หัวข้อ: อิริยาบถกับกิเลส เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 26, 2009, 10:17:02 am ความเห็นที่ 1 โดยคุณ สันตินันท์ วัน อังคาร ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543 11:27:33
เรื่องอิริยาบถกับกิเลสมันก็สัมพันธ์กันจริงๆ ครับ แล้วบางทีก็เป็นเหตุเป็นผลที่ต้องพิจารณาให้ละเอียดเอาเอง เช่นนั่งหลังงอแล้วโมหะมาก (เพราะเริ่มนั่งด้วยความเกียจคร้าน นั่งไปแล้วโมหะครอบง่าย) หรือโมหะมากเลยนั่งหลังงอ (เพราะใจห่อเหี่ยว หลังก็เลยงอไปด้วย) นั่งหลังตรงแล้วโมหะคลาย (เพราะฮึดสู้ ไม่ยอมจมอยู่กับความหดหู่ซึมเซา) หรือรู้ว่ามีโมหะ โมหะจึงคลายแล้วนั่งหลังตรง บางอิริยาบถเช่นการเดินจงกรม พอจิตเป็นสมาธิ จะตั้งมั่นได้นาน บางอิริยาบถเจริญสติยาก เช่นอิริยาบถนอน ท่านจึงสอนเรื่องเนสัชชิก คือการไม่นอน โดยไม่เคยสอนเรื่องการไม่ยืน ไม่เดิน ไม่นั่ง ดังนั้น อิริยาบถ อย่างไรก็เกี่ยวข้องกับจิตใจและกิเลสเหมือนกัน คราวนี้มาถึงปัญหาโลกแตกที่ คุณมวยวัด ถาม คือเมื่อรู้ว่ามีโมหะ(สังขาร)แล้วควรเปลี่ยนอิริยาบถหรือไม่ หรือจะสู้ตายจนชนะอยู่ในอิริยาบถเดิม คำถามนี้คล้ายๆ กับคำถามของผู้ที่นั่งภาวนานานๆ จนปวดขา แล้วสงสัยว่า ควรนั่งดูความเจ็บปวด(เวทนา) หรือควรเปลี่ยนอิริยาบถ คำตอบก็คือทำได้ทั้งสองอย่างครับ จะเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อลดสังขารที่ไม่ดี หรือลดเวทนาที่เป็นทุกข์ หรือจะอดทนจนชนะ ก็แล้วแต่ถนัดครับ แต่ถ้าทนแล้วไม่ชนะ(โมหะ) มีแต่จะถูกครอบงำหนักขึ้นเรื่อยๆ การถอยเสียหน่อย โดยเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้จิตมีกำลังต่อสู้ใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือเสียศักดิ์ศรีของนักปฏิบัติหรอกครับ ที่สำคัญคือ ให้มีสติตามรู้โมหะหรือทุกขเวทนานั้น อยู่ตลอดเวลาในขณะที่เปลี่ยนอิริยาบถ ความเห็นที่ 13 โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543 09:09:44 ตอบคุณมวยวัด ถ้าเฝ้ารู้ทันใจตนเองอยู่ มันไม่เป็นอัตตาขึ้นมาหรอกครับ แต่ถ้าเผลอเมื่อไร ทำอะไรก็เกิดอัตตาครับ ******************************** โวหารในพระไตรปิฎกนั้น ถ้าน้อย ท่านมักใช้ว่า 3 บ้าง 7 บ้าง ถ้ามาก ท่านนิยมใช้เลข 500 ส่วนแสนโกฏิหมายถึงมากไม่มีประมาณ เช่น [๗๑๑] ดูกรอานนท์ ใน ๑๔ ประการนั้น บุคคลให้ทานในสัตว์เดีย- รัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณา ได้พันเท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า ให้ทานในบุคคล ภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า ส่วนเรื่องสติปัฏฐานนั้นปรากฏในตำราทุกชั้นครับ ลองไปอ่านจาก โฮมเพจของคุณผู้คัดลอก ได้ครับ น่าอ่านดีมาก จะเริ่มด้วยการยกพระสูตรและอรรถกถาฉบับมหามกุฏฯ ขึ้นมาแสดงไว้ ถัดจากนั้น ก็ต่อท้ายว่า เรื่องนี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง อ่านจากพระสูตรและอรรถกถาจะไม่เข้าใจ จำเป็นจะต้องอ่านจากอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ 9 เมื่ออ่านจากอภิธัมมัตถสังคหะแล้ว ก็ยังยากไปอีก ต้องอ่านคำบรรยายของอาจารย์ในยุคนี้อีก 3 ประเด็น คือเรื่องพื้นฐาน เรื่องรูป และเรื่องนาม สุดท้ายก็มาลงที่คำสอนของอาจารย์นี่แหละครับ การตีกรอบให้เอาพระไตรปิฎกขึ้นหิ้ง เพราะเป็นเรื่องเกินปัญญามนุษย์ แล้วให้ฟังคำสอนของอาจารย์นั้น เป็นวิธีคิดที่ธรรมดาอย่างนี้เหมือนกันทุกสำนักเรียน(เท่าที่ผมทราบ) แล้วพฤติกรรมของศิษย์ที่หล่อหลอมออกมาก็จะคล้ายคลึงกัน อย่างที่เราเห็นหมุนเวียนกันเข้ามาในลานธรรมเสมอๆ นั่นเอง ถึงขนาดท่านเจ้าคุณพระเทพดิลก(ระแบบ) ซึ่งท่านเป็นพระนักการศึกษาที่เชี่ยวชาญมากองค์หนึ่ง ท่านเคยพูดไว้หลายครั้งว่า ผู้ศึกษาแนวนี้มักจะมี อหังการ เพราะกระทั่งตำราเรียนของเขา ยังมักจะเริ่มต้นด้วยการประนามผู้อื่นว่าด้อยปัญญา พอเรียนมากๆ ก็เลยเคลิ้มตาม ท่านเจ้าคุณแสดงความเห็นต่อไปว่า การเรียนพระไตรปิฎกนั้น ท่านวางหลักสูตรไว้ดีแล้วว่า ให้เริ่มศึกษาจากพระวินัย เพื่อดำรงตนให้ดีงามเสียก่อน แล้วศึกษาพระสูตร คือพระธรรมคำสอนตรงของพระศาสดา ส่วนอภิธรรมนั้น แท้จริงคือคำอธิบายธรรม (เหมือนอย่างอภิวินัยคือคำอธิบายวินัย) ถ้าจะเรียนก็ควรเรียนหลังสุด เพราะเป็นปิฎกสุดท้าย แต่แล้วสิ่งที่เรียนกัน ก็ยังไม่ใช่พระอภิธรรมปิฎกเสียอีก แต่เขาจะผิดจะถูกอะไรมันก็เรื่องของเขา เราศึกษาหาความรู้ส่วนที่ดีมาขัดเกลาตนเองเป็นดีที่สุด เพราะถ้าจะหาเรื่องไปแย้งกันนั้น แย้งกันไม่จบหรอกครับ กิเลสที่ยังไม่เกิด ก็จะเกิด ที่เกิดแล้ว ก็จะเฟื่องฟูขึ้น เสียเวลาเปล่าๆ ครับ ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bangkokmap.com/pm/content/view/202/39/ (http://www.bangkokmap.com/pm/content/view/202/39/) |