KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับภาวนา เจริญสติ และ ปัญญา กับแนวปฏิบัติภาวนาตามหลัก สติปัฏฐาน 4กำลังใจ จากครูบา อาจารย์ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน 4ดูจิต : ดูอะไร
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: ดูจิต : ดูอะไร  (อ่าน 9182 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: มีนาคม 19, 2009, 04:55:08 PM »

ดูจิต : ดูอะไร
โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 09:46:56


วันนี้เป็นวันครบรอบ 18 ปี ที่ผมได้ไปศึกษาธรรมกับ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
ตลอด 18 ปีมานี้ ไม่มีวันใดเลย ที่ผมไม่ได้ทำตามคำสอนของท่าน
และไม่มีวันใดเลย ที่จะไม่ระลึกถึงท่านด้วยความเคารพนอบน้อม

โอวาทธรรมที่ท่านสอนให้คราวนั้นก็คือ อริยสัจจ์แห่งจิต
ความว่า
จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ

ทุกวันนี้ มีผู้ปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่ท่านสอนกว้างขวางมากขึ้นตามลำดับ
หลายคนที่เพียงเริ่มปฏิบัติไม่นานก็ได้พบว่า
ชีวิตจิตใจของตนได้พบความสงบสุข อันเนื่องมาจากความรู้เท่าทันกิเลสตัณหา
ผู้ไม่เคยมีศีล ก็มีศีลโดยอัตโนมัติ
ผู้ไม่เคยมีสมาธิ ก็มีสมาธิโดยอัตโนมัติ
ผู้ไม่มีปัญญา ก็มีปัญญาประจักษ์ถึงความเกิดดับของอารมณ์ทั้งปวง ต่อหน้าต่อตา
ล้วนเป็นพยานยืนยันในคำสอนของท่าน ที่หนักแน่นมั่นคงยิ่งกว่าคำโฆษณาใดๆ

************************************

เมื่อกล่าวถึงการดูจิตแล้ว นักดูจิตน้องใหม่มักจะสงสัยและถามกันมากว่า
การดูจิตนั้น แท้ที่จริงคือการดูอะไร
เพราะจิตนั่นแหละเป็นผู้รูู้ จะใช้ผู้รู้ ูไปดูผู้รูู้ได้อย่างไรกัน

กระทั่งผู้ฝึกหัดปฏิบัติไปบ้างแล้ว หากยังไม่ "เข้าใจ"
(คือรู้ด้วยจิตด้วยใจตนเอง ไม่ใช่รู้ด้วยสมองหรือสัญญาความจำ)
บางครั้งก็ยังอาจสับสนขึ้นเป็นคราวๆ ได้ว่า
ที่ตนดูอยู่นั้น ถูกต้องแล้วหรือยัง

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดูจิตให้ชัดเจนขึ้น
โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่บรรดาน้องใหม่ทั้งหลาย
ส่วนรุ่นพี่ที่แก่วัด(หมายถึงชำนาญการวัดจิตใจตนเอง) แล้ว
ถือว่าเป็นของอ่านเล่นก็แล้วกันครับ

***********************************

สรุปย่อเกี่ยวกับขั้นตอนของการดูจิต

สิ่งที่เราต้องรู้ ต้องดู ในระหว่างการปฏิบัติธรรม
ประกอบด้วย 1. อารมณ์(ของจิต) 2. อาการ(ของจิต) และ 3. จิต

เริ่มต้นด้วยการรู้ อารมณ์ ที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
อารมณ์นั้น ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย และธัมมารมณ์หรืออารมณ์ทางใจ
เมื่อรู้อารมณ์แล้ว จะเห็นชัดเจนว่า อารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
และเมื่ออารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั้น
จิตจะมี อาการ หรือมีปฏิกิริยาต่อการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของอารมณ์อยู่เสมอ
เป็นความยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เป็น "กลาง" บ้าง
เมื่อยินดี จิตก็ทะยานออกไปยึดถือเป็นเจ้าของอารมณ์นั้นๆ
เมื่อยินร้าย จิตก็ทะยานออกไปปฏิเสธอารมณ์นั้นๆ
เมื่อเป็น "กลาง" จิตก็ยังหลงอยู่ในความเป็นเราของจิต

ผู้ปฏิบัติต้องรู้ทันอาการของจิตตามความเป็นจริง
ซึ่งอาการเหล่านี้ ล้วนแต่เป็น อารมณ์ทางใจ
ที่เกิดต่อเนื่องจากการรู้อารมณ์ในเบื้องต้นนั่นเอง

เมื่อรู้ความยินดียินร้ายด้วยจิตที่เป็นกลางแล้ว
ความยินดียินร้ายจะดับไป เหมือนกับอารมณ์อื่นๆ นั่นเอง
กระทั่งความเป็น "กลาง" จอมปลอม ก็จะถูกทำลายไป
จิตก็จะเข้าถึงธรรมชาติรู้ที่เป็นกลาง
ก็ให้ผู้ปฏิบัติ รู้อยู่ที่ จิต หรือธรรมชาติรู้ที่เป็นกลางนั่นเอง

ถัดจากนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรให้วุ่นวายอีก
ให้จิตรู้อารมณ์ด้วยความเป็นกลางไปตามธรรมชาติธรรมดา
โดยไม่หลงใหล หรือหลง "ไหล" ไปตามมายาของกิเลส คือไม่ส่งออกนอก
แล้วจิตก็จะเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งไปตามลำดับ
อย่างอื่น ก็จะรู้เองเป็นเองโดยไม่ต้องถามใคร

น้องใหม่ทั้งหลาย อ่านเท่านี้ก็พอครับ
ข้อเขียนต่อจากนี้ จะเป็นการขยายความ ซึ่งไม่จำเป็นอะไรนัก
ถ้าอ่านแล้วคิดมาก อาจจะยุ่งยากใจก็ได้
แต่ถ้าจะอ่านเล่นๆ ก็ไม่ห้ามกันครับ

***********************************


โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 09:46:56
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: มีนาคม 19, 2009, 04:55:52 PM »

โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 09:46:56 ต่อครับ

บทขยายความ

1. อารมณ์ของจิต

คำว่าอารมณ์ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึงสิ่งที่ถูกรู้ได้
เช่นเมื่อตามองไปเห็นแมว รูปแมวก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา
เมื่อได้ยินเสียงเพลง เสียงเพลงก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางหู
เมื่อเราคิดนึกปรุงแต่งทั้งดี ชั่ว และเป็นกลาง
ความคิดนึกปรุงแต่งเหล่านั้นก็เป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ เป็นต้น

นักปฏิบัติในขั้นเบื้องต้นนั้น ให้รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสียก่อน
ถ้าเป็นผู้ที่จิตใจยังไม่เคยสงบเลย
ก็ให้เอาสติกำหนดรู้อารมณ์อันใดอันหนึ่ง
หรือทางทวารอันใดอันหนึ่ง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ
รู้อย่างสบายๆ ให้ต่อเนื่องไว้

เช่นเดินจงกรม ก็จับความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้นเรื่อยไป
นั่งกำหนดลมหายใจ ก็จับความรู้สึกที่ลมกระทบจมูก
หรือจุดใดจุดหนึ่งตั้งแต่ปลายจมูก จนถึงท้อง
ขอให้สนใจที่จะจับความรู้สึกที่เท้ากระทบพื้น หรือลมกระทบกายไว้
ไม่ใช่เอาสติจับเข้าไปที่เท้า หรือที่ตัวลมหายใจ
เพราะการจับความรู้สึกนั้น ง่ายที่จะพัฒนาไปสู่การดูจิตที่ละเอียดยิ่งขึ้นต่อไป
เนื่องจากจิต เป็นเรื่องของความรู้สึก ไม่ใช่รูปธรรม
ส่วนการใช้สติจับเข้าไปในวัตถุเช่นเท้าและลม
ง่ายที่จิตจะน้อมไปสู่ความสงบในแบบสมถกรรมฐาน
โดยเพ่งแช่จมอยู่กับเท้า หรือลมหายใจนั้น

บางคนถามว่า ถ้าไม่กำหนดให้รู้การกระทบทางทวารหนึ่งทวารใด
แต่ปล่อยให้สติตามรู้การกระทบในทุกๆ ทวาร
แล้วแต่ว่าขณะใด ความรู้สึกทางทวารใดจะเด่นชัดที่สุด จะได้หรือไม่
ขอเรียนว่า ถ้าทำไหวก็ได้ แต่ถ้าเป็นมือใหม่ที่ยังไม่ชำนาญ ก็เห็นจะทำยากสักหน่อย
เปรียบเหมือนนักมวย เวลาเขาฝึกซ้อม เขาก็ฝึกซ้อมไปทีละอย่างก่อน
เช่นวิ่งออกกำลังกาย กระโดดเชือก แล้วซ้อมเต้น ซ้อมเตะ ซ้อมต่อยไปทีละท่า
พอชำนิชำนาญแล้วจึงซ้อมชกจริงๆ แล้วขึ้นเวทีต่อไป

การวิ่งออกกำลังกาย เปรียบเหมือนการทำสมถกรรมฐาน
อันเป็นกำลังพื้นฐานเพื่อใช้งานต่อไป
นักปฏิบัติจึงไม่ควรละเลยเสียทีเดียว ควรจะมีเวลาเข้าหาความสงบจิตใจบ้าง
โดยทำกรรมฐานใดๆ ก็ได้ ที่ทำแล้วสงบง่าย

การซ้อมเต้น ซ้อมต่อย ซ้อมเตะ ซ้อมศอก ซ้อมเข่า เหล่านี้
เปรียบเหมือนการฝึกซ้อม รู้ความรู้สึกทางทวารใดทวารหนึ่ง
ที่ง่ายที่สุดก็คือทวารกาย เช่นเท้ากระทบพื้น ลมกระทบจมูก เป็นต้น

เมื่อมีความพร้อมพอแล้ว เวลาลงสนามจริง
จะได้ไม่ถูกกิเลสไล่ถลุงเอาเป็นไก่ตาแตก
ไม่ว่าอารมณ์จะเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ก็สามารถจับความรู้สึกที่ส่งเข้ามากระทบจิตได้ทันท่วงที

การฝึกหัดปฏิบัติเข้มเป็นบางเวลา กับการลงสนามปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
จึงมีส่วนเกื้อกูลกันดังที่กล่าวมานี้
แต่ถ้าใครเห็นว่าจิตของตนแข็งแรงพอแล้ว ไม่ต้องการทำสมถะ
และสติสัมปชัญญะว่องไวดีแล้ว ไม่คิดจะเข้าค่ายซ้อม
จู่ๆ จะลองโดดลงสนาม ไปปฏิบัติเอาในชีวิตประจำวันเลย ก็ได้
ถ้าชกชนะกิเลส ก็จะมีกำลังเข้มแข็งขึ้น โดยเริ่มชนะกิเลสระดับปลายแถวก่อน
แล้วค่อยเขยิบขึ้นไปต่อกรกับกิเลสที่ละเอียดแนบเนียนต่อไปตามลำดับ
แต่ส่วนมาก ผู้ที่ละเลยการทำความสงบ และการฟิตซ้อมที่ดี
มีโอกาสจะถูกกิเลสชกเอาเสียมากกว่า
เพราะกิเลสนั้น เป็นมวยระดับแช้มป์โลก
จะเข้าต่อกรด้วยมวยวัด ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก

เมื่อเราหัดจับความรู้สึก เช่นความรู้สึกตอนที่เท้ากระทบพื้น
หรือลมหายใจกระทบปลายจมูก ไปมากพอแล้ว
ความรู้สึกจะรวมเข้ามาที่กลางอกเองโดยอัตโนมัติ
พอเท้ากระทบพื้น ก็จะเห็นความไหวของอารมณ์ขึ้นที่กลางอก
กระพริบตาวิบเดียว ก็จะเห็นความไหวเข้ามาที่กลางอก
ทำนองเดียวกับเวลาเราตกใจ จะมีความรู้สึกวูบเข้ามาที่กลางอกนั่นเอง
คนไทยโบราณ ท่านเข้าใจธรรมชาติของจิตไม่ใช่น้อยทีเดียว
ท่านจึงมีศัพท์บัญญัติเกี่ยวกับความรู้สึกในอกอยู่มาก
เช่นอิ่มอกอิ่มใจ ร้อนอกร้อนใจ เสียอกเสียใจ คับอกคับใจ
เสียวแปลบในหัวอก วูบในหัวอก เสียใจจนอกจะแตกตาย
สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ ฯลฯ

ความรู้สึกที่ผุดขึ้นที่กลางอกนี้ ขอให้มันเกิดขึ้นเอง เพราะการรู้อารมณ์
แล้วจับความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรู้อารมณ์นั้นได้
จนกระทั่งยกระดับขึ้นมารวมลงในอก
เราไม่ควรใจร้อน เพ่งใส่อก เพราะจะกลายเป็นการเพ่งวัตถุธาตุที่ประกอบขึ้นเป็นอก
ไม่ใช่จับความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นในอก

อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้สึกว่ามีความไหวอยู่ที่อื่น นอกจากอก ก็ไม่ต้องตกใจ
มันจะไหวอยู่ที่ใด เช่นเวลาโกรธ แล้วไปรู้สึกวูบที่สมอง ก็ไม่เป็นไร
อย่าไปกังวลกับที่ตั้งมากนัก
ปล่อยให้มันเป็นไปเองตามธรรมดา จะดีที่สุดครับ
แล้วเวลาเกิดกิเลส เช่นความสงสัย หรือความโกรธ
คอยเฝ้ารู้มันไว้ มันดับลงตรงไหน ก็รู้อยู่ที่ตรงนั้นเอง
ไม่ต้องเที่ยวไปหาจุดที่ตั้งอื่นใดให้วุ่นวายใจ

อนึ่ง บางคนอาจจะสงสัยว่า ความรู้สึกต่างๆ ที่แสดงออกมาในอกนี้
อาจจะเป็นเพียงอาการทางกายเท่านั้น
เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นปัญหาหลัก ที่จะต้องอภิปรายถกเถียงกันในที่นี้
เพราะเราเพียงต้องการอาศัยรู้ความรู้สึกที่กำลังปรากฏเท่านั้น
เพื่อที่จะก้าวต่อไปให้ถึงจิต
ทำนองเดียวกับการตกปลา จะใช้เหยื่อจริง หรือเหยื่อปลอมก็ไม่มีปัญหา
ขอให้จับปลา คือจิต ได้ก็แล้วกัน

ความรู้สึกต่างๆ ในอกนี้ ก็กลายเป็นอารมณ์ คือเป็นสิ่งที่ถูกรู้เช่นกัน

**********************************

สิ่งที่ผมกล่าวมาแล้วนั้น เป็นการจับความรู้สึก เมื่อจิตไปรู้อารมณ์เข้า
ยังมีวิธีปฏิบัติที่รวบลัด และจะขอยกตัวอย่างอีกแบบหนึ่ง
คือเมื่อเราทำความสงบพอสมควรแล้ว
ให้น้อมจิตเข้าไประลึกรู้อารมณ์ทางใจโดยตรง
ไม่ต้องผ่านการรู้อารมณ์ทางกาย เช่นเท้ากระทบพื้น หรือลมกระทบจมูก
วิธีนี้จะง่าย หากเรารู้ถึงกิเลสที่กำลังปรากฏชัดๆ สักตัวหนึ่ง
เช่นหากกำลังสงสัย ให้รู้เข้าไปที่ความรู้สึกสงสัยโดยตรงทีเดียว
เอาความสงสัยนั่นแหละ มาเป็นอารมณ์ให้จิตรู้
เมื่อรู้ชำนิชำนาญเข้า ความรู้สึกก็จะรวมลงในอกอีกเช่นกัน

สรุปแล้ว การปฏิบัติในขั้นต้นของการดูจิต
ขอให้เรารู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏเสียก่อน
เช่นความรู้สึกที่เท้าสัมผัสพื้น ลมหายใจสัมผัสจมูก
หรือเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ทั้งหลาย
หรือสัญญาคือความจำได้หมายรู้ที่ผุดขึ้นมา
หรือจิตสังขาร คือความคิดนึกปรุงแต่งทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว และเป็นกลางๆ
แรกๆ อาจจะรู้การกระทบทางกายก่อนก็ได้
แต่เมื่อทำไปแล้ว จะพบว่าการกระทบทางกายนั้น
จะส่งผลสะเทือนเข้าไปถึงใจ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงกายแต่อย่างใด

*************************************************

2. อาการของจิต
ทุกคราวที่มีอารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น และกาย
แล้วส่งทอดความรู้สึกเข้าถึงใจ
หรือบางคราว แม้ไม่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย
หากสัญญาผุดขึ้นทางใจ ความคิดนึกปรุงแต่งทางใจก็เกิดขึ้น
ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถรู้ได้ชัดเหมือนตาเห็นรูปทีเดียว
เมื่ออารมณ์เข้าสัมผัสใจแล้ว
จิตจะมีปฏิกิริยาอาการขึ้นมาเป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบ
นักดูจิตที่ชำนาญ จะรู้ทันปฏิกิริยา หรืออาการของจิตที่เกิดขึ้นนั้น

ปฏิกิริยามีอยู่ 3 รูปแบบเท่านั้น คือเกิดความยินดีต่ออารมณ์นั้น
เกิดความยินร้ายต่ออารมณ์นั้น
หรือเกิดความรู้สึกเป็นกลางวางเฉยต่ออารมณ์นั้น

ขอให้ผู้ปฏิบัติ รู้อารมณ์และปฏิกิริยาของจิต ถ้ารู้ได้
แต่ถ้ายังรู้ไม่ได้ ก็ขอให้รู้อารมณ์อย่างเดียวไปก่อน

บรรดาความยินดี ยินร้ายนั้น เมื่อจิตไปรู้เข้าแล้ว
จะเห็นมันมีสภาพเป็นไตรลักษณ์เช่นเดียวกับอารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 นั่นเอง
ถ้ารู้ด้วยความเป็นกลางจริงๆ ไม่ช้ามันก็จะดับไป
จิตจะเข้าถึงความเป็นกลาง
คราวนี้ ก็ให้ผู้ปฏิบัติรู้ความรู้สึกที่เป็นกลางนั้นต่อไป

*****************************************************

3. จิต
เมื่อปฏิบัติชำนิชำนาญเข้าจะพบว่า ความเป็นกลางก็ยังมีหลายแบบ
ความรู้สึกเป็นกลางแบบเฉยๆ ก็มี
ความเป็นกลางของจิตในขณะที่จิตเบิกบานและเป็นตัวของตัวเองก็มี
แบบแรกนั้นจิตถูกอารมณ์ละเอียดห่อหุ้มไว้ แต่ยังมองไม่ออก
ส่วนแบบหลัง จิตพ้นการห่อหุ้มแล้ว
จิตชนิดหลังนี้ บางทีครูบาอาจารย์เรียกว่า จิตหนึ่ง บ้าง จิตเดิมแท้ บ้าง ใจ บ้าง
อันนั้นก็เป็นเพียงคำสมมุติเรียกขาน

ถ้าปฏิบัติจนเข้าถึงความเป็นกลางอย่างหลังนี้ ความทุกข์จะก่อตัวขึ้นไม่ได้
เพราะจิตพ้นความปรุงแต่งของสังขารแล้ว
ซึ่งอาจเป็นการพ้นชั่วขณะ หรือพ้นถาวรก็ได้
แล้วแต่คุณธรรมที่เข้าถึง

โดยคุณ สันตินันท์ วัน พุธ ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 09:46:56
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: