KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับพระไตรปิฏก : พระอภิธรรม พระสูตร พระคัมภีร์พระอภิธรรมปิฏกพระไตรปิฎก ประกอบด้วยอะไรบ้าง
หน้า: [1]
พิมพ์
ผู้เขียน หัวข้อ: พระไตรปิฎก ประกอบด้วยอะไรบ้าง  (อ่าน 54219 ครั้ง)
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2009, 12:23:20 AM »

พระไตรปิฎก

  พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนของพระพุทธศาสนา ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า พุทธธรรม คำว่าพระไตรปิฎก มาจากภาษาบาลี ติปิฏก แปลว่า ตะกร้าสามใบ หรือคำสอนสามหมวด (ติ หมายถึง สาม ปิฏก หมายถึง ตำรา คัมภีร์ หรือกระจาด) ซึ่งคำสอนสามหมวดนี้ ได้แก่

  พระวินัยปิฎก หรือ พระวินัย       ได้แก่ประมวลระเบียบข้อบังคับของบรรพชิตที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้สำหรับภิกษุและภิกษุณี

  พระสุตตันตปิฎก หรือ พระสูตร ได้แก่ประมวลพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยังที่ต่างๆ ให้เหมาะกับบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ มีเรื่องราวประกอบ

  พระอภิธรรมปิฎก หรือ พระอภิธรรม ได้แก่ประมวลคำสอนที่เป็นหลักวิชาการล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ ไม่มีเรื่องราวประกอบ

พระไตรปิฎกมีเนื้อหารวมทั้งสิ้น 84,000 ธรรมขันธ์ ฉบับพิมพ์ภาษาไทยนิยมจัดแยกเป็น 45 เล่ม เพื่อหมายถึงระยะเวลา 45 พรรษาแห่งพุทธกิจ

  พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ครั้งหนึ่งว่า พระธรรมวินัยจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ภายหลังที่พระองค์ล่วงลับไปแล้ว พระไตรปิฎกจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของพระพุทธองค์ และเป็นที่ที่ชาวพุทธสามารถเข้าเฝ้าพระศาสดาของตน พุทธศาสนิกชนสามารถศึกษาปริยัติศาสน์จากพระไตรปิฎก เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตนให้พ้นจากความทุกข์ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตตามนัยแห่งพระพุทธศาสนาสืบไป

  พระไตรปิฎกมีจุดเริ่มต้นมาจากการจัดรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้า ออกเป็นหมวดหมู่ และซักซ้อมทบทวนกันจนลงตัว ในระยะแรก พระไตรปิฎกถ่ายต่อกันมาโดยการท่องจำปากเปล่า จนกระทั่งราว พ.ศ. 460 จึงมีการจารึกลงเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาสืบทอดมาพร้อมกับพระไตรปิฎก จากสมัยพุทธกาลจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2,500 ปี พระไตรปิฎกบาลีของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท เป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เก่าแก่ที่สุด ดั้งเดิมที่สุด สมบูรณ์ที่สุด และถูกต้องแม่นยำที่สุด ที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

 

หมวดหมู่ในพระไตรปิฎก

  ในพระไตรปิฎก นอกจากจะเป็นที่รวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังได้จัดหมวดหมู่คำสอนเหล่านั้นให้เป็นระเบียบพร้อมๆ กันไปด้วย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการท่องจำ ความง่ายต่อการแบ่งหน้าที่รักษา และความไม่ลำบากในการศึกษาค้นคว้า

  คำสอนทั่วไปในพระพุทธศาสนาสามารถแบ่งได้กว้างๆ เป็น วินัย และ ธรรม โดย วินัย จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบัญญัติของคณะสงฆ์ สำหรับเป็นข้อบังคับในการปฏิบัติตัวของผู้ออกบวชเท่านั้น ส่วน ธรรม เป็นคำสอนที่ครอบคลุมพุทธบริษัททั้งหมด ซึ่งสามารถแยกได้อีกเป็นสองชนิด คือ

  ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไปตามกาลเทศะ โต้ตอบกับบุคคลต่างๆ เป็นเรื่องๆ ในแต่ละเรื่องจะเรียกว่า สุตตะ หรือ สูตร หนึ่งๆ ในพระไตรปิฎกจะรวบรวมธรรมแบบนี้ไว้พวกหนึ่ง เรียกว่า สุตตันตะ หรือ พระสูตร
ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไปตามเนื้อหา ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เรียกว่าเป็นวิชาการล้วนๆ เช่น เมื่อยกเรื่องขันธ์ 5 มา ก็อธิบายโดยละเอียดว่าขันธ์ 5 คืออะไร แบ่งออกเป็นอะไรบ้าง แต่ละอย่างนั้นเป็นอย่างไร จนจบเรื่องขันธ์ 5 ธรรมที่แสดงเอาเนื้อหาเป็นหลักอย่างนี้ ในพระไตรปิฎกจะจัดอยู่ในประเภท อภิธัมมะ หรือ พระอภิธรรม
เมื่อรวม พระวินัย พระสูตร และ พระอภิธรรม เข้าด้วยกัน ก็จะเกิดสามหมวดหมู่ใหญ่ ประกอบกันได้กลายเป็นพระไตรปิฎกขึ้นมา

หมวดหมู่ย่อย
  ในหมวดหมู่ใหญ่ทั้งสามของพระไตรปิฎก ยังสามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ย่อยได้อีก ซึ่งแสดงได้ดังแผนผังต่อไปนี้

Tripitaka_chart

ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

สมัยพุทธกาล

  การรวบรวมคำสอนของพระพุทธศาสนาเริ่มมีขึ้นเมื่อครั้งที่นิครนถนาฏบุตร ศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตลง และสาวกของท่านไม่ได้เก็บรวบรวมคำสอนไว้ ทำให้เหล่าผู้นับถือศาสนาเชนจึงเกิดการแตกแยก และถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้วศาสดาของตนสอนไว้เช่นไร พระจุนทเถระทราบเรื่องจึงนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวงร่วมกันทำสังคายนา เพื่อรักษาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

  เมื่อพระสารีบุตรทราบถึงเรื่องราวปัญหาของศาสนาเชน ก็ได้แสดงวิธีสังคายนาไว้เป็นตัวอย่างต่อหน้าที่ประชุมคณะสงฆ์ โดยรวบรวมข้อธรรมต่างๆ ให้อยู่ตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ เมื่อพระสารีบุตรแสดงธรรมจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงประทานสาธุการแก่หลักธรรมที่พระสารีบุตรแสดงไว้

  ทั้งนี้ ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการรวบรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นพระไตรปิฎก แต่ก็มีคำเรียกพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า พฺรหฺมจริย หรือพรหมจรรย์ และ ธมฺมวินย หรือธรรมวินัย

ปฐมสังคายนา

   การทำสังคายนาครั้งแรก เกิดขึ้นภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน 3 เดือน ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ในพระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู โดยมีพระมหากัสสปเถระทำหน้าที่เป็นประธาน และเป็นผู้คอยซักถาม มีพระอุบาลีเป็นผู้นำในการวิสัชนาข้อวินัย และมีพระอานนท์เป็นผู้นำในการวิสัชนาข้อธรรม การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระอรหันต์มาประชุมร่วมกันทั้งหมด 500 รูป ดำเนินอยู่เป็นเวลา 7 เดือน จึงเสร็จสิ้น

มูลเหตุในการทำสังคายนาครั้งนี้

   เกิดขึ้นเมื่อพระมหากัสสปเถระทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าหลังจาก พระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน บรรดาลูกศิษย์พระมหากัสสปเถระ เมื่อได้ทราบข่าวต่างพากันร้องไห้คร่ำครวญ แต่มีภิกษุอยู่รูปหนึ่งชื่อสุภัททะ กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะร้องไห้กันไปทำไม เมื่อสมัยที่พระพุทธเจ้ายังอยู่ พระองค์ทรงเข้มงวดกวดขัน คอยชี้ว่านี่ถูก นี่ผิด นี่ควร นี่ไม่ควร ทำให้พวกเราลำบาก บัดนี้พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พวกเราจะได้ทำอะไรตามใจชอบเสียที เมื่อพระมหากัสสปเถระได้ฟังดังนี้ก็รู้สึกสลดใจ ดำริว่าแม้พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปใหม่ๆ ยังปรากฏผู้มีใจวิปริตจากธรรมวินัยถึงเพียงนี้ ถ้าปล่อยไว้นานเข้า คำสอนทางพระพุทธศาสนาอาจถูกบิดเบือนไปได้ จึงริเริ่มวางแผนการทำสังคายนา

การสังคายนาครั้งที่สอง

   การทำสังคายนาครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 100 ที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย โดยมีพระยสะ กากัณฑกบุตร เป็นผู้ชักชวน พระเถระผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมทำสังคายนาครั้งนี้ได้แก่ พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระขุชชโสภิตะ พระวาสภคามิกะ (ทั้งสี่รูปนี้เป็นชาวปาจีนกะ) พระเรวตะ พระสัมภูตะ สาณวาสี พระยสะ กากัณฑกบุตร และพระสุมนะ (ทั้งสี่รูปนี้เป็นชาวปาฐา) ในการนี้พระเรวตะทำหน้าที่เป็นประธานผู้คอยซักถาม และพระสัพพกามีเป็นผู้นำในการวิสัชนาข้อวินัย การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 700 รูป ดำเนินการอยู่เป็นเวลา 8 เดือน จึงเสร็จสิ้น

  ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ พระยสะ กากัณฑกบุตร พบเห็นข้อปฏิบัติย่อหย่อน 10 ประการทางพระวินัยของภิกษุวัชชีบุตร เช่น ควรเก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เพื่อรับประทานได้ ควรฉันอาหารยามวิกาลได้ ควรรับเงินทองได้ เป็นต้น พระยสะ กากัณฑกบุตรจึงชวนพระเถระต่างๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัย แก้ความถือผิดครั้งนี้

  โดยรายละเอียดของปฐมสังคายนาและการสังคายนาครั้งที่สอง มีกล่าวถึงในพระวินัยปิฎก จุลลวรรค แม้ในวินัยปิฎกจะไม่กล่าวถึงคำว่าพระไตรปิฎกในการปฐมสังคายนา และการสังคายนาครั้งที่สองเลย แต่ในสมันตัปปาสาทิกา ซึ่งเป็นอรรถกถาอธิบายวินัยปิฎกนั้น บอกว่าการจัดหมวดหมู่คำสอนของพระพุทธศาสนา ให้เป็นรูปเป็นร่างอย่างพระไตรปิฎกนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งปฐมสังคายนาแล้ว

การสังคายนาครั้งที่สาม

   การทำสังคายนาครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 235 ที่อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย โดยมีพระโมคคลีบุตร ติสสเถระ เป็นประธาน การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 1,000 รูป ดำเนินการอยู่เป็นเวลา 9 เดือน จึงเสร็จสิ้น

  ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ มีพวกเดียรถีย์ หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวช แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคลีบุตร ติสสเถระ จึงได้ขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชสังคายนาพระธรรมวินัยเพื่อกำจัด ความเห็นของพวกเดียรถีย์ออกไป

  ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคลีบุตร ติสสเถระ ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระอภิธรรมไว้ด้วย และเมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ก็มีการส่งคณะทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ในที่นี้มีพระมหินทเถระ ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่นำพระพุทธศานาไปประดิษฐานในลังกา รวมทั้งพระโสณะเถระและพระอุตตระเถระ ที่นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิด้วย

การสังคายนาครั้งที่สี่

  การทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 643 ที่เมืองชาลันธร แต่บางหลักฐานก็กล่าวว่าทำที่กัศมีร์หรือแคชเมียร์ การสังคายนาครั้งนี้มีลักษณะของศาสนาพราหมณ์และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้า มาผสม ทำให้ฝ่ายเถรวาทไม่นับว่าเป็นหนึ่งในการสังคายนา

การสังคายนาครั้งที่ห้า

  การทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 460 ที่อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท ประเทศศรีลังกา โดยมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน การทำสังคายนาครั้งนี้เพื่อต้องการจารึกพระพุทธวัจนะเป็นลายลักษณ์อักษร

ปัญหาการนับครั้งการสังคายนา

    การนับครั้งการสังคายนามีความแตกต่างกันในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับพระพุทธ ศาสนาฝ่ายมหายาน นอกจากนี้ แม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกันเองก็ยังนับครั้งการ สังคายนาไม่ตรงกัน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

   ประเทศศรีลังกา นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายกระทำเมื่อ พ.ศ. 2408 โดยการสังคายนาครั้งนี้เป็นที่รู้กันเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น
ประเทศพม่า นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และนับการสังคายนาครั้งที่ 2 ที่ลังกาเป็นครั้งที่ 4 ที่ประเทศพม่า และนับการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก 2 ครั้ง โดยครั้งสุดท้าย หรือครั้งที่ 6 ในพม่า มีชื่อเรียกว่าฉัฏฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 การทำสังคายนาครั้งนี้ทำขึ้นเนื่องในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคำแปลเป็นภาษาพม่า โดยได้เชิญพุทธศาสนิกชนจากหลายประเทศเข้าร่วมพิธี โดยเฉพาะจากประเทศ พม่า ศรีลังกา ไทย ลาว และกัมพูชา

  ประเทศไทย นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และครั้งที่ 1-2 ที่ลังกา แต่ในหนังสือสังคีติยวงศ์ หรือประวัติแห่งการสังคายนา ของสมเด็จพระวันรัต ได้นับเพิ่มอีก 4 ครั้ง คือ

ครั้งที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 956 ในลังกา โดยพระพุทธโฆสะได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถา ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎก ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนา

ครั้งที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 1587 ในลังกา โดยพระกัสสปเถระเป็นประธานรจนาอรรถกถาต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎก ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนาเช่นกัน

ครั้งที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2020 ในประเทศไทย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา

ครั้งที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2331 ในประเทศไทย โดยการอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์


ตามความหมายพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.watnai.org
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
golfreeze
ขอนอบน้อมในธรรมของ องค์พระพุทธเจ้า
Administrator
สุดยอดกัลยาณมิตร
*****

ได้รับการอนุโมทนาบุญ : 67
กระทู้: 3604


golfreeze@packetlove.com
ดูรายละเอียด เว็บไซต์ อีเมล์
« ตอบ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 01, 2009, 12:25:29 AM »

(เพิ่มเติมครับ)

ไตรปิฎก (ปิฎก 3, กระจาด ตะกร้า กระบุง หรือตำรา 3, ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย 3 หมวด หรือ 3 ชุด ? the Three Baskets; the Pali Canon) จัดพิมพ์ด้วยอักษรไทยมี 45 เล่ม

  1. วินัยปิฎก (หมวดพระวินัย, ประมวลสิกขาบท สำหรับภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ ? the Basket of Discipline) แบ่งเป็น 3 หมวด หรือ 5 คัมภีร์ จัดพิมพ์อักษรไทยเป็น 8 เล่มคือ
ก. วิภังค์ หรือ สุตตวิภังค์ (Vibhanga) ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ แบ่งเป็น 2 คัมภีร์ คือ

  1. อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก (อา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนัก ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต (Major Offenses) จัดพิมพ์เป็น 1 เล่ม

  2. ปาจิตติยะ (ปา) ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ถึงเสขิยะ และรวมเอาภิกขุนีวิภังค์เข้าไว้ด้วย (Minor Offenses) จัดเป็น 2 เล่ม
วิภังค์ นี้ แบ่งอีกอย่างหนึ่งเป็น 2 เหมือนกัน คือ

  1. มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ (Rules for Monks) จัดเป็น 2 เล่ม

  2. ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (Rules for Nuns) จัดเป็น 1 เล่ม
ข. ขันธกะ (khandhaka) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ รวมเป็นบทๆ เรียกว่าขันธกะหนึ่งๆ ทั้งหมดมี 22 ขันธกะ ปันเป็น 2 วรรค คือ

  3. มหาวรรค (ม; วรรคใหญ่ ? Greater Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น มี 10 ขันธกะ จัดเป็น 2 เล่ม

  4. จุลวรรค (จุ; วรรคเล็ก ? Smaller Section) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย มี 12 ขันธกะ  จัดเป็น 2 เล่ม

  ค. 5. ปริวาร (ป; หนังสือประกอบ; คู่มือ ? Epitome of the Vinaya) คัมภีร์บรรจุคำถามคำตอบ ซ้อมความรู้พระวินัย จัดเป็น 1 เล่ม

  2. สุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตร, ประมวลพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมและเรื่องเล่าต่างๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส ? the Basket of Discourses) แบ่งเป็น 5 นิกาย (แปลว่าประมวล หรือชุมนุม) จัดพิมพ์เป็น 25 เล่ม คือ

  1. ทีฆนิกาย (ที) ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว ? Collection of long Discourses จัดเป็น 3 วรรค 3 เล่ม มี 34 สูตร

  2. มัชฌิมนิกาย (ม) ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง ? collection of Middle-length Discourses จัดเป็น 3 ปัณณาสก์ 3 เล่ม มี 152 สูตร

  3. สังยุตตนิกาย (สํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่าสังยุตหนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน ? collection of Connected Discourses จัดเป็น 56 สังยุต แล้วประมวลเข้าอีกเป็น 5 วรรค 5 เล่ม มี 7762 สูตร

  4. อังคุตตรนิกาย (อํ) ชุมนุมพระสูตรที่รวมเข้าไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม ? Adding-One Collection; Collection of Numerical Sayings จัดเป็น 11 นิบาต (หมวด 1 ถึง หมวด 11) รวมเข้าเป็นคัมภีร์ 5 เล่ม มี 9557 สูตร

  5. ขุททกนิกาย (ขุ) ชุมนุมพระสูตร ข้อธรรม คำอธิบายและเรื่องราวเบ็ดเตล็ด ? Smaller Collection of Minor Works รวมคัมภีร์ที่จัดเข้าไม่ได้ในนิกายสี่ข้างต้นมีทั้งหมด 15 คัมภีร์ จัดเป็น 9 เล่ม คือ ขุททกปาฐะ ธรรมบท อุทาน อิติวุตตกะ สุตตนิบาต (1 เล่ม) วิมานวัตถุ เปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา (1 ล) ชาดก (2 ล.) นิทเทส (มหานิทเทส 1 ล., จูฬนิทเทส 1 ล.) ปฏิสัมภิทามรรค (1 ล.) อปทาน (1 2/3 ล.) พุทธวงศ์ จริยาปิฎก (1/3 ล.)

3. อภิธรรมปิฎก (หมวดอภิธรรม, ประมวลหลักธรรมและคำอธิบายในรูปหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยเหตุการณ์และบุคคล ? the Basket of Sublime, Higher or Extra Doctrine) แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ จัดพิมพ์เป็น 12 เล่ม คือ

  1. ธัมมสังคณี หรือ สังคณี (สํ) รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายเป็นประเภทๆ ? Enumeration of the Dhammas (1 ล.)

  2. วิภังค์ (วิ) อธิบายข้อธรรมที่รวมเป็นหมวดหมู่ (เรียกวิภังค์หนึ่งๆ) แยกแยะออกชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด ? Analysis of the Dhammas (1 ล.)

  3. ธาตุกถา (ธา) สงเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ? Discussion of Elements (ครึ่งเล่ม)

  4. ปุคคลบัญญัติ (ปุ) บัญญัติความหมายบุคคลประเภทต่างๆตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ ? Description of Individuals (ครึ่งเล่ม)

  5. กถาวัตถุ (ก) แถลงวินิจฉัยทัศนะต่างๆ ที่ขัดแย้งกันระหว่างนิกายทั้งหลายสมัยตติยสังคายนา ? Subjects of Discussion (1 ล.)

  6. ยมก (ย) ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบโดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ ? Book of Pairs (2 ล.)
  7. ปัฏฐาน (ป) หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย 24 โดยพิสดาร ? Book of Relation (6 ล.)

อนึ่ง 3 ปิฎกนี้ สงเคราะห์เข้าในปาพจน์ 2 คือ พระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก จัดเป็น ธรรม พระวินัยปิฎกจัดเป็น วินัย


เชิงอรรถ

โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา
ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย โดยกาลที่เราล่วงลับไป
(สุตตันตปิฎก ฑีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ข้อ 141)
โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
(สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ สังฆาฎิสูตร ข้อ 272)
การทำสังคายนา คือการรวบรวมคำสอนทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ พร้อมจัดหมวดหมู่ให้จดจำได้ง่าย และซักซ้อมทบทวน สวดสาธยายพร้อมกันเพื่อเป็นแบบแผนในการทรงจำสืบต่อมา โดยคำว่า สังคายนา หรือ สังคีติ นี้ เป็นภาษาบาลี แปลว่า สวดพร้อมกัน (สํ หมายถึง พร้อมกัน คายน หรือ คีติ หมายถึง การสวด)
เรื่องนี้มีปรากฏอยู่ใน ปาสาทิกสูตร (สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)
เรื่องนี้มีปรากฏอยู่ใน สังคีติสูตร (สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค)
จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ เทเสถ ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ
ภิกษุทั้งหลาย เธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ อันบริสุทธ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง
(สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย)

 

อ้างอิง

พระไตรปิฎกปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์, ข้อสังเกตลางประการเกี่ยวแก่ปิฎก(บาลี-สันสกฤตวิชาการ), มูลนิธิมหามกุฏฯ, หน้า 56-89
พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต), พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้, เอส. อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์, 2546. ISBN 974915391X.
สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน, มหามกุฏราชวิทยาลัยฯ, 2539.
พระไตรปิฎก : ประวัติและความสำคัญ, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฯ, 2535. ISBN 9745752312.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก, พระไตรปิฎกวิเคราะห์, ช่อมะไฟ, 2530. ISBN 9748356914.
เสฐียรพงษ์ วรรณปก, เพลงรักจากพระไตรปิฎก, อุษณา, 2531. ISBN 9748357317.
http://th.wikipedia.org/wiki/
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พระสุตตันตปิฎก&detail=on
http://www.84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%BE%C3%D0%CA%D8%B5%B5
Vin. V.86. วินย. 8/826/224.

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.watnai.org
บันทึกการเข้า

เกิดเป็นมนุษย์ทั้งที อย่าให้ย้ำอยู่ที่เดิม หาทางปฏิบัติเจริญปัญญา เพื่อเดินไปข้างหน้า เพื่อบรมสุขตามรอยขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เที่ยวอุบล | ทัวร์พม่า | JR Pass
หน้า: [1]
พิมพ์
กระโดดไป: