KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน => ประวัติของพระอริยสงฆ์ สาวกที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รวมทั้งปฏิปทาในการปฏิบัติ => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 25, 2013, 11:32:02 PM



หัวข้อ: ประวัติและปฏิปทาในการปฏิบัติของ หลวงปู่หลุย จันทสาโร “พระอริยสงฆ์ผู้ม้างกายจนจิตบริสุท
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 25, 2013, 11:32:02 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20130601051412_luangpu_louis.jpg)

วันนี้วันพุธที่ ๒๕ ธันวาคมเป็นวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑ ตรงกับวันคล้ายวันมรณภาพของหลวงปู่หลุย จันทสาโร
“พระอริยสงฆ์ผู้ม้างกายจนจิตบริสุทธิ์” ครบ ๒๔ ปี

หลวงปู่หลุย จันทสาโร แห่งวัดถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ศิษย์ ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต องค์ท่านมีหลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นสหธรรมมิก องค์ท่านมักสอนเรื่องการม้างกาย
ให้บรรดาศิษย์ได้พิจารณา เช่น “รู้แจ้งอวัยวะของร่างกายยิ่งกว่าเก่า ละเอียดกว่าเก่า ด้วยไตรลักษณ์ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา
ขยายธรรมะรู้ทั่วไป ระงับนิวรณ์ได้ รู้เองเห็นเอง เป็นปัจจัตตัง ปฏิภาคและวิปัสสนาผสมกัน แต่วิปัสสนามากกว่าสมถะ”
และให้หมั่นพิจารณาความตายให้เนืองๆ “พิจารณาการตาย เกิดสะกิดใจว่าจะต้องตายง่าย อายุไม่ยืนนาน บอกมาเรื่อยๆ
เริ่มความเพียรมากก่อนตาย เพื่อให้ชำนิชำนาญ เพื่อเข้าจิตสู้การตาย ข้อนี้สำคัญมากกว่าอย่างอื่น” จึงขอน้อมนำประวัติย่อ
และปฏิปทาหลวงปู่หลุย เพื่อน้อมมาเป็นสังฆานุสสติ และ มรณานุสติ ครับ

หลวงปู่หลุย ท่านถือกำเนิด ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๔ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ณ ต.กุดป่อง อ.เมือง จ.เลย
เดิมทีในตอนเด็กท่านชื่อ “วอ” เมื่ออายุ ๗ ขวบ ท่านมองดูสายน้ำที่ไหลไปไม่มีวันกลับ ท่านคิดพิจารณาเทียบชีวิตคนที่ล่วงตายไป
 ไม่มีวันกลับคืนได้เหมือนสายน้ำ จึงภาวนาโดยอาศัยสายน้ำเป็นอารมณ์ เมื่ออายุ ๙ ขวบ จิตท่านตกภวังค์
นิมิตเห็นแสงสว่างคล้ายสีรุ้ง ท่านชอบพระกรรมฐาน และการออกบวชอย่างมาก แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ท่านต้องการประชดมารดา
 ที่ไม่ให้ท่านเรียนหนังสือต่อ จึงหันเหมานับถือศาสนาคริสต์อยู่ ๕ ปี จนคุณพระเชียงคาน
ลุงของท่านให้ชื่อท่านว่า “เซนต์หลุย” หรือ “นักบุญหลุย” ท่านมีชื่อ “หลุย” มาด้วยประการ ฉะนี้ การที่ท่านอาศัยอยู่ที่
อ.เชียงคานซึ่งติดกับแม่น้ำโขง มีการติดต่อกับฝรั่งฝั่งลาว และการคลุกคลีอยู่กับการจัดอาหารเลี้ยงบ่อยๆ
นั้นทำให้ท่านได้เห็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมากมาย บังเกิดความสังเวชสลดใจ จึงออกจากศาสนาคริสต์
กลับมานับถือศาสนาพุทธดังเดิม และตั้งใจบวชอุทิศแผ่เมตตาให้กับชีวิตสัตว์ ท่านอุปสมบท
ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ ณ อ.แซงบาดาล จ.ร้อยเอ็ด

จากนั้นได้เจอพระกัมมัฏฐาน เป็นครูบาอาจารย์รูปแรกของท่าน คือ ท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ จึงได้ศึกษาข้อวัตร
และเห็นปฏิปทาแนวทางปฏิบัติที่เคร่งครัด แล้วได้ติดตามไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตตามลำดับ
จึงเกิดศรัทธาปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังตามครูบาอาจารย์ของท่าน หลวงปู่หลุย ท่านญัตติเป็นพระธรรมยุติ
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๘ พร้อมกับหลวงปู่ขาว อนาลโย โดยหลวงปู่หลุย เป็นนาคขวา บวชก่อน ๑๕ นาที
เมื่อเวลา ๑๓.๐๘ น. ส่วนหลวงปู่ขาว เป็นนาคซ้าย โดยมี พระธรรมเจดีย์(หลวงปู่จูม พันธุโล)
เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ท่านพระอาจารย์บุญ ปัญญาวุโธนั้นหมดสิ้นอาสวกิเลส ณ ถ้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี ท่านรูปร่างงาม ขาว สูงใหญ่
และกิริยานิ่มนวล “เดินตามฟากไม่ดังเลย” เหมือนกิริยาของแมว ได้พาหลวงปู่เที่ยววิเวกไปตามภูเขาต่างๆ ในเขตภูพาน
ซึ่งอุดมด้วยถ้ำ เงื้อมหินมากมาย รวมทั้งที่พระบาทคอแก้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคายด้วย ระหว่างที่อยู่ที่วัดป่าหนองวัวซอ
ก็พากลับไปวิเวกที่วัดพระบาทบัวบก อ.บ้านผือ ซึ่งท่านได้พบท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เป็นคำรบแรก
ณ ที่นั้นการอยู่กับท่านพระอาจารย์บุญนี้ ทำให้หลวงปู่หลุย
สามารถเรียนรู้วิธีการปฎิบัติอุปัฎฐากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่อย่างคล่องแคล่วว่องไว

ได้พบและจำพรรษากับกัลยาณมิตร ณ ที่วัดป่าหนองวัวซอนี้ หลวงปู่หลุยเล่าว่า เป็นที่ซึ่งท่านได้พบและจำพรรษากับกัลยาณมิตร ๒ องค์ กล่าวคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม สำหรับหลวงปู่ขาว นับแต่ที่ได้บวชเป็นคู่นาคกันแล้ว เป็นการพบกันครั้งแรก แต่สำหรับหลวงปู่ชอบนั้น ท่านเล่าว่า เคยพบกันมาก่อนแล้วระหว่างธุดงค์อยู่ตามป่าเขาแถบจังหวัดเลย อันเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิดของท่านทั้งสอง แต่ครั้งยังเป็นพระน้อยเพิ่งเริ่มบวช การมาอยู่จำพรรษาด้วยกันทั้ง ๓ องค์ ในพรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๗๓ ทำให้ชอบอัธยาศัยและใกล้ชิดถูกนิสัย แลกเปลี่ยนธรรมสากัจฉาเป็นกัลยาณมิตรเอื้อเฟื้อต่อกันตลอดมา

ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ พรรษาที่ ๑๑ หลวงปู่หลุย ท่านได้มาพบสถานที่อันเป็นมงคลแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น วัดภูริทัตตถิราวาส หรือวัดป่าบ้านหนองผือ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสำหรับผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐานไปทั่วประเทศ ในฐานะที่ พระคุณเจ้าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ บิดาแห่งพระกัมมัฏฐาน ได้จำพรรษาอยู่ ณ ที่แห่งนั้นเป็นเวลาถึง ๕ พรรษาติดต่อกันโดยท่านไม่เคยจำพรรษาอยู่ ณ ที่ใดนานเช่นนั้นมาก่อน ในระหว่างที่ท่านเริ่มมาสร้างวัดป่าบ้านหนองผือ ท่านก็ไม่ได้ทำเสนาสนะเป็นกุฏิ วิหารใหญ่โตอะไรนัก เพียงแต่ปลูกกระท่อมมุงหญ้าอยู่เท่านั้น อยู่ถึงเกือบ ๒ ปี แล้วมาอยู่ปีหลังก็มาซ่อมแซมเพื่อว่าครูบาอาจารย์เข้ามาอยู่ได้โดยสะดวก ปี ๒๔๘๗ นั้น ท่านเริ่มเตรียมจัดทำกุฏิที่หลวงปู่มั่นอยู่ โดยจะขออนุญาตหลวงปู่มั่นอยู่ปีหนึ่ง ท่านไม่ได้เป็นคนขอโดยตรง แต่อธิบายให้ชาวบ้านมาขออนุญาต กราบเรียนว่า ขอสร้างกุฏิหลังหนึ่งเป็นหลังสุดท้าย พวกชาวบ้านก็เตรียมของมาพร้อม ขอก็ขอไป แต่หลวงปู่มั่นก็ไม่อนุญาต หลวงปู่มั่นไม่อนุญาตให้สร้าง ก็มากราบเรียนหลวงปู่หลุยว่าจะทำประการใด ท่านก็บอกว่า ให้รอไปก่อน แต่ปฏิบัติตัวให้เป็นคนดี ให้หลวงปู่มั่นเพิ่นเห็นใจ ให้แอบกระซิบสอนไว้ เวลาใส่บาตรก็ให้ขอ ลงมาชงน้ำร้อนถวายก็ให้ขอ ให้อ้างเหตุผลว่า “ขอสร้างกุฏิ ด้วยถือว่าเพิ่นชราภาพแล้ว ขอให้เพิ่นพักบ้าง ที่ต้องอยู่รุกขมูลร่มไม้ ชาวบ้านแสนจะสงสาร”

พวกชาวบ้านได้ฟังก็เชื่อฟัง ครั้นหลวงปู่มั่นเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านก็คุกเข่าอ้อนวอนขอสร้างกุฏิถวาย เอาน้ำร้อนเอาของไปถวายก็อ้อนวอนขออีก บางคนขอแล้วน้ำจิตน้ำใจนั้นโน้มน้อมลงไปจริงๆ ถึงกับน้ำตาคลอ อ้างว่าสงสารพ่อแม่ครูจารย์นัก ที่ต้องอยู่รุกขมูลร่มไม้ ไม่ได้อยู่ด้วยความสะดวกสบาย ใคร่จะขออนุญาตสร้างกุฏิถวาย ถึงองค์ท่านไม่เห็นแก่องค์เอง แต่ก็โปรดให้เห็นแก่พวกขะน้อยจะได้บุญได้กุศลบ้าง ชาตินี้พวกขะน้อยมีวาสนา ท่านมาโปรดอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ท่านผู้ที่มีคุณธรรมวิเศษได้มาถึงปานฉะนี้แล้ว ยังไม่ให้โอกาสได้ทำบุญเลยกระนั้นหรือ ขอท่านได้โปรดกรุณาเมตตาแก่พวกขะน้อยทั้งหลายด้วย ขอไปน้ำตาก็คลอไป แถมบางคนถึงกับร่วงพรูลง สุดท้ายหลวงปู่มั่นก็คงจะทนสงสารเมตตาไม่ไหว เห็นว่าดื้อขออยู่ตลอดเวลา จึงอนุญาตให้สร้างกุฏินี่ได้มา

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ยกย่องหลวงปู่หลุยว่า "เป็นผู้ทรงธุดงค์ธรรม ว่าด้วยความเป็นผู้มักน้อยสันโดษ หาผู้ใดยุคปัจจุบันเสมอได้ยาก" หลวงปู่หลุย ท่านเป็นผู้มีความเพียรกล้า อยู่ง่ายไปเร็ว ชอบท่องเที่ยวไปตามป่าเขา ไม่ติดสถานที่ ชอบอยู่ป่าและถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นศิษย์ที่เข้าใจในอัชฌาศัยของท่านพระอาจารย์มั่น เป็นอย่างดี สามารถนิมนต์ท่านพระอาจารย์มั่น เข้ามาอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านหนองผือได้ จนกลายเป็นสำนักกรรมฐานที่เลื่องชื่อ ผลิตพระอริยะเจ้าเข้าสู่ตลาดมรรคผลนิพพาน

หลวงปู่หลุย ท่านได้รับอุบายธรรมสำคัญจากสหธรรมิกเพชรน้ำหนึ่งคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย ด้วยอุบายธรรมแยบยลจากเพื่อนนี้เอง หลวงปู่หลุย จึงได้กล่าวว่า… "การภาวนาจะเป็นไปได้ด้วยดีนั้น นอกจากจะต้องมีครูบาอาจารย์ที่ดีแล้ว ก็ควรจะต้องมีกัลยานมิตรที่ดีด้วย"
หลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านถึงที่สุดแห่งธรรมด้วยวิชาม้างกาย ที่ถ้ำกกกอก อ.วังสะพุง จ.เลย ในพรรษาที่ ๔๐ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗
ท่านเร่งภาวนามาก ใจดำริมาเป็นเวลาหลายอาทิตย์ว่า พระอริยเจ้าทำสำเร็จ เราทำไมไม่สำเร็จ ธรรมก็มีอยู่ในตัวเราแท้
 พระอริยเจ้าทำสำเร็จ เราทำไมไม่สำเร็จ ให้อาหารแก่จิต ให้กำลังใจแก่จิต

การ “ม้างกาย” ที่ดำเนินมานาน หนักไปทางสมถะ ในระยะนี้ท่านก็ได้เดินวิปัสสนาควบคู่ไป เป็นการม้างกาย ที่ท่านเรียกว่า
“ม้างกายที่ฉลาด ม้างกายด้วยไตรลักษณ์” พยายามประหารกิเลสให้สิ้นไป จบไป
 ดังที่ท่านได้เขียนบันทึกไว้ในปีหลังๆ อธิบายความโดยสรุปว่า…

“ม้างกายให้ฉลาด ม้างกายด้วยไตรลักษณ์ ม้างอนุสัยให้ฉลาดทางจิตและเจตสิก รวมทั้ง ๒ ประเภท
แก้เกิดในไตรภพว่าเป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา โดยธรรม ๒ ประเภท ชำระกิเลสออกจากดวงจิตจนเห็นไม่ถือไปเกิดอีกในภพหน้า ม้วนกลมในปัจจุบัน พระอรหันต์ไม่ก่อกิเลสในปัจจุบัน ละกิเลสทั้งอดีต อนาคต ไม่ทำกิเลสเกิดขึ้นในปัจจุบัน เสียความสุขในปัจจุบัน กว่าจะนิพพานในครั้งสุดท้าย รอรถรอเรือ จะไปนิพพาน สิ้นภพ สิ้นชาติ ทำความรู้แจ้งแทงตลอดเญยยธรรมในปัจจุบันนี้ทีเดียว”

ปัญญาพาค้นคว้า ดำเนินไป จิตก็ตามไป หมุนเป็นเกลียวอย่างไม่หยุดยั้ง ลืมมืด ลืมแจ้ง ลืมวัน ลืมคืน บางเวลาจิตก็ม้วนกลมลงสู่จิตเดิม จิตหด แต่บางเวลาปัญญาหมุนติ้ว จิตเหินตามไป ที่สุดของจิตซึ่งท่านเคยคิดว่า อยู่แสนไกล ประดุจอยู่ปลายสุดสะพานรุ้ง ก็กลับเป็นดูใกล้ แทบจะเอื้อมมือถึงได้ บางเวลา เกิดปีติปลื้มคิดว่า นี่แหละ...นี่แหละ ถูกแล้ว...ใช่แล้ว

จิตกลับตกลงมาใหม่ เกิดสะดุดหยุดยั้งคิด เพียรซ้ำ เพียรซ้อน ล้มแล้วลุก...ลุกแล้วล้ม ล้มลุกคลุกคลานอยู่คนเดียว จิตที่ถูกทรมาน ลงแซ่กำราบมาอย่างหนัก สุดท้ายก็เหนื่อยอ่อน จิตวางจิตสงบ จิตไม่กำเริบ จิตคงที่ ไม่แปรไปตามสังขารจิต ไม่ขึ้นไม่ลง จิตเกษม ราวกับว่า สุดสะพานรุ้งนั้นจะพุ่งไปสู่อวกาศอันเวิ้งว้าง แล้วท่านก็ได้ลาจากบ้านกกกอกมาด้วยความระลึกถึงบุญคุณของสถานที่แห่งนี้เป็นที่สุด “จิตเคยว้าเหว่ บัดนี้จิตมีที่พึ่งแล้ว”

ปี พ.ศ.๒๕๑๐    ตรงกับพรรษาที่ ๔๓ ท่านมาสร้างวัดถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย และได้อยู่จำพรรษาถึง ๓๐ ปีเต็ม
ณ ถ้ำผาบิ้งแห่งนี้ หลวงปู่หลุย ท่านเล่าว่า... “ระยะแรกที่หลวงปู่มาวิเวกที่ถ้ำผาบิ้ง ท่านจะใช้เพิงนี้ บริเวณในถ้ำเป็นที่พัก
 ปากรู้ถ้ำทางขวาเป็นรูพญานาค วันดีคืนดีจะมีเสียงร้องคำรามมาจากภายในรูถ้ำนี้ และที่ถ้ำผาบิ้งเป็นที่พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล คือ
ท่านพระอุบาลีเหาะมาด้วยบุญฤทธิ์มานิพพานที่นี่ และท่านพระอาจารย์มั่นก็เคยมาจำพรรษา ณ ที่นี้เหมือนกัน สำหรับท่านผู้เป็นศิษย์รุ่นพี่ของหลวงปู่ที่มาเที่ยวธุดงค์ที่นี้นั้น ตามที่ปรากฏชื่อก็คือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่กล่าวว่า ถ้ำผาบิ้งเป็นสถานที่เป็นมงคลอย่างยิ่งนอกจากเป็นที่นิพพานของพระอรหันต์แล้ว ยังมีเทพรักษาสถานที่อย่างดี ระหว่างภาวนาจะได้กลิ่นดอกไม้หอมอยู่บ่อยๆ
เป็นการนอบน้อมบูชาของรุกขเทพที่ดูแลสถานที่..”

หลวงปู่หลุย ท่านได้เริ่มอาพาธหนัก โดยไม่อ้างกาลเวลา แม้อาพาธอย่างหนัก ยังปรารภปัจฉิมเทศนาเป็นครั้งสุดท้าย จวบจนเวลา ๒๓.๓๐ น. ท่านได้กล่าวว่าท่านประคองธาตุขันธ์ต่อไปไม่ไหว คงจะปล่อยวางแล้ว ขอเอาจิตอย่างเดียว และขอขอบใจที่พระเณรได้ช่วยกันอุปัฏฐากท่าน หากได้ล่วงเกินซึ่งกันและกัน ก็ขอให้อโหสิกรรมให้แก่กันและกันด้วย และมรณภาพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๒ เวลา ๐๐.๔๓ น.
 ณ โรงพยาบาลหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สิริอายุ ๘๘ ปี ๑๐ เดือน ๑๔ วัน พรรษา ๖๔

“..มนุษย์เป็นภูมิใหญ่ชั้นพิเศษ ได้ชื่อว่ามนุษย์เป็นฐานะที่เลิศ เป็นที่ที่ประชุมใหญ่ ให้ร้ายให้ดีก็เป็นชาติมนุษย์ อินทร์พรหม อบายภูมิ นรก
สู้มนุษย์ไม่ได้ มนุษย์มีฐานะอันเลิศ เลิศทั้งหญิง เลิศทั้งชาย มีอยู่ในชาติเป็นมนุษย์นี้ทั้งนั้น แม้ปรารถนาใดๆ สำเร็จได้ในชั้นมนุษย์
มนุษย์แปลว่า ใจสูง ใจกล้าหาญ ทำบาป ทำบุญได้ทั้งนั้น เพราะบุคคลเกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอย่างยิ่ง ทั้งพบพระพุทธศาสนายิ่งลาภใหญ่
ปฏิบัติมรรคผลนิพพานได้..” โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่หลุย จันทสาโร

อ่านชีวประวัติปฏิปทาหลวงปู่หลุย จันทสาโร แบบเต็ม ๆ ได้ที่ลิงค์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=26088 (http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=26088)

เรื่องของหลวงปู่แหวน หลวงปู่หลุย กับ ในหลวง พระราชินี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=43958 (http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=43958)



ขอบพระคุณข้อมูลดีๆ จาก FB: ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน

ขออนุโมทนาบุญกับคุณสาวิกาน้อย ผู้โพสต์ประวัติครับ สาธุ