หัวข้อ: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเว่ยหล่าง พระนิกายเซน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 14, 2014, 02:51:05 am (http://www.kammatan.com/gallary/images/20140620131824_ajan_weu_lang.jpg)
ตัวรู้ ครั้งหนึ่ง ท่านเว่ยหล่างไปพักค้างแรมที่บ้านหลังหนึ่ง ขณะที่กำลังจะนอนพักผ่อนในช่วงบ่าย ได้ยินเสียงคนกำลังสวดมนต์ เลยลุกขึ้นไปถามผู้นั้นว่า “เจ้าเข้าใจความหมายของบทที่สวดหรือเปล่า” “บางตอนเข้าใจยากจริงๆ” ท่านเว่ยหล่างเลยอธิบายให้ฟังบางตอนของบทสวดว่า “เมื่อเราอยู่ในโลกแห่งมายาจอมปลอมนี้จนผมหงอกขาวหมดไปทั้งหัวแล้ว พวกเราต้องการอะไร? และเมื่อไฟแห่งชีวิตกำลังจะมอดลง ใจเต้นอ่อนลง และลมหายใจกำลังจะขาดรอนๆ อะไรคือสิ่งสุดท้ายที่เราหวัง? และเมื่อกายของเรากำลังเน่าเปื่อยอยู่ในสุสาน ธาตุกลับคืนสู่ธาตุ ธาตุดินสู่ดิน ชีวิตกลายเป็นสิ่งไร้ความรู้สึกในความว่างเปล่า... แล้วเราอยู่ที่ไหน?” คนที่สวดมนต์นั้นได้ชี้คำหลายคำในคัมภีร์ที่ไม่เข้าใจความหมายแล้วถาม... ท่านเว่ยหล่างยิ้มๆแล้วตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้หนังสือ ท่านถามมาเลยดีกว่า" คนๆนั้นรู้สึกแปลกใจแล้วพูดขึ้นว่า “ท่านอ่านหนังสือไม่ออก ท่านจะเข้าใจความหมาย เข้าใจหลักธรรมได้อย่างไร?” ท่านเว่ยหล่างตอบว่า “หลักธรรมของพุทธะ กับตัวหนังสือไม่เกี่ยวกัน ตัวหนังสือเป็นเพียงเครื่องมือที่จะเรียนรู้ สิ่งที่จะเข้าใจหลักธรรมคือจิต คือตัวรู้ ไม่ใช่ตัวหนังสือ" ท่านเว่ยหล่างรับตำแหน่งพระสังฆนายกโดยที่ยังไม่ได้บวช หลังรับตำแหน่งต้องหนีภัยจากพระที่เป็นศิษย์พี่ ไปอยู่ในป่ากับพรานป่า 15 ปี ถึงจะกลับมาในเมืองแล้วบวช หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเว่ยหล่าง พระนิกายเซน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 20, 2014, 01:16:38 pm (http://www.kammatan.com/gallary/images/20140620131824_ajan_weu_lang.jpg)
เล่าถึงการบรรยายธรรม ณ ห้องโถง วิหารไทฟัน ท่านเว่ยหล่างได้เล่าถึงประวัติของท่าน ซึ่งสนใจในทางธรรมจึงเข้าเป็นศิษย์ในพระสังฆปรินายกหวางยั่น ในระหว่างนั้น พระสังฆปรินายกหวางยั่น ได้มีประสงค์จะมอบตำแหน่งของตนให้กับศิษย์ผู้ที่แต่งโศลกได้เข้าถึงธรรม ในกาลนั้นศิษย์เอกของท่านสังฆปรินายกหวางยั่น ชื่อว่า ชินเชา ได้แต่งโศลกไว้บนกำแพงทางเดินดังนี้ " กายของเราคือต้นโพธิ์ ใจของเราคือกระจกเงาใส เราเช็ดมันโดยระมัดระวัง ทุกชั่วโมง และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ " ซึ่งต่อมาท่านเว่ยหล่างได้อ่านโศลกนี้ ได้ค้นพบว่า โดยจิตเดิมแท้แล้วนั้น โศลกที่ถูกต้องควรเป็นดัวนี้ " ไม่มีต้นโพธิ์ ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นจะลงจับอะไร? " โศลกนี้ถูกใจ สังฆปรินายกหวางยั่น เป็นอย่างมากท่านจึงได้มอบ วัชรสูตร จีวร และบาตร อันเป็นเครื่องหมายแห่งการสืบทอดสังฆปรินายก แก่ท่านเว่ยหล่าง หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเว่ยหล่าง พระนิกายเซน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 20, 2014, 01:26:36 pm วิปัสสนาปัญญา
ท่านฮุ่ยเหนิง เกิดในสมัยราชวงศ์ถัง สภาพชีวิตที่แร้นแค้นจึงไม่ได้รับการศึกษา อ่านหนังสือไม่ออก แต่เหตุไฉนเพียงได้ฟังวัชรสูตรเท่านั้น ปัญญาสว่างไสวและเกิดความศรัทธาในพุทธธรรม ประการแรกลองพิจารณาจากวัชรสูตรซึ่งเป็นสูตรสำคัญในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานซึ่งใจความสำคัญว่าด้วยการปล่อยวาง ครื่องร้อยรัดทั้งปวงให้หมด ไม่ยึดถือทั้งความดีและความชั่ว ไม่ปรารถนาในบุญ และบาป พระสูตรนี้สอนให้ วางทั้ง รูป และ นาม ถ้าเทียบเคียงกับพระสูตรในพุทธศาสนาฝ่ายหินยานก็ได้แก่ อนัตตลักขณสูตร ซึ่งเป็นการประกาศให้ปรากฎแก่เวไนยสัตว์ทั้งปวงถึง "ความไม่มีตัวตน" การพูดว่าทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่เป็นความว่างที่ปราศจากตัวตนจึงเป็นเรื่องยากที่ปุถุชนจะเกิดความเข้าใจ แต่ท่านที่บำเพ็ญให้จิตถึงซึ่งสภาวะแห่งธรรมชาติเดิมแท้แล้วก็เข้าใจแจ่มแจ้งได้เองว่า รูปที่มีอยู่นั้นในที่สุดก็ปราศนาการกลายเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ นามที่หลงยึดถือ เกียรติยศ ชื่อเสียง ในที่สุดก็เสื่อมถอยหมดไป ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพที่เกรียงไกรที่สุดในโลก สามารถนำกองทัพปราบปรามแว่นแคว้นต่างๆ ได้ราบคาบอยู่ภายใต้อำนาจ ของตนเอง บัดนี้ทั้งตัวแม่ทัพและชื่อเสียงนั้นก็ไม่มีใครรู้จักเลยแม้แต่คนเดียว ความมีอยู่ในสิ่งทั้งปวง จึงเกิดขึ้นแต่ "จิตผูกพันติดยึด" ทั้งสิ้นถ้าตัดความยึดถือลงไปได้หมดโดยเด็ดขาด สรรพสิ่งทั้งปวง จึงเป็น "อนัตตา" โดยแท้จริง สภาวะเช่นนี้ต้องใช้ปัญญาตัดความผูกยึดอันเป็น "อุปาทาน" การใช้ความรู้อย่างเดียว จึงไม่อาจตัดความยึดถือได้ เพราะเป็นการตัดแต่เพียงลมปากหากแต่จิตยึดอยู่เหนียวแน่น คุณนายคนหนึ่งได้เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์แห่งสำนักวิปัสสนา เธอจึงไปฝึกนั่งสมาธิจนจิตสว่างไสวเงียบสงบแสนดีใจยิ่งนัก จึงเข้าไปกราบ เรียนพระอาจารย์ว่า "อาจารย์เจ้าคะ อะไร ๆ อิฉันก็วางได้หมดแล้ว" "ยังงั้นเรอะ อีตอแหล" พระอาจารย์ตอบรับ ส่วนผู้ปล่อยวางด้วยลมปากพอได้ฟังวาจาของพระอาจารย์โทสะจริตเข้าครอบงำลุกขึ้นกระทืบเท้าแล่นลงจากอาศรมวิปัสสนาไปทันที การปล่อยวางใน "รูป" คือสิ่งที่มองเห็นได้นั้นไม่ยากจนเกินไป แต่การปล่อยวาง "นาม" อันสถิตอยู่ในจิตจึงเป็นเรื่องยากลำบากนัก ประการที่สองพิจารณาจากท่านฮุ่ยเหนิง ซึ่งมิได้เข้าเรียนพุทธธรรมที่ไหนเลย แม้แต่พระสูตรต่าง ๆ ก็มิได้ศึกษา แต่พอได้ฟังวัชรสูตรเท่านั้น จิตที่ติดยึดในสรรพสิ่งทั้งปวงก็หลุดพ้น เป็นเพราะ "ปัญญา" ของท่านสว่างไสวขึ้นมาเอง "ปัญญา" ที่ตัด อุปาทาน ความยึดถือทั้ง "รูป" และ "นาม" ลงไปได้นั้นย่อมมิใช่ปัญญาอย่างธรรมดาต้องผ่านการสั่งสมมานับหลายชาติ ในปัจจุบันมักได้ยินข่าวว่า เด็กอัจฉริยะ อายุเพียง 7 ขวบ สามารถศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ได้แต่สามารถคำนวณได้เก่งกว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ อย่างนี้เอาเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาวิจัยก็เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ แต่ตามหลักแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอันนี้เป็นสัจธรรมของสรรพชีวิต สามารถอธิบายปรากฎการณ์เช่นนี้ได้ สมัยราชวงศ์ชิงมีขุนนางตรวจการท่านหนึ่งแซ่สกุลว่า "เฉิน" เดินทางมาตรวจราชการทางภาคใต้ ระหว่างทางที่พักนั้นก็ฝันเห็นทางเดินในตรอกแคบ ๆ แห่งหนึ่ง เมื่อเดินเข้าไปก็พบหญิงชราคนหนึ่งกำลังผัดเส้นหมี่ด้วยกลิ่นที่หอมหวลชวนกินนัก ท่านขุนนางผู้นี้ฝันติดต่อกันถึงสามคืน เมื่อเดินทางมาถึงสถานที่ตรงตามฝันจึงเดินเข้าไปในตรอกเล็กๆ พบบ้านมีคุณยายคนหนึ่งกำลังผัดเส้นหมี่อยู่จึงเข้าไปถามว่า "คุณยายครับ ผัดเส้นหมี่ทำไม" "ยายผัดเอาไปไหว้ลูกสาวของยาย เขาชอบกิน" ขุนนางเฉินจึงขอเข้าไปดูห้องของลูกสาวที่ยายเก็บเอาไว้เพราะเป็นลูกสาวคนเดียวที่แกแสนรักแต่ก็หากุญแจห้องเปิดไม่ได้ แต่ขุนนางเฉินพลัน ก็บอกคุณยายว่า อยู่บนหลังตู้เสื้อผ้ามั้ง คุณยายก็หากุญแจพบตามที่ขุนนางเฉินบอกและแกก็พูดต่อไปว่า "ปกติยาย ผัดหมี่ไหว้ลูกสาวเพียงสองวันเท่านั้น แต่ทำไมครั้งนี้จึง อยากผัดอีกวันก็ไม่รู้" เมื่อเปิดเข้าไปในห้อง ขุนนางเฉินพบสมุดบันทึกที่แต่งโคลงกลอนเอาไว้ และก็ประหลาดนักเป็นโคลงกลอนอย่างเดียวกันที่ขุนนางแซ่เฉิน เคยแต่งเข้าสอบไล่ตำแหน่งจอหงวนท่านจึงเขียนต่อท้ายกลอนในสมุดเล่มนั้นว่า "วิชาความรู้เรียนแล้วสามารถเอาไปใช้ในชาติต่อไปได้" ท่านฮุ่ยเหนิงจึงไม่ต่างอะไรกับผู้ที่เคยบำเพ็ญปัญญาบารมีมาแล้วหลายชาติ ท่านจึงถามพระอาจารย์หงเหยิ่นว่า "หลวงพ่อครับ วิปัสสนายานเกิดขึ้นในใจของกระผมเสมอๆ เมื่อจิตมิได้ลอยเลื่อนไปจากธรรมญาณเดิมก็ควรเรียกเขาว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลกเช่นกัน หลวงพ่อจะให้กระผมทำอะไรครับ" ในครั้งนั้นพระอาจารย์หงเหยิ่นไล่ให้ท่านฮุ่ยเหนิงไปตำข้าวผ่าฟืนในครัวถึง 8 เดือน โดยท่านยอมรับในความรู้ทางทางพุทธธรรมของท่านฮุ่ยเหนิง หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเว่ยหล่าง พระนิกายเซน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 20, 2014, 01:28:08 pm ถือศีลแต่ตกนรก
ปุถุชนบำเพ็ญธรรมมักมีความเข้าใจผิดจึงปฏิบัติผิดๆ ต่อการรักษาศีลโดยเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสมาทานขอศีลจากพระภิกษุสงฆ์จึงเกิดความบริสุทธิ์และเป็นบุญกุศล บางรายขณะที่ตั้งจิตรับศีล ถ้าเห็นว่าข้อใดปฏิบัติมิได้ก็ไม่ยอมรับเพราะเห็นว่าการไม่รับแล้วไปปฏิบัติในสิ่งที่พระพุทธองค์ห้ามเอาไว้ไม่เป็นความผิด ความจริงพระพุทธองค์บัญญัติศีลห้ามิได้กำหนดสิ่งใหม่นอกเหนือสัจธรรมเลย ศีลห้าเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติของธรรมญาณ เพราะฉะนั้นใครจะรับ หรือไม่รับถ้าปฏิบัติผิดต่อสัจธรรมย่อมได้รับบาปเช่นเดียวกัน ท่านบรมปราชญ์ขงจื๊อกล่าวเอาไว้ว่า คุณธรรมสามัญของมนุษย์มีอยู่แล้วห้าประการคือ เมตตา มโนธรรม จริยธรรม ปัญญาธรรม และสัตยธรรม ในกรณีที่เรานั่งรถไปข้างคนขับรถและหมาขี้เรือนวิ่งตัดหน้าเราจะรีบบอกคนขับทันที "อย่าทับ อย่าทับ" วาจาที่เปล่งออกมาโดยตกใจลืมตัว จึงเป็นภาวะของธรรมญาณแท้ๆ ที่มีเมตตาอยู่แล้ว แต่หมาขี้เรื้อนตัวเดิมไปคาบไก่ที่บ้าน เราจะวิ่งไล่ตีเพราะอารมณ์โลภไก่ไปบิดบังเมตตาจนหมดสิ้น พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงจึงกล่าวโศลกเพื่อแสดงให้เห็นความเป็นจริงในข้อนี้ว่า "ผู้มีใจเที่ยงธรรม การรักษาศีลไม่เป็นสิ่งจำเป็น" ความหมายประโยคนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่มีใจเยี่ยงเดียวกับฟ้าดินไม่จำเป็นต้องรักษาศีล เพราะใจเช่นนี้เป็นจิตใจที่มีเมตตาต้องการโอบอุ้มทุกชีวิตเอาไว้เช่นเดียวกับฟ้าและมีความอดทนยอมรับความไม่ดีทั้งปวงได้จึงเหมือนดิน เพราะฉะนั้นผู้มีใจตรงต่อธรรมชาติเดิมแท้ แม้ไม่เคยได้ยินศีลจากภิกษุองค์ใดเลย เขาย่อมไม่ปฏิบัติผิด แต่ผู้ที่เห็นศีลเป็นของนอกกายต้องรับจากผู้อื่น ขณะที่รับศีลมาต้องปฏิบัติเคร่งครัดอย่างยิ่งยวด แต่พอสิ้นเวลาของการสมทานจึงปล่อยตัวปล่อยกายกระทำความชั่วเต็มตามอารมณ์กิเลสสทั้งปวง เพราะฉะนั้นถือศีลจึงมีโอกาสตกนรกได้มากกว่า สู้คนที่ไม่รู้จักศีลแต่ปฏิบัติต่อฟ้าดิน สัจธรรมด้วยความจริงใจมิได้ บางรายยังไม่ลงจากศาลาวัดก็แย่งกันนินทาหรือบางครั้งถึงขนาดตบตีหึงหวงกันวุ่นวายไปหมด บางรายหยาบคายร้ายกาจขาดสำรวม ที่เป็นดังนี้เพราะเห็นศีลเป็นของนอกกาย ถือได้วางได้ ศีลจึงมิได้เป็นเครื่องมือที่ขัดเกากิเลสทั้งปวง แต่กลับกลายเป็นเรื่องของการอวดถือเคร่งกว่ากันและกลายเป็นศีลอวดกันเท่านั้นเอง พระธรรมาจารย์ฮุ่ยเหนิงกล่าวต่อไปว่า "ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว การปฏิบัติในทางฌานมั่นมีมาเองแม้เราไม่ตั้งใจทำเพื่อให้ได้ฌาณ" ผู้ที่สามารถปฏิบัติได้ตรงแน่วย่อมต้องมีจิตใจตรงต่อสัจธรรมเสมอความสงบไม่หวั่นไหวของจิตจึงเกิดขึ้นได้ซึ่งโดยธรรมชาติเดิมแท้ของ "ธรรมญาณ" มีความสงบเป็นฌานอยู่ในตัวเองแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการบังควรที่หลับตาภาวนาเพื่อให้ได้ฌานเลย ผู้ที่ปฏิบัติไม่ตรงต่อสัจธรรมจึงเป็นผู้ที่วุ่นวายสับสนหนความสงบได้ยาก เพราะความฟุ้งเฟ้อแห่งจิตที่วิ่งไปตามอายตนะทั้งหกไม่หยุดหย่อน ผู้ที่ไม่พบธรรมญาณ จึงถูกหลอกลวงด้วยอำนาจจิตของตนเองโดยไม่รู้ตัว เพราะเขาประพฤติปฏิบัติแบบลวงโลกและยึดถือสิ่งลวงเป็นสิ่งจริง อำนาจจิตสามารถ สร้างรูปมากมายโดยที่ตนเองหารู้ไม่ว่ารูปเหล่านั้นเป็นมายากลับยึดถือเอาไว้และการแสดงออกย่อมผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติแท้ของธรรมญาณ การปฏิบัติที่ตรงต่ออารมณ์ความชอบของตนเองย่อมเบี่ยงเบนไปจากสัจธรรม ความคิดจึงเป็นอย่างหนึ่ง การกระทำจึงเป็นไปอีกอย่างหนึ่งไม่ตรงต่อความคิด วาจากลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าใครที่มีภาวะเป็นเช่นนี้ความสับสนและความทุกข์ย่อมครอบงำธรรมญาณ จนห่างไกลไปจากหลักของสัจธรรมตกไปสู่วัฏจักร์แห่งการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป คำกล่าวของพระอริยเจ้า เหลาจื๊อ แสดงให้ประจักษ์ชัดมานานนับเป็นพันๆ ปีว่า "ธรรมแท้ ไม่อาจกล่าวออกมาเป็นวาจาได้ ที่กล่าวออกมาจึงมิใช่ธรรมะ" การแสดงออกทั้งปวงที่ที่ปรุงแต่งออกมาจากจิตจึงผิดเพี้ยนไปจากธรรมะเพราะฉะนั้นฌาน ตามธรรมชาติของธรรมญาณ จึงไม่อาจปรากฏออกมาได้ ญาณ ที่กำหนดขึ้นด้วยจิตของตนเอง ย่อมผิดแผกไปจาก ฌานที่มีอยู่แล้วในธรรมญาณ เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติบำเพ็ญที่กำหนดญาณด้วยแรงภาวนาของตนเองจึงเป็น ฌาน เกิดขึ้นได้และเสื่อมได้เช่นกัน เพราะเป็นฌาน ที่กำหนดด้วยรูปแบบจึงมิใช่ของจริงตามสัจธรรม ศีลและฌาน จึงมีอยู่แล้วตามธรรมชาติของธรรมญาณ เพียงแต่ค้นพบธรรมญาณของตน ทุกสิ่งอย่างก็จักบริบูรณ์ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้วมิใช่หรือ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเว่ยหล่าง พระนิกายเซน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 20, 2014, 01:30:36 pm เว่ยหล่าง หรือ ฮุ่ยเหนิง
พระสูตรทางพระพุทธศาสนานิกายเซ็นที่โด่งดัง และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เห็นจะไม่มีพระสูตรใดเกิน "สูตรของท่านเว่ยหล่าง" เพราะได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายภาษาและได้รับความสนใจจากประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ของปัญญาชนเนื่องด้วยสูตรของท่านเว่ยหล่างล้วนแต่เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาเพื่อค้นหาหนทางแห่งความเป็นพุทธะ และเพื่อความหลุดพ้นไปจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงในโลกนี้ สูตรของท่านเว่ยหล่างได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยท่านพุทธทาสภิกขุ ตั้งแต่หมวด 1 ถึง 7 ส่วน หมวด 8 ถึง 9 คุณประวิทย์ รัตนเรืองศรี เป็นผู้แปล ทำไมจึงต้องศึกษาสูตรของท่านเว่ยหล่าง คำตอบก็คือ พระสูตรนี้ใครได้ศึกษาแล้วก็เป็นการเปิดสติปัญญาของตนให้สว่างไสวและ มีทัศนคติต่อพุทธศาสนาได้อย่างแจ่มชัดว่า แท้ที่จริงแล้วศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา โดยแท้จริง สำเนียงที่เรียกพระสังฆปรินายกองค์นี้ว่า "เว่ยหล่าง" ก็ดีหรือชื่อของท่านผู้บำเพ็ญอื่นใดในพระสูตรนี้ ล้วนแต่ใช้ทับศัพท์ อ่านออกเสียง เป็นภาษาจีน "กวางตุ้ง" ส่วนภาษาจีนกลางเรียกว่า"ฮุ่ยเหนิง" ท่านฮุ่ยเหนิงมีแซ่สกุลว่า "หรู" เป็นชาวมณฑลกว่างตง บิดาเป็นชาวเมือง ฟั่นหยาง ถูกถอดออกจากราชการและได้รับโทษเนรเทศไปอยู่เมืองซินโจวและถึงแก่กรรมขณะที่ท่านฮุ่ยเหนิงยังเล็กๆอยู่ สองแม่ลูกพากันโยกย้ายไปอยู่กว่างโจวท่านฮุ่ยเหนิงประกอบอาชีพตัดฟืนไปขายเพื่อเลี้ยงดูมารดา วันหนึ่งขณะที่นำฟืนไปส่งให้แก่เจ้าจำนำรายหนึ่งในตลาดพลันก็ได้ยินเสียงสวดมนต์ของชายคนหนึ่งอยู่ที่หน้าร้าน ซึ่งท่านฮุ่ยเหนิงเอาฟืนไปส่งนั่นเอง ชายคนนั้นสาธยายมนต์มาถึงถ้อยคำที่ว่า "พึงทำจิตมิให้มีความยึดถือผูกพันในทุกสภาวะ" เมื่อได้ยินถ้อยคำเช่นนี้จิตใจของท่านฮุ่ยเหนิงก็สว่างโพลงในพุทธธรรม จึงถามชายคนนั้นว่า "ท่านกำลังสวดอะไร" "เรากำลังสวดวัชรสูตร" "ท่านไปเรียนมาจากที่ไหน" "เราเรียนมาจากท่านอาาจารย์หงเหย่น แห่งวัดตงฉัน ตำบลหวงเหมย เมืองฉีโจว ท่านมีศิษย์อยู่เป็นพันๆ คน โดยสั่งสอนให้ศิษย์ทั้งหลายบริกรรมพระสูตรนี้ เพื่อจักได้ค้นพบธรรมญาณแห่งตนและเข้าถึงความป็นพุทธะ" ขณะที่ท่านฮุ่ยเหนิงกำลังซักไซร้ เรื่องราวด้วยความสนใจและแสดงความประสงค์ที่จะเดินทางไปเฝ้าพระอาจารย์หงเหย่น เพื่อเรียนพรระสูตรนี้ท่านมีความตั้งใจแน่วแน่มากจนชายใจบุญผู้อารีอยากสนับสนุนจึงให้เงินท่านฮุ่ยเหนิง 10 ตำลึงเพื่อนำไปให้มารดาไว้ใช้สอย ขณะที่ท่านฮุ่ยเหนิงไม่อยู่ และหลังจากที่ได้จัดแจงให้มีผู้ดูแลมารดาแล้วท่านก็มุ่งหน้าเดินทางไปยังวัดตงฉัน ตำบลหวงเหมยทันที ใช้เวลาเกือบสามสิบวันจึงถึงจุดหมาย เมื่อเข้าไปนมัสการพระอาจารย์หงเหยิ่น ท่านก็ถามว่า "เจ้ามาจากไหนหรือ และต้องการอะไร" "กระผมเป็นคนเมืองซินโจว มณฑลกว่างตง กระผมต้องการมากราบท่านอาจารย์และต้องการหาหนทางความเป็นธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเท่านั้น นอกจากนี้แล้วกระผมไม่ต้องการอะไรเลย" "เธอเป็นชาวกว่างตงหรือ เป็นคนป่าคนดงยังจะหวังเป็นพุทธะได้ยังไงกัน" "ทิศเหนือทิศใต้เป็นเพียงแบ่งทิศทาง แต่หาได้แบ่งแยกความเป็นพุทธะไม่กระผมแตกต่างไปจากท่านอาจารย์ก็ตรงที่ร่างกายเท่านั้นแต่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะไม่แตกต่างกันเลย" คำตอบของท่านฮุ่ยเหนิงได้ให้คำตอบในตัวเสร็จสรรพ โดยชี้ให้เห็นสัจธรรมอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ในโลกนี้ล้วนมีความเป็นพุทธะอยู่ในตัวเองทุกชาติทุกภาษา เพียงแต่ว่าเขารู้หรือยอมรับความเป็นพุทธะในตัวเองหรือไม่เท่านั้นคนจีน ไทย ฝรั่ง แขก นิโกร เสียงแต่ความดีใจและตกใจล้วนเปล่งออกมาเหมือนกัน นั่นแหละ เสียงของพุทธะในตัวเอง ซึ่งเป็นสากลไม่แตกต่างกันเลย หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเว่ยหล่าง พระนิกายเซน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 20, 2014, 01:43:11 pm โศลกอันลือเลื่อง
มนุษย์ที่ยังไม่ได้พบหนทางแห่ง “ธรรมญาณ” ย่อมสับสนถ้อยคำว่า “ความรู้” กับ “ปัญญา” เพราะเห็นเป็นเรื่องเดียวกัน แท้ที่จริงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน “ความรู้” เป็นความจำ อ่านมากฟังมากย่อมมีความรู้มากเป็น “สัญญาขันธ์” ที่ตกอยู่ในกฎแห่งความไม่เที่ยง พอมีกิเลสมากระทบความรู้ย่อมหายไปได้ง่ายๆ ส่วน “ปัญญา” เป็นอานุภาพของ “ธรรมญาณ” สามารถแยกแยะ “ผิด” หรือ “ถูก” ได้ แต่เพราะไม่พบหนทางแห่งธรรมญาณอันแท้จริงจึงมีปัญญา ทั้งที่ถูกและผิดต่อสัจธรรม ถ้าเปรียบไปแล้วเหมือนกองไฟมีเชื้อเพลิงคือฟืนโหมใส่มากเท่าใดความสว่างไสว ก็ย่อมมากขึ้นเป็นเงาตามตัว “ความรู้” จึงเปรียบเสมือนฟืน ส่วน “ปัญญา” คือแสงสว่างแห่งกองเพลิง ถ้าได้ฟืนดีแสงสว่างก็โชติช่วง แต่ถ้าได้ฟืนไม่ดี แสงสว่างก็มืดมัว ความรู้ดี ย่อมส่งผลให้เกิดปัญญาดี ความรู้ชั่ว จึงก่อให้เกิด ปัญญาชั่ว ส่วนท่านฮุ่ยเหนิงมิได้ร่ำเรียนพุทธธรรมมาก่อนเลย ครั้นได้ยินโศลกของท่านเสินซิ่วก็แยกเเยะออกด้วย สัมมาปัญญาว่า ยังเป็นโศลกที่ติดยึดอยู่ในรูปและนาม จึงวานให้เสมียน จาง ยื่อย่ง ช่วยเขียนโศลกซึ่งมีข้อความดังนี้ “ไร้กาย ไร้ต้นโพธิ์ ไร้จิต ไร้บานกระจก เดิมที่ไม่มีใดใด ฝุ่นจะจับลงที่ตรงไหน” ข้อความแห่งโศลกนี้ทำให้มหาชนในที่นั้นตื่นเต้นส่งเสียงสรรเสริญดัง ไปถึงพระอาจารย์หงเหยิ่น จึงออกมาดู ครั้นเห็นคนเหล่านั้นพากันเต็มตื้นด้วยความอัศจรรย์ใจ จึงถอดรองเท้าออกมาลบโศลกนั้นเสีย เพื่อแสดงให้ชนทั้งหลายเข้าใจว่า ท่านฮุ่ยเหนิงก็ยังมิใช่ผู้ค้นพบ “ธรรมญาณ” แห่งตน คนทั้งหลายจักได้พอใจไม่ทำร้ายด้วยจิตริษยา แต่โศลกอันลือเลื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นอย่างแจ่มชัดถึงสภาวะ แห่งรากฐานของธรรมมญาณแท้ตามธรรมชาติเป็น สุญญตา ไม่เกี่ยวเนื่องกับเหตุปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น จัดเป็นความว่างจาก “นาม” และ “รูป” โดยสิ้นเชิงและถ้าท่านฮุ่ยเหนิงมิได้เข้าถึงสภาวะนั้นย่อมไม่มีปัญญาแยกแยะ ชี้ให้ชนทั้งปวงเห็นถึงสัจธรรมแห่ง “ธรรมญาณ” วันรุ่งขึ้นพระอาจารย์หงเหยิ่นจึงรอบมาที่โรงครัวซึ่งขณะนั้นท่านฮุ่ยเหนิงกำลังใช้สากหินตำข้าว ซึ่งตามประวัติความเป็นมาได้บันทึกเอาไว้ว่า ท่านฮุ่ยเหนิงเป็นคนร่างเล็กเตี้ย แต่การตำข้าวด้วยครกกระเดื่องต้องใช้น้ำหนักของตัวเองเหยียบกระเดื่องให้สากตำข้าว ท่านจึงใช้แผ่นหินผูกเอวเพื่อเพิ่มน้ำหนัก ตามตำนานเล่าว่า ท่านฮุ่ยเหนิงตำข้าวจนเชือกบาดไหล่เป็นแผลมีน้ำเหลืองไหล หนอนที่กินน้ำเหลืองหล่นลงไปท่านยังจับให้หนอนขึ้นมากินน้ำเหลืองต่อไป โดยไม่ได้แสดงถึงความเจ็บปวด เหตุการณ์ตอนนี้ชี้ให้เห็นถึงสภาวะจิตเป็นหนึ่งอันเป็นสมาธิจิตสูงสุด ปล่อยวางตัวตนให้เหลือแต่ “ธรรมญาณ” แท้ๆ ที่ไม่มีอะไรมาปรุงแต่งได้อีกต่อไป พระอาจารย์หงเหยิ่นจึงถามว่า “ข้าวได้ที่หรือยัง” “ได้ที่นานแล้ว รออยู่แต่ตะแกรงสำหรับร่อนเปลือกเท่านั้น” ท่านฮุ่ยเหนิงตอบ คำโต้ตอบมีความหมายแฝงเร้นที่รู้เฉพาะกันสองท่านคือ ของพระอาจารย์หงเหยิ่นมีความนัยว่า สภาวะแห่งจิตได้เข้าที่วิปัสสนาญาณอย่างแท้จริงแล้วหรือ ส่วนคำตอบของท่านฮุ่ยเหนิงย่อมอธิบายว่า มีปัญญาญาณอันนิ่งสงบรออยู่แต่การชี้แนะหนทางของการปลดปล่อยให้เป็นอิสระอย่างแท้จริงเท่านั้น พระอาจารย์หงเหยิ่น จึงใช้ไม้เท้าเคาะครกตำข้าวสารทีแล้วเอามือไขว้หลังหันหลังเดินจากไป ปริศนาแห่งการเคาะครกตำข้าว ท่านฮุ่ยเหนิงก็ทราบดีถึงการบอกใบ้เพราะตามภาษาจีนอ่านออกเสียงว่า “ซันจิง” ปั้นเอวี้ย” ก็ความหมายว่า ยามสามเที่ยงคืนให้ไปพบ มือไขว้หลัง ก็หมายถึงเข้าทางประตูหลัง เมื่อท่านฮุ่ยเหนิงไปถึงห้อง พระอาจารย์หงเหยิ่นจึงใช้จีวรคลุมเพื่อบังมิให้ใครเห็นและถ่ายทอดธรรมอันเร้นลับ พิธีเช่นนี้คงมิได้มีความเพียงมิให้รู้ไปถึงบุคคลที่สามเท่านั้น เพราะการใช้จีวรคลุมทั้งๆ ที่อยู่ในห้องของพระอาจารย์หงเหยิ่น ซึ่งเร้นลับอยู่แล้ว ย่อมต้องมีความหมมายไปถึงการป้องกันภูติผีปิศาจ หรือมารร้ายทั้งปวงล่วงรู้ประตูแห่ง “อนุตตรธรรม” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดจากจิตสู่จิตอันเป็นต้นกำเนิดแห่ง “ธรรมญาณ” ซึ่งหมายถึง ต้นธาตุต้นธรรม พิจารณาจากรูปลักษณ์ย่อมหมายถึงศูนย์กลางกายอันเป็นต้นกำเนิดแห่งกายสังขาร และโยงใยไปถึงประตูเข้าออกของ “ธรรมญาณ” ซึ่งพระอาจารย์หงเหยิ่นเป็นผู้เปิด “ทวารแห่งธรรมญาณ” ให้แก่ท่านฮุ่ยเหนิง และอาศัยวัชรสูตรอธิบายให้เห็นถึงสภาวะแห่ง “ธรรมญาณ” อันเป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง พ้นไปจากความดีและความชั่ว เมื่อท่านฮุ่ยเหนิงรู้ “ญาณทวาร” สภาวะความเป็นแห่ง “ธรรมญาณ” จึงปรากฎขึ้น นับเป็นการตรัสรู้ธรรมโดยสมบูรณ์ ท่านจึงเปล่งวาจาออกมาว่า “แท้จริงทุกสิ่งอย่างในจักรวาลก็คือ ธรรมญาณมิใช่อื่นไกลเลย” ถ้อยคำนี้มีความหมายเช่นเดียวกับพระพุทธวจนะทรงกล่าวไว้ว่า “เราคือจักรวาล จักรวาลคือเรา” ความหมายอันแท้จริงคือ “ธรรมญาณ” มาจากศูนย์พลังแห่งธรรมชาติ ซึ่ง ก่อกำเนิดสรรพสิ่งอันประมาณมิได้ในจักรวาลนี้ ท่ามกลางฟ้าดิน มนุษย์จึงมีความศักดิ์สิทธิ์และมหัศจรรย์ที่สุด หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเว่ยหล่าง พระนิกายเซน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 20, 2014, 02:02:52 pm ศูนย์กลางจักรวาล
ตามตำนานพุทธศาสนาหินยานเล่าว่าเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูตรทรงดำเนิน 7 ก้าวแต่ละก้าวมีดอกบัวรองรับพระบาท ส่วนตำนานแห่งมหายานกลับมีเรื่องราวแตกต่างกันไปโดยเล่าว่าเจ้าชายสิทธัตถะยกพระหัตถ์ขวาชี้ฟ้า หัตถ์ซ้ายชี้ดินแล้วเปล่งพระวาจาว่า "ท่ามกลางฟ้าดิน เราเป็นใหญ่" ตำนานทั้งสองฝ่ายคงไม่มีใครเชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์เช่นนี้จริงๆ เพราะพระองค์ทรงเป็นมนุษย์ย่อมมีสภาพเฉกเช่น เดียวกับมนุษย์ทั้งปวง แต่ทั้งสองตำนานมีความประสงค์เพียงเพื่อแสดงปริศนาธรรมเป็นเครื่องส่งเสริมพุทธบารมีเท่านั้นเอง ปริศนาธรรมที่กล่าวว่า "ท่ามกลางฟ้าดิน เราเป็นใหญ่" นั้นความหมายที่พิเคราะห์กันในภายหลังล้วนชี้ให้เห็นความเป็นจริงว่ามนุษย์เป็นหนึ่งในจักรวาล เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งเหมือนอย่างที่ท่านฮุ่ยเหนิงกล่าวเอาไว้ว่า "สรรพสิ่งล้วนมาจากธรรมญาณทั้งสิ้น" ความว่างเป็นต้นกำเนิดของทุกสิ่งทุกอย่าง หากปราศจากความว่างเสียแล้ว ดวงดาวในจักรวาลมิอาจสร้างขึ้นมาได้เลย สภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" อันเป็นธรรมชาติเดิมแท้นั้นเป็นความว่างอันยิ่งใหญ่ มีอานุภาพสร้างสรรพสิ่งให้เกิดขึ้นมากมาย เหมือนอย่างที่ท่านเหลาจื้อพูดถึง เต๋า ว่า "เต๋า อยู่นิ่งๆ ไม่เกิดสรรพสิ่ง แต่พอเต๋าขยับตัว สรรพสิ่งจึงเกิดขึ้น" เต๋า คือ ธรรมะ สภาพเดิมเป็นความว่าง ไม่มีสรรพสิ่งอะไรอยู่เลยเหมือนกับ ลมพายุทอนาโด นักวิทยาศาสตร์เคยทดลองด้วยการบินทะลุเข้าไปสู่ศูนย์กลางของทอนาโด ปรากฎว่าเรือบินมิได้ขยับเขยื้อนเลย แต่รอบความว่างของพายุทอนาโดกลายเป็นแรงพลังมหาศาลทำลายทุกอย่างได้ชั่วพริบตา เหมือนอย่างสภาวะแห่ง "ธรรมญาณ" อยู่นิ่งๆ เป็นความว่างไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอขยับตัวคือ เริ่มต้นคิด จึงเกิด เรือบิน รถยนต์ รถไฟ ตู้เย็น พัดลม ทีวี โทรศัพท์ เป็นต้น โลกนี้ก้าวหน้าไปไกลแค่ไหนก็ล้วนแต่ไหลออกมาจากสภาวะ "ธรรมญาณ" ขยับตัวกลายเป็นจิตคิดและ "จิต" ตัวนี้จึงเป็น อนิจจังนั่นเอง เมื่อท่านฮุ่ยเหนิง กราบเรียนถามพระอาจารย์หงเหยิ่นว่าควรจะเดินทางไปที่ใดซึ่งได้รับคำตอบว่า "จงหยุดอยู่ที่ตำบล ไฮว๋ แล้วซ่อนตัวแต่ผู้เดียวที่ตำบล ฮุ่ย" พระอาจารย์หงเหยิ่น เดินทางเป็นเพื่อนท่านฮุยเหนิงมาจนถึงจิ่วเจียง และลงเรือลำหนึ่งโดยพระอาจารย์หงเหยิ่นแจวเรือด้วยตนเองท่านฮุ่ยเหนิงจึงขอร้องให้นั่งลงโดยจะแจวเรือเอง แต่พระอาจารย์หงเหยิ่นกลับกล่าวว่า "เป็นหน้าที่ของเราแต่ผู้เดียวที่จะพาท่านข้ามไป" "เมื่อกระผมยังตกอยู่ในอำนาจแห่งโมหะท่านอาจารย์จึงมีหน้าที่พากระผมข้ามไป แต่บัดนี้กระผมได้บรรลุธรรมจึงควรข้ามด้วยตนเอง" ท่านฮุ่ยเหนิงตอบพระอาจารย์หงเหยิ่นแล้วอธิบายต่อไปว่า "กระผมได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์ ได้รับมอบธรรมะ แปลว่ากระผมได้บรรลุธรรมแล้ว จึงมีหน้าที่พาตัวเองข้ามไปให้พ้นจากทะเลแห่งความเกิด-ตายด้วยการเห็นแจ้งในธรรมญาณของตนเองแล้ว" คำตอบของท่านฮุ่ยเหนิงเป็นการชี้ให้เห็นสัจธรรมแห่งการพึ่งตัวเองอย่างแท้จริง โดยอาศัยการรู้แจ้ง "ตัวจริง" จึงสามารถเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ แต่บรรดาผู้ปฏิบัติธรรมที่มิได้เห็นแจ้งใน "ธรรมญาณเดิม" จึงไม่อาจพึ่งพาตัวเองให้พ้นจากวิถีแห่งการเวียนว่ายตายเกิดในทะเลทุกข์ได้เลย ล้วนต้องพึ่งพาผู้อื่นเสมอไป พระอาจารย์หงเหยิ่น กล่าวรับรองคำตอบของท่านฮุ่ยเหนิงและพยากรณ์ว่าต่อจากนี้ไปอาศัยท่านฮุ่ยเหนิงเป็นเหตุ พุทธศาสนาจะแผ่ไปกว้างใหญ่ไพศาลนัก การรู้แจ้ง "ธรรมญาณ" แห่งตนจึงตกอยู่ในสภาวะศูนย์กลางแห่งจักรวาล เพราะ "ธรรมญาณ" เดิมมีต้นกำเนิดมาจากศูนย์พลังแห่งธรรมชาติซึ่งหาขอบเขตแห่งความสิ้นสุดมิได้ และหาเส้นผ่าศูนย์กลางในจุดเล็กๆ ไม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าไม่ถึงสภาวะแห่งธรรมญาณของตนเองจึงกลายเป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยอุปาทานเพราะยึดมั่นถือมั่นในสรรพสิ่งทั้งปวงจึงขาดความเป็นอิสระที่แท้จริงไม่อาจพึ่งพาตนเองได้เลย การศึกษาพระพุทธศาสนาจึงอาศัยคัมภีร์ทั้งปวงและเพรายึดคัมภีร์จึงกลายเป็นเหตุมีความเห็นแตกต่างกันจนทะเลาะวิวาทแตกแยกเป็นนิกายร้อยแปดต่างผูกมัดรัดรึงตนเองอยู่กับความเชื่อที่ตำราเหล่านั้นบ่งชี้ไว้โดยเห็นเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เลย แต่บางรายก็ตีความตามอารมณ์ปรารถนาของตนฝ่ายเดียวและยึดถือว่าถูกต้อง ใครมีความเห็นแตกต่างกลายเป็นศัตรูอันทำลายให้ย่อยยับลงไป ความเห็นแก่ตัวเยี่ยงนี้จึงมิใช่ธรรมะ อักษรจีนคำว่า "เต๋า" มีความหมายล้ำลึกดังนี้ / หมายถึง ชั่ว หรือลบ / หมายถึง ดีหรือบวก รวมเป็น หนึ่ง จึงไม่มีทั้งดีและชั่วและอยู่ที่หัว ของตนเอง และต่างต้องเดินไปด้วยตนเอง การพึ่งตัวเองจึงมีความหมายชัดเจนว่า สภาวะจิตเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาลเมื่อใดเมื่อนั้นแหละจึงเป็นที่พึ่งแห่งตนและชนทั้งหลาย หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเว่ยหล่าง พระนิกายเซน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 20, 2014, 02:23:34 pm สัจธรรมแห่งการกินเจ
ภายหลังที่พระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว พระพุทธศาสนาได้แผ่เข้าไปในประเทศจีนแยกออกเป็นนิกาย "อาจารยวาท" หรือ "มหายาน" และขยายมาทางใต้ของอินเดียถือว่าเป็นเถรวาท หรือหินยาน ฝ่ายมหายานยึดหลักแห่งเมตตาธรรมมีวัตรปฏิบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือฉันภัตตาหารเจ คัมภีร์สำคัญของมหายาน 4 พระสูตรซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธวจนะ ได้บัญญัติห้ามการกินเนื้อสัตว์คือ หัสติกักสยะ, มหาเมฆะ, นิรวาณางคุลี มาลิกา แลละ ลังกาวตาร ท่านพุทธทาสได้แปลบางตอนในลังกาวตารสูตรมีความว่า "โอ มหาบัณฑิต ในวัฏสงสารอันไม่มีใครทราบที่สุดในเบื้องต้นนี้สัตว์ผู้มีชีพได้พากันท่องเที่ยวไปในการเวียนว่าย ในการเกิดอีก ตายอีก ไม่มีสัตว์แต่ตัวเดียวที่ในบางสมัย ไม่เคยเป็น แม่ พ่อ พี่ชาย น้องชาย พี่หญิงน้องหญิง ลูกชาย ลูกหญิง หรือเครือญาติอย่างอื่นๆ แก่กัน สัตว์ตัวเดียวกัน ย่อมถือปฏิสนธิในภพต่างๆ เป็นกวาง หรือสัตว์ สองเท้า สัตว์สี่เท้าอื่นๆ เป็นนกฯลฯ ซึ่งยังนับได้ว่าเป็นเครือญาติ ของเราโดยตรง สาวกแห่งพระพุทธศาสนาจะทำลงไปได้อย่างไรหนอ จะเป็นผู้สำเร็จแล้วหรือยังเป็นสาวกธรรมดาอยู่ก็ตาม ผู้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้ทั้งหมดเป็นภราดรของตน แล้วจะเชือดเถือเนื้อหนังของมันอีกหรือ" และอีกบางตอนมีความว่า "..เพราะฉะนั้น เนื้อทุกชนิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคสำหรับพุทธศาสนิกชนผู้ปรารถนาจะมีสาธุคุณในทางจิต ทั้งเพื่อตนเอง และผู้อื่น นักกินเนื้อย่อมเป็นเหยื่อแห่งโลกหลายชนิด เช่น โรคไส้เดือน โรคพยาธิ โรคเรื้อน ใครเจ็บในท้อง ฯลฯ โอ มหาบัณฑิต เรากำลังประกาศว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นการกินเนื้อบุตรของตนเองอยู่ดั่งนี้ แล้วจะกล่าวไปอย่างไรได้ ที่เราจะบัญญัติให้สาวกของเรากินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นของจัดไว้ต้อนรับของพวกคนใจอำมหิตเป็นของถูกห้ามโดยท่านสัตบุรุษทั่วไป เต็มไปด้วย มลทิน ปราศจากคุณธรรมใดๆ ไม่เหมาะที่จะบริโภคสำหรับผู้บริสุทธิ์ และเป็นของควรห้ามเด็ดขาดโดยประการทั้งปวง" และปัญหาที่ถกเถียงกันไม่เป็นข้อยุติคือ ระหว่างผู้ฆ่า กับผู้กิน ใครคือผู้รับบาป ในลังกาวตารสูตรได้กล่าวเอาไว้ชัดเจนว่า "เขาผู้ฆ่าสัตว์ชนิดใดๆ ก็ตามเพื่อเงิน และเขาผู้ซึ่งจ่ายเงินซื้อเนื้อนั้น ทั้งสองพวกได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบอกุศลกรรม จักจมลงในนรกโรรวะ และนรก ฯลฯ ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายหินยานยึดถือเอาคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งแต่งเมื่อประมาณ พ.ศ.900 ได้กำหนดโดยอ้างว่าเป็นพระพุทธวจนะห้ามเสพเนื้อสัตว์สิบอย่างคือ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี และเนื้อเสือดาว นอกนั้นฉันได้แต่ต้องไม่อยู่ในข้อกำหนดอีกสามประการคือได้ยิน ได้เห็น และเจาะจง แต่ตามหลักฐานค้นพบใหม่กล่าวว่า พุทธศาสนาหินยานแต่เดิมนั้น มิได้ฉันเนื้อสัตว์ โดยมีหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงลังกา 3 ครั้ง พระสายลังกาวงศ์แท้ จึงไม่เสพเนื้อสัตว์ แต่พอไปจากสยามวงศ์ในภายหลังจึงหันมาฉันเนื้อสัตว์ ปัญหาที่ค้างคาใจพุทธศาสนิกชนก็คือ พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์ หรือไม่ ผู้ที่ตอบว่า "เสวย" กับ "ไม่เสวย" ต่างไม่เคยเห็นพระพุทธองค์เสวย เพราะฉะนั้นผู้ไปจึงเป็น "ทุวาจา" คือ คำพูดชั่วก่อนรกให้แก่ตัวเอง แต่มีข้อควรพิจารณาด้วยปัญญาของตนเองอยู่ 3 ประการคือ ประการแรก อาหารสามมื้อของพระพุทธองค์เป็น ภัตตาหารมังสวิรัติ ทั้งสิ้น คือ ก่อนตรัสรู้เสวยข้าวมธุปายาส ซึ่งนางสุชาดานาถวายรุกขเทวดา ตรัสรู้แล้วนายวานิชสองพี่น้องนำข้าว สัตตุผงมาถวาย และมื้อสุดท้ายที่เป็นปัญหาคือ "สุกรมัทวะ" ที่นายจุนทะนำมาถวายนั้นแปลกันว่า "เนื้อสุกรอ่อน" เป็นคำแปลที่ผิดท่านพุทธทาสภิกขุ แปลว่า "สิ่งที่หมูชอบ" คือเห็ดชนิดหนึ่งฝังอยู่ใต้ดินภาษาปักษ์ใต้เรียกว่า "ลูกบุก" ภาษาอังกฤษเรียกเห็ดชนิดนี้ว่า Truffle มีสีดำกับสีน้ำตาล เวลาหาเห็ดชนิดนี้ต้องพาหมูไปด้วย เพราะจมูกหมูไวต่อกลิ่นเห็ดนี้เป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่า ภัตตาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธองค์เป็นหมู หรือ เห็ด ประการที่สอง ปัญหาที่พระเทวทัตทูลขอต่อพระพุทธองค์ให้บังคับสาวกทั้งปวงฉันอาหารมังสวิรัติ และพระพุทธองค์ ทรงไม่อนุมัติตามคำขอนี้มาแปลความว่า พระภิกษุฉันอาหารเนื้อสัตว์เป็นปกติ ทำไมจึงไม่แปลความหมายว่า การที่พระพุทธองค์ทรงไม่อนุมัติเพราะการบังคับย่อมเป็นไปไม่ได้ เนื่องด้วยการกินเป็นเรื่องเฉพาะตัวบังคับกินไม่ได้ถ้าหากกฎขึ้นมาแล้ว ย่อมมีผู้รักษากฎการกินเป็นเรื่องที่ต้องคุมตัวเองไม่มีใครคุมใครได้ ประการสุดท้ายพระพุทธองค์ทรงสอนเวไนยสัตว์ทั้งปวงให้รักษาเบญจศีลซึ่งข้อที่หนึ่งคือ ห้ามเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เมื่อพระพุทธองค์สอนเช่นนี้ ย่อมปฏิบัติได้เป็นนิจศีลอยู่แล้ว หากเสวยเนื้อสัตว์ย่อมอยู่ในฐานะสอนอย่างหนึ่งแต่ปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ย่อมถูกตำหนิติเตียนจากผู้คนของลัทธิอื่นอย่างแน่นอน ถึงจะกินโดยจิตว่างไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ลองใคร่ครวญจากคำพูดต่อไปนี้ "กินหมูก็อย่าหมายความว่าเป็นหมู ก็ไม่บาป" คนกินหมูพูดอย่างนี้ "หมูมันยินยอมพร้อมใจให้หมายอย่างนี้หรือ" คนไม่กินหมูตอบ การกินเนื้อกับกินผักเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันไม่มีข้อยุติเพราะต่างก็มีเหตุผลของตนเอง เพราะฉะนั้นควรยุติปัญหานี้ด้วยการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันใครมีสติปัญญาเห็นอย่างไรก็กินไปตามที่ตนเองเชื่อเพราะตามสัจธรรมใครประกอบกรรมเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้นไม่จำเป็นต้องมาทะเลาะกันด้วยความเห็นที่แตกต่างกันเลย เมื่อท่านฮุ่ยเหนิงมาถึงตำบลเฉาซี คนใจบาป พยายามตามมาจองเวรเพื่อหวังทำลายล้าง ท่านฮุ่ยเหนิงจึงต้องหลบซ่อนอยู่ที่ ซื่อฮุยกับพวกพรานป่า นานถึง 15 ปี ช่วงเวลานี้ท่านก็พยายามสั่งสอนพรานป่าเท่าที่จะสอนได้ แต่บางเวลาพรานป่าใช้ท่านฮุ่ย- เหนิงนั่งเฝ้าตาข่ายดักจับสัตว์ พอเห็นสัตว์มาติดตาข่ายท่านก็ปลดปล่อยให้สัตว์นั้นรอดชีวิตไป ท่านฮุ่ยเหนิงกินเจเวลาหุงต้มอาหาร ท่านก็นำผักใส่ตะกร้าแล้วใส่ไปในหม้อต้มเนื้อของพรานป่า "และถ้าผักแกงรวมอยู่กับเนื้อจะทำอย่างไร" "เราก็จะเลือกกินแต่ผักอย่างเดียว" ท่านฮุ่ยเหนิงตอบ ท่านฮุ่ยเหนิงบรรลุธรรมจึงแจ้งชัดในสุจธรรมแห่งการเวียนว่ายตายเกิดมิได้มีความสงสัยในชาติกำเนิดสี่ภูมิวิถีหก ที่สรรพสัตว์ต้องไปเวียนว่ายเพราะฉะนั้นจึงตัดพันอันต้องเกี่ยวพันกันโดยการไม่กินเนื้อสัตว์ ประการสำคัญแสดงให้เห็นถึงมหาเมตตายอมลำบากด้วยตัวเอง แทนที่ให้สรรพสัตว์ทั้งปวงต้องทุกข์ยาก บาดเจ็บ สูญเสียชีวิต ด้วยความอาฆาตพยาบาทและจองเวรกันไม่มีที่สิ้นสุด นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผักที่ท่านฮุ่ยเหนิงแช่ลงไปในหม้อต้มเนื้อของพรานป่าคงได้ชื่อว่า "ผักขะน้า" มาจนถึงทุกวันนี้ หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเว่ยหล่าง พระนิกายเซน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 20, 2014, 02:40:07 pm บรรลุอย่างฉับพลัน
นับแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณทรงเผยแผ่คำสอนอยู่ 45 พรรษา และถ่ายทอด "ประตูอนุตตรธรรม" แก่พระมหากัสสปะเพื่อรักษาสายธรรมะอันสูงสุดเอาไว้แต่เพียงท่านเดียว ภายหลังที่พระพุทธองค์ทรงเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว คำสั่งสอนได้เผยแผ่ออกไปทุกทิศานุทิศและแบ่งออกเป็นสองนิกายใหญ่ๆ โดยแผ่จากอินเดียทางเหนือเข้าสู่ประเทศจีนกลายเป็นมหายานและแตกออกเป็นนิกายต่างๆ อีกมากมาย ส่วนที่แผ่ลงมาทางใต้ของอินเดียนั้นล้วนเป็นภาษาบาลีและกลายมาเป็นหินยานซึ่งก็แบ่งออกเป็นหลายนิกายอีกเช่นกัน แต่ทั้งสองนิกายใหญ่นี้มีจุดศูนย์รวมอยู่ที่การนับถือพระพุทธองค์เป็นพระศาสดาเหมือนกัน การสังคายนาคำสอนของพระพุทธองค์และจัดหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบจนกลายมาเป็น พระไตรปิฎก แปลว่าคัมภีร์สามอย่างคือ พระวินัยปิฎก ว่าด้วยศีลของพระภิกษุ ภิกษุณี พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่วๆ ไป พระอธิธัมมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วนๆ หรือธรรมะอันยิ่ง ในส่วนของพระวจนะของพระพุทธองค์ซึ่งกลายมาเป็นพระธรรมคำสอนนั้น มิใช่สภาวะแห่งการตรัสรู้แต่เป็นผลแห่งการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้ "อนุตตรธรรม" เท่านั้น คำสอนในพระไตรปิฎกจึงเป็นเพียงความรู้ มิใช่ปัญญาอันแท้จริงที่ทำให้ตัดกิเลสทั้งปวงได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนมีอยู่สองเรื่อง คือ พระโปฐิละ อันเป็นฉายาที่ได้มาจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญในคำสอนของพระพุทธองค์นำมาสั่งสอนผู้คนจนมีลูกศิษย์มากมาย แต่พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า "คุณใบลานเปล่า" และในที่สุดต้องไปหาศิษย์ซึ่งเป็นเณรอายุ 7 ขวบ ผู้บรรลุธรรมแล้วเพื่อปฏิบัติให้บรรลุธรรมด้วย ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ พระอานนท์ พุทธอุปฐากซึ่งพระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นผู้มีความจำดีเลิศ แต่ในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่พระอานนท์มิได้บรรลุธรรมใดๆ เลย เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้วในเวลาสามเดือนได้เพียรพยายามปฏิบัติจนบรรลุได้ก่อนที่จะมีการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งแรก คำสอนของพระพุทธองค์ที่ตกทอดกันมาแต่โบราณกาลจึงเป็นเพียงความรู้ ส่วนปัญญาตรัสรู้เป็นอีกสภาวะหนึ่งอันไม่สามารถบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรหรือวาจาใดๆ ได้เลย แต่มีการถ่ายทอดสสายแห่งการตรัสรู้เพื่อเป็นการสืบสายอนุตตรธรรมไว้แต่เพียงสายเดียว นับแต่พระมหากัสสปะได้รับถ่ายทอดจากพระพุทธองค์และสิ่งต่อๆ กันมาตามลำดับ นับได้จนถึงพระโพธิธรรมเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 28 พระโพธิธรรมได้เดินทางไปสู่ประเทศจีนจึงถือว่าเป็นองค์ที่หนึ่งของจีนและถ่ายทอดต่อไปจนถึงองค์ที่ 6 คือ ท่านฮุ่ยเหนิง หลังจากที่ท่านเจ้าอาวาสแห่งวัดฝ่าซิ่งได้สดับอรรถาธิบายจากท่านฮุ่ยเหนิงแล้วจึงกล่าวว่า "คำอธิบายพระสูตรที่ข้าพเจ้าอธิบายไปแล้ว ไร้ค่าเปรียบได้เช่นกองขยะมูลฝอยเกะกะไปหมด ส่วนคำอธิบายของท่านมีคุณเปรียบประดุจดังทองคำอันบริสุทธิ์" หลังจากนั้นท่านอิ้นจงจึงจัดการอุปสมบทให้ท่านฮุ่ยเหนิงได้เป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา และขอร้องให้รับท่านเอาไว้เป็นศิษย์คนหนึ่งด้วย ท่านฮุ่ยเหนิงได้กล่าวว่าเป็นเพราะบุญสัมพันธ์แต่อดีตชาติบรรดาสาธุชนทั้งปวงจึงได้สดับคำสอนแห่ง "สำนักบรรลุฉับพลัน" อันเป็นคำสอนที่ได้สืบทอดต่อๆ ลงมาจากพระสังฆปริณายกองค์ก่อนๆ มิใช่เป็นคำสอนที่ท่านคิดขึ้นเอง "ผู้ปรารถนาสดับพระธรรมชั้นแรกจึงควรชำระใจของตนให้บริสุทธิ์ ครั้นได้ฟังแล้วจึงควรชะล้างความสงสัยให้เกลี้ยงเกลาไปเฉพาะตนเยี่ยงเดียว กับพระอริยะทั้งหลายที่ได้กระทำมาในกาลก่อน" การบรรลุอย่างฉับพลันอันถือเป็นต้นกำเนิดแห่งพระพุทธศาสนานิกายเซ็น ซึ่งแพร่หลายจากเมืองจีนเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นนั้นกล่าวได้ว่า คำสอนของท่านฮุ่ยเหนิงล้วนมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางนัก เพราะเป็นคำสอนที่มุ่งเข้าสู่จิตเพียงสถานเดียว มีปริศนาธรรมให้ใช้ปัญญาขบคิดจนกว่า ปัญญาของตนสว่างขึ้นมาเอง ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแห่งความรู้แจ้งชัดในธรรมญาณของตน ตัวอย่างของปริศนาธรรมหรือ โกอาน มีอยู่มากมายล้วนแต่ต้องใช้ปัญญาและเวลาในการขบคิดบางเรื่องใช้เวลา สิบปี ยี่สิบปี ก็ขบไม่แตก แต่บางคนเพียงแวบเดียวก็สว่างไสวในธรรมญาณของตนเป็นผู้รู้แจ้ง ทันที บางอาจารย์ใช้วิธี "ตบและตี" จนปัญญาของศิษย์สว่างขึ้นมาก็มี "อาจารย์ครับ ธรรมะคืออะไร" ลูกศิษย์อาจารย์เซ็นถาม อาจารย์เซ็นไม่ตอบตรงๆ แต่กลับใช้ฝ่ามือฟาดเปรี้ยงจนลูกศิษย์ล้มคว่ำลงไป แต่ลูกศิษย์ก็ยังคงงงๆ อยู่อาจารย์จึงหยิบไม้เท้าฟาดโครมซ้ำลงไปอีกที คราวนี้ลูกศิษย์ร้องโอยและรู้แจ้งในทันทีว่า "ธรรมะคืออะไร" ความเจ็บตัวทำให้เกิดความรู้และ "บรรลุอย่างฉับพลัน" เพราะเกิดความเข้าใจในทันทีว่า "อ๋อ ตัวที่ร้องโอ๊ยและเจ็บก็คือ ธรรมญาณ นั่นเอง" หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย ท่านเว่ยหล่าง พระนิกายเซน เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 20, 2014, 02:53:30 pm เอกธรรมมรรค
เมื่อท่านฮุ่ยเหนิงเห็นว่าถึงเวลาเผยแพร่ธรรมะจึงเดินทางมาถึงวัดฝ่าซิ่งแห่งนครกว่างตง ในขณะนั้นพระธรรมาจารย์อิ้นจงซึ่งเป็นเจ้าอาวาสกำลังเทศนาว่าด้วยมหาปรินิรวาณสูตร และธงริ้วกำลังโบกสะบัดพริ้วๆ พระภิกษุสองรูปก็โต้เถียงกันว่า "ผมว่าธงกำลังสั่นไหว" "หลวงพี่เข้าใจผิด แท้ที่จริงลมมันไหวต่างหาก" พระทั้งสองรูปต่างโต้เถียงไม่ยอมแพ้แก่กันและไม่มีทีท่าว่าจะตกลงกันได้ เพราะต่างยึดถือความเห็นของตนเองเป็นใหญ่และถูกต้อง ท่านฮุ่ยเหนิงจึงเสนอข้อตัดสินว่า "ผมว่าท่านทั้งสองเข้าใจผิดแล้ว สิ่งที่สั่นไหวนั้นไม่ใช่ธงและลม แท้ที่จริงเป็นจิตของท่านทั้งสองต่างหาก" ที่ประชุมในขณะนั้นต่างตื่นตะลึงต่อถ้อยคำของท่านฮุ่ยเหนิงเจ้าอาวาสอิ้นจงจึงอาราธนาให้ขึ้นนั่งบนอาสนะอันสูง แล้วซักถามปัญหาสำคัญๆ ในพระสูตรต่างๆ เมื่อได้รับคำตอบอันชัดแจ้งซึ่งมีค่าสูงกว่าความรู้ที่ได้จากตำรา พระธรรมาจารย์อิ้นจงจึงกล่าวว่า "ท่านต้องเป็นบุคคลที่มิใช่ธรรมดา อาตมาได้ฟังข่าวมานานแล้วว่า บุคคลผู้ซึ่งได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์ และธรรมะจากพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า บัดนี้ได้เดินทางลงมาทางทิศใต้เห็นทีท่านจะเป็นบุคคลผู้นั้นแน่แล้ว" ท่านฮุ่ยเหนิงแสดงกริยาตอบรับโดยอ่อนน้อม เจ้าอาวาสอิ้นจงจึงทำความเคารพและขอให้นำเอาผ้าและบาตรที่ได้รับมอบออกมาให้ที่ประชุมดูพร้อมทั้งซักถามว่า "เมื่อครั้งที่พระสังฆปริณายกองค์ที่ห้ามอบธรรมะอันเร้นลับสำหรับพระสังฆปริณายกให้แก่ท่านนั้น ท่านได้รับคำสั่งสอนอย่างใดบ้าง" "นอกจากการชี้ให้เห็นแจ้งชัดในธรรมญาณแล้ว ท่านมิได้ให้คำสอนอะไรเลย ท่านมิได้เอ่ยแม้คำว่าฌาณและวิมุติ" ท่านฮุ่ยเหนิงตอบ "เอ๊ะ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น" อาจารย์อิ้นจงสงสัย "เพราะมันจะทำให้เกิดความหมายว่า มีหนทางขึ้นทั้งสองหนทาง ในทางพุทธธรรมจะมีสองทางไม่ได้ มันมีแต่ทางเดียวเท่านั้น" "ที่ว่ามีแต่ทางเดียวนั้นคืออะไร อาจารย์อิ้นจงถาม "ก็ในมหาปรินิรวาณสูตรที่ท่านเทศนาอยู่นั่นเองก็ชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่าธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของทุกคน นั่นแหละคือทางเดียว ตัวอย่างตอนหนึ่งของพระสูตรนั้นมีว่าพระเจ้าเกากุ้ยเต๋อ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระภิกษุผู้ล่วงปาราชิกสี่อย่างหรือทำอนันตริยกรรมห้าอย่างและพวกมิจฉาทิฏฐินอกศาสนาก็ดี คนเหล่านี้จะได้ชื่อว่าถอนรากเง่าแห่งความมืดและทำลายธรรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของตนเสียแล้วโดยสิ้นเชิงหรือไม่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า รากเง่าแห่งความดีนั้นมีอยู่สองชนิดคือ ถาวรตลอดอนันตกาล กับไม่ถาวร แต่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้นจะเป็นของถาวรตลอดอนันตกาลก็ไม่ใช่จะว่าไม่ถาวร ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นรากเง่าแห่งความดีของเขาจึงไม่ถูกถอนขึ้นโดยสิ้นเชิง ท่านฮุ่ยเหนิงได้อธิบายสืบต่อไปว่า "บัดนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพุทธธรรมมิได้มีสองทาง แต่ที่ว่ามีทางฝ่ายดีและฝ่ายชั่วนั้นจริงอยู่ แต่เหตุเพราะธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเป็นของไม่ดี ไม่ชั่ว เพราะฉะนั้นพุทธธรรมจึงไม่มีถึงสองทางตามความคิดของปุถุชนย่อมเข้าใจว่าส่วนย่อยๆ ของขันธ์และธาตุทั้งหลายย่อมแบ่งออกเป็นสองทาง แต่ผู้ที่บรรลุธรรมแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าสิ่งเหล่านั้นตามธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะไม่เป็นของคู่เลย" เหตุแห่งปาราชิกมี 4 อย่างคือ 1. เสพสังวาสกับมนุษย์หรือสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือเป็นศพ 2. ฆ่ามนุษย์ 3. ขโมยหรือคดโกงทรัพย์ตั้งแต่ 1 บาสก 4. อวดธรรมวิเศษที่ไม่มีในตนเอง ความชั่วที่ถือว่าเป็นอนันตริยกรรมมีอยู่ 5 อย่างคือ 1.ฆ่าพ่อ 2.ฆ่าแม่ 3.ฆ่าพระอรหันต์ 4.ทำให้เกิดสังฆเพทคือพระสงฆ์ แตกแยก 5.ทำให้พระพุทธองค์ห้อพระโลหิต กรรมทั้งห้าประการนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสที่สุด แต่ธรรมชาติของพระพุทธะก็มิได้ถอนทิ้งไปจากใครเลย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ พระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ได้รับคำสรรเสริญว่าเป็นผู้ที่เลิศฤทธิ์ ในอดีตชาติเคยกระทำ ปิตุฆาต และ มาตุฆาต คือฆ่าพ่อแม่ของตนเอง เพราะหลงคำยุยงของภริยาที่รังเกียจพ่อแม่ตาบอด พระโมคคัลลานะ จึงลวงพ่อแม่ของตนไปฆ่าด้วยการผลักตกเหว ด้วยอนันตริยกรรมในครั้งนั้นมีผลให้พระโมคคัลลานะ ต้องตกอยู่ในอเวจีนรกนับเป็นกัปกัลป์แต่เมื่อมาเกิดเป็นพระโมคคัลลานะก็ได้บวชในพระพุทธศาสนาและสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระโมคคัลลานะระลึกอดีตชาติได้อย่างนี้จึงยอมให้โจรจับแล้วทุบด้วยท่อนไม้จนกลายแหลก และละเอียดดับขันธ์ปรินิพพานแต่สภาวะแห่งธรรมญาณเดิมมิได้แหลกละเอียดไปด้วย กายเนื้อถูกทำลาย แต่เพียงอย่างเดียว ธรรมชาติของธรรมญาณ ไม่มีใครทำลายลงไปได้เพราะฉะนั้นไม่ว่าจิตก่อกรรมหนักเพียงใดก็ไม่มีผลแห่งการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ ของธรรมญาณเลย ธรรมญาณ เป็น ธรรมะอันแท้จริงของตนเอง เพราะฉะนั้นจึงเป็นแต่เพียงหนทางเดียว มิได้เป็นหนทางคู่ เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาวะดั้งเดิมของธรรมญาณ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่า เพราะธรรมญาณ เป็น อสังขตธรรมไม่มีรูปลักษณ์ใดๆ เพราะเหตุนี้จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้เลย หนทางอันแท้จริง ของธรรมญาณจึงเป็น "เอกธรรมมรรค |