KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน => ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 14, 2015, 10:11:57 PM



หัวข้อ: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย พ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 14, 2015, 10:11:57 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20150314220939_luangpor_kasem.jpg)

''..ในหลวง :ใช้สติอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ ทำงานด้วยความรอบคอบ
ให้สติตั้งอยู่ตลอดเวลา..
.

หลวงพ่อเกษม : ทรงปฏิบัติอย่างนั้นถูกแล้ว ทรงเจริญเมตตา
ในพรหมวิหารอยู่..''

บันทึกพระราชปุจฉาสนทนาธรรม กับ หลวงพ่อเกษม เขมโก

บันทึกโดย พระครูปลัดจันทร์ กตปุญโญ

ณ วัดคะตึกเชียงมั่น
ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง

ต่อไปนี้เป็นพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงปฏิสันถารกับ
พระอินทรวิชยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดคะตึกเชียงมั่น และ หลวงพ่อเกษม เขมโก ซึ่ง ข้าพเจ้า (พระครูปลัดจันทร์ กตปุญโญ)
ได้มีโอกาสช่วยหลวงพ่อถวายพระพรด้วย ข้อความนี้ข้าพเจ้าบันทึกไว้หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้วดังนี้

ในหลวง : หลวงพ่อประจำอยู่ที่วัดนี้หรือ

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาตมาประจำอยู่ที่สุสานไตรลักษณ์

ในหลวง : อยากไปหาหลวงพ่อเหมือนกัน แต่หาเวลาไม่ค่อยได้ ได้ทราบว่าเข้าพบหลวงพ่อยาก

หลวงพ่อเกษม : พระราชาเสด็จไปป่าช้าเป็นการไม่สะดวก เพราะสถานที่ไม่เรียบร้อย
อาตมาภาพจึงมารอเสด็จที่นี่ ขอถวายพระพร มหาบพิตรสบายดีหรือ

ในหลวง : สบายดี

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระชนมายุเท่าไร

ในหลวง : ได้ ๕๐ ปี

หลวงพ่อเกษม : อาตมาภาพได้ ๖๗ ปี

ในหลวง : หลวงพ่ออยู่ตามป่ามีความสงบ ย่อมจะมีโอกาสปฏิบัติธรรมได้มากกว่าพระที่วัดในเมือง
 ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการปกครองและงานอื่นๆ จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะอยู่ป่าไม่มีภารกิจอย่างอื่น
แต่ก็ขึ้นอยู่กับศีลบริสุทธิ์ด้วย เพราะเมื่อศีลบริสุทธิ์จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน นิวรณ์ไม่ครอบงำก็ปฏิบัติได้

ในหลวง : การปฏิบัติอย่างพระมีเวลามากย่อมจะได้ผลเร็ว ส่วนผู้ที่มีเวลาน้อยมีภารกิจมาก
จะปฏิบัติอย่างหลวงพ่อก็ไม่อาจทำได้ แล้วจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร เราจะหั่นแลกช่วงเวลาช่วงเช้าให้สั้นเข้าจะได้ไหม
คือ ซอยเวลาออกจากหนึ่งชั่วโมงเป็นครึ่งชั่วโมง จากครึ่งชั่วโมงเป็นสิบนาที หรือห้านาที แต่ให้ได้ผล
คือ ได้รับความสุขเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น นั่งรถยนต์จากเชียงใหม่มาลำปางก็สามารถปฏิบัติได้
หรือระหว่างที่มาอยู่ในพิธีนี้มีช่วงที่ว่างอยู่ ก็ปฏิบัติเป็นระยะไป อย่างนี้จะถูกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ อยากจะเรียนถาม

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร จะปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้ ถ้าแบ่งเวลาได้

ในหลวง : ไม่ถึงแบ่งเวลาต่างหากออกมาทีเดียว ก็อาศัยเวลาขณะที่ออกมาทำงานอย่างอื่นอยู่นั้นแหละ
ได้หรือไม่ คือ ใช้สติอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ ทำงานด้วยความรอบคอบให้สติตั้งอยู่ตลอดเวลา

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปฏิบัติอย่างนั้นถูกแล้ว
การที่มหาบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติงานอย่างนี้ ก็เรียกว่าได้ทรงเจริญเมตตาในพรหมวิหารอยู่

ในหลวง : ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น เช่นว่ามาตัดลูกนิมิตนี้ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม
ด้วยขี้เกียจมาจึงมีกำลังใจมา และเมื่อได้โอกาสได้เรียนถามพระสงฆ์ว่า การปฏิบัติธรรมเป็นระยะเวลาสั้นๆ
 เป็นตอนๆ อย่างนี้จะได้ผลไหม อุปมาเหมือนช่างทาสีผนังโบสถ์ เขาทาทางนี้ดีแล้วพัก ทาทางโน้นดีแล้วพัก
ทำอยู่อย่างนี้ก็เสร็จได้ แต่ต้องใช้เวลาหน่อย จึงอยากเรียนถามว่าปฏิบัติอย่างนี้ จะมีผลสำเร็จไหม

หลวงพ่อเกษม : ปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้โดยอาศัยหลัก ๓ อย่าง คือ มีศีลบริสุทธิ์
ทำบุญในชาติปางก่อนไว้มาก มีบาปน้อย ขอถวายพระพร

เจ้าคุณฯ : ได้ตามขั้นของสมาธิ คือ อุปจารสมาธิได้สมาธิเป็นแต่เฉียดๆ ขณิกสมาธิ
ได้สมาธิเป็นขณะๆ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ได้สมาธิแน่วแน่ดิ่งลงไปได้นานๆ (อธิบายละเอียดกว่าที่บันทึกนี้)

ในหลวง : ครับ ที่หลวงพ่อว่ามีศีลบริสุทธิ์ ชาติก่อนทำบุญไว้มากอยากทราบว่าผมเกิดเป็นอะไร
ได้ทำ อะไรไว้บ้าง จึงได้มาเป็นอย่างนี้ (หลวงพ่อยิ้มและนิ่ง แล้วหันมาทางข้าพเจ้าบอกว่าตอบยาก)

ข้าพเจ้า : ขอถวายพระพร หลวงพ่อไม่อาจจะพยากรณ์ถวายมหาบพิตรได้

เจ้าคุณฯ : หลวงพ่ออาจจะเกรงพระราชหฤทัยมหาบพิตรก็ได้ ขอถวายพระพร

ในหลวง : หลวงพ่อไม่ต้องเกรงใจว่าเป็นพระราชา ขอให้ถือว่าสนทนาธรรมก็แล้วกันยินดีรับฟังมีคน
พูดกันว่า ชาติก่อนผมเกิดเป็นนักรบมีบริวารมาก ถ้าเป็นอย่างนั้น ศีล ๕ จะบริสุทธิ์ได้อย่างไร ?
การเป็นนักรบนั้นจะต้องได้ฆ่าคนสงสัยอยู่” (หลวงพ่อหันมากระซิบกับข้าพเจ้าว่า เอใคร
ทำนายถวายท่านอย่างนั้นก็ไม่รู้ เราไม่รู้ เราไม่มีอตีตังสญาณ อนาคตังสญาณ ตอบยาก ต้องหลวงพ่อเมืองซิ)

ข้าพเจ้า : ขอถวายพระพร หลวงพ่อยืนยันว่า มหาบพิตรมีศีลบริสุทธิ์และทรงมีบุญมาก

ในหลวง : เรื่องบุญกับกุศลนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง ตามที่รู้ผู้ทำบุญ หรือผู้มีบุญได้ผลแค่เทวดาอยู่สวรรค์
ผู้มี กุศลหรือทำกุศล มีผลให้ได้นิพพาน ถ้าอย่างนั้นที่ว่าพระราชามีบุญมากก็คงได้แค่เป็นเทวดา
อยู่บนสวรรค์เท่านั้นไม่ได้นิพพาน ทำไมเราไม่พูดถึงกุศลกันมากๆ บ้าง หลวงพ่อสอนให้คน
ปฏิบัติธรรมตามแนวปฏิบัติของหลวงพ่อบ้างหรือเปล่า

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาตมาภาพได้ทราบว่าที่วัดปากน้ำ วัดมหาธาตุ
ก็มีสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน มหาบพิตรเคยเสด็จไปบ้างไหม

ในหลวง : ทราบ แต่ไม่เคยไป หลวงพ่อสอนอย่างไร อยากฟังบ้างและอยากได้เป็นแนวปฏิบัติเอาอย่างนี้ได้ไหม
มีเครื่องหรือเปล่า” (นายชุมพลกระซิบข้าพเจ้าว่า...มีเทป)

ข้าพเจ้า : ขอถวายพระพร เครื่องเทปของวัดมี

ในหลวง : ขอให้หลวงพ่อสอนตามแนวของหลวงพ่อที่เคยสอน จะสอนอะไรก็ได้

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มีเป็นประเภทภาษิตคติธรรมต่างๆ

ในหลวง : อะไรก็ได้ ขอให้เป็นคำสอนก็ใช้ได้

หลวงพ่อเกษม : ได้ ขอถวายพระพร

ในหลวง : ขอนมัสการลา (ทรงกราบแล้วเสด็จพระราชดำเนินถึงประตูพระอุโบสถ เสด็จกลับมาที่หลวงพ่ออีก)
แล้วตรัสว่า “หลวงพ่อจำหมอ ดนัยได้ไหม เคยส่งมาพยาบาลหลวงพ่อที่คราวหลวงพ่ออาพาธมาหลายปีแล้ว ผมจะให้เขานำเครื่องบันทึกมา”

หลวงพ่อเกษม : จำได้ ขอถวายพระพร

..หมายเหตุ ;เจ้าคุณฯ หมายถึง เจ้าคุณพระอินทรวิชยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดคะตึกเชียงมั่น..

“สัพเพ ชนา สุชิโต โหนตุ”
หลวงพ่อเกษม เขมโก

Cr.หนังสือหลวงพ่อเกษม เขมโก


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย พ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 10, 2015, 04:16:45 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20160601125011_2.jpg)

พระนิพพานเปรียบเมือนคุณของอากาศอธิบายว่า อากาศมีคุณอยู่ 10 ประการ คือ

๑. ไม่รู้จักเกิด
๒. ไม่รู้จักแก่
๓. ไม่รู้จักตาย
๔. ไม่จุติ
๕. ไม่กลับเกิดอีก
๖. เป็นของดำรงค์สภาพไว้ได้โดยไม่ต้องอาศรัยอะไร
๗. สำหรับฝูงนกบินไปมา
๘. ใครจะข่มเหง ลอบลักเอาไปไม่ได้
๙. ไม่รู้มีอะไรมากางกั้น และที่สุด
๑๐. ไม่ปรากฏ

การเห็นเป็นเหตุแห่งการคิด การคิดเป็นเหตุแห่งการเห็น ถ้าคิดดีก็เป็นทางเย็น ถ้าคิดไม่เป็นก็เย็นสบาย
ตายไปเหม็นเน่า เราเขาเหมือนกัน อยู่ไปทุกวัน ใครได้ก็ดี ใครมีก็ได้
การกินก็ต้องเป็นห่วง เพราะอยู่ในบ่วงของตัณหา กินเพื่อเลี้ยงอาตมา
ให้มีอยู่ได้เป็นวันๆ ตั้งแต่เกิดมา ได้กินหรือยัง กินแล้วให้เหลือ 1 คำ อย่าให้หมดเกลี้ยง จะฝึกโบราณ

ความหลุดพ้น ที่มนุษย์ทุกคนพึงหานั้น อยู่ที่ตนเอง หากตนเองมุ่งปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ก็จะได้พบไม่ยาก ขอให้มุ่งปฏิบัติเถิด การหลุดพ้นนั้น จะต้องทำจิดใจของตนให้หมดกิเลส
หมดสิ้นจากทุกข์ทกอย่าง หมดสิ้นจากสิ่งที่อยากได้ สิ่งที่เรียกว่า โลภ โกรธ หลง
ตัดสิ่งนี้ให้หมดสิ้น และเจริญวิปัสสนากรรมฐานจึงได้พบทางหลุดพ้น

ชีวิตและปฏิปทาของหลวงพ่อเกษม เขมโก ย่อมเตือนใจให้ระลึกถึงพระพุทธพจน์ที่ว่า สีลคนโธ อนุตตโร
กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่ากลิ่นทั้งปวง"

ป่าเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ได้บอกให้เราคิดเพ้อเจ้อ ฟุ้งซ่าน แต่มนุษย์ไม่ได้ทำตามหน้าที่ตามธรรมชาติ
คิดเก่ง คิดชอบ คิดไร้สาระ คิดเอาแต่ใจตัวไม่รู้จบ มนุษย์ทำเกินหน้าที่ของตัว ไม่ทำตามธรรมชาติ
เมื่อใดมนุษย์ถือมั่น ความทุกข์ก็ไม่มี มีแต่ประโยชน์

....ธรรมะหลวงพ่อเกษม เขมโก


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอด โดย พ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 01, 2016, 12:50:35 PM
(http://kammatan.com/gallary/images/20160601125025_3.jpg)

การสละแล้วของหลวงพ่อเกษม‬
ในวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ในตอนรุ่งเช้า หลวงพ่อเกษมท่านได้เขียนจดหมายทิ้งไว้ มีข้อความดังนี้

"การเป็นเจ้าอาวาสเปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว จึงไม่เหมาะกับเรา เราเป็นพระกรรมฐานที่ต้องการความสงบ
เราไม่ขอกลับมาอีก อย่าได้ติดตามเราไป ทุกอย่างเราสอนดีแล้ว จงประพฤติไปเถิดจะเกิดผล"

ท่านออกจากวัดโดยมิได้มีอะไรติดตัวไปเลย มีเพียงบาตรและจีวรเท่านั้น สถานที่ที่ท่านเดินทางไปอยู่แห่งแรกคือ ป่าช้าศาลาวังทาน แม้ท่านจะไปอยู่ที่แห่งไหน ก็ไม่พ้นความวุ่นวาย ผู้ที่เคารพศรัทธาท่านก็ติดตามไปทุกที่ ท่านได้เพียรพยายามหาเวลานั่งกรรมฐานชนิดไม่มีเวลาหยุดพัก แม้กระทั่งมีญาติโยมที่นำของไปถวายท่าน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีค่ามากเท่าใด ท่านก็ต้องให้ทานไปต่อทุกครั้ง ท่านแสดงให้เห็นถึงการตัดสิ้นแล้วซึ่งกิเลส แม้ผ้าไตรดีๆเช่นผ้าไตรแพร มีคนเอามาถวายท่าน ท่านก็ต้องออกปากชมว่าสวยดี และมักจะได้ยินท่านบอกว่า " เฮาเป๋นพระป่าบ่เปิง หื้อพระอยู่วัดใจ้ดีกว่า " แปล เราเป็นพระอยู่ป่า ไม่เหมาะสมจะใช้ ให้พระอยู่วัดใช้ดีกว่า " ขาดเย็บได้ไม่เห็นเดือดร้อน ดีเสียอีกที่ไม่ต้องระวังว่ามันจะเปื้อน " แม้กระทั่งการฉันของท่านเอาแน่ไม่ได้ บางทีสามวันฉันครั้งบ้างเจ็ดวันฉันครั้ง บ้างฉันติดกันทุกวัน แต่ที่แน่ที่สุดคือ ‪‎อาหารที่ท่านฉันทุกอย่างจะต้องปล่อยให้บูด‬ อย่างน้อยสามวันเจ็ดวัน ท่านเคยอดอาหารครั้งหนึ่งมีกำหนด 49 วัน ฉันแต่น้ำเท่านั้น จนกระทั่งวันที่ 48 ลูกศิษย์เห็ท่านมีอาการโผเผอ่อนลง จึงเป็นห่วงขอนิมนต์ท่าน ถึงไม่ฉันอาหารก็ให้ท่านฉันผลไม้บ้าง ท่านก็ยอม ลูกศิษย์จัดแจงหาผลไม้ ขณะนั้นมีคนสามคนไปพบท่าน คุยกับท่านเกือบสองชั่วโมง จนลูกศิษย์เป็นห่วงและได้พูดกับทั้งสามคนว่า " ขอประทานโทษคุณครับ ขอเวลาให้ท่านฉันผลไม้สักครู่น่ะครับ " ทั้งสามคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า " ท่านไม่หิวหรอก " เท่านั้นเองหลวงพ่อเกษม ก็เอาผลไม้ที่ปอกไว้ให้ทั้งสามคนกินจนหมด จากนั้นทั้งสามคนจึงขอตัวกลับ ลูกศิษย์จึงถามหลวงพ่อว่า ทำไมหลวงพ่อไม่ฉัน ท่านกลับตอบว่า " เขามาลองดี เขามาสอบไล่เรา " การกระทำของท่านนั้น เป็นเพียงการฝึกจิตให้แข็งกล้า เรื่องการปฏิบัติขั้นอุกกฤษ์ของหลวงพ่อเกษม เคยมีลูกศิษย์สอบถาม หลวงปู่บุดดา ถาวโร ท่านได้เล่าเปรียบเทียบถึงพระอริยสงฆ์บางองค์ ที่สำเร็จโดยการบำเพ็ญเพียรด้วยการทรมานกายนั้น เนื่องจากอดีตชาติท่านได้เกิดเป็น ฤาษีที่บำเพ็ญปฏิบัติด้วยการทรมานตนเอง หลายภพหลายชาติจนเกิดความเคยชินเรียกว่า จริตของบุคคลนั้น สำหรับหลวงพ่อเกษมนั้น หมดภพหมดชาติแล้ว จะไม่มีการกับมาจุติอีกต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก เพจหลวงพ่อเกษม เขมโก
ปล. หลวงพ่อเกษม เขมโก เดิมมีนามว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง ประสูติ เมื่อ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2455 ตรงกับวันพุธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ. 131 เป็นบุตรใน เจ้าน้อยหนู ณ ลำปาง (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ) รับราชการเป็นปลัดอำเภอ กับ เจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และเป็นราชปนัดดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

ขอบคุณข้อมูลจาก FB: ธรรมะพระป่ากรรมฐาน สายหลวงปู่มั่น และ kammatan.com