จากที่ได้พูดคุยกับแม่ชี และเด็กๆ
พอสรุปได้ว่าเด็กๆกลุ่มนี้ ปัญหาสำคัญคือเรื่องของชนกลุ่มน้อย
ที่ยังไม่มีการรับรองสิทธิตามพลเมืองประเทศไทย
เด็กบางคนคลอดในประเทศไทย เด็กบางคนข้ามชายแดนมากับพ่อแม่
แต่ที่ข้ามมาก็ไม่ได้ผ่านขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย
พ่อแม่พากันข้ามมาทางป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
อาศัยรับจ้างเฝ้าเรือกสวนไร่นาตามตะเข็บชายป่าของพวกชาวบ้าน
สิ่งที่เรานำไปมอบให้เขา ยังนับว่าเล็กน้อยมาก
หากเปรียบเทียบกับสิทธิพลเมืองที่เขาต้องการ
ถึงแม้จะไม่สามารถให้สัญชาติโดยง่ายดาย
แต่ตามชายแดนจะมีบัตรชาวเขา เป็นบัตรประจำตัวสีเขียว สีฟ้า
ซึ่งจะอยู่ภายใต้การจับตาดูแล
หากไม่มีปัญหาใด ในอนาคตหากมีการสำรวจก็จะได้สิทธิพลเมืองโดยสมบูรณ์
แต่เด็กกลุ่มนี้เป็นเหมือน ผู้ตกสำรวจ ทั้งยังถูกกีดกันจากชาวบ้านใกล้เคียง
จากการสอบถามว่าทำไมแม่ชีถึงมาอยู่ลึกขนาดนี้
คำตอบที่ได้ก็สร้างความอัดอั้นตันใจพอสมควร
แม่ชีเล่าว่า
"เดิมทีแม่ชีอยู่ที่ตัวเมืองสังขละ ปี 2540 ตั้งใจว่าจะถวายความรู้สอนพระเณรอ่านเขียนหนังสือไทย
ต่อมา มีเด็กๆที่บ้านแตกจากภัยสงคราม เด็กพลัดหลงมาอยู่ด้วย
ผู้รับผิดชอบก็โยนภาระมาให้แม่ชี แม่ชีเลยต้องรับเลี้ยงไว้ 30 กว่าคน
ปัญหาที่เกิดก็เกี่ยวกับการกินอยู่ ซึ่งอัตคัต ไม่ได้รับการเหลียวแลจากเจ้าของสถานที่
บางครั้งยังถูกกีดกัน แม่ชีเลยคิดจะย้ายสำนักมาอยู่ในที่ดินของแม่ชีเอง
ย้ายมาในปี 2544 จนถึงปัจจุบันนี้
แต่ปัญหาก็ยังเหมือนเดิม คือไม่ได้รับการดูแลจากผู้นำท้องถิ่น
ทั้งทาง อ.บ.ต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอ เหมือนกับไม่อยากหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว
ถนนคอนกรีต สิ้นสุดที่หน้าที่ทำการ อ.บ.ต. ไฟฟ้าก็สิ้นสุดที่นั่น
ไม่มีการช่วยเหลือขยายเส้นทางและไฟฟ้ามาถึงที่นี่เลย
สิ่งที่หวังตอนนี้คงไม่หวังในสาธารณูปโภคเท่าไหร่ แต่อยากให้เด็กๆ ได้บัตรเขียว (บัตรชาวเขา)
อย่างน้อยเขาก็สามารถเรียนหนังสือได้ถึง ม.3
โตขึ้นสามารถทำงานได้ตามช่องทางที่กฎหมายอำนวยไว้
ไม่อย่างนั้นพวกเขาก็จะกลายเป็นแรงงานเถื่อนนี่เอง"
ตอนนี้ ที่สำนักแม่ชี ใช้ไฟฟ้าด้วยแผงโซล่าเซลล์ และกังหันลม
หากวันไหนไม่มีแดด ไม่มีลม ก็ต้องใช้เทียนตอนกลางคืน
สภาพห้องครัว