KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับรวมรูปภาพต่างๆเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พาเที่ยววัด ใน Kammatan.com Galleryบทความดีๆ เกี่ยวกับธรรมะ☆*~ การทำความรู้สึกตัว ~*☆
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ☆*~ การทำความรู้สึกตัว ~*☆  (อ่าน 15423 ครั้ง)
wisarn
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 2
กระทู้: 8



ดูรายละเอียด
« เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2009, 09:24:51 PM »

การทำความรู้สึกตัว



หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ (พันธ์ อินทผิว)


บทนำ

            ธรรมะที่ผมว่าอยู่นี้ ไม่ใช่ของใครทั้งหมด เป็นสากล เป็นของทุกคน ไม่ใช่เป็นของศาสนาพุทธ ไม่ใช่เป็นของศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่เป็นของศาสนาคริสต์ ไม่ใช่ของคนไทย ไม่ใช่ของคนจีน ไม่ใช่ของคนฝรั่ง ไม่ใช่ของคน ญี่ปุ่น ไต้หวันทั้งนั้น เป็นของผู้รู้
          ใครรู้ก็เป็นของคนนั้น ใครไม่รู้ไม่เป็นของคนนั้น ไม่ว่าศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาอะไรก็ตาม มันมีในคนทุกคน
          ไม่ใช่ว่ารู้แล้ว จะสงวนลิขสิทธิ์ไม่ให้คนอื่นทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้น
          รู้แล้วทำลายก็ไม่ได้เพราะมันทำลายไม่ได้ มันไม่มีอะไรจะไปทำลายมันได้
          แล้วจะไม่ให้คนอื่นรู้มันก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของคนที่ทำรู้เอง
          เรารู้แล้ว จะทำลายมัน ทำลายไม่ได้ เพราะมันเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา

          คนโบราณบ้านหลวงพ่อเคยสอนเอาไว้ว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ พระนิพพานก็อยู่ที่ใจ” ใจมันอยู่ที่ไหน? เราเคยเห็นใจเราบ้างไหม? ไม่เคยเห็น เมื่อไม่เคยเห็น เราก็ต้องศึกษาต้องปฏิบัติให้รู้ว่า ใจเราคืออะไร?
          นรก คือความร้อนอกร้อนใจ มีทุกข์แล้วในขณะไหนเวลาใด ความทุกข์อันนั้นมันจางคลายไป เราก็ขึ้นสวรรค์ โกรธมาเที่ยวหน้า ตกนรกอีกแล้ว แน่ะ...


            บัดนี้เราอยู่แต่เพียงสวรรค์ ไม่ไปตกนรก แต่ว่าไม่รู้จักทิศทางออก ทำอยู่กับโลกียธรรม...เมื่อเราหาทางออกจากโลกียธรรมไม่ได้ เราก็ต้องหมุนเวียนอยู่ในโลกียธรรม ทำดีกับโลกเป็นวิสัยของคน เป็นวิสัยของสัตว์โลก เป็นวิสัยของสัตว์ ยังไม่เป็นวิสัยของมนุษย์ ยังไม่เป็นวิสัยของพระอริยบุคคล ให้เข้าใจอย่างนั้น
          เมื่อเราพ้นทุกข์ได้แล้ว นั่นแหละเป็นวิสัยของโลกุตตรธรรม

          อัน (ที่)เป็นพระพุทธเจ้า คือ จิตใจสะอาด จิตใจสว่าง จิตใจสงบ จิตใจบริสุทธิ์ จิตใจผ่องใส จิตใจว่องไว นั่นแหละคือจิตใจของพระพุทธเจ้า ก็มีในคนทุกคน ไม่มียกเว้นเลย
          น้ำกับตมเลนนั้น มันไม่ใช่อันเดียวกัน ตมเลนต่างหาก (ที่)ทำให้น้ำขุ่น (แต่)น้ำมันไม่ได้ขุ่น จิตใจเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้จักอย่างนั้นแล้ว เราจะค่อย ๆ ตามไป พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า อันจิตใจสะอาด จิตใจสว่าง จิตใจสงบ จิตใจบริสุทธิ์ ถ้าจิตใจบริสุทธิ์แล้ว ขี้ตมฝุ่นไม่สามารถทำให้น้ำขุ่นได้อีก จิตใจเราก็ผ่องใส ขี้ตมก็จะเป็นตะกอนทะลุออกก้นโน้น จิตใจว่องไว มันก็เบา สามารถมองเห็นอะไรได้ทุกอย่าง
          โลกียธรรมกับโลกุตตรธรรมจึงอยู่ด้วยกัน ถ้าหากเรารู้โลกุตตรธรรมจริง ๆ แล้ว ก็แยกกันได้หรือออกจากกันได้ (แต่)ถ้าเรายังไม่รู้จริง ๆ จะแยกกันไม่ได้

          ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นั่นน่ะ ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า มันมีมาก่อนพระพุทธเจ้า คือตัวที่มันจิตใจเป็นปกติอยู่เดี๋ยวนี้นี่แหละ
          ในขณะนี้ที่นั่งฟังหลวงพ่อพูดอยู่ในขณะนี้นี่ลักษณะชีวิตจิตใจของท่านเป็นอย่างไร?
          มันก็เฉย ๆ
          เฉย ๆ เรามีสติรู้ไหม? ถ้าเรามีสติรู้ ลักษณะเฉย ๆ นี่ อันนี้แหละที่ท่านว่า ความสงบ ทำงาน พูด คิดอะไรก็ได้ แต่ไม่ต้องไปยุ่งอะไรให้มันมาก
          ลักษณะ(นี้) สอนกันนิดเดียวเท่านั้น แต่คนไม่เข้าใจ...ไปทำของง่าย ๆ ให้มันยาก ทำของสะดวกสบาย ให้มันยุ่งขึ้นมา
          ลักษณะเฉย ๆ นี่ ไม่ต้องไปทำอะไรมันเลย
          ลักษณะเฉย ๆ นี่ มันมีในคนทุกคนเลย แต่เราไม่เคยมาดูที่ตรงนี้...ลักษณะเฉย ๆ นี้ท่าน(เรียก)ว่า อุเบกขา วางเฉย

          ความทุกข์เกิดขึ้น เพราะเราไม่เห็นความคิดนั่นแหละ ตัวความคิดจริง ๆ นั้น มันก็ไม่ได้มีความทุกข์ ที่มันมีทุกข์เกิดขึ้น คือเราคิดขึ้นมา เราไม่ทันรู้ ไม่ทันเห็น ไม่ทันเข้าใจความคิดอันนั้น มันก็เลยเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลงไป เมื่อมันเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลงไป มันก็นำทุกข์มาให้เรา
          ความจริง ความโกรธ-ความโลภ-ความหลงนั้น มันไม่มี ตอนมันมีนั้นคือเราไม่ได้ดู "ต้นตอของชีวิตจิตใจ" นี้เอง มันก็เลยโผล่ออกมา

          บัดนี้มาทำความรู้สึกตัว มันคิด...เห็น-รู้-เข้าใจ ตัวนี้เป็นตัวสติ เป็นตัวสมาธิ เป็นตัวปัญญา เราเรียกว่า "ความรู้สึกตัว" (เมื่อ)เรารู้สึกตัวแล้ว ความคิดจะไม่ถูกปรุงแต่งไป ถ้าหากเราไม่เห็นความคิดแล้ว มันจะปรุงแต่งเรื่อยไปเลย
          อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติอย่างลัด ๆ อึดใจเดียวก็ได้

         
ภาค ๑ : การทำความรู้สึกตัว

ความรู้สึกตัว

            สติ หมายถึงความระลึกได้ ไม่ใช่ระลึกชาติที่แล้วชาติก่อนนะ ระลึกได้เพราะการเคลื่อน การไหว การนึก การคิดนี่เอง
          จึงว่า สติ-ความระลึกได้สัมปชัญญะ-ความรู้ตัว
          บัดนี้ เราไม่ต้องพูดอย่างนั้น เพราะคนไทยไม่ได้(พูด)ว่าสติ
          "ให้รู้สึกตัว" นี่! หลวงพ่อพูดอย่างนี้ ให้รู้สึกตัว การเคลื่อน การไหว กระพริบตาก็รู้ หายใจก็รู้ นี่จิตใจมันนึกคิดก็รู้ อันนี้เรียกว่า ให้มีสติก็ได้ หรือว่าให้รู้สึกตัวก็ได้
          ความรู้สึกตัวนั้น จึงมีค่ามีคุณมาก เอาเงินซื้อไม่ได้ ให้คนอื่นรู้แทนเราไม่ได้ เช่นหลวงพ่อกำ(มือ)อยู่นี่ คนอื่นมองเห็นว่าความรู้สึก(ของ)หลวงพ่อเป็นอย่างไร? รู้ไหม? ไม่รู้เลย แต่คนอื่นมองเห็นว่า หลวงพ่อกำมือ แต่ความรู้สึก(ที่)มือหลวงพ่อสัมผัสกันเข้านี่ คนอื่นไม่รู้ด้วย คนอื่นทำ หลวงพ่อก็เห็น แต่หลวงพ่อรู้นำ(ด้วย)ไม่ได้
          นี้แหละใบไม้กำมือเดียว คือให้รู้การเคลื่อนไหวของรูปกายภายนอก และให้รู้การเคลื่อนไหวของจิตใจ มันนึกคิด

การสร้างจังหวะ

            การเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญานั้นต้องมี "วิธีการ" ที่จะนำตัวเราไปสู่ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญาได้ การทำทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีวิธีการ จึงจะเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้
          ดังนั้น การมาที่นี่ต้องพยายาม ไม่ต้องนั่งนิ่ง ๆ สอนกันแนะนำกันให้มีวิธีทำ โดยเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ทำเป็นจังหวะ
          วิธีทำนั้นก็ต้องนั่ง แต่ไม่ต้องหลับตา อันนี้มีวิธีทำนั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ ทำความรู้สึกตัว
          พลิกมือขวาตะแคงขึ้น...ทำช้า ๆ...ให้รู้สึก ไม่ใช่(พูด)ว่า "พลิกมือขวา" อันนั้นมากเกินไป เพียงแต่ว่าให้รู้สึกเท่านั้นเอง พลิกมือขึ้น...ให้รู้สึก หยุดไว้ ยกมือขึ้น...ให้รู้สึก ให้มันหยุดก่อน ให้มันหยุด มันไหวไป...ให้รู้ ขึ้นครึ่งตัวนี่...ให้มันรู้ แล้วก็เอามาที่สะดือ
          อันนี้มีจังหวะซ้าย-ขวา เป็น ๖ จังหวะ เวลาเอามือออกมาก็ซ้าย-ขวา รวมกันเข้ามี ๘ จังหวะ อันนี้เป็นจังหวะ เป็นจังหวะ
          การเจริญสตินั้น ท่านว่าให้ทำบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ก็ทำความรู้สึกนี่เอง เมื่อพูดถึงความรู้สึกแล้ว ก็พูดวิธีปฏิบัติพร้อม ๆ กันไป ทุกคนทำตามอาตมาก็ได้




เอามือเรามาวางไว้บนขาทั้งสองข้างนั้นเอง คว่ำมือไว้ ตามเท่าที่อาตมาได้ทำ ทำอย่างนี้


พลิกมือขวาตะแคงขึ้น ทำช้า ๆ ให้มีความรู้สึกตัว อันความรู้สึกตัวนั้น ท่านเรียกว่าสติ 


ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว แล้วก็รู้สึกว่ามันไหวขึ้นมา แล้วก็มันหยุดนิ่ง ก็รู้สึกตัว 


  บัดนี้ เลื่อนมือขวามาที่สะดือเรา เมื่อมือมาถึงสะดือ ก็มีความรู้สึกว่ามันหยุดแล้ว เราก็รู้


  พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้นที่ขาซ้าย ชันไว้ แล้วก็มีความรู้สึก


ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว ให้มีความรู้สึก หยุดไว้


บัดนี้ เลื่อนมือซ้ายเข้ามาทับมือขวาที่สะดือ แล้วก็รู้สึก
อันนี้เรียกว่า การเจริญสติ อันความรู้สึกนั้น ท่านเรียกว่า ความตื่นตัว
หรือว่าความรู้สึกตัว เรียกว่าสติ 


  เลื่อนมือขวาขึ้นหน้าอก ทำช้า ๆ มาถึงหน้าอกแล้ว เอาหยุดไว้


  เลื่อนมือขวาออกมาตรงข้าง ไหวมาช้า ๆ อย่างนี้ เมื่อมาถึงที่ตรงข้าง แล้วหยุด


  แล้วก็ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงเอาไว้ ให้รู้สึกตัว


คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา ให้มีความรู้สึกตัว 


เลื่อนมือซ้ายขึ้นหน้าอก ให้มีความรู้สึก   


เอามือซ้ายออกมาตรงข้าง ให้มีความรู้สึกตัว 


ลดมือซ้ายออกที่ขาซ้าย ตะแคงเอาไว้ ให้มีความรู้สึกตัว 



คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ให้มีความรู้สึกตัว
ทำต่อไปเรื่อย ๆ...ให้รู้สึก

            อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติ เป็นการเจริญสติ เราไม่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนในพระไตรปิฎกก็ได้ การไปศึกษาเล่าเรียนในพระไตรปิฎกนั้น มันเป็นพิธีคำพูดเท่านั้น มันไม่ใช่เป็นการปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้ง การปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้งทำอย่างนี้แหละ
          เวลาลุกขึ้นมี ๗ จังหวะ-วิธีลุก เวลานั่งลงมี ๘ จังหวะ-วิธีนั่ง แต่วิธีนอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา ลุกทางหงาย อันนั้นก็มีจังหวะ เช่นเดียวกัน
          หรือจังหวะกราบ...เมื่อผมมาเข้าใจ คำว่า เบญจางคประดิษฐ์ หมายถึง ๕ จังหวะ เมื่อรู้อย่างนี้ ก็ยกมือไหว้ตัวเอง ไหว้ตัวเองก็มี ๕ จังหวะเช่นเดียวกัน


การเดินจงกรม

            เดินจงกรมก็หมายถึง เปลี่ยนอิริยาบถนั่นเอง ให้เข้าใจว่า เดินจงกรมเพื่ออะไร ? (เพื่อ)เปลี่ยนอิริยาบถ คือนั่งนานมันเจ็บแข้งเจ็บขา บัดนี้เดินหลาย(เดินมาก) มันก็เมื่อยหลังเมื่อยเอว นั่งด้านหนึ่ง เขาเรียกว่าเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนให้เท่า ๆ กัน นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง อิริยาบถทั้ง ๔ ให้เท่า ๆ กัน แบ่งเท่ากัน หรือไม่แบ่งเท่ากันก็ได้เพราะว่าเราไม่มีนาฬิกานี่ น้อยมากอะไร ก็พอดีพอควร เดินเหนื่อยแล้วก็ไปนั่งก็ได้ นั่งเหนื่อยแล้วลุกเดินก็ได้
          เวลาเดินจงกรมไม่ให้แกว่งแขน เอามือกอดหน้าอกไว้หรือเอามือไขว้ไว้ข้างหลังก็ได้
          เดินไปเดินมา ก้าวเท้าไปก้าวเท้ามา ทำความรู้สึก แต่ไม่ได้พูดว่า "ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ" ไม่ต้องพูด เพียงเอาความรู้สึกเท่านั้น
          เดินจงกรม ก็อย่าไปเดินไวเกินไป อย่าไปเดินช้าเกินไป เดินให้พอดี
          เดินไปก็ให้รู้...นี่เป็นวิธีเดินจงกรม ไม่ใช่ว่าเดินจงกรม เดินทั้งวันไม่รู้สึกตัวเลย อันนั้นก็เต็มทีแล้ว เดินไปจนตาย มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เดินอย่างนั้น
          เดินก้าวไป ก้าวมา "รู้" นี่(เรียก)ว่าเดินจงกรม


การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

            การเจริญสตินี้ต้องทำมาก ๆ ทำบ่อย ๆ นั่งทำก็ได้ นอนทำก็ได้ ขึ้นรถลงเรือ ทำได้ทั้งนั้น
          เวลาเรานั่งรถเมล์นั่งรถยนต์ก็ตาม เราเอามือวางไว้บนขา พลิกขึ้น-คว่ำลงก็ได้ หรือเราไม่อยากพลิกขึ้น- คว่ำลง เราเพียงเอามือสัมผัสนิ้วอย่างนี้ก็ได้ สัมผัสอย่างนี้ ให้มีความตื่นตัว ทำช้า ๆ หรือจะกำมือ-เหยียดมืออย่างนี้ก็ได้



            ไปไหนมาไหน ทำเล่น ๆ ไป ทำเพื่อความสนุก นี่อย่างนี้ ทำมือเดียว อย่าทำพร้อมกันสองมือสามมือ ทำมือขวา มือซ้ายไม่ต้องทำ ทำมือซ้ายมือขวาไม่ต้องทำ
          "ไม่มีเวลาที่จะทำ" บางคนว่า
          "ทำไม่ได้ มีกิเลส" เข้าใจอย่างนั้น
          อันนี้ ถ้าเราตั้งใจแล้วต้องมีเวลา มีเวลาเพราะเราหายใจได้ เราทำการทำงานอะไร ให้มีความรู้สึกตัว เช่น เราเป็นครูสอนหนังสือ เวลาเราจับดินสอเอามาเขียนหนังสือ...เรามีความรู้สึกตัว เขียนตัวหนังสือไปแล้ว...เราก็รู้
          อันนี้เป็นการเจริญสติแบบธรรมดา ๆ ศึกษาธรรมะกับธรรมชาติ
          เวลาเราทานอาหาร เราเอาช้อนเราไปตักเอาข้าวเข้ามาในปากเรา...เรามีความรู้สึกตัวในขณะที่เราเคี้ยวข้าว...เรามีความรู้สึกตัว กลืนข้าวเข้าไปในท้องไปในลำคอ...เรามีความรู้สึกตัว อันนี้เป็นการเจริญสติ


ทำให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่

            ที่อาตมาพูดนี้ อาตมารับรองคำสอนของพระพุทธเจ้า และรับรองวิธีที่อาตมาพูดนี้ รับรองจริง ๆ ถ้าพวกท่านทำจริง ๆ แล้ว ทำให้มันติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ หรือเหมือนนาฬิกาที่มันหมุนอยู่ตลอดเวลา
          แต่ไม่ใช่ว่าทำอย่างนี้ ให้มันเหมือนลูกโซ่หมุนอยู่เหมือนกับนาฬิกานี่ ไม่ให้ไปทำการทำงานอื่นใดทั้งหมด ให้ทำความรู้สึก ทำจังหวะ เดินจงกรม อยู่อย่างนี้ตลอดเวลาหรือ – ไม่ใช่อย่างนั้น
          คำว่า "ให้ทำอยู่ตลอดเวลา" นั้น (คือ)เราทำความรู้สึก ซักผ้าซักเสื้อ ถูบ้านกวาดบ้าน ล้างถ้วยล้างจาน เขียนหนังสือ หรือซื้อขายก็ได้ เพียงเรามีความรู้สึกเท่านั้น แต่ความรู้สึกอันนี้แหละ มันจะสะสม เอาไว้ทีละเล็กทีละน้อย เหมือนกับเราที่มีขันหรือมีโอ่งน้ำ หรือมีอะไรก็ตามที่มันดี ที่รองรับมันดี ฝนตกลงมา ตกทีละนิดทีละนิด เม็ดฝนน้อย ๆ ตกลงนาน ๆ แต่มันเก็บได้ดีน้ำก็เลยเต็มโอ่งเต็มขันขึ้นมา
          อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำความรู้สึก ยกเท้าไป ยกเท้ามา ยกมือไป ยกมือมา เรานอนกำมือ เหยียดมือ ทำอยู่อย่างนั้น หลับแล้วก็แล้วไป เมื่อนอนตื่นขึ้นมา เราก็ทำไป หลับแล้วก็แล้วไป ท่านสอนอย่างนี้ เรียกว่าทำบ่อย ๆ อันนี้เรียกว่า เป็นการเจริญสติ


สรุปวิธีปฏิบัติ

            ถ้าทำจังหวะให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ มีความรู้สึกอยู่ทุกขณะ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้น
          แต่เรามาทำเป็นจังหวะ พลิกมือขึ้น คว่ำมือลง ยกมือไป เอามือมา ก้ม เงย เอียงซ้าย เอียงขวา กระพริบตา อ้า ปาก หายใจเข้า หายใจออก รู้สึกอยู่ทุกขณะ จิตใจมันนึกมันคิด รู้สึกอยู่ทุกขณะ
          อันนี้แหละวิธีปฏิบัติ คือให้รู้ตัว ไม่ให้นั่งนิ่ง ๆ ไม่ให้นั่งสงบ คือให้มันรู้
          รับรองว่าถ้าทำจริง ในระยะ ๓ ปี อย่างนาน ทำให้ติดต่อกันจริง ๆ นะ อย่างกลาง ๑ ปี อย่างเร็วที่สุดนับแต่ ๑ ถึง ๙๐ วัน อานิสงส์ไม่ต้องพูดถึงเลย ความทุกข์จะลดน้อยไปจริง ๆ ทุกข์จะไม่มารบกวนเรา


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 12, 2009, 12:01:56 PM โดย wisarn » บันทึกการเข้า

"จงรู้ทุกอย่างที่จิตรู้ แต่อย่าติดในรู้นั้น"
wisarn
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 2
กระทู้: 8



ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2009, 09:25:27 PM »

ภาค ๒ : การเดินทาง

            เราต้องพยายามทำไปแต่ต้น ๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอน อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้นั้น ถ้าหากเราไม่ทำอย่างนี้ ไม่แก้ตรงนี้ก่อนแล้ว...ไปยาก การปฏิบัติธรรมจะไม่ก้าวหน้า
          การปฏิบัติธรรมจะก้าวหน้า ต้องเริ่มแต่ต้น ๆ


การปฏิบัติเบื้องต้น

            คนใหม่นี่ต้องทำจังหวะมาก ๆ ทำช้า ๆ นาน ๆ ไปพอดีมันรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรียกว่ารู้เรื่องรูปเรื่องนามนี้ บัดนี้ต้องเดินจงกรมให้มาก การเดินจงกรมนั้นก็ดี แต่ว่ามันสู้การทำจังหวะไม่ได้ คนใหม่การทำจังหวะต้องทำช้า ๆ นิ่ม ๆ หรือทำอ่อน ๆ นี่ ถ้าทำแรงทำไว ๆ มันกำหนดบ่ทัน สติเฮาบ่ทันแข็งแรง จึงว่าทำช้า ๆ อ่อน ๆ ทำให้เป็นจังหวะ ๆ ให้รู้สึกว่ามันหยุด มันนิ่งก็ให้รู้สึก มันไหวไปไหวมา ก็ให้มันรู้สึก
          ทำให้มันเข้าใจ ทำจังหวะช้า ๆ แล้วก็รู้...เบื้องต้นให้รู้จักรูป-นาม ให้เรารู้จริง ๆ เรื่องรูป-นามนี้ เรื่องความคิดไม่ต้องห้ามมันเลย ให้มันคิด...
          มันเกิดปิติ...อันความปิตินี้มันดึงเราออกไป ให้มันไม่รู้รูปนามนี่เอง มันจะไปอยู่กับอารมณ์(ของปิติ) เมื่อมันไปอยู่กับอารมณ์ ก็เลยไม่รู้รูป-นาม เมื่อไม่รู้รูป-นามนาน ๆ เข้า ก็เศร้าหมองขุ่นมัวไป
          บัดนี้มันคิด คิดแล้วก็แล้วไป เรามาทำความรู้สึกกับรูป-นาม ให้มันรู้รูป-นามนี่แหละ ต้องให้รู้อยู่เสมอวิธีปฏิบัติอย่างนี้ แต่ให้มันคิด ห้ามคิดไม่ได้...
          ให้มันคิด ถ้ามันไม่คิด มันจะเป็นอันตราย หรือมันมึนหัว หรือแน่นอกแน่นใจ ให้มันคิด แต่เราทำให้มันสบาย ไม่ต้องวิตกกังวลอะไร รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ บัดนี้ เราต้องรู้กับรูป-นาม นี่มันเป็นรูป เป็นนาม เป็นรูปทำ(อาการทางกาย) เป็นนามทำ(อาการทางใจ)...ให้รู้อยู่กับอารมณ์เหล่านี้(ทบ)ทวนกลับไปกลับมา...รู้อยู่ในวงนี้ทั้งหมด อันนี้เรียกว่า อารมณ์ รูป-นาม ให้(ทบ)ทวนอารมณ์อันนี้ แล้วก็มันคิดก็แล้วไป เมื่อรู้สึกตัว ก็มาอยู่กับอารมณ์อันนี้ ทวนกลับไปกลับมา ไม่ต้องหลงไม่ต้องลืม นี่ ให้มันฝังแน่นหรือแนบแน่นอยู่กับความรู้สึกอันนี้
          เมื่อมันคิดขึ้นมา ก็มาทำความรู้สึก เดินจงกรมมันก็จะเดินเร็ว เพราะว่ามันไปตามอารมณ์มาก ทำจังหวะ...มันก็จะทำไวขึ้นเร็วขึ้น นี่ แต่เราพยายามทำให้มันรู้สึกตัว ก็ช้า(ลง)ไป บางทีก็หลงไป เข้าไปในความคิด ก็(ทำ)ไวขึ้น มันไปเพ่ง...เราต้องทำช้า ๆ ใช้เวลานานก็ช่างมัน
          เราต้องปฏิบัติเรื่อย ๆ อย่าเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ถ้าเราไปนึกว่าเหน็ดเหนื่อยแล้วหยุด อันนั้นเรียกว่าไม่ติดต่อไม่สัมพันธ์กัน มันไม่โยงกันตั้งแต่ต้นจนปลาย


การเห็นความคิด เห็นจิต เห็นใจ

            รู้เรื่องรูป-นามแล้ว  อย่าเอาสติมาใช้รูป-นาม ให้เอาสติคอยดูความคิด
          ให้ดูอยู่ตรงนี้แหละ แต่อย่าไปบังคับมัน เพียงทำเล่น ๆ ดูเล่น ๆ
          เมื่อเราปฏิบัติรู้รูป-นามแล้ว ก็ทำจังหวะให้มันเร็วขึ้น เดินจงกรมให้มันเร็วขึ้น (แต่ไม่ถึงกับวิ่ง)
          มันคิดแล้วรู้ รู้แล้วทิ้งเลย อย่าไปตามความคิด
          พอดีมันคิดปุ๊บ ดีใจก็ตาม เสียใจก็ตาม ทำความรู้สึกตัว เมื่อเราทำความรู้สึกตัวแล้ว ความคิดมันถูกหยุดทันที

          แต่ทีแรกเรายังไม่เคย มันก็ต้องคิดไปก่อน ลากไปเหมือนแมวกับหนูนี่เอง หนูตัวโตมีกำลัง แมวตัวเล็ก เรียกว่าความรู้สึกตัวเรามันน้อย เป็นอย่างนั้น เมื่อหนูออกมาแมวมันไม่เคยกลัวนี่มันก็จับหนู หนูก็ตื่นไป แล่นไปวิ่งไป แมวก็ติดหนูไป เป็นอย่างนั้น นาน ๆ มาแมวมันเหนื่อยไป (มัน)ก็วางมัน(เอง) ความคิดที่มันคิดไปร้อยอันพันอย่าง มันค่อยเซาผู้เดียวมัน(มันหยุดเอง) อันนั้น เป็นอย่างนั้น

          บัดนี้พอดีเฮาให้อาหารแมว เรียกว่าอาหาร ถ้าหากพูดตามภาษาภาคปฏิบัติก็ว่า เราทำความรู้สึกตัว ก็เรียกว่าเป็นอาหาร เป็นอาหาร(ของ)สติ หรือเป็นอาหารแมว(สติปัญญา)หรือว่าทำความรู้สึกตัว แล้วแต่จะพูด...ให้เราทำความรู้สึกตัวมากพอดีมันคิดปุ๊บ ความรู้สึกตัวมันจะไป ความคิดก็หยุดทันที...

          ถ้าหากว่า(ความคิด)มันมาแรง เราก็ต้องกำ(มือ)แรง ๆ กำแรง ๆ กำมือแรง ๆ หรือ จะทำวิธีไหนก็ตามแหละ ทำให้มันแรง เมื่อความแรงดันเข้ามาพอแล้ว มันหยุดเองมัน...
          ทำบ่อย ๆ ทำมาก ๆ เมื่อมันคิดขึ้นมาปุ๊บ มันจะรู้ทันที เหมือนกับที่หลวงพ่อเคยพูดให้ฟังบ่อย ๆ ว่า มีเก้าอี้ตัวเดียว บัดนี้เราก็มีสองคน คนหนึ่งเข้าไปมีแรงดันไว้ คนไปทีหลังก็เข้าไปไม่ได้ เป็นอย่างนั้น บัดนี้คนไปทีหลังนั่งไม่ได้ ก็คือ แต่ก่อนนั้นเรามีแต่ความ "ไม่รู้" ไปอยู่กับความ "รู้" นั้นไม่มี บัดนี้เราพยายามฝึกหัดความ "รู้" นั้นเข้าไปมาก ๆ แล้ว ความ "ไม่รู้" นั้นก็ลดน้อยไป ๆ

          ให้มันคิด มันยิ่งคิดก็ยิ่งรู้มากขึ้น รู้มากขึ้น มันจะทันความคิด เอ้า ! สมมุติให้ฟัง มันคิด ๑๐๐ เรื่อง เราจะรู้เรื่องเดียว - ทีแรก บัดนี้มันคิด ๑๐๐ เรื่องเราจะรู้ ๑๐ เรื่อง บัดนี้มันคิดมา ๑๐๐ เรื่อง เราจะรู้มันถึง ๒๐ มันก็ เหลืออยู่ ๘๐ สมมุติเอาเป็นสิบ ๆ เข้าไปนะครับอันนี้ บัดนี้มันรู้ ๘๐ แล้ว เรายังไม่รู้ ๒๐ บัดนี้ ตอนนี้ต้องทำความเพียรให้มากนะ บัดนี้มันรู้ถึง ๙๐ ยังไม่รู้ ๑๐ เดียว มันรู้ถึง ๙๕ เรื่อง มันคิดขึ้นมาปุ๊บ.. ทันปั๊บได้ ๙๕ เรื่อง ยังไม่รู้ ๕ เรื่อง อันยังไม่รู้ทันความคิดนะครับ สมมุติบัดนี้เราต้องพยายามทุ่มเทความเพียร บัดนี้ทุ่มเทจริง ๆ ทำโดยไม่ท้อถอยไม่ย่อหย่อน แต่ห้ามนอนบัดนี้ กลางวันไม่ต้องนอน เด็ดขาดได้เท่าไรยิ่งดีครับ กลางคืนต้องนอน

          พอดีมัน คิดปุ๊บ...ทันปั๊บ...คิดปุ๊บ...ทันปั๊บ มันไปไม่ได้ มันจะทำให้จิตใจเราเปลี่ยนแปลงที่ตรงนี้แหละ ความเป็นพระอริยบุคคลจะเกิดขึ้นที่ตรงนี้ หรือเราจะได้ต้นทางที่ตรงนี้ ได้กระแสพระนิพพานที่ตรงนี้

          จิตใจของเรามืดตื้ออยู่แต่ก่อน มันไม่รู้จักทางไป บัดนี้พอดีทันอันนี้แล้ว มันจะสว่างขึ้นภายในจิตใจ แต่ไม่ใช่สว่างที่ตาเห็นนะครับ จิตใจมันจะสว่างขึ้น เบาอกเบาใจ เรียกว่า "ตาปัญญา" อันนี้(เป็น)ลักษณะปัญญาญาณของวิปัสสนาเกิดขึ้น

          เราต้องทำจังหวะ เดินจงกรม ทำช้า ๆ ก็ได้ ทำไวก็ได้ ทำให้มันถูกจริตครับ
          ต้องทำความเพียรขึ้นให้มาก "เดินไป" เรียกว่าไม่ใช่เดินด้วยเท้า (คือ)ให้ปัญญามันเดินไป ให้ปัญญาเดินเข้าไปรู้ "อารมณ์" โดยไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนจากครูอาจารย์ ไม่ต้องไปศีกษาเล่าเรียนจากตำรับตำราที่ไหน

          แล้วก็จะรู้ไปเป็นขั้นเป็นตอนไปเป็นพัก ๆ เรียกว่า เป็นปฐมฌาน เป็นปัญญาเข้าไปรู้นะ เป็นทุติยฌาน เป็นตติยฌาน เป็นจตุตถฌาน เป็นปัญจมฌานขึ้นไป เป็นอย่างนั้น
          ปัญญาของญาณวิปัสสนา เข้าไปรู้ เข้าไปเห็น เรียกว่ายาน(ญาณ) จึงเป็นพาหนะขนส่ง แล้วมันจะเบาไป เป็นขั้นเป็นตอนไปครับ มันเป็นอย่างนั้น
          รู้-เห็น-เข้าใจอย่างนี้แล้ว มันจะไวความคิดนะครับ นี่ "อารมณ์" มันอันนี้ เรียกว่าเป็นพัก ๆ ไป
          มันจะเห็นว่าตนตัวเรานี่แหละ มันถึงที่สุดแล้ว ญาณย่อมมี ท่านบอกไว้อย่างนี้ "ถึงที่สุดแล้ว ญาณย่อมมีนะครับ มันปรากฏขึ้นมาเอง" เมื่อผมเป็นอย่างนี้ ผมก็เลยรู้ว่า พระพุทธเจ้าตัดผมครั้งเดียว ผมก็เลยเห็น-เลยเข้าใจ-เป็น-มี

