KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน => ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 31, 2012, 02:09:27 PM



หัวข้อ: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 31, 2012, 02:09:27 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20120731140838_n.jpg)

เชื่อผลของกรรม

..ท่านผู้รู้ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ท่านเหล่านั้นเชื่อกรรม
เชื่อผลของกรรม เราเกิดมาเวียนว่ายตายเกิดนับเป็นอเนกอนันตชาติเพราะกรรมเก่า
เกิดมาใช้กรรมเก่ายังไม่หมดสิ้นทำกรรมใหม่อีกแล้ว เป็นอย่างนี้อยู่ตลอดภพตลอดชาติ ท่านเรียกว่า "วัฏฏะ ๓"

เกิดมาเรียกว่า "วิปากวัฏฏ์" เกิดจากวิบากของกรรม, เกิดมาแล้วต้องประกอบกรรม ไม่ทำดีก็ทำชั่ว
เรียกว่า "กัมมวัฏฏ์", การประกอบกรรมมันต้องมีเจตนา เจตนานั้นเป็นกิเลสเรียกว่า "กิเลสวัฏฏ์",
ผลของกิเลสนั้นเรียกว่า "วิปากวัฏฏ์"

วิปากวัฏฏ์ กลับมาเกิดอีกวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จักจบจักสิ้นสักที
ผู้รู้ทั้งหลายท่านเห็นโทษของความเกิด เบื่อหน่ายในความเกิด
หาวิธีไม่ให้เกิดอีกด้วยการหัดทำฌาน สมาธิ แลเจริญปัญญา
วิปัสสนา..รู้แจ้งแทงตลอด เห็นตามสภาพเป็นตามธรรมดาของมัน ปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงหมด..

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 19, 2012, 10:35:24 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20121019223435_luangpu_ted.jpg)


อริยประเพณี อริยปฏิปทา
หลวงปู่หล้า เขมปัตโต กราบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี




ขอบพระคุณข้อมูลจาก : Facebook เครือข่ายกลุ่มพุทธธรรมกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และ http://www.kammatan.com


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: keroro ที่ ตุลาคม 27, 2012, 01:58:28 PM
 ;D ;D


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 20, 2012, 12:47:12 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20110822172147_luangpu_tek.jpg)

สิ้นโลกเหลือธรรม

โลก คือ จิตของคนเรา มาหลอกลวงจิตให้หลงในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นจริงเป็นจัง
แต่แล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงมายาเท่านั้น เกิดมาแล้วก็สลาย แตกดับไปเป็นธรรมดาของมัน

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 28, 2012, 03:25:14 PM
...สอนตนเองเสียก่อน...

"...ความเป็นจริงต้องสอนตนเองเสียก่อน แล้วจึงค่อยสอนคนอื่น
เราปฏิบัติอย่างไร ? เรารู้อย่างไร ? เราเข้าใจอย่างใด ?

การสอนคนอื่นก็ไม่ใช่ไปตั้งหน้าตั้งตาสอนแต่คนอื่น เราปฏิบัติเห็นดีเห็นชอบ
เห็นว่าเป็นธรรมเป็นวินัย เห็นคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นธรรมเป็นวินัย เราก็เอาอันนั้นแหละมาสอน

ไม่ยากหรอกสอนคน ถ้าเราสอนตนเองได้แล้วมันไม่ยาก เว้นแต่เราไม่สอนตนเอง
ที่เราไม่สอนตนเองนั่นอยู่เฉยๆไม่รู้เรื่องรู้ราว อยู่เฉยๆเรื่อยไป
ตนเองก็ไม่รู้ คนอื่นก็ไม่รู้ ก็เลยไปทราบว่าจะเอาอะไรไปสอน

เราเห็นตัวของเราเข้าใจตัวของเราดีแล้ว สอนตัวของเราให้รู้สึกเห็นดีเห็นชอบเรา
จึงเอาอันนั้นแหละไปสอนคนอื่น มันก็ได้ความเข้าใจน่ะซี ที่สอนเขาไม่เข้าใจก็เพราะเหตุที่เราไม่เข้าใจตัวเราเอง..."

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 01, 2013, 10:21:03 AM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20130201102039_luangpu_tek.jpg)

...มัจจุราช...

"...เราเกิดมาในโลกนี้ จะเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ต่างๆ ก็ตามเถอะ เรียกว่าอยู่ในแวดวง
ของมัจจุราชทั้งนั้น หรือเปรียบเหมือนกับอยู่ในคุกในตาราง (รอความตาย) ด้วยกันทุกคน
 จะทำอะไรอยู่ก็ตาม จะเป็นผู้ดีวิเศษวิโสเท่าไรก็ช่าง แม้แต่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
สรีระร่างกายของพระองค์ ยังปล่อยให้พญามัจจุราชทำลายได้ แต่ตัวจิตของพระองค์
เป็นผู้พ้นแล้ว ไม่ยอมให้มัจจุราชข่มขี่ได้เลย..."

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 09, 2013, 09:31:15 AM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20130209093052_luangpu_trek.jpg)

“ขอให้มีศรัทธา ทำทานไปเรื่อย ทั้งทานภายนอก ทานภายใน รักษาศีล
คือรักษากาย วาจา และใจ ให้มันเป็นปกติ หรือรักษาจิตนั่นเอง คอยมีสติปกครองจิตใจ
สิ่งใดไม่ควรคิดก็ไม่คิด สิ่งใดไม่ควรพูดก็ไม่พูด สิ่งใดไม่ควรทำก็ไม่ทำ เพราะเรามีสติรู้อยู่ว่าเราเป็นผู้มีศีล

บุญกุศลที่สร้างสมถึงที่สุดแล้วมันจะหมดเรื่อง ไม่มีอะไรอีก และไม่เอาไปด้วย
บาปก็ไม่เอา บุญก็ไม่เอา ผู้ที่ยังเอาอยู่จึงได้บุญได้บาป เป็นภพเป็นชาติขึ้น
ผู้ทอดธุระแล้ว ไม่มีบุญและบาปแล้ว จึงได้เรียกว่า โลกุตระ เหนือโลก”

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: the suffering ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2013, 10:22:59 PM
กายนี้ ใจนี้ คือที่สุดของธรรม(ชาติ) ที่ต้องรู้ให้ได้ ตามที่เค้าเป็นจริง ;)
รักหลวงปู่มาก ก ก


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 30, 2013, 08:30:00 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20130530202908_luangpu_tek.jpg)

" พระพุทธศาสนานี้สอนมีจุดที่รวมได้ มีที่สุดหมดสิ้นสงสัยหมดเรื่อง
ไม่เหมือนวิชาชีพอื่น เขาสอนไม่มีที่สิ้นสุด...
 จึงว่าพระพุทธศาสนาสอนถึงที่สุด แต่บุคคลผู้ทำตามนั้น ทำไม่ถึงที่สุด..."


หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 29, 2013, 06:30:10 PM
"..บุญมิใช่เกิดเพราะไทยทานมากๆ
แต่เกิดขึ้นจากใจเลื่อมใสศรัทธาต่างหาก
เปรียบเหมือนเทียนที่เรามีอยู่แล้วไปขอต่อจากคนอื่น
เทียนของคนอื่นก็ไม่ดับ ของเราก็ได้ไฟสว่างมา

เหตุนั้นบุญในพุทธศาสนาจึงหมดไม่เป็น
คนมากี่ร้อย กี่พันเอาหัวใจของตนมาตักตวงเอาบุญในพุทธศาสนานี้
ก็ไม่มีหมดบุญยังเต็มเปี่ยมอยู่ตามเดิม
ถ้าทำด้วยความเลื่อมใสแล้ว
วัตถุทานมีน้อยก็กลายเป็นของมากเอง.."

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 10, 2013, 08:10:38 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20131010201013_luangpu_tek.jpg)

"..วิธีการอบรมสมาธิ มีหลายอย่าง
ก็เลย ลังเลสงสัย ไม่ทราบว่า
จะเอาอะไร มาเป็นหลัก

บางคน ก็ยุบหนอพองหนอ บางคน ก็สัมมาอรหัง
บางคน ก็อานาปานสติ ตามอุบายของตน ที่ถนัด
แต่เมื่อควบคุมถึงจิตแล้ว คำบริกรรมนั้น หายหมด
ยังเหลือแต่ จิตอันเดียว ที่เรียกว่า "สมาธิ" หรือ เอกจิต

คุมจิตให้เป็นหนึ่ง ลงไปเถอะหมดเรื่องกัน
คำบริกรรม เช่น พุทโธๆ ให้มันอยู่กับคำบริกรรมนั้น
"คำบริกรรม" เป็น "เครื่องล่อ" ให้จิตมาอยู่ที่นั่น
ให้จิตมันแน่วแน่ อยู่ในอารมณ์อันเดียว
คือ รวมให้จิตเป็นหนึ่งเท่านั้น.."

โอวาทธรรม
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 13, 2013, 12:01:04 AM
๑๓๙. หลวงปู่เทสก์พูดถึงหลวงปู่ดูลย์

ผู้เขียนได้พบหลวงปู่ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์) แต่ครั้งแรกท่านไปพักเรียนหนังสืออยู่ที่วัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี ในสมัยนั้นดูเหมือนท่านได้ ๑๐ พรรษา ท่านมีเมตตาแก่ผู้เขียนเป็นอันมาก พอเห็นหน้าตาเข้าเรียกร้องให้ไปหาและก็ได้สัมโมทนียกถาโดยสุภาพเรียบร้อย ตามวิสัยของท่าน ผู้มีนิสัยเช่นนั้น เพราะท่านพูดแต่ละคำนั้นดูเหมือนกลั่นกรองแล้วจึงค่อยพูด พูดเฉพาะที่จำเป็น ไม่ได้พูดพร่ำเพรื่อ และพูดในสิ่งที่ควรทำและทำได้ นับว่าเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง นิสัยอันนี้นับได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่คบหาสมาคม

ผู้เขียนก็ได้เข้าไปหาท่านเมื่อท่านเรียกโดยสุภาพเรียบร้อย ฟังโอวาทของท่านแล้วประทับใจจนกระทั่งบัดนี้ ไม่เฉพาะแต่ผู้เขียนเท่านั้นที่เห็นท่านแล้วเคารพนับถือ พระเณรทั้งวัดก็เคารพนับถือ ถึงแม้ท่านเป็นคณะมหานิกายมาอาศัยเรียนหนังสือชั่วคราวก็ตาม กิจการงานท่านเป็นหัวหน้าหมู่ในวัดนั้นได้ แม้แต่สมภารก็ยังนับถือท่านว่าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และการสร้างพระอุโบสถวัดสุทัศน์ฯ สมภารยังนิมนต์ท่านมาช่วยควบคุมการก่อสร้าง

ท่านได้ญัตติเป็นธรรมยุตก่อนเข้าพรรษา หรือออกพรรษาแล้วผู้เขียนชักจะลืมเสียแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ดี เมื่อออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์สิงห์ออกจากอุบลราชธานี ไปเที่ยววิเวกขึ้นมาทางจังหวัดสกลนคร-อุดรธานี-หนองคาย ท่านก็ได้ติดตามท่านอาจารย์สิงห์ไปด้วย จากนั้นหลายปีผู้เขียนกำลังเรียนหนังสือไม่ได้ติดตามข่าวของท่าน

จนกระทั่งผู้เขียนได้บวชเป็นพระ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ เพราะเวลานั้นท่านอาจารย์สิงห์กลับคืนอุบลราชธานีอีก ได้ข่าวว่าหลวงปู่ดูลย์ก็กลับไปด้วย แต่ไม่ได้ไปอุบลราชธานี ท่านแยกไปทางจังหวัดสุรินทร์ เลยไม่ได้พบท่าน ได้ข่าวว่าเมื่อท่านกลับไปทางจังหวัดสุรินทร์แล้ว ก็ไม่ได้กลับไปทางจังหวัดสกลนคร-อุดรธานี-หนองคายอีก ท่านคงเที่ยวอยู่แถวจังหวัดสุรินทร์บ้านเดิมของท่าน

เมื่องานศพหลวงปู่ฝั้น ที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จึงได้พบท่านอีก ท่านยังได้แสดงความเมตตาปรารถนาหวังดีต่อผู้เขียนอย่างยิ่ง ในที่ประชุมพระเถรานุเถระเป็นอันมาก ท่านยังอุตส่าห์มาทักทายปราศรัยกับผู้เขียน แล้วก็พูดธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งสุขุมที่เป็นแนวปฏิบัติทั้งนั้น ท่านมักพูดแต่เรื่องจิต คือ เรียกว่า จิตคือพุทธะ และจิตที่ส่งออกไปภายนอกเรียกว่า สมุทัย อันเป็นเหตุนำทุกข์มาให้ ท่านพูดอย่างนี้บ่อยๆ ท่านพูดกับผู้เขียนอยู่นาน คล้ายๆ กับว่าท่านจะเมตตากับผู้เขียนโดยเฉพาะ ท่านพูดแต่ในทางปฏิบัติ เห็นว่าผู้เขียนเป็นผู้ปฏิบัติ คล้ายๆ กับว่าจะมีความรู้สูงในด้านปฏิบัติแต่แท้จริงแล้วเปล่า ก็พระเทสก์ธรรมดาๆ นี่เอง

ต่อมา ครั้งสุดท้ายท่านได้ไปวางศิลาฤกษ์อุโบสถวัดหนึ่งที่อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี แล้วท่านไปนอนค้างที่วัดของผู้เขียนคืนหนึ่ง ท่านก็พูดอย่างเก่า รู้สึกว่าท่านกระฉับกระเฉงแข็งแรงมาก ชราภาพถึงขนาดนั้นแล้วรูปร่างลักษณะของท่านยังไม่เปลี่ยนแปลงไปนัก และท่านไม่เคยถือไม้เท้าเลย

ในโอวาทของท่านที่ท่านพูดว่า จิต คือ พุทธะ ในตอนนี้ผู้เขียนขออธิบายว่า พุทธะ คือความรู้ทั่วไป ไม่ได้หมายถึงสัมมาสัมพุทธะ พุทธะ คือผู้รู้ทั่วไป หรือธาตุรู้ก็ว่า

แล้วก็อีกคำหนึ่งท่านว่า จิตส่งออกนอกเป็นตัวสมุทัย มันก็แน่ทีเดียว ถ้าจิตส่งแล้วมันเป็นตัวสมุทัย โดยความเข้าใจของผู้เขียน จิต คือผู้คิดผู้นึก ผู้ส่ง ผู้ปรุงแต่ง ผู้จดผู้จำ เป็นอาการวุ่นวายของจิตทั้งหมด ครั้นมาเห็นโทษเห็นภัยเห็นเช่นนั้นแล้วถอนเสียจากความยุ่ง ความวุ่นวายแล้ว เข้ามาหาตัวเดิม คือ ใจ แล้วไม่มีคิดไม่มีนึก ไม่มีส่งไม่ส่าย ไม่มีจดไม่มีจำอะไรทั้งหมด คือเป็นกลางๆ อยู่เฉยๆ นี่ละ ผู้เขียนเรียกว่า ใจ คืออยู่กลางๆ ของความดีความชั่ว ความปรุงความแต่ง อดีตอนาคตปล่อยวางหมด จึงกลับมาเป็นใจ จิตคือ พุทธะ ท่านคงหมายเอาตอนนี้

ผู้ใคร่อยากรู้ใจแท้ ถึงแม้ยังไม่เป็นสาวกพุทธะปัจเจกพุทธะ สัมมาสัมพุทธะก็ตาม ขอให้ศึกษาพอเป็นสุตพุทธะเสียก่อน คือ จงกลั้นลมหายใจไปสักพักหนึ่งลองดู ในที่นั่นจะไม่มีอะไรทั้งหมด นอกจากความรู้เฉยๆ ความรู้ว่าเฉยนั่นแหละเป็นตัวใจ พุทธะ ทั้งสี่จะมีขึ้นมาได้ ก็เพราะมีใจ ดังนี้ ถ้าหาไม่แล้ว พุทธะทั้งสี่จะมีไม่ได้เลยเด็ดขาด

แท้จริง จิตกับใจ ก็อันเดียวกันนั่นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ตรัสไว้ว่า จิตอันใดใจก็อันนั้น แต่ผู้เขียนมาแยกออกเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายตามภาษาบ้านเราเท่านั้น เมื่อพูดถึงใจแล้วต้องหมายความของกลาง อย่างใจมือ ใจเท้า หรือใจไม้ แม้แต่ใจของคนก็ชี้เข้าตรงที่ท่ามกลางอกนั่นเอง แต่ความจริงแล้วใจไม่ได้อยู่ที่นั่น ใจย่อมอยู่ในที่ทั่วไป สุดแท้แต่จะเอาไปเพ่งไว้ตรงไหน แม้แต่ฝาผนังตึกหรือต้นไม้ เมื่อเอาใจไปไว้ตรงนั้น ใจก็ย่อมปรากฏอยู่ ณ ที่นั้น

คำพูดของหลวงปู่ดูลย์ที่ว่า จิต คือ พุทธะ ย่อมเข้ากับคำอธิบายของผู้เขียนที่ว่า ใจ คือ ความเป็นกลางนิ่งเฉย ไม่ปรุงแต่ง ไม่นึกไม่คิด ไม่มีอดีตอนาคต ลงเป็นกลางมีแต่รู้ตัวว่านิ่งเฉยเท่านั้น เมื่อออกมาจาก ใจ แล้วจึงรู้คิดนึกปรุงแต่งสารพัด วิชาทั้งปวงเกิดจากจิตนี้ทั้งสิ้น

นักปฏิบัติทั้งหลายจึงต้องควบคุมจิตของตน ด้วยตั้ง สติรักษาจิต อยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตแส่ส่ายไปในกามโลก รูปโลก อรูปโลก รู้ว่าเป็นไปเพื่อก่อแล้ว รีบดึงกลับมาให้เข้าใจ นับว่าใช้ได้แต่ยังไม่ดี ต้องเพียรพยายามฝึกหัดต่อไปอีก จนกระทั่งใจนึกคิดปรุงแต่งไปในกามโลก รูปโลก อรูปโลก ก็ รู้เท่าทัน ทุกขณะ อย่าไปตามรู้หรือรู้ตาม จะไม่มีเวลาตามทันเลยสักที เหมือนคนตามรอยโคไม่เห็นตัวมัน จึงตามรอยมัน

รู้เท่า คือ เห็นตัวมัน แล้วผูกมัดเอาตัวมันเลย แล้วฝึกหัดจนกระทั่งมันเชื่อง แล้วจะปล่อยให้มันอยู่อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องตามหามันอีก นับว่าใช้ได้ดี

ถ้าตามใจของตนไม่ทัน หรือไม่เห็นใจตน มันจะไปหรืออยู่ หรือมันจะคิดดีคิดร้ายอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องของมัน นั้นใช้ไม่ได้เลย จมดิ่งลงกามภพโดยแท้

เราขอตักเตือนเพื่อนสหธรรมิก ผู้บวชมาหวังความบริสุทธิ์เจริญก้าวหน้าในพุทธศาสนาว่า การกระทำสิ่งใดด้วยกาย วาจา และใจอันเป็นไปเพื่อโลก เมื่อถามตนเองก็รู้อยู่และโลกมนุษย์ทั้งหลายก็รู้อยู่ สิ่งนั้นผิดวิสัยของสมณะ จงละเสียอย่ากระทำ จงศึกษาแต่ธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติให้เข้าใจถ่องแท้ และปฏิบัติตามให้ถูกทุกประการ อันจะนำมาซึ่งความเย็นใจแก่ตน และเป็นเหตุให้คนอื่นเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เป็นเหตุให้พุทธศาสนาจีรังถาวรสืบไป

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์) ได้สละทิ้งร่างกายอันกอปรด้วยของปฏิกูลโสโครกทนได้ยาก พร้อมทั้งญาติโยมและสานุศิษย์จำนวนมากไปแล้ว แต่เมตตาธรรมที่ท่านได้ประสาทไว้แก่สานุศิษย์ทั้งหลาย ยังเหลืออยู่ คุณธรรมดังกล่าวแล้วประทับจิตใจของทุกๆ คนไม่ลืมหาย กระผม พระเทสรังสี พร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา และสานุศิษย์พระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ขอน้อมถวายความเคารพด้วยกายวาจาและใจ ในที่ทุกสถาน ทุกกาล ทุกเมื่อ

พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี)
๙ มีนาคม ๒๕๒๘
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 16, 2013, 10:04:14 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20131016220521_luangpu_tek222.jpg)

" อนึ่ง เมื่อความโกรธเกิดขึ้น
เรากลั้นลมหายใจเสีย ความโกรธนั้นก็หายไป
แล้วจะเหลือแต่ใจเดิม คือความรู้สึกเฉยๆ
อย่าลืม ทำบ่อยๆ ก็เห็นใจเดิม
แล้วความโกรธก็ค่อยๆ หายไป "


หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 02, 2013, 01:37:24 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20131202133657_patija.jpg)

"..ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นอารมณ์
เอาทุกข์ขึ้นมาพิจารณา อย่าไปกลัวทุกข์
ถ้ากลัวทุกข์แล้ว..มาทำความดีจึงจะถูก
แต่เราอย่าไปกลัวทุกข์"ให้เอาทุกข์มาเป็นอารมณ์"
ได้ทุกข์มาแล้ว ได้ความตายมาแล้วเอามาเป็นอารมณ์
พิจารณา

อันนั้นได้ชื่อว่าเป็นบทบาทเบื้องต้นที่จะพ้น
จากความทุกข์ และได้รับความสุข หรือเป็น
บทบาทที่จะไม่ให้ตาย

#ถ้าเราไม่ยึดและไม่จับอันนี้เป็นหลักแล้ว
จะไม่มีเครื่องพิจารณา ถ้าเราจับอันนี้เป็นหลัก
และพิจารณาอยู่ตลอดเวลา

จะเป็นภาวนาทำสมาธิให้เกิด"ปัญญาญาณ"
อยู่ตลอดเวลา "ทางเดินวิปัสสนา ต้องเป็นอย่างนี้...."

_/\_โอวาทธรรมหลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี_/\_
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 16, 2014, 09:39:53 PM
เรียนโง่

" ยิ่งเรียนเท่าไรยิ่งเห็นความโง่ของตนมากเท่านั้น
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราเรียนความโง่
ไม่ได้สอนให้เราเรียนความฉลาด
เมื่อรู้โง่แล้ว เห็นโง่นะ จะเรียกว่าความฉลาดก็ได้...

กรรมฐานอะไรต่างๆ หลายเรื่องหลายอย่างหลายครูหลายอาจารย์
ยุบหนอพองหนอก็เรียนโง่ สัมมาอะระหังก็เรียนโง่
อานาปานสติลมหายใจเข้าออกก็เรียนโง่ พุทโธๆก็เรียนโง่
คือเรียนให้เห็นตัวโง่ คือให้มีสติควบคุมจิตที่มันคิดมันนึก
มันปรุงมันแต่ง ให้รู้เรื่องของจิต ให้รู้เห็นจิตซะก่อน
ถ้าไม่เห็นจิตมันก็รักษาจิตให้ไม่ได้ คุมจิตไม่ได้ ชนะจิตไม่ได้
ไม่ทราบว่าจิตมันคิดมันนึกมันปรุงมันแต่งอะไรต่ออะไร
มันส่งส่ายไปไหนก็ไม่ทราบ... "

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 19, 2014, 12:08:40 AM
"คนเราเกิดมาแล้ว มาแย่งมาชิงกันว่ากิเลสเหล่านั้นเป็นของดิบของดี
วิเศษวิโส แย่ง แข่งดี แข่งเด่น แย่งชิงความเป็นใหญ่เป็นโตกัน แย่งลาภ
แย่งยศความสรรเสริญทั้งปวงกลัว แต่จะไม่ได้เป็นของเรา แท้จริงแล้วมันเป็นของทิ้ง
ของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระอริยะเจ้าทั้งหลาย พระองค์ทิ้งไปแล้ว เรายังหาว่าเป็นของดีอยู่"

พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 26, 2014, 11:32:37 PM
หลวงปู่เทสก์พูดถึงหลวงปู่ดูลย์

ผู้เขียนได้พบหลวงปู่ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์) แต่ครั้งแรกท่านไปพักเรียนหนังสืออยู่ที่วัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี
ในสมัยนั้นดูเหมือนท่านได้ ๑๐ พรรษา ท่านมีเมตตาแก่ผู้เขียนเป็นอันมาก พอเห็นหน้าตาเข้าเรียกร้องให้ไปหาและก็ได้สัมโมทนียกถา
โดยสุภาพเรียบร้อย ตามวิสัยของท่าน ผู้มีนิสัยเช่นนั้น เพราะท่านพูดแต่ละคำนั้นดูเหมือนกลั่นกรองแล้วจึงค่อยพูด พูดเฉพาะที่จำเป็น
ไม่ได้พูดพร่ำเพรื่อ และพูดในสิ่งที่ควรทำและทำได้ นับว่าเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง นิสัยอันนี้นับได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่คบหาสมาคม ผู้เขียนก็ได้เข้าไปหาท่านเมื่อท่านเรียกโดยสุภาพเรียบร้อย ฟังโอวาทของท่านแล้วประทับใจจนกระทั่งบัดนี้ ไม่เฉพาะแต่ผู้เขียนเท่านั้นที่เห็นท่านแล้วเคารพนับถือ พระเณรทั้งวัดก็เคารพนับถือ ถึงแม้ท่านเป็นคณะมหานิกายมาอาศัยเรียนหนังสือชั่วคราวก็ตาม กิจการงานท่านเป็นหัวหน้าหมู่ในวัดนั้นได้ แม้แต่สมภารก็ยังนับถือท่านว่าเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และการสร้างพระอุโบสถวัดสุทัศน์ฯ สมภารยังนิมนต์ท่านมาช่วยควบคุมการก่อสร้าง ท่านได้ญัตติเป็นธรรมยุตก่อนเข้าพรรษา หรือออกพรรษาแล้วผู้เขียนชักจะลืมเสียแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ดี เมื่อออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์สิงห์ออกจากอุบลราชธานี ไปเที่ยววิเวกขึ้นมาทางจังหวัดสกลนคร-อุดรธานี-หนองคาย ท่านก็ได้ติดตามท่านอาจารย์สิงห์ไปด้วย จากนั้นหลายปีผู้เขียนกำลังเรียนหนังสือไม่ได้ติดตามข่าวของท่าน
จนกระทั่งผู้เขียนได้บวชเป็นพระ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ เพราะเวลานั้นท่านอาจารย์สิงห์กลับคืนอุบลราชธานีอีก ได้ข่าวว่าหลวงปู่ดูลย์ก็กลับไปด้วย แต่ไม่ได้ไปอุบลราชธานี ท่านแยกไปทางจังหวัดสุรินทร์ เลยไม่ได้พบท่าน ได้ข่าวว่าเมื่อท่านกลับไปทางจังหวัดสุรินทร์แล้ว ก็ไม่ได้กลับไปทางจังหวัดสกลนคร-อุดรธานี-หนองคายอีก ท่านคงเที่ยวอยู่แถวจังหวัดสุรินทร์บ้านเดิมของท่าน
เมื่องานศพหลวงปู่ฝั้น ที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จึงได้พบท่านอีก ท่านยังได้แสดงความเมตตาปรารถนาหวังดีต่อผู้เขียนอย่างยิ่ง ในที่ประชุมพระเถรานุเถระเป็นอันมาก ท่านยังอุตส่าห์มาทักทายปราศรัยกับผู้เขียน แล้วก็พูดธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งสุขุมที่เป็นแนวปฏิบัติทั้งนั้น ท่านมักพูดแต่เรื่องจิต คือ เรียกว่า จิตคือพุทธะ และจิตที่ส่งออกไปภายนอกเรียกว่า สมุทัย อันเป็นเหตุนำทุกข์มาให้ ท่านพูดอย่างนี้บ่อยๆ ท่านพูดกับผู้เขียนอยู่นาน คล้ายๆ กับว่าท่านจะเมตตากับผู้เขียนโดยเฉพาะ ท่านพูดแต่ในทางปฏิบัติ เห็นว่าผู้เขียนเป็นผู้ปฏิบัติ คล้ายๆ กับว่าจะมีความรู้สูงในด้านปฏิบัติแต่แท้จริงแล้วเปล่า ก็พระเทสก์ธรรมดาๆ นี่เอง
ต่อมา ครั้งสุดท้ายท่านได้ไปวางศิลาฤกษ์อุโบสถวัดหนึ่งที่อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี แล้วท่านไปนอนค้างที่วัดของผู้เขียนคืนหนึ่ง ท่านก็พูดอย่างเก่า รู้สึกว่าท่านกระฉับกระเฉงแข็งแรงมาก ชราภาพถึงขนาดนั้นแล้วรูปร่างลักษณะของท่านยังไม่เปลี่ยนแปลงไปนัก และท่านไม่เคยถือไม้เท้าเลย
ในโอวาทของท่านที่ท่านพูดว่า จิต คือ พุทธะ ในตอนนี้ผู้เขียนขออธิบายว่า พุทธะ คือความรู้ทั่วไป ไม่ได้หมายถึงสัมมาสัมพุทธะ พุทธะ คือผู้รู้ทั่วไป หรือธาตุรู้ก็ว่า
แล้วก็อีกคำหนึ่งท่านว่า จิตส่งออกนอกเป็นตัวสมุทัย มันก็แน่ทีเดียว ถ้าจิตส่งแล้วมันเป็นตัวสมุทัย โดยความเข้าใจของผู้เขียน จิต คือผู้คิดผู้นึก ผู้ส่ง ผู้ปรุงแต่ง ผู้จดผู้จำ เป็นอาการวุ่นวายของจิตทั้งหมด ครั้นมาเห็นโทษเห็นภัยเห็นเช่นนั้นแล้วถอนเสียจากความยุ่ง ความวุ่นวายแล้ว เข้ามาหาตัวเดิม คือ ใจ แล้วไม่มีคิดไม่มีนึก ไม่มีส่งไม่ส่าย ไม่มีจดไม่มีจำอะไรทั้งหมด คือเป็นกลางๆ อยู่เฉยๆ นี่ละ ผู้เขียนเรียกว่า ใจ คืออยู่กลางๆ ของความดีความชั่ว ความปรุงความแต่ง อดีตอนาคตปล่อยวางหมด จึงกลับมาเป็นใจ จิตคือ พุทธะ ท่านคงหมายเอาตอนนี้
ผู้ใคร่อยากรู้ใจแท้ ถึงแม้ยังไม่เป็นสาวกพุทธะปัจเจกพุทธะ สัมมาสัมพุทธะก็ตาม ขอให้ศึกษาพอเป็นสุตพุทธะเสียก่อน คือ จงกลั้นลมหายใจไปสักพักหนึ่งลองดู ในที่นั่นจะไม่มีอะไรทั้งหมด นอกจากความรู้เฉยๆ ความรู้ว่าเฉยนั่นแหละเป็นตัวใจ พุทธะ ทั้งสี่จะมีขึ้นมาได้ ก็เพราะมีใจ ดังนี้ ถ้าหาไม่แล้ว พุทธะทั้งสี่จะมีไม่ได้เลยเด็ดขาด
แท้จริง จิตกับใจ ก็อันเดียวกันนั่นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ตรัสไว้ว่า จิตอันใดใจก็อันนั้น แต่ผู้เขียนมาแยกออกเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายตามภาษาบ้านเราเท่านั้น เมื่อพูดถึงใจแล้วต้องหมายความของกลาง อย่างใจมือ ใจเท้า หรือใจไม้ แม้แต่ใจของคนก็ชี้เข้าตรงที่ท่ามกลางอกนั่นเอง แต่ความจริงแล้วใจไม่ได้อยู่ที่นั่น ใจย่อมอยู่ในที่ทั่วไป สุดแท้แต่จะเอาไปเพ่งไว้ตรงไหน แม้แต่ฝาผนังตึกหรือต้นไม้ เมื่อเอาใจไปไว้ตรงนั้น ใจก็ย่อมปรากฏอยู่ ณ ที่นั้น
คำพูดของหลวงปู่ดูลย์ที่ว่า จิต คือ พุทธะ ย่อมเข้ากับคำอธิบายของผู้เขียนที่ว่า ใจ คือ ความเป็นกลางนิ่งเฉย ไม่ปรุงแต่ง ไม่นึกไม่คิด ไม่มีอดีตอนาคต ลงเป็นกลางมีแต่รู้ตัวว่านิ่งเฉยเท่านั้น เมื่อออกมาจาก ใจ แล้วจึงรู้คิดนึกปรุงแต่งสารพัด วิชาทั้งปวงเกิดจากจิตนี้ทั้งสิ้น
นักปฏิบัติทั้งหลายจึงต้องควบคุมจิตของตน ด้วยตั้ง สติรักษาจิต อยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตแส่ส่ายไปในกามโลก รูปโลก อรูปโลก รู้ว่าเป็นไปเพื่อก่อแล้ว รีบดึงกลับมาให้เข้าใจ นับว่าใช้ได้แต่ยังไม่ดี ต้องเพียรพยายามฝึกหัดต่อไปอีก จนกระทั่งใจนึกคิดปรุงแต่งไปในกามโลก รูปโลก อรูปโลก ก็ รู้เท่าทัน ทุกขณะ อย่าไปตามรู้หรือรู้ตาม จะไม่มีเวลาตามทันเลยสักที เหมือนคนตามรอยโคไม่เห็นตัวมัน จึงตามรอยมัน
รู้เท่า คือ เห็นตัวมัน แล้วผูกมัดเอาตัวมันเลย แล้วฝึกหัดจนกระทั่งมันเชื่อง แล้วจะปล่อยให้มันอยู่อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องตามหามันอีก นับว่าใช้ได้ดี
ถ้าตามใจของตนไม่ทัน หรือไม่เห็นใจตน มันจะไปหรืออยู่ หรือมันจะคิดดีคิดร้ายอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องของมัน นั้นใช้ไม่ได้เลย จมดิ่งลงกามภพโดยแท้
เราขอตักเตือนเพื่อนสหธรรมิก ผู้บวชมาหวังความบริสุทธิ์เจริญก้าวหน้าในพุทธศาสนาว่า การกระทำสิ่งใดด้วยกาย วาจา และใจอันเป็นไปเพื่อโลก เมื่อถามตนเองก็รู้อยู่และโลกมนุษย์ทั้งหลายก็รู้อยู่ สิ่งนั้นผิดวิสัยของสมณะ จงละเสียอย่ากระทำ จงศึกษาแต่ธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติให้เข้าใจถ่องแท้ และปฏิบัติตามให้ถูกทุกประการ อันจะนำมาซึ่งความเย็นใจแก่ตน และเป็นเหตุให้คนอื่นเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เป็นเหตุให้พุทธศาสนาจีรังถาวรสืบไป หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์) ได้สละทิ้งร่างกายอันกอปรด้วยของปฏิกูลโสโครกทนได้ยาก พร้อมทั้งญาติโยมและสานุศิษย์จำนวนมากไปแล้ว แต่เมตตาธรรมที่ท่านได้ประสาทไว้แก่สานุศิษย์ทั้งหลาย ยังเหลืออยู่ คุณธรรมดังกล่าวแล้วประทับจิตใจของทุกๆ คนไม่ลืมหาย กระผม พระเทสรังสี พร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา และสานุศิษย์พระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ขอน้อมถวายความเคารพด้วยกายวาจาและใจ ในที่ทุกสถาน ทุกกาล ทุกเมื่อ

พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี)
๙ มีนาคม ๒๕๒๘
วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 03, 2014, 08:07:14 PM
อนึ่ง เมื่อความโกรธเกิดขึ้น เรากลั้นลมหายใจเสีย ความโกรธนั้นก็หายไปแล้วจะเหลือแต่ใจเดิม
 คือความรู้สึกเฉยๆ อย่าลืม ทำบ่อยๆ ก็เห็นใจเดิมแล้วความโกรธก็ค่อยๆ หายไป

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 05, 2014, 10:41:26 AM
ทำอย่างไรจึงจะเห็นจิต ถ้ามิฉะนั้น จิตก็จะพาเราว่อนอยู่อย่างนั้นแหละ
เที่ยวเหนือล่องใต้ไปทั่วทุกทิศทุกทาง ถ้าเราคุมจิตไม่อยู่ รักษาจิตไม่ได้
ก็จะพาให้เราทุกข์เร่าร้อน เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ ถ้าไม่มีจิตแล้ว
ตัวของเราก็เหมือน กับท่อนไม้ท่อนฟืน ใครจะสับจะบั่น ใครจะเผาจะอะไรๆ ต่างๆ
 ไม่รู้สึกทั้งนั้น การปรากฏเห็นภาพทางตา เขาเรียกว่า จิต แต่คนไม่เห็นตัวจิต
คือตาเห็นภาพนั่นน่ะ เข้าใจว่าจิตเห็น ไม่ใช่จิต ตาเห็นต่างหาก
แสงกระทบเข้ามาก็เห็นเท่านั้น หูได้ยินเสียงก็เหมือนกัน
เสียงมาเข้าหูกระทบกันเข้ามันก็ได้ยิน จมูกสูดกลิ่น ลิ้นถูก รส กายสัมผัสอะไรต่างๆ
อันนั้นไม่ใช่ตัวจิต เป็นเรื่องกระทบกันต่างหาก กระทบกันแล้วก็หายไป
ถ้าเช่นนั้น จิตมันอยู่ที่ไหน ให้ลองหาดูในตัวเรานี่แหละ หาให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง
 ดูว่าจิตแท้มันอยู่ที่ไหนกัน เมื่อหาจิตไม่เห็นแล้ว
คนที่หาน่ะไม่เห็น คนไหนเป็นคนหา มันยังมีซ้อนอีก ใครเป็นคนค้นหา
สิ่งที่ไปหานั้นเห็น แต่ผู้หาไม่เห็น อย่างว่าเห็นรูป รูปนั้นเห็นแล้ว
แต่ผู้เห็นน่ะใครเป็นคน เห็น มันต้องหาตัวนั้นซีจึงจะเห็น

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 05, 2014, 10:43:14 AM
กมฺมโยนิ กรรมเป็นกำเนิดให้เกิดมา
กมฺมพนฺธุ มันติดพันเรามาตลอดเวลา
กมฺมปฏิสรณา เราอาศัยกรรมอยู่เดี๋ยวนี้

ทุกสิ่งทุกประการมันจะหมดสิ้นอย่างไรได้ ?
มันจะหมดสิ้นก็ต่อเมื่อสิ้นสังขารร่างกายนี้
พระพุทธเจ้าก็ดี สาวกทั้งหลายก็ดี ท่านบำเพ็ญเพียรถึงที่สุดแล้ว
สังขารร่างกายนี้แตกดับ
กรรมตามไม่ทันแล้วคราวนี้
กรรมอันนี้เรียกวิบากขันธ์
วิบากนี้ต้องตามทันอยู่ตลอดเวลา
ส่วนจิตนั้นตามไม่ทัน จิตใจของพระองค์หมดจดบริสุทธิ์ จิตใจของสาวกหมดจดบริสุทธิ์แล้ว คราวนี้แหละกรรมตามไม่ทัน
กรรมที่ตามไม่ทันเพราะจิตใจหลุดพ้น เพราะจิตปราศจากความกังวลเกี่ยวข้อง
จิตที่เป็นหนึ่ง

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 05, 2014, 11:57:33 AM
คราวนี้มาพูดกันถึงเรื่อง จิต กับ ใจ ให้เข้าใจกนก่อนจึงค่อยพูดกันถึงเรื่องกิเลส อันเกิดจากจิตต่อไป
จิต คือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง สังขาร สัญญาอารมณ์ทั้งหมดเกิดจากจิต เมื่อพูดถึงจิตแล้วไม่นิ่งเฉยได้เลย
แม้ที่สุดเรานอนอยู่ก็ปรุงแต่งไปร้อยแปดพันเก้า อย่างที่เราเรียกว่า ฝัน นั่นเอง จิตไม่มีการนิ่งอยู่เฉยได้
จิตนอนหลับไม่เป็น แลไม่มีกลางคืน กลางวันเสียด้วย ที่นอนหลับนั้นมิใช่จิต กายต่างหาก
มันเหนื่อยจึงพักผ่อนจิต เป็นของไม่มีตัวตน แทรกซึมเข้าไปอยู่ได้ในที่ทุกสถาน
แม้แต่ภูเขาหนาทึบก็ยังแทรกเข้าไป แทรกทะลุปรุโปร่งได้เลย จิต นี้มีอภินิหารมาก เหลือที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดได้

ใจ คือผู้เป็นกลางๆ ในสิ่งทั้งปวงหมด ใจก็ไม่มีตัวตนอีกนั่นแหละ มีแต่ผู้รู้อยู่เฉยๆ
แต่ไม่มีอาการไป อาการมา อดีตก็ไม่มีอนาคตก็ไม่มี บุญแลบาปก็ไม่มี นอกแลในก็ไม่มี
กลางอยู่ตรงไหนใจ ก็อยู่ตรงนั้น ใจ หมายความเป็นกลางๆ ดังภาษาชาวบ้านเขาเรียกกันว่า
ใจมือ ก็หมายเอาท่ามกลางมือ ใจเท้า ก็หมายเอาท่ามกลางเท้า แม้ที่สุดเมื่อถามถึงใจคนเรา
ก็ต้องชี้เข้าท่ามกลางหน้าอก แต่แท้จริงแล้วที่นั้นไม่ใช่ใจนั่นเป็นแต่หทัยวัตถุ
เครื่องสูบฉีดเลือดที่เสียแล้วกลับเป็นของดีให้ไปหล่อเลี้ยงสิ่งต่างๆ
ในสรรพางค์ร่างกายเท่านั้น ตัวใจแท้มิใช่วัตถุ เป็นนามธรรม

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 29, 2014, 07:06:08 PM
ไม่ว่าใครทั้งหมด เรื่องภาวนาไม่ใช่ของเป็นง่ายๆ คนที่เป็นเอง
เรียกว่า วาสนาสูงส่งที่สุด โดยมากที่อยากจะมาภาวนา
ก็เพราะเห็นทุกข์ทั้งหลายเหล่านี้แหละ ต้องฝ่าฝืนอุปสรรคบากบั่นเพื่อจะให้พ้นทุกข์ คือหัดทำความสงบ
ถ้าไม่เห็นทุกข์อย่างนี้แล้ว ไม่มีใครอยากภาวนาให้พ้นจากทุกข์เลย

...หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี...


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 11, 2016, 06:35:44 AM
"ความทะยานอยากของคนในโลกนี้ไม่พอสักที
จึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ไม่ว่าอยากในสิ่งใดทั้งหมด
เมื่อได้สิ่งนั้นมาแล้ว
แต่ความอยากยังไม่หยุด จึงต้องเป็นทุกข์
เมื่อจับต้นเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว
ไม่ต้องไปมัวแสวงหาสิ่งอื่น
มาบำบัดทุกข์ให้เสียเวลา
เข้าไปหยุดความทะยานอยากแล้วก็สิ้นเรื่อง"
หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 12, 2016, 09:37:53 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20160312213732_luangpu_trek.jpg)

"ปฏิบัติให้พอดีพองาม"

" .. พุทธศาสนา คำสอนของพระพุทธเจ้าถ้าจะอุปมา "ก็เหมือนกับเครื่องปรุงแกงมีเนื้อ ปลา ผัก หัวหอม
พริก เกลือ น้ำปลา ครบบริบูรณ์" ไว้ให้ผู้ประสงค์จะทำรับประทาน
แล้วก็สอนว่า "อาหารคาวชนิดนั้นจะต้องใส่สิ่งนั้น ๆ จึงจะอร่อย" ถ้ามีผู้ประสงค์จะรับประทานก็ทำตาม
ถ้าหากไม่ทำตามคำบอกเล่าก็จะไม่ได้รับประทานอาหารที่อร่อยสมปรารถนา
แล้วอย่าไปโทษว่า "ผู้สอนไม่ดีบอกวิธีทำอาหารไม่อร่อยนะ" เราเป็นพุทธมามกะเป็นลูกศิษย์ของ
พระพุทธเจ้าผู้ได้ชื่อว่าเป็นพระโคดมบรมครู มีสมญาว่า "ปัญญาธิกะ คือเลิศปัญญา"
เมื่อได้ฟังธรรมคำสอนของพระองค์แล้ว "จงนำไปปฏิบัติให้เป็นมัชฌิมาพอดีพองาม" จึงจะงามแก่ตน
เองและคนอื่น ทั้งไม่เดือดร้อนแก่ตนแลคนอื่นด้วย .. "

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 12, 2016, 09:45:10 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20121019223435_luangpu_ted.jpg)

โหลดไฟล์หนังสือ สิ้นโลกเหลือธรรม ได้จากไฟล์นี้ น่ะครับผม หรือคลิกเข้าไปอ่านได้เลยครับ

http://www.kammatan.com/download/book/sinlok.pdf

" โลก คือ จิตของคนเรา มาหลอกลวงจิต

ให้หลงในสิ่งต่างๆ ว่าเป็นจริงเป็นจัง

แต่แล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงมายาเท่านั้น

เกิดมาแล้วก็สลาย แตกดับไปเป็นธรรมดาของมัน "

โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

ขอกราบขอบพระคุณไฟล์จาก เว็บ http://www.dhamma4ever.com/ และ http://www.kammatan.com ด้วยน่ะครับ


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 04, 2016, 02:27:00 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20160404142349_luangpu_trek.jpg)

เมื่อปัญญาวิปัสสนาเกิดขึ้น ในขณะจิตเดียวนั้นสิ้นสงสัยในธรรมทั้งหลาย เห็นสรรพสัตว์ในโลกเป็นสภาพอันเดียวกันหมดเลย
ไม่มีต่ำ ไม่มีสูง ไม่มีน้อย ไม่มีใหญ่ ไม่มีหญิง ไม่มีชาย มีแต่ธาตุ ๔ เกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้น
เห็นสิ่งทั้งปวงหมด เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งเหล่านั้น เป็นของไร้สาระ เป็นโทษเป็นทุกข์ เป็นภัยอันตรายแก่จิตใจ
จึงปล่อยวาง ทอดธุระในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อันนี้เป็นปัญญาอันวิเศษสูงสุด
เพราะคนจะพ้นจากโลกได้ ก็เพราะเห็นที่สุดของโลก คือได้แก่เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
วิปัสสนาจริงแล้วไม่ต้องคิดต้องนึกไม่ต้องปรุงแต่ง มันเป็นเอง มันเกิดของมันต่างหาก
เมื่อมันเกิดแล้วจะต้องชัดแจ้งประจักษ์ในพระไตรลักษณฐานด้วยตัวของตนเองต่างหาก

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 04, 2016, 02:27:29 PM
ถ้าไม่มี “ศรัทธา” เสียอย่างเดียวก็หมดทาง ที่จะข้าม”โอฆะ”ได้ ศรัทธาจึงเป็นของสำคัญที่สุด
เช่น เชื่อมั่นใน “กรรม” เชื่อ “ผลของกรรม” แต่ว่าศรัทธาอันนั้น เป็นเบื้องต้นที่จะทำทาน
ถ้ามีศรัทธาแล้ว ไม่อดเรื่องการทำทาน อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ทำมากก็ได้ ทำน้อยก็ได้
ไม่ต้องเลือกวัตถุในการทำทาน จะเป็นข้าว น้ำ อาหาร หมากพลู บุหรี่ ฯลฯ สารพัดสิ่งเป็นทาน
ได้ทั้งหมด แม้แต่ใบไม้ ใบตอง ใบหญ้า ก็เป็นทานได้
เราทำด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้ทำไปแล้วจะเป็นประโยชน์แก่ผู้นั้น ๆ ก็อิ่มอกอิ่มใจขึ้นมาก็เป็นบุญนั่นแหละ
ศรัทธา มันทำให้อิ่มอกอิ่มใจ ทำให้เกิดบุญ ซาบซึ้งถึงใจทุกอย่างไม่ลืมเลย อันนั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ข้ามโอฆะ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 04, 2016, 02:28:34 PM
“วิญญาณ” มีสองอย่าง คือ “วิญญาณในขันธ์ห้า” และ “ปฏิสนธิวิญญาณ”
“ปฏิสนธิวิญญาณ” คือ “วิญญาณตัวมาเกิด” เป็นคนทีแรก
ส่วน “วิญญาณในขันธ์ห้า” หมายถึง “ความรู้ที่เกิดขึ้นเบื้องต้น” ของ “ผัสสะ” แล้วก็หายไป เช่น ตาเห็นรูป ตัว “ผู้รู้” นั้นเรียกว่า “วิญญาณ”
ต่อจากนั้น ตัว “สัญญา” ก็เข้ามาแทน มา “จำ” ได้ว่าเป็น รูปนั่นรูปนี่แล้ว “สัญญา” ก็ “ดับไป”
“สังขาร” ก็เข้ามา “ปรุงแต่งคิดนึก” ต่อไป
อัน “ความรู้” ว่าเป็น "รูปทีแรกนั่น" เรียกว่า “วิญญาณขันธ์ ในขันธ์ห้า”
“ธรรมทั้งสี่” อย่างนี้ มันหากทำหน้าที่ ของสัตว์ผู้จะเกิดต่างหาก ผู้จะมาเกิดต้องมี "ธรรมสี่อย่าง" นี้สมบูรณ์จึง "จะเกิดได้"

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง...ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 24, 2016, 06:37:00 PM
โอวาทธรรม
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ถ้ามีจิตวิรัติเจตนา..งดเว้นตัวเดียว โดยมีหิริ โอตตัปปะเป็นมูลฐานแล้ว เป็นอันถึงที่สุดของการรักษาศิลได้ทั้งนั้น


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 25, 2016, 09:07:43 AM
ธาตุทั้งสี่นี้เมื่อยังมีอยู่ภายในกายของเรา และคนเรายังสมมุติอยู่ตราบใด ก็จำเป็นต้องอาศัย ธาตุสี่ภายนอกกายอันนี้ มาสนับสนุนจึงจะอยู่ได้ ถ้าไม่มีธาตุสี่ของภายนอก มาสนับสนุนแล้ว ก็จะอยู่ ไม่ได้ ต้องตาย อย่างน้อยก็อยู่ทนทุกข์ทรมาน
ดังจะเห็นได้ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงธาตุปัจจเวกขณะ ให้พิจารณาปัจจัยทั้งสี่ให้เห็น เป็นแต่สักว่าธาตุ ไม่ใช่สัตว์บุคคลอะไรทั้งหมด คือผ้าผ่อนเครื่องนุ่งห่มปกปิดร่างกายอันนี้ก็ปกปิด ธาตุสี่ เพื่อปกป้องธาตุสี่ภายใน กันเย็น ร้อน หนาวเย็น และสัตว์ร้ายต่าง ๆ มี ริ้น เหลือบ ยุง เป็นต้น แล้วก็เก่า ชำรุด เปื่อย เน่าไปเป็น ดิน น้ำ ไฟ ลม ของเก่า อาหารการบริโภคทุกประการ เป็นต้นว่า ข้าว ขนม หมากไม้ ผลไม้และผักต่าง ๆ ที่เราบริโภค เข้าไปนี้ ก็เกิดจากธาตุ มิใช่สัตว์บุคคลเราเขา ของเหล่านี้หาชีวิตจิตใจมิได้
เป็นแต่เอาธาตุภายนอก มาพอกธาตุภายใน หรือฉาบ ทา หรือยาสิ่งที่ธาตุภายใน ขาดตกบกพร่องไว้เท่านั้น
ที่อยู่อาศัยเสนาสนะทั้งปวงเป็นต้นว่า บ้าน ตึก เรือนสองชั้น สามชั้น ทำด้วยอิฐและด้วยไม้ มุง ด้วยกระเบื้องดินเผาหรือซีเมนต์ หรือด้วยแฝกหรือจาก ล้วนแล้วแต่เกิดจากธาตุดิน คนมาประดิษฐ์ คิดปรุงแต่งให้เป็นเสนาสนะที่อยู่อาศัยขึ้นมา ของเหล่านี้ก็เป็นแต่สักว่าธาตุสี่ มิใช่สัตว์บุคคลตัวตน เราเขาอะไร ไม่มีชีวิตจิตใจอะไร มนุษย์ปรุงแต่งให้เป็นที่อยู่อาศัย ของธาตุภายใน (คือคนเรา) ให้อยู่ได้ ชั่วคราวตลอดอายุของธาตุภายนอกและธาตุภายในเท่านั้น
หยูกยาเภสัชสำหรับแก้ไข้ต่าง ๆ อันจะพึงเกิดมีแก่ร่างกายอันนี้ ร่างกายอันนี้ (คือธาตุสี่) ภาย ในวิกาล วิปริต แปรปรวนไม่ปกติ ซึ่งเกิดจากธาตุอันใดอันหนึ่ง ขาดเหลือไม่สม่ำเสมอกันเกิดขึ้น จะต้องใช้ยาภายนอก (คือธาตุภายนอก) มาบำรุงเพิ่มพูนช่วยเหลือ ยานี้ก็เป็นสักแต่ว่าธาตุสี่ (คือ เกิด จากธาตุสี่) มิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาอะไรทั้งสิ้น เมื่อธาตุสี่ภายใน ขาดเหลือ สิ่งใดบางอย่าง ก็จำเป็น จะต้องอาศัยภายนอก (คือธาตุสี่) บำบัดช่วยเหลือ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 25, 2016, 09:09:41 AM
วิญญาณขันธ์
วิญญาณตัวนี้เป็นวิญญาณในขันธ์ห้า วิญญาณมีสองอย่าง คือ วิญญาณในขันธ์ห้า และปฏิสนธิวิญญาณ
ปฏิสนธิวิญญาณ คือ วิญญาณตัวมาเกิดเป็นคนทีแรก
ส่วนวิญญาณใน ขันธ์ห้า หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นเบื้องต้นของผัสสะแล้วก็หายไป
เช่น ตาเห็นรูป ตัว ผู้รู้ นั้นเรียกว่า วิญญาณ ต่อจากนั้นตัว สัญญา ก็เข้ามาแทน มาจำได้ว่าเป็นรูปนั่นรูปนี่แล้ว
สัญญา ก็ดับไป สังขาร ก็เข้ามาปรุงแต่งคิดนึกต่อไป อันความรู้ว่าเป็นรูปทีแรกนั่นเรียกว่า วิญญาณขันธ์ ในขันธ์ห้า
วิญญาณขันธ์ในขันธ์ห้า ก็ดี ปฏิสนธิวิญญาณ ก็ดี เป็นตัวเดียวกันนั่นแหละไม่ใช่ตัวอื่นไกล
มันเป็นตัวใจตัวเดียวนั่นแหละ แต่มันทำหน้าที่ต่างกัน
ถ้าทำหน้าที่เป็นผู้รับรู้ของผัสสะในอายตนะ ทั้งหก เรียกว่า วิญญาณขันธ์
ปฏิสนธิวิญญาณ คือ วิญญาณตัวนำให้มาเกิด ถ้าไม่มีวิญญาณตัวนี้ก็ไม่มาเกิด มันรวมเอา อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม
รวมอยู่หมดในตัววิญญาณนั้น ความจริงแล้ว อวิชชาก็ตัวใจนั้นแหละ ตัณหาก็ตัวใจนั่นแหละ อุปาทานก็ตัวใจนั่นแหละ
กรรมก็ตัวใจนั้นแหละ คำว่า มันมารวมอยู่ที่เดียวเป็นแต่คำพูดเฉย ๆ แท้ที่จริงแล้วมันไม่ได้เรียกมารวมกัน
ธรรมทั้งสี่อย่างนี้มัน หากทำหน้าที่ของสัตว์ผู้จะเกิดต่างหาก
ผู้จะมาเกิดต้องมีธรรมสี่อย่างนี้สมบูรณ์จึงจะเกิดได้
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 07, 2016, 01:33:40 PM
ทำอย่างไรจึงจะเห็นจิต
ถ้ามิฉะนั้น จิตก็จะพาเราว่อนอยู่อย่างนั้นแหละ เที่ยวเหนือล่องใต้ไปทั่วทุกทิศทุกทาง ถ้าเราคุมจิตไม่อยู่ รักษาจิตไม่ได้ ก็จะพาให้เราทุกข์เร่าร้อน เศร้าโศกเสียใจ อาลัยอาวรณ์ ถ้าไม่มีจิตแล้ว ตัวของเราก็เหมือน กับท่อนไม้ท่อนฟืน ใครจะสับจะบั่น ใครจะเผาจะอะไรๆ ต่างๆ ไม่รู้สึกทั้งนั้น
การปรากฏเห็นภาพทางตา เขาเรียกว่า จิต แต่คนไม่เห็นตัวจิต
คือตาเห็นภาพนั่นน่ะ เข้าใจว่าจิตเห็น ไม่ใช่จิต ตาเห็นต่างหาก แสงกระทบเข้ามาก็เห็นเท่านั้น หูได้ยินเสียงก็เหมือนกัน เสียงมาเข้าหูกระทบกันเข้ามันก็ได้ยิน จมูกสูดกลิ่น ลิ้นถูก รส กายสัมผัสอะไรต่างๆ อันนั้นไม่ใช่ตัวจิต เป็นเรื่องกระทบกันต่างหาก กระทบกันแล้วก็หายไป
ถ้าเช่นนั้น จิตมันอยู่ที่ไหน ให้ลองหาดูในตัวเรานี่แหละ หาให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง ดูว่าจิตแท้มันอยู่ที่ไหนกัน เมื่อหาจิตไม่เห็นแล้ว
คนที่หาน่ะไม่เห็น คนไหนเป็นคนหา มันยังมีซ้อนอีก ใครเป็นคนค้นหา สิ่งที่ไปหานั้นเห็น แต่ผู้หาไม่เห็น อย่างว่าเห็นรูป รูปนั้นเห็นแล้ว
แต่ผู้เห็นน่ะใครเป็นคน เห็น มันต้องหาตัวนั้นซีจึงจะเห็น
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 07, 2016, 01:34:31 PM
ใจต้องเป็นอันเดียวไม่ใช่หลายอย่าง ที่หลายอย่างนั่นน่ะมันจิตต่างหาก
พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าถึงตัวหนึ่ง ตัวใจนี่แหละ จึงจะเห็นเรื่องทั้งหลายทั้งหมด ถ้าไม่เห็นตัวหนึ่งแล้วก็ไม่เห็นสิ่งทั้งหลายทั้งนั้น อย่างเรานับหนึ่งขึ้นเบื้องต้น นับหนึ่งเสียก่อน หนึ่งสองหน ก็เป็นสอง หนึ่งสามหนก็เห็นสาม สี่หน ห้าหน จนถึงเก้าหน สิบหน ก็เป็นสี่ ห้า จนถึงเก้า ถึงสิบ ก็มาจากหนึ่งอันเดียวนั่นแหละ จะนับเป็นสิบเป็นร้อย แท้ที่จริงก็นับจากหนึ่งอันเดียวเท่านั้น คนเราลืมหนึ่งเสีย ไปนับสอง สาม สี่ ห้า ถ้านับหนึ่งแล้วหมดเรื่อง
เหตุนั้นการทำสมาธิภาวนาคุมจิตให้ถึงใจรวมเป็นหนึ่งนี่แหละ พระพุทธศาสนาสอนอย่างนั้น สอนใจอย่างเดียว คนส่วนมากเห็นว่าการทำสมาธิภาวนาไม่ใช่หน้าที่ของฆราวาสเป็นเรื่องของพระ พระบางท่านบางองค์ ก็ว่าไม่ใช่หน้าที่ของเราหรอก เป็นเรื่องของพระกัมมัฏฐาน
แท้ที่จริงคนเรามีใจด้วยกันทุกคน ใครเข้าหาใจได้แล้วก็เป็น กัมมัฏฐานด้วยกันทั้งนั้นแหละ เป็น ภาวนา สมาธิแล้วทั้งนั้น เว้นไว้แต่เรา ไม่ทำ
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 23, 2016, 07:42:48 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20130201102039_luangpu_tek.jpg)

วันหนึ่งจิตรวมอย่างน่าประหลาดใจ คือรวมใหญ่เข้าสว่างอยู่คนเดียว แล้วมีความรู้ชัดเจนจนสว่างจ้าอยู่ ณ ที่เดียว
จะพิจารณาอะไรๆ หรือมองดูในแง่ไหนในธรรมทั้งปวง ก็หมดความลังเลสงสัยในธรรมวินัยนี้ทั้งหมด
คล้าย ๆ กับว่าเรานี้ถึงที่สุดแห่งธรรมทั้งปวงแล้ว แต่เราก็มิได้สนใจในเรื่องนั้น มีแต่ตั้งใจไว้ว่า
ไฉนหนอเราจะชำระใจของเราให้บริสุทธิ์หมดจด เราทำได้ขนาดนี้แล้วจะมีอะไรแลดำเนินอย่างไรต่อไปอีก
จึงได้เดินทางตามหาหลวงปู่มั่น แล้วเราจึงได้กราบเรียนท่านว่า

"ที่ต้องตามหาท่านอาจารย์ในครั้งนี้ ด้วยจุดประสงค์อยากจะมาขอความกรุณาให้ท่านอาจารย์ได้ช่วยแก้อุบายภาวนาให้
เพราะกระผมได้คิดและได้ศึกษาจากหมู่คณะมามากแล้ว เห็นว่านอกจากท่านอาจารย์แล้ว คงไม่มีใครแก้อุบายนี้ของกระผมได้แน่ "
แล้วก็ได้เล่าความเป็นมาของเราถวายให้ท่านทราบทุกประการ เริ่มต้นแต่ได้ปฏิบัติมาจนกระทั่งถึงเรื่องที่ได้นำเข้าเรียนท่านอาจารย์สิงห์ที่โคราช
ท่านจึงเล่าถึงการที่ท่านได้อบรมสานุศิษย์มาแล้วเป็นทำนองว่าให้เราทบทวนดูหมู่เพื่อนที่ท่านอบรมว่า

"ถ้าองค์ไหนดำเนินตามรอยของผมจนชำนิชำนาญมั่นคงองค์นั้นย่อมเจริญก้าวหน้า อย่างน้อยก็คงตัวอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง
 ถ้าองค์ไหนไม่ดำเนินตามรอยของผม องค์นั้นย่อมอยู่ไม่ทนทานต้องเสื่อมหรือสึกไป ผมเองหากมีภาระมาก ๆ ยุ่งกับหมู่คณะ
การประกอบความเพียรไม่สม่ำเสมอ เพ่งพิจารณาในกายคตาไม่ละเอียด จิตใจก็ไม่ค่อยจะปลอดโปร่ง
การพิจารณาอย่าให้จิตหนีออกนอกกาย อันนี้จะชัดเจนแจ่มแจ้งหรือไม่ก็อย่าได้ท้อถอย เพ่งพิจารณาอยู่ ณ ที่นี่ละ
จะพิจารณาให้เป็นอสุภหรือให้เป็นธาตุก็ได้ หรือจะพิจารณาให้เห็นเป็นขันธ์หรือให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ได้ทั้งนั้น
แต่ให้พิจารณาเพ่งลงเฉพาะในเรื่องนั้นจริง ๆ ตลอดอิริยาบถทั้งสี่
แล้วก็มิใช่ว่าเห็นแล้วก็จะหยุดเสียเมื่อไร จะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็พิจารณาอยู่อย่างนั้นแหละ
เมื่อพิจารณาอันใดชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยใจตนเองแล้ว สิ่งอื่นนอกนี้จะมาปรากฏชัดในที่เดียวกันดอก

" ท่านบอกว่าอย่าให้จิตมันรวมเข้าไปภวังค์ได้
พอท่านพูดจบ เรานึกตั้งปณิธานไว้ในใจว่า เอาละคราวนี้เราจะเรียนกัมมัฏฐานใหม่ ผิดถูกเราจะทำตามท่านสอน
ขอให้ท่านเป็นผู้ดูแลและชี้ขาดแต่ผู้เดียว
นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา เราตั้งสติกำหนดพิจารณาอยู่แต่เฉพาะกาย โดยให้เป็นอสุภเป็นธาตุสี่ เป็นก้อนทุกข์อยู่ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน
เราใช้เวลาปรารภความเพียรอยู่ด้วยความไม่ประมาท สิ้นเวลา ๖ เดือน (พรรษานี้เราจำพรรษาอยู่ที่นี้)
โดยไม่มีความเบื่อหน่าย ใจของเราจึงได้รับความสงบและเกิดอุบายเฉพาะตนขึ้นมาว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าเป็นธาตุสี่เท่านั้น แต่คนเราไปสมมติแล้วหลงสมมติตนเองต่างหาก
มันจึงต้องยุ่งและเดือดร้อนด้วยประการทั้งปวง
เราได้อุบายครั้งนี้ทำให้จิตหนักแน่นมั่นคง ผิดปกติกว่าเมื่อก่อน ๆ มาก แล้วก็เชื่อมั่นในตัวเองว่าเราเดินถูกทางแล้ว

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย