KAMMATAN.COM BOARD พุทธกรรมฐาน สติปัฏฐาน4 ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา แจกCDธรรมะ พาเที่ยววัด กรุณา Login เพื่อมองเห็นกระทู้ เพิ่มขึ้น ครับ

ธรรมมะกับมนุษย์ ปฏิปทาของครูบาอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน => ธรรมมะจากพระสงฆ์ สุปฏิปันโน เป็นข้อคิด และแนวทาง เพื่อเป็นแรงใจในการปฏิบัติภาวนา => ข้อความที่เริ่มโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 04, 2012, 04:14:29 PM



หัวข้อ: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 04, 2012, 04:14:29 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20120906130952_ajan_mhun.jpg)

จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ
ควรบำรุงรักษาด้วยดี
ได้ใจแล้วคือได้ธรรม
เห็นใจตนแล้ว คือเห็นธรรม
ถึงใจคนแล้ว คือถึงพระนิพพาน

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 05, 2012, 11:23:45 AM
"อย่าลดละท้อถอยความเพียร ธรรมเป็นสมบัติกลางและเป็นสมบัติของทุกคนที่ใคร่ต่อธรรม
 พระพุทธเจ้ามิได้ผูกขาดไว้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ต่างมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของได้ด้วยการปฏิบัติดีของตนด้วยกัน"

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 05, 2012, 11:41:38 AM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20121005113105_ajan_muhn3.jpg)

"..ของดีมีอยู่กับตัวเรา ทุกคนก็พากันปฏิบัติเอา ทำเอา เมื่อเวลาตายแล้วจึงวุ่นวายหานิมนต์พระมากุสลามาติกา ไม่ใช่เกาถูกที่คัน ต้องรีบแก้เสียบัดนี้ คือ เร่งทำความดีแต่บัดนี้ จะได้หายห่วง

...อะไร ๆ ที่เป็นสมบัติของโลก มิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล สมบัติในโลกเราแสวงหามา หามาทุจริตก็เป็นไฟเผา เผาตัวทำให้ฉิบหายได้จริง ๆ ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดและความโง่เขลาของผู้แสวงหาแต่ละราย

.
..ท่านผู้พ้นทุกข์ไปด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตน จนกลายเป็นสรณะของพวกเรา ท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทอง เครื่องหวงแหน เป็นคนร่ำรวย สวยงามเฉพาะสมัย จึงพากันรัก พากันห่วง จนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย สำคัญตนว่าจะไม่ตาย และพากันประมาทจนลืมตัว เพลิดเพลินตักตวงเอาแต่สิ่งไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว

...อย่าสำคัญว่าตนเก่งกาจสามารถฉลาดรู้กว่าเขาเลย ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรอกอาจจนยิ่งกว่าสัตว์ ถ้าไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้ ซึ่งอยู่ในฐานะอันควร อาตมาขออภัยด้วยถ้าพูดหยาบคายไป แต่คำพูดที่สั่งสอนคนให้ละชั่ว ทำความดี จัดเป็นหยาบคายอยู่แล้ว

...โลกเราก็จะถึงคราวหมดสิ้นศาสนา เพราะไม่มีผู้ยอมรับความจริง การทำบาปหยาบคายมีมาประจำแทบทุกคน ทั้งให้ผลเป็นทุกข์ ตนยังไม่อาจรู้ได้ และตำหนิมันบ้างพอมีทางคิดแก้ไข แต่กลับตำหนิคำสั่งสอนหยาบคาย ก็นับเป็นโรคที่หมดหวัง"

โอวาทธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต



ขอบพระคุณข้อมูลจาก : facebook กลุ่มพุทธธรรมกรรมฐาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ http://www.kammatan.com


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 05, 2012, 09:08:39 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20121005112959_ajan_muhn2.jpg)

"..วาสนา นั้นเป็นไปตามอัธยาศัย คนที่มีวาสนาในทางที่ดีมาแล้ว แต่คบคนพาล วาสนาก็อาจเป็นคนพาลได้..

บางคนวาสนายังอ่อน เมื่อคบบัณฑิต วาสนาก็เลื่อนขึ้นเป็นบัณฑิต

ฉะนั้น บุคคลควรพยายามคบแต่บัณฑิต เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้น.."

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 14, 2012, 10:16:18 AM
คนไม่สนใจธรรม ธรรมก็ไม่เข้าถึงใจคน
จึงกลายเป็นคนก็สักว่าคน ธรรมก็สักว่าธรรม
ไม่อาจยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
แม้คนจะมีจำนวนมากและแสดงธรรมให้ฟังทั้งพระไตรปิฏก
จึงเป็นเหมือนเทน้ำใส่หลังหมา
มันสลัดออกเกลี้ยงไม่มีเหลือ
ธรรมจึงไม่มีความหมายในใจของคน
เหมือนน้ำไม่มีความหมายบนหลังหมา ฉันนั้น

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 17, 2012, 04:24:59 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20100202154000__1_743.jpg)

ในปี พ.ศ. 2481 หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้นิมิตว่า
“ได้เดินไปตามทางซึ่งโล่งเตียน สะอาด มีพระภิกษุสามเณรเดินตามไปเป็นจำนวนมาก
ดูเป็นแถวยาวเหยียด เมื่อเดินไป เดินไปปรากฏว่าพระภิกษุ สามเณรเหล่านั้น
ทั้งพระเถระผู้ใหญ่และผู้น้อย ต่างก็เดินไปคนละทาง บ้างก็แยกไปทางซ้าย
บ้างก็แยกไปทางขวา บ้างก็ล้ำหน้าเดินไปอย่างไม่เกรงใจ ดูพลุกพล่านไป”

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้อธิบายนิมิตของท่านว่า “ในการต่อไปข้างหน้า
จะมีผู้นิยมทำกรรมฐานภาวนากันมากขึ้น กับจะมีการตั้งตนเป็นอาจารย์สอน
กรรมฐานภาวนากันมากจะมีทั้งมีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ
คือต่างก็จะสอนไปตามความเข้าใจของตน จนถึงกับนำเอาการตั้งตนเป็น
อาจารย์สอนกรรมฐานภาวนามาบังหน้า แล้วก็ดำเนินการไม่บริสุทธิ์ด้วยประการต่างๆ
 ผลที่เกิดขึ้นจึงไม่ดีเท่าที่ควร” “แต่บางพวกก็ดี เพราะยังเดินตามเราอยู่
นี่มิได้หมายความว่าเราเป็นผู้วิเศษ แต่การดำเนินการของเรานั้น
ได้ทำไปโดยความบริสุทธิ์ใจมุ่งเพื่อความพ้นทุกข์ โดยปฏิทานี้
ก็ทำให้ได้ผลทั้งตนเองและศิษยานุศิษย์ตลอดมา การที่ต่างคนต่างตั้งตนเป็นอาจารย์นั้น
ย่อมทำให้เสียผลเพราะทำให้เกิดความลังเลแก่ผู้จะเข้ามาเรียนกรรมฐานภาวนาว่าจะถือเอาอาจารย์ไหนจึงจะถูก”

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต




ขอบพระคุณข้อมูลจาก : Facebook เครือข่ายกลุ่มพุทธธรรมกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และ http://www.kammatan.com



หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: the suffering ที่ ตุลาคม 17, 2012, 08:15:28 PM
Satu
 ;D


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 17, 2012, 01:35:52 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20121117133540_luangpu_mhun.jpg)

พระธรรมเจดีย์ :
ถ้าเช่นนั้นสัญญาก็เป็นเรื่องของอดีตทั้งนั้น ไม่ใช่ปัจจุบัน ?

พระอาจารย์มั่น :

อารมณ์นั้นเป็นอดีต แต่เมื่อความจำปรากฎขึ้นในใจ เป็นสัญญาปัจจุบันนี่แหละเรียกว่าสัญญาขันธ์

พระธรรมเจดีย์ :
ถ้าไม่รู้จักสัญญา เวลาที่ความจำรูปคนมาปรากฎขึ้นในใจ ก็ไม่รู้ว่าสัญญาของตัวเอง
สำคัญว่าเป็นคนจริงๆ หรือความจำรูปที่ไม่มีวิญญาณมาปรากฎขึ้นในใจ ก็ไม่รู้ว่าสัญญา
สำคัญว่าเป็นสิ่งเป็นของจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จะมีโทษอย่างไรบ้าง ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ ?

พระอาจารย์มั่น :
มีโทษมาก เช่นนึกถึงคนที่รัก รูปร่างของคนที่รักก็มาปรากฎกับใจ กามวิตกที่ยังไม่เกิด
ก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะงอกงาม หรือนึกถึงคนที่โกรธกัน รูปร่างของคนที่โกรธกันนั้น
ก็มาปรากฎชัดเจนเหมือนได้เห็นจริงๆ พยาบาทวิตกที่ยังไม่เกิดก็จะเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะงอกงาม
หรือนึกถึงสิ่งของที่สวยๆ งามๆ รูปร่างสิ่งของเหล่านั้นก็มาปรากฎในใจ เกิดความชอบใจบ้าง
แหละอย่าได้บ้าง เพราะไม่รู้ว่าสัญญาขันธ์ของตัวเอง สัญญาว่าสิ่งทั้งปวงเป้นจริงเป็นจังไปหมด ที่แท้ก็เหลวทั้งนั้น

พระธรรมเจดีย์ :
ก็ความเกิดขึ้นแห่งสัญญามีลักษณะอย่างไร ?

พระอาจารย์มั่น :
เมื่อความจำรูปอย่างใดอย่างหนึ่งมาปรากฎในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่งความจำรูป
เมื่อความจำรูปเหล่านั้นดับหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งความจำรูป

พระธรรมเจดีย์ :
ความจำเสียงนั้น มีลักษณะอย่างไร ?

พระอาจารย์มั่น :
เช่นเวลาเราฟังเทศน์ เมื่อพระเทศน์จบแล้วเรานึกขึ้นได้ว่าท่านแสดงว่าอย่างนั้นๆ
หรือมีคนมาพูดเล่าเรื่องอะไรๆ ให้เราฟัง เมื่อเขาพูดเสร็จแล้วเรานึกขึ้นจำถ้อยคำนั้นได้
นี่เป็นลักษณะของความจำเสียง เมื่อความจำเสียงปรากฎขึ้นในใจ เป็นความเกิดขึ้นแห่งความจำเสียง
เมื่อความจำเสียงเหล่านั้นดับหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งสัททสัญญา

พระธรรมเจดีย์ :
คันธสัญญาความจำกลิ่นมีลักษณะอย่างไร ?

พระอาจารย์มั่น :
เช่นกับเราเคยได้กลิ่นหอมดอกไม้หรือน้ำอบ หรือกลิ่นเหม็นอย่างใดอย่างหนึ่งไว้
เมื่อนึกขึ้นก็จำกลิ่นหอมกลิ่นเหม็นเหล่านั้นได้ นี่เป็นความเกิดขึ้นของความจำกลิ่น
เมื่อความจำกลิ่นเหล่านั้นหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งคันธสัญญา

พระธรรมเจดีย์ :
รสสัญญาความจำรสนั้นมีลักษณะอย่างไร ?

พระอาจารย์มั่น :
ความจำรสนั้น เมื่อเรารับประทานอาหารมีรสเปรี้ยว หวาน จืด เค็ม หรือขมเป็นต้น
 เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว นึกขึ้นก็จำรสเหล่านั้นได้ อย่างนี้เรียกว่า ความจำรส
เมื่อความจำรสปรากฎขึ้นใจใน เป็นความเกิดขึ้นแห่งรสสัญญา
เมื่อความจำรสเหล่านั้นดับหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งรสสัญญา

พระธรรมเจดีย์ :
โผฎฐัพพะสัญญามีลักษณะอย่างไร ?

พระอาจารย์มั่น :
ความจำเครื่องกระทบทางกาย เช่นเราเดินไปเหยียบหนาม ถูกหนามยอก
หรือถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็งอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนึกขึ้นจำความถูกต้องกระทบกายเหล่านั้นได้
ชื่อว่าโผฏฐัพพะสัญญา

พระธรรมเจดีย์ :
เช่นเมื่อกลางวันนี้เราเดินไปถูกแดดร้อนจัด ครั้นกลับมาถึงบ้าน นึกถึงที่ไปถูกแดดมานั้น
ก็จำได้ว่าวันนั้นเราไปถูกแดดมานั้น ก็จัดได้ว่าวันนั้นเราไปถูกแดดร้อน อย่างนี้เป็นโผฏฐัพพะสัญญาถูกไหม ?

พระอาจารย์มั่น :
ถูกแล้ว สิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบถูกต้องทางกาย เมื่อเราคิดถึงอารมณ์เหล่านั้น
จำได้เป็นโผฏฐัพพะสัญญาทั้งนั้น เมื่อความจำโผฏฐัพพะเกิดขึ้นในใจ
เมื่อความจำเหล่านั้นดับหายไปจากใจ เป็นความดับไปแห่งโผฏฐัพพสัญญา

พระธรรมเจดีย์ :
ธัมมสัญญามีลักษณะอย่างไร ?

พระอาจารย์มั่น :
ธัมมสัญญาความจำธัมมารมณ์นั้นละเอียดยิ่งกว่าสัญญา 5 ที่ได้อธิบายมาแล้ว


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 18, 2012, 07:29:47 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20121118192348_luangpu_sao.jpg)

ท่านพระอาจารย์เสาร์เดิมปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ท่านพระอาจารย์เสาร์ เดิมท่านปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
เวลาออกบำเพ็ญพอเร่งความเพียรเข้ามากๆ ใจรู้สึกประหวัดๆ ถึงความปรารถนาเดิม
เพื่อความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แสดงออกเป็นเชิงอาลัยเสียดายยังไม่อยากไปนิพพาน
ท่านเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อความเพียรเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้
ท่านเลยอธิษฐานของดจากความปรารถนานั้น และขอประมวลมาเพื่อความรู้แจ้งซึ่งพระนิพพานในชาตินี้
ไม่ขอเกิดมารับความทุกข์ทรมานในภพชาติต่าง ๆ อีกต่อไป

พอท่านปล่อยวางความปรารถนาเดิมแล้ว การบำเพ็ญเพียรรู้สึกสะดวกแลเห็นผลไปโดยลำดับ
ไม่มีอารมณ์เครื่องเกาะเกี่ยวเหมือนแต่ก่อน สุดท้ายท่านก็บรรลุถึงแดนแห่งความเกษมดังใจหมาย
แต่การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ท่านไม่ค่อยมีความรู้แตกฉานกว้างขวางนัก
ทั้งนี้อาจจะเป็นไปตามภูมินิสัยเดิมของท่านที่มุ่งเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ซึ่งตรัสรู้เองชอบ แต่ไม่สนใจสั่งสอนใครก็ได้ อีกประการหนึ่ง
ที่ท่านกลับความปรารถนาได้สำเร็จตามใจนั้น คงอยู่ในขั้นพอแก้ไขได้ ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เต็มภูมิแท้

แม้ท่านพระอาจารย์มั่นเอง ตามท่านเล่า ว่าท่านก็เคยปรารถนาพุทธภูมิมาแล้วเช่นเดียวกัน
ท่านเพิ่งมากลับความปรารถนาเมื่อออกบำเพ็ญธุดงคกรรมฐานนี่เอง
โดยเห็นว่าเนิ่นนานเกินไปกว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาตามความปรารถนา
จำต้องท่องเที่ยวเกิด แก่ เจ็บ ตายอยู่ในวัฏสงสารหลายกัปหลายกัลป์ ไม่ชนะ จะแบกขนทนความทุกข์ทรมานไม่มีวันจบสิ้นนี้ได้

เวลาเร่งความเพียรมาก ๆ จิตท่านมีประหวัด ประหวัดในความหลัง
แสดงเป็นความอาลัยเสียดายความเป็นพระพุทธเจ้า
ยังไม่อยากนิพพานในชาตินี้เหมือนท่านพระอาจารย์เสาร์
พออธิษฐานของดจากความปรารถนาเดิมเท่านั้น รู้สึกเบาใจหายห่วง
และบำเพ็ญธรรมได้รับความสะดวกไปโดยลำดับ ไม่ขัดข้องเหมือนแต่ก่อน
และปรากฏว่า ท่านผ่านความปรารถนาเดิมไปได้อย่างราบรื่นชื่นใจ
เข้าใจว่าภูมิแห่งความปรารถนาเดิมคงยังไม่แก่กล้าพอ จึงมีทางแยกตัวผ่านไปได้

เวลาท่านออกเที่ยวธุดงคกรรมฐานทางภาคอีสานตามจังหวัดต่าง ๆ ในระยะต้นวัย
 ท่านมักจะไปกับท่านพระอาจารย์เสาร์เสมอ แม้ความรู้ทางภายในจะมีแตกต่างกันบ้างตามนิสัย
แต่ก็ชอบไปด้วยกัน สำหรับท่านพระอาจารย์เสาร์ท่านเป็นคนไม่ชอบพูด ไม่ชอบเทศน์
ไม่ชอบมีความรู้แปลก ๆ ต่าง ๆ กวนใจเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น
เวลาจำเป็นต้องเทศน์ท่านก็เทศน์เพียงประโยคหนึ่งหรือสองเท่านั้น
แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปเสีย ประโยคธรรมที่ท่านเทศน์ซึ่งพอจับใจความได้ว่า

“ให้พากันละบาปและบำเพ็ญบุญ อย่าให้เสียชีวิตลมหายใจไปเปล่าที่ได้มีวาสนามาเกิดเป็นมนุษย์”

และ

“เราเกิดเป็นมนุษย์ มีความสูงศักดิ์มาก แต่อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ
มนุษย์ของเราจะต่ำลงกว่าสัตว์ และจะเลวกว่าสัตว์อีกมาก เวลาตกนรกจะตกหลุมที่ร้อนกว่าสัตว์มากมาย อย่าพากันทำ”


แล้วก็ลงธรรมาสน์ไปกุฏิ โดยไม่สนใจกับใครต่อไปอีก
ปกตินิสัยของท่านเป็นคนไม่ชอบพูด พูดน้อยที่สุด ทั้งวันไม่พูดอะไรกับใครเกิน ๒-๓ ประโยค
เวลานั่งก็ทนทาน นั่งอยู่ได้เป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง เดินก็ทำนองเดียวกัน แ
ต่ลักษณะท่าทางของท่านมีความสง่าผ่าเผย น่าเคารพเลื่อมใสมาก
 มองเห็นท่านแล้วเย็นตาเย็นใจไปหลายวัน ประชาชนและพระเณรเคารพเลื่อมใสท่านมาก
ท่านมีลูกศิษย์มากมายเหมือนท่านพระอาจารย์มั่น

ทราบว่า ท่านพระอาจารย์ทั้งสององค์นี้รักและเคารพกันมาก ในระยะวัยต้นไปที่ไหนท่านชอบไปด้วยกัน
อยู่ด้วยกัน ทั้งในและนอกพรรษา พอมาถึงวัยกลางผ่านไป เวลาพักจำพรรษามักแยกกันอยู่
แต่ไม่ห่างไกลกันนัก พอไปมาหาสู่กันได้สะดวก มีน้อยครั้งที่จำพรรษาร่วมกัน
ทั้งนี้อาจเกี่ยวกับบรรดาศิษย์ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีมากด้วยกัน และต่างก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที
ถ้าจำพรรษาร่วมกันจะเป็นความลำบากในการจัดที่พักอาศัย จำต้องแยกกันอยู่เพื่อเบาภาระในการจัดที่พักอาศัยไปบ้าง

ทั้งสองพระอาจารย์ขณะที่แยกกันอยู่จำพรรษาหรือนอกพรรษา รู้สึกคิดถึงกันมากและเป็นห่วงกันมาก
เวลามีพระที่เป็นลูกศิษย์ของแต่ละฝ่ายมากราบนมัสการ จะมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์เสาร์หรือมากราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น
ต่างจะต้องถามถึงความสุขทุกข์ของกันและกันก่อนเรื่องอื่น ๆ จากนั้นก็บอกกับพระที่มากราบว่า
“คิดถึงท่านพระอาจารย์………” และฝากความเคารพคิดถึงไปกับพระลูกศิษย์ที่มากราบเยี่ยมตามสมควรแก่
“อาวุโส ภันเต” ทุก ๆ ครั้งที่พระมากราบพระอาจารย์ทั้งสองแต่ละองค์

ท่านมีความเคารพในคุณธรรมของกันและกันมาก ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรืออยู่ไกล
 เวลาพระอาจารย์ทั้งสององค์ใดองค์หนึ่งพูดปรารภถึงกันและกันให้บรรดาลูกศิษย์ฟัง
จะมีแต่คำที่เต็มไปด้วยความเคารพและความยกยอสรรเสริญโดยถ่ายเดียว ไม่เคยมีแม้คำเชิงตำหนิแฝงขึ้นมาบ้างเลย

จาก หนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 01, 2012, 10:29:04 AM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20121201102817_luangpu_mhun.jpg)


พระก็มาจากคน มีเนื้อมีหนังเหมือนกัน คนก็เจ็บป่วยได้ พระก็เจ็บป่วยได้
สุดท้ายก็คือ ตาย ได้มาเห็นอย่างนี้แล้วก็จงพากันนำไปพิจารณา
เกิดมาแล้ว ก็แก่ เจ็บ ตาย แต่ก่อนจะตาย ทานยังไม่มีก็ให้มีเสีย
ศีลยังไม่เคยรักษาก็รักษาเสีย ภาวนายังไม่เคยเจริญ ก็เจริญให้พอเสีย
จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ด้วยความไม่ประมาท นั้นละจึงจะสมกับที่ได้เกิดมาเป็นคน

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต



ขอบพระคุณข้อมูลจาก : FB คุณ Supani Sundarasardula และ kammatan.com


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 01, 2012, 10:30:17 AM
การบำรุงรักษาสิ่งสิ่งใดๆ ในโลก...การบำรุงรักษาตนคือใจ เป็นเยี่ยม
จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม
เห็นใจแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน

ใจนี้ คือสมบัติดันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจคือคนไม่สนใจปฏิบัติต่อดวงใจดวงวิเศษในร่างนี้
แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือผู้เกิดพลาดอยู่นั่นเอง

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 01, 2012, 10:31:29 AM
ผู้ปฏิบัติพึงใช้อุบายปัญญาฟังธรรมเทศนาทุกเมื่อ
ถึงจะอยู่คนเดียวก็ตาม คืออาศัยการสำเหนียก
กำหนดพิจารณาธรรมอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน
 ความเสื่อม ความเจริญ ทั้งภายนอกภายในก็มีธรรมชาติอันมีอยู่
โดยธรรมดาเขาแสดงความจริง คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
 ให้ปรากฏอยู่ทุกเมื่อ เมื่อผู้ปฏิบัติมาพินิจพิจารณาด้วยสติปัญญา
 โดยอุบายนี้อยู่เสมอแล้ว ชื่อว่าได้ฟังธรรมอยู่ทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืนแล


หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 18, 2012, 03:03:10 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20121218150034_ajan_mhun.jpg)

ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย  หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 24, 2012, 11:21:14 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20090109164151_144472.jpg)

มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกาย แต่มรรคผลขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว ละในสิ่งที่ควรละ
เว้นในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละ คือทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 13, 2013, 07:02:40 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20130113190154_luangpu_mhun.jpg)

ขอบพระคุณข้อมูลจาก : FB ชมรมพุทธธรรมกรรมฐาน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ FB ธรรมะออกแบบชีวิต และ http://www.kammatan.com


