้พิจารณาให้ เราก็ว่า... “ท่านอาจารย์พิจารณาบุพพกรรมของผมด้วยเถิดทำไมกลัวช้างนัก” พอวันรุ่งขึ้นเพิ่นพิจารณาได้ความว่า... “เป็นเพราะบาปกรรมที่เคยขี่หลังช้างทำสงครามมาหลายภพชาติ บังคับขู่เข็นช้างให้มันกลัวเอาขอสับหัวมัน เอาไฟขู่จะเผามันให้มันตกอยู่ในอำนาจ มาชาติชีวิตนี้จึงได้รับบุพกรรมอันนั้น” ได้ไปธุดงค์กับท่านอาจารย์ขาวครั้งสุดท้าย เก็บความได้มากเพราะเพิ่นเคยเป็นพี่ชายมาหลายภพชาติ เคารพนับถือกันมา ภูมิธรรมของเพิ่นในชีวิตนี้ก็สมแล้วกับชื่อกับนามคุณของเพิ่น ถ้าไปกับท่านอาจารย์ชอบเพิ่นก็จะถามว่า “กลัวตายไหมจาม” “ไม่กลัวครับ” “กลัวอะหยัง” “กลัวช้างป่าครับ” “โห๊ะ ตุ๊ขี้ย๊อด” “ไป๊ไปเถอะ ตายเป็นตาย เกิดมาต้องตายอยู่แล้ว” ไปกับท่านอาจารย์ชอบ นี้คุยกันน้อยที่สุด เพิ่นสอนให้กำหนดจิตภาวนา ให้มีสติเดินตากแดดตากฝนไปกันตามเรื่อง เข้าดงเข้าป่าสัตว์ป่าสัตว์ร้ายก็หลบไป บางทีเยี่ยวเสือมันยังเป็นฟองอากาศยังอุ่นๆอยู่ แตกฟองบ๊อกแบ๊ก เสือใหญ่ เสือน้อย ช้างป่า หมาใน หมี หมูลืงหมูป่า สัตว์ร้ายต่างๆ มากมายตามเรื่อง การไปกับหมู่มันกังวล หากจะไปต้องไปกับคนที่ถูกคอกันจึงไปกันได้ เพราะหมู่เพื่อนเป็นพรหมจรรย์อย่างหนึ่ง เป็นทางมาของความสุขสงบเยือกเย็น จิตสบายวิเวก กายสบายวิเวก ที่ว่าดีก็คือหากมีปัญหาจะอะไรเกิดขึ้นภายในพ้นวิสัยที่เราจะแก้ไขได้ด้วยตัวเองก็พออาศัยผู้เป็นครูบาอาจารย์ อาวุโสกว่า อาวุโสกว่าไม่ได้เรื่องไม่ได้ความก็มี ถอยหลังกรูดๆ การไปธุดงค์จะได้ประโยชน์อย่างมากที่สุดนั้นจิตภายใน กายภายนอกต้องสงบสุขอยู่ได้ในตัวเองทั้งภายนอกและภายใน สมาธิมั่น ปัญญาเกิด จึงว่าจะไปกับหมู่หรือจะไปกับเงา ก็ให้ดูประโยชน์ให้ได้ประโยชน์อยู่คนเดียว ไปคนเดียว ไม่ขี้คร้าน ไม่ประมาท ทุกกิริยาการเคลื่อนไหวไปมาก็อยู่ผู้เดียว ทรมานตนดัดตนอยู่เสมอ ฝึกหัดขัดเกลาตนอยู่ ยินดีพอใจอยู่กับสงัดวิเวก ไม่ละมูลธรรมกรรมฐาน ตั้งใจจดจ่อเจริญภาวนาของตนไปตามบุญตามกรรมวาสนาบารมีของตน” ธรรมะประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 06, 2015, 06:10:39 PM o ห น ท า ง ดั บ ทุ ก ข์ o
จิตฺตํ ทนฺตํ เอวํ นิพฺพานเสว สนฺติเก การฝึกจิตเป็นหนทางพระนิพพาน ผู้ฝึกหัดจิตตนได้ ผู้นั้นย่อมดับทุกข์ได้ รูปํ – รูป คือสกลกายก้อนนี้ เจตสิกํ – ดำริเจตนาของจิตจะให้เป็นดีหรือเป็นชั่ว จิตฺตํ – ตัวเราผู้เข้าอาศัยรูปนาม สกลกายก้อนนี้ตัวเราผู้อาศัยขันธ์อาการ ๕ ปัญจขันธา ขันธ์ทั้ง ๕ อาการเป็นธรรมชาติที่มา รองรับความดีหรือ รองรับความชั่ว การฝึกหัดจิต / การฝึกหัดตน จึงต้อง ตั้งลงที่กาย ตั้งลงที่วาจา ตั้งลงที่ใจ ตั้งลงที่รูปนามอายตนะขันธาทั้งห้า อาศัยกายใจจึงเป็นบารมีธรรม อาศัยกายใจจึงเป็นทุกข์เป็นสุข ทุกข์ – สุข เป็นของทั่วไป คำว่า – ทั่วไป- คือ ทั่วอยู่ในกายจิต เมื่อจิตยังคลุกเคล้าอยู่กับทุกข์แลสุข บุญและบาป ดีและชั่วนี้อยู่ต้องฝึกต้องหัดให้คืนธรรมชาติเติมอันบริสุทธิ์สะอาด ๑. เราให้ทานการกุศล เพื่อ ขจัดมัจฉริยะจิต ขจัดความเห็นแก่ได้แก่ตัว ๒. เรารักษาศีลเพื่อให้ กายวาจาจิตเป็นปกติดีงาม เป็นกายที่จริงไม่มีทุกข์โทษ เป็นวาจาที่จริงไม่มีทุกข์โทษ เป็นจิตของผู้มีสัตยธรรม ไม่ดำริหาทุกข์หาบาป ๓. เราฝึกหัดภาวนา เพื่อเสริมกำลังของสติปัญญา มีสติระลึกได้ มีปัญญารู้จัดการดีชั่วในตัวตน ทุกๆ คนด้วยกันนี้ล้วนแล้วแต่คิดถึงตน หวังประโยชน์ของตน สละตนออกมาบวช มาบำเพ็ญ มาถือการปฏิบัติ ก็เพราะนึกคิดถึงตนของตนมุ่งปรับปรุงแก้ไขความดิบดื้อดิบห่ามของตน สุหุชุ จ หมุนจิตให้ตรง ตั้งเจตนาให้ตรง ทำจิตของตนให้ดี เมื่อตรงแล้ว ดีแล้ว รูปนามทั้งหมดก็จะเป็นธรรมะ เป็นธมฺมขนฺธา การกระทำพฤติกรรมก็เป็นศีล คำพูดจาก็เป็นศีล เจตนา เจตสิก ก็เป็นศีลเป็นธรรมะ เป็นนามธรรมอันปกติ เป็นรูปธรรมอันปกติ และเพราะเมื่อมาระลึกในความเป็นปกติของกายใจตนแล้วนี้ ว่าตนเป็นปกติดีว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ดังนี้ก็จะ มีกำลังใจ มีกำลังขึ้นในใจ มีใจดื่มด่ำในธรรมะ รักใคร่ยินดีพอใจในธรรมะ เป็นความอยากความต้องการในสิ่งดีงาม จึงมาฝึกหัดในการละ การบำเพ็ญเพียรภาวนา ศีลวินัยมีอยู่ก็ละกิเลสได้ สมาธิภาวนามีอยู่ก็ละกิเลสได้ ปัญญามีอยู่ก็ละกิเลสได้ ให้ใช้ปัญญาอบรมจิตอยู่เสมอ อดทนอดกลั้น จริงใจต่อการแก้ไขตนของตน คิดถึงตัวเอง มั่นคงในการบำเพ็ญ มีเมตตา อุเบกขาต่อโลกียวิสัย นี่คือหลักจิตหลักใหญ่ของการขัดเกลาให้เงางาม ใช้ตนเองนำหน้าตนเอง ใช้ขันธาทั้ง ๕ ทอดต่อธรรมะ เอาดินอิฐล่อหยกเนื้องาม อย่าให้รูปปิดบังศีลวินัย อย่าให้ขันธามาบังธรรมะ องค์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เพิ่นว่า “ ขันธ์อันใดธรรมะก็อันนั้น ขันธ์อยู่ที่ใด ธรรมะก็อยู่ในนั้น เมาสุขเป็นขันธ์ เมาทุกข์เป็นขันธ์ เมาสมมุติเป็นขันธ์” นี่ให้พิจารณาให้ดีว่า เมื่อใดยังเป็นขันธ์อยู่ เมื่อนั้นก็เป็นวิสัยของโลกโลกียะนี้อยู่ คือยังอยู่ในระดับโลกียจิต ดื้อมึนไปตามเรื่อง หยาบไปตามเรื่อง ดิบห่ามไปตามเรื่อง ไม่ยอมอ่อนไม่ยอมน้อมต่อธรรมวินัยข้อระเบียบ กฎเกณฑ์อันจะนำสุข นำเจริญมาสู่ตน เป็นเนวเสกขานาเสกขจิต จิตกำลังศึกษา จิตกำลังแสวงหา จิตที่ยังไม่มั่นคง ยังไม่หมดภาระจากทุกข์ จากขันธ์ จากกิเลส ขอให้หยุดคิดพินิจพิจารณาให้ดีในตนของตน พื้นฐาน เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด อยู่ที่ใด ทสบารมี มรรคา วิชชา วิมุตติ พระนิพพานอยู่ที่ใด รูปกายมีจิตครอง ให้ผลต่อโลกโลกีย์ รูปกายมีจิตคลาย ให้ผลต่อธรรมะ จิตอยู่กับรูป หมุนจิตให้ตรง รูปก็ตรงนามก็ตรง – พระมหาชนกลอยคอในน้ำทะเลมาแล้ว ๗ วัน ไม่รู้ว่าจะตายในวันใดแต่กลับไม่ลืมอุโบสถของตน เอาน้ำทะเลบ้วนปาก สมาทานวิรัติเจตนาจะรักษาศีลอุโบสถของตน – พระเวสสันดร ชาวเมืองไล่ออกจากพระนคร ให้ไปอยู่ป่า แต่ไม่ทิ้งทานบารมี - ให้ทานเกวียน – ม้า - ให้ทานกัณหาชินา – ชาลี - ให้ทานมัทรีแก่พราหมณ์อินทา – ภูริทัตต์นาคเผือกขึ้นมาจากบาดาล มาอยู่บนจอมปลวก ไม่ลืมศีลของตน ไม่ลืมการอดความโกรธของตน – สุวรรณสาม ลูกธนูปักอกจะตายแล้ว ยังรำลึกในบุญคุณของพ่อแม่ตาบอด ต้องเลี้ยงต้องดูแล – มโหสถ ผู้เกิดมามียาติดมือมาด้วย เมื่อถูกอริศัตรูคู่แข่งใส่ร้ายป้ายสี หากแต่ก็ยังอนุเคราะห์รักษาอาการป่วยให้จนหายขาด เหล่านี้ เป็นการให้ธาตุขันธ์รูปกายอายตนะของตนของพระมหาสัตว์เพื่อให้เป็นบารมีธรรม เป็นอุปะ เป็นปรมัตถะ ยากเย็นนักกว่าที่จะข้ามห้วงทุกข์นี้พ้นไปได้ ให้คิดอ่านให้ดี เหยาะแหยะเหลาะแหละ โลเลเอาแต่ใจตนเอง เอาแต่ทิฐิทัสสนะมาทับมาถม อวดเขี้ยวอวดงาอยู่เช่นนี้ โอ...เมื่อใดหนอจะดีจะงาม จะเลอเลิศขึ้นมา ปุเรกชาติ ทูเรอวิทูเรกชาติ อดีตชาติ ของแต่ละจิตแต่ละใจ มิใช่ของล้อเล่น หนักหนานัก เป็นมาแล้ว ดำเนินมาแล้ว เป็นคติเป็นทางออก เป็นมรรคเป็นวิชชา เป็นทางพ้นทุกข์ จึงนำมาบัญญัติ เป็นหลักของศีลวินัย เป็นหลักของสมาธิ เป็นหลักของปัญญา เป็นหลักของพระวินัย เป็นหลักของพระสูตร เป็นหลักของพระอภิธรรม ศึกษาให้ดี คิดอ่านให้ดี ศีลจะกี่ข้อก็รักษาตนของตน ภาวนาจะกี่ครั้งก็รักษาจิต กิริยาบุญใดๆ ก็รักษาจิต รักษามรรคา บารมีทั้งหมดก็เพื่อจะได้วางจิตวางใจนี้ได้ จะทำกับข้าวสักอย่างหนึ่ง ให้คิดดูว่าจะใช้ภาชนะอุปกรณ์ครัวกี่ชิ้นกี่อันนับมิได้ กว่าจะสำเร็จเป็นต้มยำทำแกง เป็นกินอิ่มหนำ ทาน ศีล ภาวนา กิริยาบุญใดๆ บารมีใด มรรคใดๆ ก็เป็นแต่บริวารบริขารของธรรมะ เป็นอุปกรณ์ธรรม อุปกรณ์วินัย อุปกรณ์สุตตันตะ เพื่อพรากกายจากใจ, พรากจิตจากสังขาร ให้จิตเป็นกลาง เป็นขันธ์คงขันธ์ เป็นธรรมะคงธรรมะ ไม่กลับกลอก แปรปรวน กำเริบ จึงว่า หนทางอยู่นี่ อยู่ที่นี่ ที่หัวใจของผู้ปฏิบัตินี้แล คติธรรม หลวงปู่จาม มหาปุญโญ มหาปุญโญวาท 8 ตอนที่ 38. หนทางดับทุกข์ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 16, 2015, 12:59:30 PM โดนให้เทศน์เป็นครั้งแรก
“ พรรษาที่ ๔ อยู่จำพรรษาอยู่เสนาสนะในป่าช้าบ้านพุงต้อม ตำบลยูวา อำเภอสันป่าตอง ตรงนี้เป็นที่ของเพิ่นครูอาจารย์มั่นเคยมาพักอยู่รุกขมูลในช่วงหน้าแล้ง ปีนี้หล่ะ ศรัทธาญาติโยมเขามาขอให้พระที่มาอยู่จำพรรษาให้โปรดเขาบอกสอนชี้แจงแนะนำพวกเขาในพรรษาตลอดพรรษา ก็มาตกลงกันว่าใครจะเทศน์ ใครจะเป็นผู้เทศน์ธรรม ท่านอาจารย์เฟื่องก็ว่า “แต่บวชมายังไม่เคยเทศน์” ท่านอาจารย์หลอดก็ว่า อย่างเดียวกัน ส่วนผู้ข้าฯ ก็ออกตัวก่อนหมู่เพื่อนเลยว่า “ผมบวชทีหลังอาจารย์ทั้งสองขอให้สุดแต่อาจารย์สองคนจะตกลงกันเถิด ผมคงเทศน์ให้ใครฟังไม่ได้หรอก” ศรัทธาญาติโยมเขาให้เทศน์ทุกวันพระ แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้ว ไม่ใช่วันพระก็ได้เทศน์ ใครมาทำบุญอะไรก็นิมนต์เทศน์ให้ฟังคนบ้านพุงต้อมสมัยนั้นแปลก เขาว่า ทำบุญให้ทานต้องให้ได้ครบทั้ง ๓ ตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พอถึงวันกำหนดเทศน์ใกล้เข้ามาๆ ท่านอาจารย์เฟื่องก็มาบอกว่า “การเทศน์ธรรมในวันพรุ่งนี้สุดแล้วแต่ท่านทั้งสองเน้อ ผมไม่เทศน์นะ” ท่านอาจารย์หลอดก็ไม่ว่าอะไรเฉยอยู่ เราก็นึกว่าท่านอาจารย์หลอดจะเป็นผู้เทศน์โปรดให้ศรัทธาเขาฟัง วันรุ่งขึ้นบิณฑบาต - ฉัน - ฉันเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์เฟื่องก็ลุกหนีไปท่านอาจารย์หลอดก็ว่า “ ศรัทธาทั้งหลายเอย พวกอาตมาได้ตกลงกันแล้วว่า จะให้ท่านจามเป็นผู้ทำหน้าที่เทศน์ธรรมในพรรษานี้ ” เพิ่นบอกกับญาติโยมอย่างนี้แล้ว เราก็หมดหนทาง หมดช่องทางที่จะแก้ไขหากจะบอกเดี๋ยวนั้นว่า “ผมไม่เทศน์นะอาจารย์ ผมไม่เคยเทศนาว่าธรรม” ก็จะเป็นการคัดค้านกัน เราก็ได้แต่มองหน้าเพิ่น – เพิ่นก็เมินไปทางอื่นเราก็ตั้งใจกำหนดใจอยู่ เอ้า... เทศน์ก็เทศน์ บวชเข้ามาก็เพื่อเผยแพร่ศาสนธรรมขององค์พระพุทธเจ้า ว่าแล้วเราก็กล่าวขอโอกาสในสงฆ์ แล้วก็ออกตัวกับญาติโยมว่า “ โยมเอย... อาตมาแต่บวชมาเข้าพรรษาที่ ๔ ในบัดเดี๋ยวนี้ ยังไม่เคยเทศน์ธรรมให้ใครผู้ใดฟังสักครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งแรก จะผิดถูกอย่างไร ขอให้อโหสิกรรมด้วยเถิด” จากนั้นเราก็ขึ้นอุเทศคาถาเรื่อง “สุโข ปุญฺญสฺส อุจฺจโย” เทศน์เรื่องการสะสมบุญย่อมเป็นความสุข แต่ก่อนที่จะอธิบายเรื่องบุญ เราก็ยกการเกิด – การแก่ – การเจ็บ – การตายขึ้น มาเป็นต้นให้สลดใจแล้วก็ต่อด้วยการอธิบายในการบุญการกุศลยืดยาวแล้วก็ลง แล้วให้พรปิดท้ายเทศนา โห... ญาติโยม ยินดีพอใจ พออกพอใจ ขอนิมนต์ให้เทศน์ธรรมทุกครั้งไป เราเทศน์ไปอีก ๔ ครั้ง เอ้า... ทีนี้โรงเรียน ครูใหญ่โรงเรียนก็มาขอนิมนต์ให้ไปเทศนาให้นักเรียนฟัง เป็นอันว่าในพรรษานี้เป็นผู้ทำหน้าที่เทศน์ธรรม ก็ว่าไปตามเรื่อง การบุญการบาป, การสะสมบารมี, บารมี ๑๐ ทัศ, ชาดก, มงคลคาถา, สรณะ ชี้แจงแนะนำการดีการชั่วไปตามเรื่อง เทศน์ในโรงเรียนก็เทศน์เรื่องทิศ ๖ อิทธิบาท วันสำคัญของศาสนา พุทธประวัติ สุภาษิต ประวัติพระอรหันต์ ชาดกนิทาน ผลของการเทศนา ทำให้ผู้ใหญ่ คนใหญ่เขาก็รู้จัก เด็กน้อยเขาก็รู้จักไม่ใช่รู้จักเราหรอก รู้จักเข้าใจในศาสนา พระธรรมคำสอน ความเป็นมา” ธรรมะประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 18, 2015, 12:30:39 PM (http://www.kammatan.com/gallary/images/20150718123009_11728842_470568926459123_2849915861979159222_o-2.jpg)
หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 18, 2015, 12:31:13 PM ๘๙.) อยู่โคกเหล่างานั่นหละ ทำกุฏิให้พระเณรอยู่ แล้วเป็นหลัง ๆ แล้วให้ขึ้นอยู่ตามลำดับพรรษา ไปอยู่ใหม่ ๆ ก็ปักกลดกางกลดกันอยู่ตามร่มเงาไม้ตามเหง้าไม้โจดกอที่มันใหญ่ พอกุฏิผู้ข้าฯ แล้วเสร็จก็อยู่ได้แค่ ๖ วัน วันที่ ๗ ขณะขึ้นกระไดนั้น มือเราก็ดึงแม่กระได ทำให้กระไดหงายมาทางคน กระไดก็พลิก เลยล้มลงทั้งคนทั้งกระได กระดูกสันหลังกลางหลัง ก็ไปกระแทกเอากับตอไม้ชาดที่เขาตัดตอจำดิน เอามาทำเป็นเสากุฏิ ก็เริ่มเจ็บหลัง แต่วันนั้นมา ปลายมือปลายเท้าก็มึนชา แรก ๆ ก็พอไปบิณฑบาตได้ หลายวันเข้าก็ลุกไม่ได้ พระเณรเอาเข้ามาส่งอยู่วัดศรีจันทร์ให้หมอมาดูแลรักษา แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน ขอให้พระที่มาเรียนหนังสือเขียนจดหมายแจ้งมาบ้าน ให้พ่อออก (โยมพ่อขององค์หลวงปู่จาม) ไปรับ พ่อออก บ่าวเก๊อะ อ้ายแดง อ้ายเจ๊ก เอาเกวียนไปรับมาแต่วัดศรีจันทร์ มารักษาอยู่บ้าน หมอเขาว่าเป็นโรคเหน็บชา มีโอกาสหาย ถ้ารักษาอย่างถูกวิธี มาถึงบ้านแล้วร้องไห้ทุกวัน กลางคืนดึก ๆ ก็ร้องไห้ไม่อยากสึก กลัวไม่ได้บวชพระและเป็นภาระให้กับญาติพี่น้อง
๙๐.) ปีที่กลับมาแต่ขอนแก่น ปีนั้นอายุเข้า ๒๐ ปี หวังจะบวชพระแล้วดีใจอยู่ แต่ก็มาตกกระไดกุฏิป่วยเป็นเหน็บชา มึนชาตามมือตามเท้า ปวดมึนสันหลัง ปวดตามกระดูกข้อต่อ ที่สุดจนเดินไม่ได้ เริ่มป่วยก่อนจะเข้าพรรษา ป่วยหนักพ่อออกไปรับ ท่านอาจารย์สิม (พุทฺธาจาโร) ก็บวชพระแล้วก็เข้าพรรษา ตัวเราก็ตั้งใจไว้ว่า ตกแล้งนี้อายุครบบวช คงจะได้เป็นพระแล้วล่ะ ดีใจอุ่นใจอยู่ สุขใจอยู่ ตั้งใจว่า พอจะบวชพระจึงจะแจ้งให้ทางพ่อออกแม่ออกญาติพี่น้องได้รู้ว่าอยู่ทิศใดทางใด แต่สุดท้ายก็สู้กรรมไม่ได้ ป่วยแล้วก็กลับมาอยู่บ้านเสวยวิบากกรรมของตน พ่อออกเอาเกวียนไปรับ มารักษาอยู่ ๓ ปี จึงทุเลาขึ้น กินยาต้มยาหม้อ เครื่องดำเป็นตำรายาของท่านอาจารย์ฝั้น (อาจาโร) ท่านอาจารย์ดี (ฉนฺโน) เพิ่นบอกไว้ว่าให้ใช้เครื่องยาดำ มีอ้อยดำ ข้าวดำ ซ่านดำ เยี่ยวโคดำ อย่างอื่นอีกแต่ล้วน แต่เป็นของดำทั้งหมด กินมากกินตางน้ำ ๙๑.) นอนป่วยอยู่ ๓ ปีกว่า กระดิกกระเดี้ยตีงตัวไม่ได้ พ่อออกแม่ออกพี่น้องต้องคอยป้อนข้าวป้อนน้ำเสียขี้เสียเยี่ยว ทำบาปให้พ่อแม่พี่น้องอยู่หลายปีปล้ำลุกปลุกนั่งอยู่อย่างนั่น เป็นบุญอย่าง ที่ท่านอาจารย์ฝั้น (อาจาโร) มาอยู่จำพรรษาอยู่วัดหนองน่องมาแต่งยาหม้อดำ รักษาให้ ให้กำลังใจหลายอย่าง นอนป่วยอยู่นั้น ไม่หวังอันใด ทุกข์ทรมานกาย ทุกข์ใจ ไม่มีใจจะอยู่ ร้องไห้เสียดายการบวชของตน ระลึกแต่ว่า เกิดมาขี้โรค อายุสั้น ความดียังไม่ได้ทำ จะบวชพระตามความตั้งใจก็ยังมิได้บวช บุพกรรมให้ตายก่อนก็อาจเป็นได้ “ นอนป่วยอยู่ตอนนั้นได้แต่พิจารณาความตาย คนมียศเขาก็ตาย คนมีบาปเขาก็ตาย คนมีบุญเขาก็ตาย คนแข็งแรงมีกำลังเขาก็ตาย คนมีฤทธาศักดานุภาพเขาก็ตาย พระอริยะพระอรหันต์พระพุทธเจ้าก็นิพพานไปเหมือนกัน ตัวเรานี้ประสาอะไร ต้องตายแน่นอน อยู่ไหนอย่างไรต้องตาย ” ๙๒.) ไหว้พระสวดมนต์ท่องมนต์ต่าง ๆ ขณะนอนป่วยอยู่นั้น มิได้ขาด จำพระปริตรบทไหนก็ท่อง ทบทวนไปมา ไม่ยอมให้นอนป่วยอยู่เฉย กำหนดภาวนาไปด้วย เรารำคาญที่สุด ตอนกินข้าวแลง พ่อออกแม่ออกต้องบังคับให้กิน ข้าวเที่ยง ข้าวแลงนี้ ต้องกลั้นใจล่ะ อยากให้หายโรค มาคิดดูตอนนี้ เห็นท่าจะหายด้วยการกินข้าวตำมือ แม่ออกเอาข้าวก่ำข้าวดำมา ตำกับซกแล้วเอาไปต้มกินน้ำข้าวต้มทั้งเปลือก ๙๓.) ตอนเช้าหลวงปู่ฝั้น (อาจาโร) มาบิณฑบาต เห็นหน้าเห็นผ้าเหลืองของเพิ่นแล้วพออุ่นใจสุขใจได้บ้าง เพิ่นจะถามทุกวัน “ เณรจามเป็นแนวได๋ ดีขึ้นไหมวันนี้ ” “ เป็นยังไงดีขึ้นบ๊อ ” ตัวเราก็พอลุกไปได้เป็น ก็พอได้ใส่บาตร แต่ก็ลำบาก พอลุกไปมาได้ เพิ่นครูอาจารย์ฝั้น (อาจาโร) ก็จากจาริกไปขอนแก่นอีก ร่างกายมันแข็งแรงขึ้นแล้ว ก็ตามไปส่งบาตรพระเณรอยู่วัดปฏิบัติพระเณร แต่พระเณรหมู่ใหม่นี้เป็นลูกศิษย์ของเพิ่นครูอาจารย์เสาร์ (กนฺตสีโล) พากันมาแต่อุบล และที่จรไปจรมาก็มีอยู่ พอดีขึ้นเดินไปได้ไกล ๆ แล้ว ภูเขาแถวนี้รอบ ๆ บ้านห้วยทรายนี้ห่อเอาข้าวเอากับเอาน้ำเต้าน้ำได้แล้ว ก็ออกเดินทางปีนภูปีนก้อนหิน เดินภาวนาไปดูนั่นดูนี่ไป ภูปูน ภูก่อง ถ้ำเกิ้ง หินกอง ถ้ำปูลู ภูคำชะอี ภูหนองกะปาด ภูหลังดำ ภูผากูด ภูกะโล้น ไปจนทั่วหมดเพื่อให้เอ็นอ่อนยืดหยุ่นแข็งแรง เอาหนังสือเจ็ดตำนานสิบสองตำนาน ของพ่อออกไปท่องทบทวน บุพกรรมของการป่วยคราวนี้ บวชพระแล้วพิจารณาดูว่าเป็นโทษมาจากกรรมอันใด จึงรู้ได้ว่าเป็นเศษของบาปกรรมที่ใช้ยางน่องชุบลูกธนูทำสงครามกับพวกพม่าในยุคสมัยกรุงศรีฯ กับบุพกรรมที่ฆ่ากษัตริย์ ๕๐๐ องค์ เมืองลิจฉวีในยุคที่เกิดเป็น พันธุลเสนาบดีของพระเจ้าปัสเสนทิโกศลเมื่อครั้งต้น ๆ พุทธกาล ๙๔.) มีอยู่ปีหนึ่งหลวงปู่ฝั้น (อาจาโร) มาจำพรรษาอยู่วัดหนองน่อง เป็นหัวหน้าพระเณรหลายองค์ด้วยกัน วันหนึ่งหลวงปู่ฝั้นใช้ให้ตาอ้วนขี้หนอนล้างหม้อน้ำ แต่ในหม้อน้ำนั้นมีลูกยุงอยู่มาก จึงบอกให้เอาไปเทใส่หนองบวกควายนอน อย่าเอาไปเทลงหนอง ปลาจะกินได้ แต่ตาอ้วนขี้หนอนคนนี้แกอยากลองดูภูมิธรรมของหลวงปู่ฝั้น (อาจาโร) จึงนำหม้อน้ำนั้นออกนอกวัดด้านที่มีหนองบวกควายนอน แต่แกไปไม่ถึงหรอก พ้นเขตวัดก็เอามือกวนน้ำในหม้อแล้วก็คว่ำหม้อลงดิน จากนั้นก็เลยไปล้างไปขัดหม้อน้ำที่หนองน้ำจนสะอาดแล้วกลับมา หลวงปู่ฝั้นนั่งรออยู่ “ พ่อออกอ้วนนี้เสียเป็นคนใหญ่คนโต ใช้แล้วให้ทำแค่นี้ก็ใช้การไม่ได้ สู้เด็กน้อยไม่ได้ บอกสอนมันมิเอาความดี ว่าให้เอาไปเทใส่หนองบวกควายแต่เอาไปเทลงดิน ลูกยุงมันก็ตายหมด เอาไปเทลงน้ำมันอาจรอดตายบ้าง หากไม่เคารพกันแล้วก็ไม่ต้องมาหาสู่กันอีก ” “ โอย ข้าน้อยขอโทษขอกรขออโหสิแก่ครูบาอาจารย์ ข้าน้อยมันโง่มันดื้อ ผิดไปแล้ว จะไม่ทำอีกแล้วอย่าให้ข้าน้อยเป็นบาป ” ทั้งพูดทั้งหมอบคลานเข้าหาหลวงปู่ฝั้น ก็เป็นที่น่าอัศจรรย์อยู่เพราะก่อนจะเททิ้งลงดิน ตาอ้วนแกก็มองแล้วมองอีกไม่เห็นใครแกจึงเท หลวงปู่ฝั้นนี่เก่งหลายอย่างจิตก็เก่ง กายก็เก่ง วาจาก็เก่ง ๙๕.) สมัยที่หลวงปู่ฝั้น (อาจาโร) มาอยู่วัดหนองน่องนั้น มีตาแง้ขี้ฝิ่น เป็นคนกินฝิ่น ชอบขโมยของแล้วเอาเงินไปซื้อยาฝิ่น มีอยู่วันหนึ่ง ตาแง้ไปวัดหนองน่อง แล้วมีดโกนตราตุ๊กตาคู่ของพระหายไป แม้จะสืบสาวราวเรื่องกัน ก็จับขโมยไม่ได้ มาภายหลังรู้ว่าตาแง้แกเอาไปขายให้พระวัดบ้านคำชะอี แล้วซื้อฝิ่นมาสูบ พ่อออกแม่ออกถามหลวงปู่ฝั้น ท่านก็ไม่ตอบ บอกแต่ว่า “ รู้แต่ไม่บอกว่าใคร ไม่อยากให้เกิดเรื่อง ” เมื่อเป็นเช่นนั้น ศรัทธาญาติโยมจึงรวบรวมเงินกันได้ ๖ บาท นำไปไถ่คืนมา ตาแง้แกขาย ๔ บาท ให้กำไรเขา ๒ บาท แล้วนำมาคืนแก่พระรูปนั้น พระรูปนั้นก็ไม่เอา สละไว้เป็นของสงฆ์ ตาแง้จำเลยก็หายหน้าไป แต่เขาจับได้ว่าเป็นขโมยก็อายเข้าหน้าใครไม่ได้ จึงไม่พอใจพระวัดป่าหนองน่อง จากนั้นก็พยายามเบียดเบียนพระวัดป่าหลายอย่าง เอาหนามอืบปิดทางบิณฑบาต ตัดต้นไม้ขวางทาง ทุบอุแอ่งแคงหม้อน้ำ ในที่สุดแกก็ได้รับผลกรรมแกออกไปหาอยู่หากินกลางทุ่งนา หาปลาหากบหาเขียด มีควายหงานตัวหนุ่มไล่ขวิดไล่ชน แกวิ่งหนีหลบเข้าอุ่มหนามจะคองเนื้อตัวเสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง เลือดไหลซึม แกก็เริ่มป่วย เพราะปางตายจากควายอีกทั้งขาดยาฝิ่น อยู่แต่ในบ้าน ไปมารอบบ้านไปมาก็ไปชนตงชนคานชนเสาบ้าน ตกกระไดบ้านก็ตก หัวม้างข้างแตกเลือดไหลซึมหัวบวม นอนป่วยอยู่หลายเดือน วันที่แกจะตาย หนังหัวขาด เลือดไหลออก อุแอ่งหม้อน้ำในบ้านแตกหมดทุกใบ ต้องไปยืมบ้านอื่นมาใช้ เป็นบาปทันตาเห็น ผู้ข้าฯ นอนป่วยอยู่ แม่ออกมาเล่าสู่ฟังว่าหลวงปู่ฝั้น (อาจาโร) และหมู่พระ เณรมาสวดกุสลามาติกาให้ และบอกอโหสิกรรม เป็นเหตุให้ผู้ที่ไม่พอใจพระวัดป่า กลับลดทิฐิลงมากก็หลายคน มานิยมนับถือพระธุดงคกรรมฐาน หลวงปู่ฝั้นไปแล้ว ท่านอาจารย์ดี (ฉนฺโน) มาอยู่แทน อยู่ได้ ๒ ปีก็หนีไปเป็นวัดร้างได้ปีหนึ่ง อาจารย์พัน (กนฺตสีโล) ก็มาอยู่แทนได้หลายปีจนปี (๒๔) ๘๒ ผู้ข้าไปบวชก็มาจำพรรษาวัดหนองน่องนั่นหล่ะ ๙๖.) อีกครั้งหนึ่งนายอ้วนขี้หนอนคนเดิม วันนั้นหลวงปู่ฝั้น ปรารภอยากได้ตะไคร้มาปรุงยาฉันกับใบบัวบก ตาอ้วนขี้หนอนแกก็อาสาจะหามาถวาย พอช่วงบ่ายก็นำไปถวายหลวงปู่ฝั้นที่วัด แต่ก่อนที่หลวงปู่ฝั้นจะรับท่านก็ว่า “ พ่อออกอ้วนนี้ เอาอีกแล้ว ตะใคร้ไปขโมยเขามาก็เอามาให้พระเณร ไม่เอาดอกเดี๋ยวเจ้าของตะใคร้เขาว่าพระเณรเป็นขโมยเป็นขมายรับของโจร ” “ โอย ข้าน้อยผิดไปแล้ว ก็ของลูกสาวในสวนของลูกสาวไม่ขอคงได้ ” “ ได้อยู่ โยมกับลูกสาว แต่ของลูกสาวกับพระเณรในวัดมิได้ไม่คุ้นเคยไม่ปวารณา ” “ ข้าน้อยมันคนหนา ลืมข้อนี้ไป ” เป็นอันว่า โยมตาอ้วนแกต้องหอบมัดตะใคร้นั้นกลับบ้านไปขอกับลูกสาวใหม่ จึงได้ไปเอาที่สวนแล้วนำมาถวายหลวงปู่ฝั้นอีกครั้ง ท่านจึงรับไปให้เณรปรุงเป็นยา (แม้เรื่องเล็กน้อยพ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านก็มิได้ละเลย เป็นตัวอย่างอันดีในการเห็นโทษภัยเสมอ) หลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ เล่าต่อว่า “ ในปีที่ท่านจำพรรษานั้นตัวท่านเริ่มหายป่วยจากโรคเหน็บชา เริ่มเดินได้บ้าง แต่ก็ยังมีอาการอยู่ทุกเช้าต้องใส่บาตรหลวงปู่ฝั้น และพระเณรโดยมีพ่อแม่เตรียมเครื่องใส่บาตรไว้ให้ หลวงปู่ฝั้นก็จะถามว่า “ อ้ายเชียงวันนี้เป็นแนวได๋ ” “ ค่อยยังชั่วแล้วครับ ” หรือบางครั้งท่านก็ยังพูดว่า “ เณรจาม มื้อนี้เป็นแนวได๋ ดีขึ้นไหม ” “ ครับดีกว่ามื้อวานนี้ครับ ” ท่านรับบาตรแล้วก็เดินต่อไป (ความคุ้นเคยวิสาสะอันนี้ คุ้นเคยกันมาแต่เมื่อครั้งอยู่วัดบ้านโคกเหล่างาหรือวัดป่าวิเวกธรรมจังหวัดขอนแก่น จึงเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันมาและคำว่าเณรจาม ยังคงติดปากหลวงปู่ฝั้นอยู่บ้าง หลวงปู่จามว่า คงจะเป็นอุบายของท่านที่ไม่ให้เราหลงในบ้านเรือนเรื่องโลกเกินไปก็เป็นได้) ” ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านก็จากไปทางธาตุพนมแต่ก็บอกลาตอนท่านบิณฑบาต ท่านยังบอกเป็นนัยว่า “ เจ็บป่วย มันจะหายก็หาย หากมันหายดีก็บวชได้ ข้าจะได้ไปไหว้พระธาตุพนมก่อน วัฏฏะมันวนไปวนมา ” หลวงปู่ฝั้นมาอยู่วัดหนองน่องปีนั้น คนเฒ่าคนแก่คนหนุ่ม เด็กน้อย ไปวัดกันมากวันพระท่านเทศน์สอน แต่เราไปไม่ได้ ได้แต่คอยถามพ่อแม่ว่าวันนี้ท่านเทศน์อะไรให้ฟัง สมัยหลวงปู่ฝั่นนั้นคนไปวัดหลายกว่าสมัยเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) เพราะท่านอนุญาตให้คนไปส่งจังหันภายหลังได้ แต่ไม่วุ่นวายเอิกเกริก ไปถึงวัดจัดจังหันใส่ภาชนะแล้วก็หนีออกมาอยู่รอบ ๆ ถอนหญ้า ตัดรากไม้ ตัดเครือเขาเถาวัลย์ ไม่มีญาติโยมคุยกันหรอก พระเณรฉันเสร็จก็เคาะกระลอป๊อก ๆ จากนั้นก็ไปเอาข้าวมากินก็กลับบ้าน แต่วันพระนั้นก่อนกินก็ฟังเทศน์ก่อนมีพระเณร ตาปะขาวอยู่ด้วยกันปีนั้น ๑๒ องค์ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 18, 2015, 12:31:40 PM เจอผีกองกอย
อยู่ภูเขาลูกที่สูงที่สุดเหนือบ้านงาแมง อำเภอสะเมิง วันนั้นแยกกันกับท่านอาจารย์ชอบ (ฐานสโม) ผู้ข้าฯ อยู่คนเดียว โยมเขาตัดใบตองใบไม้กองทับไป่ไปไป่มาแล้วหุบหอบเอาใบตองแห้งมาทับเบื้องบน ตึงเชือกให้ห้อยกลด ที่พักอยู่ใกล้ห้วยน้ำ น้ำห้วยนั้นก็แปลกบางวันก็ใสบางวันก็ขุ่น กะปูแดงกะปูคายหลายที่อยู่ตามฮูหินหลืบหิน ขว๊าดฮูอยู่ตามตะลิ่งห้วย กบแลวตัวใหญ่ก็หลาย ผู้ข้าฯ ไปถามเขาว่าพอจะมีที่พักที่อาบน้ำได้ที่ไหนแถวนี้ โยม ๓ คน เป็นคนบ้านงาแมง ๒ คน เป็นเขยไปแต่ลำพูนคนหนึ่งช่วยถือบริขารไปช่วยทำที่พักพอเป็นเพิงหมาแหงนกั้นน้ำค้างได้ เขาว่าพรุ่งนี้จะมาทำร้านให้ดีกว่านี้ เขากลับไปแล้วเราก็สรงน้ำ ไหว้พระสวดมนต์ แล้วก็ลุกเดินจงกรมจนเหนื่อยดึกแล้ว เทน้ำจากกาล้างเท้าแล้ว ก็สุมไฟให้ลุกแจ้งอีกแล้วก็เข้ามุ้งกลดจะนั้งภาวนา แต่ก็นั่งเพ่งไฟอยู่จนไฟหมดเปลวแล้วก็นอนเหยียดว่าจะพักหลับนอน แต่นอนไปได้สักพักเคลิ้มจะหลับ ก็ได้ยินเสียง “ขะลึบ กึบกับ กะลึบ ๆ” เหมือนกันกับพลิกก้อนหินจากที่สูงแล้วให้ตกลงสู่ที่ต่ำ ได้ยินอยู่ ๓ – ๔ ครั้ง จึงเชื่อว่าหูไม่ฝาดแล้ว จึงลุกนั่งฟังหูต้นเสียงอยู่ ไม่นึกกลัวอะไรหรอก แสงไฟจากกองไฟก็เหลือแต่ไฟถ่านเท่านั้น นึกได้แต่ท่านอาจารย์ชอบ เพิ่นว่า “ภูเขาแถวนี้ยังมีผีกองกอยชะม้อยดงอยู่ระวังเน้อมันจะจกก้นกินไส้” ผู้ข้าฯ ก็เข้าใจว่าเพิ่นว่าเล่นกัน “กะลึก ครึก” อ๋อเสียงมันอยู่ทางลำห้วย “ก๋อย ๆ ๆ กองก๋อย ก๋อย ๆ” อย่างนี้หรือเขาว่าเสียงผีก้องกอย ว่าเท่านั้นก็คว้าเอาไฟฉายกาปืนยาว ๒ ถ่าน ได้แล้วก็ค่อยๆ เดินเบาย่องไปทางลำห้วยค่อยๆไป แต่มันก็มืดมองไม่ค่อยเห็นอะไร เดินไป หยุดยืน เดินไป หยุดยืน เราเดิน เสียงนั้นก็เงียบ เรายืนเสียงนั้นก็ร้องขึ้น แต่ใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามา ผู้ข้าฯ ก็รู้สึกว่าใกล้ตัวมันเข้าทุกที ไปยืนอยู่ก้อนหินที่ปัดกวาดวางผ้าเวลาอาบน้ำริมน้ำ มันก็ร้องขึ้นมันเดินลงมาแต่ทางปลายห้วย เราก็ยืนนิ่งอยู่ “ก๋อย ๆ ๆ กองก๋อย ๆ ก๋อย ๆ ๆ” มันมาอยู่ใกล้ ก้มเงยๆ พลิกก้อนหิน ก้อนน้อยก้อนใหญ่หากินปูกินเขียด ก้อนหินใหญ่ขนาดกับกระด้งฟัดข้าวมันยกพลิกได้สบาย ยกขึ้นแล้วก็วางลงที่เก่า ตระครุบกินปู กินเขียด จับได้ก็ยัดเข้าปากจับได้ก็ยัดเข้าปาก ตัวมันใหญ่ขนาดเด็กน้อยมาวัด (ขนาดสูง ๑.๑๐ – ๑.๓๐ เมตร ตัวผอมบางอายุ ๙ – ๑๐ ปี อยู่ชั้น ป.๕) แต่มันแข็งแรงมาก ยกก้อนหินใหญ่ๆได้สบาย มันมาใกล้ราวๆ ๕ เมตร ผู้ข้าฯก็เปิดไฟฉายส่องไปที่ตัวมัน มันก็ตกใจยืนจังงังอยู่ สายตามันหลบไฟ ดวงตาไม่กระพริบ มันคงเข้าใจว่าเป็นสัตว์ที่จะเป็นอาหารมันก็ได้ ตัวมันผอมสูง หัวน้อย มือตีนใหญ่ แขนขาลีบ ขนทางบนหัวมันยาวปกหน้าปกตาแซมแซะอยู่สีแดงพอกะจ๋า จะว่าเป็นลิงเป็นค่างก็ไม่ใช่จะว่าเป็นคนก็ไม่เหมือนคนเท่าใด ตาไม่กระพริบ แยกเขี้ยวแยกฟัน เขี้ยวฟันมันแหลม ดูท่าทางเป็นผีกองก่อยตัวแม่เพราะมันมีนมเป็นแผงเรียงลงมาแต่อกเหมือนกับแผงนมหมา ยานพอแตบแซบ เดินเข้ามาหา ผู้ข้าฯ ก็ร้องว่า “มามึงจะเอาอะไรกันอีนี่ อีผีใจบาป” ว่าแล้วเราก็ปิดไฟฉาย แล้วก็เปิดไฟฉาย ปิดเปิด ๆ อยู่ตัวมันก็กล้า ๆ กลัว เราก็ว่า “เอามันอีนี้” ทำท่าจะต่อสู่มัน มันก็กลัวหันหลังกลับวิ่งหนีขึ้นไปทางมันมา ร้องไห้เสียงก๋อยๆไปสุดเสียง ผู้ข้าฯ ก็กลับไปที่กลด สุมไฟแล้วก็เข้ามุ้งกลด ไหว้พระแล้วก็นั่งภาวนาอยู่จนดึกแล้ว ก็หลับนอน นอนหลับไปจนใกล้แจ้งแล้วก็ลุกมาสุมไฟ ไหว้พระลุกไปเดินจงกรม แล้วมานั่งภาวนา จนแจ้งลงไปล้างหน้าล้างตาไปสังเกตดูก้อนหินที่มันยกทำไมมันจึงยกได้ ตัวน้อยด้วยผอมขนาดนั้น เราลองไปยกก้อนหินนั้นดูก็ไม่ติงไม่หนิงไม่ขยับเลย เดินสำรวจดูก้อนหินตามลำห้วยก็เห็นอยู่หลายก้อนที่มันยกขึ้นแล้ววางลง หากไม่ใช้การสังเกตไม่รู้ได้หรอก จากนั้นก็ลงไปบิณฑบาตกับพวกปางเลี้ยงงัวเลี้ยงควาย พวกที่มาทำที่พักให้แต่เมื่อวานนี้หล่ะ พวกเขาก็ฟ่าวด่วนมาถาม “เป็นจะได๋ ท่านเอ๊ยเมื่อตะคืนนี้” “หลับสบายดี” “หลับได้แต้ก๋า” “อือ” “ท่านบ่หันอะหยังก๊อ” “เห็นผีก้องกอยซะม้อยดงตัวหนึ่ง” “ไค่ย้าน – ท่านบ่กลัวหรือ” “อือ” เขาก็นิมนต์ให้ฉันเลยเพราะเขาเตรียมจังหันไว้แล้ว เขาว่า “ไม่ต้องใส่บาตรก็ได้ให้นิมนต์ฉันเลยจะได้ไม่ต้องล้างบาตร” เราก็ว่า “เป็นธรรมเนียมของพระป่าบ้านนอกต้องใส่บาตรฉัน” พวกเขาก็ยอม เราก็จัดอาหารใส่บาตรแล้วเราก็ให้พร จบแล้วก็นั่งฉันจนอิ่ม ปลาปิ้ง น้ำพริกผักลวก อิ่มแล้วพวกเขาก็กินกัน เขาคุยกันว่า สองคนจะไปทำที่พักให้ อีกคนให้เฝ้างัวเฝ้าควาย สามเจ้า งัว ๑๘ ตัว ควาย ๓๐ ตัว เขาทำคอกหลักเสาไม้แก่นหล้อนฝังอืบหนามไผ่จนรอบ แม้ประตูคอกก็เอาหนามอืบปักไม้ยันไว้ข้างใน ปางที่พักของพวกเขา ก็ติดกับคอกควาย ยกสูงจนพ้อว้อกะไดไม้เกินเกือบสุดลำไม้ไผ่ เขาว่า เสือมักจะมาวนเวียนอยู่เสมอ ธรรมะประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 18, 2015, 12:32:31 PM (http://www.kammatan.com/gallary/images/20150718123211_11665665_841660675924906_7560215742430995648_n.jpg)
หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 08, 2015, 07:17:05 PM ๗๓.) ปีหนึ่งขึ้นไปภาวนาอยู่แม่เจดีย์ ตำบลแม่ขะจาน อำเภอเวียงป่าเป้า เชียงราย พระธาตุแม่เจดีย์ เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) เคยไปพักอยู่มาก่อน เจดีย์ยังมีพระธาตุอยู่ ถามชาวบ้านเขาว่าเก่าแก่มาก มีครูบาเฒ่าองค์หนึ่งอยู่อำเภอเวียงป่าเป้า เชียงราย เขาว่าอายุมากแล้วได้เก้าสิบปีปลาย เป็นพระเมืองเหนือโบราณมหานิกาย บวชแล้วบำเพ็ญเนกขัมมะ รักษาศีล ภาวนาของตนอยู่วัด ครูบาศรีวิชัยยังไปเรียนวิชชาอยู่ด้วยแต่ไม่ได้สอนอะไรให้ ให้ตั้งใจเจริญในอิติปิโสฯ สวากขาโตฯ สุปฏิปันโน ครูบาเฒ่าองค์นี้ได้วิชชาหลายอย่าง เช่นว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง มดง่ามหมู่มากพากันหามแมงแสนตีนเลาะมาข้างอุโบสถ ท่านก็ร้องบอกให้เณรไปดูว่า “ เสียงอะไรใครแห่หามอะไร เสียงอึกทึกสนุกสนานมาข้างอุโบสถไปดูทีเต๊อะ ”
สามเณรตลอดคนวัดพากันไปดูก็ไม่เห็นว่ามีใครมาทำอะไร สองรอบ สามรอบเทียวไปมาไม่เห็นว่ามีใครมาทำอะไร ครูบาเฒ่าก็เลยบอกว่า “ พวกสูไปดูใหม่เต๊อะ มดง่ามมันได้แมงแสนตีน มันพากันหามแห่ไปบ้านเรือนรังของมัน มันร้องบอกกันว่า ได้แล้วของอยู่ของกินเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน พวกสูอยากได้บุญก็เอาข้าวไปแบ่งให้มันหน่อยเต๊อะ ทานให้เดรัจฉานพระเจ้า (พระพุทธเจ้า) ก็ยังว่าได้บุญได้กุศล ” สามเณรพระภิกษุคนวัดพากันไปดูก็ปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริง อีกครั้งหนึ่งชาวบ้านเขาจะเอาควายไปฆ่า จูงมาผ่านวัดของครูบาเฒ่า ควายมันก็ร้องขอชีวิต “ ครูบาเจ้า ช่วยผมหน่อยเถอะ ” “ ครูบาเจ้า ช่วยผมหน่อยเถอะ ผมยังไม่อยากตาย ” ครูบาเฒ่าก็ลงจากกุฎิไปดักรอข้างหน้าอยู่ข้างวัด หมู่คนที่จะเอาควายไปฆ่าก็มาพอดี ครูบาเฒ่าก็สะพายบาตร ยืนดักหน้าอยู่ “ โอ๊ะ...ครูบาเจ้าจะเยียะอะหยังหือ ” “ บิณฑบาตจะเอาอะหยัง เที่ยงบ่ายแล้วหนา ” “ เอาพวกสู และควายของสู ” ในขณะนั้นก็ถกเถียงหักล้างกันอยู่พักใหญ่ๆ ที่สุดชาวบ้านพ่อค้าเนื้อควายก็จนมุม ยอมถวายควายถึกตัวผู้ใหญ่ลักษณะงดงาม ตัวนั้นถวายไว้ให้แก่วัดได้ใช้งานสำหรับลากฟืน หมู่พวกพ่อค้าควายก็กลับบ้านไป จนเป็นที่โจษขานกันว่า หากใครจะค้าวัวค้าควาย หรือ ค้าสัตว์ใดๆ อย่าได้ผ่านไปทางวัดครูบาเฒ่าเด็ดขาด ควายถึกตัวนั้นก็อยู่วัดจนแก่ชราแล้วก็ตาย พอตายแล้วเขาก็เอาเขาอันยาวพร้อมหัวนั้นมาทำเป็นราวจุดเทียนในอุโบสถ มีคนเขามาเล่าให้ฟังว่า ควายตัวนั้น ตายก่อนครูบาเฒ่า แล้วชาวบ้านเขาก็เอาเชิงเทียนหัวเขาควายนั้นมาตั้งจุดเทียนบูชาหน้าหิ้งหน้าโลงศพของครูบาเฒ่าเป็นอนุสรณ์ ครูบาเฒ่าเล่าว่า “ ควายตัวนี้เป็นควายโพธิสัตว์ มาแต่สวรรค์มาเกิด ตายจากควายตัวนี้ก็จะไปเกิดอยู่สวรรค์ แล้วมาเกิดเป็นคนได้บวชแต่น้อย แล้วก็ตายไปอีก เวียนว่ายตายเกิดต่อไปเมื่อหน้าจะได้เป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง ” ครูบาเฒ่าตนนี้ ข้าฯ ก็ไม่ได้ไปพบปะ แต่โยมเขามาเล่าให้ฟัง เขาว่า เดี๋ยวนี้เขาควายเชิงเทียนนั้นยังอยู่ ถ้าจะไปดูก็จะพาไป กู่เจดีย์ครูบาเฒ่าก็ยังอยู่ ครูบาเฒ่าตนนี้ฉันแต่ผักลวกกับน้ำพริก ถ้าเป็นปลาก็ต้องเป็นปลาแห้งมาตำมาป่นเป็นน้ำพริกจิ้มกินกับผักลวก อายุมากขนาดนั้นฟันไม่หลุดไม่หล่น ผมขาวทุกเส้น ๒๗๔.) อันนี้ก็มีครูบาอีกคนหนึ่งอายุมากเหมือนกัน แต่องค์นี้อยู่อำเภอสะเมิง องค์นี้เรียนกสิณ จนได้กสิณฌานหลายอัน ตื่นเช้ามาก็จะไปบิณฑบาตทางเชียงราย บางวันก็ไปเชียงแสน บางวันก็มาเชียงใหม่ เมื่อผู้คนเขาถามว่า “ ท่านอยู่วัดใด๋ ” “ อยู่วัดโน้น ” ท่านตอบพร้อมชี้มือไปข้างหลัง ทีนี้คนเชียงแสนเขาต้องการจะจับว่าครูบาเจ้าตนนี้อยู่ที่ไหนกันแน่ เพราะกิริยาอาการท่าทางสมณสารูปไม่เหมือนกับพระสงฆ์ทั่วไป อีกทั้งผิวพรรณวรรณะก็แตกต่าง เขาก็เอามะพร้าวแห้งมาปลอกเปลือกกาบออกแล้วขัดขูดทำเป็นถ้วย ๒ ใบ ให้ประกบกันเข้าได้พอดี เมื่อท่านมาบิณฑบาตเขาก็ใส่ข้าว แล้วเอากับใส่ถ้วยกะลามะพร้าว ถวายใส่บาตร พร้อมบอกว่า “ นิมนต์ครูบาเจ้า อย่าได้ทิ้งถ้วยใบนี้ขอให้เก็บไว้ ” หมู่ญาติโยมที่ตกลงใจกันว่าจะสืบเสาะหาที่อยู่ของครูบาเฒ่าตนนั้นก็ทำอย่างเดิม เป็นถ้วยทั้งหมด ๓ ชุด ถวายจังหันใส่บาตรครูบาเฒ่าองค์นั้นไป จากนั้นก็พากันแยกย้ายกันเสาะหาไปตามวัดต่างๆ ถามต่อกันไปเรื่อยๆ ว่าครูบาเฒ่าตนหนึ่งมีลักษณะอย่างนี้ๆ ใครพบเห็นที่ใด เสาะหาไปเรื่อย คนเขาบอกว่ามีองค์หนึ่งเข้าลักษณะอยู่ทางอำเภอสะเมิง ก็พากันไปเสาะหา ไปพบไปเห็นท่านกวาดวัดอยู่ หมู่คนที่ไปก็ทำท่าไปค้าไปขายผ่านมาจึงมาขอพักที่วัด พักอยู่กับครูบาหลายวันจนคุ้นเคยกัน สังเกตได้ว่าบางวันตอนเช้ามืดก็เห็นท่านออกไปบิณฑบาต บางวันก็อยู่ในกุฎิไม่ออกมา แต่พอสายๆ ท่านก็เอาอาหารบิณฑบาตมาแบ่งให้ฉัน สังเกตดูอาหารไม่ใช่เป็นอาหารของชาวบ้านในแถบนั้น แต่ก็ไม่ว่าอะไร ทำความคุ้นเคยจนสามารถเข้าไปกุฎิของท่านได้ ได้โอกาสเขาก็เอาถ้วยกะลามาประกบกันดูทั้ง ๓ ชุด ปรากฎว่าเข้ากันได้ทุกชุดทุกอย่าง จากนั้นชาวเชียงแสนก็กราบเรียนท่านตามความจริงว่า มาเสาะหาครูบาเจ้านี้ได้เดือนปลายแล้วจึงเห็น ขอถ้วยกลับคืน พอกลับไปถึงเชียงแสนก็ประกาศบอกกันว่า “ เห็นแล้วครูบาเจ้าตนนั้นอยู่อำเภอสะเมิง ” “ มีฤทธิ์ มีกสิณฌานจริง ซานเหาะมาบิณฑบาตบ้านเมืองเราก็มาได้ ให้คิดดูเถอะไกลแสนไกลยังมาบิณฑบาตได้ทันเช้า เมื่อรู้จักกันกว้างขวาง ผู้คนก็แตกตื่นมากันมาทำบุญให้ทานกับครูบาเฒ่าตนนั้น คนเมืองเชียงแสน เรียกชื่อว่า “ ครูบาเจ้ากะลา ” พระเมืองเหนือองค์ที่รักษาธรรมวินัยของพุทธะไว้ได้ดีก็ได้ดีจริง องค์ที่ไม่สนใจอันใดก็มีมาก เหมือนกันกับพระอีสาน จะหาใครได้เพิ่นครูอาจารย์เสาร์ (กนฺตสีโล) เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) นั้นไม่ได้สักคน มีแต่คนอวดอ้างประกาศตนหาโลกหาลาภไปตามเรื่อง ๒๗๕.) ออกจากเวียงป่าเป้าก็ลัดดงลัดป่าไปคนเดียว ตกระกำลำบากไปเรื่อย จนลุถึงแม่ขะจาน อำเภอวังเหนือ จนไปถึงเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูนลงไปถึงลำปาง ไปเทศน์ธรรมสอนผู้คนอยู่ป่าช้าทางเข้าเมืองลำปาง เขานิมนต์ให้อยู่ในป่าช้า ทำที่พักหลับนอน ทำทางจงกรมให้ พอเราเดินทางผ่านบ้านของเขาแล้วก็ร้องขอนิมนต์ให้อยู่ด้วย มีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้า มีบุพพกรรมอะไรสักอย่างล่ะพอเห็นหน้าเราแล้วก็มายินดีพอใจด้วยกับเราออกมารับบาตรรับกลดพาไปส่ง ถากถางที่พักค้างคืนให้ ขอให้เราอยู่เทศนาสั่งสอน เราก็บอกว่าจะขออยู่ชั่วคราวเท่านั้นน่ะ แต่พอเทศน์ธรรมบอกสอนให้เขาทำความดีเท่านั้น ที่นี้ผู้คนก็แห่แหนหลั่งไหลเฮโลกันมาเป็นหมู่ๆ จ้างเหมารถมาฟังเทศน์ธรรมพวกที่มาส่งจังหันก็มากัน พวกที่เอาข้าวของมาให้ทานก็มาก เราอยู่คนเดียวก็ใช้นิดหน่อยส่งเข้าไปในวัดบ้าน อีกทั้งให้โรงเรียนให้วัดอื่นใกล้เคียงกันแบ่งแจกจ่ายกันไป ไม่ใช่มาน้อยๆวันหนึ่งมากันมากเป็นหลายร้อย ทั้งพวกเจ้าหน้าที่ทางการ พวกคณะครูโรงเรียนนักเรียน พวกโรงพยาบาลพวกพระมหานิกาย ก็มาฟังกันมาก ภิกษุเจ้าถิ่นเขาก็ไม่เบียดเบียนอิจฉา แรกๆ ก็เทศน์อยู่ป่าช้า ต่อมาเขาก็นิมนต์ไปเทศน์ตามที่ต่างๆ เดี๋ยว พวกตำรวจ เดี๋ยวพวกโรงเรียนเดี๋ยวพวกโรงพยาบาล เดี๋ยวพวกอำเภอ ตั้งเทศน์กันเป็นก๊กๆ หลายหมู่หลายคณะ ต่อจากนั้นก็เป็นพวกต่างอำเภอ พวกในตัวเวียงนครก็แห่กันออกมาเป็นเพราะเหตุอัศจรรย์อะไรไม่รู้ได้ ผู้ข้าฯ ก็เทศน์ธรรมชี้แจงดีชั่วบุญบาปไปตามเรื่องปกติ มีนิทานธรรมบทแทรก ยืนหลักไว้คือคาถาทศชาติ แต่ก็ปรากฏเป็นที่อัศจรรย์ใจยิ่งก่วานั้นก็คือในขณะเราหลับตาสาธยายเทศน์ธรรมอยู่นั้น ปรากฏเหมือนกับฝนเม็ดฝนตกโปรยปอยลงมาตลอด เริ่มตั้งแต่ตั้งนะโม ยกบาทพระคาถาจนลงท้ายให้พรตบท้ายเทศน์ระยิบระยับเป็นเกล็ดเป็นผลึกเหมือนกับเพชร เหมือนกับพลอย เหมือนกับแก้ว โปรยปรายลงมา ถึงพื้นแผ่นดินแล้วก็หาย ผู้คนมากมายขนาดนั้นนั่งแวดล้อมตัวเราอยู่ได้รับอานิสงส์นี้หมดทุกคน เป็นอยู่อย่างนั้นทุกวัน ศรัทธาญาติโยมก็หน้าตาเยือกเย็นแจ่มใส วัตถุไทยธรรมกัณฑ์เทศน์เราก็สละให้กับพวกพระวัดต่างๆ แบ่งไปตามโรงพัก โรงพยาบาล โรงเรียน ไม่เก็บสะสมไว้กับตัว นับว่าเราผู้เทศน์ก็ได้อานิสงส์ ผู้ฟังเขาก็ได้ความรู้ความฉลาดในเชิงอรรถภูมิธรรม รู้จักทาน ศีล สมาธิ ได้ปัญญา ได้ทำการบำเพ็ญบุญญาบารมีของตน พรรษาที่ ๑๓ ออกพรรษาแล้วก็ไปล่องแก่งน้ำตก ไปอยู่ถ้ำพระเมืองเชียงราย ไปอยู่เชียงแสน เดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เดือนอ้าย เดือน ๒ ข้างแรม จึงมาอยู่ป่าช้า ลำปาง อยู่เทศน์ธรรมอยู่จนเดือน แปด ๑๒ ค่ำ ใกล้เข้าพรรษาแล้วท่านพระครูธรรมาภิวงศ์ วัดเชตะวันก็ส่งรถมารับ เพราะเพิ่นให้ลูกศิษย์มานิมนต์ไว้แต่ออกใหม่ เดือน ๗ ว่าจะให้เข้าไปเทศน์ธรรมในอุโบสถวันพระ สอนพระเณร ผู้คนให้ได้นิสสัยกรรมฐานบ้าง #คัดจากธรรมประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญฺโญ : กลับเมืองเหนือเครือคร่าววัยธรรม หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 05, 2016, 07:56:54 AM อันนี้แปลว่าชีวิต จิตใจมันคิดอ่านอย่างนี้ตลอดกันไป
ท่านเรียกว่าบุญมันน้อย เลยไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้า ท่านมีคุณสมบัติอย่างใด เพราะมัวหลงอยู่ในของพวกนั้น...... โอวาทธรรมองค์หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ผู้มากมีบุญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (วัดป่าบ้านห้วยทราย) บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙ กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุกๆท่านครับ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.คำชะอี จ.มุกดาหาร เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 22, 2016, 09:34:07 PM อย่าถามว่า “ หลวงปู่สบายดีไหม ”
ให้ถามว่า “ พอทนได้อยู่หรือ ” ก็มันมีอะไรพาให้สบายหรือไม่ในโลกนี้ กินก็ทุกข์ กินเกินไปก็ทุกข์ ถ่ายเกินไปก็ทุกข์ นั่งเกินไป นอนเกินไป ยืนเกินไป เดินเกินไป ก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น นุ่งห่ม หยูกยา ข้าวน้ำคาวหวานที่อยู่หลับนอน ทุกข์ทั้งหมด ใครทนได้ดีก็พอได้สุขบ้าง ใครทนไม่ได้ก็ได้ทุกข์... โอวาทธรรมองค์หลวงปู่จาม มหาปุญโญ ผู้มากมีบุญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม (วัดป่าบ้านห้วยทราย) บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุกๆท่านครับ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.คำชะอี จ.มุกดาหาร เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 22, 2016, 02:01:06 PM (http://www.kammatan.com/th/wp-content/uploads/2016/11/15178109_1212612558828421_3993075437107759968_n.jpg)
"...ทวีปใหญ่ทั้ง ๔..." “...ทวีปใหญ่ทั้ง ๔ เราทุกคนไปเกิดไปตายมาแล้ว เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรา แต่การบำเพ็ญบารมีนั้นทำได้มากเฉพาะในโลกชมพูทวีป (๑) คือ โลกของเรานี้เอง (๒) อุตตรทวีป อยู่ทางทิศเหนือห่างจากโลกเราออกไป อยู่ใกล้โลกเรากว่าทวีปอื่น ผู้คนใบหน้ารูปเหลี่ยม ผอมสูง น้ำในแม่น้ำทั้งหลายออกสีเหลือง ไม่ใช่เหลืองขุ่นแต่เหลืองเหมือนสีน้ำผึ้งสด ดวงตาของเขาออกสีน้ำเงินเข้มกว่าสีฟ้า มีศีล ๕ ประจำใจทุกคน ผู้คนอยู่ดี กินดี ภูมิแผ่นดินอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้ใหญ่ตรงตั้งสระน้ำมีบัวบานอยู่เป็นนิจ แผ่นดินราบเรียบเป็นน้ำเป็นคลอง เป็นบึงก็เป็นสัดส่วน ทวีปนี้พระโมคคัลลาน์เถระเจ้า เคยไปบ่อย ไปบิณฑบาตเอาผลไม้มาถวายพระสงฆ์สามเณร (๓) บรุพวิเทหทวีป อยู่ตรงทิศตะวันออกไกลออกไปหากวัดระยะอยู่ไกลอันดับ ๓ จากโลก... ผู้คนหน้ากลม กายต่ำ ล่ำสัน ใช้ผ้าหมอกหมอง อายุ ๑๐๐ ปี ต้นไม้สูงต่ำอย่างโลกเราขึ้นเป็นแถวเป็นแนว ตายแล้วเกิดขึ้นแทนที่เหง้าเดิม แม่น้ำลำคลองสีขุ่นเหมือนน้ำแม่น้ำฝนตกใหม่ น้ำหลากหลายสายน้อยใหญ่แต่ไม่ลึก ผู้คนเคารพกันตามลำดับญาติ มีนายบ้าน มีผู้ครองนคร อ่อนน้อมถ่อมตนดีมาก (๔) อมรโคยนทวีป อยู่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไกลจากชมพูทวีปโลกเราที่สุด ผู้คนงดงาม ใบหน้ารูปไข่ ผิวสีเหลือง อายุขัย ๔๐๐ ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ แม่น้ำเป็นเกาะเป็นแก่งเป็นดอน มีการปกครองหลายเมือง เมืองหลวง เมืองใหญ่ เมืองน้อย หัวเมือง หมู่บ้าน ผู้คนมีหิริ โอตตัปปะ ทวีปนี้ท่านอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม ว่า “เคยไปเห็นอยู่” ”... ธรรมะประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ ผู้มากมีบุญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของภาพถ่ายนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุกๆท่าน (http://www.kammatan.com/th/wp-content/uploads/2016/11/15134738_1212612595495084_6466024966047460413_n.jpg) หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม ต.คำชะอี จ.มุกดาหาร เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 15, 2016, 10:07:50 AM คบสมภารชวนขึ้นชั้นฟ้า
คบพ่อค่าอายุยืนหมื่นปี คบลัชชีตายวันนี้พรุ่งนี้ คบลูกคบหลานพานอยู่ในโลก อะไรก็ตามเถอะหากรู้จักตนเอง รู้ตัวเองแล้วมันมีหนทางแก้ไขได้ ปลดเปลื้องได้เป็นแต่รู้ตัวแล้ว แต่ไม่แก้ไขตัวเองด้วยตนเจ้าของเองนั้นละมันจึงทุกข์ คัดจากหนังสือ โพธิ์พระเบื้องพุทธบาท ( มหาปุญฺโญวาท ๕ ) |