หัวข้อ: หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำโขง อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 16, 2015, 02:44:31 pm (http://www.kammatan.com/gallary/images/20150516144304_luangpor_koon.jpg)
ขอไว้อาลัยแด่พระอริยะสงฆ์ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาพระผู้ที่มีแต่ให้ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) ได้ละสังขารแล้วอย่างสงบ เวลา 11.45 น. วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม 2558 หลวงพ่อคูณ เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำโขง หลวงพ่อคูณ กำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ต.ค.2466 (บางตำราว่าวันที่ 4 ต.ค.2466) เป็นบุตรชายคนโตมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 2 คน ที่บ้านไร่ หมู่ 6 ต.กุดพิมาน อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อนางทองขาว ฉัตรพลกรัง โดยก่อน นางทองขาว ตั้งครรภ์ ฝันเห็นเทพองค์หนึ่งมีกายเรืองแสงงดงามลอยลงมาจากสวรรค์บอกว่านางทองขาวกับสามีมีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริตสร้างคุณงามความดีมาตลอดหลายชาติ จึงขออำนวยพรให้ครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไปพร้อมมอบดวงแก้วใสสะอาดสุกสว่างให้ด้วยบอกว่าภายหน้าจะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนาเป็นเนื้อนาบุญที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง เมื่อหลวงพ่อคูณ อายุ 6-7ขวบ ได้เข้าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์เชื่อมวิรโธ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ที่วัดบ้านไร่ พร้อมถ่ายทอดวิชาคาถาอาคมเพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ จนอายุได้ 21 ปี จึงอุปสมบทณพัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2487 (หนังสือบางแห่งระบุว่า ปี 2486) โดยพระครูวิจารย์ดีกิจอดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ คือพระอาจารย์สุขวัดโคกรักษ์ ได้รับฉายาว่า “ปริสุทโธ” และฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด (บางตำรากล่าวว่าเมื่อบรรพชาแล้วได้เล่าเรียนกับหลวงพ่อคงเจ้าอาวาสวัดถนนหักใหญ่ก่อนหลวงพ่อคงจึงนำไปฝากกับหลวงพ่อแดง) ทั้งนี้หลวงพ่อแดง เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ อย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคม หลังปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควรหลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโรเจ้าอาวาสวัดถนนหักใหญ่ อ.ด่านขุนทด ซึ่งหลวงพ่อทั้งสองรูปนี้เป็นเพื่อนกันมักแลกเปลี่ยนธรรมะตลอดจนวิชาอาคมแก่กันเสมอ ได้อบรมสั่งสอนธรรมะและไสยศาสตร์หลวงพ่อคูณ ด้วยความรักใคร่มิได้ปิดบังอำพรางทั้งพระธรรมควบคู่ กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน พระอาจารย์ทั้งสองท่านได้เน้นสอนเรื่องการมี"สติ" ระลึกรู้ พิจารณาอารมณ์ต่าง ๆ ให้มีความรู้เท่าทันอารมณ์ทั้งเรื่อง”อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นความทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา สักแต่ว่าเป็นรูป เป็นนามจึงมิใช่ของเราและของเขา ” ส่วนพระกัมฏฐานนั้น หลวงพ่อคงได้สอนให้ใช้หมวดอนุสติโดยดึงเอาวิธีกำหนด “ความตาย” เป็นอารมณ์เรียกว่า “มรณัสสติ” เพื่อให้เกิดความรู้เท่าทัน ไม่หลงในในอารมณ์ รูป รส กลิ่น เสียง ไม่ประมาทในความโลภความโกรธ และความหลง กำหนดลมหายใจเข้าออกทำจิตให้เกิด สัมมาสมาธิ เรียกว่า “อานาปานสติ” ต่อมาได้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูง ทั้งเขตจ.นครราชสีมา รวมทั้งสปป.ลาวและกัมพูชา ทั้งนี้หลวงพ่อคูณได้สร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนาที่วัดบ้านไร่จำนวนมากรวมทั้งสร้างโรงเรียนวัดบ้านไร่ด้วย รวมทั้งจัดสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน ตลอดจนบริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณะสุขต่างๆมากมาย ด้านสมณศักดิ์เมื่อวันที่ 12 ส.ค.2535หลวงพ่อคูณได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระญาณวิทยาคมเถร วันที่10 มิ.ย.2539 ได้รับการแต่งตั้ง เป็นพระราชาคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระเป็นพระราชวิทยาคม วันที่12 ส.ค.2547ได้รับแต่งตั้ง เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระเป็นพระเทพวิทยาคม โดยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่จนถึงปัจจุบัน (http://www.kammatan.com/gallary/images/20150516144324_luangpor_koon2.jpg) หลวงพ่อคูณ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือท่านั่งยองและการพูด กู-มึง ภาษาชาวบ้าน โดยให้เหตุผลว่าเป็นท่าที่สบายที่สุดอีก ทั้งเป็นลักษณะของคนเตรียมพร้อมที่ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ทันทีจะหยิบจับอะไรก็ง่ายและสะดวก ในการทำงาน ในด้านวัตถุมงคลเป็นที่ฮือฮาอย่างยิ่งในความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลังไม่ว่าจะปลุกเสกรุ่นไหนออก มาก็ตามต่างมีประสบการณ์แคล้วคลาดปลอดภัยกันมาแล้วกันอย่างแพร่หลายในบรรดา ลูกศิษย์ที่เคารพนับถือศรัทธาหลวงพ่อคูณ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ถือว่าเป็นพระเกจิแห่งสยามประเทศ และเป็นเทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ตามความศรัทธาของศิษยานุศิษย์อย่างแท้จริง. |