          มัน "เป็น" แล้วนะครับ จึงจะรู้นะครับ อย่าไปรู้ล่วงหน้านะ ถ้าไปรู้ล่วงหน้าแล้ว มันเป็นความรู้ มันเป็นจินตญาณ มันรู้เอาเอง มันคิดเอาเอง อันนั้นไม่ใช่ "เป็น" ไม่ใช่ "มี" มันรู้นะ – อันนั้น
          อันที่ผม "เป็น" ผม "มี" นี่ มันไม่รู้ครับ มันเห็น-มันเป็น-มันมี ครับ มัน "มี" มัน "เป็น" แล้ว มันจึงรู้ญาณจะเกิดขึ้น คือญาณเกิดขึ้นแล้ว มันจึงรู้ครับ
          พอดีผมเห็น-รู้-เข้าใจอันนี้แล้ว โอ ! พระพุทธเจ้าตัดผมครั้งเดียวนั้น ไม่ใช่ตัดผมจริง ๆ คืออันนี้แหละ มันขาดออกจากกันครับ เลือดทุกหยดจะหวนกลับทั้งหมด เชือกที่เราผูกไว้นั้นนะครับ มันจะกลับเข้าไปสู่หลักเดิม มันทั้งหมด อันนี้แหละครับ มันจะรู้-เห็นมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ เรียกว่าอาการความเปลี่ยนแปลงไป เบาไม่มีอะไรหมดตัวละครับ เรียกว่า "จบ" ถึงที่สุดแล้วญาณย่อมมี มันถึงที่สุดแล้วครับ มันจึงรู้ครับ


คำแนะนำ(เพิ่มเติม)

            อันตัวความคิดนี้มีอยู่ ๒ ประเภท
          ความคิดชนิดหนึ่ง มันคิดขึ้นมาแวบเดียว มันไปเลย อันนั้นมันเป็นเรื่องความคิด ความคิดอันนี้มันนำโทสะ โมหะ โลภะ เข้ามา
          อัน(ความคิด)ที่เราตั้ง(ใจ)คิดขึ้นมานั้น มันไม่นำโทสะ โมหะ โลภะ อันนั้นมันตั้ง(ใจ)คิด มาด้วยสติปัญญา

          วิธีนี้ไม่ต้องห้ามความคิด ให้มันคิด มันยิ่งคิดเรายิ่งรู้ มันคิดมากเท่าไรก็ดีแล้ว เราจะรู้มากขึ้น บางคนรำคาญ ว่าจิตใจฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ แน่ะ ! เข้าใจไปอย่างนั้น ดีแล้ว จิตใจฟุ้งซ่านรำคาญมาก ให้มันคิด มันยิ่งคิดเรายิ่งรู้ แต่ทำความรู้สึกให้มากอย่าหยุดทำความรู้สึก แต่อย่าเพ่ง
          ที่มันคิด เราไม่ต้องห้ามมัน แต่ก็หลบตัวมาอยู่(กับ)ความรู้สึก ให้มันคิด พอดีมันคิด เราก็หลบตัวมาอยู่ความรู้สึก ความรู้สึกนี่แหละ จะได้ทำลายความไม่รู้ตัวนี้
          การดูความคิดนี่แหละ เป็นหลักสำคัญ โดยมากคนมันพลาดที่ตรงนี้ เมื่อมันคิดขึ้นมา เราก็เลยเข้าไปในความคิด ไปวิพากษ์วิจารณ์อันนั้นอันนี้ บทนั้นบทนี้ นั้นเรียกว่า เราเข้าไปในความคิด ไม่ใช่ตัดความคิดได้ มันรู้คิด-อันนั้น ไม่ใช่ว่าเห็นความคิด มันรู้เข้าไปในความคิด

          เมื่อเข้าไปในความคิดแล้ว มันก็เลยปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว เขาเรียกว่าสังขารปรุงแต่ง
          ถ้าเราไปนั่งเฝ้า ไม่มีการเคลื่อนไหว มันเข้าไปในความคิด พอดีมันคิดขึ้นมา มันก็เลยไปรู้กับ(เรื่อง)ความคิดเลย เรียกว่า รู้ "เข้า" ไปในความคิด ไม่ใช่รู้ "ออก" จากความคิด
          อันนั้นเพราะมันไม่มีอัน(อะไร)ดึงไว้ ดังนั้น จึงมีการฝึกหัดการเคลื่อนไหวของรูป(กาย) ให้รูป(กาย)เคลื่อนไหวอยู่เสมอ เราคอยให้มันมีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของรูป(กาย) พอดี-ใจคิดขึ้นมา เราจะเห็น เราจะรู้

          วิธีนี้เห็นอันใด(อะไร) ไม่ได้เห็นผีเห็นเทวดา เห็นพระพุทธรูป เห็นดวงแก้ว ที่สุดเห็นพระพุทธเจ้าก็ไม่ถูกต้อง เพราะจิตของเรามันคิดออกไป เราไม่เห็นความคิด มันถูกปรุง คือจิตใจมันปรุงเอง มันปรุงเพราะเราไม่เห็น "ต้นตอของความคิด" นี่เอง

          ใจของเรานี่มันเร็ว เราไม่เห็นมันคิด มันคิดปุ๊บออกไปนี่ มันไปแสดงเป็นผี เป็นสีเป็นแสง เป็นเทวดา เป็นนรกเป็นสวรรค์ แล้วแต่มันจะแสดงเรื่องใด เราต้องเห็นตามภาพที่จิตใจมันแสดงนั่นเอง มันเป็นมายาของจิตใจ เราเรียกว่าเป็นกลไกของจิตใจ...

          จึงว่า สิ่งที่เห็น(ผู้เห็น)นั้น(เห็น)จริง แต่สิ่งที่ถูกเห็นนั้นไม่จริง มันจึงแก้ทุกข์ไม่ได้ ถ้าหากเห็นของจริงแล้ว มันต้องแก้ทุกข์ได้
          อันนี้แหละลัดสั้นที่สุด มันคิดปุ๊บ...เห็นปั๊บขึ้นมา อันนี้แหละเป็นการปฏิบัติธรรมแท้ ๆ อันที่เราทำจังหวะนั้น เป็นวิธีการครับ เพราะว่าคนมีระดับสติปัญญาไม่เหมือนกันครับ ถ้าหากคนมีปัญญาจริง ๆ แล้ว ดูความคิด มันคิดปุ๊บ...เห็นปั๊บ นี่เป็นการปฏิบัติธรรม


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 12, 2009, 12:02:11 PM โดย wisarn » บันทึกการเข้า

"จงรู้ทุกอย่างที่จิตรู้ แต่อย่าติดในรู้นั้น"
wisarn
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 2
กระทู้: 8



ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2009, 09:25:59 PM »

ภาค ๓ : อุปสรรคและการแก้ไข

            การที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน แบบที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นปัญหาบางอย่าง จึงจะเล่าให้ฟัง คือแนะนำวิธีที่จะไปแก้ปัญหา ที่มันเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติธรรม

ความตึงเครียด-มึนหัว-เวียนหัว-แน่นหน้าอก ฯลฯ

            ถ้าหากเราปฏิบัติเบื้องแรก เรามักจะจ้อง บางคนต้องการอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากมี อันนี้เป็นการเข้าใจยังไม่ตรงครับ เมื่อเราจ้อง อยากรู้ อยากเห็น อยากมี มันมีความตึงเครียด บางคนก็มึนหัว มึนศีรษะ แน่นหน้าอก แสดงว่าการกระทำนั้นไม่ตรงแล้วครับ
          ข้อที่สอง คือ มันคิด(คิดมาก) เราบ่อยากให้มันคิด ไปบังคับกดมันไว้ บ่ให้มันคิด มันก็เลยทำพิษให้เรา
          วิธีแก้มัน ก็ต้องทำให้มันสบาย มองไปไกล ๆ แล้วก็ทำความรู้สึกเบา ๆ น้อย ๆ อย่าไปเพ่งมาก เราเดินให้มันสบาย ทำจังหวะ ก็ทำให้มันสบาย ทำเป็นจังหวะ ให้รู้สึกตัว สายตาต้องมองไกล ๆ


ความง่วง

            ถ้ามันง่วงนอนมาก ต้องไปหาวิธีทำการทำงาน ทำอะไรก็ได้ ถอนหญ้าก็ได้ ล้างหน้าล้างตาก็ได้ ไปอาบน้ำก็ได้ ซักเสื้อ ซักผ้าก็ได้ ให้เราหาวิธีแก้ ว่าอย่างนั้นแหละครับ เพราะมันเป็นอุปสรรค

ความสงบ (แบบสมถะ)

            ความสงบแบบบ่รู้(ไม่รู้)นั้น เรียกว่าเป็นปิติ ยินดีในความสงบอันนั้น เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติแบบนี้บ่ใช่ว่าจะให้มันสงบดิ๊(นะ)นี่ ให้มันรู้สึกตัวอยู่เสมอ เคลื่อนไหวอยู่เสมอ

วิปัสสนูฯ

            เมื่อรู้อันนี้(อารมณ์รูป-นาม) ก็แปลว่าภาคต้นจบกันแค่นี้ แล้วคนมาติดแค่นี้แหละ นึกว่าตัวเองรู้ธรรมขั้นสูง...มันเกิดความรู้ รู้นั้นรู้นี้ รู้ไปไม่มีทางสิ้นจบ แล้วก็ภูมิใจในความรู้ตัวเอง เลยไม่ได้ดูความคิด มันคิด...ก็เลยเข้าไปในความคิด
          วิปัสสนูนี้มันอยากเว้า(พูด) มันเป็นคนชอบเว้า(พูด) จิตใจมันไม่อ่อนโยนครับ
          อันวิปัสสนูนั้น รู้แล้วมันหลงมันลืมครับ แล้วจิตใจมันกล้าแข็ง ไม่ลงเอยกับใครทั้งนั้น "กูพูดถูกแล้ว" "ใครจะมาดีเหนือกู" มันเป็นอย่างนั้นครับ อันนี้เป็นความรู้ของวิปัสสนู
          บัดนี้ตอนแก้ ถ้าหากไม่มีใครแนะนำเราต้องทำจังหวะให้มันสบาย...อย่าไปเพ่งอย่าไปจ้อง อย่าไปอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากมี...ให้มันมีความรู้สึกน้อย ๆ เบา ๆ พอดีมันคิดปุ๊บ เราก็มาอยู่กับการเคลื่อนไหว ให้มันอยู่กับการเคลื่อนไหวให้มาก


จิตนญาณ

          บัดนี้มารู้ตอนนี้แล้ว(รู้อารมณ์ปรมัตถ์) มันเป็นปีติ "ใจดี" เย็นอกเย็นใจ...อันนี้เป็นจินตญาณ มันรู้นิ่ม ๆ รู้นั้น รู้นี้ รู้แล้วสบายใจ
          ปีติตามตำราท่านว่ามันดี ปีติ-ความอิ่มใจ ปีติ-ความยินดี ปีติ-ความพอใจ ท่านว่าอย่างนั้น แต่อันนี้(วิธีนี้) ปีติต้องเป็นอุปสรรค เป็นการขัดขวางไม่ให้เราเดินทางต่อไปถึงที่สุดได้
          มันจะเกิดปีติมันจะไปอยู่กับปีติ อย่าให้มันไปอยู่ แต่มันห้ามบ่ได้ เฮาต้องมาทำความรู้สึกให้มาก บัดนี้ ทำให้แรง ๆ จักหน่อย(ทำแรง ๆ สักหน่อย) เพราะเราจะดึงเอา...ออกจากปีติอันนั้น ให้มารู้สึกอันนี้ ทำช้า ๆ ให้มันเป็นจังหวะ เป็นจังหวะไป ทำช้า ๆ ได้ดีมากอันนี้...พอดีรู้สึกมากเข้า ๆ ปีติก็จางไป ๆ มันเป็นอย่างนั้น ก็เลยมาเป็นปกติ

          อันนี้ มันจะแน่นหน้าอกหรือเวียนหัว มีความตึงเครียดเข้ามาเป็นบางอย่างนะครับ-อันนี้ เราต้องมาทำให้มันสบาย ๆ มองไกล ๆ ครับ วิธีแก้ก็ต้องมองไกล ๆ ทำความรู้สึกเบา ๆ ไม่ใช่ว่ามันเป็นแล้วจะไปหยุดไปเซามัน ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเร่งความเพียร ทุ่มเทเข้า- ความเพียรนี่ ไม่ต้องท้อถอย ไม่ต้องอ่อนแอ
          ทำ แต่ว่าให้นอนครับ แต่ว่าตอนนี้ต้องให้นอน แต่บางคนไม่อยากนอน อยากเร่งความเพียร ไม่ ไม่ดีอย่างนั้นครับ ถึงเวลานอนก็ต้องนอน ถ้าหากเป็นกลางวัน-ไม่นอน


วิปลาส

            วิปลาส ก็แปลว่า เห็นผิดเป็นถูก เห็นนรกเป็นสวรรค์ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว อันนั้นตัวหนังสือ แต่ความจริงวิปลาสนี้ คือมันไปพบเอากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรานึกว่าเราได้ เราก็เลยวางอันนั้นไว้ที่นี่ เราก็ไปอยู่ที่นั่น เราไม่ได้มามองที่ตรงนี้ เหมือนกับผู้ร้ายจะมาเอาของเรานี่ละครับ พอดีผู้ร้ายเอาไปแล้ว(เรา)ก็มาหาของ มันไม่เห็นมันไม่เจอครับ นี่ก็แปลว่า มันปิดเราไว้
          เราไม่ต้องไปครับ พอดีมันถึงที่สุดของทุกข์ก็ตาม จะถึงอะไรก็ตามแหละ
          มันถึงที่สุดแล้ว มันจึงรู้ครับ ก็เลยเป็นวิปลาสที่ตรงนี้ครับ แต่ผมเป็น ผมไปติดความสุขครับ เพราะไม่เคยเป็น ไม่เคยมี อย่างนี้
          ผมเดินไป กำลังเดินจงกรม นึกว่ามันสูงขึ้นไปประมาณสักเมตรโน่นแหละครับหรือสองเมตรโน่นแหละครับ เหินดินคือย่าง(ลอยขึ้น เหมือนเดิน)อยู่ในอากาศนี่แหละครับ มันเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงเดินบนดินนั่นแหละครับ แต่มันเป็นในใจครับ...ก็เลยติดความสุขอันนั้น ไม่นานผมก็เลย "เอ๊ะ !" ทำไมเป็นอย่างนี้"
          ผมก็เลยหวนกลับเข้ามาดู "อารมณ์" ครับ ตอนนี้ต้อง(ทบ)ทวน"อารมณ์" แต่ไม่ต้อง(ทบ)ทวนอารมณ์ของรูป-นามครับ
          เมื่อมา(ทบ)ทวน"อารมณ์" เห็น "อารมณ์" เข้าใจ"อารมณ์"แล้ว ความสุขอันนั้นก็ค่อยจางไป ๆ หรือลดน้อยลง ๆ ก็จะมาอยู่ปกติเองครับ ให้มันเป็นปกติครับ

สรุปวิธีแก้ไข

            ถ้ามันตึงเครียด เวียนหัว หนักอกหนักใจนั้น เราต้องทำเบา ๆ อย่าไปเพ่ง ถ้าไปเพ่งแล้ว มันจะแน่นเข้า มันแก้ไม่ได้ ทำให้มันสบาย มองไกล ๆ ถ้ามองไกลแล้ว มันคลายออกไป-ความรู้นั้น ความหนักอกหนักใจมันจะคลายออกไปเองครับ
          จินตญาณก็เช่นเดียวกัน ให้แก้อย่างนั้น...
          วิปัสสนูกับจินตญาณนั้น ต้องแก้ "วิธีทำ" แต่ว่า(ทบ)ทวนอารมณ์น้อยครับ แต่เรื่องรูป-นามนั้นก็ต้องให้มันแจ่มใส
          ตอนวิปลาสนี่ ต้อง(ทบ)ทวน "อารมณ์"ครับ เมื่อ "อารมณ์"แจ่มใสขึ้นมาแล้ว ความตึงเครียดก็ลดน้อยไปทันที
          แต่ให้มันคิดนะ ห้ามไม่ได้-ความคิดนี่ครับ แต่มันจะคิด รู้-เห็น-เข้าใจ-เป็น-มี
          หากท่านทั้งหลายไปปฏิบัติธรรมะ ต้องพยายามระวังตัวเอง อย่าให้ครูบาอาจารย์ระวังให้ เมื่อผิดปกติแล้วต้องหยุด หยุดทันที หยุดอะไร ? หยุดการกระทำนั่นแหละ เมื่อเราหยุดการกระทำแล้ว สิ่งที่มันเป็นขึ้นมาภายในจิตใจนั้น มันจะค่อยลดไปลดไปเอง



บทท้าย

            การปฏิบัติธรรมะ ถ้าหากเข้าใจแล้ว ไม่ยาก ที่มันยากมันเหนือวิสัยนั้น คือเราไม่เข้าใจเท่านั้นเอง
          ท่านพูดไว้ดีแล้ว แต่เรามันไม่เข้าใจไปทำของง่าย ๆ ให้มันยุ่ง ทำของสบาย ๆ ให้มันลำบากขึ้นมา เมื่อไปทำให้มันยุ่งมันลำบากแล้ว ก็ทำไม่ได้
          พระพุทธเจ้าท่านสอนของจริงที่มันมีอยู่ในคน ไม่ใช่สอนของที่มันไม่มีจริง และก็สอน(สิ่ง)ที่คนสามารถทำได้ และพระพุทธเจ้าก็เว้นสิ่งที่คนทำไม่ได้

          วิธีนี้จึงเป็นวิธีง่าย ๆ ไม่ต้องไปศีกษากับตำรับตำรามาก เพราะมันมีในตัวคน เพราะว่าตัวคนทุกคนต้องรู้การเคลื่อนไหวของตัวเอง และการเคลื่อนไหวของจิตใจตัวเอง ถึงเรามีสติ-ต้องรู้
          ในขณะที่เราไม่มีสตินั้น มันก็เคลื่อนไหวอยู่อย่างนั้น รูปกายก็เคลื่อนไหว จิตใจมันก็นึกก็คิด แต่ว่าเราไม่รู้ เมื่อไม่รู้ มันสร้างขึ้นมาให้เราเห็น สิ่งที่ไม่จริง
          ดังนั้น วิธีการปฏิบัติแบบนี้ จึงไม่มีวิธีการอื่นใด นอกจากทำความรู้สึก นอกจากทำความตื่นตัวแล้ว ไม่มีอะไร แต่วิธีอื่นนั้นมีมาก เช่น ไปรักษาศีล หรือไปทำความสงบ(สมถะกรรมฐาน) อันนั้นมันไม่ใช่เกี่ยวข้องเรื่องนี้
          อันนี้(วิธีนี้) ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรทั้งหมด ทำไมไม่เกี่ยวข้อง ? เพราะมันมีอยู่แล้วในตัวเรา มาศึกษาให้รู้ "ของจริงที่มีอยู่ในตัวเรา" นี่เอง

          คำว่าเจริญสตินี่ ทุกส่วนให้มันทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์ของมัน ไม่ต้องไปฝืนธรรมชาติของมัน
          การปฏิบัติวิธีนี้คือ เป็นวิธีที่จะเอาไปใช้กับการกับงาน จึงว่าไม่ได้ให้ฝืนธรรมชาติ
          ตา เป็นหน้าที่ของมองให้เห็น
          หู เป็นหน้าที่ของฟังเสียง
          จมูก เป็นหน้าที่ของที่จะรู้ว่าเหม็นหอม
          แล้วการเคลื่อนไหวของกายนี้ ต้องให้มันเป็นไปตามธรรมชาติหน้าที่ของมัน ไม่ต้องฝืนมัน "แต่ให้มันรู้เท่าทัน" เท่านั้นเอง

          การทำจังหวะ การทำความรู้สึกตัว มันทำให้เราเกิดปัญญา ปัญญาไม่ใช่เป็นปัญญานึกคิด (แต่)เป็นปัญญาเกิดขึ้นมาจากกฎของธรรมชาติมันจริง ๆ เรียกว่า ปัญญาญาณของวิปัสสนาภาวนา
          เกิดปัญญาเป็นอย่างไร ? เกิดปัญญารู้สูตรสำเร็จสูตรหนึ่ง สูตรของมันไม่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนในพระไตรปิฎก
          คำว่า สูตรสำเร็จนี่หมายถึง ความสำเร็จมาจากตัวมันเอง เหมือนกับเพชรหรือทองคำที่เจือปนอยู่กับตมเลน เรามาร่อนมาแยกออกไปแล้ว มันเหลือแต่เพชรล้วน ๆ สูตรเหล่านี้เราต้องปฏิบัติให้มันแสดงขึ้นมาเอง ยืนมั่นคงถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน
          สูตร ๆ นี้มีแล้วในคนทุกคนไม่ยกเว้น...เมื่อสำเร็จแล้ว ก็ต้องมีญาณเกิดขึ้นว่า "ชาติสิ้นแล้ว ภพสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจอื่นไม่มี" กิจ...การศึกษาพระพุทธศาสนา จบตรงนี้

          "ตัดผมครั้งเดียว" ก็หมายถึง สิ่งที่มันเป็นกฎของธรรมชาติ มันเข้าสู่สภาพของมัน รูปนี้ก็เข้าสู่สภาพเดิมของมัน จิตใจก็เข้าสู่สภาพของมัน อืมม์...อันนี้แหละ มันบ่ยาว มันบ่สั้น มันบ่ปรากฏขึ้นมา...มันรู้จัก มันจืดมันถอน เพิ้น(ท่าน)จึงว่า เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ เป็นสิ่งที่เคารพนับถือ เป็นสิ่งที่บ่เคยมีมาก่อน เรื่องหมู่(แบบ)นี้จึงว่าคาดคิดบ่ได้-เรื่องธรรมะ มันต้องปฏิบัติให้มัน "เป็น"
          นิพพาน คือ มันเข้าสู่สภาพของมัน แค่นั้นเอง ไม่มีเรื่องอะไร
          มันเบาทั้งหมดเลย มันเบากาย เบาใจ เบาชีวิต เบาไปทั้งหมดเลยครับ คือมันไม่มีอันใด(อะไร)มาติดพัน มาติดมาพัน มันไม่มีอันใด(อะไร)มาเกาะมาข้องมันครับ คือมันเรียกว่ามันไม่มีอันใด(อะไร) ตัวชีวิตของเราจริง ๆ นี่ครับ ตัวจิตใจของเราจริง ๆ มันเป็นอย่างนั้น
          อันนี้ทุกคนต้องจำไว้ ถ้าเราไม่รู้นะ เราไม่รู้-ไม่เห็น-ไม่เป็น-ไม่มี เดี๋ยวนี้ เราจะประสบเอา(ตอน)จวนจะหมดลมหายใจนี่เลย เมื่อจวนจะหมดลมหายใจ ซึ่งขณะ...หลวงพ่อเข้าใจว่าวินาที หรือ ๒ วินาที หรือ ๕ นาที เราจะประสบเรื่องนี้ล่วงหน้า แล้วจึงหมดลมหายใจลง อันนี้แหละสัจจะแท้ เรียกว่า สัจจธรรม
          เมื่อเฮาเห็นสภาพนี้(อาการเกิด-ดับ) เฮาจิ(จะ)รู้จักสภาพหรือสภาวะเฮาจิ(จะ)ตายนี่แหละ มันต้องเป็นอย่างซั้น(นั้น) มันต้องเป็นอย่างซี้(นี้) ฮู้(รู้)จักวิธีตายทันทีแต่ทุกคนก็ต้องมานี้ หนีจากนี้ไปบ่ได้ เพราะทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตายนี่ คนเกิดมาในโลกนี้บ่ตายบ่มีจัก(สัก)คน อันนี้เรียกว่าสัจจะแท้ บ่เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงไปบ่ได้ ถึงจะมีผู้รู้...มันก็เป็นอย่างซั้น(นั้น) บ่มีผู้รู้...มันก็เป็นอย่างซั้น(นั้น)
          ดังนั้น สาวกของพระพุทธเจ้า จึงรู้จัก "วิธีตาย"
          คนทุกคนต้องตาย ต้องไปประสบอันนี้ ถ้าเราไม่รู้จักอันนี้ เราจะไปโลกียธรรม ถ้าเรารู้จักอันนี้ มันจะเป็นทางออก ไปทางนี้...สอนกันให้รู้จัก ให้มันเห็น ให้มันรู้ให้มันเข้าใจ
          ตัวเองมั่นใจว่าจะสอนเรื่องนี้ จะพูดเรื่องนี้ ให้คนผู้ที่มีปัญญาฟัง คนที่มีปัญญายังอ่อนก็เป็นธรรมดา คนผู้ที่มีปัญญาเข้มแข็ง ก็จะสามารถที่จะรู้เรื่องนี้ได้ หากไม่รู้ในขณะนี้(ตอน)จวนจะตายหรือหมดลมหายใจ ต้องประสบเรื่องนี้จริง ๆ แต่เรารู้ไว้วันนี้ มันจะดีกว่าบ้างไหม ?

          เมื่อมาทำความรู้สึกตัว...ตื่นตัว รู้สึกใจ...นึกคิด...รู้ เป็นปกติ มันสามารถพาให้เราเดินมาถึงจุดนี้ได้ นี้เรียกว่า ทางเดินไปคนเดียว เป็นทางเอก ทาง ๆ นี้ ไม่ซ้ำรอยใคร
          เรื่องรูป-นามนี่ หลวงพ่อ(ว่า)บ่เกิน ๕ มื้อ(วัน)หรอก ภายใน ๑๐ มื้ออย่างนาน-รู้ ถ้าตั้งใจทำแล้ว รู้จริง ๆ
          จะทำให้จิตใจเปลี่ยนไปนี่ อยู่ในเกณฑ์เดือนหนึ่ง ผู้ทำจริงทำจังนี่ เดือนหนึ่งหรือสามเดือนนี่แหละ-รู้ ในเกณฑ์ทำให้จิตใจเปลี่ยนแปลงสภาพหนึ่ง เรียกว่า ขั้นต้น อันนี้
          จะทำให้มันถึงที่สุดของทุกข์นั้น หลวงพ่อคิดว่าบ่เกิน ๓ ปี ถ้าเป็นคนจริงนะ ครั้นเป็นคนบ่จริง ๑๐ ปีก็บ่รู้เป็นอย่างนั้น
          หลวงพ่อเคยท้าทายคนมา บ่มากก็น้อย ต้องรู้



คำเตือน

            การปฏิบัติธรรมะให้มันเข้ารูปเข้ารอย ไม่ใช่ว่าจะทำไปตามอารมณ์ ทำไปตามความเห็น ทำไปตามความคิด อันนั้นใช้ไม่ได้ มันทำไปตามอารมณ์ตัวเองแล้วอันนั้น ทำไปตามความคิดของตัวเองแล้ว ทำไปตามความเห็นตัวเองแล้ว นั่นไม่ใช่ ท่านจึงว่าให้(เชื่อ)ฟัง เชื่อฟังคำแนะนำของคนที่เป็น "ช่าง"
          การเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญานี้ ต้องมีการงดเว้นการพูดการคุยกัน ไม่ต้องพูดต้องคุยกัน
          แล้วก็ต่อไป ก็งดเว้นจากสิ่งเสพติดทุกประเภททีเดียว เช่น บุหรี่ หรือน้ำชา กาแฟ เหล่านี้ก็งดเว้นทั้งหมดเลย
          ถ้าเราไม่งดเว้นจากสิ่งเหล่านี้มันก็ทำให้จิตใจเราคลุกคลีกับสิ่งเหล่านั้น ก็เลยไม่รู้ตัวเอง
          พวกเราถ้าหากปฏิบัติจริง ต้องพยายามทำจริง ๆ อย่าเป็นคนหลอกตัวเอง
          อย่าไปนั่งนิ่ง ๆ ให้มาทำจังหวะ เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
          การปฏิบัตินั้นอย่าไปเพ่งมัน เพียงทำให้มันสบาย ๆ มองทางโน้นมองทางนี้ ให้มันคิด อย่าไปห้ามความคิด
          ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ ต้องเห็นอย่างนี้ ต้องรู้อย่างนี้และเข้าใจอย่างนี้ (ดูภาคผนวก) เห็นอย่างอื่น ไม่ถูกต้อง


ภาคผนวก : อารมณ์วิปัสสนา

อารมณ์ รูป - นาม

            รูป นาม รูปทำ นามทำ รูปโรค นามโรค
          ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา
          สมมุติ
          ศาสนา พุทธศาสนา
          บาป บุญ

         
อารมณ์ ปรมัตถ์

            วัตถุ ปรมัตถ์ อาการ
          โทสะ โมหะ โลภะ
          เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
          กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม
          ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์
          กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ
          การทำชั่วด้วย - กาย เป็นบาปกรรมอย่างไร ถ้านรกมีจริง จะไปตกนรกขุมไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำชั่วด้วย - วาจา เป็นบาปกรรมอย่างไร ถ้านรกมีจริง จะไปตกนรกขุมไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำชั่วด้วย - ใจเป็นบาปกรรมอย่างไร ถ้านรกมีจริง จะไปตกนรกขุมไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำชั่วด้วย - กาย วาจา ใจ พร้อมกันเป็นบาปกรรมอย่างไร ถ้านรกมีจริง จะไปตกนรกขุมไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำดีด้วย - กาย เป็นบุญกุศลอย่างไร ถ้าสวรรค์นิพพานมีจริง จะไปอยู่ชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำดีด้วย - วาจา เป็นบุญกุศลอย่างไร ถ้าสวรรค์นิพพานมีจริง จะไปอยู่ชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำดีด้วย - ใจ เป็นบุญกุศลอย่างไร ถ้าสวรรค์นิพพานมีจริง จะไปอยู่ชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำดีด้วย - กาย วาจา ใจ พร้อมกัน เป็นบุญกุศลอย่างไร ถ้าสวรรค์นิพพานมีจริง จะไปอยู่ชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          อาการ "เกิด - ดับ" (ที่สุดของทุกข์)




..·.¸¸·´¯`·.¸¸.ஐ ..¤¸¸.·´¯`·.¸·.*¤.•:*´¨`*:•.☆۩ ۞ ۩ ۩ ۞ ۩☆•:*´¨`*:•.¤*..·.¸¸·´¯`·.¸¸¤..ஐ.¸¸.·´¯`·.¸·..
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 12, 2009, 12:02:26 PM โดย wisarn » บันทึกการเข้า

"จงรู้ทุกอย่างที่จิตรู้ แต่อย่าติดในรู้นั้น"
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #3 เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2009, 11:25:30 PM »

โห ดีจังครับ การปฏิบัติของสายหลวงพ่อเทีัยน ช่วยได้เยอะเหมือนกันน่ะครับผม

ขอบพระคุณที่ ร่วมแบ่งปัน น่ะครับพี่ wisarn : )
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
wisarn
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 2
กระทู้: 8



ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: สิงหาคม 12, 2009, 08:22:18 AM »

ชั่วอึดใจเดียว

จากหนังสือชุดอิสรภาพแห่งชีวิต
เรื่อง สำหรับผู้เห็นความคิด
โดย บุรัญชัย จงกลนี


  
เตือนจิตสะกิดใจ 2 : ชั่วอึดใจเดียว

         มีการสนทนาซักถามโต้ตอบระหว่างผู้มาปฏิบัติธรรมกับ หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ส่งผลได้อย่างรวดเร็ว ชนิดที่เรียกได้ว่า “ ชั่วอึดใจเดียว ” ดังมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ปุจฉา : ความสงบที่หลวงพ่อพูดถึงคืออะไรครับ ?

วิสัชนา : ความสงบที่เราสนใจกันนั้น โดยมากคนไปทำมันขึ้นมาให้สงบ ส่วนคำว่า สงบในพุทธศาสนาคือการจบเรื่องกัน หยุดแสวงหา ไม่ศึกษาอะไรที่ไหนอีกแล้ว

ปุจฉา : หมายถึงปล่อยวางใช่ไหมครับ?

วิสัชนา : จะหมายถึงปล่อยวางก็ได้ คำพูดมันเป็นเพียงการสมมุติ คือเรื่องมันจบกัน คือหมดการศึกษาอะไรต่อไปอีก หยุดการเดินหน้า หยุดการถอยหลัง หยุดการไป การมา ทั้งหมด แต่คนเรามักจะพยายามไปสร้างความสงบให้เกิดขึ้น โดยเข้าใจว่าต้องนั่งเอามือประสานกันที่หน้าตักแล้วหลับตาลงจึงจะสงบ นั่นไม่ใช่ความสงบ นั่นเราไปสร้างมันขึ้นมา ความสงบมันมีอยู่แล้ว อย่างคนเรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ นี่ก็เรียกว่าสงบได้ ไม่คิดอะไรใช่ไหม คือเฉย ๆ อยู่ ลักษณะนี้แหละสงบ ใครพูดอะไรก็ต้องได้ยินและรู้เรื่อง ตามองก็เห็น นี่ก็เรียกว่าสงบ ไม่ต้องไปทำอะไร แต่จะหลับตาก็ได้ไม่หลับตาก็ได้ ไม่ได้ห้าม หน้าที่ของตาคือสามารถมองเห็น เราก็ให้มันทำตามหน้าที่ของมันเท่านั้นเอง อย่าไปฝืนมัน ถ้าไปฝืนธรรมชาติของมัน มันก็ไม่สงบ

ปุจฉา : ผมพยายามทำใจให้ปล่อยวางให้สงบ

วิสัชนา : นั่นแหละมันไม่เข้าใจ อันความพยายามทำความปล่อยวางนั่นแหละ เราไปจับมันเข้าไว้แล้ว เราไม่รู้ความคิดแล้ว เราไปคิดมันขึ้นมาว่า “จะปล่อยวาง” มันจึงเป็นสองเรื่องแล้ว มันเป็นความคิดสองชั้นแล้วนั่นน่ะ มันไม่รู้จักวิธีปล่อยวาง มันทุกข์นะ เมื่อเราไปคิดพยายามปล่อยวางมัน มันเป็นสองทุกข์เข้าไปแล้ว หนึ่งมันคิดไปตามเรื่องของมัน สองเราพยายามปล่อยวางมัน เป็นสองทุกข์เข้าแล้วนะ ไม่ใช่ให้เราพยายามมัน ที่เราไปพยายามนั่นแหละ เราไปทำให้มันทุกข์แล้ว

ปุจฉา : แล้วจะทำอย่างไรครับ ?

วิสัชนา : เราเพียงรู้ ไม่คิด คือพอดีเราคิดขึ้นมา เราปล่อยทันที มาทำความรู้สึกตัว กำมือเข้ามา แบมือออกไปก็ได้ แล้วเราจะได้รู้สถานที่ที่ตรงนั้นเองที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ว่า ทุกข์ให้กำหนดรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคต้องเจริญ แต่นี่เราไม่รู้ตัว พอมันคิดแล้วเราก็ไปคิดอีก มันก็เลยเป็นสองชั้น ทีนี้พอมันคิดเราก็มาทำความรู้สึกตัว มันจะวางของมันเอง

ปุจฉา : ประโยชน์ของมันล่ะครับ ?

วิสัชนา : ประโยชน์หรือผลของมันคือ ความไม่มีทุกข์ ซึ่งมันมีในคนทุกคนอยู่แล้ว เมื่อมันคิดขึ้นมา เราอย่าพยายามให้มันหยุด อย่าไปห้าม เรามารู้สึกตัว แล้วมันจะวางความคิดมาอยู่กับความรู้สึกตัว มันจะหยุด ทำบ่อย ๆ ทำไปแล้วคุณจะรู้เอง และ เมื่อคุณรู้คุณจะร้องอ๋อ คุณรู้เองแล้วคุณจะต้องแจ้ง ไม่ใช่หลวงพ่อพูดแล้วคุณจะรู้ได้ ก็รู้ได้แต่รู้ได้เพียงสัญญา

ปุจฉา : หลุดพ้นไปใช่ไหมครับ ?

วิสัชนา : เมื่อมันยังไม่แจ้ง มันก็พ้นไปไม่ได้

ปุจฉา : ที่หลวงพ่อพูดว่าให้พลิกมือ หรือให้รู้สึกตัวนี้ เพื่อให้มันปล่อยจากความคิด โดยปกติคนทั่ว ๆ ไปเวลาทุกข์ขึ้นมาก็ไปฟังเพลง ไปดูหนัง ไปเดินเล่น อันนั้นมันต่างไปจากที่หลวงพ่อแนะนำอย่างไร เพราะวิธีนั้น ก็ลืมของเขาได้เหมือนกัน

วิสัชนา : มันต่างกัน อันนั้นเขาเรียกว่า “ระงับได้” เคยเห็นโคลนตมไหม พอวัวควายเดินเหยียบน้ำเหยียบตมลงไป น้ำมันต้องขุ่นใช่ไหม อย่างที่เราไปดูหนังดูละครหรือเราไปนั่งทำความสงบ ตมตะกอนนั้นมันไม่ออก มันยังขังอยู่ที่นั่น มันพร้อมจะผุดขึ้นมา ส่วนอันนี้มันคนละเรื่องกัน อย่างที่หลวงพ่อพูด พอมันคิด เราทำความรู้สึกตัว มันจะวางความคิดเหมือนเราเหมือนกับเราเอาน้ำในขวดที่มีตะกอนไปกรอง ตะกอนอยู่ส่วนตะกอน น้ำอยู่ส่วนน้ำ จริง ๆ แล้วน้ำไม่ได้ขุ่น น้ำมันก็เป็นน้ำ ตะกอนก็อยู่ส่วนตะกอน อย่างที่เราว่าจิตใจเราคิดมันทุกข์ แต่ความจริงใจมันไม่ได้ทุกข์ แต่เราไปเข้าใจว่ามันทุกข์ มันไม่ใช่ใจทุกข์นะ ตัวทุกข์นั้นคือตัวคิดนั่นเอง พอดี มันคิดปุ๊ป เราก็เลยเข้าไปในความคิด แล้วเราหยุดมันไม่เป็น มันจึงคิดต่อเรื่อยไป แล้วเราก็ไปหาวิธีระงับโดยการไปเที่ยวเตร่แต่ความจริงสิ่งนั้นไม่สามารถที่จะระงับทุกข์ได้ เป็นเพียงเราไปทำให้มันลืมชั่วคราวเท่านั้นเอง

ปุจฉา : คือพิจารณาว่า สิ่งนี้ไม่ควรยึดมั่น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ควรปล่อยวางใช่ไหมครับ ?

วิสัชนา : ไม่ใช่ นั่นมันเพิ่มขึ้นมาเป็นสองคิดแล้ว นี่มันเป็นสองทุกข์แล้ว " พอดีมันคิดปุ๊ป เรารู้สึก มันหายไปเอง ถ้าไปพิจารณาว่าเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา มันเป็นวิตกวิจารณ์ เป็นคิดไปแล้ว "

ปุจฉา : พอคิดปุ๊ป ก็รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวอันนี้ต่างหากที่มีผลให้มันหยุดเองใช่ไหมครับ ?

วิสัชนา : ใช่ นั่นแหละ ข้อสำคัญทำให้มันรู้ มันเป็น ไม่ใช่ให้มันรู้โดยสัญญา คิดรู้เอาจากการศึกษา จากตำรา หรือ จากการตรองเอาตามเหตุตามผล

ปุจฉา : สรุปว่า ความคิดที่อยู่ใต้โมหะ ( ความไม่รู้สึกตัว) นี่เราต้องปัดมันไปเลยใช่ไหมครับ ?

วิสัชนา : ปัดไปเลย

ปุจฉา : แต่ความคิดที่เป็นไปด้วยสติปัญญา เราต้องคิดเพื่อการเพื่องานของเรา เราต้องคิดใช่ไหมครับ?

วิสัชนา : อันนั้นถ้าไม่คิดก็ทำไม่ได้ ต้องคิด เราจะปลูกบ้านหรือซื้อของ เสื้อผ้า หรือจะซื้ออะไรก็ตาม มันต้องคิดมันจะคุ้มค่าเงินเราไหม เราซื้อแล้วจะไปทำอะไรมันต้องคิด อันนี้ถ้าไม่คิด เขาว่าเป็นคนบ้า ให้เข้าใจอันนั้นต้องใช้สติปัญญา ต้องวิพากษ์วิจารณ์นะ มิฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมามันจะแก้ไม่ได้ เช่น มีคนมาขโมยของ เราต้องรู้ว่า เป็นหญิงหรือชาย มีอายุประมาณเท่าไร แต่ที่หลวงพ่อพูดนี้ พูดถึงการปฏิบัติไม่ได้พูดเรื่องการเรื่องงาน คือเมื่อมันคิด ขึ้นมา ตัดทันที อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ คิดดีคิดชั่วไม่ต้องคิด แต่จะสร้างบ้านเรือน ไปสอนหนังสือ มันต้องคิด ต้องมีโครงการ แต่ ” ความคิดที่หลวงพ่อพูดให้ตัด มันเป็นความคิดที่นำมาซึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนความคิดที่เราตั้งใจคิดขึ้นมาเพื่อการงานนั้น ไม่นำมาซึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ มันคิดด้วยสติปัญญา ความคิดจึงมีสองอย่างด้วยกัน ”

ปุจฉา : เวลาเดินไปไหนมาไหน เราควรปฏิบัติอย่างไรครับ?

วิสัชนา : เดินไปเฉย ๆ นี่แหละ เดินไปสัก 10 ก้าว รู้ครั้งนึงก็ยังดี ถ้าเดิน 10 ก้าวรู้ 5 ครั้ง ก็ยิ่งดี ถ้าไม่รู้สักครั้งก็เต็มทีแล้ว ต้องรู้ รู้ก้าวนึงสองก้าวก็ยังดีไปถึงที่ที่จะไป 100ก้าว รู้สึกสัก 10 ก้าว ก็ยังดี ดีกว่าไม่รู้เลย ทำอย่างนี้มันจะสะสมเอาไว้ ความรู้อันนี้มันจะค่อยมากขึ้นมากขึ้น เวลาเดินไปอย่าเอาสติมากำหนดที่เท้ามากเกินไป ให้คอยดูความคิด ดูต้นไม้หรือดูคนคนเดินผ่านไปผ่านมาตามถนนหนทางก็ได้ ถ้ามันคิดแว๊บขึ้นมา ให้ทิ้งไปเลย อย่าเข้าไปในความคิด ถ้าเข้าไปในความคิด มันจะพาคิด เช่น คนนั้นเป็นผู้หญิง คนนี้ผู้ชาย สวยไม่สวย ผิวดำผิวขาว ใส่เสื้อสีนั้นสีนี้ ไม่ต้องคิด อันนั้นมันเป็นวิตกวิจารณ์ เห็นแล้วหญิงก็ช่างชายก็ช่าง ให้เฉย ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไร กลับมาที่ความรู้สึกตัวที่กายเราต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 14, 2009, 04:18:32 PM โดย wisarn » บันทึกการเข้า

"จงรู้ทุกอย่างที่จิตรู้ แต่อย่าติดในรู้นั้น"
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #5 เมื่อ: สิงหาคม 12, 2009, 09:51:32 AM »

ชอบจริงๆ ครับบทความเกี่ยวกับ การทำความรู้สึกตัว

เป็นบทถาม ตอบที่ มีค่ามากๆๆ

ขอบคุณมากๆ น่ะครับพี่ wisarn  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
wisarn
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 2
กระทู้: 8



ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2009, 08:21:20 AM »

กุญแจดอกเอก

ธรรมะของหลวงพ่อเทียน
คัดลอกจากหนังสือ "ปกติ : หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภและสิ่งที่ฝากไว้"

ธรรมชาติแห่งพุทธะในตัวคนแต่ละคน อาจเปรียบได้กับผลไม้แต่ละผล หรือเมล็ดข้าวเปลือก ถ้าหากได้เอาลงเพาะในดินที่ชุ่มเย็น มีเงื่อนไขต่างๆพอเหมาะ ก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้น ให้ดอกออกผลได้เช่นกัน ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของข้าวเมล็ดนั้น ๆ เป็นเหตุปัจจัย

การตรัสรู้ เหมือนดอกไม้อาศัยแสงตะวัน เมื่อตะวันส่องแสงมายังพื้นโลก เมื่อความร้อนกับความเย็นกระทบกัน จึงเกิดความอบอุ่น ดอกไม้ก็เลยบานได้ตามต้องการ

พุทธะหรือโพธิจิตนี้ เมื่อได้รับการกระตุ้นระดับหนึ่ง จะตื่นขึ้นและผลิบาน จึงเรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งมนุษย์ทุกคนไปถึงได้ *

การเจริญสติ อันเป็นฐานของการเจริญสมาธิ เจริญปัญญา จะทำให้ธาตุพุทธะในตัวเราแตกตัว และเบ่งบาน

การรู้สึกตัวนั้น เป็นไม้ขีดไฟ เทียนไขนั้นก็คือ มันคิดเรารู้ เราพยายามจุดสองอย่างนี้ จุดแล้วก็สว่างขึ้นมา ก็เดินหนีออกจากถ้ำ ไม่เข้าไปอยู่ในถ้ำ ถึงจะต้องเข้าไปอยู่ในถ้ำ ก็ต้องไม่ให้มันมืดต่อไป ต้องรู้สึกตัวทันที นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม

การรู้สึกตัวนี้ ให้รู้สึกลงไป เมื่อมันไหวขึ้นมาให้รู้สึกตามความเป็นจริงที่มันเคลื่อนไหวนั้น เมื่อมันหยุดก็ให้รู้สึกทันทีว่ามันหยุด อันนี้เรียกว่า สงบ สงบแบบรู้สึก

เราจะสร้างโบสถ์สักหลังหนึ่ง ยังไม่เท่าเราพลิกมือขึ้นอย่างนี้ครั้งเดียว แล้วรู้สึกตัว ทำอย่างนี้ดีกว่าการสร้างโบสถ์หลังหนึ่ง เพราะอันนี้มันรู้แต่สร้างโบสถ์ ไม่รู้อะไรเลย

ความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้เป็นรากเหง้าของบาป

การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น

ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ เราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้นเรียกว่า ความสงบ

ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจาก โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นแก่เรา สติจะมาทันที เนื่องจากสติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ จึงไม่มี ถ้าบุคคลใดไม่เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งที่มันมีอยู่ที่นั่นแล้ว

เพียงแต่เคลื่อนไหวทีละครั้งและรู้ เมื่อเธอไม่รู้ปล่อยมันไป เมื่อรู้ปล่อยมันไป บางครั้งเธอรู้ บางครั้งเธอไม่รู้ มันเป็นเช่นนั้น แต่ให้รู้

การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือการเจริญสติ สมาธิคือการตั้งใจ

ใช้สติดูจิตใจ ไม่ว่าความคิดอะไรเกิดขึ้น เห็นมันทันที และเราจะรู้ถึงความหลอกลวง รู้ทันเวลา รู้การป้องกัน และรู้การแก้ไข รู้ถึงการเอาชนะความคิดปรุงแต่ง ศีลจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง ไม่ใช่คนดอกที่รักษาศีล แต่ศีลต่างหากที่รักษาคน

ให้ลืมตาทำเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ มันเป็นการไหลไปตามธรรมชาติของมัน ตาก็ไม่ต้องบังคับให้มันหลับ ให้มันกระพริบขึ้นลงได้ตามธรรมชาติ เหลือบซ้าย แลขวาก็ได้ มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติ และมันก็รู้กับธรรมชาติจริงๆ

ถ้ารู้สึกในการเคลื่อนไหวได้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ซักเสื้อผ้า ล้างถ้วย ล้างชาม ถ้ารู้สึกที่มันเคลื่อนมันไหวในขณะนั้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้

พุทธศาสนาคือ มารู้สึกต่อการเคลื่อนการไหวในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั่นแหละ คือมันรู้สึกในการเคลื่อนไหวของกายและใจ เป็นญาณเข้ามารู้ รู้สึกที่เนื้อที่ตัวตื่นตัว มันจะเป็นใหญ่ในตัวของมันได้เอง รู้สึกใจตื่นใจ มันจะเปลี่ยนแปลงเป็นใหญ่ในใจของมันได้เอง เมื่อมันเปลี่ยนแปลง มันก็เหมือนกับเราหงายของที่คว่ำขึ้นมา มันก็เห็นว่า มีอะไรอยู่ที่ตรงนั้น

คำว่าติดต่อกันเหมือนลูกโซ่นั้น ไม่ใช่แต่ว่านั่งอยู่ในห้องกรรมฐานเพียงอย่างเดียว จะไปไหนมาไหน อาบน้ำ ซักเสื้อ ซักผ้า ก็ให้มีสติดูการเคลื่อนไหวของรูปกาย และมีสติดูจิตดูใจอยู่เสมอ นั่นแหละท่านเรียกว่า ปฏิบัติให้ติดต่อเหมือนลูกโซ่

ทันทีที่ความคิดเกิดขึ้น ปัดมันทิ้งออกไปทันที และให้มาอยู่กับความรู้สึกตัว

ความคิดยิ่งเร็ว สติปัญญาก็ยิ่งเร็ว ความคิดยิ่งลึก สติปัญญาก็ยิ่งลึก ถ้าทุกวันสองอย่างนี้ยิ่งลึกเท่ากันแล้วกระทบกัน แตกโพละออกมาเลย เรียกว่า โพลงตัวออกมา ซึ่งสภาวะอันนี้มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน

วิธีแห่งการปฏิบัติ คือการรู้สึกตัวเท่าทันความคิด ร่างกายของเราทำงานไปตามหน้าที่ แต่จิตของเราจะต้องดูความคิด

การเห็น การรู้ ความคิด เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน การรู้คือการเข้าไปในการคิดและความคิดก็คงดำเนินต่อไป เมื่อเราเห็นความคิด เราสามารถหลุดออกมาจากความคิดนั้นได้

เมื่อเราเห็นความคิดในทุกขณะ ไม่ว่ามันจะคิดเรื่องใดก็ตาม เราเอาชนะมันได้ทุกครั้งไป แล้วเราจะมาถึงจุดหนึ่ง ที่บางสิ่งภายในจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

การรู้ความคิด จึงเป็นความรู้ของ อวิชชา  สำหรับผู้มีปัญญา การรู้และการเห็น สามารถแยกออกจากกันได้ นั่นคือวิชชา ปัญญาและวิชชาจะแยกความคิดออกจากกันได้ และนั่นคือที่สุดของทุกข์

ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติ

การที่เราเห็นความคิดนี่เอง เป็นต้นทางพระนิพพานแล้ว เมื่อมันคิดวูบขึ้นมา เราก็เห็นปั๊บ อันกระแสความคิดนี้มันไวนัก ไวกว่าแสง ไวกว่าเสียง ไวกว่าไฟฟ้า ไวกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อได้เห็นสมุฏฐานความเร็ว ความไวของความคิดแล้ว เรียกว่า อรรถบัญญัติ

ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนการวิดน้ำออกไปจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆ เข้า สติจะเต็มและสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิด ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด
ให้รู้จักสมุฏฐานของความคิด เมื่อเรารู้จักสมุฏฐานของความคิดแล้ว เราจะได้ปฏิบัติจุดนี้เข้าไป เมื่อเราปฏิบัติจุดนี้แล้ว มันจะไปตามทางของมันเอง เมื่อไปตามทางนั้นแปลว่าเห็นถูกต้อง ก็ต้องถึงจุดหมายปลายทาง

ที่เราต้องการความสงบหรือพุทธะ เราไม่ต้องไปทำอะไรให้มาก เพียงให้ดูต้นตอของชีวิต เมื่อมันคิดมา อย่าเข้าไปในความคิด ให้ตัดความคิดออกให้ทัน

วิธีการยกมือขึ้น คว่ำมือลง เป็นวิธีเจริญสติ เป็นวิธีเจริญปัญญา เมื่อได้สัดได้ส่วนสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นเองไม่ยกเว้นใคร ๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เด็ก ๆ ก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ทำได้ ถือศาสนาลัทธิอะไรก็ทำได้ เรียกว่า ของจริง

วิธีที่จะจัดการกับ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น เราไม่ต้องไปคิดหาว่า ความโกรธ ความโลภ ความหลง อยู่ที่ไหน เราเพียงกลับเข้ามาดูจิตดูใจของเรา ก็จะทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลงได้เอง

ศีลคือความปกติ ศีลคือผลของจิตใจที่เป็นปกติ นี้เป็นสิ่งเดียวกับสติ สมาธิ ปัญญา วิธีการปฏิบัติคือ การรู้สึกตัวเท่าทันความคิด เมื่อความคิด ความทุกข์ หรือความสับสนเกิดขึ้น อย่าได้พยายามหยุดมัน แต่ให้สังเกตมัน

หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้ เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยาก เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริง เราจึงมีแต่ความลังเล และสงสัย

พระพุทธเจ้าก็คือ คนทุกคน เพราะพืชพันธุ์ที่จะทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่แล้วในคนทุกคนไม่ยกเว้น

ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม พระธรรมนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเห็นสิ่งนี้อย่างแท้จริง เราจะอยู่เหนือความเชื่อที่งมงายทั้งหลาย ตัวเราเท่านั้นที่จะนำชีวิตของเราเอง มิใช่ใดอื่นนี้คือ จุดเริ่มต้นของความสิ้นสุดแห่งทุกข์

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรเลย เพราะมันมีอยู่แล้วทั้งนั้น ขอเพียงว่าให้เรารู้สึกตัวเท่านั้นเอง ความรู้สึกตัวก็มีอยู่แล้ว 

แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่

ธรรมะคือมนุษย์ เมื่อเรารู้ธรรมะ เราก็จะเข้าใจว่า ทุก ๆ สิ่งนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ทุก ๆ สิ่งคือสมมุติ นี้คือปัญญาที่เกิดขึ้น

การเห็นตัวเราตามที่เป็นจริง คือการเห็นธรรมะ ฉะนั้นการเห็นธรรมก็คือ เห็นในขณะที่เรากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เห็นอย่างนี้เห็นธรรมแท้ ๆ ไม่แปรผัน

บันทึกการเข้า

"จงรู้ทุกอย่างที่จิตรู้ แต่อย่าติดในรู้นั้น"
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #7 เมื่อ: สิงหาคม 14, 2009, 09:25:11 AM »

ผมก็ชอบเหมือนกันน่ะครับ คำพูดหนึ่งของหลวงพ่อเทียน

คิดเหมือนหนู รู้เหมือนแมว

ขอบคุณอีกครั้งครับสำหรับธรรมะปฏิบัติ ที่เน้นการเจริญสติปัฏฐาน

อนุโมทนาบุญ ในธรรมด้วยน่ะครับ
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
ta1234
สมาชิกใหม่
*

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 0
กระทู้: 1


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: ตุลาคม 12, 2009, 02:02:14 PM »

ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยค่ะ  ส่วนตัวเริ่มสนใจการเจริญภาวนาเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยเริ่มจากการเป็นคนขี้สงสัยโดยแท้
ความสงสัยคือความไม่รู้ เมื่อไม่รู้หากไม่ค้นหาเหตุแห่งความไม่รู้ ก็คงไม่มีทางทราบคำตอบซึ่งเป็นผลได้เลย  แต่เมื่อเริ่มศึกษาและค้นคว้า
หนังสือที่อ่านแล้วรู้สึกเข้าใจได้ไม่ยากคือของท่านพุทธทาสภิกขุ ดิฉันเพิ่งเริ่มออกเดินทางในทางธรรมเรียกได้ว่า ยังมีความเขลาอยู่มากมาย
อย่างไรแล้ว เมื่อได้เกิดมาอยู่ในพุทธศาสนาทั้งทีคงจะเสียชาติเกิดแน่ถ้าพลาดที่จะปฏิบัติธรรม คงต้องขอบคุณเพื่อนทางธรรมที่ได้แบ่งปันสาระธรรมให้จริงๆค่ะ
บันทึกการเข้า
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #9 เมื่อ: ตุลาคม 12, 2009, 02:20:43 PM »

ขอให้เจริญในธรรมน่ะครับผม

พระพุทธเจ้าของเรา พระองค์ท่านเคยบอกพระอานนท์ไว้ว่า เกี่ยวกับเรื่องสิ่งประเสริฐสี่ประการ ที่หาได้ยากยิ่ง นั่นคือ

1.ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
2.ได้เกิดมาในดินแดนที่ยังมีพระพุทธศาสนาอยู่ ทั้งหลักธรรมและคำสอน
3.มีอายุยืนยาว
4.ได้ปฏิบัติเนกขัมมบารมี หมายถึงการศึกษาและลงมือปฏิบัติธรรม จนสมควรแก่ธรรม

 ยิ้มเท่ห์

บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: