KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ความสำคัญของพระพุทธศาสนา และทุกอย่าง เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า => ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 02, 2012, 02:51:08 PM



หัวข้อ: ธรรมะจากพระพุทธเจ้า อรรถกถา มหาสติปัฏฐานสูตร ธรรมเป็นเหตุเกิดวิริยสัมโพชฌงค์
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 02, 2012, 02:51:08 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20121002144650_buddha.jpg)

หากรู้สึกว่า ไม่อยากภาวนาเลย อยากนอน ขี้เกียจ
ให้พิจารณาเพื่อเพิ่มวิริยะ ดังต่อไปนี้

อรรถกถา มหาสติปัฏฐานสูตร ธรรมเป็นเหตุเกิดวิริยสัมโพชฌงค์
ธรรม ๑๑ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเกิดแห่งวิริยสัมโพชฌงค์ คือ

๑. การพิจารณาเห็นภัยในอบาย
๒. การเห็นอานิสงส์ของความเพียร
๓. การพิจารณาวิถีทางดำเนิน
๔. ความเคารพยำเกรงในบิณฑบาต
๕. การพิจารณาความเป็นใหญ่แห่งการรับทรัพย์มรดก
๖. การพิจารณาความมีพระศาสดาเป็นใหญ่
๗. การพิจารณาความมีชาติเป็นใหญ่
๘. การพิจารณาความมีสพหมจารีเป็นใหญ่
๙. การงดเว้นบุคคลเกียจคร้าน
๑๐. การคบหาบุคคลผู้ปรารภความเพียร
๑๑. ความน้อมจิตไปในวิริยสัมโพชฌงค์นั้น.


๑. การพิจารณาเห็นภัยในอบาย


บรรดาธรรม ๑๑ ประการนั้น เมื่อภิกษุผู้เจริญวิริยสัมโพชฌงค์
แม้พิจารณาเห็นภัยในอบายอย่างนี้ว่า

ใครๆ ไม่อาจยังวิริยสัมโพชฌงค์ให้เกิดได้
๐ในเวลาที่เสวยทุกข์ใหญ่จำเดิมแต่ถูกลงโทษด้วยเครื่องจองจำ ๕ ประการในนรกก็ดี
๐ในเวลาที่ถูกเขาจับด้วยเครื่องจับมี ข่าย แห และอวนเป็นต้นบ้าง
๐ในเวลาขับต้อนทิ่มแทงด้วยเครื่องประหารมีปะฏักเป็นต้น ให้ลากเกวียนบ้าง
๐ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็ดี
๐ในเวลาที่ทุรนทุรายด้วยความหิวกระหายตั้งหลายพันปีบ้าง พุทธันดรหนึ่งบ้าง ในเปรตวิสัยก็ดี
๐ในเวลาที่ต้องเสวยทุกข์อันเกิดแต่ลมและแดดเป็นต้น ด้วยเรือนร่างที่สูงประมาณ ๖๐ ศอก ๘๐ ศอก
  เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ในจำพวกกาลกัญชิกอสูรก็ดี


ดูก่อนนะภิกษุ เวลานี้เท่านั้น เป็นเวลาทำความเพียรของเธอ ดังนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดขึ้นได้.


๒. การเห็นอานิสงส์


เมื่อเห็นอานิสงส์อย่างนี้ว่า คนเกียจคร้านไม่อาจได้โลกุตตรธรรม ๙
คนที่ปรารภความเพียรเท่านั้นจึงสามารถ
นี้เป็นอานิสงส์ของความเพียร ดังนี้วิริยสัมโพชฌงค์ก็ย่อมเกิดได้.

(http://www.kammatan.com/gallary/images/20120528120953_buddhajayanti.jpg)


๓. การพิจารณาวิถีทางดำเนิน


เมื่อพิจารณาวิถีทางดำเนินอย่างนี้ว่า ควรดำเนินทางที่พระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้า พระมหาสาวกทุกพระองค์ดำเนินไปแล้ว
ทางนั้น คนเกียจคร้านไม่อาจเดินไปได้ ดังนี้วิริยสัมโพชฌงค์ก็ย่อมเกิดได้.



๔. การเคารพยำเกรงต่อบิณฑบาต


เมื่อพิจารณาความเคารพยำเกรงต่อบิณฑบาตอย่างนี้ว่า
มนุษย์เหล่าใดบำรุงเธอด้วยปัจจัยมีบิณฑบาตเป็นต้น
มนุษย์เหล่านั้นนี้ ก็ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ทาส และคนงานของเธอเลย
ทั้งมนุษย์เหล่านั้นก็มิใช่ถวายปัจจัยมีจีวรเป็นต้นอันประณีตแก่เธอ
ด้วยคิดว่าจักอาศัยเธอเลี้ยงชีวิต โดยที่แท้ เขาหวังให้อุปการะที่ตนทำแล้วมีผลมาก จึงถวาย

แม้พระศาสดาก็มิได้ทรงพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า
ภิกษุนี้บริโภคปัจจัยเหล่านี้แล้ว จักมีร่างกายแข็งแรงมากอยู่เป็นสุข
ดังนี้ แล้วทรงอนุญาตปัจจัยแก่เธอ โดยที่แท้ พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า
ภิกษุบริโภคปัจจัยเหล่านี้ บำเพ็ญสมณธรรม จักพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะได้ดังนี้
จึงทรงอนุญาตปัจจัยไว้ เดี๋ยวนี้ เธอเกียจคร้านอยู่ ไม่เคารพยำเกรงบิณฑบาตนั้น

ขึ้นชื่อว่าการเคารพยำเกรงต่อบิณฑบาต ย่อมมีแก่ผู้ปรารภความเพียรเท่านั้น
ดังนี้ วิริยสัมโพชฌงค์ก็เกิดได้
เหมือนวิริยสัมโพชฌงค์เกิดแก่ท่านพระมหามิตตเถระฉะนั้น.

เรื่องพระมหามิตตเถระ

เล่ากันว่า พระเถระอาศัยอยู่ในถ้ำชื่อ กสกะ.
และมหาอุบาสิกาผู้หนึ่งในบ้านเป็นที่โคจรของท่าน บำรุงพระเถระเหมือนบุตร.

วันหนึ่ง นางจะไปป่า จึงสั่งลูกสาวว่า ลูก ข้าวสารเก่าอยู่โน้น
น้ำนม เนยใส น้ำอ้อย อยู่โน้น เวลาที่พระเป็นเจ้ามิตตะ พี่ชายของเจ้ามาแล้ว
จงปรุงอาหารถวายพร้อมด้วยน้ำนม เนยใส และน้ำอ้อย ด้วยนะลูก.


ลูกสาวถามว่า ก็แม่จะรับประทานไหมจ๊ะ.
มหาอุบาสิกาตอบว่า ก็เมื่อวานนี้ แม่รับประทานอาหารสำหรับค้างคืน (ปาริวาสกภัต)
ที่ปรุงกับน้ำส้มแล้วนี้จ๊ะ.


ลูกสาวถามว่า แม่จักรับประทานกลางวันไหมจ๊ะ.
มหาอุบาสิกาสั่งว่า เจ้าจงใส่ผักดองแล้วเอาปลายข้าวสาร
ต้มข้าวต้มมีรสเปรี้ยวเก็บไว้ให้เถอะลูก.


พระเถระครองจีวรแล้วกำลังนำบาตรออก (จากถลก) ได้ยินเสียงนั้นแล้ว
ก็สอนตนเองว่า ได้ยินว่า มหาอุบาสิการับประทานแต่อาหารสำหรับค้างคืนกับน้ำส้ม
แม้กลางวันก็จักรับประทานข้าวต้มเปรี้ยวใส่ผักดอง
นางบอกอาหารมีข้าวสารเก่าเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่เธอ
ก็มหาอุบาสิกานั้นมิได้หวังที่นาที่สวน อาหาร และผ้า เพราะอาศัยเธอเลย
แต่ปรารถนาสมบัติ ๓ ประการ (มนุษย์สมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ) จึงถวาย
เธอจักสามารถให้สมบัติเหล่านั้นแก่มหาอุบาสิกานั้นได้หรือไม่เล่า ดังนี้


ท่านคิดว่า บิณฑบาตนี้แล เธอยังมีราคะโทสะโมหะอยู่ ไม่อาจรับได้ดังนี้แล้ว
ก็เก็บบาตรเข้าถลก ปลดดุมจีวร กลับไปถ้ำกสกะเลย เก็บบาตรไว้ใต้เตียง พาดจีวรไว้ที่ราวจีวร
นั่งลงอธิษฐานความเพียรว่า เราไม่บรรลุพระอรหัต จักไม่ออกไปจากถ้ำดังนี้.
ภิกษุผู้ไม่ประมาทอยู่มาช้านาน เจริญวิปัสสนา ก็บรรลุพระอรหัตก่อนเวลาอาหารเช้า
เป็นพระมหาขีณาสพ (สิ้นอาสวะแล้ว) นั่งยิ้มอยู่ เหมือนดอกปทุมที่กำลังแย้มฉะนั้น.


เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นไม้ใกล้ประตูถ้ำเปล่งอุทานว่า
นโม เต ปุริสาชญฺญ นโม เต ปุริสุตฺตม
ยสฺส เต อาสวา ขีณา ทกฺขิเณยฺโยสิ มาริส

ท่านบุรุษอาชาไนย ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
ท่านยอดบุรุษ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน ข้าพเจ้าขอ
นอบน้อมท่านผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ท่านผู้นิรทุกข์ ท่าน
เป็นผู้ควรทักษิณาทาน ดังนี้

แล้วกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า พวกหญิงแก่ถวายอาหารแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย
เช่นท่านผู้เข้าไปบิณฑบาต จักพ้นจากทุกข์ได้ ดังนี้.


พระเถระลุกขึ้นเปิดประตูดูเวลา ทราบว่ายังเช้าอยู่ จึงถือบาตรและจีวรเข้าสู่หมู่บ้าน
ฝ่ายเด็กหญิงจัดเตรียมอาหารเสร็จแล้ว นั่งคอยดูอยู่ตรงประตู
ด้วยนึกว่า ประเดี๋ยวพี่ชายเราคงจักมา ประเดี๋ยวพี่ชายเราคงจักมา.


เมื่อพระเถระมาถึงประตูเรือนแล้ว เด็กหญิงนั้นก็รับบาตรบรรจุเต็มด้วยอาหารเจือน้ำนม
ที่ปรุงด้วยเนยใส และน้ำอ้อยแล้ว วางไว้บนมือ (ของพระเถระ).
พระเถระทำอนุโมทนาว่า จงมีสุขเถิด แล้วก็หลีกไป.
เด็กหญิงนั้นยืนจ้องดูท่านอยู่แล้ว. ความจริง ในคราวนั้น ผิวพรรณของพระเถระบริสุทธิ์ยิ่งนัก
อินทรีย์ผ่องใส หน้าของท่านเปล่งปลั่งยิ่งนัก ประดุจผลตาลสุกหลุดออกจากขั้วฉะนั้น.


มหาอุบาสิกากลับมาจากป่าถามว่า พี่ชายของเจ้ามาแล้วหรือลูก.
เด็กหญิงนั้นก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้มารดาฟัง.

มหาอุบาสิกาก็รู้ได้ว่า วันนี้ บรรพชิตกิจแห่งบุตรของเราถึงที่สุดแล้ว
จึงกล่าวว่า ลูก พี่ชายของเจ้ายินดียิ่งนักในพระพุทธศาสนา ไม่กระสัน (อยากสึก) แล้วล่ะดังนี้.

(http://www.kammatan.com/gallary/images/20081103130114_20080706222540_r6094-1.jpg)


๕. การพิจารณาความมีทรัพย์มรดกเป็นใหญ่


เมื่อพิจารณาความมีทรัพย์มรดกเป็นใหญ่อย่างนี้ว่า
ก็ทรัพย์มรดกของพระศาสดามีมากแล คือ อริยทรัพย์ ๗ ประการ
ทรัพย์มรดกนั้น ผู้เกียจคร้านไม่อาจรับได้


เหมือนอย่างว่า มารดาบิดาย่อมตัดบุตรผู้ประพฤติผิด
ทำให้เป็นคนภายนอกว่า คนนี้ไม่ใช่ลูกของเรา
เมื่อมารดาบิดาล่วงลับไป เขาก็ไม่ได้รับทรัพย์มรดกฉันใด
แม้บุคคลผู้เกียจคร้านก็ฉันนั้น ย่อมไม่ได้มรดก คืออริยทรัพย์นี้
ผู้ปรารภความเพียรเท่านั้น ย่อมได้รับดังนี้วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้.


๖. การพิจารณาความมีพระศาสดาเป็นใหญ่

เมื่อพิจารณาความมีพระศาสดาเป็นใหญ่อย่างนี้ว่า พระศาสดาของเธอเป็นใหญ่
เพราะในเวลาที่พระศาสดาของเธอทรงถือปฏิสนธิ ในพระครรภ์ของพระมารดาก็ดี
เวลาเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ก็ดี เวลาตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณก็ดี
เวลาประกาศพระธรรมจักร แสดงยมกปาฏิหาริย์ เสด็จลงจากเทวโลก และทรงปลงอายุสังขารก็ดี
เวลาเสด็จดับขันธปรินิพพานก็ดี หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหวแล้ว
เธอบวชในพระศาสนาของศาสดามีอานุภพมากขนาดนี้แล้ว
เป็นคนเกียจคร้าน ควรแล้วหรือ ? ดังนี้วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้.


๗. การพิจารณาความมีชาติเป็นใหญ่


เมื่อพิจารณาความมีชาติเป็นใหญ่ อย่างนี้ว่า
แม้โดยชาติ บัดนี้ เธอไม่ใช่คนมีชาติต่ำแล้วละ
เธอชื่อว่าเกิดแล้วในวงศ์ของพระเจ้าอุกกากราช
ที่สืบทอดกันมาโดยมหาสมมตประเพณี ไม่เจือปนกับชนชาติอื่น

เธอเป็นพระนัดดา (หลาน) ของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช
และพระนางเจ้ามหามายาเทวี เป็นพระอนุชา (น้อง) ของท่านพระราหุลพุทธชิโนรส
ขึ้นชื่อว่าเธอ เป็นพุทธชินบุตรเห็นปานฉะนี้แล้วอยู่อย่างคนเกียจคร้าน ไม่สมควร
ดังนี้วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้.


๘. การพิจารณาความมีสพรหมจารีเป็นใหญ่

เมื่อพิจารณาความมีสพรหมจารีเป็นใหญ่อย่างนี้ว่า
ท่านพระสารีบุตร ท่านพระโมคคัลลานะ และพระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป
แทงตลอด (ตรัสรู้) โลกุตตรธรรมด้วยความเพียรกันทั้งนั้น
เธอจะดำเนินตามทางของสพรหมจารีเหล่านั้น หรือไม่ดำเนินตามเล่า
ดังนี้วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้.

(http://www.kammatan.com/gallary/images/20080706222820_f1.gif.jpg)

สำหรับ

๙. การงดเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน
๑๐. การคบหาบุคคลผู้ปรารภความเพียร
๑๑. ความน้อมจิตไปในวิริยสัมโพชฌงค์นั้น


เมื่อเว้นบุคคลผู้เกียจคร้าน ผู้สละความเพียรทางกายและทางใจ
ซึ่งเป็นเหมือนงูเหลือมกินเต็มท้อง แล้วก็หยุดอยู่กับที่ก็ดี
คบหาบุคคลผู้ปรารภความเพียร ผู้อุทิศตนมุ่งปฏิบัติธรรมก็ดี
มีจิตโน้มน้อมโอนไป เพื่อให้ความเพียรเกิดขึ้นในอิริยาบถทั้งหลายมียืนนั่งเป็นต้นก็ดี
วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมเกิดได้.

ภิกษุย่อมรู้ชัดว่า วิริยสัมโพชฌงค์นั้นที่เกิดแล้วด้วยอาการอย่างนี้
ย่อมเจริญบริบูรณ์ด้วยอรหัตตมรรค.



ขอบพระคุณข้อมูลจาก : www.dhammajak.net และ http://www.kammatan.com