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 16, 2013, 05:32:23 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20121005112959_ajan_muhn2.jpg)

หลวงปู่มั่นถวายตัว

ภายหลังจาก หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ได้เปิดสำนักปฏิบัติธรรมที่วัดเลียบ
จังหวัดอุบลราชธานีได้ไม่นานนัก โคมทองแห่งพระพุทธศาสนาได้ถูกจุดขึ้น
นั่นก็คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้อุปสมบทในปี พ.ศ. 2439

เมื่อบวชแล้ว หลวงปู่มั่นได้มาจำพรรษาอยู่ ณ วัดเลียบ อันเป็นสำนักปฏิบัติกรรมฐาน
 และขอถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์เพื่อเรียนพระกรรมฐาน นั่นแสดงว่าอีกไม่นานเกินรอ
ชาวจังหวัดอุบลราชธานีจะได้รับเพชรน้ำเอกในบวรพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกเม็ดหนึ่ง
 และแสงอันแจ่มจำรัสนี้จะกระทำหน้าที่งามยิ่ง เพื่อกระพริบแสงให้สว่างไสว
ขับความมืดมนมาแต่ก่อนเก่า ให้ได้รับแสงอันบริสุทธิ์เยือกเย็นนี้ พอเป็นทางเดินไปสู่ในที่อันสดใสแก่ชีวิตได้

ในระยะเริ่มแรกแห่งการปฏิบัติธรรม หลวงปู่เสาร์ได้นำอุบายอันควร
ให้หลวงปู่มั่นน้อมนำจิตใจบังเกิดความสงบคือ “พุท-โธ”

คำบริกรรม “พุท-โธ” นี้ตรงกับจริตของหลวงปู่มั่นยิ่งนัก
ซึ่งท่านได้ถือเป็นนิสัยที่ชอบกว่าบรรดาบทธรรมอื่นๆ จนได้บังเกิดความสงบทางจิตของลูกศิษย์ผู้บวชใหม่นี้ในวันหนึ่ง

หลวงปู่เสาร์พึงพอใจเป็นอย่างมาก แม้หลวงปู่มั่นจะถวายตัวเป็นศิษย์
แต่หลวงปู่เสาร์หาได้ถือว่าเป็นศิษย์ไม่ ท่านถือว่าเป็นบุตรตถาคตองค์เดียวกัน

หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านบุพพาจารย์ใหญ่ทั้งสองนี้
รักใคร่เคารพนับถือกันมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด
ท่านบุพพาจารย์ทั้งสองท่านนี้มักจะส่งกระแสจิตติดต่อกันเสมอ หรือเรียกว่าฤทธิ์ทางใจ ก็คงจะไม่ผิดพลาด


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 04, 2013, 10:15:31 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20121005112959_ajan_muhn2.jpg)

ในหมู่บ้านหนองผือมีบ้านอยู่ ๗๐ หลังคาเรือน มีคุณยายนุ่งขาวห่มขาวคนหนึ่งชื่อ “กั้ง”
อายุราว ๘๐ ปี เป็นนักภาวนาสำคัญคนหนึ่ง ที่หลวงปู่มั่นเมตตาเป็นพิเศษเสมอมาคุณยายอุตส่าห์ตะเกียกตะกายไปศึกษาธรรม
กับท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือเสมอ ดังนี้

“...แกใช้ไม้เท้าเป็นเครื่องพยุงออกไปหาพ่อแม่ครูจารย์มั่น กว่าจะถึงวัดต้องพักเหนื่อยระหว่างทางถึง ๓-๔ ครั้ง
ทั้งเหนื่อยทั้งหอบน่าสงสารมาก บางทีท่านพระอาจารย์มั่นก็ทำท่าดุเอาบ้างว่า

‘โยมจะออกมาทำไม มันเหนื่อยไม่รู้หรือ แม้แต่เด็กเขายังรู้จักเหนื่อย แต่โยมแก่จนอายุ๘๐-๙๐
ปีแล้วทำไมไม่รู้จักเหนื่อยเมื่อยล้า มาให้ลำบากทำไม?’

แกเรียนตอบท่านอย่างอาจหาญตามนิสัยที่ตรงไปตรงมาของแกว่า

‘ก็มันอยากมา มันก็มาซิ’…”
คุณยายแกมีหลานชายคนหนึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น คอยส่งบาตรทุกวันๆ
พอองค์ท่านรับบาตรเสร็จแล้ว ก็จะสะพายบาตรไปส่งที่วัดทุกวันไม่เคยขาด
องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน กล่าวถึงการภาวนาของคุณยายว่า

“คุณยายแกภาวนาดี มีหลักเกณฑ์ทางจิตแล้ว แกยังมีปรจิตตวิชชา
คือสามารถรู้พื้นเพดีชั่วแห่งจิตคนอื่นได้ด้วย และมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลกๆ
ภายนอกด้วย เวลาแกมารับการอบรมกับท่านอาจารย์มั่น แกเล่าความรู้แปลกๆ
ถวายท่านด้วยความอาจหาญมาก ท่านทั้งขบขันทั้งหัวเราะ ทั้งเมตตาว่ายายแก่นี้อาจหาญจริง ไม่กลัวใคร”

คุณยายสามารถรู้เรื่องความคิดจิตใจของใครต่อใครได้ จนบางครั้งหลวงปู่มั่นยังได้ถามคุณยายแบบขบขันว่า

“รู้เรื่องนั้นไหม?”

คุณยายก็ว่า “รู้”

“แล้วเรื่องนี้รู้ไหม?” ก็ว่า “ก็รู้อีก”

หลวงปู่มั่นเลยลองถามว่า

“แล้วรู้ไหม?จิตของพระในวัดหนองผือนี้”

คุณยายว่า “ทำไมจะไม่รู้” แถมพูดแบบขู่เลยว่า “รู้หมดแหละ”

คุณยายเคยเล่าเรื่องภาวนาให้หลวงปู่มั่นฟังอย่าอาจหาญว่า

“มองมาวัดหนองผือแห่งนี้สว่างไสวทั่วหมดเลย มีแต่พระภาวนาดวงเล็กดวงใหญ่เหมือนดาวอยู่เต็มวัด”

เวลาเล่าถวายหลวงปู่มั่น คุณยายจะพูดแบบอาจหาญมากไม่กลัวใคร
แม้พระเณรจำนวนร่วมครึ่งร้อยซึ่งมีท่าน (องค์หลวงตามหาบัว)
รวมอยู่ด้วย จะนั่งฟังอยู่เวลานั้นด้วยก็ตาม คุณยายก็จะพูดได้อย่างสบาย ไม่สนใจว่าใครจะคิดอะไร ดังนี้

“...พวกพระทั้งหลายพากันรีบล้างบาตรแล้วค่อยมาแอบฟังคำพูดของแก
อยู่ทางด้านหลังหอฉัน แกพูดอาจหาญตามหลักความจริง ไม่สะทกสะท้าน‘
เวลาพวกทวยเทพทั้งหลายมากราบพ่อแม่ครูจารย์ที่หนองผือ หลั่งไหลมา เขามา
ทิศทางพระไม่อยู่นะพวกทวยเทพทั้งหลาย เขาเคารพพระมาก คือเขาจะมาทางด้านไม่มีพระ
ถ้าพระมากทางด้านไหน เขาจะไม่มาทางด้านนั้น เขาไม่มาสุ่มสี่
สุ่มห้านะ’

พ่อแม่ครูจารย์บอก กับโยมยายกั้งพูดเข้ากันได้ ท่านบอกว่า

‘ทางด้านนี้พวกเทพมา ใครอย่าไปทำสุ่มสี่สุ่มห้าแถวนั้นนะ นอนก็เหมือนกันหลับครอกๆแครกๆ
ให้พวกเทพเขามาปลงธรรมสังเวชไม่ได้นะ ให้รักษามารยาท’

พ่อแม่ครูจารย์มั่นท่านพูดก่อน แล้วโยมยายกั้งนี้แกมาพูดแบบเดียวกัน แกรู้จิตคนอื่นแกเห็นจริงๆ
รู้จริงๆ ใครสะอาดผ่องใสขนาดไหน แกเห็น เวลาแกมาเล่านี้ คือแกนิสัยตรงไปตรงมา
พูดไม่กลัวใครเหมือนขวานผ่าซาก รู้อย่างไร พูดอย่างนั้น แกเป็นคนตรงไปตรงมา พวกพระก็สนุกฟัง…
ยายกั้งมาเล่าถวายถึงการล่วงรู้จิตของท่านและพระเณรในวัด รู้สึกน่าฟังมาก
พระเณรทั้งแสดงอาการหวาดๆ บ้าง แสดงอาการอยากฟังแกเล่าบ้าง แกเล่าว่า

‘นับแต่จิตท่านอาจารย์ลงมาถึงจิตเณรความสว่างไสวลดหลั่นกันลงมาเป็นลำดับลำดาเหมือนดาวใหญ่กับหมู่ดาวเล็กๆ
ที่อยู่ด้วยกันฉะนั้น รู้สึกน่าดูและน่าชมเชยมาก ที่มองดูจิตพระเณรมีความสว่างไสวและสง่าผ่าเผย
ไม่เป็นจิตที่อับเฉาเฝ้าทุกข์ที่กลุ้มรุมดวงใจ แม้เป็นจิตพระหนุ่มและสามเณรน้อยๆ
ก็ยังน่าปีติยินดีและน่าเคารพนับถือตามภูมิของแต่ละองค์
ที่อุตส่าห์พยายามชำระขัดเกลาได้ตามฐานะของตน’

บางครั้งแกมาเล่าถวายท่านเรื่องแกขึ้นไปพรหมโลกว่า

‘เห็นแต่พระจำนวนมากมายในพรหมโลก ไม่เห็นมีฆราวาสสลับสับปนกันอยู่บ้างเลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?’

ท่านตอบว่า ‘เพราะที่พรหมโลกโดยมาก มีแต่พระที่ท่านบำเพ็ญจิตสำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผลแล้ว
ส่วนฆราวาสมีจำนวนน้อยมากที่บำเพ็ญตนจนได้สำเร็จธรรมขั้นอนาคามีผล
แล้วไปเกิดและอยู่ในพรหมโลกชั้นใดชั้นหนึ่ง ฉะนั้น โยมจึงเห็นแต่พระไม่เห็นฆราวาสสับปนอยู่เลย
อีกประการหนึ่ง ถ้าโยมสงสัยทำไมจึงไม่ถามท่านบ้าง เสียเวลาขึ้นไปถึงแล้ว มาถามอาตมาทำไม?’

แกหัวเราะแล้วเรียนท่านว่า

‘ลืมเรียนถามพระท่าน เวลาลงมาแล้วจึงระลึกได้ก็มาเรียนถามท่าน ต่อไปถ้าไม่ลืม เวลาขึ้นไปอีก
จึงจะเรียนถามพระท่าน’แล้วแกจึงเรียนถามท่านต่อไปอีกว่า ‘เมื่อ
คืนนี้ ใครกัน มองตรงไหนก็มีแต่หน้าเต็มไป
หมด?’
ท่านก็ตอบให้ด้วยความเมตตาว่า ‘อ๋อ!
นั่นมันท้าวมหาพรหม เขามานมัสการเรา’
ท่านอาจารย์ตอบปัญหายายกั้งมีความหมาย
เป็นสองนัย
นัยหนึ่งตอบตามความจริง นัยสองตอบ
เป็นเชิงแก้ความสงสัยของยายกั้งที่ถาม ต่อมา
ท่านห้ามไม่ให้แกออกรู้สิ่งภายนอกมากไป
เสียเวลาพิจารณาธรรมภายในซึ่งเป็นทางมรรค
ทางผลโดยตรง ยายกั้งก็ปฏิบัติตามท่าน…”
ความรู้ที่พิเศษอีกตอนหนึ่งก็คือที่คุณยาย
ทายใจหลวงปู่มั่นอย่างอาจหาญมาก และไม่กลัว
ว่าท่านจะดุจะว่าอะไรบ้างเลย คุณยายทายว่า
“จิตหลวงพ่อพ้นไปนานแล้ว ฉันทราบ
จิตหลวงพ่อมานานแล้ว จิตหลวงพ่อไม่มีใคร
เสมอ ทั้งในวัดนี้หรือที่อื่นๆ จิตหลวงพ่อประเสริฐ
เลิศโลกแล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปเพื่ออะไร?”
หลวงปู่มั่นจึงตอบทั้งหัวเราะ และเป็น
อุบายสอนคุณยายไปพร้อมว่า“ภาวนาไปจนวันตายไม่มีถอย ใครถอยผู้นั้น
มิใช่ศิษย์ตถาคต”
คุณยายเรียนท่านว่า “ถ้าไปได้ก็พอไป
แต่นี่จิตหลวงพ่อหมดทางไปทางมาแล้ว มีแต่
ความสว่างไสวและความประเสริฐเต็มดวงจิต
อยู่แล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปไหนอีกเล่า ฉันดู
จิตหลวงพ่อสว่างไสวครอบโลกไปหมดแล้ว
อะไรมาผ่านหลวงพ่อก็ทราบหมด ไม่มีอะไร
ปิดบังจิตหลวงพ่อได้เลย
แต่จิตฉันมันยังไม่ประเสริฐอย่างจิต
หลวงพ่อ จึงต้องออกมาเรียนถามเพื่อหลวงพ่อ
ได้ชี้แจงทางเดินให้ถึงความประเสริฐอย่าง
หลวงพ่อด้วยนี้”
ทุกครั้งที่คุณยายมา จะได้รับคำชี้แจง
จากหลวงปู่มั่นทางด้านจิตตภาวนาด้วยดี
ขณะเดียวกันพระเณรต่างองค์ต่างก็มาแอบอยู่
แถวบริเวณข้างๆ ศาลาฉัน ซึ่งเป็นที่ที่คุณยาย
สนทนากับท่าน เพื่อฟังปัญหาธรรมทางจิตตภาวนา
ซึ่งโดยมากเป็นปัญหาที่รู้เห็นขึ้นจากการภาวนา
ล้วนๆ เกี่ยวกับอริยสัจทางภายในบ้าง เกี่ยวกับ
พวกเทพพวกพรหมภายนอกบ้าง ทั้งภายใน
และภายนอก เมื่อคุณยายเล่าถวายจบลง
ถ้าท่านเห็นด้วยท่านก็ส่งเสริมเพื่อเป็นกำลังใจ
ในการพิจารณาธรรมส่วนนั้นให้มากยิ่งขึ้น
ถ้าตอนใดที่ท่านไม่เห็นด้วย ก็อธิบายวิธีแก้ไข
และสั่งสอนให้ละวิธีนั้น ไม่ให้ทำต่อไป
หลวงปู่มั่นเคยชมเชยคุณยายท่านนี้ให้
พระฟังว่า
“แกมีภูมิธรรมสูงที่น่าอนุโมทนา พวกพระเรา
มีหลายองค์ที่ไม่อาจรู้ได้เหมือนคุณยาย”

จากหนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์หน้า ๒๐๓ -๒๐๔


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 31, 2013, 07:49:04 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20120906130952_ajan_mhun.jpg)

หลวงปู่มั่นมีเมตตาชี้แนะบทธรรมในภาคปฏิบัติให้หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโนในวันแรกที่หลวงตาพระมหาบัว
ไปกราบท่าน ด้วยทราบว่าหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโนมีความรู้ในภาคปริยัติเต็มภูมิมหาเปรียญและนักธรรมเอก
และมีความสนใจใคร่ต่อการประพฤติปฏิบัติ บทธรรมบทนี้แม้จนบัดนี้ยังคงฝังลึกอยู่ภายในใจขององค์หลวงตาตลอดมา ดังนี้

“…ท่านมหาก็นับว่าเรียนมาพอสมควรจนปรากฏนามเป็นมหา ผมจะพูดธรรมให้ฟังเพื่อเป็นข้อคิด แต่อย่าเข้าใจว่าผมประมาทธรรมของพระพุทธเจ้านะ เวลานี้ธรรมที่ท่านเรียนมาได้มากได้น้อย ยังไม่อำนวยประโยชน์ให้ท่านสมภูมิที่เป็นเปรียญ นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการภาวนาของท่านในเวลานี้เท่านั้น เพราะท่านจะอดเป็นกังวลและนำธรรมที่เรียนมานั้นเข้ามาเทียบเคียงไม่ได้ในขณะที่ทำใจให้สงบ ดังนั้นเพื่อความสะดวกในเวลาจะทำความสงบให้แก่ใจ ขอให้ท่านที่จะทำใจให้สงบ ยกบูชาไว้ก่อนในบรรดาธรรมที่ท่านได้เรียนมา ต่อเมื่อถึงกาลที่ธรรมซึ่งท่านเรียนมาจะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ท่านได้รับประโยชน์มากขึ้นแล้ว ธรรมที่เรียนมาทั้งหมดจะวิ่งเข้ามาประสานกันกับทางด้านปฏิบัติและกลมกลืนกันได้อย่างสนิท ทั้งเป็นธรรมแบบพิมพ์ ซึ่งเราควรจะพยายามปรับปรุงจิตใจให้เป็นไปตามนั้น แต่เวลานี้ผมยังไม่อยากจะให้ท่านเป็นอารมณ์กับธรรมที่ท่านเล่าเรียนมา อย่างไรจิตจะสงบลงได้หรือจะใช้ปัญญาคิดค้นในขันธ์ก็ขอให้ท่านทำอยู่ในวงกายนี้ก่อน เพราะธรรมในตำราท่านชี้เข้ามาในขันธ์ทั้งนั้น แต่หลักฐานของจิตยังไม่มี จึงไม่สามารถนำธรรมที่เรียนมาจากตำราน้อมเข้ามาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ และยังจะกลายเป็นสัญญาอารมณ์คาดคะเนไปที่อื่น จนกลายเป็นคนไม่มีหลัก เพราะจิตติดปริยัติในลักษณะไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า ขอให้ท่านนำธรรมที่ผมพูดให้ฟังไปคิดดู ถ้าท่านตั้งใจปฏิบัติไม่ท้อถอย วันหนึ่งข้างหน้าธรรมที่กล่าวนี้จะประทับใจท่านแน่นอน…”

จากหนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์หน้า ๑๐๔ -๑๐๕


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 04, 2013, 06:56:28 PM
"..การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไต่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษ และบาปใส่ตน
ให้ได้รับความทุกข์ จึงควรสลดสังเวช ต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยต่อตน เสีย..

ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง..

เมื่อเกิดมาอาภัพชาติแล้ว อย่าให้ใจอาภัพอีก ผู้เกิดมาชาตินี้อาภัพแล้ว
อย่าให้ใจอาภัพ คิดแต่ผลิตโทษ ทำบาปอกุศล เผาผลาญตนให้ได้ทุกข์ เป็นบาปกรรมอีกเลย....."

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต



ขอบพระคุณ ท่าน Facebook K.Supani Sundarasardula ด้วยนะครับผม


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 07, 2013, 06:31:23 PM
ปรารภเรื่ององค์ท่านหลวงปู่ที่ได้เขียนข้ามไปบ้างเพราะระลึกได้ทีหลัง
ในระหว่างท่านป่วยชราภาพซัดเซไปบิณฑบาตในบ้านอยู่นั้น วันหนึ่งครูบาทองคำกระซิบกับผู้เขียนด่วน ๆ ว่า

"ตอนองค์ท่านหลวงปู่ออกจากห้องแล้ว ตอนเช้าองค์ท่านลงไปจงกรมก่อนบิณฑบาต
ท่านเป็นผู้รักษาไฟอั้งโล่ที่เอาไปตั้งไว้ที่สุดของทางจงกรมทางละอันเพราะระวังคอยดูแลเพราะเกรงองค์ท่าน
จะเซล้มใส่และก็ได้รักษาอยู่ใกล้องค์ท่าน ท่านจงกราบเท้าเรียนถวายว่า คณะสงฆ์ทุกถ้วนหน้าได้พร้อมใจกันแล้วว่า
ขอกราบเท้าเรียนถวายองค์หลวงปู่ไม่ต้องลำบากไปบิณฑบาต คณะสงฆ์จะหามาเลี้ยง
ดังนี้ เพราะเป็นเวลาสองต่อสองไม่มีองค์อื่นร่วมด้วยในกาลเทศะอย่างนั้น"


ตอบครูบาทองคำย่อ ๆ ว่า "เออ ผมก็จะลองกราบเท้าเรียนถวายนิมนต์ดู แต่ร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว
ผมเข้าใจว่าองค์ท่านคงไม่ยอมรับและผมเข้าใจว่าพระอาจารย์มหาคงได้พิจารณาแล้ว ถ้าหากว่ามีประตูจะได้
พระอาจารย์มหาคงกราบเท้าเรียนถวายก่อนพวกเราแล้ว
และพระอาจารย์มหาจะไม่วิจารณ์พวกเราว่าอวดฉลาดข้ามกรายองค์ท่านดอกหรือ"


ครูบาทองคำตอบว่า "ไม่เป็นไรดอก ผมรับรองได้ผมจะแก้ช่วยดอก ถ้าหากว่าผิดพอคอขาดบาดตายต่อพระอาจารย์มหา
ผมจะรับเอาว่าเป็นด้วยผมดอก ถ้าโอกาสวันนี้ไม่ทัน พรุ่งนี้จึงกราบเรียนนิมนต์
ในยามองค์ท่านจงกรมตอนเช้าที่อยู่สองต่อสองนั้นแหละเพราะไม่มีใครคอยฟังอยู่ด้วยเพราะหมู่รวมคอยอยู่ศาลาหมดแล้วในตอนนั้น"

แต่วันนั้นไม่ได้กราบเท้าเรียนถวาย เพราะยังไม่ได้เล่าถวายพระอาจารย์มหาฟัง
ทั้งเวลาก็ไม่อำนวยเพราะถ้าวันไหนองค์หลวงปู่ออกห้องสายบ้าง องค์ท่านก็เดินจงกรมไม่นานเพราะจวนบิณฑบาต
แต่สุดท้ายก็เลยไม่ได้กราบเรียนพระอาจารย์มหาเลยและเจ้าตัวผู้จะกราบเท้าเรียนถวายอาราธนานิมนต์ก็นึกในใจอยู่แล้ว
ว่าคงไม่ได้เป็นอันขาด แต่ด้วยความเคารพครูบาทองคำก็จะปฏิบัติตามลองดู ส่วนครูบาวันนั้น ท่านฟังแล้วพิจารณาอยู่ไม่ว่ากระไร
คำว่าครูบาทองคำ ครูบาวันนั้น ในสมัยนั้นผู้เขียนเรียกท่านทั้งสองนี้ว่าครูบาแบบเต็มภูมิ
เพราะถือว่าท่านทั้งสองนี้มีพรรษาเหนือตนไปไม่ถึง ๕ พรรษาเพราะมุ่งเรียกตามพระวินัย
ไม่มุ่งเรียกตามธรรมาจารย์เหมือนพระสารีบุตรกับพระอัสสชิ ครั้นเป็นวันใหม่ได้เวลาไปบิณฑบาต
องค์หลวงปู่เดินจงกรมกลับไปกลับมาอยู่ เพราะเมื่อองค์ท่านป่วยทวีเข้าก็ได้รักษาไฟอยู่ใกล้เกรงจะล้มใส่
 ยกมือประนมพร้อมทั้งคุกเข่าอยู่กับพื้นดินว่า


"ขอโอกาสกราบเรียนถวาย พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ คณะสงฆ์พร้อมใจกันให้เกล้ากราบเท้าเรียนถวายพ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ขอนิมนต์วิงวอนมิให้ไปบิณฑบาตเพราะชราภาพแล้ว เดินซัดไปเซมา คณะสงฆ์จะรับอาสาบิณฑบาตมาเลี้ยงดอกขอรับ"

ทีนี้องค์หลวงปู่ยืนกางขาออกนิดหน่อย กรุณากล่าวบรรจงพร้อมทั้งแยบคายว่า

"พวกเราเป็นขี้เท้าขี้เล็บของพระองค์เจ้า ไปบิณฑบาตแต่ละวันมันได้ประโยชน์อยู่ เราก็ได้ข้อวัตร เขามาใส่บาตร
เขาก็ได้จาควัตร ทานวัตรของเขา ข้าวก้อนใดอาหารกับอันใดตกลงในบาตร
ข้าวและกับอันนั้นเป็นของประเสริฐกว่ารับนิมนต์หรือเขาตามมาส่งในวัด ในมหาขันธ์และปฐมสมโพธิกถาได้กล่าวได้ชัดแล้ว
 และผัวเดียวเมียเดียวกับลูกน้อยบางคนเขาก็ได้ใส่บาตร ไม่ได้มีเวลามาวัด
และลูกเล็กเด็กน้อยมันตามแม่มันมาใส่บาตรมันก็ได้กราบไหว้ก็เป็นบุญจิตบุญใจของมัน
ก็เรียกว่าเราโปรดสัตว์อยู่ในตัวแล้ว ขึ้นธรรมาสน์จึงจะว่าโปรดสัตว์มันก็ไม่ถูกละ
อีกประการหนึ่งพระบรมศาสดาของพวกเราทรงฉันบิณฑบาตของนายจุนฑะกัมมารบุตรแล้วก็ทรงเสด็จถึงเมืองกุสินาราในวันนั้น
 รุ่งเช้าก็ทรงสิ้นพระชนมายุเรียกได้อย่างง่าย ๆ ว่า พระองค์เสด็จบิณฑบาตจนถึงวันสิ้นลมปราณ
 ได้ทอดสะพานทองสะพานเงินสะพานอริยทรัพย์ไว้ให้พวกเราแล้ว
 ถ้าพวกเราไม่รับมรดกของพระองค์ท่านก็เรียกว่าลืมตัวประมาท พวกเราก็ต้องพิจารณาคำนึงให้ลึกซึ้ง"

บันทึกของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี(ภูจ้อก้อ) จ.มุกดาหาร


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 23, 2013, 07:06:52 PM
“เป็นคนมักน้อยขอบใช้บริขารของเก่าๆ ถึงได้ใหม่บริจาคทานให้คนอื่น
ข้อวัตรหมดจดดี สติตั้งอยู่ในสติปัฏฐานเสมอ เป็นผู้ไม่ละกาลวาจาพูดก็ดีเทศน์ก็ดี
ไม่อิงอามิสลาภ สรรเสริญวาจาตรงตามอริยสัจตามความรู้ความเห็น
อ้างอริยสัจเป็นหลักฐานเสมอ กาย วาจา ใจ เป็นอาชาไนยล้วน”

อุปนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
บันทึกโดยหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 30, 2013, 09:31:14 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20121117133540_luangpu_mhun.jpg)

เรื่อง กายทิพย์
โดย ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี



“ขณะที่ท่าน (หลวงปู่มั่น) เริ่มทำสมาธิภาวนา เพื่อเป็นโอสถบำบัดบรรเทาจิตใจและธาตุขันธ์อย่างหนักแน่น ทอดความอาลัยเสียดายในชีวิตธาตุขันธ์ ปล่อยให้เป็นไปตามคติธรรมดา ทำหน้าที่ห้ำหั่นจิตดวงไม่เคยตาย แต่มีความตายประจำนิสัยลงไปอย่างเต็มกำลังสติปัญญาศรัทธา ความเพียรที่เคยอบรมมา โดยมิได้สนใจคำนึงต่อโรคที่กำลังกำเริบอยู่ภายในว่าจะหายหรือจะตายไปขณะใดในเวลานั้น หยั่งสติปัญญาลงในทุกขเวทนา แยกแยะส่วนต่าง ๆ ของธาตุขันธ์ออกพิจารณาด้วยปัญญาไม่ลดละ คือ ยกทั้งส่วนรูปกาย ทั้งส่วนเวทนา คือ ทุกข์ภายใน ทั้งส่วนสัญญา ที่หมายกายส่วนต่าง ๆ ว่าเป็นทุกข์ ทั้งส่วนสังขารตัวปรุงแต่งว่าส่วนนี้เป็นทุกข์ ส่วนนั้นเป็นทุกข์ ขึ้นสู่เป้าหมายแห่งการพิจารณาของสติปัญญาผู้ดำเนินงาน ทำการขุดค้นคลี่คลายอย่างไม่หยุดยั้ง แต่เวลาพลบค่ำถึงเที่ยงคืน คือ ๒๔.๐๐ นาฬิกา จึงลงเอยกันได้ จิตมีกำลังขึ้นมาอย่างประจักษ์ สามารถคลี่คลายธาตุขันธ์จนรู้แจ้งตลอดทั่วถึงทุกขเวทนาที่กำลังกำเริบขึ้นอย่างเต็มที่จากโรคในท้อง โรคก็ระงับดับลงอย่างสนิท จิตรวมลงถึงที่ไหนขณะนั้น

ขณะนั้นโรคก็ดับ ทุกข์ก็ดับ ความฟุ้งซ่านของใจก็ดับ พอจิตรวมสงบลงถึงที่แล้ว ถอนออกมาขั้นอุปจารสมาธิแล้ว จิตสว่างออกไปนอกกาย ปรากฏเห็นบุรุษผู้หนึ่งมีร่างใหญ่ดำและสูงมากราว ๑๐ เมตร ถือตะบอกเหล็กใหญ่เท่าขา ยาวราว ๒ วา เดินเข้ามาหา และบอกกับท่าน (หลวงปู่มั่น) ว่า “จะทุบตีท่านให้จมลงไปในดิน ถ้าไม่หนีจะฆ่าให้ตายในบัดเดี๋ยวใจ ตามที่ผีบอกกับท่านว่า ตะบอกเหล็กที่เขาแบกอยู่บนบ่านั้น ตีช้างสารใหญ่ตัวหนึ่งเพียงหนเดียวเท่านั้น ช้างสารต้องจมลงไปในดินแบบจมมิดเลย โดยไม่ต้องตีซ้ำอีก” ท่านกำหนดจิตถามผีร่างยักษ์นั้นว่า “จะมาตีและฆ่าอาตมาทำไม อาตมามีความผิดอะไรบ้างถึงจะต้องถูกตีถูกฆ่าเล่า? การมาอยู่ที่นี้มิได้มากดขี่ข่มเหงหรือเบียดเบียนใครให้เดือดร้อน พอจะถูกใส่กรรมทำโทษถึงขนาดตีและฆ่าให้ถึงตายเช่นนี้”

เขาบอกว่าเขาเป็นผู้อำนาจรักษาภูเขาลูกนี้อยู่นานแล้ว ไม่ยอมให้ใครมาอยู่ครอบอำนาจเหนือตนไปได้ ต้องปราบปรามและกำจัดทันที ท่านตอบว่า “ก็อาตมามิได้มาครองอำนาจบนหัวใจ นอกไปจากมาฏิบัติบำเพ็ญศีลธรรมอันดีงามเพื่อครองอำนาจเหนือกิเลสบาปธรรมบนหัวใจตนเท่านั้น จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่ท่านจะมาเบียดเบียนและทำลายคนเช่นอาตมา ซึ่งเป็นนักบวชทรงศีล และเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้าผู้มีใจบริสุทธิ์ และมีอำนาจในทางเมตตาครอบไตรโลกธาตุ ไม่มีใครเสมอเหมือน”

ท่าน(หลวงปู่มั่น) ซักถามและเทศน์ให้ผีร่างยักษ์ฟังเสียใหญ่ในขณะนั้น ว่า “ถ้าท่าน (ผีร่างยักษ์) เป็นผู้มีอำนาจเก่งจริงดังที่อวดอ้างแล้ว ท่านมีอำนาจเหนือกรรมและเหนือธรรม อันเป็นกฎใหญ่ปกครองมวลสัตว์ในไตรภพด้วยหรือเปล่า?” เขา (ผีร่างยักษ์) ตอบว่า ”เปล่า” ท่านพูดว่าพระพุทธเจ้าท่านเก่งกล้าสามารถปราบกิเลสตัวที่คอยอวดอำนาจว่าตัวดี ตัวเด่นเก่งอยู่ภายใน คิดอยากตี อยากฆ่าคนอื่น สัตว์อื่นให้หมดสิ้นไปจากใจได้ ส่วนท่านที่ว่าเก่งได้คิดปราบกิเลสตัวดังกล่าวให้หมดสิ้นไปบ้างหรือยัง เขาตอบว่า “ยังเลยท่าน” ท่าน (หลวงปู่มั่น) ว่า “ถ้ายัง ท่าน (ผีร่างยักษ์) ก็มีอำนาจไปในทางที่ทำตนให้เป็นคนมืดหนาป่าเถื่อนต่างหาก ซึ่งนับว่าเป็นบาปและเสวยกรรมหนัก แต่ไม่มีอำนาจปราบความชั่วของตัวที่กำลังแผงฤทธิ์แก่ผู้อื่นอยู่โดยไม่รู้สึกตัวว่าเป็นผู้มีอำนาจแบบก่อไฟเผาตัว และต้องจัดว่ากำลังสร้างกรรมอันหนักมาก มิหนำยังจะมาตีมาฆ่าคนที่ทรงศีลธรรมอันเป็นหัวใจของโลก

ถ้าไม่จัดว่าท่านทำกรรมอันเป็นบาปหยาบช้ายิ่งกว่าคนทั้งหลายแล้ว จะจัดว่าท่านทำความดีที่น่าชมเชยที่ตรงไหน อาตมาเป็นผู้ทรงศีล ทรงธรรมมุ่งมาทำประโยชน์แก่ตน แก่โลกโดยการประพฤติธรรมด้วยความบริสุทธิ์ใจ ท่านยังจะมาทุบตีและสังหาร โดยมิได้คำนึงถึงบาปกรรมที่จะฉุดลากท่านลงนรกเสวยกรรมอันเป็นมหันตทุกข์เลย อาตมารู้สึกสงสารท่านยิ่งกว่าจะอาลัยในชีวิตของตัว เพราะท่านหลงอำนาจของตัวจนถึงกับจะเผาตัวเองทั้งเป็นอยู่ขณะนี้แล้ว อำนาจอันใดบ้างที่ท่านว่ามีอยู่ในตัวท่าน อำนาจอันนั้นจะสามารถต้านทานบาปกรรมอันหนักที่ท่านกำลังจะก่อขึ้นเผาผลาญตัวอยู่เวลานี้ได้หรือไม่? ท่านว่าเป็นผู้มีอำนาจอันใหญ่หลวงปกครองอยู่ในเขตเขาเหล่านั้น แต่อำนาจนั้นมีฤทธิ์เดชเหนือกรรมและเหนือธรรมไปไม่ได้ ถ้าท่านมีอำนาจและมีฤทธิ์เหนือธรรมแล้ว ท่านก็ทุบตีหรือฆ่าอาตมาได้ สำหรับอาตมาเองไม่กลัวความตาย แม้ท่านไม่ฆ่าอาตมาก็ยังจักต้องตายอยู่โดยดี เมื่อกาลของมันมาถึงแล้ว เพราะโลกนี้เป็นอยู่ของมวลสัตว์ผู้เกิดแล้วต้องตายทั่วหน้ากัน แม้ตัวท่านเองที่กำลังอวดตัวว่าเก่งในความมีอำนาจจนกลายเป็นผู้มืดบอดอยู่ขณะนี้ แต่ท่านก็มิได้เก่งกว่าความตายและกฎแห่งกรรมที่ครอบงำสัตว์โลกไปได้”

ขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นซักถาม และเทศน์สั่งสอนบุรุษลึกลับโดยทางสมาธิอยู่นั้น ท่านเล่าว่า เขายืนตัวแข็ง บ่าแบกตะบอกเหล็กเครื่องมือสังหารอยู่เหมือนตุ๊กตาไม่กระดุกกระดิก ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนมาไหนเลย ถ้าเป็นคนธรรมดาเรา ก็ทั้งอาย ทั้งกลัวจนตัวแข็งแทบลืมหายใจ แต่นี่เขาเป็นอมนุษย์พิเศษผู้หนึ่ง จึงไม่ทราบว่าเขามีลมหายใจหรือไม่ แต่อาการทั้งหมดนั้น แสดงให้เห็นชัดว่า เขา (ผีร่างยักษ์) ทั้งอาย ทั้งกลัวท่านพระอาจารย์มั่นจนสุดที่จะอดกลั้นได้ แต่เขาก็อดกลั้นได้อย่างน่าชมเชย และนฤมิตเปลี่ยนภาพจากร่างของบุรุษลึกลับที่มีกายดำสูงใหญ่มาเป็นสุภาพบุรุษพุทธมามกะผู้อ่อนโยนนิ่มนวลด้วยมรรยาทอัธยาศัย แสดงความเคารพคารวะและกล่าวคำขอโทษท่านอาจารย์แบบบุคคลผู้เห็นโทษสำนึกในบาปอย่างถึงใจ ซึ่งต่อไปนี้เป็นใจความของเขาที่กล่าวตามความสัตย์จริงต่อท่านพระอาจารย์มั่นว่า “กระผมรู้สึกแปลกใจและสะดุ้งกลัวท่านแต่เริ่มแรก มองเห็นแสงสว่างที่แปลกประหลาดอัศจรรย์มาก ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนพุ่งจากองค์ท่านมากระทบตัวกระผม ทำให้อ่อนไปหมด แทบไม่อาจแสดงอาการอย่างใดออกมาได้ อวัยวะทุกส่วนตลอดจิตใจอ่อนเพลียไปตาม ๆ กัน ไม่อาจทำอะไรได้ด้วยพลการ เพราะมันอ่อนและนิ่มไปด้วยความซาบซึ้งจับใจในความสว่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบว่านั้นคืออะไร เพราะไม่เคยเห็น เท่าที่แสดงกิริยาคำรามว่าจะทุบตีและฆ่านั้น มิได้ออกมาจากใจจริงแม้แต่น้อยเลย แต่แสดงออกตามความรู้สึกที่เคยฝังใจมานานวว่าตัวเป็นผู้มีอำนาจในหมู่อมนุษย์ด้วยกันและมีอำนาจในหมู่มนุษย์ที่ไม่มีศีลธรรม ชอบรักบาปหาบความชั่วประจำนิสัยต่างหาก อำนาจนี้จะทำอะไรให้ใครเมื่อไรก็ได้ตามต้องการ โดยปราศจากการต้านทานขัดขวาง มานะอันนี้แลพาให้ทำเป็นผู้มีอำนาจ แสดงออกพอไม่ให้เสียลวดลาย ทั้ง ๆ ที่กลัวและใจอ่อน ทำไม่ลง และมิได้ปลงใจจะทำ หากเป็นเพียงแสดงออกพอเป็นกิริยาของผู้เคยมีอำนาจเท่านั้น กรรมอันไม่งามใด ๆ ที่แสดงออกให้เป็นของน่าเกลียดในวงนักปราชญ์ที่แสดงต่อท่านวันนี้ ขอได้เมตตาอโหสิกรรมแก่กรรมนั้น ๆ ให้กระผมด้วย อย่าต้องให้รับบาปหาบทุกข์ต่อไปเลย เท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ก็มีทุกข์อย่างพอตัวอยู่แล้ว ยิ่งจะเพิ่มทุกข์ให้มากกว่านี้ ก็คงเหลือกำลังที่จะทนต่อไปไหว”

ท่าน (หลวงปู่มั่น) ถามเขาว่า “ท่านเป็นผู้ใหญ่มีอำนาจวาสนามาก กายก็เป็นกายทิพย์ไม่ต้องพาหอบหิ้วเดินเหินไปมาให้ลำบากเหมือนมนุษย์ การเป็นอยู่หลับนอนก็ไม่เป็นภาระเหมือนมนุษย์ทั่วโลกที่เป็นกัน แล้วทำไมจึงยังบ่นว่าทุกข์อยู่อีก ถ้าโลกทิพย์ไม่เป็นสุขแล้ว โลกไหนจะเป็นสุขเล่า?” เขา (ผีร่างยักษ์) ตอบว่า “ถ้าพูดอย่างผิวเผินและเทียบกับกายมนุษย์ที่หยาบ ๆ พวกกายทิพย์อาจมีความสุขมากกว่าพวกมนุษย์จริง เพราะเป็นภูมิที่ละเอียดกว่ากัน แต่ถ้ากล่าวตามชั้นภูมิแล้ว กายทิพย์ก็ย่อมมีทุกข์ไปตามวิสัยของภูมินั้น ๆ เหมือนกัน”

สุดท้ายแห่งการสนทนาธรรม ท่าน (หลวงปู่มั่น) ว่าบุรุษลึกลับมีความเลื่อมใสในธรรมเป็นอย่างยิ่งและปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์ กล่าวอ้างท่านพระอาจารย์เป็นสรณะและเป็นองค์พยานด้วย พร้อมทั้งให้ความอารักขาแก่ท่านเป็นอย่างดี และขอนิมนต์ท่านพักอยู่ที่นี่ให้นาน ๆ ถ้าตามใจเขาแล้วไม่อยากให้ท่านจากไปสู่ที่อื่นตลอดอายุของท่าน เขาจะเป็นผู้คอยดูแลรักษาท่านทุกอิริยาบถ ไม่ให้อะไรมาเบียดเบียนหรือรังแกท่านได้เลย ความจริงแล้ว เขามิใช่บุรุษลึกลับและมีร่างกายดำสูงใหญ่ดังที่แสดงภาพต่อท่าน แต่เขาเป็นหัวหน้าแห่งรุกขเทวดา ซึ่งมีบริษัทบริวารมากมายที่อาศัยอยู่ในภูเขา และสถานที่ต่าง ๆ มีเขตอาณาบริเวณกว้างขวางมาก ติดต่อกันหลายจังหวัด มีนครนายกเป็นต้น

นับแต่ขณะจิตท่านสงบลงและระงับโรคจนหายสนิท ไม่ปรากฏเลยประมาณเที่ยงคืน กับที่รุกขเทวดามาเกี่ยวข้องและสนทนาธรรมกันจนถึงเวลาจากไป และจิตถอนขึ้นมาก็ประมาณ ๔.๐๐ นาฬิกา คือ ๑๐ ทุ่ม โรคที่กำลังกำเริบในขณะที่นั่งทำสมาธิภาวนา พอจิตถอนขึ้นมาปรากฏว่าหายไปโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องอาศัยยาอื่นใดรักษาอีกต่อไป โรคหายได้เด็ดขาดด้วยธรรมโอสถทางภาวนาล้วน ๆ จึงเป็นสิ่งที่อัศจรรย์มากสำหรับท่านในคืนวันนั้น พอจิตถอนขึ้นมาแล้ว ท่านทำความเพียรต่อไป มิได้หลับนอนตลอดรุ่ง เมื่อออกจากที่ภาวนาแล้วร่างกายก็ไม่มีการอ่อนเพลีย แต่กลับกระ+++กระเปร่าขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย คืนวันนั้นท่านได้เห็นความอัศจรรย์หลายอย่าง คือเห็นอานุภาพแห่งธรรมที่สามารถยังเทวดาให้หายพยศและเกิดความเลื่อมใสหนึ่ง จิตรวมสงบลงเป็นเวลาหลายชั่วโมง และเห็นความอัศจรรย์ในขณะที่จิตสงบอยู่ตัว อย่างมีความสุขหนึ่ง โรคที่เคยกำเริบอยู่เสมอจนควรเรียกได้ว่าโรคประเภทเรื้อรังได้หายไปโดยสิ้นเชิงหนึ่ง อาหารที่ฉันลงไปในตอนเช้า แต่วันหลังกลับทำการย่อยตามปกติหนึ่ง ความรู้แปลก ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนได้ปรากฏขึ้นมากมาย ทั้งประเภทถอดถอนและประเภทประดับความรู้พิเศษตามวิสัยวาสนาหนึ่ง

ในคืนต่อไป ท่านบำเพ็ญเพียรด้วยความสะดวก และมีความสงบสุขทางใจอย่างบอกไม่ถูก บางคืนยามดึกสงัดก็ต้อนรับพวกรุกขเทพที่มากจากที่ต่าง ๆ จำนวนมากมาย โดยมีเทพลึกลับที่เคยทำสงครามวาทะกับท่านอาจารย์ เป็นผู้ประกาศโฆษณาให้ทราบและเป็นหัวหน้าพามา คืนที่ไม่มีเรื่องมาเกี่ยวข้องท่านก็สนุกบำเพ็ญสมาธิภาวนา”

[คัดจากงานเขียนธรรมะของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน จากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ หน้า ๒๐–๒๔]





ขอบพระคุณข้อมูลจาก : FB K.Supani ครับผม


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 03, 2013, 07:16:03 PM
พระอาจารย์อุ่น ชาคโรพูดถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ครั้งสมัยท่านกำลังแสดงธรรม เรื่องความหลุดพ้นและอริยสัจจธรรม ๔
ข้าพเจ้าได้นั่งอยู่ตรงหน้าตรงตาของท่าน ตั้งจิตสำรวม ส่งไปตามกระแสธรรมของท่านพร้อมทั้งกำหนด
พิจารณาไปด้วย จิตข้าพเจ้าเลยรวมลงพับเดียว ปรากฏว่าดวงจิตของข้าพเจ้านี้คล้ายกันกับเครื่องนาฬิกากำลังเดินหมุนเวียนอยู่
พอนิมิตแล้วจิตก็ถอนออกมา พอดีถูกท่านเทศน์ขึ้นใหญ่เลยว่า

“จิตพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น จิตท่านไม่หมุนเวียนอีก ไม่หันต่อไปอีก จึงได้นามว่า อะระหันต์ แปลว่า ไม่หัน
ท่านเหล่านั้นจะเอา อะ ไปใส่แล้ว ไม่เหมือนเรา เรามีแต่หันอย่างเดียว ไม่หยุดไม่หย่อน
พระอรหันต์นั้นท่านตัดกงหันได้แล้ว ท่านทำลายกงสังสารจักร (คือ สังสารวัฏฏ์ หมายถึง ภพที่เวียนเกิด เวียนตาย
หรือการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก) ขาดไปแล้ว ด้วยอรหัตตมรรค”

ข้าพเจ้าผู้นั่งฟังอยู่ครั้งนั้นจึงเกิดความมหัศจรรย์อย่างใหญ่หลวง
ท่านพระอาจารย์มั่นนั้นไม่แสดงธรรมด้วยหูหนังตาหนังเหมือนพวกเรา
ท่านจก (ล้วง) เอาหัวใจผู้ฟัง มาแสดงจริงๆ ธรรมของท่านที่แสดงจึงถึงจิตถึงใจของผู้ฟัง
อย่างพวกเราแสดงให้กันฟังอยู่ ทุกวันนี้มีแต่คนตาบอด ผู้แสดงก็บอด ผู้ฟังก็บอด
บอดต่อบอดจูงกันไม่รู้ว่าจะไปถึงไหน จะไปโดนเอาหลักเอาตอ ตกเหวตกขุมที่ไหนไม่ทราบกันเลย

ผู้เทศน์ก็มีกิเลส ผู้ฟังก็มีกิเลสกันทั้งนั้น ผู้เทศน์เล่าก็หวังเอาแต่กัณฑ์เทศน์
ไม่เทศน์เอาคน มันจึงไกลแสนไกล สมกับพระพุทธเจ้าว่า

“ธรรมของสัตตบุรุษกับธรรมของอสัตตบรุษไกลกันเหมือนฟ้ากับแผ่นดิน
คำหนึ่งว่า ดูกรอานนท์ ถ้าธรรมของเราตถาคตไปสิงในจิตของพระอรหันต์ผู้สิ้นจากกิเลสแล้ว
ธรรมของเราก็เป็นธรรมแท้ไม่ปลอมแปลง ถ้าเมื่อใดธรรมของตถาคตนี้ไปสิงอยู่ในจิตปุถุชนผู้มีกิเลส
ธรรมของเราก็กลายเป็นธรรมปฏิรูปคือ ธรรมปลอมแปลง”

เปิดเผยความลึกลับของท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระบางอย่าง
โดยพระครูสังวรศีลวัตร(อุ่น ชาคโร)วัดป่าดอยบันไดสวรรค์ ต.อุบมุง อ.หนองวัวฃอ จ.อุดรธานี

คัดลอกเนื้อหามาจาก
หนังสือบูรพาจารย์


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 04, 2013, 09:21:32 PM
ฝ่าเท้าหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

เรื่องที่ลืมเขียนมานานคือ ....
( ฝ่าเท้าหลวงปู่มั่นทั้งสองข้าง เป็นตาหมากรุกหมดเต็มทั้งสองฝ่า ) เวลาสรงน้ำท่านปรารภว่า(ฝ่าเท้าของเราไม่เหมือนหมู่เพียงเท่านี้) พูดค่อยๆแบบเย็นๆ (ในยุคหนองผือ สี่ปีที่ข้าพเจ้าอยู่กับองค์ท่านนั้น)พระเณรผู้น้อยที่ถวายข้อวัตรสรงน้ำถวายองค์ท่านนั้น ผู้สงวนฟังจึง จะได้ยิน (เพราะองค์ท่านก็ปรารภค่อยแบบประหยัดไม่แกมอวด)
ส่วนข้าพเจ้าไม่ได้อาจเอื้อมถูข้างบน(ระหว่างฝ่าเท้าเสมอๆ) จำพวกที่ถูหลัง ตัว แขน ขา ฝ่าเท้านั้น มักจะเป็นพระ ๔-๓-๒- พรรษาเท่านั้นได้ถู พระผู้ใหญ่เหนือ ๕-๖-๗-๘-๙- ไปแล้วไม่ค่อย จะได้ถู ตัว แขน ขา เพราะองค์หลวงปู่เทสก์ว่า สรงน้ำนี้เว้นให้ผู้น้อย เขาสรงเสีย ถ้าพระผู้ใหญ่มาทำขวางผู้น้อย ผู้น้อยเขาระอายเก้อเขิน เพราะเขาไม่มีทางเอื้อมมือเข้า และเขาก็กระดาก ระอายดังนี้ ส่วนข้าพเจ้าพรรษาอ่อน แต่อายุสามสิบกว่าในสมัยนั้น และการที่องค์ท่านปรารภว่า ฝ่าเท้าของเราไม่เหมือนหมู่ นั้นองค์ท่าน (ปรากฎว่า ปรารภครั้งเดียวเบาๆเท่านั้นไม่ได้ซ้ำๆซากๆอีก) ส่วนข้าพเจ้า ผู้สงวนถูฝ่าเท้าก็เห็นเป็นตาหมากรุกเต็มฝ่าเท้าทั้งสองทางจริง ข้อนี้ ในชีวะประวัติขององค์ท่านเล่มใดๆก็ไม่ปรากฎเห็น และยุคที่องค์ท่านทรงพระชีวาอยู่ ก็บรรดาลดลใจไม่มีใครสนใจปรารภ (น่าแปลกมาก) ข้าพเจ้าก็บรรดาล ลืมอีกด้วย เรียกได้ว่าข้าพเจ้าไม่มีพยานก็ว่าได้ (แต่เอาตาหูตนเองเป็นพยาน) ยุคก่อนๆก็ไม่มีท่านผู้ใดเล่าให้ฟัง (ชะรอยจะว่าดีชั่วไม่อยู่กับฝ่าเท้าอยู่กับใจกับธรรม)

เรื่องฝ่าเท้าขององค์หลวงปู่มั่นเป็นตาหมากรุกนี้ เป็นของ
ทรงพระลักษณะสำคัญมาก แต่ก็น่าสนใจมากว่า ไฉนจึงบรรดาลไม่ให้พระจำพวกผู้ใหญ่สนใจเอาลงในชีวะประวัติ(กลายเป็นของไม่สำคัญไปป ชะรอยพระผู้น้อยที่ เห็นในเวลาสรงน้ำถวายแล้ว ไม่เล่าถวายให้พระผู้ใหญ่ ฟัง แต่ข้าพเจ้าเองก็บรรดาลลืม ไม่ค่อยสนใจเล่าเลย แต่พอมาถึงยุคภูจ้อก้อตอนแก่กว่เจ็ดสิบปีกว่าๆแล้ว จึงระลึกเห็น เป็นของน่าแปลกมากแท้ๆที่ลืมพากันลืมเขียนลง แต่คราวองค์ท่านทรงพระชีวาอยู่ก็ดี หรือ ทรงพระมรณะกาเลก็ดี ไม่มีท่านผู้ใดสงวนปรารภ ก็เป็น ของคล้ายกับว่าอุตตริขึ้นมาภายหลัง แต่ก็ต้องอาศรัย หลักของความจริง ไม่หนีจากความจริงเฉพาะตอนนี้ เป็นพยาน จริงก็ต้องเอาจริงเป็นพยาน เท็จก็ตรงกันข้าม

ชีวะประวัติยุคภูจ้อก้อเป็นยุคสุดท้ายภายแก่ชะราพาธ ถ้าไม่มรณะกา เลไปเสียแล้ว ชีวะประวัติก็จะไม่จบได้ แต่จะอย่างไรก็ตามทีเถิด ต่างจะได้พิจารณาว่า เจตนาปฏิบัติพระพุทธศาสนาแพื่อประสงค์อะ ไรบ้าง และจิตใจจะอยู่ระดับใดบ้าง เหล่านี้เป็นต้น แต่บรรยาย พอสังเขปก็เอาละ จะบรรยายไปมากก็จะเป็นหลายวรรคหลายตอน และก็ความพอดีพองามในโลกนี้ไม่รู้ว่าจะอยู่ระดับใดแน่ ถ้ามาก เกินไปเล่มก็ใหญ่ลงทุนก็มาก ท่านผู้อ่านก็จะระอาอีก น่าพิจารณา และก็คล้ายๆกับว่าตนเป็นผู้ประเสริฐเลิศล้ำ ระฆังไม่ดังก็ตีจนระฆังแตก แต่จะอย่างไรก็อาศรัยเจตนาเป็นเกณฑ์ ก็แล้วกันกระมัง

หล้า

จากหนังสือชีวประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 04, 2013, 09:31:36 PM
"..ให้ตั้งใจภาวนา อย่าได้ประมาท ให้มีสติอยู่ทุกเมื่อ จงอย่าเห็นแก่การพักผ่อนหลับนอนให้มาก.."

คำเตือนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเตือนหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ในระยะแรกแห่งการออกปฏิบัติจิตตภาวนา


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กันยายน 04, 2013, 06:38:58 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20120906130952_ajan_mhun.jpg)

หลวงตาพระมหาบัว เล่าถึง

วินาทีมรณภาพของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต



ท่านพระอาจารย์มั่น ในเวลาต่อมาตอนท่านเริ่มป่วย จำได้แต่เพียงว่าเดือน ๔ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นวันท่านเริ่มป่วย ท่านเล่าให้ฟังตอนไปเที่ยวกลับมา กราบนมัสการท่าน ท่านเริ่มป่วยคราวนี้ไม่เหมือนกับคราวใดๆ ซึ่งแต่ก่อนเวลาท่านป่วย ถ้ามีผู้นำยาไปถวายท่าน ท่านก็ฉันให้บ้าง มาคราวนี้ท่านห้ามการฉันยาโดยประการทั้งปวงแต่ขั้นเริ่มแรกป่วย โดยให้เหตุผลว่า “การป่วยคราวนี้ไม่มีหวังได้รับประโยชน์อะไรจากยา เช่นเดียวกับต้นไม้ที่ตายยืนต้นอยู่เท่านั้น ใครจะมารดน้ำพรวนดินทะนุบำรุงเต็มสติกำลังความสามารถ ต้นไม้นั้นจะไม่มีวันกลับมาผลิดอกออกผลใบและแสดงผลต่อไปอีกได้เลย เพียงสักว่ายังยืนต้นอยู่เท่านั้น ไม่แน่ใจว่าจะล้มลงจมดินวันใด ธาตุขันธ์ที่แก่ชราภาพขนาดนี้แล้ว ย่อมมีลักษณะเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นหยูกยาจึงไม่เป็นผลอะไรกับโรคประเภทนี้ ที่เขาเรียกว่า โรคคนแก่”

ท่านว่า แม้ท่านจะห้ามยามิให้นำมาเกี่ยวข้องกับท่าน แต่ก็ทนต่อคนหมู่มากไม่ไหว คนนั้นก็จะให้ท่านฉันยานั้น คนนี้ก็จะให้ท่านฉันยานี้ คนนั้นจะฉีด คนนั้นจะให้ฉัน หนักเข้าท่านก็จำต้องปล่อยตามเรื่อง มีคนมากราบเรียนถามเรื่องยาถูกกับโรคของท่านหรือไม่ ท่านก็นิ่งไม่ตอบโดยประการทั้งปวง

เมื่ออาการของท่านหนักจวนตัวเข้าจริงๆ ท่านก็บอกกับคณะลูกศิษย์ทั้งพระและญาติโยมว่า

“จะให้ผมตายในวัดป่าหนองผือนี้ไม่ได้ เพราะผมน่ะตายเพียงคนเดียว แต่ว่าสัตว์ที่ตายตามเพราะผมเป็นเหตุจะมีจำนวนมากมาย เพราะฉะนั้นขอให้นำผมออกจากที่นี้ไปจังหวัดสกลนคร เพื่อให้อภัยแก่สัตว์ซึ่งมีจำนวนมาก อย่าให้เขาพลอยทุกข์และตายไปด้วยเลย ที่โน้นเขามีตลาดซึ่งมีการซื้อขายกันอยู่แล้ว ไม่มีทางเสียหายเนื่องจากการตายของผม”

พอท่านพูดและให้เหตุผลอย่างนั้น ทุกคนต้องยอมทำตามความเห็นของท่าน จึงเตรียมแคร่ที่นอนมาถวายและอาราธนานิมนต์ท่านขึ้นนอนบนแคร่ แล้วพร้อมกันหามท่านออกไปในวันรุ่งขึ้น พอมาถึงวัดป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร แล้วก็พาท่านพักแรมคืนอยู่ที่นั้นหลายคืน ท่านก็คอยเตือนเสมอว่า

“ทำไมพาผมมาพักค้างที่นี่ล่ะ ผมเคยบอกแล้วว่าจะไปจังหวัดสกลนคร ก็ที่นี่ไม่ใช่สกลนคร” ท่านว่า

เมื่อจวนตัวเข้าจริงๆ ในสามคืนสุดท้าย ท่านไม่ค่อยจะพักนอน แต่คอยเตือนให้รีบพาท่านไปสกลนครเสมอ เฉพาะคืนสุดท้ายไม่เพียงแต่ไม่หลับนอนเท่านั้น ยังต้องบังคับว่า

“ให้รีบพาผมไปสกลนครในคืนวันนี้จงได้ อย่าขืนเอาผมไว้ที่นี่เป็นอันขาด” ท่านพูดย้ำแล้วย้ำเล่าอยู่ทำนองนั้น

แม้ที่สุดท่านจะนั่งภาวนา ท่านก็สั่งว่า “ให้หันหน้าผมไปทางจังหวัดสกลนคร”

ที่ท่านสั่งเช่นนั้น เข้าใจว่าเพื่อให้เป็นปัญหาอันสำคัญแก่คณะลูกศิษย์ จะได้ขบคิดถึงคำพูดและอาการที่ท่านทำอย่างนั้นว่า มีความหมายแค่ไหนและอย่างไรบ้าง พอตื่นเช้าจะเป็นเพราะเหตุไรก็สันนิษฐานยาก เผอิญชาวจังหวัดสกลนครซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน พร้อมกันเอารถยนต์มารับท่าน ๓ คัน แล้วอาราธนานิมนต์ให้ท่านไปจังหวัดสกลนคร ท่านก็เมตตารับทันที เพราะท่านเตรียมจะไปอยู่แล้ว

ก่อนจะขึ้นรถยนต์ หมอได้ไปฉีดยานอนหลับให้ท่าน จากนั้นท่านก็นอนหลับไปตลอดทางจนถึงวัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เวลา ๐๑.๐๐ นาฬิกา ท่านก็เริ่มตื่น พอตื่นจากหลับแล้ว จากนั้นท่านก็เริ่มทำหน้าที่เตรียมลา “ภาราหเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ห้าเป็นภาระหนัก” จะมรณภาพ

จนถึง ๐๒.๒๓ นาฬิกา ก็เป็นวาระสุดท้าย ก่อนหน้านี้ประมาณสองชั่วโมงเศษ ท่านนอนท่าตะแคงข้างขวา แต่เห็นว่าท่านจะเหนื่อยมาก เพราะนอนท่านี้มานาน จึงพากันเอาหมอนที่หนุนอยู่หลังท่านถอยออก เลยกลายเป็นท่านนอนหงายไป พอท่านทราบก็พยายามขยับตัวหมุน กลับจะนอนท่าตะแคงข้างขวาตามเดิม พระเถระผู้ใหญ่ซึ่ง เป็นศิษย์ของท่าน ก็พยายามเอาหมอนหนุนหลังท่านเข้าไปอีก ท่านเองก็พยายามขยับๆ เช่นเดียวกัน เมื่อเห็นอาการของท่านอ่อนเพลียมากและหมดเรี่ยวแรง ก็เลยหยุดไว้แค่นั้น ดังนั้น การนอนของท่านจะว่านอนหงายก็ไม่ใช่ จะว่านอนตะแคงข้างขวาก็ไม่เชิง เป็นอาการเพียงเอียงๆ อยู่เท่านั้น ทั้งเวลาของท่านก็จวนเข้ามาทุกที บรรดาศิษย์ ก็ไม่กล้าแตะต้องกายท่านอีก จึงปล่อยท่านไว้ตามสภาพ คือท่านนอนท่าเอียงๆ จนถึงเวลา ซึ่งเป็นความสงบอยู่ตลอดเวลา

ในวาระสุดท้ายนี้ ต่างก็นั่งสังเกตลมหายใจของท่านแบบตาไม่กระพริบไปตามๆ กัน การนั่งของพระที่มีจำนวนมากในเวลานั้น ต้องนั่งเป็นสองชั้น คือ ชั้นใกล้ชิดกับท่านและชั้นถัดกันออกมา ชั้นในก็มีพระผู้ใหญ่ มี ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ เป็นต้น ชั้นนอกก็เป็นพระที่มีพรรษาน้อย แล้วถัดกันออกไปก็เป็นพระนวกะและสามเณร บรรดาพระทั้งพระเถระและรองลำดับกันลงมาจนถึงสามเณร ในขณะนั้นรู้สึกจะแสดงความหมดหวัง และหมดกำลังใจไปตามๆ กัน แต่ไม่มีใครกล้าปริปากออกมา นอกจากมีแต่อาการที่เต็มไปด้วยความหมดหวังและความเศร้าสลดเท่านั้น เพราะร่มโพธิ์ใหญ่มีใบหนา ซึ่งเคยเป็นที่อาศัยและร่มเย็นอย่างยิ่งมาเป็นเวลานาน กำลังถูกพายุจากมรณภัยคุกคาม จะหักโค่นพินาศใหญ่ขณะนั้นอยู่แล้ว การทำหน้าที่ของท่านก็กำลังเป็นไปแบบมองดูแล้วหลับตาไม่ลงทั้งท่านผู้อื่นและเรา

ขณะที่ท่านจะสิ้นลมจริงๆ รู้สึกว่าอาการทุกส่วนของท่านอยู่ในความสงบและละเอียดมาก จนไม่มีใครจะสามารถทราบได้ว่า ท่านสิ้นลมไปในขณะใด นาทีใด เนื่องจากลมหายใจของท่านละเอียดเข้าเป็นลำดับ จนไม่ปรากฏว่าท่านสิ้นไปเมื่อไร เพราะไม่มีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งแสดงอาการในวาระสุดท้าย พอให้ทราบได้ว่าท่านสิ้นไปในวินาทีนั้น

แม้จะพากันนั่งสังเกตอยู่เป็นเวลานานก็ไม่มีใครรู้ขณะสุดท้ายของท่าน ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ซึ่งเป็นประธานอยู่ในที่นั้น เห็นท่าไม่ได้การ จึงพูดขึ้นว่า “นี่ไม่ใช่ท่านสิ้นไปแล้วหรือ ?” จากนั้นท่านก็ดูนาฬิกาเป็นเวลา ๐๒.๒๓ นาฬิกา จึงได้ยึดเอาเวลานั้นเป็นเวลามรณภาพของท่าน


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 07, 2013, 08:44:30 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20131007204407_luangpu_man.jpg)

"ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พบนาคราชน้องชายในอดีตชาติ"

เมื่อครั้งอยู่ที่เชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จำพรรษาอยู่บนเขากับพวกมูเซอ มีพระมหาทองสุก สุจิตฺโต อยู่เป็นเพื่อน ใกล้ที่พักเป็นลำธาร มีน้ำไหลตลอดปี อาศัยน้ำที่นั้นใช้อุปโภคและบริโภค มีนาคราชตนหนึ่ง ชื่อว่า สุวรรณนาคราช อาศัยอยู่ที่ลำธารนั้น พร้อมด้วยบริวาร นาคราชตนนี้เคยเป็นน้องชายท่านพระอาจารย์มั่นมาหลายภพหลายชาติ ด้วยความสับสนแห่งภพจึงมาเกิดเป็นนาคราช เขารักเคารพและให้การอารักขาเป็นอย่างดี เวลาเดินจงกรมจะมาอารักขาตลอด จนกว่าจะเลิกเดิน

หลายวันต่อมา นาคนั้นหายไป เกิดฝนไม่ตกร้อนอบอ้าว ข้าวไร่เริ่มขาดน้ำไม่งอกงาม เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นประมาณ ๑๕-๑๖ วัน จึงได้เห็นหน้านาคนั้น

ท่านพระอาจารย์ถามว่า "หายไปไหน"

นาคราชตอบ "ไปขัดตาทัพอยู่ปากทาง (ลำธาร) ลงสู่แม่น้ำปิง"

ท่านพระอาจารย์มั่น ถาม "ทำไม"

นาคราช เรียนตอบว่า "มีนาคอันธพาลตนหนึ่งอาศัยอยู่แถวนั้นจะเข้ามา เลยไม่มีโอกาสแต่งฝน มัวแต่ไปขัดตาทัพอยู่"

ท่านพระอาจารย์มั่น ถามว่า "ให้เขาเข้ามาเป็นไร เพราะเป็นนาคเหมือนกัน"

นาคราช เรียนตอบว่า " ไม่ได้..เข้ามาแล้วมารังแกข่มเหงเบียดเบียนบริวาร"

ท่านพระอาจารย์มั่น ว่า "เป็นไปได้หรือ"

นาคราช เรียนตอบว่า "ก็เหมือนมนุษย์และสัตว์ทั่วๆ ไปนั่นแหละ พวกอันธพาลก็มักจะล้ำแดนของกันและกัน เราต้องต่อสู้ป้องกันตัว"

ท่านพระอาจารย์มั่น จึงรู้ว่า อันนี้เป็นลักษณะของสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นตัวเหตุ โลกจึงวุ่นวาย

ช่วงเย็นฝนตกอย่างหนักจนถึงสว่าง น้ำในลำธารเต็มไปหมด ข้ามไปบิณฑบาตไม่ได้ พระมหาทองสุกคิดได้ จึงเอาไม้ไผ่มาปักเรียงกัน เอาเถาวัลย์ที่ชาวบ้านนำมาทำกุฏิมาผูกกับต้นไม้ฝั่งนี้ จับปลายข้างหนึ่ง ลอยตัวข้ามน้ำไปผูกไว้กับอีกต้นฝั่งโน้น แล้วกลับมานำบริขารของท่านพระอาจารย์และตนเองข้ามไปฝั่งโน้น แล้วกลับมาพาท่านพระอาจารย์ประคองไปตามราวไม้ไผ่ ข้ามฝั่งทั้งขาไปและขากลับ แปลกแต่จริง ขาไปผูกเถาวัลย์ ท่านมหาจับไปตามราว และขากลับลอยคอไป พอตอนนำท่านพระอาจารย์ไปและกลับ ปรากฏว่าเหมือนเดินเหยียบไปบนแผ่นหิน มีน้ำประมาณแค่เข่าเท่านั้น

ท่านพระมหาทองสุก เล่าว่า "เราไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแต่ความปลอดภัยเท่านั้น"

ตกตอนเย็น เมื่อเห็นนาคราชมาอารักขา ท่านอาจารย์ถามว่า "ทำไมให้ฝนตกมากนัก"

นาคราช เรียนตอบว่า "ห้ามเขาไม่ฟัง เพราะละเลยมานาน"

ท่านอาจารย์มั่น จึงว่า "ทำให้เราลำบาก"

นาคราช เรียนตอบว่า "ท่านก็เดินบนหลังข้าพเจ้าไปสบายอยู่นี่"

ท่านพระอาจารย์มั่น ก็บอกว่า "เราก็ไม่ว่าพวกท่านดอก บ่นไปเฉยๆ อย่างนั้นล่ะ"

*****************

คัดลอกปกิณกธรรมจากหนังสือ "รำลึกวันวาน" เล่าโดย หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต
อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เรียบเรียงโดย หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 09, 2013, 07:59:51 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20121117133540_luangpu_mhun.jpg)

อยากได้ของดีที่มีอยู่กับตัวเราทุกคนก็พากันปฏิบัติเอาทำเอา เมื่อเวลาตายแล้วจึงพากันวุ่นวาย
หานิมนต์พระมาให้บุญกุสลามาติกา นั่นไม่ใช่เกาถูกที่คันนะ จะว่าไม่บอก ต้องรีบเกาให้ถูกที่คันเสียแต่บัดนี้
โรคคันจะได้หาย คือเร่งทำความดีเสียแต่บัดนี้ จะได้หายห่วงหายหวงกับอะไร ๆ ที่เป็นสมบัติของโลก
มิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา แต่พากันจับจองเอาแต่ชื่อของมันเปล่า ๆ ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล
สมบัติในโลกเราแสวงหามาเป็นความสุขแก่ตัวก็พอหาได้ จะแสวงหามาเป็นไฟเผาตัวก็ทำให้ฉิบหายได้จริง ๆ
ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดและความโง่เขลาของผู้แสวงหาแต่ละราย ท่านผู้พ้นทุกข์ไปได้ด้วยความอุตส่าห์สร้าง
ความดีใส่ตนจนกลายเป็นสรณะของพวกเรา จะเข้าใจว่าท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทองเครื่องหวงแหนอย่างนั้นหรือ
เข้าใจว่าเป็นคนร่ำรวยสวยงามเฉพาะสมัยของพวกเราเท่านั้นหรือ จึงพากันรักพากันหวงพากันห่วงจนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย
บ้านเมืองเราสมัยนี้ไม่มีป่าช้าสำหรับฝังหรือเผาคนตายอย่างนั้นหรือ จึงสำคัญว่าตนจะไม่ตาย
และพากันประมาทจนลืมเนื้อลืมตัว กลัวแต่จะไม่ได้กินได้นอน กลัวแต่จะไม่ได้เพลิดได้เพลิน
ประหนึ่งโลกจะดับสูญจากไปในเดี๋ยวนี้ จึงพากันรีบตักตวงเอาแต่ความไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว
 อันสิ่งเหล่านี้แม้แต่สัตว์เขาก็มิได้เหมือนมนุษย์เรา อย่าสำคัญตนว่าเก่งกาจสามารถฉลาดรู้ยิ่งกว่าเขาเลย
 ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรอก อาจจนยิ่งกว่าสัตว์
ใครจะไปทราบได้ ถ้าไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้ซึ่งอยู่ในฐานะที่ควร

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

จากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์ มั่น ภูริทัตตเถระ

โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 10, 2013, 10:56:17 AM
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2490 ขณะที่ผู้เล่า(หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ)
อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ วันหนึ่งนายฟอง ชินบุตร โยมผู้นี้มาวัดประจำ

เธอได้แบกไหกระเทียมชนิดปากบาน มีฝาครอบ ขนาดใหญ่เกือบเท่าขวดโหล
ข้างในบรรจุกระดูกนำมาถวายท่านพระอาจารย์ โยมฟองเล่าว่า

"เจ้าของไหเขาให้นำมาถวาย"

เป็นไหใส่กระดูกคน ดูเหมือนจะเป็นกระดูกเด็ก แต่กระดูกนั้นนำไปฝังดินแล้ว ปากไหบิ่นเพราะถูกผานไถขูดเอา
 โยมฟองได้เล่าถึงเหตุที่ได้ไหนี้มาว่านายกู่ พิมพบุตร ผู้เป็นเจ้าของนา ตั้งใจจะไปไถนาตอนเช้าตรู่
ตื่นขึ้นมาเห็นยังมืดอยู่ จึงนอนต่อ พอเคลิ้มหลับไปก็ฝันเห็นว่า มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาหา บอกว่า

“ให้ไปเอาไหกระดูก 2 ใบ ไปถวายท่านพระอาจารย์มั่นให้ด้วย”

นายกู่ถามว่า

“ไหอยู่ที่ไหน”

ชายคนนั้นตอบว่า

“ไถนาไปสัก 3 รอบก็จะเห็น”

ถามว่า “ชื่ออะไร”

ตอบว่า

“ชื่อตาเชียงจวง มาเฝ้ากระดูกลูกอยู่ที่นี่ได้ 500 ปีแล้ว วันหนึ่งได้ยินเสียงท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์แว่วๆ
มาในเวลากลางคืนว่า เป็นหมามานั่งเฝ้าหวงกระดูก แล้วก็กัดกัน ส่วนเนื้อล่ำๆ อร่อยๆ มนุษย์เอาไปกินหมดแล้ว
มัวแต่มานั่งเฝ้าห่วงเฝ้าหวงกระดูกตนเอง กระดูกลูกเมีย ตายแล้วไปเป็นผีเปรต ต้องมานั่งเฝ้ากระดูกถึง 500 ปีแล้ว
จึงได้สติระลึกได้ ทั้งๆ ที่อดๆ อยากๆ ผอมโซ ก็ยังพอใจเฝ้าหวง เฝ้าห่วงกระดูกลูกเมียอยู่ กว่าจะรู้ตัวก็เสียเวลาไป 500 ปีแล้ว”

นี่แหละ เพราะความรัก ความห่วงหาอาลัย เป็นเหตุพาให้ไปเกิดเป็นผีเป็นเปรต เฝ้าสิ่งที่รักและอาลัย จนลืมวันลืมเวลา



ขอบพระคุณข้อมูลจาก FB : คุณ​ supani ครับผม


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 21, 2013, 11:07:15 AM
ครูบาเจ้าศรีวิไชยพบกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า...
”โลกนี้มืดมนนัก...น้อยคนจักเห็นแจ้งได้...ขอน้องเราท่านจงมาปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานกับผม
เพื่อล่วงทุกข์ภัยในวัฏฏะไม่ต้องมาเกิด แก่ เจ็บ และตาย
และวุ่นวายด้วยด้วยกิเลศตัณหาให้ได้รับทุกข์อย่างไม่มีที่สิ้นสุดด้วยกันเถิด........”

เมื่อได้ฟัง ท่านพระครูบาเจ้าศรีวิไชยก็ได้ยกมือขึ้นวันทาไหว้สาท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก่อนกล่าววาจาว่า

”ที่พี่ท่านกล่าวมาเช่นนี้ ก็ชอบอยู่โดยแท้...แต่สุดวิสัยอยู่แต่เพียงว่า อันตัวของข้าเจ้าผู้น้องนี้
หาได้บำเพ็ญบารมีธรรมทั้งปวงมา เพื่อจะหลุดพ้นจากวัฏสงสารนี้แต่เพียงลำพังก็หามิได้
แต่ข้าเจ้าได้บำเพ็ญธรรมตามจริยาอย่างพระโพธิสัตว์ ผู้ปรารถนาจะล่วงเข้าสู่พระพุทธภูมิอย่างสมบูรณ์แล้ว
อีกทั้งยังได้รับพระพุทธพยากรณ์ไว้แล้วด้วยว่า ข้าเจ้านี้เที่ยงแท้ที่จะได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
คือจะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลภายภาคหน้าเที่ยงแท้มิแปรผัน...”

“ด้วยเหตุเป็นเช่นนี้ ข้าเจ้าผู้น้องจึงได้แต่จนใจนักที่มิอาจจักออกปฏิบัติธรรมกรรมฐาน
เพื่อล่วงสู่มหาปรินิพพานตามที่ท่านเจ้าได้กรุณาออกวาจาชักชวนเห็นปานนี้ได้...แม้จะเป็นพระคุณอย่างล้นเหลือ
แต่ข้าเจ้าไม่มีอำนาจใดจักไปฝ่าฝืนพุทธพยากรณ์ที่ได้ทรงตรัสพยากรณ์ไว้แล้วดังนี้ ฉะนั้น
ขอพี่ท่านจงได้โปรดอดโทษแก่ข้าเจ้าผู้น้องที่มิอาจสนองความปรารถนาดีของพี่ท่านในกาลบัดเดี๋ยวนี้ด้วยเถิด...”

จากหนังสือ บูรพาจารย์


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 21, 2013, 11:13:42 AM
ของรางของขลังไม่มีในปฏิปทาเลย รูปเหรียญ ขายพระเล็กพระน้อย
พุทธาภิเษกก็ไม่มีในปฏิปทาขององค์ท่านเลยนา วิชาปลุกเสก แกะหู แกะตา แคะหู แคะตา
 ให้พระพุทธรูปหรือทำพิธีบวชให้พระพุทธรูปก็ไม่มีในสันติวิธีขององค์ท่าน

องค์ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวว่า
“สมมุติเป็นพระพุทธรูปแล้วก็เสร็จกัน เราดีอย่างไรจึงจะไปบวชให้องค์ท่าน องค์ท่านบวชก่อนเราแล้ว
เราดีอย่างไรจึงจะไปปลุกท่านให้ตื่น ท่านตื่นก่อนเราเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานแล้ว
เราดีอย่างไรจึงจะไปแคะหูแคะตาให้องค์ท่าน ตานอก ตาใน หูนอก หูในขององค์ท่านดีกว่าเราแล้ว
จะภิเษกภิษันให้องค์ท่านเป็นอะไรอีก องค์ท่านเป็นพระพุทธเจ้าเต็มภูมิแล้ว
จะเอาไสยศาสตร์ไปพอกไปทาองค์ท่านทำไม นั้นแหละตัวบาป นั้นแหละขุมนรกขุมมิจฉาทิฏฐิ
เห็นผิดเต็มภูมิแล้วยังสำคัญว่าเห็นชอบ เข้าข้างตัวแต่ไม่เข้าข้างธรรมวินัย
เพียงเท่านี้ก็ยังไม่รู้จักผิดรู้จักถูกแล้ว ธรรมอันละเอียดลออก็ยังมีขึ้นไปกว่านี้มาก ไฉนจะรู้ได้”

จากหนังสือ อัตตโนประวัติ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต
วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 08, 2014, 04:59:38 PM
" กายกับจิตเราได้มาแล้วมีอยู่แล้ว ได้มาจากบิดามารดาบริบูรณ์แล้ว
จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ ศีลมีอยู่ที่เรานี่แล้วรักษาได้ไม่มีกาล ได้ผลไม่มีกาล "


หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 16, 2014, 09:30:55 PM
“ถ้าใจยังไม่มีความสงบเย็นทางสมาธิธรรมแล้ว อย่าเข้าใจว่าตนจะได้รับความสุขเย็นใจที่ไหนๆเลย
แต่จะเจอเอาแต่ความรุ่มร้อนที่แอบแฝงไปกับหัวใจที่ไม่มีความสงบนั้นนั่นแล
จงพากันรีบชำระแก้ไขให้พอเห็นทางเดินของจิตเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ใครเพียร ใครอาจหาญ ใครอดทน ในการต่อสู้กับกิเลสตัวฝืนธรรมอยู่ตลอดเวลา
ผู้นั้นจะเจอร่มเงาแห่งความสงบเย็นใจในโลกนี้ ในบัดนี้ และในดวงใจนี้
ไม่เนิ่นนานเหมือนการท่องเที่ยวที่เจือไปด้วยสุขด้วยทุกข์อยู่ทุกภพ ทุกชาติ ไม่มีวันจบสิ้น

ธรรมทุกบททุกบาทที่ศาสนาสอนไว้ ล้วนเป็นธรรมรรื้อขนสัตว์ผู้เชื่อฟังพระองค์
ให้พ้นไปโดยลำดับ จนถึงขั้นธรรมที่ไม่กลับมาหลงโลกที่เคยเกิดตายนี้อีกต่อไป”

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 28, 2014, 08:54:41 AM
ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ว่า “กระผมขอโอกาสกราบเรียน
การนิมิตเห็นดวงหฤทัย (หัวใจ) ของคน ตั้งปลายขึ้นข้างบนนั้นเป็นอะไร”

ท่านเลยอธิบายไปว่า “ที่จริงดวงหฤทัยของคนนั้นก็ตั้งอยู่ตามธรรมดานี้แหละ อันมันเป็นต่างๆ นานา
ตามเรานิมิตเห็นนั้น มันเป็นนิมิต เทียบเคียง คือปฏิภาคนิมิตนั้นเอง ที่ท่านว่ามันตั้งชันขึ้นนั้น
แสดงถึงจิตของคนนั้นมีกำลังทางสมาธิ ถ้าจิตตั้งขึ้นและปลายแหลม
กกใหญ่คล้ายกับดอกบัวตูมกำลังจะเบ่งบานนั้น แสดงว่าจิตคนนั้นมีกำลังทางสมาธิและปัญญาแล้ว

ถ้าน้ำเลี้ยงดวงหฤทัยมีสีต่างๆ กันนั้น หมายถึงจริตของคน เช่น โทสจริตนั้นหฤทัยแดง
ถ้าราคจริตน้ำเลี้ยงหฤทัยแดงเข้มๆ ถ้าจิตของคนที่หลุดพ้นไปแล้วเป็นน้ำหฤทัยขาวสะอาดเลื่อมเป็นปภัสสรเหมือนทองปลอมแล้วอยู่ในเตา
 เลื่อมอย่างนั้นแหละ ถ้าดวงหฤทัยเหี่ยวๆ แห้งๆ
นั้นหมายถึงจิตของคนนั้นไม่มีกำลังทางจิต คือ ศรัทธาพลัง วิริยพลัง สติพลัง สมาธิพลัง ปัญญาพลัง
ถ้าธรรมทั้ง ๕ อย่างนี้ไม่มีในจิตแล้ว ท่านว่าอบรมไม่ขึ้น ไม่เป็นไป จะสั่งสอนทรมานสักปานใดไม่มีประโยชน์เลย

ถ้าดวงหฤทัยของคนนั้นมีกกเบ่งบานเหมือนดอกบัว อบรมสั่งสอนไปได้ผลตามคาดหมายจริงๆ ท่านว่า

“ผมเองเคยเพ่งดวงหฤทัยของผมเอง เห็นเลื่อมเป็นแสงเลยทีเดียว เพิ่งไปเพ่งมา ปรากฏแตกใส่ดวงตา” นี้คำพูดของท่าน

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จึงอธิบายว่า “คนในประเทศไทยนี้ ดวงหฤทัยต่างหมู่อยู่ ๓ องค์
คือ ดวงหฤทัยปรากฏว่ามีจานหรือแท่นรองสวยงามดี พระ ๓ องค์นี้
องค์หนึ่งคือ ท่านสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) ท่านตายไปแล้ว
ส่วน ๒ องค์นั้น ยังอยู่” ท่านพระอาจารย์มั่นพูดว่า “บุญวาสนาบารมีพระ ๓ องค์นี้แปลกๆ”

หมู่เพื่อนมากนี้นึกว่า ท่านอาจารย์นี้ท่านดูคนไม่ใช่ดูแต่หูชิ้นตาหนังเหมือนคนเรา
ท่านสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา ต้องดูด้วยตานอกตาในเสียก่อน ไม่เหมือนปุถุชนเรา
อย่างพวกเรานี้มาเอาแต่กิเลสมาสั่งสอน บังคับไม่ว่าใครเป็นอย่างใด ฉะนั้น
จึงเกิดสงครามกันบ่อยๆ ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ จึงวุ่นวายกันอยู่ทั่วโลก

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นนั้นท่านสั่งสอนไปมันก็ได้ผลจริงๆ อย่างว่า คนจิตไม่มีพลังธรรม ๕ ข้อ
ก็คือคนอินทรีย์ไม่แก่กล้านั้นเอง อย่างนี้โดยมากท่านไม่รับเอาไว้ ในสำนักของท่าน
ท่านใช้อุบายว่าควรไปอยู่แห่งนั้นแห่งนี้หรือกับคนโน้นคนนี้ดี

บันทึกของหลวงปู่อุ่น ชาคโร
วัดป่าหนองคำ(วัดดอยบันไดสวรรค์) จ.อุดรธานี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 02, 2014, 09:37:24 PM
ความสมบูรณ์พร้อมของประเทศไทย..(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

เรื่องอริยบุคคลนี้ ท่านพระอาจารย์ปรารภไว้หลายสถานที่หลายวาระ ต่างๆ กันแล้วแต่เหตุ

ท่านเล่าว่า ชาวพุทธมีหลายประเทศ แต่จะขอกล่าวเฉพาะใกล้เคียง เขมร ลาว เวียดนาม และพม่า นอกนี้ไม่กล่าว

ท่านพระอาจารย์บอกว่า "เราไม่ได้ว่าเขาเหล่านั้น แต่ได้พิจารณาแล้ว ไม่มีก็ว่าไม่มี มีก็ว่ามี"

ท่านพระอาจารย์หมายถึง พระอริยบุคคลในประเทศเหล่านี้ มีที่ประเทศพม่าเพียงคนเดียว คือ
หมู่บ้านที่ท่านไปจำพรรษา เป็นผ้าขาว ที่ผู้เล่าเคยเล่าว่า บุตรสาว บุตรเขย และบุตรชายของตาผ้าขาวนั้นละ
ที่มาจัดเสนาสนะของบิดาเขาถวายท่านพระอาจารย์และท่านเจ้าคุณบุญมั่น ครั้งจำพรรษาที่ประเทศพม่า

ท่านว่า "ยกเว้นสยามประเทศแล้วนอกนั้นไม่มี"

"สำหรับสยามประเทศ ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน มีติดต่อมาโดยไม่ขาดสาย ทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงและบรรพชิต
แต่มรรคขั้นต้นคฤหัสถ์มากกว่า ทั้งปริมาณและมีสิกขาน้อยกว่า"

ท่านเล่าต่อไปว่า เราไม่ได้ว่าเขา เราไม่ได้ดูหมิ่นเขา เพราะประเทศเหล่านั้นขาดความพร้อม
คือ คุณสมบัติหลายอย่าง เช่น เรื่องอักขระ ที่ไม่เป็นพุทธภาษา คือ ฐานกรณ์วิบัติ
และองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ องค์พระมหากษัตริย์ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานี้ก็สำคัญ
ขาดไม่ได้ ถ้าขาดไป อริยบุคคลก็ขาดไปด้วย

ท่านพระอาจารย์ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าจะทรงประกาศพระศาสนา ทรงหาหลักค้ำประกันอันมั่นคง
คือ มุ่งไปที่พระเจ้าพิมพิสาร ความสำคัญอันนี้มีมาตลอด หากประเทศใดไม่มีองค์ประกอบนี้ ซึ่งเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก ก็ปฏิเสธได้เลย

เปรียบเหมือนกับก้อนเส้า 3 ก้อน ก้อนที่ 1 คือ ความเป็นชาติ
ก้อนที่ 2 มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ
ก้อนที่ 3 มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก หากขาดไปก้อนใดก้อนหนึ่ง
ก็จะขาดความสมบูรณ์ไป ไม่สามารถจะใช้นึ่งต้มแกงหุงหาอาหารได้


จากหนังสือ "รำลึกวันวาน" หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤษภาคม 13, 2014, 04:12:47 PM
ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า

บางคืนปรากฏมีพระสาวกอรหันต์มาแสดงธรรมให้ท่านฟังทางอริยประเพณี
โดยปรากฏทางสมาธินิมิต เป็นใจความว่า

"วิธีเดินจงกรมต้องให้อยู่ในท่าที่สำรวมทั้งกายและใจ ตั้งจิตและสติไว้ที่จุดหมายของงานที่ตนทำอยู่
คือกำลังกำหนดธรรมบทใดอยู่ พิจารณาขันธ์ใดอยู่ อาการแห่งกายใดอยู่ พึงมีสติอยู่กับธรรมหรืออาการนั้นๆ
 ไม่พึงส่งใจและสติไปที่อื่น อันเป็นลักษณะของคนไม่มีหลักยึด ไม่มีความแน่นอนในตัวเอง
การเคลื่อนไหวไปมาในทิศทางใดควรมีความรู้สึกด้วยสติพาเคลื่อนไหว ไม่พึงทำเหมือนคนนอนหลับ
ไม่มีสติตามรักษาความกระดุกกระดิกของกาย และความละเมอเพ้อฝันของใจในเวลาหลับของตน
มีสติปัญญาอยู่ทุกอิริยาบท การขบฉันพึงพิจารณาอาหารทุกประเภทด้วยดีอย่าปล่อย
ให้อาหารที่มีรสเอร็ดอร่อยมาเป็นยาพิษแผดเผาใจ แม้ร่างกายจะมีกำลังเพราะอาหารที่ขาดการพิจารณาเข้าไปหล่อเลี้ยง
แต่ใจจะอาภัพเพราะรสอาหารเข้าไปทำลาย จะกลายเป็นการทำลายตนด้วยการบำรุง
 คือทำลายใจ เพราะการบำรุงร่างกายด้วยอาหารโดยความไม่มีสติ"

จากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ
โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 09, 2014, 10:58:46 AM
ธาตุมนุษย์เป็นธาตุตายตัว ไม่เป็นอื่นเหมือนนาค เทวดาทั้งหลายที่เปลี่ยนเป็นอื่นได้
มนุษย์มีนิสัยภาวนาให้สำเร็จง่ายกว่าภพอื่น อคฺคํ ฐานํ มนุส(เสสุ มคฺคํ สตฺต วิสุทฺธิยา
มนุษย์มีปัญญาเฉียบแหลมคมคอยประดิษฐ์ กุศล อกุศล สำเร็จอกุศล---

มหาอเวจีเป็นที่สุด ฝ่ายกุศลมีพระนิพพานให้สำเร็จได้ ภพอื่นไม่เลิศเหมือนมนุษย์
เพราะมีธาตุที่บกพร่องไม่เฉียบขาดเหมือนชาตมนุษย์ ไม่มีปัญญากว้างขวางพิสดารเหมือนมนุษย์
มนุษย์ธาตุพอหยุดทุกอย่าง สวรรค์ไม่พออบายภูมิธาตุไม่พอ มนุษย์มีทุกข์ สมุทัย

---ฝ่ายชั่ว ฝ่ายดี---กุศลมรรคแปด นิโรธ รวมเป็น ๔ อย่าง มนุษย์จึงทำอะไรสำเร็จ ดังนี้ ไม่อาภัพเหมือนภพอื่น

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 09, 2014, 11:00:34 AM
มนุษย์วนเวียนเกิดล้วนตาย ตายแล้วเกิด ติดของเก่า กามาวจรสวรรค์ ๑ สัตว์เดรัจฉาน ๑ มนุษย์ ๑
ท่านพวกนี้ติดของเก่า พระไตรปิฎก มีกิน ๑ มีนอน ๑ สืบพันธ์ ๑ แม้ปู่ย่าตายายของเราล้วนแต่ติดของเก่า
พระพุทธเจ้าก็ดี พระปัจเจกก็ดี พระอรหันต์ก็ดี เมื่อท่านยังไม่ตรัสรู้ติดของเก่า เพลิดเพลินของเก่าในรูป เสียง กลิ่น
รสของเก่าทั้งไม่มีฝั่งไม่มีแดน ไม่มีต้น ไม่มีปลาย ย่อมปรากฎอยู่เช่นนั้น ตื่นเต้นกับของเก่า ติดรสชาติของเก่า
ใช้มรรค ๘ ให้ถอนของเก่า ใช้อิทธิบาท ๔ ตีลิ่มสะเทือนใหญ่ปังๆ ลิ่มของเก่าถอนคืออวิชชา
ลิ่มใหม่คือวิชชาเข้าแทน ใช้ตบะความเพียรอย่างยิ่ง ที่จะถอนได้ต้องสร้างพระบารมีนมนาน
จึงจะถอนได้ เพราะของเก่ามันบัดกรีกัน ได้เนื้อเชื้อสายของกิเลสพอแล้ว ย่อมเป็นอัศจรรย์ของโลกนั้นทีเดียว

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 16, 2014, 09:48:13 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20121201102817_luangpu_mhun.jpg)

จิตบริสุทธิ์ด้วยศีล ด้วยสมาธิความเป็นหนึ่ง มีปัญญาเกิดขึ้นพร้อม
ต่อนั้นจะเกิดมโนภาพ จิตจะมีอำนาจใช้พลิกแพลงไปต่าง ๆเกิดความฉลาดรอบรู้อริยธรรม
คำว่า มโนภาพ จิตมีฤทธิ์ ต่อนั้นค้นคว้าธรรมะมีหลักฐาน แต่เดินมรรคให้ถูก ปัญญาเห็นชอบ เป็นต้นนั้น
เห็นร่างกายแปรปรวนไปต่าง ๆ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในกิเลสทั้งหลาย เพราะผ่านความเบื่อหน่ายมาแล้ว
ขึ้นวิปัสสนา อัพยากฤต รวมดีแล้ว ถึงวิโมกข์วิมุตติความหลุดพ้นกิเลส จิตเสวยสุขเรื่อย ๆ ไปจนกว่าเข้านิพพาน

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 16, 2014, 09:48:49 AM
วิชชา ๓ ของพระพุทธเจ้า ลึกลับสุขุมมาก
ในยามที่ ๑ พระองค์ทำความรู้เท่าอย่างนั้น
ยามที่ ๒ พระองค์ทำความรู้เท่านั้น
ยามที่ ๓พระองค์ทำความรู้เท่าคือแก้วิชชาและปฏิจจสมุปบาทในของจิตในช่องแคบมารแย่งไม่ได้
มีความรู้อันพิเศษขึ้นมาว่า พระองค์เป็น สยมภู ความที่ท่านแก้อวิชชาเป็นของขั้นละเอียดยิ่งนัก
บุคคลจะรู้เห็นตามนั้นน้อยที่สุด สุดอำนาจของจิต เมื่อกำหนดรู้ลงไปเป็นของว่างหมด
ไม่ใช่ตัวตนสัตว์บุคคลเราเขา ไม่ใช่ผู้หญิงผู้ชาย ธาตุสูญฺโญ เป็นธาตุสูญ แล้วกำหนดจิต รู้จิต ตั้งอยู่ใน ฐีติธรรม

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 16, 2014, 09:49:09 AM
นักปฏิบัติสำคัญที่สุดต้องเด็นเดี่ยวกล้าหาญ พยายามรักษาจิตให้เสมอ

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 16, 2014, 09:49:54 AM
ปฏิภาคนิมิตนั้น อาศัยผู้ที่มีวาสนาจึงจะบังเกิดขึ้นได้
อุคคหนิมิตนั้นเป็นของไม่ถาวรต้องพิจารณาให้ชำนาญแล้วเป็นปฏิภาคนิมิต
เมื่อชำนาญทางปฏิภาค ทวนกระแสเข้ามาเป็นตน ปฏิภาคนั้นเป็นส่วนวิปัสสนา
สำหรับอุปจารสมาธิ สามารถรู้วาระจิตของผู้อื่นได้ สามารถแก้นิวรณ์ได้
แต่โมหะคลุมจิต ถ้าเจริญวิปัสสนาถึงขึ้นอัปปนาสมาธิแล้ว จะต้องทำความรู้ให้เต็มเสียก่อนจิตจึงจะไม่หวั่นไหว

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 16, 2014, 10:11:26 AM
การพิจารณาธรรมให้เห็นปัจจุบันธรรม อย่าส่งจิตถึงอดีตอนาคตจะเป็นความกังวลและฟุ้งซ่านไป
เพราะว่าธรรมทั้งหมดที่พระพุทธองค์ทรงแสดงออกมาจากจิตคือพระทัยที่บริสุทธิ์ทั้งนั้น
การดับทุกข์นั้นก็คือการรู้เท่าทันทุกข์ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย การพิจารณากายให้รู้เท่าทันทุกข์
ให้รู้ตามความเป็นจริง เวลาพิจารณาอย่าใส่สิ่งที่ไม่มีเข้ามา
และอย่านำสิ่งที่มีอยู่ออกหรือตัดออก อันนี้จะเป็นความไม่ละเอียดในการพิจารณา
การปฏิบัติตามมรรค ๘ นั้น สมาธิมรรคเป็นสำคัญมาก นอกจากนั้นเป็นส่วนปริยาย
เมื่อเราปฏิบัติสังเกตด้วยธรรม และอาการของธรรมที่จิตตภาวนา ถ้าจิตเราส่งออกนอกวงกาย
จิตนั้นยังไม่เป็นมหาสติ มหาปัญญา จิตนั้นจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เป็นทางดำเนินอันชอบ

พระอาจารยืมั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 19, 2014, 10:14:17 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20140819221315_luangpu_mhan2.jpg)

“ท่านผู้ไม่หวังมาเกิดอีก ต้องประมวลโลกทั้งสามภพลงในไตรลักษณ์ที่หมุนไปด้วย
อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ตามขั้นหยาบละเอียดของภพชาตินั้น ๆ ด้วยปัญญาจนปราศจากความสงสัย
อุปาทานที่ว่ายึด ๆ ชนิดแกะไม่ออกนั้น จะถอนตัวออกมาอย่างรวดเร็วจนมองไม่ทันนั่นแล
ขอ...แต่ปัญญาเครื่องตัดสิ่งกดถ่วงให้คมกล้าเถอะ
ไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องมือแก้กิเลสทุกประเภทอย่างทันสมัยเหมือนสติปัญญาเลยในสามภพนี้”

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 19, 2014, 10:14:59 PM
"นักปฏิบัติ ถ้ามัวแต่เมาในลาภ ในยศแล้ว การปฎิบัติก็ค่อยๆจางลงๆ ทุกที
ในที่สุดก็เกิดการฆาตกรรมตัวเอง เอาแต่สบายไม่มีการบำเพ็ญกรรมฐาน
ให้ดียิ่งขึ้น มีแต่จะหาชื่อเสียงอยากให้คนนับถือมากยิ่งขึ้น โดยวิธีการต่างๆ
นี้คือการฆาตกรรมตัวเอง นักปฏิบัติต้องฝึกตนเองเสมอ..."

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ สิงหาคม 19, 2014, 10:17:05 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20100202154000__1_743.jpg)

"การดูกิเลสและแสวงธรรม ท่านทั้งหลายอย่ามองข้ามใจ
ซึ่งเป็นที่อยู่ของกิเลสและเป็นที่สถิตย์อยู่แห่งธรรมทั้งหลาย กิเลสก็ดี ธรรมก็ดี
มิได้ขึ้นอยู่กับกาลสถานที่ใดๆ ทั้งสิ้น แต่อยู่ที่ใจ คือเกิดขึ้นที่ใจ และดับลงที่ใจดวงรู้ๆ นี้เท่านั้น..."

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ธันวาคม 16, 2014, 11:01:25 PM
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พยากรณ์อายุ เรื่องการต่ออายุจาก 60 ปี มาเป็น 80 ปี
ท่าน พระอาจารย์มั่น ได้เล่าไว้หลายสถานที่ หลายโอกาส หลายวาระ ปีนั้นท่านจำพรรษาที่อำเภอพร้าว
จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ราบไม่ใช่ภูเขา กับพระมหาทองสุก สุจิตโต ปีนั้นพอเริ่มเข้าพรรษา ท่านมีอาการเจ็บป่วย
 พระผู้พยาบาลก็พระมหาทองสุกนั้นล่ะ ท่านมีความรู้ทางยาด้วย ท่านพระอาจารย์กำหนดรู้แล้วว่า
ท่านถึงอายุขัย จะสิ้นชีพปีนี้แน่ แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าท่านมีอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว สามารถอยู่ต่อไปได้อีก 20 ปี เป็น 80 ปี เท่าพระพุทธเจ้า
ท่านจึงมาพิจารณาดูว่า อยู่กับตายอย่างไหนมีค่ามาก รู้ว่าอยู่มีค่ามาก
เพราะสานุศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตหวังเฉพาะให้ท่านอยู่ แต่คำว่าอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว
เจริญขึ้นขั้นไหน อย่างไร ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแล้ว ทั้งโลกิยธรรมและโลกุตรธรรม นำมาพิจารณา
ก็ไม่ขัดข้อง ไม่สงสัย แต่ก็ยังไม่ได้ความ อาการป่วยจะดีขึ้นก็ไม่ใช่ จะหนักก็ไม่เชิง
แต่เที่ยวบิณฑบาตได้ทุกวัน อาการที่สำคัญ คือ คอมองซ้ายมองขวายาก เดือนที่ 2 ผ่านไป

 อาการดีขึ้น และได้ความรู้เกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังว่า
นาญฺญตฺตร โพชฺฌาตปสา นาญฺญตตร ปฏินิสฺสคฺคา นาญฺญตฺตร อินฺทริยสํวรา
แปลได้ความว่า อิทธิบาท 4 อันอบรมดีแล้ว ก็คือ การพิจารณาโพชฌงค์ 7 นี้เอง
ท่านฯ อธิบายว่า เจริญให้มาก ทำให้มาก ก็เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ พร้อมความดับสนิท
(หมายถึงอวัยวะที่ชำรุดในร่างกาย แล้วเปลี่ยนอะไหล่ใหม่ด้วยฌาน) แล้วท่านยังอุปมาเปรียบเทียบว่า
เมื่อพระมหาโมคคัลลาน์และพระมหากัสสปะได้ฟังพระดำรัสนี้ ก็หายจากอาพาธ
แม้ในกาลบางคราวพระพุทธองค์ก็ยังให้พระสาวกสวดถวาย แต่คำว่า ผู้มีอิทธิบาท 4 อันเจริญดีแล้ว
 ขอเล่าเท่าที่จำได้ ท่านฯ ว่า "เราพิจารณาปุพพภาคปฏิปทา ตั้งแต่จิตเรารวมเป็นสมาธิโดยลำดับ
ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน แล้วเข้าอรูปฌานต่อเป็นอากาสาฯ ลฯ จนถึง เนวฺสญฺญานาสญฺญายตน
หน่อยหนึ่งก็ไม่มีแล้ว ถอยจิตออกมาอยู่ในสญฺญาเวทยิตฺนิโรธ อุปมาเหมือนหนทาง 3 แพร่ง ท่านว่า
จิตเราอยู่ในท่ามกลางทาง 3 แพร่ง แพร่งหนึ่งไปอรูปพรหมโลก แพร่งหนึ่งไปรูปพรหมโลก
คือ จตุตถฌาน อีกแพร่งหนึ่งเข้าสู่พระนิพพาน จิตอยู่ขั้นนี้
และเราได้อธิษฐานว่า เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไป แล้วก็ถอยจิตออกจากทาง 3 แพร่งนั้น มาพักที่จตุตถฌาน
จะพักนานเท่าไรก็แล้วแต่ พอมีกำลังแล้วจิตจะถอยออกสู่ ตติยฯ ทุติยฯ พอมาถึงปฐมฌาน ก็อธิษฐานรู้ว่า

"เราจะอยู่ไปอีกเท่านั้นปี เท่านี้ปี" กว่าจะมาถึงขั้นนี้ ก็เป็นเวลาเดือนสุดท้ายแห่งการจำพรรษาแล้ว
ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ผู้ที่มีอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เป็นกัปป์หรือเกินกว่า
เป็นความจริง ท่านฯ ว่า ท้าวสักกะแก่กลายเป็นท้าวสักกะหนุ่มก็ด้วยอิทธิบาทนี้ แต่ท้าวสักกะยังมีกิเลส
ไม่ได้ฌานด้วยตัวเอง แต่ด้วยพระพุทธานุภาพ ทรงนำกระแสพระทัยของท้าวสักกะ
ให้ผ่านขั้นตอนจนเป็นอิทธิบาทอันเจริญดีแล้ว ที่ถ้ำอินทสาร ท้าวสักกะแก่จึงเป็นท้าวสักกะหนุ่มได้ ด้วยพระพุทธานุภาพดังนี้

จากหนังสือ "รำลึกวันวาน" โดย หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กุมภาพันธ์ 17, 2015, 11:13:22 AM
หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ

“ขึ้นชื่อว่ากิเลสตัวเป็นมารของธรรมแล้ว ต้องเป็นมารของสัตว์โลกไม่มีทางสงสัย การแสดงออกของมัน มีแต่การหลอกลวงสัตว์โลก ให้เข้าสู่หลุมถ่านเพลิง คือกองทุกข์ไม่มีประมาณ โดยถ่ายเดียว หาที่พอเชื่อถือและยึดเป็นที่อาศัยชั่วระยะเดียวก็ไม่ได้ ผลเต็มไปด้วยฟืนด้วยไฟทุกกิ่งทุกแขนง ไม่มีเกาะมีดอนพอให้หายใจด้วยมันได้ ปราชญ์ท่านจึงตำหนิติเตียนมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยยกยอบ้างเลยว่า กิเลสก็ทำให้โลกร่มเย็น กิเลสก็เป็นธรรม ให้ความเสมอภาคยุติธรรมแก่โลกเป็นต้น นอกจากกลหลอกลวงเต็มตัวของมันมาทุกยุคทุกสมัย ไม่เคยทิ้งลวดลายแห่งการปลิ้นปล้อนหลอกลวงสัตว์โลกผู้โง่เขลาที่น่าสงสารบ้างเลย...”

จากหนังสือประวัติหลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัด หนองบัวลำภู
โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมปนฺโน
(พ.ศ. ๒๔๓๑ – ๒๕๒๖)


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มิถุนายน 16, 2015, 03:01:39 PM
(http://www.kammatan.com/gallary/images/20150616150120_somdetpasangkalat.jpg)


หลวงปู่มั่นพบพระพุทธเจ้าในพระนิพพาน

มีเรื่องเล่ากันนานปีมาแล้ว ว่าท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

ท่านเคยเล่า ว่าคืนหนึ่งขณะท่านปฏิบัติอยู่ในป่า ใจร่ำร้องกราบพระพุทธบาทสมเด็จพระบรมศาสดา ขอประทานพระมหาเมตตาให้ท่านพระอาจารย์ท่านรู้วิธีปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความสมปรารถนาได้พ้นทุกข์

และสมเด็จพระบรมศาสดาก็ทรงพระเมตตาเสด็จลงให้ท่านพระอาจารย์ ได้เฝ้าพระพุทธบาทรับประทานวิธีปฏิบัติธรรมไปสู่ความไกลกิเลสได้สิ้นเชิง

ท่านพระอาจารย์ท่านเล่าว่าสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จลงให้ท่านได้เฝ้าพระพุทธบาทได้เห็นพระพุทธองค์ ดั่งได้เฝ้าพระองค์จริงขณะทรงดำรงพระชนมายุสังขารอยู่ฉะนั้น

ไม่ทราบว่าท่านพระอาจารย์ท่านบอกหรือเปล่า ว่าท่านมีความปีติโสมนัสเพียงไรในบุญวาสนาของท่านที่ไม่น่าเป็นไปได้ในชีวิตผู้ใดแต่ได้เกิดแก่ชีวิตท่านพระอาจารย์ท่านแล้วจริง

โปรดประทานพระมหากรุณาให้ท่านพระอาจารย์ท่านรู้วิธีเดินจงกรม วิธีปฏิบัติจิตใจ

จนในที่สุดท่านพระอาจารย์ท่านก็ได้เป็นดั่งองค์ แทนศิษยานุศิษย์ผู้สามารถปฏิบัติธรรมดำเนินถึงความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ได้เป็นพระอาจารย์สายปฏิบัติธรรมองค์สำคัญที่สุดอยู่ในยุคนี้ เป็นที่รู้กันอยู่ในบรรดาผู้ใส่ใจในการปฏิบัติธรรมทุกถ้วนหน้า

เรื่องนี้ ที่ท่านพระอาจารย์ท่านได้เล่าไว้ ไม่เพียงทำให้ท่านได้เป็นอาจารย์ผู้สอนธัมมะสำคัญแก่ศิษยานุศิษย์มากหลาย แต่ทำให้ได้ความเข้าใจที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จอยู่ในเมืองพระนิพพานแน่ ยังทรงได้รู้ ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ที่ควรแก่การได้รับพระพุทธเมตตา เช่นท่านอาจารย์มั่นท่านนั่นเอง ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นท่านควรที่สุดแน่นอนแล้วที่จะได้รับพระมหากรุณา ผู้ปฏิบัติธรรมหรือผู้ศึกษาธรรมทั้งหลายย่อมเห็นด้วยกับความจริงนี้แน่นอน.


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
แสงส่องใจ วิสาขบูชา ๒๕๕๐


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 12, 2015, 09:13:28 AM
"...คนที่ขี้เกียจ อ่อนแอ เห็นทีจะเอาดีไม่ได้ และไม่เคยมีใครทำสำเร็จ
หรือบรรลุธรรมด้วยการอยู่ไป กินไป นอนไป ตามใจชอบ โดยไม่มีการศึกษาฝึกจิต ทรมานใจเลย..."

...พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 12, 2015, 09:14:10 AM
“ มีพระรูปหนึ่งซึ่งมีนิสัยไม่ค่อยสุภาพนัก ไปพำนักอยู่กับท่านชั่วคราว... ”

๕๗. สำรวมระวังกาย สำรวมระวังใจ

เรื่องการพูดคุยอะไรกับท่านแบบไร้สติ ว่าควรอย่างไรไม่ควรอย่างไรบ้าง นี่เคยโดนท่านดุมามากราย บางรายถึงกับเสียสติในวาระต่อไปก็มี

มีพระรูปหนึ่งซึ่งมีนิสัยไม่ค่อยสุภาพนักไปพำนักอยู่กับท่านชั่วคราว เวลาท่านพูดอะไรขึ้นมาเธอชอบพูดไปตามท่านเสมอ ตอนไปอยู่ใหม่ ๆ ท่านเคยเตือนบ่อยให้สนใจในหน้าที่ของตัว โดยมีสติระวังรักษาใจที่จะคิดจะพูดในเรื่องต่าง ๆ ไม่สนใจกับเรื่องของผู้อื่น นักปฏิบัติต้องรู้จักวิธีปฏิบัติตัวโดยถูกทาง ผู้มีสติอยู่กับตัวย่อมเห็นความบกพร่องของใจที่แสดงออก แต่เธอนั้นคงมิได้สนใจคิดเรื่องท่านให้อุบายสั่งสอนเท่าที่ควร จึงชอบเป็นไปตามนิสัยเสมอ

วันหนึ่งเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ท่านพระอาจารย์มั่นท่านมีนิสัยที่ใคร ๆ สังเกตได้ยาก เวลาเดินไปไหนมาไหนท่านมองเห็นอะไร เช่นสัตว์ต่าง ๆ หรือผู้คนตลอดเด็ก ๆ ท่านมักจะเอาเรื่องที่ได้เห็นนั้น ๆ มาพิจารณาและพูดของท่านไปคนเดียว ดังที่เคยเขียนไว้บ้างแล้ว

วันนั้นขณะที่กำลังบิณฑบาต ท่านได้เห็นลูกวัวมีรูปร่างน่ารักที่กำลังวิ่งเพลินอยู่กับแม่ของมัน ขณะพระเดินไป มันยังมองไม่เห็นท่าน พอพระเดินไปจวนถึงตัวมันจึงหันหน้ามามองอย่างตกใจ และกระโดดวิ่งอ้าวไปหาแม่แล้วเอาหลังหนุนคอแม่ไว้ หันหน้าออกมาสู่พระ นัยน์ตาบอกว่ากลัวมาก ส่วนแม่พอเห็นลูกวิ่งไปหาก็รีบหันหน้ามองมาทางพระ พอรู้แล้วก็ทำเฉยตามนิสัยของสัตว์ที่เคยกับพระมาจำเจแล้ว แต่ลูกของมันยืนตาจับจ้องอยู่ใต้คางแม่อย่างไม่ไว้ใจ..

..เมื่อท่านอาจารย์เห็นอาการของทั้งแม่ทั้งลูกที่แสดงอาการต่างกันเช่นนั้น จึงพูดขึ้นลอย ๆ ว่า..

“ แม่ไม่เห็นแสดงอาการกลัว แต่ลูกทำไมกลัวจนจะแบกแม่ทั้งตัววิ่งหนีไปได้ (ท่านเห็นมันอยู่ใต้คอแม่อันเป็นลักษณะแบกแม่ถึงได้พูดอย่างนั้น) พอเหลือบเห็นพระเท่านั้นก็ทั้งเผ่นทั้งร้องหาแม่ให้ช่วย

คนเราก็เหมือนกันต้องวิ่งหาที่พึ่ง ถ้าอยู่ใกล้แม่ก็วิ่งพึ่งแม่ อยู่ใกล้พ่อก็วิ่งพึ่งพ่อ อยู่กับใครก็มักจะพึ่งคนนั้น จะคิดพึ่งตัวเองไม่ค่อยมี ตอนยังเล็กก็คิดหวังพึ่งผู้อื่นแบบหนึ่ง โตขึ้นมาคิดหวังพึ่งผู้อื่นไปอีกแบบหนึ่ง แก่ตัวลงไปคิดหวังพึ่งผู้อื่นอีกแบบหนึ่ง จะย้อนจิตเข้ามาใช้อุบายหาทางพึ่งตัวเองไม่ค่อยจะมีกัน..

..ฉะนั้น คนเราจึงมักทำตัวให้อ่อนแอ อยู่ในวัยใดก็หวังพึ่งแต่ผู้อื่น อยู่ที่ใดไปที่ใดก็หวังพึ่งแต่ผู้อื่น เลยไม่เป็นตัวของตัวเองได้ตลอดกาล

พระเราก็เหมือนกันบวชมาในศาสนาจะศึกษาก็เกียจคร้าน จะปฏิบัติก็กลัวเป็นทุกข์ลำบาก เพราะความขี้เกียจไม่ยอมให้ทำ คิดอะไรที่จะเป็นประโยชน์บ้าง พอคิดจะลงมือทำความขี้เกียจก็มาคอยกันท่าไว้เสีย เลยไม่มีอะไรสำเร็จได้ เมื่อไม่มีทางช่วยตัวเองได้จำต้องหวังพึ่งผู้อื่น ไม่เช่นนั้นก็ครองตัวไปไม่ได้

คำว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เลยไม่มีประโยชน์สำหรับคนไม่มีจมูกหายใจ เราผู้บวชเป็นพระและเป็นนักปฏิบัติจึงไม่ควรทำตนเป็นคนไม่มีจมูก คอยหายใจจากผู้อื่นอยู่เรื่อยไป ครูอาจารย์สั่งสอนอะไรควรนำไปคิดและพยายามทำตาม ไม่ให้หลุดมือตกสูญหายไปเปล่า ๆ พยายามคิดและทำตามท่านจนเกิดประโยชน์ขึ้นมาแก่ตนจนได้ จะต้องไม่หวังพึ่งท่านตลอดไป จมูกทางหายใจคือความรู้ความฉลาดทางระบายทุกข์น้อยใหญ่ออกจากใจก็พอมีทางอาศัยตนได้ ชื่อว่าเป็นพระขึ้นมาโดยลำดับ จนกลายเป็นพระสมบูรณ์แบบและพึ่งตนเองได้อย่างเต็มที่ ”

ท่านพูดเป็นเชิงสอนพระหรือสอนใครก็สุดแต่ผู้จะพิจารณานำมาสอนตน คำพูดท่านยังไม่จบเรื่องซึ่งพอจะแทรกขึ้นในระหว่างท่านหยุดชั่วคราว แต่พระองค์ไม่ค่อยพิจารณานักก็พูดพล่ามไปตามท่าน โดยมิได้สำนึกตัวว่าควรหรือไม่ควรเพียงไร ความบ้าของเธออาจจะเข้าไปกระทบธรรมภายในท่านอย่างแรง จึงทำให้ท่านหันหน้ากลับมาชำระเสียบ้าง พอให้พระองค์ที่มีสังวรธรรมพลอยตกตะลึงกลัวไปตาม ๆ กัน ใจความว่า..

“ท่านนี้จะบ้าเสียแล้วกระมังนี่ พอตามองเห็นค้อนเห็นไม้ที่ใครโยนมาแต่ทิศใดแดนใดก็คอยแต่จะโดดกัดร่ำไปเหมือนสุนัขบ้า ไม่มองดูใจที่กำลังจะบ้าอยู่ขณะนี้บ้างเลย ผมว่าท่านจะบ้าแล้วนะ ถ้ายังขืนปล่อยให้น้ำลายไหลออกแบบไม่มีสติดังที่เป็นอยู่ขณะนี้”

..ว่าเท่านั้นก็หันกลับและเดินเข้าที่พักไม่พูดอะไรต่อไปอีก..

มองดูพระองค์นั้นหน้าตาพิกลอย่างพูดไม่ออก ตอนมาถึงที่พักแล้ว ขณะฉันก็เห็นเธอฉันนิดเดียว พอเห็นอาการอย่างนั้น ต่างองค์ก็ต่างนิ่งเฉย ทำเหมือนไม่รู้และไม่เกี่ยวข้องกับเธอ เกรงว่าจะอาย เวลาอื่นก็ทำเหมือนไม่มีอะไร ต่างองค์ต่างอยู่และบำเพ็ญภาวนาไปตามที่เคยปฏิบัติมา

พอตกกลางคืนเงียบ ๆ ได้ยินเสียงร้องโวยวายขึ้นแบบคนไม่มีสติ พูดไม่ได้ศัพท์ได้แสง พอทราบเหตุต่างองค์ต่างก็รีบไปดูที่เสียงปรากฏขึ้น ก็ได้เห็นพระองค์นั้นนอนร่ายมนต์บ่นเพ้อทิ้งเนื้อทิ้งตัวอยู่บริเวณที่พักนั้นแบบคนไม่มีสติเอาเลย แต่พอจับใจความได้เป็นบางตอนว่า..

“เสียใจที่ได้ล่วงเกินท่านอาจารย์โดยไม่รู้กาลเทศะ”

ใครก็ตกตะลึงพรึงเพริดไปตาม ๆ กัน และต้องรีบไปตามชาวบ้านมาช่วยพยาบาลรักษา คือหายาแก้ลมเป็นต้น มาให้เธอฉัน คนนั้นบีบคนนี้นวดตามบริเวณร่างกายอยู่พักหนึ่ง จากนั้นก็สงบและนอนหลับได้จนสว่าง

พอวันรุ่งขึ้นก็มีคนมารับเธอไปหาหมอฉีดหยูกยาให้เธอ อาการก็พอลดลงบ้าง แต่ยังมีการกำเริบเป็นคราว ๆ พอค่อยยังชั่วบ้างก็ส่งเธอกลับบ้าน หลังจากนั้นก็ไม่ทราบว่าโรคหายหรือเป็นตายอย่างไร ผู้เขียนก็ทราบจากพระที่อยู่ด้วยกันกับเธอในเวลานั้นเล่าให้ฟัง

ทั้งนี้พูดเรื่องโดนดุ ถ้าโดนพอเบาะ ๆ ก็พอให้ผู้ถูกดุได้สติและระวังตัวต่อไป ถ้าหาเรื่องให้ถูกโดนดุอย่างหนักและผู้ถูกดุ ไม่มีสติปัญญาพอจะถือเอาประโยชน์ได้ มักมีทางเสียได้ดังที่ปรากฏมา

..ฉะนั้น ผู้อยู่กับท่านจึงอยู่ด้วยความระวังสำรวมอย่างยิ่ง จะตีสนิทคุ้นเคยในฐานะว่าเคยอยู่กับท่านมานานย่อมไม่ได้ เพราะนิสัยท่านเป็นนิสัยที่ไม่คุ้นกับใครเอาง่าย ๆ แต่ไหนแต่ไรมา ผู้อยู่กับท่านจึงนอนใจไม่ได้ แม้ระวังตัวอยู่เหมือนแม่เนื้อระวังนายพรานก็ยังถูกโดนยิงจนได้..

เท่าที่ทราบจากครูอาจารย์ที่เคยอยู่กับท่านมาก่อนว่า ถ้ามีเฉพาะท่านที่มีภูมิจิตใจสูงอยู่กับท่าน การวางตัวท่านก็ปล่อยตามนิสัยที่รู้จักท่านดีแล้ว คือแสดงกิริยามรรยาทธรรมดาสบาย ๆ เหมือนผู้ใหญ่อยู่ด้วยกัน ไม่ค่อยเข้มงวดกวดขันนัก แต่การเปลี่ยนแปลงมรรยาท ท่านรู้สึกเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วจนตามแทบไม่ทัน อยู่สถานที่แห่งหนึ่งเป็นอย่างหนึ่ง สถานที่แห่งหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง ตามแต่เหตุการณ์ที่ควรเปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่บุคคลนั้น และเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วทั้งไม่ซ้ำรอยกันเลย

..นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดสำหรับผู้ไม่สามารถทำอย่างท่านได้..

หนังสือประวัติ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 28, 2015, 11:21:43 PM
หลวงปู่มั่นท่านฟังเทศน์อยู่ตลอดเวลา
ครูบาอาจารย์ชั้นปรมาจารย์อย่างท่านหลวงปูใหญ่ปู่มั่น ท่านว่า
“ฟังเทศน์อยู่ตลอดเวลา เพราะว่าอายตนะทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันรับอยู่ตลอดเวลา มีแต่เขามาแสดงธรรมให้ฟัง
นี่ไม่จำเป็นจะต้องฟังอะไรมากมายก่ายกอง ฟังแล้วก็น้อมเข้าไปสอนจิตใจตัวเอง สอนเจ้าของเองนั่นหละ
ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักตัวมัน เรื่องของจิต เป็นการกระตุ้นเตือนจิตใจตนเองอยูตลอดเวลา มันก็ได้ประโยชน์
เราอย่าส่งไปตามอารมณ์ภายนอก ดึงมันเข้ามาหาตัวเจ้าของเอง เพราะว่าต้นเหง้าเค้ามูลมันอยู่กับตัวของเรา”
อันนี้ก็เรียกว่าวิธีฟังเทศน์ทั่วๆ ไป เพราะว่าเครื่องรับของเรามีอยู่ทุกๆ คน อายตนะภายในมี
ภายนอกก็ต้องมีเท่าๆ กัน มีดีกับชั่ว ๒ อัน เรื่องของความไม่ดีเราก็พยายามลดละ
เรื่องของความดีก็พยายามบำเพ็ญ ให้เกิดให้มีขึ้น มันก็หมดเท่านั้น
ฟังอยู่ตลอดเวลา ได้ยินอยู่ตลอดเวลา เห็นอยู่ตลอดเวลา รู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา ก็ล้วนแต่เป็นธรรมะ
เวลาเรานั่งสมาธิ สังเกตดูในร่างกาย จิตใจของเรา ก็เรียกว่า “ดูธรรม”
มันจะมีปฏิกิริยาแบบไหน แสดงขึ้นมาในร่างกาย เราก็รู้อยู่ทุกระยะ ถ้าหากมีสติกำหนดจดจ่อ
ดูอยู่ในเรื่องของตัวเอง มันไม่ส่งไปทางอื่น เรื่องอารมณ์ทางนอกพักไปเสียก่อน ไม่ต้องเกี่ยว
มารู้อยู่ในตัวของเราเอง เพื่อรวบรวมพลังของใจให้มันเป็นก้อนใหญ่สักหน่อยจนกว่ามันจะมีความสงบ
คำว่าสงบในที่นี้ สงบจากอารมณ์ภายนอก มาสังเกตดูอยู่ในปฏิกิริยาซึ่งแสดงออกทางกาย
วาจา และจิตใจของเรา มารู้อยู่ในส่วนภายในอันนี้ ก็เรียกว่า “เป็นผู้ตั้งสติไว้”
สติคือความระลึกรู้ เป็นธรรมะชนิดหนึ่ง เป็นคู่ของใจ ประเภทรู้เหมือนกัน แต่ใจมันรู้ไปข้างหน้า
มันไม่รู้ถอยหลัง ถ้าไม่มีกำหนดจดจ่อไว้ อุปมาเหมือนกับเรือ เรือไม่มีคนพายก็ไปตามเรื่องของมัน
 แต่ก็ไปได้เหมือนกัน ขวางลำไปตามเรื่อง เรือใหญ่ก็มีหางเสือ ถ้าหางเสือไม่ทำงาน มันก็ไปตามเรื่อง
ขวางหน้าขวางหลังไปหละ ลักษณะมีสติคือ หางเสือทำงาน ไม้พายก็ทำงานตามหน้าที่
ทำให้เรือไปตามเป้าหมายที่เราต้องการ นี่ฉันใด การตั้งสติ กำหนดกับจิต ก็คล้ายๆ ทำนองเดียวกันฉันนั้น

จากหนังสือพระศรี มหาวีโร
พระผู้มากล้นตัวด้วยบุญบารมี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ กรกฎาคม 29, 2015, 07:39:16 PM
หลวงปู่มั่นนิพพานต่างคนก็ต่างไป

เมื่อถวายเพลิงศพท่านผ่านไปแล้ว พระกรรมฐานที่มีหลักใจมั่นคง ก็ปลงอนิจจังตามหลักสามัญญตา ส่วนพระกรรมฐานที่ขาดหลักใจ เป็นเรื่องยากที่จะปลงใจเช่นนั้นได้ จึงอยู่ในภาวะระส่ำระสายกระวนกระวายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ต่างก็ซมซานตะเกียกตะกาย ระหกระเหินระเหเร่ร่อน ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นและจบลงในทิศทางใด

...เหมือนปุยนุ่นอยู่บนอากาศ ไม่ทราบจะปลิวว่อนไปตามแรงลมในทิศทางใด

...เหมือนเด็กน้อยไร้ญาติที่พ่อแม่เพิ่งตายจากไปได้ไม่นาน จะเอาความรู้ความสามารถ ที่ไหนมาปกครองตนเองได้

...เหมือนฟ้าดินถล่มต่อหน้าต่อตา จะรักษาชีวิตจิตใจไว้ได้อย่างไร

...เหมือนดั่งว่าใจจะละลาย จะประสานอย่างไรให้กลับมาเป็นดั่งเดิม

การนิพพานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ในคราวนั้น เป็นมหาวิปโยคสำหรับศิษยานุศิษย์ของท่านอย่างแท้จริง

สรุปความว่า พระเณรต่างองค์ก็ต่างไปตามครูบาอาจารย์ที่ตนศรัทธา โดยส่วนมากรายนั้น ก็ยังไม่ไปไกลจากเขตจังหวัดสกลนครและจังหวัดใกล้เคียง ส่วนเราเดินธุดงค์รอนแรมอยู่ตามเทือกเขาภูพาน หาที่สงบสงัดรักษาโรคใจอยู่เพียงลำพัง เทือกเขาภูพานนี้เป็นที่น่ารื่นรมย์สำหรับพระป่ากรรมฐาน เป็นดินแดนสร้างตำนานพระอริยเจ้าอย่างแท้จริง สำหรับเราแล้วเหมาะสำหรับใจที่กำลังว้าเหว่ เลื่อนลอย ซบเซาเหงาหงอย เมื่อคิดถึงหลวงปู่ใหญ่ปู่มั่นทีไร ก็ได้แต่รำพึงรำพันบ่นเพ้อภายในใจว่า

“ท่านหลวงปู่ใหญ่หลวงปู่มั่นนิพพานแล้ว กิเลสก็ยังมีอยู่ภายในจิตใจ ปัญหาธรรมที่มี ใครหนอจะช่วยแก้ไข ใครหนอจะช่วยตอบช่วยสอน ใครหนอจะช่วยดุช่วยด่าว่ากล่าวตักเตือน ช่วยปราบช่วยปราม บุคคลที่น่าเกรงขามและทรงคุณธรรมอย่างท่าน ที่ปราบปรามใจดวงคึกคะนองของเราให้หายพยศลดลง ก็คงหาได้ยากยิ่งนัก”

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นคำสอนสั่งก่อนท่านนิพพานนั้นก็คือ “ให้รักษาเอาแต่ใจ อย่าหนีจากรากฐาน คือผู้รู้ภายในจิตใจ ทำใจตนให้พ้นจากความวุ่นวาย ปิดตา ปิดหู ไม่ใส่ใจใคร ไม่ฟังใคร ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป ปล่อยวางจากเรื่องนอกทั้งหมด” เราก็จับเอาแต่หลักอันนี้มาประพฤติปฏิบัติเสมอมา

จากหนังสือพระศรี มหาวีโร
พระผู้มากล้นตัวด้วยบุญบารมี


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 15, 2015, 09:00:06 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20151015085950_luangpu_mhun2.jpg)

“อัจฉริยลักษณะและอดีตชาติของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต”

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านเป็นผู้มีอัจฉริยลักษณะและอัจฉริยนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะองค์
มีปฏิปทามักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลีระคนด้วยหมู่ แสวงหาวิเวก ปรารภความเพียร ตั้งแต่วันอุปสมบทมา
จนกระทั่งวาระสุดท้าย ธุดงควัตร ที่ท่านปฏิบัติเป็นประจำตลอดชีวิต คือ บิณฑบาตเป็นวัตร ...
ฉันในบาตรเป็นวัตร ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร อยู่ในป่าเป็นวัตร ถือนั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร

ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเป็นผู้ที่มีลักษณะสมบูรณ์แบบทั้งภายนอกและภายใน ท่านเกิดมาเพื่อเป็นปรมาจารย์
แม้รูปกายและกิริยาของท่านก็เป็นลักษณะของท่านผู้มีบุญใหญ่ คือ “คิ้ว” ของท่านมีไฝตรงกลางระหว่างคิ้ว
ลักษณะคล้ายกับอุณาโลมของพระพุทธเจ้า ไฝนี้เป็นจุดดำเล็ก ๆไม่ได้นูนขึ้นมา มีขนอ่อน ๓ เส้น ไม่ยาวมาก
เป็นเส้นละเอียดอ่อนมาก ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะไม่เห็น “หู” ของท่านมีลักษณะหูยาน เป็นหูของนักปราชญ์ “จมูก” โด่งรับกับใบหน้า
เข้ารูปลักษณะชายชาติอาชาไนย “ตา” ของท่านแหลมคมเหมือนตาไก่ป่า คือ ตาดี รวดเร็ว คือ มีแววตาเป็นวงแหวนในตาดำ
เป็นตาของจอมปราชญ์ “นิ้วมือ” ของท่านนิ้วชี้จะยาวกว่า แล้วไล่ลงมาถึงนิ้วก้อย “นิ้วเท้า” ก็เหมือนกัน นิ้วชี้จะยาวกว่า
แล้วไล่ลงมาถึงนิ้วก้อย “ฝ่าเท้า” ของท่านจะเป็นลายก้นหอยสองอัน และมีรอยอยู่กลางฝ่าเท้าเหมือนกากบาท
เวลาท่านเดินไปไหน ท่านเดินก่อน สานุศิษย์ไม่เหยียบรอยท่าน พอท่านเดินผ่านไปแล้ว
ชาวบ้านจะไปยืนมุงมองดูจะเห็นเป็นลายตารางปรากฏอยู่ทั้งสองฝ่าเท้า “รอยนิ้วเท้า” ก็เป็นก้นหอยเหมือนกัน
จะเรียกก้นหอยหรือวงจักรก็ได้ มีอันใหญ่กับอันเล็ก ๒ อัน เป็นลักษณะพิเศษของท่าน “ฝ่ามือ” ของท่านเวลาสานุศิษย์นวดเส้นถวาย
ได้พลิกฝ่ามือของท่านดูปรากฏว่า มีเส้นกากบาทเต็มฝ่ามือทั้งสองข้าง “เสียง” ของท่านเสียงกังวาน ไพเราะ ฟังเพลิน
ฟังเหมือนเสียงฟ้าดินถล่ม ผู้ฟังไม่อิ่มไม่เบื่อ แรงแต่ไม่เป็นอันตราย “คำพูด” ของท่านเหมือนถอดจากหัวใจดวงหนึ่งไปสู่หัวใจอีกดวงหนึ่ง
แม้ท่านเทศน์จบแล้วผู้ฟังก็ยังอยากฟังต่อไปอีก แม้คนละเชื้อชาติภาษาท่านก็สามารถสอนให้เข้าใจได้ “วาจา”
ของท่านเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มีลาภ ยศ อามิสเจือวาจาของท่าน เทศน์จึงขลังดี พูดถูกธรรม
ตรงไป ตรงมา ไม่เห็นแก่หน้าบุคคลและอามิส “ฤทธิ์” ท่านไม่ชอบแสดงฤทธิ์
ท่านชอบภาวนาให้สิ้นกิเลส ฤทธิ์ทั้งหลายเกิดด้วยกำลังสมถะ ฌานสมาบัติทั้งนั้น ใช้วิปัสสนาอย่างเดียวไม่มีฤทธิ์สำเร็จอรหันต์

ท่านพระอาจารย์มั่นท่านเล่าเรื่อง ในอดีตชาติท่านได้พิจารณาร่างกระดูกมาถึง ๕๐๐ ชาติ ได้พิจารณาวัฏฏะอีกถึง ๕๐๐ ชาติ
เริ่มตั้งแต่เกิดเป็นเสนาบดีเมืองกุรุรัฐ ชมพูทวีป ประเทศอินเดีย ผู้เกี่ยวข้องในครั้งนั้น คือ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
คือ พระปทุมราชา ผู้ครองแคว้นกุรุ เป็นพี่ชาย ในชาตินั้นท่านได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์ ปฏิญาณตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัย
ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าต่อหน้าพระพักตร์ แต่ยังไม่ได้รับพุทธทำนาย ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า
พระพุทธองค์ตรัสธรรมแก่ท่านซึ่งเป็นอุบาสกในครั้งนั้นว่า....
อุบาสกผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นอุบาสกผู้เลวทราม เศร้าหมอง น่าเกลียด คือ
อุบาสกเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑
เป็นผู้ทุศีล ๑
เป็นผู้ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อมงคล ไม่เชื่อกรรม ๑
แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนา ๑
ทำการสนับสนุนในที่นอกศาสนานั้น ๑
ส่วนอุบาสกแก้วก็มีนัยตรงกันข้ามกับอุบาสกเลวนี้

ท่านบอกว่าจิตท่านมั่นคงในพระรัตนตรัย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา อีกชาติหนึ่งท่านเกิดที่ลังกาทวีป ประเทศศรีลังกา
ได้บวชเป็นพระ ได้เข้าร่วมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๔ ปรารภให้พระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป
มีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชนา ประชุมที่ถูปาราม เมืองอนุราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖
โดยพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นศาสนูปถัมภ์ สิ้นเวลา ๑๐ เดือนจึงเสร็จ จากนั้นท่านได้มาเกิดที่มณฑลยูนานประเทศจีน
ในตระกูลขายผ้าขาว มีน้องสาวคนหนึ่งเคยช่วยเหลือกัน มาชาตินี้ คือ นางนุ่ม ชุวานนท์ คหปตานีชาวสกลนคร
ผู้สร้างวัดป่าสุทธาวาสถวายและท่านก็ได้สงเคราะห์ด้วยธรรมแก่เธอมาโดยตลอด ชาติหนึ่งท่านไปเกิดที่โยนกประเทศ
ปัจจุบันคือเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ในตระกูลช่างทำเสื่อลำแพน ท่านพระอาจารย์เสาร์ เป็นนายช่างใหญ่
ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้จัดการ ส่วนพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธฺโล) เป็นคนเดินตลาด

ท่านพระอาจารย์มั่นสอนท่านพ่อลีต่อไปอีกว่า ผู้ปฏิบัติต้องรู้ที่จะแก้จิตของตน ให้รู้จักภพของตนที่จะไปเกิด
ต้องผ่านความผิดมาเสียก่อน จึงปฏิบัติถูก ความผิดเป็นเหตุ ความถูกเป็นผลของความดีทั้งหลาย
ต้องเดินมรรค ๘ ให้ถูกจึงจะแก้ได้ เดินตามสายหนทางของพระอริยเจ้า ใช้ตบะอย่างยิ่งคือความเพียร จึงจะสอนตนได้
โลกีย์ โลกุตระ ๒ อย่าง ประจำอยู่ในโลก ๓ ภพ
และท่านพระอาจารย์มั่นได้แสดงธรรมโดยยกธรรมชาติมาเปรียบเทียบให้ฟังในหลายคราว มีใจความย่อดังนี้ว่า
“....ธรรมะ หรือ ธัมโม ต้องเรียนเอามาจากธรรมชาติ เห็นความเกิด ความแปรปรวน ของสังขารประกอบด้วยไตรลักษณ์
เป็นนักปฏิบัติกรรมฐานอย่าเชื่อหมอมากนัก ให้เชื่อธรรม เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม จึงจะดี ธรรมะทั้งหมดชี้เข้าที่กายกับจิต
เพราะกายและจิตนั่นแหละ เป็นคัมภีร์เดิม เป็นคัมภีร์ธรรมะที่แท้จริง ภูเขา ทะเล สายน้ำ แผ่นดิน แผ่นฟ้า
เห็นไปดูไปก็ไม่มีความหมาย ให้เห็นแต่ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ เท่านั้นแล

ทิฐิมานะนั่นแหละ เป็นภูเขาสูงหาที่ประมาณมิได้
โลกสันนิวาส มีความแปรปรวนตั้งเที่ยงอยู่เช่นนั้น แต่จิตของเรารักษาไว้ให้ดี อย่าให้ติด ถ้าไม่ติดก็ได้ชื่อว่าเป็นสุข
พิจารณาค้นกาย ตรวจกายถูกดีแล้ว ค้นดูกายถึงหลัก แลเห็นอริยสัจของจริงแล้ว เดินตามมรรคเห็นตัวสมุทัย เห็นทุกขสัจ
ต้องทำจิตให้เป็นเอก ต้องสงเคราะห์ธรรมให้เป็นเอกเสมอ
พระอรหันต์มีคุณอนันต์นับหาประมาณมิได้ พระอรหันต์ตรัสรู้ในตัวเห็นในตัว มีญาณแจ่มแจ้งดี ล้วนแต่เล่าเรียนธรรมชาติทั้งนั้น”

คัดลอกจากหนังสือชีวประวัติและปฏิปทา “ท่านพ่อลี ธมฺมธโร พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตแก่กล้า”


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ พฤศจิกายน 10, 2015, 07:09:10 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20151110070858_ajanmhun.jpg)


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มกราคม 20, 2016, 09:24:44 AM
อานิสงค์ของการรักษาศีล ๕ ปฐมบทแห่งธรรมและความดี

การรักษาศีลมีอานิสงส์โดยหลักใหญ่ ๆ ซึ่งปรากฏในคำกล่าวสรุปหลังจากที่พระท่านให้ศีลว่ามี ๓ ประการ คือ
๑.ศีลเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ (สีเลนะ สุคติง ยันติ)
หมายความว่าเมื่อผู้ใดรักษาศีลได้เป็นปรกติ ก็เป็นปัจจัยให้ได้ไปเกิดในที่ๆเป็นสุข อันมีเทวโลกสวรรค์เป็นต้น
หากได้เกิดเป็นมนุษย์อีกก็จะเกิดในที่ๆดีมีความสุข
๒.ศีลเป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ (สีเลนะ โภคะสัมปะทา)
หมายความว่าศีลเป็นปัจจัยให้มีทรัพย์สมบัติเงินทอง ผู้ที่รักษาศีลให้มีความเป็นปรกติจะมีทรัพย์สินเงินทอง
แม้ไม่รวยก็จะไม่ยากจนข้นแค้นมีความเป็นอยู่สบายเป็นปรกติสุข ในข้อนี้ผู้รักษาศีลจะมีการให้ทานด้วยเป็นปรกติ
 เพราะตัวทานเป็นปัจจัยสำคัญให้มีทรัพย์สินเงินทองมาก
๓.ศีลเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน (สีเลนะ นิพพุติง ยันติ)
หมายความว่าศีลเป็นปัจจัยให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน ศีลจะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงพระนิพพานได้อย่างไรก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อศีลบริสุทธิ์จิตใจก็สะอาด ไปเจริญสมาธิจิตก็ตั้งมั่น เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วไปเจริญวิปัสสนา ก็เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา สามารถถ่ายถอนกิเลสได้ตามลำดับ และในที่สุดก็จะเข้าสู่พระนิพพานอันเป็นบรมสุขเที่ยงแท้ได้แน่นอน

ศีล ๕ (ข้อปฎิบัติของผู้ที่เป็นฆราวาส) มีดังต่อไปนี้

ข้อที่ 1. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
งดเว้นทางการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต เบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบ คนและสัตว์ทั้งหลาย
ข้อที่ 2.อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
งดเว้นการลักทรัพย์ การเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตัวเองโดยมิชอบ การแสวงหาทรัพย์ในทางที่มิชอบ
ข้อที่ 3.กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม การผิดผัวผิดเมีย แย่งชิงคนรักของคนอื่น
ข้อที่ 4.มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ,
งดเว้นทางการพูดปด มดเท็จ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ ด่าทอผู้อื่นด้วยคำหยาบคายให้ได้เคืองใจ
ข้อที่ 5 .สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
งดเว้นทางการดื่มน้ำเมา ของมึนเมา หรือสิ่งอื่นใดที่เป็นการทำลายสติสัมปชัญญะ

การรักษาศีลมีหลายระดับ
-การรักษาศีล 5 ของผู้ที่เริ่มต้นในชั้นนี้จิตใจของผู้นั้นจะยังมีความคุ้นเคยกับบาปอยู่มาก
ยังมีอารมย์ละเมิดศีลอยู่เป็นปรกติ จิตใจยังหยาบอยู่มากยังมีความชั่วเป็นตัวบงการคือยังคิดว่าการละเมิดศีลเป็นเรื่องปกติทำได้ไม่เป็นไร
แต่เมื่อจะทำผิดศีลก็จะมีความเกรงกลัวผลของบาปที่เกิดขึ้นก็จักหักห้ามใจไว้ หรือหากพลั้งเพลอทำผิดไปก็จะรู้สึกสำนึกและ
เกรงกลังผลของบาปกรรม แบบนี้คือศีลของผู้ที่เริ่มต้นการรักษาศีลในระดับเริ่มต้น

ส่วนผู้ที่รักษาศีลแต่เฉพาะตอนที่ไปวัด เมื่อพระท่านให้อาราธนารับศีลพอออกจากวัดแล้วก็กลับมาทำผิดทำบาปเหมือนเดิมอันนี้ไม่มีผล
ถือเป็นสีลัพพตปรามาส เป็นการปรามาสศีลเป็นบาปติดตัว มีบาปซ้อนเข้ามาอีกตัวหนึ่งคือบาปที่ไม่เคารพศีล
-การรักษาศีลในระดับกลาง ในชั้นนี้ผู้รักษาศีลจะมีความรู้สึกว่าศีลกับตัวเราเป็นสิ่งคู่กัน ตัวเรานี้จะขาดศีลไปไม่ได้
 มีความพอใจในการรักษาศีลให้บริสุทธิ์เป็นปรกติ หากมีเหตุให้ผิดศีลก็จะรู้สึกว่าขัดแย้งมาก รู้สึกว่าเรายอมตายดีกว่าให้ศีลขาด
-การรักษาศีลในระดับสูง ในชั้นนี้เป็นศีลของผู้ที่ปฎิบัติธรรมได้ในขั้นสูง หรือศีลที่เป็นของพระอริยเจ้า ในชั้นนี้จิตใจของผู้ปฎิบัติจะเป็นศีลเองโดยอัตโนมัติหรือที่เรียกว่าศีลใจ ความละเมิดนั้นไม่มี เจตตาที่จะละเมิดก็ไม่มี เพราะตัวจิตได้ถึงความบริสุทธิ์ในระดับที่เพียงพอแล้ว


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 19, 2016, 08:29:41 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20160319082620_luangpu_mhan10.jpg)

ภาพนี้เป็นภาพเหตุการณ์ที่ ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น พาองค์หลวงปู่ออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ
ไปพักอาพาธที่วัดป่ากลางโนนภู่ และไปมรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาส


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ มีนาคม 19, 2016, 08:30:28 AM
(http://kammatan.com/gallary/images/20160319082535_luangpu_mhan8.jpg)

ดูรูปเกี่ยวกับหลวงปู่มั่น ได้เพิ่มเติมที่ => http://kammatan.com/gallary/index.php?x=browse&category=98


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ เมษายน 06, 2016, 03:24:29 PM
"...หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านมักจะพูดเสมอเรื่องค่าของศูนย์ ท่านเปรียบถึงพระนิพพาน นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ พระนิพพานเป็นสูญอย่างยิ่ง
"ศูนย์ทำไมจึงมีอยู่ ทองคำ(หมายถึงหลวงปู่ทองคำ จารุวัณโณ พระอุปัฏฐากสมัยอยู่วัดบ้านนามน และวัดบ้านหนองผือ) ลองเขียนดูซิ"
๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๐ ธรรมดาเลขนั้นมีอยู่เก้าตัวใช่ไหม ที่มันนับได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วนเลขศูนย์มันอ่านได้ มันมีอยู่แต่ไม่มีค่า
ฉะนั้นเอาไปบวกลบคูณหารกับเลข ๑ ถึง ๙ ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น แต่ศูนย์ก็ยังมีอยู่ เมื่อนำไปต่อกับเลขอื่น
เช่น ๑ ก็จะกลายเป็น ๑๐ แต่ศูนย์อยู่ตามลำพังก็จะไม่มีค่า
เปรียบเหมือน ฐิติภูตัง คือ จิตดวงเดิมที่มีอยู่เป็นอยู่ แต่ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เมื่อชำระด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว
เป็น ฐิติญาณัง จิตคือผู้รู้ว่าสูญจากอาสวะ และรู้ว่าสูญจากอาสวะก็เป็นบรมสุข พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ
พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นคู่กันกับ นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ
พระพุทธเจ้ารวมทั้งพระสาวก หลายหมื่นหลายแสนองค์ เข้าสู่พระนิพพาน เพราะพระนิพพานไม่มีที่เต็ม ว่างอยู่ตลอด
อย่ากลัวพระนิพพานเต็ม พวกเราจงเร่งไปสู่พระนิพพานเหมือนกับพระพุทธเจ้าเถิด พระนิพพานไม่เต็มหรอก ท่านว่าอย่างนั้น
มีแต่พวกขี้เกียจ กุสิโต หีน วิริโย
ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ไม่มีที่สิ้นสุด แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคำนำต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย
คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภาพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายไม่มีที่สิ้นสุด
เหมือนกับศัพท์บาลีที่ว่า สงฺสาเร อนมตฺตคฺเค ในสงสารมีเบื้องต้นและที่สุด อันใครๆ ก็ตามไปรู้ไม่ได้แล้ว
นอกจากพระสัพพัญญูเจ้าเท่านั้นจะรู้ได้ เพราะอาศัยอะไร เพราะอาศัยอวิชชาตัวนี้แหละหุ้มห่อ จึงไม่รู้..."

โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บันทึกธรรมโดย หลวงปู่ทองคำ จารุวัณโณ


หัวข้อ: Re: ธรรมะที่ถ่ายทอดโดย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
เริ่มหัวข้อโดย: golfreeze ที่ ตุลาคม 07, 2016, 11:13:59 AM
"เรื่องศพที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พาปฏิบัติ"

ครั้งหนึ่ง มีเหตุเด็กผู้ชายป่วยไข้ตายลง ชื่อเด็กชาย นงค์ นามสกุล จันทะวงษา อายุประมาณ ๖ ขวบ เป็นไข้ตายอยู่ที่กระท่อมเถียงนา เพราะเป็นหน้ากำลังดำนากัน ตามปกติพ่อแม่ในชนบทบ้านนอกทางภาคอีสานสมัยนั้น เมื่อถึงหน้าฤดูทำนาก็ต้องหอบลูกจูงหลานไปนาด้วย แม้ลูกหลานจะป่วยไข้ แต่พอเอาไปได้ก็ต้องเอาไป เพื่อจะได้เยียวยารักษากันไป พร้อมกับทำนาไปด้วยเพื่อจะเร่งงานนาให้เสร็จทันกับฤดูกาล แต่วันนั้นบังเอิญเด็กมีไข้ขึ้นสูง เยียวยาไม่ทัน ในที่สุดก็ตาย ทำให้พ่อแม่พี่น้องมีความเศร้าโศกเสียใจมาก

เมื่อตายแล้วพ่อแม่ญาติพี่น้องต้องการจะให้นำศพเด็กเข้าไปทำบุญที่บ้าน แต่มาขัดข้องเรื่องของความคิดเห็นตามประเพณีโบราณว่า คนที่ตายในทุ่งในป่าห้ามไม่ให้เอาผ่านเข้าบ้าน โบราณท่านถือ และอีกอย่าง คนตายโหงหรือตายอย่างกะทันหัน เช่น ตายจากอุบัติเหตุ ผูกคอตาย ฆ่ากันตาย ยิงกันตาย เหล่านี้เป็นต้น โบราณท่านห้าม ไม่ให้หามผ่านเข้าบ้าน และห้ามเผา ให้ฝังครบสามปีแล้วจึงขุดเอากระดูกขึ้นมาเผาได้ เลยทำให้ชาวบ้านหนองผือสมัยนั้นถกเถียงกันไปถกเถียงกันมา ในที่สุดญาติโยมจึงนำปัญหานี้ไปปรึกษาสอบถามกับท่านพระอาจารย์มั่น

ท่านได้แก้ความสงสัยนี้ให้แก่ญาติโยมบ้านหนองผือ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า

“พวกหมูป่า อีเก้งกวาง ที่ยิงตายในกลางป่ายังเอามาเข้าบ้านเรือนได้ นี่มันคนตายแท้ๆ ทำไมจะเอาเข้าบ้านเข้าเรือนไม่ได้”

ดังนั้น ญาติโยมชาวบ้านจึงนิ่งเงียบไป ทำให้หูตาสว่างขึ้นมา สุดท้ายก็นำเอาศพเด็กชายคนนำเข้าไปทำบุญที่บ้าน และเผาเหมือนกันกับศพของคนตายตามปกติธรรมดาทุกอย่าง ภายหลังต่อมาชาวบ้านหนองผือจึงไม่ค่อยถือในเรื่องนี้เป็นสำคัญ คนตายทุกประเภทจึงทำเหมือนกันหมด

สมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นพำนักอยู่สำนักวัดป่าบ้านหนองผือช่วงระยะ ๕ พรรษานั้น มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น คือมีพระที่จำพรรษาอยู่ด้วยท่านมรณภาพลง ๒ รูป คือ พระอาจารย์สอ กับ พระอาจารย์เนียม แต่มรณภาพลงคนละเดือน โดยเฉพาะพระอาจารย์เนียมมรณภาพเมื่อตอนเช้าด้วยอาการสงบ ท่านพระอาจารย์มั่นก็ทราบเรื่องทุกอย่าง พอตอนเช้า ท่านพระอาจารย์มั่นก็พาพระเณรไปบิณฑบาตภายในหมู่บ้านตามปกติ ในขณะที่ท่านกำลังบิณฑบาตอยู่นั้น ท่านพูดขึ้นเป็นสำเนียงอีสานว่า

“ท่านเนียมฮู้แล้วน้อ พ่อออกแม่ออก ท่านเนียมฮู้แล้วน้อ”

ท่านพูดอย่างนั้นไปเรื่อย ๆ กับกลุ่มญาติโยมที่รอใส่บาตรทุกกลุ่ม จนสุดสายบิณฑบาต คำพูดของท่านนั้นหมายความว่า พระอาจารย์เนียมอยู่กับที่แล้ว ไม่กระดุกกระดิกแล้ว หรือตายแล้ว ซึ่งญาติโยมตอนนั้นบางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจความหมาย ภายหลังจึงเข้าใจชัดว่าพระอาจารย์เนียมมรณภาพแล้วเมื่อเช้านี้

เมื่อญาติโยมทั้งหลายได้ทราบอย่างนั้นแล้วจึงบอกต่อ ๆ กันไป แล้วพากันเตรียมตัวไปที่วัดในเช้าวันนั้น

สำหรับท่านพระอาจารย์มั่นพร้อมทั้งพระเณรบิณฑบาตเสร็จแล้วกลับถึงวัด ล้างเท้าขึ้นบนศาลาหอฉัน วางบาตรบนเชิงบาตร ลดผ้าห่ม คลี่ผ้าสังฆาฏิที่ซ้อนออก ห่มเฉพาะจีวรเฉวียงบ่าเรียบร้อยแล้วพับเก็บผ้าสังฆาฏิ จึงเข้าประจำที่ฉัน เตรียมจัดแจกอาหารลงบาตร เพราะมีโยมตามส่งอาหารที่วัดด้วย เสร็จแล้วอนุโมทนายถาสัพพีตามปกติ จึงพร้อมกันลงมือฉัน

ฝ่ายพวกชาวบ้านญาติโยมภายในหมู่บ้านที่จะมาวัดในเช้าวันนั้น ก็กำลังบอกกล่าวป่าวร้องให้ผู้คนประชาชนไปที่วัด เพื่อจะได้จัดเตรียมเอาเครื่องใช้ไม้สอยและอุปกรณ์จำเป็นในการที่จะทำงานฌาปนกิจศพตามประเพณี ทั้งคนเฒ่าคนแก่ หนุ่ม ๆ แข็งแรงก็ให้ไปด้วย ผู้มีมีดพร้า ขวานจอบ เสียม ก็ให้เอาไปด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้ไปปราบพื้นที่ที่จะทำเป็นที่เผาศพชั่วคราว สำหรับพวกที่มีพร้ามีขวานให้ไปตัดไม้ที่มีขนาดให้หน่อย ยาวประมาณ ๒ วากว่า ๆ มาทำเป็นไม้ข่มเหง (ไม้ข่มเหง สำหรับพาดข้างหีบศพบนเชิงตะกอนเพื่อกันไม่ให้ศพตกจากเชิงตะกอนว่าไม้ข่มเหง) หรือไม้ข่มหีบศพที่อยู่บนกองฟอนไม่ให้ตกลงมาจากกองฟอนขณะไฟกำลังลุกไหม้อยู่

ส่วนคนเฒ่าคนแก่รู้หลักในการที่จะทำเกี่ยวกับศพ ก็เตรียมฝ้ายพื้นบ้านพร้อมด้ายสายสิญจน์เพื่อนำไปมัดตราสัง ภูไท (ชื่อชนกลุ่มหนึ่งของจังหวัดสกลนครที่อพยพมาจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีนิสัยรักสงบ อยู่กันเป็นกลุ่มตามเชิงเขาที่มีความอุดมสมบูรณ์ ผิวขาวเหลือง มีภาษาพูดเฉพาะ เข่น ชาวบ้านหนองผือ เป็นต้น) เรียกว่า มัดสามย่าน (คือห่อศพด้วยเสื่อแล้วมัดเป็นสามเปลาะ โดยมัดตรงคอ ตรงกลางและตรงข้อเท้า) นอกจากนั้นก็มีธูปเทียน ดอกไม้ กะบองขี้ไต้ น้ำมันก๊าด พร้อมทั้งหม้อดินสำหรับใส่กระดูกหลังจากเผาเสร็จ เป็นต้น

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นนั้น เมื่อฉันจังหันเสร็จและทำสรีรกิจส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ได้ลุกจากอาสนะที่นั่ง เดินลงจากศาลาหอฉันไปที่กุฏิศพพระอาจารย์เนียม พระเณรทั้งหลายก็ติดตามท่านไปด้วย ไปถึงท่านก็สั่งการต่างๆ ตามที่ท่านคิดไว้แล้ว คือคล้าย ๆ กับว่าท่านจะเอาศพของพระอาจารย์เนียมเป็นเครื่องสอนคนรุ่นหลัง หรือทอดสะพานให้คนรุ่นหลัง ๆ ทั้งพระเณร พร้อมทั้งญาติโยมชาวบ้านหนองผือเอาเป็นคติตัวอย่าง

ท่านจึงไปยืนทางด้านบนศีรษะของศพแล้วก้มลงใช้มือทั้งสองจับมุมเสื่อทั้งสองข้างของศพ ทำท่าทางจะยกศพขึ้นอย่างขึงขังจริงจัง พระเณรทั้งหลายเห็นกิริยาอาการของท่านอย่างนั้นแล้ว จึงเข้าใจความหมายว่าท่านต้องการจะให้ยกศพหามไปที่กองฟอนเดี๋ยวนั้น โดยไม่ต้องตกแต่งศพหรือทำโลงใส่เลย

ดังนั้น พระเณรทั้งหลายจึงพากันกรูเข้าไปช่วยยกศพนั้นจากมือท่าน หามไปที่กองฟอนซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเห็นว่าพระเณรทั้งหลายเข้าช่วยหามมากแล้ว ท่านจึงปล่อยให้พระจัดการหามกันเอง ท่านเพียงแต่คอยสั่งการตามหลังเท่านั้น แล้วท่านก็เดินตามหลังขบวนหามศพนั้นไป ในตอนนี้พวกญาติโยมชาวบ้านกำลังทยอยเข้ามาที่บริเวณวัด

ขณะที่ท่านพระอาจารย์มั่นกำลังเดินไปอยู่นั้น ได้มีโยมผู้ชายคนหนึ่งเดินถือฝ้ายพื้นบ้านเข้ามาหาท่าน ท่านเห็นจึงหยุดเดินและถามขึ้นว่า

“พ่อออก ฝ้ายนั่นเอามาเฮ็ดอีหยัง..? ” (หมายความว่าโยมจะเอาฝ้ายนั้นมาทำอะไร)

โยมนั้นก็ตอบท่านว่า “เอามามัดสามย่านแหล่วข้าน้อย” (มัดตราสัง)

ท่านพูดขึ้นทันทีว่า “ผูกมัดมันเฮ็ดอีหยัง มันสิดิ้นรนไปไส มันฮู้พอแฮงแล้ว ให้เก็บฝ้ายนั้นไว้ใช้อย่างอื่นสิยังมีประโยชน์กว่าเอามาเผาไฟทิ่มซะซือ”

(หมายความว่า ผูกมัดทำไม ศพมันจะดิ้นไปไหนเพราะตายแล้ว ให้เก็บฝ้ายนั้นไว้ใช้อย่างอื่นยังจะมีประโยชน์กว่าเอามาเผาไฟทิ้งเสียเปล่าๆ)

โยมคนนั้นก็เลยหมดท่า พูดจาอะไรไม่ออก เก็บฝ้ายนั้นแล้วเดินตามหลังท่านพระอาจารย์มั่นเข้าไปยังที่ที่เผาศพพระอาจารย์เนียม

เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเดินไปถึงที่เผาศพแล้ว มีโยมหนุ่ม ๆ แข็งแรงกำลังแบกหามท่อนไม้ใหญ่พอประมาณ ยาว ๒ วากว่าๆ (ทางนี้เรียกว่าไม้ข่มเหง) มาที่กองฟอน ท่านพระอาจารย์มั่นเหลือบไปเห็นจึงพูดขึ้นทันทีว่า

“แบกมาเฮ็ดหยังไม้นั่น... ? ” (หมายความว่า แบกมาทำไมไม้ท่อนนั้น)

พวกโยมก็ตอบท่านว่า “มาข่มเหงแหล่วข้าน้อย” (หมายความว่า เอาไม้นั้นมาข่มศพบนกองฟอนเพื่อไมให้ศพตกออกจากกองไฟ)

ท่านจึงพูดขึ้นอีกว่า “สิข่มเหงมันเฮ็ดหยังอีก ตายพอแฮงแล้ว ย่านมันดิ้นหนีไปไส” (หมายความว่า จะไปข่มเหงทำไมอีกเพราะตายแล้ว กลัวศพจะดิ้นหนีไปไหน)

พวกโยมได้ฟังเช่นนั้นก็เลยวางท่อนไม้เหล่านั้นทิ้งไว้ที่พุ่มไม้ข้าง ๆ นั้นเอง แล้วมานั่งลงคอยสังเกตการณ์ต่อไป

ก่อนเผานั้น ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งให้พลิกศพตะแคงขวา แล้วตรวจตราดูบริขารในศพโดยที่ไม่ได้ตบแต่งศพแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงมีจีวรของศพปกปิดอยู่เท่านั้น แล้วท่านก็เหลือบไปเห็นสายรัดประคดเอวของศพ จึงดึงออกมาโยนไปให้พระที่อยู่ใกล้ ๆ พร้อมกับพูดว่า

“นี่ประคดไหม ใครไม่มีก็เอาไปใช้เสีย”

แล้วท่านก็พาพระเณรสวดมาติกาบังสุกุล จนจบลง แล้วจึงให้ตาปะขาวจุดไฟใส่กระบองแล้วยื่นให้ท่าน เมื่อท่านรับแล้วพิจารณาครู่หนึ่งจึงไปวางไฟลงใต้ฟืนในกองฟอน ไม่นานไฟก็ติดลุกไหม้ขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นเปลวโพลงสูงขึ้น สูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วในที่สุดไฟเริ่มใหม่ทั้งฟืนทั้งศพ ทำให้ศพที่ถูกไฟไหม้อยู่นั้นมีน้ำมันหยดหยาดย้อยถูกเปลวไฟเป็นประกายวูบวาบพร้อมกับเสียงดังพรึบ ๆ พรั่บ ๆ ไปทั่ว จนที่สุดคงเหลือแต่เถ้าถ่านกับกองกระดูกเท่านั้น เอง

ส่วนท่านพระอาจารย์มั่น เมื่อเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้วจังหันหน้าเดินออกมาข้างนอก ปล่อยให้ญาติโยมดูแลเอง ในขณะที่ท่านกำลังเดินออกมา ท่านเหลือบไปเห็นโยมผู้ชายคนหนึ่งถือหม้อดินใหญ่ขนาดกลางกำลังเดินเข้ามาหาท่าน ท่านจึงถามโยมคนนั้นทันทีว่า

“พ่อออก เอาหม้อนั้นมาเฮ็ดหยัง” (หมายความว่า โยมเอาหม้อดินนั้นมาทำอะไร)

โยมคนนั้นตอบท่านว่า “เอามาใส่กระดูกแหล่วข้าน้อย” (หมายความว่า เอามาใส่กระดูกขอรับ)

ท่านจึงชี้นิ้วลงบนพื้นดินพร้อมกับถามโยมคนนั้นว่า “อันนี้แม่นหยัง” (หมายความว่า อันนี้คืออะไร)

โยมตอบท่านว่า “ดินขอรับ”

ท่านจึงชี้นิ้วไปที่หม้อดินที่โยมถืออยู่พร้อมกับถามอีกว่า “นั่นเด้..เขาเอาอีหยังเฮ็ด” (หมายความว่า นั้นเขาทำด้วยอะไร)

โยมตอบท่านว่า “ดิน ข้าน้อย”

ท่านจึงสรุปลงพร้อมกับชี้นิ้วทำท่าทางให้ดูว่า “นั่นก็ดิน นี่ก็ดิน ขุดลงนี้แล้วจึงกวาด..ลงนี่ มันสิบ่ดีกว่าหรือ” (หมายความว่าหม้อใบนั้นก็ทำด้วยดิน ตรงพื้นนี้ก็ดิน ขุดเป็นหลุมแล้วให้กวาดกระดูกและเถ้าถ่านต่าง ๆ ลงด้วยกันจะไม่ดีกว่าหรือ) ท่านจึงบอกให้โยมนั้นเอาหม้อไปเก็บไว้ใช้ โดยบอกว่า

“ให้เอาหม้อใบนั้นไปใช้ต้มแกงอย่างอื่นยังจะมีประโยชน์กว่าที่จะเอามาใส่กระดูก”

เมื่อโยมได้ฟังเช่นนั้น จึงนำหม้อดินไปเก็บไว้ใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไป